ทีนี้ พอเลยจากเรื่องของวัดก็ขยายออกไปถึงเรื่องของพระศาสนา จะเห็นได้ว่า เวลานี้ภัยอันตรายของพระศาสนาเกิดขึ้นมาก อย่างเรื่องที่เล่าเมื่อกี้นี้ ก็เป็นภัยอันตรายอย่างหนึ่งของพระศาสนา เรื่องคนปลอมเป็นพระ ตลอดจนคนแต่งตัวเป็นชี เดี๋ยวนี้คงจะมาก แล้วก็มีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งถ้าโยมแยกไม่ถูก ก็จะทำให้เอาตัวบุคคลนั้นเป็นตัวพระศาสนา แล้วก็ทำให้มีความรู้สึกที่ไม่ดี อาจถึงกับเสื่อมศรัทธา ถ้าแยกคนกับแยกพระศาสนาออกจากกันไม่ได้ ก็ทำให้เสื่อมความเลื่อมใสต่อพระศาสนาไปด้วย
อย่างเวลานี้ ก็จะมีพวกที่แต่งตัวเป็นพระเข้ามาเรี่ยไรในกรุงเทพฯ จำนวนมาก เพราะถึงฤดูแล้งในหลายปีมานี้ ชาวชนบทเข้ามาหารายได้ในกรุงเทพฯ เป็นประจำทุกปี
ในบางจังหวัดมีหมู่บ้านพระปลอม ซึ่งโยมบางท่านก็คงเคยได้ยิน โดยเฉพาะที่จังหวัดชัยภูมินี่มีข่าวชัดเจนมาหลายปีแล้ว บางหมู่บ้านคนทั้งหมู่บ้านเป็นพระปลอม ชีปลอม เขาอยู่กันในหมู่บ้านก็เป็นชาวบ้านนี่แหละ
แต่ถึงฤดูแล้ง เขาโกนผมศีรษะโล้น แล้วก็มีจีวรตากไว้ตามระเบียงบ้าน ตัวเองนุ่งกางเกงใส่เสื้อ พอถึงเวลาเหมาะในหน้าแล้งนั้น ไม่มีทางทำมาหากิน ก็พากันเข้ากรุงเทพฯ แล้วก็ไปอยู่รวมกันที่แหล่งหนึ่ง ถึงเวลาเช้าก็นั่งรถปิคอัพออกไปจ่ายตัวตามจุดต่างๆ แล้วก็ออกไปเดินบิณฑบาตพร้อมทั้งเรี่ยไรไปด้วย พฤติการณ์นี้มีมาหลายปี หนังสือพิมพ์ก็เอามาเปิดเผย แต่นานๆ เข้า โยมก็ลืมไป
สภาพอย่างนี้ ก็คือการที่วัดและพระศาสนาของเรากลายเป็นที่รับระบายทุกข์และระบายปัญหาของสังคม แทนที่จะเอาพระพุทธศาสนาไปบรรเทาดับทุกข์ของสังคม สังคมกลับเอาพระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์ของตน อะไรยุ่งยาก อะไรเป็นปัญหา ของทิ้ง ของเสีย ตัวเองแก้ไขไม่ได้ จัดการไม่ไหว ก็เอาไปเท เอาไปทิ้ง ปล่อยเข้าไปในพระศาสนา ให้ชาวบ้านที่ยากจนมาเอาพระพุทธศาสนาเป็นที่หาเลี้ยงชีพ ช่วยชีวิตของตัวเขา แต่ถ้าต้องช่วยชาวบ้านกันแบบนี้ พระศาสนาก็แย่ มีแต่จะทรุดจะเสื่อมและหมดแรงลงไป แล้วก็จะไม่มีกำลังที่จะช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมตามหน้าที่ที่ถูกต้องของตน
สภาพที่ชาวบ้าน คนยากไร้ คนด้อยโอกาส คนด้อยการศึกษา คนมีปัญหาต่างๆ และคนหมดทางไป มาอาศัยวัดและพระศาสนาเป็นที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ และแสวงหาหนทางอยู่รอดในสังคมนี้ ยังมีอีกมาก ที่พูดมานี้เป็นเพียงตัวอย่าง บางอย่างมีแต่โทษภัย บางอย่างถ้าเรารู้ตระหนักปัญหา และช่วยกันจัดให้ดี ก็กลายเป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้าไม่รับรู้ปัญหา และปล่อยปละละเลยอยู่ในความประมาท ก็มีแต่จะนำความเสื่อมความพินาศมาให้แก่วัดและพระศาสนา และในที่สุดสังคมไทยทั้งหมดนั่นแหละ ก็จะต้องประสบวิบากแห่งกรรมของตัว
ปีนี้จะแล้งมากขึ้น เมื่อแล้งมากขึ้น ปัญหาอย่างนี้ก็จะยิ่งมากขึ้น เพราะฉะนั้น โยมก็เตรียมรับสถานการณ์ได้เลย เมื่อมีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นอีก เราก็ต้องรู้เท่าทัน แต่ทีนี้โยมก็ไม่ค่อยรู้หลัก บางทีก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มีพระมาเรี่ยไร ก็เกรงใจ เห็นว่าเป็นพระ นุ่งเหลืองห่มเหลือง ก็เกรงใจให้ไปบ้าง บางทีก็ให้พอให้พ้นๆ ไป บางคนก็หลงเชื่อให้ไปมากๆ มันก็กลายเป็นทางทำมาหาเลี้ยงชีพของคนเหล่านี้ วันๆ หนึ่ง เขาก็ได้เยอะ จากบ้านนี้นิดบ้านโน้นหน่อย บางบ้านก็มาก บางทีก็เอาถังไปวางไว้ร้านโน้นถังหนึ่ง ร้านนี้ถังหนึ่ง จัดเป็นผ้าป่าอะไรต่างๆ เอาไปตั้งเพื่อให้คนมาบริจาคเป็นต้น ถึงเวลาก็เดินมาเก็บไป
ทีนี้ ถ้าเราชาวพุทธรู้ทัน เรารู้วินัยของพระว่า พระนี่เรี่ยไรไม่ได้ ออกปากขอชาวบ้านก็ไม่ได้ พระสงฆ์นี่ท่านห้ามขอ ตามศัพท์ ภิกฺขุ แปลว่าผู้ขอ แต่ต้องขอตามวินัย หมายความว่าพระไม่ได้เลี้ยงชีพด้วยตนเอง ไม่ได้ทำมาหากิน แต่ท่านมีอาชีพของท่าน
อาชีพของพระ คือการรักษาวินัย ประพฤติตนอยู่ในศีล และบำเพ็ญสมณธรรม พูดสั้นๆ ว่าทำหน้าที่ของพระ เมื่อทำหน้าที่ของพระโดยถูกต้องแล้ว ประชาชนมีความเลื่อมใส ก็อุปถัมภ์บำรุง อย่างนี้ถือว่าเป็นอาชีวะที่ถูกต้อง
ทีนี้ ถ้าพระจะขอ ก็ออกปากขอไม่ได้ พระจะบอกขอได้กับคนที่เป็นญาติ หรือคนที่ปวารณาไว้เท่านั้น
ปวารณา ก็คือ คฤหัสถ์หรือโยมท่านนั้นบอกเปิดโอกาสหรือนิมนต์ไว้ว่าให้ขอได้ บอกแก่พระองค์ใด องค์นั้นก็ขอได้ และขอได้ในขอบเขตที่โยมได้ปวารณาไว้ เช่น โยมปวารณาว่า ถ้าท่านต้องการในเรื่องจีวรก็ขอให้บอกโยม โยมจะจัดถวาย อย่างนี้ถือว่าปวารณาจีวร พระท่านก็ขอได้เฉพาะจีวร ขออย่างอื่นไม่ได้
โยมปวารณาอะไร ก็ขอได้เฉพาะสิ่งนั้น แต่โยมบางท่านก็ปวารณาทั่วไป คือ ปวารณากว้างๆ ว่า ท่านมีความต้องการอะไรที่เหมาะสมกับพระ ก็ขอให้บอกโยม อย่างนี้ถือว่าปวารณาทั้งหมด พระท่านต้องการอะไรที่เหมาะสม ก็ขอได้ แต่จะออกปากขอกับคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติและไม่ได้ปวารณาไว้ ไม่ได้ ผิดพระวินัย
เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นคนแต่งตัวเป็นพระมาขออะไร โยมมีสิทธิที่จะไม่ยอม แล้วก็ใช้ปฏิภาณเอาเอง ในการที่จะซักถามเพื่อหาความจริง ถ้าโยมช่วยพระศาสนาได้ ก็ดี คือถ้าช่วยกันเอาคนที่ไม่ใช่พระที่มาแสวงหาผลประโยชน์จากพระศาสนาออกไปได้ ก็เป็นการช่วยพระศาสนาไปในตัว
ฉะนั้น เราต้องนึกในแง่ที่ว่า นี่เราจะช่วยพระศาสนาของเราได้อย่างไร เราจะช่วยป้องกันแก้ไขเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของพระศาสนาไว้ นี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง
ตกลงว่า ชาวพุทธเวลานี้อยู่ในสภาวการณ์ที่มีปัญหาต่อพระศาสนา ที่เราจะต้องช่วยกันแก้ไข
ยิ่งระยะนี้ก็มีข่าวคราวอะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องไม่ดีไม่งาม ที่เราจะต้องมีความหนักแน่นและตั้งหลักให้ดี มองไปให้ดี เหตุการณ์ร้ายเหล่านี้เป็นบททดสอบชาวพุทธว่าจะสอบผ่านไหม ถ้าโยมไม่มีหลัก โยมก็สอบไม่ผ่าน อาจจะสอบตกแล้วก็หล่นจากพระศาสนาไปก็ได้
แต่ถ้าเป็นคนที่มีหลักดี ก็สอบผ่าน และบททดสอบเหล่านี้ก็จะทำให้เราเข้มแข็งยิ่งขึ้น กลับเป็นเรื่องดีไป เพราะเราได้บททดสอบมาช่วยทำให้เราพัฒนาตัวเองดียิ่งขึ้น
สำหรับบางท่าน ถ้าสอบไม่ผ่าน ก็อาจจะได้เป็นบทเรียน คือเอาเป็นบทเรียนสอนตัวเองว่า เออ เรานี่รู้ไม่เท่าทัน เราพลาดไปแล้ว ทีนี้เราก็ได้บทเรียนในการที่จะวางตัวให้ดีขึ้น ในการที่จะเข้าให้ถึงหลักพระศาสนา ถ้าได้เป็นบทเรียนอย่างนี้ ก็ยังดี
ตอนนี้บททดสอบและบทเรียนก็เกิดขึ้นอีกแล้ว ก็ขอให้เราใช้บททดสอบนี้ให้เป็นประโยชน์ หรือมิฉะนั้นก็เอาเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้ความรู้ และรู้จักฝึกฝนปฏิบัติตนเองในทางพระศาสนาให้ถูกต้องยิ่งขึ้น
พระพุทธศาสนาของเรานี้เป็นศาสนาที่มีหลัก เป็นศาสนาที่มีเหตุผล พุทธศาสนิกชนจะต้องยึดหลักให้ได้ แล้วเอาตัวพระศาสนาและเอาความรู้ในพระศาสนาเป็นหลัก พอเรารู้หลักพระศาสนาแล้ว เราก็ไม่แกว่งไกว
ที่ว่าแกว่งไกวนั้น ก็คือแกว่งไกวไปตามบุคคล และเสียงเล่าข่าวลือเกี่ยวกับความวิเศษ ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ หรือความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ผูกติดอยู่กับบุคคล คนโน้นดังมา คนนี้ดังมา มีเสียงฮือฮาอย่างไร ก็เฮกันไป เสร็จแล้ว พอมีอะไรเกิดขึ้น เราก็เอาพระศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคลนั้นเสียแล้ว บุคคลนั้นเป็นอย่างไรไป เราก็พลอยเป็นไปด้วย นี่เรียกว่าไม่มีหลัก
ในทางตรงข้าม ถ้าเรามีหลักของเราแล้ว บุคคลโผล่ขึ้นมา เราก็เอาหลักเป็นเครื่องวัด ถ้าท่านประพฤติถูกหลัก ทำตามหลัก สอนตามหลักดี เราก็อนุโมทนาด้วย ถ้าท่านมีอันเป็นไปอย่างไร เราก็อยู่กับหลักต่อไป บุคคลนั้นก็ผ่านไป
อย่าว่าแต่บุคคลที่เกิดขึ้นในยุคสมัยหนึ่งๆ เลย แม้แต่องค์พระพุทธเจ้าเองก็ไม่ผูกมัดใครและไม่ผูกขาดอะไร พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วนี่ เราฟังพระสวดอยู่เสมอว่า อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า ตถาคตคือพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หลักความจริงก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นๆ ตถาคตเพียงแต่ค้นพบความจริงนั้นแล้วนำมาเปิดเผย แสดง ชี้แจง ทำให้เข้าใจง่ายว่าความจริงเป็นอย่างนี้ๆ
หน้าที่ของพระพุทธเจ้าคือเป็นผู้เปิดเผยความจริง และด้วยความสามารถ ก็ทรงสอนแนะนำทำให้เราเข้าใจหลักความจริงนั้น คือทรงพาให้เราเข้าถึงความจริงที่มีเป็นธรรมดาอยู่แล้วนั้นแหละ
ตัวความจริงที่เป็นอยู่ตามธรรมดานี่ซิสำคัญ แม้แต่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาแล้ว พระองค์ก็ผ่านไป แต่ตัวหลักความจริงนั้นก็คงอยู่ หมายความว่า ความจริงเป็นธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมดาตลอดเวลา พระพุทธเจ้ามาช่วยให้เราเข้าถึงความจริงนั้น เราเข้าถึงความจริงแล้ว เราก็อยู่กับความจริงนั้น พระพุทธเจ้าทำหน้าที่ของพระองค์แล้ว พระองค์ก็ผ่านไป ความจริงก็อยู่นั่น ไม่หายไปไหน พระพุทธเจ้าไม่ได้พาเอาความจริงดับไปด้วย เรารู้ความจริง ถึงความจริงแล้ว ความจริงก็อยู่กับเรา พระศาสนาก็อยู่กับเรา เป็นของเรา
ครูอาจารย์รุ่นหลังนี้ไม่ถึงพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำ ท่านเป็นพระสาวกหรือลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ท่านมาช่วยแนะนำให้เรารู้เข้าใจหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ อาจจะเรียกว่ามาพาเราไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระอาจารย์พาเราไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเสร็จ ก็หมดหน้าที่ เรื่องของเราก็คือฟังพระพุทธเจ้าต่อไป
เมื่อฟังพระพุทธเจ้าแล้ว เราเข้าถึงหลักถึงความจริง เราก็ไปอยู่กับหลักความจริงนั้น ก็จบ ตัวหลักความจริงนั้นเป็นมาตรฐาน เป็นของจริงแท้แน่นอน เป็นตัวธรรม เป็นธรรมชาติ เมื่อเราจับหลักได้แล้ว ก็ไม่แกว่งไม่ไกวไปไหน
เวลานี้คนไม่มีหลัก แกว่งไกวไปตามกระแสข่าวเล่าลือ และกระแสค่านิยม เอาตัวไปผูกติดไว้กับบุคคลที่ผ่านไป ผ่านมา เอาศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคลนั้น ก็เลยเลื่อนลอยไป หรือถูกชักลากไปเรื่อยๆ พอบุคคลนั้นมีอันเป็นไป ไม่ใช่ของแท้ของจริงที่มั่นคง คนเหล่านี้ก็ถูกซัดเหวี่ยงกลิ้งกระดอนกระทบกระแทกช้ำชอกไป หรือไม่ก็หล่นหลุดกระเด็นไปเลย
เป็นอันว่า เวลานี้พุทธศาสนิกชนได้บทเรียน สำหรับท่านที่มีหลักอยู่บ้างแล้ว ก็ได้บททดสอบ ถ้าเรารู้จักใช้เหตุการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ มันก็กลับดี เพราะเป็นการกระแทกหรือกระตุกอย่างแรงให้เรารู้ตัวหรือตื่นขึ้นมา แล้วหันมาหาหลัก มาเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง ดีกว่าจะช้านานไป จนเตลิดกันไปไกล ซึ่งอาจจะสายไปเสียแล้ว อย่างน้อยก็ทำให้เรามีความเข้มแข็งมั่นคงขึ้น และรู้จักที่จะปฏิบัติต่อพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง
พระพุทธเจ้าตรัสไว้นักหนาให้ทุกคนอยู่กับหลัก เช่นตรัสสอนไม่ให้เอาศรัทธาไปขึ้นต่อบุคคล ถ้าศรัทธาขึ้นต่อตัวบุคคล บุคคลนั้นมีอันเป็นไป เช่น ตายบ้าง ต้องอาบัติหนักบ้าง หรือมีอันเป็นอะไรไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาก็จะไม่ยอมฟังใครแสดงธรรมอีกต่อไป แล้วเขาก็จะพลาดจากประโยชน์ที่ควรจะได้
สำหรับพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าเตือนหนักยิ่งกว่านั้นอีก ทรงเตือนว่า ถ้าพระประพฤติตัวไม่ดี พระก็จะเป็นมหาโจร มหาโจรมี ๕ ประเภท2 แต่อาตมภาพจะไม่นำมาแสดงในที่นี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ามาพูดอะไรที่ไม่เป็นสิริมงคล ในโอกาสนี้ที่โยมอาจจะถือว่าเป็นเวลามงคล โยมต้องไปค้นคว้าเอา
เพราะฉะนั้น พระจะต้องไม่ประมาท ต้องระวังตัว ต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ในหลัก ต้องทำหน้าที่ของตัวให้ถูกต้อง หน้าที่ของพระก็คือพาโยมให้เข้าไปสู่หลักความจริง แล้วตัวก็หมดหน้าที่ ถ้ามิฉะนั้นก็จะเอาพระศาสนามาแขวนไว้กับตัวเอง
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพึ่งตัวเองได้ ให้เราเป็นอิสระ พระพุทธเจ้าไม่ยอมให้ใครมาขึ้นต่อพระองค์ ตอนแรกเราอาจจะไปศรัทธาต่อพระองค์ เพื่อจะได้ให้พระองค์นำเราเข้าสู่คำสอน เข้าสู่ความจริง แต่ในที่สุดเราจะต้องพึ่งตัวเองได้ เป็นอิสระ จะเห็นว่า ศรัทธาไม่เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ ท่านเชื่อไหม
ศรัทธาเป็นคุณสมบัติของพวกเรา ที่เป็นพุทธศาสนิกชนในเบื้องต้น แต่พระอรหันต์เป็นบุคคลที่ไม่ต้องมีศรัทธา ศรัทธาไม่เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ ท่านเรียกพระอรหันต์ว่าเป็น อสฺสทฺโธ ด้วยซ้ำ ถ้าแปลตรงตามศัพท์ ก็ว่า “ไม่มีศรัทธา” แต่ประเดี๋ยวจะแปลความหมายผิด
ที่ว่าไม่มีศรัทธานั้นอย่างไร อย่าเข้าใจเป็นเรื่องเสียหาย ในกรณีนี้คือ พระอรหันต์นั้นท่านขึ้นถึงระดับปัญญา รู้แจ้ง ซึ่งเลยขั้นศรัทธาไปแล้ว ท่านมองเห็นสิ่งที่เราศรัทธานั้นด้วยตัวท่านเองแล้ว ท่านจึงไม่ต้องอยู่ด้วยศรัทธา ไม่ต้องอาศัยความเชื่อ เป็นผู้พ้นหรืออยู่เหนือศรัทธา เพราะฉะนั้น ที่ว่าพระอรหันต์ไม่มีศรัทธา ก็คือ ไม่ต้องมีศรัทธา
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสถามพระสารีบุตรเกี่ยวกับหลักธรรม พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวก สามารถแสดงธรรมได้เทียบเทียมพระพุทธเจ้าทีเดียว พระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านมาก พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า สารีบุตร เธอเชื่อไหมว่าอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น พระสารีบุตรทูลตอบว่า ข้าพระองค์เห็นว่าเป็นอย่างนั้น อย่างที่พระองค์ตรัส
พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า ที่เธอกล่าวว่าดังนี้ กล่าวเพราะเชื่อต่อเราหรืออย่างไร พระสารีบุตรกราบทูลว่า ที่ข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ มิใช่เพราะเชื่อต่อพระองค์ แต่เพราะได้เห็นความจริงว่ามันเป็นอย่างนั้น นี่คือลักษณะของพระอรหันต์ที่ไม่ต้องขึ้นต่อศรัทธา
แต่มิใช่ว่าพระอรหันต์ไม่เคารพพระพุทธเจ้า ท่านเคารพมาก เคารพอย่างยิ่งเลย แต่อันนี้เป็นเรื่องของสัจธรรม พระอรหันต์เป็นผู้เห็นความจริง พระพุทธเจ้าได้เห็นความจริงอะไร ท่านก็เข้าถึงความจริงนั้น เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงไม่ต้องพูดไปตามความเชื่อต่อพระพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่ว่าท่านไม่เชื่อพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าต้องการให้เราเข้าถึงความจริงอย่างเดียวกับที่พระองค์เห็น แล้วเราก็จะเป็นอิสระของเราเอง ไม่ต้องขึ้นต่อพระองค์ นี่เป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า คือไม่ต้องการให้สาวกขึ้นต่อพระองค์ และให้ทุกคนเป็นไทแก่ตัวเอง เป็นอิสระแก่ตนเอง เพราะจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ วิมุตติ อิสรภาพ ความหลุดพ้น ความเป็นไท ความที่ไม่ต้องอยู่ด้วยศรัทธา แต่เป็นการเข้าถึงด้วยปัญญา รู้ความจริงแจ้งประจักษ์
อย่างไรก็ตาม ควรจะเตือนใจกันไว้เล็กน้อยว่า สำหรับพวกเราที่ยังไม่รู้แจ้งสัจธรรมถึงที่สุดนี้ ยังจะต้องมีทั้งศรัทธาและปัญญาคู่กันไป ให้ทั้งสองอย่างดุลกันไว้
สำหรับคนเริ่มแรก ศรัทธาที่ถูกต้องจะช่วยได้ดีที่สุด ศรัทธาที่ถูกต้อง ก็คือต้องมีปัญญาช่วยตรวจตรา ถ้าปฏิบัติได้ดี ศรัทธาจะช่วยให้มีทิศทาง มีจุดเน้น และมีเรี่ยวแรงในการแสวงปัญญา และสำหรับผู้แสวงปัญญานั้น บางคนมีความโน้มเอียงที่จะเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นผู้รู้ ผู้มีเหตุผล แล้วมีท่าทีอาการแบบภูมิลำพอง ท่านจึงให้มีความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตนประกบตัวไว้ เพราะในการแสวงปัญญาอยู่เสมอนั้น เราไม่ควรมุ่งมองในแง่ที่ว่าตนรู้แล้ว แต่ควรมองหนักไปในด้านที่ตนยังไม่รู้ ซึ่งควรจะรู้ต่อไป
มีปราชญ์ท่านหนึ่งพูดไว้น่าฟัง ท่านเปรียบเทียบระหว่างศรัทธากับปัญญา หรือระหว่างความเชื่อกับการเห็นความจริง เหมือนอย่างว่า อาตมภาพนี้ กำมือขึ้นมา แล้วก็ตั้งคำถามว่า โยมเชื่อไหม? ในมือของอาตมานี่มีดอกกุหลาบอยู่ดอกหนึ่ง พออาตมาถามอย่างนี้ โยมก็คงจะคิดว่า เอ! เชื่อดีไหมหนอ บางท่านก็ว่า อ๋อ! องค์นี้เรานับถือ เชื่อทันทีเลย ไม่ต้องคิด หรืออาตมภาพอาจจะมีมือปืนไว้บังคับว่า ถ้าไม่เชื่อจะยิงตายเลย อย่างนี้ก็จำใจ ใจเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ปากก็บอกว่าเชื่อ
ทีนี้ สำหรับบางท่านก็จะคิดว่า เออ! เชื่อได้ไหมนะ ขอคิดดูก่อน ท่านองค์นี้มีประวัติมาอย่างไร เป็นคนพูดจาขล่อกแขล่กหรือเปล่า น่าเชื่อไหม อือ! องค์นี้ท่านไม่เคยพูดเหลวไหลนะ เท่าที่ฟังมาท่าน ก็พูดจริงทุกที ท่าจะน่าเชื่อ นี่เรียกว่าเอาเหตุผลในแง่เกี่ยวกับประวัติบุคคลมาพิจารณา
แต่บางท่านก็มองในแง่ของเหตุผลแวดล้อมอย่างอื่นว่าเป็นไปได้ไหม มือแค่นี้จะกำดอกกุหลาบได้ เอ! ก็เป็นไปได้นี่ แล้วก็พิจารณาต่อไปอีกว่า ท่านนั่งอยู่ในที่นี้ จะมีดอกกุหลาบมาให้กำได้หรือเปล่า ท่านจะเอามาจากไหนได้ไหม ท่านเดินผ่านที่ไหนมาบ้าง อะไรต่างๆ ทำนองนี้ ก็คิดไป ในตอนนี้ก็จะเป็นการพิจารณาด้วยเหตุผลว่าเป็นไปได้ไหม
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ศรัทธาของคนหลายคนนั้นต่างกัน ของบางคนเป็นศรัทธาที่เชื่อโดยไม่มีเหตุผลเลย งมงาย บอกให้เชื่อก็เชื่อ บางคนก็เชื่อเพราะถูกบังคับ บางคนก็เชื่อโดยใช้เหตุผล แต่การใช้เหตุผลก็มากบ้างน้อยบ้าง ไม่เท่ากัน
แต่ทั้งหมดนั้นก็อยู่ในระดับของศรัทธาหรือความเชื่อทั้งนั้น ไม่ว่าจะแค่ไหนก็ตาม ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นที่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อว่า อาตมานี่มีดอกกุหลาบอยู่ในกำมือ โยมก็คิดเอาเองว่าจะเชื่อไหม
ทีนี้ สุดท้ายอาตมาก็แบมือ พอแบมือออกมาแล้ว เป็นอย่างไร โยมก็เห็นเลยใช่ไหม เห็นด้วยตาของโยมเอง ว่าในมือของอาตมานี่มีดอกกุหลาบหรือไม่ ตอนนี้ไม่ต้องพูดเรื่องเชื่อหรือไม่เชื่ออีกแล้ว ใช่หรือเปล่า มันคนละขั้น ปัญหาความเชื่อมันอยู่ที่ตอนยังกำมืออยู่ แต่ตอนแบมือแล้ว เห็นด้วยตาแล้ว ไม่ต้องพูดเรื่องความเชื่อ มันเป็นเรื่องของการประจักษ์ว่ามีหรือไม่มี
เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า พระอรหันต์ท่านถึงขั้นที่เห็นความจริงประจักษ์เองแล้ว จึงไม่ต้องอยู่ด้วยความเชื่อ แต่สำหรับปุถุชนก็ยังต้องอยู่กับความเชื่อ จะต่างกันก็ตรงที่ว่า เป็นความเชื่อที่มีเหตุผล หรือไม่มีเหตุผล มีปัญญาประกอบ หรือไม่มี
สำหรับพุทธศาสนิกชนนั้น เราต้องการเข้าถึงความจริงที่ประจักษ์ ที่ไม่ต้องเชื่ออีกต่อไป
แต่ระหว่างนี้ ในขณะที่เรายังไม่เข้าถึงความจริงนั้น เราใช้ความเชื่อชนิดที่มีเหตุผล มาเป็นเครื่องมือ เพื่อจะเข้าถึงความจริงที่ไม่ต้องเชื่อต่อไป เราไม่ต้องการความเชื่อชนิดที่งมงาย
ฉะนั้น เราจะต้องมีหลัก เมื่อเรามีหลักในใจแล้ว ก็จะเป็นคนมีเหตุผล ไม่งมงาย ไม่ตื่นตูม ไม่แกว่งไกว นี่เป็นลักษณะของศรัทธาในพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าต้องการให้เราเป็นอิสระ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งอิสรภาพเสรีภาพ พุทธศาสนิกชนมีเสรีภาพในการใช้ปัญญา จนกระทั่งเป็นอิสระไม่ต้องขึ้นแม้ต่อองค์พระพุทธเจ้า
แต่ในด้านความสัมพันธ์ เรามีความเคารพอย่างสูงสุดทีเดียว เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีคุณความดี เป็นแบบอย่างแก่เรา เราเคารพในคุณความดี เพียงแค่พระองค์สอนมีเหตุผลน่าเชื่อ ทำให้เรามีศรัทธา เรายังเคารพมาก นี่พระองค์ทำให้เรามองเห็นความจริงด้วยตัวเอง จนไม่ต้องเชื่อ เราก็ยิ่งซาบซึ้งในพระคุณและเคารพเต็มที่
แม้แต่พระภิกษุ ที่เข้ามาบวชนี่ บางทีหลายท่านก็มีคุณความดีน้อยกว่าโยม โยมบางคนบรรลุธรรม เป็นพระอริยบุคคล เช่นเป็นพระโสดาบันเป็นต้น แต่พระที่เข้ามาใหม่เพิ่งบวชวันนั้น เป็นปุถุชน ยังไม่ค่อยมีความรู้อะไร คุณธรรมก็ยังน้อย แต่เราก็เคารพกราบไหว้ ทำไมเราจึงให้เกียรติเคารพนับถือ ก็เพราะการเป็นพระภิกษุนั้น เป็นการเข้าสู่วิถีชีวิตแห่งไตรสิกขา เป็นชีวิตแห่งการศึกษาที่จะต้องฝึกอบรมพัฒนาตนอย่างจริงจังเต็มที่ เราถือว่าผู้บวชเป็นผู้ที่ยอมรับการฝึกและเข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง ตั้งใจจะฝึกฝนศึกษาในคุณธรรม จะเดินเข้าสู่มรรค เป็นผู้ฝึกตน
ในพระพุทธศาสนานี้ เราให้ความยกย่องยอมรับนับถือแก่บุคคลที่ฝึกฝนพัฒนาตน เมื่อท่านยอมรับที่จะฝึกฝนพัฒนาตน เราก็ให้เกียรติ จึงกราบไหว้ได้ อย่างน้อยก็ยอมรับและสนับสนุน และลึกลงไปก็คือ เราเคารพธรรมที่ท่านปฏิบัติ
อีกอย่างหนึ่ง พระภิกษุนั้นได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของสงฆ์ เป็นตัวแทนของสถาบันที่ธำรงรักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม เราเคารพธรรม เราจึงเคารพสงฆ์ที่รักษาธรรมนั้น และเคารพพระภิกษุที่เป็นองค์ประกอบและเป็นตัวแทนของสงฆ์ เราเคารพพระด้วยเหตุผลนี้ และกราบไหว้เพื่อเตือนใจท่านให้ระลึกตระหนักในหน้าที่ของท่านในการที่จะประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมและทำศาสนกิจสืบต่ออายุพระศาสนา รักษาธรรมไว้ให้แก่สังคมต่อไป
เราไม่ได้นับถือพระสงฆ์ เพราะเห็นว่าท่านเป็นผู้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์เดช หรือเป็นผู้วิเศษ ที่จะมาดลบันดาลอะไรให้เรา อันนั้นเป็นความนับถือแบบลัทธิฤาษีโยคีนอกพระพุทธศาสนา มีมาแต่ก่อนพุทธกาล เป็นเรื่องของการนับถือผู้วิเศษ เหมือนคนเกรงกลัวผู้มีอำนาจ หรือผู้ยิ่งใหญ่มีอิทธิพล ไม่ใช่การนับถือแบบอริยะที่ถือธรรมเป็นหลัก
ในเมื่อพระอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของสงฆ์ส่วนรวมอย่างนี้แล้ว ก็โยงเรามาสู่หลักการสำคัญอีกหลักหนึ่ง
เมื่อกี้นี้ได้หลักหนึ่งแล้ว คือที่ว่าให้ยึดหลักการ ถือหลักความจริง และการที่เข้าถึงความจริงแล้วเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อบุคคล
ทีนี้ก็มาถึงอีกหลักหนึ่งที่ว่า พระสงฆ์เป็นตัวแทนของสงฆ์ส่วนรวม เพราะฉะนั้น พระทุกองค์หรือภิกษุทุกรูปจะต้องโยงตัวเองเข้าไปหาสงฆ์ เคารพสงฆ์ ถือสงฆ์เป็นใหญ่ มุ่งประโยชน์แก่สงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญแก่สงฆ์ ไม่ให้ความสำคัญมาอยู่ที่บุคคล พระพุทธเจ้าฝากพระพุทธศาสนาไว้แก่สงฆ์ส่วนรวม มิได้ฝากไว้แก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง
เมื่อจะปรินิพพานนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว เราชาวพุทธต้องนึกคิดให้ดี เมื่ออยู่บนเตียงปรินิพพาน เรียกอย่างชาวบ้านว่า ตอนสั่งเสีย พระพุทธเจ้าตรัสอะไรบ้าง ชาวพุทธควรจะถือเป็นสำคัญ
ตอนที่จะปรินิพพานนั้น สิ่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัส ก็คือ เรื่องการฝากพระศาสนาไว้ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน คนทั้งหลายก็ต้องหวังแล้วว่า พระองค์จะตั้งใครเป็นศาสดาแทน ใครจะเป็นทายาทสืบต่อตำแหน่งพระศาสดาแทนพระองค์ แต่ถ้าคิดอย่างนั้น ก็ผิดหวัง พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย ไม่ได้ทรงตั้งใครให้เป็นศาสดาแทนพระองค์
พระองค์ตรัสว่า “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญญฺตฺโต, โส โว มมจฺจเยน สตฺถา” แปลว่า ดูกรอานนท์ ในเวลาที่เราล่วงลับไปแล้ว ธรรมและวินัย ที่เราแสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าให้ถือธรรมวินัย คือหลักธรรมและหลักวินัยที่ทรงแสดงและบัญญัติไว้เป็นพระศาสดา เป็นมาตรฐานสืบต่อไป ไม่มีใครเป็นศาสดาแทนพระองค์ พระพุทธเจ้าไม่ได้มอบตำแหน่งไว้แก่บุคคลเลย ให้มาตรฐานอยู่ที่ตัวหลักธรรมวินัย และผู้ที่จะรักษาธรรมวินัยนี้ไว้ ก็คือสงฆ์ส่วนรวม ไม่ใช่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เพราะฉะนั้น พุทธพจน์นี้จึงมีความหมายทั้งให้ถือธรรมวินัยคือถือหลักการ และให้ถือสงฆ์คือส่วนรวมเป็นใหญ่
เมื่อบุคคลปฏิบัติตามหลักการ ก็เป็นส่วนร่วมที่ทำสงฆ์ให้งามมีความมั่นคง ดำรงอยู่ด้วยดี และประโยชน์ก็จะเกิดแก่แต่ละคนที่เป็นส่วนร่วมในสงฆ์นั้น
เพราะฉะนั้น ชาวพุทธจึงต้องถือธรรมวินัยเป็นพระศาสดา พยายามศึกษาเล่าเรียนให้รู้ให้เข้าใจความจริง แล้วธรรมวินัยก็จะมาเป็นมาตรฐานตัดสินบุคคล ไม่ใช่เอาพระศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคล หรือกระทั่งบางคนถึงกับเอาบุคคลมาตัดสินพระศาสนา ซึ่งเป็นการผิดหลักอย่างเต็มที่
ส่วนพระภิกษุ นอกจากถือธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ต้องถือสงฆ์เป็นใหญ่ เคารพสงฆ์ ให้ความสำคัญแก่สงฆ์ ทำการเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ส่วนรวม
เป็นอันว่า ถ้าเรารู้เข้าใจคำฝากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ และปฏิบัติตามนั้น ก็จะไม่เสียหลัก
ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาอย่างไร และสงฆ์เป็นใหญ่อย่างไร มีพระสูตรหนึ่งแสดงไว้ ขอยกเป็นตัวอย่าง มหาอำมาตย์ที่เป็นเสนาบดีใหญ่บริหารราชการแผ่นดินของแคว้นมคธ ไปที่วัด ไปเจอพระอานนท์ ตอนนั้นพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เสนาบดีก็ถามว่า นี่ท่าน! พระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานไปแล้ว เมื่อตอนปรินิพพาน พระองค์ได้ตั้งใครเป็นศาสดาแทน จะได้มาบริหารการคณะสงฆ์
พระอานนท์ตอบว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้ง
เสนาบดีว่า อ้าว! แล้วท่านอยู่กันอย่างไรเล่า พระสงฆ์อยู่กันจำนวนมากมาย ไม่มีการบริหาร ไม่มีหัวหน้า จะอยู่กันอย่างไร
พระอานนท์ตอบว่า พระพุทธเจ้าทรงวางหลักธรรมวินัยไว้เป็นศาสดา เป็นมาตรฐานแล้ว บุคคลผู้ใดมีคุณสมบัติตามธรรมวินัยนั้น พวกเราก็พร้อมกันยกย่องขึ้นเป็นหัวหน้า
หลักธรรมวินัยเป็นศาสดา มาคู่กับการที่สงฆ์เป็นใหญ่ ดังจะเห็นว่าวิธีดำเนินกิจการของสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วในวินัย เช่น พระที่จะทำหน้าที่นี้ๆ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ๆ คุณสมบัตินี้อยู่ในธรรมวินัยแล้ว พระก็ดูกันเอาเอง องค์ไหนมีคุณสมบัติตามนั้น สงฆ์ก็พิจารณาตกลงยกย่องขึ้นเป็นหัวหน้า เป็นเจ้าการ หรือเป็นผู้บริหารในเรื่องนั้นๆ ในนามของสงฆ์ จึงเรียกว่าสงฆ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ นี้เรียกว่าถือหลักการ มีธรรมวินัยเป็นหลัก มีธรรมวินัยเป็นศาสดา และมีสงฆ์เป็นใหญ่ ไม่ต้องตั้งบุคคลตายตัวไว้
ถ้าตั้งบุคคล เดี๋ยวก็มาเปลี่ยนแปลงบัญญัติของพระพุทธเจ้าหมดเท่านั้น ใช่ไหม พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว องค์ที่ได้รับตั้งเป็นศาสดาแทน ก็มาคิดว่า เอ! น่ากลัวเราจะต้องเอาใหม่ แล้วที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ เดี๋ยวก็เปลี่ยนใหม่แก้ใหม่ ก็ยุ่งกันใหญ่
เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ให้พระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทน แล้วพระองค์ก็ให้พระศาสนาอยู่กับสงฆ์ อยู่กับส่วนรวม ไม่ขึ้นกับบุคคล มีแนวทางและวิธีปฏิบัติมากมายที่ให้ระวังไม่ให้ความสำคัญมาอยู่ที่ตัวบุคคล และให้กระจายอะไรต่ออะไรไปสู่สงฆ์ ดังปรากฏในหลักธรรมหลักวินัยต่างๆ มากมาย
การที่พระพุทธเจ้าทรงฝากไว้อย่างนี้ จะเห็นว่า พระองค์ต้องการให้พระศาสนาอยู่กับสงฆ์ส่วนรวม เพราะถ้าความสำคัญไปอยู่กับบุคคล บุคคลนั้นไม่แน่นอน อาจมีอันเป็นไป แล้วทำให้พระศาสนาและประโยชน์สุขของประชาชนคลอนแคลนร่วงหล่นไปด้วย
จะขอยกตัวอย่างหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงให้ถือธรรมวินัยเป็นมาตรฐาน และถือสงฆ์เป็นใหญ่ ไม่ให้ติดยึดตัวบุคคล เช่น
หลักที่หนึ่ง ก็คือศรัทธาแบบยึดติดตัวบุคคลที่พูดมาแล้วข้างต้น ซึ่งมีผลเสียคือ บุคคลนั้นกลายเป็นตัวบังหลัก หรือกั้นเราไม่ให้เข้าถึงหลัก และถ้าบุคคลนั้นมีอันเป็นไปอย่างไร ศรัทธาของเราก็พลอยสิ้นสลายไปกับบุคคลนั้นด้วย และตัวหลักก็พลอยหล่นหายไป โดยที่เราทิ้งไปเสียเอง เพราะฉะนั้น ศรัทธาต่อบุคคลจะต้องให้เป็นเครื่องนำเข้าสู่ธรรม และอิงอยู่กับธรรม เพื่อให้เราเข้าถึงธรรมและอยู่กับธรรมด้วยปัญญาต่อไป นั่นเป็นประการหนึ่ง
อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ การอวดอุตริมนุสธรรม การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเป็นจุดหมายในพระศาสนา แต่ทำไมเมื่อบรรลุแล้ว พระพุทธเจ้ากลับทรงห้ามอวด เหตุผลก็คือ เพราะคุณสมบัติเหล่านี้เป็นของในใจ เป็นสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถรู้ได้ นอกจากผู้ที่บรรลุแล้วด้วยกัน จึงเปิดช่องให้แก่การหลอกลวง และเมื่ออวดไปแล้ว ก็จะเกิดการยึดตัวบุคคลเป็นสำคัญ ไม่ต้องพูดถึงหลอกลวง แม้แต่ถ้าเป็นจริง บุคคลนั้นก็กลายเป็นจุดรวมของความสนใจ สงฆ์ก็จะหมดความหมาย พอพระศาสนาไปฝากอยู่กับบุคคล เมื่อบุคคลนั้นมีอันเป็นอะไรไป ประชาชนก็จะไม่เอาใจใส่พระศาสนา ไม่เอาใจใส่ส่วนรวม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ให้ความสำคัญมาอยู่ที่ตัวบุคคล
พระพุทธเจ้าเองนั้น ตอนแรกทรงจาริกเดินทางสั่งสอนธรรมไม่ได้หยุดหย่อน ทรงประกาศพระศาสนา ตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา พอสงฆ์เจริญขยายตัวมีขนาดใหญ่ พระองค์ก็ทรงมอบอำนาจให้สงฆ์ ต่อจากนั้นก็ให้สงฆ์เป็นใหญ่
แต่ก่อนนั้น พระองค์เคยบวชพระเอง ใครจะบวช เมื่อมีคุณสมบัติถูกต้อง พระองค์ก็บวชให้ แต่พอให้สงฆ์เป็นใหญ่แล้ว พระองค์ก็ให้สงฆ์เป็นผู้บวช กิจการต่างๆ ก็ให้สงฆ์วินิจฉัย เพราะฉะนั้นความเคารพสงฆ์ และการถือสงฆ์เป็นใหญ่ จึงเป็นหลักการที่สำคัญมากในพระศาสนา พระทุกองค์ต้องเคารพสงฆ์ และถือความสามัคคีของส่วนรวมเป็นเรื่องใหญ่ แม้แต่พระอรหันต์ก็อาจถูกสงฆ์ลงโทษ
เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญทางพระศาสนา มีเรื่องกระทบกระเทือนต่อส่วนรวมเกิดขึ้น พระอรหันต์จะเป็นผู้นำในการเอาใจใส่ขวนขวายแก้ไขสถานการณ์ จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ มีตัวอย่างเรื่อยมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เคยเล่าให้โยมฟังแล้ว เอามาเล่าซ้ำย้ำอีก
มหากัสสปะเป็นพระอรหันต์ผู้ชอบปลีกหลีกเร้น ท่านถือธุดงค์อยู่ป่าตลอดชีวิตเลย หลายท่านคงนึกว่าท่านปลีกตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร แต่พระอรหันต์ที่ในชีวิตส่วนตัวชอบแสวงวิเวกอยู่สงัดอย่างนั้น พอมาถึงเรื่องกิจของสงฆ์ ท่านไม่ทิ้งเลย นอกจากรับผิดชอบเป็นผู้อบรมพระสงฆ์หมู่ใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาเมื่อมีเรื่องของส่วนรวมเกิดขึ้นด้วย
ในตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน มีพระองค์หนึ่งพูดไม่ดีต่อการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย น่าเป็นห่วงว่าพระศาสนาจะยืนยงหรือไม่ พระมหากัสสปะได้เป็นผู้นำเรียกประชุมพระอรหันต์ และชักชวนในการทำสังคายนา เพื่อปกป้องพระศาสนา รักษาพระธรรมวินัย และเชิดชูประโยชน์สุขของพหูชน
สมัยต่อๆ มาก็เหมือนกัน เวลามีเหตุการณ์กระทบกระเทือนพระศาสนาเกิดขึ้น พระอรหันต์จะมาประชุมกันพิจารณาหาทางระงับปัญหาแก้ไขสถานการณ์ ในกรณีนั้น ถ้าพระอรหันต์องค์ไหนขาดประชุม ก็อาจจะถูกลงโทษ
เคยมีพระอรหันต์บางองค์ไปอยู่ในป่า ในตอนที่พระอรหันต์ท่านอื่นมาประชุมพิจารณากิจการของส่วนรวม ที่ประชุมก็มีมติลงโทษพระอรหันต์ที่ไม่มาประชุม เรียกว่า ทำทัณฑกรรม โดยท่านลงโทษด้วยวิธีมอบงานให้ทำ เป็นการทำให้ต้องเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม รวมความก็คือถือว่าพระอรหันต์ต้องเป็นผู้นำในเรื่องกิจการของส่วนรวม
ในเมืองไทยนี่มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากอย่างหนึ่ง คือได้เกิดท่าทีที่ผิด โดยมีความเข้าใจว่าพระหรือใครก็ตาม ที่ไม่ยุ่ง ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรนี่ เป็นพระหมดกิเลส อันนี้เป็นอันตรายต่อพระศาสนาอย่างยิ่ง ในประวัติพระพุทธศาสนาของเราไม่ได้เป็นเช่นนี้ พระอรหันต์เป็นผู้นำในกิจการส่วนรวม เป็นประเพณีในทางธรรมมาโดยตลอด เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมแล้ว พระอรหันต์และพระผู้ใหญ่จะต้องเอาใจใส่เป็นผู้นำไม่ทิ้งเรื่อง
ในประเทศศรีลังกามีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นบ่อย บางครั้งสถาบันพระพุทธศาสนาถึงกับสูญสิ้น เพราะภัยสงคราม เช่นภัยสงครามจากทมิฬในอินเดียตอนใต้ยกมา และภัยลัทธิอาณานิคมจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะพวกโปรตุเกสมาปกครอง ทำให้พระสงฆ์ถูกกำจัดหมดเลย
ท่านเล่าไว้ในคัมภีร์ถึงการรักษาพระศาสนาว่า ในขณะที่ฉุกละหุก ทั้งประชาชนและพระสงฆ์เร่งรีบหนีภัยกัน ตอนนั้นบ้านเมืองอยู่ไม่ได้แล้ว ทุกคนต่างก็ไปลงเรือหนี แต่เรือไม่พอ พระผู้ใหญ่ที่สูงอายุ บอกว่าเราไม่นานก็ตาย แต่พระหนุ่มบางองค์ที่มีคุณสมบัติจะต้องรักษาพระศาสนาต่อไป เราจะไม่ลงเรือนี้ เราจะต้องให้ที่ในเรือนี้ แก่พระหนุ่มนั้น อะไรทำนองนี้ ท่านทำมาอย่างนี้เป็นแบบอย่าง คือการถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก พระจะต้องถือสงฆ์และประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
เพราะฉะนั้น การที่พระอวดอุตริมนุสธรรม คือบอกว่าตนบรรลุคุณพิเศษ ได้มรรคผลนิพพาน เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยะนี่ แม้จะเป็นจริง ถ้าเอามาอวดบอกญาติโยม ก็มีความผิด พระพุทธเจ้าปรับอาบัติไว้3 เพราะอะไร เพราะท่านไม่ต้องการให้เอาความเด่นไปไว้ที่บุคคลเดียว แล้วทำให้สงฆ์เลือนลับหาย แต่ท่านต้องการให้สงฆ์อยู่
เมื่อสงฆ์อยู่ พระศาสนาก็อยู่ แล้วประชาชนก็ต้องมาเอาใจใส่ช่วยกันขวนขวายว่าจะทำอย่างไรให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติดี และมีความพร้อมต่างๆ ที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้
การที่พระรูปใดมีคุณสมบัติดีเด่นขึ้นมา ก็ให้เป็นประโยชน์แก่สงฆ์ เพื่อจะได้มาช่วยกันปรับปรุงสงฆ์ให้ดีขึ้น ไม่ใช่ไปเอาเด่นเอาดีให้มหาชนมายึดติดเป็นเครื่องเชิดชูตัว เมื่อเรามีความสามารถขึ้นมา เราต้องเอาความสามารถนั้นไปช่วยสงฆ์ ว่าทำอย่างไรจะให้คุณสมบัติส่วนรวมดีขึ้นมาได้ และให้พระศาสนาอยู่ ให้บุคคลดี โดยเอื้อประโยชน์แก่สงฆ์ ให้สงฆ์ดี เพื่อเกื้อกูลแก่การพัฒนาบุคคล
นี่คือ ไม่ใช่ให้บุคคลดี เพื่อดูดเอาประโยชน์ไปจากสงฆ์ และไม่ใช่ให้สงฆ์ดี เพื่อผลประโยชน์ของบุคคล ตลอดจนอย่าให้พระศาสนาล่มหายไปกับบุคคล พระพุทธเจ้าเองทรงเป็นตัวอย่างมาแล้ว พระองค์ตั้งพระศาสนาเสร็จ พอสงฆ์พร้อม พระองค์ก็มอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ เป็นหลักของพระศาสนาสืบมา
เหตุผลอื่นยังมีอีก อย่างที่ได้พูดมาแล้วว่า การบรรลุธรรมเช่นความเป็นพระอริยะนั้น เป็นสภาพที่เกิดขึ้นภายในเฉพาะตัว คนอื่นรู้ไม่ได้ นอกจากผู้ที่บรรลุธรรมระดับเดียวกันหรือสูงกว่า
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวทรงเป็นผู้รับรองว่าใครได้บรรลุแล้ว สำหรับชาวบ้านหรือมหาชนผู้ไม่มีความรู้เพียงพอ บางทีก็มองการบรรลุธรรม ความเป็นพระอรหันต์ ความเป็นพระอริยะ เหมือนอย่างความเป็นผู้วิเศษหรือความศักดิ์สิทธิ์ พอได้ยินว่าท่านผู้ใดเป็นอริยะ หรือเป็นพระอรหันต์ ก็พากันตื่นเต้นมาหลงตอมติดตาม หวังผลบุญจากการระดมอุปัฏฐากบำรุง ซึ่งนอกจากทำให้มองข้ามสงฆ์ส่วนรวมแล้ว ตัวชาวบ้านเหล่านั้นเองก็ละเลยกิจในการฝึกฝนพัฒนาตนยิ่งๆ ขึ้นไป
ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ เพราะเหตุที่ชาวบ้านและหมู่มหาชนนั้นไม่อาจรู้ความเป็นพระอริยะหรือความเป็นพระอรหันต์เป็นต้น ในตัวบุคคลที่อวดอ้างนั้นได้ ว่าเป็นจริงหรือไม่ การอวดอ้าง จึงเป็นช่องทางของการหลอกลวง
หลายคนที่หลอกลวงจะเป็นคนที่ฉลาด และเพราะเหตุที่ตั้งใจจะหลอกลวง คนเหล่านี้ ก็จะจัดแต่งเตรียมการปั้นแต่งท่าทีให้ดูน่าทึ่งน่าเชื่อ จูงความเลื่อมใสสนใจของมหาชนผู้ไม่รู้ให้ได้ผลที่สุด เช่น แสดงให้เห็นว่าเคร่งครัดขัดเกลาหรือเข้มงวดในการปฏิบัติต่างๆ จนเกินไปกว่าที่เป็นคุณสมบัติแท้จริงของพระอริยะหรือพระอรหันต์เป็นต้นนั้น ทำเกินพอดีสำหรับผู้รู้เท่าทัน แต่กลายเป็นน่าทึ่งน่าอัศจรรย์สำหรับมหาชนที่ไม่รู้เท่าทัน พากันหลงเลื่อมใสตายใจเชื่อเหลือเกิน จนพระอริยะหรือพระอรหันต์จริงๆ ที่ปฏิบัติไปตามธรรมดาสภาวะของท่าน ก็ถูกมหาชนมองข้าม ไม่สนใจ หรือถึงกับดูแคลนเอา สภาพอย่างนี้มีแต่จะนำความเสื่อมมาให้ทั้งแก่หมู่ชนนั้นเอง แก่สังคม แก่สงฆ์ และแก่พระศาสนาส่วนรวมทั้งหมด
ในเมื่อไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่อวดจะเป็นจริงหรือไม่ และคนส่วนมากก็ไม่ค่อยรู้เข้าใจหลักพระศาสนาที่จะเอามาวัดหรือตรวจสอบ จึงมีการเอาอิทธิฤทธิ์ความขลังหรือความเคร่งครัดเข้มงวดมาหลอกกันได้ ท่านจึงไม่ให้อวดอ้างคุณพิเศษ
แต่ท่านเปิดปล่อยไว้ให้ประชาชนใช้สติปัญญาเท่าที่ตนมีอยู่ พิจารณาด้วยวิจารณญาณ ตรวจดูตามเหตุผล อันเป็นไปตามหลักการในวิสัยของตนเองว่า ท่านผู้ใดมีพฤติกรรมอาการที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งโลภะ ไม่เป็นที่ตั้งแต่โทสะ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งโมหะ แล้วเลื่อมใสศรัทธาฟังธรรม ตลอดจนอุปถัมภ์บำรุงภายในขอบเขตที่จะไม่กลายเป็นการเอาพระศาสนามาตันอยู่ที่ตัวบุคคล แต่ให้บุคคลเป็นเครื่องนำเข้าสู่พระศาสนา และเป็นจุดเริ่มกระจายสู่สงฆ์
ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ กิจการเพื่อความดำรงอยู่ของพระศาสนาก็จะดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ก็จะไม่ฮวบฮาบฮือฮาอยู่ชั่วคราว และตัวประชาชนนั้นเองก็จะพัฒนาไปด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่ง นอกจากห้ามพระอวดอุตริมนุสธรรม ห้ามอวดคุณพิเศษแม้มีในตนแล้ว ท่านยังห้ามอวดฤทธิ์ ห้ามแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วย
พระได้ปาฏิหาริย์ได้ฤทธิ์แล้วเอามาอวดเอามาแสดง แม้เป็นจริง ก็ต้องอาบัติ มีความผิด4 ทำไมเป็นอย่างนั้น การแสดงฤทธิ์มีโทษกี่อย่าง ก็คล้ายกันกับการอวดอุตริมนุสธรรมนั่นแหละ แต่มีแง่มุมบางอย่างแปลกไปบ้าง ที่คล้ายกัน ก็จะพูดย่อ ที่แปลกไป ก็จะขยายออกสักหน่อย
๑. ดูดความสนใจไปรวมอยู่ที่บุคคลนั้น ประชาชนเลยไม่เอาใจใส่สงฆ์ว่าเป็นอย่างไร มีอะไรกระทบกระเทือน ก็ไม่เอาใจใส่
๒. การมีฤทธิ์เป็นคนละเรื่องกันกับการหมดกิเลส พระมีฤทธิ์ ไม่จำเป็นต้องหมดกิเลส และพระที่หมดกิเลส ก็ไม่จำเป็นต้องมีฤทธิ์ ผู้มีฤทธิ์บางทียังมีกิเลสมาก และเอาฤทธิ์มาใช้สนองกิเลสของตน
จะพูดให้เข้าใจง่าย ก็ว่า ต้องแยกระหว่างพระอริยะ กับผู้วิเศษ
ความเป็นพระอริยะ อยู่ที่คุณธรรมความดี โดยลดละกิเลส มีโลภะ โทสะ โมหะ น้อยลง จนกระทั่งละกิเลสได้หมด เป็นผู้บริสุทธิ์ มีคุณธรรมสมบูรณ์ ก็เป็นพระอรหันต์
ส่วนความเป็นผู้วิเศษ คนจะมองไปที่การมีฤทธิ์มีอิทธิปาฏิหาริย์ ล่องหนหายตัวได้ บันดาลอะไรต่างๆ ได้ มีอำนาจจิตแรงกล้า ล่วงรู้วาระจิตของผู้อื่น ทายใจคนอื่นได้ ฯลฯ
ถ้าพระอริยะมีฤทธิ์มีความวิเศษด้วย ก็ยิ่งดี เป็นคุณสมบัติเสริมความสามารถให้ทำอะไรๆ ได้ดีขึ้น แต่ถ้าผู้วิเศษไม่เป็นอริยะ และมีกิเลสมาก ก็จะเป็นภัยอันตรายร้ายแรง เพราะมีความสามารถที่จะทำความชั่วได้มากกว่าคนชั่วที่ไม่มีฤทธิ์ จะเห็นได้จากตัวอย่างในอดีต เช่น พระเทวทัต และรัสปูติน
ปัจจุบันนี้ ชักจะมีความสับสนมากขึ้น ในการเอาความเป็นพระอริยะ กับความเป็นผู้วิเศษ มาปะปนกัน
ที่หนักมากก็คือ เอาความขลังศักดิ์สิทธิ์หรือความมีฤทธิ์ มาเป็นเครื่องกำหนดความเป็นพระอรหันต์ พอเห็นหรือได้ยินว่าพระองค์ไหนมีฤทธิ์ขลัง ก็บอกว่าเป็นพระอรหันต์ อันนี้เกิดจากการไม่รู้หลักพระพุทธศาสนา ชาวพุทธจึงจะต้องเรียนรู้หลักพระศาสนากันให้มากขึ้น ก่อนที่จะเปลี่ยนพระพุทธศาสนาไปเป็นลัทธิผู้วิเศษโดยไม่รู้ตัว
พระเทวทัตนั้นไม่ได้เป็นพระอริยะ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย แต่แสนจะมีฤทธิ์เก่งกาจ แล้วก็หลงฤทธิ์ ก็เลยทำให้กิเลสฟูขึ้นมา ท่านก็เลยใช้ฤทธิ์ในทางร้าย หาลาภสักการะ ต้องการผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเครื่องเตือนให้ระวังว่า ถ้าพระที่มีฤทธิ์ เป็นผู้วิเศษ เกิดมีกิเลสมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ มาก ก็จะใช้ฤทธิ์นั้นหาลาภ หรือทำลายผู้อื่น แล้วประชาชนก็จะตกเป็นเหยื่อ
ประชาชนที่ไปหลงฤทธิ์ของผู้อื่นนั้น ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไปฝากความหวังไว้กับปัจจัยภายนอก เป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักพระศาสนา พระพุทธศาสนาต้องการให้เราพัฒนาตนเอง ให้ทำการตามหลักเหตุผล ให้บรรลุความสำเร็จด้วยความเพียรพยายามกระทำการ พัฒนาตัวเองให้ดีงามมีปัญญาสามารถยิ่งขึ้นอยู่เสมอ
ถ้าไปมัวหวังความสำเร็จจากการดลบันดาลของอำนาจหรืออานุภาพภายนอก เราเองก็ไม่รู้จักทำอะไร และไม่เป็นอันทำอะไร ได้แต่รอคอยฤทธิ์มาช่วย รอคอยผลจากการดลบันดาลของท่านผู้มีฤทธิ์ พร้อมกันนั้นก็มีผลเสียแก่ตัวบุคคลที่มีฤทธิ์นั้นเองด้วย เพราะถ้ายังไม่หมดกิเลส ก็จะเพลิดเพลินมัวเมาติดฤทธิ์ เช่นหลงเพลินลาภสักการะ แล้วละเลยการปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตัวเอง เพื่อบรรลุธรรมเบื้องสูงขึ้นไป ทำให้พระบางองค์ติดอยู่แค่นั้น ไม่สามารถก้าวต่อไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน
เมื่อตนเองหลงลาภสักการะแล้ว ก็ไปล่อหลอกหาลาภสักการะจากประชาชนอีก ทางฝ่ายประชาชนเอง เมื่อมัวแต่วุ่นวายติดตามผู้มีฤทธิ์ และรอคอยผลจากการบันดาลด้วยฤทธิ์ของผู้อื่น ก็ไม่เป็นอันทำกิจทำการที่ควรทำให้แข็งขันจริงจัง และละเลยการพัฒนาตัวเอง เป็นอันว่า เกิดผลเสียทั้งแก่ตัวผู้อวดฤทธิ์เอง ทั้งแก่ประชาชน แล้วในที่สุดผลเสียนั้นก็ตกแก่พระศาสนาและสังคมส่วนรวม
หลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจแยกในเรื่องนี้ได้ดี ก็คือ เรื่อง ปาฏิหาริย์ ๓ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ปาฏิหาริย์ คือ การกระทำให้เกิดผลอย่างอัศจรรย์นั้น มี ๓ อย่าง คือ5
๑. อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์ หรือแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น เดินน้ำ ดำดิน ล่องหน หายตัว เหาะเหิน บันดาลอะไรต่างๆ
๒. อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการทายใจ หรือรู้ใจคนอื่นได้เป็นอัศจรรย์ รู้ว่าคนอื่นกำลังคิดอะไรต้องการจะทำอะไร เป็นต้น
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือคำสั่งสอน หรือสอนให้รู้เข้าใจและทำได้จริงเป็นอัศจรรย์ ชี้แจงอธิบาย ทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญารู้ถึงความจริงได้ด้วยตนเอง
ปาฏิหาริย์ ๒ อย่างแรก คือ ฤทธิ์และการดักใจทายใจได้นั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ ไม่ทรงสนับสนุน ทรงสรรเสริญแต่ปาฏิหาริย์ข้อที่ ๓ คือ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
ฤทธิ์มีข้อเสียอย่างไร นอกจากที่เคยพูดมาแล้ว ขอสรุปให้ว่า
ฤทธิ์กำจัดกิเลสไม่ได้ ฤทธิ์ไม่ทำให้ความโลภ โกรธ หลง ลดน้อยลง ถ้าไม่ระวัง จะทำให้กิเลสฟูมากขึ้นด้วยซ้ำ
ฤทธิ์ไม่ทำให้รู้เข้าใจสัจธรรม คือไม่ทำให้เกิดปัญญาที่จะรู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลาย จึงไม่สามารถทำใครให้เป็นพระอรหันต์ หรือแม้แต่เป็นพระอริยะชั้นใดๆ ได้
ในทางตรงข้าม อนุสาสนี คือคำสอนที่แสดงธรรม แสดงความจริง ทำให้คนเกิดปัญญา รู้ความจริง เข้าถึงสัจธรรมได้ ทำให้คนละกิเลสได้ ทำให้ผู้ฟังและนำไปปฏิบัติ บรรลุธรรม เป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ได้
คนมาดูเห็นฤทธิ์ เห็นความขลัง ก็ได้แต่ตื่นเต้นทันตา แต่ตัวเองไม่ได้อะไร ไม่มีอะไรพัฒนาขึ้นในตัว อาจจะงงงันที่ได้เห็นความอัศจรรย์ แล้วก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ก็เลยกลายเป็นมีโมหะมากขึ้น และตัวเองก็ทำสิ่งนั้นไม่ได้ เลยต้องเอาตัวไปฝากไปขึ้นกับผู้ที่ขลังมีฤทธิ์ เลยดีแก่ผู้แสดงฤทธิ์ ชาวบ้านที่ดู ยิ่งเชื่อ ก็ยิ่งหมดอิสรภาพในการกระทำของตัว
ตรงข้ามกับอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ซึ่งทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญา รู้ความจริง ผู้สอนรู้อย่างไร ผู้ฟังเข้าใจ ก็รู้ได้อย่างนั้น และเอาความรู้นั้นไปทำอะไรให้เกิดผลด้วยตนเองได้
ผู้ฟังเป็นผู้ได้ คือได้ปัญญา และปัญญานั้นก็เป็นของของเขาเอง เขาจะไปไหน ปัญญาก็ไปด้วย ผู้ฟังก็เป็นอิสระ ไม่ต้องมาขึ้นต่อผู้สอน ไม่ต้องคอยรอพึ่งผู้สอนเรื่อยไป ไม่เหมือนอย่างพวกที่เชื่อฤทธิ์ เชื่อความขลัง ที่ตัวเองมืดมัว ต้องรอให้เขาบันดาลผลให้
อีกอย่างหนึ่ง ผู้มีฤทธิ์ กับคนพึ่งฤทธิ์ มักจะมาพบกันในระบบผลประโยชน์ โดยต่างก็ต้องการผลได้บางอย่างแก่ตน คนที่มาหาผู้มีฤทธิ์ ก็ต้องการโชคลาภจากความขลัง หรือการดลบันดาลของผู้มีฤทธิ์ ผู้แสดงฤทธิ์ ก็หวังลาภสักการะจากคนที่มาขอผล กลายเป็นความสัมพันธ์ในเชิงกิเลส โดยเฉพาะการกระทำเพื่อสนองโลภะ
เมื่อเรื่องความขลังความศักดิ์สิทธิ์เข้ามาแทรกในการทำบุญทำทานในพระศาสนา ความวิปริตผิดเพี้ยนก็เกิดขึ้น ผู้ทำบุญหรือผู้บริจาค แทนที่จะบริจาคทรัพย์ให้ด้วยมองเห็นคุณประโยชน์ของสิ่งที่จะร่วมสร้างสรรค์ ว่าจะเป็นการส่งเสริมกิจการพระศาสนา หรือช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมอย่างนั้นๆ ก็มองเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ที่ตนจะได้สิ่งตอบแทน คือมุ่งจะได้ของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น จึงเอาเงินมาบริจาคให้ ใจก็คิดแต่จะให้ได้ของนั้นตอบแทน โดยไม่ได้คำนึงว่าผู้มีฤทธิ์หรือผู้จัดทำสิ่งขลังศักดิ์สิทธิ์ จะเอาเงินนั้นไปทำอะไรอย่างไร
ตามที่ว่านั้น จึงเป็นการผันแปรจากการทำบุญบริจาคด้วยปัญญาที่พิจารณาเห็นคุณประโยชน์ที่ตนจะส่งเสริม พร้อมกับการเสียสละละกิเลส และพัฒนาคุณธรรมขึ้นในใจของตน กลายเป็นการจ่ายเงินออกไปด้วยโลภะ ที่มุ่งจะเอาของตอบแทน ภายใต้ความปกคลุมของโมหะ ที่ไม่รู้ไม่คำนึงว่าอะไรเพื่ออะไร และจะเป็นไปอย่างไร
ผลร้ายที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งของความไม่รู้หลักพระศาสนา ไม่รู้จักแยกระหว่างพระอริยะ กับผู้วิเศษ ไม่รู้ฐานะของความขลังศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ว่าเป็นอย่างไร ในพระศาสนา นอกจากทำให้เขวออกไปจากตัวแท้ตัวจริงของพระศาสนา และทำให้พระพุทธศาสนาเลือนรางลงไปแล้ว เพราะความไม่เข้าใจแยกว่าผู้วิเศษเป็นคนละอย่างกับพระอริยะ ไปฝากความเป็นพระอรหันต์ไว้กับความขลังศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พอผู้วิเศษซึ่งยังมีกิเลสปรากฏพฤติกรรมเสื่อมทราม ก็คร่ำครวญบ่นว่าพระที่สูงเลิศก็ยังเป็นถึงอย่างนี้ คงจะหาพระดีที่จะไหว้อีกไม่ได้
ตามที่ว่านั้น แท้จริงแล้ว จะต้องทบทวนพิจารณาตนเองใหม่ว่า พระดีไม่มีให้ไหว้ หรือคนไหว้นับถือผิด จึงมองไม่เห็นพระดีที่จะไหว้ และทำให้พระดีที่น่าไหว้ค่อยๆ ลดน้อยลงไปจากพระศาสนา
เพราะฉะนั้น ฤทธิ์นี้แม้จะทำได้ ท่านก็ไม่สนับสนุน ผลเสียที่ว่ามานี้ก็เป็นตัวอย่าง
ตกลงว่า หลักพระศาสนาท่านวางไว้ให้แล้ว เราจะต้องช่วยกันรักษาหลักพระศาสนาไว้โดยปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้สมกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงคุณสมบัติของชาวพุทธไว้ ซึ่งเราควรจะนำมาเตือนกันให้มากๆ
คุณสมบัติที่ว่านี้ ก็คือคุณสมบัติของอุบาสก อุบาสิกา ที่ดี ถ้าเราเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี มีคุณสมบัติที่ว่านี้ ก็จะไม่หลงออกไปนอกลู่นอกทาง
อุบาสกอุบาสิกาที่ดีมีคุณสมบัติ ๕ ประการ6 ในห้าประการนี้ มีอยู่ข้อหนึ่งว่า ไม่ตื่นข่าวมงคล ท่านแปลกันมาว่า ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เรียกตามภาษาบาลีว่า ไม่เป็นคนชนิด โกตุหลมังคลิกะ
คนที่ตื่นข่าวมงคลนั้น เวลามีเสียงเล่าข่าวลือ เกี่ยวกับความขลังศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เช่นว่ามีผู้วิเศษเกิดขึ้นที่ไหน ไม่ว่าที่โน่นที่นี่ ก็ตื่นตามกันไป
ถ้าเป็นผู้ตื่นข่าวมงคล ก็ไม่สามารถเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดีได้ ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี ไม่เป็นผู้ตื่นข่าวมงคลแล้ว ก็จะเป็นคนมีเหตุมีผล ตั้งอยู่ในหลักพระศาสนา แล้วก็จะเอาใจใส่ถามกันว่า เราจะต้องประพฤติปฏิบัติอะไร สิ่งที่เราทำอยู่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องดีแล้วไหม มีอะไรที่เราควรจะปฏิบัติต่อไปอีก แล้วก็ยินดีอิ่มอกอิ่มใจอยู่กับการกระทำในสิ่งที่ดีที่พึงชอบนั้น ไม่มัวไปยุ่งคิดฝันหวังเพ้อตื่นข่าวที่โน่น ตื่นพระดังที่นั่น เดี๋ยวดังที่โน่นเดี๋ยวดังที่นี่ ไม่เป็นตัวของตัวเองเลย ไปโน่นทีไปนี่ที หมดเวลาไปเดือนหนึ่งไม่ต้องทำอะไร
ถ้าเอาเวลานั้นมาใช้ ตั้งใจทำการตามเหตุผลด้วยความเพียรพยายาม ก็จะได้การได้งานมากมาย หรือจะใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง ก็เจริญก้าวหน้าพัฒนาไปได้มาก ถ้าอยากมีฤทธิ์ ก็ฝึกตัวให้มีฤทธิ์เอง พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วนี่ เธอก็ทำได้ แล้วทำไมจะต้องไปรอให้คนอื่นทำฤทธิ์ให้ เพราะเราก็คนเหมือนกันนี่ เราก็พัฒนาตัวเองได้ เราอยากจะเป็นพระพุทธเจ้า ยังมีสิทธิเลย พระพุทธเจ้าไม่เคยหวงตำแหน่ง
พระพุทธเจ้าไม่เคยผูกขาดตำแหน่ง ใครอยากเป็นพระพุทธเจ้า ก็เอาเลย ตั้งใจเข้าว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีไป พระพุทธเจ้าถือว่าทุกคนมีศักยภาพ มีสิทธิทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรที่อยู่ในวิสัยของมนุษย์ ย่อมสำเร็จได้ด้วยการฝึกหัดฝึกฝนโดยพัฒนาตนยิ่งขึ้นไป
เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการมีฤทธิ์ เราก็ฝึกตัวเองพัฒนาตัวเองให้มีฤทธิ์ได้ แต่ก็ขอให้ทราบว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญในเรื่องนี้ เพราะว่าการมีฤทธิ์นั้นไม่ได้ทำให้หมดหรือลดกิเลส
ทางแห่งการมีฤทธิ์ กับทางแห่งการหมดกิเลส ไม่ใช่ทางเดียวกัน แต่ผู้หมดกิเลสอาจจะมีฤทธิ์ด้วยก็ได้ หรือผู้มีฤทธิ์อาจจะยังมีกิเลสมากก็ได้ ถ้าคนหมดกิเลสมีฤทธิ์ ก็เป็นผลดี เพราะท่านจะใช้เทคโนโลยีแห่งฤทธิ์ในทางที่เป็นประโยชน์
อิทธิฤทธิ์นั้นเป็นเหมือนเทคโนโลยี ใช้เป็นเครื่องมือหรือเป็นอุปกรณ์ในการทำงานได้
เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์ทำอะไรๆ ได้สำเร็จมากมายและง่ายยิ่งขึ้น ถ้าคนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นคนดี ก็จะใช้เทคโนโลยีในทางที่ดี ถ้าคนที่ใช้เป็นคนชั่ว ก็จะใช้เทคโนโลยีในทางร้าย ฤทธิ์ก็เป็นเทคโนโลยีอีกระดับหนึ่ง จะดีหรือร้าย ก็อยู่ที่ผู้ใช้ เพราะฉะนั้น พระที่ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านไม่หวังลาภสักการะเพื่อตนเอง ท่านก็เอาฤทธิ์ไปใช้ประโยชน์ในการทำงานพระศาสนา
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ฤทธิ์นั้นก็เป็นของท่าน ไม่ใช่ของเรา เราเอามาใช้ไม่ได้ ไม่เหมือนเทคโนโลยีทางวัตถุ ที่ยืมใช้กันได้ ถ้าผู้อื่นเอาฤทธิ์มาช่วยเรา เราก็ไม่เป็นตัวของตัวเองในเรื่องนั้น และถ้าเรามัววุ่นวายอยู่กับเรื่องนี้ ก็จะเกิดผลเสียมากกว่า ไม่คุ้มที่ได้ โดยเฉพาะจะหยุดพัฒนา
ท่านจึงให้เราหวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตนเอง โดยใช้สติปัญญาทำการให้ตรงกับเหตุปัจจัย ซึ่งเราจะเป็นตัวของตัวเอง และทำให้เราพัฒนาต่อไป
อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากยังมีจิตใจไม่เข้มแข็งพอที่จะยืนอยู่และเดินหน้าไปด้วยความเพียรและปัญญาของตนเอง จึงหวังอำนาจคุ้มครองช่วยเหลือจากภายนอก
ในกรณีอย่างนั้น ก็จะต้องรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่าให้เสียหลัก ทั้งในฝ่ายผู้มีฤทธิ์ และฝ่ายเราผู้หวังพึ่งฤทธิ์
ทางด้านพระขลังมีฤทธิ์นั้น เราก็ดูว่าท่านมุ่งหวังหรือลุ่มหลงในลาภสักการะ และให้เราหลงติดท่านหรือไม่ ทำให้ขึ้นต่อบุคคลไหม และในด้านของเรา ก็ดูว่า ความสัมพันธ์นี้ทำให้เราเพียรพยายามทำกรรมดี เพื่อผลสำเร็จที่ต้องการตามเหตุตามผล หรือว่าทำให้เรามัวรอหวังผลจากการดลบันดาลของปัจจัยภายนอก
ถ้ามันทำให้เราเกิดกำลังใจ แล้วมีความเพียรในการทำการตามเหตุผลมากยิ่งขึ้น ก็พอใช้ได้ เพราะเรายังไม่มีกำลังใจเข้มแข็งพอ เรายังไม่เข้มแข็งขนาดเป็นตัวของตัวเองเต็มที่ เรายังอยากได้สิ่งที่ช่วยเสริมกำลังใจบ้าง แต่จุดตัดสินก็คือ อย่าละทิ้งหลักกรรม คือ การกระทำเป็นอันขาด ต้องทำๆ ตามเหตุตามผล ทำที่เหตุปัจจัย โดยใช้ปัญญาสืบสาวหาเหตุปัจจัย แล้วแก้ไขที่เหตุปัจจัย และสร้างสรรค์ทำให้สำเร็จด้วยการเพียรพยายามทำเหตุปัจจัย อย่างนี้จึงจะไม่ผิดหลักพระศาสนา
หลักที่ว่านี้จะโยงไปถึงเรื่องพระโพธิสัตว์ด้วย ฉะนั้นก็จะขอพูดต่อไปเสียเลย อย่างเวลานี้ก็มีการนับถือพระโพธิสัตว์แบบมหายานเข้ามา เช่น นับถือเจ้าแม่กวนอิม
เจ้าแม่กวนอิมนั้น ตามตำนานว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ชื่อเดิมของท่านว่า พระอวโลกิเตศวร ตอนที่อยู่ในอินเดียมีชื่อหนึ่ง แต่ไปเมืองจีนเปลี่ยนเป็นอีกชื่อหนึ่ง
พระอวโลกิเตศวรนี่ เป็นพระโพธิสัตว์ที่เด่นที่สุดในบรรดาพระโพธิสัตว์หลายองค์ของมหายาน พระอวโลกิเตศวรมีชื่อทางกรุณา บำเพ็ญความดีในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไม่มีขอบเขต ก็เลยเป็นที่นิยมมาก พอเข้าไปในจีน ก็ได้ชื่อใหม่ เป็นพระกวนอิม แต่เดิมท่านเป็นผู้ชาย เมื่อเข้าไปในจีนแล้วกลายเป็นผู้หญิง ชื่อก็เปลี่ยน เพศก็เปลี่ยน เปลี่ยนอย่างไรล่ะ
มีเรื่องเล่าเป็นตำนาน และอาจจะหลายตำนานด้วย ตำนานหนึ่งบอกว่า พระราชธิดาของพระเจ้ากรุงจีนประชวร แล้วก็เป็นโรคที่ไม่มีใครรักษาได้ หมอหลวง หมอราษฎร์ทั้งหลาย ไม่มีใครรักษาสำเร็จ จึงร้อนถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรกวนอิมมาช่วย แต่จะเข้าในพระราชวังฝ่ายในนี่ เป็นผู้ชายเข้าไม่ได้ พระโพธิสัตว์ก็เลยต้องแปลงร่างเป็นหญิง แล้วก็เลยเข้าไปรักษาพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงจีนได้ จนกระทั่งหายประชวร ก็เป็นอันสำเร็จ เมื่อทำหน้าที่เสร็จแล้ว เรื่องก็บอกว่าไม่ได้กลับคืนเพศอีก ก็เลยเป็นผู้หญิงสืบมา
อันนี้ก็เป็นเรื่องของเจ้าแม่กวนอิม แต่เจ้าแม่กวนอิมซึ่งเป็นเรื่องในคติพระโพธิสัตว์ จะมาโยงกันอย่างไร กับเรื่องที่ได้ว่ามา
หลักพระพุทธศาสนานั้นสอนเราให้ถือหลักกรรม ไม่ตื่นข่าวมงคล ให้หวังผลจากการกระทำตามเหตุผล โดยใช้ปัญญาศึกษาเหตุปัจจัย แล้วเพียรพยายามทำการแก้ไขจัดทำที่เหตุปัจจัย อันนี้เป็นหลักการใหญ่ที่สำคัญมาก
ทีนี้ พอมีพระโพธิสัตว์แบบมหายานนี้มา ก็ปรากฏว่า มีการไปอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์
เอ แล้วพระโพธิสัตว์ตามความหมายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าคืออย่างไร ตอนนี้จะต้องมาทำความเข้าใจกันนิดหน่อย คติพระโพธิสัตว์มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร พระโพธิสัตว์คือใคร
พระโพธิสัตว์ ก็คือท่านผู้บำเพ็ญบารมี เพียรพยายามประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างยวดยิ่ง เพื่อจะได้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไป คือ ฝึกฝนพัฒนาตนเองเต็มที่ อุทิศตัวให้แก่คุณธรรมคือบุญทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาปัญญาให้เป็นโพธิ และในการบำเพ็ญความดีอุทิศตัวให้แก่ปุญญังและปัญญานั้น ก็อุทิศตนให้แก่ผู้อื่นโดยไม่มีความเห็นแก่ตัวเลย เสียสละได้แม้แต่ชีวิตของตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น มีเรื่องราวมากมายที่พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ได้อุทิศชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน บางชาติก็สละชีวิตยอมตายเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
ทีนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์มีความหมายเป็นอย่างนี้ คือเป็นผู้ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้า โดยบำเพ็ญบารมีอย่างนี้ แล้วท่านตรัสเรื่องพระโพธิสัตว์ขึ้นมาทำไม?
ตอบว่า ก็ตรัสขึ้นมาเพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่เรา เราจะได้เอาอย่างพระโพธิสัตว์ คือพยายามบำเพ็ญคุณความดีต่างๆ อย่างเต็มที่ ไม่มีความระย่อท้อถอย แม้จะต้องสละชีวิตก็ยอม
อีกข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน กว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องบำเพ็ญเพียรอย่างยวดยิ่ง ไม่ใช่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องเตือนใจเราว่า เราจะบรรลุสิ่งที่ดีงามประเสริฐ จะเข้าถึงจุดหมายที่สูงสุดได้ เราจะต้องเพียรพยายามเข้มแข็งอดทน เรามีพระพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่าง เราจะต้องพยายามทำให้ได้อย่างนั้น คือจะต้องเพียรพยายามเต็มที่ ไม่ยอมท้อถอย
คติเดิมที่แท้ก็คือ พระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างให้แก่เราในการบำเพ็ญเพียรทำความดี สร้างปุญญังและปัญญาอย่างเสียสละเต็มที่ดังที่ว่า
พร้อมกันนั้น เราก็จะเกิดมีความซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธเจ้าว่า โอ้ พระพุทธเจ้าของเรานี้ กว่าพระองค์จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ พระองค์ต้องบากบั่นเสียสละเพียรพยายามทำความดีมามากมายเหลือเกิน ไม่ใช่จะเป็นได้ง่ายๆ
เมื่อมีความซาบซึ้งในพระคุณของท่านแล้ว ก็จะทำให้เกิดกำลังใจแก่เราในการทำความดี เพราะคนเราที่ทำความดีนี้ บางทีก็ยังไม่มีความเข้มแข็งพอ ครั้นไปเจออุปสรรคเข้า ก็ท้อถอย บางทีทำไปแล้ว ไม่ได้รับผลที่ต้องการทันเวลาที่ต้องการ ก็เกิดความผิดหวังและท้อใจ บางทีก็ถึงกับร้องทุกข์บ่นคร่ำครวญว่า เรานี่ทำดีไม่ได้ดี อุตส่าห์ทำดีแทบตาย ไม่เห็นได้รับผลดีเลย คนทำชั่วได้ดีมีถมไป หลายคนจะโอดครวญร้องทุกข์อย่างนี้
ทีนี้ พอระลึกถึงพระพุทธเจ้า ไปเห็นประวัติของพระโพธิสัตว์แล้ว ก็จะเกิดกำลังใจขึ้นว่า โอ.. เราทำแค่นี้จะมาท้อใจอะไร พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีมายากเย็นกว่าเรานักหนา ต้องสละแม้กระทั่งชีวิต
พระโพธิสัตว์นั้น บางทีทั้งชีวิตทำดีมาตลอดไม่รู้เท่าไร เขาก็ไม่เห็นความดี เอาพระองค์ไปฆ่าก็มี แล้วเราทำความดีแค่นี้จะไปท้อทำไม พอนึกถึงประวัติของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่เป็นพระโพธิสัตว์เพียรบำเพ็ญบารมีมาอย่างนี้ เราก็เกิดกำลังใจเข้มแข็ง สู้ต่อไป
นี่คือคติการนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นประโยชน์หลายสถาน
รวมความว่า พระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่างในการทำให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายามทำความดีอย่างยวดยิ่ง
แต่ทีนี้ต่อมา คติมันพลิกกลับ แทนที่จะคิดว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ทำความดีมามากมาย เราต้องทำความดีอย่างพระองค์บ้าง พระโพธิสัตว์ท่านเสียสละช่วยเหลือผู้อื่น เราต้องเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นอย่างนั้นบ้าง คนกลับคิดไปเสียอีกอย่างหนึ่งว่า พระโพธิสัตว์ท่านเสียสละเพื่อผู้อื่น ท่านคอยช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย เรามีพระโพธิสัตว์คอยช่วยเราอยู่แล้ว เราไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ดีกว่า นี่กลับตรงข้ามเลย ใช่ไหม?
ความหมายกลายไปแล้ว เพี้ยนไปแล้ว คติพลิกกลับตรงข้ามไปเลย แทนที่จะทำอย่างพระโพธิสัตว์ ท่านเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นเต็มที่โดยไม่เห็นแก่ตัว เราต้องทำอย่างนั้น แต่กลับพลิกไปว่า พระโพธิสัตว์คอยช่วยเราอยู่แล้ว เราไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ดีกว่า เราไม่ต้องทำอะไร ได้แต่นอนรอ สบายไปเลย
เป็นอันว่า มันเพี้ยนมาอย่างนี้แล้ว เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นอย่างนี้ไปแล้ว กลายเป็นว่ามีพระโพธิสัตว์คอยช่วยเรา เพราะฉะนั้น เราก็ไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ดีกว่า เราก็เลยไม่ต้องทำอะไร ถ้าอย่างนี้ คติพระโพธิสัตว์ก็เพี้ยน สูญเสียความหมายที่แท้จริงไปแล้ว
ฉะนั้น จะต้องเตือนเราชาวพุทธกันให้มาก ว่าหลักพระศาสนากำลังจะเพี้ยนไปหมด ทั้งๆ ที่ตัวหลักเดิมก็อยู่ คำศัพท์เดิมก็อยู่ ชื่อเดิมก็อยู่ แต่ความหมายมันไม่อยู่ แค่นี้ก็ไปแล้ว มันพลิกกันนิดเดียวนี่แหละ
เราพูดได้ว่า พระพุทธศาสนายังอยู่ พระโพธิสัตว์ยังอยู่ พระพุทธเจ้ายังอยู่ ถูก แต่เราไม่ได้นับถือในความหมายที่ถูก พระโพธิสัตว์อยู่ แต่เราไปนับถือเสียอีกแบบหนึ่ง มันกลับตรงข้ามเลย นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัว
ตกลงว่า พระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่างแก่เรา เราจะต้องเอาอย่างพระโพธิสัตว์ ตั้งปณิธานในการทำความดีให้เป็นไปตามคติพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้อง
แต่อย่างไรก็ตาม พระโพธิสัตว์ก็มีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่อง เป็นข้อหย่อนข้อขาดไป ๒ อย่าง
อ้าว! เรารู้กันว่าพระโพธิสัตว์นี่ดีมาก ต่อไปจะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านบำเพ็ญเพียรเต็มที่ ช่วยเหลือคนอื่นอย่างเดียว พระโพธิสัตว์ดีขนาดนี้ ทำไมเราจึงไม่นับถือสูงสุดอย่างพระพุทธเจ้า ทำไมจึงว่าพระโพธิสัตว์มีจุดอ่อนสำคัญ ๒ ประการ
จุดอ่อนหรือข้อหย่อนอะไร ๒ ประการ (ในแง่ที่เกี่ยวกับการทำความดี)
๑. พระโพธิสัตว์ ที่ทำความดีนั้น ท่านทำด้วยปณิธาน ทำดีด้วยตั้งใจบำเพ็ญบารมี โดยตั้งเป้าหมายจะบรรลุธรรมสูงสุด
พระโพธิสัตว์ต้องการบรรลุนิพพาน ต้องการเป็นพระพุทธเจ้า ต้องการจะหลุดพ้น จึงต้องบำเพ็ญคุณความดีเหล่านั้น โดยตั้งปณิธานคือตั้งใจมั่นคงว่าจะเพียรบำเพ็ญคุณความดีเหล่านั้น แล้วก็อยู่ด้วยปณิธาน
ปณิธานของพระโพธิสัตว์นั้นเข้มแข็งยิ่งนัก ขนาดสละชีวิตเพื่อผู้อื่นได้ แต่รวมแล้วก็คือทำด้วยปณิธาน ต่างจากพระอรหันต์เช่นพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์) พระอรหันต์ทั้งหลายนั้นทำความดีโดยไม่ต้องอาศัยปณิธาน แต่ท่านทำความดีโดยเป็นธรรมชาติของท่านอย่างนั้นเอง จุดต่างกันอยู่ตรงนี้
พระโพธิสัตว์ต้องอาศัยปณิธาน ตั้งแต่เริ่มต้นเลย มุ่งหมายจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็ตั้งปณิธาน จากนั้นก็ทำความดีและอยู่ด้วยปณิธานเรื่อยไป พระโพธิสัตว์มุ่งมั่นแน่วแน่ในเป้าหมาย มีความเข้มแข็ง จิตมีพลังแรงมากในการที่จะทำให้สำเร็จตามปณิธานนั้น
แต่พระอรหันต์เป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตนเองอีก เพราะฉะนั้นการกระทำเพื่อผู้อื่นจึงเป็นธรรมชาติของท่าน ท่านทำความดีอย่างเป็นไปเอง
พระพุทธเจ้าทรงพ้นจากภาวะที่ถือปณิธานแล้ว เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทำความดีคือการไปโปรดไปช่วยสรรพสัตว์อย่างเต็มที่ เพราะพระองค์ไม่ต้องทำอะไรให้พระองค์เอง ไม่มีอะไรที่จะต้องทำให้ตัวเองแล้ว ท่านจึงเรียกว่าเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป แม้กระทั่งเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ชีวิตที่มีอยู่นี่จะทำอะไร ก็ทำสิ่งที่ควรทำที่เป็นประโยชน์ คือบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น แก่สังคม แก่ประชาชาวโลก และท่านก็ทำของท่านเรื่อยไปโดยไม่มีเรื่องอะไรอื่นที่จะต้องทำ นี่คือลักษณะของพระอรหันต์
พระอรหันต์ต่างกับพระโพธิสัตว์ตรงนี้ ตรงที่ว่าทำความดี บำเพ็ญประโยชน์โดยธรรมชาติของท่านเอง ไม่ต้องอาศัยปณิธาน แต่พระโพธิสัตว์ต้องใช้ปณิธาน
๒. พระโพธิสัตว์ที่ทำความดีนั้น ท่านทำความดีตามที่ยึดถือกันอยู่ อย่างที่เข้าใจกันว่าสูงเลิศที่สุด ตามที่หมู่มนุษย์ตกลงยอมรับกัน ซึ่งยังไม่ใช่ความดีสูงสุด ที่เกิดจากปัญญาหยั่งรู้สัจธรรม
พระโพธิสัตว์ยังอยู่ระหว่างบำเพ็ญบารมี ยังไม่ได้บรรลุธรรมสูงสุด ยังไม่ได้บรรลุปัญญาสูงสุด ที่เป็นโพธิ ปัญญาของท่านจึงยังไม่ถึงสัจธรรม ยังไม่รู้ตัวความจริงที่แท้ถึงที่สุด เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดี ก็ว่าตามที่ยึดถือหรือตามที่ตกลงกันในสังคมนั้น ตามที่สอนกันมาว่าอันนี้ดี ก็ยึดถือเป็นความดี แม้อาจจะเหนือกว่าในบางกรณี เพราะพัฒนาปัญญามามากแล้ว แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์
เมื่อยึดถือในความดีใด ท่านก็พยายามทำความดีนั้นให้เต็มที่ถึงที่สุด ไม่มีใครทำได้อย่างพระโพธิสัตว์ เวลาทำความดีอันไหน แม้แต่พระพุทธเจ้าก็อาจจะไม่ทำเท่ากับพระโพธิสัตว์ในความดีเฉพาะข้อนั้น อ้าว! ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะพระโพธิสัตว์ท่านตั้งใจทำความดีอย่างนั้นๆ ด้วยปณิธาน เวลานั้นท่านมีปณิธานในเรื่องนั้น ท่านก็ทำของท่าน จนกระทั่งเกินขนาดไปก็มี ความดีของพระโพธิสัตว์นั้น ไม่สมบูรณ์ เพราะเหตุว่าเป็นความดีตามที่ยึดถือกัน เขายึดถือมารู้กันมาอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น แต่ทำความดีนั้นได้สูงสุด
เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า พระโพธิสัตว์ในหลายชาติบรรลุฌานสมาบัติ เพราะฌานสมาบัติเป็นความดีสูงสุดแล้วในยุคสมัยนั้น บางชาติก็ได้อภิญญา ๕ เช่นในครั้งที่เป็นสุเมธดาบส ในสมัยนั้นก็ไม่มีใครได้อภิญญา ๕ เก่งเชี่ยวชาญอย่างสุเมธดาบส เป็นอันว่าพระโพธิสัตว์ทำได้สูงสุดในความดีที่เขาทำได้กันในยุคนั้น แต่ฌานสมาบัติ ตลอดจนอภิญญาทั้ง ๕ นั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ตรัสว่า นี่ยังไม่ใช่ธรรมสูงสุด ยังไม่ใช่จุดหมาย ไม่เป็นอิสรภาพ ถ้าใครขืนหลงติดในความวิเศษเหล่านี้ ก็เป็นความผิดพลาดด้วยซ้ำไป แต่พระโพธิสัตว์ก็ไปเอาจริงเอาจังกับความดีนั้น เพราะอะไร เพราะยังไม่หมดกิเลส ยังไม่ถึงสัจธรรม ยังไม่ถึงโพธิญาณ
ฉะนั้น พระโพธิสัตว์ก็อยู่กับความดีในระดับที่มนุษย์จะรู้กันนี่ถึงขั้นสูงสุดยอดเลย แต่ก็ไม่ถึงโพธิ ความดีของพระโพธิสัตว์จึงเป็นความดี ตามที่ยึดถือกันในโลกมนุษย์ แต่พระพุทธเจ้าทรงพ้นเลยจากความยึดถืออันนี้ เพราะรู้ว่าอะไรเป็นความดีที่แท้โดยสัมพันธ์กับสัจธรรม จนกระทั่งอยู่พ้นบาปเหนือบุญได้ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์อื่นๆ ทำความดีบริสุทธิ์ล้วนๆ เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ เพราะไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเองอีก อย่างที่กล่าวแล้ว และเพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้ทำความชั่วเหลืออยู่เลย
สองประการนี้คือข้อหย่อนของพระโพธิสัตว์ สรุปว่า พระโพธิสัตว์ยังไม่ตรัสรู้ ยังไม่หลุดพ้น จึง
ส่วนพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐ ก็เพราะพระองค์ผ่านการบำเพ็ญเพียรอย่างพระโพธิสัตว์มาแล้วจนสมบูรณ์ แล้วก็ทำความดีเพราะเป็นปกติธรรมดาของพระองค์เอง ไม่ต้องอาศัยปณิธาน
คติทั้งหมดที่นำมาพูดในวันนี้ ก็เพื่อให้เข้าใจว่าเราจะต้องนับถือพระโพธิสัตว์ให้ถูกต้อง และรู้ขอบเขตของพระโพธิสัตว์ กล่าวคือ
ประการที่หนึ่ง ถ้าเราจะนับถือพระโพธิสัตว์ เราก็ควรจะเอาแบบอย่างพระโพธิสัตว์ ในการบำเพ็ญเพียรทำความดี ให้เสียสละได้อย่างพระโพธิสัตว์ ไม่ใช่ไปคอยขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์
ประการที่สอง ขอบเขตของพระโพธิสัตว์ก็คือ พระโพธิสัตว์ยังไม่บรรลุธรรมสูงสุด ยังไม่เข้าถึงปัญญาตรัสรู้ จึงยังมีจุดอ่อน แม้แต่ในการบำเพ็ญความดีที่เป็นสาระสำคัญของพระโพธิสัตว์นั้นเอง คือท่านยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าต่อไป จนกว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า จึงเป็นผู้ประเสริฐสูงสุด ดังที่กล่าวมา
เมื่อพุทธศาสนิกชนรู้หลักอย่างนี้แล้ว ก็จะได้นับถือพระพุทธศาสนาและปฏิบัติต่อพระศาสนาได้ถูกต้อง เพราะความไม่รู้นี่แหละ จึงทำให้เราเชื่อถือและปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปต่างๆ
ตอนนี้ก็มีเรื่องแทรกเข้ามาหน่อย พระโพธิสัตว์เป็นผู้บำเพ็ญบารมี เพียรทำความดีทั้งปัญญาและบรรดาปุญญังอย่างยวดยิ่งสูงสุด สามารถสละชีวิตช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเป็นธรรมดา ทีนี้ใกล้ตัวเราเข้ามา ก็มีพระคือพระภิกษุ ก็ต้องรู้ว่าพระทำอะไร หรือว่าพระภิกษุมีบทบาทหน้าที่อะไร
พระนั้นตัวท่านเองมีหน้าที่ศึกษา คือเล่าเรียนและปฏิบัติ เล่าเรียนให้รู้เข้าใจ และฝึกปฏิบัติให้ทำได้ทำเป็น ทั้งเล่าเรียนและปฏิบัติจึงเป็นศึกษา (ศึกษามิใช่แค่เล่าเรียน) เพื่อให้เจริญพัฒนาขึ้นไปในศีล สมาธิ ปัญญา ที่เรียกว่าไตรสิกขา เมื่อศึกษาจบ เป็นศึกษิต ก็เรียกว่าอเสขะ ผู้ไม่ต้องศึกษา คือเป็นพระอรหันต์
ที่ว่านั้นเป็นเรื่องของตัวท่านเอง แต่ที่มองกันทั่วไป มักดูว่าท่านทำอะไร อย่างที่ว่าท่านอยู่ในโลกด้วยบทบาทหน้าที่อะไร
คนมากมายมองพระทำนองว่าเป็นเจ้าพิธี จะทำสังฆทาน ก็ไปวัด นิมนต์พระมาทำพิธี มีงานทำบุญบ้าน ก็นิมนต์พระมาเจริญพุทธมนต์ เป็นพิธี จัดงานศพ ก็มีพิธีที่นิมนต์พระมาสวดมาติกา มาบังสุกุล ฯลฯ ชาวบ้าน ประชาชน จะได้พบพระ ก็คือในพิธีต่างๆ
พระเป็นเจ้าพิธีจริงหรือ? การมองพระเป็นเจ้าพิธี ก็คือการมองพระให้เป็นอย่างพราหมณ์ ก่อนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ชาวชมพูทวีปอยู่ในศาสนาพราหมณ์ ต้องทำพิธีบูชายัญมากมายซึ่งถือเป็นหน้าที่ ตั้งแต่บูชายัญย่อยๆ ประจำวัน ที่ทำกันเองในบ้านตามที่พราหมณ์สอนไว้ และบูชายัญใหญ่ๆ ที่ต้องไปหาพราหมณ์ให้ทำพิธีให้ เสร็จแล้วก็ถวายทักษิณา เป็นค่าทำพิธี
เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระเที่ยวจาริกไปสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน คนเลื่อมใสนำข้าวของมาถวายพระ ก็เรียกว่าทักขิณา/ทักษิณา พระพุทธเจ้าทรงแสดงความหมายของทักษิณานั้นใหม่ว่า มิใช่เป็นค่าตอบแทนในการทำพิธี แต่เป็นของที่ประชาชนถวายด้วยศรัทธาเชื่อกรรม เพื่ออุดหนุนพระให้มีกำลังที่จะศึกษาคือเล่าเรียนปฏิบัติอย่างที่ว่า แล้วจะได้เที่ยวจาริกนำธรรมไปบอกเล่ากล่าวสอนให้แก่ประชาชน
ที่ว่านั้นก็คือ ภิกษุหรือพระในพระพุทธศาสนานี้ อยู่ในโลกโดยมีบทบาทหน้าที่ในการบอกเล่ากล่าวสอนให้ธรรมแก่ประชาชน เรียกสั้นๆ ว่า “ธรรมทาน” แล้วชาวบ้านจะบำรุงพระให้มีกำลังศึกษาเอาธรรมมาสอนให้แก่ประชาชน ก็ถวายวัตถุปัจจัย เรียกสั้นๆ ว่า “อามิสทาน” ก็เลยเป็นคำคู่ที่แสดงบทบาทหน้าที่ต่อกันระหว่างพระกับชาวบ้าน ว่าชาวบ้านถวายปัจจัย พระให้ธรรม เป็นหลักคู่สำคัญที่ควรรู้กันให้ชัด และปฏิบัติกันให้ตรง
หลักการที่พระกับโยม ทั้งสองฝ่ายอาศัยกัน เกื้อหนุนกัน ด้วยวัตถุปัจจัย กับการให้ธรรมนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อญฺโญญญนิสสิตา” (อาศัยซึ่งกันและกัน) เป็นอันว่าบทบาทหน้าที่ของพระก็คือการให้ธรรม สั่งสอนแนะนำ ให้ประชาชนเจริญพัฒนาก้าวไปในการศึกษา พูดสั้นๆ ในแนวของพระโพธิสัตว์ว่าให้เขามีปุญญังและปัญญาที่เจริญพัฒนายิ่งขึ้นไป หรือเป็นคนที่มีคุณภาพนั่นเอง
ส่วนพิธีกรรมทั้งหลายนั้น เป็นเรื่องสามัญของสังคมที่มีวัฒนธรรมประเพณีของหมู่มนุษย์ที่มาอยู่ร่วมกัน เมื่อพระยืนอยู่ในหลักการแห่งการให้ธรรม แทนที่จะมาเป็นเพียงเจ้าพิธี ก็ใช้พิธีกรรมนั้นเป็นโอกาส คือ เมื่อมีพิธี คนมากมายก็มาชุมนุมกันตามธรรมดาของเขาเอง และใจตั้งมองดูไปที่พระพร้อมที่จะฟัง พระก็มีโอกาสดีที่จะให้ธรรม นี่คือ เมื่อปฏิบัติถูกต้อง พิธีกรรมก็มาเป็นเครื่องมือ หรือเป็นโอกาสของการทำบทบาทแห่งการให้ธรรมดังที่ว่านี้
ทั้งหมดนั้นเป็นหลักการบางอย่างที่นึกขึ้นมาได้ ก็พูดไป ที่จริงมีเรื่องควรจะพูดอีกมาก แต่ตอนนี้อยากจะโยงเรื่องมาหาตัวโยม
ขอย้อนหลังไปหน่อย ก็เป็นอันว่า เอาแค่พระโพธิสัตว์ก็เก่งแล้ว เราไม่ว่าถึงขั้นพระพุทธเจ้า เพราะเราก็ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังไม่ถึงขั้นที่จะทำดีอย่างเป็นธรรมดาของเราเอง ถ้าจะทำได้บ้าง พอจะเรียกว่าเป็นการทำดีโดยธรรมชาติได้ในแง่หนึ่ง ก็คือทำด้วยการฝึกตัวเองมาจนชิน เป็นเรื่องติดตัว ไม่ใช่เป็นไปโดยธรรมดาแท้ๆ
ถ้าเราทำอะไรให้จริงจัง ฝึกทำอยู่เสมอ ก็จะสะสมติดตัวจนเรียกได้ว่าเป็นธรรมดาของเรา ในความหมายแบบของมนุษย์ปุถุชน
ฉะนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์ก็คือ ทำให้จริง ถ้าจะทำความดีอะไรแล้ว ทำให้จริง ทำให้เป็นลักษณะประจำตัว ทำให้เป็นนิสัย ทำให้เป็นวาสนา
เอาอีกแล้ว คำว่า “วาสนา” นี้ ก็ต้องทำความเข้าใจกันอีก แต่วันนี้จะไม่พูดยาว เดี๋ยวจะไปกันใหญ่
วาสนา นี่ มิใช่มีความหมายอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย วาสนานั้น ที่จริงคือ ลักษณะประจำตัวที่แต่ละคนได้สั่งสมอบรมมาจนเคยชิน เช่นเป็นคนที่มีท่าทางเดินอย่างนี้ มีท่วงทำนองพูดอย่างนี้ ชอบพูดคำอย่างนี้ มีความสนใจแบบนี้ อันนี้เรียกว่า “วาสนา”
วาสนา คือความเคยชินที่สั่งสมอบรมมาจนเป็นลักษณะประจำตัวนี้ เป็นตัวกำกับและกำหนดวิถีชีวิตของคนเป็นอย่างมาก ท่านจึงถือว่าวาสนาเป็นเรื่องสำคัญ
คนเรานี้ เมื่อมีลักษณะประจำตัวที่จะแสดงออกอย่างไรแล้ว ก็จะปรากฏแก่ผู้อื่น แล้วมีผลย้อนกลับต่อชีวิตของตัวเอง เช่น เรามีลักษณะการพูดจาอย่างนี้ ใช้ถ้อยคำอย่างนี้ คนอื่นได้เห็นท่าที ได้ยินคำพูดของเราอย่างนั้นแล้ว เขาก็จะมีท่าทีเป็นปฏิกิริยาตอบสนองย้อนกลับมา บางคนพูดแล้ว คนอื่นชอบฟัง บางคนพูดแล้ว คนอื่นอยากหนี บางคนพูดแล้วคนอื่นอยากตี
เดินก็เหมือนกัน บางคนเดิน คนอื่นชอบดู บางคนเดิน คนอื่นชื่นชมนับถือ บางคนเดิน คนอื่นระคายใจ ไม่ว่าจะเดิน จะยืน จะทำอะไรก็ตาม ต่างคนก็ต่างกันไปหมด นี้เป็นวาสนา
วาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ลอยมาจากฟากฟ้าที่ไหน วาสนาอยู่ที่ตัวเรานี้ แล้วมันก็กำหนดวิถีชีวิตของเรา
แต่ละคนมีวาสนาไม่เหมือนกัน เพราะสั่งสมอบรมมาไม่เหมือนกัน ทีนี้ ในการที่จะทำความดีให้ติดตัว จนกระทั่งเรารู้สึกเหมือนเป็นธรรมชาติของเรานั้น ก็คือทำจนเป็นวาสนา ต้องทำด้วยความจงใจคัดเลือกความดีที่จะทำ และทำให้จริงจัง ถ้าเราปล่อยเรื่อยเปื่อย เราก็จะได้วาสนาที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องตั้งใจว่า อะไรที่ดี ก็ตั้งใจฝึกทำให้สม่ำเสมอ ทำให้ชินไปเลย
โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกหลาน จะต้องระลึกไว้ว่า คนเรานี้จะอยู่ด้วยความเคยชินเป็นส่วนมาก กิริยามารยาท การวางตัว การพูดจาอะไรต่างๆ ที่เป็นลักษณะประจำตัวของแต่ละคนนั้น เริ่มต้นก็เกิดจากการทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน แล้วก็ทำอย่างนั้นๆ จนชิน เพราะฉะนั้น ถ้าเราปล่อยให้การกระทำอย่างใดเกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ก็มักมีความโน้มเอียงที่จะทำอย่างนั้น เมื่อทำซ้ำอีก ต่อไปก็จะเคยชินอย่างนั้น และเมื่อชินแล้ว ก็จะแก้ยากที่สุด ฉะนั้นพ่อแม่จะต้องชิงให้ลูกได้ความเคยชินที่ดี แล้วเขาก็จะมีวาสนาที่ดี
พ่อแม่จึงควรต้องเอาใจใส่คอยใช้โอกาส ตั้งแต่เริ่มแรก ให้ลูกได้ความเคยชินต่างๆ ที่ดี ที่งาม เป็นวาสนาติดประจำตัวไป แล้วความเคยชินที่เป็นวาสนานั้น ก็จะเป็นโชคเป็นลาภของเขาในอนาคต เพราะฉะนั้น ความสำเร็จจึงอยู่ที่เราจะทำให้ความประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม กลายเป็นความเคยชินของเขา
เมื่อเราฝึกตัวเองให้ดี พยายามทำให้เคยชินในเรื่องนั้นๆ ต่อไปการกระทำหรือความประพฤติอย่างนั้นก็จะเป็นไปเองโดยเราไม่รู้สึกตัวเลย การทำจนชินเป็นวาสนาอย่างนี้ ถ้าจะเรียกว่าเป็นธรรมชาติหรือเป็นธรรมดาของเรา ก็พอได้ แต่ธรรมดาระดับนี้ ไม่ใช่ธรรมดาแบบพระพุทธเจ้า เป็นเพียงธรรมดาแบบเคยชิน
การที่ได้ยกเอาหลักในคติพระโพธิสัตว์ขึ้นมาพูดนั้น ก็เข้ากับเรื่องนี้ คือในการทำความดีนั้น ต้องมีแนวทางหรือมีจุดเน้นบ้าง จึงต้องตั้งเป้าไว้ว่า เราจะเอาอย่างไร มิใช่ว่าประพฤติความดีพร่าไปหมด ต้องเอาเป็นข้อๆ ทีละข้อ ทีละเรื่อง หรือสองสามเรื่อง ก็พอ เพราะฉะนั้น นอกจากมีศีลแล้ว ท่านจึงให้มีพรตมีวัตรด้วย
ศีลเป็นความประพฤติสามัญที่ควรปฏิบัติเสมอกันสำหรับทุกคน ในโลก ในสังคม ในชุมชน หรือในหมู่ชนนั้นๆ แล้วแต่กรณี เช่น ในหมู่มนุษย์ทั้งหมด คนเราอยู่ในสังคมด้วยกัน ก็ไม่ควรละเมิดต่อกัน ไม่ควรเบียดเบียนกัน เมื่อต่างคนพากันประพฤติอย่างนี้ ก็อยู่กันดี เมื่อประพฤติกันได้อย่างนี้เป็นปกติ ก็เป็นคนมี ศีล
ทีนี้ นอกเหนือจากความประพฤติสุจริตที่ทุกคนควรมีเป็นปกติเหมือนๆ กัน หรือความประพฤติดีขั้นพื้นฐานที่เรียกว่าศีลนี้ เราอาจทำความดีพิเศษบางอย่างเพิ่มขึ้นมา ให้เป็นความประพฤติพิเศษประจำตัว ที่เรียกว่า วัต (พรต)7 ตลอดจนข้อปฏิบัติย่อยๆ ที่ทำเป็นประจำจำพวกหน้าที่ ที่เรียกว่า วัตร เช่นกิจวัตรต่างๆ
ความประพฤติพิเศษประจำตัว และข้อปฏิบัติที่ทำเป็นประจำเหล่านี้ จะสะสมปรุงแต่งความเคยชินอุปนิสัยความถนัดความสามารถประกอบกันเป็นบุคลิกของเรา ตั้งแต่อากัปกิริยาทั่วไป นี่คือเป็นวาสนาที่จะกำหนดโชคชะตาของเรา
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งหรือบางอย่างให้ได้ผล ก็เอามาถือปฏิบัติประจำตัว เหมือนอย่างที่พระสมาทานพรตสมาทานวัตร เมื่อเราคิดพิจารณาด้วยเหตุผลแล้ว เห็นว่าการกระทำหรือการปฏิบัติอันนี้ ถ้าถือแล้วจะเป็นประโยชน์แก่เรา ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางลบก็ตาม ในทางบวกก็ตาม ก็ตั้งใจสมาทาน คือถือปฏิบัติด้วยความเจาะจงจำนงใจ
ในทางลบ เช่นจะแก้นิสัยบางอย่าง บางคนรู้สึกว่าตัวเรานี้เป็นคนมีนิสัยเสียในเรื่องชอบกินจุกกินจิก คิดขึ้นมาว่าอย่างนี้ไม่ดีนะ ควรแก้ไขเสีย เราก็สมาทานพรตไม่กินจุกจิก จะกินวันละเท่านั้นเท่านี้มื้อ หรือแม้แต่กินมื้อเดียวก็ได้ อาจจะตั้งเป็นวัตรว่าจะกินเมื่อตรงเวลาเท่านั้นเวลาเท่านี้ แล้วแต่จะพิจารณาว่าเหมาะกับตนหรือเป้าหมายของตน พอเราตกลงกับใจของเราได้มั่นใจแล้ว ก็สมาทานเลยว่า เราจะถือข้อปฏิบัติอย่างนี้ตลอดเวลายาวนานเท่านั้นเท่านี้ การถือจำกัดเวลาก็ได้ ไม่จำกัดเวลาก็ได้ เมื่อตกลงสมาทานจริงจัง เอามาตั้งเป็นพรตเป็นวัตร ทำเป็นข้อเจาะจงชัดเจนอย่างนี้ ก็จะประสบความสำเร็จ
เพราะฉะนั้น ในเรื่องของข้อปฏิบัติ เรื่องความประพฤติ เรื่องพฤติกรรมต่างๆ ถ้าจะให้สำเร็จ ต้องทำเป็นพรตเป็นวัตร ใครจะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ ก็สมาทานพรตตั้งเป็นวัตร ก็มีทางแก้ไขได้สำเร็จ นี่เป็นเคล็ดลับในการฝึกคน ท่านจึงให้หลักไว้สองชั้น ไม่ใช่อยู่แค่ศีล แต่มีพรตมีวัตรด้วย ศีลนั้นเรามีเหมือนกับคนอื่น ความประพฤติของเราอยู่ในระดับปกติดีแล้ว เหนือจากนั้น เราก็ถือพรตทำวัตรเพื่อแก้ไขอะไรบางอย่าง หรือทำอะไรที่พิเศษยิ่งขึ้นไป
ในทางบวก เมื่อจะทำความดีบางอย่าง เช่น จะฝึกตนให้เป็นคนกล้าเสียสละ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว มากด้วยเมตตาการุณย์ ตัวเคยได้ฟังพระสอนว่ากินคนเดียวไม่ได้ความสุข (เนกาสี ลภเต สุขํ, เช่น ขุ.ชา. ๒๗/๑๖๗๔/๓๓๓) ก็อาจสมาทานความประพฤติพิเศษอะไรสักอย่าง ที่เป็นการไม่กินคนเดียว อย่างพระโพธิสัตว์ในชาดกหนึ่งถือข้อปฏิบัติว่า ถ้ายังไม่ได้ให้อาหารแก่ใคร ตัวเองก็ยังไม่กิน หรือว่า จะไม่ยอมกินอะไรก่อนให้คนอื่น ท่านสมาทานวิธีปฏิบัติว่า แต่ละวันเมื่อตื่นขึ้นมา จะยังไม่ยอมกินอะไร จนกว่าจะได้ให้แก่ผู้อื่นก่อนแล้ว
ญาติโยมถือพรตทำวัตรอย่างนี้ได้ ก็ดีเหมือนกัน พอถือหลักว่าต้องให้แก่ผู้อื่นก่อนแล้ว ในวันหนึ่งๆ เมื่อตื่นขึ้นมา ก็ต้องหาทางไปให้แก่คนอื่น ไม่รู้จะให้ใคร ก็ถวายพระ ไปตักบาตร ก็เป็นอันว่าได้ให้แล้ว จากนั้นตัวเองจึงจะกินข้าว อย่างนี้ก็ได้สมาทานพรตและทำวัตรแล้ว เป็นตัวอย่างหนึ่ง
ทีนี้ต่อไป ในทางจิตใจที่สูงกว่านั้น ก็ทำปณิธาน อย่างพระโพธิสัตว์ ปณิธานมีคุณค่าก็เพราะเหตุผลนี้ คือการที่จะทำความดีพิเศษอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ ถ้าเราไม่ตั้งใจเอาจริงเอาจังเฉพาะอย่างหรือเป็นเรื่องๆ เป็นข้อๆ ไปแล้ว มันก็จะพร่าไปหมด จับจุดไม่ได้ ดังนั้นเราจึงตั้งปณิธานขึ้นมา
พระโพธิสัตว์ในชาติหนึ่งๆ ก็ตั้งปณิธานแน่วไปในบารมีอย่างหนึ่งอย่างเดียวใช่ไหม ท่านไม่ได้ทำทีเดียวสิบบารมี ในชาติที่เป็นพระมโหสถ ก็เอาทางปัญญา ในชาติเป็นพระมหาชนก ก็เอาทางความเพียร ในชาติเป็นพระเวสสันดร ก็เอาทางทาน เรียกว่ามีปณิธานเต็มที่ในความดีที่เป็นบารมีนั้นๆ
โยมเองนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจะฝึกฝนตนเองทำความดีอะไรบางอย่างให้สำเร็จ และให้ก้าวหน้า ก็ตั้งปณิธานเลยว่าจะทำความดีอันนี้ให้เป็นพิเศษ แล้วก็จะสำเร็จด้วยปณิธานนั้น เป็นการดำเนินตามอย่างพระโพธิสัตว์
เรายอมรับว่าเรายังไม่ถึงขั้นของพระอรหันต์ ที่จะทำความดีอย่างเป็นไปเองโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้น พรต วัตร กับปณิธานนี่จะช่วยเรามากในการที่จะก้าวหน้าไปในการบำเพ็ญไตรสิกขา หรือในการประพฤติปฏิบัติตามหลักพระศาสนา
คนที่ได้หลักอย่างนี้แล้ว ได้สมาทานพรต ทำวัตร ได้ตั้งปณิธานในการทำความดีอย่างนี้แล้ว จะไม่แกว่งไกวไปกับเรื่องมงคลตื่นข่าว ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ฤทธิ์เดช เดี๋ยวดังที่นั่น เดี๋ยวดังที่นี่ เขาว่าที่โน้นที่นั้นดีอย่างนี้อย่างนั้น ไม่ว่าข่าวดังอะไรมา ก็ไม่ตื่นไม่เขว เรามีหลักของเราแล้ว ข่าวดังเรื่องขลังเหล่านี้ก็เป็นเพียงเรื่องให้รู้ทัน ถ้าเรารู้เข้าใจและปฏิบัติอย่างนี้ เราก็อยู่กับหลักที่เป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา เหตุการณ์อะไรต่ออะไรแบบนี้เกิดขึ้น มันผ่านเข้ามาแล้ว ก็ผ่านออกไป เมื่อมันผ่านไปแล้ว พระพุทธศาสนาของเรา ก็ไม่กระทบกระเทือน เพราะพระศาสนาอยู่ที่ตัวเราเอง
ตกลงว่า เมื่อเราปฏิบัติถูกต้อง พระศาสนาก็อยู่ที่ตัวเราเอง เราไม่ต้องไปทำอะไรวุ่นวาย ตัวเรานี่แหละเป็นที่สืบพระศาสนา เพราะว่าพระธรรมมาอยู่ในตัวเราแล้ว ตัวเราเดินไปไหน พระธรรมก็เดินไปด้วย ตัวเราอยู่ พระศาสนาก็อยู่ เราทำหน้าที่สืบต่อรักษาพระศาสนาอยู่แล้วตลอดชีวิตของเรา ด้วยการที่เราทำความดีนั้นเอง นี่เรียกว่าพุทธศาสนิกชนได้หลักแล้ว
เพราะฉะนั้นจึงขอเชิญชวน ขอให้พวกเราเรียนรู้ให้เข้าใจหลักพระศาสนา แล้วประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่างน้อยก็ให้พุทธศาสนิกชนเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี มีคุณสมบัติเป็นอุบาสกแก้ว อุบาสิกาแก้ว อย่างที่ท่านเรียกไว้ เราก็จะเอาใจใส่ฝึกฝนพัฒนาชีวิต มาฟังธรรม ศึกษาธรรม เรียนรู้หลักทั้งพระวินัยและคำสอนพื้นฐานของพระพุทธเจ้า แล้วยึดถือหลักกรรม เอาการกระทำเป็นเครื่องนำมาซึ่งผลสำเร็จ ด้วยการใช้สติปัญญา แล้วเพียรพยายามทำการทั้งหลายให้ตรงตามเหตุปัจจัย ไม่ตื่นข่าวมงคล ไม่เอาพระศาสนาไปขึ้นต่อบุคคล แล้วก็ไม่แกว่งไม่ไกว มีหลักอยู่กับตัว และพระศาสนาก็อยู่กับเรา ตัวเราก็เกื้อต่อพระศาสนา พระศาสนาก็ช่วยเรา ตัวเรากับพระศาสนาก้าวหน้าไปด้วยกัน ก็จะเป็นความเจริญมั่นคง เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ชีวิตของเราเองและแก่สังคม
วันนี้อาตมภาพได้พูดมายืดยาวนาน ถ้าหากว่ายาวเกินไป ก็ต้องขออภัยโยมด้วย แต่ถ้าเป็นประโยชน์ ก็ขอให้เอามาช่วยกันประพฤติปฏิบัติ จะได้สืบพระศาสนากันต่อไป
ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง และในโอกาสนี้ ด้วยการที่โยมมีความตั้งใจดี มีน้ำใจประกอบด้วยเมตตาและไมตรีธรรม พร้อมด้วยมุทิตาธรรมต่ออาตมภาพ ก็ขอให้ความตั้งใจดีนั้น ซึ่งเป็นธรรมอยู่ในตัว จงเกิดเป็นพรขึ้นมา ซึ่งจะอำนวยผลเป็นอานิสงส์ ให้เกิดความสุขความเจริญสืบไป
พร้อมนี้ ขออ้างอิงคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศลที่โยมได้บำเพ็ญแล้ว มีศรัทธาและเมตตาเป็นต้น ที่ตั้งขึ้นในใจของโยมเอง จงเป็นปัจจัยอันมีกำลังอภิบาลรักษา ให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความก้าวหน้างอกงาม ในการดำเนินชีวิต ในการประกอบกิจอาชีพการงาน และในการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า ให้ประสบความสำเร็จ มีความร่มเย็นเป็นสุขในชีวิต และช่วยกันทำสังคมนี้ให้มีความสงบสุขร่มเย็น โดยทั่วกัน ตลอดกาลนาน เทอญ
อาตมาได้รับนิมนต์มาที่วัดสวนแก้วอีกครั้ง ที่มานี่ก็พอดีประจวบกับมีเหตุการณ์ที่ชาวไทยหรือพุทธศาสนิกชนกำลังสนใจมากเป็นพิเศษ บางคนเลยอาจเข้าใจผิดว่า อาตมามาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย แต่ที่จริงไม่เกี่ยวกัน คือ อาตมาได้รับนิมนต์ไว้นานแล้ว ได้รับหนังสือนิมนต์จากพระอาจารย์พยอม กลฺยาโณ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๖ ตอนนั้นก็ยังไม่มีเหตุการณ์นี้
วันนี้อาตมาไม่ได้คิดจะพูดอะไรที่เป็นเรื่องหลักสำคัญเป็นพิเศษ จะมาพูดกับโยมในเรื่องที่สบายๆ แทนที่จะบรรยายธรรม ก็อยากจะให้เป็นการตั้งคำถาม และแทนที่จะให้โยมถาม อาตมากลับเป็นฝ่ายถามโยม เพราะฉะนั้นวันนี้จะตั้งคำถามให้โยมตอบ ทีนี้ ถ้าจะให้โยมตอบจริงๆ ก็คงใช้เวลามาก จะวุ่นวายสับสน ฉะนั้นอาตมาถามไป แล้วก็ให้คิดและลองตอบดูว่า จะตรงกันหรือไม่
คำถามที่จะถาม ก็อย่างที่ว่าข้างต้น คือวันนี้จะพูดแบบสบายๆ ไม่ใช่ถามเรื่องหลักธรรมที่ลึกซึ้งอะไร ถามเรื่องง่ายๆ ที่เราควรจะรู้ ควรจะสนใจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสภาพปัจจุบัน
อาตมามานึกว่า เวลานี้ เราควรจะให้ความสนใจแก่หลักพระศาสนาให้มาก คือมาสังเกตว่าประชาชน หรือที่เรียกว่าชาวพุทธในปัจจุบันนี้ มีความแกว่งไกวมาก แกว่งไกวไปตามเหตุการณ์ เรื่องราว หรือบุคคล ไม่ได้หลัก
ถ้าหากเป็นคนที่มีหลัก รู้หลักพระศาสนาดีแล้ว ก็ยืนอยู่กับหลัก เหตุการณ์เรื่องราวอะไรต่างๆ ผ่านมา เรายืนอยู่กับหลักแล้ว ก็ไม่หวั่นไหว เราอาจจะมอง เราอาจจะเห็น แล้วสิ่งนั้นก็ผ่านไป
ยิ่งกว่านั้น ถ้าเรามีหลักแล้ว เราสามารถวินิจฉัยได้ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้น การกระทำต่างๆ นั้น ถูกต้องหรือไม่ แทนที่จะฟังทางโน้นทีทางนี้ที แล้วก็หวั่นไหวไป ถ้าหากว่าดำรงตัวไม่ดี ดีไม่ดีก็หล่นไปจากพระพุทธศาสนาเลย
ตกลงว่า วันนี้ย้ำความสำคัญเรื่องหลัก ทีนี้หลักที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่หลักธรรมสำคัญอะไรนักหรอก เป็นเรื่องง่ายๆ แต่บางทีไม่ได้คิดกัน ฉะนั้น ตอนนี้อาตมาจะตั้งคำถามเล็กๆ น้อยๆ ตั้งไว้สัก ๔-๕ ข้อก่อน
ข้อที่ ๑ ถามว่า ยุคนี้เขาเรียกว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูล คุณสมบัติของชาวพุทธข้อไหน ที่สำคัญสำหรับยุคปัจจุบันที่เรียกว่า ยุคข่าวสารข้อมูล ขอให้นึกดู จะตอบได้ ก็ต้องรู้ว่าชาวพุทธมีคุณสมบัติอะไร
ข้อที่ ๒ ถามว่า การนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้อง คือนับถืออย่างไร อันนี้ถามเกี่ยวกับคติพระโพธิสัตว์ แล้วก็ถามเนื่องออกไปว่า ระหว่างพระโพธิสัตว์ กับพระอรหันต์ นั้นมีความต่างกันอย่างไรในการทำความดี ต่อไป
ข้อที่ ๓ พระอริยะกับผู้วิเศษ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร และก็อาจจะถามเนื่องเข้าไปด้วยกับข้อนี้ว่า ใครจะรู้หรือตัดสินได้ว่าผู้ใดเป็นพระอริยะ ตลอดจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์
ข้อที่ ๔ ถามว่า ปาฏิหาริย์มีกี่อย่าง ต่างกันอย่างไรในพระพุทธศาสนา ท่านให้นับถือปาฏิหาริย์หรือเปล่า
(ไม่ใช่ตอบตามลำดับคำถาม แต่ตอบตามเนื้อหาที่โยงกัน)
ทีนี้อาตมาจะเริ่มตั้งแต่คำถามข้อที่ ๑ ที่ว่า คุณสมบัติของชาวพุทธข้อไหนมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับยุคปัจจุบัน ที่เรียกว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูล
โยมจะตอบ ก็ต้องทราบว่าชาวพุทธมีคุณสมบัติอะไรบ้าง อาตมาขอทวนว่า องค์ธรรมของอุบาสกอุบาสิกา ที่ถือกันเป็นหลักสำคัญทั่วไปมี ๕ ประการ
๑. มีศรัทธามั่นในคุณพระรัตนตรัย เชื่อมีเหตุผล ไม่งมงาย
๒. มีศีล คือมีความประพฤติดีงามสุจริต ตั้งอยู่ในศีล ๕ เป็นอย่างน้อย
๓. ไม่ตื่นข่าวมงคล หวังผลจากกรรม ไม่หวังผลจากมงคล
๔. ไม่แสวงหาทักขิไณย์ภายนอกหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
๕. เอาใจใส่ส่งเสริมสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนา
อันนี้โยมฟังแล้ว เห็นว่าข้อไหนสำคัญมากสำหรับยุคปัจจุบัน (มีญาติโยมตอบว่า ไม่ถือมงคลตื่นข่าว)
บอกแล้วว่ายุคข่าวสารข้อมูล คำว่า ไม่ตื่นข่าว ก็ตรงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ข้อที่ ๓ ถือว่าเป็นข้อที่สำคัญเป็นพิเศษในยุคนี้ ขอแปลว่า ไม่ตื่นข่าวมงคล คือได้ยินว่ามีขลังที่โน่น ศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ มีฤทธิ์ที่นั่น พระดังที่โน้น ก็ตื่นกันไป ไปโน่นไปนี่ จนกระทั่งว่าไม่เป็นอันได้ทำกิจหน้าที่การงาน ไม่เป็นอันได้ฝึกฝนพัฒนาตน ไม่เป็นอันได้ปฏิบัติธรรม กลายเป็นคนไม่มีหลัก ถ้าเป็นคนตื่นข่าวมงคล ก็ไม่มีหลัก
สำหรับชาวพุทธผู้อยู่ในหลักที่ถูกต้อง ก็จะหวังผลจากกรรม เชื่อกรรม คือหวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตน โดยใช้สติปัญญาพิจารณาจัดทำตามเหตุตามผล อันนี้ก็จะเป็นทางให้เราพัฒนาตัวเองได้
ชาวพุทธเชื่อกรรม ฉะนั้นหลักกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเราจะเชื่ออะไรที่เป็นพิเศษออกไป สิ่งนั้นจะมาขัดขวางหลักกรรมไม่ได้ มีแต่จะต้องให้มาสนับสนุนหลักกรรม
สนับสนุนอย่างไร ก็คือจะต้องมาทำให้เรามีความมั่นคง มีกำลังใจเข้มแข็งในการกระทำสิ่งที่ควรจะทำ ในการทำหน้าที่หรือทำความดีนั้นให้หนักแน่นยิ่งขึ้น มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นคนนั่งนอนคอยโชค หวังผลจากการดลบันดาล ถ้ามัวหวังผลจากการดลบันดาลนั่งนอนคอยโชค ก็เป็นอันว่าผิดหลักกรรม อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ จะต้องตรวจสอบตัวเอง แล้วก็ยึดในหลักนี้ไว้ให้มั่น
ทีนี้เลยไปข้อปาฏิหาริย์ ในพระพุทธศาสนานี้ท่านสอนให้เชื่อในปาฏิหาริย์หรือเปล่า
ข้อนี้ตอบไม่ดีอาจผิด ต้องแยกแยะก่อน ปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าสอนไว้มี ๓ อย่าง คือ
๑. อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นปาฏิหาริย์ในเรื่องฤทธิ์ คือการแสดงฤทธิ์ หรือความเป็นผู้วิเศษ ดลบันดาลอะไรต่างๆ เหาะเหินเดินอากาศ หูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น
๒. อาเทศนาปาฏิหาริย์ คือการทายใจโยมได้
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือคำสอนที่เป็นอัศจรรย์ คำสอนที่แสดงความจริงให้ผู้ที่ฟังรู้เข้าใจ มองเห็นความจริงเป็นอัศจรรย์ แล้วก็สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติตามได้ผลจริงเป็นอัศจรรย์ อันนี้คือให้โยมเกิดปัญญารู้ความจริง
ในปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญปาฏิหาริย์สองอย่างแรก คือ อิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ แต่ทรงสรรเสริญข้อที่สาม ได้แก่ อนุศาสนีปาฏิหาริย์
ทีนี้ ลองมาดูกัน เอาง่ายๆ ๒ ข้อแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับฤทธิ์ เนื่องกับความสามารถพิเศษทางจิต ก็แยกข้อ ๑-๒ เป็นพวกหนึ่ง ข้อ ๓ เป็นพวกหนึ่ง ทีนี้พระพุทธเจ้าสรรเสริญข้อที่ ๓
ก็เป็นอันว่า ข้อที่ ๑-๒ นี่เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ยกย่อง ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ยกย่อง เราจะมองเห็นความแตกต่างระหว่างปาฏิหาริย์ ๒ แบบนี้
ปาฏิหาริย์ประเภทฤทธิ์นี่ เวลาแสดง คนที่ดูที่ฟัง ดูฟังเสร็จแล้ว ก็งงไปเลย ดูว่าตัวผู้แสดงนั้นเก่ง แต่ตัวโยมเองไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อยู่เท่าเดิม อาจจะแย่ลง เพราะว่างง เดิมยังไม่งง พอดูท่านผู้แสดงฤทธิ์เสร็จ งงไปเลย งงนี่ต้องระวัง เดี๋ยวจะกลายเป็นโง่ไป คือกลายเป็นโมหะ กลายเป็นว่า พอเห็นฤทธิ์ ท่านแสดงฤทธิ์ให้ดูเสร็จ ตัวเองกลับมีโมหะมากขึ้น
ทีนี้ไปดีที่ไหน ก็ไปดีที่คนแสดง คนแสดงก็เด่นยิ่งขึ้น ตกลงเราก็ต้องไปหวังพึ่งท่านผู้แสดงฤทธิ์อยู่เรื่อยเลย ไม่เป็นอันทำอะไรแล้ว คอยรอหวังผลว่าท่านจะทำอะไรให้
คราวนี้มาดูอนุสาสนีปาฏิหาริย์ข้อที่ ๓ ที่พระพุทธเจ้ายกย่อง พอแสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์เสร็จ อะไรเกิดขึ้นในใจของผู้ฟัง ปัญญาเกิดขึ้น พอปัญญาเกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างไร เป็นของผู้นั้นเอง ทีนี้ผู้ฟังได้ คือ ได้ปัญญา พอปัญญาเกิดแล้ว ปัญญาอยู่กับตัว ไปไหน ก็พาปัญญาไปด้วย ใช่ไหม ทีนี้ไม่ต้องมัวพึ่งผู้ที่แสดงปาฏิหาริย์แล้ว ฉะนั้นผู้ที่ได้คือผู้ฟัง
ท่านที่แสดงก็แสดงของท่านไป ท่านก็มีความชำนาญมากขึ้นในสิ่งที่แสดง แต่ว่าผู้ฟังสิได้จริงๆ แล้วก็เป็นอิสระ คือได้แล้ว ตัวเองก็รู้ก็เข้าใจ เป็นปัญญาของตัว ท่านผู้แสดงนั้นแสดงให้เห็นความจริงอะไร ผู้ฟังก็ได้เห็นความจริงนั้น ผู้ฟังก็เป็นอิสระแก่ตัวเอง ก็จบ
ต่อไปจะถามคำถามที่ต่อเนื่องกันคือ พระอริยะ กับผู้วิเศษ ต่างกันอย่างไร
ถ้าเราเข้าใจข้อนี้แล้ว เราก็จะอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีขึ้น เพราะประชาชนในปัจจุบันนี่สับสนมาก มักเอาความเป็นผู้วิเศษกับความเป็นพระอริยะเป็นอันเดียวกันเสีย ถ้าอย่างนี้ หลักพระศาสนาก็จะสับสน แล้วก็เสื่อมด้วย
ผู้วิเศษคืออะไร เรามักจะเรียกคนมีฤทธิ์นั้นเองว่าเป็นผู้วิเศษ เช่น โยคี ฤาษี ดาบส ก่อนพุทธกาล ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น ก็มีโยคี ฤาษี ดาบสเยอะ อยู่ในป่า ได้ฌานสมาบัติ ได้โลกียอภิญญา มีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราเรียกได้ว่าเป็นผู้วิเศษ คือผู้มีฤทธิ์นั่นเอง
ส่วนความหมายของพระอริยะ คืออะไร พระอริยะ คือท่านผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ประเสริฐเพราะไกลจากกิเลส ไกลจากกิเลสก็คือ หมดจากโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่ากำจัดความโลภ โกรธ หลง ให้ลดน้อยเบาบางลง กิเลสน้อยลงไปๆ จนกระทั่งว่าเป็นอริยะสูงสุดก็คือ เป็นพระอรหันต์ หมด โลภะ โทสะ โมหะ
ผู้วิเศษไม่จำเป็นต้องเป็นอริยะ แต่ก็มีพระอริยะหลายองค์ พระอรหันต์หลายองค์ท่านได้ฤทธิ์ ได้ฌานได้สมาบัติ ทีนี้ ถ้าท่านได้นี่ ก็เป็นความรู้พิเศษของท่าน เป็นความสามารถที่เอามาใช้ประโยชน์ในการประกาศพระศาสนาได้
พวกฤทธิ์พวกความวิเศษนี่ ถ้าไปอยู่กับคนชั่ว ก็ใช้ในทางร้าย เอาไปหาลาภสักการะเพื่อตนเอง เอาไปทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เอาไปหลอกลวงประชาชน ถ้าเป็นคนที่ดี ท่านก็เอามาใช้ในการทำงานพระศาสนา
ท่านที่ใช้ในทางที่ถูกต้อง จะไม่ล่อให้ประชาชนหลงใหล เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว จะใช้ให้เป็นทางเพียงเพื่อให้โยมเกิดปัญญา ฉะนั้น โยมต้องแยกให้ถูก ระหว่างผู้วิเศษ กับพระอริยะ
ความวิเศษไม่ใช่เครื่องตัดสินความเป็นพระอรหันต์ หรือความเป็นพระอริยะ ฉะนั้น พระอริยะ หรือพระอรหันต์นั้น ท่านไม่มีหรอกเรื่องความวิเศษที่จะให้โยมได้เห็นฤทธิ์อะไร เวลาไปไหน ท่านก็ไปธรรมดาๆ โยมก็ไม่ตื่นเต้น ตรงกันข้ามกับเห็นผู้วิเศษ ฉะนั้น ต้องแยกกันให้ถูก ถ้ารู้หลักพระศาสนาแล้ว ก็แยกได้ หมดปัญหา
ทีนี้ก็ตอบคำถามที่เนื่องกันไปนิดหน่อยว่า ก็แล้ว จะรู้ว่าใครเป็นพระอริยะ หรือใครเป็นพระอรหันต์ ใครเป็นผู้ตัดสิน
ผู้ที่จะรู้ได้ว่าใครเป็นอริยะ ก็ต้องเป็นอริยะเองก่อน พระอรหันต์จึงจะรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ คือ ต้องเป็นคนระดับเดียวกัน หรือสูงกว่า อันนี้เป็นหลักทั่วไป เอาแค่หลักทั่วไปก่อน
อันนี้ต้องระวัง ประชาชนปัจจุบันมีความโน้มเอียงจะไปเที่ยวตั้งพระองค์โน้นเป็นพระอรหันต์ ตั้งพระองค์นี้เป็นพระอริยะ ระวังเถอะ มันเป็นเรื่องที่จะทำให้เสียหลักพระศาสนา
แต่เรามีสิทธิ์ที่จะพิจารณาด้วยปัญญา เรามีหลัก เราก็ดูและตรวจสอบได้ว่า พระองค์นี้มีความประพฤติดีงาม ตั้งอยู่ในหลักพระธรรมวินัย ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า น่าเลื่อมใสหรือไม่ เราอาจจะสันนิษฐานอะไร ก็อยู่ในใจของเรา แต่อย่าเพิ่งไปวินิจฉัยตัดสิน
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวฤทธิ์ปาฏิหาริย์กำลังเกร่อเหลือเกิน ถ้าปฏิบัติไม่ถูก เสียหลักเมื่อไร ก็ไปเลย คือทำให้ตกจากพระศาสนา ตัวเองก็พลัดตกจากพระพุทธศาสนา พร้อมกันนั้นก็พาให้เกิดผลเสียแก่สังคมส่วนรวม พุทธศาสนาเองก็จะเสื่อมโทรม ดังนั้น จะต้องมีหลักที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง
คนสมัยพระพุทธเจ้าเชื่อถึงขนาดเอาฤทธิ์มาวัดกันว่า ความเป็นพระอรหันต์อยู่ที่มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พระองค์จึงต้องทำลายความเข้าใจผิดของมนุษย์เสียใหม่ พระองค์ทรงใช้ฤทธิ์ปราบฤทธิ์ ปราบเสร็จ เข้าสู่อนุศาสนีปาฏิหาริย์ (คือ) คำสอนที่เป็นจริง ทำให้เห็นความจริง ปฏิบัติ ก็พบความจริงแห่งความพ้นทุกข์
หลักพระพุทธศาสนา ต้องการพัฒนาคนให้เจริญงอกงามขึ้นในศีล สมาธิ ปัญญา คนยังไม่พัฒนา ก็ลุ่มหลงมัวเมาในฤทธิ์ หรือหวังผลจากฤทธิ์ เราทำอย่างไรจะพาเขาให้ก้าวจากจุดยืนนี้ไป เราจะต้องปฏิบัติให้เหมาะควรกับเหตุปัจจัยของแต่ละคน
คนจำนวนมากยังไม่แว่วเสียงธรรม ถ้าจะยอมละเว้นการประพฤติตามอำเภอใจ เพราะเชื่อถือและเกรงกลัวต่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เขาเคว้งคว้างไม่มีหลักอะไร
ข้อสำคัญก็คือ อย่าหยุดจมกันอยู่กับความเชื่อแบบปฐมกัปเรื่อยไป หรือเอาความศักดิ์สิทธิ์นั้นไปรับใช้สนองกิเลสของเขา ล่อให้เขาหาลาภให้แก่ตัว แทนที่จะช่วยยกเขาให้ขยับขึ้นมา
“ผู้สอน” ต้องรู้ก่อนว่า หลักพระพุทธศาสนาคืออะไร สอนให้รู้หลัก ผู้สามารถพอ สอนแป๊บเดียว ผู้ฟังก็ก้าวเข้ามาถึงจุดที่ต้องการได้เลย พระพุทธเจ้า ตามปกติไม่ทรงใช้ฤทธิ์ ทรงใช้วิธีเขี่ยผงในตา ผู้ไม่สามารถใช้อนุศาสนีปาฏิหาริย์ให้ถึงความจริงได้ ก็อาศัยฤทธิ์เป็นสื่อเพื่อจูงเขาขึ้นมา แต่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เพื่อดึงเขาก้าวต่อ ไม่ใช่ดึงตัวเข้าไปหมกอยู่ให้เขาหลงยิ่งขึ้น ตัวเองหลงลาภสักการะ แทนที่จะมุ่งประโยชน์แก่เขา ก็กลายเป็นมุ่งจะไปเอาจากเขา กลายเป็นหลอกลวงเขาไป
จะพาเขาเดินก้าวหน้า เริ่มต้น ตัวเองต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ก่อน ต้องมีเมตตากรุณา ปรารถนาดีต่อเขา ไม่คิดหลอกลวงหาลาภสักการะจากเขา ต่อจากนั้นต้องปฏิบัติให้ถูกหลักการ ๓ อย่าง
หลักการที่ ๑ หลักกรรม คือ การที่จะเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อภินิหารจะต้องไม่ให้เสียหลักกรรม เชื่อในหลักเหตุผล ได้แก่ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เชื่อในการกระทำของมนุษย์ว่า ผลที่ต้องการสำเร็จด้วยการกระทำ เมื่อเราหวังผลสำเร็จ เราต้องทำ และจะต้องทำเหตุดี เพื่อให้เกิดผลดี นี้คือหลักความเชื่อที่สำคัญ ถ้าทำให้คนรอคอยการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ผิดหลักกรรมทันที คือว่าผิดจากความเป็นพุทธศาสนิกชนเลย
หลักการที่ ๒ หลักสิกขา คือฝึกฝนพัฒนาตนขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องก้าวต่อไป ไม่ใช่มัวเพลินหยุดนิ่ง พระจะต้องจูงให้เขาเดินหน้า
ตอนแรกอาจจะเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นกำลังใจก่อน แต่พฤติกรรมที่วุ่นวายพึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกนั้น จะต้องเบาบางลดน้อยลงไปตามลำดับ
ถ้าต้องมัวปลอบขวัญกันอยู่ ก็ไม่รู้จักเติบโตเป็นผู้ใหญ่สักที กลับยิ่งเสี่ยงภัยหนักขึ้นไปอีก เพราะเป็นภัยในความเพลินเพลินที่เกิดจากความหลง และความประมาทของตัวเอง
ถ้าจะหาที่พักพิงอย่างนี้บ้าง ก็เอาพอช่วยให้สดชื่นมีกำลังวังชาขึ้น แล้วรีบลุกขึ้นเดินทางมุ่งหน้าต่อไป จนในที่สุด จะไม่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ไปเอง เพราะความเชื่อไม่ผิดหลักกรรม การปฏิบัติไม่ผิดหลักสิกขา
หลักการที่ ๓ คือความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ ประวัติเทพเจ้ามีแต่เรื่องวุ่นวายแย่งชิงรบราฆ่าฟันกัน คือฤทธิ์จะควบมากับกิเลส ในพุทธศาสนา ความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ค่อยๆ โน้มมาสู่ปัญญา ความบริสุทธิ์ และคุณธรรม
ฤทธิ์อะไรก็สู้ฤทธิ์แห่งความจริงความดีและความบริสุทธิ์ไม่ได้ ความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดมาสูงสุดที่ความบริสุทธิ์ ปัญญา และคุณธรรม เราสร้างพระพุทธรูปเป็นมนุษย์ธรรมดา นั่งงามสง่าด้วยธรรม ไม่ต้องแผลงฤทธิ์ สงบเย็นมีเมตตา ยิ้มแย้มให้คนอุ่นใจ สบายใจ มีความสุข นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้
ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ของเทพเจ้า ตลอดจนเรื่องไสยศาสตร์ เป็นเครื่องบำรุงขวัญให้อุ่นใจมั่นใจขึ้นมา แต่ถ้าหลงเพลินอยู่ ก็จะปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่คิดทำอะไรๆ ที่ควรทำตามเหตุตามผล ทอดทิ้งเรื่องเหตุปัจจัยเสีย เอาความหวังกล่อมใจจมอยู่ในความประมาท ไม่อยู่กับความเป็นจริง ก็คือหลอกตัวเองนั่นเอง
ถ้าความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในความหมายที่ลอยพ้นกิเลส หันสู่คุณพระรัตนตรัย ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากคุณธรรม มีความบริสุทธิ์ มีปัญญา มีกรุณาเป็นหลัก ก็ใช้ได้
เมื่อนับถือความศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกต้องแล้ว ก็ปฏิบัติตามหลัก คือ หลักกรรม ให้หวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายาม โดยใช้ปัญญาทำที่เหตุปัจจัย และ หลักสิกขา ให้ฝึกฝนพัฒนาตน ก้าวหน้าในวิถีทางแห่งธรรมยิ่งขึ้นไป
๑. มีศรัทธา เชื่อมีเหตุผล มั่นในคุณพระรัตนตรัย
๒. มีศีล อย่างน้อยดำรงตนได้ในศีล ๕
๓. ไม่ตื่นข่าวมงคล เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล มุ่งหวังผลจากการกระทำ มิใช่จากโชคลาง ของขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์
๔. ไม่เแสวงหาทักขิไณย์นอกหลักคำสอนนี้
๕. เอาใจใส่ทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา
ชาวพุทธที่มีคุณสมบัติทั้ง ๕ นี้ ท่านเรียกว่าเป็น อุบาสกรัตน์ อุบาสิการัตน์ (อุบาสกแก้ว อุบาสิกาแก้ว)
(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๗๕/๒๓๐)
มหาโจรพวกที่ ๑ ผู้มีพฤติกรรมเหมือนกับมหาโจรที่รวบรวมพวกได้บริวารจำนวนร้อยจำนวนพัน เข้าไปก่อความเดือดร้อน ฆ่า ปล้น เอาไฟเผาในคาม นิคม ราชธานี ได้แก่ ภิกษุบางรูปที่พาภิกษุจำนวนร้อยจำนวนพันเป็นบริวารจาริกไปในคาม นิคม ราชธานี ให้คฤหัสถ์ และบรรพชิต สักการะ เคารพ นับถือ บูชา อ่อนน้อม พร้อมทั้งได้ปัจจัยสี่
มหาโจรพวกที่ ๒ ได้แก่ ภิกษุชั่วทรามบางรูป ผู้เล่าเรียนพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว กล่าวอ้างว่าเป็นของตนรู้เอง (เพื่อยกชูตัวขึ้นไป)
มหาโจรพวกที่ ๓ ได้แก่ ภิกษุชั่วทรามบางรูป ผู้ใส่ความกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้บริสุทธิ์ ด้วยข้อกล่าวหาว่าประพฤติผิดพรหมจรรย์ อันไม่มีมูล
มหาโจรพวกที่ ๔ ได้แก่ ภิกษุชั่วทรามบางรูป ผู้เอาของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร เช่น อาราม พื้นที่อาราม วิหาร พื้นที่วิหาร เตียงตั่ง สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไปสงเคราะห์ ประจบเกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์
มหาโจรพวกที่ ๕ ได้แก่ ภิกษุผู้อวดคุณพิเศษที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง ภิกษุนี้จัดว่าเป็นยอดมหาโจรในโลก เพราะบริโภคก้อนข้าวของราษฎร ด้วยอาการแห่งขโมย
(วินย.๑/๒๓๐/๑๖๙)
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี ใกล้เมืองนาลันทา ครั้งนั้น เกวัฏฏะบุตรคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้านั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง
เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เกวัฏฏะบุตรคฤหบดีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่ง สมบูรณ์ มีผู้คนมาก คับคั่งไปด้วยมนุษย์ เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาสเถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญชาให้ภิกษุรูปหนึ่งกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ โดยอาการอย่างนี้ ชาวเมืองนาลันทา จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างยิ่งสุดที่จะประมาณได้
เมื่อเกวัฏฏะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกะเกวัฏฏะบุตรคฤหบดีว่า ดูก่อนเกวัฏฏะ เรามิได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาเถิด พวกเธอจงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่คฤหัสถ์ ...
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนเกวัฏฏะ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เราประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงประกาศให้รู้ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างคือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ อนุศาสนีปาฏิหาริย์
ดูก่อนเกวัฏฏะ อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้... เราเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์... จึงเอียน ระอา รังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์
ดูก่อนเกวัฏฏะ ก็ อาเทศนาปาฏิหาริย์ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความคิด ทายความไตร่ตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้...เราเห็นโทษในอาเทศนาปาฏิหาริย์ จึงเอียน ระอา รังเกียจอาเทศนาปาฏิหาริย์
ดูก่อนเกวัฏฏะ อนุศาสนีปาฏิหาริย์ เป็นไฉน ดูก่อนเกวัฏฏะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ท่านจงคิดอย่างนี้ อย่าคิดอย่างนั้น จงมนสิการอย่างนี้ อย่ามนสิการอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ จงบำเพ็ญสิ่งนี้...
ดูก่อนเกวัฏฏะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุนี้เอง ได้เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหนหนอ
ลำดับนั้น ภิกษุได้เข้าสมาธิ ชนิดที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่เทวโลกก็ปรากฏ ครั้นแล้วภิกษุเข้าไปหาพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชถึงที่อยู่ ได้ถามพวกเทวดาเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔... ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน... พวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชกล่าวว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ...
ต่อแต่นั้น ภิกษุได้เข้าไปหาหมู่พรหม... เข้าไปหาท้าวมหาพรหม แล้วถามว่า มหาภูตรูป ๔... ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน... ท้าวมหาพรหมนั้นตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ยิ่ง ไม่มีใครเหนือ เป็นผู้หยั่งเห็นถ่องแท้ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้เนรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้จัดสรร เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ทั้งที่เกิดแล้วและที่จะเกิดต่อไป ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมว่า ข้าพเจ้ามิได้ถามท่านอย่างนั้น... ข้าพเจ้าถามท่านว่ามหาภูตรูป ๔... ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ต่างหาก
ดูก่อนเกวัฏฏะ ลำดับนั้น ท้าวมหาพรหมจับแขนภิกษุนั้นนำไป ณ ที่ควรข้างหนึ่ง แล้วกล่าวกะภิกษุนั้นว่า ท่านภิกษุ หมู่พรหมเหล่านี้ รู้จักข้าพเจ้าว่า อะไรๆ ที่พระพรหมไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ ไม่แจ่มแจ้ง เป็นอันไม่มี เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ตอบต่อหน้าเทวดาเหล่านั้นว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูป ๔... ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามปัญหานี้เถิด...
(เกวัฏฏสูตร, ที.สี.๙/๓๓๙/๒๗๓)
(สาระสำคัญว่า แม้จะมีฤทธิ์มากมาย แต่ก็ไม่อาจรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ไม่สามารถแก้ข้อสงสัยในใจของตนได้ ในที่สุดก็ต้องอาศัยอนุศาสนีปาฏิหาริย์ จึงได้ปัญญารู้ความจริง)
"ภิกษุใด ไม่รู้ประจักษ์ กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม (เช่นว่าตนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ เป็นต้น)... โดยน้อมเข้ามาในตน... ภิกษุนี้เป็นปาราชิก..."
(วินย.๑/๒๓๑/๑๗๒)
“ภิกษุใด บอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน (ผู้มิใช่ภิกษุ หรือภิกษุณี เช่น บอกแก่คฤหัสถ์) ถ้ามีจริง ต้องอาบัติปาจิตตีย์”
(วินย.๒/๓๐๕/๒๑๑)
“ภิกษุไม่พึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นอุตริมนุสธรรม แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ภิกษุใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฎ”
(วินย.๗/๓๓/๑๖)
“ภิกษุไม่พึงเรียนติรัจฉานวิชา ภิกษุใดเรียน ต้องอาบัติทุกกฏ... ภิกษุไม่พึงสอนติรัจฉานวิชา ภิกษุใดสอน ต้องอาบัติทุกกฎ”
(วินย.๗/๑๘๓-๔/๗๑)
“ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัย ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย จักเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว”
(ที.ม.๑๐/๑๔๑/๑๗๘)
“เราสักการะ เคารพ อาศัยธรรมที่เราได้ตรัสรู้นั้นเองอยู่ และเมื่อใดสงฆ์เติบใหญ่ขึ้นแล้ว เมื่อนั้นเราย่อมมีความเคารพแม้ในสงฆ์”
(องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๑/๒๗)
“ภิกษุใดขอจีวรต่อคฤหัสถ์ชาย หรือหญิง ผู้มิใช่ญาติ มิใช่ปวารณา (คือผู้ไม่ได้นิมนต์หรือพูดเปิดโอกาสไว้ให้ขอ) ได้มา ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นแต่สมัย คือจีวรถูกลักไปหรือสูญหาย”
(วินย.๒/๕๔/๓๘)
“ภิกษุใดขอด้ายมาเอง ให้ช่างหูกทอเป็นจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์”
(วินย.๒/๑๕๓/๑๓๓)
“ภิกษุใด ไม่อาพาธ ขอโภชนะประณีต อันมีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม เอามาฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์”
(วินย.๒/๕๑๗/๓๔๑)
“ภิกษุไม่อาพาธ พึงยินดีการปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือน เว้นแต่เขาปวารณาอีก หรือปวารณาเป็นนิตย์ ถ้าเธอยินดีเกินกว่านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์”
(วินย.๒/๕๕๖/๓๗๑)
“ภิกษุพึงสำเหนียกว่า เราไม่อาพาธ จักไม่ขอกับแกงหรือข้าวสุก เพื่อประโยชน์แก่ตน มาฉัน (ถ้าขอต้องอาบัติทุกกฎ)”
(วินย.๒/๘๓๖/๕๔๗)
“ภิกษุใดเสพเมถุน โดยที่สุด แม้ในสัตว์ดิรัจฉาน เป็น ปาราชิก”
(วินย.๑/๒๒/๔๐)
“ภิกษุใดมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง... ต้องสังฆาทิเสส”
(วินย.๑/๓๗๕/๒๕๓)
“ภิกษุใดมีความกำหนัดอยู่ พูดเกี้ยวหญิง... ต้องสังฆาทิเสส”
(วินย.๑/๓๙๗/๒๗๔)
“ภิกษุใดมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม... ต้องสังฆาทิเสส”
(วินย.๑/๔๑๔/๒๘๘)
“ภิกษุใดชักสื่อชายหญิงให้สมสู่กัน... แม้แต่กับหญิงโสเภณีที่อยู่ร่วมเพียงชั่วขณะ ต้องสังฆาทิเสส”
(วินย.๑/๔๒๖/๓๐๒)
“ภิกษุใด นั่งในที่ลับตาพอจะทำกรรมได้ กับหญิงตัวต่อตัว ถ้าอุบาสิกาผู้มีวาจาควรเชื่อได้เห็นแล้วมาพูดขึ้น เข้ากับอาบัติ ๓ อย่าง คือ ปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใด พึงปรับอย่างนั้น หรืออุบาสิกานั้นว่าอย่างใด พึงปรับอย่างนั้น”
(วินย.๑/๖๓๒/๔๓๓)
“ภิกษุใด นั่งในที่ลับหูที่พอจะพูดเกี้ยวกันได้ กับหญิงตัวต่อตัว ถ้าอุบาสิกาผู้มีวาจาควรเชื่อได้เห็นแล้วมาพูดขึ้น เข้ากับอาบัติ ๒ อย่าง คือ สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใด พึงปรับอย่างนั้น หรืออุบาสิกานั้นว่าอย่างใด พึงปรับอย่างนั้น”
(วินย.๑/๖๔๔/๔๓๙)
“ภิกษุใด นอนในที่มุงที่บังอันเดียวกันกับผู้หญิง แม้เพียงเริ่มราตรี ต้องปาจิตตีย์”
(วินย.๒/๒๙๔/๒๐๑)
“ภิกษุใด แสดงธรรมแก่ผู้หญิง เกินกว่า ๕-๖ คำ ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ด้วย”
(วินย.๒/๓๐๐/๒๐๖)
“ภิกษุใด นั่งในอาสนะปกปิดในที่ลับกับผู้หญิง (ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน) ต้องปาจิตตีย์”
(วินย.๒/๕๓๙/๓๕๖)
“ภิกษุใด นั่งในที่ลับตัวต่อตัวกับผู้หญิง ต้องปาจิตตีย์”
(วินย.๒/๕๔๓/๓๕๙)
“ภิกษุใด ชวนผู้หญิงเดินทางด้วยกัน แม้ชั่วระยะหมู่บ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์ (เว้นแต่ทางมีอันตราย)”
(วินย.๒/๖๕๙/๔๒๙)
“ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ จะเป็นภิกษุชั่วทรามก็ตาม จะเป็นภิกษุที่สิ้นกิเลสแล้วก็ตาม ย่อมเป็นที่ระแวง เป็นที่รังเกียจ คือ ไปมาหาสู่(โคจร)หญิงแพศยา ๑ ไปมาหาสู่หญิงหม้าย ๑ ไปมาหาสู่สาวเทื้อ ๑ ไปมาหาสู่กระเทย ๑ ไปมาหาสู่ภิกษุณี ๑”
(วินย.๘/๙๗๙/๓๒๕)
ภิกษุเป็นผู้อโคจร (ไปมาหาสู่บุคคลและสถานที่อันไม่สมควรแก่ภิกษุ) (๘) คือ ไปมาหาสู่หญิงแพศยา... หญิงหม้าย... สาวเทื้อ... กระเทย... ภิกษุณี... ร้านสุรา คลุกคลีกับคฤหัสถ์อย่างไม่สมควร... คบหาตระกูลที่มุ่งร้ายไม่ศรัทธาต่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
(อภิ.วิ.๓๕/๖๐๔/๓๓๒)
“ภิกษุไม่พึงไว้ผมยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฎ เราอนุญาตให้ไว้ผมได้ ๒ เดือน หรือยาว ๒ องคุลี”
(วินย.๗/๑๓/๖)
“ภิกษุไม่พึงแต่งหนวด ไม่พึงไว้หนวด ไม่พึงไว้เครา... รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฎ”
(วินย.๗/๑๕๐/๖๐)
“ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์... รูปใดนุ่ง ต้องอาบัติทุกกฎ”
“ภิกษุไม่พึงห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์... รูปใดห่ม ต้องอาบัติทุกกฎ”
(วินย.๗/๑๖๙-๑๗๐/๖๖)
เมืองไทยจะวิกฤต ถ้าคนไทยมีศรัทธาวิปริต นี้ เป็นหนังสือเก่าค่อนข้างมาก เมื่อจะพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ นี้ เจ้าของเรื่องนี้เองไม่มีต้นฉบับเก่าที่พร้อมจะส่งเข้าโรงพิมพ์ มีเหลืออยู่แต่ต้นฉบับงานขั้นต้นเมื่อ ๒๐ ปีก่อนโน้น อาศัยว่าผู้ทำงานหนังสือที่วัด มีน้ำใจหาต้นฉบับส่งพิมพ์เก่ามารักษาไว้บนเว็บไซต์ของวัด เป็น pdf file สำหรับการพิมพ์ครั้งที่ ๑๔ - ก.ย. ๒๕๕๖ แต่ก็ไม่มีข้อมูลบอกไว้ว่าต้นกำเนิดของหนังสือนี้ เป็นการพูดหรือการเขียนที่ไหนเมื่อใด จึงค้นหาจากต้นฉบับงานขั้นต้นที่เก่ามากจนได้ความว่าเกิดจากการพูดในวันที่ ๒๓ ม.ค. ๒๕๓๗ เป็นอันได้ข้อมูลพร้อม
ได้ตกลงคัดลอกข้อมูลทั้งหมดจากต้นฉบับส่งพิมพ์เก่า ที่เป็น pdf file ก.ย. ๒๕๕๖ นั้น นำมาตรวจชำระจัดทำเป็นต้นฉบับใหม่ สำหรับการพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ – ส.ค. ๒๕๖๕ นี้ นอกจากตรวจจัดปรับแก้วางรูปทำความเรียบร้อยโดยตลอดแล้ว ได้เขียนเพิ่มเติมความอีก ๑ หัวข้อ (หน้า ๔๓ – ๔๕) คือ “พระ ถ้ามองอย่างพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าพิธี แต่จะให้ดี มองอย่างพุทธ คือเป็นผู้ให้ธรรม”
ต้นฉบับสำหรับการพิมพ์ครั้งใหม่ที่ ๒๐ ซึ่งนอกจากมีข้อมูลเนื้อความเดิมของฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๔ – ก.ย. ๒๕๕๖ ครบบริบูรณ์แล้ว ยังมีส่วนเพิ่มเติมอีกด้วยนี้ เมื่อเสร็จเป็นเล่มหนังสือ กลับมีจำนวนหน้าลดลง นับเฉพาะส่วนในเนื้อเล่ม ของเดิมปี ๒๕๕๖ มี ๙๐ หน้า (มีเนื้อความน้อยกว่า) ส่วนฉบับใหม่ปี ๒๕๖๕ นี้ มี ๗๒ หน้า (มีเนื้อความมากกว่า)
จึงบันทึกเรื่องราวไว้เพื่อรู้เข้าใจความเป็นไปเป็นมาได้ชัดเจน
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต)
๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๕