แม่ชีศันสนีย์:
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง พวกเราที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ก็ด้วยความสำนึกในพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอให้ท่านอาจารย์ได้เมตตาแสดงธรรมที่จะตักเตือนให้พวกเราเป็นผู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท วันนี้เป็นวันที่พวกเราชาวไทยทุกคนสำนึกที่จะทำหน้าที่ของคนในชาติ วันนี้คือวันที่พวกเราจะกู้แผ่นดิน ขอกราบอาราธนาท่านอาจารย์ได้เมตตาแสดงธรรม “เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร”
กราบนิมนต์เจ้าค่ะ
เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร?
บัดนี้เรามานั่งประชุมกันอยู่ ณ สถานที่อันร่มรื่น มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ในบรรยากาศที่เป็นบุญเป็นกุศล คือการที่เราทั้งหลายมีศรัทธาอยู่ในใจ พร้อมทั้งเมตตาที่แผ่ออกไปต่อผู้มาร่วมในงานนี้ และได้มาประกอบกิจกรรมที่เป็นบุญเป็นกุศล มีการสวดมนต์ เป็นต้น โดยมีบุญเจตนาบูชาพระรัตนตรัยในโอกาสสำคัญ คือวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชามีความหมายอย่างไร? สำหรับที่ประชุมนี้คงไม่จำเป็นจะต้องอธิบายให้ละเอียดลออ เพราะว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธา มีความรู้ความเข้าใจอยู่พอสมควรแล้ว
เราทราบกันดีว่า วันวิสาขบูชานั้น เป็นวันที่เรามาประกอบการบูชา เพื่อระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดา ในโอกาสแห่งวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระองค์
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการประสูติก็ตาม ตรัสรู้ก็ตาม ปรินิพพานก็ตามนั้น อย่างที่กล่าวเบื้องต้นแล้วว่าคงไม่จำเป็นจะต้องมาทบทวนกันในที่นี้ แต่สาระสำคัญของวันวิสาขบูชานั้น ก็เพื่อให้เราได้ประโยชน์ คือให้ประโยชน์เกิดขึ้น ทั้งแก่ตัวเรา คือชีวิตของเรา และแก่สังคมของเรา
การที่เราบูชาพระพุทธเจ้า ความจริงเราไม่ได้ทำเพื่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็คงไม่ทรงต้องการประโยชน์อะไรจากพวกเรา แต่การที่เราบูชานี้ ประโยชน์ก็เกิดแก่ตัวของพวกเราเอง ถ้าเรารู้ความหมายรู้เหตุรู้ผลในการบูชา รู้ว่าประโยชน์อะไรที่เราควรจะได้ และรู้ว่าเราควรจะบูชาอย่างไร ก็จะยิ่งได้ประโยชน์มาก เพราะฉะนั้น การบูชาที่จะมีผลดีก็คือการบูชาที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ
วิสาขบูชานั้น พูดสั้นๆ ว่ามีความหมายหลายอย่าง บางทีเราบอกว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า ทั้งนี้โดยเทียบกับวันอื่น กล่าวคือ ในบรรดาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เราประกอบพิธีบูชากันในรอบปีนั้น เราถือว่า วันวิสาขบูชานี้ เป็นวันพระพุทธเจ้า เพราะเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนพระองค์ของพระพุทธเจ้า คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน
วันมาฆบูชา เราบอกว่าเป็นวันพระธรรม เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมที่เรียกกันว่า เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือไม่ทำชั่ว ทำดี และทำใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งเราถือว่าเป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา รวมอยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักนี้ในวันมาฆบูชา ก็คือแสดงหัวใจของธรรม เราก็เลยเรียกวันมาฆบูชาว่าวันพระธรรม
ส่วนวันอาสาฬหบูชานั้น เราบอกว่าเป็นวันพระสงฆ์ เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มประกาศพระศาสนา โดยทรงแสดงปฐมเทศนา และในบรรดาผู้ที่ได้ฟังในวันนั้น ก็มีท่านหนึ่งที่ได้บรรลุธรรม ได้เป็นปฐมสาวก คือเป็นสาวกองค์แรก เท่ากับเกิดมีพระสงฆ์ขึ้นมา เราจึงเรียกว่าเป็นวันพระสงฆ์ ที่ว่านี้ก็เป็นความหมายอย่างหนึ่ง
ถ้าพูดให้สั้นกว่านั้น อาจจะบอกว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า โดยมีความหมายว่าเป็นวันปลุกใจชาวพุทธ และปลุกจิตชาวโลก เพราะคำว่า “พุทธะ” หรือ พระพุทธเจ้า แปลว่า ผู้ตื่น ตื่นก็โยงไปถึงรู้ แล้วก็เบิกบาน คำสำคัญก็คือตื่น ซึ่งหมายความว่าตื่นจากหลับ และตื่นจากความหลงใหล พ้นจากอวิชชา พ้นจากโมหะ
เมื่อพระพุทธเจ้าตื่น พวกเราชาวโลกหรือสรรพสัตว์ทั้งหลายยังไม่ตื่น ยังหลับใหลอยู่เป็นจำนวนมาก พระองค์จึงมาปลุกให้ตื่นเพื่อจะได้เป็นพุทธะด้วย เพราะฉะนั้นวันพระพุทธเจ้าจึงมีความหมายว่าเป็นวันที่โลกบังเกิดมีท่านผู้ที่จะมาปลุกให้คนทั้งหลายตื่นขึ้นจากความหลับใหลด้วยกิเลส มีโมหะ เป็นต้น
อีกอย่างหนึ่ง เราอาจจะเรียกวันวิสาขบูชาว่าเป็นวันประกาศอิสรภาพของมนุษย์ อันนี้มีความหมายพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องอธิบายยืดยาว ที่จริงเหตุการณ์แห่งการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น แต่ละอย่างมีความหมายทั้งสิ้น
ในการประสูตินั้นมีพุทธพจน์กำกับอยู่ ท่านกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเมื่อประสูติได้ตรัสพระวาทะ ที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อาสภิวาจา (วาจาอาจหาญ) ว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส แปลว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก เมื่อได้ยินคำนี้บางคนอาจจะมองว่า ทำไมพระพุทธเจ้ามาอวดอ้างพระองค์ จะต้องเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ เป็นการตรัสในฐานะที่ทรงเป็นตัวแทนของมนุษย์ แต่ไม่ใช่มนุษย์ทั่วไป ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ที่พัฒนาตนดีแล้ว
เมื่อมนุษย์พัฒนาตนสมบูรณ์แล้ว ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองนี้ มนุษย์ก็จะกลายเป็นผู้ประเสริฐ มนุษย์ที่เคยหวังพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออิทธิฤทธิ์ที่ดลบันดาลภายนอก ก็กลายเป็นผู้มีอิสรภาพ
เรื่องนี้ตรัสโดยสัมพันธ์กับสภาพของสังคมอินเดียโบราณ ซึ่งเป็นสังคมที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น หรือพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ลองหันไปดูสังคมอินเดียโบราณ และแม้แต่ไม่โบราณ คือปัจจุบันนี้เอง ซึ่งอาจจะโยงมาถึงประเทศไทยด้วย ผู้คนทั้งหลายนั้น อยากจะดำเนินชีวิตที่ดี อยากจะมีความสุข อยากจะพ้นทุกข์พ้นภัย อยากจะได้สิ่งที่หวังที่ต้องการ เมื่อเขามีความปรารถนาอย่างนี้ เขามองไปที่ไหน เขามักจะมองออกไปข้างนอกว่าจะมีใครมาช่วยเรา โดยเฉพาะก็เชื่อว่ามีเทพเจ้าเป็นต้น ที่มีอำนาจดลบันดาล ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่การดลบันดาลของท่าน เราต้องฝากโชคชะตาไว้กับเทพเจ้าเป็นต้นเหล่านั้น ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติ
เมื่อเชื่ออย่างนี้ คนอินเดียสมัยโบราณ ก็ต้องหาวิธีที่จะให้เทพเจ้าผู้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลนั้นมาช่วยเหลือ จึงได้ประดิดประดอยวิธีที่จะเอาอกเอาใจเทพเจ้า ที่เรียกกันว่าการเซ่นสรวงบูชา การประดิษฐ์ตกแต่งคิดหาวิธีเอาอกเอาใจเทพเจ้านี้ ได้พัฒนามาเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าการบูชายัญ ไม่ว่าที่ไหนในสมัยโบราณ ถ้าจะเอาใจเทพเจ้าก็มาลงที่การบูชายัญ
แต่การเอาอกเอาใจเทพเจ้าที่เราไม่รู้ว่าท่านต้องการอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไรนั้น เอาใจลำบากมาก เราจึงต้องคิดเอาเอง คิดไปคิดมาก็พยายามปรุงแต่งวิธีจนกระทั่งยิ่งใหญ่มาก คิดว่าเทพเจ้าท่านมีอำนาจมาก บางองค์ก็ดุ คงชอบชีวิต ก็เลยเอาสัตว์มาฆ่าบูชายัญ ถ้าแค่เรื่องเป็ด เรื่องไก่ ก็คงง่าย แต่ต่อมาก็เอาวัว เอาแกะ เอาแพะ มาบูชายัญ แล้วก็ต้องทำเป็นการใหญ่ทีละมากๆ เช่น วัว ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ เวลาผ่านมาคิดว่าเท่านี้เทวดาคงยังไม่พอใจ เทพเจ้าบางองค์อาจจะพอใจชีวิตคน ก็เลยเอาคนมาฆ่าบูชายัญ อย่างเจ้าแม่กาลี ก็ต้องเอาหญิงสาวพรหมจารีมาฆ่าบูชายัญ
การเอาอกเอาใจเทพเจ้าและอำนาจที่เรามองไม่เห็น ที่เราไม่รู้ใจอย่างนี้ จะเป็นเรื่องที่ไม่มีที่สิ้นสุด ให้มองได้เลยว่า ไม่ว่าใครถ้าอยู่ในลัทธิความเชื่ออย่างนี้ ก็จะเดินไปจนกระทั่งถึงจุดที่ว่านั้น และในที่สุดก็ต้องหาอะไรมาเป็นกรอบกั้น อย่างอินเดียนั้น เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครอง ก็ออกกฎหมายห้ามไม่ให้เอาคนไปฆ่าบูชายัญ อย่างนี้เป็นต้น สังคมปัจจุบันนี้ก็กำหนดจำกัดขอบเขตกันด้วยกฎหมายและให้มีการลงโทษ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เกิดความกลัว เป็นการยับยั้งด้วยความกลัว ไม่ใช่เรื่องของสติปัญญา
รวมความก็คือว่า มนุษย์มองไปข้างนอก แสวงหาและหวังผลสำเร็จจากอำนาจดลบันดาล และรอคอยความช่วยเหลือ เป็นกันมาอย่างนี้ บูชายัญกันอยู่อย่างนี้
เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์ก็มาตรัสสอนใหม่ว่า อย่ามัวไปมองข้างนอกเลย ให้ดูความจริงที่ตัวเราเองนี่แหละ และดูโดยสัมพันธ์กับความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมด ว่าชีวิตของเราก็ตาม สิ่งทั้งหลายรอบตัวของเราก็ตาม มันมีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่เรียกง่ายๆ ว่ากฎธรรมชาติ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ กำกับทุกสิ่งทุกอย่าง ผลเกิดจากเหตุ และเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อเราต้องการผลเราก็ต้องทำเหตุ แต่การที่จะให้เกิดผลสำเร็จคือการที่เราจะทำให้ตรงเหตุได้ เราจะต้องมีความรู้ คือต้องมีปัญญา
สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร เราจะรู้และทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยนั้นได้ เราก็ต้องมีปัญญา ทำอย่างไรเราจะมีปัญญา เราก็ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตัวเองให้มีปัญญานั้น เมื่อเรารู้ คือมีปัญญารู้เข้าใจเหตุปัจจัย เราก็ทำเหตุได้ถูกต้อง ผลที่ต้องการก็เกิดขึ้น
นอกจากนั้น เมื่อผลที่เราต้องการนี้เกิดจากการทำเหตุ เราจะทำเหตุเราก็ต้องใช้เรี่ยวแรงกำลังของเราทำมัน คือต้องเพียรพยายาม เพราะฉะนั้น ผลสำเร็จที่เราต้องการ จึงเกิดจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตัวเราเอง นี้คือหลักของเหตุผล เป็นเรื่องของธรรม คือกฎธรรมชาติแห่งเหตุปัจจัย และเรื่องของกรรม คือการกระทำของมนุษย์ที่จะให้เกิดผลตามธรรม คือตามกฎแห่งเหตุปัจจัยนั้น
จากหลักการที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าจึงดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม และพระองค์ก็สอนว่าธรรมนี้แหละสูงสุด เทพเจ้าถึงมีอำนาจมากมายยิ่งใหญ่อย่างไร ก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของธรรม เทพทั้งหลายไม่เหนือธรรมไปได้ คือไม่เหนือความจริง ไม่เหนือกฎธรรมชาติ ตัวเทพทั้งหลายเองก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ และต้องวัดด้วยธรรม อย่างเทพที่ว่าไม่ดี เอาแต่ใจชอบของตัวเอง ใช้อำนาจข่มเหงให้มนุษย์เกรงกลัว ต้องเซ่นสรวงสังเวยบูชายัญ เอาใจไม่ถูกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หรือเทพที่ดีที่ว่ามีเหตุมีผล ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้จะตัดสินด้วยอะไร ก็ตัดสินด้วยธรรม เป็นอันว่าเทพก็ต้องเอาธรรมเป็นมาตรฐาน เพราะฉะนั้น ธรรมจึงสูงกว่าเทพ ธรรมต้องเหนือเทพ
ถ้าเราขึ้นสูงสุดไปนับถือธรรมเลย เราก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องเทพ เพราะทั้งเทพและเราก็ต้องเคารพธรรมด้วยกัน เพียงแต่ว่าเราก็อยู่กับเทพอย่างเป็นมิตร มีเมตตา เราไม่ได้ดูถูกดูหมิ่นท่าน แต่เราไม่ต้องขึ้นต่อเทพ เราไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือ ไม่ต้องหวังผลดลบันดาลจากท่าน เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามธรรม การถือธรรมเป็นใหญ่ ยกธรรมเป็นสูงสุดนี้ เป็นเกณฑ์ตัดสินความเป็นชาวพุทธอย่างสำคัญ
เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนคนให้ย้ายจากเทพมาสู่ธรรม อันนี้คือความหมายสำคัญแห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ และเป็นการประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ คือ การประกาศหลักการที่ให้ถือธรรมเป็นใหญ่สูงสุด
จุดนี้เป็นข้อที่จะต้องย้ำเน้นกัน เพราะว่าแม้แต่ปัจจุบันนี้ ผู้ที่เรียกตัวว่าเป็นชาวพุทธจำนวนมาก ก็ยังพร่าๆ มัวๆ ยังไปถือเทพสูงสุด ทั้งๆ ที่เทพทั้งหลายก็อยู่ใต้อำนาจธรรม
ถ้าเราเอาธรรมเป็นเกณฑ์แล้วหมดปัญหา อย่างที่บอกแล้วว่า เทพนั้นเราเอาใจไม่ถูก เราก็ได้แต่คอยตามดูว่าท่านจะชอบอะไร จะเอาอย่างไร ที่เราทำไปนั้นถูกใจท่านหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ผลที่ต้องการ เราก็นึกว่าท่านยังไม่ชอบใจ เราก็ต้องยักย้ายเปลี่ยนแปลงวิธีที่จะเอาใจใหม่ จนกระทั่งไม่มีที่สิ้นสุด
แต่ถ้าเราถือธรรมเป็นใหญ่ เราจะเป็นตัวของตัวเอง เพราะธรรมมีกฎมีเกณฑ์ คือความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ขึ้นต่อปัญญาของเรา ถ้าเราพัฒนาปัญญาของเราให้รู้ธรรม คือ รู้เข้าใจกฎธรรมชาติแล้ว เราก็ทำได้ถูกต้องเอง ถึงตอนนี้เราก็ไม่ต้องเคว้งคว้าง ไม่ต้องวุ่นวายห่วงกังวลอยู่ภายนอก แต่หันมาตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาตัวเอง โดยพัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้ธรรม ให้เข้าถึงธรรม เพื่อจะทำอะไรๆ ได้ถูกต้อง
พูดสั้นๆ ว่า ถ้านับถือเทพเป็นใหญ่ ผลที่ต้องการจะได้หรือไม่ก็อยู่ที่ใจของเทพว่าท่านจะชอบหรือไม่ ทางฝ่ายเราก็ต้องคอยอ้อนวอนเอาใจท่าน และรอให้ท่านบันดาลให้ แต่ถ้านับถือธรรมเป็นใหญ่ ผลที่ต้องการจะได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ปัญญาของเราเอง ที่จะศึกษาให้รู้เหตุปัจจัย แล้วก็ทำขึ้นมาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของเราเอง
ถ้านับถือเทพเป็นใหญ่ เราก็ต้องหวังผลจากการดลบันดาล และเป็นนักอ้อนวอน แต่ถ้านับถือธรรมเป็นใหญ่ เราต้องหวังผลจากการกระทำ และเป็นนักสร้างสรรค์
การที่มีปัญญารู้เข้าใจธรรมแล้วปฏิบัติได้ถูกต้องนี่แหละ คือการที่มนุษย์พัฒนาขึ้นเป็นผู้ประเสริฐ ผู้มีชีวิตที่ดีงาม และมีความสุขอย่างแท้จริง พ้นจากความทุกข์ ถึงตอนนี้แม้แต่เทพทั้งหลายก็หันมากราบไหว้บูชามนุษย์นั้น เพราะมนุษย์นั้นได้กลายเป็นพุทธะแล้ว
พูดสั้นๆ ว่า ด้วยการพัฒนาปัญญาให้เข้าถึงธรรมที่สูงสุด มนุษย์ก็กลายเป็น “พุทธะ” ผู้ประเสริฐเหนือเทพ
พระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของมนุษย์ที่ได้พัฒนาตนแล้วสูงสุด เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ เทพและพรหมทั้งหลายก็หันมาน้อมนมัสการ จึงมีคำปลุกใจชาวพุทธอยู่เสมอว่า
“พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ เมื่อได้ฝึกฝนพระองค์ดีแล้ว มีพระหฤทัยที่อบรมถึงที่แล้ว...แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ”(องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๑๔)
ข้อความนี้เป็นการให้กำลังใจแก่ชาวพุทธอยู่ตลอดเวลา ชาวพุทธจะต้องนึกถึงคติข้อนี้ อย่ามัวแต่มองหาที่พึ่ง หวังความช่วยเหลือ รออำนาจดลบันดาลภายนอก แต่ต้องถือธรรม คือตัวความจริง และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นใหญ่ แล้วก็พัฒนาปัญญาให้รู้ความจริง ให้เข้าถึงธรรมชาตินั้น แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริงที่เรียกว่า “ธรรม” ชีวิตของเราก็จะดีงาม
หลักการที่ว่ามานี้เป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ว่า เมื่อมนุษย์พัฒนาตัวเอง เข้าถึงธรรมอย่างนี้แล้ว มนุษย์ก็จะเป็นสัตว์ผู้ประเสริฐ เป็นอยู่ด้วยปัญญา ที่ทำอะไรๆ ได้อย่างเป็นอิสระ เป็นพุทธะที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่า แม้แต่เทพและพรหมก็น้อมนมัสการ
การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยสาระก็หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า และการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ก็คือการที่มนุษย์ได้พัฒนาปัญญา รู้แจ้งธรรมโดยสมบูรณ์ ถึงความเป็นอิสระ เป็นบุคคลผู้เลิศประเสริฐสูงสุด เหนือกว่าเทพพรหมทั้งปวง
ดังนั้นวันวิสาขบูชานี้จึงถือว่าเป็นวันประกาศอิสรภาพของมนุษย์ จะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็ได้ เพราะก่อนหน้านั้นมนุษย์ทั้งหลายมีชีวิตและสังคมที่ขึ้นต่อเทพเจ้า มัวแต่หวังพึ่ง และกลัวการดลบันดาลจากอำนาจของเทพเจ้ากันตลอดมา ศาสนาทั้งหลายก็สอนกันมาอย่างนั้น จนถึงพุทธศาสนาจึงมีการเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างที่กล่าวข้างต้น ดังวาทะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างที่ยกมาให้ฟังนั้น
คำตรัสทั้งหมดมีความหมายสัมพันธ์กัน ทั้งวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน
วันประสูติที่ตรัสอาสภิวาจานั้น บอกว่าการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนาเป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ให้รู้ว่ามนุษย์สามารถพัฒนาตนให้ประเสริฐ ให้มีความดีงาม มีความสมบูรณ์ และหลุดพ้นจากทุกข์ มีอิสรภาพได้ แต่การที่จะเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐได้อย่างนั้น ก็จะต้องพัฒนาตัวให้รู้ธรรม เข้าถึงธรรมอย่างที่กล่าวมาเมื่อกี้
ในวาระแห่งการตรัสรู้นั้น พุทธพจน์ที่ตรัสว่า “ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา” เป็นต้น เป็นวาทะที่แสดงหลักการนี้ชัดเจนว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงหยั่งรู้ถึงธรรม คือกฎแห่งความจริงของธรรมชาติแล้ว พระองค์ก็หมดสิ้นความสงสัย มีความสว่าง บรรลุอิสรภาพโดยสมบูรณ์ เท่ากับบอกว่า การที่มนุษย์จะประเสริฐได้ ก็ต้องพัฒนาตน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะดีขึ้นมาเอง มนุษย์นั้นถ้าไม่ฝึกตน ไม่พัฒนาแล้วหาประเสริฐไม่ เมื่อพัฒนาตัวเองจนเข้าถึงธรรมแล้ว นำธรรมมาใช้ประโยชน์ได้ จึงจะเป็นผู้ประเสริฐจริง
แต่ทำอย่างไรมนุษย์จะได้ใช้ธรรมพัฒนาตนเองให้เข้าถึงธรรมได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสย้ำเตือนไว้ตอนปรินิพพาน เป็นปัจฉิมวาจาว่า “เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” เป็นการตรัสเตือนว่า ชีวิตของเราไม่เที่ยงแท้แน่นอน สิ่งทั้งหลายรอบตัวก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน สังขารทั้งหลายเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เราจะนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ ต้องกระตือรือร้นขวนขวาย ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เราจึงจะเข้าถึงธรรมและใช้ธรรมให้เป็นประโยชน์ แล้วบรรลุความเป็นผู้ประเสริฐ มีอิสรภาพได้ ปัจฉิมวาจาตอนปรินิพพานย้ำที่จุดนี้
เป็นอันว่า ในการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานนี้ มีพุทธพจน์ที่ตรัสหลักการไว้ครบวงจร คือ
๑. ประสูติ = ประกาศอิสรภาพให้มนุษย์รู้ตัวว่า เราสามารถพัฒนาตนให้ประเสริฐ พ้นทุกข์ มีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ได้
๒. ตรัสรู้ = ทรงเตือนว่า เราจะมีชีวิตที่ประเสริฐดีงามเป็นอิสระอย่างนั้นได้ เราจะต้องเข้าถึงธรรมด้วยการพัฒนาตนจนหยั่งรู้เข้าถึงธรรม
๓. ปรินิพพาน = ตรัสเตือนว่า การที่จะพัฒนาตนเข้าถึงธรรมได้สำเร็จ เราจะต้องมีความไม่ประมาท ใช้เวลาทำกิจกรณีย์ให้เต็มที่
เท่าที่พูดเลยออกไปข้างนอกนิดหน่อยนี้ เป็นการอธิบายความหมายของวิสาขบูชา ในแง่ต่างๆ พอเป็นตัวอย่าง
ทีนี้พูดในแง่ของพุทธประวัติเอง วันวิสาขบูชาที่ว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น ก็คือเป็นวันที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ ประวัติของพระพุทธเจ้าเมื่อว่าโดยย่อ ก็มี ๒ ส่วน
ช่วงแรก เป็นประวัติแห่งการบำเพ็ญบารมี คือการพัฒนาตนด้วยการประกอบคุณงามความดีต่างๆ สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นกุศล โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้อื่น โดยเสียสละได้แม้แต่ชีวิตของตน ส่วนแรกนี้เป็นตอนบำเพ็ญบารมีเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์
ช่วงที่สอง เป็นประวัติหลังจากตรัสรู้แล้ว คือเมื่อพัฒนาพระองค์เองสมบูรณ์แล้ว บรรลุโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เสด็จออกบำเพ็ญพุทธกิจ โปรดสรรพสัตว์ โดยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เป็นช่วงที่ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองแล้ว ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเดียว
ตอนที่ยังบำเพ็ญบารมีเพื่อพัฒนาตนเองนั้นก็ช่วยเหลือผู้อื่นด้วย แต่การช่วยเหลือนั้นไม่สมบูรณ์ เพราะอะไร เพราะตัวเองก็ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่รู้แจ้งถึงความจริงแท้ คือยังไม่ได้ตรัสรู้ธรรม ฉะนั้นการช่วยเหลือ จึงอยู่ในขอบเขตของการช่วยชีวิต และช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ ความยากจนแร้นแค้นเป็นต้น แต่ยังไม่สามารถให้สิ่งที่ประเสริฐสูงสุดของชีวิต ซึ่งให้ได้ต่อเมื่อถึงตอนที่เป็นพระพุทธเจ้า
นี้คือพุทธประวัติ ซึ่งโดยย่อมีสองตอน ถ้าพูดอย่างภาษาสมัยใหม่ก็คือ
๑. ช่วงต้น เป็นช่วงพัฒนาตนเอง
๒. ช่วงหลัง เป็นช่วงที่พัฒนาตนเองสมบูรณ์แล้ว ก็ช่วยให้ผู้อื่นพัฒนาตัวของเขาต่อไป
คติจากพุทธประวัติ จุดสำคัญอยู่ที่การมองชีวิตของพระพุทธเจ้า แล้วทำให้รู้ตระหนักว่า การที่มาเป็นพระพุทธเจ้าได้นี้ ก็คือประวัติแห่งการพัฒนาตนของมนุษย์ท่านหนึ่ง การพัฒนาตนเองของพระพุทธเจ้านี้ เราเรียกว่าการบำเพ็ญบารมี คือการสร้างสรรค์คุณงามความดีอย่างยวดยิ่ง
การทำความดีนั้น มนุษย์ทั่วๆ ไปก็พอรู้ๆ กันอยู่ แต่การทำความดีที่เรียกการบำเพ็ญบารมีนั้น เป็นการทำในระดับที่คนธรรมดาทำแทบจะไม่ไหว เช่น จะให้ทาน หรือเสียสละ ก็เสียสละอย่างสูง ซึ่งทำได้ยาก เช่น สละอวัยวะ ตลอดจนสละชีวิตของตนเอง เพื่อรักษาความดีงาม หรือเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น
คนทั่วไปอาจจะให้เงินให้ทองกันบ้าง แค่ขนาดให้เงินให้ทองนั้น บางทีก็ยังให้ได้ยาก ต่างจากท่านผู้บำเพ็ญบารมีที่พัฒนาตนเต็มที่อย่างพระพุทธเจ้า ต้องให้ได้แม้กระทั่งชีวิตของตน การทำความดีอย่างอื่นก็เหมือนกัน ท่านทำได้อย่างที่เรียกว่า พิเศษสุด หรือสุดยอด จึงสามารถพัฒนาตนให้สมบูรณ์ได้
พระพุทธเจ้าต้องมีความเพียรในการสร้างสรรค์ความดีงาม ทำกิจหน้าที่ของตนเอง และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยมีความเข้มแข็งชนิดที่เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น ไม่ย่อท้อ อุปสรรคขวางหน้าไม่กลัว กล้าสู้ อดทน ฝ่าฟันไป เอาชนะตนเองได้จนกระทั่งประสบความสำเร็จ นี่แหละคือสิ่งที่เป็นแบบอย่างแก่ชาวพุทธทั้งหลาย
ฉะนั้น เมื่อเราศึกษาพุทธประวัติ โดยเฉพาะมานึกถึงวัน วิสาขบูชานี้ อย่างน้อยก็ต้องระลึกถึงประวัติของพระพุทธเจ้า ให้เห็นว่าที่พระพุทธเจ้าจะบรรลุธรรมสำเร็จมาได้นั้น ไม่ใช่เป็นของง่ายๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และเราก็ควรจะต้องทำ
การที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างนั้น ทำให้เราได้ประโยชน์หลายอย่าง ดังนั้น ชาวพุทธจึงระลึกถึงพระพุทธเจ้า โดยถือเป็นสรณะ คือเป็นที่พึ่ง ในความหมายว่า เป็นเครื่องเตือนใจ หรือเป็นเครื่องเตือนระลึก โดยมีคุณค่าที่เราจะได้ดังนี้
๑. การระลึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นการสร้างพลังเริ่มต้นที่จะก้าวไปและยืนหยัดอยู่ในวิถีแห่งการพัฒนาชีวิต โดยมีความเชื่อด้วยความตระหนักรู้ว่า ตัวเรานี้ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ย่อมมีศักยภาพอยู่ในตนที่จะฝึกฝนพัฒนาได้จนเป็นผู้ประเสริฐ ดังมีพระพุทธเจ้าที่ทรงพัฒนาพระองค์สำเร็จแล้วเป็นแบบอย่าง ความตระหนักรู้อย่างนี้ทำให้เกิดศรัทธา คือ ความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ ที่เรียกว่า เกิดตถาคตโพธิศรัทธา คือ เชื่อในปัญญาที่จะทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธะได้
ชาวพุทธต้องมีความเชื่อที่ว่านี้เป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นฐาน ถ้าไม่มีความเชื่อนี้ก็ไม่สามารถจะเดินหน้าไปได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงวางหลักการเบื้องต้นไว้ว่า ชาวพุทธมี ตถาคตโพธิศรัทธา เป็นคุณสมบัติข้อแรก และพระโสดาบันเป็นผู้มีศรัทธานี้อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว
จะเห็นได้ชัดเจนว่า ในตถาคตโพธิศรัทธา หรือเรียกสั้นๆ ว่า โพธิศรัทธานี้ ศรัทธามาด้วยกันกับปัญญา ที่เรียกว่า “โพธิ” คือเชื่อในปัญญา หมายความว่า ศรัทธาเชื่อมต่อกับปัญญา โดยศรัทธาเป็นจุดเริ่มที่จะนำไปสู่ปัญญา ไม่ใช่ศรัทธาติดจมงมงาย
ปัญญานี้เราต้องพัฒนา เมื่อเราพัฒนาไปจนตลอด เราก็จะกลายเป็นพุทธะได้ แต่ถ้าเรามัวย่อท้อ ปล่อยตัว ให้วันเวลาผ่านไป โดยไม่พัฒนาตนเอง เราก็ต้องมีชีวิตที่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก ต้องคอยรอความช่วยเหลือจากอำนาจดลบันดาลอยู่อย่างนั้น
การระลึกถึงพระพุทธเจ้าทำให้เกิดศรัทธา และความมั่นใจในวิถีชีวิตแห่งการพัฒนาตน โดยยึดถือพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง นี่คือข้อหนึ่งที่ว่า มีความเชื่อ มีความมั่นใจในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่สามารถพัฒนาได้จนเป็นพุทธะ
๒. เมื่อเชื่อว่าตัวเรานี้ฝึกได้พัฒนาได้ และจะประเสริฐจะดีเลิศด้วยการฝึกฝนพัฒนานั้นอย่างนี้แล้ว ก็เป็นการบอกอยู่ในตัวว่าเราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตน เพราะฉะนั้นโพธิศรัทธาก็จึงโยงมาหาความสำนึกตระหนักในหน้าที่ของตนว่า ในเมื่อเราเป็นมนุษย์ เราจะมีชีวิตที่ดีงามประเสริฐจนกระทั่งเป็นพุทธะได้ เราจะต้องพัฒนาตนเอง คือ ต้องศึกษาหรือต้องฝึกตนเอง นี้คือความสำนึกในหน้าที่ว่า เมื่อเป็นมนุษย์แล้วก็จะต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน ซึ่งเป็นจิตสำนึกขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้เป็นชาวพุทธจะต้องมีจิตสำนึกในการฝึกตน หรือพัฒนาตนนี้ ถ้ามิฉะนั้น ก็ยังไม่เข้าสู่พุทธศาสนาอย่างแท้จริง
๓. เกิดกำลังใจในการบำเพ็ญความดี และในการพัฒนาตนเอง การฝึกตนเองนั้นยาก คนที่ทำความดีอยู่ในโลก แม้แต่แค่อยู่ในครอบครัว พอเจออุปสรรคนิดหน่อย ยังทำไม่สำเร็จ ยังไม่ได้ผล หรือบางทีคนอื่นไม่เห็นความดีของเรา ก็ชักจะท้อ บางทีเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียน ทำความดี แต่ครูไม่ยกย่อง ไม่เห็นคุณความดี ก็ท้อ แต่พอนึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงประวัติของพระองค์ที่ทรงบำเพ็ญบารมีมาว่า พระองค์สู้ไม่มีถอยเลย ขนาดชีวิตยังยอมสละได้ เพื่อทำความดีให้สำเร็จ พอระลึกขึ้นมาอย่างนี้ ก็เกิดกำลังใจขึ้นมาทันที ฮึดสู้ต่อ บอกตัวเองว่า เราเจอนิดเดียวทำไมถอยล่ะ พระพุทธเจ้าเจอหนักกว่าเราเยอะ พระองค์ยังเดินหน้าต่อไป
การที่ท่านเล่าชาดก และพุทธประวัติไว้ ก็เพื่อประโยชน์ข้อนี้แหละ คือเพื่อปลุกใจและให้กำลังใจชาวพุทธไว้ จะได้ไม่ท้อไม่ถอย พระโพธิสัตว์ทรงเป็นตัวอย่างของการบำเพ็ญบารมีอย่างยอดเยี่ยม ฉะนั้นเด็กๆ ทั้งหลาย อย่ากลัว อย่าถอย อย่ายอมแพ้ อย่าย่อท้อต่ออุปสรรค เอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง พระองค์พบอุปสรรคและความยากลำบากมากกว่าเรา พระองค์ก็สู้จนกระทั่งสำเร็จ เพราะฉะนั้น เราต้องไม่ถอย ถึงจะแพ้บ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ก็สู้ต่อไป
บางคนพอสอบไม่ได้ ก็ท้อแท้หมดกำลังใจเสียแล้ว ไม่ต้องกลัวหรอก คนที่สอบได้ก็ดีแล้ว โมทนาด้วย แต่คนที่สอบไม่ได้ก็มีทางไปอย่างอื่น บางทีการที่สอบไม่ได้ อาจจะกลายเป็นจุดหักเลี้ยวของชีวิต ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ก็ได้
ลองดูประวัติบุคคลสำคัญของโลกสิ บางทีเขาไปสอบตกหรือพลาดเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ แล้วนั่นกลายเป็นจุดสำคัญ ทำให้หันไปมองไปจับเรื่องอื่นที่ไม่เคยนึกถึง เลยกลายเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยได้เขาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างนั้น
มนุษย์มีโอกาสอยู่ตลอดเวลา อย่าไปท้อไปถอย เราติดด่านนี้ ไม่เป็นไร ไปทางโน้น เอาใหม่ ตั้งสติ ใช้ปัญญา มีความเพียรเดินหน้า แล้วสู้ต่อไป พระพุทธเจ้าผจญมาหนักกว่าเรา นึกไว้ตลอดเวลาอย่างนี้ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องครั่นคร้าม เป็นคนเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น เดินหน้าต่อไป นี้คือได้กำลังใจ
๔. ได้วิธีลัดจากประสบการณ์ของพระพุทธเจ้า เราทราบกันดีว่า พระพุทธเจ้ากว่าจะค้นพบธรรม ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ต้องบำเพ็ญบารมี ลองผิดลองถูกมานานเหลือเกิน เมื่อตรัสรู้สำเร็จแล้ว ก็ทรงนำเอาประสบการณ์ของพระองค์มาเล่าให้เราฟัง เราก็เลยได้วิธีลัด เรียกว่าแทบจะได้สูตรสำเร็จ โดยไม่ต้องเสียเวลาและเหน็ดเหนื่อยลองผิดลองถูกอย่างพระองค์ เราก็สบายไปเลย
พระพุทธเจ้า นอกจากทรงประมวลประสบการณ์มาเล่าไว้แล้ว พระองค์ยังจัดวางลำดับประสบการณ์และสิ่งที่ทรงค้นพบไว้เป็นระบบเป็นกระบวนที่ทำให้เรารู้เข้าใจและปฏิบัติได้สะดวกด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นลาภอันประเสริฐของเรา
สรุปว่า การระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ได้ประโยชน์ ๔ ประการ คือ
๑. ได้โพธิศรัทธา คือ ทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่พัฒนาตนได้ จนเป็นสัตว์ที่ประเสริฐสูงสุด
มนุษย์นี้ถ้าไม่ฝึก แม้แต่จะสู้แมวก็ไม่ได้ แมวยังเก่งกว่า เพราะมันสามารถอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ มันเกิดมาไม่เท่าไร เดี๋ยวมันก็หากินได้ แต่มนุษย์นี่ลองไม่ฝึก ไม่เรียนรู้สิ หากินก็ไม่เป็น จะอยู่ไม่รอด ต้องให้พ่อแม่เลี้ยงนานแสนนาน ฝึกกันอยู่นั่นแหละ นั่งก็ฝึก นอนก็ฝึก กินก็ฝึก ขับถ่ายก็ฝึก เดินก็ฝึก พูดก็ฝึก กว่าจะอยู่รอดได้เป็นสิบปี เพราะฉะนั้น มนุษย์ถ้าไม่ฝึก ไม่เรียนรู้ ไม่ศึกษา ก็สู้แมวไม่ได้ แต่พอฝึกแล้ว มนุษย์ก็จะพัฒนาอย่างไม่มีขีดจำกัด จะเป็นมหาบุรุษ ตลอดจนเป็นพุทธะก็ได้ มนุษย์สามารถพัฒนาจากสัตว์ที่อ่อนแอแย่ที่สุด ที่สู้แต่แมวก็ไม่ได้ จนกลายเป็นสัตว์ผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด เราจึงตั้งพระพุทธเจ้าไว้เป็นแบบ
นี่แหละข้อหนึ่ง คือระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วได้ศรัทธาความเชื่อมั่นในศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ที่เป็นสัตว์ซึ่งพัฒนาได้ ฝึกฝนได้ จนเป็นพุทธะก็ได้
๒. ได้จิตสำนึกในหน้าที่ คือเกิดความสำนึกในหน้าที่ของมนุษย์ ที่เป็นสัตว์ซึ่งต้องฝึกนั้นว่า มนุษย์ที่ดีจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนอยู่เสมอ
ชาวพุทธควรสร้างจิตสำนึกนี้ให้มีอยู่เป็นประจำในจิตใจ ไม่ว่าจะไปไหนพบเห็นอะไร ก็มองให้เป็นเรื่องที่จะฝึกตัวหรือเป็นเรื่องที่จะเรียนรู้ทั้งหมด คนที่วางใจอย่างนี้ นอกจากได้ประโยชน์จากสิ่งที่พบแล้วก็ไม่มีทุกข์ด้วย
คนที่มีทุกข์ก็เพราะวางใจไม่ถูก ไปเห็นอะไรก็มองแค่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ ถ้าชอบใจก็อยากได้ อยากเอา ถ้าไม่ชอบใจ ก็อยากจะหนี อยากจะหลบ จึงเกิดความทุกข์เป็นปัญหา แต่คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตนจะได้เรียนรู้เสมอ เพราะมองอะไรก็เป็นเครื่องฝึกตนหมด เจอสิ่งที่ชอบใจก็ได้ฝึกตน เจอสิ่งที่ไม่ชอบใจก็ได้ฝึกตน จึงดีหมด สบายหมด และมีความสุขหมดทุกสถานการณ์ นี่แหละยังไม่ทันตรัสรู้เลยก็เริ่มมีความสุขทุกสถานการณ์แล้ว คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่ทำหน้าที่ได้ถูกต้อง
นี้ข้อสอง คือระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วได้จิตสำนึกในหน้าที่ของมนุษย์ ที่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนอยู่เสมอ
๓. ได้กำลังใจ คือได้พลังความเข้มแข็งแกล้วกล้า จากตัวอย่างแห่งประวัติการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ได้เพียรพยายามมาก่อนเราแล้วอย่างหนัก เราพบอุปสรรคหรือความยากลำบากแค่นี้ จะไปถอยทำไม ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทีไร ก็ได้กำลังใจสู้ต่อไป และเข้มแข็งยิ่งขึ้น
๔. ได้วิธีลัด คือได้ประสบการณ์ของพระองค์ที่ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงมีมหากรุณาอยากจะช่วยเหลือพวกเรา แล้วทรงนำเอาประสบการณ์นั้นมาเล่า มาบอก มาจัดตั้งวางระบบไว้ และสอนให้เหมาะกับอุปนิสัยของเราแต่ละคน
การระลึกถึงพระพุทธเจ้าได้ประโยชน์มากมาย เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าต้องให้ได้ประโยชน์อย่างนี้ จึงจะเป็นพุทธสรณะ สรณะคือพระพุทธเจ้าที่แท้จริง
บางคนว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง นึกว่าพระองค์จะมาคอยช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ จะมาดลบันดาลสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ ถ้านึกอย่างนี้ จะไม่เป็นสรณะอันเกษม เพราะหวังพึ่งพระพุทธเจ้าเพียงแค่เหมือนเทพเจ้าภายนอก เป็นคนอ่อนแออย่างลูกแหง่ที่ต้องคอยปลอบคอยอุ้มอยู่เรื่อยไป เมื่อไรๆ ก็พึ่งตัวเองไม่ได้ ถ้าจะให้ถูกต้องได้ผลจริงต้องระลึกอย่างที่ว่าเมื่อกี้ โดยโยงมาที่ตัวเองว่า เราจะพัฒนาตนไปจนกระทั่งเป็นผู้ประเสริฐด้วยตนเอง และเป็นที่พึ่งแก่ตนได้
แต่ทั้งนี้ก็อย่างที่ว่าแล้ว การระลึกถึงพระพุทธเจ้าจะเป็นประโยชน์แท้จริง ก็ต่อเมื่อช่วยโยงเราให้เข้าถึงความจริงของธรรม
พระพุทธเจ้าที่ได้เป็นพุทธะ ก็เพราะพระองค์ได้พัฒนาปัญญาจนตรัสรู้ธรรม จึงบรรลุนิพพาน มีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระ ดับกิเลส ไร้ทุกข์ สามารถนำธรรมะมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
เพราะฉะนั้น การระลึกถึงพระพุทธเจ้า จึงต้องโยงต่อไปให้ระลึกถึงธรรม อย่างน้อยเริ่มตั้งแต่จะมองอะไร ก็มองตามเหตุปัจจัย ไม่มองตามชอบใจหรือไม่ชอบใจ แค่นี้ก็เป็นการเริ่มต้นเอาธรรมะมาเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว เป็นการได้ธรรมสรณะอย่างง่ายๆ ที่สุด แม้จะยังไม่รู้จักธรรมมากมาย เอาแค่หลักการใหญ่ว่า มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย แค่นี้ก็เป็นการเริ่มพัฒนาปัญญา ได้เริ่มเรียนรู้ทันที
ส่วนคนที่มองอะไรตามชอบใจและไม่ชอบใจ จิตใจจะขุ่นมัวเศร้าหมองวุ่นวาย วนเวียนอยู่กับทุกข์และสุขจากการได้สิ่งที่ชอบใจและเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ ถึงจะมากล่าวคำบาลีว่า ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ก็ว่าไปอย่างนั้นเอง ไม่รู้ความหมาย เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ไม่ได้ถึงสรณะที่แท้จริง แต่ถ้าเอาธรรมเป็นที่ระลึก ถึงธรรมสรณะจริง เริ่มมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ก็เริ่มเรียนรู้ คือเริ่มศึกษา เริ่มได้ปัญญา และเริ่มหลุดพ้นจากทุกข์
ต่อไปสรณะที่ ๓ คือสังฆะ ได้แก่ชุมชนของมนุษย์ที่พัฒนาตนเองในระดับต่างๆ มีทั้งท่านที่ยังไม่ถึงจุดหมายก็มี ถึงจุดหมายแล้วก็มี ซึ่งรวมกันเป็นชุมชนอันประเสริฐ เป็นประจักษ์พยานของธรรม เป็นที่สื่อธรรม เป็นที่ดำรงรักษาธรรมไว้ให้แก่โลก เป็นที่สืบต่อถ่ายทอดธรรม เป็นชุมชนแบบอย่างในการเป็นอยู่ด้วยธรรม และเป็นที่ชักนำหมู่มนุษย์ให้เข้าถึงธรรม เราถึงสังฆรัตนะโดยตั้งชุมชนอย่างนี้ไว้เป็นแบบอย่าง และช่วยกันสร้างสรรค์และสืบต่อสังคมอย่างนี้ ให้สังคมเป็นสังฆะ คือชุมชนแห่งมนุษย์ที่พัฒนาตนในระดับต่างๆ ซึ่งเราเองก็ควรจะได้เข้าไปร่วมด้วย
หลักการ ๓ ประการนี้แหละที่เรียกว่าพระรัตนตรัย ซึ่งควรจะระลึกขึ้นมาเตือนใจตนอยู่เสมอ
๑. ระลึกถึงพุทธะ คือบุคคลที่เป็นแบบอย่างให้เราได้พัฒนาตนเอง ให้เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ และมุ่งมั่นพัฒนาตน
๒. ระลึกถึงธรรมะ คือความจริงของธรรมชาติซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่เราจะต้องรู้ เพื่อจะพัฒนาตนได้สำเร็จ ให้มีชีวิตที่ดีงาม และมีชีวิตที่สมบูรณ์
๓. ระลึกถึงสังฆะ คือชุมชนอันประเสริฐที่สร้างขึ้นด้วยธรรม เป็นที่ดำรงรักษาสืบต่อถ่ายทอดธรรม ซึ่งเราจะต้องเข้าร่วมสร้างสรรค์
ชาวพุทธต้องระลึกถึงสรณะทั้ง ๓ ในความหมายอย่างนี้อยู่เสมอ เพราะเป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา เมื่อนึกถึงแล้วก็นำมาตรวจสอบตัวเองของพวกเราชาวพุทธ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ว่าเราได้ปฏิบัติตามหรือเปล่า อย่างน้อยในการพัฒนาตนเองที่จะต้องมีความเพียรสร้างสรรค์ ตั้งใจมุ่งมั่น ทำแต่สิ่งที่ดีงาม ทำกิจหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ พร้อมกันนั้นก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อเวรภัยแก่สังคม พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ โดยมีความเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น ไม่ระย่อ คุณความดีอย่างนี้เราทำหรือเปล่า
ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็แสดงว่าเรายังได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาน้อยเหลือเกิน เรียกได้ว่ายังไม่ได้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ดีไม่ดีถ้าจับหลักไม่ถูก เราจะถอยร่นหล่นลงมาจากพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ
ในการที่จะพัฒนาคนนั้น ลองหันมาดูมนุษย์ปุถุชนว่าเป็นอย่างไร เมื่อมองตามธรรมชาติของคนเราที่เป็นมนุษย์ปุถุชน ก็จะเห็นว่ามีลักษณะอย่างหนึ่ง ในบรรดาลักษณะหลายๆ อย่าง คือการที่ว่าเราจะทำอะไร หรือจะมีความเพียรพยายามในการสร้างสรรค์อะไรหรือไม่ ก็ขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยภายนอก
พูดเป็นหลักการได้ว่า มนุษย์ปุถุชนนั้นเมื่อทุกข์บีบคั้นถูกภัยคุกคาม ก็จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่พอประสบความสำเร็จ สุขสบาย พ้นทุกข์ไปได้ ก็จะลงนอนเสวยสุข พฤติกรรมอย่างนี้เป็นธรรมชาติทั่วไปของมนุษย์ปุถุชน คือคนที่ยังมีกิเลส ซึ่งจะดิ้นรนขวนขวายเพียรพยายามขึ้นมาก็เพราะทุกข์มันบีบ ภัยมันมาคุกคาม ทำให้อยู่นิ่งไม่ได้ เช่น อดอยากบ้าง สงครามจะมาบ้าง นอนอยู่ไม่ได้แล้ว จึงลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายทำอะไรกันใหญ่ แต่พอพ้นภัยสุขสบายแล้ว ประสบความสำเร็จ มีเงินมีทองใช้ดีแล้ว ...สบาย คราวนี้ก็ลงนอน เสวยสุข
เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมนุษย์ที่ยังไม่พัฒนามักตกอยู่ในวงจรนี้ และนี่ก็คือวงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญ หมายความว่า พอเจอทุกข์เจอปัญหาเดือดร้อนขึ้นมา ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายขยันหมั่นเพียรสร้างสรรค์ ก็เลยร่ำรวยขึ้นมา เป็นต้น เรียกว่าเจริญ แต่พอเจริญมีความสุขดีแล้ว ก็เฉื่อยชา หรือถึงกับลุ่มหลง ระเริง มัวเมา ตกอยู่ในความประมาท แล้วก็เสื่อมลง บุคคลก็ตาม ครอบครัวก็ตาม สังคมก็ตาม ประเทศชาติก็ตาม หรือแม้แต่ที่เราเรียกว่าอารยธรรมทั้งหลาย ลองศึกษาดูเถิด โดยมากเป็นอย่างนี้
พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย คือมาสั่งสอนแนะนำว่า ทำอย่างไรมนุษย์จะไม่ต้องตกอยู่ในวงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญที่เกิดจากกิเลสของตัวเองแบบนี้ คือ ทำอย่างไรจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงมนุษย์ให้มีคุณสมบัติอย่างใหม่ให้กลายเป็นว่า ... ไม่ว่าจะทุกข์ ไม่ว่าจะสุข ฉันก็สร้างสรรค์ตลอดเวลา คือมีความขยันหมั่นเพียรด้วยสติที่คอยเตือนให้ทำตามที่ปัญญาบอก
ที่ว่านั้นหมายความว่า เมื่อเราพัฒนาปัญญาขึ้นมา ปัญญาจะเป็นตัวบอกว่าอะไรจะทำให้เกิดความเสื่อม อะไรจะทำให้เกิดความเจริญ ตามหลักแห่งเหตุปัจจัย เมื่อรู้ว่าอะไรจะทำให้เกิดความเสื่อม สติจะคอยเตือนให้เราเร่งแก้ไขป้องกัน กำจัด เมื่อรู้ว่าอะไรจะทำให้เกิดความเจริญ สติก็เตือนให้เราสร้างสรรค์ทำสิ่งนั้นขึ้นมา
ถ้าเราอยู่ด้วยสติ เราก็ไม่ประมาท ไม่ผัดเพี้ยน ไม่หลงระเริง ไม่มัวเมา เราก็จะกระตือรือร้นเพียรพยายามละเว้นสิ่งที่รู้ว่าควรละเว้น และทำตามที่รู้ว่าควรจะทำ ถ้าอย่างนี้ เมื่อเจริญแล้ว หรือถึงจะสุขสบายแล้ว ก็เจริญต่อไป ไม่ต้องเสื่อม นี้แหละเป็นจุดสำคัญ
พระพุทธเจ้าทรงให้หลักประกันว่า ถ้าเราไม่ประมาท เราไม่ต้องเสื่อม ไม่ใช่ว่าเมื่อเจริญแล้วจำเป็นจะต้องเสื่อมเสมอไป แต่ที่จะเสื่อมหรือไม่เสื่อมก็อยู่ที่เหตุปัจจัย ไม่ใช่เสื่อมไปโดยเลื่อนลอย ใครบอกว่าเสื่อมแล้วก็เจริญเอง เจริญแล้วก็ต้องเสื่อม ก็แสดงว่าไม่ได้ถือหลักเหตุปัจจัย กลายเป็นลัทธิเดียรถีย์ที่ท่านเรียกว่า อเหตุวาท คือลัทธิแล้วแต่โชค ลัทธิแล้วแต่เวรแต่กรรม หรือลัทธิที่ถือว่าถึงคราวก็เป็นไปเอง
สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ต้องเสื่อมไปตามเหตุปัจจัย และเจริญตามเหตุปัจจัย ทีนี้เหตุปัจจัยจะรู้ได้อย่างไร ก็รู้ด้วยปัญญา เราก็พัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้เหตุปัจจัย แต่ทีนี้ปัญหาก็อยู่ที่ว่าเมื่อรู้แล้วจะประมาทหรือไม่ ถ้าประมาทก็อีกนั่นแหละ ทั้งที่รู้ว่าอันนี้ไม่ดี จะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม แต่มันล่อใจ ก็ไปทำเสียนี่ เลยกลายเป็นทำเหตุของความเสื่อม ทีนี้ในทางตรงข้าม ทั้งที่รู้ว่าอันนี้ดี จะเป็นเหตุปัจจัยให้เจริญ ก็ผัดเพี้ยน พรุ่งนี้ค่อยทำ เดือนหน้าค่อยทำ หรือละเลยเสียจนหมดโอกาส นี่เรียกว่าคนประมาท ก็เลยหนีไม่พ้นวงจรของความเจริญแล้วก็เสื่อม
พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา ก็เพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย คือย้ำหลักไม่ประมาท ให้คนทั้งหลาย แม้สุขสบายแล้วก็ยังไม่ประมาท คนผู้ใด ทั้งที่สุขสบายแล้วก็ยังไม่ประมาทได้ คนนั้นเรียกว่าเป็นคนที่พัฒนาแล้ว แต่ถ้าคนไหนจะขมีขมันทำต่อเมื่อเจอทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคาม พอสุขสบายก็นอน อย่างนี้ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเต็มที่ ไม่มีอะไรที่แสดงถึงการพัฒนา
หลักความไม่ประมาทนี้ ควรจะเน้นเป็นพิเศษสำหรับสังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่สภาพแวดล้อมทุกอย่างเอื้อให้สุขสบาย ชวนให้ประมาท แต่ทั้งที่พระพุทธศาสนาย้ำนัก ไม่ให้ประมาท แต่คนไทยกลับมองข้ามหลักความไม่ประมาทนี้ไปเสีย เลยจะได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาน้อยเกินไป
ย้อนมาดูเรื่องมนุษย์ปุถุชนสามัญที่ว่าตามปกติก็เป็นอย่างนี้ คือ ต่อเมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่พอสุขสบายก็นอนเสวยสุข แล้วก็วนเวียนเราต้องมีอยู่ในวงจรเสื่อมแล้วเจริญ เจริญแล้วเสื่อมเรื่อยไป แต่เรื่องไม่ใช่แค่นั้น ยังมีคนที่แย่กว่าปุถุชนสามัญอีก คือ แม้แต่ยามทุกข์ก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย
ตามธรรมดาโดยธรรมชาติ คนเรานั้นเวลาทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม อยู่นิ่งเฉยไม่ได้หรอก จะต้องดิ้น แต่ที่ไม่ดิ้น หรือไม่ค่อยมีกำลังดิ้นนั้น เกิดจากเหตุ ๒ ประการ
๑. สบายมานานจนเคยตัว จนเป็นคนเห็นแก่ง่าย หรือจะเอาแต่สบาย เคยตัวติดเป็นนิสัย อยู่กันในสังคมแห่งความสนุกสนานบันเทิง อยู่กันอย่างฟุ้งเฟ้อหรูหรา ไม่เคยเหนื่อยยาก ไม่เคยลำบาก ไม่เคยอดทนก็เลยอ่อนแอ พอมาเจอทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามเข้าก็เลยท้อแท้ พอไม่ได้อย่างใจ แทนที่จะดิ้นก็เลยอ่อนใจระย่อหมดแรงหมดกำลัง ก็ซบเซา เหงาหงอย จับเจ่า หรือคร่ำครวญร้องทุกข์ไป นี่พวกหนึ่ง เรียกว่าพวกซ้ำเติมตัวเอง
๒. เจอทุกข์แล้ว เตรียมจะดิ้นรนขวนขวาย หรือภัยมา เตรียมจะลุกขึ้นสู้ แต่เกิดมียากล่อมเข้ามา พอได้ยากล่อมเข้า ทีนี้ก็ลืมแล้ว ไม่นึกถึงการที่จะต้องดิ้นรนขวนขวาย เลยติดอยู่กับยากล่อมนั่นเอง
เรื่องยากล่อมนี้สำคัญนะ บางสังคมมียากล่อมมากเหลือเกิน ยากล่อมที่จะทำให้คนเจอทุกข์ไม่ลุกขึ้นดิ้นนี่ มีหลายระดับ
ก) อย่างง่ายๆ ก็คือ สุรา ยาเสพติด การพนัน พวกนี้เป็นยากล่อมขั้นหยาบ มีพิษรุนแรงมาก พอไปเจอยากล่อมพวกนี้แล้ว ที่จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ก็ไม่เอาแล้ว ได้แต่เมาซม ติดเพลิน ครึ้มใจ หวังลมๆ แล้งๆ หลบทุกข์ หนีปัญหาไปชั่วคราว แล้วก็นอนอีก.. ก็เลยแย่ มีแต่ทรุดลงไป นอกจากนี้มีอะไรอีก
ข) ลัทธิคอยโชค ก็มาปลอบกันว่า ไม่เป็นไรหรอกน่า มันเสื่อมได้มันก็เจริญได้ พอเสื่อมๆ ไป เดี๋ยวมันก็เจริญเอง เดี๋ยวนี้พูดกันเยอะเหมือนกัน นี่เรียกว่าลัทธิแล้วแต่โชค ลัทธินี้ไม่ถูกหลักพระพุทธศาสนา
บอกแล้วว่าพุทธศาสนาถือหลักเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย จะเสื่อมหรือเจริญ ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้ามนุษย์ต้องการผล มนุษย์ต้องเพียรพยายามทำเหตุให้ถูกต้อง แต่พอไปเจอลัทธิคอยโชค ก็คิดว่าแล้วแต่โชค เดี๋ยวมันก็ดีเอง ก็เลยติดยากล่อม เพลินอยู่กับความหวังที่เลื่อนลอย ปล่อยไปเรื่อยๆ บางทีมันก็ไม่ดีขึ้นมา บางทีมันก็ดีด้วยปัจจัยอื่นที่ตัวไม่ได้ศึกษา หรือบางทีเหตุปัจจัยร้ายมาซ้ำเติม จากวิกฤติก็เลยกลายเป็นวิบัติ
ยากล่อมมีเยอะ ยากล่อม ก็คือ อะไรก็ตามที่มาช่วยกล่อมใจให้เพลินๆ สบายไปได้ในเวลานั้นๆ แล้วก็เลยลืมทุกข์ลืมปัญหาและนอนใจ ลืมดูความเป็นจริง
ค) ยากล่อมอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลัทธิรอคอยความช่วยเหลือ หรือหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลที่ว่ามาแล้วตั้งแต่ต้น สังคมอินเดียเป็นอย่างนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล อ้อนวอนเอาอกเอาใจเทพเจ้าทุกอย่าง จนกระทั่งบูชายัญ หวังที่จะให้อำนาจยิ่งใหญ่ภายนอกมาดลบันดาล ช่วยเหลือ มัวแต่มองไปนอกตัว ไม่มองว่าตัวเราจะต้องทำอะไร คิดแต่รอให้ท่านช่วย ตัวเราก็ไม่ต้องทำอะไร มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็อยู่ที่ท่าน มันขึ้นต่อท่าน ไม่ได้ขึ้นต่อเรา เราจะทำอะไรก็ไม่มีผล ก็ได้แต่นอนรอไป อย่างนี้ก็เป็นยากล่อมอีกอย่างหนึ่ง ยากล่อมนี้เมืองไทยมีเยอะ
ง) แม้แต่ที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมชั้นสูง อย่างสมาธิและวิปัสสนา ถ้าผิดหลักเมื่อไร ก็อาจจะกลายเป็นยากล่อมได้ทั้งหมด อย่าไปนึกภูมิใจว่าเราปฏิบัติธรรมแล้วจะถูก โดยเฉพาะสมาธิสมัยนี้ใช้เป็นยากล่อมกันมาก คือว่า พอทำสมาธิได้ก็ใจสบาย หายทุกข์หายร้อน เคยกลุ้มใจมีความเครียดก็หาย ก็มีความสุขดี ทีนี้พอมีความทุกข์มาก็นั่งสมาธิแล้วก็สบาย
สำหรับเรื่องสมาธินี้ท่านก็ไม่ได้ถึงกับประณามเสียๆ หายๆ ก็ใช้ได้อยู่ เพราะเป็นประโยชน์ อย่างน้อยคนเราจิตใจว้าวุ่น กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ทำอะไรไม่ได้ ก็มานั่งสมาธิ ใจจะได้รวม สงบลง จะได้พัก จะได้ตั้งมั่น ประโยชน์ที่ต้องการอยู่ที่ตรงนี้ แต่พร้อมกันนั้นเราจะได้กำลังด้วยนะ ไม่ใช่พักเฉยๆ
การพักด้วยสมาธินี้ทำให้เราได้กำลัง และทำให้เราพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป สิ่งที่ต้องการก็คือเอาไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ว่าสมาธิเพียงเพื่อได้พัก ได้นอนหลับ มาเพลิน มาซม มาเสวยความสุข หรือหาความสุขอยู่กับสมาธิ จนติดจมอยู่ที่นั่น อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะทำผิดพลาดกันเยอะ
อย่างในเมืองฝรั่งก็มีทางเขวได้มาก เพราะฝรั่งไม่เคยเจอสุขสงบอย่างนี้ เขาเจอแต่ความเครียด ความทุกข์ทางจิตใจ จนเป็นโรคจิตโรคประสาทกันมาก เมื่อไม่รู้หลักการที่เป็นพื้นฐานไว้ พอได้สมาธิ ก็เลยสบาย ได้ทางออก ก็เลยมาติดยากล่อมเสียอีก ดีไม่ดีสมาธิที่ใช้ผิดทางอย่างนี้จะพาให้สังคมฝรั่งเสื่อมไปด้วย
การปฏิบัติสมาธินี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ชาวพุทธเองก็ต้องระวัง สมาธินั้นไม่ใช่เพื่อหยุด แต่เพื่อเดินหน้าต่อ อย่าลืมว่าสมาธิเป็นเพียงองค์ธรรมหนึ่งในกระบวนปฏิบัติของไตรสิกขา ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนามนุษย์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า การปฏิบัติต้องดำเนินไปให้ครบไตรสิกขา ศีลเพื่อสมาธิ สมาธิเพื่อปัญญา ปัญญาเพื่อวิมุตติ ถ้ายังไม่บรรลุจุดหมายอย่าเพิ่งหยุด
องค์ธรรมทุกอย่างในพระพุทธศาสนา อยู่ในกระบวนการ พัฒนามนุษย์ทั้งสิ้น ถ้าองค์ธรรมไหนมาทำให้มนุษย์หยุด คือไม่ส่งผลเป็นปัจจัยเอื้อในการเดินหน้าต่อไป ก็ต้องสงสัยว่ามีหวังผิดแล้ว อันนี้ขอย้ำว่า การปฏิบัติธรรมข้อใดก็ตาม แม้จะดีจะสุข ถ้าทำให้เราหยุด ก็ควรสงสัยว่าคงจะปฏิบัติผิด เพราะองค์ธรรมทุกอย่างนั้นมีไว้เพื่อเป็นองค์ประกอบในกระบวนการพัฒนามนุษย์ จึงจะต้องเป็นปัจจัยที่ส่งต่อให้ก้าวต่อไปจนกว่าจะบรรลุจุดหมาย
สมาธิมีเป้าหมายเพื่อให้เรามีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ ซึ่งจะเป็นจิตที่เป็น กัมมนีย์ แปลว่า ควรแก่การงาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน ประโยชน์แท้อยู่ที่นี่ คือเอาไปใช้ และการใช้ที่สำคัญก็คือใช้งานทางปัญญา โดยนำไปคิดพิจารณาแก้ปัญหา ค้นหาความจริง ตลอดจนมองดูสภาวธรรมให้เห็นชัด เพราะจิตที่เป็นสมาธินี้เป็นจิตที่ใส สงบ มั่นคง แน่วลงไป จะมองอะไรก็เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง จะคิดอะไรก็เป็นลำดับ ไม่มีอะไรมาวุ่น มารบกวน มาบัง มาขวาง มาแทรกแซง
รวมความว่า สมาธิก็เป็นองค์ธรรมในการปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ต้องระวัง ถ้าไม่วางท่าทีให้ดีอาจจะทำให้เขว อาจจะทำให้หลง อาจจะทำให้ตกหลุมได้ง่าย ฉะนั้นจึงต้องย้ำกันไว้มิให้ลืมว่า สมาธิเป็นเพียงองค์ธรรมหนึ่งที่จะส่งผลต่อไปในกระบวนการของไตรสิกขาเท่านั้น ถ้าเมื่อไรไปหลงติดในความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น ก็จะกลายเป็นยากล่อม ซึ่งแปลว่าผิดทางแล้ว
ต่อเมื่อใดเราบรรลุผลสำเร็จ บรรลุความสมบูรณ์ของการพัฒนาตน เป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นแหละ จึงไม่ต้องใช้สมาธิในแง่สิกขา แต่เพราะจบสิกขาแล้ว ท่านจึงใช้เวลาให้ผ่านไปด้วยการเผยแผ่ธรรม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เวลาเหนื่อยขึ้นมาท่านก็นั่งสมาธิพักผ่อน เรียกว่า “ทิฏฐธรรมสุขวิหาร” พวกเราก็เหมือนกัน ใช้สมาธิพักผ่อนได้ แต่พักแล้วอย่าไปติดเอาสมาธิเป็นยากล่อมก็แล้วกัน ย้ำว่าเอาสมาธิเป็นที่พักได้ แต่อย่าให้ติดเป็นยากล่อม
เมื่อคนเจอทุกข์กำลังลุกขึ้นดิ้น พอติดยากล่อมก็หยุด เพลิน ลืมทุกข์ไป เลยหมดแรงดิ้น นี่แหละจึงกลายเป็นแย่ยิ่งกว่าปุถุชนสามัญ เพราะว่าปุถุชนสามัญนั้นเมื่อถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ต่อเมื่อสุขสบายจึงลงนอนเสวยสุข แต่คนที่ติดยากล่อมนี้ต่ำกว่าระดับปุถุชนสามัญไปอีก เพราะเจอทุกข์ก็ไม่ดิ้น ได้ยากล่อมแล้วก็สบาย เพลิน ซึมเซื่อง ซบเซา ก็เพลินอยู่กับยากล่อมนั้นแหละ ไม่ไปไหน ไม่อยากทำอะไร ไม่แก้ปัญหา ตกอยู่ในความประมาท กลายเป็นคนที่นอนเสวยสุขตั้งแต่ยังเป็นทุกข์อยู่ด้วยซ้ำ
พุทธศาสนาย้ำเรื่องนี้ คือ หลักความไม่ประมาท ท่านเตือนว่า แม้แต่เป็นอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน หรือพระสกิทาคามี จนถึงพระอนาคามี ตราบใดยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว อย่านอนใจ อาจจะประมาทได้ตลอดเวลา มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะไม่ประมาทได้อย่างแท้จริง เพราะคนเรานี้ เวลามีความสุข อย่างหนึ่ง ยามประสบความสำเร็จ อย่างหนึ่ง หรือคราวที่เกิดความรู้สึกภูมิใจว่าเรานี้ดีแล้ว อย่างหนึ่ง สามตัวนี้มักล่อให้หย่อน หรือไม่ก็หยุดเลย พูดสั้นๆ ว่า ตกหลุมความประมาท
เมื่อประสบความสำเร็จหรือมีความสุขแล้วประมาทนั้นเห็นได้ชัด แต่คนที่มีความดี ถ้าเกิดความภูมิใจก็ต้องระวัง อย่างพระโสดาบัน ภูมิใจว่าเราได้บำเพ็ญความดีสำเร็จมาถึงแค่นี้ พอเกิดความพอใจอย่างนี้ ก็ชักจะเฉื่อย ไม่เร่งรัด ไม่กระตือรือร้น พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพระอริยบุคคลที่เป็นอย่างนี้ว่า เธอเป็น ปมาทวิหารี แปลว่า ผู้อยู่ด้วยความประมาท ฉะนั้นอย่าได้นอนใจ ชาวพุทธต้องเดินหน้าเสมอ
ตามที่พูดมาในที่นี้ เราสามารถแบ่งมนุษย์ได้เป็น ๔ ระดับ โดยวัดจากมาตรฐานปุถุชน คือ
๑. มนุษย์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานปุถุชนสามัญ คือพวกที่เจอทุกข์ ก็ไม่ดิ้น ถูกภัยคุกคามก็ไม่ตื่นตัว ได้แต่ท้อแท้ ระทดระทวย จับเจ่า หรือไม่ก็นอนเฉื่อย เพราะติดยากล่อม เพลินไปเรื่อยๆ ส่วนในเวลาที่สุขสบายไม่ต้องพูดถึง ก็ยิ่งเพลิดเพลินหมกมุ่นมัวเมา เรียกว่า ทุกข์ก็ไม่ดิ้น สุขก็นอนซึม หรือทุกข์ก็ซม สุขก็ซึม
๒. มนุษย์ปุถุชนสามัญ คือพวกที่ว่าถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย พอสบายก็ลงนอนเสวยสุขเฉื่อยลงไป
๓. มนุษย์ที่พัฒนาแล้ว คือพวกที่ว่าเมื่อถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่แม้จะสุขสบายแล้วก็ยังเพียรสร้างสรรค์ต่อไป ไม่หยุด พวกนี้นับว่าเข้าสู่ทางของอารยชนแล้ว
๔. มนุษย์ที่ประเสริฐที่สุด คือยามทุกข์บีบคั้น หรือภัยคุกคาม ก็ไม่พลอยทุกข์ จิตใจยังปลอดโปร่งผ่องใสอยู่ได้ แล้วก็ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำต่อไป หมายความว่า ในด้านการกระทำ ก็มีความเพียรพยายามสร้างสรรค์ และในด้านจิตใจ ก็มีความสุข ไม่ถูกทุกข์ครอบงำด้วย และแม้จะสุขแล้วก็ยังขวนขวายสร้างสรรค์ต่อไป
คนเราที่พัฒนาแล้วโดยมากก็ยังได้แค่ขั้นที่ ๓ คือถูกทุกข์บีบคั้น หรือภัยคุกคามก็ขวนขวายจริง แต่จิตใจไม่สบาย กระวนกระวาย ทุรนทุราย แม้ว่าจะไม่ประมาทก็จริง แต่ยังมีความเดือดร้อนใจ มีความเครียดในใจ ดังจะเห็นกันมากในปัจจุบันนี้ว่า ผู้ที่ขยันหมั่นเพียรจำนวนมากมีความทุกข์ในใจด้วย เป็นคนขยันจริง แต่เร่าร้อน เครียด ซึ่งแสดงว่า ยังพัฒนาไม่ถึงที่สุด
ฉะนั้น คนในสมัยปัจจุบันนี้ ที่ว่าเป็นคนขยันหมั่นเพียร แต่จิตใจมีความเครียดมีความทุกข์นั้น จะต้องได้รับการแก้ไขให้พัฒนาต่อไปอีก ให้เป็นคนชนิดที่ว่า ทั้งๆ ที่ทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม จิตใจก็ยังดีงามสุขสบายปลอดโปร่ง พร้อมกันนั้นก็เพียรพยายามสร้างสรรค์ต่อไป แม้ถึงยามสุขสบายก็ไม่หยุดหรือผัดเพี้ยน
จะต้องระลึกไว้ว่า คนที่พัฒนาแล้วนั้น เขาจะเป็นอยู่หรือทำการอะไร ก็ไม่ได้ขึ้นต่อความสุขความทุกข์ แต่เขาขึ้นต่อปัญญา ปัญญาเป็นตัวรู้ว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ และสติก็คอยบอกหรือคอยเตือน ให้เว้นสิ่งที่ควรเว้น และให้ทำสิ่งที่ควรทำตามที่รู้ด้วยปัญญานั้น นี่แหละเป็นหลักสำหรับวินิจฉัยระดับการพัฒนาของคน
หันมาดูสังคมของเรา สังคมไทยเวลานี้ได้ประสบภาวะที่เรียกว่าเป็นความทุกข์ ถึงขั้นเป็นวิกฤติการณ์ ซึ่งเป็นเวลาที่ควรจะนำหลักการของพระพุทธศาสนามาใช้ได้เต็มที่ แต่เวลานี้เราเป็นอย่างไร ลองสำรวจตัวเราแต่ละคน และสำรวจสังคมไทยว่าได้ปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาที่ว่ามานี้แค่ไหนเพียงไร
เวลานี้เราถูกทุกข์บีบคั้น ถูกภัยคุกคามแล้ว เราลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย มีความขยันหมั่นเพียรที่จะสร้างสรรค์หรือเปล่า หรือว่าเราไปติดยากล่อม ติดสุรา ยาเสพติด การพนัน นี้พวกที่หนึ่งเห็นง่าย หรือเลยจากนั้นอีกพวกหนึ่งก็ไปติดลัทธิอ้อนวอน ลัทธินอนคอยโชค ลัทธิหวังผลดลบันดาล จนกระทั่งติดสมาธิเป็นยากล่อม ถ้าติดก็ต้องรีบลุกขึ้นมาแก้ไขกัน
ที่จริง เรื่องติดยากล่อมนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยมานานแล้ว ไม่ใช่มีเฉพาะเวลานี้ แต่เวลานี้เป็นตอนสำคัญที่เราจะต้องรีบแก้ไข ถ้าไม่แก้ตอนนี้สังคมจะเลวร้ายหนักลงไปอีก เพราะวิกฤติจะกลายเป็นวิบัติ แต่ถ้าแก้เสียตอนนี้ วิกฤติก็มีทางที่จะกลายเป็นวิวัฒน์ คนที่ฉลาดต้องเอาวิกฤติเป็นวิวัฒน์ให้ได้ เพราะวิกฤติเป็นช่วงต่อระหว่างวิบัติกับวิวัฒน์ หมายความว่า ถ้าทำดี ทำถูก วิกฤติก็จะกลายเป็นวิวัฒน์ แต่ถ้าทำไม่ดี ทำไม่ถูก ก็จะกลายเป็นวิบัติไปเลย
ตอนนี้สังคมไทยมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ยามมีทุกข์นี้ ถ้าเราลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ก็จะเป็นโอกาสแห่งการพัฒนาคน ยิ่งถ้ามองสังคมในวงกว้าง ก็เป็นโอกาสดีเลิศที่จะพัฒนามนุษย์ เพราะคนเราเรียนรู้ได้มากจากปัญหา ได้ศึกษาจากความทุกข์
ขอให้สำรวจดูเถิด คนที่จะพัฒนาจากการมีความสุขหาได้ยาก ในประวัติบุคคลสำคัญ และประวัติศาสตร์ของชาติที่เจริญทั้งหลาย จะเห็นแต่มนุษย์ที่พัฒนาจากการแก้ปัญหา และเข้มแข็งขึ้นมาจากการเผชิญทุกข์ทั้งนั้น ส่วนคนหรือชาติประเทศที่สบายมีความสุขแล้ว ไม่มีอะไรจะให้สู้ หรือคิดแก้ไข ก็เลยไม่มีอะไรจะให้ใช้ความคิด ทำให้โน้มไปในทางที่จะหลงเพลิดเพลิน เพราะฉะนั้นคนที่มีความสุขแล้วนี้ ถ้าไม่มีคนสอนที่ดี หรือไม่มีกัลยาณมิตร และตัวเองก็ไม่รู้จักคิด ไม่หาแบบฝึกหัดมาทำ จึงเจริญยากที่สุด
คนที่มีความทุกข์นั่นแหละ ทุกข์มันจะสอน คือมันทำให้เราต้องดิ้นรนหาทางออก คิดแก้ไข ใช้กำลัง ใช้ฝีมือ เรียกว่าได้ใช้ทั้งสมองและมือเต็มที่ รวมทั้งเท้าก็ต้องเคลื่อนไหวไม่ได้หยุด จึงได้ฝึกตัวเองตลอดเวลา เป็นอันว่า คนเราเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการพยายามแก้ปัญหา ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เมื่อเราพยายามแก้ไขปัญหา เราก็ได้พัฒนาปัญญา เพราะเราต้องคิด พอเราคิดหาทางแก้ไขปัญหา ปัญญาก็ค่อยๆ เกิดขึ้นมา ยิ่งถ้าเป็นคนรู้จักคิด หรือคิดเป็น ก็ยิ่งก้าวไปไกล
ถ้าไม่มีปัญหาให้คิด แล้วปัญญาจะพัฒนาได้อย่างไร ถ้าไม่มีโจทย์เลขแล้วเราจะคิดเลขเก่งได้อย่างไร ถ้าไม่ทำแบบฝึกหัด จะเกิดความชำนาญได้อย่างไร
ฉะนั้นคนที่เกิดมากับความสุข ถ้าไม่ระวังตัวให้ดี มัวประมาทอยู่ก็เสียเปรียบมาก ส่วนคนที่เกิดมาเจอความทุกข์ เมื่อวางใจถูกก็ได้เปรียบในแง่ที่จะพัฒนาตนเอง อันนี้เป็นคติสำคัญที่จะต้องเอาไว้สอนลูกหลาน
ขอให้จำไว้ว่า ชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม ที่ไม่มีแบบฝึกหัด ย่อมยากที่จะพัฒนา เพราะฉะนั้น คนใดสังคมใด ได้เจอทุกข์ภัยและความยากลำบากมามาก เป็นผู้ที่ทำแบบฝึกหัดมาแล้ว ก็จะเก่งกล้าสามารถและประสบความสำเร็จ ชีวิตใดสังคมใดอยู่สุขสบายก็ต้องไม่ประมาท ให้รีบหาแบบฝึกหัดมาทำ
อย่างคนที่ประสบความสำเร็จมาเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นหัวหน้าครอบครัวในปัจจุบันนี้ หลายท่าน ในอดีตยากจนข้นแค้น ตอนเป็นเด็กลำบากมาก บางวันมีรับประทาน บางวันไม่มี ต้องช่วยพ่อแม่หาเงิน ขยันอดทนดิ้นรนขวนขวาย จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ครอบครัวเป็นปึกแผ่น ร่ำรวย
พอร่ำรวยแล้วก็คิดว่า เราลำบากมานักหนาแล้ว ถึงลูกเราก็ขอให้เขาสบายให้เต็มที่ คิดอย่างนี้แล้ว ก็เลยบำรุงบำเรอลูกใหญ่ บางทีก็เลยกลายเป็นเสียไป เพราะอย่างที่บอกแล้วว่า สุขไม่ช่วยให้คนได้เรียนรู้ แต่คนเราเรียนรู้จากการแก้ปัญหา ฝึกหัดพัฒนาตนจากการเผชิญความทุกข์ยากลำบาก
คนที่เกิดมาท่ามกลางความพรั่งพร้อมสุขสบาย จึงเสียเปรียบหลายอย่าง เริ่มแต่ไม่มีเครื่องทดสอบ ไม่มีแบบฝึกหัด ไม่ได้ทั้งความเข้มแข็งในการดิ้นรนต่อสู้ ไม่ได้ทั้งทักษะจากการฝึกพฤติกรรม และไม่ได้ทั้งปัญญาในการคิดแก้ปัญหา ขอย้ำว่าสองอย่างนี้สำคัญยิ่งนัก คือ
๑. ความเข้มแข็ง ความหนักแน่นมั่นคง ที่จะทำการทั้งหลายให้สำเร็จด้วยความพากเพียรขยันอดทน
๒. ความรู้คิดรู้พิจารณาใช้ปัญญาแก้ปัญหา ทำการสร้างสรรค์ พัฒนาตนให้เจริญงอกงามมีความสามารถยิ่งขึ้นไป
คนที่เกิดมากับความสุขนั้น สองอย่างนี้ได้ยากเหลือเกิน คือที่จะได้ความเข้มแข็งทนทาน และได้ปัญญาแก้ปัญหานี้ยาก ฉะนั้น พ่อแม่ต้องเป็นกัลยาณมิตรที่ดี คือเป็นคนที่ระวังไม่ให้ลูกตกอยู่ในความประมาท รู้จักหาแบบฝึกหัดให้ลูกทำ
ถามว่า ถ้าเป็นอย่างที่ว่านั้น พ่อแม่หลายรายที่เคยทุกข์มาแล้ว พอประสบความสำเร็จสุขสบายก็คงต้องประมาท แต่บางคนก็ยังไม่เห็นประมาท ก็ยังขยันขันแข็งต่อไป ทำไมเป็นอย่างนั้น
คำถามนี้ตอบไม่ยาก เพราะว่าพ่อแม่เหล่านั้นดิ้นรนขวนขวายมานานจนเป็นนิสัย เคยชินอย่างนั้นแล้ว แม้จะมีความสุขสบายขึ้นมา ความเคยชินเก่าก็ทำให้ขยันต่อไป แกอยู่นิ่งไม่ได้
แต่ก็จะเห็นได้ว่าหลายคนหนีไม่พ้น บางคนเคยทุกข์มามาก แต่ต่อมาพอประสบความสำเร็จ มีความสุข ก็หันไปมัวเมาประมาท มีให้เห็นถมไป แต่หลายคนก็อย่างที่ว่าแล้ว ยังเคยชินกับนิสัยเก่า เรียกว่ามีบุญเก่าที่สะสมไว้ จึงอยู่ได้ แต่ลูกไม่มีบุญเก่าสะสมไว้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่จึงต้องถ่ายทอดบุญนี้ให้
อย่าถ่ายทอดให้ลูกแต่ทรัพย์ภายนอก ควรสนใจถ่ายทอดทรัพย์ภายในของตัวเองนี้แหละให้ลูก ทรัพย์ที่ประเสริฐของเราก็คือนิสัยแห่งความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความเพียรพยายามขยันอดทน ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา การสู้ทุกข์สู้อุปสรรค ที่เราสร้างขึ้นมาในตัวนี้แหละ นี่คือทรัพย์อันประเสริฐ เรียกว่าอริยทรัพย์จากภายในตัวเราแท้ๆ ที่ควรให้แก่ลูก
ลูกได้เงินทองภายนอกเท่าไร ก็ไม่เท่าได้อริยทรัพย์ภายในนี้ พ่อแม่ควรจะถ่ายทอดทรัพย์นี้ให้ได้
อย่าไปมัวแต่นึกให้ลูกมีความสุข ไม่ทุกข์อย่างเรา ไม่จำเป็นต้องให้เขาทุกข์อย่างเราหรอก แต่ขอให้ถ่ายทอดอริยทรัพย์ให้เขาด้วย คือคุณสมบัติของตัวเอง ที่ได้มาระหว่างที่เพียรพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวนั้นแหละ
ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องในระดับชีวิตส่วนตัวและครอบครัว เรื่องของสังคมก็เหมือนกัน ในสังคมที่มีความสุขสบาย คนทั้งหลายย่อมมีความโน้มเอียงที่จะเห็นแก่ง่าย เห็นแก่ความสะดวกสบาย ลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมาฟุ้งเฟ้อสำเริงสำรวย และพร้อมกันนั้นก็จะอ่อนแอใจเสาะเปราะบาง เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว เวลาเจอทุกข์ก็มักสู้ไม่ไหว เพราะเคยชินกับความเห็นแก่ง่ายสะดวกสบาย พอเจอทุกข์ก็ท้อ ฉะนั้นจึงต้องปลุกใจกันขึ้นมา
ยามวิกฤตินี้เป็นตอนที่สำคัญ และความสำคัญนั้นก็อยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ทุกข์นี้สอนคน วิกฤติที่พูดกันว่าเป็นโอกาส นั้น
๑. ต้องใช้โอกาสนั้น ไม่ใช่เป็นโอกาสแต่ก็ทิ้งโอกาสเสียเปล่า
๒. โอกาสที่สำคัญที่สุดก็คือ ใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาตัวคน
วิกฤติการณ์ของสังคมไทย ที่เจอกันมานี้ ที่ว่าเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่สำคัญเท่าไรหรอก ยังไม่ใช่วิกฤติที่แท้ วิกฤติที่แท้ของสังคมไทยซ่อนตัวอยู่ลึกกว่านั้น และเรากำลังประสบวิกฤตินี้ ประเทศชาติไทยจะไปดีหรือไปร้ายก็ตอนนี้
การสูญเสียเงินทอง หรือสูญเสียทางเศรษฐกิจนั้นไม่เท่าไรหรอก แต่ถ้าสูญเสียความเป็นมนุษย์นี่สิ ร้ายที่สุด คือการสูญเสียคุณภาพของคน ถ้าใช้ศัพท์สมัยใหม่ในความหมายแคบๆ ของลัทธิเศรษฐกิจแห่งยุคนี้ ก็ว่าสูญเสียทรัพยากรมนุษย์
เราสูญเสียไปอย่างหนึ่งแล้ว คือสูญเสียทางเศรษฐกิจ อย่าให้สูญเสียซ้ำสอง คือสูญเสียคุณภาพมนุษย์ด้วย
เวลานี้ เราอยู่ในภาวะที่เสี่ยงมาก ถ้าบริหารบ้านเมืองไม่ดี เราจะสูญเสียอย่างที่สอง คือ จะสูญเสียคุณภาพของมนุษย์ด้วย ถ้าสูญเสียคุณภาพของมนุษย์ก็คือสูญเสียคน ซึ่งเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่าการสูญเสียเงินทองทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น วิกฤติที่แท้จริงของสังคมที่ไทยอยู่ตรงนี้ คือ วิกฤติคุณภาพคน ที่เป็นตัวตัดสินว่าเราจะไปรอดหรือไม่
แม้แต่จะแก้วิกฤติทางเศรษฐกิจได้สำเร็จหรือไม่ ก็อยู่ที่ตรงนี้ คืออยู่ที่ว่าจะแก้วิกฤติในเรื่องคุณภาพคน ด้วยการพัฒนามนุษย์ได้สำเร็จหรือไม่ ถ้าเราใช้โอกาสนี้ไม่เป็น ก็จะสูญเสียซ้ำสอง เสียเศรษฐกิจ เสียเงินเสียทองแล้วไม่พอ จะเสียคนไปด้วย
ตอนนี้ถ้าไม่ระวังตั้งตัวให้ดี คนไทยจะไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย ดีไม่ดีก็จะไปจมกันอยู่อย่างที่ว่าแล้ว คือ ติดยากล่อม
มัวลุ่มหลงสุรา ยาบ้า การพนันบ้าง
ติดลัทธิรอโชคช่วย ลัทธิรอความช่วยเหลือจากภายนอก รออำนาจดลบันดาลบ้าง
อันนี้แหละคือการสูญเสียคุณภาพคน ซึ่งก็คือเสียคน ถ้าเราเสียคนอย่างนี้แล้วเราจะไม่ฟื้นเลย เพราะจะไม่มีกำลังที่จะมาพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจจะดีขึ้นมา ก็จะเป็นเศรษฐกิจแบบที่ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน เป็นของบังเอิญตามกระแส เป็นเศรษฐกิจหลอกๆ บวมโป่งข้างนอก แต่กลวงข้างใน
อย่าลืมว่าตอนที่ผ่านมานี้ เราบอกว่าที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็เพราะเรามีเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ แล้วตอนนี้ฟองสบู่มันแตก เศรษฐกิจฟองสบู่ก็คือเศรษฐกิจที่ไม่มีเนื้อหาสาระ ไม่มีแก่นสาร มองเห็นแต่เปลือกนอกโป่งใหญ่ขึ้นมา เป็นเศรษฐกิจแบบลูกโป่ง การที่มันแตกตอนนี้ก็ดีแล้ว เพราะลูกโป่งยังเล็กอยู่ ถ้าลูกโป่งใหญ่ขึ้นไปแล้วแตกจะเป็นอันตรายมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นแตกเสียดีแล้ว ภัยอันตรายยังน้อยหน่อย
ขอย้ำว่า ตอนนี้อย่าให้เสียซ้ำอย่างที่สองคือ คุณภาพมนุษย์ ถ้าเราฟื้นมนุษย์ไม่ขึ้น ดีไม่ดีเราจะไปเพลินกับเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่ง คือ เศรษฐกิจแบบยากล่อม และเศรษฐกิจแบบรวยทางลัด ซึ่งจะไม่ได้อะไรขึ้นมา เพราะเป็นเพียงอีกรูปแบบหนึ่งของเศรษฐกิจฟองสบู่ การที่เศรษฐกิจฟองสบู่แตกไปนี้ น่าจะเป็นคติสอนใจเราให้มาสร้างสรรค์เศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืนกันเสียที อย่าไปหลงกับเศรษฐกิจแบบวูบวาบ ซึ่งไม่มีแก่นสาร
เศรษฐกิจแบบที่ว่า คือ เศรษฐกิจทางลัด เศรษฐกิจรวยไว เศรษฐกิจมักง่าย เศรษฐกิจยากล่อม เศรษฐกิจมอมเมา เศรษฐกิจแบบนี้ไม่ยั่งยืน เพราะไม่มีแก่นสารอยู่ในตัวคน คือความสามารถในการผลิต และความเข้มแข็งพากเพียรในการสร้างสรรค์ พูดง่ายๆ ว่าไม่เป็นเศรษฐกิจที่เกิดจากความเพียรสร้างสรรค์ และความสามารถในการผลิต เพราะคนขาดคุณภาพ ไม่เป็นนักผลิต ไม่เป็นนักสร้างสรรค์
ประเทศที่จะเจริญทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง พลเมืองจะต้องมีความสามารถในการผลิตหรือในการสร้างสรรค์ จึงจะสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืนได้
เศรษฐกิจที่มั่นคงมีแก่นนั้น ต้องมีฐานนี้อยู่ในตัวคน คือความสามารถในการผลิต และในการคิดสร้างสรรค์
อย่างสังคมอเมริกันที่พูดกันนักหนาถึงความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะใช้คำไหนก็ตาม ก็คือ ต้องมีความสามารถอยู่ในตัวคน ถ้ามิฉะนั้นก็จะเป็นเศรษฐกิจวูบวาบแบบยืมเขามา หรือเป็นเศรษฐกิจหลอกตา ที่ไม่ยั่งยืนไม่มั่นคง แล้วก็จะล่อให้เพลิดเพลินสบาย และตายใจ แล้วก็ตกอยู่ในความประมาท ยิ่งซ้ำเติมตัวเองหนักลงไป
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า เวลานี้ประเทศไทยมีวิกฤติที่สำคัญยิ่งกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิกฤติที่แท้คือ วิกฤติคุณภาพคน หรือวิกฤติในการพัฒนามนุษย์ อย่าให้การสูญเสียทางเศรษฐกิจนั้น มาซ้อนด้วยการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ไปอีก เดี๋ยวจะไม่มีทุนที่จะไปฟื้นเศรษฐกิจนั้นขึ้นมา แต่ถ้าเราตั้งหลักให้ดี เราเอาโอกาสนี้มาใช้ในการพัฒนาคน เราก็จะได้และจะเป็นการได้ที่เป็นแก่นสาร ที่ยั่งยืนดีกว่า
เพราะฉะนั้น จึงต้องมาย้ำเรื่องนี้ คือการที่จะกู้คุณภาพคนขึ้นมา ขอให้มองย้อนดูว่า การที่เราสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงขั้นวิกฤติครั้งนี้ อาจจะเป็นได้ว่า เราได้เสียคุณภาพคนไปก่อนแล้วด้วยซ้ำ ใช่หรือไม่?
เพราะเราสูญเสียคุณภาพคนนี้ไปแล้วเราจึงมาเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจ ตอนนี้เราจึงจะต้องกู้คนขึ้นมา แล้วคนนี่แหละจะมากู้เศรษฐกิจได้ แล้วจะเป็นเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืนอย่างแท้จริง คนที่มีคุณภาพ หรือจะใช้ศัพท์ทางเศรษฐกิจสมัยนี้ว่า ทรัพยากรมนุษย์ที่ดีมีคุณภาพนี่แหละ ที่เราจะต้องสร้างขึ้นมา
มนุษย์ที่มีคุณภาพนั้น ถ้าใช้คำสั้นๆ ก็คือมนุษย์ที่มีธรรมนั่นเอง เช่นมีความเพียรสร้างสรรค์ มีความเข้มแข็งไม่พรั่นต่อทุกข์ภัย มีความไม่ประมาท เป็นคนใช้ปัญญาพัฒนาสร้างสรรค์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคามหรือไม่ ถึงแม้จะเป็นยามสุขสบาย ก็ยังใช้สติปัญญาสร้างสรรค์ต่อไป ถ้าได้อย่างนี้ละก็ เราไม่กลัววิกฤติใดๆ เลย
เป็นอันว่า สิ่งสำคัญตอนนี้ก็คือ ต้องใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ เริ่มด้วยเสียหนึ่งแล้ว อย่าเสียซ้ำสอง ถึงจะเสียด้านวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว แต่ถ้าเราพัฒนาคนได้ ไม่ต้องเสียใจ เพราะเราได้คุ้ม เราได้สิ่งที่ประเสริฐกว่า เหมือนคนที่ตกทุกข์ได้ยากแล้ว กลับสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ จะเป็นคนที่เข้มแข็ง มีสติปัญญาความสามารถที่เป็นฐานอันมั่นคงของเศรษฐกิจนั้นสืบไปอย่างยืนยาว
ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าก็อยู่ที่การใช้โอกาสตอนนี้ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะพัฒนามนุษย์ได้สำเร็จหรือไม่ มาพัฒนาคนให้เข้มแข็ง ไม่หวั่นต่อทุกข์ภัย เป็นคนที่รู้จักใช้ปัญญา และมีความเพียรสร้างสรรค์กันเถิด ถ้าทำได้อย่างนี้ นี่แหละคือวิกฤติเป็นโอกาสอย่างแท้จริง
วิกฤติเป็นโอกาสที่แท้อยู่ที่นี่ คือทำอย่างไรเราจะใช้สถานการณ์แห่งทุกข์ภัยนี้สร้างคุณภาพคนขึ้นมาได้
เราจะต้องสร้างทุนมนุษย์ คือพัฒนาคุณภาพของคนไทยขึ้นมาให้ได้ อย่าไปหลงใหลกับเศรษฐกิจวูบวาบที่ล่อตาล่อใจ ให้อยากได้อยากเอา ถ้ามันไม่มีเนื้อหาแก่นสาร ไม่ช่วยให้มนุษย์พัฒนา แต่กลับทำให้มนุษย์มัวเมาอ่อนแอ เราอย่าไปเอาเลย
เราต้องเข้มแข็งที่จะปฏิเสธเศรษฐกิจประเภทที่ไร้แก่นสาร ไม่เห็นแก่การได้เงินได้ทอง ที่มีลักษณะต่อไปนี้ คือ
๑. เศรษฐกิจที่ทำลายโอกาสในการพัฒนามนุษย์ ทำให้เสียคุณภาพคนลงไป
๒. เศรษฐกิจที่ซ้ำเติมลักษณะนิสัยไม่ดีที่มีอยู่ในพวกเราจำนวนไม่น้อย คือ การที่เคยสุขสบายแล้วเห็นแก่ง่าย เห็นแก่สะดวก เป็นคนอ่อนแอ ไม่สู้งานยาก อย่าซ้ำเติมคนไทยด้วยเศรษฐกิจชนิดที่ได้เงินทองมาง่ายๆ ซึ่งยิ่งจะทำให้คนไทยไม่พัฒนาตัวเอง แล้วยิ่งเห็นแก่ง่าย เอาแต่สะดวกสบาย กลายเป็นทาสของสังคมอื่นเขาในระยะยาวหนักลงไปอีก
๓. เศรษฐกิจที่ลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เศรษฐกิจใดเราสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความเพียรพยายามบากบั่น ใช้กำลังสติปัญญาของตนเอง ด้วยความสามารถในการผลิต อันนั้นคือเศรษฐกิจมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่เราควรจะภูมิใจ แต่เศรษฐกิจใดที่ได้มาอย่างคนที่หมดหนทาง ต้องไปขายเนื้อขายตัว หรือไปหลอกล่อมอมเมาเพื่อนมนุษย์ อันนั้นเป็นเศรษฐกิจที่ลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์ สังคมไทยเราจะเอาหรือเศรษฐกิจแบบนั้น? ถ้ามองเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศ ก็เหมือนกับเสียศักดิ์ศรี คุณไม่มีทางอื่นแล้วหรือ จึงต้องทำแบบนี้
จริงอยู่ เศรษฐกิจหาเงินหาทองแบบนี้ บางประเทศเขาอาจจะทำบ้าง แต่เขาทำเป็นเครื่องเล่น อย่างสังคมอเมริกันนี้ โดยส่วนใหญ่ก็คือเขามีความภูมิใจในความเพียรสร้างสรรค์ เช่น ที่เขาคุยอยู่ตลอดเวลาว่าเขามีความภูมิใจในสังคมของเขา ที่สร้างสรรค์อุตสาหกรรมขึ้นมาด้วย จริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic)
ความเพียรสร้างสรรค์อันนี้สิ ที่อเมริกันเขาภูมิใจ ผลสำเร็จที่แท้ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศของเขาอยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นเครื่องเล่น ไว้ล่อเด็กๆ อย่างเช่น ลาสเวกัส หรือแอตแลนติกซิตี้ เป็นต้น
อันนั้นเขาไม่ได้มีไว้สำหรับสร้างสรรค์ประเทศของเขา แต่มีไว้กันคนอื่นไม่ให้พัฒนาความสามารถที่จะเจริญอย่างเขา เพราะฉะนั้น คนไทยเราจะต้องมีความระมัดระวังไม่ประมาทตลอดเวลา อย่าไปเอาเลย เศรษฐกิจมักง่ายไส้กลวง อย่างเช่นเศรษฐกิจรวยทางลัด เรามาพัฒนาคนให้เป็นฐานของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมั่นคงกันดีกว่า
เพราะฉะนั้น จึงขอย้ำว่า เวลานี้สังคมไทยอยู่ในภาวะวิกฤติที่สำคัญที่สุด ซึ่งสำคัญกว่าวิกฤติทางเศรษฐกิจ คือ วิกฤติคุณภาพคน ที่เป็นเรื่องของการพัฒนามนุษย์ ตัววิกฤติก็อยู่ตรงที่ว่าเราจะตื่นขึ้นมาและเร่งใช้โอกาสนี้ในการสร้างสรรค์มนุษย์ที่มีคุณภาพ ไว้เป็นทุนในการพัฒนาประเทศชาติระยะยาวหรือไม่
ตอนนี้จะต้องมาช่วยกันกระตุ้นเตือนและปลุกใจ เพราะคนไทยนี้จะให้ได้อย่างที่พูดไปแล้วแสนยาก เนื่องจากคนไทยจำนวนมากก็อย่างที่ว่าไปแล้ว เคยแต่สุขสบาย พอเจอทุกข์เข้า ก็ได้แต่ท้อแท้ จับเจ่า คร่ำครวญ ระทมทุกข์มาก หรือไม่ก็ไปติดยากล่อม มัวแต่เพลิน ครึ้มใจกันอยู่
คนที่ทุกข์นั้น ในด้านหนึ่ง เราอย่าปล่อยให้เขาโดดเดี่ยว ในสังคมอย่างนี้ใครมีหน้าที่รับผิดชอบก็มาช่วยกันหน่อย มาช่วยกันปลุกใจ ปลอบใจ และให้กำลังใจ บางครั้งเขาจะหาเครื่องปลอบใจบ้าง เราก็รู้ทัน ผ่อนๆ สายป่านให้บ้าง แต่คอยระวังนะ อย่าให้เขาไปติดยากล่อมเป็นอันขาด สิ่งที่เอามาปลอบใจหรือแม้แต่กล่อมใจนั้นเอาพอให้พักใจ หายเดือดร้อนสับสนว้าวุ่นกระวนกระวายไปได้บ้าง โดยที่ตัวเราเองรู้อยู่ คอยคุมไว้อย่าให้เขาไปติดยากล่อม
ข้อนี้ต้องย้ำเด็ดขาดว่าไม่ให้ติดยากล่อม เสร็จแล้วก็ปลุกใจขึ้นมา ให้เขาขยันหมั่นเพียร ให้รวมกำลังรวมแรงมาสู้ ร่วมใจกันเผชิญทุกข์เผชิญปัญหา พากันเดินหน้าต่อไป สังคมจะพัฒนาได้อย่างแน่นอน
ขอย้ำเรื่องการสร้างสรรค์คุณสมบัติในตัวคนไทยนี้ เวลานี้ที่ว่าเป็นโอกาสก็อยู่ที่นี่เอง เพราะเป็นยามดีที่สุด ถ้าใจเราตั้งรับมัน
ชีวิต ครอบครัว วงศ์ตระกูล สังคม ตลอดจนอารยธรรมที่เจริญมา มักเริ่มต้นจากการมีทุกข์ มีปัญหา ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ลองดูประเทศปัจจุบันที่เข้มแข็งนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นประเทศที่ไม่ติดยากล่อม ก็จะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น คือมีพลเมืองที่ขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง สู้ เดินหน้า โดยมีภูมิหลังจากการต่อสู้ ดิ้นรน ขวนขวาย ถูกบีบคั้น มีภัยคุกคาม เจอทุกข์มาก่อนทั้งนั้น
บางประเทศแม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังทุกข์เต็มที่ แม้ว่าแสนจะแห้งแล้ง เขาก็พยายามแก้ไข เช่นทำอย่างไรจะให้ทะเลทรายกลายเป็นป่า มีบางคนพูดว่า คนอิสราเอลกับคนไทยนี้มีความสามารถคนละอย่าง เป็นการพูดให้ขำขัน เขาบอกว่า คนอิสราเอลมีความสามารถที่จะทำทะเลทรายให้เป็นป่า แต่คนไทยมีความสามารถที่จะทำป่าให้เป็นทะเลทราย ก็เป็นความสามารถคนละอย่าง แต่อย่างไหนจะสร้างสรรค์กว่ากัน
ประเทศอิสราเอลนั้นทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคามเหลือเกิน ไหนจะธรรมชาติแห้งแล้ง แผ่นดินเป็นทะเลทราย ไม่มีน้ำ ไม่มีต้นไม้และพืชพันธุ์ ไหนถูกประเทศอาหรับเพื่อนบ้านคอยจ้องจะตีอยู่ทุกวัน เราก็เห็นอยู่ชัดๆ ส่วนคนไทยเรานี้แสนจะสุขสบาย ซึ่งก็เป็นข้อดีแล้ว แต่ทำอย่างไรคนไทยเราจะได้ประโยชน์จากข้อดีหรือข้อได้เปรียบนั้น และรู้จักใช้หลักพระพุทธศาสนา คือคติที่ว่า คนที่พัฒนาแล้วแม้สุขสบายก็ยังไม่ประมาท ยังขวนขวายเพียรสร้างสรรค์ต่อไป ถ้าคนไทยทำได้อย่างนี้ เราจะได้สองเท่าทวีคูณ
จะต้องตระหนักว่า ความไม่ประมาทนี้แหละคือมาตรฐานวัดการพัฒนาของมนุษยชาติ ไทยเรามีโอกาสดีแล้วที่น่าจะได้ประโยชน์ เราไม่ได้อยู่ในภาวะที่ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามต้องดิ้นรนขวนขวาย เพราะสังคมของเราโดยพื้นเดิม อยู่กันสุขสบาย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่ทำอย่างไรเราจะไม่ประมาทด้วย ขอให้ได้อันนี้
ถึงตอนนี้เราเจอแล้วนะ ทุกข์ที่บีบคั้น ภัยที่คุกคาม ก็ขอให้ได้ประโยชน์จากทุกข์ภัยนั้น คือ เอาทุกข์มาเป็นแบบฝึกหัดพัฒนาตน และเอาปัญหามาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา อย่างที่เคยพูดบ่อยๆ ว่า คนฉลาดเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา คนที่ปัญญางอกงามขึ้นมาได้ ก็พัฒนามาจากการคิดแก้ปัญหาทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ปัญหานี้แหละเป็นทางมาของปัญญา และทุกข์ก็สามารถผันให้เป็นฐานของความเจริญก้าวหน้า ปัญหานั้นเปลี่ยนพยัญชนะตัวเดียวก็กลายเป็นปัญญา
คนไทยจะต้องมีความสามารถอันนี้ เด็กไทยจะต้องมีความสามารถอันนี้ คือเป็นเด็กที่สู้ปัญหา เป็นเด็กผู้มีความสามารถที่จะเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา และเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นความเจริญงอกงามได้ แล้วชาติไทยจะเจริญแน่แท้ จะพ้นวิกฤติอย่างแน่นอน
ฉะนั้น ในการที่จะกู้แผ่นดินไทย จะต้องตั้งหลักให้ได้ เราอาจจะไม่ยอมรับว่านี่เราเสียแผ่นดิน แต่หลายคนก็พูดว่า เป็นการเสียอิสรภาพทางเศรษฐกิจไปแล้ว บางคนถึงกับว่าการสูญเสียครั้งนี้ใหญ่ยิ่งกว่ากรุงแตก ว่าเข้าไปอย่างนั้นเลย
เอาละ มันจะใหญ่แค่ไหนก็ตาม ถ้าเรายอมรับจะใช้คำว่า “ต้องกู้แผ่นดินไทย” ก็ขอถามว่า เราต้องกู้อะไรก่อน เมื่อกี้นี้บอกแล้วว่า ต้องกู้ตัวคน คือกู้คุณภาพในตัวคน ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า ธรรมะ ก็คือต้องกู้ธรรมะ ถ้าเรากู้ธรรมะได้ ก็กู้แผ่นดินไทยสำเร็จ
เวลานี้ภารกิจของคนไทยไม่ใช่แค่กู้แผ่นดินเท่านั้น แต่ต้องกู้ธรรมะด้วย
ไม่รู้ว่าธรรมะหายไปไหนเสียมากมายแล้ว ที่โผล่ออกมาเป็นลัทธิอะไรก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้แก่มวลมนุษย์แล้ว ตอนนี้คนไทยกลับยอมสูญเสียอิสรภาพไปเป็นเมืองขึ้นของใคร ไปหลงทางอยู่ที่ไหน นี่คือออกนอกพระพุทธศาสนา หรือออกนอกธรรมะไป ยกตัวอย่างที่ว่าเมื่อกี้ แม้แต่เอาสมาธิมาใช้เป็นยากล่อม กลายเป็นมิจฉาสมาธิ หรือเอามาหนุนการหาผลประโยชน์ ก็คือออกนอกพระพุทธศาสนา
สมาธิไม่ได้เกิดมาพร้อมกับพระพุทธศาสนา สมาธินี้ฤาษี ชีไพรในสมัยก่อนพุทธกาลเขาทำเขาใช้กันมา โยคี ฤาษี ดาบส มากหลายท่านบำเพ็ญสมาธิจนได้สมาบัติชั้นสูง พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ยังเคยไปเรียนกับเขาเลย แต่ฤาษีโยคีเหล่านั้นมัวไปติดยากล่อม หรือไม่อย่างนั้นก็เอาสมาธิไปใช้ทางฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ แสดงความยิ่งใหญ่แข่งกัน ทำให้คนเพลิดเพลินมัวเมายิ่งขึ้น
ตัวฤาษีโยคีเองก็ติดยากล่อม พอได้สมาธิแล้วก็เล่นฌานเพลิน มีศัพท์พระท่านเรียกว่า “ฌานกีฬา” พวกฤาษี ชีไพร ได้ฌานแล้วก็ไม่ยุ่งกับใคร ตัดขาดจากสังคม นั่งเล่นฌานกีฬาไปวันๆ สบาย มีความสุข เป็นกันมานานแล้ว เขามีสมาธิกันอยู่แล้ว อย่างที่ว่าพระพุทธเจ้าก็ยังเคยไปเรียนจากเขา แต่มันไปตันอยู่กับความสุขทางจิตใจ และความเก่งกาจ ไม่ก่อให้เกิดสติปัญญา ไม่ได้แก้ปัญหาให้จบสิ้น พระองค์จึงสอนให้เอาสมาธินั้นมาใช้ประโยชน์อีกขั้นหนึ่ง นี่สิเป็นจุดก้าวต่อของพระพุทธศาสนา คือ พระพุทธศาสนานั้นไม่หยุดแค่สมาธิ ไม่จบแค่เอาสมาบัติเป็นฌานกีฬา
ถ้าเรา ไปติดยากล่อมสมาธิ เราก็เหมือนกับฤาษีโยคีในสมัยก่อนพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าเสด็จละออกมาแล้ว เราต้องเอาสมาธิมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต และในการก้าวไปกับธรรมที่เป็นกระบวนปฏิบัติแห่งไตรสิกขาต่อไป ให้เกิดผลในการพัฒนาชีวิต เอามาพัฒนาตนเองให้ได้ อันนี้แหละที่เป็นสิ่งสำคัญ
เวลานี้เราออกนอกธรรมะไปแล้ว หรือธรรมะหล่นหายจากเราไป จึงต้องกู้ธรรมะกลับขึ้นมา คือกู้ธรรมขึ้นมาในตัวคน ถ้ากู้ธรรมที่ว่านี้ขึ้นมาได้ ก็กู้แผ่นดินไทยสำเร็จ ขอย้ำว่า กู้ธรรมะได้ กู้แผ่นดินไทยสำเร็จ
ในแง่เศรษฐกิจก็เหมือนกัน พูดสั้นๆ ว่า เราจะกู้เศรษฐกิจได้ ต้องกู้คุณภาพในตัวคนขึ้นมา ถ้าพูดอย่างแคบๆ ก็ว่า ต้องกู้ทรัพยากรมนุษย์ขึ้นมา ถ้ากู้คนขึ้นมาให้มีคุณภาพได้ กู้เศรษฐกิจไทยไม่ยากเลย เชื่อไหม เพราะฉะนั้น ต้องทำอันนี้ให้ได้
ถึงเวลาต้องปลุกใจคนไทย ที่จริงถึงเวลานานแล้ว แต่ถ้ายังไม่ทำก็ถึงเวลาอีกทีหนึ่ง ลุกขึ้น กู้ธรรมะขึ้นมาในใจคน พัฒนาตัวคนนี้ให้สำเร็จให้ได้ ให้มีคุณภาพทั้งด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา นี่แหละจึงว่ามากู้แผ่นดินไทยด้วยการกู้ธรรมะ เพราะการกู้ธรรมะนั้นจะเป็นการกู้แผ่นดินไทยไปในตัว เมื่อเรากู้ธรรมะได้ ก็กู้แผ่นดินไทยไปในตัวเอง เสร็จสิ้นไปเลย ไม่ต้องไปทำ ๒ ครั้ง
แคบเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง ถ้ากู้คุณสมบัติในตัวคน หรือพูดสั้นๆ ว่า กู้คุณภาพคน คือ กู้ธรรมะขึ้นมาในตัวคนได้ การกู้เศรษฐกิจไทยก็ไม่ยาก
ขอเพียงพัฒนาคนไทยให้เป็นผู้มีความสามารถในการผลิต และในการคิดสร้างสรรค์ เราก็จะมีเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืน ไม่ใช่เศรษฐกิจฟองสบู่ ไม่ใช่เศรษฐกิจทางลัด หรือเศรษฐกิจกลวงใน อะไรทั้งสิ้น
เดี๋ยวนี้นิยมใช้คำว่ายั่งยืน การพัฒนาก็ให้ยั่งยืน ตอนนี้เราก็ต้องมีเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการกู้แผ่นดินไทยโดยกู้ธรรมะขึ้นมาอย่างที่กล่าวแล้ว
วันนี้วันดี เป็นวันวิสาขบูชา เฉพาะอย่างยิ่งเป็นวิสาขบูชาแรกหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในผืนแผ่นดินไทย จึงขอให้เราชาวพุทธลุกขึ้นมากู้ธรรมะให้แก่แผ่นดินไทย โดยเริ่มต้นที่ในหัวใจของเรา แล้วก็มาชวนกัน และปลุกใจกันให้
๑. มีความเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น
๒. มีความเพียรสร้างสรรค์ โดยใช้สติปัญญา
๓. ร่วมแรงร่วมใจกันฟันฝ่า เดินหน้าต่อไป
ถ้าทำได้เพียง ๓ อย่างเท่านี้ ก็กู้ธรรมะได้ และกู้แผ่นดินไทยสำเร็จ และที่ทำอย่างนี้ไม่ใช่อะไร ก็คือการปฏิบัติตามพุทธจริยวัตรที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพัฒนาพระองค์เองมา เมื่อถึงวันวิสาขบูชาอย่างนี้ อย่างน้อยเราต้องให้ได้ประโยชน์จากพุทธประวัติ คือจากการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระองค์สักอย่างหนึ่ง
พระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบการพัฒนาชีวิตของบุคคล ทรงบำเพ็ญความดีที่เรียกว่าบารมีอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ย่อท้อ เข้มแข็ง บากบั่น สู้ความยาก ผจญอุปสรรคทุกอย่างจนกว่าจะประสบความสำเร็จ ถ้าคนไทยเอาพระจริยวัตรนี้มาใช้ ทุกข์ภัยเราก็ยังไม่กลัว แล้วสุขเราจะไปกลัวอะไร สุขเราก็ยิ่งใช้ให้เป็นประโยชน์
ความสุขไม่ใช่จุดหมายของชีวิต สุขก็เช่นเดียวกับธรรมข้ออื่นๆ คือเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในกระบวนการพัฒนามนุษย์ สุข คือภาวะสะดวก เอื้อ คล่อง หมายความว่า ความสุขเป็นปัจจัยเอื้อต่อการกระทำ หรือการที่จะเดินหน้าต่อไปได้ง่าย
เวลาสุขนั้นไม่มีอะไรบีบคั้น ไม่มีอะไรติดขัด จะทำอะไรก็ทำได้ง่าย คล่อง สะดวก ตรงข้ามกับตอนที่ทุกข์ ซึ่งบีบให้เราต้องดิ้น เพราะจำเป็น แต่จะทำอะไรก็ติดขัดคับข้องลำบาก เช่น เงินทองก็ไม่มี สภาวะแวดล้อมทั้งหลายไม่เอื้อ ยากลำบากเหลือเกิน แต่พอสุขก็คือปัจจัยทุกอย่างมันเอื้อ มันหนุน มันช่วย แต่พอปัจจัยเอื้อให้ทำได้คล่อง ได้ง่าย ได้สะดวก เรากลับนอนเสีย ไม่ทำ นี่คือไม่รู้จักใช้ธรรมะ
คนที่รู้จักใช้ธรรมนั้น ถึงทุกข์ก็ไม่กลัว กลับเข้มแข็ง สู้ ทั้งๆ ที่ยาก เราก็ทำและพัฒนาตัวได้มาก ครั้นถึงตอนสุขมา ทำได้คล่อง ได้สะดวก เราก็ยิ่งทำต่อไปเพราะปัจจัยเอื้อให้ทำได้มาก ถ้าคนไทยเป็นอย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ประมาท จัดเป็นมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว จะประสบความสำเร็จ และมีแต่จะเจริญ รับรองว่าไม่มีเสื่อม
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า วุฑฒิเยว ปาฏิกังขา โน ปริหานิ หมายความว่า ถ้าปฏิบัติตามหลักที่ตรัสสอนไว้โดยไม่ประมาท ก็หวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว จะไม่มีความเสื่อม
พุทธพจน์ที่ตรัสนี้ไม่ได้ขัดกับหลักอนิจจังแต่ประการใด เพราะหลักอนิจจัง ที่ว่า ไม่เที่ยง หมายความว่า เปลี่ยนแปลงไป ไม่คงอยู่อย่างเดิม แต่ที่ว่าไม่เที่ยงนั้น ก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ไม่เที่ยงอย่างเลื่อนลอย
คำว่า “เจริญ” ก็คือ เปลี่ยนแปลง เป็นอนิจจังอยู่ในตัว คำว่า “เสื่อม” ก็เปลี่ยนแปลง เป็นอนิจจังอยู่ในตัว เพราะว่าคำว่าเจริญ และคำว่าเสื่อมเป็นคำที่แสดงความเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่งๆ ที่ว่าเสื่อมก็คือไม่เที่ยง ที่เคลื่อนไหวไปด้านหนึ่ง ที่ว่าเจริญก็เหมือนกัน ก็คือไม่เที่ยง ที่เคลื่อนไหว ไปอีกด้านหนึ่ง
เจริญแล้วเจริญต่อไป เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เสื่อมแล้วเสื่อมต่อไป ทุกอย่างนี้ไม่เที่ยงทั้งนั้น คือเป็นอาการของความไม่อยู่นิ่ง
เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำเหตุปัจจัยถูกต้อง มันเจริญแล้ว เจริญต่อไป มันก็ไม่เที่ยง ไม่ได้ขัดกันแต่ประการใด พระพุทธเจ้าตรัสธรรมะก็คือแสดงความจริง จึงไม่ขัดกันเลย
เดี๋ยวจะว่า เอ๊ะ! พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน อ้าว แล้วทำไมมาตรัสตรงนี้ว่า ถ้าท่านปฏิบัติอย่างนี้ จะไม่มีเสื่อม มีแต่เจริญอย่างเดียว ถ้าเข้าใจดีแล้ว จะเห็นว่าไม่ขัดกัน แต่กลับสอดคล้องกันและหนุนกัน คือ เป็นหลักธรรมในภาคปฏิบัติที่เอาความรู้ในสัจธรรมมาใช้ประโยชน์
ย้ำอีกทีว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลุกขึ้นมา จะใช้คำว่า “กู้แผ่นดินไทย” หรือจะใช้คำอะไรก็ตาม ก็ให้เข้าใจความหมายอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า บัดนี้เป็นเวลาที่สำคัญที่สุด ที่จะต้องทำให้วิกฤติของเมืองไทยนี้ เป็นจุดตั้งต้นของวิวัฒน์ ขออย่าให้เป็นจุดนำไปสู่วิบัติ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง ก็แน่นอนว่าวิกฤติจะนำไปสู่วิวัฒน์ คือความเจริญงอกงาม ด้วยการที่เรากู้ธรรมขึ้นมาได้ในผืนแผ่นดินไทย ให้ธรรมนี้แพร่กระจายไปในหัวใจคน และในสังคมไทยทั้งหมด
ถ้าทำได้อย่างนี้ เราก็จะได้ประโยชน์จากวันวิสาขบูชา จึงขอให้เป็นเหมือนกับการนัดหมายว่า ให้วันวิสาขบูชานี้เป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นวิวัฒน์กันต่อไป
ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรสาธุชนทุกท่าน ที่ได้มาประชุมฟังธรรมกันในวันนี้ ด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ประกอบด้วยศรัทธาต่อธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อศรัทธาแล้วก็จะต้องนำไปสู่การปฏิบัติ
นอกจากนี้ เราต้องมีเมตตา มีจิตใจหวังดี ปรารถนาดี เป็นมิตรต่อกัน แล้วมาร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน เพียรพยายามสร้างสรรค์ด้วยความเข้มแข็ง เราก็จะนำสังคมไทยไปสู่ความเจริญงอกงามและสันติสุข และไม่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น เราจะช่วยมวลมนุษยชาติทั้งโลกให้เจริญงอกงาม มีอารยธรรมที่แท้จริง เพื่อให้เกิดสันติสุขที่ยั่งยืนด้วย
ขอความหวังนี้ ซึ่งเป็นความหวังที่ประกอบด้วยเหตุปัจจัย มีเหตุมีผลตามธรรม จงสัมฤทธิ์ผลด้วยกำลังเรี่ยวแรงการกระทำของเราทั้งหลายสืบไป
ขอทุกท่านจงเจริญด้วยธรรม อันจะเป็นปัจจัยให้ประสบซึ่งจตุรพิธพรชัย มีความก้าวหน้าเจริญงอกงามในการดำเนินชีวิต และในการประกอบกิจหน้าที่การงาน ให้ประสบความสำเร็จสมหมาย มีความสุขร่มเย็น ทั้งในชีวิตของตน ในครอบครัว ในสังคมไทย และในโลกทั้งมวลนี้สืบไป ทุกเมื่อเทอญ (สาธุ)
แม่ชีศันสนีย์: สงสัยที่ว่า กู้แผ่นดินคือกู้ธรรมะนั้น มีคำถามว่า กู้ธรรมะ กู้อย่างไร?
พระธรรมปิฎก: อย่างที่ว่าไปแล้ว ธรรมะอยู่ตามปกติของมันตามธรรมชาติ แต่เราทำให้มันมีขึ้นมาในหัวใจของคน นี่คือกู้ธรรมะ คือให้ธรรมะคืนกลับเข้ามาอยู่ในตัวคน เวลานี้ตัวคนอาจจะปล่อยธรรมะหลุดมือไปแล้ว ปล่อยทางปัญญา คือ ไม่รู้ ไม่ศึกษา ปล่อยทางจิต คือ ไม่ตั้งใจ ไม่รักษาไว้ให้มีในใจ ปล่อยทางพฤติกรรม คือ ละเลย ไม่นำมาใช้ ไม่ประพฤติปฏิบัติ หรือประพฤติชั่วร้ายเสียหายในทางตรงข้ามกับธรรม นี่ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หายไปใช่ไหม ถ้าเราทำให้ธรรมะที่อยู่ในธรรมชาตินั้น มามีอยู่ในตัวคนเราด้วย ก็เรียกว่ากู้ธรรมะ พอกู้ธรรมะสำเร็จ การกู้แผ่นดินไทยก็ตามมาเอง เป็นไปเองอยู่ในตัว
แม่ชีศันสนีย์: เจ้าค่ะ หมายถึงว่า ให้มีธรรมะอยู่ในวิถีชีวิตที่เราดำเนินอยู่ใช่ไหมคะ
พระธรรมปิฎก: เจริญพร กู้ธรรมะก็คือ เอาธรรมะมาใช้ เริ่มตั้งแต่สดับตรับฟังศึกษาให้เข้าใจ เอามาใส่ในหัวใจ และปฏิบัติตาม นี่เป็นความหมายทั่วไป
ทีนี้ความหมายขั้นที่สอง ก็รวมไปถึงเรื่องในสังคมวงกว้าง ที่คนมีความเข้าใจผิด หลงผิด ประพฤตินอกลู่นอกทางของพระพุทธศาสนาออกไปต่างๆ ก็มาชำระสะสางแก้ไขกันเสียที
ในระดับสังคมวงกว้างนี่ก็สำคัญ อย่างที่ย้ำไปเมื่อกี้ว่า เวลานี้คนไทยเราได้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าหรือเปล่า เราปล่อยให้ลัทธิรอโชคช่วยมาครอบงำไหม เราปล่อยให้ลัทธิอ้อนวอนนอนคอยความช่วยเหลือ ลัทธิหวังผลดลบันดาล การติดยากล่อม สุรา ยาบ้า สิ่งเสพติด การพนัน อะไรเหล่านี้ ระบาดไปทั่วบ้านทั่วเมือง ตลอดจนใช้ธรรมะแม้แต่สมาธิในทางที่ผิด ความผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนอย่างนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยหรือเปล่า ถ้ามันเป็นอย่างนั้น ก็แสดงว่าเราสูญเสียธรรมไปแล้ว จึงต้องกู้ขึ้นมา คือต้องมาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง โดยนำหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนาขึ้นมาแสดง มาบอก มาแจ้งกัน และให้ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องและให้จริงจัง ถ้าทำได้อย่างนี้ แน่นอนว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ วิกฤติเศรษฐกิจนั้นแก้ไม่ยากถ้าคุณภาพคนไทยดี
ขอให้มั่นใจเถิดว่า ถ้าคุณภาพคนไทยดี เราไม่กลัวเลยวิกฤติเศรษฐกิจอย่างนี้
แต่อย่างน้อย เราต้องใช้เป็น ให้วิกฤตินี้เป็นประโยชน์ ได้บอกแล้วว่า ที่พูดกันบ่อยว่า วิกฤติเป็นโอกาสนั้น โอกาสที่สำคัญคือ โอกาสในการพัฒนามนุษย์นี่แหละ โอกาสอื่นไม่สำคัญเท่าข้อนี้หรอก
เพราะฉะนั้น เวลาใครเขาช่วยเหลือเรา เช่น ประเทศอื่นให้เงินมา ให้กู้ให้ยืม เท่านั้นเท่านี้ เราต้องวางท่าทีให้ถูกต้อง ต้องวางท่าทีด้วยความไม่หลงระเริงมัวเมา อย่างน้อยต้องตั้งความรู้สึกไว้ว่า นี่จำใจนะ แล้วเตรียมใจว่าเราจะต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ ไม่ใช่ไปหลงระเริงดีใจว่า เขาช่วยเราแล้ว เราได้เงินมาแล้ว โอ้โฮ เราสบายแล้ว ถ้าคิดอย่างนี้ก็เป็นจิตใจที่โน้มไปสู่ความประมาท ความกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนก็จะหายไป ถ้าอย่างนี้ จะฟื้นจิตใจคนไม่ขึ้น ฟื้นคุณภาพคนไม่ขึ้น และฟื้นเศรษฐกิจก็ไม่ขึ้นด้วย
เพราะฉะนั้น ท่าทีของจิตใจโดยรวมต่อสถานการณ์นี้ ต่อวิกฤติ หรือสภาพทั้งหมดนี้ ต้องวางให้ถูกต้อง ตั้งหลักว่าให้วิกฤตินี้เป็นเวลาของการสร้างคน สร้างความเข้มแข็ง พัฒนาตัว พัฒนาเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ให้เป็นคนที่เข้มแข็ง อย่างที่ว่า มีทุกข์ไม่พรั่น เจอภัยไม่หวั่น แล้วก็มีความเพียรสร้างสรรค์ เริ่มด้วยเป็นนักผลิต ไม่จมอยู่กับความเป็นนักเสพ นักบริโภค
สังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีปัจจัย ๒ อย่างนี้เป็นตัวทำลายล้างที่ยิ่งใหญ่ คือ
๑. ความใฝ่เสพบริโภค ที่ทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อ สำรวย อ่อนแอและประมาท ค่านิยมบริโภคนี้ เมืองไทยยังหนักมาก ต้องแก้ให้ได้
๒. ลัทธิรอผลดลบันดาล ซึ่งก็ทำให้อ่อนแอ และประมาทเช่นเดียวกัน เวลานี้ระบาดไปทั่วแล้ว
สองอย่างนี้ถ้าแก้ได้ เมืองไทยเดินหน้าไปแน่ๆ ย้ำอีกทีหนึ่งว่า
๑. ค่านิยมเสพบริโภค หรือ ความใฝ่เสพบริโภค จะต้องแก้ให้ได้ อย่างน้อยให้มีความเป็นนักผลิตมาเข้าดุลกัน ถ้าเป็นนักเรียนก็ต้องฝึกหัดพัฒนาความใฝ่ศึกษาและใฝ่สร้างสรรค์ ต้องทำให้ได้ มิฉะนั้นจะเป็นนักเรียนนักศึกษาแต่เพียงชื่อ หรือโดยรูปแบบ หาสาระไม่ได้ ต้องแก้ปัญหาค่านิยมเสพบริโภคให้ได้ แล้วเอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาใช้ในการศึกษาและสร้างสรรค์ โดยมีความใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ ใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก
๒. ไม่ยอมสยบแก่ลัทธิอ้อนวอนนอนคอยโชค หรือลัทธิรอผลดลบันดาล ต้องเข้มแข็ง มุ่งที่จะทำการให้สำเร็จผลด้วยเรี่ยวแรงความพากเพียรของตน ข้อนี้เป็นหลักพระพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติที่ท่านย้ำด้วยตัวอย่างมากมาย เริ่มตั้งแต่การบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า ทำไมเราไม่เอามาใช้
คติพระโพธิสัตว์นั้น เป็นแบบอย่างของการเพียรพยายาม ของการสู้ไม่ถอย ถ้าชาวพุทธหวังผลสำเร็จง่ายๆ ทางลัด อยากได้อะไรก็อ้อนวอนไปขอ พระพุทธศาสนาตัวจริงก็จะค่อยๆ เลือนลางหายไป เหลือแต่เปลือก หรือรูปแบบ
ลัทธิขอความช่วยเหลือ ลัทธิรอโชคช่วย ลัทธิหวังผลดลบันดาล เวลานี้กลาดเกลื่อนแพร่ไปทั่วสังคมไทย เป็นลัทธิตรงข้ามกับพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ลัทธิเหล่านี้ พระองค์อุตส่าห์มาประกาศอิสรภาพให้มนุษย์แล้ว มนุษย์โดยเฉพาะมนุษย์ไทยเรากลับถอยลงไป ไปอยู่ในสมัยก่อนพุทธกาลเสียนี่ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ต้องเข้มแข็งกันเสียที อย่าเป็นคนอ่อนแอ ปวกเปียก ป้อแป้ พอเจอทุกข์ก็ท้อแท้ หมดกำลัง หรือเจอทุกข์ก็ไปติดยากล่อม สองอย่างนี้กำลังครอบงำคนไทย ถ้าไม่แก้อันนี้พัฒนาไม่สำเร็จ
ที่ว่าให้เป็นนักผลิตนั้น ยังเป็นจุดหมายขั้นต่ำ แต่ให้ได้แค่เป็นนักผลิตอย่างประเทศที่เขาเป็นนักผลิตกันน่ะ ให้ได้แค่นี้ก่อนเถอะ ต่อจากเป็นนักผลิตก็ให้ก้าวไปเป็นนักสร้างสรรค์ ซึ่งดีกว่านักผลิต เพราะนักผลิตนี้เป็นนักสร้างสรรค์ขั้นต่ำเท่านั้น ต้องไปเป็นนักสร้างสรรค์จึงจะดีแท้ๆ นักผลิตนี่ไม่แน่
การผลิต คือการสร้างหรือทำขึ้นใหม่ทางเศรษฐกิจ แต่การสร้างทางเศรษฐกิจนี้จะมาพร้อมกับการทำลายแทบทุกครั้งไป และมองแคบๆ ต่างจากนักสร้างสรรค์ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ปัญญา มุ่งแต่จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ เพราะฉะนั้นนักสร้างสรรค์นั้น เมื่อจะผลิตก็จะต้องให้เป็นการผลิตที่เป็นการสร้างสรรค์ด้วย เวลานี้ที่เรากลัวนักก็คือการผลิตแบบทำลาย ซึ่งมีมากเหลือเกิน เราต้องพัฒนาเด็กไปสู่ความเป็นนักสร้างสรรค์ให้ได้ เพื่อช่วยประเทศไทย และช่วยทั้งโลก
เวลานี้ทั่วทั้งโลกติดตัน ไม่ใช่ติดตันเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น อย่านึกว่าประเทศเจริญที่เรียกว่าประเทศพัฒนาแล้วนั้น เขาเจริญงอกงามดีแท้แล้ว ไม่เป็นเช่นนั้นหรอก เขาเองก็ประสบปัญหาจะตายอยู่แล้วเหมือนกัน ประเทศที่เราว่าเจริญมากน่ะ ไปดูไปศึกษาให้ดีเถอะ เขาเองก็คร่ำครวญปริเทวนาการ เขียนหนังสือมาเป็นสิบๆ เล่ม ว่าสังคมของฉันนี่จะแย่แล้ว
มีอะไรต่ออะไรมากมายที่กำลังบั่นทอนบ่อนทำลายมนุษยชาติ อารยธรรมมนุษย์ปัจจุบันนี้ถ้าประคับประคองไว้ไม่ดี จะสลายทั้งโลกเลย ปัญหาค้ำคอมนุษย์ ๒ อย่างที่แก้ไม่ตกเวลานี้คือ
๑. ปัญหาธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม แก้กันมานานแล้ว มีการประชุมสุดยอดของโลกไป ๒ ครั้งแล้ว ใน ค.ศ. ๑๙๗๒ และ ๑๙๙๒ แต่ยังไม่ไปไหน ๒๐ ปีผ่านไป เพียรพยายามเคลื่อนไหวจะแก้ปัญหากันมากมาย แต่สิ่งแวดล้อมก็เลวลง คนทำท่าเหมือนเดินไปข้างหน้าในการแก้ปัญหา แต่ตัวปัญหากลับแย่ลง
๒. ปัญหาความขัดแย้ง การเบียดเบียน และการทำลายกันในหมู่มนุษย์ ด้วยสงคราม และการก่อการร้าย เป็นต้น เรื่องนี้มนุษย์ที่ว่าเจริญนักหนาก็ยังแก้ไม่ได้ การแบ่งแยกทางเพศ ผิวพรรณ เผ่าพันธุ์ ยังรุนแรงหรือยิ่งรุนแรงมากขึ้น แม้แต่ศาสนาที่ว่าเป็นสิ่งดีงาม มนุษย์ก็ยังนำมาเป็นเหตุเบียดเบียนทำร้ายซึ่งกันและกัน
เมื่อมนุษย์ยังแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ แล้วจะบอกว่ามนุษย์พัฒนาได้อย่างไร
ปัญหาที่แก้ไม่ได้ ซึ่งหมักหมมอยู่ในปัจจุบัน เป็นหลักฐานฟ้องอยู่ตลอดเวลาว่า มนุษย์ยังไม่พัฒนา หรือยังพัฒนาไม่พอ เพราะฉะนั้นจึงต้องมาพัฒนาคนกันอย่างที่ว่าไปแล้ว
เวลานี้ทั้งโลกมีปัญหา อารยธรรมกำลังมาเกือบถึงสุดทางตัน คนไทยในฐานะที่เป็นพลโลกด้วย มีภาระไม่ใช่เฉพาะจะกู้เมืองไทยเท่านั้น จะต้องกู้โลกนี้ขึ้นมาด้วย อย่างน้อยช่วยดึงช่วยรั้งเพื่อนมนุษย์ให้มาเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าเราไม่มีคุณภาพอย่างนี้ แม้แต่จะกู้เมืองไทยก็ไม่ไหว แล้วจะไปกู้โลกได้อย่างไร
ตอนนี้ เอาแค่อย่างที่บอกเมื่อกี้ก็ทำให้ได้ก่อนเถอะ คือ
๑. เมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย
๒. ถึงแม้สุขสบาย ก็ยังสร้างสรรค์ต่อไป
ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นคนไม่ประมาท จัดว่าเป็นคนที่พัฒนาดีขึ้น
คนไทยเราตอนนี้กำลังประสบวิกฤติก็แก้ปัญหากันไป แต่พอแก้สำเร็จแล้ว ต่อไปเราจะต้องเผชิญกับขั้นที่สองอีก คือตอนที่สุขสบายแล้ว จะมัวนอนเสวยสุขเกิดความประมาทอีกหรือเปล่า ถ้าประมาทก็เวียนกลับมาเสื่อมอีกแน่ เพราะฉะนั้น ต้องพัฒนาคนให้ถึงขั้นที่ว่าแล้วให้ได้
การพัฒนาคนนี้คือทุนสำคัญที่สุด ตั้งแต่ ๓๐ ปีมานี้ก็ถึงกับใช้คำว่า ทรัพยากรมนุษย์ ทั้งๆ ที่มนุษย์นั้นไม่ใช่เป็นแค่ทรัพยากร มนุษย์สูงกว่าทรัพยากร แต่เอาละ แม้แต่ในแง่ที่เป็นทรัพยากรนี้ ก็ยอมรับกันว่า ทรัพยากรมนุษย์สำคัญที่สุดในบรรดาทรัพยากรทั้งหลาย
บางประเทศมีทรัพยากรมนุษย์ดี ถึงแม้ทรัพยากรธรรมชาติจะไม่ค่อยมี ประเทศของเขาก็ยังพัฒนาได้ดีกว่าประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ แต่ทรัพยากรมนุษย์แย่ หลายประเทศทีเดียวที่ว่ามีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แต่ทรัพยากรมนุษย์ขาดคุณภาพ ก็ปรากฏว่าเอาทรัพยากรธรรมชาติไปให้ประเทศอื่นใช้หมด คนอื่นเป็นฝ่ายมาเอาไปใช้ ตัวเองก็เป็นแค่คนรับใช้
เพราะฉะนั้น เขาจึงบอกว่าความได้เปรียบเสียเปรียบนั้นอยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ประเทศที่เขาพัฒนาเดินหน้า เขาจึงเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เมื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ดีแล้ว ถึงแม้ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติก็ไม่เป็นไร ก็ไปเอาจากประเทศอื่นที่ด้อยพัฒนากว่าได้ ตอนนี้ก็ใช้วิธีเอาเปรียบกันบ้าง ครอบงำกันบ้าง ใช้อำนาจทางตรงบ้าง ทางอ้อมบ้าง แต่รวมแล้วก็คือว่า โลกมนุษย์ปัจจุบัน แม้จะยังไม่พัฒนาเท่าไร ก็ยังเห็นคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ดีให้ได้
ถ้าพัฒนาคน แม้แต่ในแง่ที่เป็นทรัพยากรมนุษย์นี้ไม่สำเร็จ ทรัพยากรธรรมชาติก็จะไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่จะล้างผลาญทำให้สูญสิ้นหมดไปเปล่าๆ ด้วย แล้วจะแก้วิกฤติเศรษฐกิจก็ไม่สำเร็จ หรือทำให้ดูเหมือนว่าสำเร็จ แต่เป็นภาพลวงตา ไม่ยั่งยืน ไม่มีแก่นสารอย่างที่ว่าแล้ว
เวลานี้เจอเศรษฐกิจฟองสบู่แล้ว ต่อไปถ้ายังพัฒนาคุณภาพคนไม่ได้ จะเจอเศรษฐกิจแบบอะไร ช่วยกันตั้งชื่อหน่อย อาจจะเป็นเศรษฐกิจน้ำเน่า เศรษฐกิจมอมเมา เศรษฐกิจทางลัด เศรษฐกิจรวยไว อะไรเหล่านี้ อย่าไปเอาเลย ให้เป็นเศรษฐกิจที่เกิดจากความเพียรสร้างสรรค์ อย่างน้อยเกิดจากความสามารถในการผลิตให้ได้ และอันนี้ทำที่ไหน ก็ต้องทำที่ตัวคนใช่ไหม นี่แหละกู้ธรรมะละ กู้ธรรมะให้กลับมาอยู่ในตัวคน แล้วก็กู้ธรรมที่แท้ให้แก่สังคม ให้รู้จักเข้าใจกันให้ถูกต้อง
แม่ชีศันสนีย์: การที่ผู้ใหญ่จะคิดหาเงินได้อย่างมักง่าย แต่เสียนิสัยของคนในชาติ เช่น บ่อนคาสิโน อย่างนี้เรียกว่ากล่อมไหมเจ้าคะ
พระธรรมปิฎก: ก็ยากล่อมนั่นแหละ ถือเป็นเศรษฐกิจยากล่อม แต่ขออภัยนะ มันเป็นเศรษฐกิจที่ลดค่าของความเป็นมนุษย์ คือเสียศักดิ์ศรีด้วย นี่ไม่ได้ว่าอะไรนะ ท่านที่เสนอแนวความคิดเรื่องนี้ก็ปรารถนาดีต่อประเทศชาติ คือทุกคนปรารถนาดีอยากจะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ แต่บางทีเราก็ต้องติติงให้สติกันบ้าง เพราะเศรษฐกิจอย่างนี้มันไม่ยั่งยืน พอได้มาง่ายๆ คนไทยก็ยิ่งลืมตัวเลย คราวนี้ก็ไม่พัฒนากันแล้ว
๑. นิสัยเดิมที่เคยเห็นแก่ง่าย เอาแต่สะดวกสบาย มองหาแต่จะเสพบริโภค จะเอาทางลัดง่ายๆ ก็จะซ้ำเติมหนักเข้าไปอีก
๒. สูญเสียศักดิ์ศรี ลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ที่อาตมาพูดเมื่อกี้ ได้แต่พูดอ้อมๆ ไป ตอนนี้แม่ชีมาพูดตรงๆ อาตมาก็เลยพูดให้ชัดไปเสียเลย อย่างประเทศอเมริกา เขามีบ่อนคาสิโนก็เป็นทางได้เงิน เศรษฐีเมืองด้อยพัฒนาก็ไปเล่นกันเยอะ แต่มองดูภาพรวมของประเทศ เศรษฐกิจของเขาที่รุ่งเรืองไม่ได้มาจากเรื่องนี้ และที่เขาภูมิใจก็ไม่ใช่อันนี้ เศรษฐกิจที่เขาภูมิใจเป็นเศรษฐกิจที่เกิดจากความเพียรสร้างสรรค์ที่ว่าเมื่อกี้ เขามีความสามารถในการผลิต แล้วก็พัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมา อันนี้ซิที่เขาภูมิใจ
คนอเมริกันจะพูดเสมอว่า ประเทศของเขาเจริญขึ้นมาด้วย work ethic คือ จริยธรรมแห่งการทำงาน อันนี้สิที่เขาภูมิใจอย่างยิ่ง ส่วนที่ Las Vegas นั้นเป็นเครื่องเล่นกระจอกกระจิบ ที่เมืองนั้นหรือแถบนั้นเป็นทะเลทรายแห้งแล้ง ทำมาหากินอย่างอื่นแทบไม่ได้ ก็เลยหาทางเจริญ ทำของมักง่ายเอาไว้ล่อเด็ก พวกเด็กข้างนอกก็ไปเล่นสนุกๆ เอาสตางค์ไปให้เขา เป็นเรื่องประกอบ
ส่วนประเทศไทยของเรา เป็นทะเลทรายแห้งแล้งอย่างนั้นหรือเปล่า จะได้เอาเป็นเหตุผลไปอ้างแก่เขาว่าเราไม่มีทางทำมาหากินอย่างอื่น
ทีนี้ ถ้าเราเอาวิธีนี้มาใช้ ก็กลายเป็นว่าเราให้ความสำคัญถึงขั้นเอามาแก้ปัญหาของชาติไทย อย่างนี้ไม่ดีแน่ คนอื่นเมืองอื่นเขาจะดูถูกว่า คนไทยทำได้แค่นี้หรือ คนไทยไม่มีความเพียรสร้างสรรค์ที่จะทำอะไรด้วยความสามารถของตนเองหรือ จึงต้องเอาวิธีมักง่าย ถ้าใช้คำในทางธรรมท่านเรียกว่า เงินทองที่ได้มาด้วยการยอมลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่เดี๋ยวจะเป็นคำแรงไป แต่ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น เราต้องช่วยกัน คือ ต้องสู้ ใจต้องเข้มแข็ง อย่ายอมแพ้เห็นแก่สิ่งที่จะได้มาง่าย อย่าเห็นแก่การรวยทางลัด
คนไทยนี้ชอบนัก ชอบมานานแล้ว เรื่องลาภลอย และรวยทางลัด เช่น การพนัน หวย ฯลฯ ได้มาง่ายๆ เสี่ยงโชคเอาแล้วก็คอยรอ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องเพียรพยายาม ไม่ต้องใช้ปัญญา เปลี่ยนเสียทีเถอะ เปลี่ยนมาเป็นว่าทำให้สำเร็จด้วยความพากเพียรและเข้มแข็ง สู้ยากบากบั่นในการผลิตและสร้างสรรค์ ต้องทำให้ได้ ถ้าไม่ได้อันนี้ก็อย่าไปภูมิใจกับมัน
เรื่องนี้ ถ้าสร้างให้เป็นทัศนคติ เป็นนิสัยจิตใจ เป็นสภาพจิตของคนไทยขึ้นมาได้ ก็จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงด้วย ความเป็นชาวพุทธตั้งต้นที่นี่ ถ้าเราเป็นคนชอบง่ายๆ ชอบรวยทางลัด เราจะเป็นคนผิวเผิน ฉาบฉวย ไม่เอาอะไรจริงจัง จะติดอยู่กับเรื่องตื่นเต้น มีข่าวอะไร ก็ไปฟังเขามาสนุกดี แล้วก็เอามาพูดกันสนุกปากไป ได้แต่ตื่นเต้นแล้วก็ผ่านไป จะดูหรือฟังอะไรก็เพียงเพื่อตื่นเต้น ไม่ใช่เพื่อศึกษาค้นคว้าหาความจริง วิจารณ์อะไรก็เพียงเพื่อสนุกแล้วก็ทิ้งไป ไม่ใช่เพื่อจะคิดทำหรือเพื่อจะแก้ปัญหา ดูในสังคมไทยของเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า
ทางพระท่านก็บอกแล้วว่า คุณสมบัติของอุบาสกอย่างหนึ่งคือ ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ต้องเป็นคนหนักแน่น ไม่หวังผลจากมงคล แต่หวังผลจากการกระทำ ด้วยการเพียรพยายามตามเหตุตามผล เราชอบเรื่องสนุกปาก เอามาเล่ากัน ตื่นเต้น ผ่านๆ ไป แล้วก็ไม่เอาจริงเอาจังอะไร จะศึกษาหาความรู้ให้จริงจังก็ไม่เอา จะทำอะไรก็ไม่ให้มั่นลงไป อย่างนี้ก็อยู่กับสิ่งที่เลื่อนลอย สิ่งที่ตื่นเต้นวูบวาบ สิ่งที่ผิวเผินฉาบฉวย
ที่ว่านี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยเวลานี้ เราควรเอามาพูดกัน เตือนสติกันเสียที มันเป็นมานานแล้ว จึงได้บอกว่า เราคงจะเสียคุณภาพคนไปก่อนแล้ว ก่อนที่เราจะมาเสียเศรษฐกิจ วิกฤติเศรษฐกิจตามมาทีหลัง คนมันแย่มานานแล้ว เหตุปัจจัยที่อยู่ในตัวคนมันโทรมเปลี้ยแล้ว ถึงตอนนี้แหละจึงเป็นโอกาสที่เราจะมาฟื้นกันเสียที เพราะถ้าไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจ คนไทยเราก็จะหลงระเริงกันต่อไป แล้วก็เพลิดเพลินมัวเมาไม่เอาใจใส่ ตอนนี้ถูกตีให้ชะงักจึงอาจจะเริ่มฟังกันบ้าง แต่ฟังแล้วอย่าฟังเปล่าๆ นะ ต้องเอาไปทำด้วย
ต้องตั้งใจเอากันจริงๆ เสียที อย่าขอให้เพียงผ่านๆ ไปอีก เพราะคนไทยชอบอย่างนั้น เวลาฟังเรื่องก็ตื่นเต้นสนุกสนานกัน แต่พูดเสร็จแล้วก็ผ่านไป คราวนี้อย่าผ่านนะ เอาจริงๆ เสียที มาเริ่มต้นกันให้แข็งขันเลย
ขอแถมอีกหน่อย ได้พูดไว้ว่า จะแก้วิกฤติเศรษฐกิจให้ได้ผลจริง ต้องแก้วิกฤติคุณภาพคน และการสร้างคุณภาพคนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง ก็คือ จะต้องพัฒนาความสามารถในการผลิตขึ้นมาในตัวคนไทย
ได้พูดไว้ด้วยว่า ที่จริงความสามารถในการผลิตก็ยังไม่พอ ยังต่ำ ยังแคบ ยังน้อยไป แต่คนไทยเวลานี้แค่นี้ก็ให้ได้ก่อนเถอะ เหนือกว่านี้ ยังจะต้องมีความสามารถในการสร้างสรรค์ด้วย เพราะความสามารถในการผลิต ยังอยู่แค่เรื่องเศรษฐกิจ เราจะพัฒนาให้ชีวิตและสังคมมีสันติสุขจริง จะต้องสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ที่สูงเลิศประเสริฐกว่านั้น ในทางคุณภาพชีวิต ในเรื่องจิตใจ และในทางปัญญาด้วย
พูดกันให้ชัด แม้แต่ในด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว ความสามารถในการผลิตก็ยังไม่พอ จะให้เศรษฐกิจเจริญมั่นคงดีจริง จะต้องเน้นที่ความสามารถเชิงสร้างสรรค์
ในโลกยุคที่อุตสาหกรรมก้าวมาไกลแล้วนี้ ประเทศที่ถือว่าเจริญทางเศรษฐกิจมากๆ ถึงกับบอกว่าตนผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว อย่างที่เรียกว่าเป็น postindustrial ในประเทศที่พัฒนามากแล้วพวกนี้ อุตสาหกรรมภาคผลิตสินค้ามีความสำคัญน้อยลง แต่ด้านที่ขึ้นมามีบทบาทเด่น คืออุตสาหกรรมภาคบริการ ที่เรียกว่า service industry
อย่างประเทศอเมริกาเวลานี้กำลังคนภาคบริการมีจำนวนเกือบ ๓ ใน ๔ ของแรงงานทั้งหมด ส่วนอุตสาหกรรมภาคผลิตสินค้า ใช้กำลังคนเพียงประมาณ ๒๖ เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะด้านการเกษตรใช้กำลังคนเพียงประมาณ ๓ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านอย่างนี้แล้ว ก็อย่าเพิ่งตื่นไปว่า ด้านผลิตสินค้าไม่สำคัญแล้ว เราจะต้องหันไปเน้นด้านบริการ ฟังแล้วอ่านแล้วก็ต้องพิจารณาแยกแยะวิเคราะห์ให้ดี ถ้ายังไม่ชัดทางปัญญา ก็ต้องค้นคว้าให้จะแจ้ง
เมืองอเมริกาเป็นต้น ที่ว่าใช้แรงงานภาคผลิตสินค้าน้อยนั้น ไม่ใช่ว่าการผลิตสินค้าไม่สำคัญ ต้องพูดว่าสำคัญ แต่ไม่พอ ประเทศพวกที่พัฒนาแล้วนั้น ที่เขาใช้กำลังคนในภาคผลิตสินค้าน้อย ก็เพราะเขามีความสามารถในการผลิตมามากจนเกินพอ คือคนน้อยแต่ผลิตได้มาก เช่นใช้เครื่องจักรมาทุ่นแรง หรือทำแทนไปเลยบ้าง ผลักหรือโยนอุตสาหกรรมหนักที่ใช้ความสามารถน้อยไปให้ประเทศด้อยพัฒนาทำเสีย(มาก)บ้าง แล้วเอากำลังคนที่พัฒนาดีให้มีฝีมือมีประสิทธิภาพของตนไปผลิตสินค้าพวกไฮเทค และงานด้านบริการต่างๆ
ประเทศอเมริกา ที่ว่าแรงงานด้านเกษตรเขาลดลงๆ จนเหลือแค่ ๓ เปอร์เซ็นต์นั้น เขาอวดได้ว่า ในช่วง ๕๐ ปี ผลผลิตรวมของชาติของเขาเพิ่มขึ้นๆ จนเกือบจะเป็น ๕ เท่า
ประเทศไทย ก่อนจะมองด้านบริการ ต้องจับด้านการผลิตให้ชัดเจนและมั่นคง โดยเฉพาะยุคที่แล้วมาควรจะยอมรับว่าพลาด การผลิตด้านการเกษตรที่ตัวก็ชำนาญและพื้นฐานก็ดี เช่น ธรรมชาติเอื้ออำนวย มีโอกาสที่จะทำได้ดีที่สุด กลับไปทิ้งเสีย คนที่จะเป็นกำลังการผลิตด้านเกษตรได้ดี ถูกปล่อยให้ทิ้งไร่นาไปเป็นกำลังผลิตที่ไร้ฝีมือ หรือไม่ค่อยมีฝีมือ หรือเป็นแรงงานราคาถูก ในการผลิตภาคโรงงานและการก่อสร้าง เข้าทำนองที่ว่า ดีที่ตัวมีก็ทิ้งให้หลุดมือไป ดีใหม่ที่จะเอาก็ทำไม่ได้
เวลานี้เจอวิกฤติต้องถอยกลับไปเน้นภาคเกษตร แต่ธรรมชาติก็ถูกทำให้เสื่อมโทรมไป ทุนที่ดินทำกินก็ขายหลุดมือไปเสียมาก ฝีมือความชำนิชำนาญและจิตใจของกสิกรก็ชักจะด้อยลงกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ตัวใหม่ จำไว้ให้ดี ถึงคติที่ว่า ดีเก่าที่ตัวมีต้องรักษาไว้ ดีใหม่ที่ยังไม่มีก็ต้องก้าวไปทำให้สำเร็จ
ความสามารถในการผลิตของไทยนั้น นอกจากจะต้องชัดเจนและมั่นคง ด้วยปัญญาที่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็น เรามีทุนพื้นฐานดีด้านไหนที่จะต้องรักษาและเสริมเป็นพิเศษแล้ว ก็ต้องไปโยงกับแนวคิดที่เป็นสัมมาทิฏฐิด้วยว่า เราผลิตของกินของใช้เพื่อเป็นปัจจัยหนุนชีวิตและสังคมให้สามารถก้าวต่อไปในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่สูงขึ้นไป อย่างที่พูดข้างต้น ซึ่งจะทำให้เกิดความพอดี
นอกจากพัฒนาความสามารถในการผลิตให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพแล้ว ก็ต้องพัฒนาความสามารถเชิงสร้างสรรค์ เช่น ในการที่จะหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดียิ่งขึ้น เป็นต้น ตลอดจนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรืออย่างประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องแข่งกันในการพัฒนาความคิดและกระบวนการผลิตในด้านไฮเทค
แต่คำว่า “สร้างสรรค์” เวลานี้ ก็เป็นคำที่กำกวม ความหมายไม่ชัดเจน คนฉลาด เก่ง คิดทำอะไรใหม่ๆ หรือก้าวหน้าไปได้ ก็เรียกว่าสร้างสรรค์ บางทีสิ่งที่ทำนั้น ในวงกว้างหรือในระยะยาวอาจเป็นการทำลายก็ได้ พูดง่ายๆ ไม่ต้องบรรยายกันยาว ว่าเป็นเพียงการสนองโลภะ โทสะ และโมหะ ควรจะจำกัดความหมายของการสร้างสรรค์ให้เป็นเรื่องของความดีงามและประโยชน์สุขของชีวิต ของสังคม และของโลกทั้งหมดเท่านั้น
คำว่า “อุตสาหกรรมบริการ” นั้น น่าจะต้องระวังเป็นพิเศษ เดี๋ยวจะคิดว่า อ้อ ฝรั่งเจริญอย่างนี้ ถ้าเรามีกิจการด้านบริการมากๆ แล้วแสดงว่าประเทศเจริญ ต้องแยกแยะให้ดี บางทีมีงานด้านบริการเยอะๆ ก็อาจจะกลายเป็นเสื่อมเต็มที่
อุตสาหกรรมบริการมีมากมายหลายชนิด บริการประเภทรับใช้อำนวยความสะดวก อย่างโรงแรม การนำเที่ยว ฯลฯ ก็มี ประเภทให้ความสนุกสนานบันเทิง บำรุงบำเรอก็มี ช่วยบำบัดทุกข์แก้ไขปัญหา อย่างการแพทย์ การว่าความ เป็นต้น ก็มี ประเภทนำเสนอข่าวสาร ให้ความรู้ อบรมสั่งสอน อย่างสื่อมวลชน การเป็นครูอาจารย์ งานค้นคว้าวิจัย เป็นต้น ก็มี เป็นเรื่องการเงิน การธนาคาร ก็มี ฯลฯ
ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมบริการมากมาย แต่ดูจะหนักไปทางด้านรับใช้ อำนวยความสะดวก และสนุกสนานบันเทิง บางอย่างมีชื่อเสียงเด่นไปทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการทางเพศ และแม้แต่อุตสาหกรรมผลิตยาเสพติด จนหนังสือฝรั่งขั้นตำรับตำรา เอาไปตีเป็นตราหรือเป็นภาพลักษณ์ของเมืองไทย ต้องแยกแยะให้ชัดว่าอุตสาหกรรมบริการอย่างไหน จึงจะทำให้ประเทศเจริญงอกงามได้ดี
บริการทั้งหลายจะเจริญงอกงามได้ผลดี ก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ แต่งานบริการสำคัญยิ่งยวด ที่ต้องการความสามารถในการคิดสร้างสรรค์อย่างสูง และเป็นพลังขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าด้านอื่นๆ พร้อมทั้งอำนาจและอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจและการเมืองของโลก ก็คือ อุตสาหกรรมบริการทางปัญญา
อเมริกาปัจจุบันมีสินค้าและบริการเด่นมากทางด้านการบันเทิง เป็นเจ้าอิทธิพลที่สร้างแฟชั่น กระแสค่านิยมและวัฒนธรรมไปทั่วโลก จนบังตาคนในประเทศล้าหลังให้ติดเพลินชื่นชมและมองภาพความเจริญอย่างผิวเผินและฉาบฉวยอยู่แค่นั้น แต่เบื้องหลังบริการบันเทิงเหล่านั้น สิ่งที่เป็นฐานรองรับ เป็นสื่อ และเป็นพาหะ ก็คือความเป็นเจ้าทางด้านบริการข่าวสารข้อมูล รวมทั้งวิชาการต่างๆ และแม้แต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ซึ่งประสานกับความก้าวหน้าในความสามารถเชิงสร้างสรรค์ด้านไฮเทค โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการใช้ปัญญา
รายงานเศรษฐกิจประจำปี ๑๙๙๗ ของสารานุกรมบริแทนนิกาบอกว่า ในอเมริกาปี ๒๕๓๙ เศรษฐกิจภาคที่มีพลังก้าวหน้ามากที่สุด ก็คือ ไฮเทค โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้กิจการด้านนี้ เพิ่มค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ๒๐๐-๓๐๐ เท่า และสร้างเศรษฐีใหม่ขึ้นมาเป็นแถวๆ
ถ้าจะแก้วิกฤติเศรษฐกิจกันจริงๆ หรือจะสู้เขาให้ได้ในระบบแข่งขันของโลก (ไม่ต้องพูดถึงว่าจะก้าวขึ้นไปแก้ปัญหาของโลก) อย่ามัวอยู่กับยากล่อมทั้งหลาย จะต้องใช้ปัญญากันให้มาก จับให้ได้ว่าอะไรเป็นปัจจัยตัวแท้ตัวจริง ในการที่จะแก้ปัญหา และสร้างสรรค์ความเจริญ แม้แต่ในความหมายแคบๆ ด้านเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมาและเวลานี้ ธุรกิจมีบทบาทสำคัญที่สุด เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งเป็นแบบทุนนิยม ธุรกิจเป็นตัวนำ ดำเนิน ประสาน ชักพา หันเห พลิกผัน หมุน ปั่น และปั้นแต่ง รวมทั้งเป็นตัวการสำคัญที่พาเมืองไทยมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้
ถ้าธุรกิจพ่วงไปกับอุตสาหกรรมผลิตสินค้าและบริการ ที่ประกอบด้วยความสามารถในการผลิต และในการคิดสร้างสรรค์ เศรษฐกิจก็จะเป็นแก่นสารและมีฐานที่มั่นคง แต่ในยุคที่ผ่านมา ธุรกิจของไทย เป็นแบบฉลาดอย่างขาดการสร้างสรรค์เสียมาก เป็นนักปั่น นักหมุน กันเยอะ ไม่มีเนื้อใน ได้แต่ปั่น เช่น ปั่นเงิน ปั่นหุ้น เป็นต้น เป็นฟองสบู่ ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นเหยื่อของนักปั่นแท้ ที่มีฐานแข็งกว่า ที่ปั่นซ้อนปั่น ทั้งหมุนทั้งปั่น คือฝรั่ง เลยแทบจะพาประเทศชาติไปสู่ความวิบัติ จนต้องมาคิดกู้แผ่นดินกันอยู่นี่
ถ้าจะให้ประเทศไทยก้าวไปในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี คนไทยจะต้องมองธุรกิจไทยให้ชัด ว่าเรามีความสามารถที่จะแข่งขันกับเขาได้จริงหรือไม่ และพยายามพัฒนาธุรกิจไทยให้แข็งแกร่งด้วยปัญญาเชิงสร้างสรรค์ อย่าไปชื่นชมกับธุรกิจแบบ ศรีธนญชัย จะต้องให้ธุรกิจนั้นดำเนินไปกับอุตสาหกรรม ทั้งด้านสินค้าและบริการ ที่ตั้งอยู่บนฐานของความสามารถในการผลิตและความเพียรสร้างสรรค์
พวกที่เราเรียกเขาว่าอารยประเทศนั้น เขาพูดกันถึง “ระบอบโลกใหม่” (new world order) และเขาก็จะจัดสรรระบอบโลกใหม่นั้น เราภูมิใจเพียงแค่จะได้ไปอยู่ในระบอบโลกใหม่ที่เขาจัดให้เท่านั้นหรือ
ระบอบโลกอย่างใหม่ที่เขาจัดสร้างขึ้นนั้น เขาว่าจะให้มีสันติสุขมากขึ้น แต่ก็ไม่ไปไหน ก็มีแต่ส่งเสริมและเต็มไปด้วยการแข่งขันทางเศรษฐกิจ (economic competition) ซึ่งโยงเอาการเป็นคู่แข่งทางการเมือง (political rivalry) ติดมาด้วย การแข่งแบบนี้ย่อมแฝงความเป็นปฏิปักษ์กันอยู่ในตัว แล้วโลกจะมีสันติสุขแท้ได้อย่างไร เราไม่มีความสามารถหรือคิดจะพัฒนาความสามารถที่จะมีส่วนร่วมสร้างระบอบโลกใหม่ที่ดีงามขึ้นบ้างหรือ จะภูมิใจอยู่แค่ได้ขึ้นไปเต้นบนเวทีที่เขาสร้างและกำกับการแสดงเท่านั้นหรือ
ได้ยินคนไทยเรามักจะพูดว่า “รอให้เศรษฐกิจฟื้นตัว” ทำไมเราไม่พูดเน้นถึงการ “ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว” เหมือนกับว่า ลึกลงไปในใจ เราเคยชินอยู่กับแนวคิดตามลัทธิคอยโชค หรือลัทธิรอผลดลบันดาล และการหวังความช่วยเหลือ ควรจะตื่นขึ้นมามองและมุ่งที่จะ “ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว” ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรและสติปัญญาของเรา
วิกฤติคราวนี้ ที่ไทยเป็นหนี้ ไอเอมเอฟ ๑๗,๐๐๐ ล้านดอลลาร์นั้น มากมายยิ่งนัก หลายคนท้อใจว่าคงจะไม่มีทางหลุดออกไปได้ ถ้าคิดตามอัตรา เมื่อ ๑ ดอลลาร์มีค่า ๔๒ บาท หนี้ก็เป็นเงินไทยเกินกว่า ๗ แสนล้านบาท แต่ถ้าไม่มัวละห้อยละเหี่ยอยู่ มาสร้างเศรษฐกิจใหม่กันบนฐานที่แข็งแรง คือความสามารถในการผลิตและคิดสร้างสรรค์นั้น การที่จะฟื้นตัวขึ้นมาก็ไม่เหลือวิสัยแต่อย่างใด
เพียงเงินไทยแข็งขึ้นมาหน่อย ถ้าเป็น ๓๐ บาทต่อดอลลาร์ หนี้ก็ลดหายไปทันทีถึง ๒ แสนกว่าล้านบาท ถ้าเกิดเงินไทยแข็งขึ้นมากลายเป็น ๑ บาท ต่อ ๒ ดอลลาร์ หนี้ก็เหลือเพียง ๘ พันห้าร้อยล้านบาท จริงอยู่ เรื่องเศรษฐกิจซับซ้อนกว่าที่จะพูดง่ายๆ อย่างนี้ แต่ก็พูดไว้ให้เห็นตัวอย่างถึงความเป็นไปได้ ซึ่งอยู่ที่ความเข้มแข็งและมุ่งมั่นตั้งใจจริงอย่างมีปัญญา
อย่าลืมว่าเมืองไทยเราเป็นหนี้ต่างประเทศ ไม่ใช่เฉพาะหนี้ IMF คราวนี้เท่านั้น เราเป็นหนี้มาก่อนนี้นานแล้ว สะสมมาเรื่อยๆ และไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลเป็นหนี้ เอกชนก็เป็นหนี้อย่างหนัก เวลานี้เมืองไทยเป็นหนี้ต่างประเทศรวมแล้วเกือบ ๙ หมื่นล้านเหรียญอเมริกัน ถ้าคิดอัตราดอลลาร์ละ ๓๖ บาท ก็ติดหนี้เป็นเงินไทยราว ๓ ล้านล้านบาท ทั้งหมดนี้ ถ้าเราเดินถูกทาง ตั้งตัวให้ดีก็ต้องแก้ได้
ข้อสำคัญ ต้องไม่เป็นเพียงนักเสพนักบริโภค แต่ต้องเป็นนักผลิต นักสร้างสรรค์ ต้องเป็นคนที่หวังผลจากการกระทำ ไม่ใช่หวังผลจากการดลบันดาล
การขอและรอผลดลบันดาลนั้น ง่ายดี และสบายด้วย เพราะไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่รอ นั่งนอนกริ่มๆ กระหยิ่มใจ คอยชื่นชมอำนาจความยิ่งใหญ่ของท่านที่จะมาทำให้ แต่นี่คือลัทธิกล่อมใจ และก็คือความประมาท ที่จะทำให้อ่อนแอลงเฉพาะหน้า และพาสู่หายนะระยะยาว
ถ้ามัวแต่เป็นนักขอผลดลบันดาลกันอยู่ ต่อไปชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่ท่านจะบันดาลให้ สังคมของตนจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่ใครที่มีอำนาจยิ่งใหญ่จะมาดลบันดาล ที่เจอวิกฤติเศรษฐกิจก็เพราะฝรั่งดลบันดาล แล้วก็รอต่อไปว่า ฝรั่งคงจะมาช่วยดลบันดาลให้สังคมของเราพ้นวิกฤติ นี่แหละคือชะตากรรมของนักขอและนักรอผลดลบันดาล
ควรจะพัฒนาตัวขึ้นมาให้มีความสามารถที่จะดลบันดาลกับเขาบ้าง อย่างน้อยก็ให้สามารถมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของโลก ไม่ใช่มัวแต่รอให้เขากำหนดให้
ต้องเข้มแข็ง มีความเพียรที่จะสร้างผลสำเร็จขึ้นด้วยเรี่ยวแรงการกระทำความสามารถและสติปัญญาของตน อย่าเป็นนักหวังลาภลอย หรือรวยทางลัด อย่างที่ฝรั่งเอาไปเขียนใส่สารานุกรม เป็นหนังสือบ้าง เป็น CD-ROM บ้าง เผยแพร่เหมือนประจานเมืองไทยไปทั่วโลก
ตัวอย่างเช่น Encarta Encyclopedia 1998 และ 1999 ที่บรรยายสภาพเมืองไทย(Thailand)ว่า “ผู้ชายชาวต่างประเทศมาเพื่อดูหญิงงามของประเทศไทย และหาความสุขจากอุตสาหกรรมกามารมณ์ ที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู” อีกตอนหนึ่งว่า “เวลานี้ (ในเมืองไทย) ทุกคนรีบไปๆ ใจก็นึกถึงแต่เงินๆ . . . โสเภณี ยาเสพติด การทำลายป่า มลภาวะ การอยู่กันแออัดยัดเยียด-ปัญหาทุกอย่างทั้งหมดนี้ สืบสาวหาเหตุแล้ว ก็มาจากความอยากรวยลัดรวยเร็ว (quick baht) อย่างเดียวแท้ๆ”
ผลเกิดจากเหตุ เหตุปัจจัยก่อให้เกิดผล ขณะนี้ ไทยเราก็ประสบผลแล้วคือวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลร้าย แต่เหตุปัจจัยของมันคืออะไร คิดที่จะค้นหาและแก้ไขกันให้จริงจังหรือยัง
เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายที่ไม่คาดฝัน ก็ย่อมตกใจ เสียใจ ระทมทุกข์ ฯลฯ กันได้เป็นธรรมดา แต่ถึงขณะนี้ หมดเวลาแล้วที่จะมัวระทดระทวย ละห้อยละเหี่ย กล่อมใจปลอบใจกัน ควรจะลุกขึ้นมาใช้ความเพียรและปัญญาเดินหน้าให้จริงจังเสียที สร้างเศรษฐกิจที่มีแก่นสาร บนฐานที่มั่นคง คือความสามารถในการผลิต และการคิดสร้างสรรค์
ถ้าทำได้แค่นี้ ในแง่เศรษฐกิจ ก็แก้ปัญหาของไทยได้ แต่เรายังจะต้องก้าวต่อไปอีก เพื่อแก้ปัญหาของโลกให้ได้ด้วย โดยนำมนุษย์เข้าสู่แนวคิดที่ถูกต้อง ว่าการพัฒนามิใช่เพื่อเศรษฐกิจรุ่งเรืองเป็นจุดหมาย แต่เพื่อจะได้เอาเศรษฐกิจที่เพียงพอและมั่นคงเป็นฐาน ในการที่จะสร้างสรรค์ชีวิต สังคม และโลกที่ดีงาม มีสันติสุขสืบไป
สำหรับเฉพาะหน้าตอนนี้ ที่จะเริ่มต้นกันได้ ก็อย่างที่พูดไปแล้ว ซึ่งขอย้ำอีกที
๑. มีความเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น
๒. มีความเพียรสร้างสรรค์ โดยใช้สติปัญญา
๓. ร่วมกันเผชิญทุกข์เผชิญปัญหา พากันเดินหน้าต่อไป
ที่ว่านี้ขยายความว่า ในแต่ละคนให้มีคุณสมบัติแห่งความเข้มแข็ง และสร้างสรรค์อยู่เป็นพื้นฐาน แล้วก็มารวมกำลังกันอีกทีหนึ่งทั้งหมดทั้งสังคม ตอนนี้จะต้องปลุกใจกันใน ๓ ประการนี้
เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น อย่าไปมัวกล่อมกันอยู่ ให้ตั้งท่าทีต่อสถานการณ์และต่อข่าวให้ถูกต้อง เช่น ข่าวความช่วยเหลือของต่างประเทศนี่แหละดีนัก ตั้งท่าทีกันให้ถูก อย่าไปตั้งท่าทีแบบเพลิน แหม ได้แล้ว ฉันดีใจ หายทุกข์แล้ว เราจะพ้นวิกฤติละ แล้วก็เฉื่อยลง อย่างนั้นใช้ไม่ได้
ต้องตั้งจิตมองด้วยท่าทีว่า นี่คือความจำใจนะ ที่เราต้องรับความช่วยเหลือ แล้วจะต้องตั้งใจว่า เราจะต้องพ้นไปจากภาวะนี้ให้ได้ เราจะไม่มามัวชื่นชมและหลงระเริงภูมิใจกับการได้สิ่งเหล่านี้มาง่ายๆ ถ้ามัวคิดว่าฉันมีคนมาช่วยเหลือแล้ว ไม่เป็นไรแล้ว ก็ชวนให้น้อมไปในความประมาทตามเคย
อะไรก็ตามที่จะทำให้ประมาท ต้องถือว่าผิดทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าตรัสย้ำแล้วย้ำอีกว่า ความไม่ประมาทเป็นธรรมเอก เปรียบเหมือนรอยเท้าช้าง รอยเท้าสัตว์บกทุกชนิดลงได้ในรอยเท้าช้างฉันใด ธรรมทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนก็ลงได้ในความไม่ประมาทฉันนั้น ลงได้มีความไม่ประมาทอย่างเดียว ธรรมอย่างอื่นก็เกิดผลหมด ทำหมด รู้แค่ไหน แม้แต่รู้ธรรมข้อเดียวก็ทำข้อนั้น รู้ ๑๐ ข้อก็ทำ ๑๐ ข้อ รู้ทั้งหมดก็ทำทั้งหมด แต่ถ้าประมาทอย่างเดียว รู้เท่าไรก็ไม่ทำสักอย่าง เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงครอบคลุมธรรมะไว้หมด พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นเหลือเกิน
ขอจบลงด้วยคำเน้นที่ว่า ถ้าไม่ประมาท จะไม่ต้องพบความเสื่อม จะหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ขอให้เราพากันไม่ประมาท สร้างความเข้มแข็งขึ้นมา เพียรใช้สติปัญญาสร้างสรรค์ และร่วมแรงร่วมใจกันฟันฝ่าเดินหน้าต่อไป
การขอและรอผลดลบันดาลนั้น ง่ายดี และสบายด้วย เพราะไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่รอ นั่งนอนกริ่มๆ กระหยิ่มใจ คอยชื่นชมอำนาจความยิ่งใหญ่ของท่านที่จะมาทำให้ แต่นี่คือลัทธิกล่อมใจ และก็คือความประมาท ที่จะทำให้อ่อนแอลงเฉพาะหน้า และพาสู่หายนะระยะยาว”
“. . . ขอให้เราชาวพุทธลุกขึ้นมากู้ธรรมะให้แก่แผ่นดินไทย โดยเริ่มต้นที่ในหัวใจของเรา แล้วก็มาชวนกัน และปลุกใจกันให้
๑. มีความเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น
๒. มีความเพียรสร้างสรรค์ โดยใช้สติปัญญา
๓. ร่วมแรงร่วมใจกันฟันฝ่า เดินหน้าต่อไป
ถ้าทำได้เพียง ๓ อย่างเท่านี้ ก็กู้ธรรมะได้ และกู้แผ่นดินไทยสำเร็จ”
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)