นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
น หิรญฺญสุวณฺเณน ปริกฺขียนฺติ อาสวาติ1
ณ บัดนี้จะได้แสดงพระธรรมเทศนาอนุโมทนาในการบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ คุณน้ำทอง คุณวิศาล และ น.ส. เอิบสิริ คุณวิศาล ผู้ได้ล่วงลับไป ในวาระอันสำคัญ ก่อนที่จะถึงวันพระราชทานเพลิงศพ
ณ โอกาสนี้ คณะท่านเจ้าภาพ ประกอบด้วยคุณโยมบุษยา คุณวิศาล เป็นประธาน แม้ว่าท่านจะมิอาจมาในที่ชุมนุมนี้ได้เพราะชราภาพ ก็มีคุณหมออรวรรณ คุณวิศาล เป็นผู้แทน พร้อมด้วยน้องๆ ทั้งน้องชายน้องหญิง เขยและสะใภ้ กับทั้งหลานๆ และผู้ที่เคารพนับถือมาร่วมกันบำเพ็ญกุศล เป็นการแสดงออกซึ่งน้ำใจที่ประกอบด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม
โดยความเป็นพุทธศาสนิกชน ในฐานะที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา ย่อมมีความรู้ตระหนักในหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แสดงถึงคติธรรมดาของสังขารว่า ชีวิตของเรานี้เป็นสิ่งที่เป็นไปตามหลักของพระไตรลักษณ์ คือมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นอนิจจัง และเป็นสิ่งที่คงทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดไปไม่ได้ เป็นทุกขัง ไม่มีตัวตนที่ยั่งยืนถาวร เป็นไปตามเหตุปัจจัย เรียกว่าเป็นอนัตตา
พุทธศาสนิกชนมีความรู้เข้าใจตระหนักในหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้แล้ว แม้มีการพลัดพรากจากไป มีความเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็ทำใจได้ ด้วยคำนึงถึงหลักความจริง โดยมีความเข้าใจอันประกอบด้วยสติปัญญา ดังที่กล่าวมา
ความจริงการบำเพ็ญกุศล เพื่อแสดงออกซึ่งญาติธรรม คือธรรมะที่มีต่อญาติ สำหรับคุณโยมทั้งสองท่านในโอกาสนี้ มีเหตุผลเกี่ยวเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะท่านผู้ล่วงลับไปนั้น เป็นญาติที่ใกล้ชิดกัน คือเป็นคุณอากับหลาน และทั้งสองท่านนั้นก็มีอายุยืนยาว
โดยเฉพาะคุณโยมน้ำทอง คุณวิศาล มีอายุถึง ๙๗ ปี เกือบจะถึง ๑๐๐ ปี ส่วนคุณโยมเอิบสิริ คุณวิศาล ก็มีอายุมากถึง ๘๐ ปี ๙ เดือน ตามประวัติ ทั้งสองท่านมีอะไรที่เหมือนๆ กันหลายอย่าง
เบื้องต้นก็คือว่า ทั้งสองท่านเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูง กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่ได้เล่าเรียนอย่างสูงสุด เท่าที่กุลสตรีจะพึงได้มีการศึกษาในยุคสมัยก่อนนั้น และทั้งสองท่านก็จบการศึกษาในด้านเป็นครู เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ได้รับราชการเป็นครูเช่นเดียวกัน
ต่อจากนั้น เมื่อรับราชการครูไประยะหนึ่งเป็นเวลาพอ สมควร ทั้งสองท่านก็ได้ลาออกจากราชการมาทำงานในด้านธุรกิจ โดยเฉพาะก็คือธุรกิจด้านที่ดิน และการค้าต่างๆ
ทั้งสองท่านนั้น ว่าโดยอุปนิสัยใจคอก็มีลักษณะที่คล้ายกัน คือเป็นผู้ประหยัด มีความขยันหมั่นเพียร เอาใจใส่ในกิจหน้าที่การงาน และมีนิสัยโอบอ้อมอารี โดยเฉพาะก็เป็นที่พึ่งของหมู่ญาติ
นอกจากจะเป็นที่อาศัยให้ความอุปถัมภ์เกื้อกูลแก่ญาติแล้ว ก็ช่วยเหลืออุปการะแก่คนที่ด้อยกว่าตน หรือตกทุกข์ได้ยาก พร้อมทั้งมีศรัทธาในพระรัตนตรัย ได้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอีกด้วย
แต่นอกจากข้อที่คล้ายกันแล้ว ก็มีข้อแตกต่างกันที่เป็นประการสำคัญ กล่าวคือ สำหรับคุณโยมน้ำทอง ชีวิตของท่านได้บุกฝ่าผ่านโลกธรรมมามากตั้งแต่เบื้องต้น นับว่าเป็นผู้สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยตนเอง ได้ผ่านความลำบากยากแค้น และตั้งตัวมาจนกระทั่งมีความสำเร็จ
ยกตัวอย่างเช่น เบื้องต้นก็มีชีวิตที่มีความสุข มีความพรั่งพร้อมในเรื่องทางวัตถุ ในเรื่องทางเศรษฐกิจ มีญาติพี่น้องพรั่งพร้อมดี จนกระทั่งอายุ ๑๕ ปี ก็เกิดปัญหาโลกธรรมที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือเหตุการณ์ร้ายอันไม่พึงปรารถนา ได้เข้ามาครอบงำท่วมทับ เนื่องจากเมื่อพี่ชายคนโตถึงแก่กรรมไป บิดาของท่านก็ได้เดินทางจากไปสู่ประเทศจีน
ท่านต้องอยู่ห่างไกลจากบิดาผู้บังเกิดเกล้า และพร้อมกันนั้น ฐานะทางบ้านก็ยากจนลง ทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวายในการประกอบอาชีพด้วยตนเอง จนกระทั่งได้สร้างเนื้อสร้างตัวมีทุนรอนขึ้นมา มีเงินทองมากขึ้น มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น
ครั้นมาถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเสื่อมลง ผู้คนก็เป็นอยู่ลำบาก สำหรับท่านเองก็ประสบปัญหามาก
ในระยะเวลานั้น มารดาของท่านก็ถึงแก่กรรม และในด้านเศรษฐกิจการค้า ร้านที่มีอยู่ ก็มีกิจการเสื่อมโทรม จนกระทั่งถูกศาลสั่งล้มละลาย อันนับว่าเป็นโลกธรรมแห่งความผันผวนที่เกิดขึ้นในชีวิต
อีกด้านหนึ่งคือ เรื่องยศ ฐานะ ตำแหน่ง ท่านได้รับราชการมีความเจริญก้าวหน้า ถึงกับได้เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดราชบุรี และต่อมาก็ได้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนการเรือน ที่ได้พัฒนามาเป็นวิทยาลัยครูสวนดุสิต และที่มาเป็นสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ในปัจจุบันนี้
ชีวิตของท่านนับว่ามีความเจริญรุ่งเรืองในราชการ แต่แล้วต่อมาท่านก็ลาออกจากราชการ เปลี่ยนเป็นชาวบ้านธรรมดา ต้องเดินทางไปในที่ต่างๆ เพื่อทำกิจการค้าขาย สร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ แม้กระนั้นท่านก็ประสบความสำเร็จ
เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ก็แสดงออกในทางของการช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์
ดังที่ปรากฏเป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ที่สำคัญๆ คือ การบริจาคอุปถัมภ์ช่วยโรงพยาบาลตำรวจสองวาระ รวมแล้วเป็นเงิน ๑๙ ล้าน ๖ แสนเศษ คือเกือบ ๒๐ ล้านบาท และได้ช่วยเหลือสหทัยมูลนิธิ ทั้งด้านทุนทรัพย์และด้านที่ดิน มอบที่ดินให้ปรับเป็นที่อาศัยตั้งสำนักงานของสหทัยมูลนิธินั้น และได้บริจาคเงินช่วยเหลือถึง ๑๐ ล้านบาท
สหทัยมูลนิธินี้ ก็เป็นมูลนิธิสำคัญที่ช่วยเหลือเด็กพิการเป็นต้น ให้การอุปถัมภ์แก่เด็กๆ ที่กำพร้า เพื่อจะได้เจริญเติบโตมีอนาคตสืบต่อไป
แล้วในวาระสุดท้าย ท่านยังได้แสดงความประสงค์ให้ทายาทบริจาคเงินจำนวนมากมายเพื่อจะช่วยเหลือในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์นานาชาติ2 ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการคงจะรับภาระในการดำเนินการสืบต่อไป
มองดูจากประวัติของท่านที่เป็นมานี้ จะเห็นถึงความผันผวนในชีวิตที่เป็นไปต่างๆ
แต่มองอีกแง่หนึ่ง คนที่ดูเฉพาะเรื่องปัจจุบัน ได้เห็นการบริจาคของท่านเป็นครั้งใหญ่ๆ ก็นึกว่าท่านต้องร่ำรวยมาก
ลึกลงไปเบื้องหลังความร่ำรวยเหล่านี้ ก็คือประวัติชีวิตของการสร้างเนื้อสร้างตัว
ชีวิตของท่านนั้น นับว่าเป็นตัวอย่างที่จะให้คติในการสร้างฐานะความเป็นอยู่ สร้างหลักฐาน การจัดการเกี่ยวกับเงินทองทรัพย์สิน พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างอีกด้วย ในด้านการช่วยเหลือสงเคราะห์ในหมู่ญาติ และการบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชาวโลก
คนที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวมาร่ำรวยนั้น บางทีเราไม่ได้มองเห็นความเป็นมา ก็มองกันเฉพาะในสภาพปัจจุบันว่า คนนั้นเขารวย คนนี้เขารวย ว่าเขาคงจะมีความสุขสบายเหลือเกิน อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความจริงแล้ว ท่านเหล่านั้นจำนวนมากทีเดียว ผ่านความทุกข์ยาก ความเหน็ดเหนื่อย และข้อสำคัญก็คือ การที่ต้องมีความขยันหมั่นเพียร และมีคุณธรรมต่างๆ
แท้จริงคุณธรรมและความขยันหมั่นเพียร เป็นต้น ที่ได้ดำเนินมาในชีวิตของท่านเหล่านั้น อันนั้นแหละเป็นสิ่งที่น่าศึกษา เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และพระศาสนาก็จะให้ความสำคัญตรงนั้น
สำหรับท่านที่มีทรัพย์สินเงินทอง ที่ได้สร้างเนื้อสร้างตัวสะสมมาด้วยดีแล้ว ยังใช้จ่ายให้เป็นประโยชน์เมื่ออายุมากขึ้น ก็เท่ากับว่าได้เป็นที่พึ่งพำนักของผู้คนมากมาย
พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบไว้ว่า เหมือนต้นไม้ใหญ่ ที่มีกิ่งก้านดอกใบพรั่งพร้อมบริบูรณ์ มีร่มเงามาก กิ่งก้านสาขาที่แผ่ขยายกว้างขวางนั้น ย่อมอำนวยประโยชน์ ก่อให้เกิดความร่มเย็น เป็นที่พึ่งแก่หมู่นกหมู่กา ตลอดจนผู้คนที่เดินทางผ่านมาได้เข้าอาศัยภายใต้ร่มไม้ มีความสุข
ผู้ที่มีชีวิตเจริญงอกงามเป็นผู้ใหญ่ ก็เป็นที่พึ่งพำนักของหมู่ญาติ และหมู่ชนทั้งหลาย ฉันนั้น
สำหรับคุณโยมน้ำทอง โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ และเป็นคุณอาของคุณโยมเอิบสิรินั้น ได้เป็นคติในทางที่กล่าวมานี้ โดยเฉพาะในแง่ที่ท่านได้บริจาคทรัพย์มากมาย จนทำให้คนหันมามองในด้านของเรื่องทรัพย์สินเงินทองนั้น
มีข้อที่ควรจะกล่าวตามหลักธรรมว่า ในทางพระศาสนานั้นเรื่องทรัพย์สินเงินทองท่านก็มองเห็นความสำคัญ ว่าเป็นปัจจัยที่จำเป็นในการที่จะดำรงอยู่ของชาวบ้าน
โดยเฉพาะคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนทั้งหลาย จำเป็นจะต้องมีทรัพย์สินเงินทอง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่ที่จะเลี้ยงชีวิตก็ตาม สิ่งอำนวยความสุขความสะดวกสบายก็ตาม ตลอดจนการที่จะรับผิดชอบต่อหมู่ชนที่แวดล้อม มีครอบครัว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ ต้องอาศัยทรัพย์สินเงินทอง ถ้าขาดทรัพย์สินเงินทองแล้ว ก็เป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทรัพย์สินเงินทองจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่พร้อมกันนั้น ทรัพย์สินเงินทองก็มีโทษเช่นเดียวกัน โทษของทรัพย์สินเงินทองมีหลายอย่างหลายประการ
ถ้าว่าตามหลักธรรมที่เป็นพื้นฐานก็คือ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เมื่อไม่เที่ยง ก็ทำให้คนเราต้องมีสภาพทางจิตใจอย่างหนึ่ง คือ ความห่วงความกังวล นอกจากความห่วงความกังวลแล้ว หลายคนก็จะมีสภาพจิตที่เลยไปกว่านั้น คือความหวงแหน ไม่ว่าจะเป็นห่วงก็ตาม หวงแหนก็ตาม ก็เป็นสภาพจิตที่เป็นความทุกข์ทั้งนั้น
นอกจากนั้น สำหรับหลายคน ทรัพย์สินเงินทองยังเป็นที่มาของการทะเลาะวิวาทแก่งแย่ง จะเห็นได้ว่า บางทีเป็นเหตุให้พี่น้องต้องแตกแยก ทะเลาะวิวาทกัน บางทีแม้แต่พ่อแม่กับลูก ก็ยังทะเลาะกัน
ยิ่งกว่านั้น บางคนมีทรัพย์สินขึ้นมาแล้ว ก็เกิดความหลงใหลมัวเมา ติดในทรัพย์ ในยศ ที่เนื่องมาจากทรัพย์นั้น ทำให้ชีวิตเสื่อมคุณค่าตกต่ำลงจากความดีงาม มัวหมอง ไม่เจริญงอกงามในทางคุณธรรม
บางคนก็อาศัยทรัพย์นั้นเป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนกันในโลก แม้แต่การแสวงหาทรัพย์นั้นเอง ก็นำมาซึ่งการเอารัดเอาเปรียบกัน
ความทุกข์ในโลกนี้ เกิดขึ้นมามากมายจากทรัพย์ เพราะฉะนั้น ทางพระศาสนา ท่านจึงให้ความสำคัญแก่เรื่องทรัพย์นี้มาก
สำหรับชาวบ้าน หรือคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน พระพุทธศาสนาแสดงวิธีปฏิบัติต่อทรัพย์ไว้ที่เป็นสำคัญ ๓ ด้านด้วยกัน คือ
การสร้างทรัพย์ ได้แก่การทำให้ทรัพย์เกิดมีขึ้นมา เป็นประการที่หนึ่ง
พอทรัพย์เกิดขึ้นมาแล้ว การที่จะรักษาทรัพย์นั้นไว้ให้มั่นคง ก็เป็นข้อสำคัญประการที่สอง
ต่อจากนั้น ข้อสำคัญประการที่สาม ก็คือการใช้จ่ายทรัพย์
แต่ยังมีหลักปฏิบัติต่อทรัพย์ที่เป็นข้อสำคัญอีกประการหนึ่งเป็นข้อพิเศษ
จึงรวมทั้งหมด มีสี่ประการด้วยกัน
โดยสรุป การสร้างทรัพย์ ก็คือการที่มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักจัด รู้จักดำเนินการ และต้องหาโดยทางสุจริตชอบธรรม
หมายความว่า การสร้างหรือหามาซึ่งทรัพย์สินเงินทองนั้น ถ้าเป็นไปโดยชอบธรรม โดยสุจริต เป็นไปด้วยความขยันหมั่นเพียร ก็เป็นการถูกต้องตามหลักพระศาสนา คือไม่ให้เป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่น มิใช่ได้มาโดยทุจริต นี้เป็นประการที่หนึ่ง
แต่ประการที่สองก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ในการรักษาทรัพย์นั้น คนที่รักษาทรัพย์จะต้องมีความมุ่งหมาย คือไม่ใช่แค่เก็บไว้ด้วยความหวงแหน ด้วยความเห็นแก่ตน โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่การรักษานั้นต้องมีความมุ่งหมาย
ความมุ่งหมายที่เป็นประโยชน์ในการรักษาทรัพย์ หรือการเก็บ การประหยัด การสะสมนั้น ประการแรกก็คือ เพื่อเป็นหลักประกันของชีวิต เช่นในคราวจำเป็น ซึ่งอาจจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ อาจจะตกจากงาน อาจจะเกิดอุบัติเหตุ หรืออาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม
อีกประการหนึ่ง การรักษาทรัพย์ เก็บสะสมทรัพย์นั้น ก็เพื่อใช้ในการทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ที่ใหญ่โตกว้างขวาง และแม้แต่การลงทุนในกิจการงาน
พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า ทรัพย์ที่ได้มาแล้ว ควรจัดสรรเป็น ๔ ส่วนด้วยกัน
ส่วนหนึ่งนั้นไว้ใช้สอย คือใช้ในการเลี้ยงตัว เลี้ยงพ่อแม่ เลี้ยงลูกหลาน เลี้ยงคนในครอบครัว เลี้ยงคนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบให้เป็นสุข ใช้ช่วยเหลือสงเคราะห์กัน และบำเพ็ญกุศลทำความดีงามต่างๆ
อีกสองส่วน ท่านสอนว่า ให้เก็บไว้สำหรับใช้ลงทุนทำกิจการงาน
ส่วนที่สี่ ซึ่งเป็นส่วนที่เหลืออีกส่วนหนึ่งนั้น ให้เก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น
อันนี้เป็นหลักในการรักษาทรัพย์ คือ รักษาเก็บไว้โดยมีความมุ่งหมาย ไม่ใช่รักษาไว้เพียงด้วยความหวงแหน แล้วก็ไม่ทำให้เป็นประโยชน์ เป็นทรัพย์ที่เก็บไว้เสียเปล่า
ต่อไปประการที่สาม คือการใช้จ่ายทรัพย์ดังได้กล่าวไปแล้ว การใช้จ่ายทรัพย์นี้เป็นเรื่องที่สำคัญ
ทรัพย์มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ ถ้ามีทรัพย์แล้วไม่ใช้ประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย
เพราะฉะนั้น ประการต้น ท่านจึงบอกว่า เมื่อทรัพย์มีแล้วต้องใช้เลี้ยงตัวให้เป็นสุข ต่อจากเลี้ยงตัวให้เป็นสุขแล้ว ก็เลี้ยงบุตร ภรรยา เลี้ยงคนในปกครองรับผิดชอบ เลี้ยงดูบิดามารดา เป็นต้น ให้มีความสุข แล้วก็ใช้ทำความดีงามต่างๆ บำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือสงเคราะห์กันในสังคมดังที่กล่าวมาแล้ว
อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติต่อทรัพย์โดยย่อ สามประการ
อย่างไรก็ตาม ยังมีประการที่สี่ ที่สำคัญ คือทางด้านจิตใจ ได้แก่ท่าทีของจิตใจที่เป็นอิสระ
เมื่อมีทรัพย์แล้ว ต้องมีด้วยปัญญา คือรู้เข้าใจคุณค่าประโยชน์ของมัน ที่จะทำให้ไม่ตกลงไปเป็นทาสของทรัพย์ พูดสั้นๆ ว่า ต้องเป็นนายของทรัพย์ ไม่ใช่เป็นทาสของทรัพย์
คนจำนวนมากมีทรัพย์แล้ว เป็นทาสของทรัพย์ ที่ว่าเป็นทาสของทรัพย์ก็คือ จิตใจนั้นถูกทรัพย์ครอบงำด้วยกิเลส
ประการที่หนึ่งคือ ความหวงแหน ความตระหนี่ และกิเลสต่อไปคือความห่วง ความกังวล ความทุกข์
ถ้ามีทุกข์เพราะทรัพย์ ไม่สามารถทำใจให้เป็นอิสระได้ ก็แสดงว่ามีความเป็นทาสของทรัพย์อย่างหนึ่ง
นอกเหนือจากนั้นก็คือ การที่ถูกอำนาจของทรัพย์เข้ามาครอบงำจิตใจ ทำให้ความโลภความหลงเกิดขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนทะเลาะวิวาทกันขึ้นในโลก
สำหรับผู้ที่วางจิตใจถูกต้อง จิตใจจะเป็นอิสระดังที่กล่าวว่า อยู่อย่างเป็นนายของทรัพย์ โดยรู้คุณ รู้โทษของทรัพย์ ทั้งแสวงหาทรัพย์ และใช้จ่ายทรัพย์อย่างมีปัญญารู้เท่าทัน และในการที่จะแสวงหา ใช้จ่าย และรักษาทรัพย์นั้น ก็ทำให้ทรัพย์เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงตามคุณค่าของมัน กับทั้งเมื่อมีทรัพย์ขึ้นมา ก็มีด้วยปัญญา ไม่มีความทุกข์เดือดร้อนมากเกินไปเพราะทรัพย์นั้น
ยิ่งกว่านั้น เมื่อใช้จ่ายทรัพย์ไปแล้ว เกิดความร่อยหรอพร่องลงไป ก็รู้เท่าทันความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่มีได้เกิดได้ แต่ก็หายได้หมดได้ แล้วก็ทำให้เกิดให้มีใหม่ได้อีก
เมื่อมี ก็ต้องระวังรักษาให้ดีที่สุด ด้วยความไม่ประมาท เมื่อพร่องไปหมดไป ก็ต้องรู้ตามเหตุปัจจัย และแก้ไขไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ ฉะนั้นก็ทำใจให้คลายทุกข์ และมีความสุขได้ทุกกรณี
ในทางพระศาสนา ท่านสอนย้ำเรื่องนี้ คือการที่ว่าบุคคล เมื่อได้ใช้จ่ายทรัพย์ตามคุณค่าที่เป็นวัตถุประสงค์ของทรัพย์แล้ว ถ้าทรัพย์นั้นตัวเองสามารถหาเพิ่มพูนได้มาอีก ก็มีความสุขสบายใจว่า เราแสวงหาทรัพย์มาได้ เราจะได้ใช้จ่ายทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีทรัพย์เพิ่มขึ้น เราก็มีความสุข มีความอิ่มใจ
ในทางตรงข้าม เรามีทรัพย์ขึ้นมาแล้ว และเราใช้จ่ายทรัพย์ไป แล้วมีเหตุให้ทรัพย์ร่อยหรอ หรือแม้กระทั่งหมดไป เราก็มีความสบายใจอีกว่า ทรัพย์นั้น เมื่อมี เมื่อหามาได้แล้ว ถึงมันจะหมด เราก็ได้ใช้มันให้เป็นประโยชน์แล้ว
อย่างนี้ ท่านเรียกว่ามีจิตใจที่เป็นอิสระ ใช้ทรัพย์ด้วยปัญญา เข้าหลักที่ว่า ใช้จ่ายทรัพย์ให้ถูกต้อง โดยรู้เข้าใจความหมายของทรัพย์
เรื่องการใช้จ่ายทรัพย์ให้ถูกต้อง จะโยงไปถึงเรื่องอำนาจด้วย
การดำเนินชีวิตอยู่ในโลก มักจะมีความหมายพันกันไป ระหว่างทรัพย์กับอำนาจ หรือว่าเรื่องของสมบัติทรัพย์สินเงินทอง กับเรื่องของยศศักดิ์ฐานะตำแหน่ง ทั้งสองอย่างนี้มักมาด้วยกัน
คนเราเมื่อมีทรัพย์ขึ้นมา ก็มักจะมีอำนาจพ่วงมาด้วย ในทางกลับกัน การมีฐานะ มีตำแหน่ง ยศศักดิ์ ก็เป็นทางมาของทรัพย์ เช่นเดียวกัน
คนจำนวนมากในโลก จะมองทรัพย์ในแง่ของปุถุชน คือเป็นเรื่องของการแสวงหามาเพื่อบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัวบ้าง หรือถ้าเป็นอำนาจ ก็เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ และจะทำให้เราสามารถทำการต่างๆ ได้ตามปรารถนา
ในทางพระศาสนา ท่านจึงสอนเน้นให้เราปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจ โดยมีความเข้าใจที่ถูกต้อง
ตัวอย่างสำคัญที่แสดงถึงความเข้าใจและใช้ทรัพย์อย่างถูกต้องตามความหมาย ก็คือ พระเจ้าอโศกมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นแบบอย่างของชาวพุทธ
พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น แน่นอนว่า ในฐานะที่เป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมมีพร้อมบริบูรณ์ทั้งโภคทรัพย์ และอำนาจความยิ่งใหญ่
พระเจ้าอโศกนั้น แต่เดิมก็ทรงมีทัศนะ มีความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของทรัพย์และอำนาจเช่นเดียวกับคนทั่วไปส่วนมาก คือ มองทรัพย์ว่าเป็นเครื่องบำรุงความสุข ทำให้มีความสะดวกสบายพรั่งพร้อม และมองอำนาจว่าเป็นเครื่องแสดงความยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือหรือเป็นทางมาของความสุขสำราญยิ่งขึ้นไป
ดังที่กษัตริย์เป็นอันมากในประวัติศาสตร์โลกพยายามแสวงหาความยิ่งใหญ่ เพื่อจะได้มีชื่อว่าเป็นกษัตริย์ผู้เดียวในชมพูทวีป หรือในแผ่นดินนั้นๆ ตลอดจนกระทั่งได้ชื่อว่า เป็นราชาธิราชที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก อันนี้เป็นความปรารถนาของผู้ที่มีอำนาจในประวัติศาสตร์ของชาวโลกทั่วไป
พระเจ้าอโศก ตอนแรกก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้ยกทัพไปรุกรานดินแดนแว่นแคว้นต่างๆ รบราฆ่าฟันทำสงคราม ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนแสน
แม้แต่พี่น้องของพระองค์เอง ที่เป็นเจ้าชายต่างๆ เมื่อจะขึ้นครองราชย์ พระเจ้าอโศกก็ได้สังหารเสียเป็นจำนวนร้อย อันนี้ก็เพื่อความยิ่งใหญ่ เพื่อเสวยอำนาจ
ความเป็นมาอย่างนี้ เราจะเห็นว่า ในประวัติศาสตร์โลกมีมากมาย พระเจ้าอโศกได้มีพฤติกรรมเช่นนี้มาแต่เดิม จึงได้ถูกขนานนามว่า “จัณฑาโศก” แปลว่า อโศกผู้ดุร้าย
ต่อมาพระเจ้าอโศกมหาราชได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา เมื่อมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ย่อมเรียนรู้ธรรม แล้วก็รู้เข้าใจหลักพระไตรลักษณ์ว่า สิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะที่เป็นวัตถุ รวมทั้งทรัพย์สินเงินทองและอำนาจนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง ก็ไม่มีสาระที่แท้จริงต่อชีวิต
เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงมองเห็นแล้วว่าทรัพย์และอำนาจไม่ใช่ความหมายและสาระที่แท้จริงของชีวิต พระเจ้าอโศกจะปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจอย่างไร พระองค์จะทรงทิ้ง สละ ไม่เอาพระทัยใส่กับทรัพย์และอำนาจนั้นหรือ หาได้เป็นเช่นนั้นไม่
ชาวพุทธที่ถูกต้อง ย่อมมองดูความหมายของทรัพย์และอำนาจด้วยสายตาใหม่ และปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจโดยธรรม
เพราะฉะนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงมองเห็นว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น ถ้าเราใช้โดยสนองกิเลสด้วยความเห็นแก่ตัว มันก็เป็นเพียงเครื่องบำรุงบำเรอตนเอง และเป็นเครื่องสนองความปรารถนา ความยิ่งใหญ่ของตน แล้วก็ก่อความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนร่วมโลก
แต่ถ้าเราเอาทรัพย์นั้นมาเป็นเครื่องมือ มาเป็นช่องทางในการทำความดี ในการสร้างสรรค์บำเพ็ญประโยชน์ ทรัพย์และอำนาจนั้นก็จะสามารถเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ประโยชน์สุขได้เป็นอันมาก
เพราะฉะนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องมือ หรือเป็นอุปกรณ์แห่งธรรม
“ธรรม” ก็คือ หลักแห่งการทำความดี และการบำเพ็ญคุณประโยชน์
ต่อจากนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงเลิกนโยบายที่เรียกว่า สังคามวิชัย คือ การเอาชนะด้วยสงคราม เปลี่ยนเป็น ธรรมวิชัย คือ การชนะด้วยธรรม
ธรรมวิชัย คือ การชนะด้วยธรรมนั้น ได้แก่ การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามและบำเพ็ญประโยชน์ ดังที่พระองค์ได้ทรงใช้ทรัพย์และอำนาจในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามไว้มากมาย
คนเรานั้น แม้จะเป็นคนที่มีความคิดดีๆ มีคุณธรรม มีความรู้ แต่ถ้าไม่มีทรัพย์ ไม่มีเงินทอง ไม่มียศ ไม่มีบริวาร ไม่มีอำนาจ ความคิดที่ดีๆ และความดีของเขานั้น ก็ก่อประโยชน์ได้น้อย เพราะจะทำอะไร ก็ทำได้จำกัดเพียงนิดหน่อย
แต่ถ้าคนดี หรือคนมีสติปัญญาดีนั้น เป็นคนมีทรัพย์สินเงินทอง มีอุปกรณ์เครื่องช่วยเหลือต่างๆ มีอำนาจ มีบริวาร ความคิดดีๆ สติปัญญาความสามารถของเขา ก็เกิดผลงอกเงยขยายกว้างขวาง เป็นประโยชน์แผ่ไพศาล
อันนี้คือคติที่จะต้องเลือกว่า เราจะใช้ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ของกิเลส หรือจะใช้ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ของธรรม
พระเจ้าอโศกมหาราช ตอนแรกได้ใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นอุปกรณ์ของกิเลส ก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นมากมาย
แต่เมื่อพระองค์เปลี่ยนมาใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นอุปกรณ์ของธรรมะ ทรัพย์และอำนาจนั้น ก็ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไพศาล จนพระเจ้าอโศกมหาราชได้กลายเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ที่ดีงาม เป็นมหาธรรมิกราช
ทั้งนี้ เพราะทรงใช้ทรัพย์สร้างโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลคนและโรงพยาบาลสัตว์ สร้างถนนหนทาง ทรงให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำนุบำรุงพระศาสนา สร้างวัดวาอารามที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาของประชาชน ซึ่งสมัยนั้นมีทั้งภิกษุและภิกษุณี จนกระทั่งตำรับตำราประวัติศาสตร์สมัยนี้บอกว่า ประเทศอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชมีอัตราส่วนคนรู้หนังสือสูงกว่ายุคปัจจุบัน โดยสถิติที่เขาได้ประมาณไว้
พระเจ้าอโศกมหาราชได้ให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง และได้ทำนุบำรุงพระศาสนา เป็นองค์ศาสนูปถัมภกในการจัดสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย และได้ส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ ๙ สาย
สายหนึ่งนั้น ได้มายังดินแดนสุวรรณภูมิ คือ พระโสณะและอุตระ ที่เรามีความภาคภูมิใจกันว่าเป็นจุดกำเนิดแห่งพระพุทธศาสนาในดินแดนประเทศไทยในปัจจุบันนี้
จึงเห็นได้ว่า ถ้าเราไม่ได้พระเจ้าอโศกมาปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจในความหมายที่ชอบธรรมแล้ว เราก็คงจะไม่ได้เห็นพระพุทธศาสนาในดินแดนของเรา หรือคงจะเป็นไปได้ยาก
เพราะฉะนั้น การใช้ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ของธรรมนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
พระเจ้าอโศกมหาราชถึงกับได้จารึกไว้ในหลักศิลาของพระองค์ตอนหนึ่งว่า ยศ คือความยิ่งใหญ่ของเรานั้น ถ้าไม่เป็นเครื่องช่วยให้ประชาชนประพฤติธรรมแล้ว ก็จะหาประโยชน์อันใดมิได้
นี่คือคติของพระเจ้าอโศกมหาราช
การใช้ทรัพย์และอำนาจให้เป็นอุปกรณ์ของธรรมนี้ เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่แสดงถึงวิธีปฏิบัติต่อทรัพย์ให้ถูกต้อง
แต่การที่พระเจ้าอโศกมหาราช และคนที่ดีงามทั้งหลายจะปฏิบัติต่อทรัพย์ที่เป็นวัตถุได้ถูกต้องนั้น ข้อสำคัญก็คือการมีคุณธรรมภายใน
คุณธรรมภายในที่จะทำให้เราประพฤติปฏิบัติต่อวัตถุทั้งหลายภายนอกถูกต้องนั้น ก็เป็นทรัพย์เหมือนกัน ทางพระท่านถือว่าเป็น ทรัพย์ภายใน คู่กับ ทรัพย์ภายนอก
ทรัพย์ภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทองต่างๆ ตลอดจนลาภสักการะนั้น ประการหนึ่ง
แต่ภายในใจของเรา ยังมีทรัพย์อีกประการหนึ่ง คือทรัพย์ภายใน ที่ทางพระเรียกว่า อริยทรัพย์ ทรัพย์ภายในนี้มีมากมายหลายประการ
ทรัพย์นั้นเป็นเครื่องทำให้คนเรามีความสมบูรณ์ในตัวเอง จิตใจจะสมบูรณ์ได้ มีความมั่นใจ ก็เพราะมีทรัพย์ภายใน
เรามีทรัพย์ภายนอก เราก็มีความมั่นใจภายนอก แต่ถ้าเรามีทรัพย์ภายในเรา ก็มีความมั่นใจภายใน
อะไรคือ ทรัพย์ภายใน ที่ว่ามีหลายอย่างหลายประการ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ คือ
หนึ่ง ศรัทธา คือ ความเชื่อ ความมั่นใจ การมีความมั่นใจในหลักการอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะคือหลักการแห่งความดีงาม ความเชื่อในการกระทำความดี ความเชื่อในกรรมดี ข้อนี้เป็นทรัพย์ที่สำคัญอย่างยิ่งประการที่หนึ่ง
ถ้าคนใดมีศรัทธาในกรรมดี ในการกระทำความดี คนนั้นก็มีความมั่นใจในตัวเอง จึงนับว่ามีทรัพย์ประการที่หนึ่ง ซึ่งจะเป็นทุนรอนในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม
พุทธศาสนิกชนมีศรัทธาในพระศาสนา มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย ก็มีทรัพย์ประจำใจ
คนที่มีทรัพย์คือศรัทธานี้ มีใจอบอุ่น มีสิ่งที่หล่อเลี้ยงใจ และทำให้ใจมีกำลังเข้มแข็ง ไม่ว้าเหว่ แม้อยู่คนเดียวก็ไม่เหงา เพราะว่ามีศรัทธาประจำใจ แต่คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ ไม่มีหลักการอะไรในจิตใจ ไม่มีเครื่องหล่อเลี้ยงใจ เวลาอยู่คนเดียวก็จะเหงา จะว้าเหว่ใจมาก เพราะฉะนั้น ศรัทธานี้จึงเป็นหลักสำคัญสำหรับเป็นทรัพย์ประจำใจไว้
นอกจากศรัทธา คือความเชื่อแล้ว ก็คือความประพฤติดีงาม ความเป็นคนสุจริต การที่ได้ดำรงตนอยู่ในทางที่ถูกต้อง ไม่ได้ประพฤติตนเสียหาย ความบริสุทธิ์สุจริตนี้ ก็ทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง เป็นทรัพย์ประการที่สอง ทางพระเรียกว่า ศีล
ต่อไปก็มี หิริโอตตัปปะ คือความละอายบาป และความเกรงกลัวต่อบาป ซึ่งจะเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันใจเรา เป็นหลักประกันให้เราไม่ทำความชั่ว ไม่ทำความเสียหาย ทำให้เรามีความประพฤติอยู่ในครรลองด้วยดี
ต่อจากนี้ก็ สุตะ คือ ความรู้ที่ได้เล่าเรียนค้นคว้าและฝึกฝนอบรมมา ได้แก่ ความรู้ในวิชาการต่างๆ ความรู้ในวิชาหาเลี้ยงชีพ ตลอดจนความรู้ในศิลปวิทยา และความเชี่ยวชาญในกิจการงานต่างๆ ซึ่งเป็นทรัพย์สำคัญที่จะช่วยให้เราหาทรัพย์ภายนอกได้ด้วย
อย่างน้อย คนที่มีวิชาความรู้ก็มีความมั่นใจในตัวเอง และมีความพร้อมในการที่จะดำเนินชีวิตให้เป็นอยู่ด้วยดี
ประการต่อไป จาคะ คือ การรู้จักเสียสละ ความมีน้ำใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์
คนที่ดำเนินชีวิตโดยทำชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์ ไม่อยู่ว่างเปล่า ก็เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง และมั่นใจอิ่มใจในความมีคุณค่าแห่งชีวิตของตน มีความสบายใจ อิ่มใจในตัวเองอยู่เสมอว่า ชีวิตของเรานี้มีค่า เป็นคุณประโยชน์แล้ว นับว่าเป็นทรัพย์ที่ทำให้เกิดความอุ่นใจอย่างสำคัญ
ประการต่อไป และข้อสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ ก็คือ ปัญญา ได้แก่ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ความสามารถที่จะจัดทำดำเนินการสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง ความรู้ที่จะแก้ปัญหา ความรู้เข้าใจเหตุผล เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง อันนี้เป็นทรัพย์ประจำตัวที่สำคัญที่สุด
ทรัพย์ทั้งหมดเหล่านี้ รวมแล้วก็มีสองอย่างด้วยกัน คือความรู้ อย่างหนึ่ง และ ความดี อย่างหนึ่ง ความรู้และความดีนั้นแหละเป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ภายในที่สำคัญ
คนเรามีทรัพย์ภายในแล้ว ก็จะทำให้ทรัพย์ภายนอกมีความหมาย ถ้าไม่มีทรัพย์ภายใน ไม่มีอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายนอกก็จะมีคุณค่าและความหมายอย่างแท้จริงไม่ได้
มีความแตกต่างหลายประการ ระหว่างทรัพย์ภายนอก และทรัพย์ภายใน
ทรัพย์ภายนอก ที่เป็นวัตถุหรือทรัพย์สินเงินทองนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ จำเป็นสำหรับชีวิต แต่มีข้อบกพร่องหลายประการดังกล่าวมาแล้ว
จะขอยกตัวอย่าง เช่นว่า ทรัพย์ภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทองนั้น เป็นสิ่งที่สูญหายได้ โจรลักได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังรักษา เป็นเหตุให้เกิดความห่วงใย เป็นต้น
แต่ทรัพย์ภายใน คือความรู้ และความดีนั้น ไม่สูญหาย ท่านบอกว่าโจรลักไม่ได้ ทรัพย์ภายในคือความรู้และความดีนั้น ไม่มีใครมาลักเอาไปได้ เราไม่ต้องกลัว ไม่ต้องรักษา มันไม่หายไปไหน มันอยู่กับตัวของเราเป็นของประจำ
ประการต่อไป ทรัพย์ภายนอก ที่เป็นวัตถุทรัพย์สินเงินทองนั้น ยิ่งใช้ยิ่งสิ้นเปลือง ยิ่งใช้ยิ่งหมดไป เราจะต้องหามาเพิ่ม ต้องหามาชดเชย
แต่ทรัพย์ภายใน คือความรู้ และความดีนั้น ตรงกันข้าม แทนที่จะใช้แล้วหมด หรือใช้แล้วสิ้นเปลือง กลับเป็นว่า ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่ม จะเห็นว่า ความรู้ ยิ่งใช้ ยิ่งเพิ่ม ยิ่งมีความชำนาญ ยิ่งมีความจัดเจน
ส่วนความดีก็เช่นกัน ยิ่งประพฤติ ความดีนั้นก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น เพราะฉะนั้น ทรัพย์ภายในยิ่งใช้ยิ่งเพิ่ม
ประการต่อไป ทรัพย์ภายนอกนั้น ไม่เป็นหลักประกันที่แท้จริงของชีวิต
คนที่มีทรัพย์ภายนอก แต่ไม่มีทรัพย์ภายใน ไม่มีความรู้ ไม่มีความดี ไม่มีความขยันหมั่นเพียร แม้แต่มีทรัพย์อยู่แล้ว เช่นบิดามารดาให้มา ก็ไม่สามารถรักษาทรัพย์นั้นไว้ได้ ส่วนทรัพย์ที่ยังไม่มีก็ไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้
รวมความว่า ทรัพย์ที่ยังไม่มี ก็ไม่สามารถทำให้เกิดมี ทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว ก็หมดสิ้นไป เพราะไม่รู้จักรักษา ไม่มีหนทาง ไม่มีความสามารถที่จะทำให้เกิดมีและรักษาไว้ได้
แต่คนที่มีทรัพย์ภายใน มีความรู้ มีความดีงาม มีความขยันหมั่นเพียร กลับมาช่วยสร้างช่วยรักษาทรัพย์ภายนอกด้วย ทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว ก็รักษาไว้ได้ ทรัพย์ที่ยังไม่มี ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นมีขึ้นได้
เพราะฉะนั้น ทรัพย์ภายในนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ท่านจึงย้ำในเรื่องทรัพย์ภายในไว้ว่า จะต้องมีเป็นคู่กันกับทรัพย์ภายนอก
ประการต่อไป ก็คือ ผลทางจิตใจ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ทรัพย์ภายนอกนั้น เป็นไปด้วยความห่วง ความหวงแหน อาจจะทำให้เกิดความมัวเมา จิตใจขุ่นมัว เศร้าหมอง ตลอดจนกระทั่งว่าในทางสังคมทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท บาดหมาง ความแตกสามัคคีแย่งชิงกัน
แต่ทรัพย์ภายในนั้น เราไม่ต้องห่วง มันอยู่ข้างในของเราเอง กลับออกมาทำให้คนช่วยเหลือ อยู่ร่วมกันด้วยดี และมีแล้ว ก็ทำให้จิตใจผ่องใส
ที่สำคัญก็คือว่า ทรัพย์ภายนอกไม่สามารถทำให้คนเป็นคนดี หรือเป็นคนประเสริฐ ไม่สามารถทำคนให้หมดทุกข์ หมดกิเลสได้
ดังบาลีภาษิต ที่ยกขึ้นเป็นบทตั้ง ในเบื้องต้นแห่งพระธรรมเทศนานี้ว่า
แต่ทรัพย์ภายในนั้น ทำให้คนเป็นคนดี ทำให้คนเป็นคนประเสริฐ ทำให้คนที่มีทุกข์ ก็หมดทุกข์ ทำให้คนที่มีกิเลส ก็หมดกิเลส แม้กระทั่งบรรลุพระนิพพานเป็นพระอรหันต์ก็ได้
เพราะฉะนั้น อริยทรัพย์นี้จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และในทางพระพุทธศาสนา ท่านจึงเน้นความสำคัญของทรัพย์ภายใน ดังได้กล่าวมานี้
ถ้าคนเราปฏิบัติถูกต้อง ก็จะทำทรัพย์ให้เกิดขึ้นทั้งสองประการ คือทั้งทรัพย์ภายนอก และทรัพย์ภายใน และทรัพย์ทั้งภายนอกและภายในนี้ ก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
คนที่มีทรัพย์ภายใน คือ ความรู้ และความดี ก็สร้างทรัพย์ภายนอกให้เกิดขึ้น
คนที่มีทรัพย์ภายนอก เมื่อมีปัญญาและคุณธรรม คือมีความรู้และความดี ที่ทำให้รู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ได้ถูกต้อง ก็อาศัยทรัพย์ภายนอกนั้น สร้างอริยทรัพย์ คือทรัพย์ภายในขึ้นอีก เช่นใช้ทรัพย์บำเพ็ญความเสียสละ ทำให้เกิดประโยชน์ สร้างสรรค์ทำความดี อาศัยทรัพย์นั้นเป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการสร้างความดียิ่งๆ ขึ้นไป ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เกิดมีอริยทรัพย์ขึ้นมาเป็นคู่กัน
เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญทั้งสองอย่าง คือทั้งทรัพย์ภายนอก และทรัพย์ภายใน แต่ท่านเน้นความสำคัญของทรัพย์ภายใน คืออริยทรัพย์
คนเรานี้มีชีวิตที่เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ทรัพย์ภายนอกเป็นวัตถุ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายไป เป็นของกลางๆ จะทำให้เกิดคุณก็ได้ เกิดโทษก็ได้
เพราะฉะนั้น จึงจะต้องปฏิบัติต่อทรัพย์ให้ถูกต้อง คือทำให้เกิดผลในทางที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่า แต่การที่จะทำให้สำเร็จผลได้อย่างนี้ ก็คือการที่จะต้องมีทรัพย์ภายในขึ้นมาเป็นฐาน
เมื่อเรามีทรัพย์ภายใน คือ มีศรัทธา มีศีล มีหิริ มี โอตตัปปะ มีความรู้ มีความเสียสละมีน้ำใจ และมีปัญญาแล้ว ก็สามารถจะปฏิบัติต่อทรัพย์ภายนอกได้อย่างถูกต้อง และการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องนี้ ก็จะทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่ชีวิตทั้งตนเองและผู้อื่น คือทั้งส่วนบุคคลและแก่สังคม จนกระทั่งให้คุณค่าที่สูงสุด คือการเข้าถึงสิ่งที่ทางพระเรียกว่าโลกุตรธรรม
คนที่อยู่ในโลกนั้น เป็นธรรมดาว่า ถึงแม้มีทรัพย์แล้ว ก็จะต้องตกอยู่ในกระแสความผันผวนปรวนแปรของสิ่งทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ดังชีวิตของคุณโยมผู้ล่วงลับที่ได้เล่ามาเป็นตัวอย่าง
นั่นก็คือ การที่แสวงหาสร้างสมทรัพย์ขึ้นมาแล้ว ต่อมาทรัพย์นั้นก็อาจจะเสื่อมลงไป มีจำนวนลดน้อยลง แต่ถ้าเรามีอริยทรัพย์ เช่นมีความขยันหมั่นเพียร และมีความรู้ความสามารถ ก็ไม่เป็นไร เราก็สามารถจะรื้อฟื้นฐานะ สร้างสรรค์ทรัพย์ภายนอกขึ้นใหม่อีกได้
นอกจากนั้น ในขณะที่มีความผันผวนปรวนแปร เกิดมีความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ที่เรียกว่า โลกธรรม คนที่มีทรัพย์ภายในเป็นหลักประกัน ก็จะสามารถประคับประคองตนให้ผ่านโลกธรรมเหล่านั้น หรือผ่านพ้นความผันผวนปรวนแปรไปได้ด้วยจิตใจที่ดีงาม จนกระทั่งว่าเมื่อถึงโลกุตรธรรม ก็ไม่ต้องกลัวโลกธรรมใดๆ เลย
โลกธรรม คือ สิ่งที่มีประจำโลก ซึ่งเข้ามาผจญกับคนทุกคน มี ๘ ประการ กล่าวคือ
มีลาภ เสื่อมลาภ หรือ ได้ กับ เสีย
มียศ เสื่อมยศ
นินทา สรรเสริญ
พบสุข เจอทุกข์
สิ่งเหล่านี้ ท่านเรียกว่าโลกธรรม ซึ่งมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่แน่นอน
คนเรา เมื่อประสบโลกธรรมฝ่ายดี ที่น่าปรารถนา คือได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้ความสุข ก็มักจะฟู หรือพอง โดยจะมีความร่าเริง ลิงโลด ดีใจ แม้กระทั่งเผยอหยิ่ง
แต่เวลาประสบโลกธรรมฝ่ายร้าย ที่เป็นการสูญเสีย คือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และประสบทุกข์ ก็จะมีอาการที่ทางพระเรียกว่าแฟบ หรือยุบ คือหดหู่ ท้อแท้ ถดถอย เศร้าโศกเสียใจ มีความขุ่นมัว พูดให้เป็นภาพว่า แฟบฟุบ และยุบเหี่ยว
สภาพเช่นนี้ เป็นข้อพิสูจน์สภาพจิตใจของคนเรา ถ้าได้แค่ฟูฟุบยุบพองตามโลกธรรมอย่างที่ว่ามานี้ ก็เป็นเพียงปุถุชนที่ยังอ่อนปัญญา ไม่ใช่เป็นอารยชน และการที่เรามีทรัพย์ภายนอกนั้น จะไม่ช่วย ถ้าเราไม่พัฒนาให้เกิดทรัพย์ภายในขึ้นมานำใจ
ส่วนคนที่มีทรัพย์ภายใน เมื่อมาเผชิญกับโลกธรรม เจอความผันผวนปรวนแปรเข้า ก็จะวางจิตวางใจของตนได้ถูกต้อง ประคับประคองชีวิตให้ผ่านพ้นความผันผวนไปด้วยดี
นอกจากนั้น ยังสามารถได้ประโยชน์จากโลกธรรมเหล่านี้ด้วย ได้ประโยชน์อย่างไร
คนที่มีทรัพย์ภายใน มีความรู้ มีความดีงาม วางจิตใจถูกต้องแล้ว จะได้ประโยชน์ ทั้งจากโลกธรรมฝ่ายร้าย และโลกธรรมฝ่ายดี
โลกธรรมฝ่ายเสื่อม ที่เป็นความสูญเสียอย่างที่กล่าวแล้ว คือความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และความทุกข์นั้น คนทั่วไป เมื่อประสบแล้ว ย่อมมีความเศร้าโศกเสียใจ อันเป็นธรรมดาของปุถุชน
แต่คนที่เรียนรู้ธรรมดีแล้ว จะพัฒนาจิตใจของตนเองให้ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง และกลับได้ประโยชน์
ได้ประโยชน์อย่างไร ก็คือ มองว่า การสูญเสีย หรือเคราะห์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้น เป็นบทพิสูจน์ เป็นบททดสอบความเข้มแข็งของเรา และเป็นเครื่องฝึกฝนพัฒนาตัวของเราด้วย
คนเราที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ย่อมต้องเผชิญทั้งปัญหา และผลสมปรารถนา ที่เป็นความดีงาม ความรุ่งเรือง และความสำเร็จต่างๆ
เมื่อประสบความสำเร็จนั้น ไม่เป็นไร ก็ดีใจ แต่เมื่อประสบปัญหาอุปสรรค ถ้าเราเสียใจ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร และยังเป็นการทำร้ายตัวเราเองอีกด้วย
อารยชนรู้ตระหนักว่า คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต ก็คือคนที่สามารถแก้ปัญหาได้ และพัฒนาตนเองด้วยการใช้สติปัญญาความสามารถในการแก้ปัญหา
เมื่อเคราะห์เกิดขึ้น เมื่อปัญหาเกิดขึ้น จึงเป็นบททดสอบตัวเอง ทดสอบความสามารถ และเป็นดังเวทีที่ฝึกฝนตนให้พัฒนา
คนที่มีสติปัญญา มีธรรม ก็ไม่ท้อถอย เมื่อเผชิญความทุกข์ เกิดความสูญเสียขึ้นมา ก็ถือเป็นบททดสอบความเข้มแข็งมั่นคงและฝึกที่จะใช้ความสามารถพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เท่ากับเป็นโอกาส
ทั้งนี้เพราะคนเรานั้น ถ้าไม่มีโอกาสได้ผ่านอุปสรรคและการทดสอบหรือปัญหา ก็จะไม่มีความเข้มแข็ง สติปัญญาความสามารถ เมื่อไม่ได้ใช้ ก็จะไม่ได้พัฒนา
แต่เมื่อพบอุปสรรค พบปัญหาแล้ว ก็สามารถพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง เพราะฉะนั้น อุปสรรคและปัญหา ตลอดจนความทุกข์ต่างๆ นี้ จึงเป็นโอกาส เท่ากับว่าเป็นโชค คือเป็นโอกาสที่เราจะได้พัฒนาความสามารถของตนเอง
อย่างน้อยก็ได้ทดสอบตัวเอง และถ้าเราผ่านไปได้ ชีวิตของเราก็จะยิ่งเจริญงอกงาม
ทีนี้ ในทางที่ตรงข้าม เมื่อประสบโลกธรรมที่เป็นฝ่ายดีงาม ที่น่าปรารถนา คนที่ไม่ได้พัฒนาตัวเอง ไม่รู้ธรรม ก็หลงใหลไปตามสิ่งเหล่านั้น มัวเมา
บางที มัวแต่ลุ่มหลงมัวเมาในการได้ และในความเจริญงอกงามเหล่านั้น สิ่งที่น่าปรารถนาเหล่านั้น สิ่งที่เป็นความเจริญรุ่งเรืองนั้น กลับกลายเป็นโทษต่อตัวเอง เพราะความหลงใหลมัวเมานั้น ทำให้ชีวิตตกต่ำลง หรือกลับใช้ทรัพย์ ยศ อำนาจในการเบียดเบียนข่มขู่ ตลอดจนดูถูกดูแคลนผู้อื่น เป็นต้น
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วก็ผ่านไป เมื่อความรุ่งเรืองเจริญงอกงามผ่านไปแล้ว ชีวิตของตนก็จะไม่มีสิ่งที่จะมาช่วยพยุงไว้ ก็จะมีความตกต่ำมาก เมื่อเสียแล้ว ก็สูญสิ้นทั้งหมด
ส่วนคนที่รู้ธรรมแล้ว มีทรัพย์ภายใน เมื่อพบกับความได้ ความเจริญงอกงาม ความรุ่งเรือง ความสำเร็จ ก็จะถือเป็นโอกาสว่า ตนเองได้ช่องทางในการที่จะสร้างสรรค์ความดียิ่งๆ ขึ้นไป เรามีทรัพย์ ก็ใช้ทรัพย์เพื่อทำความดียิ่งขึ้นไป เรามีอำนาจก็ใช้เป็นช่องทางในการทำความดี สร้างไมตรี สร้างประโยชน์ไว้แก่ผู้คนทั้งหลาย
แม้ในกาลข้างหน้า ถ้ามีเหตุเป็นไป ตนเองตกต่ำ ก็ไม่เป็นไร เพราะได้ทำความดีไว้แล้ว ความเจริญที่เกิดขึ้น เราได้ใช้ประโยชน์ไปแล้ว และเหลือทิ้งความดีและประโยชน์นั้นไว้ นอกจากนั้นก็มักให้มีคนที่จะมาช่วยเหลือเกื้อกูล
เป็นอันว่า ไม่ว่าโลกธรรมฝ่ายดีหรือฝ่ายร้ายก็ตาม ถ้าเกิดแก่คนที่ไม่รู้ธรรมแล้ว เป็นโทษได้ทั้งสิ้น
แต่โลกธรรมที่เป็นความผันผวนในชีวิตเดียวกันนั้น ไม่ว่าดีหรือว่าร้าย ถ้าเกิดแก่ผู้ที่มีปัญญา เป็นคนมีธรรมแล้ว ก็กลายเป็นดีทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนา ท่านจึงไม่กลัวความทุกข์ ทุกข์สุขเกิดขึ้น ถ้าปฏิบัติต่อมันให้ถูก เรามีแต่ได้อย่างเดียว
พระภิกษุและภิกษุณีในพระพุทธศาสนา บรรลุธรรมเพราะความทุกข์นั้น มีมากมาย คนเรา ถ้ารู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ความทุกข์อาจจะทำให้เราถึงกับบรรลุพระนิพพานก็ได้
เพราะฉะนั้น จะได้หรือจะเสีย จึงอยู่ที่ว่าเราปฏิบัติได้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าจะปฏิบัติได้ถูกต้อง ก็เพราะเหตุที่มีทรัพย์ภายใน
คนที่มีทรัพย์ภายในดังที่กล่าวมา คือมีธรรมแล้ว จัดว่าเป็นอารยชน จะปฏิบัติต่อทรัพย์ภายนอกได้ถูกต้องด้วย การปฏิบัติต่อโลกธรรมถูกต้อง ท่านถือว่าเป็นมงคลอันสูงสุด เป็นชัยชนะอันสูงสุด ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า
ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ
อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
แปลความว่า: ผู้ใดถูกโลกธรรมกระทบแล้ว มีจิตใจไม่หวั่นไหว ไร้ธุลีมลทิน มีความผ่องใสอยู่ได้ เป็นจิตเกษมปลอดโปร่ง นั่นคือมงคลอันสูงสุด เป็นชัยชนะอันสูงสุด
คนเราอยู่ในโลกนั้น หลายคนอาจจะประสบความสำเร็จ มีชัยชนะทุกอย่างทุกประการ แต่ในที่สุดมาแพ้อะไร ก็แพ้อารมณ์ในใจของตนเอง
แม้จะเป็นราชา เป็นจักรพรรดิ เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ หรือเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี มีทรัพย์มหาศาล ชนะมาทั่ว ประสบความสำเร็จมาทั่ว แต่มาแพ้อารมณ์ในใจของตัวเอง ไม่รู้จะเอาชนะอย่างไร เพราะฉะนั้น ชัยชนะในใจของเรานี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเป็นความสำเร็จ ซึ่งจะทำให้มีความสุขได้อย่างแท้จริง
ทำอย่างไรเราจึงจะมีชัยชนะที่แท้จริง คือชนะทั้งภายในและภายนอก ชัยชนะที่แท้ ที่จะไม่ก่อให้เกิดเวรภัย ไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียน ก็คือชัยชนะภายใน ด้วยการชนะอารมณ์ในใจของตัวเอง หรือชนะใจของตัวเอง ทำจิตใจให้ไม่หวั่นไหวได้
ลองพิสูจน์ตนเองอยู่เสมอ ด้วยอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละ
เมื่อมันเข้ามาแล้ว เราถูกมันกระทบ ถ้าใจเราไม่หวั่นไหว เรารู้เข้าใจเท่าทันมันแล้ว รักษาใจของเราให้ผ่องใสเบิกบานสดชื่นได้เสมอ อันนี้คือชัยชนะที่สำคัญ เป็นชัยชนะอันสูงสุด
พุทธศาสนิกชนรู้หลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดังกล่าวมานี้แล้ว พึงพยายามสร้างทรัพย์ภายในให้เกิดขึ้น
เมื่อตนเองประสบความสำเร็จในการสร้างทรัพย์ ยศ ตำแหน่งฐานะภายนอกแล้ว ก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ไม่ลุ่มหลงมัวเมา แต่ใช้ทรัพย์ภายนอกนั้นเป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการที่จะพัฒนาสร้างสรรค์ทรัพย์ภายใน ให้เกิดคุณธรรม ความดี และปัญญาความรู้ขึ้นมา
เมื่อนั้น ก็จะมีทรัพย์สมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ จะมีความสำเร็จทั้งภายนอกและภายใน มีชัยชนะอันสูงสุด ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา
วันนี้ ท่านสาธุชนทั้งหลาย มีโยมคณะท่านเจ้าภาพ เป็นต้น เป็นประธาน ได้มาน้อมรำลึกถึงท่านผู้ล่วงลับ ผู้มีพระคุณและเป็นที่เคารพนับถือ คือคุณโยมน้ำทอง และคุณโยมเอิบสิริ คุณวิศาล ว่าท่านจากเราไปแล้ว
ชีวิตของท่านนั้น มีอะไรให้เป็นแบบอย่างหลายประการ เพราะว่าท่านมีอายุอยู่ยืนยาวนานมาก และชีวิตของท่านก็ได้ผ่านมา ทั้งโลกธรรมฝ่ายร้าย และฝ่ายดี
การที่ท่านได้สามารถเอาชนะลุล่วงโลกธรรมฝ่ายร้ายมาแล้ว ประคับประคองตนจนกระทั่งสร้างฐานะให้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้ และนอกจากนั้น เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ยังใช้จ่ายทรัพย์ในการบำเพ็ญประโยชน์ดังกล่าวมา ก็ต้องนับว่า ท่านมีทั้งทรัพย์ภายนอก ทั้งทรัพย์ภายใน
เพราะฉะนั้น อย่างน้อยท่านก็เป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันสอนให้สร้างสรรค์ทรัพย์ ทั้งภายนอกและภายใน ทั้งทรัพย์ที่เป็นวัตถุและทั้งอริยทรัพย์ให้เกิดมีขึ้น แล้วชีวิตก็จะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป
บัดนี้ อาตมภาพขออนุโมทนาในบุญกุศล ทั้งฝ่ายของท่านเจ้าภาพ และโยมผู้ล่วงลับไปแล้ว
ในฝ่ายของท่านผู้ล่วงลับ ก็ขออนุโมทนาในกุศลความดีงามต่างๆ ที่ท่านได้บำเพ็ญไว้ โดยเฉพาะคือการที่ท่านได้สละทรัพย์บำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่สาธารณะ อันได้แก่เรื่องของโรงพยาบาล เรื่องการศึกษา และเรื่องของกิจการสังคมสงเคราะห์ ดังได้กล่าวแล้ว
พร้อมนี้ ขออนุโมทนาต่อท่านผู้ยังมีชีวิตอยู่ ที่มีความกตัญญูกตเวที ประกอบด้วยญาติธรรม มาน้อมรำลึกถึงท่านผู้มีพระคุณ ท่านผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว และได้ขวนขวายในการที่จะบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่ท่าน
เมื่อได้ทำหน้าที่ของตนเช่นนี้แล้ว ก็พึงมีความสบายใจว่า กิจที่พึงทำ เราได้ทำแล้ว
เมื่อสบายใจเช่นนี้ ก็จะทำให้จิตใจปลอดโปร่ง ผ่องใส มีความสงบได้ และเมื่อได้ทำบุญกุศลแล้ว จิตใจก็มีความชื่นบาน จิตใจที่ชื่นบานผ่องใส มีความอิ่มใจในบุญ ในความดีที่บำเพ็ญในการทำสิ่งที่ถูกต้องนี้ ก็เป็นทุนส่วนที่จะน้อมอุทิศให้แก่ท่านผู้ล่วงลับ
เพราะฉะนั้น ในโอกาสนี้ อาตมภาพขอเชิญชวนคุณโยมเจ้าภาพ พร้อมทั้งญาติมิตรทั้งหลาย ได้น้อมใจอุทิศส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญมา ให้แก่ คุณโยมน้ำทอง และคุณโยมเอิบสิริ คุณวิศาล ขอให้ท่าน เมื่อได้ล่วงรู้ถึงการบำเพ็ญกุศลของลูกหลานและน้อง เป็นต้นแล้ว จงได้อนุโมทนาให้สำเร็จเป็นวิปากสมบัติในภพนั้นๆ สืบต่อไป และขอให้ท่านเจ้าภาพทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกัน
วิสัชนาพระธรรมเทศนา พอสมควรแก่เวลา ยุติลงแต่เพียงนี้ เอวัง ก็มี ด้วยประการฉะนี้
คุณอุไรลักษณ์ มหาคุณ มีจิตศรัทธา ได้จัดส่งบทคัดลอกเนื้อความแห่งพระธรรมเทศนา ที่อาตมภาพแสดงในวันก่อนงานพระราชทานเพลิงศพ คุณน้ำทอง และ น.ส. เอิบสิริ คุณวิศาล เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๘ ซึ่งคุณอุไรลักษณ์ ได้คัดจากแถบบันทึกเสียงเอง ไปยังอาตมภาพนานแล้ว และแจ้งความประสงค์ขอพิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน โดยแสดงกุศลฉันทะว่า ถ้าเสร็จทันแจกในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๓๙ ก็จะเป็นการดี
บัดนี้ อาตมภาพได้ตรวจชำระบทพระธรรมเทศนาดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และตั้งชื่อเรื่องว่า “ร่ำรวย ยิ่งใหญ่ เลื่อนลอยหรือเพื่ออะไร” นับว่าได้จังหวะที่จะพิมพ์เป็นหนังสือแจกทันขึ้นปีใหม่ตามความประสงค์ของคุณอุไรลักษณ์ มหาคุณ
ในเรื่องจากพระธรรมเทศนานี้ แม้ว่าจะมีส่วนที่เป็นประวัติบุคคล คือ ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วอยู่ด้วยหลายหน้าในตอนต้น ก็เป็นประวัติที่สอดคล้องกับเนื้อความในเรื่อง และเป็นประวัติที่น่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องราวของผู้สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยความเพียรพยายาม ซึ่งแม้จะประสบอุปสรรคที่รุนแรงในชีวิต ก็นำตัวผ่านพ้นมาได้ด้วยดี อีกทั้งเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ก็ยังได้ใช้ทรัพย์นั้นบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม เป็นเรื่องที่น่าศึกษา และเป็นตัวอย่างที่ควรนำมาเป็นคติ อาตมภาพจึงขออนุโมทนากุศลเจตนาของคุณอุไรลักษณ์ มหาคุณ ที่แสดงความปรารถนาดีต่อมหาชน ด้วยการเผยแพร่ธรรม
ขออนุโมทนาคุณหมออรวรรณ คุณวิศาล ที่เป็นเจ้าภาพอุปถัมภ์การจัดพิมพ์หนังสือนี้ ซึ่งทำให้การบำเพ็ญธรรมทานสำเร็จผลเป็นประโยชน์แก่ประชาชนกว้างขวางออกไป
ขอกุศลจริยาที่ท่านผู้ศรัทธาดังกล่าวนามมานี้ ได้บำเพ็ญแล้ว จงเป็นปัจจัยอำนวยจตุรพิธพรแก่ท่านเองและญาติมิตรทั่วไป พร้อมทั้งเป็นปัจจัยแห่งความเจริญมั่นคงแห่งพระบวรพุทธศาสนา และในโอกาสมงคลขึ้นปีใหม่ ๒๕๓๙ นี้ ขอคุณพระรัตนตรัย อภิบาลรักษาสาธุชนผู้อ่านทุกท่าน จงเจริญด้วยสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล ประสบสุขเกษมศานติ์ ทั่วกัน
พระธรรมปิฎก
๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๘