เริ่มวิวัฒน์ที่กลางวิกฤติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

 

เริ่มวิวัฒน์ที่กลางวิกฤติ1

ต่อแต่นี้ไป เนื่องจากอาตมภาพได้รับนิมนต์ให้แสดงปาฐกถาติดต่อกันไป เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีการพัก จึงจะได้แสดงปาฐกถาตามที่ได้รับอาราธนา ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ขอให้พูดในชื่อเรื่องว่า “พุทธวิธีแก้ปัญหาวิกฤติของชาติ”

เวลานี้ คำว่า “วิกฤติ” นี้ คนไทยได้ยินบ่อยมาก แล้วก็เป็นเรื่องวิกฤติทางเศรษฐกิจ การจัดรายการพูด การประชุม การอภิปราย ปาฐกถาจะมีเรื่ืองวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจนี้บ่อย การประชุมครั้งนี้ก็ไม่เว้นเหมือนกัน พอเริ่มต้นการประชุมเรื่องแรกก็ให้พูดเรื่องแก้วิกฤติ

วิกฤติ ถ้ามองสั้น อาจต่อด้วยวิบัติ
วิกฤติ ถ้ามองยาว อาจเป็นจุดเริ่มของวิวัฒน์

วิกฤติเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เป็นเรื่องหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเปลี่ยนไป ความจริง คำว่า วิกฤติ ที่ว่าจะเปลี่ยนไปนั้นไม่แน่ว่าจะเปลี่ยนไปทางร้ายหรือทางดี คือถึงจุดที่ ถ้าพูดด้วยภาษาสามัญก็เรียกว่าย่ำแย่ที่สุดแล้ว พอถึงจุดย่ำแย่ที่สุดก็เป็นจุดเปลี่ยน

ที่ว่าเปลี่ยนนี่ เพราะว่าย่ำแย่แล้ว คนก็เลยนึกไปในทางที่ไม่ดี ความจริงที่ว่าวิกฤตินั้นอาจจะเปลี่ยนไปในทางดีก็ได้โดยทั่วไป แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง เมื่อแย่หรือตกต่ำถึงที่สุดแล้ว การเปลี่ยนก็ต้องเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่อย่าประมาท บางทีแย่ที่สุดแล้วก็กลายเป็นพินาศไปเลย เพราะฉะนั้นจึงมีสองทาง อย่าให้เปลี่ยนจากวิกฤติ เป็นพินาศหรือเป็น วิบัติ วิกฤติกับวิบัติ เป็นคำที่ใกล้ๆ กันอยู่ เราก็ให้เปลี่ยนไปในทางดี ให้เป็น วิวัฒน์ อย่าเป็นวิบัติ เมื่อเป็นวิวัฒน์ก็เจริญต่อไป

ท่ามกลางสภาพที่เป็นวิกฤตินั้นย่อมจะมีข่าวตื่นเต้นมาก คนตื่นเต้นกันอยู่แล้ว ยังได้ยินข่าวตื่นเต้นอีกก็เลยยิ่งตื่นกันใหญ่ ถ้าตื่นเต้นมากก็กลายเป็นตื่นแตก ตื่นแตกก็เสียหาย แล้วก็มัวแต่วุ่นวายกับเรื่องเฉพาะหน้า

ความจริง ในระยะเวลาอย่างนี้ เราอย่าไปมองเฉพาะเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นเฉพาะหน้า ถ้ามองแต่เฉพาะหน้าบางทีก็ลืมมองระยะยาว ชีวิตและสังคมของเรายังต้องเดินต่อไปอีกมาก ถ้ามัวแต่มองเพลินเฉพาะหน้าอย่างเดียวโดยไม่คิดตั้งตัวเพื่อมุ่งผลระยะยาว จะทำให้แก้ปัญหาได้ยาก ถ้าเราตั้งสติให้ดี มองไปข้างหน้า บางทีใจเราจะเย็นลง และจะเกิดมีความหวัง เพราะฉะนั้นจึงเหมือนกับต้องมาเตือนกันว่า โอ! อย่ามัวตื่นเต้นเฉพาะหน้าจนกระทั่งลืมมองระยะยาวไป

ถ้าเรามัวแต่ตื่นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ก็จะเหมือนคนตื่นสงครามหรือแตกตื่น เวลามีเหตุการณ์ร้าย แล้วตื่นตระหนก คนที่ตื่นตระหนกตกใจบางทีตื่นตะลึง เลยใจเตลิดเปิดเปิง แก้ปัญหาไม่ได้ คนที่จะแก้ปัญหาได้ต้องมีสติ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยต้องจำคติว่า “ตื่นตัว อย่าตื่นตูม” ตื่นตัวตื่นได้ แต่อย่าให้กลายเป็นตื่นตูม

ไม่ต้องพูดถึงเวลามีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นหรอก แม้แต่ยามปกติเราก็ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ ทางพระท่านเรียกว่าไม่ประมาท ตามปกติเราก็ต้องตื่นตัวอยู่แล้ว ยิ่งเวลาเกิดเหตุการณ์อย่างนี้เราก็ยิ่งต้องตื่นตัว แต่อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่าอย่าตื่นตูม ตื่นตูมแล้วเดี๋ยวเป็นกระต่าย

กระต่ายที่ตื่นตูมได้พาให้สัตว์ทั้งหลายในป่าพลอยวุ่นวายกันไปหมด ต้องอาศัยผู้มีปัญญาคือราชสีห์เจ้าป่ามาช่วยแก้ปัญหาให้

ถ้าไม่มัวแต่ตื่นเต้นข่าวร้าย
จะมองเห็นส่วนดีและโอกาสที่จะได้

ความจริงนั้น ท่ามกลางข่าวร้ายก็มีข่าวดีอยู่ด้วยปนกันไป ข่าวร้ายเวลานี้ได้ยินกันมากมาย และข่าวร้ายนั้นก็กลบด้านที่ดีเสีย ทำให้เรามองไม่เห็น อย่างน้อย ถ้าเรามองอีกด้านหนึ่ง โดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดมีที่อื่น หรือแม้แต่ในสังคมไทยของเราเอง สถานการณ์ปัจจุบันนี้ก็ยังดีกว่าที่เคยเป็นมาก่อน

เวลานี้ ที่ตื่นกันมากที่สุดก็คือเรื่องค่าเงินบาท เพราะค่าเงินบาทตกต่ำมาก จาก ๒๖ บาท เดี๋ยวกลายเป็น ๓๐ กว่าบาท เดี๋ยวกลายเป็น ๔๐ กว่าบาท จวนจะเป็น ๕๐ ตอนนี้ดีขึ้นมาหน่อย ๔๙ แล้วกลับมาเหลือ ๔๔ ก็ดีขึ้นมา แต่อย่าไปนอนใจ ถ้าปฏิบัติไม่ถูกก็มีหวังเป็น ๕๐ หรือเลย ๕๐ ได้เหมือนกัน เราอยู่ดีๆ เงินมันก็ลดหายไปเฉยๆ แล้วแถมหนี้ก็เพิ่มขึ้น อย่างคนที่รวยหน่อยเคยเป็นหนี้ ๒๖ ล้านบาท อยู่ดีๆ หนี้นั้นกลายเป็น ๔๙ ล้านบาท ไม่ใช่เฉพาะหนี้เพิ่ม ดอกเบี้ยที่จะชำระหนี้ก็เพิ่มตามขึ้นไปด้วย คนที่ฝากเงินไว้ในพวกเงินทุนหลักทรัพย์ พวกไฟแนนซ์ต่างๆ ก็ทุกข์มาก ไฟแนนซ์ล้มไป ถูกปิดไป ๕๖ แห่ง เป็นข่าวตื่นเต้นทั้งนั้น

ทีนี้มาดูอีกทีว่า ที่ค่าเงินบาทของเราตกจาก ๒๖ เป็นเลย ๔๐ บาทไปนี้ เทียบไปแล้วเคยมีเหตุการณ์ที่ร้ายกว่านี้ ถ้าจะเอาประเภทที่เหมือนกับนิทานอย่างผู้ที่อ่านคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ คงเคยได้ยินเรื่องในอรรถกถาธรรมบทว่าเศรษฐีตกต่ำ เงินกลายเป็นถ่าน พอเงินกลายเป็นถ่านก็หมดความหมาย

ไม่ต้องถึงพุทธกาลหรอก เอาแค่ไม่นานมานี้ ในเขมรตอนที่นายพอลพตขึ้นปกครอง จะสร้างประเทศเขมรใหม่ อะไรต่ออะไรในประเทศเขมรนี้ต้องเริ่มกันใหม่ ตอนนั้นเงินกลายเป็นกระดาษ คือ แกประกาศยกเลิกธนบัตรที่ใช้กันอยู่ ให้เริ่มต้นกันใหม่ ใครมีเงินเท่าไรเก็บกักตุนไว้ก็ไม่มีความหมาย ความจริงเงินก็เป็นกระดาษอยู่แล้ว ไม่ต้องกลายเป็นกระดาษหรอก ที่จริงกระดาษมากลายเป็นเงินตามที่สมมติกัน หรืออย่างเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสร็จใหม่ๆ อาตมภาพเป็นเด็กๆ อยู่ ยังทัน ตอนนั้นมีธนบัตร ๑,๐๐๐ บาท พอสงครามโลกจบไปไม่กี่ปี เงินพันบาทนั้นมีค่าเหลือ ๕๐ สตางค์ ต้องมีการปั๊มตัวเลขกันใหม่ เงินพันบาทเหลือห้าสิบสตางค์

ตอนนี้ของเรา ๑ ดอลลาร์ต่อ ๔๐ กว่าบาท ไม่เป็นไร ยังดีกว่าสถานการณ์ที่เคยวิกฤติมากกว่านี้ ถ้ามองในแง่นี้ก็ทำให้สบายใจขึ้น แต่แง่ที่น่าสบายใจซึ่งเป็นจริงเป็นจังมากกว่าก็คือ ยามนี้เราจะเห็นว่าผู้คนทั่วไปที่เคยฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยนั้น ก็รู้จักยับยั้งชั่งใจ มีการประหยัดกันมากขึ้น และมองอีกด้านหนึ่งก็ไม่ใช่ว่าอะไรๆ จะตกต่ำไปหมด ในขณะที่เงินดอลลาร์แพงขึ้นๆ นั้น เสียงจากญาติโยมทั่วไป ทั้งในกรุงและต่างจังหวัดว่าอาหารค่อนข้างถูกลง

เมื่อวานนี้ไปสุพรรณบุรีมีญาติโยมที่นั่นบอกว่า ตอนนี้ชาวบ้านกินหมูกันจนเบื่อ เพราะว่าไปไหนๆ แม้แต่ข้างถนนก็มีหมูขาย ๓ กิโลเพียง ๑๐๐ บาท ก่อนหน้านี้กิโลละ ๘๐ บาท อาตมาไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะไม่ได้ซื้อหมูด้วย แต่ก็ยังพลอยได้ยินข่าวจากวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจนี้ วิทยุรายงานเรื่องราคาสินค้าทั่วไป ราคาหมูตอนนั้นประมาณ ๗๕-๘๐ บาทต่อ ๑ กิโลกรัม มาตอนนี้อยู่แค่ ๗๐-๗๕ บาท นี้เป็นราคาที่ประกาศเป็นทางการ แต่ที่ชาวบ้านซื้อนั้นเหลือแค่ ๓ กิโลกรัมต่อ ๑๐๐ บาทเท่านัั้นก็มี

ที่พูดนี้ไม่ใช่ว่าของจะถูกไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ให้เห็นว่า ในความเป็นอยู่ของคนทั่วไป ที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับสินค้าต่างประเทศนั้นก็นับว่าพอเป็นอยู่ได้ บางอย่างก็อาจจะดีขึ้นด้วย แต่ทำอย่างไรจะทำให้ของที่ถูกบางอย่างนี้ขยายเป็นถูกทั่วๆ ไป และถูกต่อไปในระยะยาว แต่อย่างน้อยถ้าสินค้าพื้นฐานอย่างเช่น อาหารยังราคาถูก เราก็พออยู่กันได้ หรือของขึ้นไปแต่รายได้ก็เพิ่มอย่างสมดุล ก็ไม่เป็นไร บางทีจะเป็นเพราะเราไปพึ่งสินค้าฟุ่มเฟือยจากเมืองนอกมากเกินไปละกระมัง จึงทำให้เราต้องลำบาก อันนี้ก็เป็นแง่มุมต่างๆ ที่พึงพิจารณา

อย่างเรื่องที่ว่าเมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจทำให้หาการหางานทำยาก เช่นการก่อสร้างเวลานี้อยู่ในฐานะลำบากมาก ต้องหยุด ต้องค้างไปทั่ว ชาวชนบทที่เข้ามาในเมืองนั้น มาทำงานอุตสาหกรรมและทำงานก่อสร้างกันเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้ก็เลยไม่มีงานทำ ต้องกลับถิ่น การกลับถิ่นนั้นดูเหมือนกับแย่ ชาวบ้านบางคนอาจจะบอกว่า แหม เข้ามาหาโชคทั้งที ไม่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นแย่ ต้องตกอับกลับบ้าน แต่ความจริงมองอีกแง่หนึ่ง การที่ชาวชนบทกลับถิ่นก็เป็นการดี (ระยะยาว)

เรากำลังวิตกกังวลกันอยู่ เคยพบกับ ส.ส.บางท่าน เมื่อก่อนวิกฤติทางเศรษฐกิจ เขาบอกว่า ตอนนี้ชุมชนชนบทกำลังจะล่มสลายหรือล้มละลายแล้ว เพราะว่าคนมีกำลังที่จะเป็นทรัพยากรของท้องถิ่นพากันหนีเข้าเมืองหมดแล้ว ชนบทถูกทอดทิ้ง หมู่บ้านต่างๆ เหลือแต่คนแก่กับเด็ก ตอนนี้ก็กลับเป็นว่าถ้ามองในแง่นั้นกลายเป็นดี คนที่เป็นกำลังที่เป็นความหวังของชนบทจะได้กลับไปท้องถิ่นของตัวเอง แต่ทำอย่างไรจะช่วยให้เขาพัฒนาท้องถิ่นขึ้นมา และถ้าคนไทยหันกลับไปฟื้นฟูการเกษตรของเรา ก็จะเป็นแนวทางที่น่าจะถูกต้องด้วยซ้ำ เพราะว่าการเกษตรของเรานี้เป็นพื้นเดิมของประเทศชาติ ประเทศไทยนี้มีความชำนาญพิเศษ ซึ่งถือว่ามีทุนเดิมดีในด้านการเกษตร แต่เรามาทอดทิ้งเพราะเราไปหวังอยากเป็นอุตสาหกรรม เช่นอยากเป็นนิกส์ เป็นต้น ตอนนี้แหละเราจะมีโอกาสที่จะหันกลับไปฟื้นฟูการเกษตร ให้เกษตรฟื้นตัวขึ้นมา

ด้านดียังมีอีกหลายอย่าง เช่น

เมืองไทยเคยเสียดุลการค้าอย่างมาก เพราะชอบนำเข้าสินค้านอก โดยเฉพาะที่ฟุ่มเฟือยต่างๆ แต่มาตอนนี้ สินค้าเข้าเริ่มลดลงๆ สินค้าออกกลับเพิ่มขึ้น ดุลการค้าทำท่าดีขึ้น

ประชาชนเกิดจิตสำนึกที่จะช่วยชาติและช่วยกันมากขึ้น ถ้าจิตสำนึกนี้ยืนยาวต่อไปก็จะดีมาก แต่ก็ควรตั้งข้อสังเกตว่าจะมองกันแค่แคบๆ สั้นๆ หรือเปล่า

ตั้งแต่เกิดวิกฤติมีทุกข์กันมากขึ้นนี้ ผู้คนดูเหมือนจะมาวัดหาพระทำบุญทำทานและฟังธรรมกันมากขึ้น แต่ก็ต้องตั้งข้อสังเกตว่า ทำอย่างไรคนจะไม่หยุดแค่หาที่พึ่งทางจิตใจ แต่ให้ก้าวต่อไปถึงขั้นเอาธรรมเอาหลักคำสอนไปใช้พัฒนาตัวเอง เพื่อทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ และพัฒนาชีวิต พัฒนาครอบครัว พัฒนาสังคมกันต่อไป

ที่เด่นมากอย่างหนึ่ง คือ ตอนนี้ประชาชนสนใจเรื่องการบ้านการเมืองกันจริงจังขึ้น เพราะเห็นตระหนักว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องมาถึงชีวิตของตัวเอง เป็นความสนใจที่แผ่ขยายลงไปถึงชาวบ้านคนใช้แรงงาน แต่ก็ต้องตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกันว่า เป็นความสนใจที่เข้าวิถีของประชาธิปไตยหรือยัง

ส่งท้ายด้วยข้อดีระดับโลก คือวิกฤติคราวนี้ทำให้ชื่อเสียงของเมืองไทยเด่นดังไปทั่วโลก ใครๆ ก็กล่าวขวัญถึงเมืองไทยว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติการณ์เศรษฐกิจของเอเชียครั้งนี้ ซึ่งมีผลกระทบไปทั่วโลก แต่ข้อนี้จะเรียกว่าชื่อเสียงหรือชื่อเสีย ก็ยังน่าสงสัย

นี่ก็เป็นแง่มุมต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นทางที่ดี และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องก็ได้ ตรงกันข้าม ถ้าเราเดินทางต่อไปในวิถีทางก่อนวิกฤตินี้เสียอีก อาจจะกลายเป็นความผิดพลาดมากในระยะยาวจนกระทั่งแก้ตัวไม่ไหว เพราะฉะนั้นการที่มาเจอวิกฤติเสียตอนนี้จะได้กลับตัวทัน จึงอาจจะกลายเป็นดีไปเลย จึงบอกว่าอาจจะเป็นระยะเวลาเริ่มต้นที่ถูก คือเริ่มวิวัฒน์ ก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ให้เพียงพอ แล้วก็จับจุดของตัวเองให้ถูกว่าอะไรจะเป็นทางแห่งความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง

สถานการณ์อื่นๆ ที่เราน่าจะมองก็เช่นว่า ตามปกตินั้นคนเวลามีความทุกข์ยาก โดยเฉพาะเวลามีทุกข์ร่วมกันจะเกิดความสามัคคี เห็นอกเห็นใจกัน ซึ่งมีร่องรอยบ้างว่าคนไทยเริ่มเห็นอกเห็นใจกัน แต่ก็ยังต้องมองต่อไปอีกว่าแง่ดีที่ว่านี้จะเกิดขึ้นจริงจังหรือไม่ คือการที่คนไทยจะมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ถ้าเราปรารภเหตุการณ์ร้ายแล้วเกิดความสามัคคีขึ้นมาจริงๆ ก็นับว่าเป็นผลดีอีกอย่างหนึ่งที่สังคมควรจะยินดีได้มาก และถ้าเรารักชาติกันจริงๆ ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จะแสดงออกแล้ว จะได้ดูว่าคนไทยมีความจริงใจต่อประเทศชาติแน่แท้หรือเปล่า ไม่ต้องพูดถึงรักชาติละ เอาแค่จริงใจต่อประเทศชาติก็พอ ตอนนี้เราจะสำรวจตัวเองและสำรวจพวกเรากันเองได้

ถึงแม้วิกฤติมา ถ้าสำรวจตัวเอง ก็เริ่มตั้งตัวได้

ที่พูดมานี้ก็เป็นแง่มุมต่างๆ ที่เราทั้งหลายจะได้เห็นว่า โอกาสนั้นมีอยู่ ในท่ามกลางของปัญหาความทุกข์ยากและความวิกฤตินี้ อย่างน้อยเราก็จะได้สำรวจตัวเอง แล้วก็มีโอกาสที่จะฝึกฝนตนเองด้วย ถึงแม้จะอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่พอเราหันมามองดูเพื่อสำรวจตัวเอง สติก็มา และพอสำรวจก็เริ่มมองเห็นอะไรๆ ปัญญาก็เกิด

ลองเอาพุทธภาษิตบทหนึ่งมาใช้ พุทธภาษิตง่ายๆ บทนี้มีประโยชน์มาก ใช้สำรวจตัวเองของพวกเราได้พอเลย แล้วก็บ่งชี้โอกาสที่จะตั้งต้นเดินทางต่อให้มีความเจริญงอกงามสืบไปด้วย

พุทธภาษิตบทนี้มาในชาดก ง่ายมาก ท่านกล่าวถึงเกณฑ์วัดผลการครองชีวิตของผู้ครองเรือน ว่ามีความสำเร็จหรือความดีขนาดไหน แบ่งเป็น ๔ ขั้น ลองดูซิว่า ๔ ขั้นมีอะไรบ้าง ท่านกล่าวว่า

คนครองเรือนขยัน ดีข้อ ๑
มีทรัพย์แล้วแบ่งปัน ดีข้อ ๒
ยามรุ่งเรืองไม่เหลิงลอย ดีข้อ ๓
ถึงคราวเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจ ดีครบ ๔ (๒๗/๑๑๗๕)

แค่นี้แหละ สำรวจตัวเองได้เลย ๔ ข้อนี้เราได้ครบไหม ได้เกรด A หรือเปล่า เดี๋ยวนี้เขาวัดกัน ๔ ขั้น อย่างนักเรียนที่สอบ ถ้าได้ ๔ ก็เต็ม ดูซิว่าเราได้ ๔ หรือได้แค่ไหน

ที่ผ่านมานี้ เริ่มต้นขั้นที่ ๑ เราขยันจริงไหม ที่เรามีความเจริญรุ่งเรืองจนค่อนข้างจะมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ขนาดที่ว่าปีหนึ่งมีความขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นสูงถึงประมาณ ๘.๕% ก่อนที่จะทรุดฮวบฮาบลงมาติดลบในตอนนี้นั้น ความรุ่งเรืองนั้นเกิดจากความขยันหมั่นเพียรในการสร้างสรรค์หรือในการผลิตเป็นต้นหรือเปล่า หรือเป็นเพียงความเจริญมั่งคั่งตามกระแสที่ไหลลอยมา หรือเป็นเพียงสมบัติที่ยืมเขามาชื่นชม ถ้าความมั่งคั่งรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นในยุคก่อนนั้นเกิดจากความขยันหมั่นเพียรในการสร้างสรรค์จริง ก็นับว่าขยัน ได้ดีข้อ ๑

ต่อไปข้อ ๒ ว่า มีทรัพย์หรือได้ทรัพย์แล้วแบ่งปัน หมายความว่า เวลารุ่งเรืองมั่งมีขึ้นมาแล้วก็รู้จักช่วยเหลือแบ่งปันกัน เฉลี่ยเจือจานให้อยู่เป็นสุขกันอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ใครมีโอกาสรวยขึ้นมาก็สำเริงสำราญหาความสุขบำเรอตัวมัวเมา ที่ยากไร้ก็ถูกปล่อยให้จนกรอบ ดูซิขั้นที่ ๒ นี้เราได้คะแนนไหม

ต่อไปขั้น ๓ ยามรุ่งเรืองไม่เหลิงลอย ตอนที่มั่งคั่งพรั่งพร้อมนี้ เราอยู่กันด้วยความมีสติสำนึกตัว มีความระมัดระวังชั่งใจไม่ประมาท อยู่กันด้วยความเรียบง่ายพอสมควร มีความสันโดษ อยู่อย่างมัธยัสถ์พอดีๆ หรือว่าเหลิงลอย คือฟุ้งเฟ้อ มัวแต่อวดโก้ หลงใหลไปตามค่านิยม ไม่ใช้ปัญญามองดูโลกด้วยความรู้ตระหนักเลื่อนลอยอยู่ในโมหะ ข้อนี้หลายท่านตอบว่า เอ ของเรานี่ดูเหมือนจะค่อนข้างเหลิงนะ และอาจจะเป็นเพราะความเหลิงลอยฟุ้งเฟ้อนั้นแหละ จึงเป็นเหตุให้ร่วงละลิ่วลงมาสู่ความเสื่อมถอยขั้นวิกฤติในปัจจุบัน

ทีนี้มาถึงปัจจุบันก็เข้าในขั้น ๔ คราวเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจ เอาละ ก็มาพิสูจน์ด้วยข้อสุดท้ายกันเลย ตอนที่กำลังวิกฤตินี้เรามีกำลังใจดีไหม ถ้าคะแนนข้อที่ผ่านมาไม่ค่อยดี มาถึงข้อนี้ต้องเอาดีให้ได้ อย่าหมดกำลังใจ ถ้าหมดกำลังใจก็เสียหมด เพราะถ้าเสียทั้ง ๔ ขั้นก็ศูนย์เท่านั้นเอง อย่างน้อยปัจจุบันนี้อย่าให้ศูนย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเสื่อมถอยก็ต้องไม่หมดกำลังใจ แต่ถ้าเราทำดีมาตลอด ได้ ๓ มาแล้ว ตอนนี้ถ้าทำอีก ๑ ก็จะได้เต็ม

เป็นอันว่า ยุคปัจจุบันนี้ข้อสำคัญก็คืออย่าหมดกำลังใจ เอาพุทธพจน์แค่นี้ง่ายๆ เอามาตรวจสอบสำรวจตนเองแล้ว ก็จะเป็นโอกาสในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองต่อไป

ถ้าพวกเราคราวเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจได้แล้ว ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งต้น ๑ ใหม่ คือต้องขยันดีข้อ ๑ กันละตอนนี้ ถึงเวลาที่ต้องหันมาเวียนเริ่มต้นวงจรคือต้องขยันดีข้อ ๑ ทำอย่างไรคนไทยเราจะเป็นคนขยัน รู้จักทำรู้จักหมั่นเพียรสร้างสรรค์ไม่ย่อท้อ ข้อสำคัญที่ว่าขยันก็คือ ขยันในการผลิตในการสร้างสรรค์ ไม่ใช่ขยันแต่ในการบริโภค ถ้าขยันบริโภคก็ลำบาก คำว่าขยันนี่ต้องหมายความว่า ขยันจัดขยันทำคือสร้างสรรค์ นี้เป็นตัวอย่างของการที่จะมองสถานการณ์ให้ได้ประโยชน์ เอาละ ได้พูดถึงเรื่องปัญหาและสำรวจตนเองกันมาพอสมควรแล้ว

เวลานี้ถือว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้ตั้งตัวให้ถูกต้องต่อไป คิดว่า การมองในแง่ตั้งต้นให้ถูกนี่ดีที่สุด ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่สุดที่เมืองไทยจะตั้งต้นสร้างชาติ โดยแก้ไขความผิดพลาดที่ผ่านมา แล้วก็จัดปรับทำทุกอย่างให้ดีทั้งหมด

การตั้งต้นใหม่นี้เมื่อจำเป็นจะต้องตั้งต้นก็ตั้งต้นให้มันดีที่สุด เรามาเริ่มต้นตั้งแต่การแก้วิกฤติ และนี่ท่านบอกว่าให้พูดเรื่องพุทธวิธีในการแก้วิกฤติของชาติ เรามาตั้งต้นกันตอนนี้ ให้เป็นการเริ่มวิวัฒน์กันที่กลางวิกฤติ นี่แหละ

เร่งแก้ปัญหาระยะสั้น ให้สัมพันธ์กับการแก้ปัญหาระยะยาว

ในการแก้วิกฤตินั้นบอกแล้วว่าเรามักจะมองเฉพาะหน้า ซึ่งเป็นระยะสั้น แต่ในการแก้ปัญหาระยะสั้นนั้นถ้าไม่มองระยะยาวประกอบไปด้วย แม้แต่การแก้ปัญหาระยะสั้นก็จะไม่ได้ผลจริง ฉะนั้นจึงต้องมองยาวมองไกล แต่ก็ต้องพูดเป็นขั้นเป็นตอน

ตอนแรกนี่พูดถึงการแก้วิกฤติเฉพาะหน้าก่อน เวลาเรือแตก เวลาไฟไหม้ จะทำอย่างไร? ก็ต้องช่วยคนที่จะตายก่อนซิ อันนี้สำคัญ แต่อย่าลืมว่าเราก็อยู่ในเรือที่แตกด้วยกัน ไม่ใช่คนนอก เดี๋ยวจะไปนึกว่าเราเป็นคนนอกจะเข้ามาช่วยคนที่ติดไฟ คนที่จะจมน้ำ เป็นต้น

เราก็อยู่ในเรือที่แตกด้วย เราก็อยู่ในตึกที่ไฟไหม้ด้วย เราจะทำอย่างไร เราก็จะต้องช่วยตัวเองให้ดีด้วย คือตัวเองก็ต้องมีความแข็งแรงตั้งตัวได้ พร้อมกันนั้นก็ไม่ทอดทิ้งคนอื่น และพยายามช่วยเหลือเขา แต่สิ่งสำคัญก็คือสำหรับคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมนี้ต้องช่วยคนที่จะตายให้รอด ให้เขามีทางไป อย่างน้อยก็ช่วยชี้นำบอกทางออกให้พ้นไฟ หนีไฟไปทางนี้นะ ชวนกันไป ไม่ใช่เอาตัวรอดคนเดียว ทั้งนี้ก็ต้องสุดแต่สถานการณ์ด้วย แต่หมายความว่าจะต้องมีการคำนึงคิดถึงกันในการที่จะช่วยคนที่สิ้นทางหมดทาง เรื่องนี้มีความสำคัญมากในขณะนี้ เพราะถ้าปล่อยปละละทิ้งเขา ก็จะทำให้สังคมเริ่มตั้งต้นในทางที่ไม่ดี การตั้งต้นที่ดีก็คือ ช่วยกันในขณะนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ แล้วความสามัคคีก็จะมีมา

อีกอย่างหนึ่ง ในสถานการณ์อย่างที่กล่าวคือคนกำลังแตกตื่นตระหนกตกใจนี้ ก็จะต้องมีการรักษาความสงบและความมีสติมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ทำอย่างไรจะให้คนที่อยู่ในสถานการณ์นี้ตั้งสติได้ โดยเฉพาะการวางตัวและการทำหน้าที่ของผู้ที่เป็นผู้นำ แต่ก็ต้องเริ่มจากตัวเองของทุกคน เริ่มแต่จะต้องตั้งสติให้ได้ อย่าแตกตื่น อย่าตระหนกตกใจอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ถ้าเป็นหัวหน้าหมู่ชนก็พยายามปลุกใจให้ปัญญา ที่จะให้เกิดกำลังใจกันขึ้นมา พร้อมทั้งให้มองเห็นอะไรๆ เข้าใจสถานการณ์ชัดขึ้น และให้สติที่จะไม่แตกตื่นมัวแต่ตระหนก

อีกอย่างหนึ่งก็คือ สถานการณ์ที่เรียกว่าการช่วงชิง การแย่งกันออก การหาทางรอดให้กับตัวเอง ในสถานการณ์อย่างนี้ สิ่งที่น่ากลัวคืออาชญากรรม ซึ่งจะต้องเตรียมป้องกันให้ดี เรื่องอาชญากรรมนี่ก็รวมอยู่ในเรื่องของการรักษาความสงบมั่นคง ไม่ให้ตื่นตระหนกตกใจ เป็นการรักษาพื้นฐานของสังคมไว้ ใครมีหน้าที่อะไรก็แบ่งกันไปทำเรื่องนั้น แต่ลึกลงไปก็คือในจิตใจต้องมีกำลังใจ เอาทุกข์มาปลุกใจ

เรื่อง เอาทุกข์มาปลุกใจ นี้คือการเอาส่วนดีของทุกข์มาใช้ อย่างที่ในพระพุทธศาสนาท่านสอนเริ่มต้นด้วยทุกข์ เพราะอย่างน้อยคนที่จะแก้ปัญหาก็ต้องรู้จักทุกข์รู้จักปัญหาก่อน แต่อีกอย่างหนึ่งที่ว่าทุกข์มีประโยชน์ก็คือ คำว่าทุกข์นี้แปลว่าบีบคั้น ทุกข์เป็นตัวบีบตัวคั้น การบีบคั้นกดดันทำให้เกิดแรงดิ้น แรงดิ้นนี้ดีตอนที่ว่าทำให้คนไม่ประมาท ไม่นอนไม่เฉย แต่จะลุกขึ้นดิ้นรน พยายามที่จะหาทางออกแล้วก็เกิดกำลัง ถ้าเราใช้แรงดิ้นหรือพลังดิ้นให้เป็นประโยชน์ เราก็จะเดินหน้าต่อไปได้ แต่คนที่มีทุกข์นี้ ในตอนที่ดิ้นรน ถ้าอยู่ในอาการตระหนกตกใจ ก็จะเตลิดกลายเป็นซ้ำเติมตัวเองให้ยิ่งเสียหาย เพราะฉะนั้น ตอนนี้ทำอย่างไรจะมีสติด้วยพร้อมกับเอาพลังดิ้นหรือแรงดิ้นจากความทุกข์มาใช้ประโยชน์ให้ได้ เรียกว่าเป็นการเอาทุกข์มาเป็นเครื่องปลุกใจ ถ้าเราใช้เป็นก็เป็นประโยชน์

ทุกข์นั้นคู่กับสุข คนเรามุ่งหมายสุข ตามวงจรปกติของปุถุชนมีคติว่า เมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย อันนี้เป็นธรรมดา แต่พอทำสำเร็จแล้ว พอผ่านพ้นทุกข์ภัยไปได้ สมใจสุขสบายแล้ว ตอนนี้ก็มีแนวโน้มจะเฉื่อยลงหรือจะนอนเสวยความสุข คนที่สุขสบายจึงมักกลายเป็นคนหยุด พอหยุดแล้วก็เลยขี้เกียจเฉื่อยชา ก็เลยกลายเป็นว่า ความสุขกลับมีโทษ เพราะทำให้คนหยุดนอนสบาย แต่ความทุกข์ทำให้คนดิ้น มีกำลัง ดังนั้นคนที่ประสบความสำเร็จจึงมาจากคนที่ประสบทุกข์หรือถูกบีบคั้น มากกว่าคนที่มีความสุข เพราะคนที่มีความสุขมักจะหลงเพลิดเพลินนอนสบาย เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราก็เอาทุกข์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ นี่คือการรู้จักใช้ทุกข์ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะต้องคอยระลึกว่าทุกข์นั้นต้องใช้ให้เป็น ส่วนความสุขนั้น เดี๋ยวจะพูดต่อไป แต่ตอนทุกข์นี่ เมื่อใช้เป็นก็เป็นประโยชน์มาก นี่เป็นด้านจิตใจ ที่ว่าต้องมีจิตใจเข้มแข็ง และรู้จักวางใจต่อความทุกข์ให้ถูกต้อง ให้เป็นเครื่องปลุกใจ

อีกด้านหนึ่งก็คือปัญญา ซึ่งคู่กับกำลังใจ ปัญญานี้เริ่มตั้งแต่การมองเหตุการณ์ให้ถูกต้อง การไม่มองผิวเผินแค่เพียงปรากฏการณ์แล้วตื่นตูมไป แต่มองให้ลึกซึ้งลงไปถึงองค์ประกอบที่ซ้อนอยู่ข้างใต้หรือภายใน เช่นเหตุปัจจัยเป็นต้น ว่าส่งผลต่อกันมาอย่างไร แม้แต่เหตุปัจจัยในคนไทยแต่ละคนที่มาร่วมมาปรุงแต่งกันเป็นสังคมนี้ อย่างที่พูดแล้วว่าที่เราเป็นอยู่มามีความฟุ้งเฟ้อกันมาก เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม ถ้าเรามองสถานการณ์ได้ถูกต้องโดยวิเคราะห์เหตุปัจจัยได้ เราก็จะพร้อมที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นทุนในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เมื่อมองลึกเข้ามาแล้ว ก็มองกว้างออกไป พร้อมทั้งตั้งจุดมุ่งหมายระยะยาวด้วย

การตั้งจุดมุ่งหมายก็เป็นเรื่องของปัญญา แต่ต้องเป็นการตั้งจุดหมายจากความเข้าใจในสถานการณ์ และเป็นจุดหมายระยะยาวเพื่อจะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ขณะนี้เป็นระยะเวลาสำหรับการใช้ปัญญาในแนวทางนี้ ทั้งวิเคราะห์อดีต ทั้งวางแผนอนาคต ที่พูดมาแล้วนั้นเป็นเรื่องของการตั้งตัวระยะสั้น แต่ต่อไปนี้ สิ่งที่สำคัญก็คือ การแก้ปัญหาระยะยาว คิดว่าเราน่าจะสนใจเรื่องการแก้ปัญหาระยะยาวมากกว่า

ปรับแก้การดำเนินชีวิตของคนไทยเสียใหม่
ก็จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
กลมกลืนกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว

การแก้ปัญหาระยะยาวนั้นทำอย่างไร? คนเราที่เป็นอยู่นี้ต้องดำเนินชีวิตอยู่เสมอ การดำเนินชีวิตนี้เป็นของอยู่กับตัวของทุกคน จากการดำเนินชีวิตของแต่ละคนก็มาประกอบกันขึ้นเป็นสังคม เมื่อแต่ละคนดำเนินชีวิตอย่างไร ก็จะเกิดผลรวมเป็นวิถีชีวิตของสังคมอย่างนั้น จึงกลายเป็นวัฒนธรรมเป็นต้น วิถีชีวิตของสังคมหรือวัฒนธรรมที่เกิดจากการดำเนินชีวิตของคนนี้คงอยู่ยาวนาน จึงเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาระยะยาวด้วย แต่พร้อมกันนั้นมันก็เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเพราะมันก็คือการดำเนินชีวิตเฉพาะหน้าเดี๋ยวนี้นั่นเอง เพราะฉะนั้น เราจึงเชื่อมระหว่างการแก้ปัญหาระยะสั้นกับการแก้ปัญหาระยะยาวด้วยตัวต่อสำคัญคือตัวคนที่ดำเนินชีวิตอยู่นี้แหละ

ถ้าดูกันไป เวลานี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมของเรา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตที่ผิดหรือไม่ ถ้าเราบอกว่าแต่ก่อนนี้เราฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเป็นต้น เราเป็นบริโภคนิยม เห็นแก่การบริโภคมากเกินไป นั่นก็คือความเป็นอยู่หรือการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาด และก็หมายความว่า เรากำลังมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ ในการแก้ปัญหาจากการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดนั้น การแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือ การดำเนินชีวิตเสียใหม่ให้ถูก

ไม่ว่าเราจะแก้ปัญหากันอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่แก้ที่การดำเนินชีวิต ก็ไม่มีทางสำเร็จแน่นอน จะแก้ได้ก็เฉพาะหน้าชั่วคราวเท่านั้น ไม่ว่าจะแก้เรื่องของทรัสต์ เรื่องของธนาคาร หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ล้วนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตราบใดที่คนยังดำเนินชีวิตผิดพลาดก็ไม่มีทางสำเร็จ ถึงแก้ได้ในตอนนี้ ในที่สุดมันก็ต้องย้อนกลับมาเป็นวงจร สังคมก็ต้องเกิดปัญหาอย่างเดิม เพราะฉะนั้น จะต้องแก้ปัญหาด้วยการดำเนินชีวิตที่ไม่ก่อปัญหา โดยเปลี่ยนให้กลายเป็นการดำเนินชีวิตชนิดที่เป็นการสร้างสรรค์ความเจริญ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เมื่อดำเนินชีวิตถูกต้องมันก็เจริญเรื่อยไป และนี่คือจุดรากฐานที่ใช้ได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งมาจากแต่ละบุคคลนี่เอง แล้วก็มาเป็นวิถีชีวิตของสังคม

การดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดก็อย่างที่เห็นง่ายๆ ได้แก่การไม่รู้จักประหยัด การตกอยู่ในความประมาท การเป็นอยู่อย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย อย่างที่มองเห็นง่ายๆ แต่อีกด้านหนึ่งมองให้ลึกลงไป จับให้เห็นจุดที่จะแก้ปัญหาให้ตรงก็คือ การดำเนินชีวิตที่เป็นปัญหานั้นอยู่ที่การที่เป็นแต่นักบริโภค ซึ่งมองด้านตรงข้ามก็คือไม่เป็นนักผลิตนั่นเอง สังคมไทยที่ว่าเป็นคนฟุ้งเฟ้อ เป็นนักบริโภค พร้อมกันนั้นก็คือไม่เป็นนักผลิต ถ้าเราเป็นนักผลิตเราก็ตัดทอนความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยและความเป็นนักบริโภคลงไปได้ นี่ก็คือจะต้องดำเนินชีวิตแบบนักผลิตและเป็นนักสร้างสรรค์ให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัด ทำให้ไม่เป็นผู้เห็นแก่บริโภคเป็นต้น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญซึ่งคิดว่าจะไม่ต้องแจงรายละเอียด เอาเป็นหลักการว่า การแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานที่สุดเพื่อผลระยะยาวก็คือการแก้ไขปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของคนไทย

ขอย้ำอีกทีว่า จะต้องแก้ปัญหาด้วยการดำเนินชีวิตชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา โดยก้าวไปสู่การเป็นนักผลิตและเป็นนักสร้างสรรค์ ถ้าเราดำเนินชีวิตถูกต้องแล้วก็เป็นการแก้ปัญหาไปในตัวของมันเอง

ต้องจัดการศึกษาที่ทำให้คนสามารถดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง

ขอตั้งข้อสังเกตในที่นี้ว่า เมื่อพูดถึงการดำเนินชีวิตก็เป็นปัญหาของการศึกษาโดยตรง เพราะการศึกษาที่แท้เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิต การศึกษานั้นเป็นการพัฒนาชีวิต ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่จะเป็นอยู่หรือดำเนินไปได้ดียิ่งขึ้น ตอนแรกเราดำเนินชีวิตไม่เป็น แต่เมื่อมีการศึกษาก็คือ ดำเนินชีวิตเป็น เช่น ในการเลี้ยงลูก การเลี้ยงดู ก็คือ การให้การศึกษา เช่น พ่อแม่เลี้ยงดูลูก หมายความว่าอย่างไร การเลี้ยง ก็คือ การช่วยเกื้อหนุนเอื้อโอกาสและส่งเสริมให้เขาพัฒนาความสามารถที่จะดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง การเลี้ยงมีความหมายอย่างนี้ เพราะว่าถ้าเขาดำเนินชีวิตได้เอง เราก็ไม่ต้องเลี้ยง

คนส่วนมากมองความหมายของการเลี้ยงดูว่า เป็นการเอาปัจจัย ๔ หรือเครื่องบำรุงบำเรอมาให้ บางทีเรามองพลาดไปถึงขนาดนี้ นึกถึงการที่พ่อแม่เอาอะไรต่อมิอะไรมาให้ลูกว่านั่นคือการเลี้ยง แต่นั่นเป็นการมองเลยความหมายของการเลี้ยงไปแล้ว

บางทีเราพูดว่าเลี้ยงตัว เช่นเวลาเดินบนแผ่นไม้เล็กๆ ทอดข้ามคลอง คนไม่ชำนาญเดินไม่ได้ คอยจะหล่น ต้องเลี้ยงตัว ถ้าเมื่อไรเขาเลี้ยงตัวได้ นั่นก็คือเขาสามารถเดินไปตลอดรอดถึงฝั่ง คนที่เลี้ยงตัวไม่ได้ ก็คือยังดำเนินชีวิตไม่เป็น ดำรงชีวิตอยู่ไม่รอด พ่อแม่เป็นต้นจึงต้องมาเลี้ยงดู ซึ่งก็คือ มาช่วยเกื้อหนุน จัดสรรโอกาส สร้างสภาพแวดล้อม และสิ่งเอื้ออำนวยต่างๆ เพื่อให้เขาเตรียมตัวฝึกตัวเรียนรู้พัฒนาตัวไปสู่การดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง

เมื่อเขาดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเองก็คือ เขาเลี้ยงตัวได้ เราก็เลิกเลี้ยงได้ ฉะนั้นการเลี้ยง ก็คือกระบวนการเกื้อหนุนให้คนได้เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง พูดสั้นๆ ว่า การเลี้ยงคือการช่วยให้เรียน การเลี้ยงจึงคู่กับการเรียน ซึ่งก็คือการศึกษานั่นเอง

ถึงตอนนี้ก็ได้หลักที่ต้องการ คือ การศึกษาจะต้องช่วยให้คนดำเนินชีวิตที่ดีได้ด้วยตนเอง ทั้งรอดและถูกต้อง ถ้าคนดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องก็แสดงว่าการศึกษายังไม่ได้ผลจริง ฉะนั้น ถ้าคนไทยดำเนินชีวิตมาผิดก็แสดงว่าการศึกษาของเรายังไม่ได้ผลจริง เพราะยังไม่สามารถช่วยให้คนดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นอันว่าเราจะต้องเอาใจใส่แก้ไขปัญหาการศึกษาให้ได้ผลจริง คือ ให้เป็นการศึกษาที่ออกผลมาสู่การดำเนินชีวิตที่แท้จริง การดำเนินชีวิตอย่างไรถูกต้อง นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องมีความชัดเจน เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของชีวิตคือการฝึกให้คนดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง ผู้ใดดำเนินชีวิตถูกต้องก็เป็นคนมีการศึกษา คือคนที่ได้ฝึกตนดีแล้วนั่นเอง

พุทธศาสนามีหลักการว่า สิกขา หรือการศึกษา คือการฝึกเพื่อให้เขาดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง เมื่อเขาดำเนินชีวิตได้ถูกต้องก็เป็นมรรค มรรคก็คือ ทางดำเนินชีวิตที่เกิดจากสิกขา เพราะฉะนั้น การฝึกฝนเรียนรู้ให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง คือสิกขา จึงคู่กับการดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง คือมรรค

พิสูจน์คุณค่าของการศึกษา
ด้วยการช่วยพัฒนาคนคราววิกฤติ

ถึงตอนนี้ การดำเนินชีวิตอย่างที่เราต้องการ เช่น จะให้คนดำเนินชีวิตอย่างประหยัด ก็จะต้องมีการฝึกกัน ขอยกตัวอย่างสักนิดหน่อย เช่น การฝึกให้คนประหยัดซึ่งถือว่าจำเป็นในเวลานี้ ถ้าเราบอกว่าให้ประหยัด คนทั่วไปจะมีความรู้สึกว่า ให้ใช้จ่ายแต่น้อย แต่ก่อนเคยใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้อย่างสบาย มีความสุขด้วยการบำรุงบำเรอตัวเอง แต่ตอนนี้จะต้องใช้น้อยๆ อย่างจำกัด พอคิดอย่างนี้ก็มีความรู้สึกบีบคั้น พอพ่อแม่บอกลูกให้ประหยัด ให้ใช้จ่ายน้อยๆ ลูกจะรู้สึกบีบคั้นใจทันที แต่ถ้าเราให้การศึกษาที่ถูกต้อง การประหยัดจะมีความหมายในเชิงบวก

การประหยัดในความหมายเชิงบวกคืออะไร การประหยัดก็คือ การใช้ของน้อยที่สุดให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ถ้าเรามองในแง่นี้ก็กลายเป็นความหมายเชิงบวก แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ มันจะพ่วงมากับการฝึกฝนพัฒนาคน คนที่ใช้ของน้อยที่สุดให้ได้ประโยชน์มากที่สุด จะรู้สึกว่า ตนมีความสามารถและได้พัฒนาขึ้น เช่น ถ้าเราให้เงินเด็กไป ๑๐๐ บาท แล้วบอกว่า หนูลองคิดดูว่าหนูจะทำอย่างไรให้เงิน ๑๐๐ บาท เกิดมีประโยชน์มากที่สุด หนูจะใช้เงินจำนวนนี้ทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้เด็กจะใช้ความคิด เด็กจะต้องฝึกตนเองโดยใช้ปัญญา เช่น คิดวางแผนในการใช้เงิน

ต่อมาพอไปใช้เงินจริง ถ้าเด็กใช้ได้ประโยชน์เกิดขึ้นมาก แกจะมีความภูมิใจ ว่าแกประสบความสำเร็จ เด็กจะได้ทั้ง ๑. ใช้เงินน้อย ได้ของมาก ๒. ได้การเรียนรู้ การฝึกฝนพัฒนาตน ๓. มีสุขภาพจิตที่ดี คือ มีความภูมิใจได้ความสุขในการพัฒนาความสามารถของตน

เพราะฉะนั้นการประหยัดที่ดีจะต้องใช้ในเชิงบวก ให้เป็นเครื่องมือในการฝึกฝนพัฒนาคน เด็กจะไม่รู้สึกว่าบีบคั้นจิตใจ แต่จะรู้สึกมีความสุขและภูมิใจด้วยที่ว่าตนเองมีความสามารถ ในการใช้เงินน้อยนิดเดียวให้เป็นประโยชน์ได้มากที่สุด เขาจะได้ประโยชน์จากการประหยัดอย่างแท้จริง ประโยชน์ก็ได้มากด้วย พร้อมกันนั้นคนก็พัฒนาความสามารถและปัญญาก็เกิดขึ้น พร้อมทั้งความสุขความภูมิใจด้วย

ฉะนั้น จะต้องเริ่มต้นกันในครอบครัว อย่าพูดในเชิงลบว่า อย่าซื้อนั่นอย่าซื้อนี่ ถ้าพูดอย่างนี้ เด็กใจไม่สบายเลย ถูกกดถูกบีบตลอดเวลา แล้วทุกข์ก็ตามมา แต่ต้องเอาการศึกษาเข้ามาที่ตรงนี้ โดยบอกว่า หนูลองคิดดูซิว่าจะใช้เงินจำนวนน้อยที่สุดนี้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร แกก็เริ่มคิด และเมื่อทำได้แกจะภูมิใจมาก คนก็พัฒนาไปพร้อมด้วยจิตใจที่เป็นสุข และประโยชน์ก็เกิดขึ้นแก่ชีวิตและแก่สังคม นี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง

การดำเนินชีวิตอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทำตัวแบบที่สภาพร้ายจะไม่กระทบกระเทือนเรา หรือกระทบน้อยที่สุด อย่างผู้ที่มีชีวิตอยู่เวลานี้สังคมของเรามีพื้นฐานดีพอสมควร เช่นมีทุนเดิมในทางทรัพยากรธรรมชาติที่นับว่าดี สินค้าภายในประเทศเราด้านปัจจัย ๔ ที่เป็นของจำเป็นพื้นฐานของชีวิต เราก็มีพร้อม ถ้าเราดำเนินชีวิตถูกต้อง เราไม่จำเป็นต้องใช้ของนอกมาก การดำเนินชีวิตจะถูกกระทบกระเทือนค่อนข้างน้อย แต่คนไหนพึ่งสินค้าภายนอกมาก ก็ถูกกระทบกระเทือนมาก นี่เป็นตัวอย่างของการรู้จักดำเนินชีวิต เป็นการทำตัวชนิดที่ว่าให้สภาพวิกฤติกระทบได้น้อยที่สุด

พร้อมกันนั้น ในทางจิตใจ นอกจากให้กระทบกระเทือนทางกายน้อยแล้วก็ให้เกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจน้อยด้วย กล่าวคือ ทางจิตใจก็ให้รู้เท่าทันความจริง รู้เท่าทันโลกธรรม ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำใจให้ถูกกระทบกระเทือนจากโลกธรรมให้น้อยที่สุด ท่านบอกว่าคนเราอยู่ในโลกย่อมถูกกระทบกระเทือนด้วยโลกธรรม มีทั้งได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ เป็นเรื่องธรรมดา เราจะต้องรู้เท่าทันว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เอามาใช้เป็นบทฝึกหัดในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง ยามดีก็เป็นโอกาสในการที่จะสร้างสรรค์ ก็เอาสิ่งที่ได้มา คือลาภยศนั้นไปใช้ทำการสร้างสรรค์ ทำความดีให้มากขึ้น ส่วนยามที่เสื่อมกระทบ พบสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ก็ใช้เป็นบททดสอบตัวเอง มันก็กลายเป็นเครื่องมือฝึกฝนพัฒนาตนเอง หรือใช้เป็นบทเรียน ก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น

ในทางธรรมถือว่า ถ้ามีโยนิโสมนสิการแล้ว ก็เอาประโยชน์ได้จากทุกสถานการณ์ ไม่ว่าเคราะห์ไม่ว่าโชค เพราะฉะนั้นเรื่องของทุกข์ เรื่องของเคราะห์ เรื่องของโชคจะดีหรือร้าย บางทีก็อยู่ที่การปฏิบัติต่อมัน คนที่มีปัญญาไม่ประมาทก็ทำเคราะห์ให้เป็นโอกาสได้ หรือทำเคราะห์ให้เป็นโชคได้ แต่ถ้าประมาทเสียอย่างเดียวก็ทำโอกาสนั้นให้เป็นเคราะห์ไป แม้แต่โอกาสที่มาถึงก็กลายเป็นเคราะห์ร้าย

ถึงแม้เศรษฐกิจจะวิกฤติ
แต่ถ้าจิตปัญญาไม่วิกฤติ
ก็จะแก้ปัญหาได้ ให้เศรษฐกิจพ้นวิกฤติ

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในระยะยาวก็คือ การมีท่าทีของจิตใจที่ประกอบด้วยปัญญา การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องในขั้นลึกซึ้งซึ่งมาจากฐานในทางแนวความคิด ก็คือการที่ว่าเราจะต้องไม่ฝากชีวิต ไม่ฝากความสุขของเราไว้กับวัตถุมากเกินไป อย่างน้อยไม่ฝากชีวิตไว้กับวัตถุจนเสียดุล

ถ้าวิเคราะห์สังคมของเราและคนของเรา ที่ประสบปัญหาส่วนรวมก็ตาม ส่วนตัวทางจิตใจก็ตาม ส่วนใหญ่ทีเดียวเป็นเพราะไปฝากชีวิตและความสุขไว้กับวัตถุมากเกินไป

ชีวิตของเราไม่ได้อยู่ได้ด้วยวัตถุอย่างเดียวเท่านั้น เราอยู่กับจิตใจด้วย ที่จริงเราอยู่กับสิ่งที่เป็นนามธรรมมากมาย แต่เพราะเราไปมุ่งหวังความสุขจากวัตถุอย่างเดียว จนเอาวัตถุเป็นจุดหมายของชีวิต ความหมายของชีวิตก็ตาม จุดหมายของชีวิตก็ตาม เขวไปอยู่ที่ความพรั่งพร้อมทางวัตถุ อันนี้เป็นลักษณะของสังคมบริโภคนิยม ซึ่งทำให้ชีวิตเสียดุล เอียงไปอยู่กับวัตถุข้างเดียว จนกลายเป็นว่า เราจะมีชีวิตอยู่ จะเล่าเรียนศึกษา จะทำงาน ก็เพื่อมั่งมีเงินทองสิ่งบริโภค และจะต้องมีให้มากที่สุด จนกระทั่งนึกว่า เมื่อไรเรามีวัตถุพรั่งพร้อมบริบูรณ์ มีรถยนต์อย่างดีใช้ มีบ้านหรูหราอยู่อย่างดี นั่นคือชีวิตที่สุขสมบูรณ์ อย่างนี้ก็เท่ากับเอาวัตถุเป็นความหมายและเป็นจุดหมายของชีวิต และตอนนี้แหละที่มันจะเสียดุล

คนเรามีโอกาสเบื่อหน่ายวัตถุได้ คนเรามีโอกาสผิดหวังวัตถุได้ บางครั้งอยู่ไปอยู่มาเบื่อวัตถุ ผิดหวังวัตถุ เห็นวัตถุหมดความหมาย แต่เพราะเอาความหมายของชีวิตไปฝากไว้กับวัตถุแล้ว พอวัตถุหมดความหมาย ชีวิตก็พลอยหมดความหมายด้วย พอผิดหวังวัตถุก็ผิดหวังชีวิตด้วย สภาพนี้เป็นกันมากในสังคมบริโภคนิยม ฉะนั้น ในสังคมบริโภคนิยมอย่างอเมริกา คนที่ฆ่าตัวตายจึงมากกว่าในสังคมที่ยากแค้นขาดแคลนวัตถุ

เคยเปรียบเทียบอย่างเม็กซิโกอยู่ใต้อเมริกา ชายแดนติดต่อกัน เม็กซิโกเป็นประเทศแร้นแค้นยากจน ประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจมาก่อนไทยอีก ไทยเรายังยกเป็นตัวอย่าง เอามาพูดกันตอนที่เริ่มประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจ คนเม็กซิโกพยายามหลบหนีเข้าไปหางานทำในอเมริกา ซึ่งมีความเป็นอยู่ หรือมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงต่ำผิดกันมากมาย แต่เมื่อเปรียบเทียบในเรื่องความทุกข์ คนในอเมริกา ฆ่าตัวตายตั้งแสนละ ๑๒ คนเศษ แต่ในประเทศเม็กซิโกที่แสนจะแร้นแค้น ที่คนพยายามหนีมาหางานทำในอเมริกานั้น ฆ่าตัวตายน้อยกว่าอเมริการาว ๗ เท่า ลองคิดดูซิว่าเป็นเพราะอะไร

ประเทศที่มั่งคั่งมีทรัพย์สินเงินทองหวังความสุขจากการบริโภควัตถุมาก คนกลับฆ่าตัวตายมาก อันนี้เป็นธรรมดา เพราะว่าคนเอาความสุขและความหมายของชีวิตไปฝากไว้กับวัตถุ เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า เมื่อวัตถุหมดความหมาย ชีวิตก็หมดความหมายด้วย เมื่อเบื่อหน่ายวัตถุก็เบื่อหน่ายชีวิตด้วย จะอยู่ไปทำไม ตายเสียดีกว่า ทั้งๆ ที่มีของใช้มีสิ่งบริโภคมากมายก็ไม่ได้ช่วยให้เขามีชีวิตอยู่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นการเสียดุล

ที่ผ่านมานี้เราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า คือฝากความหมาย ฝากความหวัง ฝากชีวิต ฝากความสุขของชีวิต ไว้กับวัตถุใช่ไหม ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็เสียดุล เราจะต้องไม่ฝากชีวิตไว้กับวัตถุมากเกินไป ชีวิตของเรามี ๒ ด้าน คือ มีกายกับใจ มีวัตถุและนามธรรม ความสุขทางจิตใจ ความสุขจากไมตรีจิตมิตรภาพ ความสุขจากการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน ความสุขจากการบำเพ็ญประโยชน์ ความสุขจากการได้ศึกษาค้นคว้าวิชาการ ได้เรียนรู้ ได้สนองความใฝ่รู้ ได้เจริญสติปัญญา ความสุขจากการมีจิตใจสงบมั่นคง การมีสมาธิ และความมีจิตใจโปร่งโล่งผ่องใสเป็นอิสระ ความสุขจากธรรมชาติแวดล้อมที่งดงามรื่นรมย์ ฯลฯ ความสุขมีอีกมากมายหลายระดับ ทำไมเราจะไปฝากความสุขไว้กับวัตถุอย่างเดียวเล่า เราควรจะขยายมิติแห่งความสุขออกไป ฝึกชีวิตจิตใจของเราให้พัฒนามากขึ้นไปในความสุขเหล่านั้น อย่าจมอยู่กับความสุขด้านเดียวให้เสียดุล แม้ว่าวัตถุจะขาดแคลนเราก็สามารถมีความสุขได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตอีกอย่างหนึ่ง

การศึกษาที่แท้ทำให้คนมีชีวิตที่ครบถ้วนและสมดุล เช่นในด้านความสุข ก็มีทั้งความสุขทางกายและทางใจ ทั้งทางวัตถุและนามธรรม วิกฤติเศรษฐกิจนั้นเป็นปัญหาด้านทรัพย์สินเงินทองสิ่งเสพบริโภคที่เป็นวัตถุ คนที่ฝากชีวิตและความสุขไว้กับวัตถุก็ย่อมทุกข์หนัก แต่คนที่ี่มีชีวิตอย่างสมดุล ก็จะถูกกระทบแผ่วเบาลงไปตามส่วน โดยเฉพาะคนที่พัฒนาทางด้านจิตปัญญาสูง มีอิสรภาพทางจิตใจดี ก็จะทรงตัวไว้และช่วยคนอื่นได้มาก และที่สำคัญที่สุดก็คือ จิตปัญญาที่พัฒนาดีแล้วนี่แหละ จะมาแก้ไขวิกฤติทางเศรษฐกิจได้สำเร็จ

ดีที่ตัวมี ต้องรักษาไว้ให้ได้
และใช้เป็นฐานที่จะก้าวไปเอาดีที่ยังไม่มี

ประการที่สองก็คือ ฐานที่ตั้งตัว คนเราจะเดินก้าวสูงขึ้นไปได้ ต้องมีฐานที่ตั้งตัวก่อน เมื่อเรายืนบนฐานนั้นมั่นคงแล้ว เราก็เดินก้าวจากฐานนั้นขึ้นไป ฐานที่ตั้งตัว ต้องมีอยู่ก่อน ฐานที่ตั้งตัวนั้นก็เป็นฐานที่ตั้งต้นด้วย เช่น ตั้งตัวได้แล้วก็ตั้งต้นเดินต่อไป คนไทยเราก็มีฐานตั้งตัวที่จะใช้เป็นที่ตั้งต้นได้ แต่ดูเหมือนว่าเราไม่ใช้มันเป็นที่ตั้งตัวและเป็นที่ตั้งต้น เราก็เลยยากที่จะเดินต่อไปข้างหน้า

แต่เรากลายเป็นอย่างนี้ไปหรือเปล่า คือที่ผ่านมานี้เราได้หลงลอยหลุดออกไปจากฐานของตัวเอง แล้วไประเริงโลดเต้นอยู่บนเวทีที่คนอื่นเขาจัดให้ เช่น บนเวทีโลกาภิวัตน์แห่งการแข่งขันในระบบผลประโยชน์ และการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยที่เขาส่งเข้ามาล่อตาล่อใจเรา ร้ายยิ่งกว่านั้นอีก เราออกไปเล่นระเริงโลดอยู่บนเวทีนั้นแล้วแถมยังไม่ได้ฐานของเขามาอีกด้วย หลุดออกจากฐานของตัวเองแล้วฐานของเขาเราก็ไม่ได้ด้วย กลายเป็นเลื่อนลอยทั้ง ๒ ด้าน

หลุดลอยจากฐานของตัวเองไปแล้ว เมื่อไปไม่ถึงฐานของเขา เราก็ไปหลงเพลินอยู่บนเวทีแห่งภาพมายาที่เขาจัดให้เรา คือบนเวทีแห่งบริโภคนิยมที่เลื่อนลอย

ฐานที่เรามีเป็นอย่างไร เราจะต้องวิเคราะห์ คนที่จะมีฐานที่ตั้งตัวและตั้งต้นที่ดี อย่างน้อยจะต้องสำรวจตัวเองว่าอะไรที่ตนเองมีเป็นทุนเดิม ทุนเดิมดีที่ตัวมีคืออะไร หรือพูดสั้นๆ ว่าดีที่ตัวมี เอาดีที่ตัวมีตั้งเป็นฐานไว้ก่อน แล้วก้าวต่อไป จากนั้นเราอยากจะไปเอาดีใหม่เพิ่มก็ทำได้ แต่ต้องรักษาดีที่ตัวมีไว้แล้วไปเอาดีที่ยังไม่มีให้ได้ด้วย ถ้าทำอย่างนี้ได้ย่อมเจริญแน่ แต่ถ้าดีของตัวเองที่มีก็ทิ้ง ปล่อยให้หลุดมือไป และดีที่จะเอาใหม่ก็ไม่ได้ อย่างนี้ก็หลุดลอยสูญหมด สังคมไทยเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า คือ ดีเก่าที่ตัวมีก็ไม่รักษา ดีใหม่ที่จะเอามาก็ไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น การเกษตรดีที่ตัวเองมีอยู่ก็รักษาไว้ไม่ได้ ไม่เอา ทิ้ง จะไปเอาของใหม่คืออุตสาหกรรมดีที่ตัวอยากได้ซึ่งตัวเองยังไม่มี ก็เอาไม่ได้ ตกลงก็เสียทั้งสองเลย กลายเป็นสังคมที่เลื่อนลอย

ถ้าเป็นคนเก่งจริง เกษตรของตัวเองดีมีอยู่แล้วก็ต้องรักษาไว้ เรื่องเกษตรฉันต้องเด่น รักษาดีที่มีไว้ได้แล้ว ฉันจะไปเอาอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีอีก ฉันจะต้องเก่งต้องดีทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม อย่างนี้จึงจะเป็นคนฉลาดสามารถจริง

ตอนนี้เกษตรก็หลุด อุตสาหกรรมก็เอาไม่ได้ แสดงว่าฐานตัวเองก็เสีย ไม่ยืนอยู่บนฐานที่ตั้งของตัวเอง แล้วไปโลดเต้นอยู่บนเวทีมายาที่เขาจัดให้อย่างที่ว่า จึงเป็นความสูญเสียที่จะต้องทบทวน ต้องให้ถึงเป้าที่ว่าฐานที่ตั้งตัวและตั้งต้นที่เป็นทุนเดิมที่มีอยู่ของตนเองก็ต้องรักษาไว้ได้ แล้วดีใหม่ก็ก้าวไปเอาให้ได้อย่างมั่นคง ถ้าอย่างนี้ชาติไทยจะก้าวหน้าแน่นอน

เรื่องของวิถีชีวิตเกษตรกรรม เรื่องเศรษฐกิจแบบเกษตร เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จะต้องเอาเป็นฐานให้ได้ ไม่ใช่มีทรัพยากรธรรมชาติมากแทนที่จะใช้เป็นฐานตั้งตัว กลับเป็นแหล่งทรัพยากรที่ให้คนอื่นมากอบโกยเอาไปใช้ อย่างนี้ก็เสียหมด ทุนเดิมที่มีด้านทรัพยากรธรรมชาติจะหาประเทศไหนที่จะมีอย่างไทยก็ยาก เรื่องการเกษตรเราก็มีพื้นฐานเดิมที่ดี รากฐานทางวัฒนธรรมของเราก็ดี ทำไมจะทิ้งไปให้เสียเปล่า

วัฒนธรรมไม่ใช่ว่าจะต้องรักษาไว้หมด บางอย่างก็คลาดเคลื่อนไป ส่วนที่ผิดพลาดก็มี ก็ต้องตรวจสอบดู อย่าดูแค่วัฒนธรรม ต้องดูถึงเหตุปัจจัยของวัฒนธรรม ดูถึงรากฐานของวัฒนธรรมว่า วัฒนธรรมอย่างนี้ วิถีชีวิตอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มาจากฐานที่ไหน เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร เอารากฐานนั้นมาวิเคราะห์มาตรวจสอบวัฒนธรรมอีกทีหนึ่ง วัฒนธรรมอาจจะผิดพลาด เราใช้รากฐานเป็นเครื่องตรวจสอบ เอามาใช้แก้ไขวัฒนธรรมและปรับปรุงวัฒนธรรมเข้ากับสภาพแวดล้อมในโลกปัจจุบันให้ได้ผลดีด้วย ไม่ใช่ว่าจะรักษาวัฒนธรรมอย่างทื่อๆ จนกลายเป็นนักปกป้องไป ใครเป็นนักปกป้องก็แสดงว่ากำลังอยู่ในภาวะที่แย่ คนที่ปกป้องตัวก็คือคนที่ตั้งรับ ไม่เป็นฝ่ายรุก แต่เป็นฝ่ายถอยหรือเป็นฝ่ายที่ถูกเขารุก

เวลานี้ดูเหมือนว่า คนไทยกำลังอยู่ในภาวะปกป้องวัฒนธรรม ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แสดงว่าคนไทยไม่เก่งจริง วัฒนธรรมไทยไม่เข้มแข็ง ไม่งอกงาม ถ้าเก่งจริงวัฒนธรรมนั้นจะต้องเดินหน้า สามารถแผ่ขยายออกไปให้สังคมอื่นยอมรับ นี่เราได้แค่เป็นเพียงผู้ปกป้องวัฒนธรรมเท่านั้นเอง

อีกอย่างหนึ่ง ศักยภาพในตัวของคนไทยที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะต้องพัฒนาขึ้นมา คนไทยไม่ใช่ว่าจะไม่มีสติปัญญา คนไทยที่เรียนเก่งๆ ขนาดไปนอกสอบได้เป็นที่หนึ่งมีไม่น้อย แต่กลับมาเมืองไทยแล้วเราไม่สามารถใช้ศักยภาพของคนของเราให้ได้ผลดี ดังนั้นเราจะต้องมาตรวจสอบตนเองแล้วทำให้ได้ในข้อที่ว่าฐานเดิมที่ตนมีต้องรักษาไว้ให้ได้ และนำมาใช้เป็นจุดตั้งต้นที่ดีให้ได้ด้วย เพื่อจะได้ใช้เป็นที่ก้าวไปเอาดีที่ยังไม่มีให้ได้

ถ้าจะพึ่งตน ก็ต้องพัฒนาตนให้เป็นที่พึ่งได้
ถ้าจะเป็นอิสระเสรี ก็ต้องมีความสามารถที่จะทำด้วยตนเอง

ถ้าทำอย่างที่ว่ามานี้ได้ เราก็จะเริ่มพึ่งตนได้ เราพูดกันนักว่า จะต้องพึ่งตนๆ พึ่งตนนี่เป็นหลักการที่จะต้องปฏิบัติ แต่อย่าหยุดแค่นี้ ในการที่จะพึ่งตนนั้นถ้าเราไม่มีความสามารถที่จะพึ่งตน แล้วเราจะพึ่งตนได้อย่างไร พูดกันไปว่า พึ่งตนซิๆ เงินก็ไม่มี ความสามารถและสติปัญญาก็ไม่มี แล้วจะให้พึ่งตนได้อย่างไร

พระพุทธศาสนาไม่ได้ให้หยุดแค่พึ่งตน พระพุทธเจ้าสอนต่อไป พึ่งตนด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ตรงนี่ซิสำคัญ การทำตนให้เป็นที่พึ่งได้นี่แหละเป็นตัวแท้ที่ต้องการ มันเป็นฐานของการที่จะพึ่งตน อย่าไปหยุดแค่พึ่งตน เรามักจะพูดว่าให้พึ่งตน อย่างนี้ก็ต้องซัดกันเท่านั้นเอง เขาจะแย่แล้ว เราก็บอกว่าเธอพึ่งตัวเองซิ อย่างนี้แล้วเขาจะอยู่ได้อย่างไร ต้องช่วยกันไปก่อน แต่เราต้องไปช่วยเขา โดยช่วยให้เขาพัฒนาตัวเองให้เป็นที่พึ่งของตนได้

หลักพุทธศาสนาตรงนี้บางทีเราก็มองข้ามไป หลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ แปลว่าตนเป็นที่พึ่งของตน แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้แค่นั้น พระองค์ตรัสต่อไปว่า อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ แปลว่า บุคคลมีตนที่ฝึกฝนดีแล้วจะได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก ต้องต่อให้ถึงตรงนี้ พุทธภาษิตไม่ได้จบแค่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ไม่ได้บอกแค่ว่าให้ตนเป็นที่พึ่งของตน ท่านบอกด้วยว่าเมื่อมีตนที่ฝึกดีแล้วจึงจะมีที่พึ่งที่ดี นี่ก็คือจะต้องศึกษาต้องเรียนรู้ต้องพัฒนาตน เช่นหลักนาถกรณธรรม คือธรรมที่จะทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ มีถึง ๑๐ ข้อ การปฏิบัติในหลักการนี้สำคัญกว่าเพียงจะพูดว่าพึ่งตน ฉะนั้นเราจะต้องพึ่งตนได้ด้วยการพัฒนาคนของเรา พัฒนาทุนของเรา ทั้งพัฒนาทุนในตัวคนและพัฒนาทุนภายนอก เพื่อจะให้ตนเป็นที่พึ่งของตนได้

การพึ่งตนเองได้ คือความเป็นอิสระเสรีที่แท้จริง ถ้าคนพึ่งตนเองไม่ได้ เขาก็ไม่เป็นอิสระ เพราะยังต้องพึ่งพาคนอื่น คนไทยเราชอบความเป็นอิสระเสรี แต่ต้องมาวิเคราะห์ตนเองอีกว่า ที่ผ่านมานี้ เราเสรี เป็นอิสระอย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะบางทีเป็นเสรีภาพแบบหลอกตัวเอง พูดว่า แหม ฉันทำนั่นได้ ฉันทำนี่ได้ อยากจะทำอะไรก็ทำได้ตามชอบใจ แต่ทั้งหมดนั้นเป็นความคลุมเครือ บางทีเป็นเสรีภาพแบบถูกเขาหลอกให้เต้นก็มี ทำให้เรารู้สึกว่า โอ เราทำได้ตามชอบใจ อยากจะกินอะไรก็กิน อยากจะซื้ออะไรก็ซื้อ ซื้อสินค้าต่างประเทศเท่าไรก็ได้ แล้วก็รู้สึกว่าเราทำได้ตามชอบใจ

เรามีเงิน เราก็ซื้อสินค้าต่างประเทศมาบริโภคได้ แต่บางทีกลายเป็นว่าถูกเขาล่อ ถูกเขาจูง ถูกเขาชัก ถูกเขาเชิด ให้เข้าใจว่าตนเองเสรี ซึ่งที่จริงไม่ใช่เสรีหรอก ถ้าใช้คำแรงก็คือเป็นทาสเขานั่นเอง เสรีภาพในความเป็นทาส ฉะนั้นจะต้องระวังมาก เต้นไปๆ ต้องดูตัวเองว่า เราเสรีจริงหรือเปล่า หลักการง่ายๆ ก็คือว่า คนที่ทำอะไรได้ตามชอบใจแต่กลับพึ่งตนเองไม่ได้ย่อมไม่ใช่เสรีภาพจริง ลูกที่ทำอะไรได้ตามชอบใจ บอกว่าฉันจะเสรี แต่พึ่งตัวเองไม่ได้เลย อย่างนี้เรียกว่าเสรีภาพได้ไหม คนที่พึ่งตนเองไม่ได้ เป็นอิสระเสรีหรือ

ความเป็นอิสระเสรีนั้น แน่นอนว่าฐานจะต้องมาจากการพึ่งตนเองได้ และกว้างออกไป เมื่อมองทั้งสังคม ถ้าแต่ละคนเอาแต่ใจตัวเอง ทำได้ตามชอบใจ แต่สังคมของตนต้องขึ้นต่อสังคมอื่น อย่างนี้เสรีจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เหมือนกับที่บอกว่า เราก็เป็นแต่เพียงถูกเขาชักถูกเขาเชิดให้นึกว่าตนเองเสรีเท่านั้นเอง

แท้จริงนั้น คำว่า “ทำอะไรได้ตามชอบใจ” บางทีก็เป็นคำพูดหลอกตัวเอง เพราะคำว่า “ทำ” ในที่นี้มีความหมายกำกวม บางคนที่พูดว่าทำได้ตามชอบใจนั้น เขาหมายความว่า เขาจะซื้ออะไรก็ซื้อได้ตามชอบใจ จะกิน จะเสพ จะบริโภค จะเที่ยวเตร่สนุกสนานอย่างไร ก็ “ทำ” ได้ตามชอบใจ แล้วเขาบอกว่านี่คือเขามีเสรีภาพ

แต่ลองมองอีกที มองให้ดี ก็จะเห็นว่า อะไรก็ตามที่เขาชอบใจ เขาทำไม่ได้สักอย่างเดียว อะไรก็ตามที่เขาชอบใจ เขาต้องซื้อทุกอย่าง เขาต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งที่คนอื่นทำให้ผลิตให้ เขาทำอะไรๆ ไม่ได้เลย ทำไม่เป็นเลย และเขาก็ไม่ชอบใจที่จะทำเลยด้วย เขาชอบแต่ที่จะไม่ต้องทำอะไร เขาชอบแต่จะเสพเสวยผลจากสิ่งที่คนอื่นทำให้ นี่คือสภาพของนักเสพหรือนักบริโภค คือคนที่ทำอะไรก็ไม่ได้ ผลิตอะไรก็ไม่เป็น ทำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่บริโภค

เพราะฉะนั้น จะต้องมองความหมายให้ชัด คำว่า “ทำได้” ในความหมายของนักเสพนักบริโภค เป็นคำหลอกๆ ที่จริงคือ “ทำไม่ได้” ซึ่งทำให้กลายเป็นผู้พึ่งพาขึ้นต่อผู้อื่น ต้องรอให้เขาทำให้ผลิตให้ ซึ่งมองในระหว่างประเทศก็คือจะต้องเป็นผู้ซื้อ เป็นผู้จ่าย และเป็นผู้ตาม เป็นผู้รับ เราจะต้องมอง “ทำได้” ให้ถึงความหมายของนักผลิต ที่ทำได้จริงๆ คือสามารถทำสามารถผลิตสิ่งนั้นขึ้นมาได้ด้วยตนเอง

เสรีภาพในการบริโภค ก็คือการเป็นทาสของประเทศที่ผลิต ใช่หรือเปล่า ขณะนี้ สังคมของเรา ที่มุ่งหมายใฝ่ฝันจะให้เป็นสังคมแห่งเสรีภาพ จะต้องตั้งหลักให้ถูก ต้องมองให้ชัดว่าความเป็นอิสระเสรีที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อย่างน้อยจะต้องเป็นสังคมที่พึ่งตนเองได้ และจะต้องเป็นผู้สามารถให้แก่สังคมอื่นด้วย ไม่ใช่เป็นผู้สามารถรับอย่างเดียว

ถ้าเราทำได้ ผลิตได้ พึ่งตนเองได้ โดยมีอะไรที่จะให้แก่คนอื่นด้วย พอเป็นนักผลิตเองแล้ว จะซื้อของที่คนอื่นผลิตด้วย ก็เข้าระบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน กลายเป็นดีไป แต่ถ้าทำได้แค่ซื้อเสพบริโภค ก็เป็นนักพึ่งพาขึ้นต่อผู้อื่นอย่างเดียว ไม่เป็นอิสระเสรีแน่นอน เพราะฉะนั้น เราจะต้องวิเคราะห์สังคมของเราว่าขึ้นต่อสังคมอื่นหรือไม่ ถ้ายังขึ้นอยู่ก็แสดงว่า อิสรเสรีภาพนั้นไม่มีความหมายที่แท้จริง

ขอสรุปสั้นๆ ว่า ถ้าคนไทยไม่เป็นนักผลิต สังคมไทยจะไม่สามารถพึ่งตนได้ในทางเศรษฐกิจ ถ้าคนไทยไม่เป็นนักสร้างสรรค์ สังคมไทยจะไม่มีวันเป็นอิสระเสรีได้จริง

การศึกษาจะต้องพัฒนาคนไทยให้มีเสรีภาพและเป็นอิสระอย่างถูกต้องอย่างน้อยในแง่เศรษฐกิจ โดยพัฒนาให้เป็นนักผลิตและเป็นนักสร้างสรรค์

จะมองอะไรก็ต้องมองหาเหตุปัจจัย
และมองให้เห็นสิ่งที่จะทำต่อไป

ต่อจากนี้ลึกลงไป ก็คือ เรื่องรากฐานทางความคิด เรื่องการดำเนินชีวิตที่พูดมาแล้วก็เรื่ืองใหญ่ แต่แนวคิด วิธีคิด วิธีมอง ความเชื่อ ความคิดเห็น ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะเป็นรากฐาน เป็นตัวกำหนดอยู่เบื้องหลังการดำเนินชีวิตนั้น ถ้าแนวคิดความเห็นความเชื่อความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน จะต้องเร่งปรับให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะต้องเจอแต่วงจรแห่งวิกฤติ

พุทธศาสนาบอกว่าทิฏฐิเป็นตัวสำคัญ ความเชื่อความยึดถือในหลักการต่างๆ ที่มีอยู่แม้โดยไม่รู้ตัวในจิตใจของเราเอง เป็นตัวนำชีวิตไป เช่น ถ้าเราเชื่อว่าความสุขอยู่ที่การมีวัตถุเสพบริโภค เราก็ดำเนินชีวิตและทำทุกอย่าง เพื่อให้มีและให้ได้มาซึ่งวัตถุเสพบริโภคนั้น อย่างนี้เป็นต้น ความเชื่อจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ที่ผ่านมาแนวคิดความเชื่อบางอย่างของเราอาจจะถูก แต่บางอย่างก็ต้องผิดพลาดแน่นอน เรามาพูดถึงส่วนที่พลาดกันดีกว่า เราพลาดแม้แต่ในเรื่องที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรม

เรื่องแรก ที่ขอตั้งข้อสังเกต คือ เรามักมองอะไรๆ แบบ “นิ่ง” และนิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือนิ่งที่สุขสบาย แม้แต่ตัวความสุขความสบายนั้นเอง เราก็มองแบบนิ่ง และมองเป็นจุดหมายด้วย คือไปหยุดหรือจบที่สุขสบาย ก็คือไปนิ่งนั่นแหละ

เราเอาความสุขสบายเป็นจุดหมายที่ว่า หายทุกข์ พ้นจากถูกบีบคั้นเป็นต้นแล้วจะได้หยุด หยุดดิ้นรนขวนขวาย สบายเสียที เพราะฉะนั้นเราจะมองแม้แต่การปฏิบัติธรรมในลักษณะนิ่ง เพื่อให้ถึงความสุขที่เป็นจุดหมายแล้วก็หยุด เช่นมองความสันโดษเพื่อความสุข มองสมาธิเพื่อความสุข ปลงอนิจจังเพื่อจะให้ใจสบาย ซึ่งดูเหมือนว่าถูกต้องดี แต่ถูกจริงหรือเปล่า อันนี้น่าวิเคราะห์ ขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก่อน

เรื่องที่ ๒ คือ การมองสิ่งทั้งหลายแบบขาดความสัมพันธ์ มองแค่เฉพาะตัวของสิ่งนั้นเรื่องนั้น ด้วนหรือขาดลอยจากส่วนอื่นและสิ่งอื่น ไม่มองแบบสัมพันธ์ ความสัมพันธ์มี ๒ อย่างคือ

๑) ความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัย คือการมองแบบสืบสาวเหตุปัจจัย ว่ามันเป็นมาเพราะอะไร เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นอย่างไร ไม่ใช่มองปรากฏการณ์ต่างๆ ลอยอยู่อย่างเดียว หรือมองแม้แต่ธรรมข้อนั้นๆ ลอยอยู่ต่างหาก เช่นว่าขาดวินัย ก็ขาดวินัย จะต้องฝึกวินัยกันขึ้นมา โดยไม่มองว่าอะไรเป็นเหตุของวินัย อย่างนี้เป็นต้น การมองความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยนี้ เรียกว่า การมองเชิงปัจจยาการ

๒) ความสัมพันธ์เชิงกระบวนการ คือการมองในลักษณะคืบเคลื่อนสืบต่อและส่งต่อในกระบวนการ ธรรมทั้งหลายนั้นสัมพันธ์กันเป็นกระบวนการ คือเป็นการปฏิบัติที่คืบเคลื่อนส่งต่อกันไปสู่จุดหมาย เพื่อการบรรลุความหลุดพ้นเป็นอิสระ ฉะนั้น ธรรมคือคุณสมบัติและข้อปฏิบัติทุกอย่างในกระบวนการนั้น จะต้องอยู่ในลักษณะคืบเคลื่อนและส่งต่อทั้งนั้น ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก็จะมองขาดเป็นแต่ละข้อๆ ถ้ามองขาดด้วนเป็นแต่ละข้อ ก็แสดงว่าพลาด การมองในลักษณะคืบเคลื่อนในกระบวนการนี้เรียกว่า การมองเชิงไตรสิกขา

ขอยกตัวอย่างคำว่า “สบาย” คำว่า “สบาย” นี้ในภาษาไทยเรามองแบบคนมืออ่อนเท้าอ่อน พอสบายก็ปล่อยมือปล่อยเท้า พร้อมที่จะลงนอน นี่เรียกว่าสบาย จะได้หยุดดิ้นรนหรือเลิกเคลื่อนไหว แต่ถ้าดูความหมายในภาษาบาลี สบาย คำเดิมตัวจริง คือ “สัปปาย” ได้แก่ลักษณะที่เอื้อ หนุนต่อการที่จะทำต่อไป หรือเอื้อต่อวัตถุประสงค์อื่นที่มีต่อไป ไม่ใช่ว่าสบายเป็นจุดจบ แล้วก็เพลิน ปล่อยเลย

สบาย คือเอื้อ เหมาะ หรือเกื้อหนุนให้ทำอะไรๆ ได้ผลดี ยกตัวอย่างเช่น บรรยากาศที่สบาย หรือสิ่งแวดล้อมที่สบาย หมายถึง บรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมที่ต้องการ ไม่ว่าทางกาย ทางจิตใจ หรือทางปัญญา อย่างน้อยก็เอื้อต่อสุขภาพ แต่คนไทยอาจจะมองต่างออกไปว่า เป็นบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นทุกข์ หรือน่านอน เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ท่านสอนว่า อสุภะ คือซากศพ เป็นที่สบายแก่คนราคจริต ถ้ามองแบบไทย เอ มองดูซากศพ มันจะสบายได้อย่างไร เห็นไหมว่าความหมายที่แท้ของเดิมไม่เหมือนในภาษาไทย สบายหมายความว่ามันเอื้อ คือเอื้อต่อการพัฒนาของคนราคจริต คนราคจริตได้ซากศพมาพิจารณาแล้วจะช่วยให้ก้าวหน้าต่อไปในการเจริญจิตตภาวนา

อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้ที่อยู่สบาย ก็คือจะช่วยให้ปฏิบัติหรือทำสิ่งที่ต้องการได้ผลดี ถ้าได้เสนาสนะที่อยู่ที่อาศัยไม่สบาย ไม่เป็นสัปปายะ การปฏิบัติธรรมก็ยาก สมาธิเกิดได้ยาก เพราะใจอาจจะพลุ่งพล่าน กระวนกระวาย ความคิดว้าวุ่นสับสน แต่พอได้ที่อยู่ที่เหมาะ เป็นเสนาสนสัปปายะ จิตก็สงบ ทำให้บำเพ็ญสมาธิได้ง่าย

สบาย คือเกื้อหนุนให้ก้าวไปสู่วัตถุประสงค์ได้สะดวกขึ้น ไม่ใช่เพื่อหยุด คือมันเอื้อโอกาสต่อการที่จะทำให้ได้ผลดี หรือเอื้อต่อวัตถุประสงค์ที่จะก้าวเดินหน้าต่อไป แต่คนไทยมองสบายแบบที่จะหยุด จะนอน จะนิ่ง นี่แสดงว่าพลาด

แม้แต่ความสุขก็เช่นเดียวกัน เรามองความสุขในแง่ที่ว่า เอ้อ เราทุกข์มานานแล้ว ต้องดิ้นรนอยู่เรื่อย คราวนี้หมดทุกข์แล้ว หยุดลำบากเสียที พอสุขก็นอนสบายอีก

ที่จริง “สุข” แปลว่า สะดวก คล่อง ง่าย ซึ่งจะต้องสัมพันธ์กับการกระทำ ไม่ใช่หยุด หมายความว่า สุขเป็นสภาพเอื้อ ที่ช่วยเราให้ทำอะไรได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าเราปฏิบัติต่อสุขผิด

ทุกข์ นั้นร้ายที่ว่ามันบีบคั้น ทำให้เกิดภาวะไม่สบาย จะทำอะไรก็ขัดข้อง ติดขัด ยากลำบาก แต่ทุกข์นั้น ก็ทำให้ดิ้นรน แล้วเกิดพลัง ถ้าใช้ทุกข์ไม่เป็น พอถูกทุกข์บีบคั้น ก็ได้แต่โอดครวญหวนละห้อย กลายเป็นซ้ำเติมตัวเอง แต่ถ้าใช้เป็นก็ทำให้เกิดพลัง และเป็นเครื่องฝึกตนให้เข้มแข็ง ตลอดจนพัฒนาปัญญาจากการคิดหาทางแก้ไข

ทีนี้ สุข ก็เช่นกัน ถ้าใช้ไม่เป็น พอสบาย สุขแล้วก็เฉื่อยลง หรือหยุด แต่สุขที่ใช้ในความหมายที่ถูกต้องก็คือ มันเอื้อ มันคล่อง มันง่าย ทำให้เราเคลื่อนไหว หรือทำอะไรๆ ได้สะดวก เพราะตอนที่เราสุขนั้นไม่มีอะไรบีบคั้น ไม่มีอะไรขัดข้อง หรือกีดขวาง ฉะนั้น เราจะทำการสร้างสรรค์อะไรก็ทำได้คล่องในตอนที่สุขนั่นแหละ แต่คนมักจะไม่ใช้โอกาสนี้ เลยกลายเป็นว่า พอสุขก็ลงนอน เรียกว่าทำโอกาสให้เป็นเคราะห์ ตกอยู่ในความประมาท แต่ถ้าใช้สุขเป็นก็กลายเป็นทำได้คล่อง ทำได้ง่าย ทำได้สะดวก อันนี้เป็นความหมายหนึ่งที่จะต้องพิจารณากันให้ดี

ฉะนั้น เมื่อสุขแล้วทางพระจะไม่ให้หยุดแค่นั้น พอสุขก็จะเป็นฐานให้เกิดสมาธิ สมาธิจะเกิดยากถ้าไม่มีสุข เพราะฉะนั้นท่านจึงให้หลักกว่าสุขเป็นบรรทัดฐานของสมาธิ คือสุขช่วยให้เกิดสมาธิ พอสมาธิเกิดแล้วก็หนุนต่อไปให้การใช้ปัญญาดำเนินไปได้ง่าย การปฏิบัติต้องต่อเนื่องกันไปอย่างนี้เรื่อย ฉะนั้นอย่ามองอะไรแบบหยุดนิ่ง ต้องมองแบบเอื้อโอกาส มองความสุขสบาย เป็นต้น ว่าเป็นสภาพเอื้อ คือเอื้อต่อโอกาสในการที่จะทำการต่างๆ เพื่อจะเดินหน้าต่อไป ในกระบวนการคืบเคลื่อนส่งต่อของไตรสิกขาจนกว่าจะถึงจุดหมาย

ถ้าจะสรุปให้ง่าย สำหรับเมืองไทยยามวิกฤตินี้ ก็คงจะต้องบอกว่า ใครมีลักษณะอย่างนี้ คือ “ยามสุขได้แต่สนุกมัวเมา ยามทุกข์มัวจับเจ่ารำพัน” คนนั้นก็ทำโอกาสให้เป็นเคราะห์ ถ้าจะทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส เราต้องถือคติว่า “ยามทุกข์ไทยลุกขึ้นสู้ ยามสุขไทยลุกขึ้นสร้าง”

ไม่ว่าจะเป็น “ขาขึ้น” หรือ “ขาลง”
ก็ต้องเตรียมขาของเราไว้ก้าวให้ดี

อีกตัวอย่างหนึ่งในภาคปฏิบัติของการดำเนินชีวิต คือ สันโดษ ถ้าเรามองว่า สันโดษเพื่ือสุข ก็ตัน เพราะว่า เมื่อความสุขเป็นจุดหมาย ก็จบที่สุข พอมีวัตถุบ้างเพียงเล็กน้อย ได้ความสุขแล้วก็นอน ผลคือขี้เกียจ แต่หลักการที่แท้บอกว่า สันโดษ คือ เราสุขได้ง่ายด้วยวัตถุน้อยแค่เพียงพอแก่ชีวิต เราจะได้ไม่ต้องมัวกระวนกระวายในการหาวัตถุมาเสพ เมื่อเราไม่มัววุ่นวายอยู่กับการหาวัตถุมาเสพ เราก็จะออมเวลา แรงงานและความคิดของเราไว้ได้เหลือเฟือ ตอนนี้เรามีหน้าที่การงานหรือเรื่องราวอะไรที่จะทำ ก็มุ่งหน้าทำได้เต็มที่ ไม่ต้องพะว้าพะวัง พะวักพะวน ตรงข้ามกับคนที่ไม่สันโดษ ซึ่งต้องเอาเวลา แรงงาน และความคิดไปใช้กับการแสวงหาวัตถุเสพบริโภคมาบำรุงบำเรอตนเอง เพื่อจะหาความสุขให้ได้ แต่ก็ไม่สุขสักที ก็เลยไม่เป็นอันทำอะไรอื่น

เมื่อเราสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย เราสันโดษแล้ว แรงงานก็เหลือ เวลาก็เหลือ ความคิดก็เหลือ เราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปทำงาน ทำหน้าที่ ทำการสร้างสรรค์ ถ้าเป็นพระ พอสันโดษในปัจจัยสี่ ก็มีเวลาไปทำหน้าที่เล่าเรียนปฏิบัติเผยแผ่ธรรมได้เต็มที่

ฉะนั้น สันโดษจึงเป็นเรื่องของการสร้างความพร้อมที่เราจะเดินหน้าต่อไปในกระบวนการพัฒนาชีวิต แต่ถ้าเรามองสันโดษแบบว่าจะได้สุขสบายแล้วนอน ก็จบแน่นอน สันโดษต้องเป็นตัวสร้างสภาพเอื้อและเป็นตัวส่งต่อในกระบวนการ

สมาธิ ก็ทำนองเดียวกัน เวลานี้คนใช้สมาธิเป็นตัวกล่อมกันมาก สมาธิเพื่ออะไร ก็คงจะคิดตอบอยู่ในใจว่า เพื่อจะได้สุขสงบ สบาย เท่ากับต่อด้วยนอน เวลามีปัญหาอะไร ก็ไปเข้าสมาธิ จะได้หลบปัญหา หายวุ่นวายใจ พอสงบสบายใจได้แล้วก็ปล่อยปัญหาทิ้งไว้ไม่ต้องแก้ เป็นการแก้ปัญหาเพียงชั่วคราว หรือหลบปัญหา เหมือนกินยานอนหลับ แต่คนกินยานอนหลับแก้ปัญหาได้ไหม ก็ไม่ได้ อย่างนั้นเรียกว่า ใช้เป็นที่พักจิต

ประโยชน์ที่แท้ของสมาธิก็คือ เป็นการสร้างสภาพจิตที่ท่านเรียกว่า กมฺมนียํ แปลว่า ทำให้จิตควรแก่งาน จิตที่เป็นสมาธิ คือจิตที่เหมาะแก่การใช้งานมากที่สุด ก็ใช้มันเลย เอาไปใช้ในการคิดพิจารณาด้วยสติปัญญา ตอนนี้แหละจะคิดออก คิดชัด คิดแล่นโล่งตลอด คนที่จิตใจฟุ้งซ่านว้าวุ่นไม่มีสมาธิจะคิดอะไรไม่ออก มัวแต่สับสนวุ่นวาย วกวนและติดตัน แต่พอมีสมาธิ ใจสงบผ่องใส ก็คิดแน่วแน่ไปทะลุตลอดปรุโปร่ง และมองเห็นชัดเจน ฉะนั้น สมาธิจึงเป็นฐานของปัญญา จะเห็นว่าในไตรสิกขา ศีลส่งต่อแก่สมาธิ สมาธิส่งต่อแก่ปัญญา ไม่ได้หยุด

ถ้าสมาธิด้วน ก็จบที่สุขสงบ พอหายกลุ้มหายกังวลแล้ว ไปนอนหลับเสียนี่ ก็ใช้ไม่ได้ จะเห็นว่าพวกเราใช้สมาธิเป็นตัวกล่อมกันเสียมาก นี่ก็คือการมองอะไรต่ออะไรแบบหยุดนิ่ง ขาดความสัมพันธ์ ทั้งไม่มองเชิงเหตุปัจจัย และไม่มองเชิงไตรสิกขา ในแง่เป็นองค์ประกอบที่เกื้อหนุนให้เราคืบเคลื่อนต่อไปในกระบวนการเดินหน้าอย่างที่ว่าเมื่อกี้

การปลงอนิจจัง ก็เหมือนกัน พอมีอะไรแตกหัก มีการพลัดพราก ก็ปลงว่า เออ สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ แตกได้ ดับได้ เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป จะไปทำอะไรได้ ก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไป หรืออย่างเวลานี้มีวิกฤติ เศรษฐกิจเสื่อมทรุด ก็ปลงว่า มันเจริญแล้วก็ต้องเสื่อม มันเสื่อมได้เดี๋ยวมันก็เจริญเองแหละ ของมันเป็นอนิจจัง พอปลงได้ก็ใจสบาย อันนี้เป็นเพียงการเอาความรู้เท่าทันมาใช้อย่างครึ่งๆ กลางๆ นับว่าเสี่ยงอันตราย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ สังขารคือสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน จะต้องเสื่อมสลายไป เพราะฉะนั้น อย่านอนใจ จงไม่ประมาท อนิจจังนำไปสู่ความไม่ประมาท หมายความว่า การรู้ความจริงของธรรมชาติที่เป็นอนิจจัง นำไปสู่การดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท คือหลักความจริงนั้นบอกเราว่า สิ่งทั้งหลาย รวมทั้งชีวิตของเรา เป็นของไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่ทั้งนี้มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เราจะนอนใจอยู่ไม่ได้ จะต้องลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แก้ปัญหา โดยศึกษาให้รู้เหตุปัจจัย แล้วแก้ไขและทำที่เหตุปัจจัย อย่างนี้จึงจะเข้าหลักการ

ในภาวะเศรษฐกิจยามวิกฤตินี้ บางคนบอกว่า ตอนนี้เป็นเศรษฐกิจ “ขาลง” ต่อไปถึงเวลาก็เป็น “ขาขึ้น” รอไปก่อน เดี๋ยวก็ดีเอง

คำว่า “ขาขึ้น-ขาลง” นี้ เป็นคำเชิงวิชาการ แต่นำมาใช้กันในความหมายที่แฝงด้วยความรู้สึกของคนที่ปล่อยตัวตามโชคชะตา หรืออย่างน้อยก็ปล่อยตัวตามกระแส ซึ่งเสี่ยงภัย และไม่เอื้อต่อการพัฒนามนุษย์

เศรษฐกิจที่ต้องวิกฤติ มาเป็นอย่างนี้ เพราะเป็นขาลง เมื่อถึงขาขึ้น เศรษฐกิจก็จะดี พอพูดอย่างนี้ ก็ชวนให้รู้สึกว่า เศรษฐกิจจะวิกฤติหรือหายวิกฤติเป็นเรื่องของวงจรที่จะเป็นไปเอง มันจะต้องเป็นอย่างนั้น เหมือนกับพูดต่อไปในวงเล็บว่า เราจะทำอะไรได้ ก็ต้องรอมันไป จนกว่ามันเป็นขาขึ้น แล้วมันก็จะดีเอง ถ้าอย่างนี้ก็เข้าลัทธิแล้วแต่โชค ผิดหลักความจริง และผิดหลักพุทธศาสนา

ทางที่ถูก ควรพูดให้เต็ม และสร้างความรู้สึกหรือท่าทีให้ถูกต้องว่า เศรษฐกิจ ตอนนี้เป็นขาลง ตามวงจรซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะกระบวนการของเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันมาที่จะให้มันเป็นอย่างนั้น เมื่อมองอย่างนี้ก็จะเห็นทางหรือตั้งท่าทีในทางที่เราจะเข้าไปมีส่วนแก้ไขจัดการได้บ้าง

จริงอยู่ เหตุปัจจัยในเรื่องนี้มีมากมาย เช่น มีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยหลายอย่างอาจพ้นวิสัยของเราที่จะจัดการได้ แต่ส่วนใดเราแก้ไขปรับปรุงได้ เราก็จะได้พยายามทำ และเหตุปัจจัยทุกอย่างย่อมท้าทายปัญญาให้ศึกษาจนรู้เข้าใจ และด้วยความเพียรทางปัญญานี้ ต่อไปเราก็จะสามารถจัดการกับเหตุปัจจัยทั้งหลายได้มากขึ้นๆ จนสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองจากฐานะที่ขึ้นต่อกระแส เป็นผู้ถูกกำหนด ให้กลายเป็นผู้ปรับเปลี่ยนกระแส ตลอดจนเป็นผู้นำและเป็นผู้กำหนดกระแส

ถ้าใฝ่ดี ใฝ่ทำ และพยายามจัดการกับเหตุปัจจัย ถึงจะยังไม่แกร่งกล้า แต่อย่างน้อยถึงคราว “ขาลง” ก็จะลงได้สวย และเมื่อถึงคราว “ขาขึ้น” ก็จะขึ้นได้สูง ด้วยเรี่ยวแรงกำลังของตนเอง มิใช่ว่าพอ “ขาลง” ก็ถูกกระแทกเต็มที่เจ็บหนัก พอ “ขาขึ้น” ก็ขึ้นไม่ไหว หรือขึ้นได้เพราะถูกอุ้มพลอยตามเขาขึ้นไป

ที่จริงนั้น เราก็มีส่วนร่วมในการสร้างกระแสและทำให้เกิดวงจรอย่างที่เป็นอยู่นั้นอยู่แล้ว ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเป็นการมีส่วนร่วมด้วยโมหะ หรือมีส่วนร่วมด้วยปัญญาเท่านั้นเอง จุดเริ่มที่จะแก้วิกฤติ ก็คือการเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยปัญญา โดยยืนอยู่บนขาของตัวเราเองที่แข็งแรงมั่นคง

สู่ยุคใหม่ แห่งการสร้างสรรค์สังคมไทย

ตอนนี้เวลาหมดแล้ว ขอพูดสั้นๆ ว่าสิ่งสำคัญที่จะต้องทำต่อไป ขอยกเป็นคำสรุปว่า

“อย่ามองแคบแค่ไทย อย่ามองใกล้แค่คราวทุกข์”

เวลานี้ เมือถึงคราววิกฤติ เกิดความทุกข์ขึ้น มันชวนให้เรามองแคบ มองแต่ตัว บางทีไม่มองแค่เมืองไทยด้วยซ้ำ มองแค่ตัวเองคนเดียวเลย มองแค่ไทยก็ยังดี แต่มองแค่ไทยก็ยังไม่พอ ต้องมองไปทั่วโลก ถ้าเราจะแก้ปัญหาโดยเฉพาะระยะยาว จะต้องมองไปทั่วโลก และมองด้วยความรู้เท่าทัน อย่างน้อยไม่ถูกพัดพาให้ไหลไปตามกระแส ไม่ถูกอิทธิพลภายนอกครอบงำ ต้องรู้ทัน แล้วคิดที่จะก้าวไปสู่การร่วมรับผิดชอบสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ต้องรับผิดชอบโลกด้วย อย่าคิดแค่รับผิดชอบเมืองไทยเท่านั้น

๑. ในการมอง อย่ามองแคบแค่ไทย และ

๒. ทำจิตทำปัญญาให้สมกับโลกาภิวัตน์

พูดกันว่าเป็นโลกาภิวัตน์ แต่คิดแคบนิดเดียว มองแค่ตัวเองคนเดียว มองแค่เมืองไทย ไม่สอดคล้องกัน เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นโลกาภิวัตน์ อะไรๆ ก็ไร้พรมแดน เราก็ต้องทำจิตปัญญาให้สมกัน คือ ทำใจให้กว้าง และใช้ปัญญามองให้ไกลไปทั่ว ให้เป็นจิตปัญญาที่ไร้พรมแดนด้วย ต้องรู้เท่าทันโลก รู้เหตุปัจจัยของความเคลื่อนไหวในโลก รู้กระแสเหตุปัจจัย เช่น รู้ฝรั่งก็รู้ให้ถึงเหตุปัจจัยของฝรั่ง อย่ารู้แค่ผล หรือรู้แค่ปรากฏการณ์ของฝรั่งไม่ได้ ต้องมองกว้าง และคิดลึก คิดไกล

พร้อมกันนั้นก็อย่ามองใกล้แค่คราวทุกข์ ไม่ใช่ว่าคราวทุกข์ก็มองอยู่แค่ยามวิกฤตินี้ ต้องมองยาวต่อไปข้างหน้าว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะสร้างสรรค์ประเทศชาติโดยมีจุดหมายอย่างไร แล้วก็ไม่ใช่มองแค่เศรษฐกิจ สิ่งดีงามที่จะต้องทำมีอีกมากมาย ไม่ใช่ว่าพอแก้เศรษฐกิจได้ เดี๋ยวเราก็จะสบาย พอสบายก็ลงนอนอีกแล้ว แล้วก็ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยอีก ต้องมองต่อไปอีก เศรษฐกิจเป็นเพียงปัจจัย พระบอกว่า วัตถุและเศรษฐกิจเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้เราก้าวไปทำสิ่งที่ดีงาม ทำการสร้างสรรค์สิ่งอื่นต่อไป

การที่จะเป็นผู้นำในโลก ไม่ใช่นำแค่ทางวัตถุ แต่จะต้องนำทางจิตปัญญา การนำที่แท้ยั่งยืน คือการนำทางจิตใจและทางปัญญา ฉะนั้น สังคมไทยนี้อย่ามุ่งหมายแคบๆ ใกล้ๆ ต่ำๆ พอเห็นเขาเป็นผู้นำในโลกเศรษฐกิจ ก็อยากจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจบ้าง มันยังต่ำเกินไป เศรษฐกิจนั้นสำคัญมาก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเศรษฐกิจเป็นปัจจัย เราต้องอาศัยมันก้าวต่อไป ถ้าติดอยู่แค่เศรษฐกิจก็ผิด เรียกว่า ใฝ่ต่ำ เราจะต้องเป็นผู้นำทางปัญญาให้ได้

ไทยจะต้องมุ่งหมายเป็นผู้นำทางปัญญา ยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนากันต่อไป คุณค่าของเศรษฐกิจอยู่ตรงนี้ คือเอามันมาเป็นฐาน เป็นปัจจัยเอื้อในการก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำทางปัญญานั้น อย่าใฝ่ต่ำแค่เอาดีทางเศรษฐกิจ แต่ต้องใฝ่สูง มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ชีวิต สังคมและโลกที่ดีงาม มีสันติสุขแท้จริงให้ได้

สุดท้ายก็คงจะบอกว่า เตรียมสร้างฐานของสังคมใหม่ให้ดี ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างสังคมใหม่ หรือถ้าพูดไม่เอาใหญ่เกินไปก็เป็น ‘สังคมยุคใหม่’ เมืองไทยต้องขึ้นยุคใหม่แล้ว จึงต้องสร้างฐานของสังคมไทยยุคใหม่นั้นให้ดี

ขณะนี้เมืองไทยมาถึงโค้งใหม่แห่งประวัติศาสตร์แล้ว โค้งนี้ของประวัติศาสตร์เป็นโค้งสำคัญ จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เราจะไปดีหรือไปร้าย ก็ถึงโอกาสละคราวนี้ ต้องไปให้ดี โค้งนี้ต้องทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะก็คือการถือโอกาสที่จะให้การศึกษาที่ถูกต้อง ด้วยการฝึกฝนอบรมเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะมาสร้างชาติ

เด็กที่จะเป็นผู้สร้างชาติได้ ต้องเป็นนักสร้างสรรค์ ตอนนี้เด็กของเราส่วนใหญ่เป็นนักบริโภค ถ้ามัวแต่เสพบริโภค ไม่เป็นนักสร้างสรรค์ จะสร้างชาติได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จะต้องพัฒนาเด็ก ให้เป็นนักสร้างสรรค์ให้ได้ การที่เด็กจะเป็นนักสร้างสรรค์ได้ ก็จะต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำ ใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ บากบั่นสู้สิ่งยาก อย่างน้อยต้องเป็นนักผลิต ถ้ามัวแต่เป็นนักเสพนักบริโภคก็เดินหน้าไปไม่ได้ เป็นแค่นักผลิตคือเป็นนักสร้างสรรค์ขั้นต่ำก็ยังดี แต่ถ้าจะให้งามควรก้าวไปเป็นนักสร้างสรรค์ที่แท้จริง

คนเรามีเรื่องเสพ เรื่องศึกษา และเรื่องสร้างสรรค์ ๓ อย่างนี้ เราอย่าหยุดแค่เสพ ถ้าวงจรจบแค่เสพ ก็เป็นอันว่าวนและตันแน่ เสพต้องเอามาทำให้เป็นปัจจัยแก่การศึกษา แล้วการศึกษาก็จะเป็นปัจจัยแห่งการสร้างสรรค์ ไม่ใช่เสพเพียงเพื่อเพลิดเพลินบำรุงบำเรอตัวเองให้สุขสบาย แล้วก็จบ เป็นจุดหมายอย่างที่ว่าข้างต้น

ต้องถามว่า เราเสพบริโภคเพื่ออะไร คำตอบก็คือ เพื่อเราจะได้พร้อม เพื่อเราจะได้มีกำลังที่จะเดินหน้า เพราะวัตถุเป็นปัจจัยหรือเป็นฐาน เมื่อฐานพร้อมแล้ว เราจะได้ศึกษา พอศึกษาแล้ว เราจะได้พร้อมที่จะทำการสร้างสรรค์ เพราะเราจะมีปัญญาที่จะทำอะไรเป็น ถ้าเราใช้วัตถุโดยเฉพาะอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อเสพ เราก็จบแค่หาความสุข เอาคอมพิวเตอร์มาเล่นเกมส์ท่าเดียว ดูทีวีแต่ละวันก็ดูแต่การบันเทิง ใช้ไอทีเพื่อเสพ

เดี๋ยวนี้ถามเด็กไทย เด็กยอมรับว่า ฉันใช้ทีวี ใช้ไอที ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อเสพ ๙๐% ใช้เพื่อการศึกษาไม่ถึง ๑๐% เมื่อสนทนากันไป เด็กบอกว่าต่อไปนี้จะแก้ไขปรับปรุง เอา ๕๐ - ๕๐ คือจะใช้เพื่อเสพ ๕๐% ใช้เพื่อศึกษา ๕๐% แต่ไม่ต้องเอาถึงขนาดนั้นหรอก ตอนนี้ยอมให้ เห็นใจเด็ก เพราะผู้ใหญ่ทำไว้ผิด ให้เด็กใช้ไอทีเพื่อเสพ ๗๐% ขอเพื่อศึกษาแค่ ๓๐% ถ้าเด็กใช้ทีวีเพื่อศึกษา ๓๐% ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาเพื่อสร้างสรรค์ สัก ๓๐% เมืองไทยจะเริ่มตั้งตัวได้ เอาแค่นี้ก่อน ฉะนั้น ต้องให้เสพเป็นปัจจัยแก่ศึกษา และให้ศึกษาเป็นปัจจัยแก่สร้างสรรค์ เมื่อไรเด็กไทยเป็นนักสร้างสรรค์ เขาจะสร้างชาติไทยได้แน่นอน

สำหรับยุคที่ผ่านมา เราคงต้องยอมรับว่าเราคงเดินทางมาผิด ไม่ใช่ผิดหมด แต่ก็ผิดมาก เช่น เห็นผิด คิดผิด เป็นอยู่ผิด ดำเนินชีวิตผิด เราเพลินกับยุคกินบุญเก่า เลยเสวยผลและนอนสบาย ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ เป็นนักบริโภค แถมบางทีผลบุญที่เสวย หรือสมบัติที่บริโภคนั้น เป็นของที่ยืมเขามาชื่นชมเสียด้วย ไม่ใช่สมบัติของตัวเอง ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยเรี่ยวแรงการผลิตของตน ความสุขความพรั่งพร้อมที่มีก่อนวิกฤตินั้น เป็นสมบัติที่ยืมเขามา ใช่หรือเปล่า ไม่ใช่สมบัติที่ตัวสร้างขึ้น ถ้าสร้างขึ้นมาเองแล้ว ชื่นชมเสวยผลบุญเก่าไม่สร้างต่อ ก็ยังแย่แล้ว นี่ไปเอาสมบัติของคนอื่นมาชื่นชมเสียอีก ก็ยิ่งแย่ใหญ่

ฉะนั้น ต่อนี้ไปต้องสร้างของตัวเองให้ได้ ต่อไปนี้ต้องเป็นยุคแห่งการสร้างสรรค์ เราจะต้องสร้างเด็กไทยรุ่นใหม่ ให้เป็นประชากรของยุคแห่งการสร้างสรรค์สังคมใหม่ให้ได้ ด้วยการพัฒนาเด็ก ให้การศึกษาเด็ก ให้เป็นนักสร้างสรรค์ เริ่มตั้งแต่ ให้เป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำ ใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ เป็นนักผลิตที่บากบั่น สู้สิ่งยาก ไม่กลัวงานหนัก

“ทางข้างหน้าอีกยาวไกล ไทยพร้อมที่จะเดินไปหรือยัง?” ขอถามเท่านี้

ขอจบปาฐกถาวันนี้ไว้ เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ทุกท่าน ทั้งในที่ประชุม และนอกที่ประชุม ขอทุกท่านจงมีความสุขความเจริญก้าวหน้า ในปีใหม่ ๒๕๔๑ และตลอดไป โดยทั่วกันทุกท่าน

1ปาฐกถาพิเศษ ในการประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ ๒ กองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) เรื่อง “ความร่มเย็นในวิถีไทย” ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ (หัวข้อปาฐกถาเดิมชื่อ “พุทธวิธีในการแก้วิกฤติของชาติ”)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง