ทั้งคนมี ทั้งคนจน ต่างก็กระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็ถูกกระทบเหมือนกัน แต่คนพาล เพราะความที่อ่อนปัญญา ย่อมนอนผวา ส่วนผู้ที่เป็นปราชญ์ ถึงถูกผัสสะกระทบก็หาสะท้านไม่ เพราะฉะนั้น ปัญญานั่นแหละจึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ด้วยเป็นเหตุให้บรรลุจุดหมายสูงสุดได้ในโลกนี้
ม.ม. ๑๓/๔๕๑/๔๑๑ : ขุ.เถร.๒๖/๓๘๘/๓๗๗
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมได้เคยคุยกับท่านดาไลลามะเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ ดูเหมือนว่าท่านมีความลังเลอยู่บ้างที่จะพูดถึงเรื่องนี้ เพราะท่านไม่มีประสบการณ์ส่วนตัวในเรื่องธุรกิจ ในขณะเดียวกัน จากหนังสือของท่านเจ้าคุณฯ ท่านยอมรับว่า ธุรกิจเป็นส่วนสำคัญของสังคม วิธีการดําเนินธุรกิจก็มีความสำคัญมากสำหรับสังคม พฤติกรรมของพวกนักธุรกิจมีความสำคัญกับสังคม ซึ่งผมกําลังค้นคว้าเรื่องคุณค่า ข้อดีข้อเสีย จริยธรรมในการทำธุรกิจ เพื่อเป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือ ผมจึงอยากสนทนากับท่าน เพื่อปรึกษากับท่านว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้บ้าง1
พระพรหมคุณาภรณ์
อาตมาก็มีความรู้น้อยในเรื่องธุรกิจ แต่อาจพูดถึงหลักการทั่วไปในเรื่องธุรกิจ
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมได้อ่านหนังสือของท่านเรื่อง Buddhist Economics2 และได้ใช้ข้อมูลในหนังสือเล่มนั้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีบางตอนระบุว่า ธุรกิจเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม นอกจากนั้น หนังสืออีกเล่มหนึ่งของท่าน เรื่อง A Constitution for Living (ธรรมนูญชีวิต) ท่านได้พูดถึงหลักการ ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะนักบวช แต่สำหรับผู้ครองเรือน ใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งผมคิดว่าช่วยได้มาก
พระพรหมคุณาภรณ์
จากพื้นฐานนี้ เราจะค่อยๆ พูดขยายความไปถึงธุรกิจต่อไปจะดีไหม
นายมิวเซนเบิร์ก
ครับ...ผมควรกล่าวถึงหัวข้อต่างๆ ในหนังสือที่ผมเขียน แล้วนำมาเป็นแนวของคำถาม
บทที่ ๑ หนังสือเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า การเพิ่มพูนความคาดหวังของผู้บริโภค ไม่ใช่แต่เฉพาะในสังคมไทย หากเป็นสังคมโลกทั่วทั้งหมด รวมถึงพฤติกรรมในการทำธุรกิจของนักธุรกิจในทิศทางที่เคร่งเครียด
บทที่ ๒ ว่าด้วยธุรกิจมีผลตอบสนองอย่างไรต่อความหวังนั้น การตอบสนองต่อความต้องการนั้น
บทที่ ๓ เกี่ยวกับบทบาทและพฤติกรรมของรัฐบาล อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล
บทที่ ๔ คำถามเรื่องการแข่งขัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ และธุรกิจ
จากนั้นไปถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกปัญหาหนึ่ง คือ ความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่และปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงนั้น จนมาถึงหัวข้อ ความมั่งคั่ง ความสุข การบริโภค และการงาน
บทต่อไปคือ อิทธิพลของบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลก พวกเขาควรทำอะไรบ้างเพื่อที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์กรที่ดี และบทสุดท้าย เกี่ยวกับการฝึกฝนจิต การปฏิบัติสมาธิภาวนา เพราะการพัฒนามนุษย์จะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านการฝึกฝนทางด้านจิตใจ
ผมได้ส่งต้นฉบับถวายท่านดาไลลามะในเดือนเมษายน เราได้ review ต้นฉบับนี้ และคาดว่าจะทำให้เสร็จภายในเดือนเมษายนปีหน้า ดังนั้น จึงยังมีโอกาสปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกมาก นี่คือความเป็นมาทั้งหมดครับ
สำหรับท่านเจ้าคุณฯ ได้ค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ และเรื่องเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่สัมพันธ์กัน เมื่อผมทำการวิจัยเรื่องนี้ ก็พบว่า คนมักเห็นว่า เศรษฐศาสตร์ ก็คือ เศรษฐศาสตร์อย่างเดียว แต่ไม่เห็นเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องว่ามีส่วนสัมพันธ์กันเหมือนอย่างที่ท่านเห็น ดังนั้น จึงไม่มีจริยธรรมในเศรษฐศาสตร์ เรากําลังพยายามทำให้ ๒ ศาสตร์นี้รวมกัน และผมก็ได้พยายามดูไปถึงรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยา สำหรับทัศนะทางศาสนา ผมได้ศึกษาแต่ในแง่มุมของพระพุทธศาสนาและส่วนที่เกี่ยวข้อง และหนังสือของท่านก็คือกุญแจดอกหนึ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์ของผม
คำถามแรกที่ผมอยากจะถาม ทัศนะของท่านในเรื่องธุรกิจเป็นอย่างไรบ้างครับ
พระพรหมคุณาภรณ์
อาตมาได้บอกคุณแล้วแต่ต้นว่า อาตมาเองไม่ค่อยรู้เรื่องธุรกิจ พอรู้บ้างในเรื่องของเศรษฐศาสตร์ เราอาจคุยกันถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ แล้วเราค่อยพูดถึงเรื่องธุรกิจ
พระพรหมคุณาภรณ์
ดูเหมือนว่า เศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันจะแยกตัวเองจากกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีคำว่า Reductionism และในศตวรรษนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดศัพท์ Holistic View หรือ Holism ซึ่งก็ไม่สำคัญอะไร ที่สำคัญคือ กิจกรรมใดๆ ของมนุษย์ ควรมีส่วนร่วมในความอยู่เย็นเป็นสุขของมวลมนุษยชาติ
เศรษฐศาสตร์เกิดขึ้นมาเพื่อทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่เมื่อได้มีพัฒนาการสืบต่อมา ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นเรื่องแปลกแยก หรือแยกตัวเองออกจากสาระดั้งเดิม ซึ่งอาจเป็นไปโดยไม่รู้ตัว และเศรษฐศาสตร์พูดบ่อยๆ ถึงการกระทำการให้เกิดความพอใจ หรือไปสู่ความพอใจของมนุษย์ ซึ่งก็มีปัญหามากกับความพอใจ (ให้ประสาน) กับความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล และในความเป็นมนุษย์ทั้งหมด
ดังนั้น อย่างน้อยที่สุด เศรษฐศาสตร์ควรตระหนักถึงความเป็นจริงในแง่นี้ว่า สิ่งนี้คือการเน้นย้ำไปถึงความพึงพอใจสมความปรารถนา ซึ่งความพึงพอใจสมความปรารถนานั้น ต้องนำไปสู่ หนึ่ง ความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ สอง สันติสุขของมนุษย์ ถ้าไม่บรรลุ ๒ สิ่งนี้ ก็ไม่ควรเป็นหลักการของเศรษฐศาสตร์
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมรู้จักนักเศรษฐศาสตร์หลายคน และได้ทำเรื่องธุรกิจมามากมาย ส่วนหนึ่งของการทำวิจัยอันนี้ ทำให้ผมต้องศึกษาในสิ่งที่นักคิดกลุ่มหนึ่งได้คิด และในสิ่งที่ท่านพูดว่า ไม่มีการพัฒนาในทางธุรกิจที่เน้นความรับผิดชอบต่อสังคม
มีแนวคิดหนึ่งได้เกิดขึ้น คือ ธุรกิจมีอิทธิพลต่อคนจำนวนมากและสิ่งแวดล้อม ต่อปัจจัยทั้ง ๓ คือ พนักงาน ลูกค้า ผู้ประกอบการ ดังนั้น ธุรกิจจึงควรพิจารณาผลกระทบที่พวกเขากำลังทำต่อปัจจัยทั้งสามเหล่านั้น และพยายามทำอะไรก็ตามเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวธุรกิจเอง และส่วนประกอบในธุรกิจดังกล่าว ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป สรุปเรียกว่า Triple Bottom Line
หนึ่ง Bottom Line คือ กำไรที่บริษัทได้รับ
สอง Social Bottom Line คือ การคืนกำไรให้กับสังคม
สาม Environmental Impact คือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันมีการพิจารณาเรื่องการใช้แนวคิด ๓ มิติดังกล่าว ผมไม่มีรายละเอียดว่ามีกี่บริษัทที่ใช้แนวคิดในลักษณะอย่างนี้ สำคัญมากสำหรับหนังสือ เพราะว่าท่านดาไลลามะเชื่อว่า ถ้าประชาชนมุ่งไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง แม้ว่าจะห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ สิ่งนี้ก็ควรสนับสนุน นี่คือบางสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ทราบว่าท่านเคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อนบ้างไหมครับ?
พระพรหมคุณาภรณ์
อาตมาเคยได้ยินมาบ้าง แต่ไม่มาก ในเรื่องนี้ แม้ว่านี่คือการพัฒนาอย่างหนึ่ง แต่เป้าหมายของจุดประสงค์ทั้งหมด กำหนดไว้ที่วัตถุ แม้ว่าเขาจะคิดถึงมนุษย์คนอื่น ไม่ว่าจะในแง่ปัจเจกบุคคล หรือทั้งหมด และเขาคิดถึงสิ่งแวดล้อมด้วยก็จริง แต่เป็นไปในทางวัตถุ และด้วยเหตุผลนี้ จึงมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เป็นความขัดแย้งระหว่างแนวคิดใหม่กับเป้าหมายของเขาเอง ในการได้รับกำไร หรือประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบันกระบวนการทั้งสองได้กลายเป็นความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้งภายนอก หากคือความขัดแย้งภายใน ซึ่งก็คือความขัดแย้งในใจ ตราบใดที่มันยังเป็นความขัดแย้ง มันก็ยากที่จะไปถึงเป้าหมาย
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมคุยกับผู้อำนวยการบริหารของบริษัทค้าน้ำมันรายใหญ่บริษัทหนึ่ง ซึ่งมีปัญหาอยู่ที่ทะเลเหนือ คือ เขาต้องการจมฐานขุดเจาะน้ำมัน เขากล่าวว่า แนวคิด ๓ ประการดังกล่าว เป็นเหมือนระบบไฮดรอลิก คุณต้องการดูทั้งสามประการไปพร้อมๆ กัน ถ้าคุณดูเพียงแค่ประการหนึ่งประการใด เช่นคิดแต่ในเรื่องผลกำไร โดยไม่สนใจประการอื่นๆ คุณก็จะต้องเจอกับปัญหาซึ่งเกิดจากความไม่สมดุล
กรณีตัวอย่างสำหรับบริษัทฯ นี้ เขาตัดสินใจจะจมฐานขุดเจาะน้ำมันในทะเลเหนือ แต่นักสิ่งแวดล้อมออกมาบอกว่า คุณทำอย่างนั้นไม่ได้ คุณไม่สามารถใช้ทะเลเป็นที่ฝังขยะของคุณ ทางบริษัทน้ำมันตระหนักดีว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก หากบริษัทฯ ตกลงทำเช่นนั้น คนก็จะไม่ซื้อน้ำมันของเขา ไปซื้อของบริษัทฯ อื่น ดังนั้น เขาจึงเปลี่ยนนโยบายใหม่ เพราะตระหนักดีว่า ชื่อเสียงของบริษัทฯ เป็นสิ่งสำคัญ ไม่สมควรนําไปเสี่ยงต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชน มีองค์กร NGO มากกว่าสามแสนองค์กรได้จับตาดูว่า บริษัทฯ ได้ทำอะไรผิดต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสื่อก็คอยจ้องจับผิด ดังนั้น เพื่อรักษาทั้งชื่อเสียง และผลประโยชน์ บริษัทฯ จึงต้องพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการมองของคนอื่น
พระพรหมคุณาภรณ์
นี่คือเหตุผลที่ว่า เราควรแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งภายในใจ และความขัดแย้งที่เป็นอุปสรรคสู่เป้าหมาย ไม่ว่าเป้าหมายส่วนตัว หรือเป้าหมายในเรื่องมนุษยธรรม ต้องทำให้ประสานกลมกลืน ถ้าสามารถทำให้กลมกลืนได้ ก็จะเป็นวิธีการแก้ไขความขัดแย้ง ข้อแรก เขาต้องทำให้กระจ่าง แม้แต่คำว่า ความอยู่เย็นเป็นสุขของมวลมนุษยชาติ (Well-being of human beings หรือ Well-being of mankind)
ขั้นแรก เราต้องตระหนักว่า เป้าหมายของชีวิตสามารถแบ่งออกได้เป็นสองสามระดับ และสำหรับมนุษย์ ชีวิตคือสิ่งที่จะต้องพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น สูงขึ้น ซึ่งระดับที่สูงขึ้นไปนี้เอง หมายรวมไปถึงความสุข
ตัวอย่างเช่น เมื่อคนรู้จักที่จะมีความสุข มันก็ง่ายที่จะทำให้สิ่งต่างๆ กลมกลืน ถ้าเป้าหมายภายนอก และเป้าหมายภายใน คือเป้าหมายในใจคนกับเป้าหมายของโลก มีความขัดแย้ง เขาก็จะมีความทุกข์ เพราะเกิดความกดดันในใจ แต่มีทางที่จะทำให้เป้าหมายทั้งสองประสานกันได้ นั่นคือ การทำให้บุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้ คือ พวกนักธุรกิจเรียนรู้ที่จะมีความสุข ในวิธีที่แตกต่างไปจากสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้มาก่อน
ในพระพุทธศาสนา มีหลายวิธีการที่จะทำให้คนมีความสุข ซึ่งก็จะเชื่อมต่อกับความมีอิสรภาพ ถ้าปราศจากอิสรภาพ เราก็ไม่สามารถเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ เราต้องมีอิสรภาพ ดังนั้น เราจึงมีความสุขหลายลักษณะ เช่นเดียวกับมีหลายระดับ และความสุขทั้งหมดนี้ เราสามารถแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ
๑. ความสุขที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาประกอบ (ความสุขที่ขึ้นต่อสิ่งอื่น หรือความสุขที่พึ่งพา หรือ สามิสสุข)
๒. ความสุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาประกอบ (ความสุขที่ไม่ขึ้นต่อสิ่งอื่น หรือความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพา หรือ นิรามิสสุข)
ความสุขที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาประกอบ สามารถแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง นักธุรกิจ หรือคนทั่วไปในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมบริโภค มีความสุขจากกามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสทางกาย หรือมีความสุขจากการเสพเสวยวัตถุต่างๆ ความสุขเช่นนี้ เรียกว่า ความสุขที่ต้องพึ่งพาสิ่งอื่น บาลีเรียกว่า อามิสสุข (สามิสสุข) คนจะมีความสุขได้ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก และถ้าอยากจะมีความสุขมากขึ้น ก็ต้องมีวัตถุมากขึ้น เป็นเจ้าของมากขึ้น เมื่อแสวงหาวัตถุมากขึ้น เราจะมีความขัดแย้งกับคนอื่น และความขัดแย้งเหล่านี้ เพิ่มพูนความทุกข์ ทั้งกับตัวเองและกับคนอื่น รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมด้วย
ความสุขในลักษณะนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้
วิธีแก้ปัญหาคือ การทำให้คนสามารถจะมีความสุขได้ด้วยตนเอง เพราะเมื่อคนยิ่งมีความสุขด้วยตนเองมากเท่าใด เขาก็จะมีความสุขในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น สิ่งนี้จะสำเร็จได้ด้วยความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่น
ความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุหรือสิ่งภายนอกมาสนองกามคุณ เป็นสาเหตุของปัญหา ไม่เพียงแต่แก่ผู้อื่น แก่โลก และแก่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน แต่เป็นปัญหาภายในของบุคคลคนนั้นด้วย เพราะว่าความสุขประเภทนี้ ไม่สามารถสนองความพอใจให้เป็นจริงได้ คนจะอยากได้มากขึ้น และบุคคลนั้นก็จะมีความสุขยากขึ้น ซึ่งจะตรงกันข้ามกับวิธีสร้างความสงบและความสุข เรามีชีวิตอยู่ในโลก เราเจริญเติบโตขึ้น เมื่อเราพัฒนาตัวเอง เราก็ควรจะมีความสุขได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่มีชีวิตอยู่ยาวนานขึ้น แต่กลายเป็นคนที่ยากยิ่งขึ้นที่จะมีความสุข
ปัจจุบัน ในโลกแห่งกามคุณ ในโลกแห่งการบริโภค เราจะเห็นได้ว่า คนจะมีความสุขยากยิ่งขึ้น แต่ทุกข์ง่ายมากขึ้น เราต้องพัฒนามนุษย์ให้มีความสุขได้ง่ายและมีความทุกข์ได้ยาก สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาภายใน เราอาจจะสอนให้คนพัฒนาตนเอง แต่ก็แค่ให้พัฒนาความสามารถในการแสวงหาสิ่งภายนอก เพื่อสนองความต้องการของเขา เพื่อทำให้เขามีความสุข คนมีความสามารถมากขึ้นในการหาสิ่งเหล่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็สูญเสียความสามารถในการมีความสุข
ที่ถูกนั้น ในขณะเดียวกัน เราควรมีการพัฒนาสองทาง คือ
ทางหนึ่ง เราพัฒนาความสามารถในการแสวงหาสิ่งที่มาสนองความต้องการของตน เพื่อให้เกิดความสุข
อีกทางหนึ่ง เราต้องพัฒนาความสามารถในการมีความสุขด้วย ควบคู่กันไป
คนจำนวนมากสูญเสียความสามารถในการมีความสุข และเขาก็จะมีความสุขยากมากขึ้น เขาก็จะยิ่งแสวงหามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านปริมาณ หรือคุณภาพ ความสุขอย่างนี้ เรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้ วิธีที่จะแก้ปัญหา เราต้องตระหนักว่า ปัญหาเริ่มขึ้นที่ไหน อะไรคือต้นตอของปัญหา
พระพุทธศาสนามองดูมนุษย์ว่า เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่มีศักยภาพในการพัฒนาหรือฝึกฝน และมนุษย์ที่ดี คือมนุษย์ที่ฝึกตน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พัฒนาได้สูงสุด เหนือกว่าสัตว์อื่น
ประเด็นอยู่ที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ นี่คือสิ่งที่เราคิดว่า เป็นจุดสำคัญสำหรับการแก้ปัญหา เราต้องคิดถึงการพัฒนาบุคคล
พระพุทธศาสนามองมนุษย์ในโลกว่า มีความแตกต่างกันหลายระดับ เรียกว่ามีความหลากหลาย แต่ความหลากหลายในที่นี้ หมายความถึงความหลากหลายของคนในหลากหลายระดับ
ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคนเหมือนกัน ในขณะเดียวกัน ทุกคนไม่สามารถอยู่ในระดับเดียวกัน
อาตมาคิดถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่พยายามทำให้ทุกคนมีความเป็นอยู่อย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
อาตมาคิดว่าทุนนิยมเสรีก็เหมือนกัน ดูเหมือนจะคิดว่า คนทุกคนเป็นเหมือนกันหมด
เราควรเปลี่ยนแนวความคิดนี้ เราต้องเห็นไปตามความเป็นจริงว่า คนต่างกันหลากหลาย มีการพัฒนาหลายระดับ เราควรพัฒนาระบบสังคม เริ่มต้นด้วยระบบเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมกับคนหลากหลายระดับในแต่ละระดับ ไม่ใช่มองพวกเขาว่าเหมือนกัน
แม้แต่ในเรื่องความสุข คนทุกคนแตกต่างกัน คนหลายคน หรือคนจำนวนมาก เป็นพวกที่มีความสุขจากการพึ่งพา คือต้องอาศัยสิ่งภายนอก ความสุขของเขาขึ้นอยู่กับวัตถุ หรือสิ่งสนองกามคุณ ๕ แต่พวกเขาไม่ควรหยุดอยู่แค่นั้น เขาควรพัฒนาตัวเองให้มีความสุขที่ประณีตละเอียดอ่อนมากขึ้น อย่างน้อยที่สุด มีความเข้าใจถึงความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า นิรามิสสุข
นิรามิสสุข หรือความสุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก ไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุ คือ ความสุขภายในตัวบุคคล ซึ่งสิ่งนี้สามารถพัฒนาให้เกิดมีขึ้นได้ เห็นได้จากการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา
เริ่มต้นพระพุทธศาสนาให้มีการรักษาศีล ๕3 คือ หลักการที่เป็นเหมือนพื้นฐานของสังคม เพื่อก่อให้เกิดสันติสุขในสังคม แต่มันไม่ได้ให้ความมั่นใจในเรื่องความสุขของมนุษย์ มันช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติมากขึ้น โดยไม่มีการทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่ทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย และทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น สําหรับมนุษย์ทุกคนที่อยู่ร่วมกัน และช่วยให้บุคคลแต่ละคน มีโอกาสที่จะมีพัฒนาการได้ดียิ่งขึ้น
เหนือกว่านั้น เรายังมีศีล ๘4 เพื่อช่วยเสริมส่งให้คนที่มีอามิสสุข (ความสุขด้วยการอาศัยสิ่งภายนอก ขึ้นต่อวัตถุหรือสิ่งเสพบริโภค) ได้ก้าวหน้าไปสู่นิรามิสสุข (ความสุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก ไม่ขึ้นต่อวัตถุหรือสิ่งเสพบริโภค)
ในศีล ๘ เราจะเห็นได้ว่ามีศีลเพิ่มขึ้น ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนอื่น ไม่ได้สัมพันธ์กับการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งต่างจากศีล ๕ ข้อแรก ศีลห้าเกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ศีลแปดแตกต่างไป
อย่างศีลข้อ ๓ ในศีลแปด หมายถึง เมถุนวิรัติ คือ งดกิจกรรมทางเพศ และเพิ่มศีลอีก ๓ ข้อ ศีลข้อหก งดรับประทานอาหารในยามวิกาล คือ งดอาหารตั้งแต่เที่ยงไปถึงวันใหม่ ศีลข้อที่เจ็ด เว้นจากการร้องรำ บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น และลูบไล้ร่างกายด้วยเครื่องหอม หรือตกแต่งประดับร่างกาย ศีลข้อที่แปด เว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย
จะเห็นได้ว่า ศีล ๓ ข้อหลังนี้ เป็นศีลที่ใช้สําหรับฝึกฝนตนเองส่วนตัว คือ การสละความสุขทางกาม และวัตถุต่างๆ และใช้เวลาที่เหลือในการพัฒนาจิตใจ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม
เมื่อได้รักษาศีลแปดก็จะพบว่า เราก็สามารถอยู่ได้อย่างดีมีความสุข โดยไม่ต้องอาศัยกามคุณต่างๆ ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนให้พุทธศาสนิกชนรักษาศีลแปดเดือนละสี่ครั้ง อย่างน้อยที่สุด เขาก็ไม่ต้องเสียอิสรภาพ อิสรภาพในที่นี้ คือ การมีความสุขโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก เรามีความสุขที่เป็นอิสระจากกามคุณ ๕ และเรายังสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านั้น นี่คือตัวอย่างของความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งภายนอก
บุคคลควรจะได้รู้จักกับความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัย ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก เมื่อเขารักษาศีลแปด เขาสามารถมีความสุขได้ง่ายขึ้น คนทั่วไป ก่อนการรักษาศีลแปด เขาอาจพูดว่าเขาต้องมีนั่นมีนี่ ถ้าไม่ได้สิ่งเหล่านั้น ก็จะไม่มีวันมีความสุขได้เลย แต่หลังจากได้ผ่านการรักษาศีลแปดมาแล้ว เขาก็จะเปลี่ยนไป มีความอยากน้อยลง คือ แม้จะไม่มีนั่น ไม่มีนี่ ที่เคยอยากได้อยากมีมาก่อน ก็รู้สึกใหม่ว่า ไม่เป็นไร อยู่ได้มีความสุขได้
ในเรื่องนี้ เราอาจแบ่งประเภทของคนออกได้เป็น ๓ กลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่ง คือ บุคคลประเภทที่พูดว่า เขาไม่สามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากโน่น ปราศจากนี่ และเราก็มี
กลุ่มที่สอง ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มแรก ที่พูดว่า การมีโน่นมีนี่ก็ดี แต่ถ้าไม่มี ก็ได้
กลุ่มที่สาม เป็นผู้มีอิสรภาพ แม้ว่าไม่มี หรือไม่ได้ ไม่พบสิ่งกระตุ้นเร้าจากภายนอก ก็กลับยิ่งดี เพราะเขารู้สึกโล่งสบาย ไม่รู้สึกทุกข์ กลุ่มนี้จะรู้สึกว่า ทำไมความสุขของเราจะต้องไปขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็จะไม่เป็นอิสระ ถึงแม้เราไม่มี หรือไม่ได้สิ่งเหล่านั้น เราก็สามารถมีความสุขได้ บางทีการมีอะไรมากเกินไป จะทำให้เราทุกข์และมีความสุขน้อยลงด้วยซ้ำไป ดังนั้น การไม่ต้องอาศัยวัตถุธรรมมาเป็นเครื่องล่อเครื่องเร้าให้เกิดความสุข จึงเป็นความสุขที่สูงกว่า เพราะประกอบด้วยอิสรภาพ อันบุคคลควรพัฒนาให้เกิดมีความสุขชนิดนี้ขึ้นในตน
นิรามิสสุข หรือ สุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก ที่ละเอียดขึ้นไปอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นอิสระจากความอยาก หรือตัณหา เราอาจเป็นอิสระจากวัตถุธรรม แต่ในใจของเรายังคงมีตัณหา เราอยากได้แม้แต่บางสิ่งข้างในภายในใจของเรา เช่น อยากเป็นโน่นเป็นนี่ อยากประสบความสำเร็จในสังคม ถ้าเราสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นอิสระอย่างแท้จริง จนกระทั่งเข้าถึงปัญญาบริสุทธิ์ ที่จะทำให้มองเห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริงแล้ว เราจะมีความเป็นอิสระจากโลก ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถเป็นได้ เพราะว่าเขาไม่รู้จักสิ่งเหล่านั้นอย่างแท้จริง เมื่อเขารู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง จิตใจเขาก็จะเป็นอิสระ เขารู้สึกเบาสบาย ไม่มีความเครียด และเขาก็จะเข้าถึงความสุขจากความเข้าใจนั้น เป็นอิสระจากตัณหา
เมื่อเรามองดูมนุษย์ตามลําดับขั้นของการพัฒนา เราก็จะสามารถประยุกต์ใช้หลักการอันนี้เข้ากับเศรษฐศาสตร์ เราสามารถเรียนรู้ในการจัดเป้าหมายของคนหลายระดับนี้ได้อย่างกลมกลืน ถ้าเราไม่เข้าใจหลักการอันนี้ ความขัดแย้งก็จะดํารงคงอยู่ต่อไปตลอดกาล
ตอนนี้ เราก็มาถึงคําถามของคําว่า อิสรภาพ อิสรภาพในที่นี้ สัมพันธ์กับความสุข อาตมาอยากทราบว่า คุณมีคําถามอะไรไหมตรงนี้
นายมิวเซนเบิร์ก
ครับ...ครั้งแรกที่ผมมาประเทศไทย เพราะมีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า ถ้าท่านดาไลลามะไม่สามารถคุยกับคุณในเรื่องธุรกิจ บางทีคุณอาจไปคุยกับนักธุรกิจที่นับถือพระพุทธศาสนา แล้วถามเขาว่า ศาสนาพุทธมีอิทธิพลกับเขาหรือไม่ ถ้ามี มีอย่างไร ในประเทศไทยมีนายธนาคาร (banker) ที่เขาอาจจะช่วยคุณได้ในเรื่องนี้ ผมจึงมาประเทศไทย แล้วก็โชคดี ได้พบกับคุณฐิตินาถ (ณ พัทลุง) และคุณศิริธร (รัตนิน) ซึ่งเป็นนักธุรกิจ ผมได้สนทนากับเธอ และนักธุรกิจคนอื่นๆ ผมจึงเห็นได้ชัดว่า พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อพวกเขาในการทำธุรกิจ แต่ทั้งหมดพูดเหมือนกันว่า พระพุทธศาสนาจะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าคุณไม่ปฏิบัติ
ผมพบว่า การปฏิบัติที่พวกเขาหมายถึง คือ การปฏิบัติสมาธิภาวนา และเขาก็แนะนำให้ผมไปเข้าปฏิบัติสมาธิภาวนา ผมก็ไม่อยากจะเขียนถึงการปฏิบัติโดยไม่ปฏิบัติด้วยตนเอง ดังนั้น ผมจึงไปเข้ารับการอบรมสมาธิภาวนาตามที่เขาจัดให้ และครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ที่ผมกลับมา ผมรู้สึกมีความสุขมากขึ้น และเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเปลื่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ก็เป็นกระบวนการที่เป็นไปอย่างช้าๆ อาจเป็นเพราะว่าผมเริ่มเมื่อเกือบจะสายไปแล้ว เพราะแก่แล้ว
ผมเข้าใจมากขึ้น แต่ก็เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีชีวิตอยู่กับศีลแปด ไม่ใช่เพราะวิธีการปฏิบัติยาก แต่เพราะมนุษย์เรามีมิจฉาทิฏฐิติดตัวมาแต่เดิม อีกทั้งจิตใจของมนุษย์ยังเต็มไปด้วยกิเลสต่างๆ ที่หนาแน่นอยู่ภายใน เป็นงานใหญ่และยาก ผมไม่คิดว่าเราจะรอได้ เพราะเราอาจต้องรอจนพวกนักธุรกิจพวกนั้นแก่ชรา จึงพอจะเข้าใจ เราต้องหาวิธีการที่จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นด้วยกับที่ท่านพูดมาทั้งหมด แต่ปัญหาคือ เราจะจูงใจพวกนักธุรกิจอย่างไร จากประสบการณ์ของผม ผมคิดว่า การปฏิบัติสมาธิภาวนาไม่อาจช่วยได้
พระพรหมคุณาภรณ์
อาตมาคิดว่า ไม่ใช่แต่เพียงจูงใจพวกนักธุรกิจเท่านั้น แต่สามารถใช้เป็นวิธีการหนึ่งที่จะให้การศึกษากับคนทั่วไป แต่ต้องให้พวกเขารู้ว่าจะพัฒนาตัวเองอย่างไร
ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนี้ เราควรหาเวลาพูดกันถึงเรื่องธุรกิจ เท่าที่เมืองไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง
พระพรหมคุณาภรณ์
อย่างที่บอกมาแล้วว่า อาตมาเองก็ไม่ได้รู้เรื่องธุรกิจมากนัก แต่ก็ได้ให้ความสนใจบ้าง คุณอาจจะเห็นได้ว่า ในโลกแห่งการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกธุรกิจวันนี้ เรามีประเทศที่มีลักษณะแตกต่างกัน จนกระทั่งมีการแบ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกําลังพัฒนา หรือประเทศด้อยพัฒนา แต่อาตมาอยากจะแบ่งด้วยวิธีการอย่างอื่น เป็นประเทศผู้ผลิต (Producer) และประเทศผู้บริโภค (Consumer) ผู้ผลิตเป็นผู้ขาย (Seller) และผู้บริโภคเป็นผู้ซื้อ (Buyer or Purchaser)
ประเทศไทยเป็นพวกที่สอง คือ Consumer และ Purchaser เราเคยมีการพูดถึงเรื่องนี้บ่อยว่า ทำไมคนไทยไม่มีนิสัยเป็นผู้ผลิต?
ในประเทศที่มีลักษณะบริโภคนิยม (Consumerism) อย่างประเทศไทยนี้ จะเกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น ในธุรกิจที่ประกอบด้วยลัทธิบริโภคนิยม ผู้บริโภคคือทาสของธุรกิจประเภทนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการโฆษณา และเมื่อนักธุรกิจคิดอะไรขึ้นมาได้ใหม่ ที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ เพื่อไปสนองความต้องการของตน โดยคิดว่าถ้าได้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตนแล้วจะมีความสุข นี่ก็คือปัญหาแต่เริ่มแรก ลัทธิบริโภคนิยมจึงเป็นเหตุของปัญหา พูดได้ว่าเป็นการครอบงํา ปั่นหัว และชี้นำค่านิยมของสังคม จะเห็นได้ว่าลัทธิบริโภคนิยม ได้กลายเป็นค่านิยมของสังคม และสร้างค่านิยมของสังคม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เสริมส่งการพัฒนาของสังคมหรือแม้แต่การพัฒนาตนของปัจเจกบุคคล ทั้งภายในและภายนอก และมันได้กลายเป็นปัญหาจริยธรรม คือคนไม่รู้ว่า อะไรคือการเป็นอยู่ที่ดีอย่างแท้จริง
เราอาจพูดได้ว่า เราสามารถแก้ปัญหาสังคมด้วยการศึกษา การศึกษาคือการพัฒนาคน แต่การศึกษาชนิดใดที่เป็นที่ต้องการในที่นี้ เพราะการศึกษาในปัจจุบันนี้ อาจหมายถึงการพัฒนาความสามารถในการแสวงหาสิ่งภายนอก เพื่อมาสนองตัณหา เพื่อให้ตนมีความสุข อาตมาคิดว่าการศึกษาปัจจุบันนี้ จะมีลักษณะอย่างนี้แอบแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว
การศึกษาสมัยใหม่บางทีก็ไม่ได้คิดว่า การศึกษาที่แท้จริงของมนุษย์ รวมไปถึงการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขด้วย ความสนใจในการมีความสุขของมนุษย์ ควรเป็นปัจจัยที่แท้จริง หรือปัจจัยที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนามนุษย์ เราต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แม้ในการศึกษา
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมชอบแนวความคิดนี้มาก ที่ว่าคนควรถูกสอนว่าจะมีความสุขได้อย่างไร และการศึกษาปัจจุบันก็มีประเด็นน่าสงสัยในเรื่องนี้ ผมเห็นด้วย แต่ผมอยากย้อนกลับไปที่คำถามถึงคำว่า อิสรภาพ และกลับไปถึง ลัทธิบริโภคนิยม
ท่านบอกว่า อิสรภาพมี ๔ ระดับ5 คือ Physical Freedom, Social Freedom, Emotional Freedom, Intellectual Freedom ซึ่งผมชอบมาก และได้ใช้เป็นโครงสร้างของความคิดในเรื่องอิสรภาพ และบ่งชี้ว่า คนมีหลายลักษณะ ซึ่งต้องพิจารณาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอยู่ในรัฐบาล
คำถามหนึ่งในเรื่อง อิสรภาพ คืออะไร อะไรควรเป็นข้อจำกัดของอิสรภาพ และหนึ่งในอิสรภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับคำถามนี้ในเรื่องลัทธิบริโภคนิยม คืออิสรภาพของประชาชนในการซื้อในสิ่งที่ตนเองปรารถนา ซื้อจากผู้ผลิตที่เขาพอใจจะซื้อสินค้าด้วย และในธุรกิจที่ขายในสิ่งที่เขาจะขายได้ ให้กับคนที่เขาต้องการจะขาย และมันชัดที่ว่า ถ้าไม่มีข้อจำกัดเรื่องอิสรภาพในความหมายนี้ มันอาจจะเป็นความหายนะ ดังนั้น เราควรกำหนดอิสรภาพในเรื่องนี้ แต่ความสุดโต่งอาจจะเป็นไปได้ว่า ไม่ให้มีอิสรภาพเลย เหมือนเช่นในประเทศคอมมิวนิสต์ได้พยายามทำมาแล้ว รัฐจะกำหนดว่าใครควรทำอะไร ทำแค่ไหน และประชาชนก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้อในสิ่งที่มี ผมเห็นว่า ต้องมีข้อจำกัดให้กับอิสรภาพทั้งในธุรกิจ และกับผู้บริโภค
คำถามคือ ท่านยอมรับหรือไม่ว่า เป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ที่จะจำกัดอิสรภาพของผู้คน ในการซื้อสิ่งของที่เขาอยากจะซื้อ จากที่ที่เขาต้องการจะซื้อ
พระพรหมคุณาภรณ์
ข้อกำหนดบางอย่างควรจัดให้มีขึ้น แต่ที่ดียิ่งกว่านั้นก็คือ มันต้องสมดุล เราไม่ควรเห็นว่า เรื่องนี้แยกจากอิสรภาพ ๔ ระดับ ขั้นแรก คือ สามารถทำให้สมดุล ต่อมาก็มีความเชื่อมโยง และพึ่งพาอาศัยกันและกัน เราไม่หยุดหรือจำกัดตัวเองให้อยู่แค่อิสรภาพในระดับพื้นฐาน เราสอนให้คนพัฒนาตัวเองไปสู่จุดที่สูงกว่ายิ่งๆ ขึ้นไป และเมื่อเขาไปสู่อิสรภาพที่สูงขึ้น อิสรภาพที่สูงกว่านี้ จะทำให้อิสรภาพในระดับต่ำกว่าเกิดความสมดุล เช่น Physical Freedom กับ Social Freedom
ตัวอย่าง Social Freedom คนมักคิดว่า เขาควรได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการจะทำ แต่ถ้าเขาพัฒนาตัวเองไปสู่ Spiritual Freedom หรือ Mental Freedom หรือ Intellectual Freedom เขาจะยกระดับ Social Freedom อาตมาหมายถึง Social Freedom ในทางที่ไม่ดี หรือในทางลบ ให้เปลี่ยนไปในทางที่ดี เพราะว่าเขาได้พัฒนาปัญญาของเขาแล้ว จึงเกิดความรู้ที่ว่า สิ่งนี้สิ่งนั้นต่างหากจะนําไปสู่ความสงบร่มเย็นของสังคม ของคนอื่น และของตัวเขาเอง นี่คือ การทำให้อิสรภาพสมดุลนั่นเอง
ไม่เพียงแต่เท่านั้น อิสรภาพในระดับนี้ คือ การพึ่งพาอาศัยกัน เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ทำไมเราต้องมี Physical Freedom ทำไมเราต้องมี Social Freedom เหตุผลหนึ่งก็คือ อิสรภาพในลักษณะนี้ ช่วยให้เราสามารถพัฒนาตัวเองให้ขึ้นไปสู่อิสรภาพขั้นสูงต่อไป ถ้าไม่มี Social Freedom และ Physical Freedom คนก็จะไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้เห็นแจ้งอิสรภาพในระดับที่ ๓ และระดับที่ ๔ ต่อไป เมื่อคนได้ใช้อิสรภาพในขั้นต้นช่วยเกื้อหนุน เป็นเงื่อนไขในการพัฒนาไปสู่อิสรภาพในขั้นสูงต่อไป การแก้ไขปัญหาก็จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมคิดว่า เป็นความจริงที่ว่า ความสนใจในเรื่องทางจิต (Spiritual Matters) ช่วยเพิ่มพูนบางสิ่งให้กับมาตรฐานของชีวิต ลัทธิบริโภคนิยมในสังคมตะวันตก แม้คนรวยก็ต้องเจอปัญหาอันเดียวกันนี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะในประเทศที่ยากจนเท่านั้น มันเป็นปัญหาทั่วไป ถ้าคนมีความสามารถอย่างที่ท่านได้กล่าวมา คือ รู้จักที่จะมีความสุข ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร ที่เป็นปัญหาคือเขาไม่รู้ สิ่งที่เราพยายามทำก็คือ การดูว่านักธุรกิจจะสามารถทำอะไรได้บ้าง รัฐบาลสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะทั้งสองฝ่ายมีบทบาทต้องเล่น ผมเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์วันนี้ วิกฤติการณ์เรื่องน้ำมันมีราคาสูงขึ้นๆ ดังนั้น รัฐบาลจึงออกมาพูดว่า เราจะเพิ่มภาษีรถยนต์ขึ้นอีกสำหรับรถที่มีแรงม้าสูง เพราะมันกินน้ำมันมากกว่ารถที่มีแรงม้าน้อย นักธุรกิจก็จะคัดค้าน เพราะเขาได้กำไรจากรถใหญ่มากกว่ารถเล็ก ถ้าผู้บริโภคหันมาใช้รถเล็ก ราคาถูก บริษัทฯ ก็จะได้กำไรน้อยลง อย่างนี้เป็นต้น ผมคิดว่า ตรงนี้มีคําถามที่ว่า ทำอย่างไรรัฐบาลจึงจะออกกฎหมายที่ถูกต้อง และสามารถมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์
พระพรหมคุณาภรณ์
อาตมาว่า อันนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of Interests) อาตมาคิดว่ายังมีอีกประเด็นที่อยากจะพูดถึง คือ เราควรขยายความคำว่า “การแข่งขัน” เมื่อเราพูดถึงการแข่งขัน เราคิดว่ามันเป็นเพียงเรื่องในทางเศรษฐศาสตร์ ในทางธุรกิจ คือ การแข่งขันในธุรกิจหรือในทางเศรษฐศาสตร์ แต่มันก็เป็นแค่การแข่งขันระหว่างนักธุรกิจด้วยกัน องค์กรทางธุรกิจ และอื่นๆ เราควรขยายความหมายของคำว่า การแข่งขัน เพื่อให้ครอบคลุมการแข่งขันระหว่างผู้ผลิต หรือนักธุรกิจ กับคนจำนวนมาก หรือประชาชน ทำไมประชาชนไม่แข่งขันกับนักธุรกิจ และการแข่งขันในลักษณะนี้ มีความหมายว่า มันคือการขยายตัวของความหมาย เพื่อให้ครอบคลุมถึงการแข่งขันทางปัญญา
ในความเป็นจริง การแข่งขันทางด้านสติปัญญาคือแกนของการแข่งขันทางธุรกิจในทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันการแข่งขันทางสติปัญญาไม่ควรเป็นเพียงความฉลาดในเชิงเศรษฐศาสตร์หรือธุรกิจเท่านั้น มันสามารถขยายเพื่อครอบคลุมไปถึงการแข่งขันทางด้าน Spiritual ด้วย หมายความว่า เมื่อกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง อาตมาไม่คิดว่าจะเป็นคนจำนวนมาก อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าคนมีหลายระดับ คนจำนวนไม่มากนี้ควรจะ หรือ สามารถจะอยู่ในการพัฒนาระดับนี้ได้ และเมื่อพวกเขามีความรู้แจ้ง ที่เรียก Intellectual Freedom หรือ Mental Freedom และ Spiritual Freedom เขาจะสามารถแข่งขันกับนักธุรกิจได้
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมไม่ค่อยเข้าใจครับ เรามีนักธุรกิจอยู่ข้างหนึ่ง และประชาชนอีกข้างหนึ่ง คนพวกไหนที่ท่านหมายถึงครับ ผู้บริโภค หรือใครครับ
พระพรหมคุณาภรณ์
ผู้บริโภค
นายมิวเซนเบิร์ก
ท่านหมายถึง ผู้บริโภคควรมีความสามารถที่จะแข่งขันกับนักธุรกิจได้ แข่งขันในแง่ไหนครับ ผมไม่เข้าใจ
พระพรหมคุณาภรณ์
ในทาง Intellectual และ Spiritual คือมีอํานาจในการสร้างอิทธิพลในวงจรธุรกิจ
นายมิวเซนเบิร์ก
ใช่ครับ ผู้บริโภคมีอํานาจมาก ถ้าเขาไม่ซื้อ ผู้ผลิตก็อยู่ไม่ได้ ขาดทุน เป็นอํานาจเด็ดขาดจริงๆ ด้วยครับ ใช่ครับ ผมเห็น ด้วย
พระพรหมคุณาภรณ์
นี่เองที่ผู้บริโภคสามารถใช้อำนาจของตนได้ และก็คือ วิธีการขยายการแข่งขัน ทำไมเราจึงจํากัดคำว่าการแข่งขันเพียงแค่ พวกทำธุรกิจด้วยกันเอง นักธุรกิจควรแข่งขันกับผู้บริโภค และผู้บริโภคต้องตระหนักว่า เขาต้องแข่งขันกับนักธุรกิจ
นี่คือหนึ่งในหน้าที่ที่ธุรกิจสามารถทำอะไรได้มาก เพื่อที่ประชาชนจะมีโอกาสเลือก เพราะมีปัญหาหนึ่งก็คือ ผู้บริโภคถูกผู้ผลิตครอบงำจากการโฆษณา และธุรกิจสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เพื่อสื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงผลที่ตามมาของสิ่งที่เขาเลือก
นักธุรกิจต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชน เพื่อทำความกระจ่าง ทำให้เขาเข้าใจ ถ้าประชาชนมี Spiritual Freedom แล้วเขาจะมีความสามารถมากขึ้นในการเลือกว่า “จะใช้” หรือ “จะซื้อ” สินค้าอย่างไร และตัวผู้ผลิตเองควรผลิตสินค้าชนิดใดออกมา
นายมิวเซนเบิร์ก
นี่เป็นคำถามที่ยาก คือ ปกติการทำธุรกิจพยายามจะขายให้ได้มากเสมอ นักธุรกิจควรมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองขาย และพวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง ที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบนั้นๆ ผมไม่ทราบว่าท่านเคยได้ยินมาบ้างหรือไม่ กรณีของแฮมเบอร์เกอร์ชื่อดังรายหนึ่ง เขาขายอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพของประชาชน คือ ประกอบด้วยแป้ง เนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก ทำให้ผู้บริโภคอ้วน เพราะความกดดันจากผู้บริโภคนี้เอง เดี๋ยวนี้ บริษัทนี้จึงได้ออกอาหารตัวใหม่ ที่เรียกว่า “อาหารสุขภาพ” ขึ้นมา เพื่อจะทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง
พระพรหมคุณาภรณ์
ปัจจุบัน หลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่จำเป็น ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็น ในการต่อสู้ระหว่างวงจรธุรกิจ และวงจรผู้บริโภค นี่คือความจำเป็นที่เราต้องพัฒนาคน เมื่อเราพัฒนาคน เขาก็จะไม่เพิ่มขยายความต้องการในสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่เปลี่ยนความต้องการเป็นความจำเป็น บางทีเขาอาจทำให้ความต้องการน้อยลง เราต้องต่อสู้ในเรื่องนี้ด้วย เพราะว่ามันคือโลกแห่งการแข่งขัน ถ้าเราไม่สามารถสอนคนได้ในเรื่องนี้ มันก็ยาก และก็อาจไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้ แต่เราไม่สามารถคาดหวังสิ่งนี้จากคนส่วนใหญ่ แต่อย่างน้อย ก็จะมีคนเข้าใจมากขึ้น มีความต้องการน้อยลง และมีการพัฒนาปัญญามากขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้นี่เองที่จะสามารถแข่งขันกับพวกนักธุรกิจได้
ในเวลาเดียวกัน เราก็ต้องให้การศึกษาพวกนักธุรกิจด้วย สอนให้เขารู้จักที่จะมีความสุข เพราะพวกเขาก็ต้องการความสุขด้วยเช่นกัน ความสุขชนิดไหนที่เขาควรจะพัฒนาให้เกิดมีต่อไป และสอนให้เขารู้จักว่า อะไรคือความสำเร็จที่แท้จริง
ปัจจุบัน คนในสังคมเรียกตัวเองว่า เป็นพวกศิวิไลซ์ คนศิวิไลซ์ที่แท้จริงควรรู้ว่า อะไรคือความสำเร็จที่แท้จริง เพราะฉะนั้น นักธุรกิจทั้งหลายควรรู้ว่า ความสำเร็จในทางธุรกิจ หรือความสำเร็จในทางเศรษฐศาสตร์นั้น ไม่ใช่เพียงการให้ในสิ่งที่สนองตัณหาของประชาชน แต่คือการสร้างความสุขสงบร่มเย็นให้เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ด้วย และเราควรทำให้สิ่งนี้เป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักธุรกิจ ถ้าพวกเขาได้กำไรสูงสุด นั่นไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง ความสำเร็จที่แท้จริงคือ คุณสามารถสร้างความสงบร่มเย็นให้เกิดขึ้นได้ในท่ามกลางมวลมนุษย์ นี่คือเรื่องท้าทาย
ขั้นแรก ด้วยเหตุผล เขาควรรู้ว่า อะไรผิด อะไรถูก อะไรคือความจริง อะไรคือสิ่งปลอม อะไรคือเหตุผลที่เราต้องพัฒนา หรือทำธุรกิจด้วยวิธีการอันนี้ และเราควรสอนให้เขารู้ว่า อะไรคือประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิต ทั้งชีวิตของพวกเขาเอง และชีวิตของผู้บริโภค และประโยชน์อันนี้จะรวมเอาความสุขอยู่ด้วยในตัว นักธุรกิจพวกนี้ไม่ควรต่อสู้ดิ้นรนเพื่อตอบสนองในด้านวัตถุ และในด้านกามคุณ เขาควรพัฒนาตนเองให้ก้าวไปสู่ความสุขในระดับที่สูงกว่า เป็นอิสระจากวัตถุภายนอก ถ้าเขาตระหนักเช่นนี้ แม้แต่เพียงบางส่วน ที่ได้พยายามพัฒนาด้วยวิธีการอันนี้ คือ พัฒนาจนถึงความสามารถที่จะมีความสุขภายในใจของตนเองได้ ซึ่งก็คือสิ่งที่อาตมาได้พูดมาแล้ว มันจะง่ายขึ้นสำหรับคนกลุ่มนี้ที่จะตระหนักว่า เรื่องความเป็นอยู่ดีของมนุษยชาตินั้นเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ในการที่พวกเขาจะสามารถทำให้แก่สังคมได้ พวกเขาจะถือว่าธุรกิจของเขาต้องทำเพื่อสิ่งนี้ ความสำเร็จของเขาอยู่ตรงนี้ คือ การทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ดียิ่งขึ้น
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมพอเข้าใจ แต่ผมคิดว่ากลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สุดของโลก ๒๕๐ กลุ่ม ๔๐% ได้ทำรายงานประจำปี ซึ่งแสดงความคิดเห็นว่า เขาได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม ในระดับที่เรียกว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ฟังดูเหมือนว่ามากนะครับ ปัญหาก็คือ ธุรกิจจำนวนมากเหล่านั้น ทำการประชาสัมพันธ์ตัวเอง แต่พฤติกรรมที่แท้จริงไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูด ซึ่งที่จริงมันมีความก้าวหน้าบางอย่างที่พวกเขากำลังพยายามทำอยู่ แต่ไม่บอกว่ามันจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้น ผมคิดว่ามีประมาณ ๓๕% ที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยอันนี้
พระพรหมคุณาภรณ์
นั่นก็คือ เรายังสงสัยในเรื่องความจริงใจของนักธุรกิจเหล่านั้น บางทีอาจเป็นเพราะเขาคิดถึงสิ่งเหล่านี้ในความหมายที่แคบ ถ้าเขาได้เรียนรู้ หรือมีการศึกษาเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ศักยภาพในการพัฒนา และอื่นๆ พวกเขาก็จะมีความเข้าใจมากขึ้น และก็จะเปลี่ยนใจขึ้นมาได้
นายมิวเซนเบิร์ก
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเชื่อว่า ทัศนะในทางพระพุทธศาสนาจะสามารถช่วยได้มาก จากประสบการณ์ของผมเท่าที่ผ่านมา ที่ได้มีโอกาสรู้จักนักธุรกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักธุรกิจในซีกโลกตะวันตก พวกนักธุรกิจต่างพากันประหลาดใจมาก เมื่อผมบอกว่า ผมคิดว่า คําสอนในทางพระพุทธศาสนา สามารถเป็นประโยชน์กับธุรกิจได้
ผมอยากกลับไปที่คําถามที่ว่า บริโภคนิยม คืออะไร คือ การที่คนซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น ที่เหนือไปกว่านั้น การซื้อของเหล่านั้น ทำให้เขามีความสุข และก็จะเปลี่ยนไปเป็นผู้มีความกระหาย ฯลฯ เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ มันเกิดขึ้นมานานแล้วแม้ในสมัยพุทธกาล แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ทรงแนะนําให้สามีซื้อเครื่องประดับให้ภรรยา เป็นหน้าที่ข้อหนึ่งของสามีที่ควรปฏิบัติต่อภรรยา ซึ่งเครื่องประดับก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น แสดงว่าพระพุทธองค์ก็ทรงยอมรับว่าเครื่องประดับนั้นก็มีความสำคัญ
ผมได้ไปที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และไปชมพิพิธภัณฑ์ ท่านจะไม่เชื่อเลยว่า คนรวยกับคนจนมีชีวิตที่แตกต่างกันมากอย่างไร คนจนอยู่อย่างจนคือไม่มีอะไรเลย และคนรวย คนชั้นสูง อยู่อย่างหรูหรา ต่างกันคนละขั้ว ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันหลังจากปี ค.ศ. ๑๗๐๐ ในยุโรปมีการสั่งเข้าใบชาและน้ำตาล นั่นเป็นครั้งแรกที่คนจนสามารถซื้อหาสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ความแตกต่างของลัทธิบริโภคนิยม มาจากนักธุรกิจชั้นสูงที่ชอบอยู่อาศัยในคฤหาสน์ใหญ่โต มีเครื่องประดับราคาแพง พวกเขาไม่สนใจคนจน ดังนั้น ผมคิดว่าเราควรจะระวังที่จะปฏิบัติต่อลัทธิบริโภคนิยม ในฐานะเป็นสิ่งใหม่ แม้ว่าสิ่งที่ท่านพูดมานั้นจะเป็นความจริง ว่าเดี๋ยวนี้มันชักจะไปไกลเกินไป แต่ผมว่ามันไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะปัญหาอย่างนี้มีมาก่อนแล้วในประวัติศาสตร์
พระพรหมคุณาภรณ์
ลัทธิบริโภคนิยมนั้นมันมาจากธรรมชาติของมนุษย์ อาตมาคิดว่า ขั้นแรกเราต้องยอมรับว่า นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ และนี่คือสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า ตัณหาไม่มีที่สิ้นสุด ไม่สามารถทำให้พอใจได้อย่างแท้จริง แต่จะเพิ่มมากขึ้นทั้งในปริมาณและระดับขั้น นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องให้การศึกษาแก่คน เพื่อที่ว่าเราจะได้มีบางสิ่งที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยให้ตัณหาเกิดความสมดุล
แต่ปัจจุบันปัญหาคือ การศึกษาดูเหมือนว่า จะไม่ได้พัฒนาคุณภาพดังกล่าว เมื่อเราให้การศึกษาอะไรก็ตามแก่คน เขาก็จะเกิดความรู้บางอย่าง ตัวอย่างเช่น เขาสามารถมีความสุขได้ด้วยตนเอง เขาสามารถแยกแยะได้ระหว่าง “การหาความสุข” กับ “การมีความสุข” ว่าต่างกันอย่างไร
ทุกวันนี้เราพูดกันแต่ว่า “การหาความสุข” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนไม่มีความสุขจึงต้องหาความสุข แต่เราก็มีมนุษย์อย่างพระพุทธเจ้าซึ่งตรัสว่า พระองค์มีความสุขแล้ว ไม่ต้องไปหาความสุขที่ไหน คนต้องแยกแยะความสุขทั้งสองอย่างนี้ คือ “การหาความสุข” กับ “การมีความสุข” และคนควรได้รับกระตุ้นหรือทำให้เขารู้ว่า เขาสามารถมีความสุขได้ ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาความสุข และมีความสุขด้วยการทำให้การแสวงหาความสุขนั้นสมดุล
ลัทธิบริโภคนิยม คือ วิธีการของผู้ที่แสวงหาความสุขและวิธีของการมีความสุขด้วยการอาศัยสิ่งภายนอก นี่คือความสุขที่ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุธรรมภายนอก และเนื่องจากตัณหาไม่มีที่สิ้นสุด มันจะเพิ่มมากขึ้นๆ และขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคม ลัทธิบริโภคนิยมนั้นไม่เพียงแต่ทำให้คนพอใจ แต่มันสร้างค่านิยมทางสังคมขึ้นมาด้วย หรือธุรกิจในปัจจุบันทำให้เกิดลัทธิบริโภคนิยมและเป็นไปเพื่อสนองลัทธิบริโภคนิยม เพราะว่าลัทธิบริโภคนิยมทำให้เกิดค่านิยมทางสังคม
ตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคคนไทยไม่แข่งขันกับนักธุรกิจ แต่แข่งขันกันเอง เขาแข่งขันกันในแง่ว่า เธอมีนี่ ฉันก็มีเหมือนกัน ฉันมีสิ่งใหม่ๆ แต่เธอยังไม่มี เธอไม่ทันสมัย ด้วยเหตุนี้ เราต้องให้การศึกษาแก่พวกเขา เพื่อที่ว่าเขาจะได้เปลี่ยนสถานะ แทนที่จะแข่งขันกันเอง ก็ไปแข่งขันกับผู้ผลิต หรือนักธุรกิจ
นายมิวเซนเบิร์ก
ท่านคิดว่า การศึกษาที่ปราศจากการสอนสมาธิภาวนาจะช่วยได้หรือไม่ ดูเหมือนว่ากิเลสตัณหาของมนุษย์ที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ถ่ายถอนได้ยาก
พระพรหมคุณาภรณ์
เมื่อเราพูดถึงเรื่องสมาธิภาวนา เราต้องแยกแยะระหว่าง Formal Meditation หรือ Meditation in Form กับ Meditation in Substance
Meditation in Substance อยู่ในใจ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบภายนอก คนจำนวนมากมักพูดถึงการปฏิบัติสมาธิภาวนาในรูปแบบ เช่น การไปวัดเพื่อไปนั่งสมาธิ ซึ่งก็เป็นประโยชน์มาก เราอาจเรียกการทำเช่นนี้ว่าเป็น Intensive Course for Meditation แต่สามารถปฏิบัติสมาธิภาวนาได้ทุกวันในชีวิตประจำวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที ทุกขณะจิต เมื่อเราทำงานเราก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ เช่น เมื่อเราทำงานอย่างถูกต้อง นั่นก็คือการปฏิบัติธรรมในตัวเอง
ทำไมคนถึงไปวัดเพื่อปฏิบัติ ก็เพราะเขาต้องการสถานที่สงบสงัดสำหรับการนั่งสมาธิ เนื่องจากเขาไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ยาก ในท่ามกลางผู้คน และความสับสนวุ่นวาย ดังนั้น เขาจึงต้องอาศัยสถานที่สงบช่วยเกื้อหนุนการปฏิบัติให้ก้าวหน้า เขาจึงเลือกที่จะไปวัดเพื่อปฏิบัติ และเมื่อเขาทำได้สำเร็จ ก็หมายความว่า เขาจะสามารถปฏิบัติได้ในที่ทำงาน ถ้าเขาไม่สามารถปฏิบัติได้ในที่ทำงาน ก็จะไม่สามารถพูดได้เลยว่า การปฏิบัติของเขาได้ผล แม้ว่าเขาจะได้ไปนั่งสมาธิในวัดมาแล้วหลายๆ ครั้งก็ตาม มันสัมพันธ์กัน
เราใช้การปฏิบัติแบบเข้มข้น หรือสถานที่ปฏิบัติที่เงียบสงบเป็นจุดเริ่มต้น เป็นวิธีการฝึกตนเอง อย่างน้อยที่สุดในขั้นแรก แต่สำหรับผู้หมดกิเลสแล้ว อย่างพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ สามารถปฏิบัติสมาธิภาวนาได้ในทุกที่ เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติสมาธิที่ประสบความสำเร็จ คือ ผู้ที่สามารถปฏิบัติสมาธิได้ในทุกที่
มีพุทธพจน์ว่า
คาเม วา ยทิวา รฺเ
นินฺเน วา ยทิวา ถเล
ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ
ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ
ไม่ว่าจะเป็นที่แห่งใด บนยอดเขา หรือในทะเล ไม่ว่าจะเป็นในป่า หรือในท่ามกลางผู้คน ที่นั้นไซร้ เป็นสถานที่อันรื่นรมย์สำหรับพระอรหันต์ หรือผู้ที่ไกลจากกิเลส
อาตมาคิดว่า มันไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์อันเคร่งครัด หรือเรื่องบังคับว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ มันขึ้นอยู่กับโอกาสอันเหมาะสม ถ้าเรามีโอกาสไปเข้าปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างเข้มข้น ย่อมเป็นเรื่องที่ดี ดีมาก แต่ถ้าเราไม่มีโอกาส หรือเมื่อเราไม่ได้ไปเข้ารับการอบรมดังกล่าว เราควรจะปฏิบัติสมาธิได้ด้วยตนเอง ที่ใดก็ได้
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมเข้าใจว่าคนส่วนมากมีทัศนะที่ไม่ดีฝังแน่นอยู่ในตัว เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงจะเป็นความช็อคอย่างหนึ่ง จากงานเขียนของท่านในที่แห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับของท่านดาไลลามะ คนต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ในเมื่อโลกก็หมุนไปข้างหน้า
พระพรหมคุณาภรณ์
เราต้องแข่งขันในการสร้างค่านิยมของสังคม เพราะค่านิยมมีบทบาทสำคัญในการกำหนดสังคม ในการออกแบบชะตากรรมของสังคม และของโลก มันสัมพันธ์กับลำดับขั้นตอนของการพัฒนาของประชาชน ถ้าประชาชนมีพัฒนาการมากขึ้นเท่าใด เขาก็ไม่เป็นทาสของค่านิยมของสังคมมากเท่านั้น คนที่ตกเป็นทาสของค่านิยมของสังคม ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า วิธีที่จะให้การศึกษาคนหรือฝึกฝนคน ตามหลักการของพระพุทธศาสนา คือ การทำให้เขาสามารถพึ่งตนเองได้ แต่ในสังคมทุกวันนี้ เราจะเห็นได้ว่า คนไม่สามารถพึ่งตนเองได้ แต่มีแนวโน้มที่จะพึ่งสิ่งภายนอก
นายมิวเซนเบิร์ก
กลับไปที่คำถามเรื่องการแข่งขัน ในหนังสือของท่านพูดเรื่องการแข่งขัน และการร่วมมือ ผมเห็นว่าถ้าประชาชนมีอิสรภาพในการเลือกซื้อในสิ่งที่ต้องการ แม้ว่าเขาจะมีความรู้มากขึ้น การแข่งขันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในความหมายที่ว่า แม้แต่คนที่มีความรู้ ก็จะซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่เขาชอบมากกว่า ผมจึงไม่เห็นว่า จะมีระบบใดของสังคมที่จะไม่มีเรื่องการแข่งขัน
พระพรหมคุณาภรณ์
อาตมาคิดว่า การแข่งขันมีอยู่แล้ว อย่างที่อาตมาพูดมาแล้ว เราไม่สามารถคาดหวังให้คนจำนวนมากในหมู่มนุษยชาติเป็นเหมือนกันหมด เราจึงต้องยอมรับความจริงในเรื่องการแข่งขัน แต่ในขณะเดียวกัน เราควรพัฒนาเรื่องการร่วมมือเพื่อตอบโต้การแข่งขัน เราไม่สามารถกำจัดมันให้หมดไป เป็นไปไม่ได้ เพราะมันคือเรื่องของโลก แต่ในด้านนักธุรกิจเอง ก็ต้องแข่งขันกันเอง ในทำนองเดียวกัน ผู้บริโภคก็ควรจะร่วมมือกันแข่งขันกับนักธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจนั้นเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมได้ถามคนไทยบางคนว่า มองเรื่องการแข่งขันอย่างไร สําหรับคุณฐิตินาถ เธอตอบว่า เธอใช้วิธีการว่าทุกเดือนเธอจะดูตลาดว่าเป็นอยางไร แล้วก็หาสินค้าที่ลูกค้าจะพอใจ จากนั้นก็ผลิตสินค้าตอบสนองกับความต้องการของตลาด เธอไม่ใช่เป็นคนเดียวที่ตอบคำถามในลักษณะนี้ มีหลายๆ คน และผมคิดว่า การคิดเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด
พระพรหมคุณาภรณ์
การแข่งขันเป็นสิ่งที่ถูกในทางหนึ่ง คือ ในทางที่จะทำให้ผู้บริโภคพอใจมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน มันคือการกระตุ้นให้มีความไม่ประมาท ศัพท์ในทางพระพุทธศาสนา คือ อัปปมาทะ หมายถึง ไม่ปล่อยปละละเลย มีความตั้งใจ มีความกระตือรือร้น ระมัดระวัง หรือ ความขยันขันแข็ง
การเป็นอยู่ที่ดีสำหรับคนในโลก คือ การพยายามให้พวกเขาตระหนักในเรื่องความไม่ประมาท แต่คนส่วนมากไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าไม่มีสถานการณ์อะไรมาบีบบังคับ ก็มักจะเกิดความประมาท ทางหนึ่งที่ปลุกเร้าสิ่งนี้ได้คือ การแข่งขัน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา คนอเมริกันใช้การแข่งขันเป็นเครื่องปลุกเร้า หรือสิ่งบังคับควบคุมให้มีความไม่ประมาท ให้มีความขยัน พวกเขาต้องการไปข้างหน้าเหนือกว่าคนอื่น และเขาต้องพยายามอย่างมาก พยายามให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับคนที่มีชีวิตอยู่ในทางโลก เราไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีสิ่งนี้ เราต้องเข้าใจความจริงข้อนี้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ เราไม่ควรหยุดอยู่เพียงแค่นี้ การแข่งขันในที่นี้ ดี แต่ก็สามารถสร้างปัญหาได้หลายอย่างเช่นกัน ปัญหาต่างๆ ในโลกนี้ ส่วนใหญ่มาจากการแข่งขัน นี่เองคือความจำเป็นต้องพัฒนาคน เพื่อเขาจะได้มีความระมัดระวัง มีความไม่ประมาท มีความขยัน ด้วยการใช้สติและปัญญาของตน โดยไม่ต้องรอให้ถูกบังคับหรือบีบคั้น
สติ หมายถึง ความตื่นตัว ทันกับสิ่งนั้น เรื่องนั้น
ปัญญา หมายถึง ความรู้แจ้งตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ถ้าเขามีทั้งสติและปัญญา เขาจะรู้เข้าใจว่า อะไรผิดอะไรถูก อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรจะนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข อะไรจะนำไปสู่ความเสียหาย จากความรู้เหล่านี้ และการมีสติ เขาก็จะพยายามทำในสิ่งที่ดี คุณสมบัติเหล่านี้ คือสิ่งที่เราอยากให้พวกเขาเป็น ไม่ใช่ดิ้นรนพยายามโดยการถูกบังคับ
นายมิวเซนเบิร์ก
การเป็นอยู่ที่ดี และคุณภาพชีวิต เป็นสิ่งที่ท่านเน้นทั้งจากที่ท่านพูดมาแล้ว และเขียนไว้ในหนังสือของท่าน ในวิธีคิดของทางพระพุทธศาสนา ถ้าบุคคลมีจิตใจที่ปราศจากกิเลสก็จะเป็นอิสระ ปราศจากความยึดมั่น แต่คนอย่างนั้นมีน้อยเหลือเกิน คําถามคือ เราจะทำอย่างไรกับคนธรรมดาทั่วไป
พระพรหมคุณาภรณ์
อาตมาอยากพูดถึงเรื่องนี้ สัมพันธ์กับกฎของการพัฒนามนุษย์ ในระดับพื้นฐาน ความเป็นอยู่ดี คือสภาวะซึ่งเกื้อหนุนกับการพัฒนามนุษย์ กิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ควรพิจารณาเรื่องนี้ เมื่อเราทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เราควรใส่ใจเรื่อง ๓ เรื่อง ต่อไปนี้
ขั้นที่หนึ่ง กิจกรรมและผลผลิตไม่ควรเป็นอันตรายหรือก่อผลเสียหายต่อสังคมและชีวิต หรือชีวิตและสังคม
ขั้นที่สอง เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างสังคม ทำให้สังคมดีขึ้น ให้เป็นสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของมนุษย์
ขั้นที่สาม เป็นกิจกรรมที่เกื้อหนุนการพัฒนามนุษย์ เพราะเราถือว่าการพัฒนามนุษย์เป็นหลักการใหญ่หลักการสำคัญ เพราะเราเชื่อว่า มนุษย์สามารถพัฒนาได้ และมนุษย์มีความสามารถไปสู่ความดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป
ไม่ว่ากิจกรรมใด ไม่ว่าระบบใดในโลก ควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และทำให้ทุกแนวคิด และทุกระบบเกื้อหนุนต่อการพัฒนามนุษย์
นายมิวเซนเบิร์ก
ท่านหมายถึงการพัฒนาทาง Emotional กับ Intellectual Freedom ใช่หรือไม่ครับ
พระพรหมคุณาภรณ์
ใช่... ถ้าเขามีการพัฒนา ๒ ระดับแรก ก็ย่อมจะเสริมส่งให้เกิดการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นอีก ๒ ระดับ เพราะเมื่อเขาสามารถไปถึงอิสรภาพอีกสองระดับที่สูงขึ้น เขาจะสามารถมีความสุขได้ด้วยตนเอง เขาจะไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอก ก็สามารถเข้าถึงความสุขของความเป็นอิสระ กระทั่งเป็นอิสระจากตัณหาเอง นั่นคือ ความสำเร็จของมนุษย์ เราควรทำให้สิ่งนี้เป็นค่านิยมของสังคม การคิดถึงเรื่องการเข้าถึงอิสรภาพสูงสุด คือ Spiritual Freedom หรือคำที่น่าจะถูกต้องกว่า คือ Freedom through Wisdom หรือ Freedom through Insight คือ ความสำเร็จสูงสุดของมนุษย์ ถ้ามนุษย์มีค่านิยมทางสังคมอันนี้ แนวโน้มของสังคมสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคม มันจะยากมาก อย่างน้อยที่สุด เราควรมีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เกิดความสมดุล ปัจจุบันนี้เราไม่มีความสมดุล แต่เป็นสภาวะที่เรียกว่า สุดโต่ง
นายมิวเซนเบิร์ก
ทุกๆ การตัดสินใจของนักธุรกิจ ควรมีเกณฑ์วัดว่า สิ่งที่เขาจะทำนั้น ได้ให้อะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคมหรือไม่ มันช่วยให้สังคมพัฒนาหรือไม่
พระพรหมคุณาภรณ์
พวกนักธุรกิจเองต้องมีความเข้าใจและการยอมรับเสียก่อน ไม่เพียงแต่เป็นคำพูดเท่านั้น เช่น เมื่อเขาพูดว่าเขาสนใจเรื่องความอยู่เย็นเป็นสุขของสังคม เราควรทำโน่นทำนี่ ในใจของเขาควรรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ และรู้สึกยินดีที่จะทำอย่างแท้จริง ถ้าเขายอมรับได้ ความต้องการของเขาก็จะเปลี่ยนไป
วิธีการพัฒนาความสุข คือ วิธีการพัฒนาให้ลดละตัณหาหรือความอยากที่ผิดทาง เป็นอย่างแรก ก่อนที่จะถึงความสุขที่เป็นอิสระจากตัณหา ก่อนอื่นการพัฒนาให้เกิดความสุข คือ การพัฒนาเรื่องความอยาก (ตัณหา vs. ฉันทะ) ถ้าเราอยากให้นักธุรกิจเปลี่ยนแปลง เราต้องสอนให้เขาเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาความอยากของเขาเอง เมื่อเขามีความ 'อยากให้' แก่เพื่อน 'อยากให้' เพื่อนมนุษย์มีความอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อเขาชอบและอยากให้เป็นเช่นนั้น เขาจะมีความสุขได้เมื่อทำได้สําเร็จ เพราะนั่นคือความสําเร็จของเขานั่นเอง และมันก็คือความพอใจ จากการที่ได้สนองความต้องการของเขาเอง
ถ้าเขาไม่มีความปรารถนาอะไรเลย มันจะเป็นความขัดแย้งแน่นอน เพราะในความเป็นจริง เขาปรารถนากําไรในทางธุรกิจ แต่ก็มีแรงบีบจากสังคมให้เขาต้องมาห่วงใยสังคม ห่วงใยสิ่งแวดล้อม
ในความเป็นจริง ความสุขของเขาไม่ได้อยู่ที่ความรู้สึกห่วงใยสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เขาไม่ได้สนใจความอยู่เย็นเป็นสุขของคนอื่น ความปรารถนาที่แท้จริงของเขาคือ การทำกําไรให้ได้มากที่สุด มันจึงเป็นความขัดแย้ง จากความขัดแย้ง ก็เกิดความกดดันในใจ เขาก็ไม่เป็นสุขจริง แต่กลายเป็นสุขแฝงทุกข์ เราจึงต้องทำให้เขาปรารถนาความอยู่เย็นเป็นสุขของคนอื่น ของสังคม เมื่อเขาปรารถนาความอยู่เย็นเป็นสุขของสังคม ความอยู่เย็นเป็นสุขของโลก ความอยู่เย็นเป็นสุขของมนุษยชาติทั้งปวง จะกลายเป็นความสุขของพวกเขา ถ้านักธุรกิจต้องการความสุขที่แท้จริง ที่ไม่เกิดปัญหาความทุกข์จากความขัดแย้งในตัวเอง เขาไม่มีทางเลี่ยง เขาจะต้องพัฒนาความอยาก หรือความต้องการอันนี้ขึ้นมา
นี่คือสิ่งเดียวกันกับปัญหาของพวกผู้ปกครอง รัฐบาล กษัตริย์ ฯลฯ จำนวนมากในโลกนี้ ที่มีความปรารถนา ความร่ำรวยและอำนาจ แต่ไม่ได้ปรารถนาความอยู่เย็นเป็นสุขของมวลมนุษย์
ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีผู้ปกครอง รัฐบาล กษัตริย์ ฯลฯ ที่ปรารถนาความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน เมื่อพวกเขาปรารถนาเช่นนี้ ความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนก็คือความสุขของพวกเขา พวกเขาจะมีความสุข ก็เมื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนเป็นความจริงขึ้นมาได้ ถ้ายังไม่เป็นไปเช่นนั้น พวกเขาก็จะยังไม่มีความสุข ความสุขของคนพวกนี้ก็ขึ้นอยู่กับความปรารถนาเหมือนกัน แต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก เขาได้ยกระดับความสุขขึ้นมาจากความสุขระดับล่าง ที่ขึ้นอยู่กับความยินดีทางกามคุณ
กษัตริย์ หรือผู้ปกครอง ที่ปรารถนาความมั่งคั่งและอำนาจ ต้องแสวงหาความสุขที่ขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก ความมั่งคั่ง และอำนาจ แล้วก็ต้องมาเจอกับปัญหาความขัดแย้งอย่างที่ว่านั้น แต่เมื่อพวกเขามีความสุขจากการตระหนักรู้ว่า ประชาชนของเขาอยู่เย็นเป็นสุข ความสุขของเขาได้เปลี่ยนระดับไป ถึงขั้นเป็นอิสระจากความยินดีทางกามคุณ แต่ก็ยังคงขึ้นอยู่กับความปรารถนาอยู่ แต่ความปรารถนานั้นได้เปลี่ยนไปเป็นความปรารถนาชนิดใหม่ คือ ความปรารถนาจะเห็นความอยู่เย็นเป็นสุขของปวงชน เราสามารถพัฒนาความปรารถนานี้ ให้สูงขึ้นถึงระดับปัญญา
นายมิวเซนเบิร์ก
วิธีอธิบายของท่าน ดูคล้าย แต่ก็ไม่เหมือนความเมตตา มันอันเดียวกันหรือไม่ครับ
พระพรหมคุณาภรณ์
เมตตารวมอยู่ในนี้ด้วย อาตมาพูดให้กว้างออกไป แต่ที่จริงมันเป็นลักษณะจิตใจอันเดียวกัน เมื่อคนพัฒนาขึ้นไปมันจะมาด้วยกันเอง และมันปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามสถานการณ์
ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา เราแยกลักษณะความอยาก ความปรารถนา (ตัณหา vs. ฉันทะ) เป็น ๒ อย่าง คือ Skillful Desire กับ Unskillful Desire
Unskillful Desire คือ ตัณหา หรือความอยากได้กามคุณ สิ่งเสพสิ่งบําเรอ สิ่งที่มาตอบสนองผัสสะ ความต้องการชนิดนี้ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดปัญญา
ส่วนความปรารถนาอีกอย่างคือ Skillful Desire ในภาษาบาลีเรียกว่า ฉันทะ ฉันทะ คือ ความปรารถนาในสิ่งที่ดี ซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวเรา ไม่เป็นอย่างที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็น self-centered แต่เป็นความปรารถนาในสิ่งที่ดีงาม ความสมบูรณ์ในเชิง Objective ตัวอย่าง เช่น เราเห็นต้นไม้ต้นหนึ่ง เราอยากให้มันเจริญเติบโต แข็งแรง ในภาวะสมบูรณ์ของมัน หรือเมื่อเห็นบุคคลคนหนึ่ง เราก็อยากให้เขาอยู่ดี มีสุขภาวะ นี่คือ ฉันทะ หรือ Wholesome Desire
ความปรารถนาในลักษณะเช่นนี้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คือ เมื่อคนๆ นั้นอยู่ในสภาวะปกติ ความปรารถนาเช่นนี้ เรียกว่า เมตตา หรือ Friendliness หรือ Loving-kindness และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป บุคคลนั้นเกิดประสบทุกข์ มีปัญหา ความปรารถนาของเราก็เปลี่ยนไปอีก เราอยากฉุดให้เขาพ้นจากทุกข์ จากปัญหา จากความเดือดเนื้อร้อนใจทั้งหลายที่เขาประสบอยู่ อยากช่วยเขาให้เขาพ้นทุกข์ ความปรารถนานี้เปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า กรุณา หรือ Compassion เป็นความปรารถนาอันเดียวกัน แต่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์
ต่อมาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปอีก เมื่อบุคคลนั้นประสบความสำเร็จในชีวิต ในการกระทำสิ่งที่ดี มีความเจริญ เราก็จะรู้สึกพลอยยินดีในความสำเร็จนั้นของเขา ความปรารถนาชนิดนี้เรียกว่า มุทิตา หรือ Sympathetic joy: Altruistic joy เป็นข้อที่ ๓ ในหลักธรรมพรหมวิหาร ๔ (Sublime States of Mind) เราจะเห็นว่า ความปรารถนาอันเดียวนั้น เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ๓ อย่าง
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมสนใจหลักธรรมหัวข้อ ปฏิจจสมุปบาท (Dependent Origination) ผมได้อ่านหนังสือของท่านดาไลลามะ หนังสือของเจ้าคุณฯ เอง และหนังสือของท่านพุทธทาส ผมพบว่าหลักธรรมข้อนี้น่าสนใจ และอยากจะถามเกี่ยวกับการแบ่งสาเหตุจากเงื่อนไขต่างๆ และผมอยากเสนอหลักปฏิจจสมุปบาทแตกต่างไปจากที่มีอยู่ ๑๒ ขั้น ผมอยากสนทนาในเรื่องนี้ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจง่ายขึ้นสำหรับนักธุรกิจ เพราะถ้าผมนำไปใช้ทั้งหมดตามแบบเดิม มันก็จะยากเกินไปกว่าที่พวกเขาจะเข้าใจได้
พระพรหมคุณาภรณ์
อาตมาคิดว่ามันก็ยากนะที่จะทำให้ง่าย
นายมิวเซนเบิร์ก
สำหรับผม ในฐานะส่วนตัว ผมมีความสนใจในการตีความที่หลากหลายของท่านพุทธทาส หรือแม้แต่ของท่านซึ่งแตกต่างกัน หลักปฏิจจสมุปบาท ที่พูดถึงวงจรชีวิตหนึ่ง อีกอันหนึ่งเป็นสามวงจรชีวิต ผมสนใจจะคุยเรื่องนี้
ผมมีคำถามอีกคำถามคือ เป็นไปได้ไหม? ที่จะพบหลักปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกันนี้ในพุทธศาสนาสายธิเบต และเราจะพบได้อย่างไร แน่นอนว่ามีหลักเหตุ ปัจจัย ผล เหมือนกัน แต่การตีความเหมือนกันหรือไม่ คำถามนี้เป็นคำถามง่ายๆ ว่าเราจะไปค้นข้อมูลได้ที่ไหน ผมรู้ว่าท่านรู้ เพราะท่านระบุว่า ท่านพบคำสอนที่อ้างถึงเหล่านี้ที่ไหน นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะสนทนา
พระพรหมคุณาภรณ์
คุณอยากรู้แหล่งที่มาด้วยใช่ไหม แหล่งข้อมูลทั้งหมดของทางฝ่ายธิเบตด้วยใช่ไหม
นายมิวเซนเบิร์ก
ใช่ครับ เพราะในหนังสือของท่าน ท่านระบุว่าเรื่องนี้เรื่องนั้น ท่านเอามาจากพระสูตรไหน สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจมาก คือ เมื่อผมเสนอเรื่องนี้กับท่านดาไลลามะ และพระผู้ใหญ่อื่นๆ พวกท่านกลับไม่รู้เรื่องเหล่านี้ ทำให้ผมประหลาดใจมาก เพราะพื้นฐานน่าจะเหมือนกัน คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ น่าจะเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวาง
พระพรหมคุณาภรณ์
มันขึ้นอยู่กับแหล่งข้อมูล อย่างที่คุณคงรู้ คัมภีร์ในทางเถรวาท และคัมภีร์ในทางมหายาน รวมถึงวัชรยาน มีความแตกต่างกัน พระพุทธศาสนาสายเถรวาทถือตามพระไตรปิฎกบาลี พระพุทธศาสนาสายมหายาน และวัชรยาน ถือคัมภีร์ของจีนและธิเบต คัมภีร์พระไตรปิฎกของจีนและธิเบตได้ถูกแบ่งออกเป็นภาค ภาคเก่าเรียกว่า อาคมะ อันนี้เกือบเหมือนพระไตรปิฎกบาลี แต่บางส่วนหายไป ต่อมามีภาคใหม่ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่โดยเหล่าอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ มหายาน และวัชรยาน จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า อาจารยวาท (เรียกอย่างบาลีว่า อาจริยวาท) แปลว่า คำสอนของอาจารย์ เพราะภาคใหม่นี้สอนโดยอาจารย์รุ่นหลัง พวกเขาสร้างพระสูตรขึ้นมาใหม่ เช่น ลังกาวตารสูตร วัชรัจเฉทิกสูตร มหาปรัชญาปารมิตาสูตร ฯลฯ พวกนี้เป็นพระสูตรรุ่นหลัง ซึ่งไม่พบในสายเถรวาท
ในทำนองเดียวกัน คำสอนหลายอย่างในทางเถรวาท ก็จะไม่พบในพระไตรปิฎกของจีนและธิเบต อาจเป็นไปได้ว่า เป็นเพราะเกิดการสูญหาย
อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าในมหายาน ได้ถูกเก็บรักษาไว้ด้วยภาษาสันสกฤต เมื่อคัมภีร์หรือพระไตรปิฎกถูกนำไปสู่ประเทศจีนและธิเบต ก็ถูกแปลเป็นภาษาจีนและภาษาธิเบต ส่วนต้นฉบับที่เป็นภาษาสันสกฤตหายไป พวกเขาเก็บคัมภีร์ต้นฉบับไว้ในเจดีย์ หรือในสถูป ครั้นกาลเวลาผ่านไปนานๆ คัมภีร์เหล่านั้นได้สูญหายไปบ้าง หลงเหลืออยู่ไม่มาก บางทีเราก็จะได้ยินข่าวว่า ได้มีการค้นพบคัมภีร์โบราณที่สูญหายไป แต่คัมภีร์ที่เหลือซึ่งใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่เหลือต้นฉบับเดิมไว้ให้ตรวจทาน นี่คือสาเหตุว่า บางสิ่งที่ถูกแปลไปเป็นภาษาอื่นๆ ก็จึงเสี่ยงต่อความคลาดเคลื่อน ความผิดพลาด และการตีความผิด เป็นต้น
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมได้เรียนรู้มาว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากธิเบต ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ แต่ประเทศธิเบตเป็นประเทศที่ยากจน ในพระพุทธศาสนาสายธิเบตนั้น ยากที่จะพบในสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการครองเรือน ทรัพย์สิน ผมรู้สึกประหลาดใจว่า เขารักษาสิ่งอื่น และไม่สนใจในเรื่องเหล่านี้
พระพรหมคุณาภรณ์
ที่ประเทศธิเบต พระพุทธศาสนาได้ถูกเก็บรักษาไว้ในวัดโดยพระ พระจะให้ความสนใจในคำสอนบางอย่าง และคำสอนนั้นก็จะแพร่หลายออกไป แต่ในประเทศที่เป็นเถรวาทมีธรรมเนียมว่า พระต้องรักษาคัมภีร์เดิมไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าพระสงฆ์เองจะสนใจหรือไม่
คุณจะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาในประเทศที่เป็นเถรวาท คำสอนต่างๆ ก็ถูกเก็บไว้ในวัดเหมือนกัน ในหลายยุคหลายสมัยในอดีต มีการเน้นคำสอนในบางส่วน อาตมาจะขอยกตัวอย่างให้เห็น เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค ของพระพุทธโฆษาจารย์ คุณจะเห็นได้ว่า ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แทบไม่มีคำสอนเกี่ยวกับเรื่องการครองเรือน เพราะว่าคัมภีร์ถูกเก็บรักษาไว้ในวัด ซึ่งการปฏิบัติจิตภาวนา ทำสมาธิ เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นเรื่องที่ทำได้โดยยาก จึงมีการเน้นในเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่ถ้าเราหันกลับไปดูที่ต้นฉบับพระไตรปิฎกบาลี เราจะเห็นคำสอนเกี่ยวกับการครองเรือนอยู่มาก
นายมิวเซนเบิร์ก
กระบวนการคิดเรื่องเหตุและปัจจัย หรือเงื่อนไขที่เกิดขึ้น มีบางสิ่งที่น่าสนใจ ในแนวคิดแบบตะวันตก เรามีเรื่องเหตุและผล เหตุและเงื่อนไข ค่อนข้างเป็นกระบวนการคิดที่แตกต่าง ผมจึงคิดว่ามันมีประโยชน์ เมื่อผมพยายามนำมาใช้ ผมพบปัญหาที่เห็นได้ชัด คือ เหตุทำให้เกิดผล ผมคิดว่าความคิดเรื่องเหตุและเงื่อนไข สามารถเข้าใจได้จากต้นไม้ ถ้าเราหว่านเมล็ดพืชลงไปในดิน ให้น้ำ เมล็ดพันธุ์ก็จะแตกออกเป็นต้นไม้ เมล็ดพันธุ์ คือ เหตุ น้ำ และ ดิน คือ เงื่อนไข สำหรับการให้พืชแตกตัว
เมื่อเราพยายามวิเคราะห์ปัญหา เราพูดถึงเหตุ เราพูดถึงเงื่อนไข ที่นำไปสู่ปัญหา อะไรคือเงื่อนไขที่เราควรสร้างขึ้นมาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ดังนั้น ความคิดเรื่องเหตุและเงื่อนไข ผมคิดว่า เป็นแนวคิดที่เป็นประโยชน์ แต่บางครั้งผมพบว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะระหว่าง อะไรคือเหตุ อะไรคือเงื่อนไข ถ้าเป็นเมล็ดพืชก็มองออกง่าย เพราะเมล็ดพันธุ์ชนิดเดียวกัน ให้ผลไม้อย่างเดียวกัน มันง่ายที่จะเข้าใจ แต่คำจำกัดความที่ผมสามารถเข้าใจได้ คือ ผลที่ได้รับ เป็นสิ่งที่ไม่สัมพันธ์กับเหตุ ซึ่งเงื่อนไขเป็นเรื่องทั่วไป ผมจึงอยากจะทราบว่า ท่านสามารถจะช่วยผมในเรื่องนี้ได้หรือไม่
พระพรหมคุณาภรณ์
เรื่องเหตุและปัจจัยนี้ แม้แต่ในภาษาไทยก็ยังมีปัญหา เมื่อเราพูดถึงคำว่า เหตุ หรือสาเหตุ ได้แก่ Cause และ ปัจจัย หรือ Condition ในคำสอนเดิม เหตุ หรือที่เราแปลกันว่า สาเหตุ ก็เป็น ปัจจัย หรือ เงื่อนไข ข้อหนึ่ง
ในพระอภิธรรม มีปัจจัย ๒๔ อย่าง และในท่ามกลางปัจจัย ๒๔ ข้อ เหตุ หรือ Cause เป็นข้อหนึ่ง เหตุ เป็นหนึ่งในปัจจัย ๒๔ ข้อ เรามักจะพูดถึง Principal Condition หรือ Direct Condition สําหรับศัพท์ว่า เหตุ นี้ บางครั้งมันก็เป็นคำที่ใช้แทนกันได้กับคำว่า ปัจจัย เพราะในบาลีเราใช้คำว่า ปัจจัย คำเดียว แต่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด และปัจจัยทั้ง ๒๔ เริ่มด้วยข้อแรก คือ เหตุ ซึ่งแปลได้ว่า Cause ในภาษาอังกฤษ Cause คือ ข้อที่ ๑ ของปัจจัย ๒๔ ข้อ และก็หมายถึง Principal Condition หรือ Direct Condition ซึ่งคุณได้กล่าวถึงมาแล้วว่า คือ เม็ดมะม่วง นั่นเอง แต่ถ้าไม่มีดิน ไม่มีออกซิเจน ไม่มีน้ำ ไม่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมแล้ว เม็ดมะม่วงก็จะไม่สามารถแตกออกเป็นต้นมะม่วง และเจริญเติบโตเป็นต้นมะม่วงได้ แม้ว่าคุณจะมีเม็ดแล้วก็ตาม มันก็ไม่อาจกลายเป็นต้นมะม่วงได้
สิ่งที่น่าสนใจมากสําหรับหลักการอันนี้ คือ ถ้าต้องการไม่ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น คุณมีทางเลือกสองทาง หนึ่ง กําจัดเหตุ สอง กําจัดเงื่อนไข เมื่อทําได้อย่างนี้ สิ่งนั้นก็จะไม่เกิด
ความตระหนักรู้หลักการอันนี้ จะทําให้เรารู้จักระมัดระวังมากขึ้น
แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้ วิทยาศาสตร์ไม่สามารถสมบูรณ์ได้ ไม่สามารถไปถึงจุดหมายได้ เพราะยังคงยึดติดอยู่ในสิ่งที่เราเรียกในภาษาบาลีว่า The Doctrine of single cause bringing single effect ที่ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า เอกการณวาท (ซึ่งเป็น Wrong View หรือ มิจฉาทิฏฐิ)
คำสอนในพระพุทธศาสนาบอกว่า สำหรับผลอันหนึ่งมีปัจจัยหลายอย่าง เมื่อปัจจัยทั้งหมดพร้อม ผลจึงจะออกมา จากปัจจัยอันหนึ่งอาจมีผลหลายอย่าง นี่คือสาเหตุที่ความคิดเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเข้าถึงความรู้ในธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ เพราะวิทยาศาสตร์ไม่สามารถติดตามปัจจัยหนึ่งซึ่งนำไปสู่ผลหลายอย่าง และจากผลที่ได้อย่างหนึ่ง ก็ยากจะสืบสวนไปถึงปัจจัยได้ครบทุกอย่าง
นักวิทยาศาสตร์ต้องการได้ผลอันนี้ พวกเขาก็พยายามสืบค้นว่า เมื่อต้องการผลอย่างนี้ ต้องสร้างปัจจัยเงื่อนไขอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น เพื่อผลที่เป็นเป้าหมาย พวกเขาก็สร้างปัจจัยเงื่อนไขทั้งหมดที่รู้ และเขาก็ได้ผลตามที่ต้องการ แต่เขาไม่รู้ว่ามีผลอะไรอีกมากเกิดขึ้นนอกเหนือจากผลที่เขาได้รับ มันมีอะไรติดตามมาด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ผลเสียต่อไปในโลกนี้
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมคิดว่านี่คือข้อแตกต่างระหว่าง Exact Science กับ Social Science นี่คือความผิดอันใหญ่หลวงที่นักเศรษฐศาสตร์ได้สร้างขึ้น เพราะเขาพยายามพูดถึงเศรษฐศาสตร์ว่าเป็น Exact Science ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะตามที่ท่านพูดว่ามีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้เกิดผล คุณไม่สามารถทำนายว่าอะไรจะเกิดขึ้น คนส่วนมากพบว่า การทำนายของนักเศรษฐศาสตร์มักจะผิดเสมอ นี่เองทำให้ผมมีความกังวลอีกอย่างหนึ่งว่า ความคิดเรื่องการคาดการณ์ว่า อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ขึ้นอยู่กับปัจจัยและเงื่อนไข ถ้าคุณต้องการจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คุณต้องพิจารณาเหตุของการกระทำ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ว่า อะไรคือความแน่นอน เพราะมันมีเหตุและเงื่อนไขมากมายให้พิจารณา และในเวลาเดียวกัน เหตุและเงื่อนไข มีผลที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาที่คุณกําลังทำอะไรบางอย่าง
ดังนั้น สิ่งท้าทายที่คุณเผชิญเมื่อคุณต้องตัดสินใจในการทำธุรกิจ หรือในทางเศรษฐศาสตร์ หรือสถานการณ์ทางสังคมใดก็ตาม มีความไม่แน่นอนสูง ผมไม่ค่อยแน่ใจนัก เมื่ออ่านหนังสือธรรมะในทางพระพุทธศาสนา เพราะไม่ได้ให้ความมั่นใจ คนที่ไม่มีกิเลสจะสามารถทำนายว่า อะไรจะเกิดขึ้น ผมไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจริง ผมไม่ทราบว่า ท่านเข้าใจคำถามของผมหรือไม่ คือ ผมคิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดสิ่งหนึ่งในทางธุรกิจและสังคม คือคุณอาจมีความตั้งใจดี อยากทำดี และคุณเลือกว่าสิ่งนั้นดี สิ่งโน้นดีที่สุด แต่แม้คุณจะเลือกทำดีที่สุดแล้ว แต่ก็ยากที่จะทำนายว่า สิ่งดีที่คุณทำนั้นจะให้ผลอย่างไร ผมไม่เชื่อว่า แม้ว่าคุณจะมีจิตใจที่สว่างกระจ่างแจ้งแล้ว คุณจะมีความสามารถทำนายในสิ่งที่ไม่แน่นอนได้ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น
พระพรหมคุณาภรณ์
นั่นเป็นความสามารถพิเศษ ที่ไม่ใช่ทุกคนที่มีจิตใจสว่างจะมีได้ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นอิสระจากกิเลสจะทำในสิ่งนี้ได้ แต่คำสอนนี้ก็มีความสำคัญมาก ข้อแรก สำหรับการพัฒนาชีวิตของเรา มันสัมพันธ์กับคำสอนเรื่องกรรม ถ้าเรามองไปที่ เหตุหนึ่ง และผลหนึ่ง เราจะเผชิญปัญหาเรื่อง ฉันทำดี ทำไมได้รับผลร้าย เพราะว่านี่คือ ความไม่ฉลาดในการเข้าใจเรื่องความเปลี่ยนแปลง ในภาษาบาลีเรียก ปริยาย ซึ่งยากที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษ พูดเอาง่ายๆ ว่าการแยกแยะปัจจัย หรือยักย้ายเงื่อนไข
คนที่ฉลาดหรือมีความรู้ในเรื่องเงื่อนไขปัจจัย ก็จะสามารถพัฒนากรรมของตน เพื่อแก้ไขการกระทำที่เคยไม่ได้ผลให้ได้ผล เพื่อให้ได้ผลที่ดีในทางที่ถูกต้อง และเพื่อทำในผลกรรมดียิ่งขึ้น ถ้าเราดูเหตุและผลโดยตรงอย่างเดียว เราแทบจะไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขอะไรได้ เราก็เลยพูดว่าเราทำสิ่งนั้นไป แต่เราไม่ได้ผล เราทำดีแต่ไม่ได้ผลดี แต่ถ้าบุคคลเข้าใจเรื่องปัจจัย เขาคิดว่า เราทำดี แต่มันมีเงื่อนไขหลายอย่าง เงื่อนไขอันใดอีกเล่าที่ทำให้เกิดผลเช่นนี้ แล้วเขาก็ต้องศึกษาและไปแก้ไขที่เงื่อนไขนั้น มันจึงทำให้มีการปรับแก้และพัฒนาได้ต่อๆ ไป นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า คำสอนนี้มีประโยชน์
เพราะฉะนั้น เราจึงคงจะไม่ต้องห่วงกังวลอะไรให้มาก กับการทำนายหรือคาดการณ์ แต่เราศึกษาและทำเหตุปัจจัยให้ครบถ้วนดีที่สุดในคราวนั้นๆ แล้ว เมื่อมันออกผลตามต้องการหรือไม่ เราก็สืบค้นเหตุปัจจัยที่จะแก้ไขปรับปรุงพัฒนาต่อไป เพื่อให้มันได้ผลดียิ่งขึ้นไปสู่ความสมบูรณ์
อีกประเด็นหนึ่ง คำสอนนี้สอนให้มีความไม่ประมาท ซึ่งก็เข้ากับหลักการแก้ไขปรับปรุงพัฒนาในการทำกรรมที่ว่ามานั้นเอง
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมไม่ค่อยแน่ใจนะครับว่า ท่านพูดเรื่องการมีปัญญา ซึ่งท่านใช้คำว่า Cleverness ซึ่งก็คือความสามารถพื้นฐานของบุคคล ความฉลาด มีบทบาทในเรื่องนี้ ความสามารถในการเห็นเงื่อนไขต่างๆ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้สมอง คนบางคนก็เห็นเงื่อนไขต่างๆ
พระพรหมคุณาภรณ์
มันเป็นเรื่องของการฝึกฝนด้วย เราต้องเรียนรู้ นี่เองคือ เหตุผลว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนหลักธรรมข้อกัลยาณมิตตตา อย่างน้อยที่สุด การฝึกฝนขั้นพื้นฐานที่สุด คือ เราต้องมีที่ปรึกษา มีเพื่อนที่ดี พระพุทธเจ้าทรงเน้นเรื่องการมีกัลยาณมิตรมาก
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมได้อ่านเรื่องความสำคัญของการมี “เพื่อนดี" ในหนังสือ ธรรมนูญชีวิต (A Constitution for Living) ของท่านว่าเราต้องมีผู้แนะนำที่ดี แล้วเราก็เชื่อฟังคำแนะนำนั้น แต่ที่จริงผมเคยอ่านพบคำสอนที่แตกต่างกันของพระพุทธเจ้า คือ ที่หนึ่ง6 สอนว่า เธอควรฟังคำแนะนำจากผู้แนะนำของเธออย่างระมัดระวัง ถ้าเธอมั่นใจว่าไม่มีอะไรผิด จงทำตามคำแนะนำนั้น คำสอนอีกที่หนึ่ง7 มีว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะเป็นคำแนะนำจากผู้แนะนำของเธอ
พระพรหมคุณาภรณ์
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในที่แห่งหนึ่งในพระไตรปิฎกว่า การมีเพื่อนที่ดีนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของชีวิตที่ดีหรือครึ่งหนึ่งของชีวิตพรหมจรรย์ แต่เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์นั้น ทำไมเราจึงมีพระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์เป็นกลุ่มคนซึ่งเป็นกัลยาณมิตรให้กับสาธุชน สามารถให้คําแนะนำช่วยเหลือให้สาธุชนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
นายมิวเซนเบิร์ก
ทำไมจึงมีคําว่า เพื่อน และคําว่า ผู้แนะนำ มันต่างกันอย่างไรในทางพระพุทธศาสนา
พระพรหมคุณาภรณ์
นี่คือวิธีการที่เขาแปลคำศัพท์ให้พอเข้าใจ แต่คำในภาษาบาลี คือ มิตตะ มิตตะ คือ เพื่อน แต่เพื่อนในที่นี้ อาจเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นผู้แนะนำ ใครก็ได้ที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มิตรผู้แนะนำ หรือผู้สั่งสอนทั้งหมดนี้ ก็เป็นผู้เกื้อหนุน เรียกว่า “ปัจจัยภายนอก” จะเอาปัญญามาใส่ในสมองเราไม่ได้ การที่จะเกิดปัญญาอยู่ที่อิสรภาพในกระบวนการทางปัญญาของเราเอง จึงไม่มีการบอกว่าต้องเชื่อ
ในพระพุทธศาสนา ศรัทธาคือความเชื่อ กับปัญญาคือความรู้เข้าใจ ไม่ใช่คู่แข่งที่จะแย่งชิงที่ยึดครองกัน แต่ศรัทธาเป็นบันไดของปัญญา
นายมิวเซนเบิร์ก
ขอย้อนกลับไปที่ กฎปฏิจจสมุปบาท อีกครั้งหนึ่งนะครับ ผมคิดว่าแนวคิดสำคัญในหนังสือคือ หากนักธุรกิจที่มีการศึกษามีความฉลาด ที่สามารถล่วงรู้ทิศทางของความคิดและสังเกตว่าเมื่อใดมันไม่กระจ่าง ไม่สว่าง เพราะกิเลสต่างๆ เช่นกำลังโกรธ กำลังอิจฉา กำลังกังวลเรื่องคู่แข่ง กำลังกลัวอะไรต่ออะไรต่างๆ นานา แน่นอนว่า เขาก็จะไม่สามารถคิดอะไรได้กระจ่าง และมีแนวโน้มจะตัดสินใจผิด มันสำคัญมากที่จะยอมรับกระบวนการปฏิจจสมุปบาท ถ้ามันไปในทางที่ผิด เมื่อเกิดความอยาก และถูกแต้มสีด้วยแรงตัณหา เมื่อผมพูดกับพวกนักธุรกิจว่า มันมีความเป็นไปได้ในเรื่องการฝึกจิต จนกระทั่งคุณสามารถจะเห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริง โดยไม่ถูกย้อมสีด้วยความรู้สึกต่างๆ ในส่วนนี้ผมคิดว่ามีประโยชน์มาก คำถามก็คือ ผมจะนำเสนออย่างไร ในหนังสือของท่าน มีถึง ๑๒ ขั้นตอน ในหนังสืออื่นก็มี ๑๒ ขั้นตอนเหมือนกัน แต่คำอาจแตกต่างไปบ้าง
ผมอยากนำเสนอด้วยวิธีแตกต่างกัน จากวิธีที่นักธุรกิจคิด และผมก็อยากจะเริ่มที่ผัสสะ (Contact) เป็นจุดเริ่มแรก ไม่ใช่ อวิชชา (Ignorance) ซึ่งผัสสะอยู่ตรงกลาง ผัสสะมี Input ที่มาจาก Sense Organ เพราะนักธุรกิจส่วนใหญ่มีการกระตุ้นเกิดขึ้นในจิตใจ และออกมาจากจิตใจ นี่คือปัญหาที่ผมต้องทำเกี่ยวกับเรื่องการตัดสินใจ เมื่อความคิดถูกใส่สีด้วยอารมณ์ การกระทำมีพื้นฐานมาจากแรงจูงใจที่เป็นทางลบ หรือใครบางคนรู้ว่ากำลังทำอะไร ทำร้ายใคร ขั้นต่อไป คือการกระทำ ขั้นสุดท้าย คือ ผลที่ติดตามมาในทางลบ ผมอยากจะนำเสนอ ๔ ขั้นตอน คือ ปฏิกิริยาตอบสนองต่อผัสสะ ซึ่งสามารถผิดพลาดได้ เมื่อมันได้กลายเป็นแผนการที่จะทำบางสิ่งซึ่งมาจากแรงจูงใจที่ไม่ดี (bad motivation) และทำให้การกระทำนั้นสำเร็จ ซึ่ง ๑. ข้อมูลจาก Sense Organ หรือ จิต ๒. ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางความคิด ซึ่งมาจากสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง ปฏิจจสมุปบาทเกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่เป็นไปในทางลบ พูดอีกอย่างว่า ถ้าในใจของผมมีปฏิกิริยาว่าผมควรไปช่วยคนหนึ่ง ผมควรจะทำตาม โดยไม่เกี่ยวข้องกับ Craving
พระพรหมคุณาภรณ์
นี่คือ กระบวนการที่ความทุกข์เกิด แต่คุณสามารถหยุดกระบวนการหรือวงจรที่ว่านี้ หลายครั้งพระพุทธเจ้าสอนปฏิจจสมุปบาทแบบง่าย โดยเริ่มจากการรับรู้ (ผัสสะ) เมื่อเราเห็นรูป เราได้ยินเสียง ที่ทำให้เราสบาย ชื่นใจ มีความสุข หรือไม่สบาย ทุกข์ ถูกรบกวน คือ ทั้งบวก และลบ การรู้สึกอย่างนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถ้าเราชอบ หรือชังมัน เราจะพัฒนากระบวนความคิดด้วยเรื่องชอบหรือชัง นี่คือกระบวนการที่ไม่บริสุทธิ์ เรียกว่า การปรุงแต่ง เป็นหนทางของความทุกข์ ทำให้เกิดปัญหา แต่ถ้าเห็นได้ยินแล้ว เราไม่ตกเป็นทาสของความรู้สึกชอบ/ชัง นี้ หมายความว่า เราไม่มีความรู้สึกชอบหรือชังมาต่อ ไม่รู้สึกในทางบวกหรือลบ เราก็จะรู้ว่ามันเป็นอย่างที่มันเป็น กระบวนการจะหยุดตรงนี้ เราจึงดำเนินไปในทางที่ถูก เป็นกระบวนการของปัญญา เพราะถ้าเรารู้สึกชอบหรือชัง มันไม่ใช่ปัญญาบริสุทธิ์
นายมิวเซนเบิร์ก
คำสอนทางฝ่ายธิเบตเน้นเรื่องแรงจูงใจมาก ผมอ่านมาแล้วก็พบว่า ทางธิเบตเน้นมากเรื่องเจตนาในการกระทำ ถ้าความตั้งใจในการกระทำไม่ดี ก็จะก่อให้เกิดผลไม่ดี ในฝ่ายเถรวาทเหมือนกันไหมครับ
พระพรหมคุณาภรณ์
ในพระพุทธศาสนาเถรวาท สําหรับประเด็นเรื่องผัสสะและความรู้สึก เมื่อคุณรับรู้โดยรู้สึกมีความสุข หรือไม่มีความสุข หรือทุกข์เจ็บปวด นี่อยู่ในขั้นที่ยังเป็น passive อย่างนี้เรียกว่า ยังเป็นกลาง แต่ถ้าคุณพัฒนาความรู้สึกชอบ หรือความรู้สึกชัง มันจะเป็นขั้น active คือมี action แล้ว และจะถูกแบ่งเป็นกุศลหรืออกุศล คือเป็น Skillful หรือ Unskillful
นายมิวเซนเบิร์ก
เป็นการแบ่งแยกที่ดี มีความสุขกับไม่มีความสุข ชอบกับชัง
พระพรหมคุณาภรณ์
ถ้าคุณไปถึงขั้นที่ "ชอบ" หรือ "ชัง" หมายความว่า กระบวนการเกิดทุกข์ได้เริ่มขึ้นแล้ว ถ้าคุณไม่มีความชอบหรือชัง คุณเพียงแค่รู้สึกมีความสุข หรือเจ็บปวด มันก็ใช้ได้ คือ คุณสามารถเดินทางไปสู่ปัญญา
นายมิวเซนเบิร์ก
หมายความว่า ความสุข กับ ความทุกข์ ไม่เหมือนกับ ความยินดีกับไม่ยินดี ซึ่งเหมือนกับ ชอบกับชัง
พระพรหมคุณาภรณ์
หมายความว่า เมื่อเราแตะถูกสิ่งหนึ่ง เรารู้สึกเย็นร้อน อ่อน แข็ง เมื่อมันร้อนเกินไป เรารู้สึกไม่สบาย เจ็บปวด เป็น ธรรมชาติ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ดีหรือเลว มันไม่เป็นกุศล หรืออกุศล และเมื่อคุณจับมันแล้วรู้สึกเย็น คุณรู้สึกว่าชื่นใจ สบาย มันก็เป็นกลาง แต่เมื่อคุณมีปฏิกิริยา คือ คุณชอบ หรือไม่ชอบ นั่นคือ Mental Action เกิดขึ้น การเกิดความรู้สึกสบาย แช่มชื่นใจ หรือเจ็บปวด เป็นกลาง เป็น Passive ไม่ใช่ Active แต่ชอบ หรือชัง เป็น Active ไม่ใช่ Passive เป็นขั้นของการกระทำ จากความชอบหรือชังนั้น กระบวนการคิดก็ดำเนินต่อไปภายใต้อิทธิพลของความชอบและความชัง
นายมิวเซนเบิร์ก
คำถามสุดท้ายคือ หลักปฏิจจสมุปบาทในพระพุทธศาสนา มีการตีความแตกต่างกันไป บางท่านก็ตีความไปว่ามันมีผลในชาติเดียว บางท่านว่ามันสืบต่อภพชาติ ทั้งชาตินี้ ชาติหน้า และชาติต่อๆ ไป ในหนังสือของท่าน ท่านแสดงหลักการทั้งสอง ของท่านพุทธทาสก็เช่นกัน แต่ดูเหมือนว่าท่านจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับสามชาติ อะไรทำนองนี้ ผมในฐานะปัจเจกบุคคล ไม่ได้ยึดติดกับการตีความอันใดอันหนึ่ง อย่างท่านพุทธทาสเชื่อว่า ตามคัมภีร์เดิมหมายถึงชาติเดียว ผมสนใจในประเด็นนี้มาก
พระพรหมคุณาภรณ์
คนที่พูดถึงกระบวนการสามชาติ จะอ้างคัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์ที่รจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ แต่ถ้าเราไปไกลกว่านั้น ถึงอีกคัมภีร์หนึ่งที่อธิบายพระไตรปิฎกโดยตรง (คัมภีร์วิสุทธิมรรค ไม่ได้อธิบายพระไตรปิฎกโดยตรง) คือสัมโมหวิโนทนี เป็นคัมภีร์ที่อธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาทโดยตรงจากพระไตรปิฎก คัมภีร์สัมโมหวิโนทนี แบ่งเป็น ๒ ภาค ภาคแรก อธิบายเรื่องกระบวนการ ๓ ชาติ และภาคที่สอง อธิบายเรื่องกระบวนการรวดเดียว ไม่ใช่แค่ชาติเดียวแต่หากเป็นกระบวนการของจิต ความรู้ตัวในขณะหนึ่ง แม้แต่ในชั่วขณะเดียวหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทเกิดได้สมบูรณ์
สําหรับอาตมา ความหมายทั้งหมดในคัมภีร์ มันเหมือนกัน เพราะกระบวนการนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และในฐานะที่มันเกิดทุกขณะ มันก็เกิดเรื่อยไป จากขณะเดียวจะไปกี่ชาติก็ได้ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว จึงเหมือนกระบวนการยาว คือ กระบวนการจากขณะนี้ ไปสู่ขณะต่อไป สืบต่อไปเรื่อยๆ มันก็กลายเป็นกระบวนการสืบต่อที่ยาวนาน ไม่ว่าจะมีสักกี่ชาติ ไม่ใช่กระบวนการชาติเดียว แต่เป็นขณะต่อขณะ เพราะฉะนั้น จะเรียกอะไรก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีกระบวนการขณะสู่ขณะที่เป็นจุดเริ่ม ก็จะมีกระบวนการชีวิตหนึ่งสู่อีกชีวิตหนึ่งไม่ได้ จริงไหม
มันขึ้นอยู่กับว่าเราอธิบายให้ใครฟัง เพราะพระพุทธเจ้าและอาจารย์ทั้งหลาย อธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทให้กับคนหลายประเภท สำหรับคนประเภทที่มีปัญญามากหน่อย ก็อธิบายอย่างหนึ่ง เพราะเขาสามารถเข้าใจสิ่งที่ยากได้ ก็จะอธิบายละเอียดถึงขณะสู่ขณะ แต่สำหรับคนทั่วไปชาวบ้านธรรมดา มันอาจยากเกินไปที่เขาจะเข้าใจ ท่านก็จะอธิบายอีกอย่างให้เห็นง่ายกว่า เช่น กระบวนการยาว เหตุอยู่ที่นี่ ผลอยู่ที่นั่น ห่างกันนานๆ หลายปี อย่างนี้เป็นต้น คือ ให้เห็นภาพใหญ่ แต่เรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่าง ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในจิต ท่านจะไม่พูดกับคนกลุ่มนี้ เพราะมันจะยากเกินไป ท่านจะพูดแต่สิ่งที่เห็นได้ง่าย เห็นได้ชัด เช่น ในประเทศไทย เราพูดว่า คนนี้ฆ่าคนนั้นในปีนั้น หกปีต่อมาเขาถูกจับ ทำนองนี้ เป็นต้น
นายมิวเซนเบิร์ก
ผมได้รับประโยชน์มากกว่าที่คาดหวังไว้มาก ผมขอกราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณฯ มากครับ ทุกสิ่งที่ท่านบรรยายมาช่วยผมได้มาก ผมยินดีมากครับ
พระพรหมคุณาภรณ์
อาตมายินดีเช่นกัน คุณอุตส่าห์สละเวลาเดินทางมาไกลเพื่อมาพบ อาตมาเองอยู่กับที่ ไม่ได้ลำบากอะไร
นายมิวเซนเบิร์ก
ไม่เป็นปัญหาเลยเรื่องการเดินทาง ผมอยากทำงานให้ดี ก็ต้องพยายาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมอยากพบท่าน ท่านช่วยให้ผมมีความเข้าใจมากขึ้นในสิ่งที่สงสัย
พระพรหมคุณาภรณ์
อะไรที่อาตมาช่วยคุณได้ ก็ควรทำ เพราะคุณมีความปรารถนาดีต่อคนอื่น คุณอยากอธิบายธรรมะให้พวกเขาเข้าใจ เพื่อเป็นประโยชน์ของพวกเขาเอง ด้วยเหตุนี้ อาตมาจึงควรร่วมมือกับคุณ
๑. เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ (Buddhist Economics) ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ปาฐกถาธรรมในมงคลวารอายุ ครบ ๗๒ ปี ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กทม. วันพุธที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ พิมพ์ครั้งที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ แจกเป็นธรรมทาน เนื่องในมงคลวารเริ่มวัยที่อายุครบ ๒๐ ปี ของ อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์
๒. Freedom, Individual & Social, Phra Debvedi (P. A. Payutto) printed for free distribution by Khun Vanee Lamsam, second edition published in October 14, 1990 by Buddhadhamma Foundation, Bangkok, Thailand.
๓. ธรรมนูญชีวิต พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม (A Constitution for Living) เขียนโดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
๔. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๘
ปฏิจจสมุปบาท มีองค์หรือหัวข้อ ๑๒ (การเกิดขึ้นพร้อม แห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน, ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมีขึ้น)
อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขาร จึงมี
สงฺขารปจฺจยา วิฺาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี
วิฺาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป จึงมี
นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี
สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี
ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงมี
เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี
ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี
อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ จึงมี
ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ จึงมี
ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้
การแสดงตามลําดับจากต้นไปหาปลายอย่างนี้ เรียกว่า อนุโลมเทศนา
ถ้าแสดงย้อนกลับจากปลายมาหาต้น ว่า ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ สังขารมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา
หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ถูกนํามาแปลความหมายและอธิบายโดยนัยต่างๆ ซึ่งพอสรุปเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
๑. การอธิบายแบบแสดงวิวัฒนาการของโลกและชีวิต โดยการตีความพุทธพจน์บางแห่งตามตัวอักษร เช่น พุทธดํารัสว่า โลกสมุทัย เป็นต้น
๒. การอธิบายแบบแสดงกระบวนการเกิด-ดับแห่งชีวิต และความทุกข์ของบุคคล ซึ่งแยกได้เป็น ๒ นัย
๒.๑ แสดงกระบวนการช่วงกว้างระหว่างชีวิตต่อชีวิต คือ แบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นการแปลความหมายตามรูปศัพท์อีกแบบหนึ่ง และเป็นวิธีอธิบายที่พบทั่วไปในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา ซึ่งขยายความหมายออกไปอย่างละเอียดพิสดาร ทําให้กระบวนการนี้มีลักษณะเป็นแบบแผน มีขั้นตอน และคําบัญญัติเรียกต่างๆ จนดูสลับซับซ้อนแก่ผู้เริ่มศึกษา
๒.๒ แสดงกระบวนการที่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาในทุกขณะของการดํารงชีวิต เป็นการแปลความหมายที่แฝงอยู่ในคําอธิบายนัยที่ ๒.๑ นั่นเอง แต่เล็งเอานัยอันลึกซึ้งหรือนัยประยุกต์ของศัพท์ตามที่เข้าใจว่าเป็นพุทธประสงค์ (หรือเจตนารมณ์ของหลักธรรม) เฉพาะส่วนที่เป็นปัจจุบัน วิธีอธิบายนัยนี้ยืนยันตัวเองโดยอ้างพุทธพจน์ในพระสูตรได้หลายแห่ง เช่น ใน เจตนาสูตร (สํ.นิ. ๑๖/๑๔๕/๗๘) ทุกขนิโรธสูตร (สํ.นิ. ๑๖/๑๖๓/๘๗) และโลกนิโรธสูตร (สํ.นิ. ๑๖/๑๖๔/๘๗) เป็นต้น ส่วนในพระอภิธรรม มีบาลีแสดงกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาททั้งหมดที่เกิดครบถ้วนในขณะจิตอันเดียวไว้ด้วย จัดเป็นตอนหนึ่งในคัมภีร์ทีเดียว
ในการอธิบายแบบที่ ๑ บางครั้งมีผู้พยายามตีความหมายให้หลักปฏิจจสมุปบาทเป็นทฤษฎีแสดงต้นกําเนิดของโลก โดยถือเอาอวิชชาเป็นมูลการณ์ หรือ The First Cause9 แล้วจึงวิวัฒนาการต่อมาตามลําดับหัวข้อทั้ง ๑๒ นั้น
การแปลความหมายอย่างนี้ทําให้เห็นไปว่าคําสอนของพระพุทธศาสนามีส่วนคล้ายคลึงกับศาสนาและระบบปรัชญาอื่นๆ ที่สอนว่า มีตัวการอันเป็นต้นเดิมสุด เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นกําเนิดของสัตว์และสิ่งทั้งปวง ต่างกันเพียงว่า ลัทธิที่มีพระผู้สร้าง แสดงกําเนิดและความเป็นไปของโลกในรูปของการบันดาลโดยอํานาจเหนือธรรมชาติ ส่วนคําสอนในพระพุทธศาสนา (ที่ตีความหมายอย่างนี้) แสดงความเป็นไปในรูปวิวัฒนาการตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติเอง อย่างไรก็ดี การตีความหมายแบบนี้ย่อมถูกตัดสินได้แน่นอนว่า ผิดพลาดจากพุทธธรรม เพราะคําสอนหรือหลักลัทธิใดก็ตามที่แสดงว่าโลกมีมูลการณ์ (คือเกิดจากตัวการที่เป็นต้นเค้าเดิมที่สุด) ย่อมเป็นอันขัดกับหลักอิทัปปัจจยตา หรือ หลักปฏิจจสมุปบาทนี้
หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงเหตุผลเป็นกลางๆ ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกัน เกิดสืบต่อกันมาตามกระบวนการแห่งเหตุผลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มูลการณ์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะในรูปพระผู้สร้างหรือสิ่งใดๆ ด้วยเหตุนี้การแปลความหมายหลักปฏิจจสมุปบาทให้เป็นคําอธิบายวิวัฒนาการของโลกและชีวิต จึงเป็นที่ยอมรับได้เฉพาะในกรณีที่เป็นการอธิบายให้เห็นความคลี่คลายขยายตัวแห่งกระบวนการธรรมชาติในทางที่เจริญขึ้น และทรุดโทรมเสื่อมสลายลงตามเหตุปัจจัยหมุนเวียนกันเรื่อยไป ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีเบื้องปลาย
เหตุผลสําคัญอย่างหนึ่งสําหรับประกอบการพิจารณาว่า การแปลความหมายอย่างใดถูกต้อง ควรยอมรับหรือไม่ ก็คือ พุทธประสงค์ในการแสดงพุทธธรรม ซึ่งต้องถือว่าเป็นความมุ่งหมายของการทรงแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทด้วย ในการแสดงพุทธธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายและสั่งสอนเฉพาะสิ่งที่จะนํามาใช้ปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ในชีวิตจริงได้ เกี่ยวข้องกับชีวิต การแก้ไขปัญหาชีวิต และการลงมือทําจริงๆ ไม่ทรงสนับสนุนการพยายามเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีครุ่นคิดและถกเถียงหาเหตุผลเกี่ยวกับปัญหาทางอภิปรัชญา ซึ่งเป็นไปไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ การกําหนดความเป็นพุทธธรรมจึงต้องอาศัยการพิจารณาคุณค่าทางจริยธรรมประกอบด้วย ในกรณีการแปลความหมายแบบวิวัฒนาการชนิดหมุนเวียนไม่มีต้นไม่มีปลายนั้น แม้จะพึงยอมรับได้ ก็ยังจัดว่ามีคุณค่าทางจริยธรรม (คือคุณค่าในทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตจริง) น้อย คือ ได้เพียงโลกทัศน์หรือชีวทัศน์อย่างกว้างๆ ว่า ความเป็นไปของโลกและชีวิตดําเนินไปตามกระแสของเหตุและผล ขึ้นต่อเหตุปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติเอง ไม่มีผู้สร้าง ผู้บันดาล และไม่เป็นไปลอยๆ โดยบังเอิญ
ดังนั้น ผลที่ต้องการจึงไม่อาจให้สําเร็จเพียงด้วยความหวัง ความปรารถนา การอ้อนวอนต่อพระผู้สร้าง หรืออํานาจเหนือธรรมชาติใดๆ หรือด้วยการรอคอยโชคชะตา ความบังเอิญ แต่ต้องสําเร็จด้วยการลงมือกระทํา คือ
โลกทัศน์และชีวทัศน์ที่กล่าวนี้ แม้จะถูกต้อง และมีคุณค่าตรงตามความมุ่งหมายของพุทธธรรมทุกประการ ก็ยังนับว่าหยาบ ไม่หนักแน่นและกระชั้นชิดพอที่จะให้เกิดคุณค่าทั้ง ๓ ประการนั้น (โดยเฉพาะประการที่ ๓) อย่างครบถ้วนและแน่นอน
เพื่อให้การแปลความหมายแบบนี้มีคุณค่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จะต้องพิจารณากระบวนการหมุนเวียนของธรรมชาติให้ชัดเจนถึงส่วนรายละเอียดยิ่งกว่านี้ คือจะต้องเข้าใจรู้เท่าทันสภาวะของกระบวนการนี้ ไม่ว่า ณ จุดใดก็ตามที่ปรากฏตัวให้พิจารณาเฉพาะหน้าในขณะนั้นๆ และมองเห็นกระแสความสืบต่อเนื่องแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลาย แม้ในช่วงสั้นๆ เช่นนั้นทุกช่วง เมื่อมองเห็นสภาวะแห่งสิ่งทั้งหลายต่อหน้าทุกขณะโดยชัดแจ้งเช่นนี้ คุณค่า ๓ ประการนั้น จึงจะเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนแน่นอน และย่อมเป็นการครอบคลุมเอาความหมายแบบวิวัฒนาการช่วงยาวเข้าไว้ในตัวไปด้วยพร้อมกัน
ในการแปลความหมายแบบที่ ๑ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นความหมายอย่างหยาบหรืออย่างละเอียดก็ตาม จะเห็นว่า การพิจารณาเพ่งไปที่โลกภายนอก คือ เป็นการมองออกไปข้างนอก ส่วนการแปลความหมายแบบที่ ๒ เน้นหนักทางด้านชีวิตภายใน สิ่งที่พิจารณาได้แก่กระบวนการสืบต่อแห่งชีวิตและความทุกข์ของบุคคล เป็นการมองเข้าไปข้างใน
การแปลความหมายแบบที่ ๒ นัยที่ ๑ เป็นแบบที่ยอมรับและนําไปอธิบายกันมากในคัมภีร์รุ่นอรรถกถาทั้งหลายมีรายละเอียดพิสดาร และมีคําบัญญัติต่างๆ เพิ่มอีกมากมาย เพื่อแสดงกระบวนการให้เห็นเป็นระบบที่มีขั้นตอนแบบแผนชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจทําให้เกิดความรู้สึกตายตัวจนกลายเป็นยึดถือแบบแผน ติดระบบขึ้นได้ พร้อมกับที่กลายเป็นเรื่องลึกลับซับช้อนสําหรับผู้เริ่มศึกษา ส่วนความหมายตามนัยที่ ๒ ก็มีลักษณะสัมพันธ์กับนัยที่ ๑ ด้วย ซึ่งผู้สนใจพึงศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
เนื้อหาทั้งหมดในหนังสือ พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ: การใช้หลักพุทธธรรมในการทำธุรกิจ เล่มนี้ มาจากบทสนทนาระหว่าง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) กับนายลอเรนส์ แวน เดน มิวเซนเบิร์ก (Laurens Van den Muyzenberg) นักหนังสือพิมพ์/นักเขียน ชาวเดนมาร์ก ที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗
ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าฟังการสนทนาในครั้งนั้นด้วยตั้งแต่ต้นจนจบ ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง เมื่อฟังโดยตลอดแล้วเห็นว่า บทสนทนาทั้งหมดมีความน่าสนใจ และมีประโยชน์อย่างมาก ไม่เฉพาะนักธุรกิจ หรือผู้บริโภคเพียงเท่านั้น แต่เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไปในทุกสาขาวิชาชีพ ควรที่จะได้ศึกษาเนื้อหาในบทสนทนานั้น เพื่อเป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติ สำหรับการมีชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุข ถึงพร้อมด้วยปัญญา รู้เท่าทันความเป็นไปของโลกและชีวิตตามความเป็นจริง
ด้วยเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หากบทสนทนานั้นได้รับการแปลและนำมาจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือ ข้าพเจ้าจึงกราบนมัสการขออนุญาตท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ แปลบทสนทนานั้นเป็นภาษาไทย เพื่อเผยแผ่ไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง ท่านเจ้าคุณฯ ได้มีเมตตาอนุญาตให้ข้าพเจ้าทำตามความประสงค์ได้
เมื่อขออนุญาตแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่ได้ลงมือทำในทันที ปล่อยเวลาล่วงเลยมานานหลายเดือน จนกระทั่งมีช่วงหนึ่ง เมื่อพอมีเวลาว่างบ้าง จึงลงมือแปลบทสนทนาดังกล่าว โดยฟังเอาจากเทปบันทึกเสียง แล้วถอดความออกมาเป็นภาษาไทย จนสำเร็จลุล่วง และได้ส่งไปถวายท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ตรวจดูสาระสำคัญอีกครั้ง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ท่านกำลังอาพาธมาก มีอาการเจ็บปอด เสียงแห้ง มีไข้ เหนื่อย และไอมาก ด้วยเหตุนี้ เมื่อส่งไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงไม่กล้าที่จะทวงถามถึงต้นฉบับนี้บ่อยครั้งนัก เพราะเกรงจะเป็นการรบกวน ทำให้ท่านต้องอาพาธหนักลงไปอีก จึงได้แต่รอคอยด้วยใจจดจ่อ
ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ พระที่วัดญาณเวศกวัน ได้โทรศัพท์มาบอกว่า ท่านเจ้าคุณฯ ได้ดูต้นฉบับให้ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ารีบไปรับแผ่นซีดีมาจัดทำอาร์ตเวอร์คในทันที ขณะทำก็อ่านตามไปด้วย ยิ่งรู้สึกชอบเนื้อหาของบทสนทนานี้มากขึ้น และก็คิดว่าถ้าแยกหัวข้อเป็นแต่ละประเด็นไป จะยิ่งอ่านง่าย และดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้มากขึ้น จึงได้ตัดสินใจทำหัวข้อในช่วงที่เป็นคำบรรยายของท่านเจ้าคุณฯ พอทำเสร็จแล้ว อ่านดูอีกครั้งก็รู้สึกพอใจมาก จากนั้นได้บรรจุหัวข้อดังกล่าวลงในสารบัญด้วย ในกรณีที่ผู้อ่านอยากทบทวนหัวข้อหนึ่งหัวข้อใดเป็นพิเศษ จะสามารถเปิดดูได้จากสารบัญทันที แทนที่จะต้องไปค้นหาเอาเองในหนังสือ
อนึ่ง ในการแปลส่วนที่เป็นคำถาม ข้าพเจ้าทำดังนี้ หนึ่ง ไม่ได้เก็บความทั้งหมด ใช้วิธีสรุปความ เพื่อความกระชับ โดยจะเน้นที่คำตอบของท่านเจ้าคุณฯ ซึ่งก็คือแก่นสารของหนังสือเล่มนี้ เป็นสำคัญ สอง ละเว้นการเอ่ยถึงวิสามัญนามที่อาจกระทบกระเทือนไปถึงชื่อเสียงของสถาบันที่เกี่ยวข้อง เช่น ชื่อองค์กรธุรกิจต่างๆ
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับหนังสือเล่มนี้ คือ เป็นหนังสือกึ่งวิชาการที่มีความลึกซึ้ง แต่เข้าใจง่าย เพราะเป็นคำบรรยายที่แสดงแก่ชาวต่างประเทศ ที่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาจำกัด อีกทั้งยังมาจากวัฒนธรรมทางซีกโลกตะวันตก ด้วยเหตุนี้ ท่านเจ้าคุณฯ จึงใช้วิธีการบรรยายแบบทำให้ง่าย ซึ่งงานหนังสือในลักษณะนี้ของท่าน มีไม่มากนัก ผู้อ่านที่กลัวหนังสือวิชาการหนักๆ อ่านเล่มนี้แล้วน่าจะชอบ ในขณะเดียวกัน ผู้อ่านที่ชอบหนังสือวิชาการ ก็จะยิ่งชอบมากขึ้น เพราะมีแง่มุมสนุกๆ ที่แปลกๆ ใหม่ๆ ให้ไปขบคิดต่อได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด
สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มีส่วนร่วมทำให้หนังสือเล่มนี้สำเร็จเรียบร้อยดีดังที่ปรากฏ
บุคคลที่สำคัญที่ข้าพเจ้าอยากกราบขอบพระคุณมากที่สุด ก็คือ ท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) แม้จะอาพาธหนักเพียงใด ก็สู้อุตส่าห์เสียสละเวลาอ่านบทแปลของข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้น
ขอกราบขอบพระคุณที่ท่านเจ้าคุณฯ ได้มีเมตตาอนุญาตให้ข้าพเจ้า ได้มีส่วนร่วมในการเผยแผ่ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของท่าน ที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันลึกซึ้ง ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจของพุทธศาสนิกชนทั้งปวง และคนไทยทั้งชาติ ซึ่งผู้อ่านจะตระหนักถึงความจริงข้อนี้ได้ เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง
พนิตา อังจันทรเพ็ญ