การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

นำเรื่อง1

ท่านพระเถรานุเถระ พร้อมทั้งท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

บัดนี้การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การศึกษาเพื่อสันติภาพ ก็มาถึงช่วงสุดท้าย เป็นวาระที่จะปิดประชุม แต่ก่อนที่จะปิดประชุมท่านผู้จัดการสัมมนาก็ขอให้อาตมภาพกล่าวสัมโมทนียกถา

"สัมโมทนียกถา" นั้น ตามศัพท์แปลว่า ถ้อยคำเป็นที่บันเทิงใจ เพราะฉะนั้นก็ต้องกล่าวคำดีๆ คือ คำอนุโมทนา

ที่ต้องอนุโมทนาแน่นอนก็คือ อนุโมทนาท่านที่ทำให้งานนี้เกิดมีขึ้นด้วยกุศลเจตนา ปรารถนาความดีความงามและประโยชน์สุข ที่เรียกว่า สันติภาพ แก่มวลมนุษย์ และเป็นการจัดขึ้นด้วยความสามัคคี โดยมีความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียงกันของ ๓ สถาบัน คือ กองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพฯ สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ที่กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย สวช. คือ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งเป็นผู้เอื้อเฟื้อสถานที่ กับอีกสถาบันหนึ่งคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งได้อุปถัมภ์ในด้านทุน นอกจากสามสถาบันที่กล่าวแล้ว แน่นอนว่าการประชุมนี้สำเร็จได้ก็ด้วยท่านที่เข้ามาเข้าร่วมประชุมนี้เอง เพราะฉะนั้นจึงต้องขออนุโมทนาทั้งท่านผู้จัดและท่านผู้ร่วมประชุม

การประชุมของกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพนี้ เป็นการริเริ่มที่เกิดมานานหลายปีแล้ว ตั้งแต่ท่านอาจารย์ ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ ยังเป็นอธิบดีกรมการฝึกหัดครู จนกระทั่งต่อมาเป็นเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ และต่อมาก็เกษียณอายุราชการแล้วเป็นวุฒิสมาชิก แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ก็คือการเป็นประธานกรรมการกองทุนนี้เอง และด้วยเหตุที่กองทุนนี้ตั้งอยู่ที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ เพราะฉะนั้นการนี้จะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้อำนวยให้กิจการทั้งหมดเป็นไป และที่ศูนย์กลางของงานนี้ นอกจากท่านเลขาธิการเองแล้ว แน่นอนว่าท่านเลขานุการสภาสถาบันราชภัฏ คือ อาจารย์ศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล ได้เป็นผู้ประสานงานให้งานทั้งหมดดำเนินไป ดังที่ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มกำเนิดกองทุน และกิจการที่เป็นส่วนสำคัญก็ได้ท่านอธิการบดีสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา เป็นกำลังเอกหนุนให้งาน โดยเฉพาะการประชุมครั้งนี้ดำเนินมาจนมีกิจกรรมในบัดนี้ อาตมภาพขออนุโมทนาทุกท่าน แม้ที่ไม่สามารถกล่าวนามได้ทั่วถึง ซึ่งได้เป็นกำลังในหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมกันจัดงานให้สำเร็จ

– ๑ –
แก้ความสับสน ให้เป็นความประสาน

การจัดงานครั้งนี้ขึ้น ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าเกิดจากความมีกุศลเจตนาปรารถนาดีต้องการให้เกิดสันติภาพ และได้โยงเรื่องสันติภาพนี้มายังการศึกษา โดยคิดถึงการศึกษาที่แท้ ที่จะให้เกิดผลบรรลุวัตถุประสงค์ที่เรียกว่าสันติภาพทั้งแก่บุคคลและสังคม

น่าแคลงใจ: การศึกษาปัจจุบัน สร้างสรรค์หรือทำลายสันติภาพ

ปัจจุบันนี้ เรารู้กันดีว่าปัญหาในโลกมีมากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงต่างๆ ซึ่งเราสังเกตเห็นเด่นชัดในสังคมไทย เพราะเราอยู่ในสังคมนี้ แต่ที่จริงปัญหาความรุนแรงนั้นแผ่กระจายไปทั่วโลก จนนับได้ว่าเป็นกระแสโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่ง กระแสนี้จะรุนแรงแค่ไหนก็อยู่ที่ว่าใครมีภูมิต้านทานมากน้อยเท่าใด ถ้าสังคมใดมีภูมิต้านทานดี ความรุนแรงก็เบาลง แต่ถ้าภูมิต้านทานอ่อน ก็จะมีปัญหาความรุนแรงประดังเข้ามามาก

อย่างไรก็ตาม การมีภูมิต้านทานเท่านั้นยังไม่พอ ภูมิต้านทานช่วยได้แค่ที่จะรับมือกับมันและป้องกันตัว แต่การที่จะแก้ปัญหาให้เรียบร้อยเพื่อบรรลุถึงสันติภาพอย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีความสามารถในการแก้ปัญหาถึงขั้นมีปัญญาขึ้นไปอยู่เหนือกระแส จึงจะนำโลกหรือมวลมนุษย์ไปในทางที่ถูกต้องได้

ทั้งหมดนี้เมื่อพิจารณากันไปก็ไม่พ้นที่จะเป็นความรับผิดชอบของการศึกษา ในการที่เกิดปัญหาขึ้นมากมาย มีเรื่องความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วไป จนกระทั่งกลายเป็นกระแสโลกาภิวัตน์นั้น เราคงจะไม่ปัดความรับผิดชอบที่จะต้องถือว่า การศึกษามีส่วนร่วมในการทำให้เกิดความรุนแรงหรือปัญหาการขาดสันติภาพนี้ด้วย โดยเฉพาะก็คือทำให้ต้องตั้งข้อสงสัยว่าการศึกษานั้นอาจจะผิดพลาดไปแล้วกระมัง

ถ้าการศึกษาเป็นตัวเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา ก็ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องเอาใจใส่อย่างมาก เพราะหน้าที่โดยตรงของการศึกษานั้นเป็นตัวแก้ปัญหา ถ้าการศึกษาผิดพลาด กลายเป็นตัวก่อปัญหา เราก็ต้องมาแก้ไขปัญหาที่ตัวการศึกษา เพื่อให้ได้การศึกษาที่ถูกต้อง ให้เป็นการศึกษาที่แท้จริงที่จะเป็นตัวแก้ปัญหา

ทีนี้ การศึกษาแท้ที่ถูกต้องในความหมายที่แท้จริง คืออะไร

เวลานี้ โลกอยู่ในภาวะที่เราพูดได้ชัดเจนว่าถูกครอบงำด้วยระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ พูดง่ายๆ ว่าอยู่ในยุคของการแข่งขัน ในการแข่งขันก็มีการแย่งชิงกัน คำว่าแย่งชิงกันนี้ ก็บอกอยู่ในตัวว่าไม่มีสันติภาพ หรือเป็นภาวะที่ตรงกันข้ามกับสันติภาพ ถ้าการศึกษาสนองระบบสังคมเช่นนี้ ซึ่งเวลานี้อาจจะถือว่าเป็นอารยธรรมของมนุษย์ไปแล้ว ก็กลายเป็นว่าการศึกษาเป็นตัวหนุนให้เกิดการสูญเสียหรือการขาดสันติภาพ และเมื่อวิเคราะห์กันไปก็มีเหตุผลที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า การศึกษาในสังคมปัจจุบันนี้มีส่วนหนุนให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันช่วงชิงกันอย่างไร เมื่อเราเห็นกันอยู่ชัดๆ ว่าการแย่งชิงเป็นการไม่มีสันติภาพ ถ้าการศึกษามาสนองระบบแย่งชิงนี้ ก็แสดงว่าการศึกษานั้นได้กลายเป็นเครื่องมือหนุนการทำลายสันติภาพ

ตอนนี้ก็ต้องมาแสวงหาการศึกษาที่จะสร้างเสริมสันติภาพ หรือเป็นไปเพื่อสันติภาพ ที่จะไม่ให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันช่วงชิงนั้นขึ้นมา ซึ่งในแง่หนึ่งก็เหมือนกับเป็นสาระสำคัญของสิ่งที่เราต้องการ ที่เราถือว่าเป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้นในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งได้ดำเนินมา ๒ วัน และได้มาระดมความคิดช่วยกันให้สติปัญญาความรู้ความเห็นต่างๆ ซึ่งมีทั้งการเสนอปัญหา และแนวทางวิธีแก้ไข ทั้งการแก้ไขปัญหาจากภายในและภายนอก ทั้งการแก้ปัญหาระดับบุคคลและระดับสังคม ทั้งการแก้ปัญหาตามแนวความคิดของพระพุทธศาสนา และแนวความคิดของตะวันตก

เริ่มด้วยคุณหมอประเวศ วะสี มาให้ความรู้ความเข้าใจ เสนอแนวความคิดที่ทำให้เกิดปัญญา ต่อจากนั้นอาจารย์เสน่ห์ จามริก ก็มาให้ปัญญาในอีกแง่มุมหนึ่ง และยังมีคณะอภิปรายอีก ๒ คณะ ซึ่งดำเนินการโดยคุณธรรมเกียรติ กันอริ คณะหนึ่ง และคุณจักรภพ เพ็ญแข อีกคณะหนึ่ง

พอมาถึงวันนี้ ก็มีเสนอการศึกษางานของอาตมภาพเอง โดยอาจารย์จิตรกร ตั้งเกษมสุข ซึ่งได้ตั้งคำถามไว้ให้อาตมภาพมาตอบในที่นี้ แต่อาตมภาพอาจจะพูดตอบได้เพียงเล็กๆ น้อยๆ คงไม่มีเวลาที่จะพูดเจาะให้ละเอียดในเรื่องที่อาจารย์จิตรกรได้ตั้งคำถาม และยังมี รศ.ดร. ทิพาวดี เอมะวรรธนะ ซึ่งได้มาเผื่อแผ่ประสบการณ์ของท่าน ในการที่ได้วิจัยเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการที่จะให้เกิดสันติภาพภายใน ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางสำคัญที่จะสร้างสันติภาพโดยใช้หลักปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่เรียกว่าวิปัสสนา และในที่สุดเราก็มีการประชุมกลุ่มกัน ซึ่งทุกท่านมีส่วนร่วมในการที่จะให้แง่คิดความเห็น ทั้งจากพระเถรานุเถระฝ่ายบรรพชิต และจากญาติโยม ครูอาจารย์ฝ่ายคฤหัสถ์ โดยที่ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนของสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา ได้มาดำเนินการ

ทั้งหมดนี้เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันในกิจการใหญ่อย่างหนึ่งของสังคม ซึ่งถือว่าเป็นกิจการเพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม ที่ประชุมนี้อาจจะมีผู้มาไม่มากมายนัก แต่สิ่งที่ทำเป็นงานใหญ่ และเป็นงานระยะยาว ซึ่งจะต้องมีต่อไปอีก และเป็นงานของส่วนรวม แต่เพราะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงมาถึงตัวอาตมภาพด้วย ก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเครื่องเตือนตนเองให้ระลึกว่า ท่านผู้เข้าร่วมประชุมและท่านผู้จัดดำเนินงานต่างๆ ได้สละเวลาและแรงงานกันมากมาย จนกระทั่งมาร่วมคิดร่วมพิจารณาร่วมให้ปัญญากันในการประชุมนี้แล้ว ตัวเราเองจะทำอะไรที่จะเป็นส่วนช่วยให้การเสียสละของทุกท่านที่มาร่วมงานนี้ได้มีผลคุ้มค่า ทั้งในแง่ของเวลา แรงงาน และทุนรอน ในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่อาตมภาพเองยังไม่แน่ใจ ว่าตัวเองจะทำได้แค่ไหน แต่จะอย่างไรก็ตามก็เป็นเครื่องเตือนใจไว้

ปัญญาเดียวกัน แต่ต่างแหล่งเกิด

ต่อไปนี้จะขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านวิทยากรบางท่านได้นำมาพูดกระตุ้นเตือนสติปัญญาไว้ แต่อยากจะเริ่มด้วยคำถามของอาจารย์จิตรกร ตั้งเกษมสุข คงยังตอบไม่ถึงกับชัดเจน เพราะเป็นเรื่องยาว แต่จะให้คำตอบพออ้างอิงโยงไปหาหลักในพระพุทธศาสนา ท่านถามว่า ปัญญามีแหล่งเกิด ๓ แหล่ง และเราก็เรียกชื่อตามแหล่งเกิดนั้นว่า

๑. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟังหรือจากการเล่าเรียนอ่านมา
๒. จินตมยปัญญา แปลว่า ปัญญาเกิดจากการคิด
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากภาวนา คือ การลงมือปฏิบัติ

สามอย่างนี้มีสถานะเท่ากัน หรือว่าสองอย่างแรกเป็นตัวประกอบ ตัวแท้คือข้อที่ ๓ ได้แก่ ภาวนามยปัญญา เรื่องนี้จะตอบตามคัมภีร์ก่อนเพราะง่ายดี

ตามคัมภีร์พระไตรปิฎก โดยเฉพาะในพระอภิธรรมท่านแสดงปัญญา ๓ ประการนี้ พร้อมทั้งให้ความหมายไว้เสร็จ ถ้าดูตามคำอธิบายของท่านจะเห็นว่า ปัญญาทั้ง ๓ อย่าง มีสถานะเท่ากัน เพราะมันก็คือปัญญา เป็นแต่เพียงบอกแหล่งเกิดที่ต่างกันว่าเกิดจากแหล่งไหน ปัญญาเกิดจากการสดับก็เรียกว่า สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดก็เรียกว่า จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการลงมือปฏิบัติ ลงมือทำ ก็เรียกว่า ภาวนามยปัญญา เท่านั้นเอง แต่ตัวปัญญานั้นเหมือนกัน หมายความว่าต่างกันโดยแหล่ง

จุดสำคัญที่จะต้องสังเกตก็คือ มันมีตัวเชื่อม คือ "มย" ที่แปลว่า "เกิดจาก" ปัญญาเป็นจุดหมายแล้วตัวเชื่อมก็บอกว่าเกิดจากไหน คือบอกให้รู้ถึงแหล่ง ซึ่งมี ๓ อย่าง คือ

๑. สิ่งที่ได้เล่าเรียน สดับ อ่าน หรือรับถ่ายทอดมา
๒. การคิด
๓. การลงมือปฏิบัติ หรือลงมือทำ

จุดสำคัญอยู่ที่ว่า อะไรเป็นตัวเชื่อมทำให้แหล่งปัญญานั้นกลายเป็นปัญญาขึ้นมาได้ อันนี้สิสำคัญ ในที่นี้ขอตอบตามคัมภีร์ที่ว่า ปัญญาทั้ง ๓ ข้อนั้นมีค่าเท่ากัน แต่ตัวสำคัญที่เชื่อมโยงให้เกิดปัญญา คือ กระบวนการในระหว่าง ฉะนั้นคงจะไม่ต้องมาเถียงกันในแง่ว่าอันไหนเป็นปัญญาตัวจริง

ในที่นี้ท่านไม่ได้บอกถึงตัวกระบวนการ หรือตัวปฏิบัติการที่จะให้เกิดปัญญา ท่านเพียงแต่บอกแหล่งเกิดของมันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่เราจะต้องใส่ใจ ก็คือ กระบวนการที่จะทำให้สุตะ จินตะ และภาวนานั้นเกิดเป็นปัญญาขึ้นมา ซึ่งเป็นข้อพิจารณาอีกเรื่องหนึ่งที่เลยจากคำถามนี้ไป จึงขอหยุดไว้แค่นี้ก่อน

ต้องจัดระบบและโครงสร้างให้ดี เพื่อให้ปฏิบัติการสื่อสารได้อย่างมั่นใจ

ต่อไปก็จะพูดถึงเรื่องที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้ย้ำ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับครั้งก่อนๆ อาจารย์หมอประเวศ วะสี จะย้ำเรื่องโครงสร้าง อาตมภาพจะไม่ลงลึกไปในสิ่งที่ท่านพูด แต่อยากจะโยงเรื่องที่ท่านพูดไปหาหลักการทางพระพุทธศาสนา เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพด้วย

การที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี พูดถึงเรื่องโครงสร้าง และย้ำเรื่องโครงสร้างนักหนานี้ เป็นการเตือนใจชาวพุทธว่า อย่าลืมหลักที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เพราะว่าพุทธศาสนิกชนปัจจุบันมีความโน้มเอียง หรือได้ก้าวเลยไปแล้วในแง่ที่จะเน้นแต่เรื่องของจิตใจ เรื่องของนามธรรม เรื่องของบุคคล เช่นอาจจะพูดว่า ถ้าแต่ละคนดี สังคมก็จะดี ถ้าจิตใจดี กิจการและอะไรต่างๆ ก็จะดีด้วย การพูดอย่างนี้ก็เหมือนกำปั้นทุบดิน ซึ่งก็ถูก

ถ้าแต่ละคนดีประกอบกันเข้าเป็นสังคม ก็เป็นสังคมที่ดี แต่เราจะต้องถามต่อไปว่า แล้วทำอย่างไรจะให้แต่ละคนดีล่ะ นี่แหละจึงมีสิ่งที่จะต้องทำเหนือจากนั้น คือไม่ใช่หยุดอยู่แค่เรื่องบุคคล ตรงนี้แหละที่เรื่องของการจัดตั้ง เรื่องของระบบ เรื่องขององค์กร เรื่องของโครงสร้าง จะต้องเข้ามา และเราจะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ในพระพุทธศาสนาว่ามีหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ชัดเจน พระพุทธเจ้าตรัสครั้งไรก็ทรงเรียกพระพุทธศาสนาว่าประกอบด้วยธรรมกับวินัย ชื่อของพระพุทธศาสนา คือ ธรรมวินัย

ธรรมนั้นเป็นเรื่องของความจริง ซึ่งเกิดจากการที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติแล้วนำเอาความรู้ความเข้าใจในความจริงของธรรมชาตินั้นมาแสดง เพื่อให้คนเอาความรู้นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตน ทั้งนี้เพราะชีวิตของแต่ละคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ย่อมเป็นไปตามความจริงของกฎธรรมชาติ พูดด้วยสำนวนหนึ่งว่าแต่ละชีวิตรับผิดชอบต่อความจริงของธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ความจริงของธรรมชาตินี้เกิดประโยชน์แก่หมู่มนุษย์จำนวนมาก พระพุทธเจ้าจึงไม่หยุดอยู่แค่เพียงรู้ความจริงแล้วนำ(ความรู้ใน)ความจริงมาแสดงแก่บุคคลทีละคนไปเรื่อยๆ แต่พระองค์ได้ทรงจัดตั้งองค์กรหรือชุมชนขึ้นมา ที่เรียกว่า "สังฆะ" หรือสงฆ์ และทรงจัดวางระเบียบการดำเนินชีวิต และระบบแห่งการอยู่ร่วมกันและการดำเนินกิจการส่วนรวมในสังคมขึ้นมาด้วย

การจัดตั้งสังฆะนี้ก็คือ วินัย สงฆ์หรือชุมชนเกิดขึ้นโดยมีวินัยเป็นเครื่องจัดตั้งวางระเบียบ ระบบการอยู่ร่วมกัน ระบบความสัมพันธ์และการจัดสภาพแวดล้อมทั้งหมด เพื่อให้ธรรมเกิดผลเป็นประโยชน์แก่หมู่มนุษย์จำนวนมาก

ฉะนั้น ทั้งธรรม และวินัย คือ ทั้งความจริงของธรรมชาติ และการจัดตั้งในสังคมมนุษย์ ๒ อย่างนี้จึงมีความสำคัญมากเป็นคู่กัน กล่าวคือ เราจะต้องรู้ความจริง แล้วนำเอาความจริงนั้นมาใช้โดยปฏิบัติการบนฐานของความจริงนั้นเพื่อให้ชีวิตและสังคมของเราดำรงอยู่ด้วยดี ถ้าจะพูดแยกเป็นขั้นตอนก็บอกว่า ในแง่ของชีวิต แต่ละคนจะต้องเข้าถึงตัวธรรมคือ ความจริง แต่เพื่อให้ธรรมคือความจริงนั้นเกิดประโยชน์แก่คนกว้างขวางออกไป เราก็จัดสภาพสังคมด้วยวินัยให้เอื้อต่อการที่บุคคลแต่ละคนจะได้เข้าถึงความจริงนั้น โดยจัดตั้งระบบชุมชนที่เรียกว่า "สังฆะ" ขึ้นมา

สังฆะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีสังฆะ ธรรมที่เป็นความจริงในธรรมชาตินั้นก็จะไม่ปรากฏแก่ประชาชนได้กว้างขวางและยืนนาน และสังฆะนั้นก็เป็นชุมชนที่เอื้อโอกาสให้แต่ละคนเข้าไปได้ประโยชน์จากธรรม

ชาวตะวันตกเขายอมรับและกล่าวไว้ว่า สังฆะ หรือสงฆ์ คือชุมชนจัดตั้งในพระพุทธศาสนานี้ เป็นองค์กรที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก ไม่มีองค์กรใดในโลกมีอายุยืนยาวเท่าสังฆะ ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประดิษฐานไว้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ และน่าศึกษามากว่า สังฆะที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นนี้มีโครงสร้างอย่างไร มีระบบความสัมพันธ์ในชุมชนอย่างไร มีความสัมพันธ์กับตัวความจริงของกฎธรรมชาติอย่างไร และเป็นระบบการจัดตั้งที่มีประสิทธิภาพเพียงใดในการนำคนเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ ตลอดจนกระทั่งว่าสังฆะที่ว่านั้น มาถึงปัจจุบันนี้ ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าหรือไม่ โครงสร้างแห่งระบบความสัมพันธ์ต่างๆ ยังคงอยู่ดี หรือมีการผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไปแค่ไหน

ในเมืองไทยดูเหมือนว่าเราไม่ได้ก้าวไปถึงหลักการแห่งธรรมและวินัยกันอย่างชัดเจนเลย เราพูดถึงวินัยโดยมองแค่ระเบียบและข้อกำหนดในพุทธบัญญัติที่เกี่ยวกับการเป็นอยู่ของพระ เราไม่ได้นึกว่าที่จริงนั้นวินัยคือการจัดตั้งองค์กร ระบบระเบียบ และโครงสร้างทั้งหมดของสังคม มีทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบการปกครอง ระบบการยุติธรรม และระบบการดำเนินกิจการทุกอย่างของชุมชน

รวมความแล้วจะต้องระวังไว้ว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่มีแต่ธรรมอย่างเดียว แต่มีสิ่งที่เรียกว่าวินัย ซึ่งเป็นเรื่องของรูปแบบ ระเบียบ ระบบ และโครงสร้างอย่างที่ว่ามานี้ด้วย แต่ก็จะขอผ่านไป เพียงแต่พูดเป็นข้อที่ให้สังเกตกันไว้ เพราะธรรมกับวินัยนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เท่ากับทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

ถ้าจะแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ ศาสตร์ทั้งหลายต้องข้ามพ้นความคิดแยกส่วน

อาจารย์เสน่ห์ จามริก ได้ย้ำถึงการที่ว่าคนไทยเราตามตะวันตก ไปรับเอาความคิดตะวันตกมาใช้ แล้วเราก็ผิดพลาดไปตามเขา และท่านเน้นความสำคัญของการที่จะนำเอาหลักพุทธธรรมไปใช้ และในการย้ำนั้นท่านเน้นไปที่ “ธรรมชาติ” อาตมภาพจะไม่เข้าไปในรายละเอียดที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก ได้พูดไว้ เป็นแต่เพียงจะยกขึ้นเป็นข้อสังเกตสำหรับโยงเข้ามาหาหลักการของพระพุทธศาสนา เพื่อให้เราชาวพุทธได้ระลึกถึงหลักการของพุทธศาสนาว่าเป็นอย่างไร

เรื่องนี้ต้องเทียบกับวิชาการสมัยปัจจุบัน เมื่อพูดถึงวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องสันติภาพ โดยมากเราจะนึกไปถึงสังคมศาสตร์กันมาก โดยเฉพาะจะมองสันติภาพในแง่ที่คู่กับสงคราม สงครามเป็นกิจกรรมของสังคม แต่เป็นกิจกรรมในทางลบ ส่วนสันติภาพก็คือภาวะที่ปราศจากสงคราม นี้เป็นความหมายอย่างหยาบๆ สังคมศาสตร์จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องสันติภาพในความหมายอย่างนี้มาก

จะเห็นว่าสังคมศาสตร์ของตะวันตกนั้น เป็นแนวคิดทางวิชาการที่เกิดจากการแยกส่วน ซึ่งได้แบ่งแยกศาสตร์ของมนุษย์ออกเป็น ๓ หมวด ได้แก่ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

สังคมศาสตร์ได้แยกออกไปอีกเป็นหลายสาขาวิชา เช่น สังคมวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จุดเน้นของสังคมศาสตร์ คือ การมองสังคม โดยพิจารณาเรื่องของการที่คนมาสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้นจึงมองว่ามีคนกับสังคม และมองคนในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม คนกับสังคมนี้เป็นแดนแห่งการพิจารณาในเรื่องของสังคมศาสตร์ แต่ในการพิจารณาอย่างนี้ น่าสังเกตว่ามีอะไรบางอย่างขาดหายไป ถ้าพิจารณาในแง่ของพุทธศาสนา การศึกษาเรื่องสังคมนั้นไม่ใช่ศึกษาแค่คนกับสังคมเท่านั้น แต่จะต้องมีอะไรอีก ถ้าเราศึกษาแค่คนกับสังคมเท่านั้น สังคมศาสตร์จะไปไม่ถึงที่สุด และจะแก้ปัญหาของมนุษย์ไม่ได้

สังคมศาสตร์ว่าด้วยคนกับสังคม แต่คนมี ๒ ด้านในตัวมันเอง “คน” นั้นในด้านหนึ่งเป็นชีวิต ชีวิตของเขาเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปตามธรรมชาติ ตั้งแต่ร่างกายของเขาที่เกิดจากธรรมชาติประกอบกันขึ้น อีกด้านหนึ่งเขาเป็นบุคคลที่เป็นสมาชิกของสังคม คนนั้นมี ๒ ด้านอย่างนี้และแยกจากกันไม่ได้ การพิจารณาคนเฉพาะในเชิงสัมพันธ์กับสังคม จะทำให้ลืมมองคนในด้านที่เป็นธรรมชาติไป การแก้ปัญหาจะไม่ถึงที่สุด และจะแก้ไม่สำเร็จ จึงเป็นข้อที่จะต้องระวัง

ถ้าจะให้ครบถ้วนตามความเป็นจริง ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสังคมจะต้องมองเป็น ๓ ด้านคือ คน ธรรมชาติ และสังคม ซึ่งแยกจากกันไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐศาสตร์กล่าวถึงมาตรฐานการครองชีพ (standard of living) ซึ่งเป็นเรื่องที่วัดได้เป็นตัวเลข เศรษฐศาสตร์ เอาใจใส่เรื่องนี้มาก และวงการต่างๆ ทั่วไปก็พลอยตื่นนิยมใช้คำนี้กันเกร่อทีเดียว แต่ต่อมาเราก็พบว่า ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์นั้น การที่จะมองเห็นแค่ด้านการครองชีพเป็นตัวเลข เป็นปริมาณของวัตถุเท่านั้นไม่เพียงพอ มาตรฐานการครองชีพไม่ใช่เครื่องวัดชีวิตที่ดีงามได้แท้จริง ต่อมาก็มีการเน้นกันในเรื่องคุณภาพชีวิต จนกระทั่งเวลานี้ คำว่า quality of life กลายเป็นคำที่ใช้กันกว้างขวางกว่าคำว่า standard of living

สมัยก่อนนั้น คำว่ามาตรฐานการครองชีพสำคัญมาก แต่เวลานี้ไม่ค่อยมีคนเอ่ยอ้าง แต่จะกล่าวถึงคุณภาพชีวิตกันมาก เพราะว่าบางครั้งมาตรฐานการครองชีพสูงแต่คุณภาพชีวิตเสีย ซึ่งเป็นไปมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้นมาตรฐานการครองชีพจึงไม่ใช่เครื่องวัดที่แน่นอน แต่เราต้องการคุณภาพชีวิต และเมื่อกล่าวถึงคุณภาพชีวิต ขอบเขตของเรื่องจะไม่อยู่แค่สังคมศาสตร์ แต่จะรวมไปถึงเรื่องของนามธรรม เรื่องของชีวิตจิตใจ เรื่องของความรู้และความรู้สึก เรื่องของความดีความงาม เรื่องของอิสรภาพด้วย หมายความว่าเรื่องคุณภาพชีวิตจะต้องก้าวล้ำเข้าไปในแดนของมนุษยศาสตร์ ฉะนั้นสังคมศาสตร์จะจำกัดตัวเองอยู่เพียงแค่คนกับสังคม กับทั้งในแง่ของวิธีวิทยาศาสตร์ที่วัดด้วยตัวเลขสถิติเท่านั้นไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อคนกับสังคมล้ำเข้าไปในแดนมนุษยศาสตร์แล้ว ก็มีปัญหาอีกว่ามนุษยศาสตร์ตามแนวคิดของตะวันตกนั้นเน้นแต่เรื่องคุณค่า ไม่ศึกษามนุษย์ในแง่ที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง เพราะเขายกมนุษย์ในแง่ของธรรมชาติไปให้กับวิทยาศาสตร์ ทั้งที่วิทยาศาสตร์นั้นก็ศึกษาเฉพาะธรรมชาติส่วนวัตถุ เอาแต่เรื่องร่างกาย ไม่ศึกษาธรรมชาติด้านจิตใจ จึงเกิดช่องโหว่ขึ้นมาในการศึกษา

ขณะนี้วิทยาการจึงก้าวมาถึงขั้นที่ว่าจะต้องบูรณาการศาสตร์ ๓ หมวดใหญ่คือ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีปัญหาอีกเพราะคนที่เชี่ยวชาญหรือเป็นเจ้าของแดนแต่ละแดนนั้นก็รู้และบางทีก็เอาแต่แดนของตัวเอง แถมหลายคนมีความรู้สึกไม่ดีต่อแดนอื่น เพราะฉะนั้นเขาก็จะมองเรื่องนั้นแค่ในแง่ของศาสตร์ของเขาขยายออกไป ดังเช่น วิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะ new physics ได้เริ่มเข้าไปศึกษาเรื่องความจริงของธรรมชาติด้านจิตใจด้วย จนกระทั่งขณะนี้กลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์กำลังเป็นผู้นำในการศึกษาเรื่องของมนุษย์ในด้านจิตใจ ถึงกับล้ำหน้าจิตวิทยาไปด้วยซ้ำ เพราะนักจิตวิทยาได้มัวไปตามนักวิทยาศาสตร์ ในการที่จะศึกษาเรื่องของจิตใจด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ที่จะวัดได้เป็นตัวเลขเป็นต้น จนทำให้จิตวิทยากลายมาเป็นวิชาพฤติกรรมศาสตร์ที่เอาแต่เรื่องทางรูปธรรม แล้วปล่อยช่องว่างไว้ จนมาถึงจุดหนึ่งที่วิทยาศาสตร์กลับเป็นผู้เข้าไปศึกษาเรื่องจิต เหมือนกับสวนทางกัน

ขณะนี้พูดโดยรวม ศาสตร์ต่างๆ ยังมีความคับแคบและสับสน การที่แยกเป็นหมวดๆ นั้น ที่จริงก็เพื่อจะได้ศึกษาให้ชัดเจนลงไปในแต่ละด้าน แต่พอแยกไปแล้วก็ลืมวัตถุประสงค์เดิมที่จะต้องโยงว่า ทำอย่างไรจะเข้าถึงความจริงแท้ที่สมบูรณ์และแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ซึ่งในที่สุดทุกอย่างก็เป็นองค์ประกอบของระบบความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวกันที่จะแยกมิได้ ถ้าเราไม่สามารถโยงองค์ประกอบทุกอย่างเข้ามาโดยมองเห็นความสัมพันธ์ในระบบใหญ่ทั้งหมดแล้ว จนถึงความจริงแท้และแก้ปัญหาได้อย่างไร

ที่พูดข้างต้นเป็นตัวอย่างของศาสตร์แบบตะวันตก คือสังคมศาสตร์ที่พิจารณาเรื่องสังคมแค่คนกับสังคม และมองคนในแง่ที่เป็นบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสังคม ไม่ได้พิจารณาถึงแง่ที่คนเป็นธรรมชาติด้วย แต่พุทธศาสนามองคนทั้ง ๒ ด้าน คือ

๑. ด้านที่เป็นชีวิต ซึ่งเป็นธรรมชาติ

๒. ด้านที่เป็นบุคคล ผู้เป็นสมาชิกของสังคม

และทั้ง ๒ ด้านนี้โดยที่แท้แล้วก็อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ เรื่องนี้ยกขึ้นมาพูดไว้เป็นข้อสังเกต

จะขอผ่านไปถึงข้อใหญ่เลยที่ว่าทำอย่างไรจะให้เกิดสันติภาพ แต่ขอย้ำไว้ว่า ถ้าเราจะเข้าใจหลักการใหญ่คล้ายๆ อย่างที่เขาเรียกว่า เป็นตัวแบบในการมองพระพุทธศาสนา ก็จะต้องมองเห็นว่าพระพุทธศาสนานี่เป็น ธรรมวินัย ที่เอาทั้งสาระและรูปแบบ ทั้งบุคคลและระบบ ทั้งปัจเจกชนและสังคม ทั้งด้านจิตใจและทั้งด้านรูปธรรม พร้อมกันนั้นก็มองไปทั่วระบบใหญ่แห่งความสัมพันธ์ของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ประกอบด้วย ทั้งธรรมชาติ มนุษย์ และสังคม จะต้องมองให้ครบ เมื่อได้ภาพใหญ่นี้แล้วก็ลงรายละเอียดต่อไป แต่ตอนนี้จะหยุดยั้งไว้แค่นี้ก่อน หันมาพูดกันถึงปัญหาของสันติภาพที่เกิดจากตัณหา มานะ และทิฏฐิ

ถ้าจะแก้ปัญหาให้โลกมีสันติภาพ ต้องให้โลกที่ไร้พรมแดนประสานกับจิตใจที่ไร้พรมแดน

สำหรับปัญหาเรื่องสันติภาพนั้น ขณะนี้เราพูดกันว่าโลกกว้างไกลไร้พรมแดน แต่ในขณะที่โลกยิ่งกว้างไร้พรมแดนออกไป จิตมนุษย์กลับยิ่งคับแคบและแบ่งแยก ยิ่งจำกัดขอบเขตมากขึ้น จึงเกิดปัญหาเพราะขัดแย้งอย่างชนิดสวนทางกัน

ในทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า มนุษย์นี้ถ้าพัฒนาให้ดีแล้วจะมีภาวะจิตที่ท่านใช้ศัพท์ซึ่งมาตรงพอดีกับยุคนี้ คือคำว่า “วิมริยาทิกจิต” หรือคำเต็มในบาลีว่า “วิมริยาทิกเตน เจตสา” ซึ่งแปลว่า “ด้วยจิตที่ทำให้ไร้พรมแดนแล้ว” การที่เราพูดว่า โลกไร้พรมแดน จึงเป็นการกลับไปหาศัพท์เก่า ได้แก่ “มริยาท” แปลว่าพรมแดน หรือขีดคั่นขอบเขต เติม “วิ” เข้าข้างหน้าเป็น “วิมริยาท” แปลว่า ปราศจากขอบเขตขีดคั่น หรือไร้พรมแดน

ยุคนี้เราพูดว่าโลกไร้พรมแดน เป็นการมองด้านวัตถุภายนอก แต่ของพระพุทธเจ้าในที่นี้กล่าวถึงจิตใจไร้พรมแดน เป็นเรื่องภาวะทางนามธรรมภายในตัวคน

จิตมนุษย์ที่ดีงามพัฒนาถึงขั้นที่จะสร้างสรรค์สันติภาพได้ ต้องเป็นจิตที่ถึงภาวะไร้พรมแดน คือ หลุดพ้นจากขอบเขตของสิ่งกีดกั้น แต่จิตจะไร้พรมแดนได้อย่างไร จิตจะไร้พรมแดนขึ้นมาเองไม่ได้ ทางพุทธศาสนากล่าวว่าจะต้องมีปัญญาไร้พรมแดน คือรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย แต่คนเราจะรู้ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ เราจะไปรู้ใบไม้ทุกใบ ไปรู้ต้นไม้ทุกต้น ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ว่ารู้นี้ คือรู้ความจริงของโลกและชีวิต รู้เข้าใจระบบความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ รู้อาการที่สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน อิงอาศัยกันในระบบแห่งความสัมพันธ์ ถ้าปัญญาหยั่งรู้เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติที่อยู่เบื้องหลังโลกและชีวิตนี้ ก็จะเกิดเป็นปัญญาที่ไร้พรมแดน เมื่อปัญญาไร้พรมแดนแล้ว ก็จะทำให้จิตหลุดพ้นจากขอบเขตที่จำกัด แล้วก็เป็นจิตที่ไร้พรมแดน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีปัญญารู้ความจริง

ความจริงนั้นไร้พรมแดนอยู่แล้ว เมื่อปัญญารู้ความจริงที่ไร้พรมแดน ปัญญาก็ไร้พรมแดน เมื่อปัญญาไร้พรมแดน ก็เปิดจิตให้เป็นอิสระไร้พรมแดน เมื่อจิตไร้พรมแดนแล้ว ภาวะอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ คือเกิดท่าทีของจิตใจที่มองเห็นมนุษย์สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นมิตร แล้วก็มีความปรารถนาดีต่อกัน คุณธรรมที่เรียกว่า เมตตาหรือไมตรีที่แท้ก็เกิดขึ้น เป็นเมตตาที่ไร้พรมแดน พอเมตตาไร้พรมแดนในจิตที่ไร้พรมแดน ด้วยปัญญาที่ไร้พรมแดน ก็มองมนุษย์เป็นส่วนร่วมอยู่ในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติร่วมโลกอันเดียวกัน ที่จะมาช่วยกันสร้างสรรค์ความดีงามและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในโลกแห่งสันติสุข

เป็นอันว่า ปัญญาที่ไร้พรมแดนสร้างสภาพจิตไร้พรมแดน และในจิตที่ไร้พรมแดนก็มีเมตตาไร้พรมแดน เมื่อมีเมตตาไร้พรมแดน ก็เป็นสันติภาพไปในตัว จากนั้นก็มาจัดตั้งวางระบบสังคมมนุษย์ให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันด้วยปัญญาและจิตที่ไร้พรมแดนอย่างนี้ ตลอดจนเอื้อต่อการที่จะฝึกฝนมนุษย์ที่จะเกิดมาใหม่ให้เข้าสู่ระบบชีวิตที่เอื้อเกื้อกูลกัน เมื่อทำอย่างนี้ก็จะเกิดความประสานสอดคล้องกันระหว่างธรรมกับวินัย หรือระหว่างภาวะความจริงในธรรมชาติและคุณธรรมที่เป็นคุณสมบัติในจิตใจ กับรูปแบบระบบโครงสร้างองค์กรภายนอก ซึ่งต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นปัจจัยแก่กัน

ถึงตอนนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปพูดถึงปัญหาที่พูดไปข้างต้นว่า ปัจจุบันโลกไร้พรมแดน แต่ใจคนกลับยิ่งคับแคบ ซึ่งขยายความได้ว่า มนุษย์มีปัญญาชนิดที่ทำให้สามารถพัฒนาวัตถุ โดยเฉพาะเทคโนโลยีมาทำให้โลกไร้พรมแดน แต่เขาไม่มีปัญญาแท้จริงที่จะพัฒนาตัวเองให้มีจิตใจที่ไร้พรมแดน

เมื่อจิตใจที่คับแคบ เป็นสาเหตุแห่งการแก่งแย่งแบ่งแยก เบียดเบียนข่มเหงกัน ในขณะที่โลกยังแคบ เขาก็ขัดแย้ง ทะเลาะวิวาททำสงครามกันได้ในขอบเขตจำกัด การที่เขาทำลายขอบเขตทางรูปธรรมที่แบ่งกั้นออกไปให้โลกไร้พรมแดน ในขณะที่จิตใจของเขายังคับแคบอยู่ ก็ยิ่งกลายเป็นการขยายขอบเขตของการขัดแย้งเบียดเบียนให้กว้างขวางออกไป ถ้าอย่างนี้โลกที่ไร้พรมแดนก็อาจจะกลายเป็นโลกแห่งการขัดแย้งเบียดเบียน สงครามและการทำลายล้างอย่างไร้พรมแดน

แท้จริงนั้น แม้คำว่า “โลกไร้พรมแดน” นั้นเอง ก็เป็นเพียงสำนวนพูดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีความหมายจำกัด ในแง่หนึ่ง โลกนี้เองโดยธรรมชาติก็ไร้พรมแดนอยู่แล้ว แต่มนุษย์นั่นแหละมาทำการแบ่งแยก โดยกำหนดเขตแดนกันขึ้นเป็นต้น และในอีกแง่หนึ่ง ที่ว่าปัจจุบันโลกไร้พรมแดน ก็เป็นการมองที่เน้นในด้านการสื่อสารคมนาคมและขนส่ง ซึ่งทำให้กิจกรรมของมนุษย์เคลื่อนไปได้ทั่วถึงเร็วไวไม่มีเขตจำกัด

เมื่อพูดให้ตรงจุดแท้ๆ จึงต้องว่า กิจกรรมของมนุษย์นี่แหละ เป็นตัวการหรือปัจจัยหลักที่จะทำให้ไร้พรมแดนหรือจำกัดพรมแดน และที่จะทำให้ภาวะไร้พรมแดนนั้นเป็นคุณหรือเป็นโทษ และเบื้องหลังกิจกรรมของมนุษย์นั้น ตัวการที่ขับเคลื่อนกิจกรรมให้ดีให้ร้ายหรือเป็นอย่างไร ก็คือเจตจำนงหรือความตั้งจิตคิดหมายที่อยู่ในจิตใจของคนนั้นเอง

นี้เป็นการพูดสำทับให้เห็นว่า ถ้าจะให้โลกที่ไร้พรมแดน เป็นโลกแห่งสันติสุข ก็จะต้องพัฒนาคนให้มีจิตใจที่ไร้พรมแดน ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์จะต้องมีปัญญาที่ไร้พรมแดน ในความหมายว่าเป็นปัญญาที่รู้เข้าใจถึงความจริงของโลกและชีวิต ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกทั้งหมด จนมีจิตใจร่วมกันด้วยเมตตาไมตรี นี่ก็คือ การที่ปัญญาไร้พรมแดน ทำให้เกิดเมตตาหรือไมตรีที่ไร้พรมแดน เมื่อเมตตาไร้พรมแดนเกิดขึ้นในใจ คนก็มีจิตใจที่ไร้พรมแดน ถ้าคนมีจิตใจที่ไร้พรมแดน ก็จะทำให้โลกที่ไร้พรมแดนนั้นเป็นโลกแห่งสันติสุข โดยมีสันติภาพที่ยั่งยืน

ถ้าจะให้จิตใจไร้พรมแดน คนต้องเข้าถึงความเป็นสากลทั้งสามประการ

ภาวะไร้พรมแดนนั้น คู่กันกับความเป็นสากล และความเป็นสากลนี่แหละที่จะทำให้มนุษย์มีจิตใจไร้พรมแดนขึ้นมาได้ “สากล” แปลว่าทั่วทั้งสิ้นหรือทั่วทั้งหมด คือเป็นอย่างเดียวกันหรือเป็นอย่างนั้นเหมือนกันทั่วทั้งหมด

การที่จะทำให้โลกไร้พรมแดนเป็นโลกแห่งสันติได้ มนุษย์จะต้องรู้เข้าใจด้วยปัญญา มีจิตใจที่ยอมรับ และมีพฤติกรรมที่ปฏิบัติโดยสอดคล้องกับความเป็นสากล ที่สำคัญ ๓ ประการ คือ

๑. ความจริงที่เป็นสากล
๒. ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล
๓. ความมีเมตตาที่เป็นสากล

แต่ขณะนี้มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นสากลที่ไร้พรมแดนได้ เริ่มตั้งแต่

๑. ความจริงที่เป็นสากล เราก็ไม่ยอมรับ หรือเอามาทำให้ไม่สากล ความจริงที่เป็นสากลหมายความว่า การกระทำอันเดียวกัน ไม่ว่ามนุษย์คนใดพวกใดอยู่ที่ไหนก็ตามกระทำ ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้ได้รับผลอย่างเดียวกันเหมือนกัน เป็นสากลหมด ถ้าการกระทำที่ไม่ดีเป็นเหตุให้ได้รับผลไม่ดี ก็ต้องเป็นความจริงสำหรับมนุษย์ทุกหนทุกแห่งทุกเหล่าทุกพวก ไม่ใช่ว่าคนพวกนี้ทำการนี้แล้วจะได้รับผลดี แต่มนุษย์อีกพวกหนึ่งทำการเดียวกันที่ว่าดีนั้น แต่ไม่สามารถได้รับผลดี ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่ายังเป็นความจริงที่ไม่สากล ยังเป็นความจริงที่มีการแบ่งแยก คือ ไม่ใช่ความจริงที่แท้นั่นเอง

เรื่องความจริงที่แบ่งแยกไม่เป็นสากลนี้เป็นปัญหาอย่างมาก ในโลกมนุษย์ที่ต้องทะเลาะกันมาตลอดเวลาหลายพันปีจนกระทั่งบัดนี้ ก็เพราะมนุษย์เป็นอย่างนี้ คือไม่ยอมให้ความจริงเป็นสากล ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์ยอมรับกฎแห่งความจริงว่า การกระทำที่ดีจะเป็นเหตุให้ได้รับผลดี เมื่อทำดีอันนี้แล้วไม่ว่าใครพวกไหนทำ ถ้าพูดถึงโลกหน้า ก็ต้องได้ไปสวรรค์เหมือนกันหมด ความชั่วอันนี้ ไม่ว่าใครทำก็ต้องไปนรกเหมือนกันหมด ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นความจริงที่สากล ไร้พรมแดน แต่เท่าที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มีปัญหาว่า มนุษย์ไม่ยอมให้ความจริงนี้เป็นสากล กล่าวคือ จะมีกฎเกณฑ์แบ่งแยกว่า ถ้าคนพวกนี้ทำความดีอันนี้จะได้ไปสวรรค์ แต่ถ้าเป็นพวกอื่น หรือไม่นับถืออย่างฉัน ถึงจะทำความดีอันนี้ก็ไปสวรรค์ไม่ได้ ถ้าจะทำความดีอันนี้ ต้องนับถืออย่างฉันหรือต้องเป็นพวกฉันด้วย จึงจะไปสวรรค์ได้ ถ้ามิฉะนั้นก็จะต้องไปนรก อย่างนี้คือความจริงที่ไม่เป็นสากล

๒. ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล เมื่อเป็นมนุษย์ก็ต้องมีฐานะเป็นมนุษย์ทั้งนั้น แต่เวลานี้มีปัญหาว่าความเป็นมนุษย์ไม่สากล เพราะมีการแบ่งแยกว่า มนุษย์พวกนี้ไม่ใช่พวกเรา ฆ่าได้ไม่บาป หรือมนุษย์พวกนั้นฆ่าได้เลย เป็นคนของพวกมารร้าย ฆ่าไปแล้วได้บุญด้วยซ้ำ ในความจริงที่เป็นสากลนั้น มนุษย์ไม่ว่าคนไหนพวกไหนที่ใดก็ต้องได้การยอมรับว่าเป็นมนุษย์ทั้งนั้น การทำร้ายมนุษย์และฆ่ามนุษย์ไม่ว่าคนใด ต้องเป็นความผิด เป็นความไม่ดีเหมือนกันหมด ถ้าอย่างนี้จึงจะมีสันติภาพได้ ถ้าแค่ความเป็นมนุษย์ก็ยังไม่สากลแล้ว สันติภาพจะมีได้จากที่ไหน

๓. ความมีเมตตาที่เป็นสากล คือมีความรักความปรารถนาดี เป็นมิตร มีไมตรีต่อมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าคนไหน พวกไหน ที่ใด เสมอกันหมด โดยไม่มีการแบ่งแยก แต่เท่าที่เป็นมาจนบัดนี้ โลกเต็มไปด้วยลัทธิคำสอน แม้กระทั่งคำสั่งให้มีเมตตารักใคร่ช่วยเหลือกันเฉพาะในพวกในหมู่ของตน และพร้อมกันนั้นก็มักให้รังเกียจ หรือเกลียดชังคนพวกอื่น เมื่อมีการแบ่งแยกอย่างนี้ สันติภาพก็ไม่มีทางเป็นไปได้

ฉะนั้นจึงเป็นปัญหาที่ว่า มนุษย์ไม่สามารถมีจิตใจไร้พรมแดน ที่ประกอบด้วยปัญญารู้เข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงตรงกับภาวะของมันอย่างเป็นสากล

ถ้าจะให้มนุษย์เข้าถึงความเป็นสากล คนต้องพัฒนาตนให้พ้นความคับแคบทั้งสามประการ

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ มนุษย์มีจิตคับแคบลงเพราะอะไร ถ้าตอบอย่างง่ายๆ ก็บอกว่าเพราะความเห็นแก่ตัว ที่ท่านระบุไว้ ๓ อย่าง คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ซึ่งท่านเรียกว่าเป็นตัวปั่น คือปั่นให้สับสนยุ่งเหยิง และยืดเยื้อไปหมด เรื่องที่ไม่ควรเป็นปัญหาก็เป็นปัญหา เรื่องที่ควรจะแก้ไขได้ง่ายก็แก้ไม่ได้ คือ

๑. ตัณหา ความอยากได้ อยากเสพ อยากได้รับการบำรุงบำเรอ ซึ่งปรากฏเด่นในรูปของความอยากได้ผลประโยชน์
๒. มานะ ความอยากใหญ่ ความต้องการอำนาจ ความปรารถนา จะครอบงำมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น
๓. ทิฏฐิ ความติดยึดในความเห็น ความเชื่อถือ ลัทธินิยม อุดมการณ์ แม้แต่ศาสนาต่างๆ ที่ว่าต้องของฉันเท่านั้น

มนุษย์ตกอยู่ใต้อำนาจชักจูงครอบงำของกิเลส ๓ อย่างนี้ แล้วก็ขัดแย้งกัน ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำให้ก้าวล้ำออกไปรุกรานแย่งชิงเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงบังคับครอบงำกัน

เมื่ออยากได้ผลประโยชน์ ก็แย่งชิงกัน เบียดเบียนกัน ทำร้ายกัน ตั้งแต่ระดับระหว่างบุคคลไปจนถึงระหว่างกลุ่ม ระหว่างประเทศ จนกระทั่งเป็นปัญหาระดับโลก และสงครามโลก สงครามระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์มากมาย ได้เกิดขึ้นจากการแย่งชิงผลประโยชน์กัน นี่คือแรงขับดันของตัณหา

ต้นตออีกอย่างหนึ่งของความขัดแย้ง มาจากการแย่งชิงอำนาจ ต้องการเป็นใหญ่เหนือผู้อื่นคือ มานะ เช่น กษัตริย์ที่ต้องการเป็นอธิราชผู้ยิ่งใหญ่ในโลก ที่มีชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่อให้บรรลุจุดหมายนี้จะทำอย่างไรก็ได้ แม้คนจะตายไปเท่าไรก็ช่าง ฉะนั้นการทำสงครามรบราฆ่าฟันแย่งชิงกันจึงได้เกิดขึ้นมากมายจากความมักใหญ่ใฝ่อำนาจ ยิ่งกว่านั้นอำนาจกับผลประโยชน์ยังมาผนวกกันเข้าอีก การได้ผลประโยชน์ก็สนับสนุนการมีอำนาจ การได้อำนาจก็หมายถึงการที่จะหาผลประโยชน์ได้มากด้วย เพราะฉะนั้นผลประโยชน์กับอำนาจจึงเป็นสาเหตุใหญ่ของการรบราฆ่าฟัน แย่งชิง เบียดเบียนกันในหมู่มนุษย์ตลอดมา

อย่างไรก็ตาม อีกข้อหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ทิฏฐิ เมื่อมนุษย์ถือทิฎฐิก็แบ่งแยกกันเป็นพวกเป็นเหล่าและยึดถือในความแบ่งแยกนั้น แล้วความเป็นสากลก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากความยึดถือนั้น มนุษย์ก็กีดกันกัน รังเกียจกัน เกลียดชังกัน รบราฆ่าฟันกัน ความเชื่อ การยึดถือพวก ถือเหล่า ถือเผ่า ถือผิว ถือศาสนา ลัทธินิยม อุดมการณ์ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษย์มาตลอด อย่างสงครามอุดมการณ์ก็เป็นสงครามระดับโลก บางทียิ่งใหญ่กว่าสงครามตัณหาและมานะ คือใหญ่ยิ่งกว่าสงครามแย่งผลประโยชน์และชิงอำนาจด้วยซ้ำ

จะเห็นว่า แท้ที่จริง ตัณหา มานะ และทิฏฐินี้เองที่แบ่งแยกมนุษย์ แล้วทำให้เกิดปัญหา ทำอย่างไรจะให้มนุษย์ก้าวพ้นความจำกัดแบ่งแยกเหล่านี้ออกไปได้ สิ่งที่เราต้องการคือ ปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย มองเห็นโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ที่จะปลดปล่อยจิตของตนให้เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจครอบงำของตัณหา มานะ และทิฏฐินั้น พร้อมทั้งทำให้มนุษย์เข้าใจกัน รู้จักใส่ใจสุขทุกข์ของกันและกัน ในฐานะเป็นเพื่อนร่วมโลกอย่างเป็นสากล ไม่จำกัดขอบเขต ไม่ใช่เป็นปัญญาที่เพียงมารู้วิธีที่จะได้จะเอาเพื่อสนองตัณหามานะทิฏฐิ

เวลานี้ปัญญามักจะมีความหมายคับแคบแค่นั้น คือปัญญารู้วิธีการที่ว่าทำอย่างไรจะสนองความต้องการในเชิงตัณหามานะทิฏฐิ เพื่อเอาให้ได้ เพื่อข่มขี่ครอบงำบังคับเขาได้ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงของโลกและชีวิต

บนฐานของภาวะจิตที่จำกัดแบ่งแยก มนุษย์ได้สร้างระบบสังคมที่รองรับความไร้สันติภาพ

ปัญญาที่แท้จริง หมายถึงการรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ถ้าปัญญานี้ไม่มา จะเกิดเมตตาที่สากลไร้พรมแดนไม่ได้ และสภาพจิตไร้พรมแดนก็ไม่เกิด แต่ถ้าเกิดปัญญารู้เข้าใจความจริงตระหนักชัด ก็จะมีสภาพจิตไร้พรมแดน โดยมีเมตตา คือความรักเพื่อนมนุษย์ ที่มองเห็นมนุษย์ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมโลก เมื่อมองเห็นกันเป็นมิตร ก็จะมีความรู้สึกที่จะร่วมมือช่วยกันสร้างสรรค์ ฉะนั้นสันติภาพก็เกิดขึ้น นี่คือการพัฒนามนุษย์ที่มาถึงจุดสูงสุด เมื่อมนุษย์เข้าถึงตัวปัญญาแท้จริงที่ทำให้สภาพจิตแห่งเมตตาเกิดตามมา พอปัญญากับเมตตามาด้วยกัน ก็แสดงออกเป็นพฤติกรรมในการจัดสรรวางระบบสังคมเป็นต้นให้กลมกลืนประสานกันเข้า ในลักษณะที่จะเกิดมีสิ่งที่เราเรียกว่าสันติภาพอย่างสากล

ในยุคที่ผ่านมานี้ ปัญญาของมนุษย์โดยทั่วไปไม่สามารถก้าวมาถึงขั้นที่ไร้พรมแดน คือรู้ความจริงสากล ที่จะทำจิตใจให้ไร้พรมแดน เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ที่เป็นมาโดยตลอด เต็มไปด้วยยุคสมัยแห่งการแย่งชิงผลประโยชน์และการแสวงหาอำนาจ

ในสมัยโบราณ อินเดียก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เด่นชัดของระบบผลประโยชน์ และอำนาจ เขามีปัญญาชนที่เรียกว่าพราหมณ์ ซึ่งเป็นทั้งนักบวชและนักวิชาการ แต่แทนที่จะใช้ปัญญาของตนเพื่อระงับสงคราม พราหมณ์กลับสนองความอยากของนักปกครอง และนักหาผลประโยชน์ ด้วยการติดต่อกับเทพ เพื่อให้เทพมาสนองความต้องการของคนเหล่านั้น ทั้งในทางทรัพย์และอำนาจ ด้วยวิธีเซ่นสรวงบูชายัญ แรงจูงใจเบื้องหลังระบบและสถาบันของสังคมก็เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว ที่มุ่งหาผลประโยชน์และอำนาจ ก็อยู่แค่ตัณหาและมานะ นี่เอง ไม่ไปไหนเลย

การพัฒนากิจกรรมของสังคมในสมัยนั้นก็คือ การจัดสรรพัฒนาพิธีบูชายัญ ถ้าเอาเรื่องนี้มาเทียบ ก็จะเห็นวิวัฒนาการของสังคมว่า ถึงแม้รูปแบบแห่งกิจกรรมของสังคมจะเปลี่ยนไปต่างๆ แม้กระทั่งเป็นกิจกรรมทางธุรกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบัน แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นไปเพื่อสนองความเห็นแก่ตัวนี้ทั้งหมด ฉะนั้นมันจึงไม่เป็นปัญญาแท้จริง ที่รู้ความจริงของธรรมชาติ แต่เป็นปัญญาที่เพียงจะรู้วิธีการเพื่อมาสนองความต้องการหรือรับใช้ระบบแห่งตัณหาและมานะ

เมื่อมัวแต่ติดต่อมุ่งจะให้เทพเจ้าหรือสถาบันธุรกิจมาช่วยตน มนุษย์ก็ยิ่งไม่เอาใจใส่กันและกัน เพราะความสัมพันธ์นั้นมองไปข้างนอกและเหนือชุมชน จึงไม่ได้เหลียวแลเพื่อนมนุษย์ และก็ไม่หวังพึ่งมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเขาไปหวังพึ่งเทพเจ้าหรือแหล่งอิทธิพลภายนอก ไม่ได้หวังพึ่งมนุษย์ด้วยกัน การที่จะมาคิดหาทางร่วมมือกันแก้ปัญหาก็ไม่เกิดขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องของความเขวไถลออกไปจากความเป็นมนุษย์ที่เป็นส่วนร่วมของสังคม

เมื่อมนุษย์แต่ละคนต่างมุ่งหาผลประโยชน์ของตนและแสวงอำนาจก็แบ่งแยกกัน เมื่อแบ่งแย่งกันก็เกิดความแปลกแยกและขัดแย้งกัน ดังจะเห็นได้ในระบบการแข่งขันที่ความขัดแย้งเป็นกลไกผลักดันความเจริญ แต่มันก็คือภาวะขาดสันติภาพที่เป็นอยู่ตลอดเวลา จนเป็นลักษณะปกติธรรมดาของสังคม

บนฐานของปัญญาที่รู้ความจริง เป็นส่วนๆ ด้านๆ ระบบทางสังคมที่มนุษย์จัดวาง ก็แยกเป็นหลายด้านอย่างไม่ประสาน

ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสาระกับรูปแบบ โดยเน้นเรื่องธรรมกับวินัย ซึ่งเป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาที่ถือว่า สาระคือตัวความจริง จะสื่อออกมาเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์หมู่มากและคงอยู่ได้ยั่งยืน ก็โดยอาศัยมีรูปแบบรักษาไว้ เหมือนอย่างผลไม้ เช่น มะม่วง ถ้าไม่มีเปลือกช่วยรักษาไว้ เนื้อหาคือเนื้อมะม่วงก็อยู่ไม่ได้นาน นอกจากนั้นก็จะไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ หรือใช้ประโยชน์ได้น้อย

เหมือนอย่างว่า น้ำเป็นสาระที่เราต้องการ แต่น้ำนั้นถ้าไม่มีแก้ว ก็ใช้ประโยชน์ได้ยาก จะดื่มทีก็ต้องเดินไปที่แหล่งน้ำ แล้วก็เอาปากไปจุ่มดูดหรือใช้มือกวักเอา แต่ถ้าเรามีแก้วหรือภาชนะ เราก็ใช้ประโยชน์จากน้ำได้ง่าย และจัดสรรได้ตามต้องการ แก้วจะมีขนาดเท่าไหน มีรูปร่างอย่างไร ก็อยู่ที่ว่าจะพัฒนารูปแบบอย่างไรให้สื่อสาระออกมาและใช้สนองความต้องการได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดปัญหาก็มาอยู่ที่ว่า สาระที่รูปแบบนั้นสื่อหรือบรรจุไว้ เป็นของแท้จริงหรือไม่ เราหวังว่าแก้วน้ำจะมีน้ำให้เราดื่ม แต่ถ้าสิ่งที่อยู่ในแก้วนั้นไม่ใช่น้ำ กลับเป็นสุราหรือยาพิษแล้วผลจะเป็นอย่างไร

ตามปกติรูปแบบทางสังคม เช่นระบบต่างๆ มีขึ้นมาก็เพื่อสนองวัตถุประสงค์ที่จะสื่อหรือดำรงรักษาสาระที่เกี่ยวกับประโยชน์สุขของมนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าตัวสาระนั้นกลายเป็นอำนาจและผลประโยชน์ รูปแบบที่สร้างขึ้นก็กลายเป็นเครื่องมือของอำนาจและผลประโยชน์นั้นไป ดังนั้นเวลานี้จึงต้องระวัง

ในการจัดตั้งวางระบบองค์กรต่างๆ ขึ้นมานั้น มนุษย์สมัยนี้มีความชำนาญพอสมควร แต่ในเมื่อเขาไม่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ไม่สามารถเข้าถึงความจริงที่ไร้พรมแดนของโลกและชีวิต และไม่สามารถทำจิตใจให้ไร้พรมแดนได้ เขาก็จะติดอยู่ในเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ แล้วก็จัดตั้งวางใช้ระบบและรูปแบบเป็นเครื่องมือแสวงหาและรักษาทั้งอำนาจและผลประโยชน์นั้น ทำให้เกิดปัญหากันเรื่อยไป

ระบบต่างๆ ที่สังคมได้พัฒนาขึ้นมา หรือรับเลียนแบบตามกันมา รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการปกครอง ระบบการเมืองเป็นต้นนั้น จะต้องพิจารณากันให้ดี ดังเช่นระบบประชาธิปไตยที่เป็นรูปแบบอันมีโครงสร้างที่สังคมยอมรับกันอยู่นี้ มันสื่อสาระอะไรอยู่ข้างใน มันสื่อสาระที่เป็นหลักการอันจริงแท้ ที่จะนำไปสู่สันติภาพได้จริงหรือเปล่า หรือภายใต้รูปแบบนั้นมีแต่เรื่องของตัณหา มานะ และทิฏฐิ

ระบบและรูปแบบทั้งหลาย นอกจากสื่อหลักการแล้วก็ต้องมีความจริงเป็นฐาน มนุษย์ยุคปัจจุบันก็พยายามเข้าถึงความจริงอันนี้ แต่เมื่อยังไม่ถึงความจริงแท้แห่งระบบความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมทั้งหมด เราก็ได้ความจริงมาเพียงบางส่วน หรือทำการคาดหมายเกี่ยวกับความจริงนั้น ในรูปที่เรียกว่าทฤษฎี

เพราะมองเห็นความสำคัญของการมีความจริงเป็นฐานนี่แหละ มนุษย์เจ้าปัญญาทั้งหลาย ก่อนที่จะวางระบบรูปแบบทางสังคม รวมทั้งรูปแบบทางการเมืองการปกครองเช่นระบอบประชาธิปไตย เมื่อยังไม่เข้าถึงความจริงแท้ทั่วตลอด ก็ต้องสร้างทฤษฎีขึ้นมารองรับ จากนั้นบนฐานของทฤษฎีก็จึงมาวางระบบขึ้น

ทฤษฎี นั้นย่อมมุ่งให้หมายถึง แนวคิดหรือหลักการที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริง ทฤษฎีก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเชิงเหตุผลว่าความจริงเป็นอย่างนี้ ซึ่งได้เข้าถึงเพียงเป็นส่วนๆ เช่น ทฤษฎีการเมือง ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีสังคมวิทยา แต่ความจริงของโลกและชีวิตทั้งหมดเป็นเรื่องของระบบความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวกันที่แยกไม่ได้ ถ้าทฤษฎีเป็นเรื่องที่แยกส่วนออกมาแต่ละด้าน ก็ไม่อาจสมบูรณ์ได้ เพราะที่จริงนั้นจะต้องมีความจริงหนึ่งเดียวที่ครอบคลุมทั้งหมดเป็นฐาน แล้ววางระบบรูปแบบที่แยกย่อยทั้งหลายขึ้นไปบนฐานที่ร่วมกันนั้นอีกทีหนึ่ง

ความเป็นจริงของโลกและชีวิตทั้งหมด ซึ่งเป็นความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวที่ทุกอย่างอิงอาศัยส่งผลต่อกันทั้งหมดอันนี้ ถ้าเราไม่เข้าถึงเราก็ย่อมไม่สามารถวางระบบจัดตั้งในสังคมให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากความจริงนั้นได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ อันนี้คือจุดที่ยังติดตันของอารยธรรม

ระหว่างกาลเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ อารยธรรม ก็คือ การที่มนุษย์ได้เพียรพยายามจะเข้าถึงความจริงของธรรมชาตินั้น และได้ความจริงมาเป็นด้านๆ ส่วนๆ แล้วมาตั้งเป็นทฤษฎีขึ้น ครั้นแล้ว บนฐานของทฤษฎีนั้นก็วางรูปแบบเป็นระบบเป็นการจัดตั้งขึ้นมา ดังนั้น ขณะนี้เราจึงต้องระลึกตระหนักถึงความบกพร่องของระบบจัดตั้งและโครงสร้างต่างๆ ในสังคมมนุษย์

เท่าที่ได้เพียรพยายามมา อย่างน้อยมนุษย์ก็ได้มีความมุ่งหมายว่า เราต้องการอยู่ดีมีสุข และให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยสันติ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าเรายังไม่เข้าถึงความจริงแท้ของโลกและชีวิต การวางระบบก็ย่อมจะเขวไป ทั้งๆ ที่จุดหมายที่ต้องการนั้นดี แต่ความจริงที่จะมาเป็นฐานในการวางวิธีการเพื่อให้เข้าถึงจุดหมายนั้นยังไม่มี คือเรายังไม่รู้ เมื่อยังไม่สามารถเข้าถึงความจริง ก็จึงวางวิธีการให้ได้ผลจริงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงยังต้องมีปัญหาระหว่างสาระกับรูปแบบหรือการจัดตั้งวางระบบ ดังตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในการปกครองแบบประชาธิปไตยนี่แหละ

มนุษย์รู้ตระหนักดีว่า การปกครองทุกอย่าง มีจุดหมายเพื่อให้สังคมเรียบร้อยดีงามมีสันติสุข ให้มนุษย์อยู่ร่มเย็นเป็นสุข นี่คือสิ่งที่เราต้องการ เราจึงหารูปแบบระบบการปกครองกันมา จนกระทั่งในที่สุด หลังจากได้ทดลองกันมาหลายอย่างแล้วเราก็พบว่า วิธีปกครองที่ให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมด้วยจะดีที่สุด อย่างน้อยมันก็เลวน้อยที่สุด เราก็เลยตกลงเรื่องเอาระบบประชาธิปไตย โดยมีหลักการให้ประชาทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง อย่างที่พูดง่ายๆ ว่าเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และหวังว่าการปกครองระบบนี้จะสัมฤทธิ์ผลนำมนุษย์ให้เข้าถึงจุดหมาย คือความอยู่ดีมีสันติสุขของมวลมนุษย์หรือของสังคมนั้นๆ และมนุษย์ผู้ฉลาดก็วางหลักการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดผลขึ้นในการปกครองแบบนี้โดยเฉพาะหลักการที่เรียกว่า เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ

แต่เพราะเหตุว่ามนุษย์เองมีปัญญาที่จำกัดพร้อมกันนั้นตัณหามานะทิฏฐิ ก็เข้ามาครอบงำหมู่มนุษย์นั้นอีก จึงทำให้ประชาธิปไตยมีปัญหา ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่เรามีระบบการปกครองแล้วนี้ เราก็ยังมีระบบต่างๆ อย่างอื่นๆ ในสังคม ซึ่งแยกเป็นแต่ละระบบๆ ต่างหากกัน และตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎีคนละอย่าง ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงความสัมพันธ์ที่ประสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ระบบเหล่านั้นก็แยกเป็นส่วนๆ เช่นในสังคมเดียวกัน ขณะที่มีทฤษฎีการปกครองเป็นประชาธิปไตย แต่ในทางเศรษฐกิจใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยม และในเวลาเดียวกันนั้น ระบบคอมมิวนิสต์ก็อ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตย โดยมีทฤษฎีแยกต่างออกไปอีก เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต้องมีปัญหาว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่างไหนจึง จะจริงแท้ดีแท้หรือสอดคล้องกับการปกครองแบบประชาธิปไตย

พวกคอมมิวนิสต์ก็บอกว่า ทฤษฎีของเขาเสนอระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยที่แท้ ฝ่ายทุนนิยมก็ว่า ทฤษฎีของเรานี้ถูกต้องสอดคล้องกับประชาธิปไตยจริง ปัญหาจะยังคงมีอยู่ต่อไป อย่างน้อยก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าอย่างไหนถูกต้องสอดคล้องกับความจริงแท้ เพราะนอกจากปัญหาทางด้านปัญญาว่าเข้าถึงความจริงกันแค่ไหนแล้ว ก็ยังมีปัญหาด้านจิตใจว่า ผู้วินิจฉัยเป็นอิสระหลุดพ้นจากความครอบงำของความใฝ่ผลประโยชน์ (ตัญหา) และความใฝ่อำนาจ (มานะ) ตลอดจนความยึดติดในอุดมการณ์ (ทิฏฐิ) หรือไม่

บางทีที่แท้อาจเป็นว่า ทั้งคอมมิวนิสต์และทุนนิยม ต่างก็ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยที่แท้ทั้งสองอย่าง และจะต้องหาระบบเศรษฐกิจแบบใหม่มาแทน

แต่จะอย่างไรก็ตาม พูดถึงเฉพาะในภาวะปัจจุบัน ขณะนี้ในเชิงอำนาจฝ่ายทุนนิยมชนะ ทุนนิยมจึงผงาดขึ้นมามีอิทธิพลมาก และเที่ยวอวดอ้างว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของตนสอดคล้องแท้จริงกับประชาธิปไตย จนเอามาผนวกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในรูปของประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี (free-market democracy) คือ ประชาธิปไตยแบบทุนนิยม

เมื่อแนวคิดเศรษฐกิจที่ผิดแผกมาครอบงำประชาธิปไตย หลักการบางอย่างก็ต้องหล่นหาย หรือถ้าอยู่ได้ความหมายก็ต้องผันแปร

นอกจากนั้นปัญหาก็เกิดซ้อนขึ้นอีกว่า เมื่อมีการเข้ามาประสานอย่างไม่สอดคล้องกันระหว่างระบบเศรษฐกิจกับระบบการเมืองแล้ว ระบบทั้งสองนั้นย่อมมีอิทธิพลต่อกัน หลักการของประชาธิปไตย เช่น เสรีภาพ สมานภาพ และภราดรภาพ ก็อาจจะถูกครอบงำหรือบิดเบนความหมายและเริ่มจะไม่บริสุทธิ์

ปัจจุบันนี้ความหมายของประชาธิปไตยยังถูกต้องตรงตามหลักการที่แท้จริงหรือไม่ หรือถูกอิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้าครอบงำ จะยกตัวอย่างให้เห็น เช่น ถามว่า เสรีภาพคืออะไร

ตามหลักการของประชาธิปไตย การปกครองที่ต้องการให้มีเสรีภาพก็เพื่อเปิดช่องทางให้ศักยภาพ เช่น สติปัญญาความสามารถของแต่ละบุคคลมีโอกาสที่จะออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคมได้ เพราะถ้าไม่มีเสรีภาพ ช่องทางที่บุคคลจะเอาสติปัญญาความสามารถของเขาออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคมก็ไม่มีหรือถูกปิดกั้น เพราะฉะนั้น เสรีภาพจึงเป็นเครื่องมือสนองความต้องการของระบบประชาธิปไตย ที่มุ่งให้จุดหมายของการปกครองคือสันติสุขของสังคม สัมฤทธิ์ผลขึ้นด้วยความมีส่วนร่วมรวมกันของประชาชน คือการให้มีเสรีภาพเพื่อเป็นเครื่องเปิดโอกาสหรือช่องทางให้ศักยภาพของประชาชนแต่ละคนออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคม

แต่เมื่อมาอยู่ใต้อิทธิพลของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ความหมายของเสรีภาพก็จะเริ่มเขว จนกระทั่งคนมองเน้นไปในแง่ว่า เสรีภาพก็คือ การที่ฉันจะเอาอะไร ฉันต้องได้ หรือว่าฉันจะต้องได้ตามต้องการ แล้วก็ไปจำกัดด้วยขอบเขตที่ว่าเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือไม่ผิดกฎหมาย หรือไม่อย่างนั้นก็เท่าที่ฉันจะหาทางเลี่ยงกฎหมายได้ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ฉันอยากได้ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็จะเอาทั้งนั้น กลายเป็นว่า สิ่งที่เป็นเป้าก็คือ สิ่งที่ฉันต้องการ โดยเฉพาะผลประโยชน์

จะเห็นได้ว่า เสรีภาพคลาดเคลื่อนจากความหมายเดิมที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่ตกลงกันว่าจะได้ผลดีที่สุดในการสร้างสันติสุขให้แก่สังคม เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้มาร่วมกันปกครอง เราจึงต้องมีหลักการแห่งเสรีภาพเพื่อให้แต่ละคนได้ออกไปมีส่วนร่วมในการปกครองนั้นจริงๆ โดยมีเสรีภาพก็คือมีช่องทางหรือมีโอกาสอย่างเต็มที่ที่จะเอาสติปัญญาความสามารถของตนออกมาใช้ในการร่วมปกครองให้สังคมนั้นดีงามมีสันติสุข แต่เมื่อทุนนิยมเป็นใหญ่ก็กลายเป็นว่า ความหมายของเสรีภาพเอียงไป หรือแบนไปในแง่ของการแสวงหาผลประโยชน์ คือ การที่แต่ละคนจะหาจะได้สิ่งที่ตนต้องการให้มากที่สุด เรียกว่าเป็นเสรีภาพในเชิงสนองระบบทุนนิยม

เมื่อจุดเน้นมาอยู่ที่การจะได้ตามที่ตนปรารถนา คือฉันต้องการอะไร ฉันต้องได้ ก็เกิดความโน้มเอียงไปในทางที่จะต้องแก่งแย่งแบ่งแยกกัน เสรีภาพภายใต้ระบบทุนนิยม จึงเป็นเสรีภาพเชิงแก่งแย่งและแบ่งแยก

ถ้าเป็นเสรีภาพแท้จริงตามความมุ่งหมายของประชาธิปไตย ที่ว่าเราจัดตั้งระบบประชาธิปไตย เพื่อจะได้มีการปกครองแบบที่ดีที่สุดที่จะสร้างสันติสุขให้แก่สังคม โดยให้แต่ละคนมีโอกาสมาร่วมสร้างสรรค์ เสรีภาพก็สนองความมุ่งหมายของการปกครองโดยตรงอย่างชัดเจน คือ เป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละคนเอาความรู้ความสามารถสติปัญญาออกมาช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ซึ่งจะเห็นว่าเป็นเสรีภาพเชิงให้ เป็นการร่วมกันสร้างสรรค์ และนำไปสู่สันติภาพ ไม่ใช่แก่งแย่งแบ่งแยกกัน ซึ่งไม่มีทางจะให้เกิดสันติภาพ

เวลานี้จะเห็นว่า แนวคิดทางเศรษฐกิจได้มีอิทธิพลครอบงำความคิดด้านการเมือง จนกระทั่งบางทีเราแยกไม่ออกว่าหลักการของประชาธิปไตยมีความหมายที่แท้จริงอย่างไร ขณะนี้ หลักการของ ประชาธิปไตยจะมีความหมายไปในเชิงแก่งแย่งและแบ่งแยกหมด ไม่เฉพาะเสรีภาพ แม้แต่ความเสมอภาคก็เหมือนกัน

ความเสมอภาคคืออย่างไร คือเขาได้สิบ ฉันก็ต้องได้สิบ เขาได้พัน ฉันก็ต้องได้พัน เขาได้หมื่น ฉันก็ต้องได้หมื่น ซึ่งเป็นความหมายเชิงแก่งแย่งและแบ่งแยก แต่ความเสมอภาคตามความหมายเดิมในการปกครองประชาธิปไตยเพื่อจะสร้างสรรค์สังคมที่ดีนั้น เขาเน้นในแง่ของความเสมอภาคโดยมีส่วนร่วมเสมอกันในสุขและทุกข์ เขาสุขเราก็สุขด้วย เขาทุกข์เราก็ทุกข์ด้วย ร่วมกันเผชิญและแก้ปัญหา ไม่เลือกที่รัก ไม่ผลักที่ชัง ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ซึ่งเป็นความเสมอภาคในเชิงประสานที่จะต้องมาร่วมกันทำ และในเชิงสมานที่จะทำให้เกิดความพร้อมเพรียงสามัคคี

ฉะนั้น ขณะนี้หลักการของประชาธิปไตย ได้มีความหมายที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของแนวคิดทางเศรษฐกิจ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นหลักการของประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่ ถ้าเป็นเสรีภาพและความเสมอภาคแบบแก่งแย่งและแบ่งแยก ก็แน่นอนว่าจะไม่มีความเป็นพี่เป็นน้อง ขณะนี้จึงไม่ต้องพูดถึงภราดรภาพ ทั้งๆ ที่นักสร้างสรรค์ประชาธิปไตยยุคเดิมถือกันว่าต้องมี ๓ อย่าง คือ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ คือมีทั้ง liberty equality และ fraternity แต่เดี๋ยวนี้หลักการที่ ๓ แทบไม่มีใครพูดถึงแล้ว คนพูดอ้างกันแต่ ๒ อย่างแรก คือ เสรีภาพและเสมอภาคโดยมีนัยแห่งความหมายในเชิงแบ่งแยกหรือแก่งแย่งอย่างที่บอกเมื่อกี้ ซึ่งไม่อาจจะนำไปสู่ภราดรภาพ คือความเป็นพี่น้องกัน ที่จะทำให้สังคมมีสันติสุข

เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ดูกันเอาเองว่ารูปแบบของประชาธิปไตยสื่อสาระที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าสาระที่มันสื่อไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริง มันจะทำให้เกิดสันติภาพได้อย่างไร

ในยุคเริ่มประชาธิปไตยแบบปัจจุบัน หลักการทั้งสาม คือ เสรีภาพ (liberty) สมานภาพ (ความเสมอภาค = equality ) และภราดรภาพ (fraternity) นี้ เป็นคำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นจุดเริ่มของกระแสประชาธิปไตยสมัยใหม่

แม้สีทั้งสาม หรือไตรรงค์ ในธงชาติของประเทศฝรั่งเศส กับหลายประเทศในยุโรป และอเมริกา ทั้งอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ตั้งให้ไว้สื่อถึงความหมาย คือ อุดมคติที่เป็นหลักการของประชาธิปไตยทั้งสามประการนี้

ว่าที่จริง แม้ในปัจจุบัน หลักการหรือองค์ประกอบข้อที่ ๓ ของประชาธิปไตย คือ ภราดรภาพนั้น สังคมมนุษย์ก็ยังต้องการมาก แต่บางทีก็เอาไปแอบๆ แฝงๆ ไว้ ไม่ค่อยปรากฏเด่น เพราะไม่ค่อยมีใครยกขึ้นมาเป็นข้อเรียกร้องเหมือนอีกสองอย่าง คือ เสรีภาพและความเสมอภาค หรือไม่ก็แยกออกไปพูดไว้ต่างหากเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน และมักใช้คำเรียกอย่างอื่น

ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกาในฐานะเป็นประเทศที่เกิดจากคนต่างชาติต่างภาษาต่างวัฒนธรรมมากหลายมารวมกัน ก็เคยภูมิใจในสังคมของตนว่าเป็นเบ้าหลอม (melting pot) ซึ่งพึ่งมาแตกเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แล้วกลายเป็นโมเสค (mosaic) หรือเดี๋ยวนี้อาจจะเป็นได้แค่ชามสลัด (salad bowl)

ถึงแม้เบ้าหลอมที่เคยภูมิใจจะไม่เป็นจริง แต่อเมริกาในฐานะที่เกิดจากประชาชนหลายรัฐ เริ่มแต่ ๑๓ รัฐแรกมารวมกัน ก็ยังมีอุดมคติของชาติที่ประกาศไว้ในตราแผ่นดิน (The Great Seal of the United States) ว่า “E pluribus unum” ซึ่งแปลว่า “จากมากหลายมากลายเป็นหนึ่งเดียว” ซึ่งหมายถึง unity คือ เอกภาพ

คำว่า “เบ้าหลอม” ก็ดี “เอกภาพ” ก็ดี เป็นคำที่ใช้เพื่อสื่อถึงความหมายแห่งหลักการอันเดียวกัน คือ ภราดรภาพ หรือความสามัคคี

เป็นอันว่าเรื่องประชาธิปไตยเวลานี้ต้องมาทบทวนกัน เริ่มตั้งแต่ความหมายของหลักการพื้นฐาน เช่น เสรีภาพ และความเสมอภาค ถ้าเสรีภาพมีความหมายเชิงเศรษฐกิจทุนนิยมว่า อยากได้อยากเอาอะไร ก็หาเอาทำเอาตามปรารถนา เราก็ไม่จำเป็นต้องพัฒนาคน หรือว่าพัฒนาแต่เพียงความสามารถในการแสวงหาความยิ่งใหญ่และผลประโยชน์ แต่ถ้าเสรีภาพหมายถึงการเปิดช่องทางให้มีโอกาสนำเอาศักยภาพของแต่ละคนออกมาเป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม เราก็จะต้องเน้นกันเต็มที่ในเรื่องการพัฒนาคน เพื่อให้ประชาชนมีสติปัญญาความดีงามความสามารถที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ให้การปกครองของตนได้ผลดีในการที่จะสร้างสังคมให้เจริญพัฒนามีสันติสุข

แน่นอนว่าประชาธิปไตยที่แท้จะต้องเกิดจากปัญญามนุษย์แต่ละคนได้พัฒนาตนเอง ให้รู้เข้าใจความจริง มีเหตุผล และสามารถดำเนินวิธีการต่างๆ ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ร่วมกันด้วยดีมีสันติสุข นอกจากมีปัญญาความสามารถแล้ว แต่ละคนต้องมีจิตที่ปรารถนาดีต่อกัน มองกันเป็นเพื่อนมนุษย์ จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ดีได้ ฉะนั้นเสรีภาพและความเสมอภาคก็ไปประสานกันกับภราดรภาพ เกิดเป็นเอกภาพหรือความสามัคคีอย่างที่ว่ามาแล้ว

ถ้าพัฒนาคนได้ถึงขั้นนี้ ประชาธิปไตยที่เป็นรูปแบบภายนอกก็จะไปประสานกับเนื้อหาสาระที่เรียกว่า ธรรมาธิปไตยในตัวบุคคล

ถ้าต้องการระบบประชาธิปไตยที่ดี ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากให้คนเป็นธรรมาธิปไตย

เรื่องธรรมาธิปไตยนี้ก็สับสนกันมาก เช่น ไปพูดกันว่าจะเอาประชาธิปไตย หรือธรรมาธิปไตย เหมือนกับว่าสองอย่างนี้เป็นระบอบการปกครองสองแบบที่จะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นเรื่องของการเข้าใจคลาดเคลื่อน

เคยมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แกไม่เคยมาถามอาตมภาพเลย แล้วไปเขียนเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับประชาธิปไตยในทัศนะบุคคลต่างๆ ว่าคนนี้เห็นว่าอย่างนั้น คนนั้นเห็นว่าอย่างนี้ พอมาถึงอาตมภาพ เขาก็บอก ว่าพระธรรมปิฎกว่าต้องปกครองแบบธรรมาธิปไตย นี่เขาคิดเอาเอง และพูดเรื่อยเปื่อย ซึ่งไม่ถูกเลย

เรื่องนี้เท่าที่ได้ยินได้ฟัง ยังสับสนวนเวียนกันอยู่มาก พวกหนึ่งก็วุ่นวายอยู่แต่กับรูปแบบหรือตัวระบบของประชาธิปไตย ว่าจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ อยู่แค่เปลือกนอก อีกพวกหนึ่งก็เอาแต่เที่ยวบ่นไปว่าประชาธิปไตยก็ไม่ดี ต้องเป็นธรรมาธิปไตย มองในแง่หนึ่งว่า ถ้าเรื่องแค่ขั้นนี้เราก็ยังไม่ชัดเจน ยังเริ่มต้นไม่ได้ แล้วเราจะไปไหนกัน

อย่างที่บอกแล้วว่า พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญทั้งสาระและรูปแบบ “ประชาธิปไตย” เป็นคำสมัยใหม่ สมัยโบราณแม้จะเคยมีการปกครองทำนองนี้ แต่ไม่ได้ใช้คำนี้ ประชาธิปไตยนี่เป็นระบบ เป็นรูปแบบ เป็นการจัดตั้งวางแบบแผนในสังคมมนุษย์ แต่สาระที่จะทำให้ประชาธิปไตยเป็นจริงขึ้นมาได้นั้นคืออะไร

ประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบบการปกครองของสังคม จะสำเร็จผลตามจุดหมาย ก็ขึ้นต่อคุณสมบัติที่มีในตัวคน คือประชาชนแต่ละคนที่มาร่วมในการปกครองนี่แหละ เพราะประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม หมายความว่า ประชาชนแต่ละคนที่จะไปเป็นส่วนร่วมต้องมีคุณสมบัติ คือมีสติปัญญาคุณธรรมความสามารถที่จะไปดำเนินการให้ประชาธิปไตยเป็นไปได้

คุณสมบัติในแต่ละคนที่จะให้ไปร่วมกันปกครองให้เป็นประชาธิปไตยที่ดีได้ ก็คือ ธรรมาธิปไตย ซึ่งหมายความว่าแต่ละคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่ คือยึดถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผล ถือหลักการ ตลอดจนกฎกติกาเป็นใหญ่ เป็นมาตรฐาน หรือเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ถ้าพูดสั้นๆ หลักการนั่นเองคือธรรม และธรรม คือหลักการนั้นมี ๒ ระดับ

๑. หลักการคือตัวความจริง ความถูกต้อง ดีงาม ความเป็นเหตุเป็นผลในสิ่งทั้งหลาย ที่เป็นความจริงอยู่โดยธรรมดา ในธรรมชาติ และ
๒. หลักการที่มนุษย์บัญญัติจัดวางขึ้น โดยใช้ปัญญาพิจารณาถึงความจริง ความถูกต้อง ดีงาม ที่มีอยู่เป็นนามธรรมนั้นแล้ว ยกขึ้นมาตั้งเป็นข้อกำหนดในสังคม ให้ทุกคนยึดถือปฏิบัติตาม เช่นวางเป็นกฎเกณฑ์ กติกา หรือกฎหมาย

ทั้งสองอย่างนี้เราเรียกว่าหลักการทั้งคู่ คือเรียกว่าธรรมนั้นแหละ “ธรรม” ในความหมายเดิมขั้นพื้นฐานหมายถึง ตัวนามธรรมที่เป็นหลักการของความจริงหรือกฎธรรมชาติ ต่อจากนั้นเพื่อให้ธรรมคือหลักการแห่งความจริงความถูกต้องที่เป็นนามธรรมนั้นเกิดผลปฏิบัติในหมู่มนุษย์หรือในสังคม เราจึงใช้สติปัญญานำเอาความรู้ในธรรมนั้น มาจัดตั้งเป็นหลักการที่จะยึดถือกันในสังคม เป็นหลักการตามตกลง เป็นกฎหมาย หรือกฎมนุษย์ ดังเช่นคำว่า “ธรรมศาสตร์” (วิชาว่าด้วยธรรม) ซึ่งหมายถึง วิชากฎหมาย ก็คือตัวหลักการตามความจริงความถูกต้องทางนามธรรม ที่มนุษย์ยกขึ้นมาจัดตั้งวางแบบแผนให้เป็นรูปธรรมในสังคม

ถ้าบุคคลผู้ใดยึดถือธรรม คือหลักการตามความหมาย ๒ อย่างข้างต้นนั้นเป็นใหญ่ คือเป็นมาตรฐานหรือเกณฑ์ในการตัดสินใจ บุคคลผู้นั้นก็เป็นธรรมาธิปไตย

เพราะฉะนั้น ธรรมาธิปไตยจึงเป็นคุณสมบัติของคน คือการที่เขายึดถือธรรม เอาหลักการ ความจริง ความดีงาม ความถูกต้อง เหตุผล และกติกา หรือกฎหมายที่ยุติธรรม เป็นใหญ่ หรือเป็นเกณฑ์ตัดสิน โดยจะต้องมีปัญญา ที่รู้หลักการ รู้ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ตลอดจนกฏกติกานั้น จึงเป็นการบังคับว่าจะต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา โดยมีเจตจำนงมุ่งในจุดประสงค์ที่แน่วแน่ คือการที่จะร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ทั้งหมดที่ว่านี้เป็น “ธรรม” ทั้งสิ้น คือตัวหลักการ ความจริง ความดีงาม ความถูกต้อง ความเป็นเหตุผล ก็เป็นธรรม ปัญญาที่รู้ความจริง หรือหลักการนั้นก็เป็นธรรม เจตจำนงที่มุ่งสร้างสรรค์สังคม คือเมตตาก็เป็นธรรม ถ้ามีปัญญารู้หลักการ รู้ความจริง รู้เหตุผล พร้อมทั้งมีเมตตาที่ปรารถนาดีต่อกัน มุ่งเพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน ให้สองอย่างนี้มาประสานกันเข้า โดยถือเอาธรรมเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยก็จะมีเนื้อหาสาระ

เมื่อคนที่เป็นธรรมาธิปไตยนั้นมาปฏิบัติการต่างๆ โดยใช้ระบบประชาธิปไตยที่จัดตั้งไว้เป็นสื่อและเป็นเครื่องมือดำเนินการ เพียงแค่นี้ก็จะเกิดเป็นประชาธิปไตยที่ดีได้

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นว่าประชาธิปไตยจะเกิดมีเป็นจริงได้อย่างไร ในขณะที่ประชาธิปไตยเป็นระบบหรือรูปแบบสำหรับสื่อสาระ แต่ถ้าสาระที่มันสื่อนั้น คือผลประโยชน์และอำนาจ นี่ก็คือคนไม่เป็นธรรมาธิปไตย แต่เป็นธนาธิปไตย คือถือทรัพย์เป็นใหญ่ ถือผลประโยชน์เป็นใหญ่ หรือเป็นอาณาธิปไตย คือถืออำนาจเป็นใหญ่ หรือถือพวกพ้องเป็นใหญ่ พูดง่ายๆ ว่าถูกครอบงำด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิ

ถ้าระบบประชาธิปไตยไม่สื่อธรรม แต่กลับไปสื่อตัณหา มานะ ทิฏฐิแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น ตอบว่าเกิดได้สาระพัด นอกจากประชาธิปไตย

ว่ากันตรงๆ เรื่องประชาธิปไตยนี้ก็ง่ายๆ มีนิดเดียว คือให้ทุกคนถือธรรมเป็นใหญ่ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาจนถึงตาสายายมีหรือตาสียายมา ให้เป็นธรรมาธิปไตยทั่วกัน ประชาธิปไตยแทบจะพูดได้เลยว่ามีแค่นี้ ที่เกินจากนี้ก็เป็นเรื่องของรูปแบบคือระบบการจัดบริหารดำเนินการต่างๆ เช่นการเลือกตั้งเป็นต้น ซึ่งมีตัวอย่างที่ทำกันทั่วโลกมากมาย หาไม่ยาก เพียงแต่เอามาจัดปรับให้เข้ากับกาลเทศะของตัว

เมื่อทุกคนที่อยู่ในระบบประชาธิปไตย แต่ละคนเป็นธรรมาธิปไตย คนที่สมัครรับเลือกตั้งก็เอาธรรมเป็นใหญ่ อย่างน้อยมีความอยาก มีความปรารถนา มีความต้องการ มุ่งมั่นที่จะเข้าไปช่วยสร้างสรรค์ให้สังคมเจริญ ก้าวหน้ามีสันติสุข คนที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ก็เอาธรรมเป็นใหญ่ อย่างน้อยก็ตัดสินใจเลือกคนที่เชื่อได้ว่าเป็นคนดีมีความสามารถและจริงใจที่จะไปทำงานให้แก่ประเทศชาติ แค่นี้ประชาธิปไตยก็เริ่มต้นได้

ส่วนตัวคนที่จะให้มีคุณสมบัติเป็นธรรมาธิปไตย และให้รู้จักเป็นอยู่ด้วยระบบประชาธิปไตยนั้น ก็เอาการศึกษาที่ถูกต้องมาพัฒนา

เรื่องทั้งหมดก็เท่านี้เอง ไม่น่าจะมัวงุ่มง่ามนัวเนียเสียเวลากันไปนักหนา เรื่องที่จะต้องทำในทางสร้างสรรค์อื่นๆ ยังมีอีกมากมาย แค่นี้ก็ยังไม่ไปไหน ที่ไปไม่ได้ ไม่ใช่อะไร ก็เพียงแค่เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่กันไม่ได้ เท่านั้นเอง

ปัญญาที่จะจัดระบบสังคมของมนุษย์ ต้องอยู่บนฐานของปัญญาที่รู้ระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ

ในที่สุดจะเห็นว่า ระบบที่เป็นรูปแบบภายนอก กับคุณสมบัติที่เป็นสาระในตัวคน ทั้งสองอย่างนี้สัมพันธ์และเป็นปัจจัยหนุนกัน คือ ในตัวมนุษย์แต่ละคน เราต้องพัฒนาเขาจนรู้เข้าใจความจริงในสิ่งต่างๆ เข้าถึงหลักการของธรรมชาติ หยั่งถึงชีวิตจิตใจของคนและสังคมของมนุษย์ เมื่อมีปัญญารู้จริงแล้ว ปัญญานั่นแหละจะทำให้มนุษย์มีจิตไร้พรมแดน คือจิตหลุดพ้นจากความจำกัด จากขอบเขตที่กีดกั้น จากการแบ่งแยก

เมื่อมนุษย์หลุดพ้น มีจิตที่ไร้พรมแดน ไม่ถูกจำกัดแล้ว เขาจึงจะสามารถมีเมตตาที่ไร้พรมแดน คือมีความรู้สึกที่ดี ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ทั่วทั้งหมด แล้วเขาก็กลับมาใช้ปัญญาที่ทำให้เขาหลุดพ้น คือปัญญาที่รู้ความจริงนั้น มาดำเนินการจัดตั้งวางระบบสังคมให้สนองปัญญาที่รู้และจิตที่เมตตาอย่างสากลไร้พรมแดนนั้น ให้เป็นสังคมที่มีสภาพเอื้อต่อการพัฒนาของคนอื่นๆ ต่อๆ ไปอีก มันสัมพันธ์ย้อนกันไปมาอย่างนี้

คนกับสังคม และบุคคลกับระบบ จะต้องให้สัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยที่เกื้อหนุนแก่กันและกัน ไม่ใช่เอาแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าพูดว่าบุคคลเท่านั้นสำคัญ หรือสังคมเท่านั้นสำคัญ แต่ที่แท้นั้นมันเป็นระบบปัจจัยสัมพันธ์ ที่ทั้งสองอย่างส่งผลต่อกันอย่างที่กล่าวแล้ว

สาระสำคัญในที่นี้คือ ต้องการให้มองทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปในระบบความสัมพันธ์ มีองค์ประกอบต่างๆ อิงอาศัยกันและส่งผลต่อกัน ดังนั้น การมองมนุษย์จึงไม่จบแค่มนุษย์ แต่ต้องโยงต่อไปที่ธรรมชาติ และต้องมองอย่างสัมพันธ์กับสังคม และเมื่อมองไปที่สังคมก็ต้องโยงไปหาตัวคน และธรรมชาติ โยงกันไปมาอย่างถึงกันหมด เมื่อมองโดยรอบด้านอย่างนี้ การพิจารณาเรื่องต่างๆ จึงจะทั่วตลอด รอบคอบ และจึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ถ้าเรามองตัดแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งก็จะพลาดได้ง่าย เพราะเหตุปัจจัยไม่ใช่แค่นั้น แต่เลยไปกว่านั้น

เวลานี้มีความคิดเรื่องความเป็นเหตุปัจจัยกันเช่นในเชิงวิทยาศาสตร์ก็นับว่าดี แต่การมองเหตุปัจจัยก็ยังต้องให้ถูกต้องเพียงพอด้วย เช่น วิธีมองเหตุปัจจัยแบบหนึ่ง ถ้าเทียบกับรูปธรรม เหมือนกับเห็นสิ่งทั้งหลายเรียงต่อกันเป็นลูกโซ่ เป็นเหตุปัจจัยร้อยต่อเนื่องกันไป อีกแบบหนึ่งมองต่อไปว่า นอกจากร้อยต่อเป็นสายโซ่แล้วก็วนมาเป็นวง ในที่สุดก็หาต้นหาปลายไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยหมุนเวียนแก่กัน แต่การมองแบบสายโซ่นี้ถูกต้องหรือเพียงพอแล้วหรือ

นักปราชญ์บางท่านบอกว่า แนวคิดแบบสายโซ่นี้ยังไม่ถูก เป็นความคิดชั้นเดียว ยังแคบ มองได้เพียงเป็นสายไปทิศเดียว ที่จริงนั้น ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เป็นแบบสายโซ่ หรือ chain แต่เป็นแบบ net คือแบบเครือข่าย หมายความว่ามันไม่ได้ออกไปด้านเดียว แต่มันย้อนไปย้อนมาแผ่ไปสานกันไปทุกทิศ ฉะนั้นความเป็นปัจจัยจะไปมองแค่ตัวต่อไปถัดไปเป็นสายไม่ได้ ต้องมองเป็นเครือข่ายแผ่ไปทุกทิศ

อย่างไรก็ตาม การมองแบบ net ก็ยังไม่พอ เพราะว่าแม้จะออกทุกทิศก็จริง แต่ก็ยังเเบนไป ที่จริงนั้นสิ่งทั้งหลายส่งผลเป็นรัศมีรอบตัวทุกด้านทุกทิศรอบตัวเลย ซึ่งไม่รู้จะเอาอะไรมาเทียบ นี้คือความเป็นจริงในระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ

ด้วยเหตุนี้ หลักพุทธศาสนาจึงกล่าวว่า การที่สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงระบบเหตุผล มนุษย์ทั่วไปยังติดอยู่ในระบบเหตุเดียวผลเดียว ซึ่งไม่ถูกต้อง ความจริงนั้น เป็นระบบเหตุปัจจัย คือผลอย่างเดียวที่เกิดขึ้น มีปัจจัยหลายอย่าง และปัจจัยอย่างหนึ่งส่งผลสะท้อนไปหลายทาง นอกจากนั้น ความเป็นเหตุปัจจัยนั้นไม่ใช่หมายถึงว่าต้องไปตามลำดับกาล ปัจจัยบางอย่างเกิดก่อนหลังกันโดยกาล บางอย่างเกิดพร้อมกันและเป็นปัจจัยแก่กันและกันในเวลาเดียวกัน ฉะนั้นความเป็นปัจจัยตามหลักพุทธศาสนาท่านจึงบอกไว้ถึง ๒๔ แบบ ความเป็นปัจจัยในแง่ก่อนหลังนี้เป็นเพียงรูปแบบหนึ่ง ในบรรดา ๒๔ แบบนั้น

เหมือนอย่างเราเอาชอล์คไปเขียนหนังสือบนกระดานป้าย ตัวหนังสือเกิดขึ้นมาเป็นผลหรือเป็นปรากฏการณ์ แต่ตัวหนังสือที่ปรากฏนั้นมีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่ว่ามีเหตุจึงมีผลแล้วก็จบ อะไรเป็นเหตุจึงทำให้เกิดตัวหนังสือบนกระดานดำ เราอาจจะบอกว่าชอล์ค แค่นั้นไม่พอ หรือบอกว่าคนเขียนเป็นเหตุ ก็ไม่พอ การที่จะมีตัวหนังสือขึ้นบนกระดานป้ายนั้น มีตั้งหลายปัจจัย เช่น มีชอล์ค มีบอร์ด มีคนเขียน มีสีของชอล์ค มีสีของกระดานป้าย มีความชื้น ฯลฯ ซึ่งทำให้มีผลที่เราพิจารณาอันเดียว คือ ตัวหนังสือที่ปรากฏ

ดังนั้น การที่มีผลอย่างหนึ่งเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่จะมีเหตุอย่างเดียว แต่ต้องมีปัจจัยพรั่งพร้อมผลจึงเกิดขึ้น อันนี้เป็นแนวคิดที่ต้องเน้นย้ำ เพราะคนโดยมากจะมองในแง่ของเหตุเดียวผลเดียว ทำให้การคิดแคบและตัน อย่างเช่นการที่จะปลูกมะม่วงขึ้นมาต้นหนึ่งนั้น ต้นมะม่วงปรากฏขึ้นมาได้อย่างไร ต้นมะม่วงเป็นผลแล้วอะไรเป็นเหตุ จะตอบว่าเมล็ดมะม่วงเท่านั้นไม่พอ เรามีเมล็ดมะม่วงเป็นเหตุอย่างเดียว ต้นมะม่วงเกิดไม่ได้ นอกจากเมล็ดมะม่วงแล้ว ยังต้องมีน้ำ มีปุ๋ย มีดิน มีอุณหภูมิที่เหมาะ มีอากาศ ฯลฯ เมื่อมีปัจจัยต่างๆ พรั่งพร้อมแล้วเมล็ดมะม่วงจึงงอกขึ้นมาเป็นต้นมะม่วง ดังนั้น ผลอย่างหนึ่งจึงมีปัจจัยหลายอย่าง อันนี้คือระบบความคิดที่จะต้องเชื่อมโยงสิ่งทั้งหลายให้ถึงกันหมด อย่ามองแค่แง่มุมเดียว ให้มองถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยค้นหาให้ทั่วถึง จึงจะเข้าถึงความจริงและสร้างผลสำเร็จที่ต้องการได้อย่างดี

- ๒ -
ประสานนอกกับใน ให้เกิดความสมบูรณ์

มนุษย์ต้องการสันติภาพ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องพัฒนาปัญญา จึงจะลุถึงสันติภาพ

ขอกลับมาเรื่องของสันติภาพอีกว่า ความจริงนั้นมนุษย์ต้องการสันติภาพแน่นอน และโดยธรรมชาติเขาก็ต้องการสันติภาพตลอดเวลา ทำไมจึงว่ามนุษย์ต้องการสันติภาพ เมื่อมนุษย์หิวกระหาย มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย ก็ต้องมีการระงับความหิวกระหายเร่าร้อนกระวนกระวายนั้น เมื่อระงับความหิวกระหายทุรนทุรายกระสับกระส่ายนั้นได้ ก็เกิดเป็นความสงบ นี้คือ สันติ ซึ่งแปลว่า สงบระงับ คือระงับความเร่าร้อน กระสับกระส่ายทุรนทุราย

เราเดินทางถูกแดดเผาเร่าร้อน เราก็เอาน้ำมาอาบดื่มระงับความเร่าร้อนนั้นแล้ว เราก็สงบ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเป็นเรื่องวุ่นวายเดือดร้อน มีความขัดแย้งโกรธแค้นกันรุนแรงขึ้นมา เกิดความพลุ่งพล่าน กระสับกระส่าย ก็ต้องระงับ มนุษย์นั้นต้องการความสงบแน่นอน ตราบใดที่ยังไม่ถึงจุดสงบนี้ เขาก็กระสับกระส่ายกระวนกระวาย บีบคั้นกดดันเป็นทุกข์ ต้องดิ้นรนหาทางระงับ ซึ่งก็คือการสนองความต้องการ เมื่อสนองความต้องการแล้วก็ระงับ หายความเร่าร้อน และเกิดความสงบ เพราะฉะนั้น สันติภาพนี้มนุษย์ต้องการทุกเมื่อ

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า มนุษย์อาจจะหรือมักจะสนองความต้องการ หรือระงับความเร่าร้อนรุนแรงด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง บางทีระงับไปได้ส่วนหนึ่ง แต่กลับทำให้เกิดปัญหาใหญ่ ซึ่งมีผลสะท้อนตามมารุนแรงหนักยิ่งกว่าเก่า เลยเดือดร้อนยิ่งห่างไกลจากสันติภาพหนักขึ้นไปอีก

ที่จริง ตามปกติมนุษย์ก็มี โลภะ โทสะ โมหะ อยู่ในตัว ที่ต้องคอยสนองระงับตลอดเวลาอยู่แล้ว การที่มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่นี้ก็เป็นการหาทางระงับสภาพจิตเหล่านี้ คือระงับโลภด้วยการเอามาให้ได้ พอได้มา โลภระงับ เราก็เกิดความสงบ ถ้าเกิดโทสะเราก็ระงับด้วยการไปทำร้ายเขา แต่จากการพยายามระงับด้วยวิธีนี้ ปัญหาสังคมก็เกิดตามมา และยิ่งเดือดร้อนกันมากขึ้น จึงเป็นการระงับที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้เกิดปัญหาบานปลายออกไป

รวมความว่า การที่มนุษย์ต้องการสันติภาพนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์เอง แต่เราควรจะต้องการสันติที่ถูกต้อง หรือสันติที่แท้จริง การระงับด้วยการตามสนองโลภะ โทสะ โมหะนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ยังไม่ถูกต้องตามเหตุปัจจัยของการที่จะให้เกิดสันติหรือความสงบที่จริงแท้และยั่งยืน

จากการเรียนรู้ในที่สุดเราก็พบว่า มนุษย์ต้องมีปัญญารู้ถึงเหตุปัจจัยของทุกข์หรือปัญหา แล้วแก้ให้ถูกที่เหตุปัจจัยของมัน จึงจะระงับทุกข์และบรรลุสันติได้ เราจึงถือว่าปัญญานี้สำคัญ เมื่อได้ปัญญารู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายรวมไปถึงโลกและชีวิตแล้ว ปัญญานั้นก็ปลดปล่อยจิต ทำให้จิตใจของเรากว้างขวางไร้พรมแดน ปัญญาที่แท้เป็นทั้งตัวแก้ปัญหาและไม่ก่อปัญหาหรือไม่ทำให้เกิดปัญหาด้วย และที่สำคัญมากคือมันทำให้เกิดความเชื่อมโยงได้ระหว่างสันติภาพภายในกับภายนอก เพราะในที่สุด ทุกอย่างจะมาอยู่ใต้แสงสว่างของปัญญา ที่เป็นตัวรู้ความจริงและรู้ที่จะแก้ปัญหา

เมื่อเรารู้ความจริง และเกิดภาวะจิตที่ถูกต้อง หลุดพ้น เป็นจิตไร้พรมแดนแล้ว ก็สงบภายใน คือมีสันติภาพภายใน ซึ่งทำให้พร้อมที่จะออกไปแก้ปัญหาภายนอก และปัญญานั้นจะแก้ปัญหาได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตรงตามเหตุปัจจัย สันติที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นได้ แต่มนุษย์จะมาถึงจุดแห่งปัญญาที่ทำให้จิตเป็นอิสระนี้ได้ ก็ต้องอาศัยการศึกษา เราจึงต้องพัฒนาคน

เป็นอันว่า ภารกิจของแต่ละคน หรือแต่ละชีวิต ก็คือต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาด้วยการศึกษาจนเกิดปัญญารู้ความจริง ซึ่งด้านหนึ่งจะทำให้สามารถโยงปัจจัยทั้งหลายที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการแก้ไขหรือทำการสร้างสรรค์ได้สำเร็จ และอีกด้านหนึ่งก็จะทำให้จิตหลุดพ้นอิสระ เป็นจิตที่ไร้พรมแดน ปัญญารู้แจ้ง ในจิตใจที่ไร้พรมแดนนี้แหละ จึงจะสามารถสร้างสรรค์สังคมที่มีสันติสุขได้ แต่พร้อมกันนั้นและควบคู่กันไปก็ต้องมีการจัดระบบของสังคมให้เป็นสภาพที่เอื้อ ซึ่งจะปิดช่องที่จะเฉออกไปเพื่อไม่ให้มีเหตุปัจจัยแห่งการสูญเสียสันติด้วย ดังนั้นระบบสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การจัดตั้งระบบสังคมที่ดีเป็นการกีดกั้นไม่ให้มีเหตุปัจจัยฝ่ายที่จะมากระตุ้น หรือยั่วยุให้เกิดการสูญเสียหรือทำลายสันติภาพ และพร้อมกันนั้นก็สร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของสันติภาพ

ถ้าระบบสังคมมีลักษณะที่สนับสนุนกระตุ้นให้คนมุ่งจะได้จะเอา คอยหาทางแย่งชิงผลประโยชน์กัน ก็แน่นอนว่ามันจะทำให้คนถูกหล่อหลอม ทั้งโดยแบบแผนพฤติกรรมและสภาพจิตใจให้เป็นไปในทางแบ่งแยกและแก่งแย่งเป็นปฏิปักษ์กัน ดังนั้นเมื่อระบบและโครงสร้างสังคมไม่เอื้อต่อสภาพจิตใจที่ดีที่จะโน้มไปในทางสันติ การสร้างสันติภาพก็เป็นไปได้ยาก นี่เป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์กลับไปกลับมาซึ่งกันและกันระหว่างปัจจัยทางสังคมกับปัจจัยในตัวคน แต่ในที่สุดเราต้องมีปัญญา ซึ่งเป็นปัจจัยตัวสำคัญที่สุดที่จะเชื่อมโยงปัจจัยเหล่านั้นเข้ามาถึงกัน

ระหว่างกำลังพัฒนาปัญญา ถ้าปัญญาเทียมเกิดขึ้นมา คนจะปิดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงความจริงแท้

ในเรื่องปัญญานี้ ข้อสำคัญคือต้องพัฒนามันขึ้นมา และการพัฒนาปัญญานั้น ก็ต้องให้ถึงขั้นเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะมีปัญหา กล่าวคือ ในระหว่างที่กำลังพัฒนาปัญญาอยู่นั้น มนุษย์จะเกิดความรู้สึกว่า ตัวมีปัญญา ตัวรู้ตัวเห็น แล้วก็จะเกิดมีสิ่งที่เรียกว่า “ทิฏฐิ” หมายความว่า ในขณะที่มนุษย์พยายามเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายนั้น เมื่อได้ความรู้ หรือข้อมูลขึ้นมาบ้างก็จะเกิดเป็นความเห็นของตนเอง แล้วก็เกิดความยึดติดในความเห็นนั้น พอคิดว่าที่ตัวเห็นนั้นเป็นความจริง ก็ยึดติดในความเห็นนั้นและยึดเอาความเห็นของตนเป็นความจริง ถึงตรงนี้ก็เกิดเป็นทิฏฐิขึ้นมา (ทิฏฐิเป็นภาษาบาลี สันสกฤตว่าทฤษฎี)

ทิฏฐิ ซึ่งรวมทั้งทฤษฎีด้วยนี้ ทั้งที่เกิดจากความที่รู้บ้างแล้ว แต่ทำให้เกิดผลในทางลบที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ

๑. ทิฏฐิเกิดขึ้นระหว่างกำลังหาความจริง ถ้าไม่ระวังให้ดี ก็ทำให้เอาความเห็นเป็นความจริง มันจึงกลับมาเป็นตัวกั้นบังตนเองไม่ให้เห็นความจริง หรือปิดกั้นไม่ให้ก้าวไปในการหาความรู้ความจริงต่อไป พูดง่ายๆ ว่า กั้นบังกีดขวางปัญญานั่นเอง

๒. ทิฏฐิเกิดขึ้นจากการยึดถือ และการยึดถือนั้นก็โยงเข้ากับตัวตน คือยึดถือเป็นของตน จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับผู้อื่น เช่นการทะเลาะวิวาทเป็นต้น ในลักษณะของการปกป้องตัวตน ตลอดจนอาจจะถึงกับไปบังคับบีบคั้นคนอื่นให้ถืออย่างตน ซึ่งบางทีรุนแรงถึงกับรบราฆ่าฟันกันเป็นสงครามก็มากมาย

เป็นอันว่า ทิฏฐินี้กลับมาเป็นตัวบังไม่ให้คนเข้าถึงปัญญา เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนามนุษย์จึงมีปัญหามาก เนื่องจากทิฏฐิมักเข้ามาขวาง ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องตั้งหลักตั้งท่าทีไว้ให้ดี โดยมองทิฏฐิเป็นทิฏฐิ หรือมองทฤษฎีเป็นเพียงทฤษฎี อย่าเพิ่งไปยึดว่าเป็นของเรา แล้วกลายเป็นว่าต้องอย่างนี้เท่านั้นจึงจะเป็นความจริง อย่างอื่นเป็นเท็จทั้งสิ้น ก็เลยไม่สามารถที่จะรับฟังต่อ พระพุทธศาสนาให้ระวังมากเรื่องทิฏฐิ ไม่ให้ยึดติดทิฏฐิ

ทิฏฐินั้นถ้าเราปฏิบัติต่อมันผิด มันก็จะกันเราไม่ให้เข้าถึงความจริง แต่ถ้าเราใช้เป็น มันก็จะเป็นบันไดให้เราก้าวต่อไปสู่ปัญญาที่จะรู้ความจริง

ในระหว่างที่มนุษย์ยังเข้าไม่ถึงความจริง ทิฏฐิบางอย่างเมื่อยึดแล้วจะกั้นเราให้หยุดหรือเลิกค้นหาความจริง เช่น ทิฏฐิว่าอะไรจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่อำนาจเร้นลับที่เรารู้ไม่ได้จะดลบันดาล แต่ทิฏฐิบางอย่างจะทำให้เราค้นหาความจริงยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น ทิฏฐิว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทำให้เราค้นหาความจริงยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าพบอะไรก็ต้องคิดสืบสาวค้นหาเหตุปัจจัยของมัน เป็นการหนุนการแสวงปัญญา

ทิฏฐิที่กั้นขวางให้หยุดแสวงปัญญาไม่ค้นหาความจริง จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ส่วนทิฏฐิที่ช่วยให้แสวงปัญญาสืบหาความจริง จัดเป็นสัมมาทิฏฐิ พระพุทธศาสนาเน้นมากเรื่องให้มีสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเมื่อเรายึดถือแล้วจะนำหรือเป็นตัวหนุนให้เราค้นคว้าหาความจริงยิ่งขึ้นไป

เมื่อไม่พบปัญญาที่แท้ อารยธรรมก็ถูกครอบงำด้วยปัญญาเทียม และการแสวงหาสันติภาพ ก็กลายเป็นการสร้างวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ

ทิฏฐินี้เป็นเรื่องใหญ่มาก มีผลกว้างไกล อยู่เบื้องหลังและเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของบุคคล วิถีของสังคม ตลอดจนอารยธรรมทั้งหมด ขณะนี้ปัญหาก็อยู่ที่เรื่องทิฏฐินี้มาก ยกตัวอย่างเช่นอารยธรรมตะวันตกเชื่อว่ามนุษย์จะประสบความสุขสมบูรณ์ต่อเมื่อพิชิตธรรมชาติได้ ทิฏฐินี้ได้เป็นฐานของอารยธรรมตะวันตกมา ๒๐๐๐ กว่าปีแล้ว และทำให้มนุษย์เจริญก้าวหน้า แต่ในที่สุดก็กลับทำให้มนุษย์ไม่สามารถมีสันติสุขที่แท้จริง เพราะว่าแนวคิดนี้ทำให้มนุษย์ทำลายธรรมชาติ จึงเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้มนุษย์สูญเสียสันติภาพ เพราะเมื่อทำให้ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม มนุษย์ก็เดือดร้อนวุ่นวายจะพลอยพินาศไปด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือทิฏฐิที่เห็นว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ ยิ่งมีวัตถุเสพมากพรั่งพร้อมก็ยิ่งมีความสุขมาก จากทิฏฐินี้มนุษย์ก็จัดตั้งวางระบบสังคมซึ่งส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่เป้าหมายทางวัตถุ วิถีของสังคมก็ดำเนินไปตามทิฏฐินั้น เพราะฉะนั้นทิฏฐิจึงเป็นสิ่งที่ครอบงำและกำหนดสังคม

อย่างเช่นสังคมยุคนี้เป็นสังคมที่มุ่งความสำเร็จทางวัตถุ แต่ละคนมุ่งความสำเร็จของชีวิตของตนในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอำนาจเกียรติและผลประโยชน์ ความสำเร็จนี้อยู่ในระบบแข่งขัน ซึ่งหมายถึงการแข่งขันแย่งชิงแสวงหาผลประโยชน์ ความสำเร็จก็คือการชนะการแข่งขัน เพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด กิจกรรมต่างๆ ทางสังคมของมนุษย์แต่ละคนก็ตาม ที่เป็นส่วนรวมจับกลุ่มกันทำก็ตาม กลายเป็นกิจกรรมเพื่อมุ่งความสำเร็จที่จะได้ผลประโยชน์ให้มากที่สุด หรือกำไรสูงสุด แนวโน้มของสังคมก็จึงเป็นอย่างนี้ คือเป็นสังคมแห่งธุรกิจในระบบแข่งขันเพื่อกำไรสูงสุด บนฐานแห่งทิฏฐิที่มองความสำเร็จทางวัตถุเป็นจุดหมายของชีวิตและสังคม

ทีนี้ ความสำเร็จที่แท้จริงของมนุษย์คืออะไร ถ้าพิจารณาให้กว้างและมองในขั้นพื้นฐาน แน่นอนว่ามนุษย์ต้องการมีชีวิตที่ดีงาม ต้องการสังคมที่มีสันติสุข และต้องการให้โลกนี้รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย มนุษย์จะยอมตกลงกันได้หรือไม่ว่า ถ้าเรายังไม่สามารถวางทิฏฐิพื้นฐานอย่างนี้ได้ เราก็แก้ปัญหาในเรื่องการสร้างสันติภาพไม่ได้ เพราะถ้าเรายึดถืออยู่ว่าความสำเร็จคือการได้ผลประโยชน์สูงสุดด้วยชัยชนะในการแข่งขัน ทิฏฐินี้ก็จะครอบงำการดำเนินชีวิตของเราแต่ละคน และกำหนดวิถีของสังคมทั้งหมด ระบบทุกอย่างของสังคมแม้แต่การปกครองก็จะดำเนินไปตามนี้ด้วย ทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว เมื่อคนมุ่งเตรียมตัวที่จะมาแก่งแย่งช่วงชิงกัน แล้วจะเกิดสันติภาพได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น ทั้งๆที่ก็น่าจะรู้กันดีอยู่แล้ว เราก็ต้องมาวิเคราะห์กันให้สำนึกตระหนักชัดลงไปว่า ความสำเร็จที่แท้จริงของมนุษย์คืออะไร การได้ผลประโยชน์สูงสุดเป็นความสำเร็จที่แท้จริงและถูกต้องหรือไม่ เรายอมรับหรือไม่ว่าความสำเร็จที่แท้ของมนุษย์ซึ่งเราทุกคนต้องการคือ การมีชีวิตที่ดีงาม มีสังคมที่มีสันติสุข และโลกที่รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย

ถ้าเราตั้งทิฏฐิในเรื่องจุดหมายนี้ไม่ได้ เราก็จะวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ แล้วจะไปสร้างสันติภาพได้อย่างไร เพราะว่าทิฏฐิที่บ่งชี้จุดหมายสุดท้ายนั้น เป็นเป้าหมายที่บังคับมนุษย์ทั้งสังคมอยู่ในตัวว่า จะต้องแก่งแย่งและทะเลาะวิวาทกัน

ขณะนี้เรามาแก้ปัญหากันอยู่เพียงในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และมาหาความคิดเห็นกันแค่เรื่องปลีกย่อย แล้วจะไปสร้างโลกให้มีสันติภาพได้อย่างไร เราต้องมองแยกขยายให้เห็นความสัมพันธ์ในระดับที่กว้างขวาง ครอบคลุม และเห็นภาพรวมอย่างทั่วถึงตลอดทั้งหมด นี้เป็นเรื่องตัวอย่างที่ขอนำมากล่าว

มนุษย์จะลุถึงสันติภาพแท้จริงได้ ต้องพัฒนาสันติภายในที่จะมาเป็นปัจจัยหนุนกันกับสันติภาพภายนอก

เรื่องต่อไปที่ต้องกล่าวไว้ด้วยคือ สันติภาพที่สัมพันธ์กันทั้งด้านภายนอกและด้านภายใน ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ต้องเน้น เพราะมนุษย์อยู่ในสังคม สังคมก็อยู่ในธรรมชาติ และธรรมชาติก็มีอยู่ในตัวมนุษย์ หรือว่าที่แท้มนุษย์ก็เป็นธรรมชาติด้วย ทั้งหมดเป็นระบบความสัมพันธ์ที่โยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายในกับภายนอกจึงต้องสัมพันธ์เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เช่นเรื่องสันติภาพนี้ ในด้านภายนอกก็มองได้ตั้งแต่ในแง่การปกครอง

เรามีระบอบการปกครองขึ้นเพื่อจัดระเบียบสังคม โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันสงบเรียบร้อยร่มเย็นมีสันติสุข ฉะนั้นการปกครองทั้งหลายรวมทั้งระบบประชาธิปไตยจึงมีขึ้นเพื่อสันติภาพ

อย่างไรก็ตาม สันติภาพ อย่างที่เข้าใจกันในทางการเมืองการปกครองนั้น มักหมายถึงเพียงแค่ความสงบเรียบร้อยภายนอก ที่มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยไม่ทะเลาะวิวาท ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย เช่นที่พูดเป็นคำคู่ตรงข้ามกันว่า “สงครามกับสันติภาพ” จะต้องเข้าใจว่า สันติภาพแบบนี้ หรือในระดับนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นจุดหมายของมนุษย์ แต่เป็นเพียงสภาพเอื้อโอกาสให้บุคคลแต่ละคนก้าวไปสู่จุดหมายที่สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

ถึงตรงนี้ ก็ต้องถามว่า จุดหมายของบุคคลคืออะไร หรือบุคคลต้องการอะไร ตอบอย่างง่ายๆ บุคคลอาจจะต้องการผลประโยชน์ เมื่อสังคมอยู่ในภาวะสันติ บุคคลก็จะมีโอกาสหาผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ แต่มีคำถามต่อไปว่าผลประโยชน์เป็นสิ่งดีที่มนุษย์ควรต้องการหรือเปล่า ถ้ามนุษย์มีสังคมที่มีสันติเพื่อจุดหมายนี้ มนุษย์ก็จะมุ่งเพื่อได้ผลประโยชน์จึงมารวมกัน เพื่อให้การอยู่ร่วมกันนั้นเป็นโอกาสที่ตัวจะได้สิ่งพึงประสงค์ แล้วก็จะมีการรวมกลุ่มของมนุษย์เพื่อแย่งผลประโยชน์กัน เพราะว่าเมื่อรวมเป็นกลุ่มแล้วจะได้มีกำลังไปเอาผลประโยชน์ได้มาก จึงเกิดมีการรวมกลุ่มชนิดที่แต่ละกลุ่มมาแย่งชิงซึ่งกันและกัน ดังที่ได้เป็นไปในโลกนี้มาโดยตลอด

การรวมกลุ่มของมนุษย์เพื่ออะไร นี้เป็นคำถามอีกข้อหนึ่ง การจัดองค์กร จัดตั้งชุมชน มีความหมายอย่างไร เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เราพูดกว้างๆ ว่าเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์แต่ละคน เพราะเป็นเครื่องช่วยเอื้อโอกาสแก่เขา เพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการนั้น

แต่สิ่งที่บุคคลต้องการนั้นคืออะไร ถ้าต้องการผลประโยชน์ ชุมชนและสังคมก็จะกลายเป็นเรื่องของการรวมกลุ่มเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์กับกลุ่มอื่น ในกรณีเช่นนี้ บุคคลที่เข้ามาร่วมนั้น มุ่งเพื่อผลประโยชน์ของตน แต่การที่จะได้ผลประโยชน์นั้น เขาจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น เขาจึงมารวมกลุ่มด้วย หมายความว่า เขาไม่ได้มีความรู้สึกเอื้อเกื้อกูลปรารถนาดีต่อคนอื่นที่มารวมและร่วมในชุมชนหรือในสังคมเดียวกับตน อย่างน้อยก็มิได้มีไมตรีที่จริงใจ คือเขาไม่มีสันติอยู่ในใจของเขา โดยนัยนี้ ในชุมชนหรือสังคมนั้น ระหว่างบุคคลภายในก็ไม่มีสันติที่จะให้แก่กัน และภายนอกเขาก็มารวมกันเพื่อขัดแย้งแย่งชิงรบราฆ่าฟันกับพวกอื่น คือ ทำลายสันติภาพต่อไป ถ้าเป็นอย่างนี้ โลกก็ไม่อาจจะมีสันติภาพ

จึงต้องคิดกันให้ชัดว่า ความหมายของการมีกลุ่มมีชุมชนนี้เพื่ออะไรกันแน่ อันนี้จะต้องหาคำตอบให้ได้

ตอนนี้จะขอกล่าวเฉพาะในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างสันติในตัวคน กับสันติในสังคม ซึ่งอาจจะซับซ้อนเล็กน้อย ขอย้ำว่า สันติภาพของสังคมไม่ใช่จุดหมายแต่เป็นตัวเอื้อโอกาสแก่บุคคลอีกชั้นหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน การที่สังคมจะมีสันติภาพได้ บุคคลแต่ละคนจะต้องมีความเอื้อเกื้อกูลที่จะร่วมมือกับผู้อื่น จึงจะรวมกันอยู่ได้ สันติของแต่ละบุคคลจึงเป็นปัจจัยที่จะไปช่วยสร้างสันติภาพของสังคม

เมื่อพูดให้ลึกลงไป การที่จะมีสันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืนได้นั้น จะต้องเข้าถึงความประสานกลมกลืนที่แท้ ซึ่งมีความสอดคล้องกันตั้งแต่ต้นจนตลอดถึงที่สุด เริ่มต้นตั้งแต่หลักความจริงที่ว่า จุดหมายของแต่ละบุคคลคือสันติ ในที่นี้จุดหมายของบุคคลก็คือจุดหมายของชีวิต จุดหมายของชีวิตคือสันติ เพราะที่แท้จริงนั้นชีวิตต้องการสันติซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของมัน

แต่การที่ชีวิตจะเข้าถึงสันติได้ จะต้องมีการพัฒนา ทั้งด้านพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ทั้งด้านจิตใจ และที่สำคัญที่สุดคือปัญญาที่จะเข้าถึงความจริงของโลกและชีวิต การที่บุคคลจะพัฒนาตนหรือพัฒนาชีวิตของเขาได้ เขาต้องการสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะสังคมที่เอื้อ คือสังคมที่มีสันติภาพ ในกรณีนี้ สันติภาพของชุมชนหรือสังคมจึงเอื้อโอกาสแก่การที่แต่ละบุคคลจะได้พัฒนาชีวิตของตนให้บรรลุถึงสันติ เพราะถ้าสังคมไม่มีสันติภาพ บุคคลแต่ละคนก็ประสบความติดขัดยากลำบาก หรือสูญเสียโอกาส ไม่สามารถพัฒนาตนให้บรรลุสันติได้ ฉะนั้นสันติภาพของสังคมจึงเป็นสภาพเอื้อต่อสันติภาพของแต่ละบุคคล

ในขณะเดียวกันและในทางกลับกัน บุคคลผู้มีชีวิตที่เข้าถึงสันติอย่างนี้แล้ว ก็เป็นผู้พร้อมที่สุดที่จะสร้างสรรค์และดำรงรักษาสันติภาพให้แก่สังคม สันติของแต่ละบุคคลหรือสันติภายในนี้จึงเป็นตัวเอื้อให้เกิดมีสันติของสังคม โดยเป็นทั้งตัวที่นำสังคมไปสู่สันติและเป็นตัวดำรงสังคมไว้ในสันติด้วย

นี้คือลักษณะที่เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ในระบบที่ภายในกับภายนอกมีความประสานสอดคล้องกลมกลืนกันอย่างแท้จริง และเป็นสันติที่แท้และยั่งยืน ถึงตอนนี้จะมองเห็นความสัมพันธ์ที่ชัดมากขึ้นระหว่างสันติภายในกับสันติภายนอกที่อาศัยซึ่งกันและกัน อย่างประสานกลมกลืนไปด้วยกัน

การศึกษาช่วยให้พัฒนาสันติภายในขึ้นได้ เพราะทำให้ปัญญาที่เข้าถึงธรรมชาตินำเอาเมตตากรุณามาให้แก่คน

ขอเริ่มที่ว่าทำอย่างไรแต่ละบุคคลจึงจะมีสันติ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าตัวการที่จำกัดคนให้คับแคบแบ่งแยกคือ
๑. ตัณหา ความต้องการเสพบำรุงบำเรอตน หาผลประโยชน์
๒. มานะ ความต้องการอำนาจความยิ่งใหญ่
๓. ทิฏฐิ ความยึดถือในความเชื่อลัทธินิยมตลอดจนศาสนาที่ว่าจะต้องอย่างนี้เท่านั้นจึงจะถูกต้อง อย่างอื่นเป็นเท็จทั้งสิ้น และไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน

ถ้าสามารถสลายกิเลสทั้ง ๓ ที่ปั่นตัวตนขึ้นมาผูกรัดจำกัดไว้นี้ได้ ก็จะเกิดสภาพที่เรียกว่า วิมริยาทิกจิต คือ จิตที่ไร้พรมแดน ซึ่งเป็นจิตที่เกิดจากปัญญาที่รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย เมื่อรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย เข้าใจโลกและชีวิตถูกต้อง จิตนั้นก็สงบเย็นในตัวเอง เรียกว่า นิพพาน เป็นสันติแท้จริงภายใน

แต่การที่จะทำให้เกิดปัญญาจนเข้าถึงภาวะสงบเย็น ที่สลายตัณหา มานะ ทิฏฐิ ทำให้จิตไร้พรมแดนได้ ก็ต้องพัฒนาคน คือต้องมี การศึกษา หรือ สิกขา ซึ่งเป็นการพัฒนาคนอย่างครบทุกด้านแห่งชีวิตของเขา โดยมีหลักการว่า คนเป็นองค์รวมที่เกิดจากองค์ประกอบทั้ง ๓ ด้าน ของการดำเนินชีวิต คือ ด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา ทั้งสามด้านนี้ต้องพัฒนาไปด้วยกัน จึงจะก้าวไปสู่จุดหมายคือสันติภายในซึ่งเป็นจุดหมายของชีวิตที่กล่าวแล้วได้

ในการพัฒนามนุษย์แต่ละคนให้เข้าถึงจุดหมายแห่งสันติ โดยเกิดปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ซึ่งทำให้จิตของเขาไร้พรมแดนนั้น บุคคลจะมีคุณสมบัติหลักเกิดขึ้นในตัว ๒ อย่าง คือ

๑. แนวตั้ง คือขึ้นถึงปัญญาสูงสุด ที่รู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของโลกและชีวิต ซึ่งทำให้จิตใจเป็นอิสระไร้พรมแดน
๒. แนวราบ คือ เกิดมีจิตเมตตากรุณาที่เป็นสากล ซึ่งแผ่น้ำใจออกไปอย่างกว้างขวางไร้ขอบเขต เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เชื่อมกันได้กับผู้อื่นทั่วทั้งหมด อย่างไม่มีการแบ่งแยก

ปัญญารู้ความจริงก็เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในสิ่งทั้งหลายถึงกันตลอดทั้งหมด จิตมีเมตตากรุณาก็เชื่อมความสัมพันธ์อย่างเกื้อกูลกันกับเพื่อนมนุษย์ตลอดจนสรรพสัตว์ทั่วทั้งหมด โดยนัยนี้ปัญญาเชื่อมโยงทุกสิ่งไว้ในความจริงแห่งระบบความสัมพันธ์อันเดียวกัน แล้วก็ทำให้เกิดสภาพจิตเมตตา ที่เชื่อมทุกคนไว้ในไมตรีแห่งระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฉะนั้น เมื่อมนุษย์พัฒนาถูกทาง ปัญญากับเมตตาก็จะมาด้วยกัน และทำให้มีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งบูรณาการเข้าเป็นสันติภาพที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม มีข้อพิเศษว่า มนุษย์ที่บรรลุถึงจุดสมบูรณ์แห่งความมีปัญญาสูงสุด จะมองเห็นผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังไม่บรรลุจุดหมายสูงสุด ว่าเป็นผู้ยังมีทุกข์ที่เขาจะต้องเข้าไปช่วยเหลือในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ภาวะจิตที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์นี้ เรียกว่า กรุณา เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็น ปัญญากับเมตตา ก็กลายเป็น ปัญญา กับกรุณา คือเป็นความรู้สึกของผู้ที่เข้าถึงจุดหมายบรรลุอิสรภาพแล้ว ที่มองผู้อื่นว่ายังมีทุกข์ที่ตนจะต้องเข้าไปช่วยให้พ้นขึ้นมาถึงภาวะแห่งอิสรภาพนั้นด้วย

ความขัดแย้งเริ่มต้นและขยายตัวจากที่ไหน การสร้างสันติภาพก็ตั้งต้นและพัฒนาจากที่นั่น

การพัฒนามนุษย์ตามแนวนี้ ท่านมักสอนให้เริ่มต้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในการปฏิบัติต่อวัตถุสิ่งของ เพราะมนุษย์ที่ดำเนินชีวิตกันอยู่นี้ เบื้องแรกก็ต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุที่เสพบริโภคเช่นอาหาร ที่จำเป็นต่อชีวิต ซึ่งเขาจะมีท่าทีแห่งความสัมพันธ์ที่เริ่มด้วยการที่จะต้องได้ ต้องเอา เพราะฉะนั้น การฝึกฝนพัฒนามนุษย์จึงเริ่มที่การสัมพันธ์กับวัตถุด้วยท่าทีของการให้ ซึ่งจะมาดุลกันกับท่าทีแห่งการที่จะได้จะเอาที่กล่าวแล้วนั้น

เป็นธรรมดาว่ามนุษย์เมื่อคิดจะได้จะเอา ก็จะมีจิตที่แบ่งแยกกับผู้อื่น โดยมองผู้อื่นด้วยความรู้สึกระแวงหรือกีดกัน และเห็นผู้อื่นนั้นเป็นคู่แข่ง หรือเป็นปฏิปักษ์ เพราะฉะนั้น การฝึกมนุษย์ให้รู้จักให้ จึงเป็นการฝึกขั้นแรกในกระบวนการพัฒนาคนสู่สันติ คือให้รู้จักตั้งจิตคิดจะให้บ้าง

คนเรานั้น พอตั้งจิตคิดจะให้ ก็จะเกิดท่าทีใหม่ในการมองเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะ ก่อนนี้เมื่อคิดจะเอาก็จ้องไปที่ของ พร้อมกับรู้สึกระแวงต่อคน แต่พอคิดจะให้ก็หันมามองที่คน ซึ่งทำให้เห็นชีวิตและความต้องการของเขา แล้วเข้าใจเขา เห็นสุขทุกข์ของเขา เห็นใจเขา ตอนนี้แหละ คุณธรรมคือเมตตาและกรุณา ก็จะเกิดขึ้น เป็นอันว่าจุดฝึกเบื้องแรกของมนุษย์ ก็เริ่มที่วัตถุนี่เอง แต่ย้ายจากการที่คิดจะได้จะเอา มาฝึกการให้ อย่างน้อยให้ความคิดที่จะให้ มาเริ่มสมดุลกับความคิดที่จะเอา แล้วมนุษย์ก็จะพัฒนาขึ้นทันที

ถ้ามนุษย์ไม่พัฒนาท่าทีด้านการให้นี้ มนุษย์ก็จะพัฒนาแต่ด้านที่จะได้จะเอาอย่างเดียว แล้วเขาก็จะเป็นนักหาความสุขด้วยการแย่งชิงเบียดเบียนกัน แต่เมื่อมีการพัฒนาอย่างที่ว่านี้ เขาก็จะสามารถมีความสุขอย่างใหม่ที่เกิดจากการให้ ซึ่งเป็นการทำให้คนอื่นเป็นสุข ถึงตอนนี้ คนก็จะมีความสุขที่ประสานร่วมกัน คือเมื่อให้ ทั้งผู้ให้และผู้ได้รับก็มีความสุขด้วยกัน บุคคลผู้ให้นั้นก็จะกลายเป็นผู้สร้างความสุขให้มีทั้งในตนและผู้อื่น และเขาก็จะเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นนักหาความสุข มาเป็นนักให้ความสุขได้ การศึกษาซึ่งทำหน้าที่นี้ เป็นการพัฒนาคนในขั้นหนึ่งที่สำคัญ แม้ว่ากระบวนการจะยาวและซับซ้อน แต่ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง หรือฝืนธรรมชาติแต่อย่างใด

จุดแยกเข้าสู่กระบวนการของการศึกษา ก็เป็นจุดแยกเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสันติภาพ

นอกจากการเปลี่ยนมนุษย์จากนักหาความสุขมาเป็นนักให้ความสุข ผู้มีความสุขจากการให้ความสุขนั้นแล้ว ยังมีการพัฒนามนุษย์ขั้นเริ่มต้นอีกอย่างหนึ่ง คือการพัฒนามนุษย์ จากการใช้ตา หู เพื่อเสพ มาสู่การใช้ ตา หู เพื่อศึกษา อันนี้คือจุดเริ่มที่แท้ของการศึกษา ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญมาก

มนุษย์ใช้ตา หู อย่างไร?
๑. มนุษย์ใช้ตา หู ฯลฯ เพื่อสนองความต้องการในด้านความรู้สึก คือเอาสิ่งทั้งหลายมาบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้นของตน ให้มีความสุขความเพลิดเพลินชื่นชอบใจ เรียกว่า เสพ
๒. มนุษย์ใช้ ตา หู ฯลฯ เพื่อสนองความต้องการในด้านความรู้ คือใช้เรียนรู้ เรียกว่า ศึกษา

ตรงนี้เป็นจุดแยกที่สำคัญ เมื่อมีการศึกษาที่ถูกต้อง มนุษย์เริ่มพัฒนา ก็จะรู้จักใช้ตา หู เพื่อการศึกษา ดังนั้น ย้ายจากความเป็นนักเสพ คนก็จะพัฒนาความเป็นนักศึกษาขึ้นมา นักศึกษาก็คือ บุคคลที่รู้จักใช้ตา หู มิใช่เพียงเพื่อเสพ แต่ใช้เพื่อเรียนรู้ เวลานี้เราสามารถสร้างนักศึกษาได้หรือยัง

การที่บุคคลจะเรียนรู้ได้นั้นเขาต้องมีความอยากรู้ คือมีความต้องการที่จะรู้ ความต้องการที่จะรู้นี้เราพัฒนาขึ้นมาได้

เป็นธรรมดาว่ามนุษย์จะต้องสนองความต้องการ เมื่อสนองความต้องการเสพ เขาก็ต้องได้ต้องเอา จึงต้องแย่งชิงกัน สันติภาพก็ไม่มี แต่พอเขาต้องการเรียนรู้ เขาจะสนองความต้องการที่จะเรียนรู้นั้น เขาก็ต้องศึกษา แต่การสนองความต้องการที่จะเรียนรู้นี้ ไม่นำไปสู่การแก่งแย่งช่วงชิงกัน ตรงข้ามกลับนำไปสู่การพัฒนาตนเอง จึงเป็นการสนองความต้องการที่เป็นไปในทางสันติ โดยนัยนี้ สันติภาพก็เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่คนเริ่มรู้จักใช้ตา หู จมูก ลิ้นนั้นเอง

ว่าที่จริง การพัฒนาสันตินั่นแหละเป็นการศึกษา หมายความว่า การศึกษาก็คือการเรียนรู้และพัฒนาในกระบวนการนำชีวิตเข้าสู่สันติ หรือสร้างสันติให้แก่ชีวิต ดังนั้น เมื่อพูดอย่างเคร่งครัด จึงมิใช่เพียงว่าการศึกษาเพื่อสันติภาพ แต่การสร้างสันตินั่นแหละคือการศึกษา หรือการศึกษาคือกระบวนการพัฒนาสันติ เรามิใช่เพียงศึกษาเพื่อสันติ แต่เราศึกษาสันติ คือฝึกตนในสันติ หรือทำสันติให้เป็นชีวิตของตนเลยทีเดียว และในการศึกษาและพัฒนาสันตินั้น ความสุขก็จะพัฒนาไปด้วย

มนุษย์มีความสุขเมื่อได้สนองความต้องการ และความต้องการนั้นเปลี่ยนแปลงได้พัฒนาได้ ดังนั้น ความสุขจึงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ ถ้ารู้จักพัฒนาความต้องการ คนจะมีความสุขมากขึ้น เพิ่มช่องทางที่จะมีความสุขได้มากขึ้น และเปลี่ยนแปลงวิธีการที่จะเข้าถึงความสุขให้ดีงาม ประณีตยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสามารถย้ายจากความสุขที่ก่อปัญหาและขัดขวางการพัฒนา ไปสู่ความสุขที่สร้างสรรค์และส่งเสริมการพัฒนาชีวิตของตน

ความต้องการอย่างสำคัญเริ่มแรก ที่ควรจะพัฒนาขึ้นในกระบวนการพัฒนาคน ก็คือความต้องการเรียนรู้ ถ้าพัฒนาความต้องการในการเรียนรู้ขึ้น คนก็จะมีความสุขจากการสนองความต้องการเรียนรู้นั้น

แน่นอนว่าเบื้องแรกคนมีความต้องการเสพ ดังนั้นเมื่อเขาได้สนองความต้องการในการเสพ เขาก็มีความสุข แต่ดังที่กล่าวแล้วมนุษย์นี้พัฒนาได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ต่างจากสัตว์อื่น คือ มนุษย์มีศักยภาพในการศึกษา เมื่อมนุษย์เริ่มศึกษา ถ้าดำเนินไปตามกระบวนการของธรรมชาติ มนุษย์จะเริ่มพัฒนาความต้องการในการเรียนรู้ขึ้นมา คืออยากรู้ และใฝ่รู้ ยิ่งอยากรู้มาก เมื่อเขาสนองความใฝ่รู้นั้น เขาก็ยิ่งมีความสุขมาก

การศึกษาที่พัฒนาคนให้สร้างสันติภาพได้ ก็จะพัฒนาคนให้มีความสุขมากขึ้นด้วย

เมื่อยังไม่พัฒนา ความสุขมาจากช่องทางเดียว คือเสพ เพื่อสนองความต้องการทางด้านความรู้สึก แต่การสนองความต้องการด้านความรู้สึกนี้มีปัญหา เพราะมีด้านบวกกับด้านลบ คือ เมื่อได้เสพสิ่งที่ชอบใจเขามีความสุข แต่เมื่อพบสิ่งที่ไม่ชอบใจเขาจะเป็นทุกข์ ฉะนั้นคนที่ใช้ ตา หู จมูก ลิ้นเพื่อเสพ ชีวิตจะวนเวียนอยู่กับสุขและทุกข์ จากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ถ้าชอบใจก็สุข ไม่ชอบใจก็ทุกข์ วนอยู่อย่างนี้ตลอดไป โดยที่ตัวคนไม่มีการพัฒนา

ในทางตรงข้าม เมื่อคนเริ่มศึกษาเพื่อสนองความต้องการที่จะเรียนรู้นั้น การเรียนรู้ไม่ขึ้นต่อความชอบใจหรือไม่ชอบใจ ประสบการณ์หรือสถานการณ์ทุกอย่าง ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบ ล้วนเป็นสิ่งที่จะให้เกิดการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้นเพราะฉะนั้นเขาจึงเรียนรู้ได้ทั้งจากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ และเขาก็จึงมีความสุขได้ ทั้งจากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ถึงตอนนี้จะเห็นว่ามนุษย์เริ่มพัฒนาแล้ว มิติของความสุขเริ่มเปลี่ยนแปลงไป และบุคคลนั้นก็เริ่มพ้นจากสังสารวัฏแห่งสุขและทุกข์จากการพบสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ

เพียงเริ่มต้นศึกษา เริ่มเรียนรู้ เขาก็มีความทุกข์น้อยลง และได้ความสุขชนิดใหม่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่เป็นโทษแก่ใคร และมาพร้อมกับการพัฒนาชีวิตของตนด้วย

ขั้นต่อไป คนจะก้าวไปสู่ความตระหนักรู้ว่า จากสิ่งที่ไม่ชอบใจหรือยากลำบากเรามักได้เรียนรู้มากกว่าสิ่งที่ง่ายหรือชอบใจ จากสิ่งที่เป็นปัญหาเราจะได้เรียนรู้มาก ความตระหนักรู้นี้จะทำให้เกิดความสุขจากการพบสิ่งที่ยากซึ่งเป็นปัญหาหรือไม่น่าชอบใจ เพราะต้องการจะได้เรียนรู้ให้มาก

จะเห็นว่าช่วงที่กล่าวมานี้เป็นจุดแยกที่การศึกษาเริ่มต้น และการศึกษาเริ่มต้นเมื่อใดคนก็เริ่มมีความสุขเพิ่มขึ้นเมื่อนั้น และได้พบมิติใหม่แห่งความสุขด้วย และบุคคลนั้นก็ก้าวเข้าสู่เส้นทางแห่งการพัฒนาชีวิตที่ตรงออกไปข้างหน้าเหมือนไม่รู้จบ เพราะการเรียนรู้จะพัฒนาไปไม่หยุดยั้ง แต่ในทางตรงข้าม ถ้าคนหาความสุขจากการสนองความต้องการเสพ เขาก็จะหมุนวนอยู่กับสุขจากการได้สนองความรู้สึกชอบใจ และมีทุกข์จากการพบสิ่งไม่ชอบใจ เวียนหมกจมอยู่นั่น ไม่ไปไหน เป็นวงกลมอย่างที่เรียกว่า สังสารวัฏ เป็นอันว่าไม่มีการพัฒนา

เมื่อเรียนรู้และได้ความรู้มา ก็จะมีการก้าวต่อไปเรื่อยว่า นี่คืออะไร นี่เป็นอะไร ทำไมเป็นอย่างนี้ เป็นเพราะอะไร เป็นมาอย่างไร โยงสัมพันธ์ไปถึงอะไร เอาไปใช้ทำอะไร และเรียนรู้สิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขยายออกไป

เมื่อเรียนรู้หลายอย่างเพิ่มมากขึ้น ก็เห็นความแตกต่าง ต่อไปก็จะเห็นว่าสิ่งนี้ควรเป็นอย่างนี้ สิ่งนั้นควรเป็นอย่างนั้น ภาวะที่ดีที่สมบูรณ์ควรจะเป็นอย่างนั้น การเรียนรู้จะโยงต่อไปสู่การมองเห็นว่า อะไรควรจะเป็นอย่างไร ภาวะที่ดีที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร เมื่อเราเห็นภาวะที่ดีที่ควรจะเป็น เราก็จะมีความอยากความต้องการชนิดใหม่ตามมา คือความอยากให้สิ่งนั้นอยู่ในภาวะอย่างหนึ่งที่ดี ที่เราเห็นด้วยปัญญาว่ามันควรจะเป็น

เมื่อเราอยากคือต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น แต่มันยังไม่เป็น เราก็เกิดความต้องการต่อไปอีก คือต้องการทำให้มันเป็นอย่างนั้น เรียกว่า ความอยากทำให้มันดี แล้วก็จะมีการสนองความต้องการด้วยการทำให้เป็นอย่างนั้น พร้อมทั้งเกิดความสุขในการได้สนองความต้องการด้วยการกระทำ นี่คือขั้นตอนที่สำคัญมากของการพัฒนาคน คือการเกิดความสุขจากการกระทำ

การทำให้ดี ให้ภาวะที่ควรจะเป็นเกิดขึ้นนี้ เรียกว่า การสร้างสรรค์ ถึงตอนนี้คนก็จะพัฒนาจากความเป็นนักศึกษา มาเป็นนักสร้างสรรค์ด้วย และเขาก็จะมีความสุขจากการสร้างสรรค์ คือความสุขจากการทำ ซึ่งหมายถึงการทำให้มันดี เขาก้าวไปไกลและจะต่อไปเรื่อยๆ ในการพัฒนา ในขณะที่มนุษย์ที่ใช้ตา หู เพื่อเสพ ก็จะมีแต่สุขทุกข์ที่วนเวียนอยู่กับสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ พบสิ่งที่ชอบใจก็สุข พบสิ่งที่ไม่ชอบใจก็ทุกข์ จมอยู่ที่เก่า

สุขที่ก่อปัญหา ไม่อาจพาสันติภาพมาให้

แต่เรื่องไม่ใช่แค่นั้น การมองไปที่สิ่งต่างๆ เพื่อเสพ ก็คือการมองในแง่ที่ว่า ตนเองจะได้รับการบำรุง บำเรอ ปรนเปรอ โดยไม่ต้องทำอะไร ความสุขจากการเสพก็คือ การไม่ต้องทำอะไร และต่อไปการกระทำจะมีความหมายเป็นความฝืนใจ เป็นตัวกีดขวางความสุขจากการเสพ และจึงเป็นความทุกข์

คนที่เป็นนักเสพนี้จะไม่มี “ความต้องการทำ” จะมีแต่ “ความต้องทำ” คือจำใจทำและฝืนใจทำ เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่มีความสุขจากการทำ แต่มีทุกข์จากการทำ ถ้าต้องทำอะไรก็คือทุกข์ การกระทำกลายเป็นความทุกข์ แต่เขาก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการกระทำได้ เพราะในกรณีทั่วไป การที่จะได้สิ่งที่ต้องการมาเสพ เขาจะต้องทำ เพราะฉะนั้นก็ฝืนใจและจำใจทำ เพราะเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้สิ่งเสพที่ตนต้องการ เขาจึงต้องพบความทุกข์จากการที่ต้องทำอยู่เสมอและมากมาย และสังคมมนุษย์ก็ต้องจัดตั้งระบบ เงื่อนไขและการควบคุมขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ทำการต่างๆ โดยที่จิตใจเขาไม่ได้มีความสุขในการกระทำนั้น ซึ่งเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมวิปริตไป

แต่ถ้ามนุษย์ก้าวเดินไปในทางที่ถูกต้อง เขาจะพัฒนายิ่งขึ้นไปในการศึกษาจนเกิดความใฝ่สร้างสรรค์ และมีความสุขจากการกระทำ เราจะเห็นได้ว่ามนุษย์พวกนี้สามารถทำอะไรที่เป็นการหาความรู้หรือทำการสร้างสรรค์จนลืมกินลืมนอนและไม่คิดถึงการที่จะหาอะไรเอร็ดอร่อยมาเสพ เพราะมีความสุขจากการศึกษาค้นคว้า และจากการกระทำหรือจากการสร้างสรรค์

ถ้าไม่มีความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์จากการศึกษาที่แท้นี้แล้ว เราจะไม่มีนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ จะไม่มีมหาบุรุษ ไม่มีคนที่มาบุกเบิกวิชาการต่างๆ การที่โลกก้าวหน้ามาได้ก็เพราะมีคนแบบนี้ เช่น ไอน์สไตน์ที่ต้องการรู้ความจริงของธรรมชาติ จนอุทิศเวลาอุทิศแรงงานอุทิศชีวิตให้แก่การศึกษาความจริงของธรรมชาติ และการศึกษาค้นคว้านั้นแหละคือความสุขของเขา คนอย่างนี้จะไม่เห็นแก่เอร็ดอร่อย ไม่เป็นนักเสพนักบริโภค แต่ทำงานจนลืมกินลืมนอนอย่างมีความสุข

ถ้าสังคมของเราไม่สร้างสรรค์เด็กแบบนี้ และปล่อยเด็กหรือเลี้ยงเด็กให้มีแต่ความใฝ่เสพ เด็กก็จะไม่พัฒนาและจะอ่อนแอลง เพราะว่าความสุขจากการเสพนั้นหมายถึง

๑. การวนเวียนอยู่ในกระแสของสุขจากสิ่งที่ชอบใจและทุกข์จากสิ่งที่ไม่ชอบใจ
๒. การขาดความต้องการทำ ซึ่งทำให้ต้องฝืนหรือจำใจทำ และรู้สึกว่าการกระทำคือความทุกข์

เด็กพวกนี้ นอกจากจะอ่อนแอลงแล้ว ก็จะทุกข์ได้ง่าย และสุขได้ยากด้วย รวมทั้งมีความโน้มเอียงไปในทางที่จะขัดแย้งและแย่งชิงกับเพื่อนมนุษย์ การที่เขาจะทำอะไรก็เพราะเป็นเงื่อนไขเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนปรารถนา ตัวเองก็ฝืนใจเป็นทุกข์ หาทางหลีกเลี่ยงการกระทำ แสวงหาอำนาจมาบังคับคนอื่นให้ทำ และแย่งชิงข่มเหงเอาเปรียบ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์มาเสพให้มากที่สุด ในที่สุดพฤติกรรมทุกอย่างก็ออกมาในรูปที่ทำให้ไม่อาจจะมีสันติภาพ

ถึงเวลาต้องเลือก: การศึกษาเทียมที่สนองกระแสสังคมสู่การทำลายสันติภาพ
กับการศึกษาแท้ที่นำคนให้ก้าวออกมาทำการสร้างสรรค์

ในทางตรงข้าม ถ้าคนพัฒนาอย่างถูกต้อง เมื่อการศึกษาเริ่มต้นที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รับรู้ประสบการณ์ ความสุขจากการเรียนรู้หรือความสุขจากการศึกษาก็เกิดขึ้น แล้วเดินหน้าไปสู่การมีความสุขจากการกระทำ หรือการสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้มนุษย์มีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะสุขได้ง่ายและทุกข์ได้ยาก เพราะฉะนั้นการศึกษาที่ถูกต้องนี้จะเดินหน้าไปสู่สันติภาพโดยตัวของมันเองเลยโดยไม่ต้องไปทำอะไร แต่การศึกษา(ที่แท้)ขณะนี้ได้เริ่มหรือยัง

เวลานี้ปัญหาอยู่ที่ว่า เราไม่รู้ตัวว่าเราได้เอาการศึกษาไปสนองระบบหาความสุขจากการเสพ คือการมุ่งที่จะสนองค่านิยมบริโภคในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมของมนุษย์ที่แสวงหาความสุขจากการเสพ

ต่อจากนั้น ซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ระบบหาความสุขจากการเสพ จะเป็นตัวหนุนวิถีชีวิตและระบบสังคมที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ และโดยไม่รู้ตัว เราก็เอาการศึกษาไปสนองรับใช้ระบบแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งมาด้วยกันกับระบบการแข่งขันแย่งชิง ที่มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างไร้สันติภาพตลอดเวลา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นระบบสังคมที่มีภาวะไร้สันติภาพเป็นวิถีชีวิต

เมื่อการศึกษาสนองระบบแสวงหาผลประโยชน์ การศึกษาก็มีความหมายว่าเป็นการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุข หรือพูดสั้นๆ ว่า เป็นการศึกษาที่พัฒนาคนให้เป็นนักหาความสุข ในขณะที่การศึกษาที่แท้ แม้จะไม่ละเลยการพัฒนาความสามารถในการแสวงหาปัจจัย ๔ เป็นต้น เพื่อการดำรงชีวิต แต่จะไม่ลืมพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข หรือพูดสั้นๆ ว่า เป็นการศึกษาที่พัฒนาคนให้เป็นผู้มีความสุข

เมื่อมองในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมที่อยู่ในระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ โดยเปรียบเทียบกันดู สังคมที่เคยมีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมมาก่อน แม้จะเริ่มเปลี่ยนมาเป็นสังคมบริโภค ก็จะยังมีการปลูกฝังนิสัยรักงาน เข้มแข็ง บากบั่น ขยัน อดทน เรียกสั้นๆ ว่า การศึกษาที่พัฒนาความสามารถในการผลิต ชนิดที่ไม่เป็นทางการ ติดค้างอยู่ในวิถีชีวิตที่สืบกันมา ทำให้ประชาชนมีความเป็นนักผลิต ควบคู่อยู่ด้วยกันกับความเป็นนักบริโภค

ส่วนในสังคมที่ไม่เคยมีวิถีชีวิตแบบอุตสาหกรรมมาก่อน เมื่อมาเข้าสู่ยุคบริโภคนิยม การศึกษาที่สนองระบบหาความสุขจากการเสพ และสนองระบบหาผลประโยชน์ โดยขาดการพัฒนาความสามารถในการผลิต ก็จะทำให้ได้คนที่ไม่เป็นนักผลิต แต่เป็นนักบริโภค ซึ่งอ่อนแอ เป็นนักธุรกิจที่ฉาบฉวย อย่างดีก็จะได้คนฉลาดแบบศรีธนญชัย นำไปสู่การสร้างสภาพเศรษฐกิจแบบข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง ง่อนแง่น เพราะขาดฐานคือความสามารถในการผลิต หรือความเป็นนักผลิต และเมื่ออยู่ในระบบแข่งขันเชิงธุรกิจของโลก ก็ต้องตกอยู่ในภาวะเป็นผู้ตาม เป็นผู้รับ และเป็นเหยื่อ

แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อพูดโดยรวม กล่าวได้ว่า ระบบทั้งหลายของสังคมโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ได้ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบชื่นชมการแข่งขันเพื่อมุ่งหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะการเมือง และการศึกษา เช่น การเมืองในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มองหลักการต่างๆ แห่งประชาธิปไตยในความหมายเชิงเศรษฐกิจ และการศึกษาที่พัฒนานักเสพ นักหาความสุข และผลิตบุคลากรมาสนองความต้องการของระบบแสวงหาผลประโยชน์

ในภาวะเช่นนี้ มนุษย์จะต้องยอมรับความจริงว่า การสร้างสรรค์สันติภาพเป็นการสวนทางกับวิถีของสังคมอยู่ในตัวเลยทีเดียว เพราะระบบสังคมที่แข่งขันมุ่งหาผลประโยชน์ มีการขัดแย้งเป็นเครื่องดำรงรักษาตัวมัน หรือเป็นฐานรองรับวิถีชีวิตแบบนั้น

ในวิถีชีวิตแบบที่ว่านี้ ระบบต่างๆ ที่มนุษย์จัดตั้งขึ้นในทางสังคม รวมทั้งการศึกษา แทนที่จะช่วยขัดเกลาความขัดแย้งที่เป็นธรรมชาติเดิมของมนุษย์ ก็กลับส่งเสริมให้ความขัดแย้งพัฒนาขึ้นเป็นระบบและเป็นสถาบัน ไม่ต้องพูดถึงปัญหาความขัดแย้งภายนอกในสังคม ความขัดแย้งที่กลายเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ไปแล้วนี้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งตั้งแต่ภายในจิตใจของบุคคล โดยแสดงผลเป็นความเครียดความเร่าร้อน กระวนกระวาย และความรู้สึกแปลกแยก เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่า เป็นภาวะแห่งความบีบคั้น คือทุกข์ที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเป็นโรคจิตโรคประสาท

ในสังคมที่มีภูมิหลังแห่งวัฒนธรรมอุตสาหกรรม และผ่านการต่อสู้ดิ้นรนห้ำหั่นบีฑามามาก ซึ่งทำให้คนมีลักษณะเข้มแข็ง บุกฝ่า ก้าวร้าว ความเครียดที่เกิดจากภาวะขัดแย้งนี้ ก่อให้เกิดพลังขับดันที่จะก้าวไปในการแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะนำไปสู่การทำลายตัวเอง หรือไม่ก็หันออกไปแสดงออกในรูปของความรุนแรงแบบต่างๆ

ส่วนในสังคมที่คนเคยมีชีวิตแบบสบายๆ อ่อนแอ ความเครียด หรือความทุกข์นี้ ด้านหนึ่งก็นำไปสู่ภาวะทนไม่ได้และการทำลายตนเอง แต่อาจจะเบนออกด้วยการระบายหรือชดเชยแบบต่างๆ เช่น การพึ่งพาสิ่งกล่อมประเภทต่างๆ รวมทั้งลัทธิรอผลดลบันดาล ลัทธิคอยโชค และการปลงใจปล่อยวางในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งรวมลงที่การตกอยู่ในความประมาท

เรื่องที่พูดอยู่นี้ ที่จริงมีความซับซ้อนมาก เกี่ยวด้วยปัจจัยหลายอย่าง ยังมีข้อที่ต้องวิเคราะห์กันอีกมาก ขอยุติไว้ในส่วนที่ต้องการพูดถึง ณ ที่นี้เพียงเท่านี้ก่อน

ยุคปัจจุบัน ถ้าจะประเมินผลการศึกษา จุดสำคัญหนึ่ง คือดูที่ท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยี

ขอย้อนมาพูดเรื่องค่านิยมเสพบริโภค โดยโยงกับเรื่องเทคโนโลยีซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของยุคปัจจุบัน

ในเรื่องนี้ สำหรับสังคมไทยของเรา สภาพที่ปรากฏเด่น ก็คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพ บริโภค บำรุง บำเรอ ปรนเปรอ เด็กๆ ไม่ได้รับการศึกษาที่ถูกต้องที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและสร้างสรรค์

สังคมไทยของเรานั้นเด่นมากในเรื่องนี้ ลองสำรวจดูซิว่าคนไทยส่วนมากใช้เทคโนโลยีเพื่ออะไร ใช้เพื่อเสพบริโภค หรือใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์มากกว่ากัน

ขณะที่สังคมอย่างอเมริกัน กำลังก้าวเข้าสู่ระบบค่านิยมบริโภค โดยมีค่านิยมผลิตที่ติดมาจากภูมิหลังยังดุลกันอยู่ สังคมไทยของเรามีแต่ค่านิยมบริโภคอย่างเดียว โดยไม่มีค่านิยมผลิต

ถ้าสังคมที่พัฒนาอย่างอเมริกันใช้เทคโนโลยีเพื่อเสพมาก ก็มีหวังว่าจะต้องทำให้โลกสูญเสียสันติภาพ เพราะต้องเอาเปรียบทั้งมนุษย์พวกอื่นและรังแกธรรมชาติมาก ถ้าสังคมที่กำลังพัฒนาอย่างไทยใช้เทคโนโลยีเพื่อเสพบริโภคมาก สังคมไทยก็จะต้องเสื่อมโทรมและยิ่งล้าหลัง โดยตกเป็นเหยื่อที่เป็นเหตุให้โลกยิ่งมีการเอาเปรียบกันมาก แต่ถ้ามนุษย์รู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อศึกษาและสร้างสรรค์มากขึ้น ก็มีทางที่โลกนี้จะพัฒนาไปในทางที่ถูกต้องและมีสันติภาพ และอารยธรรมก็จะยั่งยืน

เพราะฉะนั้นจึงจะต้องพิจารณากันตั้งแต่การเลี้ยงเด็กเลยว่า เด็กของเราหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยีมาก หรือหาความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีมาก ถ้าเด็กหาความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีแล้ว ตัวเด็กเองก็จะพัฒนา และเด็กนั้นก็จะเป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมได้ แต่เวลานี้ เด็กๆ ของเราส่วนมากใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพกันเต็มที่

เคยถามแม้แต่เด็กๆ ชั้นประถม ก็ตอบว่าใช้โทรศัพท์เพื่อเสพเกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ใช้เพื่อการศึกษาน้อยมาก ไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเด็กไทยเป็นอย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้น เราจะมีความหวังอะไรให้แก่สังคมไทย ตลอดจนแก่มนุษยชาติ เพราะฉะนั้นจะต้องพิจารณาว่าเราจะให้การศึกษาเด็กไทยอย่างไร

ขอให้ช่วยกันดูว่า ถ้าเด็กมีการศึกษาที่ถูกต้อง เขาจะเริ่มใช้ตา หู จมูก ลิ้นเพื่อการศึกษา และใช้มือและสมองเพื่อคิดและทำการสร้างสรรค์ แล้วเทคโนโลยีก็จะมาเป็นปัจจัยสนองความต้องการในการเรียนรู้และการสร้างสรรค์นี้ พร้อมกันนั้นเขาก็จะมีความสุขและหาความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์

จุดเริ่มที่สังเกตได้ง่าย อยู่ที่การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา แต่ขณะนี้ เมื่อยังใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพ ก็จึงหมายถึงไม่มีการศึกษานั่นเอง เราจะเลือกเอาการศึกษาที่เป็นเพียงรูปแบบ ซึ่งมีสักแต่ชื่อว่าเป็นการศึกษาเท่านั้น ซึ่งพัฒนาคนไม่ได้ หรืออาจจะลดคุณภาพคนลงไปอีก หรือจะเลือกเอาการศึกษาแท้ที่พัฒนาคนและนำสันติสุขมาให้แก่สังคม

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม ที่จะต้องคิดกันให้จริงจัง เนื่องจากไม่ว่าสังคมไหน จะเป็นอย่างไรก็ตาม ก็อยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถึงกันหมด และจะไหลบ่าเข้าไปครอบงำ สังคมใดจะอยู่ดีได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าจะมีกำลังนำหรือภูมิต้านทานแค่ไหน

บางสังคมมีพื้นฐานดีที่ได้สร้างหรือสะสมความเข้มแข็งในการสร้างสรรค์ ปลูกฝังนิสัยใจคอที่มีความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก เป็นนักศึกษาหาความรู้และเป็นนักผลิตมาก่อน ก็ถูกกระแสนี้กระหน่ำเอาน้อยหน่อย หรือไม่ก็กลายเป็นผู้นำหรือผู้สร้างกระแส ตลอดจนถึงกับหาผลประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ไปเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังจะเซ อย่างสังคมตะวันตกที่มีพื้นฐานสะสมมามากในด้านความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ เมื่อมาถึงเวลานี้ก็ยังถูกกระหน่ำเอาหนัก

ส่วนในสังคมไทยของเรา เรื่องความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์นี้เราต้องยอมรับว่าเบาหรืออ่อนเหลือเกิน เพราะฉะนั้นก็จะถูกกระแสของลัทธิบริโภคนิยม และระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ครอบงำชักจูงไป หรือเอาเป็นเหยื่อได้เต็มที่ ถ้าเราไม่รีบรู้ตัวตื่นขึ้นมา แล้วตั้งหลักให้การศึกษาที่ถูกต้อง นอกจากแก้ปัญหาที่มีอยู่ไม่ได้แล้ว ก็จะถูกโถมกระหน่ำซ้ำเติมอย่างรุนแรง

ถ้ายังไม่เข้าใจความหมายที่แท้ของชุมชนและสังคม คนก็จะใช้ชุมชนและสังคมนั่นแหละเป็นที่ทำลายสันติภาพ

หันกลับมากล่าวถึงเรื่องที่ว่า เราจะสร้างชุมชนและองค์กรขึ้นมาอย่างไร เพื่ออะไร

ได้กล่าวแล้วว่า ในแง่หนึ่ง เรามีชุมชนหรือองค์กรขึ้นมาเพื่อสร้างโอกาสให้แก่บุคคล ที่เขาจะได้บอกแจ้งความต้องการของเขา และได้สิ่งที่เขาต้องการ เรามีความเข้าใจเบื้องต้นว่า มนุษย์หวังประโยชน์จากการเข้าไปอยู่และคงยังอยู่ร่วมสังคม ดังนั้นสังคมจึงมีอยู่เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกคน โดยที่แต่ละคนต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อความดำรงอยู่ของตน และเพื่อให้สังคมอย่างนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยดีจึงต้องสร้างสังคมให้เป็นระบบแห่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ที่ว่ามานี้เป็นการมองตามสภาพจิตพื้นฐานโดยทั่วไป รวมความว่า การที่เราอยู่ร่วมสังคม ก็เพราะว่าเราต้องการผลประโยชน์จากสังคม เพื่อว่าเราจะได้อาศัยผู้อื่นแล้วได้ผลประโยชน์ที่ต้องการ แต่ถ้าพิจารณาต่อไปอีก เมื่อมนุษย์เริ่มพัฒนาขึ้น มนุษย์จะเรียนรู้ว่า ประโยชน์ที่แท้จริงของเขาไม่ใช่แค่เพียงผลประโยชน์ในการมีสิ่งเสพบริโภค และชีวิตที่ดีงามมีความสุขก็ไม่ใช่อยู่แค่การเสพบริโภค ชีวิตที่ดีและความสุขอยู่ที่สิ่งที่ประณีตกว่านั้น และการที่เขาจะพัฒนาสู่ชีวิตที่ดีงามนั้นได้ต้องอาศัยชุมชนหรือสังคมที่มีสภาพเอื้อ

การจัดตั้งชุมชนและสังคมตลอดจนองค์กรต่างๆ มีประโยชน์สำคัญในแง่นี้ คือช่วยให้บุคคลมีโอกาสในการศึกษาหรือในการพัฒนาตนด้วยวิธีพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หรืออาศัยสภาพและบรรยากาศในสังคมนั้นมาเป็นตัวเอื้อ อย่างน้อยเป็นสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุน นี้คือประโยชน์แท้จริงที่ต้องการ

ถ้ามนุษย์มองชุมชนหรือสังคมในความหมายอย่างนี้ ก็จะสัมพันธ์กับการศึกษา ซึ่งก็จะสอดคล้องกับธรรมชาติแห่งศักยภาพของมนุษย์ที่กล่าวไว้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก และเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา

มนุษย์ไม่ต้องการเพียงเสพ แต่ต้องการชีวิตที่ดีงาม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการศึกษาเรียนรู้สร้างสรรค์ และชุมชนหรือสังคมเป็นแหล่งที่เอื้อโอกาสนี้แก่เขา เพราะฉะนั้นในความหมายนี้ ชุมชนหรือสังคม ก็คือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษาหรือพัฒนาตนของมนุษย์แต่ละคนนั่นเอง และจะต้องให้ทุกคนเข้าใจว่า เราอาศัยสังคมแล้วสังคมจะช่วยให้เราพัฒนาตัวเราได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีสังคมที่มีสันติสุข แต่ละคนก็จะไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาตัวได้ดี เพราะในสังคมที่ดีก็จะมีกัลยาณมิตร และปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยเอื้อให้เราเข้าถึงชีวิตที่ดี ที่สมบูรณ์ ดังนั้น ชุมชนที่ดีจึงมีลักษณะที่เอื้อต่อการศึกษาหรือการพัฒนาชีวิตของบุคคล

ทำไมเราจึงมีการจัดระบบการปกครองให้สังคมมีสันติภาพ ให้คนอยู่กันสงบเรียบร้อย ก็เพื่อว่าแต่ละคนจะได้มีโอกาสพัฒนาชีวิตของตนไปสู่ความสมบูรณ์นั่นเอง ชุมชนที่แท้จึงเป็นชุมชนแห่งการศึกษา

ปัจจุบันนี้มีการพูดกันถึงการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือสังคมแห่งการศึกษา แสดงว่าเราเริ่มมองเห็นความหมายที่แท้จริงของชุมชนและสังคม ที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การสร้างโอกาสแห่งการศึกษา คือการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ เพื่อให้ชีวิตแต่ละชีวิตเข้าถึงความสมบูรณ์ และเมื่อแต่ละคนพัฒนาชีวิตของตนให้ดีงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีศักยภาพที่ได้พัฒนาแล้ว มีสติปัญญาเพิ่มขึ้น ก็เอาศักยภาพของแต่ละคนนั้นมาร่วมสร้างสรรค์สังคมอีก

โดยนัยนี้ การจัดตั้งชุมชนและองค์กรต่างๆ จึงมีความหมายที่พัฒนาสูงขึ้นเป็น ๒ ระดับ คือ

ระดับที่ ๑ เป็นขั้นพื้นฐานที่เรายังไม่ปรารถนาแท้จริง คือการที่ชุมชนนั้นเป็นแหล่งเอื้อโอกาสให้มนุษย์สามารถสนองความต้องการในทางผลประโยชน์ของตน รวมทั้งประโยชน์ในแง่ความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต

ชุมชนในความหมายขั้นนี้ แม้จะทำให้คนมารวมกัน แต่แล้วแต่ละชุมชนก็จะแบ่งแยกกับชุมชนอื่น แล้วทะเลาะกัน แย่งชิงผลประโยชน์กัน บางครั้งชุมชนก็เป็นเพียงการรวมกลุ่มกันเพื่อรวมกำลังในการต่อสู้หรือเพื่อปกป้องกลุ่มพวกของตน พร้อมกันนั้น ภายในชุมชนนั้นๆ เอง บุคคลก็มักเครียดและมีความโน้มเอียงที่จะทะเลาะวิวาทกัน เพราะความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์

ระดับที่ ๒ เราสร้างชุมชนหรือสังคมขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งเอื้อโอกาสต่อการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาชีวิตขึ้นสู่ความดีงามและความสมบูรณ์ คือเป็นชุมชนแห่งการศึกษา

ถ้าจะให้ชีวิตของบุคคลเข้าถึงสันติ และให้โลกมีสันติภาพแท้จริง มนุษย์จะอยู่แค่ความหมายของชุมชนในระดับที่ ๑ เท่านั้นไม่ได้ แต่จะต้องพัฒนามนุษย์นั้นให้สามารถสร้างสรรค์ชุมชนและสังคมขึ้นจนถึงระดับของความหมายที่สอง

ชุมชนเพื่อแบ่งคนให้เป็นกลุ่มที่จะแยกจากกลุ่มอื่น ที่จะมาขัดแย้งแย่งชิงกัน หรือชุมชนเพื่อรวมคนให้เป็นกลุ่มย่อยที่จะเข้ารวมกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นๆ ต่อไป

ถ้ากำหนดความหมายของชุมชนและสังคมได้ชัดเจนแล้ว การจัดสรรระบบแบบแผนในสังคม เช่นการปกครอง และเศรษฐกิจ ก็จะพลอยชัดเจนและถูกต้องไปด้วย เช่นในทางการปกครอง การสร้างชุมชนหรือสังคมขึ้น ก็จะมีความหมายในแง่ที่จะให้แต่ละคนมีโอกาสนำเอาศักยภาพสติปัญญาความสามารถออกมาร่วมสร้างสรรค์ระบบชีวิตที่ดีงามร่วมกัน และการจัดระบบชีวิตนั้นจะต้องมีจุดหมายสำคัญเพื่อเอื้อโอกาสให้แต่ละคนพัฒนาชีวิตของตนไปสู่ความดีงามและความสมบูรณ์ พร้อมกันนั้นแต่ละคนก็จะนำเอาศักยภาพของตนออกมาประสานเสริมซึ่งกันและกัน โดยบุคคลกับชุมชนก็จะหนุนซึ่งกันและกัน ระบบสังคมอย่างนี้คือแบบที่เราต้องการ

โดยนัยนี้ การจัดตั้งชุมชนและองค์กรต่างๆ จึงมีความหมายทั้งในแง่ประโยชน์ของบุคคล ที่จะสนองความต้องการของบุคคลในเชิงต่ำ คือเพื่อสนองความปรารถนาผลประโยชน์ และในเชิงสูงขึ้นมา คือเพื่อพัฒนาชีวิตขึ้นสู่ความสมบูรณ์ โดยมีความหมายในแง่ของประโยชน์ร่วมกันที่จะนำเอาศักยภาพมาร่วมกันสร้างสรรค์

ถ้ามองอย่างนี้ หลักการแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ ก็จะมาสอดคล้องกับความมุ่งหมายในการจัดตั้งชุมชนและจัดสรรสังคม

ที่สำคัญต่อจากนั้นไปอีกก็คือ เมื่อเราจัดตั้งชุมชนด้วยความเข้าใจอย่างนี้ ชุมชนก็จะเป็นสื่อเชื่อมบุคคลเข้ามาตามลำดับ คือจากบุคคลมาเป็นชุมชน แล้วชุมชนเล็กหรือองค์กรที่จัดตั้งนี้ก็จะเป็นสื่อกลางเพื่อนำมนุษย์มารวมกันเป็นสังคมใหญ่ทั้งโลก ซึ่งไม่ขัดแย้งกัน

เป็นอันว่า เมื่อมองในแง่นี้ ชุมชนเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมบุคคลเข้ากับสังคมใหญ่ที่เป็นสากลทั้งโลก ถ้ามองชุมชนและสังคมในความหมายอย่างนี้ โลกก็จะมีสันติภาพได้ และคนจะต้องมองความหมายให้ถึงขั้นนี้ให้ได้ ถ้าไม่ถึงขั้นนี้สันติภาพก็ไม่มีทางเกิดขึ้น

เวลานี้ การรวมกันเป็นชุมชนของมนุษย์มักมีขึ้นเพื่อแบ่งแยกมนุษย์กลุ่มหนึ่งจากมนุษย์กลุ่มอื่น เมื่อมนุษย์รวมตัวกันตั้งขึ้นเป็นกลุ่มหนึ่งแล้ว แต่ละกลุ่มก็จะสนองความต้องการของแต่ละบุคคลโดยไปแย่งชิงจากกลุ่มอื่น ขณะนี้มนุษย์กำลังอยู่ในสภาพแบบนี้ อารยธรรมเท่าที่เป็นมายังไม่พัฒนาพ้นจุดนี้ไปได้

อารยธรรมที่จะบรรลุผลสำเร็จช่วยให้โลกมีสันติภาพ จะต้องมากับระบบชุมชนในความหมายที่เป็นตัวกลางเชื่อมบุคคลเข้ากับสังคมสากลของทั้งโลก โดยรวมจากย่อยขึ้นไปตามลำดับ จนเป็นทั้งโลก ถ้ามนุษย์พัฒนาจิตใจและพัฒนาปัญญาให้มองได้ถึงขั้นนี้ จึงจะมีความสอดคล้องกันระหว่างโลกาภิวัตน์ปัจจุบันที่ว่าโลกไร้พรมแดน ถึงกันหมดทางกายภาพกับจิตใจของมนุษย์ที่ไร้พรมแดนด้วย

เมื่อคนมีปัญญาที่เข้าใจความหมายของชุมชนอย่างที่ว่ามาแล้ว ภายในจิตใจที่ไม่จำกัดแบ่งแยกนั้นจึงจะสามารถแสดงออกทางด้านรูปธรรม ด้วยการจัดตั้งและจัดสรรชุมชนในลักษณะที่เป็นสื่อกลางที่จะช่วยประสานกันทั้งโลก นี้คือความหมายของสันติภาพในอีกแง่หนึ่ง

การศึกษาเพื่อสันติภาพหรือไม่ เริ่มเห็นได้ที่ในครอบครัว

เป็นอันว่า ด้วยปฏิบัติการบนฐานความคิดที่ถูกต้อง ทุกอย่างจะประสานกันไปตลอด เริ่มตั้งแต่ชุมชนหน่วยย่อยที่สุด แล้วระบบชีวิตของชุมชนและสังคมที่จัดตั้งขึ้นอย่างนี้ก็จะคุมให้มนุษย์ที่มาอยู่ในชุมชนนั้นเป็นปัจจัยที่เอื้อแก่กันและกัน พร้อมทั้งสร้างทัศนคติหรือท่าทีของมนุษย์ที่มองผู้อื่น ทั้งในชุมชนเดียวกัน และในต่างชุมชน ตลอดจนต่อโลกทั้งหมด ในเชิงประสานและมีสมานฉันท์

มนุษย์จะมองโลกและมองผู้อื่น ด้วยทัศนคติหรือท่าทีอย่างไร สังคมมีอิทธิพลชักจูงและกำหนด ถ้าการจัดตั้งวางระบบสังคมถูกต้อง สังคมก็จะเอื้อต่อทัศนคติที่ส่งเสริมสันติภาพ ทั้งนี้เริ่มตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป

ครอบครัวเป็นชุมชนหน่วยย่อยที่สุด และเป็นพื้นฐานที่สุด ชุมชนจะเป็นสื่อกลางที่นำมนุษย์ไปสู่การรวมกันเป็นสังคมสากลหรือไม่ ก็เริ่มต้นที่การศึกษาในชุมชนแรกคือครอบครัวนี่แหละ การศึกษามีการเลี้ยงดูในครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้น การศึกษาเริ่มจากครอบครัวอย่างไร

ครอบครัวมีพ่อแม่เป็นหัวหน้า หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า บ้านเป็นดินแดนในอำนาจครอบครองของพ่อแม่ หรือดินแดนภายใต้การบริหารของพ่อแม่ การบริหารที่สำคัญก็คือ การที่จะทำให้การศึกษาเกิดขึ้นแก่สมาชิกใหม่

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พ่อแม่เป็นพรหมของลูก เมื่อให้กำเนิดแล้ว บทบาทแรกของพรหมคือ แสดงโลกแก่ลูก ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ก็ว่า “นำเสนอโลกแก่ลูก” นำเสนออย่างไร

คนเราเกิดมาในโลกเราก็มองเห็นโลก แต่การมองเห็นโลก ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมองเห็นความจริงของโลก หรือมองเห็นโลกตามความเป็นจริง ทันทีที่มนุษย์เกิดมา กระบวนการศึกษาหาความจริงของโลก หรือมองโลกเพื่อให้รู้จักโลกก็เริ่มขึ้น เพราะการมองเห็นและรู้จักโลก เป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการอยู่รอด และการดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิต

เมื่อมนุษย์เกิดมา โลกที่มนุษย์มองเห็น นอกจากไม่ครบถ้วนทั่วตลอดทั้งหมดแล้ว เรายังมองเห็นโลกนั้นในแง่มุมของความเข้าใจและท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่ง และการที่จะมองเห็นอย่างไร ก็อยู่ที่บทบาทของผู้นำเสนอโลกนั้น

พ่อแม่นี่แหละเป็นผู้นำเสนอโลกนี้แก่ลูก ภาพของโลกที่ลูกมองเห็น ท่าทีที่ลูกจะมีต่อโลก ต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ เช่นว่าเขาจะมองเพื่อนมนุษย์อย่างไร ก็อยู่ที่การนำเสนอของพ่อแม่ และตอนนี้แหละคือจุดสำคัญที่สุดที่การศึกษาจะวางพื้นฐานให้แก่ชีวิตของเขา ถ้าเขามีทัศนคติต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลก ต่อวัตถุสิ่งของในโลก หรือต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร ต่อไปทัศนคตินั้นก็จะเป็นตัวกำหนดวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของเขา

ลูกจะมองเห็นโลกนี้อย่างไรก็อยู่ที่พ่อแม่ เช่นอาจจะเห็นสังคมน่าเกลียดน่าชังเป็นศัตรู เห็นโลกเป็นแดนที่จะไปหาผลประโยชน์ให้ตัวได้เสพ หรือมองเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นมิตรเป็นเพื่อนร่วมโลกที่จะอยู่ร่วมกันด้วยไมตรี มองเห็นสิ่งทั้งหลายในโลกเป็นวัตถุแห่งการเรียนรู้ที่เราจะไปแสวงหาความเข้าใจให้เห็นความจริง หรือมองเห็นโลกนี้ในลักษณะที่ว่าเรามีส่วนร่วมที่จะต้องไปร่วมกันสร้างสรรค์โดยมีความรับผิดชอบ พ่อแม่มองโลกในลักษณะใด ก็จะนำเสนอโลกแก่ลูกในลักษณะนั้น ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ว่าโดยสรุป การมองโลกขั้นพื้นฐานที่พึงปรารถนามี ๓ ประการ
๑. มองเห็นมนุษย์ร่วมโลกอย่างเป็นมิตร ตลอดจนมองสัตว์ทั้งหลายและสิ่งแวดล้อมด้วยท่าทีที่เป็นมิตรมีไมตรี
๒. มองโลกในแง่ที่กว้างขวางใหญ่โต เป็นแดนอันอัศจรรย์ มีความงดงามน่าชื่นชมและเป็นแหล่งแห่งความรู้ที่เราจะไปศึกษาหาความจริง
๓. มองความสัมพันธ์ของตนเองกับโลกด้วยเจตจำนงที่จะเข้าไปร่วมสร้างสรรค์

ถ้าพ่อแม่นำเสนอโลกให้ลูกได้แนวทัศนคติพื้นฐาน ๓ ข้ออย่างนี้ก็อุ่นใจได้ แต่ปัญหาก็คือ ขณะนี้พ่อแม่นำเสนอโลกแก่ลูกในลักษณะนี้หรือไม่ อย่าว่าแต่จะนำเสนอโลกแก่ลูกให้ได้อย่างนี้เลย ปัญหาหนักยิ่งกว่านั้นที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็คือ เวลานี้กล่าวได้ว่าพ่อแม่กำลังสูญเสียอำนาจครอบครองดินแดนของตน พร้อมทั้งละทิ้งหรือละเลยบทบาทในการนำเสนอโลกแก่ลูกนี้ไปเสีย

เมื่อการศึกษาเสียฐาน เทคโนโลยีก็กลายเป็นสื่อนำความก้าวหน้าในวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ

ดินแดนภายใต้การบริหารของพ่อแม่ คือบ้านและครอบครัว เวลานี้มีตัวการภายนอกเข้าไปแทรกแซง ตัวแทรกแซงที่เด่นมีอิทธิพลมาก ก็คืออุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ โดยเฉพาะโทรทัศน์นั้นไม่เพียงแต่เข้าไปแทรกแซง แต่มากมายทีเดียวถึงกับแย่งชิงอำนาจครอบครองดินแดนนั้นไป และพ่อแม่มากมายก็แพ้สู้ไม่ได้ โทรทัศน์เอาลูกไปเป็นสัมพันธมิตร แล้วบางทีลูกกลายไปเป็นศัตรูกับพ่อแม่

โทรทัศน์กลายเป็นตัวทำบทบาทนำเสนอโลกแก่ลูก แล้วลูกก็ได้ทัศนคติการมองโลกไปตามที่โทรทัศน์นำเสนอ โทรทัศน์นำเสนออย่างไร โทรทัศน์ที่ดีก็มี แต่ว่าโดยรวมเป็นปัญหามาก คือ อย่างน้อยโทรทัศน์ก็ไม่มีจิตเมตตาและตัวปัญญาที่จะชี้แนะแก่ลูกว่าควรจะดูจะฟังอะไรด้วยท่าทีอย่างไร

ทีวีและสื่ออื่นๆ มากมาย นำเสนอภาพแห่งการแย่งชิงผลประโยชน์ ภาพที่มนุษย์มองเพื่อนมนุษย์เป็นศัตรู ที่จะต้องห้ำหั่นชิงชัยเอาชนะกัน เต็มไปด้วยการต่อสู้ ทำร้าย เรื่องรุนแรง การยั่วยวนล่อตาล่อใจด้วยสิ่งเสพบริโภคที่จะได้มาบำรุงบำเรอตนค่านิยมเสพบริโภคและความเห็นแก่โก้เก๋ ขอให้พิจารณาดูว่าเป็นอย่างนี้มากหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็คืออันตรายที่มาถึงตัวแล้ว และคือศัตรูของสันติภาพที่ซ่อนตัวอยู่แล้วในบ้าน

นี่คือทัศนคติการมองโลกขั้นพื้นฐาน และจะต้องเข้าใจว่า พ่อแม่ไม่ใช่เพียงนำเสนอสิ่งที่พบเห็นหรือเข้ามาเท่านั้น ตัวพ่อแม่เองก็เป็นตัวแทนของโลกด้วย คือเป็นตัวแทนที่จะให้ลูกมองเห็นโลกอย่างไร และมองเห็นเพื่อนมนุษย์อย่างไร เพราะพ่อแม่ก็คือมนุษย์หญิงชายสองคนที่เป็นตัวแทนของมนุษย์ทั้งหมดในโลก เป็นธรรมดาว่าพ่อแม่โดยทั่วไปย่อมมีเมตตารักลูกและมีความสัมพันธ์กับลูกในทางเกื้อกูลให้ความอบอุ่นร่มเย็น เมื่อเด็กเกิดทัศนคติในแนวทางนี้แล้ว ต่อจากพ่อแม่ เด็กมีพี่มีน้องเป็นหญิงบ้างชายบ้าง ความสัมพันธ์แบบรักใคร่ผูกพันกับพ่อแม่ก็ขยายไปยังพี่น้อง ความรู้สึกฉันพี่น้องก็เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ข้ามพ้นเหนือความเป็นหญิงเป็นชาย มีความรู้สึกเอื้ออาทรและความสัมพันธ์ที่เมตตาอบอุ่น ความรู้สึกและทัศนคตินี้จะฝังใจตลอดไปในชีวิตของเขา

เมื่อเด็กเติบโตออกไปสู่โลกกว้าง เขามองเห็นเพื่อนมนุษย์ ในด้านหนึ่งก็จะมีความรู้สึกตามสัญชาตญาณเช่นหญิงมองชาย และชายมองหญิง ในเชิงอารมณ์ทางเพศ แต่อีกด้านหนึ่ง ความรู้สึกที่ปลูกฝังไปแล้วในชีวิตครอบครัวก็คือ ความสัมพันธ์ที่แม่เป็นตัวแทนของผู้หญิง พ่อเป็นตัวแทนของผู้ชาย พร้อมทั้งความรู้สึกฉันพี่น้อง ซึ่งพ่วงมาด้วยภาพแห่งความดีงามความอ่อนโยนและความซาบซึ้งประทับใจที่ลงไปนอนอยู่ในจิตไร้สำนึก เมื่อเขาออกไปเห็นมนุษย์หญิงชายที่อื่น ก็จะมีความรู้สึกเชิงพ่อแม่พี่น้องที่เป็นฐานอยู่ก่อนออกมาดุล ทำให้ความรู้สึกเชิงสัญชาตญาณอ่อนกำลังลงหรือถูกเบนไป

ในผู้ชายบางคนที่มีความซาบซึ้งประทับใจในความรักความเมตตา และคุณธรรมของแม่ลึกซึ้งหนักแน่นมาก เมื่อไปพบเห็นผู้หญิงก็เหมือนมีภาพมารดาของตนปรากฏขึ้นมาด้วย พร้อมทั้งความรู้สึกดีงามต่างๆ ที่พ่วงอยู่ด้วย คำโบราณที่ว่าพระคุณของพ่อแม่คุ้มครองลูก ก็มีความหมายในแง่นี้ด้วยอย่างหนึ่งดังจะเห็นได้ว่าสภาพจิตนี้ช่วยมนุษย์และช่วยสังคมไว้ได้มาก

แต่เมื่อไหร่ความสัมพันธ์นี้ขาดไป พ่อแม่ไม่ได้เป็นตัวแทนนำเสนอโลกแก่ลูก เมื่อไม่มีทัศนคติแห่งความเป็นมิตรเมตตาและเจตจำนงสร้างสรรค์อยู่ในใจเลย อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อออกไปสู่โลก ผู้ชายมองผู้หญิงเป็นวัตถุกามอย่างเดียว ไม่มีจิตสำนึกอย่างอื่น อาชญากรรมและความรุนแรงต่างๆ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นี่คือการทำลายสันติภาพขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง

ไม่ต้องพูดถึงมนุษย์คนอื่นไกล แม้แต่พ่อแม่กับลูกอย่างที่เป็นอยู่ในสภาพสังคมปัจจุบัน เพราะระบบสังคมและเศรษฐกิจบังคับ พ่อแม่กับลูก ทั้งที่อยู่ในบ้านเดียวกัน แต่ห่างเหินกัน เมื่อลูกยังเล็ก พ่อกับลูกหญิงไม่ได้เอาใจใส่ดูแลใกล้ชิดสนิทแน่นที่จะประทับความรู้สึกเมตตากรุณาและความซาบซึ้งแบบพ่อกับลูกไว้ พอลูกหญิงโตขึ้นหน่อย พ่อมองลูกหญิงด้วยความรู้สึกเชิงสัญชาตญาณอย่างชายกับหญิงทั่วไป แทนที่จะมีอารมณ์พ่อก็เกิดอารมณ์เพศ อาจเกิดแนวโน้มที่จะก่อปัญหาศีลธรรม เช่น พ่อข่มขืนลูกมากขึ้น อย่างที่เป็นมาในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก

ขณะนี้กำลังเป็นปัญหาว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะบทบาทในการนำเสนอโลกแก่ลูกนี้กำลังสูญสิ้นไป โดยที่พ่อแม่ไม่ทำเสียเอง ซึ่งอาจจะมาจากความห่างเหินกันเพราะสภาพชีวิตภายใต้ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันบีบคั้นบ้าง เนื่องจากพ่อแม่ถูกสิ่งอื่นโดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสาร เช่นโทรทัศน์ วีดีโอ โทรศัพท์ เกมส์คอมพิวเตอร์ เข้ามายึดครองอำนาจแล้วทำหน้าที่แทน ตลอดจนแย่งเอาลูกไปได้บ้าง ยิ่งกว่านี้บางทีพ่อแม่ก็กลายเป็นศัตรูของลูกไป เพราะลูกไม่พอใจในความสัมพันธ์กับพ่อแม่

ทำอย่างไรพ่อแม่จะรักษาหรือยึดอำนาจครอบครองดินแดนของตัวเองกลับมาได้ เรื่องนี้นับว่าเป็นปัญหาขั้นพื้นฐาน อย่างน้อยพ่อแม่ต้องรับมือกับโทรทัศน์เป็นต้นได้ ด้วยเอาโทรทัศน์มาเป็นสัมพันธมิตร แล้วใช้มันให้เป็นประโยชน์ในการให้การศึกษาแก่ลูก ช่วยแนะนำหนุนให้ลูกใช้ โทรทัศน์เพื่อการศึกษาให้ได้เปอร์เซ็นต์อย่างน้อยพอสมดุลกับการใช้เพื่อเสพ ถ้าใช้เด็กใช้ทีวีเพื่อเสพ ๙๙% จะต้องลดลง ใช้เพื่อเสพสัก ๗๐ % และใช้เพื่อการศึกษาสัก ๓๐% แล้วต่อไปก็พัฒนาให้สูงขึ้น ถ้าเด็กคนไหนใช้โทรทัศน์เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ได้มาก ปัญหาจะน้อย พ่อแม่สบายใจได้ว่า เด็กจะพัฒนาและไปเป็นส่วนร่วมที่ดีในโลก

แต่ในเวลานี้เด็กไทยหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ มีน้อยเหลือเกินที่หาความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี เด็กมีคอมพิวเตอร์ก็เอาไปเล่นเกมส์ มีโทรทัศน์ก็ดูแต่รายการบันเทิง ปลุกและปลูกฝังค่านิยมบริโภคและนิสัยเป็นนักเสพกันเต็มที่จึงเป็นเรื่องน่ากลัวมากสำหรับสังคมของเรา ที่การศึกษาพื้นฐานกำลังเสื่อมสลาย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงการที่จะมีเรี่ยวแรงกำลังความสามารถไปสร้างสรรค์โลกให้มีสันติภาพ เพราะแม้แต่จะรักษาตัวให้รอดจากความเป็นเหยื่อหรือถูกครอบงำในระบบแข่งขันที่เป็นโลกาภิวัฒน์อยู่ในปัจจุบัน ก็ยังไม่ไหว

การที่จะฟื้นการศึกษาขึ้นมาเพื่อพัฒนาคนไทยเริ่มได้เดี๋ยวนี้ที่ในบ้าน โดยพ่อแม่จะต้องนำเสนอโลกแก่ลูกให้เด็กได้ทัศนคติพื้นฐาน ๓ ประการ
๑. การมองเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมโลกอย่างเป็นมิตรมีไมตรี
๒. การมองโลกเป็นดินแดนอันอัศจรรย์ที่น่าชื่นชมและน่าศึกษาให้รู้ความจริง
๓. การมองความสัมพันธ์ของตนเองกับโลกด้วยเจตจำนงที่จะออกไปร่วมรับผิดชอบสร้างสรรค์

ถ้าทำได้อย่างนี้เราก็จะมีมนุษย์ผู้จะนำโลกไปสู่สันติภาพ ถ้ามิฉะนั้น โลกต่อไปนี้ก็จะมีแต่มนุษย์ที่เตรียมตัวให้พร้อมที่จะไปแย่งชิงกัน จะไปห้ำหั่นกัน จะไปเอาชนะเขา และไปหาสิ่งเสพให้กับตนเอง ซึ่งจะไม่มีทางสร้างสันติภาพขึ้นมาได้ เพราะเราได้สูญเสียการศึกษาไปแล้วตั้งแต่ในครอบครัว ที่จริงหน้าที่ของพ่อแม่ในทางการศึกษายังมีอีกมาก แต่เพียงแค่จะนำเสนอโลกแก่ลูกก็เกิดปัญหามากแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องฟื้นฟูกู้กลับมา

โลกปัจจุบันไม่มีคำตอบให้ แต่คำตอบนั้นหาได้ที่ในบ้าน และในหัวใจของทุกคน

ขอย้อนกลับมากล่าวถึงสังคมที่เจริญก้าวหน้ากันอีก เป็นการปิดท้ายให้เห็นว่าขณะนี้โลกในแง่สันติภาพเป็นอย่างไร

สังคมอเมริกันที่ถือกันว่าเจริญพัฒนามากที่สุดนั้น ในแง่ดีก็มีส่วนที่ควรศึกษามาก แต่ในแง่ร้ายก็เป็นสังคมที่ง่อนแง่นมากทีเดียว ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งซึ่งเล่าไว้บ่อย มีคุณผู้หญิงท่านหนึ่งชื่อ มิชซิสลีน วี. เชนนี่ (Lynne V. Cheney) เป็นอดีตประธานกองทุนแห่งชาติเพื่อมนุษยศาสตร์ โดยได้ดำรงตำแหน่งอยู่ ๖ ปี สามีเป็นอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า ริชชาร์ด เชนนี่ (Richard Cheney) คุณผู้หญิงท่านนี้ได้แต่งหนังสือขึ้นมา ๓-๔ เล่ม เล่มหนึ่งชื่อ Telling the Truth 2 กล่าวถึงสภาพสังคมอเมริกันปัจจุบันที่น่าเป็นห่วงว่า จะแก้ไขได้อย่างไร เรื่องนี้เอามาเทียบแล้ว อาจจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับประเทศของเรา

ในหนังสือนั้นตอนหนึ่ง มิสซิส เชนนี่ เล่าว่า ที่เมืองฟิลาเดลเฟียด้านใต้ในปี ๑๙๙๔ (พ.ศ. ๒๕๓๗) วันหนึ่งมีคนขับรถเข็นไอศครีมเข้าไปขายในชุมชนหนึ่ง เด็กวัยรุ่นอายุ ๑๖ ปี คนหนึ่งเข้ามาขอเงินคนขายไอศครีม คนขายไม่ให้ เด็กก็โกรธ ควักปืนออกมายิง (เด็กวัยรุ่นในอเมริกาใช้ปืนกันมาก) คนขายไอศครีมล้มลงแล้วก็ตาย เมื่อเสียงปืนดังออกไป เด็กวัยรุ่นในชุมชนก็ออกมามุงดูแล้วก็สนุก พากันร้องเพลงแรพที่แต่งขึ้นมาเองเดี๋ยวนั้น (rap เป็นเพลงประเภทหนึ่งที่ใช้ดนตรีประกอบคำพูดไม่ใช่ร้องเป็นทำนอง) ตั้งชื่อเพลงว่า “เดคิลมิสเตอร์ซอฟตี้” (“They Killed Mr. Softee”) เพราะขายไอศครีมยี่ห้อมิสเตอร์ซอฟตี้ เด็กเหล่านั้นร้องเพลงกันสนุกสนาน พอดีมีคนขับรถไอศครีมอีกคันหนึ่งขับรถเข้าไปเห็นเหตุการณ์ก็ตกใจกลัว เด็กเหล่านั้นก็เข้ามาขอไอศครีมกันเหมือนกับไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เขาเขียนบอกไว้ว่าเด็กเหล่านี้เห็นคนตายเหมือนดูแมวตาย

หนังสืออีกเล่มหนึ่งก็เขียนปรารภสภาพสังคมอเมริกันที่ปัญหาอาชญากรรมเป็นเรื่องใหญ่โตมากขึ้นๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ๑๙๘๘ (๒๕๓๑) เป็นต้นมา จนในที่สุดกลายเป็นปัญหาที่เด่นนำปัญหาอื่นๆ และที่เขาตระหนกตกใจกันมาก ก็คือ อาชญากรรมเด็กวัยรุ่นที่ฆ่ากันตายมากขึ้น ซึ่งมีลักษณะที่น่าตกใจหลายอย่าง 3 ขอรวมกับของผู้เขียนคนก่อนมาสรุปเป็น ๔ ประการ

ประการที่ ๑ เปอร์เซ็นต์ที่เด็กฆ่ากันตายสูงกว่าเดิม ๔ เท่า คือ ๔๐๐% ในช่วง ๓๐ ปี

ประการที่ ๒ เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นนี้สวนทางกับอัตราเพิ่มของประชากรในระดับวัยต่างๆ

มีคำอธิบายว่า ในประเทศอเมริกานี้ประชากรเพิ่มมากในระดับของผู้สูงอายุหรือคนแก่ในช่วงอายุ ๗๐-๘๐ ปี แต่คนวัยรุ่นหรือหนุ่มสาวมีอัตราการเพิ่มลดลง เมื่อจำนวนการเพิ่มของการฆ่ากันตายของเด็กวัยรุ่นสูงขึ้นในขณะที่อัตราการเพิ่มประชากรวัยรุ่นลดน้อยลง ก็แสดงว่าการฆ่ากันนั้นเพิ่มทวีคูณ

ประการที่ ๓ เด็กฆ่าคนหรือฆ่ากันโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย คือไม่ได้คำนึงว่าเป็นใคร อาจจะยิงสาดไปทั้งกลุ่มโดยไม่ได้เจาะจงใคร ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้คนมาก

ประการที่ ๔ ยิ่งกว่านั้น นอกจากเป็นการฆ่าส่งๆ ไปอย่างนั้นเอง เมื่อฆ่าแล้วก็ไม่มีความรู้สึกผิดชอบเสียใจอะไรทั้งสิ้น (บางทีเห็นเป็นสนุกเสียอีก)

ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า ประชาชนในสังคมอเมริกันกลายเป็นคนที่ชินชาต่อความรุนแรงเสียแล้ว อาจจะเป็นเพราะได้เห็นรายการรุนแรงต่างๆ ในทีวี เป็นต้น มากเกินไป จนเกิดความสับสนระหว่างสิ่งบันเทิงกับความเป็นจริง อเมริกาจะเป็นประเทศที่คนมองเห็นอะไรเกิดขึ้นก็เป็นเหมือนรายการโชว์เท่านั้น เพราะตั้งแต่เด็กเกิดมาก็เห็นภาพการฆ่าฟันกันตื่นเต้นสยองขวัญ จนชินชาเป็นธรรมดาไปแล้ว เลยแยกไม่ออกระหว่างความเป็นจริงในชีวิตกับภาพโชว์ในโทรทัศน์ สังคมอเมริกันในทัศนะของคนอเมริกันขณะนี้ไปไกลอย่างนี้แล้ว นี่คือตัวอย่างอิทธิพลของการที่โทรทัศน์ได้นำเสนอโลกนี้แก่ลูก

ขณะที่ไอที คือเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลเจริญก้าวหน้ามีบทบาทเด่นและมีอิทธิพลมากขึ้นๆ แต่สถาบันครอบครัวกลับเสื่อมโทรมลงทุกที โดยเฉพาะในสังคมอเมริกานั้น ระบบครอบครัวมาถึงขั้นที่คนอเมริกันเรียกว่าสลาย และในบรรดาปัญหาหลายอย่างหลายด้านของปัญหาครอบครัวนั้น ปมใหญ่ที่ฟ้องออกมาก็คือ ความสัมพันธ์ด้วยความรักเมตตาระหว่างพ่อแม่กับลูก และญาติพี่น้อง ที่แห้งแล้งลงไป จนแทบสูญสิ้น ดังที่เกิดปัญหาการทารุณเด็ก (child abuse) กันมาก

หนังสือ The Day America Told the Truth บันทึกไว้ว่า คนที่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ในอเมริกาทุก ๑ ใน ๖ คน เคยถูกทำการทารุณทางร่างกายในวัยเด็ก และทุก ๑ ใน ๗ คน สารภาพว่าเมื่อเป็นเด็กเคยถูกทำการทารุณทางเพศ 4 คนที่ทำการทารุณนั้นส่วนมากก็คือคนใกล้ชิด เริ่มแต่พ่อแม่ของเด็กเอง

ประธานรัฐสภาอเมริกัน คือนาย Newt Gingrich ได้เขียนหนังสือชื่อ To Renew America บรรยายถึงสภาพเสื่อมโทรมด้านต่างๆ ของสังคมอเมริกันที่จะต้องแก้ไขฟื้นฟู ข้อความตอนหนึ่งที่เขาเขียนไว้ ใช้เป็นคำสรุปแสดงสภาพสังคมอเมริกันได้อย่างดี คือตอนที่ว่า

“ไม่มีอารยธรรมใดจะคงอยู่รอดไปได้นาน เมื่อเด็กหญิงอายุ ๑๒ ขวบก็มีลูก เด็กอายุ ๑๕ ก็ฆ่ากันตาย เด็กอายุ ๑๗ เป็นโรคเอดส์ตาย เด็กอายุ ๑๘ อ่านใบประกาศนียบัตรที่ตัวได้มาไม่ออก” 5

ถ้าสังคมมีสภาพเช่นนี้ จะหวังให้มีสันติภาพย่อมไม่อาจเป็นไปได้ โดยเฉพาะลักษณะสำคัญของสังคมอเมริกันที่เป็นอยู่นี้ ก็คือภาวะขาดสันติภายใน ที่ในจิตใจคนมีความเครียดความเร่าร้อนกระวนกระวาย ความกดดัน และความทุกข์ รวมไปถึงความหิวกระหายวัตถุและความก้าวร้าว ขาดไมตรีต่อเพื่อนมนุษย์

สังคมอเมริกันที่สามารถรักษาสันติภายนอก คือสันติภาพของสังคมมาได้เป็นเวลายาวนาน ด้วยการจัดตั้งวางระบบโดยมีกฎเกณฑ์กติกาเช่นรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ที่มั่นคง ดังที่คนอเมริกันภูมิใจในสังคมของตนว่า มีหลักการแห่งการปกครองกันด้วยกฎกติกา คือ the rule of law นั้น สภาพปัญหาในปัจจุบันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ในขณะที่สังคมมีความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุและความก้าวหน้าต่างๆ ภายนอกนั้น ในจิตใจของคน กลับมีความเครียดความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวายมากขึ้น และบัดนี้สภาพขาดสันติภายในนี้ ได้รุนแรงมากถึงจุดที่ท่วมท้น จนทำนบหรือเขื่อนคือกฎกติกาที่เคยรักษาสันติภาพของสังคมไว้จะรักษาไม่อยู่ และทำนบหรือเขื่อนนั้นกำลังจะพังทลายลง

จะต้องพิจารณากันให้ดี และยอมรับกันตามเป็นจริงว่า ภาวะของสังคมอเมริกันเป็นอย่างที่กล่าวมานั้นหรือไม่ ถ้าหากเป็นอย่างนั้น ภาวะของสังคมอเมริกันในฐานะที่เป็นตัวแทน เป็นผู้นำ และเป็นแบบอย่างแห่งวิธีการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน ก็มิใช่คำตอบ แต่เป็นได้เพียงบทเรียน กับทั้งเป็นเครื่องเตือนสติให้รู้ตัวว่า วิถีแห่งการสร้างความเจริญก้าวหน้าในโลกปัจจุบัน ไม่อาจนำโลกไปสู่สันติภาพได้ จำเป็นจะต้องคิดหาและหันไปดำเนินการพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคมกันในแนวทางใหม่

แท้จริงนั้น คนอเมริกันเองก็รู้ตัวดีถึงภาวะง่อนแง่นเสื่อมโทรมแห่งสังคมของตน และคนอเมริกันที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบ ก็ห่วงกังวลต่ออนาคตของชาติและอารยธรรมของเขามาก ดังที่มีหนังสือและข้อเขียนต่างๆ ที่บรรยายสภาพปัญหา ขบคิดพิจารณาสถานการณ์ และเสนอข้อคิดเห็นในการหาทางออกต่างๆ อย่างเช่นหนังสือที่อ้างข้างต้นนั้น ตีพิมพ์กันออกมามากมาย แต่คนในสังคมอื่นอันห่างไกลจากเขาต่างหาก ที่มัวยึดติดในภาพบางอย่างที่ตัวสร้างไว้ให้แก่สังคมอเมริกัน แล้วตั้งความหวังที่เลื่อนลอยจากภาพที่ผิดพลาดนั้น โดยไม่รู้เท่าทันในความเป็นจริง

ถึงเวลาที่จะต้องตื่นขึ้นมาจากความหลับและความหลงใหล แล้วรับรู้ความเป็นจริง เพื่อชวนกันเดินหน้าไปในหนทางที่มีแสงสว่างแห่งปัญญา ซึ่งจะนำโลกมนุษย์ไปสู่สันติสุขได้แท้จริง

ในที่สุดนี้ขอย้ำถึงการย้อนกลับลงไปสู่จุดย่อยที่เล็กที่สุด คือจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า รากฐานของสังคมก็คือการศึกษาในครอบครัว ที่มีพ่อแม่เป็นผู้เริ่มต้น นี่คือหัวใจของชุมชน และนี่คือหน้าที่พื้นฐานที่พ่อแม่จะต้องทำ คือการเลี้ยงดูด้วยการช่วยให้ลูกศึกษาอย่างถูกต้อง โดยทำหน้าที่ตามบทบาทที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้ครบถ้วน คือ

๑. เป็นพระพรหม ผู้สร้างชีวิตของลูก ด้วยการแสดงโลกแก่ลูก โดยนำเสนอโลกนี้แก่ลูกอย่างถูกต้อง อันจะเป็นพื้นฐานสำหรับเตรียมลูกให้พร้อมที่จะเข้าสู่สังคม พร้อมกันนั้นก็เลี้ยงลูกด้วยคุณธรรมให้ครบ ๔ ประการ (พรหมวิหาร ๔) โดยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมนุษย์ด้วยกันอย่างสมดุลกับความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต
๒. เป็นบูรพาจารย์ ทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์คนแรก ผู้สอนความรู้พื้นฐานในการดำเนินชีวิต
๓. เป็นอาหุไนยบุคคล หรือพระอรหันต์ของลูก โดยมีความสุจริต บริสุทธิ์ใจต่อลูก และเป็นตัวอย่างในทางคุณธรรมความดี ควรแก่การเคารพบูชาของลูก

ถ้าพ่อแม่ทำได้อย่างนี้ ก็พูดได้ว่าชุมชนพื้นฐานของเราเข้มแข็ง เป็นที่มั่นใจได้ แต่เราได้เข้าสู่ทางกันหรือยัง สังคมตะวันตกเช่นอเมริกาเป็นบทเรียนให้แล้ว เราน่าจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ และรีบตื่นตัวขึ้นมา นำการศึกษาเข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง

สรุป

เป็นอันว่า เรื่องของปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกก็อิงอาศัยซึ่งกันและกันอย่างที่ว่ามานี้ เด็กอยู่ในชุมชนเล็กพื้นฐานคือครอบครัว พ่อแม่เป็นผู้เริ่มต้นที่จะช่วยให้ลูกศึกษา ด้วยการเลี้ยงดูเขาให้มีทัศนคติที่ดีงาม ให้เกิดปัญญารู้ความจริง เกิดเมตตา และมีเจตจำนงที่จะมาเป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมต่อไป เมื่อเขาเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น โดยมีปัญญารู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายที่สัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วทั้งหมดไม่มีพรมแดนไม่จำกัดแบ่งแยก อันเป็นความจริงที่สากลแล้ว ก็ทำให้มีจิตใจที่ไร้พรมแดนด้วย ปัญญาและจิตใจที่ไร้พรมแดน อันไม่จำกัดแบ่งแยกนั้น ก็จะทำให้มนุษย์สร้างชุมชนชนิดที่เชื่อมต่อกันเข้ามารวมและร่วมกันได้ สามารถสร้างสรรค์สังคมแห่งโลกที่มีสันติภาพได้อย่างแท้จริง

ที่พูดมานี้เป็นข้อคิดความเห็นซึ่งขอนำเสนอในวันนี้ บางอย่างอาจจะยังคลุมเครืออยู่บ้าง เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันยืดยาว เช่น เรื่องลัทธิบริโภคนิยมของมนุษย์นักเสพเป็นต้น อันเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมของเราจะต้องเอาใจใส่ให้มาก และเป็นเรื่องของการศึกษาโดยตรงที่จะต้องคิดแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไร จะแก้ที่จุดไหน

ข้อที่ควรย้ำไว้ก็คือ การศึกษาที่แท้จริงนั้นเป็นเรื่องของความเป็นไปตามธรรมชาติ และตั้งอยู่บนฐานของความจริงในธรรมชาติ เราจะวางหลักการศึกษาที่แท้ได้จะต้องเข้าถึงความจริงของธรรมชาตินี้ และเมื่อให้การศึกษาถูกต้อง มันก็เป็นกระบวนการที่เป็นไปเองตามเหตุปัจจัย

ต้องขอประทานอภัยที่ประชุมไปด้วย ที่ได้พูดย้อนไปย้อนมา ไม่ค่อยเป็นระบบ ถ้ามีส่วนที่เป็นประโยชน์ก็ขอถือว่าเป็นส่วนร่วมแห่งบุญกุศลในการที่เราได้มาร่วมกันดำเนินกิจกรรมครั้งนี้

บัดนี้เป็นเวลาที่สมควรแล้ว เรามาถึงจุดสุดท้ายของการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ขออนุโมทนาท่านผู้จัด ท่านผู้ดำเนินการประชุม พร้อมทั้งท่านผู้ร่วมประชุมทุกท่าน ซึ่งมีกุศลเจตนาที่จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงามดำเนินไปสู่จุดหมายที่ถูกต้อง คือความมีสันติภาพดังที่กล่าวแล้ว ทั้งสันติภาพภายใน และสันติภาพภายนอก

ขอให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ประสบสันติทั้งภายในตนเอง และร่วมกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคมของมวลมนุษย์ ขอให้ทุกท่านมีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังความสามัคคีพรั่งพร้อมที่จะทำการนี้ให้สำเร็จ โดยทั่วกันทุกท่าน

1สัมโมทนียกถาในการปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การศึกษาเพื่อสันติภาพ" ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๙
2Lynne V. Cheney, Telling the Truth (New York: Simon & Schuster, 1995), pp. 204-5.
3James Q. Wilson, “Crime,” What to Do About (New York: HarperCollins Publishers, Inc., 1995), pp. 285–6.
4James Patterson and Peter Kim, The Day America Told the Truth (New York: Penguin Books USA Inc., 1992), p. 125.
5Newt Gingrich, To Renew America (New York: HarperCollins Publishers, Inc., 1995), p.8.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง