เรื่องที่คนไทยควรเข้าใจให้ถูก

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เรื่องที่คนไทยควรเข้าใจให้ถูก1

- ๑ -
ไทยถือพุทธ ทำไมไม่เจริญ

ฝรั่งเจริญเพราะอะไร

มีผู้ถามว่า คนไทยนับถือพุทธศาสนาทำไมเมืองไทยจึงไม่พัฒนา อยู่ในสภาพอย่างนี้ แต่ฝรั่งนับถืออย่างอื่นกลับเจริญไปไกล

เรื่องนี้มีแง่พิจารณาหลายอย่าง ข้อสำคัญคือ หลักการใหญ่และลักษณะทั่วไปของพระพุทธศาสนาไม่มีการบังคับศรัทธา การนับถือเป็นไปโดยเสรี ให้ใช้ปัญญาพิจารณา โดยไม่ถูกผูกมัดด้วยข้อกำหนดตายตัวทั้งในด้านความเชื่อและการปฏิบัติ (อย่างที่ฝรั่งว่าพุทธศาสนาไม่มี dogma) คนจะเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้เพียงใดก็อยู่ที่การศึกษา หลักการและลักษณะนี้ ทำให้คนที่เรียกว่านับถือพระพุทธศาสนายังอาจจะอยู่ห่างไกลจากตัวจริงของพระพุทธศาสนามาก ระดับของคนที่นับถือก็ห่างกันได้มาก และชาวพุทธก็ยังอาจจะนับถืออะไรอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลมากยิ่งกว่าตัวพระพุทธศาสนาเอง เพราะฉะนั้น

ประการแรก ไม่ใช่ว่าคนไทยเราจะเข้าถึงแนวทางของพระพุทธศาสนากันทั้งหมดและทุกสมัย เราอาจจะพยายามเข้าถึงพุทธศาสนา และในบรรดาชาวไทยทั้งหมดนั้น บางส่วนอาจจะเข้าถึงบ้าง แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึง ในบางยุคสมัยคนอาจเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนามากหน่อย แต่บางยุคสมัยก็อาจจะเหินห่างมาก โดยเฉพาะ

ประการที่สอง เพราะไม่บังคับความเชื่อนี่แหละ คนไทยจึงไม่ได้นับถือเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อาจจะนับถือลัทธิศาสนาอย่างอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น ศาสนาพราหมณ์ ไสยศาสตร์ และลัทธิผีสางเทวดา ลัทธิความเชื่อเหล่านั้น จึงเข้ามามีอิทธิพลด้วย บางอย่างก็ถึงกับก้าวล่วงล้ำเข้ามาปะปนในพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ และก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปอยู่ใต้อิทธิพล จึงไม่ได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาเป็นปัจจัยหลักที่ชักนำชะตากรรมของสังคมไทยอย่างแท้จริง เรียกว่าคนไทยยังอยู่ใต้อิทธิพลของแนวความคิดและความเชื่ออย่างอื่นอีกมาก มองในทางกลับกัน อาจจะพูดใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาช่วยมาได้แค่นี้ หรืออาจจะตั้งคำถามใหม่ว่า ทำไมพระพุทธศาสนาจึงช่วยมาได้เพียงแค่นี้ และ

ประการที่สาม ยังมีองค์ประกอบและปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางลัทธิศาสนาหรือความเชื่ออีก เช่นปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมเป็นต้น

สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ดีมีสุขท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติแวดล้อม เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับปุถุชน หมายความว่า มนุษย์ปุถุชนจะดิ้นรนขวนขวายต่อเมื่อมีทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคาม ในแง่นี้จะเห็นได้ว่า ในอารยธรรมตะวันตกนั้น ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ความเจริญก็คือการถูกทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคาม กล่าวคือ ความขาดแคลนปัจจัยสี่และความบีบคั้นของภัยธรรมชาติ เช่นความหนาวเย็นที่รุนแรงถึงขนาดที่ว่าถ้าไม่ได้แก้ไขป้องกันแล้ว ชีวิตจะอยู่ไม่ได้

สำหรับเมืองไทยเรานี้เราอาจจะผัดผ่อนได้ เช่นว่า เอ้อ.. บ้านเราฝาผุแตก แต่เรายังไม่มีเวลา ยังไม่ซ่อมนะ เอาไว้เดือนหน้า พอถึงเดือนหน้าเราก็ผัดต่อไปอีก เอาไว้อีกเดือนหนึ่ง เดือนหน้าจึงจะซ่อม แล้วก็เดือนหน้าๆๆ จนกระทั่งครบปีก็ยังไม่ได้ซ่อม แต่ในประเทศฝรั่ง จะผัดเพี้ยนไม่ได้เลย อีกสองเดือนฤดูหนาวจะมา เดือนหน้าถ้าไม่ซ่อมจะหนาวตาย

ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและความขาดแคลนเนื่องจากธรรมชาติที่ไม่อุดมสมบูรณ์นี้เป็นอันตรายที่บีบคั้น ทำให้เขาไม่ประมาท หรือมัวประมาทอยู่ไม่ได้ คือจำเป็นต้องไม่ประมาท ต่างจากของเราที่สุขสบายอุดมสมบูรณ์ ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ไม่พัฒนาพอ ปัจจัยตัวเอื้อต่างๆ จะนำไปสู่ความประมาท เช่น ทำให้นอนเสพเสวยความสุข และชอบผัดเพี้ยนเรื่อยไป เดี๋ยวก็ได้ เมื่อโน้นก็ได้ เมื่อนี้ก็ได้ นี่ก็คือลัทธิแห่งความประมาทนั่นเอง

ตรงนี้แหละที่อาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ที่ทำหน้าที่สอนพระพุทธศาสนาจึงไม่ช่วยพัฒนาคนไทยให้พ้นจากลัทธิแห่งความประมาทนี้ไปได้

นอกจากนั้น ยังมีความบีบคั้นทางอื่นอีก โดยเฉพาะทางจิตใจ และทางปัญญา สังคมตะวันตกนั้นเป็นสังคมที่ผ่านประวัติแห่งการบีบคั้นทางปัญญามาอย่างมาก พวกเราก็เรียนประวัติศาสตร์กันมา อย่างในสมัยกลางของยุโรป ศาสนาคริสต์มีอำนาจครอบงำยุโรปทั้งทวีป โดยมีวาติกันเป็นศูนย์กลาง โป๊ป (Pope) ที่แปลว่าสันตะปาปา เป็นผู้สวมมงกุฏให้กษัตริย์ของประเทศทั้งหลายทั่วไปหมด ฉะนั้น ถ้ามีกษัตริย์องค์ไหนเกิดเรื่องขัดแย้งไม่เชื่อฟัง โป๊ปสามารถสั่งลงโทษ เช่น เมื่อปี ๑๖๑๙ (ค.ศ. 1076) โป๊ป เกรกอรี ที่ ๗ (Pope Gregory VII) สั่งลงโทษคว่ำบาตรพระเจ้าเฮนรีที่ ๔ (Henry IV) กษัตริย์เยอรมันและเป็นจักรพรรดิโรมันด้วย พระเจ้าเฮนรีที่ ๔ ต้องเดินทางข้ามเทือกเขาแอลป์ (Alps) มาขอขมาโทษโป๊ป และต้องยืนพระบาทเปล่าหนาวสั่นและอดอาหารอยู่กลางหิมะ ๓ วัน โป๊ปจึงยกโทษให้

ในยุคนั้น คำสอนในศาสนาคริสต์ ใครจะเถียงไม่ได้ สงสัยไม่ได้ สงสัยพระเจ้าไม่ได้ ถ้าพูดขึ้นมาทำนองนี้นิดหน่อยก็ถูกจับขึ้นศาล ซึ่งทางองค์กรศาสนาคริสต์และบ้านเมืองได้ร่วมกันตั้งขึ้น เรียกว่า Inquisition แปลว่า ศาลไต่สวนศรัทธา ไม่ว่าจะสงสัยในองค์พระเจ้าหรือสงสัยคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิล (Bible) ก็จับขึ้นศาลได้เลย และถ้าไม่ละความเชื่อหรือความสงสัยนั้น ก็ถูกเผาทั้งเป็น ศาลนี้มีอยู่รวม ๖๐๐ ปี โดยเฉพาะในประเทศสเปน ช่วง ๑๑ ปีแรก คนถูกเผาตายราว ๒,๐๐๐ คน2

กาลิเลโอ (Galileo) นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญในประวัติศาสตร์ก็โดนด้วย เพราะเขาไปสอนเรื่องว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล แต่พระอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง เท่านี้แหละถือว่าขัดแย้งกับคำสอนในพระคัมภีร์ ถูกจับขึ้นศาลเลย แล้วก็ถูกตัดสินจะให้ดื่มยาพิษ แต่กาลิเลโอยอมบอกว่า ตัวเองหลงผิดไป ก็เลยรอด ได้รับการลดโทษลงมาเพียงให้ขังตัวอยู่แต่ในบ้านรวม ๘ ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1633 จนตายเมื่อ ค.ศ. 1642

แต่ย้อนไปก่อนกาลิเลโอตาย ๔๒ ปี คือ ในปี 1600 นักปราชญ์ฝรั่งชื่อบรูโน (Bruno) ก็ถูกลงโทษด้วยความผิดคล้ายกัน คือ บรูโนมีความเห็นขัดแย้งกับความเชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลก เขาสอนว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล และสอนว่าเอกภพไม่มีที่สิ้นสุด บรูโนถูกจับขึ้นศาลไต่สวนศรัทธา (Inquisition) และถูกตัดสินให้ถอนความเห็น แต่เขาไม่ยอมสละความคิดของตน จึงถูกโป๊ปคลีเมนต์ที่ ๘ (Pope Clement VIII) พิพากษาว่าเป็นคนนอกรีต (heretic) และให้ประหารชีวิตด้วยการยัดปากและเผาทั้งเป็น

กรณีของกาลิเลโอและบรูโน ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่ศาสนาคริสต์บีบคั้นปิดกั้นทำให้คนไม่สามารถใช้ความคิดเหตุผลสงสัยถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับความจริงของโลกและชีวิต แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นยิ่งบีบก็ยิ่งดิ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์พวกหนึ่ง อย่างพวกกาลิเลโอนี้ ก็ยิ่งรวมตัวกันแสวงปัญญา ถกเถียงหาความรู้ ทำให้เกิดการพัฒนาทางปัญญา

รวมความว่า ในตะวันตกยุคก่อนโน้น การดิ้นรนเพื่อจะให้พ้นจากการบีบคั้นทางความคิดความเชื่อ ทำให้เกิดการใฝ่แสวงปัญญา ต่างจากในสังคมของเราที่ไม่มีการบีบคั้นทางปัญญา เลยเกิดภาวะเรื่อยเปื่อย ใครจะคิดอย่างไร ใครจะสงสัยอะไร ก็ไม่ว่า ก็ปล่อย เลยขี้เกียจคิดขี้เกียจพูด พูดไปก็ไม่เห็นใครสนใจ มีคนมาฟังไม่กี่คน แต่ฝรั่งเขาไม่อย่างนั้น พอพูดแสดงความสงสัย เขาจับเลย กลายเป็นการกระตุ้นเร้าให้พวกที่อยากรู้ยิ่งอยากมาฟัง ยิ่งลักลอบทำเป็นการลับก็ยิ่งเอาจริงเอาจัง เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งแสวงปัญญากันจริงจังยาวนานจนกระทั่งเกิดเป็นนิสัยใฝ่รู้ขึ้น

จากการดิ้นรนให้พ้นจากการบีบคั้นทางปัญญานี่แหละ ในที่สุดก็มาผุดโพล่งออก เกิดเป็นยุคคืนชีพ (Renaissance) และตามมาด้วยยุคปฏิรูป (Reformation) การฟื้นฟูทางปัญญาจึงเกิดขึ้นในยุโรป เพราะการถูกบีบคั้น จึงทำให้ฝรั่งมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายอย่างรุนแรง ต่างจากของเราที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็อยู่กันมาเรื่อยๆ สบายๆ จนจะมีนิสัยผัดเพี้ยน ปล่อยปละละเลย เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา ตกอยู่ในความประมาท

พูดได้ว่า ถ้าเราไม่พัฒนาคนให้ดีพอ คือไม่สามารถทำให้คนอยู่ด้วยความไม่ประมาทที่แท้ ตามหลักของพระพุทธเจ้า สังคมไทยจะเจริญในทางสร้างสรรค์ได้ยาก เพราะเราไม่มีทั้งสภาพโหดร้ายรุนแรงของธรรมชาติ และไม่มีประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่บีบคั้นทางปัญญา หรือการบังคับความเชื่ออย่างในเมืองฝรั่ง

ความไม่ประมาทที่แท้ ก็คือ การเร่งรัดแก้ไข ป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญด้วยสติปัญญา ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาคนให้อยู่ด้วยความไม่ประมาทที่แท้ คนก็จะตกไปอยู่ใต้อำนาจกิเลสของปุถุชน คือ ต้องมีทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคามจึงจะดิ้นรนขวนขวาย เมื่อไรสุขสบายประสบความสำเร็จก็จะนอนหรือนิ่งเฉยเฉื่อยชา และมัวเมาหลงเพลิดเพลินในความสุข แล้วก็จะผัดผ่อนอะไรต่างๆ ไปเรื่อยๆ ยิ่งเรามาใช้สันโดษในความหมายว่า พอใจในสิ่งที่มีอยู่ จะได้สบายมีความสุข ก็ไปกันได้ดีเลย นี้ก็คือลัทธิแห่งความประมาทนั่นเอง

จะต้องสอนย้ำกันว่า ถ้าผู้ใดสันโดษในกุศลธรรม ผู้นั้นก็เป็นคนประมาท พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้สันโดษในกุศลธรรม คือการสร้างสรรค์บำเพ็ญกิจกรณีย์สิ่งที่ดีงาม พระองค์สอนให้สันโดษในวัตถุสิ่งเสพเท่านั้น เพราะถ้าคนไม่สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ มัวแต่วุ่นวายหาความสุขมาบำรุงบำเรอตัวเอง เขาจะเอาเวลา แรงงาน และความคิดที่ไหนมาใส่ใจทำหน้าที่กิจการงานและสร้างสรรค์ความดีงาม แต่ถ้าเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ เราก็มีเวลาแรงงานและความคิดเหลือเฟือที่จะเอาไปทุ่มอุทิศให้แก่การทำหน้าที่การงานและการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

ถ้าเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ พร้อมกับไม่สันโดษในกุศลธรรมตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็จะเกิดความเจริญในทางสร้างสรรค์อย่างแน่นอน แต่นี่คนไทยอยู่สุขสบายแล้วยังแถมสันโดษในกุศลธรรมอีกด้วย ก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ไม่เร่งรัดตัวเอง กลายเป็นคนปล่อยปละละเลย เฉื่อยชา

เป็นอันว่า สังคมตะวันตกนี่ดีอย่าง ที่เขามีตัวเร่งทำให้คนไม่ประมาท ทั้งโดยธรรมชาติแวดล้อมที่ทารุณ และโดยการบีบคั้นกันเองในหมู่มนุษย์ เข้าหลักที่ว่าคนถูกทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคามจึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย

ถูกบีบจึงเร่งพัฒนา เรียกว่าไม่ประมาทอย่างเทียม

ยิ่งกว่านั้น ฝรั่งยังมีทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคามที่มนุษย์สร้างขึ้นเองซ้อนเข้าไปอีก จึงยิ่งทำให้เขาดิ้นรนขวนขวายสร้างสรรค์พัฒนาในความหมายแบบของเขามากยิ่งขึ้น อาจจะพูดได้ว่า ฝรั่งคุ้นเคยหรือชินมากับระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามนี้กระทั่งเขาพัฒนามันขึ้นมาเป็นวิถีชีวิตในสังคมของเขา หรือเป็นวัฒนธรรมของเขาเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่า ในยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองที่ผ่านมานี้เขาใช้ระบบแข่งขัน โดยเฉพาะคนอเมริกันนั้นถือการแข่งขัน (competition) เป็นหัวใจของการสร้างความเจริญ โดยที่เขาเชิดชูลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) ซึ่งแสดงออกมาเด่นทางด้านการแข่งขัน รวมทั้งวิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน

การแข่งขันนี้ อเมริกันถือว่าขาดไม่ได้ในการสร้างความเจริญ แต่การแข่งขันนั้น มองในแง่ของธรรม ก็คือการที่คนมาบีบคั้นกันเองให้นิ่งเฉยเฉื่อยชาอยู่ไม่ได้ เพราะระบบแข่งขันนั้น คือลัทธิตัวใครตัวมัน ใครดีใครได้ ใครแข็งก็อยู่ ใครอ่อนก็ไป ถ้าใครไม่ดิ้นรนไม่ขวนขวาย คนนั้นก็ตาย ไม่มีใครช่วย ฉะนั้น ต้องพึ่งตัว ต้องดิ้นรนขวนขวายเอาเอง จึงเท่ากับมีภัยคุกคามทำให้ต้องดิ้นอยู่ตลอดเวลา เขาจึงสร้างสรรค์ความเจริญมาได้ ระบบแข่งขันก็ดีตรงนี้ คือดีสำหรับมนุษย์ที่ยังมีกิเลส ซึ่งไม่สามารถที่จะไม่ประมาทด้วยสติปัญญา จึงเรียกระบบแข่งขันนี้ว่าระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์

อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าต้องการให้เราพัฒนาคนให้ไม่ประมาทด้วยสติปัญญา คือ โดยที่มีสติตามระลึกเท่าทัน ตื่นตัวต่อเหตุการณ์ มีอะไรเกิดขึ้นเป็นไปที่จะมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อพระศาสนา ก็ไม่นิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่ปล่อยปละละเลย แต่จับเอามาตรวจมาดูว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว จะมีผลดี หรือผลร้าย ถ้าจะเป็นผลเสีย จะก่อให้เกิดความเสื่อม ก็รีบแก้ไขป้องกัน อันไหนจะทำให้เกิดความเจริญก็รีบจัดรีบทำ

สติทำหน้าที่ คอยระลึก คอยนึก คอยจับเอามาดูอยู่เรื่อย ปัญญาก็พิจารณาวิเคราะห์เรื่องราวและสืบสาวหาเหตุปัจจัย หาเหตุหาผล แล้วก็ทำไปตามเหตุปัจจัยนั้น โดยไม่ต้องรอให้มีทุกข์มาบีบคั้นหรือภัยมาคุกคาม ถ้าเราอยู่ได้อย่างนี้ เรียกว่าอยู่ด้วยความไม่ประมาท คือไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามจึงมาเร่ง

แต่ทีนี้มนุษย์เราทั่วๆ ไป ทำได้ไหมถึงขนาดนี้ เท่าที่เห็นกันอยู่ โดยมากก็จะอยู่ในวงจรของปุถุชนที่ว่า พอมีสุข สำเร็จ ได้ดีแล้ว ก็นอนเสวยผล ลุ่มหลงเพลิดเพลิน มัวเมา เฉื่อยชา ผัดผ่อน พอถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายกันที ฉะนั้น มนุษย์ก็เลยหนีไม่พ้นจากวงจรของความเสื่อมและความเจริญ

พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักความไม่ประมาทไว้โดยทรงเน้นว่า เป็นหลักธรรมสำคัญที่สุด ทั้งเปรียบกับรอยเท้าช้าง และเป็นปัจฉิมวาจา จึงเป็นตัวคุมทั้งหมด

ปฏิบัติธรรมไปอย่างไรๆ ในที่สุดก็มาจนที่ตรงนี้ คือ หลักธรรมต่างๆ นั้นมีไว้มากมาย เพื่อช่วยคนให้พ้นความชั่ว มาสู่ความดี ท่านอุตส่าห์สอนธรรมมามากมายให้คนปฏิบัติจนพ้นจากความชั่วมาสู่ความดี แต่พอคนนั้นมาสู่ความดีแล้ว เจริญแล้ว สำเร็จแล้ว หรือมีความสุขแล้ว ก็มาตกหลุมแห่งความประมาทเสีย คือ ยินดี พอใจ เพลิดเพลิน เลยหยุดเพียร พักผ่อน นอนเสวยผล กลายเป็นนิ่งเฉยเฉื่อยชา หรือนอนใจ

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนความไม่ประมาทควบไว้อีกที เพื่อให้คนที่ปฏิบัติธรรม เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ดีแล้ว สุขแล้ว จะได้ไม่ตกหลุม จะได้ไม่เสื่อมลงอีก ท่านเอาความไม่ประมาทมารั้งท้าย คุมไว้อีกที ฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงเป็นธรรมสำคัญอย่างยิ่ง แต่มีปัญหาว่า มนุษย์จะพัฒนาไปถึงจุดนี้ได้หรือไม่

นี่คือบทพิสูจน์มนุษยชาติ ว่ามนุษย์เรานี้โดยส่วนรวมที่เรียกว่าสังคม จะสามารถพัฒนาไปถึงขั้นนี้ได้ไหม คือขั้นที่อยู่ได้ด้วยความไม่ประมาท สามารถสร้างสรรค์ความเจริญขึ้นมา แล้วรักษาความเจริญนั้นไว้ได้ และทำให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปโดยไม่เสื่อม ด้วยความไม่ประมาท หรือจะต้องตกอยู่ใต้วงจรของการที่ว่า ต้องถูกทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคาม จึงดิ้นรนขวนขวาย แล้วเมื่อประสบความสำเร็จ สุขแล้ว ดีแล้ว ก็หลงมัวเมาเพลิดเพลินผัดเพี้ยนมัวเสวยผล นอนใจ แล้วก็เสื่อมอีก เลยต้องใช้ระบบแข่งขันที่เป็นระบบกิเลสมาบีบคั้นแทน

เป็นอันว่า ฝรั่งใช้กิเลสของมนุษย์มาเป็นอุปกรณ์สร้างระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ คือการแข่งขันขึ้นมา แล้วการแข่งขันนั้นก็เป็นตัวเร่งตัวบีบคั้นให้ทุกคนดิ้นรนขวนขวายช่วยตัวเอง พร้อมกันนั้นก็ให้มีปัจจัยตัวอื่นในสังคมมนุษย์มาหนุนอีก เช่น การไม่ช่วยเหลือกัน การอยู่แบบตัวใครตัวมัน และเอาหลักการของสังคมตลอดจนกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ มาบีบมากำกับ ถ้าใครไม่ทำ กฎหมายกฎเกณฑ์กติกาจะบีบให้แย่เอง ทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเอง ก็เลยต้องดิ้นรนขวนขวายตลอดเวลา

ฉะนั้น ในแง่นี้ ถ้าเราไม่สามารถสร้างความไม่ประมาทที่แท้ขึ้นมา คือ ไม่สามารถพัฒนาคนให้มีความไม่ประมาทที่แท้ได้ การใช้ระบบแข่งขันก็อาจจะดีกว่าที่จะปล่อยคนไทยไว้อย่างนี้ เพราะมันจะบีบเค้นให้คนไม่ประมาท แม้ว่าจะเป็นความไม่ประมาทอย่างเทียมด้วยแรงบีบก็ตาม ขอให้พิจารณาว่าระหว่างการบีบให้ดิ้น กับปล่อยให้ประมาท อย่างไหนจะดีกว่ากัน ขอให้เลือกว่าจะเอาอย่างไหน

ไทยสบายแล้วมัวประมาท
ฝรั่งขาดปัญญาก็เจริญไม่ตลอด

อย่างไรก็ตาม จะต้องรู้ตระหนักไว้ว่า ระบบแข่งขัน ที่อาศัยกิเลสมนุษย์ เป็นระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ไม่ใช่ความไม่ประมาทที่แท้จริงนี้ มีผลเสียมาก เพราะมันเป็นระบบที่เอากิเลสของมนุษย์มาปลุกเร้า และเป็นไปเพื่อสนองกิเลส คือ ทุกคนดิ้นรนเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ดิ้นรนเร่งทำเพื่อให้ตัวรอด เพื่อให้ตัวอยู่ดี เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น จึงพยายามกอบโกยเอาเปรียบให้ได้มากที่สุด จึงต้องตั้งกติกากันขึ้น เพื่อจะมากีดกั้นป้องกันไม่ให้รุกล้ำสิทธิ์กัน

สังคมตะวันตกเป็นอย่างนี้ คือ ในแง่หนึ่งเขาสนับสนุนความเห็นแก่ตัว และพร้อมกันนั้นเขาก็สร้างกติกากฎหมายและหลักการต่างๆ ของสังคมขึ้นมาเพื่อป้องกันการรุกล้ำสิทธิ์กัน การพัฒนาในทิศทางนี้จึงได้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน (human rights) ที่ตะวันตกเขาภูมิใจนักหนา สิทธิมนุษยชนเกิดมีขึ้นเพราะสังคมตะวันตกเป็นมาอย่างนี้ ทั้งนี้รวมทั้งกฎเกณฑ์กติกา และกฎหมายต่างๆ ซึ่งตะวันตกชำนาญมาก

แม้ว่าสังคมตะวันตกจะใช้ระบบแข่งขัน ซึ่งเป็นระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามแบบประดิษฐ์ ของมนุษย์เอง มาเร่งรัดคนให้กระตือรือร้นขวนขวาย มีความไม่ประมาทชนิดเทียมแล้วสร้างความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ แต่มันก็มีผลร้ายในเบื้องปลาย คือ ทำให้คนมุ่งที่จะเอาแต่ตัวเองรอด เพื่อความอยู่ดีมีความสุขสมบูรณ์ของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น และไม่คำนึงถึงธรรมชาติแวดล้อม

ในที่สุด เมื่อแต่ละคนมุ่งหาประโยชน์ส่วนตน สังคมก็มากไปด้วยการเบียดเบียนกัน และธรรมชาติแวดล้อมก็เสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหรอ ฉะนั้น ระบบแข่งขันจึงไม่ปลอดภัย และโดยนัยนี้ ระบบที่ดีที่สุด จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นระบบแห่งความไม่ประมาทที่แท้ ซึ่งเป็นไปด้วยสติปัญญา

เมื่อเราใช้สติปัญญาแล้ว มันก็คลุมหมด ปิดช่องเสียไม่ให้มี มีแต่ส่วนที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราทำอย่างไรจะพัฒนาคนให้อยู่ด้วยธรรม คือความไม่ประมาทนี้ได้ และการพัฒนาคนให้ถึงขั้นที่อยู่ด้วยความไม่ประมาทแท้ด้วยสติปัญญานี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่

อย่างน้อยที่เห็นอยู่ คือ ในสังคมไทยนี่เอง ที่มีพระพุทธศาสนาซึ่งสอนหลักความไม่ประมาท แต่คนดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความประมาท และยิ่งกว่านั้น น่าสังเกตว่า เราไม่ค่อยสอนกันด้วยในเรื่องความไม่ประมาทนี้

ตามหลักความไม่ประมาท สิ่งที่เราจะต้องทำให้ได้ก็คือ

๑. ทำให้คนเจริญงอกงามอยู่ในความดีงาม มีความร่มเย็นเป็นสุข

๒. เมื่อดีงาม ร่มเย็นเป็นสุขแล้วให้ไม่ประมาท เร่งสร้างสรรค์เพื่อให้เจริญก้าวหน้าต่อไป โดยไม่ผัดเพี้ยน ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่เพลิดเพลินมัวเมาตกหลุมความประมาท

เมื่อสำรวจตรวจดูสภาพสังคม จุดอ่อนของสังคมไทยน่าจะได้แก่ความประมาท คนไทยเรานี้ประสบความสำเร็จพอสมควรในการดำรงอยู่ด้วยดี สังคมของเรามีความร่มเย็นเป็นสุข แต่แล้วก็เฉื่อยชาเพราะว่าไม่เอาหลักความไม่ประมาทมาใช้ คนไทยไม่ค่อยเห็นความสำคัญของหลักความไม่ประมาทเลย ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้นักหนา ไม่รู้กี่แห่ง

จะดูคนว่าพัฒนาหรือไม่ก็ดูได้ที่ความไม่ประมาทนี่แหละ ถ้าคนไหนสังคมใดทั้งที่สุขสบายก็ยังไม่ประมาท ก็แสดงว่าเป็นคนและเป็นสังคมที่พัฒนาจริง ส่วนคนหรือสังคมที่มีความทุกข์มีภัยแล้วไม่เฉื่อยชาประมาทนั้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องธรรมดา เพราะถูกกดถูกบีบจึงต้องดิ้น แต่คนที่สุขสบายแล้วยังขวนขวายสร้างสรรค์ ท่านจึงยอมรับว่า เป็นผู้ประเสริฐจริง

ความไม่ประมาทเป็นเหมือนกับรอยเท้าช้าง ธรรมทุกอย่างรวมลงได้ในความไม่ประมาททั้งหมด เหมือนรอยเท้าสัตว์บกทุกชนิดรวมลงได้ในรอยเท้าช้าง ธรรมทั้งหลายมากมายจะกี่อย่างก็ตาม ไม่ว่าเราจะเรียนจะรู้จะจำมาเท่าไร ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้รับการปฏิบัติ แต่ในทางตรงข้าม ธรรมกี่อย่างก็ตาม แม้เรียนเพียงน้อยข้อ แต่ถ้าไม่ประมาทเสียอย่างเดียว มีกี่ข้อก็ได้รับการปฏิบัติทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นความสำคัญของความไม่ประมาท

รวมความว่า ความไม่ประมาทเป็นบทพิสูจน์การพัฒนามนุษยชาติ ว่ามนุษย์จะไปรอดไหมโดยสังคมส่วนรวม

เป็นอันว่า ตอนนี้ ถ้าเทียบกันในแง่นี้ สังคมตะวันตกอยู่ด้วยความไม่ประมาทเทียมตามระบบแข่งขัน ที่ทำให้สร้างความเจริญทางวัตถุได้สำเร็จผลอย่างดี ส่วนสังคมไทยของเรา ได้ประสบความสำเร็จในความดีงามอยู่สุขสบายพอสมควร แต่ตกหลุมความประมาท อาจจะเป็นอย่างนี้ ขอตั้งสมมุติฐานหรือข้อสังเกตให้ไปพิจารณากัน

สรุปจุดเน้นตอนนี้ว่า เกณฑ์วัดการพัฒนามนุษย์คือ สำหรับมนุษย์ที่ยังไม่พัฒนา ต้องบีบเค้นจุดไฟลนจึงจะไม่ประมาท (ไม่ประมาทเทียม) สำหรับมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว ใช้สติปัญญาเร่งรัดตัวเองได้ จึงไม่ประมาท (ไม่ประมาทแท้)

เวลานี้ฝรั่ง โดยเฉพาะอเมริกัน ก็ยังหาทางออกไม่ได้ เขายังไม่เห็นต้นตอของปัญหา หรือยังไม่เห็นโทษภัยแห่งฐานความคิดความเชื่อของตนด้วยซ้ำ เขายังคิดว่า ระบบแข่งขัน (competition) เท่านั้นที่จะทำให้เกิดความเจริญ ตอนนี้สังคมอเมริกันเสื่อมลง เขาก็บอกว่า เป็นเพราะอเมริกันสูญเสียความพร้อมและความสามารถในการแข่งขัน แสดงว่าอเมริกันนี่ยังคิดอยู่ในแง่ของตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น เพราะถือว่าตนประสบความสำเร็จมาด้วยการแข่งขัน

เวลานี้ พอตัวเองเสื่อมลง ก็มองได้แค่ว่าเป็นเพราะคนของตนสูญเสีย competitiveness คือความพร้อมที่จะแข่งขัน หรือคุณสมบัติในการแข่งขัน หมายความว่า คนอเมริกันในยุคปัจจุบัน ไม่มีคุณสมบัติในการแข่งขัน เช่น ขาดจริยธรรมการทำงาน (work ethic) ขาดสันโดษ ไม่ขยันหมั่นเพียร เป็นคนสำรวยหยิบโหย่ง เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็เลยบอกว่าเราจะต้องแก้ไขกู้ฐานะความเป็นผู้นำ และความยิ่งใหญ่กลับมา ด้วยการที่จะต้องทำให้คนอเมริกันกลับมีความพร้อมที่จะแข่งขัน (competitiveness) ก็ได้แค่นี้แหละ วนเวียนอยู่แค่การถือว่าตนจะฟื้นตัวได้ก็ต้องให้แข่งขัน (competition) เก่ง

ที่จริง สาระความเจริญของอเมริกาก็อยู่ที่ว่าในอดีตตัวเองถูกบีบคั้นคุกคามมาทุกด้าน ทั้งด้านธรรมชาติที่ทารุณขาดแคลน ทั้งด้านชีวิตแห่งการบุกฝ่าพรมแดน รวมทั้งสงครามกับอินเดียนแดง ทั้งด้านวิถีชีวิตในสังคมแห่งการแข่งขัน รวมทั้งลัทธิตัวใครตัวมัน (ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเก่าแก่ คือความบีบคั้นด้านศาสนา) ก็จึงดิ้นรนขวนขวายขยันสู้ แต่เวลานี้สังคมอเมริกันได้รับผลของความขยันหมั่นเพียรเปลี่ยนเป็นพรั่งพร้อมสุขสบาย ก็เลยเข้าวงจรปุถุชนที่ว่าพอสุขสบายก็ฟุ้งเฟ้อมัวเมาเริ่มจะเฉื่อยชาประมาท คนอเมริกันก็ได้แต่หวังให้การแข่งขันมาบีบเร่งคนของตัวต่อไปอีก

ในเวทีโลกเวลานี้จะเห็นได้ชัดว่า มีคำว่าแข่งขันนี้ใช้ทั่วไปหมด โดยเฉพาะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เวลานี้ถือกันว่าโลกเป็นเวทีของการแข่งขัน ประเทศชาติต่างๆ ก็คิดถึงแต่การที่จะแข่งขันกัน เมืองไทยเราก็พลอยรับเอาลัทธินี้เข้ามาด้วย และพูดกันเกร่อถึงการพยายามแข่งขันให้สู้เขาได้ เมื่อมองในแง่นี้ก็เป็นการเอาแต่ตัวของแต่ละประเทศ

แต่ในการแก้ปัญหาของโลก ระบบการแข่งขันแบบนี้ไม่มีทางแก้ปัญหาได้สำเร็จ มีแต่จะทำให้โลกพินาศ เพราะในที่สุด มันจะกลับมาซ้ำเติมปัญหาที่ว่ามาทั้งหมด เช่นทำให้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมแก้ไม่ได้ เพราะว่าเมื่อต่างคนต่างแข่งขันหาผลประโยชน์ หรือว่าต่างคนต่างคิดแบ่งแยกกัน มันก็แก้ไม่ได้ มนุษย์จึงมาถึงจุดติดตัน

ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้มองเห็นปัญหาโทษภัยของแนวความคิดบางอย่าง แต่เขาก็หนีไม่พ้นจากแนวความคิดนั้นเองอีกด้านหนึ่งที่มองไม่เห็น เหมือนอย่างอเมริกันที่มองเห็นว่า ความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติผิด แต่ก็มองไม่ออกว่าจะหาทางออกอื่นได้อย่างไร ก็ต้องมาใช้วิธีการสร้างความเจริญด้วยการแข่งขัน (competition) อีก ซึ่งก็อยู่ในลัทธิเดียวกัน คือการหาผลประโยชน์ด้วยการทำลายธรรมชาติ ก็วนไปวนมา เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าติดตัน

พระพุทธศาสนานี้มีคำตอบให้อย่างแน่นอน ยกตัวอย่างจริยธรรมก็เช่นเดียวกัน จริยธรรมตะวันตกที่พูดเมื่อกี้ ก็มาติดตันที่จริยธรรมแห่งการจำใจ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ถ้ามนุษย์จะสุขที่สุด ธรรมชาติต้องพินาศ และมนุษย์ก็พินาศด้วย แต่ถ้ายอมให้ธรรมชาติอยู่ มนุษย์ก็ไม่สามารถสุขที่สุด แต่ก็จำเป็นต้องประนีประนอมด้วยการยอมให้ธรรมชาติอยู่ได้โดยมนุษย์ยอมอดยอมขาดความสุขบ้าง ซึ่งก็คือจะต้องอยู่ด้วยความจำใจ เพราะฉะนั้น เวลานี้แม้เขาจะให้ความสำคัญแก่จริยธรรม แต่ก็ได้แค่จริยธรรมแห่งความจำใจด้วยการประนีประนอม

เมื่อขัดแย้ง จำใจ จึงเจริญได้ไม่ยั่งยืน
พระพุทธศาสนาบอกทางออกให้

จากภูมิหลังในประวัติศาสร์ จริยธรรมตะวันตกเป็นจริยธรรมแบบเทวบัญชา แล้วต่อมาก็เป็นจริยธรรมที่ถือว่ามนุษย์ปรุงแต่งสมมุติกันขึ้นเอง ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ครั้นถึงปัจจุบันนี้เมื่อมาประสบปัญหาทางจิตใจและทางสังคม ก็เริ่มเห็นความสำคัญของจริยธรรมขึ้นมาอีก แต่ก็ยังไม่มากนัก จนกระทั่งมาประสบปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเข้า ฝรั่งจึงได้หวนกลับไปให้ความสำคัญแก่จริยธรรมอย่างเต็มที่

เวลานี้ จริยธรรม คือ ethics จึงได้กลับมามีความสำคัญมากในสังคมตะวันตก เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งทำให้เกิดมีจริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) ซึ่งก็เป็นจริยธรรมแห่งความจำใจอยู่นั่นเอง เช่นบอกว่า มนุษย์ต้องมี restraint (ตรงกับ สังวร หรือ สัญญมะ) คือ ต้องมีการควบคุมยับยั้งตนเองในการที่จะปฏิบัติต่อธรรมชาติ โดยไม่เอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ตามใจชอบ เป็นต้น

ในเวลาเดียวกัน จริยธรรมก็ฟื้นฟู เฟื่องขึ้น ในด้านอื่นๆ ทางฝ่ายสังคมด้วย อย่างในมหาวิทยาลัยต่างๆ เวลานี้ก็มีการกลับมาศึกษาจริยธรรม เช่นมีจริยธรรมธุรกิจ (business ethics) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ทำอย่างไรจะดำเนินธุรกิจโดยไม่ส่งผลให้เกิดการทำลายสภาพแวดล้อม เพราะการแข่งขันกันมากในทางธุรกิจ จะทำให้ทุกคนต่างก็หาผลประโยชน์ แล้วก็ลงท้ายด้วยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฉะนั้น จริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) จึงมีอิทธิพลออกไปจนถึงวงการทางสังคม ทำให้การศึกษาในมหาวิทยาลัยเกิดมีจริยธรรมธุรกิจ (business ethics) ขึ้นด้วย จริยธรรมก็กลับฟื้นฟูมีความสำคัญขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อจริยธรรมของตะวันตกเป็นจริยธรรมแบบจำใจ ฝืนใจ มันก็ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไม่มีหลักประกัน เพราะเมื่อมนุษย์ฝืนใจก็ทุกข์ จึงคอยหาทางเลี่ยงจริยธรรมแบบที่ว่าตลอดเวลา ฉะนั้น จึงบอกว่าติดตันไม่มีทางออก

ส่วนจริยธรรมของพระพุทธศาสนานั้น ไม่เป็นจริยธรรมแห่งการประนีประนอม ไม่ใช่จริยธรรมแบบที่ว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องยอมเสียบ้าง เพื่อต่างก็ได้บ้างด้วยกัน แต่เป็นจริยธรรมที่ต่างก็ประสานประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งในที่สุดจะทำให้องค์ประกอบทั้ง ๓ ส่วนในอารยธรรมของมนุษยชาติอยู่ร่วมกันและเจริญงอกงามไปด้วยกันได้ด้วยดี คือ

๑. ชีวิตมนุษย์

๒. สังคม และ

๓. สิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ องค์ประกอบทั้งสามตกอยู่ในกระบวนการพัฒนาของมนุษย์ ที่เรียกว่า unsustainable คือเป็นวิธีการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ของทั้งสามอย่างขัดแย้งกันไปหมด คือ ถ้าบุคคลได้ สังคมก็สูญเสีย ถ้าจะให้สังคมได้ บุคคลต้องยอมสละ ดังนั้น เพื่อบุคคล สังคมต้องยอมเสีย หรือเพื่อสังคม บุคคลต้องยอมเสีย ต่อมาระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ได้ ธรรมชาติก็สูญเสีย ถ้าธรรมชาติได้ มนุษย์ก็สูญเสีย ขัดกันหมด ระบบนี้จึงนำมาซึ่งจริยธรรมแบบจำใจ

ที่นี้ในทางพุทธศาสนานั้น เราบอกว่า คนนี้พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาคนแล้ว ทุกอย่างที่เกี่ยวกับคนจะเปลี่ยนไป พอคนเปลี่ยนไปแล้ว เราจะทำให้สามอย่างนี้มาประสานประโยชน์กัน จนกระทั่งกลายเป็นว่า บุคคลได้ ก็ดีแก่สังคมด้วย สังคมได้ ก็ดีแก่บุคคลด้วย มนุษย์ได้ ก็ดีแก่ธรรมชาติด้วย ธรรมชาติได้ ก็ดีแก่มนุษย์ด้วย การพัฒนาจะต้องมาถึงจุดนี้ จึงจะเป็น sustainable ที่แปลกันว่ายั่งยืน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามนุษย์จะทำได้ไหม

ถ้ามองในแง่ของปรัชญาตะวันตกตอนนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) นั้นเห็นว่าไม่มีทาง ตันหมด เพราะแนวคิดของเขาแฝงความขัดแย้งไว้ตลอดหมดทั้งสาย และมาลงที่จริยธรรมแห่งความจำใจ ซึ่งเป็นไปตามแนวความคิดที่เริ่มตั้งแต่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และให้มนุษย์พิชิตธรรมชาติ แล้วจัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ เพื่อเอามาสนองความต้องการของตนที่จะเสพให้มากที่สุด เพื่อจะได้สุขมากที่สุด

แนวคิดของตะวันตกนั้นต่างจากแนวคิดของพุทธ ซึ่งสอนว่า จะต้องประสาน ให้สิ่งที่ดีแก่บุคคล ก็ดีแก่สังคมด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่สังคม ก็ดีแก่บุคคลด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่มนุษย์ ก็ดีแก่ธรรมชาติด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่ธรรมชาติ ก็ดีแก่มนุษย์ด้วย ถ้าถึงจุดนี้ได้ องค์ประกอบทั้งสามก็ประสานประโยชน์กันได้ และกลายเป็นเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ก็แก้ปัญหามนุษย์ได้ นี่คือความสำเร็จของอารยธรรม อันนี้แหละ เป็นบทสุดท้ายที่จะพิสูจน์ว่าการพัฒนามนุษย์จะทำได้แค่ไหน เป็นจุดสุดยอด เราไม่ไปยุ่งกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ด้วยซ้ำ

เอาเป็นว่า จุดศูนย์รวมทั้งหมดในการแก้ปัญหาของมนุษยชาตินี้ เราบอกว่าพระพุทธศาสนามีคำตอบให้

- ๒ -
ใช้ธรรมเพื่อก้าวไป ไม่ใช่เพื่อนอนสบาย

ถ้าสันโดษเพื่อสุข ก็จบลงด้วยความขี้เกียจ

คนไทยเรานี้ใช้ธรรมบางข้อไม่ถูก เมื่อเอาธรรมมาใช้ผิด ก็เกิดโทษ แม้แต่กุศลธรรมเมื่อใช้ผิดก็เกิดโทษ และอีกอย่างหนึ่ง บางทีชาวพุทธเราก็ใช้กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลกันเสียมาก ไม่ว่าจะใช้ผิดหรือใช้ไม่ครบ ก็เสียหายทั้งนั้น ใช้ผิดกับใช้ไม่ครบนั้น เป็นคนละอย่างกัน ที่ว่าใช้ไม่ครบ เช่น ใช้ไม่ครบชุดของมัน ไม่ครบถ้วนตามระบบองค์รวม ใช้เว้าๆ แหว่งๆ มีตัวอย่างเยอะ จะพูดกันเรื่องนี้ก็ยังว่ากันได้อีกมาก ตอนนี้ ก็เลยต้องขอยกเอาเรื่องสันโดษมาพูดเสริมอีก

เรื่องสันโดษนี้ ก็เป็นตัวอย่างของการใช้ธรรมที่ไม่ครบถ้วนกระบวนการ สันโดษนั้นไม่ใช่จบแค่ความหมาย ความหมายว่าตามศัพท์ ก็แปลว่า ความพอใจ อันนี้แปลตามตัวหนังสือ แต่มันไม่ใช่คำจำกัดความทางวิชาการ

ทีนี้เราแปลให้กว้างออก ความสันโดษก็คือ ความพอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ จากนั้นก็ขยายความออกไปอีกในเชิงวัตถุว่า สันโดษ คือความพอใจในสิ่งที่ได้มาเป็นของตน ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรม นี่เป็นคำจำกัดความที่กว้างขึ้นไปอีก เพราะบอกกำกับไว้ว่า ในการที่จะสันโดษนั้นจะต้องขยันหมั่นเพียรด้วย และได้มาโดยชอบธรรมด้วย เพราะสันโดษนี้มุ่งกำจัดทุจริตด้วย กล่าวคือ ถ้าไม่สันโดษในของตนก็ไปยินดีในของคนอื่น แล้วก็ไปลักขโมยของเขา แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำจำกัดความหรือความหมาย

สันโดษไม่จบเท่านั้น เพราะธรรมนั้น เป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ ธรรมทั้งหลายมีความสัมพันธ์ส่งผลต่อกันในระบบองค์รวม เพื่อนำไปสู่จุดหมายรวมอันเดียวกัน คือการบรรลุพระนิพพาน คือเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ในเมื่อธรรมทุกข้อส่งผลไปรวมกัน ธรรมทุกข้อก็ต้องสัมพันธ์ส่งผลต่อกัน ธรรมข้อย่อยก็ต้องสอดคล้องกับหลักการข้อใหญ่ จึงเรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ที่แปลกันมาว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งอรรถกถาท่านอธิบายว่า ธรรมน้อยต้องคล้อยแก่ธรรมใหญ่ ซึ่งเป็นหลักการปฏิบัติเพื่อเจริญก้าวหน้าสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา

ปัจจัยที่จะใช้ในการสร้างสรรค์อะไรสักอย่างหนึ่งนั้น อย่ามองตัวเดียวแยกออกมา ต้องมองตัวควบ ตัวประสาน ตัวสัมพันธ์ หรือตัวประกอบอื่นด้วย ปัจจัยตัวเดียวกันนั้น เมื่อใช้ประกอบกับปัจจัยอีกตัวหนึ่ง ทำให้เกิดการสร้างสรรค์เจริญก้าวหน้า แต่พอปัจจัยตัวเดียวกันนั้นไปประกอบร่วมกับปัจจัยอีกตัวหนึ่งต่างออกไป กลับทำให้เกิดความเสื่อมไปเลย

สันโดษก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่ใช้สันโดษเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะไปร่วมกับปัจจัยอื่นเพื่อทำให้เกิดการสร้างสรรค์ แต่ใช้สันโดษล้วนๆ เฉพาะตัว ก็ไปหยุดอยู่ที่ความพอใจ แล้วก็สบาย พอแค่นี้ ก็ได้ความสุข แต่ผลตามมาก็ขี้เกียจเท่านั้นเอง นอนสบาย ไม่ต้องเอาอะไร แค่นี้เราสุขแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนสันโดษแบบนี้

สันโดษมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร ธรรมทุกข้อต้องมีความมุ่งหมาย บางคนตอบว่า สันโดษเพื่อจะได้มีความสุข ยังไม่เคยพบที่ไหนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สันโดษเพื่อมีความสุข แต่สันโดษนั้นทำให้มีความสุขในตัวของมันเองทันทีเลย แต่สันโดษไม่ใช่เพื่อความสุข เวลาเราสันโดษแล้วเราก็สุขได้เลย เราจะพอใจในปัจจัย ๔ ที่มีน้อยๆ และเราก็มีความสุขในทันที สันโดษทำให้เราเป็นคนมีความสุขได้ง่าย แต่สันโดษไม่ใช่เพื่อความสุข ความสุขเป็นผลพลอยได้ที่เกิดตามมาเองจากสันโดษ แต่ไม่ใช่จุดหมายของสันโดษ

ถ้าปฏิบัติสันโดษแล้วนอนสบายเป็นสุข มันก็ไม่สอดคล้องกับธรรมที่เป็นหลักการใหญ่ หลักการใหญ่คือการที่จะก้าวไปให้ถึงจุดหมาย ถ้าสันโดษแล้วนอนสบาย มันก็ไม่ก้าว สันโดษจะต้องสัมพันธ์กับธรรมอื่นๆ เพื่อให้ก้าวไปสู่จุดหมายใหญ่ ในระบบองค์รวมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ธรรมย่อยๆ จึงสัมพันธ์กัน เมื่อกี้จึงพูดถึงความหมายหลายแง่

ในแง่ความหมาย เราอาจจะพูดสั้นหรือพูดยาวก็ได้ อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า สันโดษคือความพอใจ สันโดษคือความพอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ สันโดษคือความพอใจตามมีตามได้ในสิ่งที่เป็นของตน ตลอดจนว่าสันโดษคือความพอใจในสิ่งที่ได้มาเป็นของตนด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรม

ที่ให้ความหมายมาทั้งหมดก็อย่างนี้ แต่ยังไม่จบเท่านั้น ในระบบความสัมพันธ์ต้องมีต่อ สันโดษต้องมีคำตามด้วยว่า สันโดษในอะไร นี่แหละ ตอนนี้ที่สำคัญมาก ในพระสูตรมีไหมที่พระพุทธเจ้าตรัสทิ้งไว้ลอยๆ นอกจากในคาถาเท่านั้นที่ตรัสลอยๆ เช่น สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ แต่ถ้าตรัสในร้อยแก้วเป็นพระสูตร เป็นคำสอน ต้องตามมาด้วยคำต่อตามว่า สันโดษในจีวร...ในบิณฑบาต...ในเสนาสนะ ตามมีตามได้ และท้ายสุดจะมีธรรมอื่นมารับอีก เช่น ในอริยวงศ์ ๔ ข้อที่ ๔ ว่ายินดีในการเจริญกุศลธรรม และพอใจในการละอกุศลธรรม แสดงว่ายังต้องตามมาอีกว่า สันโดษแล้วต่อด้วยอะไร ซึ่งก็จะเห็นว่าสันโดษ ๓ ข้อต้นมาสอดคล้องกับข้อที่ ๔ นี้ โดยส่งผลมาสู่เป้าหมายที่ต้องการในข้อที่ ๔ ซึ่งมาปิดท้าย

เพียงแค่หลักอริยวงศ์ ๔ นี้ ก็ให้ความชัดเจนแล้วในเรื่องขอบเขตและความมุ่งหมายของสันโดษ ในระบบความสัมพันธ์ขององค์ธรรมต่างๆ ต้องขอย้ำว่า สองอย่างนี้สำคัญมาก คือ สันโดษในอะไร และ สันโดษแล้วต่อด้วยอะไร (=สันโดษแล้วจะต้องทำอะไรต่อไป) แต่ตอนนี้เอาแค่นี้ก่อนว่า สันโดษในอะไร

สันโดษท่านบอกคำต่อตามไว้เสร็จแล้วว่า สันโดษด้วยวัตถุปัจจัยบำรุงชีวิต ถ้าเป็นคฤหัสถ์เราก็ขยายความหมายว่าพอใจในวัตถุบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุข มีความสุขได้ง่ายด้วยวัตถุสิ่งเสพตามมีตามได้ ไม่ต้องวุ่นวายทะเยอทะยานมักมากในสิ่งเสพเหล่านั้น

เมื่อเราสันโดษในสิ่งเสพสิ่งบริโภคอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสธรรมไว้อีกคู่กันกับความสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอ คือตรัสความไม่สันโดษ ไว้เป็นหลักธรรมเหมือนกัน แต่ก็มีคำต่อตามว่า ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ทิ้งลอยๆ ถ้าพูดว่าไม่สันโดษเฉยๆ ก็ผิดอีก ความไม่สันโดษในกุศลธรรม ขอให้ไปดูเถอะ ตรัสไว้มากมาย แต่เราไม่เอามาสอนกัน

สันโดษอยู่ในกระบวนการปฏิบัติธรรม คือ เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในระบบความสัมพันธ์ สู่จุดหมายใหญ่อันเดียวกัน ฉะนั้น มันจึงต้องมีความมุ่งหมายเพื่อจะก้าวหน้าไปสู่ธรรมที่สูงขึ้นไป สันโดษเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่จะให้เราก้าวหน้าในการปฏิบัติ โดยที่มันไปสนับสนุนความเพียร หมายความว่า สันโดษเป็นตัวเอื้อให้เราเพียร เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสความไม่สันโดษ ไว้คู่กันด้วย

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส “สันโดษ” ไว้ลอยๆ แต่ต้องมีอะไรตามมาด้วย สำหรับพระภิกษุก็ตามด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ถ้าไม่มีตัวตาม เป็นสันโดษลอยๆ ใช้ไม่ได้ หรือถ้าตัวตามผิดไป เช่น ภิกษุไปสันโดษในกุศลธรรม ก็กลายเป็น ปมาทวิหารี (ผู้อยู่ด้วยความประมาท) ไปเลย

ในพระสูตรหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุแม้จะเป็นอริยบุคคล เช่น เป็นโสดาบัน ปฏิบัติธรรมได้บรรลุคุณธรรมวิเศษ แล้วมาพอใจว่าเรานี้ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงถึงขนาดนี้แล้วเกิดสันโดษขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุรูปนั้นเป็น ปมาทวิหารี แปลว่า ผู้อยู่ด้วยความประมาท เป็นผู้ที่จะเสื่อม ฉะนั้น สันโดษในกุศลธรรมจึงผิด พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัส มีแต่ตรัสว่า ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม

รวมความว่า สันโดษนั้น หนึ่ง ต้องมีตัวตามว่า สันโดษในอะไร ไม่ใช่ทิ้งไว้ด้วนๆ ลอยๆ สอง ต้องมีตัวควบว่าต้องมากับอะไรหรือต่อด้วยอะไร สาม ต้องมีจุดหมายว่าเพื่ออะไร

สุขง่ายด้วยวัตถุน้อย เพื่อออมแรง-เวลาไปทำงาน

ความไม่สันโดษในกุศลธรรมนี้ พระพุทธเจ้าตรัสถึงขนาดว่า ที่เราได้บรรลุโพธิญาณนี้ ได้เห็นคุณของธรรมสองประการ คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย และการบำเพ็ญเพียรไม่ระย่อ พระพุทธเจ้าจึงเป็นตัวอย่างของการไม่สันโดษในกุศลธรรม

พุทธพจน์นี้มาในอังคุตตรนิกาย ตรัสแสดงไว้ให้เราจำตระหนักว่า พระองค์ได้ตรัสรู้ คือบรรลุโพธิญาณ เพราะไม่สันโดษ ตามด้วยคำว่า ในกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นอันว่า ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ หนึ่ง อสนฺตุฏฺฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย สอง อปฺปฏิวาณิตา จ ปธานสฺมึ ความไม่ระย่อในการบำเพ็ญเพียร และพระองค์ได้บรรยายต่อไปว่า เรานั้น นั่งลงที่ควงโพธิ์ แล้วได้อธิษฐานจิตว่า ถ้ายังไม่ถึงธรรมที่จะพึงบรรลุได้ด้วยความเพียรของบุรุษตราบใด แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดเหลือแต่เส้นเอ็น ก็จะไม่ลุกขึ้น นี่เป็นตัวอย่าง

พระพุทธเจ้าไม่เคยสันโดษเลยในเรื่องกุศลธรรม พระองค์เสด็จออกไปหาความรู้ แสวงหาผลสำเร็จในทางจิตใจ ไปบำเพ็ญสมาธิ ไปเข้าสำนักโยคะ ไปเข้าสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ได้บรรลุถึง อากิญจัญญายตนสมาบัติ ไม่สันโดษ ไม่พอแค่นั้น เสด็จต่อไปยังสำนักอุททกดาบส รามบุตร ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ไม่สันโดษอีก เขาเชิญให้ทรงเป็นอาจารย์ร่วมสำนักด้วย ก็ไม่เอา พระองค์ยังไม่ถึงจุดหมาย ก็ไม่หยุด คิดค้นเพียงพยายามต่อไปจนกระทั่งตรัสรู้ จึงได้ตรัสยืนยันไว้ว่า ที่พระองค์ตรัสรู้นั้น เพราะไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

ธรรม ๒ ข้อนี้มิใช่ตรัสไว้ในพระสูตรเท่านั้น แม้ในพระอภิธรรมปิฎกท่านก็แสดงไว้เป็นมาติกาหนึ่งในหมวดทุกมาติกาด้วย ฉะนั้น ความไม่สันโดษนี้ว่าไปแล้ว สำคัญยิ่งกว่าความสันโดษอีก แต่เราแทบจะไม่พูดกันเลย เราพูดถึงแต่สันโดษและเป็นสันโดษด้วนๆ

เป็นอันว่า ประสานสอดคล้องกันเลย คือสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ กับไม่สันโดษในกุศลธรรม ฉะนั้น เราจะหยุดแค่ความสันโดษไม่ได้ ต้องต่อไปที่ความไม่สันโดษด้วย แล้วทีนี้ความสันโดษมาเอื้อต่อความไม่สันโดษและความเพียรอย่างไร

เมื่อเราสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอ เราก็ไม่เสียเวลาไปกับการขวนขวายหาสิ่งเหล่านี้ คนที่ไม่สันโดษ อยากจะหาวัตถุบำรุงบำเรอตัว หาอาหารดีๆ กินเอร็ดอร่อย คิดจะหาความสุขจากการเสพการบริโภค แกก็เสียเวลาไปในการวุ่นวายหาสิ่งเหล่านี้ แล้วแกก็เสียแรงงานด้วย แรงงานของแกก็หมดไปกับการหาสิ่งเหล่านี้ ความคิดอีกล่ะก็มัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดว่า เอ...พรุ่งนี้เราจะไปกินที่ไหนให้อร่อยให้โก้ จะไปกินอะไรให้เลิศรส คิดแต่เรื่องเหล่านี้ เวลา แรงงาน และความคิดหมดไปกับเรื่องเหล่านี้ ไม่เป็นอันทำการทำงานหรือสร้างสรรค์อะไร ถ้าหมกมุ่นวุ่นวายเรื่องนี้มากนัก ก็เสียงานไปเลย หรือถ้าหนักนักก็ต้องทุจริต

ในทางตรงข้าม พอเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิด ไว้ได้ทั้งหมด แล้วเราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาทุ่มให้กับความเพียรพยายามในการปฏิบัติกิจหน้าที่การงานและการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรม ก็ทำหน้าที่และสิ่งดีงามได้เต็มที่ สอดคล้องกันหมด

เรื่องนี้สำคัญมาก ขอย้ำอีกทีว่า ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เมื่อเราสันโดษในปัจจัย ๔ ตลอดจนในวัตถุบำรุงบำเรอทั้งหลายแล้ว เราก็ไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ มันก็รับกันพอดี ความสันโดษกับความไม่สันโดษนี้ ประสานสอดคล้องกันอย่างยิ่ง เมื่อเราสันโดษในปัจจัย ๔ และในวัตถุบำรุงความสุขแล้ว เราก็มีเวลา แรงงาน และความคิด เหลือเฟือ เราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปใช้ในการไม่สันโดษในกุศลธรรม ทำให้บำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ และเจริญก้าวหน้าในกุศลธรรมได้เต็มที่

ขอสรุปจุดเน้นว่า สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ และสันโดษแล้วต่อด้วยความเพียร หมายความว่า สันโดษ ทำให้สุขง่ายด้วยปัจจัยน้อย จะได้ไม่กระวนกระวาย จิตใจจะได้พร้อม แล้วสงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ เพื่อเอาไปทุ่มเทอุทิศให้กับการเพียรพยายามพัฒนากุศลธรรม ทำกิจหน้าที่ สร้างสรรค์สิ่งดีงามและประโยชน์สุขให้ยิ่งขึ้นไป

แสงสว่างใช้ส่องทางไปข้างหน้า
แต่แสงสีใช้ล่อพาให้หลงวน

พอพูดถึงเรื่องเฉพาะตัวในทางจิตใจ เราก็สอนกันว่า คุณต้องมีจิตใจดีด้วยนะ คุณยังไม่มีสมาธิ เอ้า ! ฉันสอนสมาธิให้ แต่ไม่ใช่หยุดแค่นี้ สมาธิถ้าสอนไม่ดีก็เป็นตัวกล่อมอีก

ถ้าพระพุทธเจ้าต้องการแค่สมาธิ พระองค์ก็ไม่ต้องออกมาจากสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบส รามบุตร ถ้าเอาแค่สมาธิแล้วแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ก็ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้า เพราะโยคี ฤษี ดาบสก่อนพุทธกาลเขาได้ฌานสมาบัติกันเยอะแยะ เรื่องสมาธินี่เขามีกันมาก่อนพุทธกาลแล้ว เราบอกว่าธรรมไม่ได้จบแค่ปัญหาจิตใจนะ คุณจะมาเอาแค่ทำจิตใจสบายเท่านั้นไม่ได้ ดีไม่ดีจะหลอกตัวเอง เพราะพวกที่สบายใจแล้วนี่อาจจะได้แค่วิธีหนีปัญหาอย่างหนึ่ง พอหลบเข้ามาอยู่ข้างในทำใจได้ก็เพลินเฉื่อยชา ไม่จัดการแก้ไข ทั้งๆ ที่ปัญหามีในโลกวุ่นวายมากมายไม่ได้หายไปไหน

ปัญหานั้นมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือมันบีบคนให้ดิ้น และถ้าเราปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง ก็เป็นเวทีพัฒนาคนพัฒนาปัญญา แต่พอเราทำใจได้ สบายเสียแล้ว ทีนี้ก็เฉื่อย เท่ากับหลบปัญหา ปัญหาข้างนอกเลยปล่อยทิ้ง ไม่แก้ นี่คือประมาทแล้ว

สมาธินั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนไว้เป็นหลักการส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของพระพุทธศาสนา อย่างในวิสุทธิมรรคก็บอกไว้แล้วว่า สมาธิเข้าพวกกันได้กับโกสัชชะ คือความเกียจคร้าน หมายความว่าสมาธิอาจจะหนุนหรือทำให้เกิดความขี้เกียจ

พอได้สมาธิแล้ว สุข สงบ ใจสบายแล้ว หรือทำใจได้แล้ว ฉันสบายแล้ว ปัญหาอย่างไรข้างนอก ช่างมัน ไม่แก้ ฉะนั้น สมาธิก็เป็นตัวกล่อมได้ จึงบอกว่าระวังนะ ฝรั่งจะหลง เอียงสุดไปอีก และเราก็อย่าไปทำให้ฝรั่งหลง แต่ต้องไปปลุกให้ความรู้ที่ถูกต้อง

สมาธินั้น เป็นส่วนหนึ่งของระบบการฝึกฝนพัฒนาคน ที่เรียกว่าไตรสิกขา ต้องใช้เพื่อทำคนให้ก้าวต่อไป เป็นเครื่องเสริมกำลังคนที่จะก้าวไปข้างหน้า ถ้าใช้เพียงเป็นเครื่องกล่อมใจ ทำให้สุขใจหลบปัญหาไปได้คราวหนึ่งๆ ก็กลายเป็นทำให้ประมาท ดึงรั้งไว้ไม่ให้ก้าวต่อไปในกุศลธรรม ผิดหลักการของพระพุทธศาสนา

แม้ในด้านปัญญาก็เช่นกัน วิปัสสนาต้องทำให้คนปฏิบัติต่อโลกและชีวิตอย่างถูกต้อง เข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ จนกระทั่งมีจิตหลุดพ้นจริง วิปัสสนาเป็นหลักการใหญ่ของเรา แต่ต้องให้เป็นวิปัสสนาที่ถูก ซึ่งทำให้มนุษย์อยู่กับความเป็นจริง ไม่ใช่ไปอยู่กับสภาพที่กล่อมตัวเอง ถ้าสุขด้วยวิปัสสนา หรือแม้แต่ปลงอนิจจังแล้วสบายใจ หายทุกข์ แต่หยุดแก้ปัญหาแก้ทุกข์ต่อไป ก็กลายเป็นประมาทอีก

ตัวกล่อมหรือเครื่องกล่อมนั้น มิใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ และใช้ไม่ได้เสียเลย แต่ต้องรู้จักใช้ และมีขอบเขตที่ถูกต้อง เหมือนอย่างคนเป็นโรคนอนไม่หลับหรือมีอาการไม่ปกติทางประสาท เราก็อาจจะต้องใช้ยานอนหลับหรือยากล่อมประสาทช่วย แต่เป็นการใช้เพื่อแก้ไขภาวะผิดปกติ เฉพาะกรณีๆ และชั่วคราว เมื่อผ่านภาวะผิดปกตินั้นไปแล้วก็ไม่ควรใช้ ถ้าขืนใช้ในภาวะปกติทั่วไป ก็กลายเป็นโทษ อย่างน้อย การที่ต้องพึ่งพาขึ้นต่อมัน จึงจะอยู่ดีได้ ก็ไม่ถูกต้องแล้ว

เครื่องกล่อมทางด้านจิตใจและปัญญาก็เช่นเดียวกัน จะต้องรู้จักใช้ภายในขอบเขตของการแก้ปัญหาเฉพาะชั่วคราว พอให้ได้พักหรือช่วยให้พ้นออกมาจากสิ่งร้ายอย่างอื่น เมื่อตั้งตัวได้แล้วจะได้เดินหน้าต่อไป ข้อตัดสินสำคัญคือ อย่าให้เป็นเหตุนำไปสู่ความประมาท เช่น นอนใจ เพลิน ผัดเพี้ยน เป็นต้น

เครื่องกล่อมและระบบกล่อมมนุษย์มีอยู่เยอะ มนุษย์มากมาย นับถือลัทธิผีสางเทวดา เอาการดลบันดาลของเทพเจ้ามาเป็นเครื่องกล่อมใจ คิดว่าหรือบอกตัวเองว่ามีเทพเจ้าคอยช่วยแล้วก็สบาย ไม่ต้องเดือดร้อนหายทุกข์ไปที ก็อุ่นใจ แล้วก็นอนใจ พอพ้นจากลัทธิดลบันดาล มาได้สมาธิ ก็กล่อมใจตัวเองอีก สบายไปที ไม่ต้องทำอะไร มนุษย์นี่ติดการกล่อมได้เยอะ แม้แต่ความดีและผลสำเร็จก็กลายเป็นเครื่องกล่อมอีก พอสบายใจแล้วก็นอนใจ ตกลงก็หนีความประมาทไม่พ้น ไปติดที่ความประมาทนั่นแหละ

จะทำอย่างไรให้ไม่ประมาท ก็เอาหลักใหญ่นี่แหละ ไปประยุกต์ได้หมด คืออยู่ด้วยสติไม่ประมาท หมั่นใช้สติปัญญาพิจารณาชีวิตสังคมว่า อะไรเกิดขึ้น มันเป็นอย่างไร เป็นไปอย่างไร มีผลอย่างไร เกิดปัญหาอะไร เอาสติไปจับมาตรวจดู แล้วใช้ปัญญาสืบสาว ก็ได้เรื่องได้ราว ข้อย่อยเราไม่ต้องพูดกันนะ เอาแต่หลักการใหญ่ไป ไม่ว่าจะปฏิบัติอะไร ถ้าทำให้ประมาทก็ไปไม่รอด

เวลานี้สังคมไทยประมาทหรือเปล่า มีบางท่านออกเสียงดังมาชัดเลยว่า “ประมาท” ผมก็เห็นด้วยว่า สังคมไทยประมาท และยังไปติดในสิ่งกล่อมเยอะหมด ยิ่งกล่อมก็ยิ่งประมาท ก็เลยติดพันอยู่นั่นแหละ ไม่คิดแก้ปัญหา และไม่คิดศึกษาด้วย สบายใจแล้ว ฉันอยู่ได้ เอาสิ่งเสพสิ่งบำรุงบำเรอมากล่อมบ้าง เอาสุราและการพนันมากล่อมบ้าง เอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาปลอบใจบ้าง เอาสมาธิมากล่อมใจบ้าง

อะไรก็ตาม ทำให้เกิดความประมาท ต้องรีบตื่นทันทีว่า ผิดแล้ว อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความประมาท ต้องถือว่าผิดหลักพระพุทธศาสนา แม้มันจะดี

เมื่อกี้พูดถึงเรื่องสันโดษ พอพูดไป ก็เลยออกไปเรื่องอื่น เอาเรื่องความสันโดษก็พอแล้ว เป็นอันว่า ธรรมแต่ละข้อต้องสัมพันธ์กับองค์ธรรมอื่นด้วย

ฝรั่งก็ผิด ไทยก็พลาด
ต้องแก้ไขทั้งนั้น

ในการสร้างสรรค์ความเจริญ ฝรั่งเริ่มต้นทุนนิยมและยุคอุตสาหกรรมด้วยปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งคือ “สันโดษ” แต่สันโดษของฝรั่งเป็นสันโดษเทียม คือ ไม่ใช่เป็นการอิ่มพอในการเสพวัตถุด้วยความพอใจเองอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมุ่งให้สามารถสงวนเวลาแรงงานและความคิดไว้เพื่อนำไปอุทิศให้แก่การสร้างสรรค์สิ่งดีงาม แต่เป็นการยอมอดยอมงดการเสพวัตถุในบัดนี้ ด้วยอาศัยแรงศรัทธาทางศาสนามากดข่มหรือชดเชยไว้ (ตามแนวคิดแบบ Protestant ethic) ซึ่งไปๆ มาๆ ก็แปรไปเป็นการข่มใจทนรอด้วยความหวังที่จะไปเสพให้มากที่สุดในกาลข้างหน้า โดยสงวนเวลาแรงงานและความคิดนั้นไปทุ่มให้กับการแสวงหาและผลิตวัตถุมาไว้เสพต่อไปในอนาคต

ผลเสียของสันโดษเทียมแบบฝรั่ง คือ ในด้านชีวิตจิตใจก็กลายเป็นการจำใจ ฝืนใจ เพราะใจจริงคือต้องการจะเสพให้มากที่สุด แต่อาศัยศรัทธามาช่วยข่มหรือชดเชยไว้ หรือเพราะหวังผลที่อยู่ข้างหน้าจึงต้องรอไปก่อน และในแง่ธรรมชาติแวดล้อม ในเมื่อเป้าหมายในความหวังคือการจะได้เสพบริโภคอย่างเต็มที่ ผลสำเร็จก็คือการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาตินั่นเอง ส่วนในด้านสังคมก็ไม่ช่วยให้ลดปัญหาการเบียดเบียนแย่งชิงกันในระยะยาว

ส่วนสันโดษของคนไทย (พิจารณาจากความเข้าใจในปัจจุบัน ซึ่งจะเกิดจากการถือผิดสืบกันมา หรือคลาดเคลื่อนภายหลัง เนื่องจากขาดการศึกษาก็ตาม) ก็เป็นสันโดษเทียมอีกแบบหนึ่ง คือเป็นสันโดษแบบด้วนๆ ลอยๆ ไม่มีจุดหมายต่อเนื่องไปว่าจะเอาเวลา แรงงานและความคิดที่สงวนไว้ได้ ไปใช้ทำอะไรต่อไป ไม่เชื่อมต่อสู่ความเพียรพยายาม กลายเป็นเพียงความสันโดษที่ทำให้นอนเสวยความสุขอย่างเฉยๆ เสี่ยงต่อการที่จะทำให้เกียจคร้านเฉื่อยชาตกอยู่ในความประมาท

เมื่อปรับแก้ให้ถูกต้องเป็นสันโดษที่แท้ ก็จะเกิดดุลยภาพ และการประสานประโยชน์ ทั้งของชีวิตกายใจของบุคคล ความสงบสุขของสังคม และการอนุรักษ์ธรรมชาติแวดล้อม เพราะความอิ่มพอต่อวัตถุ เป็นความพึงพอใจที่ทำให้ตนเองมีความสุข พร้อมกันนั้นก็มีจุดหมายที่จะนำเอาเวลา แรงงาน และความคิดที่สงวนไว้ได้ไปใช้สร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุขที่เกื้อกูลต่อสังคม กับทั้งในเวลาเดียวกันก็ไม่ต้องมีการเบียดเบียนเอาจากธรรมชาติเพื่อมาสนองความหวังเสพสุขในกาลข้างหน้า มนุษย์จะมีความสุขโดยไม่ต้องผลาญทรัพยากรธรรมชาติ และพร้อมกันนั้นก็มีความพร้อมมากยิ่งขึ้นในการเพียรพยายามสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงาม

ความไม่ประมาทของตะวันตกก็เช่นเดียวกัน เป็นความไม่ประมาทเทียม ซึ่งเกิดจากแรงบีบคั้นของระบบการแข่งขัน ที่เรียกว่าระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ ไม่ใช่เกิดจากสติปัญญาแท้จริง แรงบีบคั้นนั้นยิ่งก่อปฏิกิริยา ให้ความเห็นแก่ตัวหรือความต้องการสนองความต้องการของตนรุนแรงยิ่งขึ้น การหาทางอยู่รอดและแสวงผลประโยชน์ของตนเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยที่ชีวิตจิตใจยิ่งเครียด การเบียดเบียนกันในสังคมยิ่งรุนแรง และธรรมชาติแวดล้อมยิ่งถูกทำลายรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้นตามอัตราการแข่งขันหาผลประโยชน์กันในสังคม

ส่วนสังคมไทยก็ดังที่กล่าวแล้วว่า ไปในทางตรงข้าม คือตกอยู่ในความประมาท

เมื่อพัฒนาคนด้วยการศึกษาอย่างถูกต้อง ก็จะมีการปรับแก้ให้เป็นความไม่ประมาทแท้ ที่เกิดจากสติปัญญา ซึ่งจะเป็นความไม่ประมาทที่เป็นไปเพื่อผลในทางสร้างสรรค์อย่างแท้จริง โดยที่สติปัญญาจะนำกิจกรรมของมนุษย์ให้ดำเนินไปเพื่อผลดีที่ต้องการภายในขอบเขตที่ไม่ส่งผลกระทบในทางร้ายต่อชีวิต สังคม และธรรมชาติแวดล้อม

เมื่อธรรมได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องประสานกันครบองค์เป็นระบบอย่างมีดุลยภาพดังตัวอย่างนี้ ผลดีก็เกิดขึ้นแก่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง คือทั้งชีวิต สังคม และธรรมชาติแวดล้อม อย่างกลมกลืนและเกื้อกูลกัน โดยสัมพันธ์กับการพัฒนาคน ไม่เกิดภาวะที่ต้องขัดขืนจำยอมหรือต้องประนีประนอม

- ๓ -
ปฏิบัติธรรม ต้องให้สมดุล

ธรรมอยู่ในระบบสัมพันธ์
ถ้ามองแยกกระจาย ก็เห็นผิด ปฏิบัติพลาด ก่อผลเสียหาย

ยังมีอีกอย่างหนึ่ง คือ การใช้ธรรมไม่ครบองค์รวม อันนี้ก็สำคัญที่จะทำให้เห็นว่า ทำไมจึงใช้ธรรมกันผิด ขอพูดอีกสักตัวอย่างหนึ่งให้เห็นว่า ธรรมนั้นถ้าใช้ไม่ครบองค์รวมก็จะมีปัญหา แม้แต่ธรรมที่เป็นกุศลก็เกิดโทษได้ เพราะอาจจะเป็นปัจจัยแก่อกุศล

ในประเทศไทยเรานี้ ในการสอนศีลธรรมเมื่อระยะ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ได้มีแนวโน้มของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนักวิชาการที่จบมาจากตะวันตก คิดกันใหญ่ว่าเราจะต้องสอนจริยธรรมสากล หลักศีลธรรมที่สอนกันอยู่นั้นอิงพระพุทธศาสนา จะเอาหลักพุทธศาสนามาสอนไม่ได้ เพราะประเทศไทยมีหลายศาสนา เราต้องเป็นกลาง ต้องใช้จริยธรรมสากล จากแนวโน้มนี้ต่อมาก็ปรากฏว่า วิชาศีลธรรมได้หมดไปจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ วิชาพุทธศาสนาก็หมดไป แล้วมีวิชาจริยธรรมเข้ามา ซึ่งพยายามจะให้เป็นจริยธรรมสากล

มีการประชุมกันในเรื่องนี้ และคิดกันถึงขนาดที่ว่า ข้อธรรมต่างๆ ที่เป็นบาลีไม่ควรใช้ เพราะมาจากพุทธศาสนา ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นสากล ในที่ประชุมพิจารณากันว่าจะใช้ศัพท์จริยธรรมเป็นภาษาไทยให้หมด เช่น สตินี่เป็นคำบาลี ไม่ควรใช้ ต้องหาคำไทยมาแทน จะเอาอะไรดี สัจจะก็ไม่ได้ เป็นคำบาลี ต้องเอาคำไทยว่าความจริง เมตตา ไม่ได้ เป็นคำบาลี ต้องใช้ความรัก จริยธรรมสากลคิดกันขนาดนี้

แต่ที่จริงนั้น หนึ่ง... คำเหล่านี้มาจากพุทธศาสนาก็จริง แต่มันกลายเป็นคำไทยแล้ว มันเป็นคำสามัญ เป็นคำไทยธรรมดา สอง... คำเหล่านี้เป็นบัญญัติ (concept) ที่มีความหมายกว้างขวางมาก เราไม่สามารถหาคำไทยมาแทนเท่ากันได้ อย่างคำว่า “สติ” คำเดียว ถ้าแปลเป็นไทยแม้แต่สองบรรทัดก็ยังไม่ได้ความหมายเท่าสติคำเดียว เนื่องจากคำเหล่านี้มีความหมายลึกซึ้ง ครอบคลุม กินความกว้าง เราจะไปเที่ยวเปลี่ยนตามใจชอบไม่ได้

ที่หย่อนกว่านั้นก็คือ เลือกข้อธรรมมาใช้ เริ่มด้วยไปทำบัญชีหัวข้อธรรมมาว่ามีอะไรบ้าง แล้วก็มาเลือกกันดูว่า ข้อไหนเป็นจริยธรรมที่เป็นสากล คือชาติไหนๆ ก็ยอมรับทั้งนั้น เช่นว่า เมตตา เอาไหม เมตตานี่ใช้ได้ ก็เอาเมตตามาใส่ลงไป กรุณาเอาไหม เอ้า! ใช้ได้ อุเบกขา เอ้ย! อย่าเพิ่ง เอาไว้ก่อน ความรับผิดชอบ นี่สำคัญ เอาไว้ เมื่อเลือกธรรมแบบนี้มาแล้ว ก็จัดเป็นหลักสูตร นี่คือ เลือกธรรมเป็นข้อๆ มา ที่เห็นว่าจะใช้ในหลักสูตร แล้วก็สอนกันแบบนี้ นี่คือจริยธรรมในระยะที่ผ่านมา ซึ่งทำให้หลักธรรมกระจัดกระจายหมด ไม่เป็นหมวดหมู่

ที่จริงในสังคมไทยก็มีแนวโน้มนี้อยู่แล้ว คือปฏิบัติธรรมกันไม่ครบชุด เช่น เมตตา กรุณา เราพูดกันบ่อย ส่วนมุทิตา ชักจะเลือนไป ไม่ค่อยพูดถึง แต่อุเบกขา ไม่เอาเลย ซ้ำยังหลงเข้าใจผิดด้วย เพราะไม่เข้าใจว่าอุเบกขาคืออะไร หลักธรรมพลัดกันแตกกระจัดกระจายหลุดออกไปจากชุดของมันหมด

เราไม่สังเกตหรือว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมเป็นหมวดๆ เป็นชุดๆ การที่สอนเป็นชุดนั้นมีความหมาย นั่นคือระบบองค์รวมที่ฝรั่งกำลังตื่นแตกกัน เพราะว่าหัวข้อธรรมเหล่านั้น เป็นองค์ประกอบของส่วนรวมที่สมบูรณ์ ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งไปแล้วระบบก็ไม่สมบูรณ์ หมายความว่า ธรรมแต่ละหมวดๆ นั้นเป็นระบบดุลยภาพ เมื่อปฏิบัติครบแล้ว มันจะดุลซึ่งกันและกันให้พอดี เกิดความพอดีขึ้นมาในชุดของมันที่เป็นระบบนั้น นี่คือระบบองค์รวม เพราะฉะนั้น ธรรมต้องปฏิบัติครบชุด ถ้าแยกออกมาเป็นข้อๆ กระจายหลุดจากกันแล้วจะเกิดปัญหา ยกตัวอย่างง่ายๆ

หลักธรรมที่เราคุ้นกันนักหนา คือ พรหมวิหาร ๔ นี้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากของการปฏิบัติธรรมไม่ครบชุด ทำให้ไม่เกิดดุลยภาพในองค์รวม เรามี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไว้ใช้ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเป็นท่าทีของจิตใจต่อเพื่อนมนุษย์ ที่ครบถ้วนบริบูรณ์

มนุษย์นั้นจะตกอยู่ในสถานการณ์ ๔ อย่าง ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามสถานการณ์นั้นๆ ถ้าปฏิบัติผิดสถานการณ์ ธรรมนั้นแม้จะเป็นกุศล ก็อาจจะพลาด ทำให้เกิดผลเสียได้

สถานการณ์ที่ ๑ เพื่อนมนุษย์ของเรา เป็นอยู่ปกติ ไม่ได้เดือดร้อน ไม่มีภัยอันตราย ไม่มีปัญหาอะไร เราก็มีท่าทีของธรรมข้อที่หนึ่ง คือเมตตา ซึ่งได้แก่ความรัก ความอยากให้เขาเป็นสุข ความปรารถนาดี ความเป็นมิตร เมตตาก็มาจากรากศัพท์เดียวกับมิตรนั่นเอง

ต่อมา สถานการณ์ที่ ๒ เขาตกต่ำลง เดือดร้อน เป็นทุกข์ มีปัญหา เราก็ต้องย้ายจากเมตตา ไปกรุณา คือพลอยหวั่นใจ หวั่นไหวในความทุกข์ของเขา คิดจะหาทางปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากทุกข์

ต่อมาสถานการณ์ที่ ๓ เขาขึ้นสูง ได้ดี มีความสุข ประสบความสำเร็จ ทำอะไรๆ ถูกทางแล้ว เราก็ย้ายมาสู่คุณธรรมข้อที่สาม คือมุทิตา หมายความว่าพลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน

นี่ผ่านมา ๓ สถานการณ์แล้ว ในหมู่คนไทยเรา ปรากฏว่าหลายคนแยกไม่ออกแม้แต่เมตตากับกรุณา ว่าต่างกันอย่างไร ธรรมหมวดนี้เป็นธรรมที่แสดงออกต่อคนอื่น คือ ต่อเพื่อนมนุษย์ จึงกำหนดความแตกต่างได้ด้วยการปฏิบัติในความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนั้น ตามสถานการณ์ที่เกิดกับเขา ฉะนั้น วิธีแยกความหมาย ก็ดูที่สถานการณ์ที่เกิดแก่เขา คือ สถานการณ์ที่เขาเป็นปกติเราก็มีเมตตา สถานการณ์ที่เขาตกต่ำเป็นทุกข์เราก็มีกรุณา สถานการณ์ที่เขาขึ้นสูงประสบความสำเร็จเราก็มีมุทิตา

มนุษย์ทั่วไปจะตกอยู่ใน ๓ สถานการณ์นี้ เราก็มีครบแล้ว ปฏิบัติให้ถูกสถานการณ์ สามอย่างนี้ แล้วมีสถานการณ์อะไรอีก สามอย่างก็น่าจะครบแล้ว คน ถ้าไม่ปกติก็ต้องเดือดร้อน เป็นทุกข์ หรือมิฉะนั้น ก็ได้ดีมีสุข แล้วจะมีสถานการณ์อะไรอีก ทำไมพระพุทธเจ้ายังตรัสข้อที่ ๔ อีก สถานการณ์อะไร

บางท่านสอนว่า คือสถานการณ์ที่เขาได้ทุกข์จากผลกรรมที่เขาทำของเขาเอง ในข้อที่เราไม่สามารถจะช่วยได้ การตอบอย่างนี้ ต้องระวัง ต้องให้เห็นหลักที่ชัดเจน

อาจารย์ผู้ใหญ่มีชื่อเสียงมากของไทยท่านหนึ่งเอาอันนี้ไปพูดในการปาฐกถา ท่านบอกว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนวางอุเบกขา กรรมของใครกรรมของมัน เห็นคนตกต่ำยากจน ก็บอกว่า โอ้! เป็นกรรมของเขาเอง เขาก็รับผลของกรรมของเขาไป ก็เลยไม่มีใครช่วยเหลือกัน สังคมไทยก็เลยแย่ นี่แหละ ถ้าพูดอย่างนี้ อุเบกขาก็โดนตี

ฝรั่งคนหนึ่งเขียนหนังสือ Buddhism and Society เป็นหนังสือหนาใช้ศึกษาในมหาวิทยาลัยของฝรั่งบางแห่งด้วย เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในพม่า ฝรั่งคนนี้ไปเอากรณีศึกษา (case study) ไว้ด้วย

เขายกตัวอย่างในเมืองพม่ามาเรื่องหนึ่ง จริงหรือไม่จริงผมก็ยังสงสัย.แต่ฝรั่งคนนี้ยกตัวอย่างมาเล่าว่า เขาไปที่ชนบทแห่งหนึ่ง มีคนตกน้ำแล้วไม่มีใครช่วย เพราะคนพม่าบอกว่าเป็นกรรมของเขา แล้วก็ให้วางอุเบกขา ได้สองหลักคือ หนึ่ง หลักกรรม ว่าเป็นกรรมของเขา สอง อุเบกขา วางเฉย ไม่ช่วย

ฝรั่งคนนี้ก็เลยบอกว่า นี่เห็นไหม พุทธศาสนาทำให้คนเป็นอย่างนี้ เขาตี หนึ่ง... หลักกรรม สอง...หลักอุเบกขา โยงกันว่า คนพุทธอุเบกขาเพราะเห็นว่าเป็นกรรมของเขา เลยไม่ช่วยกัน เพราะฉะนั้นสังคมก็เลยตกต่ำเดือดร้อนอย่างนี้ เขาได้ทีก็ตีแพะไล่เลย เป็นการบอกไปด้วยว่าในสังคมของเขา ไม่อย่างนี้หรอก ของเขานี่ต้องช่วยกันสุดฤทธิ์เลย ฉะนั้น สังคมฝรั่งจึงได้เจริญขึ้นมา เขาว่าอย่างนั้น เอาล่ะสิ อย่างนี้จะแก้อย่างไรล่ะ

ในที่นี้เขาว่า ที่ไม่ช่วย เพราะอ้างหลักกรรมกับอุเบกขา ไม่ใช่อ้างเรื่องว่ายน้ำเป็นหรือไม่เป็น เขาตีหลักกรรมกับอุเบกขา แล้วก็กลายเป็นว่า เห็นคนจนก็ว่านี่เป็นกรรมของเขา ไปเห็นคนพิการ ก็ว่ากรรมของเขา เพราะฉะนั้นก็ให้เขารับกรรมไป เราก็อุเบกขา ใช่ไหม

พระพุทธเจ้าทรงวางหลักจริยธรรมบนฐานแห่งสัจจธรรมนะ จริยธรรมในพระพุทธศาสนาจึงไม่เป็นของบัญญัติตามชอบใจของศาสนาหรือของคนผู้ใดกลุ่มใด พระพุทธเจ้าไม่ได้วางหลักธรรมเอาเองว่า อย่างนี้ดี อย่างนั้นไม่ดี เธอทำผิด ฉันไม่ชอบใจ ต้องลงโทษ เธอทำดี ฉันโปรดปราน ให้รางวัล อย่างนี้ไม่มี

พระพุทธศาสนาสอนว่า ธรรมเป็นธรรมดาของธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เรียกว่าเป็นกฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าทรงสอนจริยธรรมไปตามกฎธรรมชาติ คือตามความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ จริยธรรมที่พระองค์สอน ตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจจธรรมคือความจริงตามธรรมชาติ ฉะนั้น จริยธรรมจึงเป็นความจริงด้วย ไม่ใช่เป็นของบัญญัติเอาตามชอบใจ ของสังคมนี้ว่าดี สังคมโน้นว่าไม่ดี อย่างที่ฝรั่งว่า ของเราไม่ใช่อย่างนั้น

เป็นอันว่า หลักพรหมวิหารก็ต้องตั้งอยู่บนฐานของสัจจธรรม เราจะมองพรหมวิหารได้ครบทุกสถานการณ์ เมื่อเรามองครบระบบของธรรมชาติทั้งหมด คือมองให้ตรงตามธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นจะต้องมองไปให้ถึงตัวธรรม

เพื่อให้สังคมยั่งยืน คนต้องสัมพันธ์กันแต่พอดี
มนุษย์ช่วยกันดี แต่ต้องรักษาธรรมไว้ด้วย

เริ่มแรก พรหมวิหารเป็นธรรมที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เราชัดเจนแล้วว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยดี ก็ต้องมี เมตตา กรุณา มุทิตา ถ้ามนุษย์อยู่ด้วยกัน โดยมีน้ำใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันตามสถานการณ์ทั้งสาม ด้วยคุณธรรมทั้งสามข้อนี้แล้ว โลกมนุษย์ก็อยู่ด้วยดี แต่แค่นี้พอที่จะให้อยู่ด้วยดีจริงหรือ? ขอให้ดูต่อไป

โลกมนุษย์นี้ ไม่ได้อยู่ตามลำพัง ภายใต้โลกมนุษย์นี้ มีสิ่งที่เป็นฐานรองรับอยู่ คือความจริงของสัจจธรรม หรือธรรมที่เป็นหลักการของธรรมชาติ ได้แก่ความเป็นจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือหลักการแห่งความจริง ความถูกต้องดีงาม ธรรมคือความเป็นจริงของกฎธรรมชาตินี้ ครอบคลุมและควบคุมธรรมชาติทั้งหลาย รวมทั้งโลกมนุษย์ไว้ทั้งหมด โลกมนุษย์ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงของธรรมนั้นซึ่งใหญ่กว่า ฉะนั้นความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์นี้ จะต้องไม่ไปกระทบกระเทือนหรือทำลายธรรม แต่จะต้องให้สอดคล้องกับธรรม โลกมนุษย์จึงจะเป็นไปได้ด้วยดี

ฉะนั้น เราจึงมิใช่มีหน้าที่แต่เพียงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่มนุษย์เท่านั้น แต่เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับตัวธรรมที่เป็นกฎธรรมชาตินี้ด้วย

ทีนี้หมู่มนุษย์จะปฏิบัติต่อกันด้วยดี จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไปทำผิดต่อธรรม ทำให้เสียธรรมเข้าเมื่อไร โลกมนุษย์นั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในข้อหนึ่งก็ตาม ข้อสองก็ตาม ข้อสามก็ตาม ไปส่งผลกระทบทำความเสียหายต่อตัวธรรมเข้า นี่คือสถานการณ์ที่ ๔ ซึ่งจะต้องอุเบกขา ได้แก่สถานการณ์ที่ว่าถ้าขวนขวายในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ก็จะไปกระทบต่อตัวธรรม จะทำให้ระบบของธรรมคลาดเคลื่อนเสียหาย จึงต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไว้ก่อน เพื่อรักษาธรรมไว้ เพราะฉะนั้น ในกรณีเช่นนั้น เมตตา กรุณา มุทิตา จะออกโรงไม่ได้ และจะต้องมาถึงอุเบกขา

ขอยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งไปลักขโมยของเขา ประสบความสำเร็จได้เงินมา ๕,๐๐๐ บาท ถ้าเราถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ ๓ เราก็มุทิตา ดีใจด้วย ส่งเสริมเลย แต่ถ้าทำอย่างนั้นก็กระทบต่อธรรม ทำให้ธรรมเสียหาย หรือผู้พิพากษาพิจารณาคดี รู้ว่าจำเลยนี้ทำความผิดจริง ไปฆ่าเขาตาย แต่เมื่อคิดว่าจำเลยจะต้องตกทุกข์ได้ยากไปติดคุก ก็สงสาร อยากจะปลดเปลื้องทุกข์ของเขา นึกว่าเป็นสถานการณ์ที่ ๒ ก็เลยกรุณา แต่กรุณาในที่นี้ แสดงออกไปก็เข้าสถานการณ์ที่ ๔ ผิดธรรมทันที ทำให้เสียความเป็นธรรม ทำให้เสียหลักการแห่งความถูกต้องดีงาม จึงต้องเปลี่ยนเป็นอุเบกขา

เป็นอันว่า ถ้าการสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จะเป็นสถานการณ์ที่หนึ่งก็ตาม สองก็ตาม สามก็ตาม ไปกระทบต่อธรรมเข้าเมื่อไร ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต้องหยุด แล้วเข้าเป็นสถานการณ์ที่สี่ เราก็วางอุเบกขาต่อคนนั้น คือ เฉยต่อเขา ไม่เอาแล้ว ฉันไม่ดีใจต่อเธอ ไม่สนับสนุนเธอ ฉันไม่ช่วยเธอแล้ว เธอทำอย่างนี้ฉันไม่เอาด้วยกับเธอละ เราเฉย วางใจเป็นกลางต่อเขา เพื่อให้ธรรมมาจัดการ

เราวางอุเบกขาต่อคน คือ เฉย หยุดขวนขวาย ไม่ช่วยเหลือเขา เพื่อจะได้ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงธรรม การปฏิบัติตามธรรมจะได้ดำเนินไป กฎต้องเป็นกฎ ธรรมต้องเป็นธรรม ใครมีหน้าที่ปฏิบัติตามธรรมก็มาจัดการไปตามธรรมนั้น พูดสั้นๆ ว่า เพื่อปฏิบัติตามธรรม จึงต้องยกเว้นสถานการณ์ที่ ๑,๒,๓ เสีย ข้อหนึ่ง สอง สาม ออกแสดงไม่ได้ เพื่อให้ข้อ ๔ มา

ฉะนั้น อุเบกขา ตัวมันจึงแปลว่า เข้าไปมองดู หรือคอยมองดูอยู่ใกล้ๆ ให้เขาได้รับผลถูกต้องตามธรรม และแสดงถึงปัญญาด้วย เพราะว่า ๓ ข้อแรกความเด่นอยู่ที่ความรู้สึก พอสถานการณ์มาก็แสดงได้ทันที แทบไม่ต้องใช้ปัญญาเลย แต่ข้อที่ ๔ จะแสดงได้ ต้องมีปัญญา ต้องรู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรผิด อะไรเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม อะไรเป็นบาปเป็นบุญ เหตุผลเป็นอย่างไร

นี่แหละ สถานการณ์ที่ ๔ ที่เรามาอธิบายกันว่า ให้เป็นไปตามกรรม เป็นอย่างนี้ คือเป็นสถานการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หรือระหว่างบุคคลจะไปกระทบต่อธรรมเข้า หมายความว่า กรรมของเขาจะต้องถูกตัดสินด้วยธรรม หรือต้องบังเกิดผลตามธรรม เพราะถ้ากระทบต่อธรรมแล้วเรายังขืนเข้าไปวุ่นวายแทรกแซง ฐานของสังคมมนุษย์ก็เสีย ธรรมที่รองรับโลกมนุษย์อยู่ก็วิปลาส และโลกมนุษย์เองก็จะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้น จึงต้องหยุดความสัมพันธ์กับคน เพื่อรักษาธรรม

พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ครบว่าจะอยู่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เท่านั้นไม่พอ ต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับตัวธรรมด้วย โลกมนุษย์จึงจะอยู่ได้ ถ้าเราปฏิบัติธรรมไม่ครบชุด ก็ยุ่งและเกิดโทษ เมตตากรุณา กลับทำให้เกิดปัญหา เสียความยุติธรรม เสียความชอบธรรม ทำให้หลักการของสังคมตั้งอยู่ไม่ได้ สังคมก็วุ่นวายปั่นป่วน พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกธรรมหมวดนี้ว่าพรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพระพรหม คือ ธรรมประจำใจของผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก

ในศาสนาพราหมณ์นั้นเขาถือว่า พรหมเป็นผู้สร้างโลก พอสิ้นกัปป์หนึ่งโลกทลาย พระพรหมก็สร้างโลกใหม่อีกทีหนึ่ง แล้วโลกก็อยู่ไปอีกกัปป์หนึ่ง ทีนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนเราให้ไม่ต้องรอพระพรหมที่เป็นเทวดาที่จะมาสร้างโลก แต่ทรงสอนให้มนุษย์ทุกคนนี่แหละเป็นพรหม คือมาช่วยกันเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้อภิบาลโลก หล่อเลี้ยงบำรุงรักษาให้โลกตั้งอยู่ได้ด้วยดี เมื่อเราปฏิบัติตามธรรม ๔ ข้อนี้เราทุกคนก็เป็นพรหม คือเป็นผู้ที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ อภิบาลรักษาบำรุงโลก

พระพุทธเจ้าต้องการให้ทุกคนเป็นพรหม เบื้องแรกให้มารดาบิดาเป็นพรหมก่อน ต่อมาให้มนุษย์ทุกคนเป็นพรหม เมื่อเราปฏิบัติตามธรรม ๔ ข้อนี้ครบถ้วนดี โลกมนุษย์คือสังคมก็อยู่ได้ โลกอยู่ได้ เพราะทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์อภิบาล ไม่มีปัญหาเลย แต่เวลานี้เกิดความผิดพลาดมีปัญหา เพราะสังคมเอียง เสียดุลในการปฏิบัติธรรม ๔ ข้อนี้

พรหมวิหาร ๔ ข้อนี้ ถ้าเราจัดเป็นพวกเป็นฝ่าย จะเหลือ ๒ เท่านั้น คือ ข้อ ๑ ถึง ๓ ได้แก่เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นธรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ หรือคนต่อคน ส่วนข้อที่ ๔ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในกรณีที่เกี่ยวกับธรรม หรือพูดรวบรัดว่า เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรม จึงเป็น ๒ ฝ่าย คือมนุษย์กับมนุษย์ฝ่ายหนึ่ง และมนุษย์กับธรรมอีกฝ่ายหนึ่ง หรือคนกับคน และคนกับธรรม จะเห็นว่าในหมู่มนุษย์การปฏิบัติระหว่าง ๒ ฝ่ายนี้ มีการเอียงสุดได้

ในสังคมบางสังคม มนุษย์มีการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน มีน้ำใจต่อกันอย่างดี เด่นในเมตตา กรุณา ตลอดจนมุทิตามาก แต่สังคมนั้นอ่อนในอุเบกขา สังคมประเภทนี้เป็นอย่างไร ในแง่ดี ก็จะมีความรู้สึกอบอุ่น แช่มชื่นด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ มีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันดี แต่ในแง่เสีย คนจะช่วยเหลือกันเป็นเรื่องส่วนตัวจนกระทั่งมองข้ามหลักการ มองข้ามกฎเกณฑ์กติกา มองข้ามความเป็นธรรมและความชอบธรรม พอมีอะไรเกิดขึ้นก็คิดว่าจะไปหาเพื่อนไปหาผู้ใหญ่ให้ช่วย เสร็จแล้ว กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมาย ไม่เอาเลย เลี่ยงหมดเลย สังคมนี้ก็เสียดุล สังคมอย่างนี้ระยะยาวก็จะเสื่อม เพราะว่าอ่อนในอุเบกขา เรียกว่าเอียงสุดไปในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เอาแต่จะช่วยเหลือกันระหว่างบุคคล

ส่วนในบางสังคม ความสัมพันธ์จะเด่นในอุเบกขา คือเอาแต่กฎเกณฑ์ กติกา และหลักการ ตลอดจนกฎหมาย สังคมมีกติกาวางไว้แล้ว หลักการมีอยู่แล้ว ทุกคนต้องปฏิบัติตามนั้น ตัวใครตัวมัน ถ้าแกผิดฉันฟัน แต่ระหว่างนั้น ไม่มีน้ำใจต่อกัน ไม่ช่วยเหลือกัน ทุกคนดิ้นรนขวนขวายเอาเอง ทุกคนช่วยตัวเองและพึ่งตนเอง สังคมแบบนี้ก็แห้งแล้งน้ำใจ ขาดความอบอุ่น มีความเครียดสูง คนเป็นโรคจิตโรคประสาทกันมาก

จากหลักที่พูดมานี้ ก็ลองมาพิจารณาดูว่าเวลานี้สังคมเป็นอย่างไร สังคมไทยของเรานี้เอียงไหม จะเห็นได้ว่า สังคมไทยของเรา เอียงมาในทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในข้อที่ ๑ และ ๒ มาก ข้อที่ ๓ ก็ยังหย่อน แต่ข้อที่ ๑ ที่ ๒ หนัก จนกระทั่งแสดงออกมาทางถ้อยคำที่ใช้ในสังคมของเรา คือคำว่า เมตตา กรุณา นี้เราพูดกันเรื่อย เป็นศัพท์สามัญ แต่มุทิตาพูดน้อยลง อุเบกขาไม่พูดเลย แสดงว่า ธรรมเสียดุลแล้ว

ทีนี้ หันไปดูสังคมฝรั่งบ้าง เรื่องเมตตา กรุณา มุทิตานี้ เอาน้อย แต่อุเบกขามาแรง ทุกคนต้องอยู่กับหลักการ ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายก็แล้วกัน ถ้าทำผิดก็โดน ถ้าทำถูกแกไปได้ กฎเป็นกฎ ไม่เอาใครทั้งนั้น สังคมอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะรักษาความเที่ยงธรรมไว้ได้ รักษากฎเกณฑ์กติกาของสังคมได้ แต่แห้งแล้งและเครียดอย่างที่ว่า ก็เสียดุลอีก

สังคมที่มีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์สูงนั้น นอกจากเสียความเป็นธรรม รักษากฎเกณฑ์กติกาและหลักการไว้ไม่ค่อยได้แล้ว ในระยะยาว คนจะหวังพึ่งกันมากเกินไป คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีนิสัยชอบหวังพึ่งผู้อื่น คอยรับความช่วยเหลือจากคนอื่น โดยคิดว่าไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวจนลงเราก็ไปขอยืมเพื่อนได้ ไม่เป็นไร เดี๋ยวแม่เรา ญาติเรา ผู้ใหญ่ของเราก็ช่วยเราได้ เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็เลยเฉื่อยชา เกียจคร้าน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา จึงทำให้คนโน้มเอียงไปในทางประมาท เฉื่อยชา สังคมก็จะเสื่อมหรืออืดอาด

ส่วนสังคมที่หนักในอุเบกขา เอาแต่กฎเกณฑ์กติกา ไม่เอาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ก็แห้งแล้งอย่างที่ว่า แต่ก็เป็นเครื่องบีบคั้นและเร่งรัดคนให้กระตือรือร้นขวนขวาย สร้างสรรค์ความเจริญได้ ทุกคนจะดิ้นรนขยันตัวเป็นเกลียว เพราะฉะนั้น จึงทำให้สร้างความเจริญก้าวหน้าได้ดี แต่ถ้าแห้งแล้งและเครียดเกินไปก็อาจจะถึงจุดเดือด คนจะเกิดความโกรธ มีโทสะว่า อะไรกัน มันไม่ช่วยเหลือกันบ้างเลยเชียวหรือ คนจะโกรธแค้น จนกระทั่งว่าหลักการกติกาเหล่านี้ เราไม่เอากับมันแล้ว ทำลายมันเลย หลักการของสังคมก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าเอียงสุดจนเกินไป ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ทั้งคู่ จึงต้องปฏิบัติให้พอดี ซึ่งอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะรักษา ดุลยภาพระหว่างธรรม ๔ ข้อนี้ไว้ ซึ่งแยกเป็น ๒ ฝ่าย คือเมตตา กรุณา มุทิตา ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และอุเบกขาในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นชุดและต้องปฏิบัติให้ครบ เวลานี้เราปฏิบัติธรรมกัน แม้แต่ในชุดพรหมวิหารนี้ก็วุ่น ธรรมที่มาในสังคมไทย แตกกระจัดกระจายเป็นข้อๆ ไปหมด ยิ่งไปเรียนในโรงเรียน ยิ่งไปเรียนแบบจริยธรรมสากล ก็เลยไปกันใหญ่

ต้องมองหลักให้ชัด และปฏิบัติให้ครบ
จึงจะพบทางรอดสู่อารยธรรมที่ยั่งยืน

เป็นอันว่า เมตตา กรุณา ถึงแม้จะดี แต่ถ้าปฏิบัติผิด ก็เกิดโทษ นอกจากนั้นฝรั่งยังเอาไปติเตียนอีกด้วย เช่นในหนังสือของอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ (Albert Schweitzer) ซึ่งเป็นนักปราชญ์สำคัญคนหนึ่งของตะวันตก มีชื่ออยู่ในสารานุกรม (encyclopedia) ใหญ่ๆ แทบทุกชุด ท่านผู้นี้เป็นหมอสอนศาสนา และมีอิทธิพลมาก คราวหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ขึ้น ก็มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ซึ่งส่งอาจารย์ทางโน้นมาช่วย

ศาสตราจารย์คนหนึ่งชื่อโรเบิร์ต แอล ซัตตัน (Robert L. Sutton) ได้มาสอนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และได้แต่งหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งดูเหมือนจะชื่อว่า Public Administration in Thailand แปลว่า รัฐประศาสนศาสตร์ในประเทศไทย เขาวิเคราะห์ประเทศไทยและสังคมไทยแล้วก็บอกว่า ปัจจัยที่ขัดขวางการพัฒนาของสังคมไทยคือ หนึ่ง สถาบันกษัตริย์ สอง พุทธศาสนา แล้วเขาก็แจกแจงวิเคราะห์ว่าพุทธศาสนาเป็นเหตุปัจจัยให้สังคมไทยไม่พัฒนาอย่างไร ตอนนั้น ชาวพุทธเราส่วนหนึ่งก็ลุกขึ้นมาด่าซัตตันเป็นการใหญ่ (ต่อมาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ได้โอนไปรวมกับส่วนงานการศึกษาอื่นๆ ตั้งขึ้นเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คือ NIDA ในปัจจุบัน)

ในข้อความที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้น ตอนหนึ่ง โรเบิร์ต แอล ซัตตัน ได้อ้างอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ ที่เขียนไว้ว่า พุทธศาสนาสอนให้คนทำความดี แต่การทำความดีของพุทธศาสนาคืออย่างไร? คือเว้นจากความชั่ว เช่น เว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน ฯลฯ แค่นี้คือทำความดี พุทธศาสนาสอนให้ทำความดี ก็แค่เว้นจากความชั่ว เว้นความชั่วก็คือทำดีแล้ว และในทำนองเดียวกัน พุทธศาสนาสอนให้คนช่วยเหลือกันโดยแผ่เมตตา คือตั้งความปรารถนาดีให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข สรุปว่า พุทธศาสนาสอนความดีแบบ passive ไม่ active คือ สอนความดีแบบอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร เจริญเมตตา ก็แค่ตั้งใจดีนอนแผ่อยู่ในมุ้ง แค่นี้ก็ทำดีแล้ว เลยไม่ช่วยให้คนออกไปดำเนินการสร้างสรรค์ในสังคม

โรเบิร์ต แอล ซัตตัน ก็โจมตีพุทธศาสนาตามอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ เข้าไป แล้วหนังสือพวกนี้มีอิทธิพล นักวิชาการไทยเราเชื่อไม่น้อย นี่ผมเอามาเล่าเป็นตัวอย่างเท่านั้น

เรื่องกรรม เรื่องอุเบกขา เรื่องเมตตา และอะไรๆ หลายเรื่อง โดนฝรั่งตี แล้วนักวิชาการไทยก็ตี แม้แต่ดอกเตอร์คนหนึ่งที่เป็นลูกหรือลูกสะใภ้หรือหลานคนหนึ่งของท่านผู้ใหญ่อดีตคนวัดที่มีชื่อเสียงมาก ก็ยังเขียนติเตียนไว้ว่า เพราะคนภาคอีสานถือหลักอนิจจังตามคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงทำให้มีชีวิตแบบอยู่ไปวันๆ แล้วก็เลยไม่เจริญ ไม่สามารถพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้าได้ นี่ขนาดคนที่อยู่ในเชื้อสายยังว่าอย่างนี้

ฉะนั้น เราจะต้องไม่ประมาทให้หนักทีเดียว เพราะคนของเรา แม้แต่พระเอง ถ้าเข้าใจธรรมไม่รอบคอบแล้ว อาจจะเป็นปัญหาได้อย่างหนัก ในวงวิชาการนั้น เรายังไม่ได้ไปสัมผัสอีกมาก คนที่เข้าใจกันได้ดีกับเราก็เยอะ แต่คนที่ยังไม่เข้าใจก็มากอยู่ จะต้องตื่นตัวรู้เท่าทัน โดยเฉพาะตัวเราเองจะต้องเข้าใจธรรมให้ชัดเจน ชนิดโยงกันได้ทั้งระบบ

เป็นอันว่า ธรรมนั้นจะต้องปฏิบัติให้ครบชุดองค์รวมอย่างที่ว่าแล้ว เพราะมันมีความประสานสัมพันธ์กันและเติมเต็มแก่กัน ถ้าขาดชุดแล้ว ชีวิตและสังคมมนุษย์ก็จะเอียง เสียหลัก เสียดุล เกิดผลเสีย ธรรมที่เป็นกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้อย่างไร ธรรมที่เป็นอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้อย่างไร จะใช้อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล เช่น ใช้ตัณหาเป็นปัจจัยแก่ฉันทะได้อย่างไร ดังนี้เป็นต้น จะต้องวิเคราะห์กันให้ชัด จะได้ไม่พลาด เป็นการช่วยสังคมของเรา และแก้ความเห็นผิด โดยเฉพาะของคนที่เป็นผู้นำทางปัญญา

ที่พูดมาทั้งหมดคราวนี้ ได้โยงไปหาหลักธรรมง่ายๆ เพียง ๒-๓ อย่างเท่านั้น แต่ที่จริงหลักธรรมเพียงแค่นี้ก็เพียงพอที่จะสร้างอารยธรรมใหม่ที่ยั่งยืนได้แล้ว

ที่ว่าจะสร้างอารยธรรมใหม่นั้น ในที่นี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องสร้างขึ้นใหม่โดยสิ้นเชิง แต่หมายถึงการเปลี่ยนจากอารยธรรมปัจจุบันที่ติดตันไม่ยั่งยืน ให้กลายเป็นอารยธรรมที่แท้ที่ถูกต้อง ที่จะนำมนุษยชาติไปสู่สันติสุขได้อย่างแท้จริง

ภาคผนวก
ฝรั่งเจริญเพราะดิ้นรนให้พ้นจากการบีบคั้นของศาสนาคริสต์

                                                                                                ๑๙ มิถุนายน ๒๕๓๑

เรียน พระปลัดเอี่ยม อิสิทตฺโต       

ตามที่ท่านได้เขียนจดหมายไปถามปัญหา อยากจะให้ตอบข้อสงสัยนั้น ตามปกติระยะนี้ผมมีงานเร่งมากไม่มีเวลาตอบ โดยมากต้องเก็บจดหมายไว้นานๆ แต่จดหมายของท่านนี้ เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าจะไม่มีเวลาเขียนก็ได้พูดบันทึกเสียงแล้วขอให้พระมหาอินศร ช่วยพิมพ์ให้ ข้อสงสัยของท่านข้อสำคัญก็คือ

เวลานี้มีคนไปเข้าคริสต์กัน โดยที่เห็นว่าคนฝรั่งชาวตะวันตกถือศาสนาคริสต์ ฝรั่งจึงเจริญทุกอย่าง ไม่ว่าการเศรษฐกิจ การทหาร การเมือง ทางวิทยาศาสตร์ สรรพาวุธทุกๆ อย่าง ซึ่งเป็นวิธีการของผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่จะพูดให้เข้าใจกันอย่างนั้น

วิธีการเผยแพร่และชักจูงของนักสอนศาสนาคริสต์ ที่ทำอย่างนี้ เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ เพราะเป็นการกล่าวเท็จ ไม่ตรงตามความเป็นจริง และเป็นการไม่ยุติธรรมทั้งแก่คนไทยและแก่พระพุทธศาสนา ถ้าเขาใช้วิธีเผยแพร่แบบมีเล่ห์กลอย่างนี้ ก็ควรจะต้องเผยแพร่ความจริงให้เป็นที่รู้เข้าใจกันไว้3

ชาวพุทธนั้นเป็นมิตรกับคนทั่วโลก โดยไม่แบ่งแยกศาสนา เพราะฉะนั้น ตามปกติเราจะไม่ตำหนิติเตียนศาสนาไหนๆ แต่เมื่อมีคำกล่าวจาบจ้วงที่จะทำให้เข้าใจผิด ก็จำเป็นต้องพูดชี้แจงเฉพาะในคราวที่จำเป็นอย่างนี้ เพื่อให้ความรู้ความจริงและเกิดความเข้าใจถูกต้อง

การที่เข้าใจกันไปว่า ฝรั่งเจริญเพราะนับถือศาสนาคริสต์อย่างนี้นั้น ก็เป็นเพราะว่า พระเราก็ดี ชาวบ้านญาติโยมเราก็ดี ไม่รู้ประวัติศาสตร์ของประเทศตะวันตกว่าเขาได้สร้างความเจริญนั้นมาอย่างไร ความจริงเรื่องนี้เป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ง่ายๆ คนที่รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศตะวันตก ถ้าได้ยินคนมาพูดว่าฝรั่งเจริญเพราะนับถือศาสนาคริสต์ ก็จะนึกรังเกียจผู้พูดว่าเป็นคนไม่มีความรู้ หลงงมงายไปตามความเข้าใจเอาเองตื้นๆ หรือมิฉะนั้นก็อาจจะพูดออกมาด้วยตั้งใจจะหลอกลวงคนอื่น ให้เขาหลงเชื่อตน

เรื่องราวที่เป็นจริงนั้นตรงกันข้ามกับคำที่เขาพูดเลยทีเดียว กล่าวคือ ฝรั่งตะวันตกเขาเจริญมาได้ในทางวิทยาศาสตร์เป็นต้นนี้ ก็ด้วยการที่เขาพยายามดิ้นรนให้พ้นจากความครอบงำหรือการบีบคั้นของศาสนาคริสต์ต่างหาก ไม่ใช่เพราะนับถือศาสนาคริสต์แล้วเจริญ จะขอเล่าถวายตามประวัติศาสตร์เล็กน้อย

ศาสนาคริสต์นี้ ในประเทศตะวันตก เคยมีอำนาจมาก มีอำนาจในทางการเมือง ขนาดที่ว่าสามารถครอบงำประเทศต่างๆ ในยุโรปทั้งหมด ต้องเชื่อฟัง แม้แต่กษัตริย์ประเทศต่างๆ ก็ต้องให้โป๊ปเป็นผู้สวมมงกุฎให้ ระยะที่ศาสนาคริสต์มีอำนาจครอบงำประเทศตะวันตกนั้น ฝรั่งเรียกว่า ยุคมืด (Dark Ages)

ในยุคมืดที่ศาสนาคริสต์มีอำนาจมากนั้น ทางศาสนาคริสต์จะไม่ยอมให้คนมาสงสัยพระเจ้าสงสัยคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล แสดงความคิดเห็นขัดแย้ง หรือเห็นต่างไปจากคัมภีร์ไบเบิล เช่น เรื่องพระเจ้าสร้างโลก บันดาลสิ่งต่างๆ สร้างโลกใน ๗ วัน ทำไมจึงต้องสร้างแสงสว่างก่อน แล้วสร้างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ทีหลัง พระเจ้ามีอำนาจสร้างโลกบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างและมีมหากรุณา ต้องการให้มนุษย์มีความสุข แต่ทำไมจึงสร้างโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา ทำไมสร้างให้บางคนเกิดมาพิกลพิการปัญญาอ่อน ต้องมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ยากเดือดร้อนแสนลำเค็ญ ทำไมจึงบังคับซาตานไม่ได้ ทำไมจึงปล่อยให้มีศาสนาอื่นๆ แล้วกลับไปลงโทษคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ เหล่านั้น หาว่าเขานับถือผิดๆ ทำไมพระเจ้าไม่ลงโทษตัวเองที่ปล่อยละเลยหรือสร้างคนที่ตั้งศาสนาอื่นๆ ขึ้นมา ฯลฯ อะไรทำนองนี้ ใครจะพูดแสดงความสงสัยไม่ได้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้น คนจะคิดในเรื่องความจริงต่างๆ ก็พูดไม่ได้

ยิ่งกว่านั้น เพื่อบังคับควบคุมให้ได้ผลเต็มที่ ศาสนาคริสต์ก็เลยตั้งศาลขึ้นมา เขาเรียกว่าศาล Inquisition ซึ่งแปลไทยว่า ศาลสอบสวนศรัทธา ใครที่พูดออกมาแสดงความสงสัยเกี่ยวกับพระเจ้าสงสัยคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล เขาก็จับเอาไปขึ้นศาลนี้แล้วก็ลงโทษๆ เช่น เผาทั้งเป็น หรืออาจจะประหารชีวิต หรืออาจจะขังคุก หรือให้ดื่มยาพิษ ดังที่นักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์อย่างบรูโน (Bruno) และกาลิเลโอ (Galileo) ถูกจับตัดสินโทษมาแล้ว โดยเฉพาะบรูโนนั้นถูกเผาทั้งเป็น เพราะคิดเห็นขัดกับเรื่องพระเจ้าสร้างโลก

ศาลของศาสนาคริสต์นี้ได้ฆ่าคน เผาคน ให้คนดื่มยาพิษไปมากมาย เพื่อไม่ให้คนรู้เข้าใจโลกและชีวิตแปลกไปจากคำสอนในไบเบิล

แต่เพราะการใช้อำนาจบีบคั้นครอบงำนี้แหละ จึงทำให้พวกฝรั่งที่ต้องการแสวงหาความจริงพยายามดิ้นรนกัน เมื่อพูดในที่เปิดเผยไม่ได้ก็ลอบจับกลุ่มกันเงียบๆ ค้นคว้าหาความรู้ และเผยแพร่ความรู้ในหมู่พวกตน ต่อมาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็เจริญขึ้น เพราะยิ่งกดก็ยิ่งดิ้น อันนี้เป็นธรรมดาของมนุษย์

ในที่สุดต่อมา แม้ในทางการเมือง ฝรั่งก็ดิ้นรน จนกระทั่งพ้นจากอำนาจครอบงำของศาสนาคริสต์ไปได้ ประเทศต่างๆ ก็มีการปกครองเป็นอิสระของตนเองอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ทางการศาสนาคริสต์ก็เสื่อมอำนาจลงมา จนกระทั่งว่า มีแต่ วาติกัน ที่เขายอมรับให้เป็นประเทศหนึ่ง ซึ่งว่าที่จริงก็เป็นเพียงเมืองเล็กๆ อยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี

อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า พวกฝรั่งเขามีความเจริญทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมา ตลอดจนความเจริญอื่นๆ ที่เนื่องมาจากวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีอะไรต่างๆ นี้ ก็เพราะว่าเขาดิ้นรนต่อสู้ให้พ้นจากการครอบงำบีบบังคับของศาสนาคริสต์ต่างหาก ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะเขานับถือศาสนาคริสต์แล้วก็เลยเจริญ

ทีนี้ ฝรั่งเขานับถือศาสนาคริสต์นั้น ก็ไม่ใช่ว่านับถือกันมากมายอย่างที่แสดงในตัวเลข เพราะเมื่อวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นแล้ว คนก็เลยไม่เชื่อถือคำสอนในศาสนาคริสต์ คนก็นับถือศาสนาคริสต์น้อยลง ฉะนั้น ความเจริญทางปัญญาและความก้าวหน้าของวิทยาการที่เกิดขึ้นในเมืองฝรั่งนี้ มันสวนทางกับศาสนาคริสต์ มันคนละเรื่องกัน มันเกิดจากคนที่ไม่เชื่อศาสนาคริสต์ และคนที่ถูกศาสนาคริสต์บีบคั้น เช่น นักวิทยาศาสตร์ที่ดิ้นรนค้นคว้า ไม่ยอมเชื่อฟังศาสนาคริสต์ ไม่ยอมให้บาทหลวงบังคับครอบงำ เพราะฉะนั้น อย่าเอามาปนกันไม่ได้ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

เป็นเรื่องน่าขำ แต่คงหัวเราะไม่ออก ในเมืองไทยเรานี้เองทางเมืองเหนือ เมื่อนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์เริ่มเข้าไปทำงานได้เอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น เรื่องสุริยคราส จันทรคราสไปชักจูงชาวพื้นเมืองให้หันมานับถือคริสต์ ที่น่าขำก็เพราะว่าความรู้นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องศาสนาคริสต์ แต่เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์ ที่ทางศาสนาคริสต์เองเคยบีบคั้นกีดกัน บ้างก็ถึงกับถูกประหารชีวิต เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมา แต่พอวิทยาศาสตร์เจริญขึ้น กั้นไม่อยู่ นักบวชศาสนาคริสต์กลับเอาความรู้วิทยาศาสตร์ของคู่ปรปักษ์มาใช้ประโยชน์ ล่อผู้คนให้ดูเหมือนเป็นความรู้ของตัวเอง

หันกลับไปพูดเรื่องเมืองฝรั่ง ส่วนคนที่นับถือศาสนาคริสต์เอง ต่อมาก็แตกแยกกันไปเป็นนิกายต่างๆ นิกายที่สำคัญ ก็มี โรมันคาทอลิก กับ โปรเตสแตนท์ ซึ่งมีการทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรงมาก เพราะว่าศาสนาคริสต์นี่เอาศรัทธาเป็นหลัก เมื่อศรัทธาแล้วก็ทำได้ทุกอย่าง ฆ่าฟันกันก็ได้ และคนที่นับถือต่างนิกายออกไปนี่ เขาถือว่าเป็นบาปอย่างรุนแรง เพราะเป็นคนที่ถูกซาตานหลอกเอาไป ไปเชื่อซาตาน เพราะฉะนั้น เขาก็สามารถจะฆ่าทิ้งเสีย

อย่างในประเทศอังกฤษ สองนิกายนี้ได้ต่อสู้กันมาก บางทีฝ่ายหนึ่งมีอำนาจขึ้นก็ยกกองทัพไปฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง ล้างกันเป็นถิ่นเป็นหมู่บ้านเป็นตำบล ลูกเล็กเด็กแดงก็ไม่ไว้ จึงเดือดร้อนกันมาก จนกระทั่งว่าอีกนิกายหนึ่งที่อ่อนแอกว่า สู้ทนไม่ไหวก็ต้องลี้ภัย เดินทางเสี่ยงภัยไปโลกใหม่

ตอนนั้น อเมริกานี้เป็นโลกใหม่ เพราะว่าเขาเพิ่งค้นพบการเดินทางไปก็ลำบากยากเย็น ต้องผจญภัย เสี่ยงอันตรายมาก อาจจะตายกลางทาง แต่เพราะเหตุที่ว่า ถ้าอยู่ก็ตาย หนีไปยังพอมีทางรอด ก็เลยหนีกันไป ข้ามน้ำข้ามทะเลไป ที่รอดก็ไปขึ้นแผ่นดินใหม่ที่อเมริกานั้น ไปสู้กับอินเดียแดงบ้าง ไปต่อสู้กับความยากลำบากต่างๆ ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ทำให้มีการบุกเบิกแผ่นดินใหม่นี้

ประเทศอเมริกาซึ่งเกิดขึ้นมาในภายหลัง ก็เกิดจากการหนีภัยเบียดเบียนระหว่างนิกายของศาสนาคริสต์นี้ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ฉะนั้น เราจะเห็นว่า ประวัติศาสตร์ชาติตะวันตกที่เกี่ยวกับความเจริญนี้ เป็นเรื่องของการดิ้นรนจากภัย ที่เกิดจากศาสนาคริสต์นี้มากมาย

คนไทยบางคนนึกถึงสภาพปัจจุบันของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยเราว่า มีการแตกแยกทะเลาะวิวาทกันมากมาย ทำให้รู้สึกเสื่อมศรัทธา แต่ถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในศาสนาอื่นๆ อย่างในศาสนาคริสต์ที่เล่ามานี้ เรื่องราวแตกแยกขัดแย้งในวงการพระพุทธศาสนา ก็เป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างแทบไม่มีความหมาย ในหมู่ชาวพุทธจะขัดแย้งกันอย่างมากก็โต้เถียงพูดว่า หรือเขียนว่ากัน ไม่ไปรบราเข่นฆ่ากันเป็นสงคราม

นอกจากนั้น ศาสนาคริสต์ยังมีประวัติด่างพร้อยสำคัญที่แก้ตัวไม่ได้ ก็คือว่าได้มากับลัทธิอาณานิคม ในสมัยที่ฝรั่งมาล่าเมืองขึ้น ซึ่งประเทศไทยเองก็โดนมาแล้วไม่รู้จักจดจำ คนไทยเองน่าจะรู้ประวัติศาสตร์นี้ ในสมัยอยุธยา พวกฝรั่งนักเผยแผ่ศาสนาคริสต์ก็เข้ามากับนักรบ กับทหารที่เข้ามาล่าเมืองขึ้นหรือบางทีก็เป็นตัวนำทางให้แก่ทหารหรือกองทัพ โดยเข้ามาก่อน แล้วก็ให้ทหารเข้ามายึดครองทีหลัง

อย่างในญี่ปุ่น ก็มีเรื่องแบบที่ว่านั้น จนกระทั้งว่า ทางบ้านเมืองผู้ปกครองสมัยนั้นรู้ความลับของฝรั่งเข้า ก็ถึงกับปิดประเทศไปนาน พวกบาทหลวงเข้าไปเผยแผ่ศาสนา พร้อมกับทำงานเปิดทางให้พรรคพวกจากประเทศของตนเองเข้ามาครอบงำเอาประเทศอื่นเป็นเมืองขึ้น ฉะนั้น เราจะเห็นว่าศาสนาคริสต์นี้แผ่ไปพร้อมกับลัทธิอาณานิคม หรือลัทธิล่าเมืองขึ้นของฝรั่ง ฝรั่งจึงได้เมืองขึ้นทั้งในเอเชีย ในแอฟริกา ในอเมริกาใต้อะไรพวกนี้มากมาย

อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ตั้งแต่วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมา คนก็ชักห่างเหินไม่ค่อยเชื่อถือศาสนาคริสต์ การนับถือที่มีอยู่ก็มีมาเรื่อยๆ อย่างนั้นเอง จนกระทั้งในประเทศอังกฤษหรือในอเมริกาเป็นต้น ปัจจุบันนี้ คนที่ไม่ใส่ใจต่อศาสนาคริสต์ก็ผละกันออกไปมาก จนกระทั่งพวกเผยแผ่ศาสนาคริสต์ต้องขายโบสถ์กันก็มากมาย

วัดไทยที่ไปตั้งที่ในอเมริกานั้น บางวัดก็ไปซื้อโบสถ์คริสต์นั่นเองที่เขาเลิก เขารักษาไม่ไหวแล้ว ในอเมริกานั้นฝรั่งขายโบสถ์กันมาก ในอังกฤษก็เหมือนกัน โบสถ์นั้นขายไป แล้วก็เอาไปใช้ในเรื่องสนุกสนานบ้างก็มี อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะรู้ๆ กันอยู่ คนไทยทำไมถึงมาหลงฟังคำของคนเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ที่มาล่อหลอกด้วยคำซึ่งไม่เป็นความจริง ถ้ารู้ประวัติศาสตร์สักนิดหน่อยก็จะเข้าใจ ไม่มีปัญหาเรื่องนี้

ในประเทศตะวันตกนั้น ศาสนาคริสต์ก็เสื่อมลงมาก คนเขาก็ไม่เอาใจใส่ การหาเงินหาทองก็ยากลำบาก อำนาจก็ลดน้อยลงไป และเวลานี้ก็เห็นกันอยู่ว่า เขาหันมาสนใจที่จะเผยแพร่ในทางตะวันออกมาก

น่าจะเป็นข้อพิจารณาว่า เขาอาจจะหันเหความสนใจ หันนโยบายมาทางตะวันออก เพราะว่าพวกประเทศตะวันออกนี้เป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา คนไม่ค่อยเจริญ ไม่ค่อยรู้วิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยรู้ประวัติศาสตร์ ไม่มีความรู้สมัยใหม่ อาจจะถูกพูดจาล่อหลอกให้เชื่อถือได้ง่าย ส่วนทางตะวันตกนั้นมีรอยแผลเก่าลึกใหญ่ที่ไม่อาจจะลืมได้ เขาสอนจะให้คนเชื่อก็ยากแล้ว เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องถอยจากทางด้านโน้นมาทางนี้ จึงควรพิจารณาเองว่า ควรจะตกเป็นเหยื่อเขา ด้วยการฟังคำล่อหลอกหรือไม่ ขอให้ตัดสินด้วยปัญญา

ที่บอกว่าฝรั่งนั้นเขาเบื่อหน่ายทางศาสนาคริสต์มา เราก็เห็นๆ กัน อย่างปัจจุบันนี้ก็มีชาวฝรั่งชาวตะวันตกหันมานับถือพระพุทธศาสนา มาปฏิบัติสมาธิวิปัสสนากัน ศูนย์สมาธิวิปัสสนาก็เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกกันมากมาย แล้วก็มีฝรั่งมาบวชพระมาเมืองไทย พระฝรั่งที่บวชอยู่ตามสำนักต่างๆ ก็มีจำนวนมาก แล้วฝรั่งเหล่านี้ก็กลับไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศเดิมของตนบ้าง ประเทศอื่นในหมู่ตะวันตกด้วยกันบ้าง ก็เห็นๆ กันอยู่

เราจะเห็นว่า ในศาสนาคริสต์นี้ เขาถือเรื่องศรัทธาเป็นสำคัญ และศรัทธานี้เขาบังคับกันด้วย คือใครจะเชื่อต่างจากเขาไปไม่ได้ ในเมื่อเขามีอำนาจเขาก็บีบคั้นเอา บังคับเอา ถึงกับลงโทษ ฆ่าตาย และยกทัพทำสงครามกัน เรื่องจึงได้เกิดอย่างที่ว่ามา

ฝรั่งมีบทเรียนเก่าในเรื่องความรุนแรงนี้มาก และจากการดิ้นรนให้พ้นปัญหาเหล่านี้ ฝรั่งยุคต่อๆ มาจึงเพียรพยายามตั้งกฎกติกากันมากมาย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยและอิสรภาพ เช่น เรื่องเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ฝรั่งนำในเรื่องเหล่านี้ก็เพราะถูกกดบีบและดิ้นมาทั้งมากทั้งนาน

ในทางพระพุทธศาสนานี้ เราไม่เป็นอย่างนั้น ใครจะนับถืออะไรก็เป็นไปโดยอิสระเสรี ให้ใช้ความคิดของตนเอง เราจะไม่มีการกดขี่เบียดเบียนในเรื่องศรัทธาความเชื่อถือ ฉะนั้น ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนานี้ ไม่ว่าใครจะสงสัย จะคิดอย่างไร จะผิดแปลกไป เราก็ไม่จับไปฆ่าไปแกง จึงไม่มีการบีบคั้นเบียดเบียนกันในเรื่องนี้ขึ้น ในแง่หนึ่งก็ทำให้คนไม่ต้องไปดิ้นรนต่อสู้

ถ้าจะว่าการดิ้นรนต่อสู้ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองอย่างนั้น ก็ยอมรับได้ เพราะฝรั่งเขาเจริญมาแบบนั้น ส่วนในทางพระพุทธศาสนานี้ เราไม่มีการบีบคั้น ไม่มีการกดขี่ข่มเหงด้วยเรื่องความเชื่อ มันก็เลยทำให้คนไม่ดิ้นรน ก็เลยอยู่กันไปสบายๆ อยู่กันไปเรื่อยๆ

สรุปว่า ลักษณะที่จะเห็นได้ว่าต่างกันระหว่างพระพุทธศาสนากับคริสต์ศาสนานั้น ถ้าไม่พูดถึงด้านคำสอน พูดเฉพาะลักษณะอาการปฏิบัติในภายนอก

ประการที่หนึ่ง ทางศาสนาคริสต์นั้น ถือเอาศรัทธาเป็นใหญ่ และศรัทธาของเขานี้มีความหมายเป็นการกำหนดว่า ต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ คือมีลักษณะบังคับด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าหากใครไม่เชื่อก็ว่าเป็นบาป ทีนี้ ถ้าเขามีอำนาจ เขาก็จะบีบบังคับว่าต้องให้เชื่ออย่างที่เขาสอนไว้ จะไปสงสัยอะไรไม่ได้ จึงมีเหตุเกิดขึ้นในทำนองที่ว่า มีการตั้งศาลจับกุมลงโทษถึงกับฆ่าฟันประหารชีวิตอะไรกัน

ส่วนในทางพระพุทธศาสนานั้น ก็ถือศรัทธาเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนาด้วยเหมือนกัน แต่ให้เป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยเหตุผล ใช้ปัญญา ให้คนมีสิทธิที่จะสงสัยพิจารณาไตร่ตรอง เพราะฉะนั้น เราก็จึงต้องให้โอกาสแก่คนที่จะคิด มีเสรีภาพทางความคิด จึงไม่มีเหตุที่จะไปบีบบังคับกัน

ประการที่สอง ลักษณะการเผยแผ่ของศาสนาคริสต์นั้น มุ่งอำนาจทางการเมืองด้วย โดยเข้าไปมีอำนาจในการปกครองของประเทศ ถ้าหากว่าตัวมีกำลังมากก็สามารถที่จะครอบงำประเทศได้หลายๆ ประเทศ อย่างในยุโรปนั้น ก็เคยมีอำนาจครอบคลุมทั้งหมดทั่วทั้งยุโรป อย่างที่ได้เล่าแล้วว่า โป๊ปจะต้องเป็นผู้สวมมงกุฎให้กษัตริย์ประเทศต่างๆ และมีอำนาจที่จะบังคับกษัตริย์นั้นเดินเท้าเปล่ามาจากประเทศของตน มาคารวะหรือมาสารภาพผิดต่อโป๊ปอะไรทำนองนี้ การที่มีอำนาจทางการเมืองหรือแสวงหาอำนาจทางการเมืองนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และเมื่อมีอำนาจทางการเมือง ก็เลยไปใช้อำนาจบีบคั้นคนในเรื่องความเชื่อถือด้วย

ส่วนในทางพระพุทธศาสนานี้ ท่านสั่งสอนคนในทางการเมืองการปกครอง ให้ผู้ปกครองประเทศปกครองให้ดีให้มีคุณธรรม แต่ว่าทางฝ่ายพระนี้ จะไม่เข้าไปยุ่งทางการเมือง ไม่มีอำนาจทางการเมืองเอง ฉะนั้น ก็จะไม่มีเหตุการณ์แบบที่ว่าพระพุทธศาสนานี้ไปกับลัทธิล่าอาณานิคม หาเมืองขึ้นอะไรเพราะเราไม่ไปยุ่งกับการเมือง ไม่เข้าไปครอบงำทางการเมือง ไม่ไปมีอำนาจทางการเมือง ฉะนั้น ลักษณะนี้จึงต่างกัน ซึ่งควรจะเข้าใจไว้

นี่ก็เป็นสภาพความเป็นจริง ความเป็นมาในประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบันนี้ ถ้ามีโอกาสมันก็มีทางจะเป็นอย่างนี้ได้อีก จึงควรจะศึกษาสิ่งเหล่านี้ให้เข้าใจตามความเป็นจริง ถ้าเราได้ศึกษา มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์บ้างแล้ว ก็จะช่วยให้วินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ได้ถูกต้อง ตนเองก็จะไม่หลงคิดผิดพลาดไป และก็จะไม่ถูกใครมาล่อหลอกชักจูงให้ไขว้เขวด้วยความไม่รู้ หรือไร้วิจารณญาณ

อย่างไรก็ตาม ที่ชี้แจงมานี้มิใช่จะให้เกิดความชิงชังชาวคริสต์หรือผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ เพียงแต่เป็นความจำเป็นที่ต้องชี้แจงให้รู้เข้าใจกัน เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น คือมีการพูดให้เข้าใจผิด และที่เราทำนี้ก็เป็นเรื่องทางปัญญา ว่าไปตามเหตุผลและความจริง

ที่จริงนั้น เวลานี้องค์กรใหญ่ของศาสนาคริสต์เองก็ได้เผยแพร่นโยบายที่จะสัมพันธ์กับศาสนาอื่นๆ ในทางสมัครสมาน แต่ผู้เผยแพร่ที่อยู่ในถิ่นต่างๆ ก็อาจจะทำอะไรๆ ไปตามความคิดความต้องการของตน บางแห่งเมื่อเห็นว่าคนไทยโง่เขลา พระสงฆ์ก็ไม่รู้เท่าทัน เขาก็เลยเห็นเป็นโอกาสที่จะหลอกล่อไป

ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือชาวพุทธนั่นเอง นอกจากจะต้องรู้จักหาความรู้หาความจริงแล้ว ก็ต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เช่น ว่าอย่ามัวติดเพลินกับความสุขสบายและความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน แล้วมัวเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา โดยเฉพาะพระสงฆ์จะต้องตั้งใจเอาหลักธรรมที่แท้ของพระพุทธเจ้ามาสอนประชาชน ให้กระตือรือร้นขยันขันแข็งในการทำหน้าที่การงาน มุ่งมั่นสร้างสรรค์ชีวิต ครอบครัว และประเทศชาติให้เจริญมั่นคงและมีสันติสุข

ผมขอตอบจดหมาย โดยตอบข้อสงสัยของท่านปลัดเพียงเท่านี้ก่อน และหวังว่าคำตอบนี้คงจะเป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้ญาติโยมเข้าใจความจริงได้ตามสมควร

ด้วยความนับถือ
พระเทพเวที

1แยกคัดมาเรียบเรียงจากตอนหนึ่งใน “พระธรรมทูตไทย เบิกทางสู่อารยธรรมใหม่” (จัดทำไว้ตามคำอาราธนาของคุณนพพร บุณยประสิทธิ์ ณ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๙)
2ดู ตอบจดหมายใน ภาคผนวก ท้ายเล่ม
3ข้อความบางแห่ง เช่นในย่อหน้านี้ ได้เขียนแทรกเพิ่มหรือทำให้ชัดขึ้นกว่าฉบับเดิม
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง