เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๓ อาตมภาพได้รับอาราธนาไปบรรยายเรื่อง “มหาวิทยาลัยกับงานวิจัยทางพระพุทธศาสนา” แก่คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และท่านผู้สนใจ ที่ได้เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการเพื่อเสนอผลงานวิจัย ประจำปี ๒๕๓๓ ณ ห้องประชุม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
บัดนี้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มีกุศลฉันทะประสงค์จะพิมพ์คำบรรยายเรื่อง มหาวิทยาลัยกับงานวิจัยทางพระพุทธศาสนา นั้น ขึ้นเผยแพร่ และได้คัดลอกคำบรรยายจากแถบบันทึกเสียง ส่งไปให้ตรวจความเรียบร้อย อาตมภาพได้ปรับปรุงถ้อยคำ สำนวนและเนื้อความให้สละสลวยหมดจดขึ้น พอสมที่จะเป็นต้นฉบับหนังสือ และขอมอบให้ทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินการจัดพิมพ์ตามความประสงค์
อนึ่ง คำบรรยายเรื่อง “มหาวิทยาลัยกับงานวิจัยทางพระพุทธศาสนา” นี้ ดร.ปฐม นิคมานนท์ แห่งคณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตรนี้ ได้เคยขออนุญาตนำลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการศึกษานอกระบบ ของสมาคมการศึกษานอกระบบแห่งประเทศไทย ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑๕ โดยได้คัดลอกจากแถบบันทึกเสียง พร้อมทั้งจัดวางรูป และตั้งหัวข้อไว้อย่างเรียบร้อย ซึ่งอาตมภาพได้ตรวจแก้และปรับปรุงไปตามสมควร คำบรรยายที่ลงพิมพ์ในวารสารฉบับนั้นจึงเกื้อกูลแก่การตรวจแก้ และปรับปรุงครั้งใหม่นี้เป็นอย่างมาก แม้ว่าคราวนี้จะได้แก้ไขเพิ่มเติม เพิ่มเนื้อหาบางอย่างเข้าอีก เนื่องจากมีเวลามากขึ้น จึงขออนุโมทนา ดร.ปฐม นิคมานนท์ ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
ขออนุโมทนาต่อทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีท่านอธิการบดี เป็นประธาน พร้อมด้วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย คณาจารย์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในฝ่ายวิจัย ที่ได้มีกุศลเจตนา ที่จะส่งเสริมความเจริญแพร่หลายแห่งวิชาการ ขอผลแห่งฉันทะและความเพียรนี้ จงอำนวยประโยชน์ให้เกิดปัญญา คุณธรรม และปฏิบัติการที่จะเป็นไป เพื่อการแก้ไขปัญหา และการสร้างสรรค์ความเกษมศานต์แก่สังคม สมความหวังที่เป็นกุศล ทุกประการ
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๒๕ มกราคม ๒๕๓๔
ขอเจริญพร ท่านอธิการบดี ท่านอาจารย์ นิสิตนักศึกษา และท่านผู้สนใจ ที่เข้าร่วมประชุมทุกท่าน
อาตมภาพต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทำให้ที่ประชุมต้องเสียเวลาไปในการรอคอย เนื่องจากอาตมภาพผู้เดียวเดินทางมาล่าช้า แล้วทำให้ที่ประชุมต้องพลอยลำบากไปด้วย
แต่ว่า ในแง่ของอาตมภาพเอง ความล่าช้าของการเดินทางนี้ กลายเป็นโอกาสสำหรับตนเอง ในการที่จะได้เตรียมเรื่องที่จะพูด
ก็ต้องขอสารภาพ ความจริงท่านรองอธิการบดีได้ให้เวลาอย่างมากมาย ประมาณครึ่งปี ซึ่งก็สมควรแก่เรื่องที่สำคัญ ที่เราควรจะได้ตระเตรียมมากๆ แต่พอเอาเข้าจริง เรื่องที่ควรจะเตรียมในครึ่งปี ก็ต้องเตรียมในครึ่งวัน และก็มาเตรียมเสร็จเอาในรถนี่เอง
ที่พูดไว้นี้ก็เป็นการออกตัว หรือแก้ตัว และก็ต้องพูดไว้ก่อน เพราะว่า บางทีพูดไปอาจจะกระท่อนกระแท่นสักหน่อย คือไม่ได้ลำดับอะไรให้ดีเท่าที่ควร
สำหรับเรื่องที่กำหนดเป็นหัวข้อไว้ว่า “มหาวิทยาลัยกับงานวิจัยทางพระพุทธศาสนา” นั้น ถ้าจะมาพูดกันในแง่ว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ จะเป็นต่างประเทศก็ตาม หรือโดยเฉพาะในประเทศไทยก็ตาม ได้ทำการวิจัยอะไรไปบ้างที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และทำในด้านไหน อย่างไร อะไรต่างๆ นี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและจะมีประโยชน์ไปแบบหนึ่ง แต่อาตมภาพคงไม่สามารถพูดในคราวนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาสำรวจหาข้อมูลกันอย่างมาก
ที่จะทำได้ในตอนนี้ ก็คงเป็นไปในด้านความคิดเห็น ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีจุดที่ควรจะให้ความสนใจในแง่ที่ว่า การวิจัยทางพระพุทธศาสนานี้ มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างไร หรือว่า ในยุคสมัยนี้ ปัจจุบันนี้ มีจุดไหนที่เราจะได้ประโยชน์อะไร ทำไมมหาวิทยาลัยจึงจะมาวิจัยเรื่องพระพุทธศาสนา อะไรทำนองนี้
ถ้าพูดในแง่นี้ ก็คงจะต้องโยงถึงเรื่องภูมิหลัง เอามาเชื่อมต่อให้สัมพันธ์กันด้วย จึงจะมองเห็นเหตุผลและเข้าใจความคิดที่จะเสนอได้ชัดเจน
ว่าโดยทั่วไป ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า งานวิจัยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ต่อการพัฒนาประเทศชาติเป็นอย่างมาก เพราะการพัฒนาประเทศชาตินั้น จะต้องอาศัยความก้าวหน้าในทางวิชาการ จะต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ และจัดเจนชำนิชำนาญ
โดยเฉพาะยุคที่ผ่านมาจนกระทั่งที่เป็นอยู่นี้ เราเรียกกันอย่างหนึ่งว่าเป็น ยุคแห่งความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้าน คือเป็นยุคที่ว่า คนที่ก้าวหน้าหรือพัฒนาสังคมจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในวิชาการต่างๆ ตรงไป ลึกดิ่งไปในด้านนั้นๆ ให้เต็มที่ ให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ และการที่จะบรรลุผลดังกล่าวนี้ได้ก็ต้องอาศัยการวิจัย
การวิจัยเป็นการแสวงหาความรู้อย่างมีระบบ และเป็นการบุกเบิกเข้าไปในแดนแห่งความรู้ ทำให้เกิดความลึกซึ้งแตกฉานในเรื่องนั้นๆ เพื่อหาความรู้จริง และทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในวิชาการพิเศษเฉพาะดังที่กล่าวมา
ลักษณะหนึ่งที่ประสงค์ในทางวิชาการ ที่จะทำให้ความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านเกิดขึ้น และดำเนินต่อไปได้ ก็คือ ความก้าวหน้าจนกระทั่งมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นจุดที่เน้นกันมาก ความเป็นเลิศทางวิชาการนี้อาศัยการวิจัยเป็นปัจจัยสำคัญ และก็แสดงออกในผลงานวิจัยด้านต่างๆ
ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เราจะเห็นว่า เขาไม่ใช่จะเจริญเฉพาะด้านวัตถุ หรือทางเศรษฐกิจ หรือในด้านอำนาจการเมืองเท่านั้น ทว่าประเทศเหล่านั้น ต้องเป็นผู้นำทางความรู้ และความคิดด้วย แม้แต่ความเจริญทางด้านวัตถุ หรือทางด้านเทคโนโลยีเหล่านั้น ก็ต้องอาศัยความเจริญก้าวหน้าในทางวิชาการ หรือความรู้ ความคิดเป็นรากฐาน จึงเกิดขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้น ประเทศที่พัฒนาเหล่านี้ จึงถืองานวิจัยเป็นงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ในเมื่องานวิจัยเป็นงานสำคัญ ต่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างนี้ ใครจะทำหน้าที่นี้ให้แก่ประเทศชาติหรือสังคม ก็ตอบได้ว่า มหาวิทยาลัยนั่นแหละเป็นผู้ทำหน้าที่นี้
เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทสำคัญมากในการที่จะทำงานวิจัย
เราจะเห็นว่า ในวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย มีการเน้นเรื่องนี้ไว้ด้วยเป็นข้อหนึ่ง ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องมีเรื่องของการส่งเสริมงานวิจัย เพราะถือว่างานวิจัยเป็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัย และดังที่ปรากฏชัดเจนในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น มหาวิทยาลัยมีบทบาทในเรื่องนี้มาก
และงานวิจัยต่างๆ ก็มักจะขยับตามความเปลี่ยนแปลง หรือความเป็นไปของสังคมและสถานการณ์ของโลก รวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศชาติ สังคมมีความสนใจเรื่องอะไร มีปัญหาเรื่องอะไร มีสถานการณ์อะไรเด่นๆ มหาวิทยาลัยก็จะให้ความสนใจ แล้วก็วิจัยในเรื่องนั้นๆ ด้วย
ฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลง และความก้าวหน้าของสังคม ตลอดจนสถานการณ์ของโลก จึงต้องอยู่ในความสนใจของมหาวิทยาลัย
ในการพิจารณาเรื่องที่จะทำวิจัย โดยเฉพาะเกี่ยวกับปัญหาใหม่ๆ ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่ควรรู้ตระหนักอย่างหนึ่ง ก็คือ เสียงพูดเสียงวิจารณ์ที่เป็นหลักเป็นฐานในวงวิชาการว่า ขณะนี้ประเทศพัฒนาทั้งหลายได้มาเผชิญกับสภาพที่เรียกกันว่า “มีความตีบตัน” แล้วก็ถึงยุคของ “การหักเลี้ยวใหม่” หรือถึงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อใหม่ เนื่องจากได้ประสบปัญหาจากการพัฒนาเป็นอย่างมาก คือปัญหาที่ว่า มนุษยชาติกำลังประสบอันตรายอย่างใหญ่หลวงจากการพัฒนานั้น ถึงขั้นที่ว่าอาจจะถึงความสูญสิ้น หรือพินาศไปก็เป็นได้
ปัญหาทั้งหลาย ที่จะทำให้มนุษยชาติหมดสิ้นนั้น มีทั้งปัญหาของชีวิตมนุษย์เอง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ (เช่น ความเครียด ความรู้สึกแปลกแยก โรคจิต การฆ่าตัวตาย โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเอดส์ และความเสื่อมสุขภาพทั่วไปจากสารเคมีในอาหารและสภาพแวดล้อม) แล้วก็ปัญหาทางสังคม (ปัญหาสิ่งเสพติด อาชญากรรม ความยากจน สงคราม) และปัญหาธรรมชาติแวดล้อม (เช่น ปัญหาอากาศเสีย ดินเสีย น้ำเสีย ฝนน้ำกรด ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ป่าหมด ทะเลตาย ระบบนิเวศพังทลาย) อย่างที่ทราบกันอยู่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องบรรยายในที่นี้
ฉะนั้น ตอนนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ ที่โลกของเรา โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งทำให้ต้องคิดหาทางออกใหม่ๆ
เมื่อหาทางออกใหม่ๆ มหาวิทยาลัยก็จะต้องเป็นผู้นำในการแสวงหาแนวความรู้ความคิด ที่จะมาเสนอว่า เราจะปรับตัว หรือจะหาทางออกอย่างไรจากปัญหาเหล่านี้ จะแก้จุดตีบตันนี้อย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน
นี่ก็เป็นสิ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยควรสนใจ เพื่อว่าเราจะได้ตามทัน หรือมีส่วนร่วมในการที่จะช่วยแก้ปัญหาของโลกด้วย เพราะในการวิจัยนั้นวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ การที่จะแก้ปัญหาของชีวิตและโลกนี้นั่นเอง
ทีนี้ หันมาดูประเทศไทยของเราโดยเฉพาะ การศึกษาสมัยใหม่แบบของไทยเรา ที่มีมหาวิทยาลัย ตลอดจนกระทั่งมีการวิจัยทั้งหลายที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เราก็ยอมรับกันอยู่ว่าเป็นแบบที่เรารับมาจากตะวันตก เรารับวิชาการสมัยใหม่มาจากประเทศตะวันตก ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราต้องการความเจริญอย่างตะวันตก
เมื่อเรารับเอาความเจริญจากตะวันตกมา เรารู้ว่าวิชาการเป็นปัจจัยสำคัญของความเจริญ ดังนั้น เราก็เลยรับเอาวิชาการของตะวันตกเข้ามา
ด้วยเหตุนี้ เท่าที่ผ่านมา เราก็เลยอยู่ในฐานะของการที่ต้องเป็นผู้รับ เมื่อเป็นผู้รับแล้ว ก็จะมีลักษณะอีกอย่างหนึ่งตามมาด้วย คือ ความเป็นผู้ตาม เพราะ “ตาม” กับ “รับ” เป็นของคู่กัน เมื่อจะรับของเขา เราก็ต้องคอยตามเขา เพราะการที่คอยรับจากเขาก็ทำให้ต้องคอยตามเขา ก็เลยได้แต่ตามและรับอยู่เรื่อยไป
เมื่อทำกันอย่างนี้นานๆ เข้า มันก็กลายเป็นลักษณะของสังคม เป็นพฤติกรรมของสังคมโดยทั่วไปโดยไม่รู้ตัว บางทีถ้าลืมไปไม่สำรวจตัว ไม่มีสติเตือนตนเอง มันก็จะกลายเป็นลักษณะจิตใจของคนในสังคมไทย ซึ่งก็เป็นไปได้ หรืออาจจะได้เป็นไปแล้วด้วย
คือว่า ในแง่ความเจริญทั่วไป เราก็เอามาจากตะวันตก เราตามเขาไปและคอยดูว่าเขามีความเจริญอะไรใหม่ มีสิ่งบริโภคอะไรใหม่ๆ เราคือคนไทยก็คอยตาม คอยดู และคอยรับเอา
วิชาการก็เหมือนกัน เราก็ต้องคอยดูว่ามีวิชาการอะไรใหม่ๆ ทำไปทำมา เราจะมีลักษณะจิตใจแบบผู้รับ และผู้ตามโดยไม่รู้ตัว อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง
ถ้าหากว่าเราเกิดมีลักษณะจิตใจ และความคิดแบบผู้รับและผู้ตาม โดยเริ่มจากการมองเห็นว่าเขาเจริญกว่าเรา แล้วคอยตามและคอยรับเอาอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้แล้ว จะทำให้มีผลเสียเกิดขึ้น คือ
หนึ่ง เราจะรู้สึกว่าตัวเองด้อย มองเห็นตัวเองด้อย บางครั้งดูถูกตนเอง ถ้ามองในแง่สังคมก็คือว่า ดูถูกสังคม ดูถูกวัฒนธรรมของตนเอง เมื่อดูถูกก็มองข้าม ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ ไม่ศึกษามรดกของตนเองที่มีสืบต่อกันมา อันนี้ก็เป็นลักษณะหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมา
สอง ผลต่อไปก็คือ ไม่นึกว่าตนเองมีอะไรดีที่จะให้แก่ผู้อื่น พอรู้สึกว่าตัวเองด้อยแล้ว ความเคารพตนเองก็ด้อยลงไป ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนมี และไม่สนใจที่จะนึกถึง หรือถึงกับหลีกเลี่ยงที่จะมอง ก็เลยไม่เห็น ไม่มอง และไม่เห็นว่าเรามีอะไรดี มีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่นได้
พูดง่ายๆ ว่ามองไม่เห็นว่าตนเองมีส่วนร่วมอะไรที่จะให้แก่อารยธรรมของโลกหรือให้แก่มนุษยชาติ เรามีของมีค่าอะไรบ้าง เราไม่ได้สำนึก และไม่ได้สำรวจตนเอง เรามองแต่ในแง่จะตามเขา คอยดูเขาว่าจะมีอะไรให้เราได้บ้างเท่านั้นเอง
สิ่งเหล่านี้ ก็จะนำไปสู่สภาพอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า คือ การทอดทิ้งภูมิปัญญา เช่นอย่างเวลานี้ เราบ่นกันมากว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ถูกทอดทิ้งหลงลืมไปมาก จนกระทั่งเลือนหายไปตั้งเยอะแยะ ไม่สามารถตามกลับเอามาได้ ฟื้นฟูขึ้นมาไม่ได้ เพราะว่า ตัวบุคคลที่ส่งทอดความรู้เหล่านั้น สถาบันที่ส่งทอดความรู้ ได้เสื่อมโทรม เลือนหาย หรือล่วงลับไป พวกเราก็ไม่ศึกษา และสูญเสียโอกาสที่จะศึกษามรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง
อีกด้านหนึ่งก็คือ แม้แต่เมื่อไปศึกษาวิชาการของตะวันตก เราก็มีท่าทีของการที่ว่า จะรับเอามาด้วยอาการของความรู้สึก ที่ไม่มีความสำนึกที่จะเอามาใช้งานของตัวเอง หรือเอามารับใช้ภูมิปัญญาของเรา
ถ้าเรามีจิตสำนึกในการศึกษา เมื่อไปเรียนวิชาการของตะวันตก เราก็มุ่งจะเอามาใช้งาน หรือเอามาพัฒนา เอามาเสริมความสามารถของเรา เราจะต้องรู้จุดดีจุดด้อยของตัวเองตามที่เป็นจริง
เมื่อมองเห็นว่าเรามีอะไรดีของตัวเอง เราก็จะมีความมั่นใจในตนเอง และมีความสำนึกตระหนักอยู่ตลอดเวลา ถึงสิ่งที่มีคุณค่าที่เรามีอยู่นั้น เวลาเราไปศึกษาวิชาการตะวันตก ก็จะมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง คือการที่จะได้เครื่องมือเครื่องใช้ หรือช่องทางใหม่ๆ มาสำหรับการที่จะแสดงตนออกไป หรือที่จะเอาของดีที่มีอยู่นั้นไปทำให้เกิดประโยชน์ สนองความต้องการ หรือวัตถุประสงค์ใหม่ๆ
ขอยกตัวอย่าง เช่น เรามีดีของเรา แต่สิ่งดีของเรานี้ เราบอกใครไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถจะพูดให้เขารู้เรื่อง หรือว่าเราไม่มีช่องทางจะถ่ายทอด เช่น ภาษาของเราตัน เป็นต้น พอเราไปเรียนภาษาต่างประเทศมา เราก็ได้ช่องทางที่จะเอาดีของเรานี้ไปบอก ไปกล่าว ไปเล่าให้คนอื่นเขาฟัง
ลักษณะเช่นว่านี้จะขาดไป ในเมื่อเรามีลักษณะเป็นผู้รับและผู้ตาม
ฉะนั้น ท่าทีของเราในการศึกษาวิชาการสมัยใหม่ของตะวันตก ก็จะไม่มีลักษณะนี้อยู่ด้วย เมื่อไม่มีลักษณะนี้อยู่ มันก็จะมีลักษณะที่เสียตามมาอีกอย่างหนึ่ง คือการที่ว่าเราจะมีความภูมิใจ ในเมื่อเราได้เรียนรู้วิชาการของตะวันตกนั้น ซึ่งเรานับถือว่าเป็นความรู้ของผู้เจริญ เวลาเราไปเรียนรู้แล้วเราจะภูมิใจ แต่เป็นความภูมิใจในแบบที่เห็นเป็นเด่นเป็นโก้
พร้อมกันนั้น เราก็มีความรู้สึกด้อยในตัวเอง ในวัฒนธรรมของตัวเอง ไม่อยากแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของตน แล้วต่อจากนั้นเราก็จะมีลักษณะที่ว่า ชอบเอาความรู้ของตะวันตกมาอวดโก้กันเอง ด้วยความรู้สึกว่า เราเก่งกว่าพวกเราเอง คือ มองว่าเราเก่งกว่าพวกของเรา เราก็เลยมาอวดโก้กับพวกเราเอง ความรู้สึกที่ภูมิใจต่อเขา และอวดโก้ต่อพวกเราเองนี้ จะยิ่งกดทับหรือบดบังความคิด ที่จะนำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ด้วยตนเอง ทำให้ความคิดอย่างนั้นไม่ค่อยผุดโผล่ขึ้นมา เราก็เลยไม่มีทางที่จะพัฒนาตนเองให้พ้นจากความเป็นผู้ตามขึ้นมาได้ อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เป็นข้อด้อย
ฉะนั้น ในการเรียนรู้วิชาการต่างๆ เช่นอย่างภาษาต่างประเทศเป็นต้น เราก็จะมีความภูมิใจที่ได้รู้วัฒนธรรมตะวันตก รู้สึกโก้ที่จะได้พูดได้ใช้ภาษานั้นๆ แต่เราไม่ได้มีความคิดเชื่อมโยงในลักษณะที่ว่า เราจะเอาภาษานั้นมารับใช้สังคม รับใช้วัฒนธรรมของตนเอง ในแง่ที่ว่าเรามีอะไรดีที่จะแสดงออกไป ที่จะถ่ายทอด ที่จะไปสื่อสารบอกกล่าวผู้อื่น
ลักษณะที่ตรงข้ามก็คือ ถ้าหากเรามีอะไรดีของเราอยู่แล้ว เมื่อเราได้เรียนรู้อะไรจากที่อื่น เราจะรู้สึกมั่นใจยิ่งขึ้น เพราะการที่ได้ไปรู้อะไรจากเมืองนอกมา ก็เท่ากับว่าเราได้ช่องทาง หรือได้สื่อในการที่จะแสดงตัวออกไป หรือที่จะเอาดีของเรานี้ไปให้แก่ข้างนอกได้มากขึ้น
พูดอย่างง่ายๆ เท่าที่เป็นอยู่ มันกลายเป็นว่า เราเอาของจากข้างนอกมาแข่งทับกันเอง อะไรทำนองนี้
ถ้ายอมรับว่า เท่าที่เป็นมา เราได้ปฏิบัติในทำนองนี้ จนกระทั่งแทบจะลืมตัว ก็ต้องรู้ตัวด้วยว่าเราจะมีลักษณะจิตใจแบบผู้รับและผู้ตาม ซึ่งจะเกิดผลเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ และแม้ต่อบุคลิกภาพของตัวบุคคล คือ ชาวไทยแต่ละคนด้วย
นอกจากนั้นก็จะมีผลลึกๆ ลงไปอีก เช่นว่า ทำให้ขาดความคิดริเริ่ม ขาดความเอาจริงเอาจัง ไม่มีความขยันหมั่นเพียร ขาดความภูมิใจในตนเอง อะไรทำนองนี้
ลักษณะดังกล่าวนี้ รวมแล้วก็คือ ความรู้สึกด้อยในตนเอง และความภูมิใจที่เห็นเขาเจริญแล้วเราได้ทำตาม หมายความว่า เรามีความภูมิใจในการที่จะตามอย่างเขา
ลักษณะอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีความภูมิใจตัวเองแบบที่ไม่ใช่ของจริงแท้ มีความภูมิใจแบบเทียมๆ คือ ถ้าเขามาว่าอะไรเรา เราก็จะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ คล้ายๆ กับว่ารักประเทศชาติของเราเอง ทนฟังใครว่าไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นไปด้วยเหตุผลและภูมิปัญญา แต่เป็นไปโดยอาการปกป้องตนเอง หรือเป็นการแสดงออกของปมด้อย
เขาเรียกว่า เป็นปฏิกิริยาปกป้องตัวเอง
คล้ายๆ กับว่า รักตัวเอง รักชาติ รักประเทศของตนมาก เขาว่าอะไรไม่ได้ เป็นฟืนเป็นไฟ โกรธขึ้นมาทันที แต่ที่จริงไม่ได้เป็นประโยชน์เลย อันนี้อย่าหลงเข้าใจผิดว่าเป็นความรักชาติรักสังคมของตัวเอง ด้วยความภูมิใจและมั่นใจในความมีอะไรดีของตนเอง อันนี้ไม่ใช่
ฉะนั้น เราจะต้องสร้างความรู้สึกที่ถูกต้อง ที่เป็นไปโดยสติปัญญา และโดยเหตุผล เป็นความภูมิใจที่แท้จริง
เป็นอันว่า ที่พูดมานี้คือลักษณะที่ได้เป็นมา
ทีนี้ ผลก็คือว่า ในแง่วิชาการต่างๆ ทั่วๆ ไป ที่เป็นเรื่องของการพัฒนาของสังคมโลกทั้งหมดนี้ หรือวิชาการต่างๆ ทั่วไปที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้านี้ บทบาทของเราก็คือการเฝ้ารอคอย รอรับจากเขาไปเรื่อยๆ รอดูว่าเขาได้คิดค้นสิ่งอะไรใหม่ๆ บ้าง เราก็คอยรอรับจากเขา ถ้าเขามีการบุกเบิกทางวิชาการใหม่ ก้าวลึกเข้าไปอย่างไร เราก็คอยตามดูเพื่อจะรับจากเขาเรื่อยไป
นี่ด้านที่หนึ่ง คือด้านทั่วๆ ไป
ในด้านที่สอง ก็คือ เรื่องของตนเอง คือสังคมและวัฒนธรรมของตนเองนี้ ไปๆ มา กลายเป็นว่าฝรั่งเป็นผู้เข้ามาศึกษา ดังที่ได้ปรากฏว่า ฝรั่งเข้ามาริเริ่มวิจัยศึกษาเรื่องเมืองไทย เรื่องสังคมไทย วัฒนธรรม แม้ตลอดจนศาสนาของไทย โดยเฉพาะในยุคที่เอเชียอาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือดินแดนแถบประเทศไทย เวียดนาม ลาว เขมร นี้ได้เป็นเวทีการเมือง และสนามรบในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ในช่วงนั้น ตะวันตกโดยเฉพาะประเทศอเมริกา ได้หันมาให้ความสนใจกับดินแดนแถบนี้เป็นอย่างมาก เมื่อฝรั่งเศสเริ่มรบกับเวียดนามใน ค.ศ. ๑๙๔๖ (พ.ศ. ๒๔๘๙) แล้วไม่นาน อเมริกาก็เริ่มเข้ามาสนับสนุน และได้เข้าพัวพันกับสงครามในเวียดนามเรื่อยมาจนกลายเป็นคู่สงครามด้วยตนเอง เขาได้มาสูญเสียทรัพยากร สูญเสียทรัพย์สินเงินทอง สูญเสียกำลังคน เอาทหารมาตายในสงครามเวียดนามอย่างมากมาย
ระยะนั้น เหตุการณ์ทางทหารและการเมืองได้ทำให้คนอเมริกัน หรือสังคมอเมริกันทั้งหมด มีความสนใจต่อดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์มาก นโยบายต่างประเทศของอเมริกันก็หันมาสนใจ ให้ความสำคัญแก่ดินแดนแถบนี้
ในเวลานั้นก็ปรากฏว่า มหาวิทยาลัยของอเมริกาก็ไหวตัวเช่นกัน เขาได้ให้ความสนใจพุ่งมาทางดินแดนแถบนี้ แล้วก็ได้ริเริ่มงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องประเทศแถบนี้ โดยเห็นว่า การที่จะไปรบ ใช้กำลังคนสู้สงครามอย่างเดียวนั้น ไม่ใช่เป็นวิธีการที่จะให้ได้ผลจริงแท้ หรือมั่นคงยั่งยืน
เขาเห็นว่าจะต้องมีการเข้าใจจิตใจของคนทางแถบนี้ รู้จักวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนภูมิหลังที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมนั้นอย่างดี จึงจะปฏิบัติต่อคนและสังคมของประเทศเหล่านี้ได้ถูกต้อง จึงจะดำเนินการทางการเมืองได้ถูกต้อง และจึงจะสามารถเอาชนะได้อย่างแท้จริง
ฉะนั้น พร้อมกับการรบและการเมือง อีกด้านหนึ่งก็มีการวิจัยทางวิชาการด้วย แล้วก็ปรากฏว่าถึงกับมีการตั้งสถาบันเพื่อศึกษาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Southeast Asian Studies ขึ้น ในมหาวิทยาลัยต่างๆ
จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยคอร์เนล ก็มี Department of Asian Studies (ตอนที่ตั้งโครงการใหม่ ยังเป็น Department of Far Eastern Studies) ซึ่งได้ตั้ง Southeast Asia Program ขึ้นมา ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ (พ.ศ. ๒๔๙๓) เพื่อศึกษาเรื่องของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันโดยเฉพาะเลย ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยนี้ก็มี Department of Anthropology ซึ่งศึกษาทางด้านนี้มากอยู่แล้ว
ทางภาควิชามานุษยวิทยา ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลได้ให้ความสนใจศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็มาประสานกับโครงการ Southeast Asia ด้วย ผลงานของภาควิชามานุษยวิทยานี้ มีเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่มากมายในระยะนั้น
เมื่อปลายปี ค.ศ. ๑๙๖๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔) สหรัฐได้ตั้งโครงการอาสาสมัครสันติภาพหรือ Peace Corps ขึ้น มหาวิทยาลัยนอร์ทเธอร์นอิลลินอยส์ ได้เป็นศูนย์แห่งหนึ่งที่ฝึกอบรมอาสาสมัครเหล่านี้ สำหรับกลุ่มที่จะส่งมาไทย และมาเลเซีย ต่อมาอีก ๒ ปี คือ ค.ศ. ๑๙๖๓ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ณ ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเธอร์นอิลลินอยส์นี้ ก็ได้มีการตั้ง Center for Southeast Asian Studies ขึ้น ซึ่งก็ยังมีอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน ศูนย์แห่งนี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องราวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในช่วงเวลาใกล้กันก่อนนั้น ที่มหาวิทยาลัย Yale ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ก็จัดให้มีการศึกษาวิชาเกี่ยวกับเรื่องราวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้จัดตั้งกิจการที่เรียกว่า Council on Southeast Asian Studies
นอกจากนั้น ก็ได้มีการตั้ง Center for Southeast Asian Studies ขึ้นที่มหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่ง คือ ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (ที่เมดิสัน) ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ (เรียกว่า Southeast Asian Center) ที่มหาวิทยาลัยอะริโซนา (เรียกเป็น Program) ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน (ที่แอนน์ อาร์เบอร์) ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (ที่เบอร์คลีย์; แต่ที่นี่และที่มิชิแกนเรียกว่า Center for South and Southeast Asian Studies)
ล่าสุดเมื่อ ๒-๓ ปีนี้เอง ก็มีการตั้ง The Northwest Regional Consortium for Southeast Asian Studies ขึ้นเป็น องค์กรร่วมงานกันระหว่างมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กับมหาวิทยาลัยโอเรกอน และมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียใน แคนาดา
รวมแล้วเวลานี้ มีศูนย์ศึกษาเรื่องอาเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกาประมาณ ๙ มหาวิทยาลัย ศูนย์แต่ละแห่งอาจจะเน้นหรือชำนาญการศึกษาแยกประเทศกันไป เช่น ที่มหาวิทยาลัยอะริโซน่าเน้นเรื่องพม่า ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอเน้นเรื่องมาเลเซีย ที่คอนซอร์เตียมที่ตั้งใหม่เน้นเรื่องเขมรและไทย ดังนี้เป็นต้น และน่าจะลองสำรวจดูว่าศูนย์เหล่านี้ ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนากันไปแค่ไหนเพียงไร
ความจริง ว่าโดยทั่วไป ฝรั่งก็มีความสนใจเรื่องของตะวันออกมาเรื่อยๆ แต่ว่ายังกว้างๆ อยู่ เพราะเขาได้เห็นว่า จะต้องมีการส่งเสริมความเข้าใจอันดีเพิ่มขึ้นระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ดังที่เราได้เห็น East-West Center ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย (ตั้งใน ค.ศ. ๑๙๖๐ คือ พ.ศ. ๒๕๐๓)
แม้ทางประเทศตะวันตกอื่น ก็มีการขยับเขยื้อนในเรื่องนี้ อย่างประเทศเดนมาร์ก ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ก็มี Scandinavian Institute of Asian Studies ที่กรุงโคเปนเฮเกน ขณะนี้ก็ทำงานเรื่องนี้อยู่ มีงานวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และเรื่องของเอเชียออกมาเรื่อย ๆ
อย่างมหาวิทยาลัยคอร์เนลนี้ ก็มีห้องสมุดภาษาไทย จนถึงขนาดที่ว่า เขาต้องการให้มีหนังสือไทยทุกเล่มเท่าที่ออกในเมืองไทย มีการหาสำนักพิมพ์ หรือร้านขายหนังสือ ให้ช่วยทำธุระด้านนี้แทนเขา จะมีหนังสืออะไรออกมาในเมืองไทย ไม่ว่าเรื่องอะไร น่าสนใจ ไม่น่าสนใจ มีสาระ ไม่มีสาระ ให้ส่งไปเถอะ หนังสืองานศพก็ให้ตามหาส่งไป
ฉะนั้น เราไม่รู้ตัวหรอกว่า มีมหาวิทยาลัยอย่างเช่น คอร์เนลนี้ตามดูเราอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราไปที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล อาจจะเห็นหนังสือไทยที่หาไม่ได้ในเมืองไทย
อย่างที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเธิร์นอิลลินอยส์ เมื่ออาตมาไปใน พ.ศ. ๒๕๑๕ (ค.ศ. ๑๙๗๒) เขานำไปดูห้องสมุดของเขา และชี้ให้ดู บอกว่า เขามีไมโครฟิล์มถ่ายหนังสือพิมพ์รายวันของไทยเก็บไว้ หนังสือพิมพ์รายวันของไทยทุกฉบับอยู่ในไมโครฟิล์มของเขา แต่ตอนนั้นมันหลายปีแล้ว เป็นระยะที่กำลังมีเรื่องสงครามในเวียดนามเต็มที่ เป็นระยะที่บอกเมื่อสักครู่ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเป็นเวทีการเมืองและสนามรบของฝรั่ง ของตะวันตก ของอเมริกัน เขาจึงได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
เรื่องของเมืองไทยที่ฝรั่งศึกษากัน ก็จึงได้มีมากมายขึ้นในตอนนั้น เราจะเห็นหนังสือเกี่ยวกับมานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องไทยในแง่มานุษยวิทยา ศึกษาในแง่ประวัติศาสตร์ และหนังสือหรือผลงานวิจัยเรื่องทั่วไปของ Southeast Asian Studies ในด้านต่างๆ มีขึ้นมากมาย
ชื่อนักวิชาการ ที่มีความโด่งดังปรากฎจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะท่านที่ศึกษาวิจัย เกี่ยวกับเรื่องเมืองไทยไว้มากบ้างน้อยบ้าง บางท่านก็ล่วงลับไปแล้ว บางท่านก็ยังมีชีวิตอยู่ เช่น Lauriston Sharp, Thomas Kirsch, William Skinner, A.B. Griswold, David K. Wyatt, Charles F. Keyes, Donald K. Swearer, S. J. Tambiah, Frank E. Reynolds, Steven Piker เป็นต้น
ท่านเหล่านี้ให้ความสนใจแก่ เรื่องของสังคมไทย และวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เด่นอยู่ในการศึกษาของท่านเหล่านี้ก็คือ เรื่องของพระพุทธศาสนา
ในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสังคมไทย หรือวัฒนธรรมไทยนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ เรื่องพระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเช่นเราอาจจะไปอ่านหนังสือของ S. J. Tambiah ซึ่งเป็นโปรเฟสเซอร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ ต่อมาย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยชิคาโกในสหรัฐ แล้วไปประจำที่ฮาร์วาร์ดปัจจุบันนี้ เข้าใจว่ายังคงเป็นโปรเฟสเซอร์ในวิชามานุษยวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ท่านผู้นี้ ได้เข้ามาศึกษาวิจัยในเมืองไทยหลายหน มาบ่อยๆ ตั้งแต่หนุ่มจนกระทั่งแก่ บางทีอยู่ตั้งหลายปี ไปหาชาวบ้านในหมู่บ้าน มาทำวิจัยแบบ postdoctoral research คือ เป็นงานวิจัยของผู้ผ่านปริญญาเอกไปแล้ว ท่านผู้นี้ได้ทำมาแล้วหลายเรื่อง แต่ละเรื่องเป็นหนังสือเล่มใหญ่ๆ ทั้งนั้น เช่น Buddhism and the Spirit Cults in Northeast Thailand ตอนเข้ามาทำวิจัยเรื่องนี้ได้อยู่เมืองไทยถึง ๓ ปี ต่อมาก็ทำวิจัยเขียนเรื่องใหญ่ออกมาอีกเล่มหนึ่ง ชื่อว่า World Conqueror and World Renouncer ซึ่งหมายถึง พระพุทธศาสนา
World Conqueror ผู้พิชิตโลก ก็คือ พระเจ้าจักรพรรดิ และ World Renouncer ผู้สละโลก ก็คือ พระพุทธเจ้า แต่ทั้งสองคำนั้นรวมกันแล้ว ก็หมายถึงพระพุทธเจ้านั่นเอง ในฐานะที่ทรงเคยได้รับพยากรณ์ตอนที่ประสูติว่า จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือไม่ก็เป็นพระพุทธเจ้า การที่เขาเอาคำนี้มาตั้งเป็นชื่อหนังสือ แสดงถึงสาระสำคัญที่มีเรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นหลัก โดยแสดงถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย การเมืองไทย หรือวิวัฒนาการของระบบการปกครองของไทย เป็นหนังสือใหญ่ทีเดียว
ต่อจากนั้นก็ยังมีออกมาอีก คราวหลังนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Amulets คือเกี่ยวกับเรื่องพระเครื่อง หรือพวกวัตถุมงคล ก็เป็นเรื่องใหญ่ในหนังสือเล่มหนาทีเดียว เป็นการศึกษาเรื่องของสังคมไทย ในแง่ของมานุษยวิทยาอีกเล่มหนึ่ง
ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง จากรายชื่อนักวิชาการข้างบนนั้น Professor Donald K. Swearer เป็นผู้ที่รักเมืองไทยมากคนหนึ่ง ชอบมาอยู่เมืองไทย พูดไทยได้ดี มักหาโอกาสมาพัก และทำงานศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเมืองไทย ท่านผู้นี้เขียนหนังสือไว้เกี่ยวกับเมืองไทย และพุทธศาสนาหลายเล่ม แม้จะเป็นเล่มเล็กๆ เป็นส่วนมาก แต่ก็เป็นงานทางวิชาการที่ควรสนใจ จะไม่พูดอะไรมาก เพียงแต่ให้ดูรายชื่อหนังสือบางเล่มของท่าน แม้หนังสือของท่านผู้นี้จะเน้นแง่พุทธศาสนามากกว่าสังคมไทย แต่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า นักวิชาการชาวตะวันตกมองสังคมไทยโยงไปหาพระพุทธศาสนาอย่างไร หรือว่าเขาเห็นว่าการศึกษาพระพุทธศาสนามีความสำคัญ หรือจำเป็นต่อการที่จะเข้าใจสังคมไทย และรากฐานของความเป็นไทยอย่างไร อาจเพียงดูรายชื่อหนังสือบางเล่มที่พอตามหาชื่อได้ใกล้มือ
- Buddhism in Transition, 1970
- Toward the Truth, 1970
- Secrets of the Lotus, 1971
- Wat Haripunjaya, 1976
- Buddhism, 1977
- Buddhism and Society in Southeast Asia, 1981
ยกตัวอย่างชื่อหนังสือบางเล่มของท่านอื่นๆ มาบ้างพอให้เห็นภาพทั่วๆ ไป เช่น
- Change and Persistence in Thai Society, edited by Skinner and Kirsch, 1975
- Religion and Legitimation of Power in Thailand, Laos, and Burma, edited by Bardwell L. Smith 1978
- Buddhist Monk, Buddhist Layman, Jane Bunnag, 1973
- Monks and Magic, B. J. Terwiel, 1975
การที่โปรเฟสเซอร์ Frank E. Reynolds กับภรรยา แปลไตรภูมิพระร่วงเป็นภาษาอังกฤษ (The Three Worlds of King Ruang, 1982) ก็ดี การที่ James B. Pruess แปลตำนานพระธาตุพนม (The That Phanom Chronicle, 1976) ก็ดี การที่โปรเฟสเซอร์ Swearer กำลังแปลคัมภีร์จามเทวีวงศ์ เป็นภาษาอังกฤษอยู่ก็ดี และกรณีอื่นๆ ทำนองเดียวกันนี้ก็ดี ย่อมมิใช่เพียงเพราะหนังสือหรือคัมภีร์เหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เพราะท่านเหล่านั้น และสถาบันของท่านเหล่านั้นมองเห็นคุณค่าและความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโดยเฉพาะสิ่งที่เป็นรากฐานของความคิดจิตใจของคนไทยและสังคมไทย ที่จะสืบสาวค้นหาได้ในหนังสือหรือคัมภีร์เหล่านั้น
สำหรับผลงาน และการวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมล้วนๆ โดยตรง ก็มีมากมาย แต่จะไม่พูดถึงในที่นี้ เพราะควรจะแยกเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
การที่เขาทำวิจัย และเขียนผลงานวิชาการเหล่านี้ ก็แน่นอนว่า เพื่อความรู้ความเข้าใจประเทศที่เขาเกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีนี้ก็คือสังคมไทยของเรา และกลุ่มประเทศที่เรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ได้ดีขึ้น บางกรณีก็เป็นผลงานอิสระ บางกรณีมุ่งความสนใจทางด้านศาสนา แต่บางกรณี หรือบางท่านโยงไปถึงนโยบายของประเทศชาติในทางการเมืองด้วย พูดง่ายๆ ก็คือผลประโยชน์ของประเทศชาตินั่นเอง
ถ้าว่ากันไปแล้ว ก็ไม่ใช่ความรู้ที่บริสุทธิ์แท้เสมอไป ในแง่ของการวิจัยนั้น เราต้องการความรู้แท้ๆ ที่เป็นกลางๆ บริสุทธิ์ แต่ผลที่จะเอาไปใช้ อาจจะมีแง่ที่โยงไปทางการเมืองปนอยู่ด้วย ฉะนั้น มันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ การเมือง นโยบายและปฏิบัติการต่างๆ อยู่ด้วย แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะคงรักษาความเป็นอิสระทางวิชาการไว้ แต่เขาก็มีวิธีการที่จะใช้ผลงานและบุคคลผู้เชี่ยวชาญให้เป็นประโยชน์
ในระยะต่อมา พอเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดความสำคัญในทางการเมืองลงไป บทบาทของอเมริกันน้อยลงไป ก็ปรากฏว่า บทบาทของนักวิชาการตะวันตก บทบาทของสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในสังคมแถบนี้ก็รู้สึกจะเพลาลงไปด้วย อย่างน้อยในแง่ความกระตือรือร้นที่ปรากฏออกมาภายนอก อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสังเกต (แต่ในความเป็นจริงที่ลึกลงไป ภูมิภาคแถบนี้ก็ยังคงมีความสำคัญมาก และกำลังทวีความสำคัญขึ้นในบางด้านด้วยซ้ำ เช่น ในทางเศรษฐกิจ เป็นต้น พร้อมกันนั้นความสนใจทางวิชาการ และการวิจัย ก็ยังคงดำเนินอยู่เรื่อยมา)
นี่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เราได้เห็นว่า ในสังคมตะวันตกเขาได้หันมาสนใจเรื่องของไทยเรามากมาย จนกระทั่งจะกลายเป็นว่า เดี๋ยวนี้เขาอาจจะรู้มากกว่าเราในเรื่องของตัวเราเอง
ทีนี้ลองหันมาดูคนไทยเราเองบ้าง เราพูดถึงหลักการได้ว่า การที่จะพัฒนาประเทศชาติหรือสังคมเราให้ได้ผลดีนั้น ควรจะมีลักษณะการปฏิบัติที่เป็นเรื่องของการมีสติสัมปชัญญะอยู่ในตัวของเรา
ประการแรก ก็คือ เราควรจะต้องรู้จักตัวเอง หรือสังคมของตนเองให้ดี
การที่เราจะต้องรู้จักตัวเองให้ดีนั้น จะเห็นได้จากเหตุผลในการตอบคำถามที่ว่าใครเล่าที่เราจะพัฒนา? ก็คือตัวเรา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ สังคมของเรา
เราศึกษาวิชาการต่างๆ เราทำกิจการอะไรต่างๆ ก็เพื่อพัฒนาตัวเรา เพื่อพัฒนาสังคมของเรา เมื่อเราจะพัฒนาตัวเรา หรือพัฒนาสังคมของเรา เราก็ต้องรู้จักตัวเรา รู้จักสังคมของเรา รู้สภาพ รู้ปัญหา และรู้เหตุปัจจัยที่เป็นมาในตัวเรา
ถ้าเราไม่รู้จักตัวเราเอง เราจะพัฒนาได้อย่างไร? อย่างน้อยเราจะต้องรู้จักฐานที่ตั้งของเรา สภาพที่เราเป็นอยู่ และจุดยืนของเราในบัดนี้ก่อนที่จะก้าวต่อไป ว่าขณะนี้เรายืนอยู่ที่ไหน เราก้าวมาได้แค่ไหน ถ้าเราไม่รู้จักตัวว่ายืนอยู่ที่ไหน แล้วเราจะก้าวต่อไปได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นแง่ที่หนึ่ง คือในแง่รู้จุดรู้สภาพที่เป็นอยู่เพื่อจะก้าวต่อไปได้อย่างถูกต้อง และมั่นคง
แง่ที่สอง คือ ในแง่การรับความเจริญจากข้างนอกเอามาปรับให้เข้ากับตัวเรา
ในเมื่อเรายอมรับว่า ประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศตะวันตก มีความเจริญก้าวหน้าในทางวิชาการ เราก็ต้องการเอาวิชาการของเขามาใช้ ในการที่จะเอามาใช้นี้ เราก็ต้องเอามาใช้กับตัวเรา ต้องปรับให้เข้ากับตัวเราให้ได้ และถ้าเราไม่รู้จักตัวเรา เราจะเอาของใหม่มาปรับให้เข้ากับตัวเราได้อย่างไร?
ถ้าปรับไม่เข้า มันก็ไม่เกิดผลเป็นความเจริญที่แท้จริง ความเจริญนั้นก็เป็นเพียงเปลือกหุ้มอยู่ข้างนอก ที่ไม่เข้าถึงเนื้อตัว เรียกง่ายๆ ว่ามันไม่ย่อยซึมเข้าไปในเนื้อตัว
เมื่อมันไม่ย่อยเข้าเป็นเนื้อตัว แล้วมันก็เข้ากันไม่ได้ เหมือนกับอาหาร ถ้าผ่านเข้าไปในท้องแล้วไม่ย่อยจะเป็นอย่างไร มันก็กลายเป็นอาหารที่เป็นพิษ หรืออาหารที่ทำให้ท้องเสีย ทำให้ท้องอืด ทำให้เสียสุขภาพ
ถ้าจะให้เกิดผลที่แท้จริงแก่สังคม แก่ประเทศชาติของเรา เราก็ต้องย่อยเข้ามาในตัวเราให้ได้ เหมือนอาหารที่จะบำรุงเลี้ยงตัวเรา ก็ต้องย่อยเข้ามาเป็นเนื้อตัวของเรา ฉะนั้น จะเอาของดิบๆ จากเมืองนอกมาใส่เมืองเรานี้ไม่ได้ผลแท้จริง
เหตุผลอีกอย่างหนึ่ง ที่ว่าทำไมจะต้องรู้จักตัวเราและสังคมของเรา พูดอย่างง่ายๆ ในแง่ที่สาม คือ ในแง่ที่เราจะนำวิชาการนั้นมาใช้ให้ได้ผล ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทย อย่างน้อยเมื่อเราไปศึกษาวิชาการแต่ละอย่าง จะไปศึกษาเศรษฐศาสตร์ก็ตาม ศึกษารัฐศาสตร์ก็ตาม ศึกษาวิชาการอะไรก็ตาม เวลาเอามาใช้ เราเอามาใช้ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทย
ฉะนั้น เราจะใช้ให้ได้ผล เราจะต้องรู้จักบริบทและสภาพแวดล้อมที่เราจะเอามาใช้ เราจึงจะใช้ได้ผลดี
นี้ก็เป็นประการที่หนึ่ง คือ ในการที่จะพัฒนาประเทศชาตินี้ จำเป็นที่เราจะต้องรู้จักตัวเอง
ต่อไป ประการที่สอง จะต้องรู้จักผู้ที่เรารับนับถือว่าเจริญ ที่เราจะไปเอาอย่างนั้นด้วย
เมื่อเราไปติดตาม ไปเอาอย่างเขา เพราะเราเห็นว่าเขาเจริญ ก็คิดว่าเรารู้จักเขาแล้ว คืออย่างน้อยเรารู้ว่าเขาเจริญ แต่การที่รู้ว่าเขาเจริญนั้น ไม่ใช่เป็นการรู้จักที่แท้จริง การรู้จักตัวเขาอย่างแท้จริง คือรู้ตัวเขาดี รู้ลึกเข้าไปทั้งกายและใจ รู้จนกระทั่งถึงว่าที่ว่าเขาเจริญนั้น เขาเจริญด้านไหน? แล้วมีไหมด้านที่เขาไม่เจริญ?
ถึงแม้ว่าเขาจะเจริญ แต่เราต้องดูให้รู้ทั้งด้านที่เขาเจริญและไม่เจริญ รู้ตัวเขาถ้วนทั่วรอบด้าน จนเห็นทั้งส่วนที่เขาเจริญ ส่วนที่เขาดี และส่วนที่เขาย่อหย่อน บกพร่อง ว่าแง่ไหนด้านไหนดี แง่ไหนด้านไหนบกพร่องอยู่ เห็นเข้าไปถึงหลังฉาก ในส่วนที่เขากำลังเสื่อมหรือมีแง่ที่จะเสื่อมต่อไป
ด้านไหนที่ว่าเขาเจริญ ก็ต้องดูต่อไปอีกว่า ที่เขาเจริญในส่วนนั้นเป็นเพราะเหตุปัจจัยอะไร อาจจะต้องศึกษาลึกลงไป ถอยหลังไป อาจจะถึง ๑๐, ๒๐, ๓๐, ๔๐, ๕๐, ๑๐๐ ปีก็ได้ ศึกษาเจาะลึกลงไป และทางด้านเสื่อมก็เช่นเดียวกันต้องดูว่าเขามีปัญหาอะไรบ้าง เขาเสื่อมเพราะอะไร
แล้วก็จับมาเชื่อมโยงจากอดีต จนถึงปัจจุบัน ในแง่ของเหตุปัจจัย พร้อมทั้งมองเห็นแนวโน้มในอนาคตด้วยว่า แนวโน้มที่จะเป็นต่อไป จะเจริญหรือเสื่อมด้านไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งของการรู้จักประเทศหรือสังคม ที่เราไปนับถือ หรือไปเอาอย่างเขา
ต้องรู้จักเขาจริง จึงจะเจริญอย่างเขาได้ จึงจะเอาจากเขาได้จริง คือ จึงจะรู้ว่าอะไรของเขาที่เราควรเอา และอะไรที่ไม่ควรเอา ไม่ใช่เห็นเขาเจริญ ยิ่งตามเขาไป ก็ได้แต่เงา หรือตัวเรายิ่งเสื่อม
นอกจากประเทศเจริญ ที่เราชอบเอาอย่างแล้ว การศึกษาวิจัยจะต้องเอาใจใส่ประเทศข้างเคียง ที่อยู่ใกล้ชิดด้วย เรียกว่าต้องให้อยู่ในสายตาอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้ได้คติ บทเรียน และความรู้ประกอบเป็นอันมาก
ต่อไป ประการที่สาม ที่กล่าวมานั้นคิดว่ายังไม่พอ จะต้องมาถึงประการที่สาม คือ รู้เท่าทันความเจริญใหม่ๆ ทั้งหมด มองเห็นภาพรวมของสังคมโลก หรืออารยธรรมของโลก ว่ามีความโน้มเอียงอย่างไร มีปัญหาใหม่ๆ อะไร เกิดขึ้นบ้าง ทิศทางใหม่ๆ ของการพัฒนาเป็นอย่างไร
เดี๋ยวนี้มีการพูดกันว่า หมดยุคของการพัฒนาแล้ว เขาบอกว่าการพัฒนาที่ทำมานั้นมันเกิดโทษมาก ฉะนั้น จึงบอกว่าปิดเสียทียุคพัฒนา ต่อไปจะเปลี่ยนยุคใหม่ หรือเปลี่ยนวิธีการพัฒนากันใหม่ แต่ยุคใหม่นี้ยังไม่มีชื่อที่แน่นอน จึงมีการเรียกชื่อกันต่างๆ ซึ่งยังไม่ลงตัวเป็นอย่างเดียวกัน
โดยเฉพาะที่สำคัญ นอกจากรู้เท่าทันสถานการณ์ หรือความเป็นไปต่างๆ และรู้เข้าใจเหตุปัจจัยของมันแล้ว เราจะต้องทันต่อความรู้และความคิด ของคนชั้นนำทางความคิดของประเทศที่เจริญที่สุด
อันนี้สำคัญมาก จะต้องจับจุดให้ดี
ตอนนี้เราจะต้องจับจุดยอด บางทีเรามัวไปตามสิ่งที่ฝรั่งเขาวิจัยเขาพูดกันมาตั้ง ๒๐ ปีมาแล้ว เป็นความรู้เก่าๆ ฝรั่งเขาเดินไปถึงไหนแล้วเราต้องตามให้ทัน จับจุดยอดเลยว่า ตอนนี้ใครเป็นชั้นนำ ชั้นยอดของฝรั่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้ที่มีความคิดชั้นยอดและนำที่สุด ขณะนี้มีความคิดอย่างไร เราจะต้องตามให้ทัน
อันนี้ถือเป็นจุดสำคัญ ว่าเราต้องทันต่อความคิด ความรู้ของคนชั้นนำทางความคิด ทางปัญญา ของประเทศที่เจริญที่สุด
เอาละ! ในขั้นนี้ยังถือว่ายังอยู่ในขั้นรับและตาม แต่ก็ตามได้ทัน คือรับบ้าง ตามบ้าง ได้แค่อย่างดีก็ตามทัน
ทีนี้มันน่าจะมีอีกขั้นหนึ่ง คือ ถ้าจะให้ดีต้องถึงขั้นนำ หรือมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ร่วมแก้ปัญหาของโลกด้วย
เราควรจะก้าวออกไป คือไม่ใช่เป็นสังคมที่ตามเขา หรืออย่างที่ว่ามีความรู้สึกด้อยอยู่เรื่อยไป ทำอย่างไรเราจึงจะก้าวเข้าไปอยู่ในวงของกลุ่มชนผู้นำ ที่จะคิดแก้ปัญหาของโลก พูดง่ายๆ ว่า มีดีอะไรที่จะให้แก่เขาบ้าง ซึ่งอันนี้จะนำไปสู่การสำรวจตัวเอง และถ้าทำได้สำเร็จ เมื่อสำรวจตัวเองแล้ว เห็นว่ามีอะไรดีอยู่บ้าง ก็จะเกิดความภูมิใจ มั่นใจในตัวเอง แล้วจะพาไปสู่ความเป็นผู้นำได้
ขณะนี้เราไม่ค่อยรู้สึกต่อการที่ว่า เรามีดีอะไรบ้างหรือเปล่า เพราะเราไม่เคยคิด หรือไม่เคยที่จะมอง
จากนั้น ก็นำไปสู่ขั้นต่อไปที่ว่า เราจะต้องทำอะไร
ก่อนจะพูดต่อไป ขอทบทวนว่า เท่าที่พูดมานี้ ประการที่หนึ่ง ก็คือ จะต้องศึกษาสังคมวัฒนธรรมในระบบของตนเอง ให้รู้จักและเข้าใจตนเองให้ดี แต่แค่นี้ยังไม่พอ นอกจากจะศึกษาให้เข้าใจสังคม วัฒนธรรม มรดกของตนเองแล้ว จะต้องมีการเปลี่ยนจิตสำนึกจากความเป็นผู้รับ และผู้ตาม มาเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้
อันนี้จะต้องขอย้ำ
การศึกษาในยุคต่อไปของประเทศไทยนี้ น่าจะให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนจิตสำนึก เพราะคงจะต้องยอมรับว่าเดี๋ยวนี้เรามีลักษณะจิตใจแบบผู้รับและผู้ตาม จนกระทั่งไม่ลืมหูลืมตา ฝังลึกจนกระทั่งทำไปโดยไม่รู้สึกตัวเลย
ฉะนั้น จะต้องตื่นขึ้น แล้วก็เตือนกัน แล้วก็พยายามฝึกฝนกันขึ้นมา พัฒนากันขึ้นมา ให้มีจิตสำนึกที่จะเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ เริ่มจากการหันมาดูว่าเรามีอะไรที่จะให้แก่เขาได้บ้าง ในการที่จะทำอย่างนี้ ก็ต้องมีการศึกษาให้รู้เท่าทันเขาด้วย โดยเฉพาะรู้เหตุปัจจัยของเขา อย่างที่กล่าวมาแล้วเมื่อกี้นี้
ส่วนการศึกษาเขานี้ ไม่ใช่ศึกษาแต่เพียงว่าเขาเป็นอย่างไรเท่านั้น การศึกษาเหตุปัจจัยของเขานี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ว่าทำไมเขาจึงเป็นอย่างนี้ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ดูฝรั่งไม่ใช่ดูแค่เดี๋ยวนี้ จะต้องถอยหลังไปดูนานๆ ดูให้ลึกซึ้ง ดูแม้แต่ส่วนที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้ดู อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเขาก็ดูเราในส่วนที่เราเองก็ไม่ได้ดูตัวของเราด้วย
แล้วก็ศึกษาให้รู้เท่าทันประเทศอื่น โดยเฉพาะเน้นประเทศพัฒนาแล้ว ที่เราเอาเป็นตัวอย่าง และประเทศข้างเคียง พร้อมทั้งประเทศที่มีสภาพในระดับเดียวกับเรา รู้เท่าทันกระแส แนวโน้มของโลก และการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาปัจจุบัน อย่างที่บอกมาแล้ว
ตอนนี้แหละจึงมาถึงการที่ว่าจะหันมาดูศิลปวัฒนธรรม และมรดกของตัวเอง ในขั้นที่สอง คือการศึกษาเรื่องที่ตนมีอยู่ ในแง่ที่จะเอาดีไปเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นบ้าง หรือเอาไปใช้ประโยชน์
นี้เป็นการมองในแง่มุมต่างๆ ที่เราจะต้องทัน คือ ต้องรู้จักตัวเอง ต้องรู้เท่าทันเขา และต้องรู้เท่าทันโลก
ถึงแม้จะไม่พูดถึงเรื่องของตัวเราเอง ถ้าเราจะศึกษาวิชาการสมัยใหม่ และทำงานวิจัยในวิชาการสมัยใหม่นั้น เราก็จะต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดว่า เมื่อจะทำการวิจัยวิชาการสมัยใหม่ เราจะต้องทำให้ได้ดีถึงขั้นที่มีอะไรใหม่ๆ ที่ดีกว่าที่ฝรั่งทำไว้ด้วยซ้ำ คือมีอะไรใหม่ๆ ให้แก่วิชาการนั้นๆ แม้แต่ที่ฝรั่งก็ยังไม่ได้ทำ อันนี้จึงจะเป็นส่วนร่วม ที่จะเสริมให้แก่อารยธรรมของโลกอย่างแท้จริง ไม่ใช่แต่เพียงว่าจะให้ได้อะไรใหม่ๆ แก่ตัวเราเอง ซึ่งมันอาจจะไม่ใหม่สำหรับวงวิชาการนั้นๆ ทั้งหมดในโลกก็ได้
อีกอย่างหนึ่งก็คือ การวิจัยวิชาการสมัยใหม่ที่มาจากตะวันตกนั้น น่าจะเน้นการวิจัยแง่หนึ่งคือ การวิจัยในแง่ของการนำวิชาการนั้นๆ แต่ละอย่างแต่ละสาขา เข้ามาใช้ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทย ซึ่งอันนี้ดูเหมือนว่า จะไม่ค่อยมีการวิจัย เพราะเวลาวิจัย เราก็คิดแต่ว่าจะวิจัยในเนื้อหาของวิชาการนั้นๆ ไป เรื่อยๆ ล้วนๆ โดยไม่ได้ฉุกคิดว่ามันอาจจะผิดถิ่นกัน เข้ากันไม่ได้กับสังคมไทย ยังเอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้
ทีนี้ลองวิจัยในแง่จะเอาวิชาการนั้นๆ มาใช้ในบริบทของสังคมไทย อันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และจะเป็นประโยชน์ได้จริง
ต่อไปนี้ก็เข้าสู่ข้อพิจารณาที่ว่า เราควรจะต้องทำอะไร ในระยะที่แล้วมา อาจจะถือว่าเราได้ประมาทไป ประมาทจนกระทั่งว่า ลักษณะที่เป็นผู้รับและผู้ตามนั้นปรากฏออกมา ถึงขนาดที่ว่า แม้แต่เรื่องของไทยเองนี้ คนไทยยังต้องไปเรียนที่เมืองนอก อย่างน้อยเราอยากจะต่อปริญญาโท ปริญญาเอก แม้แต่เรื่องประวัติศาสตร์ไทย จะให้เป็นที่ยอมรับกันดี บางทีเราต้องไปเรียนที่อเมริกา เช่น อาจจะต้องไปต่อที่คอร์เนลยูนิเวอร์ซิตี้ ในสหรัฐอเมริกา
แต่ก็ต้องยอมรับความจริงอันนี้ ซึ่งเป็นอีกข้อหนึ่งที่แสดงว่าเขาได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยจริงจังในเรื่องของเรา
ทีนี้ เวลาคนไทยเราไปทำปริญญาที่ประเทศอเมริกา ทำปริญญาชั้นสูง มีการวิจัยเพื่อปริญญาเอก ฝรั่งมักชอบให้เราทำวิจัยเรื่องเมืองไทย และเราก็ชอบ
ทำไมเราจึงชอบ ทำไมเขาจึงชอบ
ฝรั่งชอบเพราะเราค้นข้อมูลอะไรต่างๆ ให้เขา ช่วยให้เขาได้ข้อมูลจากเราไปโดยเขาไม่ต้องลงทุนมาก ถ้าส่งคนของเขามาเก็บข้อมูลนี้ค่าแรงมันแพงเหลือเกิน เพราะค่าครองชีพของเขาสูง
นอกจากนั้น เขายังได้ข้อคิดเห็นของคนไทยด้วย คนไทยเรามองตัวเอง มีความคิดเห็นต่อตัวเอง ต่อเรื่องราวของสังคมไทยอย่างไร อันนี้ฝรั่งเขาเป็นฝ่ายได้ คนไทยเราไปเรียนที่เมืองฝรั่ง เขียนเรื่องของเรา ก็คือทำงานและรายงานให้เขา เขาได้จากเรามากทีเดียว
ทีนี้ ตัวเราเองนั้นชอบเพราะอะไร เพราะว่ามันง่ายสำหรับเราเอง เพราะเรามาเก็บข้อมูลของเรามันก็ง่ายหน่อย และอีกอย่างก็ประหยัดด้วย เวลาวิจัยในเมืองไทย ใช้เงินน้อยหน่อย ถ้าขึ้นไปวิจัยที่เมืองฝรั่งต้องใช้เงินมาก อันนี้จุดของเรื่องก็คือว่า มันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งของคนไทย และของฝรั่ง
ก็เลยอยากจะมีข้อเสนอแนะ เคยเสนอไว้ว่า ในการที่คนไทยเรานิยมไปทำวิจัย ชอบไปทำปริญญาชั้นสูงที่เมืองนอก เราต้องยอมรับความจริง มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนั้น
แต่ทำอย่างไรจะให้ได้ประโยชน์แก่สังคม และประเทศชาติของเราให้มากที่สุด?
เราจำเป็นต้องมีแผนและนโยบาย คือการที่ว่าเราน่าจะแบ่งกันออกเป็น ๒ พวก คือ พวกหนึ่ง ทำเรื่องของไทยให้ลึกซึ้ง ตั้งเป้าเอาไว้ว่าให้รู้ดีกว่าฝรั่ง วิจัยเรื่องของไทย สังคมไทย ต้องการรู้จักและเข้าใจตัวเอง เพื่อเป็นประโยชน์ในการปรับตัว เป็นต้น และเราก็ต้องเอาจริงเอาจัง ต้องตั้งเป้าไว้เลย เอาให้ดีที่สุด
อีกพวกหนึ่งนั้น ไปวิจัยสังคมฝรั่ง สังคมอเมริกัน เอาให้เต็มที่เลย ให้ลึกซึ้ง ให้รู้อย่างที่ว่ารู้ดีกว่าตัวเขา รู้ดีกว่าตัวเขาในทุกแง่นั้นเป็นไปไม่ได้หรอก แต่บางแง่เรารู้ดีกว่าเขาได้ เพราะคนจากข้างนอกไปมองคนในที่นั้นแล้ว จะเห็นอะไรที่มันต่างออกไปได้ชัดเจน เหมือนกับว่าฝรั่งมองดูคนไทยแล้วก็เห็นอะไรที่ต่างจากเขาชัดเจนขึ้นมา
อันนี้ก็จึงเป็นไปได้เหมือนกัน ที่ว่าฝรั่งจำนวนไม่น้อยรู้เรื่องของไทยดีกว่าคนไทยเราเอง แล้วเราก็ควรจะรู้เรื่องของฝรั่งดีกว่าที่ฝรั่งรู้ตัวเขาบ้าง หรืออย่างที่ว่าญี่ปุ่นไปเรียนรู้ฝรั่ง จนกระทั่งทำได้เกินครู ปัจจุบันนี้เราก็ต้องยอมรับว่า ญี่ปุ่นนี้ตอนแรกก็ไปเลียนแบบฝรั่ง แล้วก็เอาจากฝรั่งมา แต่เดี๋ยวนี้ก็ทำได้เกินฝรั่งแล้วในหลายเรื่องหลายอย่างด้วยกัน
ที่ว่านี้หมายถึง ทำได้หรือผลิตได้เหมือนอย่างฝรั่ง หรือดีกว่าฝรั่ง ไม่ใช่แค่ว่ารู้จักบริโภคได้อย่างฝรั่ง หรือบริโภคเก่งกว่าฝรั่ง การที่จะทำได้อย่างฝรั่งจึงจะทำให้พยายามรู้เรื่องของฝรั่ง ความอยากบริโภคอย่างฝรั่ง ไม่ทำให้อยากรู้และพยายามรู้เรื่องของฝรั่ง
เรื่องนี้ไม่ควรจะเป็นเพียงความคิด ของคนกลุ่มเดียวหรือเอกชน แต่ควรเป็นนโยบายของรัฐ หรือผู้ที่รับผิดชอบการศึกษาของชาติ การส่งคนของเราไปเรียนเมืองนอกนี้ น่าจะเป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน ทั้งจุดหมายทั่วไป และจุดหมายจำเพาะ เราจะต้องตั้งเป้าว่าจะเอาอย่างนี้นะ จะต้องรู้ต้องทำอันนี้ให้ได้นะ
รู้สึกว่าเราจะไม่ค่อยมีการวางนโยบายอะไรเลย ในการที่จะไปติดต่อกับทางเมืองนอก จะต้องมีเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจนว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างแท้จริง
อาตมาหวังว่า ในการส่งคนไปเรียน และในการวิจัยอย่างนี้ รัฐบาลไทยควรจะวางนโยบายและตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าเราจะเอาอะไรอย่างไร
ทีนี้หันมาพูดถึงการศึกษาเรื่องของไทย สังคมไทย หรือสิ่งที่ไทยมี ไทยรู้
การศึกษาเรื่องของไทยนั้น ถ้าศึกษาให้ดีแล้วมันไม่ใช่เป็นการศึกษาเฉพาะเรื่องไทยเท่านั้น แต่มันจะขยายวงออกไป เป็นการศึกษาเรื่อง Southeast Asia คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วขยายออกไปเป็นการศึกษาเรื่องเอเชียทั้งหมด ตลอดจนเป็นการศึกษาเรื่องตะวันออกทั้งหมด
จากการศึกษาที่จุดเริ่มในเรื่องของไทยนี้ ถ้าศึกษาให้ดี วางท่าทีและแนวคิดให้ถูกต้อง ก็จะขยายออกไปสู่ความเป็นสากลได้ด้วย เพราะสิ่งที่ไทยรับมาและมีอยู่ในรากฐานทางวัฒนธรรมไทยของเรานั้น เป็นสิ่งที่เป็นสมบัติกลางของอารยธรรมของโลกด้วย
เช่นอย่างพระพุทธศาสนานี้ เข้ามาสู่สังคมไทย กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยก็จริง แต่ตัวเนื้อหาสาระที่เข้ามานั้น เข้ามาเพราะอะไร ก็เพราะมันเป็นของกลาง เราจึงเอาเข้ามา รับเข้ามาสู่สังคมท้องถิ่นของเรา แต่สาระของมันนั้นเป็นส่วนที่ขยายออกไป โยงออกไปเชื่อมกัน สัมพันธ์เป็นอันเดียวกันกับส่วนที่เป็นกลาง เป็นสมบัติส่วนรวมของอารยธรรมของโลก
ฉะนั้น ถ้าเราศึกษาให้ดีแล้ว การศึกษาเรื่องของไทยนี้แหละ ก็จะขยายออกไปสู่ความเข้าใจเรื่องของตะวันออก และเรื่องของโลกทั้งหมด ตลอดจนจะทำให้ก้าวไปถึงขั้นที่บอกเมื่อกี้ว่า เราจะสามารถมองเห็นอะไรที่ไทยเรามีซึ่งเป็นของดีที่เราจะให้แก่ผู้อื่นได้
แง่ต่อไป เรื่องของไทยนี่ศึกษาไปศึกษามา ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้แล้วว่า เมื่อฝรั่งมาทำวิจัยเรื่องสังคมไทย ส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งจะต้องมีส่วนร่วมอยู่ในเรื่องที่วิจัยด้วยไม่พ้นเลย ก็คือ พระพุทธศาสนา ตอนนี้เราจึงหันเข้ามาสู่การศึกษาพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาที่เราศึกษากันนี้ เราศึกษาอย่างไร โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ตอนนี้แหละที่เราเข้าสู่หัวข้อที่ว่า “มหาวิทยาลัยกับการวิจัยทางพระพุทธศาสนา”
การที่เรามาวิจัย หรือศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนานั้น มีแง่มุมอย่างน้อย ๒ ประการ
ประการที่หนึ่ง ก็เชื่อมโยงกับสิ่งที่พูดมาแล้ว คือ เราศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อความเข้าใจสังคมไทย ทั้งนี้เพราะเรายอมรับว่า พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมไทย และของสังคมไทย
ในการศึกษาเรื่องของพระพุทธศาสนานั้น ในแง่ที่เกี่ยวกับสังคมไทย ก็มีแง่มุมให้ศึกษาหลายอย่าง ด้านหนึ่งก็คือการศึกษาในแง่สถาบัน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม เรื่องของวัดวาอาราม กิจการคณะสงฆ์ ตลอดจนประวัติศาสตร์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญมาก ในการที่จะเข้าใจสังคมไทย
อีกด้านหนึ่งที่จำเป็นจะต้องศึกษา เพื่อความลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ สิ่งที่เป็นรากฐานอย่างแท้จริง ได้แก่ เรื่องความคิด เรื่องภูมิปัญญาอะไรต่างๆ และเรื่องของจิตใจนั่นเอง
ทั้งหมดนี้เราใช้คำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภูมิธรรม ภูมิปัญญา สาระในส่วนนี้จะทำให้เราต้องศึกษาลึกเข้าไปถึงเนื้อหา หลักธรรม คำสอน อะไรต่างๆ ด้วย
ขอให้ดูงานของฝรั่งที่ศึกษาเรื่องของไทยต่างๆ ที่พูดมาแล้วนั้น ซึ่งมีเรื่องพระพุทธศาสนามากมาย เขาก็ศึกษาปนกันไป ทั้งในแง่ของสถาบัน และการพยายามที่จะสืบค้นหารากฐานและหลักฐานที่อยู่ในตัวหลักธรรมคำสอน เช่นสืบค้นว่าอะไรที่ทำให้สถาบันเป็นแบบนี้ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หรืออาณาจักรกับพุทธจักร ว่าเป็นไปในรูปไหน และที่เป็นอย่างนั้นมาจากรากฐานคำสอนอย่างไร หรือเป็นเพราะจับคำสอนมาตีความในลักษณะไหน หรือเน้นในจุดใด อะไรต่างๆ เหล่านี้
อันนี้เป็นด้านที่หนึ่ง คือการศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อความเข้าใจสังคมไทย
ประการที่สอง เป็นด้านที่กว้างออกไป คือการศึกษาพระพุทธศาสนา โดยโยงกับสถานการณ์ของโลก ตลอดจนแนวโน้มของสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ก็อย่างที่กล่าวในตอนต้นแล้วว่า เราจะต้องมองให้กว้างออกไปในสังคมโลกหรือมนุษยชาติทั้งหมด
ขณะนี้โลกได้เจริญมามาก โดยมีประเทศตะวันตกเป็นผู้นำ เราเรียกประเทศเหล่านี้ว่า เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (สมัยก่อนเรียกว่าอารยประเทศ) แม้จะมีประเทศตะวันออกบางประเทศที่สามารถขึ้นไปสู่ระดับนี้ได้ อย่างประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เราก็ให้จุดเน้นไปที่ประเทศตะวันตก
ทีนี้การพัฒนาของโลก ที่ประเทศพัฒนาแล้วในวัฒนธรรมตะวันตกเป็นผู้นำนี้ ในปัจจุบันได้ประสบสภาพที่เรียกว่า “ถึงจุดตีบตัน” หรือ “จุดหักเลี้ยว” เพราะมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมาก เนื่องจากการพัฒนานั้น จนกระทั่งว่าแม้แต่องค์การสหประชาชาติ ก็ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณา และยอมรับว่าการพัฒนาในยุคที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการผิดพลาดไปแล้ว แล้วก็เห็นชอบตามข้อเสนอของยูเนสโก ประกาศให้ พ.ศ. ๒๕๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็น The World Decade for Cultural Development คือเป็น ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรม โดยมีหลักการสำคัญว่า ให้เอาวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลาง เป็นแกนกลางของการพัฒนา พร้อมทั้งลดบทบาทและความสำคัญของวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
แนวความคิดที่ก้าวหน้าในตอนนี้ก็คือ เขามองเห็นว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การมุ่งความเจริญทางด้านวัตถุ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาทใหญ่นี้ ทำให้เกิดปัญหามาก และจะไม่สามารถนำไปสู่จุดหมาย คือสันติสุขของโลกอย่างแท้จริง แต่จะต้องติดตันอย่างแน่นอน และจะมีปัญหาร้ายแรงถึงขั้นที่เป็นความพินาศย่อยยับของมนุษยชาติด้วย
โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ปัญหาได้ปรากฏให้เห็นประจักษ์แล้วในทุกด้าน อย่างที่บอกข้างต้นแล้วว่า ปัญหาชีวิตของมนุษย์ก็หนักทั้งด้านกายและใจ ปัญหาสังคมก็เต็มที่ อย่างอเมริกานี้ก็มีปัญหาในด้านนี้ชัดเจน ซึ่งเป็นตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาแล้ว
เราได้ยินเรื่องโรคเอดส์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ทางกายก็เริ่มดังที่อเมริกา แล้วก็เรื่องปัญหาจิตใจ เรื่องคนเสียสติ เรื่องโรคประสาท คนเป็นโรคจิต คนฆ่าตัวตายมาก เป็นโรคเครียดมาก ก็ที่อเมริกา
ปัญหาสังคมอย่างหนักในปัจจุบัน เช่น ปัญหายาเสพติด ก็มีการติดโคเคน ติดแครคส์ จนกระทั่งในอเมริกาเวลานี้ โรงพยาบาลถึงกับมีการจัดแผนกพิเศษ สำหรับเด็กคลอดใหม่ ที่เป็นลูกของคนติดยาเสพติด เพราะติดยากันมาตั้งแต่อยู่ในท้อง
มีการพูดกันในทำนองว่า ยังไม่เห็นลู่ทางว่า อเมริกาจะแก้ปัญหายาเสพติดได้ และปัญหายาเสพติดนั้น มันก็โยงไปถึงปัญหาของจิตใจนั่นเอง เพราะไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหาจิตใจเช่นแก้เครียดได้อย่างไร ก็หันไปหายาเสพติด จิตใจไม่มีความสุข ไม่มีความเบิกบานผ่องใส หาความหมายของชีวิตไม่ได้ ก็เลยต้องพึ่งยาเสพติด
ต่อจากปัญหาสังคม ก็คือปัญหาธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ เช่น ปัญหา greenhouse effect ปัญหา ozone layer มีช่องโหว่มาก เรื่องอุณหภูมิในโลกสูงขึ้น เรื่องดิน น้ำ อากาศเสีย มลภาวะ มลพิษอะไรต่างๆ สารพัด
เรื่องป่าไม้กำลังจะหมดไป เรื่องฝนน้ำกรดไปทำลายชีวิตสัตว์ในทะเลแล้วก็ทำลายป่าไม้ด้วย ปัญหาการตัดป่าในประเทศที่กำลังพัฒนา ส่วนฝรั่งไม่ค่อยตัดป่า เขารักษาป่าดี แต่ก็มีมลภาวะไปทำลายแทน
เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาสำคัญๆ ทั้งนั้น
เดี๋ยวนี้การที่ฝรั่งหันมาสนใจพระพุทธศาสนา ก็เน้นที่ปัญหาทางจิตใจ ไม่ใช่แค่ปัญหาทางความคิด คือ สภาพจิตได้ฟ้องว่า การแสวงหาความสุขจากวัตถุและเทคโนโลยีนั้น ไม่สำเร็จผลแท้จริง ก็เลยหันมาสนใจทางด้านจิตใจ
ทีนี้ การแก้ปัญหาด้านจิตใจที่ได้รับความสนใจมาก ก็ปรากฏว่าเป็นเรื่องของศาสนาและปรัชญาตะวันออก ปรากฏว่าในช่วง ๓-๔ ทศวรรษที่ผ่านมานี้ พวกคนตะวันตกได้หันมาสนใจเรื่องปรัชญา และศาสนาตะวันออกกันมาก
ความจริงศาสนา ปรัชญาตะวันออกเข้าไปในประเทศตะวันตกนานแล้ว ตั้งแต่ Zen เข้าไป แล้วต่อมาก็มีโยคะ แล้วก็มีพวกพุทธศาสนานิกายวัชรญาณของทิเบต ซึ่งกำลังเฟื่องฟูมาก ในอเมริกาปัจจุบันนี้ ฝรั่งหันมาสนใจสมาธิ หรือ meditation ค้นคว้าเรื่องจิตใจ แม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็พลอยหันมาสนใจด้านจิตมากขึ้น ในทางจิตวิทยาก็เกิด transpersonal psychology ซึ่งเป็นจิตวิทยาที่รุ่งเรืองขึ้นมาในระยะหลังนี้ มีการสนใจเรื่อง meditation สนใจเรื่อง peak experiences อะไรทำนองนี้ เรียกว่าหันมาสนใจเรื่องทางจิตใจนั่นเอง
อีกเรื่องหนึ่ง ในแง่ของความคิดก็คือ ความพยายามที่จะหาทางออกในการแก้ปัญหาว่า เราจะแก้ปัญหาของโลกนี้ได้อย่างไร แล้วก็ได้เกิดแนวความคิดใหม่ๆ ในการที่จะเปลี่ยนกระแสความเจริญของโลก เริ่มตั้งแต่ข้อสงสัยว่า แนวทางการพัฒนาควรจะไปในทิศทางใด
ได้เกิดความแคลงใจและตั้งคำถามกันขึ้นว่า แนวความคิดของตะวันตกนั้น คงจะไม่สมบูรณ์เสียแล้ว หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะพลาด แล้วก็หันมาสนใจศึกษาแนวความคิดอื่นๆ หันมาศึกษาแนวความคิดของตะวันออก แม้แต่วิทยาศาสตร์ ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน
จะเห็นว่า พวกนักฟิสิกส์ ซึ่งเป็นคนชั้นนำในวงการวิทยาศาสตร์ ตอนนี้ก็หันมาสนใจในเรื่องแนวคิดทางฟิสิกส์แบบใหม่ เกิดฟิสิกส์แบบใหม่ขึ้นมา เช่น เมื่อมีหนังสือออกมาเกี่ยวกับแนวคิดใหม่ๆ ในระยะหลังๆ นี้ คนอเมริกันก็ตื่นกันมาก ตัวอย่างเช่น Fritjof Capra ออกหนังสือ The Tao of Physics ว่าด้วย แนวคิดทางฟิสิกส์อย่างใหม่ ก็ได้เป็นหนังสือขายดีที่สุดหรือ best seller และต่อมาก็มีหนังสือ The Turning Point ออกมาอีก ซึ่งได้ชี้แจงให้เห็นว่าการพัฒนาถึงจุดหักเลี้ยวอย่างไร
อันนี้ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นความเปลี่ยนแปลงในอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งปรากฏชัดในความเปลี่ยนแปลงทางวิชาการ ซึ่งก็เป็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาทั้งหมดด้วย
เราจะต้องทำการพัฒนากันในทิศทางใหม่ หรืออย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า อาจจะถือว่าหมดยุคของการพัฒนา แล้วก็อาจจะต้องทำอะไรสักอย่าง ที่เป็นไปตามแนวความคิดใหม่ๆ ที่จะแก้ปัญหาของโลกได้
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ก็เป็นจุดที่ทำให้ชาวตะวันตกเกิดความสนใจในพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในความคิดของตะวันออก ซึ่งสอดคล้องกันและช่วยชี้แนะให้ประโยชน์แก่แนวความคิดใหม่ๆ เหล่านั้น
เป็นอันว่า จุดที่ทำให้สนใจพระพุทธศาสนากันมากในประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบัน ก็คือเริ่มตั้งแต่ปัญหาจิตใจ ไปจนถึงการแสวงหาภูมิปัญญา หรือแนวความคิดใหม่ๆ เหล่านี้
ในปัจจุบันนี้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้จะยังมีความสำคัญอยู่ ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น มีคนจำนวนมากที่เกิดความผิดหวังต่อวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วนี่ บางพวกถึงกับต่อต้านเทคโนโลยี
เราจะเห็นว่า ในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศอเมริกา ได้มีการตั้งกลุ่ม ตั้งสมาคมต่อต้านเทคโนโลยี โดยเรียกร้อง หรือชักชวนกันให้หันกลับไปใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น การทำการเกษตรกรรมแบบธรรมชาติ ในตอนนี้ก็เริ่มตื่นกันขึ้นมา เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหักแนว อย่างไรก็ตาม อันนี้ก็เป็นเรื่องของปฏิกิริยาที่อาจจะเป็นไปได้ ในระหว่างที่กำลังแสวงหาทางกัน คืออาจจะเป็นสุดทางที่ตรงกันข้าม
พวกหนึ่งก็ยังยืนหยัด ที่จะฝากชะตากรรมไว้กับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ บอกว่า ถึงแม้โลกนี้จะเกิดปัญหาก็ช่างมัน เราจะไปสร้างสถานีอวกาศอยู่ แล้วก็จะไปพัฒนาโลกพระอังคาร
พวกนี้เขาหวังว่า จะไปทำโลกพระอังคารให้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์แทนโลกนี้ ถึงแม้โลกนี้จะพินาศสูญเสียด้วยปัญหาสังคม ปัญหาสงครามนิวเคลียร์ ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย ก็ไม่เป็นไร เราพากันไปด้วยยานอวกาศ ไปอยู่ในโลกพระอังคารได้ พวกนี้เขาเรียกว่า พวกบ้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อีกพวกหนึ่งไม่เอาเลย บอกว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ไม่ได้เรื่องหรอก ทำให้พวกเราประสบปัญหาดังปัจจุบันนี้ จนย่ำแย่ มนุษยชาติจะพินาศแล้ว เพราะฉะนั้นไม่เอาละ พวกนี้ต่อต้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่เลย ไม่ใช้สักอย่าง จะอยู่ตามธรรมชาติ กลับไปอยู่ในสังคมแบบเกษตร
แต่ในสภาพปัจจุบัน เรามองเห็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ยังไม่ได้หมดความสำคัญ แต่จะมีแนวความคิดใหม่ๆ ในทางวิทยาศาสตร์ บางคนพูดว่า แม้แต่ความคิดพื้นฐานในทางวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะต้องเปลี่ยน ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ อาจจะต้องเปลี่ยนการที่จะต้องใช้วิธีเก็บข้อมูล ทดลอง ยอมรับแต่ความจริงที่เห็นได้ อะไรต่างๆ นี้ อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
อยากจะพูดว่า ยุคต่อไปนี้ อาจไม่ใช่ยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหมดบทบาทลง แต่มันจะเป็นยุคที่คนจะอยู่เหนือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังมีความสำคัญอยู่ แต่ท่าทีของมนุษย์ต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป มนุษยชาติแต่ก่อนหวังพึ่ง หรือปล่อยให้ความเจริญของอารยธรรมของเรานี้ ขึ้นต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเต็มที่ ฝากความหวังไว้โดยสิ้นเชิง กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่บัดนี้ เรากำลัง “หายหลง” หรือ “เลิกคลั่งไคล้”
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะว่าหมดเสน่ห์ ก็ไม่ถึงกับหมด แต่มันคลายเสน่ห์ ฝรั่งว่าเกิด disenchantment
คือมนุษย์จะคลายหลง เลิกคลั่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นคนมีเหตุมีผล และมีท่าทีที่เป็นวิทยาศาสตร์ต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น จะรู้ตระหนักถึงขอบเขตของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และก็มองเห็นว่า ยังมีส่วนอื่นของมนุษย์หรือของชีวิตที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่สามารถทำให้ได้
ถึงตอนนี้เราจะเริ่มมีปัญญา ที่มองเห็นความจริงเด่นชัดขึ้น แล้วการพัฒนาของมนุษย์ก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ก็เป็นอันว่า เราอาจจะมาถึงยุคที่ต้องรู้จักควบคุม หรืออยู่เหนือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้หมดความสำคัญไป แต่เรารู้จักใช้อย่างถูกต้อง และรู้จักที่จะมีชีวิตที่เป็นอิสระได้ โดยไม่ต้องขึ้นต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในการแสวงหาทิศทางและแนวความคิดใหม่ๆ เหล่านี้ เพื่อแก้ปัญหาของโลก คนหรือปัญญาชนในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนหนึ่ง ก็ได้หันมาสนใจพระพุทธศาสนา
ฉะนั้น จุดที่เราจะทำการวิจัยทางพระพุทธศาสนา จึงมี ๒ ด้าน
ด้านที่ ๑ อย่างที่กล่าวมาแล้ว คือ การศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อความเข้าใจสังคมไทย และเพื่อประโยชน์ของสังคมไทยเอง
ด้านที่ ๒ คือ การศึกษาพระพุทธศาสนาในแง่ที่เป็นจุดสนใจของวงวิชาการของโลก หรือของปัญญาชนยุคปัจจุบัน ในแง่ที่จะก้าวไปช่วยแก้ปัญหาของโลกทั้งหมด หรือเพื่อร่วมสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก
สำหรับด้านที่ ๑ การวิจัยทางพระพุทธศาสนาในฐานะที่มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันชั้นนำ ที่จะต้องทำการด้านนี้ ก็คือ
แง่ที่ ๑ ศึกษาพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นรากฐานและเป็นองค์ประกอบของสังคมและวัฒนธรรมไทย
แล้วก็ศึกษาในแง่ว่า พระพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลอะไรต่อสังคมไทย และมีบทบาทอย่างไรในสังคมไทย เมื่อเข้ามาในสังคมไทยแล้วมีความเป็นไปอย่างไร ทั้งในทางเจริญและเสื่อม ก็แล้วแต่จะศึกษาไป
แง่ที่ ๒ ศึกษาในแง่ว่า พระพุทธศาสนาเองนี้ เมื่อเข้ามาสู่สังคมไทยแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ ในสังคมไทย ได้แปรเปลี่ยนพระพุทธศาสนาไปอย่างไร
ไม่ใช่ว่า พระพุทธศาสนามาทำต่อสังคมไทยเท่านั้น สังคมไทยก็ได้ทำกับพระพุทธศาสนาด้วย
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย จึงไม่จำเป็นต้องเป็นพระพุทธศาสนาอย่างเดิมทั้งหมด แต่เป็นพระพุทธศาสนาแบบที่คนไทยตีความ หรือพระพุทธศาสนาในแง่ที่คนไทยชอบนำมาใช้ และพระพุทธศาสนาในแง่ที่กลมกลืน ประสมประสานกับองค์ประกอบอื่นในสังคมไทยเอง เช่น ลัทธิผีสาง เทวดา ศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น
มีเรื่องที่จะต้องพิจารณามากมาย ซึ่งจะทำให้รู้เห็นแนวทางที่จะแก้ไขปรับปรุงด้วย
เช่น พอเห็นว่าพระพุทธศาสนาเข้ามาเจริญในสังคมไทย โดยได้รับอิทธิพลอย่างนี้ และพระพุทธศาสนาได้แปรเปลี่ยนไปในแง่นี้ เพราะคนไทยเรานำมาในแง่นี้ เพราะเราตีความ เราเน้นในแง่นี้ พอรู้อย่างนี้แล้ว เราก็จะได้ความคิดว่า อ้าว! ในสังคมปัจจุบันนี้มันไม่ควรจะใช้ในแง่นี้นี่! แง่อื่นก็มีนี่ เป็นส่วนที่ดีกว่านี้ หรือเป็นส่วนที่ถูกต้องสมบูรณ์กว่านี้ด้วยซ้ำ เราควรจะปรับเปลี่ยนอะไรต่างๆ ให้มันถูกต้อง ควรแก้ไข และก้าวต่อออกไป
นอกจากนั้น ลองศึกษาลึกลงไป การศึกษาเรื่องของหลักธรรมคำสอนที่เราตีความเอามาใช้นี่ มันจะโยงไปหาตัวหลักธรรมคำสอนเดิม ที่เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา นำไปสู่เนื้อหาเดิม แล้วอันนี้ก็จะนำไปสู่การที่จะรู้จักปรับปรุงตัวเองได้ เพราะว่าประเทศชาติและสังคมที่จะเจริญพัฒนาขึ้นได้นั้น จะต้องรู้จักปรับปรุงหรือพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ การปรับปรุงในเนื้อตัวของตัวเองอย่างนี้ จึงจะเป็นความเจริญเติบโตที่ต่อติด สืบเนื่องและกลมกลืน ไม่ลักลั่นและฉาบฉวยอย่างที่เป็นปัญหาในสังคมของเราที่ผ่านมา
เราต้องมีการสำรวจตัวเอง ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงผ่านกาลเวลามายาวนานนี้ แม้แต่ของของเราเองที่เราสืบต่อกันมา บางทีก็มีการคลาดเคลื่อนบิดเบือนไปด้วยการที่ไม่มีการศึกษาบ้าง เป็นเพราะมีอิทธิพลภายนอกเข้ามากระทำบ้าง หรือแม้แต่มีการดัดแปลงเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์เข้ามาบ้าง
นานๆ เราจึงต้องตรวจสอบกันสักที ถ้าเห็นว่าเราคลาดเคลื่อนไปเสียแล้ว ก็กลับไปหาหลักที่แท้จริงกันใหม่ อะไรทำนองนี้
อันนี้ก็เป็นแง่ที่ว่า เราศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนาเพื่อเข้าใจและเพื่อประโยชน์แก่สังคมไทย
ทีนี้จากแง่ที่ ๒ ที่พูดมาแล้วนั้น เราก็สามารถก้าวต่อไปสู่การถือเอาประโยชน์อีกด้านหนึ่ง คือการศึกษาหลักธรรม หลักปรัชญา หรือตัวแท้ของพระพุทธศาสนา แยกจากบริบทของสังคม และประวัติศาสตร์เท่าที่ทำได้ อันนี้เป็นการเข้าไปหาคำสอนเดิม สู่ตัวเนื้อหา ความคิด หลักธรรม รวมทั้งข้อปฏิบัติที่แท้จริง
การศึกษาในแง่นี้ เป็นการศึกษาที่อาจจะนำมาโยงกับวิชาการสมัยใหม่ นำมาใช้กับวิชาการสมัยใหม่ได้ เช่น อาจจะเอามาใช้ในทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และจิตวิทยา เป็นต้น
ในวิชาการสาขาต่างๆ นี้เราสามารถนำเอาหลักธรรมไปโยงเข้าได้ และอันนั้นก็จะเป็นการสร้างเสริมสืบต่อความคิดในสาขาวิชาเหล่านั้น
ว่ากันไปแล้ว ในเรื่องนี้ ดูเหมือนว่าฝรั่งได้นำหน้าไทยทั้ง ๒ ด้านแล้ว อย่างที่พูดมาเมื่อกี้ ในด้านสังคมไทยของเราเอง เราก็ต้องไปเรียนจากเขาอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้น เราจึงน่าจะตั้งความมุ่งหมายให้ชัดเจนว่า เราจะศึกษาเรื่องของเราให้ได้ถึงขนาด ให้ได้สมบูรณ์ ให้ได้เต็มที่ อย่างน้อยก็ควรจะไม่แพ้เขา
ในด้านหลังที่เป็นวงกว้างเกี่ยวกับวงวิชาการ หรือวงของสติปัญญา ในการพัฒนาของโลกทั้งหมด ซึ่งจะขยายออกไปสู่การร่วมแก้ปัญหาและสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกนี้
ในด้านนี้ เราจะเห็นว่าฝรั่งก็กลับมาเป็นผู้นำไทย คือ ถ้ามองในแง่ของวงวิชาการ ในแง่งานของสถาบัน อย่างมหาวิทยาลัยเองนี้ นอกจากไปพึ่งไปเรียนประวัติศาสตร์ไทยที่ต่างประเทศแล้ว แม้แต่หลักวิชาพระพุทธศาสนาที่ไม่เกี่ยวกับเมืองไทย อย่างเช่น วิชาภาษาบาลี เราก็ไปเรียนไปทำปริญญาเอกภาษาบาลีกันที่ University of Pennsylvania บ้าง บางท่านก็ไปต่อที่ University of California ที่ Berkeley อะไรทำนองนี้
ต่อไปนี้บางท่านอาจจะไปจบวิชาพระพุทธศาสนา ที่ Harvard หรือ ที่ Wisconsin หรือไปเรียนภาษาบาลี สันสกฤตก็อาจไปจบที่ Oxford หรือ Cambridge อะไรทำนองนี้
แม้ในวงวิชาการทั่วไป ที่เป็นการวิจัยเหนือระดับปริญญาหรือไม่เกี่ยวกับการทำปริญญา ที่เป็นเรื่องของการนำวิชาการมาใช้อย่างกว้างขวาง ก็จะเห็นว่ามีวิวัฒนาการใหม่ๆ ถึงแม้จะไม่ใช่งานที่ว่าด้วยพระพุทธศาสนาอย่างเดียว แต่พระพุทธศาสนาก็มีอิทธิพลมาก และเป็นเนื้อหาสาระที่สำคัญมาก เหมือนอย่างที่อาตมาได้ยกตัวอย่างไปแล้ว
ยกตัวอย่างการที่ได้มีวิชาจิตวิทยาสาขาใหม่ แต่ก่อนนี้ ในวงการจิตวิทยาตะวันตกเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว จิตวิทยาสาขาที่ครองความสำคัญ มีบทบาทเด่นมาก มี ๒ สาย คือ สาย Psychoanalysis ที่นำโดยท่าน Freud เรียกกันว่าจิตวิเคราะห์ และอีกสายหนึ่ง คือ Behaviorism หรือ พวกพฤติกรรมนิยม
จิตวิทยา ๒ สายนี้ มีความสำคัญโดดเด่นมาก ครองความสำคัญเป็นเจ้าสถาบัน จนกระทั่งมาถึงระยะหลังปี ค.ศ. ๑๙๖๐ ก็ได้มีจิตวิทยาสาขาใหม่ขึ้นมาโดดเด่น คือ สาย Humanistic อาจจะแปลว่ามนุษยนิยม หรืออะไรก็ตาม
ทีนี้ จิตวิทยาสาขา Humanistic Psychology ก็เจริญขึ้นมา จนกระทั่งว่าได้รับความสนใจมาก มีการติเตียนว่า พวกเก่าๆ นั้นศึกษาจากสัตว์ ต้องทดลองกับสัตว์ หรือทำกับคนที่ผิดปกติ แต่คนที่ศึกษาจิตวิทยาแนวใหม่นี้เอาคนปกติหรือเอาคนที่ดีพิเศษมาศึกษามาวิเคราะห์วิจัย
ต่อจาก Humanistic Psychology ก็แตกแขนงออกไปใหม่ มี Transpersonal Psychology เป็นแขนงแยกออกมา จาก Humanistic Psychology นั้นอีก ซึ่งทางด้านนี้ Maslow มีความสำคัญมาก
Maslow นี่มีบทบาทดีเด่นในจิตวิทยาที่พัฒนามาถึงยุคปัจจุบัน และมีการศึกษา peak experiences โดยสัมพันธ์กับเรื่อง self-actualization แม้แต่ตอนที่แกจะตาย ก็ยังศึกษาเรื่องนี้อยู่
peak experience อะไรพวกนี้ ก็มาสัมพันธ์กับเรื่อง mystic ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตใจ เป็นเรื่องของ meditation ไปๆ มาๆ ก็หันมาหาเรื่องของทางตะวันออก หันมาศึกษาเรื่องของพระพุทธศาสนา
Maslow ยังพยายามคิดว่า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หรือ Enlightenment นี้ เป็นเรื่องของ peak experience และเป็น self-actualization
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่า พระพุทธศาสนาได้เข้าไปในวงวิชาการของตะวันตก (ที่จริงคือตะวันตกมาเอาพุทธศาสนาเข้าไปศึกษาในวงวิชาการของตน) เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ พระพุทธศาสนาก็เลยไปมีความสำคัญในวงการจิตวิทยา
ที่จริง พวกนักจิตวิทยาได้สนใจพระพุทธศาสนากันมานานแล้ว ตั้งแต่ C. G. Jung ซึ่งจนกระทั่งจะตาย แกก็ยังศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่ด้วย แล้วก็ Erich Fromm ก็สนใจมากและได้ศึกษาจนเขียนหนังสือออกมาเช่น Zen and Psychoanalysis ดังนี้เป็นต้น
ฉะนั้น แม้แต่พระพุทธศาสนาที่ศึกษากันในวงวิชาการสมัยใหม่ ก็ปรากฏออกมาจากตะวันตก กลายเป็นว่า ฝรั่งมานำหน้าเราไป
อีกตัวอย่างหนึ่งในปัจจุบันนี้ ก็อย่างที่ Fritjof Capra เอาไปใช้ในวิชาฟิสิกส์ เรียกว่า ฟิสิกส์ใหม่ เขาบอกว่า แนวความคิดวิทยาศาสตร์แบบนิวตันและเดคาร์ตซ์นั้นเก่าไปแล้ว ความคิดวิทยาศาสตร์แบบ Newtonistic และ Cartesian กลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่ให้ภาพที่สมบูรณ์ของธรรมชาติและสัจธรรม
เพราะฉะนั้น เขาก็จะเลิกความคิดแบบที่เรียกว่า แยกซอย หรือแยกส่วนและแบ่งซอย (reductionism) หันมาสู่ holism หรือ แนวความคิดแบบองค์รวม วิทยาศาสตร์ก็เข้ามาสนใจแนวความคิดแบบนี้
แนวความคิดทางฟิสิกส์ใหม่นี้ ก็หันมาสนใจความคิดตะวันออก ซึ่งสนใจพระพุทธศาสนาด้วย
ในหนังสือของ Fritjof Capra ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนาและพูดไว้มาก ในกลุ่มของเขาก็กำลังให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้
แม้แต่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มบางคน ที่ไม่เห็นด้วยกับ Capra ก็ไม่เห็นด้วยเพียงในแง่รายละเอียดและทางออก แต่ก็ยอมรับอย่างเดียวกันว่า ความคิดแบบแยกส่วนหรือแบ่งซอยหรือ reductionistic view อย่างเก่าที่ถือกันมาในวงการวิทยาศาสตร์นั้น ขาดความสมบูรณ์หรือยังผิดพลาด จะต้องปรับความคิดความเข้าใจพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์กันใหม่
เพราะฉะนั้น เวลานี้จึงพูดกันถึงฟิสิกส์ใหม่ (new physics) บ้าง วิทยาศาสตรใหม่ (new science) บ้าง เช่น อย่างนาย Heinz R. Pagels นักฟิสิกส์คนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับ Capra เมื่อพูดถึงความบกพร่องของ reductionistic view แล้ว แม้จะไม่ใช้คำว่า holism หรือ wholism แต่ก็หันไปใช้คำว่า complexity หรือ complex systems และก็มุ่งไปที่วิทยาศาสตร์ใหม่ ที่เขาเรียกว่า The New Sciences of Complexity
หรืออย่างในทางเศรษฐศาสตร์ก็มี Schumacher ที่เขียนหนังสือ Small is Beautiful ก็มาให้ความคิดทางเศรษฐศาสตร์แนวใหม่ ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดที่ติดกันมาแบบเก่าๆ บางอย่างแบบพลิกตรงกันข้าม ในหนังสือนี้มีบทหนึ่งตั้งชื่อตรงๆ ว่า พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) อย่างไรก็ตาม ในทางเศรษฐศาสตร์นี้อาจจะยังได้รับการยอมรับไม่มากนัก แต่ก็เป็นการบุกเบิกแนวทางใหม่
เมื่อเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน ที่เป็นแบบเก่าไปแล้วนี้ ได้ทำให้เกิดปัญหาและไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ พวกมนุษย์ที่มีปัญญา ก็จะต้องมาใคร่ครวญเรื่องนี้กันอีก เศรษฐศาสตร์แบบเก่านั้นถึงอย่างไรๆ ก็คงไปไม่รอดแน่ งานของชูมาเกอร์ อาจเป็นเพียงการจุดไฟหรือแรงกระตุ้นครั้งแรก
อีกด้านหนึ่ง พูดถึงคนทั่วไปในตะวันตกก็สนใจ meditation กันมาก และความสนใจในประเทศฝรั่งนั้น ก็มีอิทธิพลย้อนกลับมาเมืองไทย ดังปรากฏว่าพอฝรั่งหันมาสนใจ meditation คนไทยบางกลุ่มก็ชักสนใจ meditation บ้าง อะไรทำนองนี้
จึงกลายเป็นว่า ถ้าเราจะสนใจวิชาการ แม้แต่เรื่องพระพุทธศาสนาเอง ก็ต้องไปตามฝรั่งมากเหมือนกัน แม้จะไม่ใช่โดยสิ้นเชิง เพราะคนไทยเราก็มีความคิดของเราเองด้วย แต่บางทีคนไทยด้วยกันก็ไม่สนใจ ต้องรอให้ฝรั่งสนใจก่อน
ฝรั่งที่วิจารณ์ตะวันออก (เช่น นาย Arthur Koestler ใน The Lotus and the Robot, 1961) ว่ากันไว้นานแล้วว่า ตะวันออกมีดีเก็บไว้ ก็ไม่รู้จักใช้ ได้แต่รักษาอยู่เฉยๆ ต้องรอให้ตะวันตกมาเอาไปใช้ประโยชน์
เขาว่า ตะวันตกเป็นนักเรียนที่เข้าท่า คือมาศึกษาวิจัยเอาภูมิปัญญา และปรีชาญาณของตะวันออกไปใช้ทำประโยชน์แก้ปัญหาของเขาได้ แต่ไม่มีวาสนาที่จะมาเป็นครู คือจะสอนสั่งให้ความรู้อย่างไร ตะวันออกก็ไม่รู้จักเรียนร่ำนำไปใช้ ได้แต่รอรับตามหลังอยู่เรื่อยไป และแม้แต่ตาม ก็ตามไม่ถูก ตามไม่เป็น ใครสนใจก็ลองไปอ่านหนังสือที่ว่านั้นดู
เอาละ ก็เป็นอันว่า นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในแง่ที่ควรจะได้รับการพิจารณา ซึ่งเราสามารถวิจัยได้ วิจัยเกี่ยวกับสังคมไทย เพื่อความเข้าใจตนเองอย่างหนึ่ง แล้วก็วิจัยในแง่ความสนใจทางวิชาการ อย่างสมัยปัจจุบัน เพื่อช่วยกันแสวงหาแนวทาง หาภูมิปัญญาใหม่อย่างหนึ่ง และเพื่อที่จะแก้ปัญหาของโลก เพื่อสืบต่อสานสร้าง เสริมเติมอารยธรรมของโลกให้เจริญต่อไปได้ ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ซึ่งอาจจะต้องเป็นหัวเลี้ยวใหม่ อย่างที่ได้กล่าวมา
รวมความว่า การวิจัยเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนานี้ อาจจะตั้งจุดมุ่งหมายไว้ ๓ ประการด้วยกันอย่างที่พูดมาแล้ว คือ
(๑) เพื่อให้รู้จักตัวเราเองที่เป็นไทย
(๒) เพื่อเอาไปใช้ในวิชาการสมัยใหม่ ในสาขาต่างๆ เท่าที่เราเกี่ยวข้อง
(๓) เพื่อความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ ที่ว่าจะมีอะไรให้แก่อารยธรรมของโลก หรือไปช่วยแก้ปัญหาของโลก
สำหรับจุดมุ่งหมายที่ ๒ คือ เอาไปใช้ในวิชาการสมัยใหม่นั้น ถ้าเราไม่ทำให้สัมพันธ์กับข้อที่ ๓ แล้วเราจะล่าช้าถอยหลัง หรือว่าล้าหลังมาก เพราะเราจะกลายไปเป็นผู้ตามวิชาการตะวันตกที่เขาเจริญไปแล้ว
เพราะฉะนั้น จุดมุ่งหมายตัวแท้ที่จริงจึงอยู่ในข้อที่ ๑ กับที่ ๓ คือ (๑) เพื่อรู้จักไทย และ (๓) เพื่อจะไปเป็นผู้นำ ก้าวขึ้นสู่วงการภูมิปัญญาของโลก ช่วยแก้ปัญหาของโลกได้
ได้พูดมาเป็นเวลายาวนาน จนจะเกินเวลาไปแล้ว ทีนี้ ขอมาสู่หัวข้อบางอย่างที่เป็นเรื่องนิดๆ หน่อยๆ เพราะยังมีเรื่องปลีกย่อยบางประการที่ควรจะพูด คิดว่าได้พูดมาแล้วว่า ฝรั่งได้วิจัยเรื่องพระพุทธศาสนาและสังคมไทยไปมากมาย
เมื่อฝรั่งมาวิจัย เขาก็ต้องมองแบบของเขา บางอย่างในสายตาของเขา เขาก็ไม่เข้าใจเราชัดเจน บางทีก็ถึงกับมองผิดพลาด การที่จะคอยรอคอยเก็บเอาผลงานวิจัยของเขามาใช้จึงไม่เพียงพอ เราจึงควรจะศึกษาของเราให้ชัดด้วย เพื่อประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติของเราเอง
เช่นในการพูดถึงเรื่องสถาบันก็ตาม ความคิดก็ตาม ฝรั่งยังมีอะไรหลายอย่างที่อาจจะเข้าใจไทยเราผิดพลาด เราจึงต้องศึกษาเพิ่มเติม
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องบางอย่างที่ฝรั่งอาจจะยังไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่ทันนึกก็ได้ อย่างเรื่องภาษา หรือถ้อยคำที่เราใช้กันอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน
ถ้อยคำที่เราใช้กันในความหมายปัจจุบัน แต่เป็นถ้อยคำเก่าๆ หลายคำมาจากพระพุทธศาสนา แต่ความหมายที่เราเข้าใจกันอยู่ขณะนี้ได้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากเดิมแล้ว ความหมายของไทยไม่ตรงกับความหมายในพระพุทธศาสนา ถ้อยคำเหล่านี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะศึกษาได้ดีทีเดียว เราจะได้ประโยชน์ในการรู้เข้าใจสังคมไทยของเรา
ฝรั่งทั่วไป ก็เช่นเดียวกับคนไทยส่วนมาก ไม่รู้ตระหนักถึงความแตกต่างผิดเพี้ยนเหล่านี้ แยกไม่ได้ แยกไม่เป็น เลยเหมาคลุมเอาความหมายที่คนไทยชาวบ้านเข้าใจ เป็นความหมายตามหลักการของพระพุทธศาสนา ทำให้ผลการศึกษาวิจัยในส่วนนี้ออกมา ทั้งผิดพลาด และเข้าไม่ถึงอีกมิติหนึ่งของความจริง แล้วผลงานวิจัยก็ไม่สมบูรณ์
ขอยกตัวอย่าง จากภาษาที่เราใช้กันอยู่ ซึ่งเป็นส่วนของวัฒนธรรมและเป็นสถาบันนี้ ใช้เป็นสื่อโยงกลับไปหาตัวหลักธรรมคำสอนเดิม แล้วมันจะบ่งชี้ว่า ในสังคมไทยนี้ได้เกิดอะไรขึ้น ความเปลี่ยนแปลงในความหมายถึงได้เป็นอย่างนี้
ยกตัวอย่างเช่นคำว่า “เมตตา”
เมตตานี้แปลว่า ความรัก ความปรารถนาดี
ในสังคมไทยเราเข้าใจกันว่า เมตตานี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก เราพูดว่าผู้ใหญ่เมตตาต่อเด็ก แม้แต่พรหมวิหารทั้งหมด เราก็บอกว่าเป็นธรรมของผู้ใหญ่ บอกให้ผู้ใหญ่มีธรรมข้อนี้
แต่ในหลักธรรมเดิมที่เป็นของแท้นั้น แน่นอนว่า เมตตานี้เป็นธรรมต่อกันระหว่างมนุษย์ทุกคน คือ ความปรารถนาดีต่อผู้อื่นให้เขามีความสุข ผู้ใหญ่ก็เมตตาต่อเด็ก เด็กก็ต้องเมตตาต่อผู้ใหญ่
มีหลักธรรมสอนไว้ว่า ให้ฆราวาส ญาติโยม กุลบุตร มีเมตตาต่อพระสงฆ์ เรียกว่าปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยเมตตากายกรรม ด้วยเมตตาวจีกรรม ด้วยเมตตามโนกรรม
เมตตาไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะของผู้ใหญ่ ที่จะพึงมีต่อเด็กเท่านั้น มันเป็นเรื่องของมนุษย์ต่อมนุษย์ หรือว่ามนุษย์ต่อสัตว์ คือชีวิตร่วมโลกทั้งหมด
แต่สังคมไทยไปยังไงมายังไงไม่รู้ เมตตากลายมาเป็นธรรมของผู้ใหญ่
นี่มันบ่งชี้ว่า ต้องมีอะไรเป็นเรื่องพิเศษที่ได้เกิดขึ้นในสังคมของเรา
อีกตัวอย่างหนึ่งคำว่า “มานะ”
มานะนี้พูดกันบ่อย มานะในสังคมไทยเราแปลว่า ความเพียรพยายาม ตั้งใจจริง ขยันหมั่นเพียร เช่น จงมานะอดทน เรียนหนังสือไป ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต อะไรทำนองนี้ ว่ากันมานาน
ทีนี้หันไปดูในทางธรรม มานะมาจากบาลีแน่นอน แต่มานะในบาลีไม่ได้แปลอย่างไทย
มานะในบาลีแปลว่า ความถือตัว ถือตัวเองสำคัญ แปลว่า ความอยากเด่น ความอยากใหญ่ ความอยากเด่นประดุจธง ท่านว่าอย่างนั้น คือจะต้องให้ตัวฉันยิ่งใหญ่ เด่นดัง และสำคัญกว่าคนอื่น
เวลาให้ความหมาย ท่านแปลมานะว่า เกตุกัมยตา หมายถึงความปรารถนาที่จะเป็นดังธง คือ ชูธง หรือ เด่น
แล้วทำไมในสังคมไทย มานะจึงกลายเป็นความเพียรพยายาม?
มันอาจจะเป็นได้ไหมว่า คนไทยเราใช้มานะ เป็นตัวปลุกเร้าให้เกิดความขยันหมั่นเพียร
ถ้าวิเคราะห์ตามหลักทางพระพุทธศาสนา ท่านว่าอกุศลธรรม เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมได้
มานะนี้ในทางบาลี และในทางธรรมถือว่าเป็นกิเลส กิเลสเป็นสิ่งที่จะต้องละ มานะเป็นสังโยชน์ มานะ คือความถือตัว เป็นกิเลส เป็นอกุศล ท่านสอนให้ละ ให้กำจัดให้หมดไป
แต่คนเราเอามานะมาปลุกใจได้นะ แล้วมันก็ปลุกได้ดีเสียด้วย พอปลุกว่า “เขาแค่นั้นยังทำได้ เธอแค่นี้ทำไมทำไม่ได้” เอาแล้วซิ! พอโดนปลุกอย่างนี้มานะก็เกิด คือตัวฉันจะต้องยิ่งใหญ่กว่า สำคัญกว่า จะแพ้ไม่ได้ ยอมไม่ได้ จากนั้นก็เกิดเรี่ยวแรงเพียรพยายามทำ สู้เต็มที่
อันนี้เรียกว่ามานะโยงกับความเพียร มีเค้าอยู่
ทำไมมานะที่แปลว่า อยากใหญ่ มันจึงกลายมาเป็นความเพียร?
ก็เพราะเราใช้มานะนี้ เป็นตัวกระตุ้นเร้าให้เพียรพยายามใช่หรือเปล่า?
ทีนี้ ความหมายในทางวัฒนธรรมก็คือ มันอาจจะส่อว่า สังคมไทยนี้ได้เอามานะมาใช้เป็นตัวเร้าความเพียรจนเคยชิน จนกระทั่งมีคำกล่าวในทำนองว่า “จงมานะพากเพียรเล่าเรียนไป จะได้เป็นใหญ่เป็นโต” มันส่อแสดงว่าเราได้เอาความอยากใหญ่โต อยากเป็นเจ้าคนนายคน มาเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้คนเพียรทำดี
ทำไมเอากิเลสมาใช้ ทั้งๆ ที่ในพระพุทธศาสนา ท่านให้ละกิเลส?
พระพุทธศาสนา ท่านให้เพียรพยายามด้วยฉันทะ แต่เราลืมเลย คำว่า ฉันทะ นี้ ในสังคมไทยไม่พูดถึง ใช่หรือเปล่า? แทบจะหายไปเลย นอกจากคนที่สนใจธรรม ไปเรียนเรื่องอิทธิบาท ไปเจอฉันทะเข้าแต่ก็ไม่โยงมาหาเรื่องนี้
ถ้าไม่ศึกษาอย่างนี้ เราจะไม่ได้เห็นเลยว่าสังคมไทยเป็นอย่างไร วัฒนธรรมของเราสืบต่อและผันแปรมาอย่างไร เรารับเอาศัพท์ธรรมจากบาลีมาแล้วเอามาใช้อย่างไร กลายความหมายไป จนกระทั่งมานะที่เป็นกิเลสกลายเป็นของดีไป
อีกตัวอย่างหนึ่งก็เช่น วาสนา
วาสนานี้ พระอรหันต์ท่านละได้ แต่ไม่หมด พระพุทธเจ้าละได้หมด เราทุกคนก็ควรจะต้องพยายามแก้ไข ละวาสนา
แต่ในสังคมไทยเห็นว่าวาสนาเป็นสิ่งดี “โอ้! คนนี้ดี มีวาสนา” “อย่าไปแข่งบุญแข่งวาสนาไม่ได้”
ชอบพูดกันนักว่า “แข่งอะไรแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนา แข่งไม่ได้”
พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้สอนให้แข่งกันในเรื่องบุญวาสนา ไม่ต้องไปแข่งหรอก เราทำของเราเอง วาสนาท่านให้ละเสียด้วยซ้ำ
ทีนี้ ความจริงเป็นอย่างไร?
วาสนาก็คือ การที่ได้สั่งสมอบรมพฤติกรรมของตน ในแนวทางนั้นๆ จนเคยชิน จนกลายเป็นลักษณะประจำตัว จนกระทั่งทำไปเองโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นอย่างนั้น
อย่างเช่น คนหนึ่งพูดลักษณะนุ่มนวล อีกคนหนึ่งพูดกระโชกโฮกฮาก คนหนึ่งเดินเก้งก้างๆ อีกคนหนึ่งเดินนิ่ม เดินกระชดกระช้อย อะไรต่างๆ นี้
ลักษณะอาการประจำตัวของแต่ละคนนี้ไม่เหมือนกัน บางทีเราเรียกว่า บุคลิกภาพ ซึ่งก็เกิดจากการสั่งสม ทำเคยชินจนกระทั่งว่าไม่รู้ตัว ไม่เฉพาะการกระทำที่แสดงออกมาภายนอกเท่านั้น แม้แต่ลักษณะแนวโน้มของจิตใจที่เกิดจากการสั่งสม เราสั่งสมความสนใจของเราไว้ คิดนึกอย่างนี้ไว้ ต่อมา มันก็มีลักษณะสนองตอบต่อสิ่งเร้า เป็นแบบของตัวเอง เป็น pattern ของตัวเอง นี่ก็เป็นวาสนาของบุคคลนั้นๆ
ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ทั้งทางความคิดจิตใจ ทางวาจา ทางกาย พฤติกรรมต่างๆ ที่สั่งสมอบรมมาจนกระทั่งเป็นลักษณะประจำตัวของแต่ละคน นี้เรียกว่าเป็น วาสนา
อาจจะให้ความหมายอย่างหนึ่งว่า วาสนา คือ พฤติกรรมและรูปแบบความคิดความสนใจ ที่เป็นไปเพียงตามความเคยชิน โดยไม่อยู่ในความควบคุมของสติปัญญา
คนมีวาสนาอย่างไร ลักษณะอาการแสดงออกที่เป็นวาสนาของเขาอย่างนั้นก็จะเป็นตัวกำหนด ที่จำกัดขอบเขตการสัมพันธ์ของเขากับผู้อื่น และไปจำกัด ไปมีอิทธิพลต่อปฏิกิริยาจากผู้อื่นต่อตัวเขาเอง แล้วก็จะมีผลต่อวิถีชีวิตของเขา เช่น ต่อความก้าวหน้าของชีวิตด้วย วิถีชีวิตของเขาจะถูกตัววาสนานี้ไปจำกัดและมีอิทธิพล
แต่ในภาษาไทย เรามองวาสนาในแง่เป็นผลได้ แทนที่จะมองเป็นตัวของมันเอง ซึ่งเป็นฝ่ายเหตุปัจจัยมากกว่าเป็นผล
วาสนานี้ ว่ากันไปแล้วมันก็คือบุคลิกภาพนั่นเอง แต่มันมีความหมายในทางแสดงผลมากกว่า คือ ไม่ได้มีความหมายแค่ลักษณะประจำตัวของผู้นั้นเท่านั้น แต่มันกินความหมายไปถึงการที่สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อวิถีชีวิตของเขาด้วย
จริงหรือไม่ คนที่มีลักษณะพูดจากับใครไม่ใคร่ยั้งคิด หรือพูดขวานผ่าซากอะไรอย่างนี้ ลักษณะพฤติกรรมของเขาอย่างนั้น ก็ไปกำหนดวิถีชีวิต หรือชะตากรรมของเขา
คนที่พูดนิ่มนวล รู้จักพูด ทำให้คนสบายใจ เวลาใครมีปัญหาแตกแยกกัน คนอื่นๆ ก็พากันนึกถึงเขา บอกว่าไปเอาคนนี้มานะ เพราะว่าเขาพูดเก่ง จะทำให้คนสมานสามัคคีกันได้ เราก็ต้องการคนอย่างนั้น
นี่วาสนาเป็นตัวกำหนด มันทำให้คนอื่นมีความรู้สึกต่อเขาอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร แล้วทำให้เขามีบทบาทในสังคมอย่างนั้น มีวิถีชีวิตอย่างนั้น มีขอบเขตของความเจริญก้าวหน้าแบบนั้น แค่นั้น กำหนดอะไรต่างๆ ไปหมดหรือมากทีเดียว
วาสนาคือสิ่งนี้ แต่คนไทยเรามองวาสนาเป็นอะไรไปก็ไม่ทราบ คล้ายๆ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลอยมาจากข้างนอก แทนที่ว่าวาสนาจะอยู่ที่ตัวเราแต่ละคนสั่งสมเอาเอง
วาสนานี้ท่านบอกว่าแก้ได้ แต่แก้ยากมาก ท่านบอกว่า แม้แต่พระอรหันต์ก็แก้ได้เฉพาะวาสนาที่จะพาให้เกิดผลเสียหายมากๆ ที่เป็นบาป แต่วาสนาบางอย่างแก้ไม่ได้ พระอรหันต์บางองค์ทั้งๆ ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เวลาพูดก็ยังมีท่วงทำนองการพูดและใช้ถ้อยคำที่ดุ หรือไม่นิ่มนวล
ยกเว้นแต่พระพุทธเจ้า ซึ่งทรงแก้วาสนาได้หมด เป็นผู้ละวาสนาได้ทั้งหมด มีพฤติกรรมอยู่ในความควบคุมของสติปัญญาโดยสิ้นเชิง
คนไทยชอบพูดตามกันมาว่า แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้ แต่พระพุทธศาสนาบอกว่า วาสนามีไว้สำหรับปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่มีไว้สำหรับแข่งขัน และในขั้นสุดท้าย จะต้องละวาสนาทั้งหมดด้วยซ้ำ โดยจะต้องให้พฤติกรรมทุกอย่าง ดำเนินไปตามการบังคับบัญชาของสติปัญญา
อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เราจะต้องศึกษาสิ่งเหล่านี้ว่า ในสังคมไทยมันมีการแปร และการกลายไปได้อย่างไร
คำว่า บารมี ก็เหมือนกัน
บารมี ในทางธรรม เป็นตัวเหตุ ตัวสิ่งที่เราต้องกระทำเพื่อให้เกิดผล แต่ในสังคมไทยมาเน้นที่ผลใช่ไหม? คือ คนที่มีบารมี เราหมายความว่า เขามีสภาพผลที่เขาจะไปมีอิทธิพลต่อคนอื่นได้ เช่น มีเงิน มีอำนาจ มีกำลังต่างๆ พร้อมอยู่แล้ว
แต่บารมีในทางธรรม หมายถึงตัวเหตุ สิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติ
คือ เราจะต้องทำบารมี (ไม่ใช่มีบารมี)
บารมี คือคุณธรรมแต่ละอย่าง ที่ทำอย่างสุดยอด อย่างเช่นว่า มี ขันติ ก็ต้องอดทนกันจนถึงที่สุด ใครจะฆ่า จะฟันก็ยอม ถ้ามี สัจจะ ก็ถือกันจนกระทั่งว่ายอมเสียชีวิตเพราะสัจจะ ถ้าบำเพ็ญ ปัญญา ก็ต้องแสวงหาความรู้และใช้ปัญญาแก้ปัญหากันไปให้ได้ผลอย่างเต็มที่ อะไรอย่างนี้
ในบาลี บารมี เป็นเรื่องของการกระทำ ในภาษาไทยเราถือเอาที่ผลซึ่งตนมี กลายเป็นกำลังหรืออิทธิพลที่จะเอาไปใช้ต่อผู้อื่น
หรือ สังเวช นี้ ในภาษาบาลีหมายถึง ปลุกใจ หรือ ปลุกเตือนจิตสำนึก เร้าใจให้ได้คิด ไปพบอะไรเข้า แม้แต่ความตาย ก็ต้องให้ได้ความคิด ที่จะมาเร่งเตือนตนให้ไม่ประมาท เร่งขวนขวายทำความดี
พอมาเมืองไทยนานๆ เข้า ถึงเวลานี้ สังเวชกลายเป็นความสลดหดหู่ใจ หมดแรง หรืออะไรอย่างนั้น
จะเห็นว่า แม้แต่ตัวถ้อยคำที่แสดง concept ต่างๆ นี้ ก็เป็นเรื่องที่ส่อสภาพสังคม และความเป็นมาของสังคม แสดงถึงความคิด ความเข้าใจ และระบบพฤติกรรมที่ผสมผสานหรือแฝงตัวอยู่ในวัฒนธรรม ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ
เท่าที่พูดมาก็เป็นอันว่า ในสังคมไทยนี้ เราจะต้องทำงานวิจัย โดยเฉพาะอาจจะต้องวิจัยพระพุทธศาสนาในหลายแง่หลายอย่าง
ความจริงขณะนี้เราก็ทำกันอยู่ คือ การวิจัยเพื่อความเข้าใจสังคมไทย เราก็ทำบ้างเหมือนกัน แต่เกรงอยู่อย่างหนึ่งว่า จะไม่ค่อยมีเป้าหมายหรือจุดหมายที่ชัดเจน เราควรจะศึกษากันอย่างมีเป้าหมาย พูดกันให้ชัดว่าเราจะเอาอย่างไร ยิ่งในปัจจุบัน การศึกษาในแง่ที่เป็นเพียงความรู้นั้นกว้างมาก ควรจะเลือกเน้นในแง่ความรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้ น่าจะเน้นในแง่ของการเอามาใช้ประโยชน์แก่สังคมไทย
เป็นอันว่า ถ้าจะศึกษาวิจัยเพื่อเข้าใจและเอามาใช้กับสังคมไทย ก็ต้องมุ่งกันไปให้ชัดเจน ถ้าจะศึกษาวิจัยเพื่อเอามาใช้ในทางวิชาการต่างๆ ก็ต้องตั้งเป้าตั้งแนวให้ชัดเจน หรือถ้าจะศึกษาวิจัยเพื่อจะก้าวไปในสังคมโลก เพื่อร่วมแก้ปัญหาของสังคมโลก ก็ต้องมีจิตสำนึกที่ชัดเจน
ทีนี้ในการศึกษาวิจัยทางพุทธศาสนา โดยสัมพันธ์กับวิชาการสมัยใหม่ หรือวิชาการตะวันตกนั้น มีข้อสังเกตนิดหนึ่ง คือ ในขณะนี้ เราต้องยอมรับว่า วงวิชาการปัจจุบันของเรา ได้ศึกษามาแบบตะวันตก เมื่อจะหันกลับมาศึกษาเรื่องของไทยเราเอง เราก็จะมีกรอบความคิดแบบตะวันตกติดมาด้วย บางทีเราก็เลยมองตัวเราแบบที่ฝรั่งมอง
ฉะนั้น เมื่อมาศึกษาเรื่องของพระพุทธศาสนานี้ เราก็จะมีความคิดแบบตะวันตกเข้ามาแฝง คล้ายกับว่าเรานี้เป็นชาวตะวันตก หรือเป็นฝรั่งเข้าไปครึ่งหนึ่งแล้ว เราจะคิดอย่างฝรั่งเข้าไปครึ่งหนึ่ง
เพราะฉะนั้น เราจะศึกษาเรื่องของไทย แต่กลายเป็นว่าเราไปเอาความรู้สึกนึกคิดแบบฝรั่งมาวินิจฉัย ภาพของความจริงที่เราได้จึงอาจจะเอียงหรือเฉ หรือมีฝ้าบางอย่างบังไป เราจะต้องมีสติระลึกถึงความจริงข้อนี้ไว้ด้วย
ทีนี้เวลามาศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนา เพื่อเอาไปใช้ในวิชาการต่างๆ บางทีเราต้องยอมรับความจริงอันนี้ แล้วก็ใช้วิธีศึกษาแบบที่สอดคล้องกับภูมิหลังของเรา ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกนั้น เช่น อาจจะศึกษาโดยทำเป็น ๓ ขั้นตอน
ขั้นที่ ๑ คือ ใช้กรอบความคิดแบบตะวันตก แล้วมาเอาเนื้อหาของพระพุทธศาสนาใส่ลงไป หมายความว่า ใช้กรอบของตะวันตกมาสำรวจดูว่า ในหัวข้อเรื่องอย่างนี้ๆ พระพุทธศาสนาว่าไว้อย่างไรๆ แล้วก็ไปดึงเอามา ไปรวมเอามาว่าพระพุทธศาสนาว่าอย่างนี้ แต่ที่จริงกรอบความคิดเป็นของตะวันตก
ขั้นที่ ๒ คือ เมื่อดึงเอามาแล้วก็เปรียบเทียบ เปรียบเทียบกับตะวันตก วิชาการของตะวันตกในเรื่องนี้ เขาว่าอย่างนี้ ของพุทธว่าอย่างนี้ เปรียบเทียบให้ช่ำชอง
ที่จริงขั้นนี้ไม่ใช่ขั้นที่ดีจริงหรอก เพราะว่าในขั้นนี้ มันมีทางที่อคติจะเข้าไปปนได้เยอะ
อคติ ๒ แบบ คือ ที่ผ่านมานี้ ผู้ที่เข้าไปศึกษาพระพุทธศาสนา บางทีก็กลายเป็นเป้าของความรู้สึกต่อกันในวงวิชาการ แล้วก็ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิกิริยาต่อกันได้ บางทีผู้ที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา เนื่องจากมีใจรักหรือพอใจ สนใจในพระพุทธศาสนา ก็จะมีความรู้สึกว่าถูกเพ่งมองว่าแปลกพวก และมีปฏิกิริยาเกิดแรงที่ทำให้พูดว่า ตะวันตกไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ วิชาการตะวันตกเสียไปหมดเลย มีแต่พระพุทธศาสนาดี
นี่ก็เป็นอันตรายเหมือนกัน เป็นการพูดในทางที่อาจจะเป็นอคติได้
ทีนี้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีความรู้สึกในทางไม่ดี เช่น หลงแต่วิชาการแบบตะวันตก มีปฏิกิริยา ก็อาจจะบอกว่า “โอ! พระพุทธศาสนาจะมีอะไร? ไม่ได้ความหรอก!” แล้วก็มองไปในแง่ว่าไม่น่าสนใจ โดยไม่ได้ศึกษาพิจารณาเลย ก็เป็นอคติไปอีกแบบหนึ่ง
ถึงจะมีอคติบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่ก็คอยระวัง และเตือนสติตัวเองไว้ เอาเป็นว่า จะต้องผ่านไปเป็นขั้นหนึ่งก่อน เปรียบเทียบให้ช่ำชอง แล้วเราจะเกิดความรู้ความเข้าใจได้ความคิดมากขึ้น มีอคติบ้าง อะไรบ้าง ก็ช่างมัน ทำไปอย่าไปถือสานัก ให้มันผ่านพ้นขั้นนี้ไปเป็นทางผ่าน
ต่อไป ขั้นที่ ๓ คือ ข้ามพ้นกรอบความคิดตะวันตกมาสู่ความเป็นตัวของตัวเอง จะได้ความรู้ความคิดที่เป็นเนื้อแท้ของเรื่องนั้น เข้าถึงเนื้อแท้อย่างแท้จริง ตอนนี้จึงจะเป็นขั้นที่บรรลุผลสำเร็จ
การศึกษาพระพุทธศาสนา โดยใช้พื้นเพภูมิหลังจากตะวันตกนี้ อาจจะใช้ ๓ ขั้นตอนนี้เป็นประโยชน์ได้ ผ่านให้ตลอด อินทรีย์จะได้แก่กล้าสุกงอม
ในเรื่องของวงวิชาการวิจัยของไทยนี้ เราจะต้องยอมรับความจริงอันหนึ่ง คือ ว่าโดยหลักการ งานวิจัยต่างๆ นั้น เป็นการเจาะลึกลงไป หรือเป็นการบุกเบิกแดนใหม่ในทางวิชาการ ต้องการความแตกฉาน ต้องการความใฝ่รู้อย่างแท้จริง ที่เราเรียกว่า ฉันทะ
แต่ในสังคมไทยเรานี้ เรายอมรับกันว่า คนไทยขาดความใฝ่รู้ คือ ขาดฉันทะนี้ จึงทำให้เราไม่ค่อยสามารถสร้างความสำเร็จในทางวิชาการ และงานวิจัยก็ไม่ค่อยก้าวหน้า
ส่วนฝรั่งนั้นรู้สึกว่าเขาจะมีพื้นฐานอันนี้ดี เขามีความใฝ่รู้สูง อยากรู้อะไรนิดเดียว สู้บุกป่าฝ่าดง ข้ามน้ำข้ามทะเลไป แม้เสี่ยงชีวิตก็ยอม เพื่อหาความรู้นิดเดียว ถึงจะตาย ฝรั่งทำได้
แต่คนไทยไม่ใคร่เอา!
เราจะต้องยอมรับข้อบกพร่อง จุดบอดของเราข้อนี้
ในสภาพที่เรามีเราเป็นอยู่นี้ เช่นอย่างเด็กนักเรียน ถ้าอาจารย์ไม่สั่งว่าให้ไปอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ ก็ไม่ไปห้องสมุด แม้แต่สั่งแล้ว บางทีก็ยังไปวานกันทำเสียอีก แทนที่จะไปทำเอง
คือมันไม่มีความใฝ่รู้ !
ทีนี้พอมาทำงานวิจัย ถ้าตัวเองไม่ได้มีความใฝ่รู้อย่างแท้จริง คือไม่ได้วิจัยเพื่อหาความรู้ หรือเอาประโยชน์มาใช้อย่างแท้จริง ก็ทำวิจัยเพียงเพื่อให้ได้ผลประโยชน์บางอย่างตามที่เขากำหนดเป็นเงื่อนไข
ฉะนั้น เราจึงมักวิจัยเพียงเพื่อให้ได้เลื่อนฐานะเป็นรองศาสตราจารย์ เป็นศาสตราจารย์ ตามข้อกำหนด
ทีนี้ การวิจัยทำนองนี้มันก็สักแต่ว่าทำเพื่อให้ได้ผลประโยชน์อย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ความเจริญทางวิชาการก็ไม่เกิดขึ้น
ยิ่งงานวิจัย เป็นงานที่ต้องการความถูกต้องถ่องแท้ทั่วตลอดด้วย เมื่อทำเพียงตามเงื่อนไข ขาดความใฝ่รู้ งานวิจัยก็ไม่ถึงขั้น ไม่ให้ความรู้จริง ไม่สัมฤทธิ์วัตถุประสงค์
ในการวิจัย ควรถือคติว่า โยงให้ถึงรากเหง้า เข้าให้ถึงต้นเดิม จึงจะสอดคล้องรับกันกับวิธีคิดที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งตรัสว่า
โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ ปญฺญายตฺถํ วิปสฺสติ
แปลว่า พึงวิจัยธรรม/เรื่องราว ให้ถึงต้นเค้า จึงจะเห็นอรรถแจ้งชัดด้วยปัญญา
ฉะนั้น เราจะต้องแก้ไขอันนี้ คือจะต้องปลูกฉันทะ คือสร้างความใฝ่รู้ และใฝ่ความดีงามหรือใฝ่ผลดีที่จะเกิดจากความรู้นั้นขึ้นมาให้ได้
การที่จะได้ปริญญา หรือฐานะ เป็นรองศาสตราจารย์ เป็นศาสตราจารย์ก็ตาม อยากให้ตั้งท่าทีใหม่ คือ เอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเครื่องเสริมความมั่นใจ เพราะสิ่งเหล่านี้ถ้าทำถูกทางก็เป็นเครื่องเสริมความมั่นใจได้ คือ เป็นสิ่งกระตุ้นแรงจูงใจในแง่ที่ทำให้เราเกิดความมั่นใจว่า ผลงานวิจัยของเรานี้ ได้ผ่านท่านผู้รู้ หรือสถาบันที่เป็นเลิศในด้านนี้ยอมรับแล้ว ถ้ามองในแง่นี้แล้วเราจะรู้สึกสบายใจ
การที่เขาให้ปริญญา หรือให้ศาสตราจารย์ หมายความว่า อาจารย์ผู้รู้เรื่องนี้ หรือสถาบันที่เป็นเลิศในเรื่องนี้ เขายอมรับแล้ว เราต้องดี ต้องมองในแง่นี้ ไม่ใช่ว่าการที่จะได้ผลประโยชน์นั้น เป็นตัวผลสำเร็จที่ต้องการ แล้วความหมายก็เลยไปจบที่การได้ลาภยศหรือเงินทอง และตำแหน่ง ไม่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของวิชาการและประโยชน์สุขของสังคม หรือการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติอย่างที่ควรจะเป็น
ยิ่งเรื่องพระพุทธศาสนานี่ก็ยิ่งยาก เพราะว่าปัจจุบันนี้ เรามีฐานพื้นเพการศึกษาวิชาการแบบตะวันตกมามาก เวลาเราคิด บางทีก็คิดแบบตะวันตก ในด้าน concept ต่างๆ เราก็คุ้นเคยกับ concept ตะวันตกมากกว่า concept ทางไทย หรือ concept ของพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้น การที่จะมาศึกษาพระพุทธศาสนาก็กลายเป็นเรื่องยากสำหรับเรา ทั้งๆ ที่เป็นสมบัติของชาติของเรา สืบทอดอยู่ในวัฒนธรรมของเราด้วยซ้ำไป
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ จะต้องมีความเอาจริง แต่ก็คงจะมีผลดีคุ้มค่า เพราะว่า ด้วยการมาศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่องพระพุทธศาสนานี้ เราจะมีอะไรใหม่ๆ ให้แก่วิชาการของโลก ที่ไม่เป็นการไปทำซ้ำอยู่เฉพาะแค่ตามฝรั่ง รอรับของฝรั่ง หรือทำอะไรเท่าที่ฝรั่งเขาทำอยู่เท่านั้น โดยไม่ได้เป็นผู้ทำให้วิชาการนั้นก้าวหน้าขึ้นไป กว่าที่ฝรั่งเขาทำไว้แล้วเลย พูดง่ายๆ ว่า การวิจัยพระพุทธศาสนามีทางเป็นไปได้มาก ที่จะทำให้เราเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับและผู้ตาม
ฉะนั้น เท่าที่พูดมานี้ก็เป็นข้อเสนอที่ว่า การวิจัยทางพระพุทธศาสนา น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยไทยควรมีบทบาทสำคัญ ทั้งเพื่อความเข้าใจสังคมไทยของเราเอง เพื่อช่วยต่อเติมหรือเปิดช่องทางใหม่ให้แก่วิชาการสาขาต่างๆ ที่ปัจจุบันนี้โลกยอมรับว่าถึงจุดติดตัน หรือหัวเลี้ยวใหม่ และเพื่อมีส่วนร่วมทางวิชาการ หรือในด้านภูมิปัญญาที่จะช่วยแก้ปัญหาของโลก เพื่อให้สังคมไทยของเรามีอะไรดีที่จะให้แก่สังคมโลก หรือมีอะไรที่เป็นส่วนเสริมแก่อารยธรรมของโลกบ้าง
ด้วยสิ่งเหล่านี้ ที่เขาไม่มี แต่เรามีนี่แหละ เราจึงจะสามารถภูมิใจในตัวเอง และมีฐานที่จะก้าวไปอยู่ในวงการปัญญาชนของโลกได้
ถ้าเรามัวอยู่กันแค่วิชาการ ที่ศึกษาแบบตะวันตก และวิจัยกันอยู่ในขอบเขตของวิชาการที่มีอยู่แล้ว เราก็คงจะต้องอยู่ในฐานะผู้รับ-ผู้ตาม หรือผู้คอยตามรับเรื่อยไป
นับว่าเป็นโอกาสดีอย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า ขณะนี้สังคมโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้มาถึงจุดที่ยอมรับปัญหา พากันแสวงหาทางออก และน้อมตัวเข้ามาสนใจแล้ว ไฉนเรามีสมบัติเหล่านี้แล้วจะปล่อยโอกาส หรือทิ้งให้เขาไปเสีย
ที่จริงเราอยู่ในฐานะที่จะศึกษาได้ดีกว่าเขา ทำไมเราจะไม่นำหน้า Maslow บ้าง? ทำไมเราจะไม่นำหน้า Fritjof Capra หรือ Schumacher บ้าง?
เราควรจะเคารพ นับถือ โดยมองเห็นคุณค่าของงานที่ท่านเหล่านั้นทำไว้ แต่ทำไมเราจะไม่สืบต่อ ไม่ค้นขยายให้ลึกเลยไปจากที่ท่านเหล่านั้นทำไว้แล้ว และทำให้ชัดเจนใช้ได้จริงยิ่งขึ้น หรือบุกเบิกบากบั่นต่อไปในแดนความรู้ด้านอื่นๆ ที่ยังรออยู่อีกมากมาย
อาตมภาพได้พูดมา ในเรื่องของมหาวิทยาลัยกับการวิจัยทางพระพุทธศาสนา ก็เกินเวลาไปมาก ต้องขอประทานอภัยด้วย เท่าที่พูดมานี้ ได้เน้นแต่ประเทศอเมริกา และการศึกษาวิจัยเชิงประยุกต์ ไม่ได้พูดถึงการวิจัยในญี่ปุ่น เป็นต้น และไม่ได้เน้นการวิจัยเนื้อหาหลักธรรมล้วนๆ แต่จำเป็นต้องยุติเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนาต่อทางมหาวิทยาลัยที่ได้กรุณาให้โอกาสมาพูด
ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร ขอให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ที่จะช่วยกันสร้างความเจริญก้าวหน้าในทางวิชาการ โดยเฉพาะการวิจัยนี้ ให้ประสบความสำเร็จ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิต แก่ประเทศชาติ สังคม และเพื่ออารยธรรมของโลก ขอจงมีความร่มเย็นเป็นสุข โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ