ขอเจริญพร ท่านอาจารย์แพทย์ แพทย์ พยาบาล และท่านผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน
รายการที่นิมนต์อาตมภาพมาพูดวันนี้ จะเรียกว่ารายการแทรกก็ได้ หรือจะเรียกว่ารายการพิเศษก็ได้ แล้วแต่ว่าจะพิจารณาในแง่ไหน คือ
ถ้าว่าถึงรายการประจำที่นี่ ก็เป็นรายการที่เรียกว่าทางวิชาการ ได้ทราบว่ามีการประชุมทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปตามปกติ วันนี้ก็จะต้องเป็นการประชุมทางวิชาการอีก
เมื่อมีการนิมนต์พระมาก็ถือว่าเป็นรายการแทรก และเมื่อเรียกอย่างให้เกียรติ ก็เรียกว่าเป็นรายการพิเศษ อันนี้ก็แล้วแต่ เรียกได้ทั้ง ๒ อย่าง
ทีนี้ สำหรับรายการประจำซึ่งเป็นรายการทางวิชาการที่นับว่าหนักหน่อยนั้น มาวันนี้ท่านผู้จัดก็คงจะต้องการให้รู้สึกเบาๆ สบายๆ จึงให้มาพูดเรื่องที่เพลิดเพลินเจริญใจ หรือเรื่องที่ดีงาม เรียกว่า พรปีใหม่ คือเป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจสบายมีความสุข เพราะฉะนั้นถึงจะเป็นรายการแทรกก็เป็นรายการแทรกในทางที่ดีงาม แทรกเสริมแทรกแล้วก็เสริมให้มีกำลังใจที่จะทำงานประชุมทางวิชาการให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไป ถ้าหากว่าได้ผลอย่างนั้นจริง ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา
อย่างไรก็ตามเรื่องที่ให้มาพูดนี้ ก็เป็นการมาพูดในรายการทางวิชาการ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะพูดเรื่องที่สบายๆ ก็จริง แต่ก็อาจจะมีการพูดในเชิงวิชาการบ้าง คือให้มีเนื้อหาเป็นคล้ายๆ กึ่งวิชาการ
เรื่องที่พูดนี้ท่านตั้งชื่อให้ว่า พรปีใหม่ มาให้พรกัน ใครๆ ก็ชอบ
ความจริงนั้น เรื่องพรก็เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาสาระเหมือนกัน จะพูดในเชิงวิชาการก็ได้ แม้แต่เพียงจะถามว่าคำว่า “พร” มีความหมายอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา พูดในแง่ภาษาอย่างเดียวก็คงต้องใช้เวลาเยอะแล้ว เพราะว่าคำว่าพรนี้ในภาษาของพระไม่ได้มีความหมายอย่างที่คนไทยใช้กัน อันนี้จะเป็นอย่างไร ถ้ามีเวลาก็คงได้พูดกัน แต่เฉพาะในวันนี้ พรที่จะให้พูดเป็นเรื่องพรที่เกี่ยวกับปีใหม่
ปีใหม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกาลเวลา และเป็นกาลเวลาขนาดใหญ่ คือขนาดที่เรียกกันเป็นปีๆ เลย คือเราเปลี่ยนปี พ.ศ. จากปี พ.ศ. ๒๕๓๓ มาเป็น ๒๕๓๔
กาลเวลาที่ยาวนานอย่างนี้ มีความหมายมาก ถ้ามองในแง่ของพวกนักธุรกิจในเรื่องเกี่ยวกับการเงิน เขาถือว่าสำหรับเวลาที่ผ่านไปหนึ่งปีนี้ จะต้องมีการทำบัญชี มีการตรวจสอบ มีการทำงบดุล
การทำงบดุลนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ทราบฐานะทางการเงิน เวลาที่ผ่านไป ๑ ปีนั้น อาจจะเป็นปีงบประมาณ หรือปีปฏิทินก็ได้ บางทีสองอย่างนี้บางครั้งก็มาลงในเวลาเดียวกัน ซึ่งในเรื่องทางบัญชีก็เป็นเวลาที่เขาทำงบดุล
ถ้าหันมามองดูชีวิตของเรา ก็เป็นเรื่องที่น่าจะทำงบดุลเหมือนกัน คือน่าจะมีการทำงบดุลของชีวิตว่าในเวลา ๑ ปีที่ผ่านไปนี้ ชีวิตของเราได้มากหรือเสียมาก กำไรหรือขาดทุน อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าพิจารณา
ไม่ใช่ทำงบดุลเฉพาะชีวิตเท่านั้น สังคมก็เช่นเดียวกัน อย่างสังคมไทยของเรานี้ เวลาผ่านไป ๑ ปี เราเจริญขึ้นหรือเสื่อมลง และที่ว่าเจริญหรือเสื่อมนั้น เจริญในด้านไหน เสื่อมในด้านไหน นี้เป็นเรื่องที่น่าจะได้มาพิจารณา
ถ้าเราเอาเวลาที่ผ่านไป และเวลาที่เปลี่ยนปีนี้ มาใช้สำหรับตรวจสอบอย่างนี้ คิดว่าจะมีประโยชน์กว่าการที่ปล่อยเวลาผ่านไปเฉยๆ มิฉะนั้น วันเวลาก็จะผ่านไปๆ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบ และไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
ดังจะเห็นว่า เมื่อเวลาผ่านไปและเรามีการสมมติกันว่า จะรับปีใหม่ส่งท้ายปีเก่า ก็มีการสนุกสนานรื่นเริง บางทีการสนุกสนานรื่นเริงนั้นก็เป็นเรื่องที่สักแต่ว่าผ่านๆ ไป เป็นเรื่องของการบันเทิงอย่างเดียว เป็นการมัวเมา แทนที่จะทำให้เจริญก้าวหน้างอกงามในทางชีวิต ก็กลายเป็นว่า เสื่อมทรามลงไป
จะเห็นว่า คนจำนวนมากเข้าคุกกันตอนปีใหม่ หรือทะเลาะวิวาท ยิงฟันกันตายตอนปีใหม่ คือแทนที่จะเจริญก้าวหน้า พอถึงปีใหม่กลายเป็นสนุกสนานผิดทาง หรือสนุกเกินขนาด เกิดทะเลาะเบาะแว้ง กินเหล้าเมายา ปีใหม่ฉลองจะให้เจริญรุ่งเรือง กลายเป็นว่าเสื่อมตกต่ำลงไปอย่างหนัก นี้เรียกว่าเป็นการปฏิบัติต่อเรื่องเวลาไม่ถูกต้อง
สำหรับกาลเวลาที่ผ่านไปนี้ คนที่จะดำเนินชีวิตให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ทางพระท่านว่าให้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็จะต้องเริ่มด้วยการตรวจสอบ พอตรวจสอบแล้ว เราก็จะเห็นว่าปีที่ผ่านไปนี้เป็นอย่างไร ส่วนที่ผ่านไปแล้วอย่างที่ว่าเมื่อกี้ งบดุลชีวิตดูซิ ว่ามันได้มากหรือเสียมาก กำไรหรือขาดทุน เสร็จแล้วก็จะได้มาวางแผนต่อไปข้างหน้าว่าจะเอาอย่างไร
คนเราที่มองเรื่องของกาลเวลานี้เวลาพูดถึงปีเก่าและปีใหม่ ก็จะไปเน้นเรื่องอดีตและอนาคตมาก ปีเก่าก็มองเป็นเรื่องอดีต และปีใหม่ก็มองเป็นเรื่องอนาคต
ปีเก่าเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เราก็นึก เราก็อยากจะให้เป็นเรื่องที่ผ่านพ้นกันไปเสียที ก็หมดๆ ไป เราก็คิดแค่นั้น คิดว่าให้มันผ่านไป ส่วนปีใหม่เราก็มองไปข้างหน้าด้วยความหวังว่าจะมีความเจริญงอกงาม บางทีก็เป็นการฝันลมๆ แล้งๆ
แต่ความจริงสิ่งที่ปฏิบัติได้ คือปัจจุบันเท่านั้น เวลาอดีตเราก็ย้อนกลับไปทำอะไรมันไม่ได้ อนาคตเราก็ยังไปทำอะไรยังไม่ได้ มันไม่ได้อยู่กับเรา สิ่งที่อยู่กับเราแน่นอนก็คือปัจจุบัน
ในระยะที่ส่งท้ายปีเก่าและขึ้นปีใหม่นี้ เราจะเห็นพฤติกรรมของคนว่า คนส่วนมากจะไม่อยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้อยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ เวลาที่ตัวมีอยู่ แต่จะพยายามมองถึงว่าทำอย่างไรจะให้ผ่านพ้นเก่าให้เป็นอดีตไปเสีย ทั้งๆ ที่มันยังไม่ได้เป็น แต่ไม่ปฏิบัติให้เป็นปัจจุบัน มันก็เลยเป็นอดีตไป แล้วพร้อมกันนั้นก็หวังไปในอนาคตโดยที่ไม่ยึดปัจจุบันให้แน่นไว้
ถ้าหากว่าเรายึดปัจจุบันให้แน่นไว้ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะปัจจุบันอยู่กับเราแน่นอน เมื่ออยู่กับเราแล้ว เราเอาปัจจุบันเป็นหลัก อดีตก็จะมีความหมาย
อดีตจะมีความหมายอย่างไร?
อดีตนั้น เมื่อเอาปัจจุบันเป็นหลัก ก็จะมีความหมายในแง่ที่ว่า มันโยงใยในทางเหตุปัจจัย กล่าวคือ ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรก็เพราะเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นในอดีต หรือที่ทำมาในอดีต ทีนี้เหตุปัจจัยนี้ เราจะต้องสืบสาวหามัน เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้ว่า เราทำไมมาเป็นอย่างนี้ ด้วยวิธีนี้เราก็จะได้ตรวจสอบว่า อะไรมันยิ่ง อะไรมันหย่อน อะไรมันขาด อะไรมันเกิน ควรจะแก้ไขอะไร อะไรเป็นบทเรียน อดีตก็จะเป็นประโยชน์ขึ้นมา
พร้อมกันนี้เราจะเตรียมวางแผนอนาคต ก็ต้องทำกับปัจจุบันนี้แหละ จึงจะมองเห็นว่าอนาคตเรามีแนวโน้มอย่างนี้ มีความพร้อมเท่านี้ มีทุนด้านนี้ แล้วควรจะเป็นไปอย่างไรต่อไป เสร็จแล้วจึงจะวางแผนได้ถูกต้อง
การที่อดีตกับอนาคตมาโยงกับปัจจุบัน โดยยึดปัจจุบันเป็นหลัก นี้แหละจึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องกาลเวลา
ถ้าหากว่าอดีตกับอนาคตไม่ยึดปัจจุบันเป็นหลัก อดีตนั้นก็จะเป็นเรื่องที่จม คือถ้าเราไปนึกถึงอดีตเมื่อใด เราจะจมหายไปเลย คือจมไปในอดีตนั้น ถ้าเป็นอนาคต ก็เป็นลอยไป เลื่อนลอยเคว้งคว้างหายไปเลย
คนจำนวนมากจะมีชีวิตอย่างที่ทางพระเรียกว่า หวนละห้อยความหลัง หวนละห้อยก็คือมองย้อนไปในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องของสิ่งที่ผ่านล่วงไปแล้ว ด้วยความเสียดายอะไรทำนองนั้น แล้วก็มองอนาคตด้วยความฝันเพ้อ อย่างที่เรียกว่าสร้างวิมานในอากาศอะไรทำนองนั้น ทั้งสองอย่างนี้เป็นเรื่องที่ท่านเรียกว่าไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นประโยชน์ก็อยู่ที่การรู้จักทำกับปัจจุบันนี้แหละ
คนที่มองอนาคตข้างหน้าก็จะเป็นไปในรูปของความหวัง แต่ความหวังนั้นก็จะมีสิ่งหนึ่งที่คู่มาคือความหวาด
ความหวาดก็คือความกลัวนั้นเอง เราจะเห็นได้ว่าคนที่มีความหวังนั้นก็จะต้องมีความหวาด ในความหวังจะมีความหวาด คือหวาดว่าสิ่งที่หวังนั้นจะได้หรือไม่ได้ มันจะเป็นอย่างไร แล้วพร้อมกับการที่หวาดก็จะมีความหวังเหมือนกัน
คนเรานี้ก็จะมีความรู้สึกที่คู่กันคือเมื่อนึกถึงอนาคต ก็จะมีความหวังกับความหวาดนี้ เมื่อหวาดเราก็หวังว่า จะไม่เป็นไปอย่างที่กลัว จะไม่เป็นไปอย่างที่หวาด ก็ทำให้ชุ่มชื่นใจ ถ้าหวาดก็มีความเหี่ยวแห้ง ถ้าหวังก็มีความชุ่มชื่น แล้วแต่ว่าจะมีความหวังมากหรือหวาดมาก แต่ตราบใดที่มีความหวังก็มีความหวาด และตราบใดที่มีความหวาดก็มีความหวัง ถ้าหวาดอย่างเดียวก็แย่ ใจจะเหี่ยวแห้งมีความทุกข์ มีความบีบคั้นมาก และมีความเครียดมาก ถ้าหวังโดยไม่มีหวาดก็กลายเป็นหวังที่ลมๆ แล้งๆ อย่างที่ว่ามาแล้ว
เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้มีความหวังชนิดที่โยงกับปัจจุบันซึ่งเป็นไปได้ คือจะต้องมีเหตุปัจจัยที่ให้เห็นได้ในปัจจุบันว่า ความหวังนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร ไม่ใช่เป็นความหวังที่เลื่อนลอย ฉะนั้น คนเราที่อยู่กับอนาคตหรืออดีตที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
ในระยะปีใหม่นี้ การที่จะมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องความหวังและความหวาดนี้ ก็เป็นอารมณ์ของคนทั่วไป สิ่งสำคัญก็คือปัจจุบัน ซึ่งทางพระท่านให้ปฏิบัติต่อสิ่งเฉพาะหน้านั้นให้ถูกต้อง ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องแล้วก็จะทำให้เราสามารถคุมอนาคตได้ เพราะว่าคนที่ใช้ปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ก็คือทำเหตุปัจจัยให้สำเร็จผลที่ต้องการ แล้วอนาคตที่ต้องการมันก็จะกลายเป็นเรื่องการวางแผนที่ถูกต้องขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่อาตมาต้องการพูดในที่นี้ก็คือ การที่เราพูดถึงอดีตนั้น ความมุ่งหมายส่วนหนึ่งอยู่ที่ว่าเราจะทำงบดุลชีวิต ทำงบดุลสังคมขึ้นมาได้อย่างไร
อย่างชีวิตของเรานี้ แต่ละคนก็อาจจะมีวิธีการสำรวจกันต่างๆ บางคนก็จะสำรวจว่า ในด้านของหน้าที่การงานเป็นอย่างไร คนมักจะมองที่จุดนี้มาก คือมองว่า เราได้มีความก้าวหน้าในด้านการงานอย่างไร แต่ที่จริงอันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ที่ทำงานเท่านั้น
ที่ว่านี้หมายความว่าเวลาเราพูดถึงความก้าวหน้าในการทำงาน เรามักจะคิดถึงความก้าวหน้าของคนที่ทำงาน แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญซึ่งไม่ค่อยจะนึกถึงกันก็คือ ความก้าวหน้าของตัวงาน จึงต้องมองให้ครบทั้งสองอย่าง
คนมักจะคิดกันมากถึงความก้าวหน้าของคนที่ทำงาน เช่นว่าจะได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งอะไรหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น แต่ตัวงานเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากออกไป ซึ่งบางทีก็ไม่ได้คิดถึง แต่ว่าที่จริงสิ่งสำคัญที่จะต้องคิดคือตัวงาน อย่างน้อยทั้งสองอย่างนี้จะต้องคู่กันไป แต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แท้จริงแก่สังคม แก่ประเทศชาติหรือตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของการทำงานก็คือ ความก้าวหน้าของตัวงาน ว่างานนี้ก้าวหน้าไปไหม งานนี้ได้เกิดผลเป็นประโยชน์ตามความมุ่งหมายของมันหรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
เพราะฉะนั้น เมื่อสำรวจเรื่องงาน หรือการทำงาน ก็จะต้องมองให้ทั่วถึง ไม่ใช่มองเฉพาะความก้าวหน้าของคนที่ทำงาน แต่ต้องมองที่ความก้าวหน้าของงานนั้น ที่เกิดผลประโยชน์
นอกจากมองที่งานแล้ว คนจำนวนมากก็จะมองไปที่เรื่องทางเศรษฐกิจ หรือเรื่องการเงินว่าเราได้เงินเพิ่มขึ้น รวยขึ้นไหม มีเงินมีทองมากขึ้นไหม มีเงินฝากในธนาคารมากขึ้นหรือเปล่า
นอกจากนั้นก็อาจจะมองไปที่ด้านร่างกายว่า เราดีขึ้นไหมในทางสุขภาพร่างกาย หรือว่าเสื่อมลง ถ้าเป็นผู้ที่สูงอายุมากขึ้น ก็ย่อมมีโอกาสที่ว่าร่างกายจะทรุดโทรมลง ดังนั้น สำหรับผู้สูงอายุ การคิดในเรื่องของร่างกายอาจจะต้องมากขึ้น โดยพิจารณาในแง่ของความได้ความเสียในทางร่างกายว่าเป็นอย่างไร
นอกจากนั้นก็อาจจะมองในทางสังคมว่าความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือยอมรับในสังคม ตลอดจนชื่อเสียงของตนเป็นอย่างไร ในปีที่ผ่านมาได้เพิ่มมากขึ้นไหม เป็นชื่อเสียงที่ดีงามไหม อะไรต่างๆ ซึ่งจัดว่าเป็นเรื่องของโลกธรรมอย่างหนึ่ง
ในแง่สังคมนี้ สิ่งหนึ่งที่เรียกว่าเป็นความก้าวหน้าที่ถูกต้องซึ่งควรสำรวจพิจารณาก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระหว่างมนุษย์ ซึ่งมิใช่มีความหมายเฉพาะการได้ชื่อเสียงสำหรับตน แต่หมายถึงความสัมพันธ์ที่เป็นเนื้อหาสาระในการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์นี้ต่างหาก
ที่ว่านี้หมายความว่าจะต้องสำรวจพิจารณาว่าเราได้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นดีขึ้นไหม ได้ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์มากขึ้นหรือเปล่า อันนี้แหละเป็นสิ่งที่น่าพิจารณา ซึ่งเป็นเนื้อหามากกว่าการได้เพิ่มขึ้นในเรื่องของชื่อเสียง
ต่อไปก็เป็นเรื่องของจิตใจ คือสำรวจในแง่จิตใจว่า จิตใจของเรานี้เจริญงอกงามขึ้น หรือเสื่อมลง เรามีความสุขมีจิตใจที่สบายเอิบอิ่มผ่องใสมากขึ้นหรือเปล่า มีจิตใจที่สงบเข้มแข็งมั่นคงไหม มีสิ่งที่เรียกว่าความปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบาน ผ่องใสมากน้อยแค่ไหน เราสามารถยิ้มแย้มแจ่มใสได้มาก หรือว่าเรามีจิตใจขุ่นมัว มีความเครียดมาก อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องสำรวจ ซึ่งรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่จะใกล้ตัวหลักธรรมมากขึ้นๆ
อีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องของปัญญา ปัญญาก็คือ ความรู้ความเข้าใจ นอกจากความรู้ความเข้าใจในวิชาการและเรื่องของการงานอาชีพแล้ว ก็คือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิต ความรู้เท่าทันสังขาร อะไรต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจะต้องสำรวจว่า ปัญญาหรือความรู้อย่างนี้ของเราดีขึ้นหรือไม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องสำรวจในด้านปัญญาเกี่ยวกับความเจริญหรือการพัฒนาของปัญญานั้น
ความเจริญก้าวหน้าของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันกับกาลเวลา กาลเวลาที่ผ่านไปจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อได้มีความเจริญพัฒนาหรือเจริญงอกงามมากขึ้น
เพราะฉะนั้น ช่วงระยะของการส่งปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ จึงเป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการที่จะมาทำงบดุลชีวิตกันตามวิธีการอย่างที่กล่าวมานี้ ซึ่งได้พูดมาเพื่อให้ได้มองเห็นหลายๆ แง่
สำหรับในทางธรรม อาตมาจะยกหลักธรรมสักหมวดหนึ่ง เอามาให้พิจารณาดูว่าท่านเน้นอะไรบ้าง ในการสำรวจความก้าวหน้าที่ว่ามีกำไรหรือไม่นั้น ท่านเน้นอะไรบ้าง
กำไรหรือความเจริญ หรือการได้เพิ่มขึ้นมา ทางพระท่านเรียกว่า วัฑฒิ วัฑฒิก็คือ กำไร หรือการเพิ่มพูน ท่านบอกว่ามี ๕ ส่วนที่ควรพิจารณา
๑. ศรัทธา ข้อนี้หลายท่านก็จะมองว่าเป็นศรัทธาต่อพระศาสนา คือความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ซึ่งในการสำรวจก็จะพูดว่าความเชื่อในพระศาสนาของเรามีมากขึ้นไหม ถ้าว่าอย่างนี้ก็เป็นการพิจารณาในแง่ของทางพระศาสนาโดยตรง
แต่ตามเหตุการณ์ที่ผ่านมานี้ ในปีที่ผ่านมา คือปีที่แล้วนี้ก็ตาม ปีก่อนก็ตาม ในด้านพระศาสนามีแต่ข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ดีมากมาย ก็ลองสำรวจดูว่าเวลาเราประสบปัญหาหรือเหตุการณ์ที่ไม่ดีเหล่านี้แล้ว ศรัทธาของเราเป็นอย่างไร ถอยลงไหม ยังเจริญหรือมั่นคงอยู่หรือไม่ ท่านทั้งหลายลองสำรวจดูตัวเองว่าเรายังมีจิตใจที่มั่นคงต่อพระศาสนาดีอยู่หรือเปล่า นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าพิจารณาตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม โดยแท้จริงแล้วศรัทธาไม่ใช่เรื่องแค่นี้ ศรัทธาก็คือความที่มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ดีงามที่เราเชื่อถือ เรามีความเชื่อถือในสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นคุณค่า เป็นสิ่งที่งาม เป็นสิ่งที่ประเสริฐ พระรัตนตรัยหรือพระศาสนานี้ เราเห็นว่ามีคุณค่า เราจึงมีความเชื่อถือ
แต่พระรัตนตรัยนั้น มีความหมายครอบคลุมหลายชั้น สิ่งหนึ่งที่ซ้อนแฝงเป็นแกนอยู่ข้างในของหลักพระรัตนตรัยนั้น ก็คือตัวความดีงามนั้นเอง เช่น อย่างการกระทำที่ดีงามหรือตัวกรรมที่เป็นกุศลหรือเป็นธรรม
กรรมคือการกระทำที่ดีงามนี้ เรามีความมั่นใจไหม เรามีความมั่นใจในคุณค่าแห่งการกระทำความดีงามของเราไหม เรามีความมั่นใจที่จะกระทำความดีงามอย่างแน่วแน่มั่นคงหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องสำรวจ เพราะศรัทธาส่วนนี้เป็นพื้นฐานเบื้องต้น เป็นตัวที่ทำให้มีพลัง
ถ้าขาดศรัทธาเสียแล้ว ก็จะหดหู่ท้อถอย ท้อแท้ จะหมดกำลัง ฉะนั้นจึงต้องมีศรัทธา อย่างน้อยมีศรัทธาในการกระทำสิ่งที่ดีงาม
ศรัทธาในการทำสิ่งที่ดีงามนี้ เมื่อจำกัดจำเพาะเจาะตรงเข้ามาก็คือ ความเชื่อมั่นในการงาน หรือต่อหน้าที่ที่ตนเองกำลังทำอยู่ว่า งานที่เราทำนี้เป็นประโยชน์ มีค่าสมควรจะทำ ถ้าเรามีความมั่นใจในงานของเรานี้ เราก็มีกำลังใจที่จะทำ ก็ต้องสำรวจว่าศรัทธาตัวนี้เรามีไหม
ศรัทธาที่ว่ามานี้ เมื่อสืบสาวไปให้ถึงที่สุด ก็คือศรัทธาในชีวิตนั้นเอง หมายความว่าเมื่อเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ เราก็เห็นคุณค่าของชีวิตของเรา ว่าเราอยู่เพื่ออะไร เราอยู่เพื่อทำสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมเป็นต้น เรามั่นใจในสิ่งที่เรากระทำนี้ว่าเป็นประโยชน์ หรือแม้แต่คนที่มองในด้านในว่าชีวิตของเรานี้เจริญงอกงามพัฒนาขึ้นในทางจิตใจ เป็นต้น
ถ้าเรามั่นใจเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำอยู่นี้ ก็จะทำให้เรามีศรัทธาในชีวิตด้วย แล้วศรัทธาอย่างนี้แหละก็จะทำให้เรามีพลังที่จะเดินหน้าและก้าวต่อไป ในการดำเนินชีวิตในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ทางพระท่านให้สำรวจศรัทธานี้เป็นข้อที่ ๑ เลยว่า ศรัทธาของเรานี้เพิ่มขึ้นไหม อย่างน้อยมันยังเข้มแข็งมั่นคงอยู่หรือไม่ เพราะมันจะเป็นตัวที่ทำให้ชีวิตของเรามีเครื่องหล่อเลี้ยง มีกำลังต่อไป เรียกง่ายๆ ก็คือกำลังใจอยู่ที่ศรัทธานี้เป็นเบื้องแรก
๒. ศีล ต่อไปท่านก็ให้สำรวจศีล ศีลก็คือความประพฤติที่แสดงออกทางกาย วาจา และความสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคม การไม่เบียดเบียนผู้อื่น อย่างน้อยที่สุดจะต้องสำรวจว่า ในการดำเนินชีวิตที่ผ่านมานี้ เรามีการเบียดเบียนผู้อื่นน้อย หรือน้อยลง หรือไม่เบียดเบียนผู้อื่นเลย เรายังรักษาสถานะนี้ได้ไหม
สำรวจในแง่ลบก่อนว่า เรานี่ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น เราพยายามทำตนให้ห่างเหินจากการเบียดเบียนให้มากที่สุด ทั้งโดยตรงก่อนแล้วต่อไปก็โดยอ้อม
จากนั้นในทางบวกก็คือ การเกื้อกูลผู้อื่น การสัมพันธ์กับผู้อื่นในทางที่ดีงาม และการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น
พูดง่ายๆ เรื่องศีลนี้ก็คือการพัฒนาในด้านกาย วาจา โดยเฉพาะในขั้นต้นก็คือ ด้านสังคม ซึ่งจะต้องสำรวจว่าเราได้เพิ่มหรือก้าวหน้าขึ้นไหม ในการทำประโยชน์ หรือสัมพันธ์กับผู้อื่นในทางที่ดีงาม
๓. สุตะ สุตะคือความรู้ หมายถึงความรู้ประเภทวิชาการ ตำรับตำรา ข้อมูลข่าวสาร ก็สำรวจดูว่า เราทำงานทำการ เรารู้เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับที่เราทำงานทำการมานี้ ความรู้ทางวิชาการ ความรู้ที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ตลอดจนหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่จะเอามาใช้ในการพัฒนาชีวิต เรามีความรู้ ความเข้าใจเพิ่มขึ้นหรือเปล่า
๔. จาคะ ให้สำรวจเรื่องจาคะ จาคะนี้เป็นตัวที่ใกล้ๆ กับศีล แต่เป็นตัวที่สละออกไป เช่น สละวัตถุสิ่งของ เป็นต้น ในข้อนี้ก็สำรวจดูว่า เราได้ช่วยเหลือเผื่อแผ่ เกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์แค่ไหน เรามีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น สละความสุขของเราให้ผู้อื่นได้มากขึ้น มีความเห็นแก่ตัวลดลงไหม
อาการอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเห็นแก่ตัวที่ลดลงที่สำคัญก็คือ สามารถสละความสุขของตัวเองเพื่อให้เกิดความสุขแก่ผู้อื่น ความก้าวหน้าที่ต้องสำรวจในข้อนี้ก็คือ ตรวจดูว่า เราสามารถหาความสุขจากการให้ความสุขแก่ผู้อื่นไหม
คนเรานี้ตามปกติ เมื่อยังไม่ได้พัฒนา ก็เป็นธรรมดาที่จะมีความสุขจากการได้ คือจะต้องเอา เมื่อเอาหรือหามาได้ หรือได้รับจากเขาแล้วจึงจะมีความสุข
แต่คนที่พัฒนาตนเองจะมีคุณธรรมเกิดขึ้น โดยมีสภาพจิตใจอย่างใหม่เกิดขึ้นมา คือความสามารถที่จะมีความสุขจากการให้แก่ผู้อื่น เช่น พ่อแม่รักลูก เมื่อพ่อแม่ให้แก่ลูกแล้ว พ่อแม่ก็มีความสุข โดยไม่ได้รู้สึกเสียดาย
ทำไมคนเราจะต้องเอา แล้วจึงจะมีความสุข ที่จริงในชีวิตประจำวันของเราก็มีตัวอย่างอยู่แล้ว ได้แก่พ่อแม่นี่เอง พ่อแม่นั้นเมื่อให้แก่ลูกแล้วก็มีความสุข ทำไมเมื่อพ่อแม่ให้แก่ลูกแล้ว จึงไม่เสียดาย หรือไม่มีความทุกข์ คำตอบก็คือ เพราะพ่อแม่มีความรักลูก ตกลงปัจจัยตัวสำคัญที่จะทำให้เรามีความสุขจากการให้ ก็คือการที่เรามีความรัก
เมื่อเรามีความรัก มีความเมตตาต่อผู้อื่น เราให้ใคร เราก็มีความสุขจากการให้แก่ผู้นั้น ถ้าเรารักเพื่อน รักพี่น้อง เมื่อเราให้แก่เพื่อนให้แก่พี่น้อง เราก็มีความสุขจากการให้นั้น
ทีนี้ถ้าเรารักเพื่อนมนุษย์ มีความรักกว้างขวางออกไปเท่าใด เราก็สามารถมีความสุขจากการให้ได้มากขึ้นเท่านั้น ต่อไปเราเห็นผู้อื่นมีความสุข เราก็มีความสุข นี้ก็คือจิตใจที่มีการพัฒนาขึ้นมา
สูงขึ้นไปจากนั้น ก็คือการสละละวาง ซึ่งหมายถึงการมีจิตใจที่เป็นอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ไม่ต้องตกเป็นทาสของวัตถุ
ตามธรรมดา แต่ก่อนนี้ เราจะมีความสุขได้เราต้องอาศัยวัตถุ ต้องมีสิ่งของมาเราจึงจะมีความสุข ลำพังใจเราอยู่กับตัวเองไม่มีความสุข ต้องมีสิ่งปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เมื่อเราพัฒนาใจของเราขึ้น จิตใจของเราเป็นอิสระมากขึ้น สามารถปล่อยสละละวางสิ่งต่างๆ เราก็มีความสุขอยู่ในตัวของตัวเองอย่างเป็นอิสระได้มากขึ้น นี่ก็คือการเป็นทาสของวัตถุหรือสิ่งภายนอกน้อยลงๆ นั้นเอง
ที่ว่ามานี้ก็คือเรื่องของจาคะ ซึ่งได้แสดงความหมายมาตามลำดับจนถึงขั้นของการที่มีจิตใจเป็นอิสระละวาง ปล่อยวางได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาของจิตใจสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
๕. ปัญญา ปัญญานี้ต่างจากสุตะ สุตะคือความรู้ที่เป็นเรื่องของผู้อื่นถ่ายทอดให้เรามา ส่วนปัญญา คือความรู้เข้าใจที่เป็นเนื้อแท้ในใจของเราเอง ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ จนถึงขั้นที่สามารถนำเอาความรู้ไปใช้ทำการต่างๆ ได้
ความรู้ที่เรียกว่า สุตะ เป็นความรู้ที่เราได้รับจากผู้อื่น เป็นของคนอื่น เราเอามาจากคนอื่น ความรู้ประเภทนี้ ถ้าไม่มีปัญญาก็ใช้ไม่เป็นและไม่ค่อยได้ประโยชน์ คนที่มีปัญญาจึงจะใช้ความรู้ประเภทที่เรียกว่าสุตะได้ ฉะนั้นทางพระท่านจึงแยกความรู้ไว้เป็น ๒ ประเภท
ความรู้ประเภทที่ ๑ คือ ความรู้ประเภท สุตะ ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า สิ่งที่ได้สดับ หรือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา หมายถึงความรู้จำพวกข้อมูลข่าวสาร หรือเนื้อหาวิชาการที่ผู้อื่นให้มา เรารับจากผู้อื่นเป็นของคนอื่น เราเอามาจากของคนอื่นทั้งนั้น เป็นของที่ได้รับถ่ายทอดมาจากแหล่งภายนอก
ส่วนความรู้ประเภทที่ ๒ คือ ปัญญา ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจซึมซาบในความรู้ประเภทที่ ๑ และสามารถนำเอาความรู้ประเภทที่ ๑ นั้นไปใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน แล้วสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาก็ได้ ซึ่งเป็นปัญญาในระดับที่สำคัญมาก
ปัญญาเป็นตัวคุมทุกอย่าง เป็นตัวจัดสรรทุกอย่างให้พอเหมาะพอดี ให้เกิดดุลยภาพ
ในยุคนี้เขาเน้นมากในเรื่องดุลยภาพหรือภาวะที่สมดุล นับว่าสอดคล้องกับหลักการทางธรรมที่ท่านแสดงไว้แล้ว ดังในกรณีนี้ศรัทธาก็ต้องปรับให้พอดี ศีลก็ให้พอดี สุตะ จาคะต้องพอดีทั้งนั้น
ปัญญานี้เป็นตัวปรับ ถ้ามีปัญญาแล้ว ก็จะจับทุกสิ่งให้เข้าที่พอเหมาะพอดีได้ ท่านจึงวางปัญญาไว้เป็นตัวคุมสุดท้าย แม้แต่การที่เราจะมีจิตใจเป็นอิสระละวางสิ่งต่างๆ ได้ ก็เพราะมีปัญญารู้เท่าทันโลก รู้เท่าทันชีวิต รู้เท่าทันสังขาร
เมื่อมีจิตใจเป็นอิสระแล้ว ก็สามารถมีความสุขได้โดยไม่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นการพัฒนาของจิตใจที่สำคัญมาก
ในวงการแพทย์ จะเห็นว่าคนไข้จำนวนมากที่มาโรงพยาบาลนั้น ถ้าว่าตามธรรมดาของเขาก็เป็นเรื่องของการที่ว่าเขาจะต้องมีความทุกข์ เพราะในเวลาที่ป่วยนั้นร่างกายหาความสุขไม่ได้ เพราะมันหมดความสามารถที่จะหาความสุขอย่างที่เคยต้องการ
ในเวลาที่ป่วยนั้น อยากจะไปเที่ยวไปไหนก็ไม่ได้ แม้แต่อาหารเคยกินเอร็ดอร่อยก็ไม่อร่อย ฟังดนตรีที่เคยชอบใจว่าไพเราะ บางทีก็กลายเป็นไม่ไพเราะ เห็นเป็นน่ารำคาญไปเสีย เมื่อมีความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน อะไรก็ไม่เอาทั้งสิ้น
ตอนที่มีความเจ็บปวดทุกข์ทรมานนั้น การที่จะหาความสุขโดยอาศัยสิ่งภายนอก ก็ไม่ได้ผลหรือทำไม่ได้ เป็นอันว่าถึงเวลาที่จะต้องหาความสุขที่เป็นภายในของเขาเอง ถ้าเขามีปัญญารู้เข้าใจสิ่งต่างๆ รู้เข้าใจชีวิต รู้จักปล่อยวาง รู้จักทำใจได้ เขาก็จะมีความทุกข์น้อย แล้วก็มีความสุขได้มากขึ้น
บางคนทั้งๆ ที่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ไม่ค่อยมีความทุกข์เท่าไร มีจิตใจสบาย ซึ่งท่านที่อยู่ในวงการแพทย์ หรือพยาบาลจะเห็นได้ชัด คนไข้บางคนเจ็บป่วยนิดหน่อยก็ทุกข์ทรมานเหลือเกิน ความเจ็บไข้แทนที่จะน้อยก็เลยกลายเป็นมาก เป็นการซ้ำเติมตัวเอง
บางคนท้อแท้หมดกำลังใจแล้วก็ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว ส่วนบางคนแม้จะเจ็บปวดมาก แต่จิตใจเขาดี รู้จักทำใจ ทำใจด้วยความรู้เท่าทันปล่อยวางได้ จิตใจเขาก็สงบสบาย แล้วก็ไม่เสียกำลังใจ บางทีโรคที่เป็นมากก็กลับเป็นเหมือนน้อย ถ้าพอจะหายได้ ก็หายไปเลย
ฉะนั้นคนเรานี้จะต้องมีหลักที่ยึดไว้ให้ได้อย่างหนึ่ง คือการรู้จักสร้างความเป็นอิสระ ให้สามารถหาความสุขได้จากการที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก
ยิ่งชีวิตของเราผ่านล่วงกาลเวลาไปมากขึ้น แก่เฒ่าชรามากขึ้น การอาศัยความสุขจากร่างกาย โดยพึ่งพาวัตถุภายนอกก็ยิ่งทำได้น้อยลง แต่ตรงข้ามจะต้องหาความสุขจากในภายในของตัวเองมากขึ้น คือต้องหาความสุขที่เป็นอิสระ อันนี้คือความเป็นอิสระอย่างหนึ่งของชีวิต ปัญญานี้แหละเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เกิดความเป็นอิสระนี้ พอมีปัญญารู้เท่าทัน จาคะคือการปล่อยวางสละได้ก็เกิดมีขึ้น
ที่กล่าวมานี้ก็เป็นหลักธรรมต่างๆ ที่จะนำมาใช้สำรวจตัวเอง เพียงเท่านี้ก็สำรวจตัวเราได้มากมายแล้ว งบดุลชีวิตเป็นอย่างไรก็ดูที่ธรรม ๕ อย่างนี้ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ว่า ได้เพิ่มไหมหรือว่าลดลงไปได้มากหรือเสียมาก กำไรหรือขาดทุนนี้เป็นจุดหนึ่งที่ต้องการสำรวจ
ทีนี้ มองให้กว้างออกไป นอกจากชีวิตของเราแล้ว วงงานของเรา โรงพยาบาลของเรา มหาวิทยาลัยของเรา สังคมไทยของเรา เป็นอย่างไร
อย่างสังคมไทยของเรานี้ ก็มีเรื่องที่ต้องสำรวจมาก จะมองในแง่สังคมกรุง เช่น มองในแง่สังคมกรุงและสังคมชนบทว่าเป็นอย่างไร เราเสื่อมหรือเราเจริญ หรือว่ามองในแง่เศรษฐกิจ มองในแง่การเมือง การศึกษา วัฒนธรรม ธรรมชาติแวดล้อม
โดยเฉพาะในเรื่องธรรมชาติแวดล้อมนี้เมืองไทยของเรากำลังประสบปัญหามาก เช่นเดียวกับทั่วโลก ลองสำรวจดูว่าในเรื่องธรรมชาติแวดล้อมนี้เราได้หรือเราเสีย กำไรหรือขาดทุน ตลอดจนเรื่องคุณภาพชีวิตทั่วไปๆ ก็ต้องดูว่าเป็นอย่างไร
มองใกล้ตัวเข้ามาก็ดูในด้านของวงการแพทย์ว่าเวชศาสตร์ทางด้านการป้องกันก็ดี เวชศาสตร์ทางด้านบำบัดก็ดี คือทั้งด้านบำบัดเยียวยา และด้านป้องกันส่งเสริม ทั้งสองด้านนี้เจริญขึ้นหรือเสื่อมลงอย่างไร มีได้มีเสียอย่างไร ล้วนเป็นเรื่องที่พิจารณาตรวจสอบกันได้
มีเรื่องที่จะพูดกันได้ไม่รู้จักจบ คือ เรื่องที่จะสำรวจมีมากเหลือเกินในการที่จะมาทำงบดุลของเรา
อย่างไรก็ตาม มีหลักอันหนึ่งที่น่าพิจารณา ในปัจจุบันสำหรับสังคมที่มองอย่างง่ายๆ แคบๆ คือเราอาจมองสังคมปัจจุบันนี้ ตามรูปแบบของการจัดแยกสังคมเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. สังคมเกษตรกรรม
๒. สังคมอุตสาหกรรม
๓. สังคมข่าวสารข้อมูล
สังคม ๓ แบบนี้ เกี่ยวข้องกับโลกในปัจจุบันนี้มาก เพราะว่าประเทศต่างๆ กำลังอยู่ในระยะของความเจริญพัฒนา โดยมีรูปแบบของสังคม ๓ ประเภทนี้เป็นที่กำหนด
สังคมไทยของเราก็เหมือนกัน เราก็เอารูปแบบของสังคม ๓ แบบนี้มาใช้เป็นเครื่องตรวจสอบ ลองมองดูสังคมของเราว่าเป็นอย่างไร สังคมของเราเป็นสังคมอะไรกันแน่ เป็นสังคมเกษตรกรรม หรือเป็นสังคมอุตสาหกรรม หรือเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล
อย่างอเมริกานี้เขาบอกว่าตอนนี้เขาเป็นสังคมข่าวสารข้อมูลแล้ว เขาพูดอย่างมั่นใจ เขาพูดมา ๒-๓ ปีแล้ว ว่าเขาเป็นสังคมข่าวสารข้อมูลแน่นอนแล้ว คนในภาคเกษตรกรรมเขามีแค่ ๓% เท่านั้นเอง คนในภาคอุตสาหกรรมก็ลดน้อยลง เดี๋ยวนี้เหลือสัก ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนคนในภาคข่าวสารข้อมูล และภาคบริการได้เพิ่มขึ้น จนกระทั่งเขาพูดได้อย่างเต็มปากว่า ตอนนี้เขาเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล เสร็จแล้วก็ลองมาดูประเทศไทยของเรานี้ว่าเป็นสังคมประเภทไหน
สังคมไทยของเรานี้ในแง่ประชากรส่วนใหญ่ ราว ๗๐% อยู่ในภาคเกษตรกรรม ถ้าว่าถึงภาคอุตสาหกรรม แม้จะกำลังเพิ่มขึ้น และเป็นที่นิยมมาก แต่ก็ยังมีน้อย ยิ่งภาคข่าวสารข้อมูลด้วยแล้ว ต้องนับว่ายังไม่เข้าขั้นเลย ถึงแม้ว่าจะได้รับผลจากความเจริญในสังคมอื่นมามากเหมือนกัน ก็ยังไม่นับว่าเจริญเข้าขั้นอย่างนั้น
ถ้าว่าตามความต้องการหรือตามที่อยากจะเป็น สิ่งที่เราปรารถนากันมากก็คืออยากจะเป็นสังคมอุตสาหกรรม แต่ตัวจริงของเรานั้นถ้าว่ากันตามด้านประชากร เราก็เป็นสังคมเกษตรกรรม
ทีนี้ก็มีปัญหาว่า สภาพที่เป็นจริงกับสิ่งที่ปรารถนามันไม่สอดคล้องกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะเอาอย่างไร เราจะก้าวไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมไหม เราจะเอาแน่ไหม ตอนนี้ก็เป็นระยะเวลาของการสำรวจตรวจสอบว่า เราจะเอาอย่างไรกันแน่กับวิถีของสังคมของเรา
ถ้าเราจะเป็นสังคมเกษตรกรรม โดยสภาพประชากรก็อย่างที่ว่าแล้ว ก็แน่นอนว่าเป็นได้ เพราะประชากร ๖๐-๗๐% อยู่ในภาคเกษตรกรรม
แต่ในเวลาเดียวกันถ้าเรามองดูสภาพความเป็นจริง ที่ดินสำหรับทำเกษตรกรรมนี่กำลังลดน้อยลง กำลังถูกขายไปๆ อย่างปีที่แล้วก็ไม่รู้ว่าถูกขายไปเท่าไร ร่อยหรอลงไปมากมาย และแม้แต่ส่วนที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้ใช้ ถูกทอดทิ้งรกร้างว่างเปล่าด้วยความหวังว่าจะขาย
ชาวบ้านจำนวนมากมีที่นาก็ไม่ทำ ได้แต่รอคอยว่าจะขาย จนกระทั่งตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจขึ้น เกี่ยวกับการให้เงินกู้เป็นต้น มีปัญหาพลิกผันในเรื่องของการขายที่ดิน ซึ่งไม่เป็นผลดีเท่าไรต่อภาคเกษตรกรรม
นอกจากนี้ก็คือเรื่องค่านิยม ชาวนาหรือเกษตรกรเองก็ทั้งไม่พอใจและไม่ภูมิใจในอาชีพของตน มีความพร้อมที่จะสละออกไป เพราะอาชีพเกษตรกรรมนั้นทั้งหนักทั้งเหนื่อย หนักและเหนื่อยแล้วยังไม่พอ ยังเสี่ยงมากอีกด้วย เพราะทำไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลกำไรหรือไม่ สินค้าของตนเอง แต่ตนเองไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา จึงไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ ราคาพืชผลต้องขึ้นต่อคนกลางเป็นผู้กำหนด คือผู้อื่นมากำหนดให้เรียกได้ว่าไม่มีอิสรภาพ และไม่สามารถพึ่งตนเองได้
การทำนาในปัจจุบันนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนมีวัวมีควายอยู่กันตามธรรมชาติ ถึงเวลาฝนมาก็ไถหว่านแล้วก็เพาะปลูกก็ได้ข้าวกิน
แต่เดี๋ยวนี้ไม่อย่างนี้แล้ว จะทำนา ตอนแรกก็อาศัยรถไถ ซึ่งหลายคนก็ไม่มีเป็นของตนเอง ต้องจ้างรถไถของคนอื่นมา น้ำมันก็ต้องอาศัยจากภายนอก อาศัยน้ำมันก็ยังไม่พอ ต้องอาศัยยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหนู ยาฆ่าปู ยาฆ่าหญ้า แล้วก็ปุ๋ยอีก ทุกอย่างต้องอาศัยจากภายนอก เป็นอันว่าพึ่งตนเองไม่ได้เลย ต้องอาศัยผู้อื่น ต้องพึ่งผู้อื่นไปหมด ถึงเวลาขายก็ไม่ค่อยได้กำไร เพราะถูกคนอื่นเป็นผู้กำหนดราคาอย่างที่ว่ามาแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ชาวนาก็เลยท้อถอย หรือท้อแท้ ไม่อยากทำนา
แล้วยังมีค่านิยมที่ทำให้ไม่ภูมิใจในอาชีพของตน ซ้ำเข้าไปอีก ภาคเกษตรกรรมก็ยิ่งเสื่อมทรุดกันใหญ่ ซึ่งมีผลกระทบไปถึงด้านแรงงานด้วย
ในด้านแรงงานนั้น แรงงานเกษตรกรรมก็หลบลี้หนีจากอาชีพของตนไป หนุ่มสาว ถ้ามีโอกาสก็มุ่งหน้าเข้าสู่เมือง ไปขายแรงงานเป็นคนงานก่อสร้างบ้าง ทำงานรับจ้างอื่นๆ บ้าง ตลอดจนเป็นโสเภณี และที่กำลังนิยมกันมากขึ้น ก็คือ เมื่อมีทางก็ไปเข้าโรงงานอุตสาหกรรม ทอดทิ้งคนแก่คนเฒ่าและเด็กอ่อนให้อยู่กับนากับไร่ ท้องนาก็ไม่มีแรงงานที่มีคุณภาพ มีแต่คนแก่และคนที่ไม่ได้เป็นแรงงาน เช่น เด็กเล็กๆ ตกลงว่าในชนบทก็ขาดแรงงาน ทั้งแรงงานกายและแรงงานสมอง แรงงานกายก็อย่างที่ว่ามานี้
ส่วนแรงงานสมองที่ว่าขาดนั้น ก็เพราะเข้ากรุงเข้าเมืองไปก่อนแล้ว คือเข้าไปในทิศทางของการศึกษา ไปเล่าเรียน เข้ากรุงไปกันหมด ฉะนั้นภาคชนบทกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีความหมายโยงกันอยู่เป็นอันเดียวกัน ก็จึงเสื่อมไปด้วยกัน คือ เสื่อมทรุดโทรมลงไปพร้อมๆ กัน
ปัจจุบันนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมไปสร้างในชนบทมากขึ้น เวลาเช้าก็มีรถจากโรงงานไปรับคนถึงที่ เด็กหนุ่มสาวก็แต่งตัวมาขึ้นรถไปโรงงาน เช้าไปเย็นจึงกลับมา ทิ้งท้องนาท้องไร่ให้รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ นี้คือสภาพที่เป็นอยู่ ภาคเกษตรกรรมของเราก็เป็นอย่างที่ว่ามานี้
ทีนี้ภาคอุตสาหกรรมละ ก็ต้องมาพิจารณากันอีกว่าภาคอุตสาหกรรมของเราเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมของเราเป็นอุตสาหกรรมภาคจักรกลมาก หรือเป็นอุตสาหกรรมภาคอิเล็กทรอนิกส์มาก เป็นอุตสาหกรรมที่จะรองรับยุคต่อไปคือยุคข่าวสารข้อมูลหรือเปล่า หรือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เรียกว่าไปรับระบายมลภาวะมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
เดี๋ยวนี้เขามีศัพท์ใหม่คำหนึ่งว่า throw-away industries แปลเป็นไทยว่า อุตสาหกรรมที่เขาโยนทิ้งแล้ว เขาบอกว่าประเทศไทยและประเทศจีนแดง ในระยะต่อไปนี้ถ้าไม่ปรับตัวให้ดี จะเป็นประเทศที่รับอุตสาหกรรมที่เรียกว่า throw-away industries จากประเทศพวกนิกส์ ๔ เสือ
๔ เสือคืออะไร คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี สำหรับญี่ปุ่นนั้นไม่ต้องพูดถึง เขาก้าวหน้าไปไกลแล้ว
พวกนิกส์ที่เป็น ๔ เสือนั้น เขาไม่เอาแล้วกับ throw-away industries คือพวกอุตสาหกรรมหนักประเภทที่ว่ามลภาวะสูง เขากำลังโยนมันทิ้งไป คราวนี้ประเทศไทยก็กำลังตั้งท่าจะรับระบายอุตสาหกรรมเหล่านี้มา ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะที่มีมลภาวะสูง
ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่าเราจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมประเภทไหน เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเพื่อระบายเอามลภาวะมาให้แก่ประเทศของตัวหรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา
มีนักทำนายอนาคตคนหนึ่งที่มีชื่อเสียง เขาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Megatrends 2000 หนังสือนี้บอกไว้ว่าประเทศไทยนี้มีศักยภาพที่จะข้ามยุคอุตสาหกรรมไปสู่ยุคข่าวสารข้อมูลได้เลย แต่ว่าประเทศไทยจะทำหรือไม่ ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็จะเสียโอกาสก็เป็นที่น่าสงสาร นี้เป็นความเห็นของนักทำนายอนาคตท่านหนึ่ง
ถ้าหากว่าประเทศไทยไม่ก้าวไปสู่ยุคข่าวสารข้อมูลที่ตัวมีศักยภาพที่จะทำได้ ไทยก็จะต้องรับ throw-away industries อันนี้เป็นเรื่องของประเทศไทยที่จะเลือกว่าเราจะเข้าอุตสาหกรรมแบบไหน
ต่อไปในแง่ที่จะเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล เราก็ได้รับกับเขาด้วย เพราะในปัจจุบันนี้การสื่อสารรวดเร็วเหลือเกินและข่าวสารข้อมูลนั้นก็หมุนเวียนมากมาย หลั่งไหลท่วมท้น จนกระทั่งรับกันแทบไม่ทัน
ทีนี้ก็มีปัญหาว่าในการที่จะเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลนั้น คนมีความพร้อมไหม มีคุณสมบัติในการที่จะรับข่าวสารข้อมูลไหม
การรับข่าวสารข้อมูลนี้เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน การรับและการกลั่นกรอง ตลอดจนการที่จะนำเอาข่าวสารข้อมูลนั้นมาใช้ประโยชน์โดยสร้างความรู้ใหม่ พร้อมทั้งมีความสามารถในการสื่อสารที่ว่านี้ มีความหมายรวมถึงความรับผิดชอบในการสื่อสารเป็นต้นด้วย ในเรื่องนี้ข้อพิจารณาที่สำคัญก็คือคนของเรามีความพร้อมไหม ตลอดจนในเรื่องของการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ในการสื่อสารซึ่งจะต้องดูว่าเรายังเป็นประเทศที่ต้องคอยรับอุปกรณ์ที่ผลิตจากประเทศอื่น มากกว่าที่จะผลิตด้วยตนเองใช่หรือเปล่า เราต้องอาศัยทีวี เครื่องโทรศัพท์ ระบบต่างๆ จนกระทั่งมาถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มาจากนอก
สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่มีเลยที่เราจะผลิตเอง ทั้งๆ ที่ว่าเดี๋ยวนี้คนไทยก็มีความสามารถ ถึงขั้นที่เริ่มผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ได้แล้ว แต่น่าพิจารณาว่าการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควรหรือเปล่า
อย่างคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาในเมืองไทยนี้ ภาษีเท่าที่ทราบประมาณ ๓๗% ต่างกันไกลกับสิงคโปร์ที่คอมพิวเตอร์เข้าประเทศไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะเขาเก็บภาษี ๐% ทางด้านประเทศมาเลเซีย อาตมาจำไม่ได้อาจจะเก็บภาษีสัก ๖-๗% แต่สำหรับประเทศไทยนี้ภาษีคอมพิวเตอร์ ๓๗%
เคยมีผู้สั่งมอร์นิเตอร์คือจอภาพของคอมพิวเตอร์เข้ามาไม่นานนี้ถูกเก็บภาษีเป็นสิ่งบันเทิง จอภาพของคอมพิวเตอร์เขามองเห็นเป็นจอทีวี แล้วเขาเก็บภาษี ๑๒๐% ฉะนั้นคนไทยเราจะก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลได้อย่างไร
ปีที่แล้วมีข่าวลงในหนังสือพิมพ์ว่า รัฐบาลจะจัดเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าอยู่ในสินค้าประเภทส่งเสริมอุตสาหกรรม ปีที่แล้วรัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยวิธีลดภาษีอุปกรณ์อุตสาหกรรมที่ส่งเข้ามา จาก ๓๐% เหลือ ๕% ก็แสดงว่ารัฐบาลต้องการให้ประเทศเป็นสังคมอุตสาหกรรมแล้วกระมัง ก็เลยส่งเสริมเรื่องอุปกรณ์อุตสาหกรรมเข้าประเทศโดยลดภาษีจาก ๓๐% เหลือ ๕%
ถ้าจัดคอมพิวเตอร์เข้าเป็นอุปกรณ์อุตสาหกรรมด้วยก็จะลดภาษีลง ซึ่งจะเหลือราว ๕% แต่ต่อมาปรากฏว่ารัฐบาลไม่จัดอย่างนั้นคอมพิวเตอร์ก็ถูกเก็บภาษี ๓๗% ต่อไป2
ถ้าเราอยากจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญอย่างดี คอมพิวเตอร์ก็จะเป็นตัวหนุนอุตสาหกรรมได้อย่างดีทีเดียว จึงเป็นเรื่องที่น่าจะพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล นี่อาตมาไม่ได้มาพูดติเตียน แต่มาพูดถึงเหตุการณ์ความเป็นไปว่าประเทศเราจะเอาอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ เราจะก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลหรือไม่ หรือจะเอาอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ จะพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปไหน ไปๆ มาๆ ก็ชักจะพูดกว้างออกไปทุกที
คราวนี้ก็มาถึงเรื่องข่าวสารข้อมูล กล่าวคือ ในสังคมที่มีข่าวสารข้อมูลมากนั้น จะต้องเน้นลักษณะที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ
๑. ประชาชนจะต้องมีความสามารถในการรับข่าวสารข้อมูล
๒. ผู้นำเสนอหรือถ่ายทอดข้อมูลจะต้องมีความรับผิดชอบ
เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาว่า สังคมของเราเป็นอย่างไรบ้างในเรื่องเหล่านี้
อาตมาขอยกตัวอย่าง เมื่อวานนี้เอง ก็มีหนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่องหนึ่ง3 ซึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับพระศาสนา อาตมาจะยกมาพูดให้ฟัง หนังสือพิมพ์ฉบับนั้น พาดหัวตัวโตว่า “ชาวบ้านเฮจับพระสึก” อ่านข่าวก็ได้ความว่า
“อื้อฉาวอีกวงการพระ เจ้าอาวาสตกเป็นผู้ต้องหาข่มขืนเด็กวัย ๑๓ ปี ออกอุบายว่ากำลังมีเคราะห์ต้องไปเก็บดอกไม้ในที่เปลี่ยว”
และต่อมาก็บรรยายเหตุการณ์ต่อไปว่า “เด็กนั้นถูกเจ้าอาวาสปีนหน้าต่างลงไปบังคับขืนใจ” ตามข่าวบอกว่า เจ้าอาวาส เจ้าอาวาสๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก บอกแม้กระทั่งชื่อวัดว่า เจ้าอาวาสวัดบางขนอน
แต่เมื่ออ่านจบข่าว แล้วเราใช้การพิจารณาก็ปรากฏว่า ผู้ที่ทำการนี้ไม่ใช่เป็นพระ ไม่ใช่เป็นเจ้าอาวาส ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง คือไม่ใช่เป็นเจ้าอาวาสก็ขั้นหนึ่งแล้ว แล้วก็ไม่ได้เป็นพระด้วย
อ่านเสร็จแล้วก็ประมวลได้ความว่า มีคนหนึ่งซึ่งแต่งตัวเป็นพระ ไปที่หมู่บ้านนั้น แล้วก็อ้างว่าเจ้าคณะอำเภอให้มาพัฒนาวัดๆ หนึ่งในถิ่นนั้น ซึ่งไม่มีพระอยู่เลย ชาวบ้านก็เลยดีใจว่าจะมีพระมา จะได้มีวัด ชาวบ้านก็เป็นธรรมดาอยากจะมีวัด จะได้เป็นที่ทำบุญ แล้วก็ช่วยกันพัฒนาวัดนั้น และนิมนต์ให้คนนี้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว ต่อมาจึงมีเรื่องเลวร้ายนี้เกิดขึ้น อย่างที่ว่าข้างต้น และได้มีการตรวจสอบหนังสือสุทธิ ปรากฏว่าเป็นหนังสือสุทธิปลอม เรื่องก็เป็นอย่างนี้
ในที่นี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า
๑. คนไม่น้อยจะอ่านแต่พาดหัวข่าว บางคนก็อ่านคำบรรยายข่าวเฉพาะตอนต้น แล้วก็ถือไปตามนั้น มีใครสักกี่คนที่อ่านข่าวไปจนจบ
๒. มีใครกี่คนอ่านแล้วจะเข้าใจดีว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การกระทำของพระ
การลงข่าววิธีนี้กลายเป็นว่า เอาเจ้าทุกข์เป็นจำเลย คือในกรณีนี้ ที่จริงพระศาสนาควรจะเป็นตัวเจ้าทุกข์ แต่การลงข่าวแบบนี้กลายเป็นเอาตัวเจ้าทุกข์คือพระศาสนานั้นเป็นผู้ร้ายไป คือแทนที่ว่าพระศาสนานี่จะเป็นเจ้าทุกข์ กล่าวคือถูกคนที่ปลอมตัวเป็นพระเข้ามาทำร้ายพระศาสนา แต่กลับเป็นว่าพระศาสนากลายเป็นผู้ร้ายไป นี้เป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง
เวลานี้พระศาสนาของเราโดนข่าวอื้อฉาวต่างๆ ย่ำแย่พอแล้ว โดนแบบนี้เข้าอีก ก็ช้ำมาก ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวสารข้อมูล
ไม่เฉพาะแต่หนังสือพิมพ์ที่ยกตัวอย่างมานี้เท่านั้น หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ที่ลงข่าวให้ตื่นเต้นกันแบบนี้ก็มี ในเวลาเดียวกัน เรื่องที่ลงที่เป็นจริงก็มาก และเรื่องที่เกิดขึ้นแต่ไม่ได้ลงเป็นข่าวก็มี
อย่างไรก็ตาม รวมความแล้ว ในสถานการณ์อย่างนี้สื่อมวลชนควรระมัดระวังที่จะลงข่าวด้วยความรับผิดชอบให้มากเพื่อช่วยกันฟื้นฟู หรืออย่างน้อยไม่ซ้ำเติมสังคมให้ตกต่ำลงไปอีก
ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์เดียวกันนั้น วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๓ ลงข่าวว่า “แหกผ้าเหลืองฆ่าโหด” แต่พออ่านข่าวก็ปรากฏว่าคนนั้นไม่ได้เป็นพระ
ตามปกตินั้น ถ้าแหกผ้าเหลืองก็หมายความว่า เขาเป็นพระอยู่ แล้วสึกออกไป แล้วก็ไปฆ่าคน แต่ในกรณีนี้เขาไม่ใช่เป็นพระ เพราะได้สึกออกไปนานแล้ว การที่ชาวบ้านบวชพระนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อบวชแล้วเขาก็สึกออกไปแล้วก็มีชีวิตของชาวบ้าน อยู่ต่อมาวันหนึ่งเขาก็ไปทำการร้าย แล้วเอาไปลงข่าวว่าแหกผ้าเหลือง ไปฆ่าโหด
นี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข่าวสารข้อมูล ถ้าสังคมของเราจะพัฒนาไปสู่ยุคข่าวสารข้อมูลที่ดี จะต้องมีความรับผิดชอบกันในเรื่องการนำเสนอข่าวสารข้อมูลให้มากขึ้น และประชาชนก็ต้องมีความสามารถในการรับข่าวสารข้อมูล รวมทั้งการเลือกข่าวสารข้อมูล เช่นทำอย่างไรจะรู้จักเลือกดูรายการ คือ ดูรายการทีวีอย่างที่เรียกว่าดูเป็น
ทำอย่างไรคนจะรู้จักเลือกดูทีวี คือ ดูรายการที่เป็นประโยชน์ ช่วยให้ได้ความรู้ ได้สาระ ที่จะนำมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาชุมชนของตน ไม่ใช่ว่าจะดูแต่รายการบันเทิงสนุกสนาน หรือมองที่จะเอาไปเล่นการพนันกันท่าเดียว อะไรทำนองนี้ ซึ่งจะไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนา แม้จะมีข่าวสารข้อมูลมากมาย แต่ก็นำไปสู่ความเสื่อมโทรม นำไปสู่ความมัวเมา แทนที่จะนำไปสู่ความเจริญ
ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ สังคมของเราก็พัฒนาได้ยาก เพราะว่าข่าวสารข้อมูลนี้ เป็นฐานสำคัญของความเจริญในยุคต่อไป
ที่ว่ามานี้ก็เป็นการนำเสนอซึ่งเป็นการพูดในแง่ต่างๆ เพื่อจะให้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องกาลเวลาที่ผ่านไป ที่เราก้าวเข้าสู่ปีใหม่ เหมือนกับว่ามาทำงบดุล เป็นการงบดุลชีวิต และงบดุลสังคม
การงบดุลนั้นจะทำขึ้นมาได้ ก็จะต้องมีการสำรวจรายได้รายจ่าย ให้รู้ถึงกำไรและขาดทุนไม่ว่าจะเป็นของชีวิตก็ตามหรือของสังคมก็ตาม
ถ้าเราจะสะสมให้เกิดความเจริญงอกงามขึ้นมาได้ ตลอดเวลาอย่างนี้จนกระทั่งถึงปีหน้า เราก็พูดได้อย่างเต็มปากว่าเราได้กำไร
แต่การที่จะได้กำไรอย่างนี้ก็ต้องอาศัยทำไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย โดยแบ่งซอยเวลาลงมา จากปีก็ต้องมาดูเป็นรายเดือน จากรายเดือนต้องมาดูเป็นรายสัปดาห์ ย่อยละเอียดลงไปจนกระทั่งเป็นรายวัน รายชั่วโมง รายนาที ว่าเราได้อะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ที่การรู้จักใช้เวลา
ฉะนั้น ผู้ที่สามารถใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ก็คือผู้ที่รู้จักสะสมความเจริญเพิ่มพูนขึ้นได้ จนกระทั่งงบดุลนั้นเป็นงบดุลที่แสดงถึงฐานะที่มีกำไร ทั้งนี้เราจะต้องใช้เวลาที่ผ่านไปอย่างน้อยในแต่ละวันให้ได้รับประโยชน์ ให้ได้กำไร
ฉะนั้นตัวเองที่จะได้สำรวจนี้ จะต้องสำรวจแม้แต่ในแต่ละวันว่า วันหนึ่งๆ เราได้หรือเราเสีย ไม่ต้องไปรอสำรวจถึงปี
ในทางพระศาสนาท่านบอกอยู่เสมอว่า ให้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท การที่ต้องดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทนั้น เพราะอะไร ก็เพราะสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งทั้งหลายมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องไม่ประมาท เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีความแน่นอน เปลี่ยนแปลงไปอย่างโน้นอย่างนี้ เราจะนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ จะต้องต้อนรับความเปลี่ยนแปลงด้วยปัญญา
ท่านบอกว่าสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป แต่ว่ามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย อันนี้เป็นข้อสำคัญ คือว่าหลักความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้บอกว่าสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปลอยๆ ตัวหลักนี้เองก็ไม่ได้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวลอยๆ ของมัน กล่าวคือ หลักความเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องไปสัมพันธ์กับหลักของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ฉะนั้นเมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย แต่มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย พอมันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยก็เป็นเรื่องที่โยงมาถึงการกระทำของเราว่าจะต้องมีการใช้ปัญญา คือการที่เราจะต้องสืบสาวค้นคว้าหาเหตุปัจจัย เพื่อว่าเมื่อเรารู้เหตุปัจจัยแล้ว เราจะได้แก้ไขป้องกันและสร้างเสริมได้ถูกต้อง
การเปลี่ยนแปลงที่เสื่อมเราไม่ต้องการ เมื่อเรารู้เหตุปัจจัยของความเสื่อม เราก็สามารถแก้ไขป้องกันความเสื่อมนั้นได้
ถ้าความเปลี่ยนแปลงใด เป็นความเจริญที่ต้องการ เราก็สืบหาว่าอะไรเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความเจริญนั้น เมื่อรู้แล้ว เราก็ทำเหตุปัจจัยนั้น ก็จะเกิดความเจริญที่ต้องการ
ฉะนั้นหลักความเปลี่ยนแปลงนี้ อย่าให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นหลักที่ลอยๆ
คนจำนวนมากใช้หลักอนิจจังหรือความเปลี่ยนแปลงนี้ในทางที่ไม่สมบูรณ์ คือมองแค่ว่าสิ่งทั้งหลายต้องเปลี่ยนแปลงไป เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไป ก็ได้แต่ปลงว่า สิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้เอง เราต้องรู้เท่าทันว่า สังขารทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็แตกสลายไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นเมื่อรู้เท่าทันแล้ว ก็วางใจสบาย ก็จบ คือสบายใจว่า เออ มันเป็นไปตามธรรมดาของมันที่จะต้องเสื่อมสลาย ก็จบเท่านั้น
อย่างนี้ท่านบอกว่าใช้ประโยชน์จากหลักอนิจจังได้ครึ่งเดียว แล้วก็เกิดโทษอีกด้านหนึ่ง หรืออีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโทษที่เกิดจากการไม่โยงหลักนี้ไปหาหลักของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย
กฎไตรลักษณ์ ที่มีหลักของการเปลี่ยนแปลงอยู่นี้จะต้องโยงไปหาหลักอิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท สองกฎนี้สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ปฏิจจสมุปบาทคือกฎแห่งความเป็นเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏรูปร่างออกมาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยงเป็นต้นนั้น เพราะว่ามันเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัย คือเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งมีสาระว่า เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนั้นจึงเกิด เมื่อสิ่งนั้นดับไป สิ่งนี้ก็ดับไป อันนี้เป็นหลักที่สำคัญมาก
ฉะนั้นไตรลักษณ์จะต้องโยงไปหาหลักปฏิจจสมุปบาท ถ้าเราเห็นหลักปฏิจจสมุปบาทก็ถึงตัวหลักที่แท้จริง ไตรลักษณ์นั้นเป็นเพียงลักษณะเท่านั้น เป็นอาการปรากฏ ตัวกฎที่แท้จริง คือปฏิจจสมุปบาท คือกฎของความเป็นเหตุปัจจัย เราจะต้องจับเหตุปัจจัยให้ได้ แล้วตัวนี้แหละจะเป็นตัวนำไปสู่การที่จะปฏิบัติได้ถูกต้อง
เพียงแต่ว่าเห็นสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป แล้วปลงว่ามันเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดา สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา วางใจสบาย อันนั้นก็เป็นเพียงรู้เท่าทันในขั้นหนึ่ง แต่จะต้องรู้ต่อไปอีกว่า ที่มันเป็นอย่างนี้ก็เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ตอนนี้ซิเป็นตอนสำคัญ ซึ่งจะโยงต่อไปสู่ภาคปฏิบัติ คือสืบสาวหาเหตุปัจจัย รู้เหตุปัจจัยของความเสื่อมและความเจริญแล้ว ก็มาถึงภาคปฏิบัติ คือการที่จะต้องทำตามเหตุปัจจัย แก้ไขที่เหตุปัจจัย และสร้างเสริมเหตุปัจจัย หมายความว่าแก้ไขเหตุปัจจัยที่จะทำให้เสื่อม และสร้างเสริมเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญงอกงาม อันนี้คือภาคปฏิบัติ และนี่แหละคือหลักความไม่ประมาท
เพราะฉะนั้นความไม่ประมาทจึงเกิดจากความที่เข้าใจรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงโยงอยู่ด้วยกันกับความเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็อาศัยกาลเวลา กาลเวลาก็เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงนี้เอง ดูเหมือนว่ากาลเวลานั้นรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้อยู่
เมื่อกาลเวลานี้สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลง กาลเวลาที่ผ่านไป เป็นไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นเมื่อเรามองเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องเห็นความสำคัญของกาลเวลาด้วย กาลเวลาที่ผ่านไปแต่ละขณะจึงสำคัญมาก พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสว่า
ขโณ โว มา อุปจฺจคา
เวลาแต่ละขณะอย่าให้ล่วงไปเปล่า
คำว่า “อย่าให้ล่วงไปเปล่า” นี้สำคัญมาก คำเต็มของท่านว่า ขณะอย่าได้ล่วงท่านไปเสีย หมายความว่า จะต้องหมั่นถามตัวเองว่าขณะแต่ละขณะนี้ เราได้ใช้ประโยชน์มันหรือเปล่า มันผ่านไปอย่างมีค่าไหม หรือผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ ว่างเปล่า
การเห็นความสำคัญของกาลเวลานี้ จะเห็นได้ในคำพิจารณาตัวเองของพระ พระพุทธเจ้าทรงสอนพระให้พิจารณาเป็นประจำ ท่านเรียกว่าหลักอภิณหปัจจเวกขณะ ๑๐ ประการ ตามหลักนี้พระจะต้องพิจารณาตนเองอยู่เนืองๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ ๑๐ ข้อ
ในบรรดา ๑๐ ข้อนั้น มีอยู่ข้อหนึ่งบอกว่า
กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺติ
บอกว่า บรรพชิต คือพระภิกษุพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
นี่เป็นตัวเตือนที่สำคัญมาก พอพิจารณาขึ้นมาอย่างนี้ สติก็มาทันทีเลยว่าเวลาล่วงไป วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ พอพูดแค่นี้ ก็ได้สติ พิจารณาตัวเองว่า เรากำลังทำอะไรอยู่หรือเปล่า หรือปล่อยเวลาให้เลื่อนลอยไป และถ้าทำ เราทำสิ่งที่ผิดหรือเปล่า ถ้าทำสิ่งที่ผิด ที่ไม่ดี ก็จะได้ยั้งหยุด ถ้าหากว่าปล่อยเวลาล่วงไป ไม่ได้ทำอะไรก็จะได้เร่งทำ
หลักนี้ฆราวาสก็คงใช้ได้เช่นเดียวกัน ถ้าพิจารณาทุกวัน ชีวิตจะเจริญงอกงามพัฒนาแน่นอน เพราะเมื่อพิจารณาว่าวันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ก็ทำให้มีการสำรวจตรวจสอบปัจจุบันของตนเองทันที ว่าเราทำอะไรอยู่
คำเตือนสติอีกข้อหนึ่งที่น่าจะมาด้วยกัน ก็คือ พุทธภาษิตว่า
อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา
แปลว่า เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า จะมากหรือน้อยก็ต้องให้ได้อะไรบ้าง
นี่คือการรู้จักใช้เวลา ถ้าได้แค่นี้แต่ละวันแล้ว กว่าจะถึงปีงบดุลชีวิตนี้จะต้องได้กำไร ถ้าทำอย่างนี้ทุกวัน
เป็นอันว่าคราวนี้ขอเสนอแค่สองข้อ คือ
ข้อที่หนึ่ง เตือนสติของตนเองว่า “พึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่”
ข้อที่สอง บอกตัวเองต่อไปว่า เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า จะมากหรือน้อยก็ต้องให้ได้อะไรบ้าง
เอาล่ะ ได้แค่นี้ก็พอแล้ว ถ้าพิจารณาทุกวัน ชีวิตจะเจริญก้าวหน้า กำไรจะตามมา ถ้าเอามากข้อกว่านั้นก็ยากขึ้นไปหน่อย คือถึงขั้นที่ว่า
ขโณ โว มา อุปจฺจคา
เวลาแต่ละขณะอย่าให้ล่วงท่านไปเสีย
ข้อนี้หมายความว่า แม้แต่เวลาแต่ละขณะๆ ก็อย่าปล่อยผ่าน ต้องจับเวลาแต่ละขณะไว้ให้ได้ประโยชน์
ถ้าทำอย่างที่ว่ามานี้เรียกว่าใช้เวลาเป็น ในการดำเนินชีวิตของคนเรานี่ การใช้เวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่าเวลามันกลืนกินชีวิตเรา พระท่านบอกว่า “เวลามันกลืนกินสรรพสัตว์พร้อมกันไปกับกินตัวมันเอง” ซึ่งแปลจากคำบาลีว่า
กาโล ฆสติ ภูตานิ สหตฺเตเนว อตฺตนา
ที่ว่ากาลเวลากลืนกินตัวมันเองนั้น เป็นการพูดแบบภาพพจน์นะ ที่จริงเวลามันไม่ได้กินอะไร แต่พูดเป็นภาพพจน์ว่ามันกิน
กาลเวลาผ่านไป มันก็กลืนกินสรรพสัตว์ไปด้วย เมื่อมันกลืนกินเรา เพื่อให้ได้ประโยชน์คุ้มกัน เราก็กลืนกินมันบ้าง นี่แหละคือการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ หรือรู้จักบริโภคเวลา การใช้เวลาก็คือการบริโภคเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จักใช้เวลาก็คือรู้จักบริโภคเวลา
การดำเนินชีวิตของคนเรานั้น ในความหมายหนึ่งก็คือ การบริโภค การเสพ หรือใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ การใช้เวลาเป็นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการรู้จักบริโภค ซึ่งเป็นความหมายอย่างหนึ่งของการดำเนินชีวิตเป็น
คนเราที่จะเป็นอยู่อย่างดีนั้นจะต้องดำเนินชีวิตเป็น คือรู้จักดำเนินชีวิตนั่นเอง ถ้าใครรู้จักดำเนินชีวิต ชีวิตนั้นก็เป็นชีวิตที่ดีงาม เป็นชีวิตที่พัฒนาเจริญก้าวหน้า ประสบประโยชน์สุข แต่ถ้าดำเนินชีวิตไม่เป็น ก็มีแต่ขาดทุนและประสบต่อความทุกข์ และความเสื่อม ฉะนั้นจะต้องรู้จักดำเนินชีวิต หรือดำเนินชีวิตเป็น
ในบรรดากิจกรรมทั้งหลายของการดำเนินชีวิตเป็นนั้น อันหนึ่งก็คือ การใช้เวลาเป็น การดำเนินชีวิตเป็นนี้ เป็นหลักที่สำคัญ ก็เลยจะขอพูดถึงเรื่องการดำเนินชีวิตเป็นเสียด้วย เพื่อให้เห็นองค์รวม เพราะในยุคนี้เราถนัดเรื่องความคิดเกี่ยวกับองค์รวม การใช้เวลาเป็นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง หรือเสี้ยวหนึ่งของการดำเนินชีวิตเป็น ถ้าเราจะทำให้ได้ประโยชน์ครบถ้วนจะต้องมองเห็นองค์รวมของการดำเนินชีวิตเป็นนั้น
องค์รวมที่เรียกว่าดำเนินชีวิตเป็นนั้น คืออะไร
การดำเนินชีวิตของคนเราคืออะไร มีคำพูดมาแต่เก่าก่อนว่า ชีวิตคือการต่อสู้ หมายความว่า การที่เราดำรงชีวิตอยู่นี้ เราต้องประสบปัญหา ประสบสิ่งบีบคั้นต่างๆ เราจะต้องต่อสู้ดิ้นรน ซึ่งพูดสั้นๆ เป็นภาษาวิชาการ ก็คือการแก้ปัญหา ที่พูดว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ก็เท่ากับพูดว่าชีวิตคือการแก้ปัญหา คนใดที่แก้ปัญหาเก่ง แก้ปัญหาเป็น คนนั้นก็จะดำเนินชีวิตได้ดี จะต่อสู้ได้ชนะ
เป็นอันว่าในแง่ที่หนึ่ง ที่พูดว่าชีวิตคือการต่อสู้ เมื่อพูดให้เข้าหลัก ก็คือชีวิตคือการแก้ปัญหา ฉะนั้น เราจะต้องรู้จักแก้ปัญหา หรือแก้ปัญหาเป็น ในแง่นี้การดำเนินชีวิตเป็น ก็คือการแก้ปัญหาเป็น ถ้าคนแก้ปัญหาเป็น ก็ประสบความเจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ
ข้อต่อไปก็คือ ความหมายของการดำเนินชีวิตในแง่ที่ ๒ การดำเนินชีวิตของเราในแต่ละวันนี้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ คืออย่างไร
มองในแง่หนึ่ง ชีวิตของเราแต่ละวันนี้ก็คือการทำสิ่งต่างๆ ที่ภาษาพระท่านเรียกว่า การทำกรรม ชีวิตของเรานี้ตลอดเวลาคือการทำกรรม ลองพิจารณาดูว่าใช่หรือเปล่า
กรรมคืออะไร คือการทำ พูด คิด ไม่คิดก็พูด ไม่พูดก็ทำทางกาย ถ้าไม่ทำออกมาทางกาย ก็พูดทางวาจา หรือไม่ก็คิดอยู่ในใจ วันเวลาของเราทั้งหมดนี้ แต่ละวันเป็นเรื่องของการทำ พูด คิด หรือคิด พูด และทำ ใช่หรือเปล่า
เป็นอันว่า การดำเนินชีวิตของเรานี้ ในความหมายอย่างหนึ่งก็คือ การทำกรรม ได้แก่การทำ พูด คิด ทีนี้คนเราที่จะดำเนินชีวิตได้ดี อย่างที่เรียกว่าดำเนินชีวิตเป็น ประสบความสำเร็จก้าวหน้านั้น ลักษณะหนึ่งก็คือ การต้องทำกรรม ๓ อย่างนี้ให้เป็น ทำให้ดี ทำให้ถูกต้องแล้ว จึงจะเป็นชีวิตที่ดี
เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตเป็น จึงหมายถึงการรู้จักทำ รู้จักพูด รู้จักคิด หรือทำเป็น พูดเป็น คิดเป็น ๓ อย่างนี้แหละ ถ้าใครทำได้ชีวิตจะเจริญงอกงาม เมื่อคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็นแล้ว ก็มีชีวิตที่ดีงามสุขสบาย
สมัยปัจจุบันนี้วงการการศึกษาเน้นกันมาก ในเรื่องการคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นใช่ไหม เมื่อเทียบกับที่พูดมาแล้วข้างต้นทั้ง ๒ ด้าน ก็เกือบจะตรงกันทีเดียว แต่ยังไม่ครบถ้วน คือ ขาด “พูดเป็น”
การศึกษาที่บอกว่าคิดเป็นทำเป็นแก้ปัญหาเป็นนั้นไม่พอ เพราะอะไร ยุคนี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล พูดเป็นสำคัญมาก พูดเป็น ถ้าใช้ภาษาวิชาการ ก็คือสื่อสารเป็น ในยุคข่าวสารข้อมูล ถ้าสื่อสารไม่เป็นก็ลำบาก ฉะนั้น การศึกษาที่ดีจะต้องเพิ่มพูดเป็นหรือสื่อสารเป็นเข้าไปด้วย
ตั้งแต่โบราณ ไทยเรานี้ให้ความสำคัญแก่การพูดเป็นมานานแล้วว่า ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ท่านเน้นความสำคัญของการพูดเป็นว่าปากเป็นเอกเลยนะ การศึกษาปัจจุบันบอกว่า คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เดี๋ยวนี้เขาเอากันแค่นี้เท่านั้น ลืมอย่างหนึ่งไปไม่ครบกรรม ๓ คือขาดพูดเป็น หรือสื่อสารเป็น
พูดเป็นนี้สำคัญมาก แม้มีความรู้ แต่ถ้าถ่ายทอดไม่ได้ หรือมีความต้องการอะไรแต่พูดให้เขาเข้าใจไม่ได้ ก็เรียกว่าสื่อสารไม่เป็น จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมให้ดีได้ยาก
ยิ่งในยุคปัจจุบันนี้การสื่อสารก้าวหน้าไปมาก เช่น มีการโฆษณา และชักจูงคนอื่น ทำให้มวลชนเห็นคล้อยไปตาม ก่อผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง การพูดเป็น รวมทั้งการรู้เท่าทันและรู้จักเลือกสรรข่าวสารข้อมูล จึงเป็นเรื่องสำคัญเหลือเกิน
เป็นอันว่า การดำเนินชีวิตเป็นในแง่ที่ ๒ ก็คือ การที่สามารถคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น
ต่อไปมองอีกด้านหนึ่ง ชีวิตคืออะไร ตอนต้นได้บอกว่าชีวิตคือการต่อสู้ ซึ่งเป็นการมองในแง่การแก้ปัญหา นั่นก็ถูก ต่อมามองในแง่ของการทำกรรม ๓ อย่างก็ถูกเหมือนกัน แต่มองอีกอย่างหนึ่ง ชีวิตคืออะไร
ชีวิตของเราแต่ละวันนี้มองในแง่หนึ่ง ก็คือ การรับรู้ประสบการณ์ทางอินทรีย์หรือประสาทสัมผัสต่างๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ รับรู้ตลอดวันใช่ไหม ชีวิตของเราในแต่ละวัน ก็คือการได้เห็น ได้ฟัง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รับสัมผัสและรู้สึกนึกคิดต่างๆ วันๆ หนึ่ง เต็มไปด้วยการรับประสบการณ์ทั้งนั้นเลย ใช่หรือเปล่า
ฉะนั้นชีวิตของคนมองอีกด้านหนึ่งไม่มีอะไรเลย เป็นการรับประสบการณ์เท่านั้น คือ ใช้ตา ใช้หู ใช้จมูก ลิ้น กาย ใจ วันๆ ชีวิตของเราอยู่กับสิ่งเหล่านี้
มนุษย์ที่ใช้อินทรีย์เหล่านี้ไม่เป็น เรียกว่าดำเนินชีวิตไม่เป็น การศึกษามองข้ามอันนี้ไป เอาแต่คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น แต่ไม่เอาการรับรู้ประสบการณ์เป็นเข้ามาด้วย
การรับรู้ประสบการณ์เป็นนี้สำคัญมาก คือจะต้องใช้ตาเป็น ใช้หูเป็น เป็นต้น ใช้ตาเป็นคือดูเป็น ใช้หูเป็นคือฟังเป็น อย่างนี้เป็นต้น
ดูเป็น ฟังเป็นนี้สำคัญมาก เพราะการศึกษาเริ่มต้นจากการรับรู้ก่อน แล้วจึงจะออกมาถึงทำเป็น แก้ปัญหาเป็น คือต้องรับรู้ก่อน ถ้ารับรู้ประสบการณ์ไม่เป็นก็จะไม่ได้ความรู้ ไม่ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
ทางพระท่านบอกว่า ไม่ให้รับรู้ด้วยความยินดียินร้าย แต่ให้รับรู้ด้วยสติปัญญา ทั้งนี้เพื่อผลดีแก่ชีวิต คือ
๑. เพื่อจะได้ข้อมูลที่เป็นความรู้ ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ถูกล่อหลอกให้เขวออกไปโดยความรู้สึกที่เกิดขึ้น
๒. เพื่อให้ข้อมูลนั้นถูกรับรู้เข้ามาอย่างเที่ยงตรง บริสุทธิ์ เป็นธรรม ไม่ผิดพลาด ไม่ลำเอียง
การศึกษาไม่ได้พิจารณาเรื่องการรับรู้ประสบการณ์ จึงมองข้ามเรื่องนี้ไปเสีย และปล่อยปละละเลย เมื่อรับรู้ไม่เป็น พอรับประสบการณ์เข้ามา การรับรู้ก็กลายเป็นการชอบหรือชังเลยไม่ได้ความรู้ พอเห็นหรือได้ยินปั๊บ ก็มีแต่ความชอบหรือชังเท่านั้น แล้วก็ปรุงแต่งไปตามความชอบหรือชังนั้น มีเพียงความรู้สึกแต่ไม่ได้ความรู้
ฉะนั้น การที่จะรับรู้เป็นจะต้องใช้ตาเป็น ใช้หูเป็น คือต้องดูเป็น ฟังเป็น เป็นต้น ซึ่งการศึกษาควรจะเน้น เช่น สังเกตว่า เมื่อเด็กดูโทรทัศน์แกรู้จักเลือกดูรายการไหม ดูรายการนั้นแล้วดูเป็นไหม จับเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือได้สิ่งที่เป็นโทษมา เมื่อฟังอะไร ฟังเป็นไหม เลือกฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือเปล่า ในรายการเดียวกันนั้น ฟังแล้วจับเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือได้สิ่งที่เป็นโทษ รู้จักสำเหนียกหรือเปล่า อันนี้เป็นการศึกษาขั้นเริ่มต้นที่สุด เพราะว่าการรับรู้ประสบการณ์เป็นสิ่งที่มาก่อนกิจกรรมอย่างอื่นของชีวิต
เป็นอันว่าชีวิตของเรานี้ ในแง่หนึ่งก็คือการรับรู้ประสบการณ์ทางอายตนะ หรืออินทรีย์ทั้งหลาย หรือทางประสาทสัมผัสต่างๆ ฉะนั้นการฝึกฝนพัฒนาคนขั้นแรกก็คือ จะต้องให้รับรู้เป็น เมื่อรับรู้เป็น เช่นดูเป็น ฟังเป็น เป็นต้นแล้ว ก็เท่ากับว่าดำเนินชีวิตเป็นในขั้นเริ่มแรกที่สำคัญที่สุด
แต่แค่นี้ก็ยังไม่พอ ชีวิตคืออะไร ตอบได้หลายอย่าง ตอบว่าชีวิตคือการต่อสู้ก็ได้แง่หนึ่ง ว่าคือการทำกรรมก็ได้แง่หนึ่ง ว่าคือการรับรู้ประสบการณ์ก็ได้แง่หนึ่ง ยังไม่จบแค่นั้น
ชีวิตคืออะไร วันหนึ่งๆ เราทำอะไรบ้าง ชีวิตของเราอีกอย่างหนึ่ง คำตอบที่สำคัญ คือ การเข้าไปเอาประโยชน์จากสิ่งทั้งหลาย
เราเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย เราเข้าไปเกี่ยวข้องไปโน่นไปนี่ ก็เพื่อไปเอาประโยชน์ให้แก่ชีวิตใช่หรือไม่ คือเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายเพื่อบริโภคมัน ใช้มัน กินมัน เสพมัน ภาษาพระท่านเรียกว่า เสวะ แปลว่า เสพ คือเอามันมาเป็นประโยชน์แก่เรา
ฉะนั้นการดำเนินชีวิตของเราแต่ละวันก็คือ การเข้าไปเอาประโยชน์จากสิ่งทั้งหลาย
แม้แต่การสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ว่าโดยพื้นฐาน ก็คือการไปเอาประโยชน์จากเขา ดังที่เรียกว่าเสวนา เสวนา คือการคบหา หรือการคบคนนี้ เพื่ออะไร ก็เพื่อเอาประโยชน์ให้แก่ชีวิตของเราใช่หรือเปล่า
การเอาประโยชน์จากปัจจัยสี่ เอาประโยชน์จากอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ อุปโภค บริโภค เราเรียกว่าโภคะ ซึ่งแปลว่า บริโภค หรือกิน คือการเอามาใช้ประโยชน์ให้แก่ตัวเรา ซึ่งรวมไปถึงการเสวนา คือการเสพคน หรือคบหาคนด้วย
จะเห็นว่าการดำเนินชีวิตของเราคือ การเสพ การบริโภค การใช้สอย และการคบหานี้เป็นเนื้อหาสาระเป็นความหมายสำคัญ หรือเป็นหัวใจอย่างหนึ่งของการดำเนินชีวิตของเรา
คนเรานี้จะเรียกว่าดำเนินชีวิตเป็นก็ต้องบริโภคเป็น กินเป็น ใช้เป็น เสวนาเป็น ถ้าไปเกี่ยวข้องกับคน ก็ต้องเสวนาคือคบหาเป็น เสวนาแล้วให้ได้ประโยชน์แก่ชีวิตในทางสังคม ถ้าไปเสวนากับวัตถุ ก็คือ ไปบริโภควัตถุ ใช้ประโยชน์จากวัตถุให้ถูกต้อง ตลอดจนรู้จักประหยัด นี้เป็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต
ตกลงว่าด้านที่ ๔ ความหมายของชีวิตก็คือ การบริโภค หรือเสพ คือกินใช้ และคบหา ในแง่นี้ก็ได้ความว่าการดำเนินชีวิตเป็น ก็คือการบริโภคเป็น หรือใช้เป็น เสวนาเป็น ซึ่งเป็นการถือเอาประโยชน์จากสิ่งทั้งหลาย หรือจากสภาพแวดล้อมทุกอย่างได้อย่างถูกต้อง นับเป็นความหมายที่ ๔
ถึงตอนนี้ก็วกกลับเข้ามาหาเรื่องที่พูดค้างไว้ คือในบรรดาการใช้คือบริโภคหรือเสพ ซึ่งอยู่ในการดำเนินชีวิตด้านที่ ๔ นั้น ส่วนหนึ่งก็คือ การใช้เวลาเป็น อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ในเรื่องนี้ก็ต้องรู้จักใช้เวลา ใช้เวลาให้เป็น
ชีวิตของเราเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไร เราก็ใช้ประโยชน์จากมัน เราเอามันมาใช้ประโยชน์ เราต้องรู้จักใช้ประโยชน์ ให้มันเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าไปใช้มันแล้วกลายเป็นโทษแก่ตัวเอง เพราะไปจับแง่ผิดหรือไปติด ไปมัวเมาเสีย แทนที่จะได้ประโยชน์กลับได้โทษ นี้ก็เป็นความหมายของการดำเนินชีวิตเป็น
ตกลงว่านี้ก็คือองค์รวมของการดำเนินชีวิต ถ้าทำได้หมดทั้ง ๔ อย่างนี้แล้ว เรียกว่าดำเนินชีวิตเป็น เป็นชีวิตที่เจริญงอกงามอย่างแน่นอน
ด้านที่ ๑ ก็คือ แก้ปัญหาเป็น
ด้านที่ ๒ คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น
ด้านที่ ๓ รับรู้ประสบการณ์เป็น ดูเป็น ฟังเป็น ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กายเป็น
ด้านที่ ๔ กิน ใช้ บริโภค เสพ คบหาเป็น
ที่พูดมาในตอนนี้ทั้งหมดนี่แหละคือเรื่องทั้งหมด ที่การศึกษาจะต้องเกี่ยวข้อง ซึ่งแยกเป็น ๔ ด้าน ดังที่บรรยายมาแล้ว
การศึกษาจะต้องให้ครบ คือต้องช่วยให้คนฝึกฝนพัฒนาตนให้ดำเนินชีวิตเป็น ครบทั้ง ๔ ด้าน ฉะนั้นการที่จะดำเนินชีวิตเป็นก็ต้องเป็นหลายอย่าง ต้องเป็นทุกอย่าง ไม่ใช่แค่คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นเท่านั้น ซึ่งยังไม่พอ เดี๋ยวนี้เราเน้นกันมากในเรื่อง “เป็น” นี้ แต่ยังไม่ครบ
ตกลงก็จะต้องพูดว่าดำเนินชีวิตเป็น แต่ที่ว่า “เป็น” นั้น คืออย่างไร “เป็น” ก็คือให้ได้ผล หมายความว่าให้ได้ผลสมตามวัตถุประสงค์ ให้ได้คุณสมบัติที่เป็นจริง ให้พอดีให้เหมาะเจาะ ที่จะได้ผลที่ต้องการ การที่จะให้ได้ผลตรงตามต้องการก็ต้องทำให้พอดี เพราะที่ว่าเป็น ก็หมายถึงว่าให้คุณภาพไม่เสีย ไม่ขาดไม่เกิน ก็คือต้องให้พอดี
ใครคิดในเรื่องนั้นๆ ได้พอดี ตรงเรื่อง ตรงเป้า ได้เหตุปัจจัย หรือองค์ประกอบในเรื่องนั้นพร้อมบริบูรณ์ จึงจะให้เกิดผลตามที่ต้องการ นี่แหละเรียกว่าพอดี เราจะทำอะไรก็จะต้องทำให้พอดี ทำเหตุปัจจัยให้ครบถ้วนพอดี แล้วผลจึงจะเกิดตามที่ต้องการ
ตัวอย่างเช่น เป็นแพทย์ เป็นพยาบาล จะทำการรักษาดูแลคนไข้ก็ต้องทำทุกอย่างให้พอดี แล้วผลดีที่ต้องการรักษาทั้งต่อคนไข้ ต่อแพทย์ และพยาบาล และต่อกิจการส่วนรวม จึงจะเกิดขึ้น
ฉะนั้น คำว่า “เป็น” จึงมาตรงกับคำว่า พอดี พอดีก็คือคำว่า มัชฌิมา มัชฌิมาก็คือสายกลาง ที่เราพบกันอยู่เสมอในคำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่แปลว่าทางสายกลาง ตกลงว่านี้คือธรรมในพระพุทธศาสนานั่นเอง
ที่ว่าดำเนินชีวิต “เป็น” นั้น เราลองมามองดูตามหลักธรรม ดำเนินชีวิตคืออะไร ก็คือ มรรค “เป็น” คืออะไร ก็คือพอดี พอดีก็คือ มัชฌิมา มรรคก็คำเดียวกันกับปฏิปทา ตกลงว่าดำเนินชีวิตเป็นก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา
มัชฌิมาปฏิปทา ก็คือทางสายกลาง ทางสายกลาง ก็คือทางที่พอดี ทางอะไร ก็คือทางดำเนินชีวิต ทางดำเนินชีวิตที่พอดี พอดีที่จะให้เกิดประโยชน์ที่ต้องการที่บรรลุจุดหมาย
ตกลงว่าไปๆ มาๆ เรื่องการดำเนินชีวิตเป็น ก็คือ เรื่องมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง และในมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง คือทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม ถูกต้องพอดีนี้ ส่วนหนึ่งก็คือการใช้เวลาเป็นนี้แหละ
วันนี้อาตมามาพูดเน้นในเรื่องการใช้เวลา เพราะถ้าเราใช้เวลาเป็นในแต่ละขณะแต่ละวันแล้ว เราจะได้กำไร ชีวิตก็จะเจริญก้าวหน้า เมื่อเราเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดีแล้ว ท่านบอกว่าพรก็จะเกิดขึ้นเอง
วันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องพรปีใหม่ ถ้าพูดตามภาษาพระแท้ๆ พรเป็นสิ่งที่เราจะต้องสร้างขึ้นเอง
มีพุทธพจน์ตรัสไว้เลยทีเดียวว่า อายุ วรรณะ สุขะ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นด้วยอาศัยการอ้อนวอน หรือความปรารถนาเท่านั้นก็หาไม่ ท่านทั้งหลายที่ปรารถนาสิ่งเหล่านี้จะต้องปฏิบัติสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยที่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นเอง
ที่ว่ามาข้างต้นนั้นก็คือ การที่เรากำลังจะทำเหตุปัจจัยให้พรเหล่านี้เกิดขึ้น
พรคืออะไร เราพูดกันบ่อยๆ ว่า จตุรพิธพรชัย คือ พรสี่ประการ ได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
อายุคืออะไร คำว่าอายุก็ยุ่งอีกแล้ว ถ้าจะพูดกันเรื่องถ้อยคำ ก็จะเสียเวลามาก คำว่า พร ก็เป็นปัญหา คำว่าอายุก็เป็นปัญหา ต่อไปจะขออธิบายความหมายของคำว่า พร สักหน่อย
คำว่าพรนั้น ที่จริงในภาษาพระ แปลว่า ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษที่ให้ตามคำขอ
ขอยกตัวอย่างเช่น ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจสูงสุด ชี้ตายชี้เป็นได้ ปุโรหิตคนหนึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดพระราชา มีลูกเป็นคนที่พูดไม่ดี ซึ่งต่อไปลูกนั้นจะต้องใกล้ชิดพระราชา และตัวปุโรหิตเองก็แก่จะตายอยู่แล้ว จึงคิดว่าต่อไปเมื่อตนเองสิ้นชีวิตไปแล้ว ถ้าลูกพูดอะไรผิดพลาดไป พระราชาอาจจะสั่งตัดศีรษะ
เมื่อคิดอย่างนี้แล้วท่านปุโรหิตก็เลยขอพรจากพระราชาว่า “ลูกของข้าพระองค์นี้เป็นผู้ที่มีวาจาไม่ดี ฉะนั้น ถ้าหากว่าเขาพูดอะไรผิดพลาดไป ขอพระองค์ได้โปรดยกโทษให้ ไม่เอาโทษ”
การขอสิทธิพิเศษอย่างนี้เรียกว่าขอพร และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้ โดยตรัสว่า “ตกลง เรายอมให้” อย่างนี้เรียกว่า ให้พร
เป็นอันว่า พรก็หมายถึงสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ หรือสิทธิพิเศษที่ให้ตามที่ขอ เขาขอแล้วให้ก็เรียกว่า ให้พร อย่างเช่น พระนางผุสดีขอพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์ ก็หมายความว่าตัวเองต้องการอะไรก็ขอไป แล้วเขาให้ ก็เรียกว่า ให้พร นี้เป็นความหมายเดิมแท้ของมัน
คราวนี้มีอีกความหมายหนึ่ง คือ พร แปลว่า ประเสริฐ อะไรก็ตามที่เป็นของประเสริฐ เช่น พระรัตนตรัย ก็เป็น วร คือเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ปัญญาก็เป็น วร คือเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นพรทั้งนั้น พรก็คือสิ่งที่ประเสริฐ พระรัตนตรัยก็เป็นพร ปัญญาก็เป็นพร สติก็เป็นพร สมาธิก็เป็นพร คือเป็นสิ่งที่ประเสริฐดีงาม
ที่ว่ามานี้ เป็นความหมายเดิมของท่าน แต่ในเมืองไทย คำว่า พร เราใช้ในความหมายว่าอย่างไร คนไทยใช้คำว่าพรในความหมายว่า สิ่งที่เราปรารถนา สิ่งที่ดีงามที่อยากจะได้ ฉะนั้นมันก็เพี้ยนไปแล้ว
ในที่นี้ เราจะมาประยุกต์ความหมายเสียใหม่ว่า พร คือ สิ่งที่เราปรารถนา พร้อมทั้งเป็นสิ่งที่ดีงาม ประเสริฐด้วย กล่าวคือ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าล้ำเลิศ
สิ่งที่มีคุณค่าล้ำเลิศ ที่เราปรารถนานั้นก็มีหลายอย่าง แต่ในที่นี้เราจะมองตามถ้อยคำที่คุ้นๆ กันอยู่แล้ว เช่น อายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นต้น
ทีนี้ก็จะอธิบายความหมายของคำว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ
อายุ คืออะไร อายุในภาษาไทยมีความหมายที่ค่อนไปในทางลบมากกว่าในทางบวก กล่าวคือในภาษาไทยนั้น ถ้าพูดว่าคนมีอายุมากก็มีความหมายไม่ดี คือแก่จะแย่แล้ว แต่ถ้าอายุน้อยกลับดี แสดงว่ายังเด็ก ยังหนุ่มยังสาว
ส่วนในภาษาพระนั้น อายุมากยิ่งดี อายุน้อยไม่ดี อายุน้อยก็คือพลังจวนหมดจะแย่แล้ว ในภาษาพระนั้นอายุคืออะไร อายุคือพลังที่หล่อเลี้ยงชีวิต ฉะนั้นท่านจึงให้พรอย่างหนึ่งว่าอายุ
ถ้าอายุเป็นของไม่ดีแล้ว พระจะมาให้พรว่า ให้คุณมีอายุมาก อย่างนี้ก็แย่ เราก็คงต้องบ่นว่า ทำไมพระจะให้เราแก่เสียล่ะ แต่ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น ที่บอกว่าให้มีอายุนั้น หมายถึง ให้เรามีพลังหล่อเลี้ยงชีวิตมากๆ ใครมีพลังหล่อเลี้ยงชีวิตมาก คนนั้นก็จะมีชีวิตมั่นคงเข้มแข็ง อยู่ได้ยืนยาว
วรรณะก็คือ ผิวพรรณที่ผ่องใส มีสง่าราศี
สุขะก็คือความสุข ความคล่อง ความปราศจากสิ่งบีบคั้นติดขัด คับข้อง
พละก็คือ กำลัง เรี่ยวแรง
นอกจาก ๔ ข้อนี้แล้วท่านยังมีอีกอย่างหนึ่ง ที่เราไม่ค่อยได้ยิน จึงรวมเป็นพร ๕ ประการ คือมี โภคะ เติมเข้าอีกตัวหนึ่ง
พร ๔ ประการที่เราได้ยินบ่อยคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เรียกว่า จตุรพิธพร แต่พร ๕ ท่านมีเพิ่มอีกอย่างหนึ่งเป็น อายุ วรรณะ สุขะ โภคะ พละ ได้แก่เติมโภคะ คือทรัพย์สมบัติเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง รวมเป็น ๕ อย่าง ถ้าเรียกเป็นคำพระก็เป็น เบญจพิธพร
ทีนี้ท่านบอกว่า สิ่งเหล่านี้มิใช่จะได้มาด้วยการอ้อนวอนปรารถนา การที่เราให้พรกันนี้ ก็คือ เรามาแสดงความปรารถนาดีต่อกัน เรามาตั้งจิตปรารถนาประโยชน์สุขแก่กัน และด้วยพลังจิตที่ปรารถนาดีนี้ ก็จะเกิดคุณธรรมความดีงามขึ้นมาในใจของผู้ให้ ซึ่งมีผลต่อจิตใจของเขา
ในเวลาเดียวกัน ทางฝ่ายผู้รับก็พลอยมีจิตใจบันเทิง เอิบอิ่มชื่นบาน คือ ซาบซึ้งในน้ำใจเมตตา หรือไมตรีของผู้ให้นั้นเอง อันนี้แหละก็เกิดเป็นความสุข และความมีไมตรีจิตตอบแทนขึ้นในใจของเขา ก็เลยกลายเป็นมีคุณธรรมเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย
ทีนี้ ถ้าหากว่ามีความเชื่อมั่นจริงๆ และเกิดกำลังใจแรงกล้า ก็จะมีความเป็นไปที่เกิดขึ้นโดยกลไกทางจิต ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจจิต หรือพลังของจิตนั้นเอง ไม่ใช่ว่าใครมาดลบันดาลให้หรอก ถ้าเราทำถูกต้อง เราปฏิบัติถูกต้องแล้ว ผลดีก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย
แต่สำหรับผู้คนที่ไม่ศึกษาเล่าเรียน ก็นึกว่าเป็นอำนาจภายนอกบันดาล ส่วนคนที่ได้ศึกษาแล้วก็จะรู้ว่าที่จริงเป็นกลไกของจิตนั่นเอง ถ้าเราเชื่อมั่นจริงๆ แล้ว มันก็มีกำลังมีพลังอำนาจมาก ฉะนั้นเราจึงควรปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านี้
ถ้าท่านต้องการได้พรเหล่านี้ ก็ต้องทำจิตใจให้ถูกต้อง โดยเฉพาะจะต้องมีความเชื่อมั่น ทำจิตใจให้สงบผ่องใสพร้อมทั้งมีความมั่นใจ มีกำลังใจเข้มแข็ง ที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ซึ่งตรงกับที่ทางพระเรียกว่า อธิษฐานจิต
การอธิษฐานจิตนั้นแปลว่า การตั้งจิตให้แน่วแน่มั่นคง หรือการตั้งใจเด็ดเดี่ยว แต่ในภาษาไทย อธิษฐาน มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นว่า อ้อนวอนปรารถนา
ในภาษาพระ อธิษฐาน แปลว่า ตั้งมั่น ทำให้เด็ดเดี่ยว คือตั้งจิตเด็ดเดี่ยว
ใครที่จะทำอะไรอย่างเอาจริงเอาจังมุ่งมั่นที่จะให้สำเร็จ มักจะต้องอธิษฐานจิต คือตั้งใจเด็ดเดี่ยวแต่เริ่มต้น ว่าเราต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จให้จงได้ ให้ถึงจุดหมายอย่างแน่นอน
การอธิษฐานจิต คือการ start เครื่อง ซึ่งทำให้มีพลังที่จะทำต่อไปอย่างจริงจัง เมื่อเริ่มต้นดีก็อย่างที่พูดกันว่าสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว อะไรทำนองนี้ การเริ่มต้นที่ดีก็คือ การตั้งใจให้แน่วแน่มั่นคงเข้มแข็ง
ตกลงว่า เราต้องการพรเหล่านี้ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ หรือจะเติมโภคะเข้ามาอีกอย่างหนึ่งก็ได้ ในการให้พรกันนั้น องค์ประกอบที่สำคัญ ก็คือ
๑. มีจิตปรารถนาดีต่อกัน
๒. ผู้ให้ตั้งจิตที่ประกอบด้วยเมตตาหรือไมตรี ตั้งจิตปรารถนาดีด้วยใจจริง ส่วนทางฝ่ายผู้รับ ก็ตั้งจิตให้ซาบซึ้ง ในความปรารถนาดีของผู้ให้ พร้อมทั้งทำใจให้น้อมรับพรนั้น
แต่เท่านี้ท่านบอกว่ายังไม่พอ ที่จริงนั้นความหมายในทางธรรมมีลึกซึ้งกว่านั้น
ตามความหมายในทางธรรม อายุคืออะไร อายุนี้ท่านอธิบายสำหรับพระก่อน อาตมภาพว่าใช้สำหรับฆราวาสได้ด้วย อายุ คือ อิทธิบาท ๔
ขออธิบายสั้นๆ อิทธิบาท ๔ เป็นตัวอายุ ถ้าใครทำตามก็จะมีอายุได้จริงๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าพระองค์ปรารถนาจะอยู่ตลอดกัป ก็อยู่ได้ โดยเจริญอิทธิบาท ๔ นี้
คำว่ากัปในที่นี้ หมายถึง อายุกัป คือกำหนดอายุของมนุษย์ หมายถึงอายุ ๑๐๐ ปี พระพุทธเจ้าอยู่แค่ ๘๐ ปี แต่พระองค์บอกว่า ถ้าพระองค์ต้องการจะอยู่ถึง ๑๐๐ ปี ก็อยู่ได้ โดยเจริญอิทธิบาท
แม้คนอื่นก็เหมือนกัน ถ้าต้องการให้อายุยืนถึงกัปก็ให้เจริญอิทธิบาท ๔
อิทธิบาท ๔ เป็นตัวอายุ ซึ่งทำให้ชีวิตยืนอยู่ได้ เป็นพลังหล่อเลี้ยงชีวิต ให้ยืนยาว
อิทธิบาทมี ๔ ประการคืออะไรบ้าง
อาตมาขอพูดถึงชีวิตของคนในสภาพแวดล้อมปัจจุบันก่อน คนไม่น้อย พอเกษียณแล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนเกษียณก็แข็งแรงดี สุขภาพดี ปราดเปรียว กระฉับกระเฉง แต่พอเกษียณไปไม่ช้าเลยก็เฉา แล้วไปๆ ไม่ช้าก็อายุหมด คือสิ้นชีวิต ให้เราลองสังเกตดู นี่เป็นเพราะอะไร
อีกคนหนึ่งเป็นคนขี้โรค น่าจะย่ำแย่อายุสั้น แต่กลับอยู่ได้ทนนาน เจ็บๆ หายๆ ไม่ตายสักที อะไรที่เป็นกลไกสำคัญในเรื่องนี้ สิ่งหนึ่งก็คือ อิทธิบาท ๔ นี้แหละ
อิทธิบาทเริ่มด้วย ฉันทะ คือมีสิ่งดีงามที่ใจใฝ่รักต้องการจะทำ ถ้าใครอยากอายุยืน ต้องมีจิตใจผูกอยู่กับการกระทำอะไรสักอย่างที่ดีงาม ใจคอยบอกตัวเองอยู่ว่า ฉันต้องการทำสิ่งนี้ให้ได้ หรือมีสิ่งดีที่ต้องการจะทำ แล้วใจรักที่จะทำ ตั้งขึ้นมาก่อนอย่างนี้เรียกว่า ฉันทะ แล้วทำสิ่งนั้นจนไม่มีช่องว่าง ไม่เปิดช่องให้แก่ความห่วงความกังวลเลย ถ้าทำได้อย่างนี้ยิ่งดี
คนที่เขายุ่งอยู่กับงาน และงานนั้นเขาพอใจรัก เขาเห็นว่าดีงามมีคุณค่า และทำจนกระทั่งไม่ห่วงกังวลอะไร ในใจไม่มีช่องในเรื่องเหล่านั้น ฉันทะนี้เป็นตัวแรก เป็นเคล็ดลับที่ทำให้อายุยืน
แม้แต่คนป่วยก็ให้ใช้หลักนี้ คือให้ตั้งอะไรไว้สักอย่าง ที่เป็นสิ่งดีงามซึ่งใจอยากจะทำ ใจรักจะทำ นี้คือ ฉันทะ ต้องตั้งฉันทะนี้ไว้ในใจอย่างหนึ่ง
โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เกษียณแล้วที่อยู่ไม่ได้ยาวนานก็เพราะมีความเหี่ยวเฉา มีความรู้สึกว่างเปล่าไร้ค่า ไม่มีอะไร ชีวิตเหงาหงอย
เพราะฉะนั้น พอเกษียณแล้วต้องตั้งใจไว้สักอย่างที่จะทำหรือให้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่งดงามที่ตนเห็นคุณค่าเป็นประโยชน์ แล้วใจมุ่งไปทำสิ่งนั้น ตอนนี้ชีวิตก็จะมีพลังขึ้นมาทันที พลังนี้คือตัวอายุ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเกิดจากฉันทะ และตอนนี้ฉันทะก็เกิดขึ้นมาแล้ว
พอฉันทะเกิด ต่อไปก็ถึงวิริยะ คือความมีกำลังใจเข้มแข็งแกล้วกล้า ใจสู้ กล้าเผชิญความยากลำบากและอุปสรรค เห็นว่าสิ่งนั้นๆ ท้าทาย พยายามจะทำ เพียรพยายามที่จะเอาชนะทำให้สำเร็จให้ได้ มีความกล้าหาญที่จะทำ
ต่อไป คือข้อจิตตะ หมายถึงการอุทิศตัวอุทิศใจให้กับสิ่งนั้น ใจมุ่งจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น
สุดท้ายก็มาถึงวิมังสา คือคอยใช้ความคิดพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา หมั่นทบทวนตรวจสอบและทดลองค้นคว้าหาวิธีการต่างๆ ให้รู้ว่า ทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเป็นอย่างไร มีอะไรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข และจะปรับปรุงแก้ไขได้อย่างไร วุ่นอยู่กับเรื่องที่ทำนั้น และใจก็สนุกกับสิ่งที่ทำมีความร่าเริงเบิกบานแจ่มใส ตกลงว่าเวลาผ่านไป ก็อยู่ได้เรื่อย
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าอิทธิบาท ๔ นี้เป็นตัวอายุ ท่านบอกว่า ผู้ที่ปรารถนาอายุ ไม่พึงพอใจอยู่กับการอ้อนวอนปรารถนาให้มีอายุ ซึ่งไม่ทำให้สำเร็จได้แท้จริง แต่ต้องทำตามข้อปฏิบัติที่จะให้มีอายุนั้นสำเร็จ และข้อปฏิบัตินั้น ก็คือ อิทธิบาท ๔ นี้คือเคล็ดลับ พระพุทธเจ้าสอนไว้ให้แล้ว และคิดว่าไม่ผิด ถ้าใครต้องการอายุยืน ก็ตั้งฉันทะขึ้นมาเลย
ถ้าคนไข้ท้อแท้ ก็ต้องให้เขาหาสิ่งที่ดีสักอย่างที่จะทำ แล้วตั้งใจ ให้ใจไปอยู่กับสิ่งนั้น ตั้งเป็นเป้าไว้
พรข้อต่อไป วรรณะ คืออะไร สำหรับพระท่านว่าคือ ศีล การที่พระมีความประพฤติดีงาม มีความสำรวม มีปฏิปทาบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่นคือความงามหรือวรรณะของพระองค์นั้น
สำหรับคนทั่วไปก็เหมือนกัน ความสุจริต ความมีชีวิตที่ดีงาม ความเป็นผู้บริสุทธิ์ในการดำเนินชีวิต ความบริสุทธิ์ สุจริตนี่เป็นความงามของบุคคลนั้นๆ
ต่อไป พรที่ ๓ คือ ความสุข ความสุขนี้มี ๒ แบบ ได้แก่ ความสุขที่มีอยู่กับตัว กับความสุขที่หวังข้างหน้า
ปุถุชนคนทั่วไปมักจะมีความสุขที่หวังข้างหน้าเป็นส่วนมาก ไม่ค่อยมีความสุขที่อยู่กับตัวในปัจจุบัน ทางพระท่านต้องการให้เรามีความสุขอยู่กับตัวเป็นปัจจุบันในขณะนี้เลย ทำอย่างไรเราจะมีความสุขอยู่กับตัวในบัดนี้
คนที่เจริญจิตตภาวนาได้ฌาน เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่มีความสุขในปัจจุบันทันที สำหรับคนเราทั่วไปถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทำจิตใจได้ถึงขนาดนั้น แต่เราก็สามารถทำใจของเราในแต่ละวันให้มีความสุขได้ตลอดเวลา หรือให้มากที่สุดเท่าที่จะมีสติช่วยได้ คือมีความสุขด้วยการทำจิตใจให้เบิกบาน ร่าเริงผ่องใส ให้ยิ้มได้
ทีนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ที่จะปฏิบัติได้ในเวลาแต่ละวันขอให้นึกถึงคติตามพุทธภาษิตที่อาตมายกมาให้ฟังข้างต้นแล้วว่า “เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อย ต้องให้ได้อะไรบ้าง” สิ่งหนึ่งที่ควรจะได้เป็นอย่างน้อยก็คือ การได้ทางจิตใจ ซึ่งตรงกับที่กำลังพูดกันอยู่นี้ ได้แก่ การได้ความร่าเริง ความอิ่มใจ และความเบิกบานผ่องใส
วันหนึ่งๆ ควรพิจารณาว่า วันนี้เรายิ้มได้บ้างหรือเปล่า ตลอดวันนี้เรามียิ้มได้บ้างไหม ถ้าพิจารณาตลอดวันแล้วยังไม่ได้ยิ้ม ต้องรีบไปยิ้มเสีย หาคนมารับยิ้มให้ได้สักครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนอนหลับสิ้นวันไป ถ้าใจยังไม่เบิกบาน ปราโมทย์ ไม่ปลื้มปีติ สักครั้งต้องทำให้ได้
พระพุทธองค์ตรัสว่าใจประกอบด้วยเมตตา แม้ชั่วขณะลัดนิ้วหรือดีดนิ้วเปาะเดียว ก็เป็นบุญกุศลใหญ่หลวงแล้ว ฉะนั้นเวลาในแต่ละวันนี้ อย่าปล่อยไปกับความเครียด ความทุกข์ ความเศร้า ความหงอยเหงา ความเบื่อหน่าย หรือความเร่าร้อน กระวนกระวาย แต่ต้องให้ได้ความสุข ความชื่นบาน ความโปร่งโล่งเบาสบาย หรือสภาพจิตที่ดีอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง อย่างน้อยพิจารณาตรวจสอบตัวเองก่อนที่จะผ่านวันนั้นไปเสีย อย่าไปคิดแต่จะได้ทางกาย หรือทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ทางจิตใจต้องพิจารณาว่าเราได้บ้างไหม
คนเราทั่วๆ ไป เมื่อฟังพระพุทธเจ้าตรัสว่า “เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อยต้องให้ได้อะไรบ้าง” ก็มักจะนึกถึงการได้เงินได้ทองหรือได้สิ่งของต่างๆ ว่าวันนี้เราได้เงินบ้างหรือไม่ ได้มากหรือน้อยเท่านั้นเท่านี้ หรือได้ผลประโยชน์ต่างๆ
ที่ดีขึ้นมาหน่อยก็นึกถึงการได้งานว่าทำงานไปได้เท่านั้นเท่านี้ งานก้าวหน้าสำเร็จลุล่วงไปได้แค่ไหน ตลอดจนนึกถึงการได้ทำความดีงามหรือบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ในการตรวจสอบตามพุทธพจน์นี้ด้วย
แต่สิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ซึ่งคนทั้งหลายมักมองข้ามไป ก็คือการได้ทางจิตใจ อย่างที่ว่ามาแล้ว ซึ่งอย่างน้อยก็ควรให้ได้สภาพจิตที่ดีงามมีความสุข ที่ท่านเรียกว่า
ปราโมทย์ คือความร่าเริงเบิกบาน
ปีติ คือความอิ่มใจ ปลื้มเปรม ฟูใจ
ปัสสัทธิ คือความผ่อนคลายไร้เครียด
สุข คือความคล่องใจ โปร่งเบาสบายใจ
สมาธิ คือความมีใจสงบ มั่นคงอยู่กับสิ่งที่คิดที่ทำ
ความสุขที่แท้จริงในใจ เอามาพิจารณา วันหนึ่งเราจะได้บ้างไม่มากก็น้อย อันนี้คือความสุขที่อยู่ในใจให้ได้ปีติ ปราโมทย์ ความอิ่มใจ เบิกบานใจ ผ่องใส สงบใจบ้าง
คนเราที่หาเงินหาทอง ผลประโยชน์ หรือลาภผลต่างๆ นั้น ก็เพื่อให้ได้ความสุข แต่บางทีมุ่งแต่หาสิ่งเหล่านั้น หาไปๆ มีแต่ความทุกข์ ความเร่าร้อน กลัดกลุ้มกังวลใจ หาความสุขแทบไม่ได้เลย แล้วก็ลืมนึกถึงความสุขทางจิตใจที่ตนควรจะได้ด้วย
คนที่หาเงินหาทองได้มาก แต่ไม่ได้ความสุขในจิตใจเลย อย่างนี้ต้องเรียกว่า เป็นคนเสียหลัก ดำเนินชีวิตผิด เงินทองและลาภผลที่หามาได้ มีความหมายน้อย ไม่ให้สาระอะไรแก่ชีวิต
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะได้อะไร เท่าไรก็ตาม ก็อย่าลืมให้ได้สภาพจิตใจที่ดีงามอย่างที่กล่าวมานี้
พรอีกข้อหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาทำให้พร ๔ เป็นพร ๕ ก็คือ โภคะ ซึ่งแทรกเข้ามาตรงนี้เป็นข้อที่ ๔ ในพร ๕ ประการ
โภคะ คือ ทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติเรามีไว้ทำไม ก็เพื่อใช้สอย แต่ทางพระท่านบอกว่า โภคะ หรือทรัพย์สมบัติ ทางจิตใจ ได้แก่ คุณธรรมคือ พรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้แหละ เป็นทรัพย์สมบัติที่อยู่กับตัว ที่ใช้ไม่รู้จักหมด
เมตตา มีไมตรีจิตมิตรภาพกับคนทั่วไป เจอใครทักทาย ยิ้มแย้มแจ่มใส รักใคร่ปรารถนาดีต่อทุกๆ คน
กรุณา เห็นใครตกทุกข์ได้ยากช่วยเหลือเขาไป
มุทิตา เห็นใครดี ประสบผลสำเร็จ มีความเจริญก้าวหน้า ก็โมทนา ส่งเสริมไป
อุเบกขา มีเรื่องมีราวทะเลาะเบาะแว้งกัน เราวางใจเป็นธรรม ให้ความเป็นธรรม วางใจเป็นกลาง ใช้ปัญญาฝึกให้คนรู้จักรับผิดชอบ
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้เป็นทรัพย์ที่เราสร้างไว้กับตัวเป็นโภคะที่มองไม่เห็น ใช้ไม่รู้จักหมด บางทีของบางอย่างซื้อด้วยเงินไม่ได้ แต่ใช้เมตตา ก็สำเร็จได้มาเองเลย บางทีเขาก็ขนเอามาให้ ไม่ต้องขอไม่ต้องบอก บริการเต็มที่ และใช้ได้กับสิ่งที่ทรัพย์สินเงินทองซื้อไม่ได้ด้วย จึงเป็นทรัพย์สมบัติที่มีลักษณะพิเศษคือ
๑. ใช้ไม่หมด
๒. ซื้อสิ่งที่ซื้อด้วยเงินไม่ได้
ฉะนั้นโภคะคือพรหมวิหาร นี้จึงเป็นสิ่งที่ควรจะสร้างขึ้นมา ถ้าเราทำได้ ก็เป็นโภคะอันประเสริฐ
ต่อไปพรข้อสุดท้ายคือ พละ ได้แก่ กำลัง ตามความหมายนี้เราจะนึกถึงว่ากำลังกายก็ตาม กำลังใจก็ตาม ท่านบอกว่าใช่ทั้งนั้น
ท่านมีหมวดธรรมให้มากมาย พละ ๕ ที่พูดถึงกันอยู่เสมอในวงการของนักปฏิบัติธรรมคือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ก็เป็นกำลังทางจิตใจ แต่เราไม่มีเวลาพูดมากพอ เพราะฉะนั้น เรามาเอากำลังขั้นสุดยอดกันเลย กำลังขั้นสุดยอดนี้ ก็คือ อิสรภาพ
ทำไมพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น อิสรภาพเป็นกำลังได้อย่างไร ขอให้พิจารณาดู คนจะมีกำลังเท่าไรก็ตาม ร่างกายจะเข้มแข็งเท่าไรก็ตาม แต่ถ้าร่างกายนั้นถูกมัดเสีย จะเป็นอย่างไร ตอบได้เลยว่าไม่มีความหมาย กำลังมากมายไม่มีความหมายทำอะไรไม่ได้ ในทางตรงข้ามคนมีกำลังน้อยก็ตาม มากก็ตาม ถ้าร่างกายเป็นอิสระ ไม่ถูกจับมัด เขามีกำลังเท่าใดก็ใช้ได้เต็มที่เท่านั้น ใช่หรือเปล่า ฉะนั้นความเป็นอิสระจึงเป็นกำลังที่สำคัญที่สุด
ที่พูดมานั้นเป็นเรื่องของอิสรภาพ หรือความเป็นอิสระทางกาย แต่ยังมีอีกด้านหนึ่ง คืออิสรภาพ หรือความเป็นอิสระทางจิตใจ ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าอิสรภาพทางกาย
ความเป็นอิสระของจิตใจ มีลักษณะที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ
๑. ไม่ถูกอะไรครอบงำ หรือคอยบังคับชักจูงให้ถดถอยหรือใช้กำลังหันเหไปในทางอื่น
๒. ไม่ถูกสิ่งใดผูกมัด มีกำลังเท่าไรก็ใช้ได้เต็มที่
ขอขยายความเพียงนิดหน่อย
๑. จิตใจนั้นไม่ถูกกิเลสครอบงำ หรือไม่อยู่ใต้อำนาจบังคับของกิเลส จะพูดว่าไม่เป็นทาสของกิเลสก็ได้
กิเลสที่จะมาครอบงำใจนั้น ก็มีมากมาย พูดง่ายๆ ก็อย่างโลภะ โทสะ โมหะ หรือความโลภ โกรธ หลง จะทำอะไรก็ตาม ถ้ามัวแต่คำนึงถึงลาภสักการะหรือถูกความโกรธแค้น ความพยาบาท ความน้อยใจเข้าครอบงำ ก็เสียกำลัง ทำอะไรไม่ได้เต็มที่ อย่างง่ายๆ ถูกความกลัวคุกคามบ้าง ถูกความเกียจคร้านหน่วงเหนี่ยวไว้บ้าง ก็สูญเสียกำลัง ทำอะไรไม่ได้เต็มที่ เพราะฉะนั้น ความเป็นอิสระในการที่จิตใจไม่ถูกกิเลสครอบงำ จึงเป็นกำลังที่เข้มแข็งอย่างยิ่ง
๒. จิตใจมีกำลังเท่าใดใช้ได้เต็มที่ เพราะไม่มีอะไรผูกมัดไว้ การจะทำอะไรต่างๆ ไม่ว่าจะทำความดีก็ตาม จะทำการงานก็ตาม ถ้าไม่มีห่วงกังวลอะไรเข้ามาผูกมัดใจ เราก็ทำได้เต็มที่
แต่ทั้งๆ ที่เรามีกำลังกายเข้มแข็ง ถ้าใจเราถูกผูกมัดเสีย เช่นมีห่วงมีกังวล มีอะไรต่างๆ หน่วงเหนี่ยว หรือผูกมัดใจอยู่ก็ทำไม่ได้ ไม่สามารถจะทำสิ่งนั้นได้เต็มที่ ในทางตรงข้าม ถ้าไม่ถูกผูกมัด เป็นอิสระแล้ว ก็จะทำสิ่งนั้นได้เต็มที่ ฉะนั้นความเป็นอิสระจึงสำคัญมาก
ความเป็นอิสระนี้มีหลายขั้น ในทางพระมีศัพท์เรียกสั้นๆ ว่า วิมุตติ แปลว่า ความหลุดพ้น หรือจะแปลว่าการปลดปล่อยก็ได้ คือปลดปล่อยจิตใจให้พ้นเป็นอิสระไปจากกิเลสที่ครอบงำ และสิ่งที่ผูกมัดหน่วงเหนี่ยวทั้งหลาย ตลอดจนพ้นจากอวิชชา คือความไม่รู้
อิสรภาพหรือวิมุตติที่มีหลายขั้นนั้น พูดมาเท่านี้ก็มากแล้ว ควรจะพอก่อน
ฉะนั้น อายุ วรรณะ สุขะ โภคะ พละ ก็ตีความออกมาเป็นธรรมอย่างที่ว่ามานี้
อายุ พลังสืบต่อชีวิต คืออิทธิบาท ๔
วรรณะ ความงาม คือศีล
สุขะ ความสุข คือสภาพจิตใจที่ดีงาม ตั้งแต่ปราโมทย์ จนถึงฌาน ๔
โภคะ ทรัพย์สมบัติ คือ พรหมวิหาร ๔
พละ กำลัง คือความเป็นอิสระ ที่ทางพระเรียกว่าวิมุตติ
นี้คือพรปีใหม่ ถ้าว่าทำได้ เราก็ทำให้แก่ตัวเอง ถึงพระไม่ได้บอก โยมก็ทำได้เอง
ฉะนั้น วันนี้อาตมามาพูดเรื่องพรปีใหม่ ที่จริงก็ไม่ต้องมาอวยพร เพราะหวังว่าทุกท่านคงทำได้ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพรจะเป็นอย่างนั้นก็จริง แต่เราก็สามารถให้กันได้ ด้วยการที่ตั้งใจปรารถนาดีต่อกัน มีไมตรีจิตมิตรภาพ
นอกจากนั้น การที่ผู้หนึ่งตั้งใจให้พรขึ้นมา ก็เป็นจุดเริ่มกระตุ้นใจให้ฝ่ายผู้รับทำการอธิษฐานจิตที่จะทำสิ่งดีงามต่างๆ ให้เกิดขึ้น อันเป็นพลังเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างที่ได้อธิบายมาแล้ว
ในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้ เรานิยมส่งความสุข ก่อนที่เราจะส่งความสุขให้ผู้อื่น เราเองต้องมีความสุขเสียก่อน ปัญหาว่าเรามีความสุขที่จะส่งให้หรือเปล่า ใจเรามีความสุขไหม บางทีเราก็ส่งกันเป็นธรรมเนียมเท่านั้น ถ้าส่งความสุขกันเพียงตามธรรมเนียม เราก็ไม่มีความสุขจะส่ง เพราะฉะนั้น คนที่รับก็เลยไม่ได้ความสุข เพราะคนส่งไม่มีความสุขที่จะให้ เราจึงจะต้องทำใจของเราให้มีความสุขเสียก่อน
การตั้งใจปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีเมตตาและไมตรีธรรม ก็ทำใจให้เป็นสุข ถ้าทำได้อย่างนี้เราก็จะมีความสุขที่จะให้แก่ผู้อื่น
ยิ่งกว่านั้น ถ้าทำได้จริงตามความหมายทางธรรมที่ได้อธิบายมาแล้ว ก็จะเป็นพรปีใหม่ที่แท้จริง ซึ่งมีผลต่อชีวิตและสังคมอย่างเป็นเนื้อหาสาระแน่นอน และไม่ใช่เป็นเพียงพรปีใหม่ สำหรับเวลาที่ผ่านปีเก่าไปนี้เท่านั้น แต่จะเป็นพรตลอดกาลทีเดียว คือเป็นพรทั้งตลอดปี และตลอดไป
ฉะนั้น โอกาสนี้ อาตมาก็ขอตั้งใจด้วยเมตตาและไมตรีธรรม ปรารถนาดีต่อทุกท่าน
ในโอกาสปีใหม่อันนิยมถือกันในโลกว่าเป็นมงคลนี้ ก็ขอตั้งจิตประกอบด้วยเมตตาและไมตรีธรรมนั้น อ้างอิงอานุภาพคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร
รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยอานุภาพคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศลมีศรัทธาและไมตรีจิตของท่านทั้งหลายที่มีอยู่ในใจอันประกอบด้วยเจตนาที่ดีเป็นบุญกุศลนั้น จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ทุกท่าน เจริญด้วยพรทั้ง ๕ ประการ จงได้เจริญก้าวหน้า พรั่งพร้อมด้วยกำลังใจ กำลังกาย กำลังปัญญา ที่จะดำเนินชีวิต ประกอบกิจการงานให้เจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ มีความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันทุกท่าน ยิ่งๆ ขึ้นไป ตลอดกาลนาน เทอญ