หลังจากที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษาได้ดำเนินงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามมาตรา ๗๕ แห่ง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ในการเสนอการจัดโครงสร้าง องค์กร การแบ่งส่วนงาน มาตลอดปี ๒๕๔๓ พอถึงต้นปี ๒๕๔๔ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เป็นต้นมา สำนักงานปฏิรูปการศึกษาได้เผยแพร่ข้อเสนอ เพื่อรับฟังความคิดเห็น เป็นต้น
เนื่องจากการจัดโครงสร้างองค์กรและการแบ่งงานนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งรวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรม ที่จะดูแลกิจการพระพุทธศาสนา แทนกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการที่จะยุบเลิกไป รวมทั้งมีเรื่องเกี่ยวกับการสอนพระพุทธศาสนาในงานของคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติโยงเข้ามาด้วย ชาวพุทธจำนวนมากจึงสนใจ และเมื่อได้พิจารณาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาอย่างมาก จึงได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อขอให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยมีการแจ้งข่าวประชุม อภิปราย การพบปะกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรมอื่นๆ ต่อเนื่องมาตามลำดับ
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลา ๑๖.๐๐ น. ศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานปฏิรูปการศึกษา กับกรรมการบริหาร ๒ ท่าน คือ ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ และ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ (เลขาธิการ) และคณะ ได้เดินทางไปนมัสการพระธรรมปิฎก ณ วัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ที่กำลังมีเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวกันอยู่นั้น
การสนทนา และการแสดงความคิดเห็นในวันนั้น มีดังต่อไปนี้
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ขออธิบายความเป็นมาของกรรมการศาสนาและวัฒนธรรม ความเป็นมาของสำนักงานปฏิรูปการศึกษานั้นเป็นอย่างไร เนื่องจากมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่ง ชาติ ๒๕๔๒ เกิดขึ้น จึงมีการตั้งสำนักงานปฏิรูปการศึกษาขึ้นมา เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๓ กรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการจัดโครงสร้างใหม่ให้กับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ทบวง มหาวิทยาลัย และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ จะต้องเอาสามหน่วยงานนี้มารวมเข้าด้วยกัน ตามกฎหมายระบุว่า กระทรวงการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมนั้น ให้มี ๔ องค์กรหลัก บริหารในรูปของสภา ประกอบด้วย
องค์กรที่หนึ่ง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นการเอาสภาการศึกษามารวมกันที่จุดนี้
องค์กรที่สอง คือ มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
องค์กรที่สาม สำนักงานกรรมการการอุดมศึกษา คือทบวงมหาวิทยาลัย
องค์กรที่สี่ คือตัวที่เป็นปัญหาปัจจุบันนี้ ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม
ทีนี้ ในรูปของคณะกรรมการ จะต้องมีคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรมขึ้นมาชุดหนึ่ง ภายใต้คณะกรรมการนี้ ก็มีสำนักงานเลขาธิการ
หน่วยงานสำนักงานเลขาธิการนี้ อันที่จริง ก็คือ หน่วยงานซึ่งเอางานของกรมการศาสนา กรมศิลปากร และสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติเข้ามารวมกัน
คณะกรรมการสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ก็มีหน้าที่จะต้องกำหนดว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรมนั้นจะมีกี่คน ประกอบด้วยใครบ้าง
ตามกฎหมายบอกว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาศาสนา กฎหมายกำหนดว่าอย่างนั้น ส่วนเรื่องการบริหารงานต่างๆ ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงาน เลขาธิการ
พอเป็นรูปนี้ จึงคิดกันว่า คณะกรรมการชุดนี้ซึ่งจะต้องกำหนดนโยบายและแผนพัฒนา ควรจะต้องประกอบด้วย กรรมการหลายรูปแบบ
กรรมการกลุ่มที่หนึ่ง คือกรรมการโดยตำแหน่ง
กรรมการกลุ่มที่สอง คือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
กรรมการกลุ่มที่สาม คือกรรมการที่เป็นตัวแทนของงานด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
งานด้านศาสนานั้นเดิมกำหนดไว้ว่า ให้มีตัวแทนของศาสนาพุทธ ๑ คน และตัวแทนศาสนาอื่นที่ทางราชการรับรองอีก ๔ คน คือ ศาสนาซิกซ์ ฮินดู อิสลาม และคริสต์ ศาสนาละ ๑ คน รวมทั้งหมดเป็น ๕ คน
พอข่าวอันนี้ออกไป ปรากฏว่าเป็นที่วิตกวิจารณ์กันมากว่า จะเอาคนศาสนาอื่นมาครอบงำศาสนาพุทธ หลังจากที่ไปพบพระพรหมมุนี จึงแก้ไขโดยให้ศาสนาพุทธมีตัวแทน ๓ คน เป็นพระภิกษุซึ่งทางมหาเถรสมาคมมอบหมายให้มาเป็นตัวแทน คือถ้าในรูปนี้ ศาสนาพุทธมีตัวแทน ๓ คน ศาสนาอื่นๆ มีตัวแทน ๔ คน แต่คนอื่นนอกจากนั้นโดยทั่วไปคงจะเป็นคนพุทธ
นี่คือภาพความวิตกก็เกิดขึ้นมากมาย ก่อนที่จะพูดถึงความวิตก กระผมขออนุญาตให้ท่านอธิบดีเล่าให้ฟังว่า องค์ประกอบ หรือรายละเอียดนั้นเป็นอย่างไร
ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ ถึงแม้ว่าจะมีการปรับกรรมการอย่างที่ท่าน ดร.ปรัชญาว่าไว้เมื่อกี้ เนื่องจากว่ากรรมการนี้มีหน้าที่กำหนดนโยบาย มีหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากร มีหน้าที่ในการตรวจการ อย่างไรก็ตาม เมื่อกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบ มีผู้ที่สงสัยคิดว่า กรรมการจะมีอำนาจร่วมในการบริหารหรือไม่
เมื่อไปพบพระพรหมมุนีและรับฟังข้อคิดเห็นแล้ว เราก็ไปเพิ่มเติมในหน้าที่ เขียนไว้ในกฎหมายว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ไม่ล่วงละเมิดอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม หรืออำนาจที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ทั้งในเรื่องของการกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่การตรวจติดตามอะไรต่างๆ ทางคณะกรรมการไม่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่เฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมและสนับสนุนเป็นการทั่วไป
ส่วนการบริหารทรัพย์ทางเรื่องของศาสนสมบัตินั้น เราเขียนไว้ในกฎหมายด้วยว่า คณะกรรมการนี้เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ แต่ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และถ้าหากว่า จะมีอะไรที่จะต้องรายงานคณะกรรมการ ในส่วนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น ให้ได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมเสียก่อน ถึงจะรายงานไปได้ จะเขียนในกฎหมายเพิ่มเติมเข้าไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในกระทรวงการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม เป็นการเขียนเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๒
ในขณะเดียวกัน ในเรื่องของโครงสร้างการแบ่งส่วนงาน เมื่อมีการจัดองค์กรใหม่ อย่างที่ท่านประธานฯ พูดไปแล้ว เรามาจัดโครงสร้างงานที่กรมการศาสนาทำเหมือนเดิม เข้ามาในโครงสร้างใหม่ ให้เป็นสำนักส่งเสริมมหาเถรสมาคม ให้เป็นสำนักส่งเสริมกิจการศาสนสมบัติ รวมทั้งการกิจการของสงฆ์อยู่ด้วย และสำนักพุทธมณฑล
แต่หน้าที่หลักที่เรานำมาทำนั้น ให้มีหน้าที่ในการส่งเสริมและปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม ตามที่กำหนดไว้ในสาระของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มี ๓ หน่วยงาน ที่เป็นสำนักจริงๆ ถ้ามองในแง่องค์กร เป็นการยกระดับองค์กร ปรับปรุงประสิทธิภาพ จัดการแบ่งส่วนงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยงานที่เกี่ยวกับส่งเสริมพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปนั้น จะอยู่ในสำนักนี้ ในขณะเดียวกัน จะส่งเสริมศาสนาอื่นด้วย ส่วนที่เกี่ยวข้องหรือต้องดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น มี ๓ สำนักที่จะต้องดูแล รวมทั้งพุทธมณฑล แยกออกมาเป็นสำนักงานใหญ่
ในการบริหารจัดการ เลขาธิการคณะกรรมการการศาสนาวัฒนธรรม ก็ทำหน้าที่แทนอธิบดีกรมการศาสนา ในฐานะที่เป็นเลขานุการของมหาเถรสมาคม แล้วในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เขียนบอกว่า ให้กรมการศาสนาเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินพุทธศาสนา หน่วยงานนี้โอนไปเป็นของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศาสนา แต่มีข้อขมวดไว้ ที่ให้มีลักษณะเป็นการเฉพาะตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในส่วนกลางเขียนไว้อย่างนี้
ในระดับพื้นที่ มีคณะกรรมการการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ในเขตพื้นที่ขึ้นเช่นเดียวกัน ในคณะกรรมการนั้น นอกจากจะมีผู้แทนองค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพต่างๆ แล้ว รวมทั้งผู้แทนทางด้านครู หรือทางด้านผู้บริหารการศึกษาแล้ว ก็เขียนให้มีผู้นำทางด้านศาสนา ให้เป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา หรือผู้นำศาสนา เพราะว่าในบางพื้นที่ อาจจะจำเป็นต้องมีผู้นำทางศาสนา
เดิมทีเดียว เขียนว่าให้มีผู้นำทางศาสนาเพียงอย่างเดียว ทีนี้ คำว่า “ผู้นำทางศาสนา” นั้นมีความหมายนัยทางกฎหมาย อาจจะทำให้มองไปทางอื่นได้ ตรงนี้จึงแก้เป็นพระในพุทธศาสนาที่มีคณะสงฆ์ให้ความเห็นชอบ ที่ไปเป็นผู้แทน
ในขณะเดียวกัน ในเขตพื้นที่ มีการจัดส่วนงานขึ้นรองรับงานการศึกษาศาสนาวัฒนธรรม ซึ่งแต่เดิมงานนี้ กรมการศาสนามอบไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฝ่ายของทางราชการ ส่วนที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ก็มีเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค ก็เป็นเหมือนเดิม ไม่ไปแตะต้องอะไรเลย เพียงแต่เปลี่ยนการทำงาน จะมอบงานไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ตอนนี้ ต้องมอบงานต่อไปแก่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ และมีกลุ่มงานทางด้านศาสนาวัฒนธรรม ซึ่งเดิมทีเดียว แต่ละจังหวัด มีคนไม่กี่คน รวมทั้งที่อำเภอด้วย ตอนนี้ก็มีคนที่จัดไว้ประมาณ ๗-๘ คน ที่จะดูแลสนับสนุนงานทางด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม
แต่งานส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านศาสนา เพราะว่างานทางด้านศิลปะส่วนมากจะขึ้นตรงต่อส่วนกลาง ส่วนงานทางด้านวัฒนธรรมนั้นเป็นงานที่จะสนับสนุน เป็นเรื่องขององค์กรทาง ประชาชนมากกว่า
นี่เป็นการจัดองค์กรรวม ซึ่งคนเหล่านี้เราคงจะต้องพัฒนาเขา ให้สามารถเอื้ออำนวยทำงานเกี่ยวกับการสนับสนุนทางด้านศาสนา ในเรื่องของพระ ในเรื่องของวัด เรื่องของที่ศาสนสมบัติกลาง และงานต่างๆ ของพระศาสนาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อันนี้เป็นการปรับหลังจากในส่วนหนึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว
เดิมทีเดียว คณะกรรมการเข้าใจว่าการที่เขียนหน้าที่เข้าไว้ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบการปกครอง คณะบุคคลไม่น่าจะมีปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทางคณะสงฆ์และมีผู้ที่ตั้งข้อสังเกตมากมาย เราก็ไปปรับ ทั้งในแง่กฎหมาย ทั้งในแง่องค์ประกอบของคณะกรรมการ และในแง่ของโครงสร้าง ให้สอดคล้องกันทั้งระดับชาติ และระดับพื้นที่
อันนี้เป็นการดำเนินงานของคณะกรรมการ ก็ได้พยายามชี้แจงไปหลายที่ ผมกับท่านประธานฯ ได้ไปชี้แจงให้กับองค์กรพระพุทธศาสนาหลายครั้ง ผมขอชี้แจงเพียงเท่านี้
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์: ขอกราบเรียนเพิ่มเติม เรื่องที่วิตกกังวลกันนี้ จะมีอยู่ ๒-๓ เรื่อง
เรื่องที่ ๑ ก็คือ เกรงว่าการปกครองคณะสงฆ์จะไปถูกครอบงำโดยคณะกรรมการ ซึ่งเรื่องนี้เราเขียนไว้ว่า การปกครองคณะสงฆ์นั้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเป็นไปตาม พรบ.คณะสงฆ์ ซึ่งเขียนเรื่องการปกครองคณะสงฆ์ไปแล้ว เรื่องการแต่งตั้งพระสังฆราช หรือพระราชาคณะต่างๆ นั้น ให้เป็นไปตามกฎหมาย คณะสงฆ์กำหนด เรื่องนั้นเขียนไว้ แต่มีหลายท่านยังไม่เชื่อว่า จะเป็นอย่างนั้นจริง แต่ที่เราเข้าใจกันเป็นอย่างนั้น
เรื่องที่ ๒ เรื่องศาสนสมบัติ ศาสนสมบัตินั้น มีทั้งศาสนาสมบัติกลาง ศาสนสมบัติของวัด ซึ่งศาสนสมบัติของวัดนั้นวัดดูแลอยู่แล้วตาม พรบ.คณะสงฆ์ ส่วนศาสนสมบัติกลางนั้น ในกฎหมายฉบับปัจจุบันเป็นเรื่องของอธิบดีกรมการศาสนา แต่ว่าในปี ๒๕๔๕ จะไม่มีกรมการศาสนาอีก งานอันนี้จึงยกไปให้กับเลขาธิการคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรมเป็นผู้ทำหน้าที่แทน และคนๆ นี้ก็จะเป็นเลขานุการของมหาเถรสมาคมเหมือนเดิม อันนี้คืองานเชิงปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นในแง่ของคณะกรรมการที่กำหนด ทั้งกฎหมายฉบับใหญ่และกฎหมายย่อย คณะกรรมการดูแลเพียงเชิงนโยบาย ติดตามกำกับ แต่คนที่ทำหน้าที่จริงๆ คือ ตัวเลขาธิการสำนักงานการศาสนาและวัฒนธรรม ตัวนี้คือตัวที่เขาจะต้องดูแล
เมื่อออกมาเป็นอย่างนั้น งานที่เกี่ยวข้องกันกับกิจการของคณะสงฆ์ ก็เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แยกไป ส่วนงานที่เป็นเชิงปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเป็นเชิงสนับสนุน เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการ การศาสนาและวัฒนธรรม โดยที่กรรมการซึ่งเป็นกรรมการการศาสนาวัฒนธรรม และเอาคนศาสนาอื่นเข้ามาร่วมอยู่จำนวนหนึ่ง ก็ไม่ได้มีบทบาทในการเข้ามาครอบงำ
แต่ถึงจะอธิบายอย่างไร ก็ยังมีความวิตกกังวลกันอยู่ จนวันนี้ผมเชื่อว่าอย่างไรยังคงวิตกกังวลกันอยู่ว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น ได้อธิบายว่า ถ้าหากคนพุทธมีเกินกว่าครึ่ง นั่งอยู่ในนั้น ถ้า ๓๙ คน ๔ คนเป็นศาสนาอื่น ๓๕ คนเป็นคนพุทธ เมื่อคนพุทธยอมให้ศาสนาอื่นมาทำลายศาสนาพุทธ มันก็มีปัญหาแล้วนะครับ เขาบอกว่าให้ดู ในอดีตที่มีการลงชื่อกันตั้ง ๒ ล้านกว่าชื่อ เพื่อจะให้ระบุว่า ศาสนาพุทธต้องเป็นศาสนาประจำชาติ ก็ยังไม่เอากัน ไม่ไว้ใจคนพุทธด้วยกันอีก อันนี้เป็นความวิตกกังวล ซึ่งเขามีเหตุผลของเขา
พระธรรมปิฎก ขอโอกาสอาตมาแสดงความคิดเห็นหน่อย เรื่องนี้อาตมาได้ยินเช่นทางวิทยุ และบางท่านมาที่นี่บ้าง พูดตรงๆ ว่า ไม่มีเวลาเอาใจใส่จริงจัง คือ ที่มีการเคลื่อนไหวกันหลายต่อหลายวันแล้ว ก็เพิ่งจะได้ตามข่าว ก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ได้แค่ฟัง ยังไม่ได้ศึกษาเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวข้อง
เมื่อได้ทราบว่าท่านประธานฯ จะกรุณามาที่นี่ เมื่อวานนี้ก็เลยอ่านเอกสาร มีทั้งที่เป็นเอกสารแบบปริ๊นท์เอาท์ออกมาจากคอมพิวเตอร์ และที่เป็นเล่มหนังสือ ซึ่งมีหลายท่านเอามาทิ้งๆ ไว้ ไม่มีเวลาอ่าน บางเล่มวางอยู่เป็นเดือน เลยตะลุยอ่านเมื่อวาน เมื่ออ่านแล้วรวมกับที่ได้รับฟังมา จึงจะให้ความคิดเห็นได้
ที่ท่านประธานฯ ว่า เรื่องกลัวการครอบงำการปกครอง หรือการบริหารการพระศาสนา หรือคณะสงฆ์ ตลอดจนเรื่องศาสนาสมบัตินั้น คิดว่าคงไม่ใช่เท่านั้น ส่วนที่สำคัญคือ เราควรถือโอกาสคิดกันว่า ทำอย่างไรจะให้กิจการพระศาสนามีประสิทธิภาพในการที่จะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมประเทศชาติได้ดีที่สุด ให้สมตามอุดมคติของพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนานั้น และแม้แต่พระภิกษุทุกองค์ก็มีไว้เพื่อความมุ่งหมายนี้ คืออุดมคติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่าพระศาสนาดำรงอยู่และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก เพื่อเห็น แก่ประโยชน์และความสุขของพหูชน อันนี้เป็นอุดมคติและเป็นจุดหมายสำคัญ
เมื่อจุดหมายอยู่ที่นี่ พุทธศาสนาเป็นสถาบันใหญ่อยู่ในประเทศ มีบทบาทสำคัญ เมื่อเราทำงานที่เกี่ยวกับพระศาสนา แม้ว่าเราจะประสงค์ดี แต่จะต้องระลึกตระหนักถึงความสำคัญของงานนี้ เพราะถ้าผิดพลาดไป มันก็คือผลกระทบที่ร้ายแรงต่อพระศาสนา ซึ่งหมายถึงสังคมประเทศชาติด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องเห็นใจผู้ที่เป็นห่วง แม้จะมีการว่ากันแรงๆ บ้าง ก็อย่าถือกัน ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนนั้นมีใจมุ่งประโยชน์ส่วนรวม
เท่าที่อาตมภาพอ่านดู ก็มีจิตใจคล้อยไปตามในเรื่องการจัดตั้งกิจการพระพุทธศาสนาเป็นองค์กรอิสระ เป็นแต่เพียงว่า จะทำในรูปไหน อย่างไร สังกัดที่ไหนนั้น ยังไม่พูดถึง ประเด็นอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่จะเกิดผลตามวัตถุประสงค์ ให้พระศาสนาสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่ชีวิตและสังคมประเทศชาติได้มากที่สุด
ในแง่เหตุผลว่าทำไมจึงควรเป็นองค์กรอิสระ
ข้อที่ ๑ เราคงต้องยอมรับความจริงในสภาพปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่เป็นการตำหนิใคร แต่มันเป็นมาอย่างนั้น คือว่า ผู้บริหารฝ่ายรัฐ หรือแม้กระทั่งท่านที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการเอง ไม่ค่อยรู้เรื่องพระศาสนาเท่าไร ใช่ไหม อันนี้เป็นความจริงอย่างนั้น ยิ่งมองต่อไปข้างหน้าเราก็มีความหวังได้น้อย หรือหวังได้ยากว่าแนวโน้มจะดีขึ้น เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงมีความเสี่ยงอยู่ แม้จะมีความหวังดี ปรารถนาดี แต่เมื่อทำในสิ่งที่ตนไม่รู้ ก็อาจจะผิดพลาดเสียหายได้
ตามธรรมดา เมื่อจะทำอะไร เราควรทำในสิ่งที่ตนรู้ ถ้าให้ดีกว่านั้นก็คือ ทำในสิ่งที่ตนเห็นคุณค่า เห็นช่องทางที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในที่นี้คือ เราต้องการประโยชน์สุขแก่สังคมประเทศชาติ คนที่ทำ ถ้าเห็นชัดว่า สถาบันพระศาสนา เริ่มแต่องค์กรคณะสงฆ์นั้น โดยสอดคล้องกับพระธรรมวินัยมีประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติได้อย่างนี้ๆ ความชัดอันนี้จะช่วยให้ทำงานได้ผลดี เพราะฉะนั้น ความรู้เข้าใจนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องมีใจที่อยากจะให้สถาบันพระศาสนา และงานพระศาสนานั้นเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนจริงๆ ต้องมีใจรักอันนี้อยู่
ถ้าเราทำผิดพลาด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในบางกรณีความผิดพลาดนั้นอาจจะมีผลถึงกับเป็นความล่มสลายของพระศาสนา และสังคมประเทศชาติเลยก็ได้ จึงต้องให้ความสำคัญเอาจริงเอาจังกันในเรื่องนี้
ในเมื่อมีปัญหาความไม่รู้ไม่เข้าใจอยู่อย่างนี้ การจัดในรูปองค์กรอิสระก็มีข้อดี แต่พร้อมกันนั้นก็คือ ไม่แยกกัน ต้องมีระบบการประสานงาน และร่วมมือที่ดี ข้อที่หนึ่งนี้เป็นการป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะมีได้เรื่อยๆ
ข้อที่ ๒ งานนี้เรียกชื่อว่างาน “ปฏิรูปการศึกษา” ชื่อบอกอยู่แล้วว่า เป้าหมายที่แท้ของงานเน้นที่การศึกษา เราก็เลยระดมความคิดและพลังงานไปให้กับเรื่องการศึกษา เพื่อหาทางปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างมาก
แต่ในเรื่องพระศาสนาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เป็นกิจการใหญ่มาก เหมือนกับเป็นอาณาจักรหนึ่งเลย เรากลับมีโอกาสให้ความสนใจน้อย คล้ายกับเป็นเรื่องที่พ่วงมา ก็จำเป็นต้องจัดต้องทำ ดำเนินการ ก็เลยทำไปตามที่จำเป็น ฉะนั้น บางทีเราก็เลยไม่มีโอกาสที่จะให้แรงงานกับเรื่องนี้มากนัก และยิ่งกว่านั้น ถ้าเผลอไป เราอาจจะทำแค่พอเสร็จเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้เห็นความสำคัญขึ้นมา
นอกจากนั้น ระยะหลังนี้เรามักมีแนวคิดมองศาสนาต่างหากจากการศึกษา เราให้ความสนใจน้อยสักนิดในการที่ว่าจะเอาศาสนามาเกื้อหนุนการศึกษาอย่างไร แล้วกิจการพระศาสนาเอง เราก็ให้ความสนใจไม่เพียงพอ ฉะนั้นก็น่าที่จะจัดออกไปเป็นองค์กรอิสระ แล้วถือโอกาสจัดรูปเสียให้ดีที่สุด ให้มีประสิทธิภาพ เราอาจจะไม่เรียกว่าปฏิรูปศาสนา แต่เป็นการฟื้นฟูหรือจัดดำเนินการ วางระบบต่างๆ ให้ดีที่สุดในตอนนี้
บางทีที่ผ่านมาเราอาจจะระดมพลังงานได้น้อย ก็อย่าไปถือสา เอาเป็นว่าตอนนี้มาคิดกันให้ดี ให้นึกถึงประเทศชาติเป็นใหญ่ไว้ อันนี้เป็นข้อที่สอง
ข้อที่ ๓ ดูที่โครงสร้างการจัดระบบและจัดแบ่งหน่วยงาน เห็นว่า ตามโครงสร้างใหม่ เหมือนกับว่าแบ่งกรมการศาสนาเดิมนี่ แยกออกไปเป็น ๔ หน่วยงาน จะไม่ต้องบอกรายละเอียดว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งจะทำให้หน่วยงานแต่ละหน่วยนั้นใหญ่ขึ้น เพราะแต่ละหน่วยนั้นแต่เดิมขึ้นกับกรมการศาสนาหมด ตอนนี้มีฐานะเท่ากับกรมการศาสนา ดูเหมือนจะดี แต่พร้อมกันนั้นก็มีข้อเสีย คืองานพระศาสนาจะขาดเอกภาพไป
สมควรไหมที่จะกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพระศาสนา มีสังกัดรวมใหญ่เป็นอันเดียวกัน นี่เป็นข้อพิจารณาอันหนึ่ง
การจัดแบ่งตามโครงสร้างที่เตรียมกันไว้นี้ ก็เหมือนกับว่าเรากำลังทำให้กระจัดกระจาย และนอกจากกระจัดกระจายแล้วก็ไปปะปนกับหน่วยงานอื่นๆ สายอื่นๆ เข้ามาอีก จริงอยู่ การร่วมมือประสานกับส่วนอื่นต้องมี แต่พร้อมกันนั้น ความเป็นเอกภาพในตัว เพื่อให้งานเป็นขบวนหนึ่งเดียว เหมือนขบวนรถไฟหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่มันจะวิ่งจะแล่นไปของมันได้ด้วยดี ก็สำคัญมาก จึงน่าจะได้พิจารณาให้เป็นองค์กรใหญ่อันเดียวกัน
เราก็รู้อยู่แล้วว่าพระพุทธศาสนาเป็นกิจการใหญ่มากของรัฐ ที่ว่าเหมือนกับเป็นอาณาจักรหนึ่งซ้อนอยู่ จนกระทั่งทางบ้านเมืองถึงกับยอมให้มี พรบ.คณะสงฆ์ ให้คณะสงฆ์มีการปกครองตนเอง มีระบบการปกครองของตัว มีทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค มีระบบบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ครบหมด ในเมื่อมีระบบการปกครองอย่างนี้ ก็น่าจะเป็นองค์กรใหญ่ ที่มีความสมบูรณ์ในตัว หน่วยราชการหรือส่วนงานที่เป็นจุดประสานระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองสงฆ์นี้ ก็ควรมีเอกภาพภายในตัวเองด้วย
ข้อที่ ๔ เมื่อมีเสียงร้องขึ้นมา แล้วทางคณะกรรมการมีการปรับแก้หลักการบางอย่างหรือแก้ไขกฎระเบียบบางข้อ อาตมภาพว่าเป็นเพียงการหาทางออก คือจะไม่เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะถึงอย่างไรเมื่ออยู่ในร่มเดียวกัน ก็ควรจะเป็นขบวนเดียวกัน
เรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรมที่มีตัวแทนศาสนาต่างๆ เข้าไปร่วม ที่ว่าจะไม่ให้ไปกระทบอำนาจของมหาเถรสมาคม และเรื่องศาสนสมบัตินั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เราต้องมองที่ตัวงานทั้งหมด เช่นเมื่อคณะกรรมการชุดนี้ทำงาน ก็มีเรื่องนโยบาย ส่วนทางมหาเถรสมาคมจะปฏิบัติ เรื่องก็ต้องกระทบกระเทือนถึงกัน การทำงานต้องมีทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติ ทีนี้ ถ้าจะให้มหาเถรสมาคมเข้ามาโยงอยู่กับส่วนงานที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของคณะกรรมการ เหมือนกับเป็นอิสระซ้อนอยู่ มันก็คลุมเครือ และจะเกิดความอลักเอลื่ออึดอัดกัน
ยิ่งกว่านั้น เมื่อคณะกรรมการใหญ่ชุดนี้วางนโยบายส่วนรวมไว้ มหาเถรสมาคมก็จะมีนโยบายของตนเอง เพราะเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ทั้งประเทศ ที่จริงนั้น ในงานคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคมมีหน้าที่วางนโยบาย แต่อาจจะยังทำหน้าที่นี้น้อยไปหน่อย มหาเถรสมาคมไม่ใช่หน่วยงานปฏิบัติ แต่เป็นองค์กรสำหรับวางนโยบาย สำนักงานที่มาแทนกรมการศาสนาจะต้องรับนโยบายทั้งจากมหาเถรสมาคม และจากคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม พูดง่ายๆ ว่า ไม่ปลอดโปร่ง ฉะนั้นกิจการคณะสงฆ์จึงน่าจะให้มีความเป็นเอกเทศออกไป จึงน่าจะทำเป็นองค์กรอิสระให้ชัด
ถึงแม้จะให้มหาเถรสมาคมเป็นหน่วยงานปฏิบัติ (ซึ่งที่จริง ไม่ใช่) เมื่อคณะกรรมการนั้นวางนโยบายไว้ ถ้ามหาเถรสมาคมปฏิบัติขัดกับนโยบายนั้น หรือปฏิบัติตามนโยบายนั้นไม่ได้ จะว่าอย่างไร ตามปกติก็ต้องถือว่าผู้วางนโยบายใหญ่กว่าไม่ใช่หรือ ถึงแม้จะไม่พูดในแง่ใครจะใหญ่กว่าใคร แต่เรื่องอะไรจะมาเปิดช่องทางไว้ให้เกิดปัญหาหรือข้อติดขัดโดยไม่จำเป็น
แม้ว่าท่านที่ทำงานจัดแบ่งส่วนงานนี้จะบอกว่าคณะกรรมการนี้เป็นเพียงทำงานด้านสนับสนุน แต่นี้ก็เป็นการคิดตามความตั้งใจดีของท่าน แต่เมื่อเป็นกฎหมายชัดขึ้นมาแล้วจะเป็น อย่างไร ก็อาจจะไม่เป็นไปตามที่ท่านคิดตั้งใจดีอย่างนั้น แต่อยู่ที่ว่า ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายและนักกฎหมายเขาอ่านกฎหมายนี้แล้ว จะเข้าใจอย่างไร
ตามกฎหมายนั้น คณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม “มีอำนาจหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบายและแผนพัฒนาด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม”
ตามที่ท่านกล่าวว่าคณะกรรมการทำงานเพียงด้านสนับสนุน แต่เมื่ออ่านตัวบทกฎหมายแล้วก็เป็นการสนับสนุนเฉพาะด้านทรัพยากร แต่เรื่องอื่นไม่ระบุชัดว่าเป็นแค่งานสนับสนุน จึงไม่ใช่เป็นเรื่องความวิตกกังวลที่เป็นอัตวิสัย แต่มองเห็นว่าข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ที่วางไว้นั้นกว้างๆ คลุมๆ ถึงแม้จะบอกว่า ต้องสอดคล้องกับแผนฯ แห่งชาติ ก็มีช่องว่างมาก ถ้าไม่วางระบบกำกับไว้ให้ชัดเจน จะต้องเป็นปัญหาได้แน่นอน
แม้แต่ในแง่ทำงานด้านสนับสนุนส่งเสริม ถ้าไม่รู้จริงก็อาจจะส่งเสริมออกนอกลู่นอกทางนอกพระธรรมวินัยไปเลยก็ได้
ข้อที่ ๕ เรารู้กันอยู่ว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย ๙๔-๙๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นพุทธศาสนิกชน ฉะนั้นกรมการศาสนาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเกื้อหนุนกิจการพระพุทธศาสนานี้ จึงเป็นไปตามสภาพความเป็นจริงของสังคม ไม่ใช่เลือกที่รักมักที่ชังอะไรหรอก
ในเรื่องการพระศาสนา เมื่อประชาชนส่วนใหญ่คือชาวพุทธ และมีวัดวาอารามมากมายงานจึงเกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ต้องจัดดำเนินการ ทางรัฐก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้การส่งเสริมเป็นไปด้วยดี และมีการสื่อสารกัน จะได้ไม่ออกไปคนละทิศละทางกับรัฐ จึงเกิดกรมศาสนาขึ้นมา ทั้งนี้ในความหมายหนึ่ง ก็เพื่อเกื้อหนุนรัฐ และให้คณะสงฆ์ดำเนินงานพระศาสนาให้สมความมุ่งหมายที่จะเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน กรมการศาสนาจึงเท่ากับเป็นกรมพระพุทธศาสนามาแต่เดิม
แต่เพราะพุทธศาสนาในประเทศไทยเราไม่มีการรังเกียจศาสนาอื่น ตั้งแต่สมัยไหนๆ มา ในสมัยอยุธยา เช่น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เอกสารของศาสนาอื่นก็เล่าไว้ ถึงแม้คนที่นับถือศาสนาอื่นจะมีจำนวนน้อย ท่านก็ยินดีอุปถัมภ์บำรุง แล้วก็ให้ปกครองกันเอง เช่นอย่างศาสนาอิสลามก็ให้มีจุฬาราชมนตรี และในเขต ๔ จังหวัดภาคใต้ที่มีศาสนิกชนเป็นมุสลิมมาก ก็ให้หยุดราชการวันศุกร์ได้ มีการให้ใช้กฎหมายอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดก เป็นต้น หมายความว่าประเทศไทยนี้เปิดกว้างที่สุดอยู่แล้ว แต่เพราะกิจการเหล่านั้นเขาดำเนินการได้เอง แล้วก็เป็นคนจำนวนน้อย เราก็ให้ดำเนินการต่างหากไป
ในเมื่อกรมการศาสนาเป็นกรมพุทธศาสนาอยู่ในตัว ฉะนั้น จึงควรจะให้ทำงานพระพุทธศาสนาให้ได้ผล ไม่ใช่ว่าทำงานศาสนาอะไรก็ไม่ได้ดีสักชิ้นหนึ่ง ศาสนาโน้นก็มี ศาสนานี้ก็มี ไม่เป็นเรื่องเป็นราว เพราะฉะนั้นน่าจะจัดจะทำให้ชัดลงไป
เรื่องที่รัฐจะจัดตั้งหน่วยราชการขึ้นมารองรับ ว่าจะจัดในรูปไหนดี ในตอนนี้หลักการก็คือ ให้เห็นชัดๆ ว่า เป็นหน่วยงานที่ทำงานได้เต็มที่ในเรื่องกิจการพระพุทธศาสนา ส่วนศาสนาอื่นก็ เปิดโอกาสอยู่แล้วตามกฎหมาย และถ้ามีช่องทางอื่นๆ ที่จะเกื้อหนุนได้ ก็พิจารณากันไป
ข้อที่ ๖ เรื่องอัตราส่วนกรรมการที่เป็นตัวแทนศาสนาต่างๆ ในกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ที่ว่าชาวพุทธเป็นห่วงนั้น อาตมาว่าเป็นการห่วงใยในเรื่องที่ควรเป็นห่วง เพราะมีเหตุผลที่ควรเป็นห่วง ก็อย่างที่ว่าแล้ว เวลานี้พุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ไม่ค่อยรู้เรื่องพระศาสนาเท่าไร ตามที่ท่านประธานฯ ได้บอกว่า คนส่วนใหญ่ที่เป็นกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม แม้จะไม่ได้เข้ามาในฐานะเป็นตัวแทนศาสนาพุทธ แต่ก็เป็นชาวพุทธ เพราะฉะนั้นก็เท่ากับมีชาวพุทธเป็นกรรมการส่วนใหญ่อยู่แล้วนั้น เรื่องนี้จะไปหวังอะไรอย่างนั้นคงไม่ได้
๑) อันที่จริง คนที่เรียกว่าเป็นพุทธศาสนิกชนเฉยๆ นั้น แม้จะมีจำนวนมากก็ไม่ค่อยรู้เรื่องพุทธศาสนา
เรารู้อยู่แล้วว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ให้เสรีภาพทางปัญญา ไม่ใช่ศาสนาที่มีศรัทธาเป็นใหญ่ ซึ่งจะว่ามีจุดอ่อนก็จุดอ่อน จะว่าเป็นจุดดีก็จุดดี คือบางทีกลายเป็นว่า เป็นพุทธศาสนิกชนก็เป็นอย่างเรื่อยเปื่อย เป็นชาวพุทธเป็นอย่างไรก็ได้ อย่างเรื่องทาลีบันทำลายพระพุทธรูป เราฟังเสียงดูว่าจะมีการตื่นตัวอะไรไหม น้อยเหลือเกิน แล้วก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าจะวางท่าทีอย่างไร ไม่รู้ว่าเหตุการณ์ที่นั่นมีผลกระทบกระเทือนอะไรอย่างไร ฉะนั้น แค่กรณีทาลีบันก็ไปไม่รอดแล้ว จะมาหวังให้ ๓๙ ท่านที่อยู่ในคณะกรรมการนี้มาช่วยอะไรนี่ได้น้อย อาจจะมีบางท่านเอาใจช่วยอยู่ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร
๒) การให้มีผู้แทนของศาสนานั้นๆ เป็นกรรมการ กับการมีคนนับถือศาสนานั้นๆ เป็นกรรมการ ย่อมไม่เหมือนกัน การที่มีผู้แทน ก็คือ นอกจากเอาคนที่รู้เรื่องเป็นอย่างดีแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบด้วย เขารู้ตัวอยู่ว่าเขาเป็นผู้แทน ที่จะต้องคอยคิดพิจารณาในแง่ของศาสนาของตน ในกรณีนี้ ถึงกรรมการ ๓๐ กว่าคนจะเป็นชาวพุทธ แต่ไม่รู้เรื่องราวมากพอ และไม่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ถึงหลายสิบคนก็อาจจะสู้ผู้แทนคนเดียวก็ไม่ได้
ถ้าถือว่ากรรมการอื่นส่วนมากก็เป็นชาวพุทธอยู่แล้ว ก็อาจจะพูดได้เหมือนกันว่า กรรมการอื่นใน ๓๙ คนที่ไม่ได้เป็นผู้แทนนั้น อาจจะเป็นศาสนิกศาสนาอื่นๆ อยู่แล้ว
ถ้าเป็นศาสนิกอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องมีผู้แทน ในกฎหมายนี้ก็ไม่น่าจะต้องกำหนดผู้แทนเอาไว้
เมื่อจะกำหนดให้มีผู้แทน ก็กำหนดไปตามหลัก เช่น ตามอัตราส่วนประชากร เป็นต้น จึงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปตามธรรมดา ไม่ใช่เรื่องของการวิตกกังวลอะไร
๓) การวางนโยบายไม่ใช่เรื่องเล็ก จะต้องมองเห็นทะลุเลยว่างานพระศาสนา สภาพปัญหาด้านต่างๆ เป็นอย่างไร การที่จะสร้างสรรค์ความเจริญ จะทำให้พระศาสนาอำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ง่าย
ในเมื่อพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ มีอยู่ทุกท้องถิ่น มีสภาพหลากหลายมากมาย แม้แต่เรื่องราวปัญหาของแต่ละถิ่นแต่ละภาคก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ผู้แทนคนหนึ่งสองคนไม่มีทางรู้จักสภาพการณ์ความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในท้องถิ่นนั้นๆ หรือในชนบทต่างๆ ทั่วทุกแห่ง ฉะนั้นเขาจะไม่มีความสามารถที่จะให้แนวคิดที่จะวางนโยบายได้ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย คนจะต้องมีความสามารถจริงๆ ที่จะถึงขั้นวางนโยบาย
เรื่องจำนวนอัตราส่วนของกรรมการเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา ก็เพราะคณะกรรมการไปตั้งเรื่องขึ้นมาให้เป็นปัญหาอย่างนี้ เป็นธรรมดาว่าเมื่อมีการตั้งผู้แทน มันก็ต้องว่าไปตามอัตราส่วน ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าไม่ทำตามอัตราส่วนนั่นสิจะเป็นเรื่องแปลก
เวลาเราเลือกตั้งผู้แทนของแต่ละจังหวัด คือ ส.ส. นี่ เราไม่ได้เอาว่ากรุงเทพฯ คนหนึ่ง ระนองคนหนึ่ง ใช่ไหม แต่เราดูว่าจังหวัดไหนมีจำนวนประชากรเท่าไร แล้วให้มีผู้แทนตามอัตราประชากรที่ตั้งไว้ อันนี้ก็อย่างหนึ่ง แล้วอีกอย่างหนึ่ง คนจังหวัดระนองก็ไม่เลือกผู้แทนของตนให้ไปบริหารกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ ก็ไม่เลือกผู้แทนของตัวให้ไปบริหารจังหวัดระนอง ใช่ไหม อันนี้เราไม่เข้าไปก้าวก่ายกัน
ขณะนี้เรากำลังพิจารณาในเรื่องงานส่วนรวมของประเทศ กรณีนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องพยายามพิจารณาให้ดี เพราะเราจะต้องมุ่งหวังว่า จะทำอย่างไรให้กรรมการนี้ทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สุขของสังคมให้ได้ ถ้าคนเหล่านี้ไม่มีความรู้เข้าใจจริงแล้ว ยากที่จะทำให้สำเร็จ ฉะนั้นแม้แต่ไม่พูดถึงอัตราส่วน ก็มีความจำเป็นอยู่ในตัวว่า เราจะต้องเอาผู้แทนของฝ่ายพุทธศาสนาเข้ามามาก เราอาจจะต้องมองจำแนกเป็นภาคเป็นถิ่นเป็นอย่างไร หรือส่วนไหนๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่
ที่จริงไม่ต้องพูดในแง่อัตราส่วนของกรรมการ คือแม้จะไม่พูดเป็นอัตราส่วนก็ได้ แต่เป็นความจำเป็นในตัวเอง เพื่องานพระศาสนา ที่จะเกิดผลเป็นประโยชน์แก่ชาติ แก่ประเทศของเรา เราก็ต้องพิจารณาอยู่แล้วว่าจะต้องมีผู้รู้จำนวนเพียงพอเข้าไปเป็นกรรมการ ซึ่งอาจจะจำนวนมากกว่าอัตราส่วนก็ได้ ควรคำนึงถึงงานที่จะให้สำเร็จประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติเป็นหลัก หรือเป็นจุดหมายสูงสุด ไม่ใช่มัวเกี่ยงงอน หรือติดอยู่กับรูปแบบเกินไป
ข้อที่ ๗ คือคำนึงถึงความเป็นจริงที่บอกเมื่อกี้ว่า เราทำงานและจัดกิจการต่างๆ โดยมุ่งประโยชน์สุขของสังคม เมื่อพุทธศาสนิกชนเป็นคนส่วนใหญ่ โดยสามัญสำนึก เราก็ต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนนั้น เป็นคนดีมีความสามารถที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมของตน เราไม่ต้องไปมองเรื่องระหว่างศาสนาอะไรเลย
ก็คนส่วนใหญ่เขาเป็นชาวพุทธอย่างนี้ เราจะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่นั้นประพฤติดีปฏิบัติชอบ มีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และให้คนไทยส่วนใหญ่นั้นได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาที่เขานับถือ ให้ได้สมจริงตามวัตถุประสงค์ที่ควรจะเป็น หรือว่า ให้พระศาสนาอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์ ก็ต้องจัดต้องทำให้ได้ผลอย่างนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่มีความจำเป็นอยู่ในตัวเองที่จะต้องเป็นอย่างนั้น
ข้อที่ ๘ อย่างที่บอกแล้ว เรารู้กันอยู่ว่าวงการพระศาสนาของเราอ่อนแอ มีปัญหาขึ้นมามากมายแล้ว ถึงเวลานานนักหนาแล้วที่ควรจะได้ฟื้นฟู ทำให้เข้มแข็งขึ้นมา ในเมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลง ทางราชการจะจัดตั้งเป็นกระทรวงใหม่ จัดแบ่งหน่วยงานใหม่ ก็คือ ถึงยุคของการเริ่มต้นใหม่ ทำไมจะมัวปล่อยให้เป็นอย่างเดิมอยู่อีก แล้วจะตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่ทำไม เราควรถือโอกาสนี้มาจัดการแก้ไขปรับปรุงทำอะไรให้พร้อม ให้ดีที่สุด เพื่อจะฟื้นฟูกิจการพุทธศาสนาให้เข้มแข็งเสียที เพราะฉะนั้นอย่าเร่งรัดนักเลยว่า จะต้องจัดให้เสร็จวันนั้นเดือนนี้ ตรงนี้ต้องมาคิดกันให้หนักเลยว่า จะทำอย่างไร เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดสมตามวัตถุประสงค์ แล้วถือโอกาสฟื้นฟูการพระศาสนาขึ้น
ปัญหาเป็นมานานแล้วว่า การบริหารงานหลักของพระศาสนาไม่มีหน่วยงานหรือบุคคลที่มีหน้าที่ปฏิบัติและรับผิดชอบในการดำเนินการแน่นอนชัดเจนลงไป อะไรเกิดขึ้นไม่รู้ว่าจะเรียกร้องตรวจสอบที่ไหน การสนองงานคณะสงฆ์ก็ไม่มีระบบที่จะรับช่วงกำกับควบคุมที่จะเป็นหลักประกันให้งานพระศาสนาออกสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นผลได้อย่างมั่นใจ
เมื่อจะเริ่มต้นใหม่ครั้งใหญ่ ถึงกับเปลี่ยนยุบกระทรวงศึกษาธิการและกรมการศาสนา ที่มีมาตั้งค่อนศตวรรษ ให้หายหมดไป เกิดเป็นกระทรวงและสำนักในชื่อใหม่ขึ้นมาอย่างนี้ รัฐและคณะสงฆ์จะแก้ปัญหาเรื้อรังให้หมดไปกับระบบเก่า และยกการพระศาสนาขึ้นสู่ความเจริญรุ่งเรืองเพื่อช่วยสังคมไทยให้เฟื่องฟูขึ้นได้หรือไม่ เรื่องนี้ถ้าเกินกำลังของคณะกรรมการหรือของคนในยุคนี้ ก็คงได้แต่ฝากไว้
ตอนนี้จะขอโยงมาพูดในขั้นพื้นฐาน คือเรื่องระหว่างพระพุทธศาสนากับการศึกษา การแบ่งส่วนงานฟ้องว่าคนไทยเวลานี้มีท่าทีมองศาสนาอย่างไร คือจะมองศาสนาไปเป็นเรื่องศิลปวัฒนธรรมในความหมายที่เป็นรูปแบบ อย่างที่คนส่วนมากมองกันอยู่ คือ มองเหมือนกับว่าอยู่ที่วัดนี่ เห็นโบสถ์ เห็นใบระกา เห็นสิ่งสวยๆ งามๆ มีศิลปกรรม เช่น จิตรกรรมฝาผนัง มีวรรณกรรมอะไรต่างๆ ซึ่งมากับพระศาสนา มีประเพณี มีพิธีกรรมโน่นนี่ และสิ่งนี้เราเรียกว่าเป็นวัฒนธรรม มองแค่นี้แล้วก็เลยคล้ายๆ ว่าจับเอาศาสนามาเป็นเรื่องจำพวกเดียวกันหรือระดับเดียวกันกับวัฒนธรรม ก็เลยจัดเข้าเป็นงานของคณะกรรมการหรือสำนักงานคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ส่วนการศึกษาก็แยกไปอีกอันหนึ่ง เหมือนกับว่าศาสนานั้นแยกกันเป็นคนละอย่างกับการศึกษา
แต่ว่าตามหลักการแท้ๆ พระพุทธศาสนานั้นตัวแท้อยู่ที่การศึกษา ทางพระเรียกเป็นบาลีว่า “สิกขา” ถ้าไม่มีการศึกษา ก็ไม่มีพุทธศาสนา ใช่ไหม ดูง่ายๆ ที่คำว่า “บวชเรียน” การบวชก็คือการเรียน แต่ตอนหลังความคิดนี้ของเรากำลังจะหายไป และตรงนี้แหละคือความหมายหลักที่เป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา จุดที่เราจะต้องฟื้นก็คืออันนี้ คือทำอย่างไรจะให้พุทธศาสนากลับคืนสู่เนื้อหาที่แท้ของพุทธศาสนาเอง คือการศึกษา ซึ่งหมายถึงการพัฒนาคน หรือการสร้างมนุษย์ให้มีคุณภาพดี ทั้งทางพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา
พุทธศาสนาตัวแท้ก็คือการศึกษา การศึกษาก็มาพัฒนาคน ให้มีพฤติกรรมดี มีจิตใจดี มีปัญญาเจริญงอกงาม แล้วคนที่มีจิตใจดี และมีปัญญานั้น ก็มาสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ที่เชิดชู ทำให้จิตใจคนและทำให้สังคมมนุษย์ดีขึ้น เกิดงานศิลปกรรมอะไรต่างๆ ขึ้น มีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เป็นแบบแผนของการอยู่ร่วมกัน และเป็นวิถีชีวิต ก็เกิดเป็นวัฒนธรรมขึ้น ถ้ามองในแง่นี้แล้ววัฒนธรรมก็สืบเนื่องมาจากศาสนาในรูปที่เป็นการศึกษานี้เอง ศาสนาที่เป็นการศึกษา เป็นต้นแหล่งที่มาของวัฒนธรรมที่เรากำลังเอามาผนวกเข้าด้วยกันนี้
การศึกษาปัจจุบันที่เรามองแยกจากศาสนามาเป็นแบบนี้ ก็เพราะเราจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ขึ้นมาเป็นระบบต่างหาก แล้วการศึกษาแบบสมัยใหม่นั้นก็พัฒนาคนขึ้นมาให้เขามีแนวคิด มีลักษณะบุคลิกภาพของเขาอีกแบบหนึ่ง มีการดำเนินชีวิตอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมที่สืบเนื่องจากการศึกษาแบบปัจจุบัน อาจจะพูดแบบล้อกันหน่อยว่า วัฒนธรรมของการศึกษาปัจจุบัน หรือวัฒนธรรมที่สืบเนื่องจากการศึกษาระบบปัจจุบัน กำลังเริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งคงจะพอไปหาดูได้แถวคาราโอเกะ หรือตามเซ็นเตอร์พอยนต์ และอาร์ซีเอ เป็นต้น อันนี้แหละ คือรูปเค้าของวัฒนธรรมที่สืบเนื่องจากการศึกษาปัจจุบันใช่ไหม
การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะปฏิรูปกัน แต่ขณะนี้เราก็ยังตีไม่แตกในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับศาสนา และการมองศาสนาในความหมายของการศึกษา ถ้าอย่างนี้ การปฏิรูปการศึกษาก็จะไม่ไปไหน คือจะได้แต่มองตามฝรั่ง และปรับไปตามฝรั่งกันต่อไป โดยไม่มีอะไรเป็นของเราเอง และที่จะเข้ากันได้กับสภาพของตัวเราที่แท้จริง
ขอย้ำว่า ต้องถือเรื่องการศึกษาเป็นเป้าหมายและภารกิจหลักของพระพุทธศาสนา เพราะนี่คือเนื้อตัวที่แท้ของพุทธศาสนา เมื่อพิธีบวชพระในโบสถ์เสร็จสิ้นลง พระอุปัชฌาย์บอกชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่พระบวชใหม่ทันที บอกว่าให้ศึกษาโดยไม่ประมาทในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา คือการพัฒนาชีวิตมนุษย์ ทุกคนต้องศึกษาจนกว่าเป็นพระอรหันต์ เรียกว่าเป็น อเสขะ จึงไม่ต้องศึกษา
การศึกษาสมัยใหม่ที่จัดกันมา ได้มองเห็นกันมากขึ้นว่า ชักจะมีความหมายแคบและเพี้ยนไป กลายเป็นแค่ความรู้ข้อมูล และการที่จะได้เครื่องมือทำมาหากิน แม้กระทั่งเป็นความเก่งในการหาผลประโยชน์ ความหมายที่แท้เหลือแค่เป็นเงาๆ และไม่ค่อยเอาใจใส่กัน คือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ ทำให้คนมีความเป็นอยู่ดีงามขึ้น มีพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ที่จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ประเสริฐ(เป็นอารยะ)มีสันติสุข
จุดนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ถ้าเราจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาก็จะต้องฟื้นฟูที่นี่ ทำอย่างไรจะมาประสานกับรัฐในเรื่องนี้ บางทีเราจะไปติดแนวคิดของตะวันตก ที่มองศาสนากับการศึกษาไปคนละทางกัน เรื่องนี้จะต้องตีประเด็นให้แตก
ลองดูความเป็นมาในการตั้งกรมการศาสนา และกระทรวงศึกษาธิการ เดิมกระทรวงศึกษาธิการก็คือกระทรวงธรรมการ ถ้าเราย้อนไปดูเหตุผลในการตั้งกระทรวงธรรมการของในหลวงรัชกาลที่ ๕ ก็คือต้องการให้ศาสนามาเอื้อต่อการศึกษา หรือมองการศึกษากับศาสนาเป็นเรื่องเดียวกัน มุ่งหวังว่าศาสนาจะช่วยให้การศึกษาได้สร้างสรรค์พัฒนามนุษย์ที่มีคุณภาพดี เป็นคนดีของสังคม มีวิถีชีวิตที่ดีงามได้แท้จริง จึงตั้งเป็นกระทรวงธรรมการขึ้น ให้ธรรมเป็นหลักใหญ่
ต่อมา ถึงรัชกาลที่ ๖ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นว่า คนที่จะรู้ดีทั้งเรื่องทางวัด คือเรื่องพระศาสนา และรู้ดีเรื่องการศึกษาด้วยนั้น หาไม่ค่อยได้ นี่แสดงว่าเป็นมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว ที่รู้ดีทั้งสองด้านแทบไม่มี จึงแยกศาสนากับการศึกษาจากกันไป เอากรมธรรมการไปอยู่ในวัง แล้วเปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่ทางด้านการศึกษา ซึ่งจะเป็นไป ตามแนวตะวันตก
จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ ๗ เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระปรารภว่า การศึกษาไม่ควรแยกจากพระศาสนา ก็ย้ายกรมธรรมการโอนกลับมาอยู่กระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการกลับเป็นกระทรวงธรรมการอีก
พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เสร็จ รัฐบาลใหม่ก็เปลี่ยน เอากระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการอีก กรมธรรมการจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ คือเป็นกรมการศาสนาในปัจจุบัน
อันนี้เป็นเรื่องเก่า ซึ่งเราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับศาสนา แต่ในสมัยใหม่นี้นานๆ เข้าก็ห่างเหินกัน จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า ตีไม่แตก แล้วมองเห็นเป็นคนละอย่าง จนมาถึงเวลานี้เมื่อเรามีการฟื้นฟูปฏิรูป เราจะมีความสามารถแค่ไหนที่จะทำให้สองอย่างนี้มาเอื้อต่อกันได้ อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต้องคิดกันให้ลงตัว เรียกว่าลงมาที่ฐานเลย
ต้องขอบอกว่า เวลานี้เรามองแบบตะวันตกมากไป คือมองความหมายของศาสนาแบบตะวันตก ซึ่งไม่เหมือนกับเรามองศาสนาของเรา ศาสนาของเขามีความหมายไปคนละทิศกันเลยกับเรา คำว่าการศึกษา ก็มีความหมายไม่เหมือนกัน อันนี้เป็นเรื่องของการจัดแบ่งหน่วยงาน ขอโอกาสพูดเท่านี้ก่อน
ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ คณะกรรมการเข้าใจว่าพระเดชพระคุณคงได้รับฟังข่าวสารข้อมูลของคณะกรรมการกิจการสงฆ์ที่เป็นปัญหา ที่คณะกรรมการที่มหาเถรสมาคมจัดเข้ามา
พระธรรมปิฎก ก็ไม่ได้ยินโดยตรงหรอก เจริญพร
ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ (กฎหมาย)ที่คณะกรรมการใช้เป็นกรอบ คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรม ในกระทรวงใหม่นั้น ให้มีหน่วยงานระดับกรมเพียง ๔ กรม เราเพิ่มสำนักงานปลัดกระทรวงขึ้นมา ธรรมชาติของกระทรวงต้องมีสำนักงานปลัดกระทรวงด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีการยุบรวมสำนักวัฒนธรรม กรมศิลปากร และกรมการศาสนา เพราะว่าหน้าที่ของคณะกรรมการตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๐ กำหนดไว้อย่างนั้น
เมื่อได้มาจับส่วนงานนี้ ต้องกราบเรียนว่า ไม่ว่าจะเป็นสำนักประสานส่งเสริม สำนักสนับสนุนงานมหาเถรสมาคม สำนักส่งเสริมทรัพย์สินส่วนพระพุทธศาสนาหรือสำนักประสานส่งเสริมศาสนา จริงๆ แล้วเป็นส่วนงานที่มีอยู่ในกรมการศาสนา เมื่อกี้พระเดชพระคุณอาจารย์อาจจะไม่ค่อยเข้าใจ จริงๆ แล้วสำนักเหล่านี้ก็คือกอง ไม่ใช่เป็นกรม
พระธรรมปิฎก ทีนี้ก็ยิ่งแยกกันใหญ่
ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ คือแต่เดิมทีเดียว สำนักเหล่านี้เป็นกองในกรมการศาสนา มีกองศาสนสมบัติกลาง กองต่างๆ ซึ่งเราได้จัดเป็นกองอยู่แล้ว บางทีก็มีหน่วยงานที่ทำงานซ้อนกันอยู่ คณะ กรรมการจึงจัดกลุ่มให้ชัดเจน แต่การแยกเป็นกองนั้นเป็นกองอยู่ภายในกรมการศาสนา เดิมมันเรียกอย่างนั้น พอมาอยู่ในสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ส่วนนี้ยังเป็นกองอยู่ พอเราเรียกสำนัก ก็เป็นกองขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่ทำให้ดูคลุมเครือ หรือทำให้ความชัดเจนของพระพุทธศาสนานั้นหย่อนยานไปก็ตรงที่มีงานอื่นมารวม งานศิลปวัฒนธรรมมารวม อะไรต่างๆ มารวมเข้าด้วยกัน
พระธรรมปิฎก เพราะการที่มีงานอื่นมารวมอย่างหนึ่ง และตัวเองมีหลายหน่วยด้วย เลยทั้งกระจายทั้งปะปน อาตมาว่าอย่าไปติดเรื่องการรักษารูปแบบและสถานะของเก่าเลย เรามุ่งประสิทธิภาพที่จะให้เกิดผลสำเร็จแก่ประเทศชาติเป็นสำคัญ เมื่อมีโอกาส ถ้าทำให้มีเอกภาพได้จะดีมาก
ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ ท่านประธานฯ และคณะกรรมการไปกราบพระพรหมมุนีบอกว่า สิ่งที่คณะกรรมการทำและพยายามปรับปรุงให้ไปได้ เป็นการทำในกรอบของคณะกรรมการ แต่ถ้าหากว่าพระเดชพระคุณบอกว่า อยากเป็นองค์กรอิสระ
พระธรรมปิฎก ก็เห็นด้วย ตามที่เขาคิดกันอย่างนั้น
ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ ทางคณะกรรมการได้กล่าวต่อพระพรหมมุนี คณะกรรมการพร้อมที่จะรับเรื่อง ขอนิดเดียว เพราะว่าคณะกรรมการยังคงติดกรอบของ พรบ. ถ้าหากคณะสงฆ์เห็นด้วยอย่างนั้น ทางคณะกรรมการนี่ก็พร้อมสนองงาน โดยถ้าทำอย่างนั้นก็คงจะต้องมีการแก้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ใหม่ คณะกรรมการนี้ไม่อยากจะไปแตะต้องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กลัวจะมีปัญหาอะไรขึ้นมา ถ้าหากว่าคณะสงฆ์เห็นว่าควรจะเป็นองค์กรอิสระ แล้วขณะเดียวกันก็แก้ พรบ.สงฆ์
ก็ได้กราบนมัสการพระพรหมมุนี บอกว่าทางคณะกรรมการนี่พร้อม และถ้ามหาเถรสมาคมมีมติอย่างไร ก็สามารถดำเนินการ (ขอให้)บอกมาก่อนที่คณะกรรมการจะเสนอเรื่องไปยังรัฐบาล เราจะเสนอไปพร้อมกัน แต่ถ้าไม่ทันที่จะเสนอไปพร้อมกัน ท่านประธานฯ ก็บอกว่า ทางคณะสงฆ์อาจจะขอให้กระทรวงศึกษาธิการส่งเรื่องเข้าไปสมทบกันในคณะรัฐมนตรีได้ อันนี้เป็นทางออก ซึ่งตรงกับที่พระเดชพระคุณท่านได้กล่าวถึง
ที่จริงแล้วในเรื่องของโครงสร้างแบบองค์กรอิสระ ทางคณะกรรมการได้เสนอเข้าไปยังคณะทำงานเป็นรูปแบบหนึ่ง แต่ได้กราบเรียนพระพรหมมุนีว่า อันนี้เป็นตุ๊กตา แล้วแต่ทางคณะสงฆ์จะเห็นว่าอย่างไร ก็ได้เสนอไปอย่างนั้น ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่แยกออกเป็นองค์กรอิสระ แต่ก็มีแนวคิดว่าอาจจะเป็นองค์กรอิสระในสำนักนายกรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระที่ขึ้นกับมหาเถรสมาคม สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
พระธรรมปิฎก อาตมายังไม่มีความเห็นไปทางไหน เพราะอยู่ที่ว่าอันไหนจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลในการทำงานเพื่อสังคมประเทศชาติมากกว่า
ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ ในส่วนตัวของผมซึ่งเป็นประธานกลุ่มโครงสร้าง ได้กราบนมัสการพระพรหมมุนีและได้พูดที่วัดบวรฯ ว่า ถ้าหากว่าเป็นองค์กรอิสระในกำกับของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มันจะเชื่อมโยงการศึกษากับการศาสนาได้ดีกว่าที่จะออกมาอยู่ข้างนอก เพราะอยู่ภายใต้กำกับของรัฐมนตรีกระทรวงเดียวกัน
พระธรรมปิฎก พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ก็อาจจะไม่ต้องแก้ด้วย ใช่ไหม
ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์อาจจะต้องแก้ ในส่วนที่เกี่ยวกับที่มอบให้กับกรมการศาสนา บทบาทขององค์กรอิสระ รวมทั้งการที่จะออกพระราชบัญญัตินี้ มีลักษณะเฉพาะ ไม่เหมือนกับส่วนราชการ อันนี้เป็นเรื่องทางฝ่ายกฎหมายต้องดูอีกที
พระธรรมปิฎก ต้องดูกันในรายละเอียด แต่องค์กรอิสระนี้ ไม่ใช่ตัวมหาเถรสมาคม
ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ ไม่ใช่ครับ
พระธรรมปิฎก เพราะฉะนั้นมหาเถรสมาคมยังอยู่อย่างนั้น เป็นแต่เพียงว่าจะไปสัมพันธ์กับใคร และอย่างไร
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ คือการปกครองของคณะสงฆ์จะมีมหาเถรสมาคม แล้วองค์กรอิสระจะมีคณะกรรมการบริหาร มีการแบ่งส่วนงาน เอาส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไปไว้ด้วยกัน และเพิ่มงานบางส่วน มีการบริหารจัดการภายใต้คณะกรรมการ ซึ่งมหาเถรสมาคมกำกับอยู่อีกทีหนึ่ง คณะกรรมการนี้อาจจะมีการเขียนไว้ว่า เป็นเรื่องที่มหาเถรสมาคมสนับสนุน ให้เป็นไปในทิศทางหนึ่ง อันนี้มีทางที่จะเป็นไปได้ เรียนกราบนมัสการ ทางคณะผมตอนนี้รออยู่
พระธรรมปิฎก ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ว่าถ้าตกลงเป็นองค์กรอิสระ จะสังกัดที่ไหน แต่อาตมาไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ เอาเพียงหลักการว่า อันไหนจะทำให้งานพระศาสนาเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนแก่สังคมได้ดีที่สุด ก็เอาอันนั้น
ขอแทรกเพิ่มเติมหน่อย คือ ทางคณะกรรมการพูดบ่อยๆ ถึงกรอบพระราชบัญญัติ ซึ่งหมายถึงว่า คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษานี้ จำเป็นต้องทำงานภายในกรอบที่ พรบ.การศึกษาแห่งชาติได้กำหนดวางไว้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องเข้าใจ และต้องเห็นใจคณะกรรมการ แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่า เราคงต้องถือจุดหมายที่ว่าทำให้เกิดผลดีเป็นประโยชน์มากที่สุด แก่พระศาสนา และสังคมประเทศชาติ อันนี้ต้องเป็นจุดหมายสูงสุด
เมื่อเรามุ่งไปที่จุดหมายแท้จริงนี้แล้ว ถ้าบางอย่างมีอันขัดกันกับกรอบที่วางไว้ ก็จะได้รู้ว่ากรอบที่วางไว้นั้นเป็นปัญหาหรือเป็นอุปสรรค แล้วเราก็ต้องหาทางออกให้ดีที่สุด ถ้ามองแง่นี้ บางทีเราอาจจะไม่ต้องติดขัดอับจน เพราะถูกกรอบบังคับมากเกินไป
ที่ท่านอธิบดีฯ บอกว่า หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับกิจการพระพุทธศาสนา คือสำนักประสานส่งเสริม สำนักสนับสนุนงานมหาเถรสมาคม สำนักส่งเสริมทรัพย์สินส่วนพระพุทธศาสนา ที่จริงก็เป็นส่วนงานที่มีอยู่ในกรมการศาสนา คือเป็นกอง ไม่ใช่กรม อาตมาอ่านผ่านๆ เลยเอาเป็นส่วนงานระดับกรมไป ที่จริง ตัวสำนักงานคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรมนั่นแหละ เท่ากับเป็นกรม เหมือนกรมการศาสนา พอพูดมาถึงตรงนี้ก็เข้าตัวประเด็นเลย
ที่ว่าเป็นตัวประเด็นก็คือ จะเห็นว่า ทางคณะกรรมการพยายามจัดรูปและแบ่งส่วนงาน
๑) ให้เป็นไปตามกรอบของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ
๒) พยายามคงรูปร่างและสถานะ ของหน่วยงานต่างๆ ไว้อย่างเดิม จะปรับเปลี่ยนไปบ้างก็เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับ พรบ.การศึกษาแห่งชาตินั้น และแก้ไขความซ้ำซ้อน
นี่แหละคือจุดที่ว่าจะต้องเห็นใจท่านอธิบดี เพราะต้องทำไปตามกรอบที่มี และก็ได้พยายามรักษารูปงานและสถานะอย่างเดิมไว้เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่จุดที่เห็นใจนี่แหละก็เป็นจุดที่จะต้องใส่ใจว่า ทำอย่างไรจะให้เป็นการจัดโดยมุ่งให้มีประสิทธิภาพเกิดเป็นคุณประโยชน์มากที่สุด ซึ่งถ้ากรอบไม่อำนวยก็น่าจะหาทางออกเท่าที่จะเป็นไปได้
การจัดปรับวางระบบนี้คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ ๓ ระดับ คือ
๑) จัดปรับให้เสื่อมทรุดลงกว่าเดิม
๒) จัดปรับให้คงอยู่เท่ากับของเดิม
๓) จัดปรับให้ดีขึ้นกว่าของเดิม
พร้อมกันนี้ เกณฑ์ที่จะใช้วัดหรือตัดสินก็มีให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่าง คือ
ก. ทำให้ได้ให้เป็นไปตามกรอบที่วางไว้
ข. ทำให้สนองจุดหมาย เพื่อประโยชน์แก่พระศาสนาและสังคมประเทศชาติให้ดีที่สุด
ในที่นี้ น่าจะใช้เกณฑ์ข้อ ข. ส่วนข้อ ก. ถือว่าเป็นรองลงไป ตามระดับทั้ง ๓ และจากเกณฑ์วัดที่ว่านี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า
๑. เริ่มต้นที่ส่วนงานใหญ่ คือเมื่อยุบกระทรวงศึกษาธิการ และตั้งกระทรวงใหม่ คือกระทรวงการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมนั้น จะเห็นชัดว่า เวลาแบ่งส่วนราชการ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ให้ความสำคัญแก่การศึกษา มีส่วนราชการระดับกรม หรือเรียกง่ายๆ ว่ากรมที่เป็นเรื่องการศึกษาโดยเฉพาะถึง ๒ กรม แต่การศาสนากับวัฒนธรรม เอาไปรวมกันเป็นกรมเดียว แทนที่จะแยกเป็นกิจการศาสนากรมหนึ่ง และวัฒนธรรมกรมหนึ่ง
การจัดเอาการศาสนากับวัฒนธรรมมารวมกันอยู่ในกรมเดียวนั้น ก็แสดงว่า นอกจากให้ความสำคัญแก่กิจการ ๒ อย่างนี้ น้อยกว่าการศึกษาแล้ว ก็แสดงถึงความคิดความเข้าใจของผู้จัดที่มองเรื่องศาสนาเป็นแค่เรื่องจำพวกเดียวกับวัฒนธรรมในความหมายแคบๆ ที่เป็นแนวโน้มของคนจำนวนมากในปัจจุบัน ซึ่งมองไม่ชัดทั้งเรื่องศาสนาและเรื่องวัฒนธรรม ตรงนี้น่าจะถือว่าเป็นการพลาดไปแล้วขั้นหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งไม่อยู่ในขั้นที่เป็นงานของคณะกรรมการนี้ เป็นเรื่องต้องปล่อยผ่านไปก่อน แต่ถ้ามีโอกาสก็น่าจะเอามาพิจารณากันอีก
๒. เมื่อจัดปรับงานศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามาอยู่ในกระทรวงใหม่ กรมการศาสนาก็ต้องยุบไป แต่ก็มาจัดเข้าเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม และกองต่างๆ ก็มาจัดปรับเป็นสำนักต่างๆ ซึ่งก็เหมือนกับว่าส่วนงานด้านศาสนาคงสถานะอยู่อย่างเดิม และเป็นไปตามกรอบของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นจุดที่ว่าจะต้องเห็นใจคณะกรรมการ ที่ได้พยายามรักษาสถานะหน่วยงานศาสนาไว้เท่าที่กรอบจะอำนวยให้
แต่เมื่อมองด้วยเกณฑ์วัดที่ว่าควรจะจัดปรับโดยมุ่งให้เกิดผลดี ให้งานพระศาสนามีประสิทธิภาพที่จะเกิดผลเป็นประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติมากที่สุด เมื่อมองตามเกณฑ์นี้ก็กลายเป็นว่า
๑) งานด้านศาสนาและวัฒนธรรมไม่ใช่เป็นหมายที่คณะกรรมการตลอดถึงรัฐจะตั้งใจจัดวางให้เจริญงอกงามเป็นผลดี คณะกรรมการตลอดถึงรัฐตั้งใจจัดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเท่านั้น แต่เพราะงานศาสนาและวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่พ่วงหรือแอบอิงอยู่ด้วยในระบบงานเดิม เมื่อปรับปรุงเรื่องการศึกษา ก็เลยจำเป็นต้องจัดปรับหน่วยงานเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมไปด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ทำให้มองได้ว่า การจัดปรับหน่วยงานศาสนาเป็นเพียงเรื่องพลอยพ่วงมาด้วย ซึ่งจะต้องจัดทำให้เสร็จๆ ไป เพียงแต่พยายามรักษาไว้ให้คล้ายหรือเสมอกับของเดิมให้มากที่สุด
๒) ในการที่พยายามจัดปรับให้เสมอเหมือนของเดิมนั้น ก็ได้พยายามจะให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ และเมื่อมองเผินๆ ก็คล้ายจะเป็นอย่างนั้น แต่แท้จริงนั้น การรักษาสถานะเดิมก็ไม่อาจเป็นไปได้ เพราะการจัดปรับใหม่นี้ มิใช่มีแต่กิจการศาสนาเท่านั้น การศาสนาไม่ได้เป็นเอกเทศ แต่มีองค์ประกอบอย่างอื่นเข้ามาข้องด้วย คือมีงานด้านวัฒนธรรมเข้ามารวมอยู่ด้วยกัน จึงกลายเป็นว่า
ก. งานด้านศาสนาลดความสำคัญลง แต่ก่อนเคยเป็นกรมการศาสนา ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะสำหรับกิจการศาสนาเต็มที่ แต่คราวนี้เปลี่ยนมาเป็น (กรม)สำนักงานคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งมีงาน ๒-๓ ด้านมาอยู่ด้วยกัน (รวมกรมการศาสนา-กรมศิลปากร-สวช. เข้าด้วยกัน) แม้แต่อธิบดีใหม่ คือเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ก็จะพูด หรือมีความรู้สึกที่แบ่งออกไปทำนองว่า “ฉันไม่ได้รับผิดชอบงานศาสนาเท่านั้นนะ ฉันมีงานอื่นที่ต้องดูแลด้วย”
ข. งานด้านศาสนาขาดเอกภาพ เพราะมีหน่วยงานด้านอื่นๆ มารวมอยู่ด้วยในส่วนงานใหญ่ เหมือนปะปนกันอยู่ในกรมเดียวกัน
เมื่อพิจารณาดังว่านี้แล้ว ก็เห็นได้ว่า การที่คิดจะจัดให้เหมือนเดิม พยายามรักษาสถานะอย่างเดิมนั้น เมื่อทำไปแล้ว กลับกลายเป็นการทำให้เสื่อมทรุดลง
เวลานี้ก็เห็นกันอยู่ชัดๆ แล้วว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมต่างๆ ได้ปรากฏออกมามากมาย ข่าวเสียหายต่อพระศาสนาระบาดสะพรั่ง เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ควรจะมีการปรับปรุงกิจการ พระศาสนากันนานแล้ว เพราะฉะนั้นแม้แต่การที่จะรักษารูปแบบให้คงอยู่อย่างเดิมก็ไม่เพียงพอ มีแต่จะต้องจัดปรับให้ดีขึ้นกว่าของเดิมอย่างเดียวเท่านั้น
การที่ให้มีกระทรวงการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมขึ้นมา แทนกระทรวงศึกษาธิการนั้น สาระสำคัญก็เพื่อให้เกิดการแก้ไข ปรับปรุงกิจการเหล่านั้นให้ดีขึ้น แล้วทำไมจะไม่ทำการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของการจัดตั้งกระทรวงใหม่นั้น ให้ครบทุกกิจการ ไม่ใช่ปรับปรุงแต่การศึกษาอย่างเดียว
จึงไม่น่าจะติดอยู่กับการรักษารูปแบบหรือกรอบ แต่ควรจะย้ำให้มุ่งสู่จุดหมายที่แท้จริงของตัวงาน คือทำอย่างไรจะให้งานพระศาสนามีประสิทธิภาพที่จะนำประโยชน์สุขมาให้แก่ประชาชน สังคมประเทศชาติให้มากที่สุด และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงส่วนราชการเป็นการเริ่มต้นใหม่ ก็ควรใช้โอกาสนี้จัดปรับทุกอย่างให้ดีที่สุด
เป็นอันว่า ถ้าการจัดแบ่งส่วนราชการตามกรอบของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๒ จะทำให้เสียผลและเรามีทางออกนอกกรอบได้โดยไม่ผิด คือ จัดตั้งเป็นองค์กรอิสระอย่างที่ว่า ก็ควรจะทำ ส่วนจะสังกัดหรือไม่สังกัดที่ไหน ก็มาพิจารณากันในแง่การสนองจุดหมายได้ดีที่สุด
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ผมกราบนมัสการคณะทำงานที่พระพรหมมุนีกำลังทำงานว่า ถ้าตกลงกันอย่างไร ถ้าคิดว่าทางคณะกรรมการสำนักงานปฏิรูปจะเป็นประโยชน์ ที่จะเข้าไปช่วยคิดในบางเรื่อง ก็มีความยินดีที่จะเข้าไปประสาน
พระธรรมปิฎก ตอนนี้ที่สำคัญคือถ้าตั้งเป็นองค์กรอิสระ จะวางระบบประสานงานและร่วมมืออย่างไร เพราะว่าในขณะที่แต่ละฝ่ายไม่รู้เรื่องของกันและกันมาก จะต้องอาศัยการร่วมมือ ประสานงาน ทิ้งกันไม่ได้ แล้วก็ต้องให้เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ กราบเรียน น่าจะใช้เป็นโอกาสที่จะทำให้องค์กรมหาชนนี้ ได้ดำเนินการตามที่ท่านเจ้าคุณและท่านประธานฯ ได้ชี้แจง
พระธรรมปิฎก คือทำอย่างไรก็ตามที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ เพื่อสังคมประเทศชาติส่วนรวม ให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ อย่าไปคิดอะไรกันเลย ไม่ถือกัน
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ คณะกรรมการชุดนี้พร้อม สิ่งที่คิดทำ ต้องกราบนมัสการว่า มันเป็นกรอบที่มาจาก พรบ.การศึกษา ทำไว้ก่อนหน้านี้ พอไปถึงตรงนั้น ถ้าพระสงฆ์เห็นแล้วก็จะมีการ ประสานกัน ถึงจะเป็นการดี
พระธรรมปิฎก แต่ พรบ.การศึกษาตอนนี้ไม่ขัด เพราะว่ายังมีคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรมอยู่
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ คือ ถ้าหากว่าทางพุทธศาสนาแยกออกไป คณะกรรมการนี้ก็ยังอยู่ แต่ถ้าไม่แยกไป ทางพระพุทธศาสนาจะต้องอยู่ในองค์กรที่มารวมกันที่ทำมาแล้ว
พระธรรมปิฎก ในเมื่อด้านการพระพุทธศาสนานี้แยกไปจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระใหญ่ขึ้นมา แล้วคณะกรรมการนี้ยังจะมีองค์ประกอบอย่างไร แล้วจะไปมีงานที่โยงกับพุทธศาสนาอย่างไร
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ โดยหน้าที่ เขามีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนแล้วการสนับสนุน เรียกว่ามีหน้าที่ในการส่งเสริมศาสนาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะมีงานบางส่วนที่คณะกรรมการนี้ดำเนินการ ในเรื่องของการส่งเสริมการดำเนินงานของพุทธศาสนา ในบางเรื่อง อาจจะมีส่วนที่กำหนดนโยบายที่จะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการศึกษา เพราะทางพุทธศาสนาเกิดเป็นองค์กรแยกออกไป แต่อย่างไรก็ตาม ภาพใหญ่ของกระทรวงนั้น จะมีสภาการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม อันนี้เป็นตัวบูรณาการ ที่จะเชื่อมโยงทุกหน่วยเข้าด้วยกัน
พระธรรมปิฎก ทุกหน่วยก็จะไปประสานกันที่นี่ ถึงอย่างไรก็ตาม อาตมายังเห็นว่าเรื่องเมื่อกี้ คือถ้าจะมาวางนโยบายที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ก็ต้องรู้เข้าใจสภาพรู้ปัญหาของสถาบันและกิจการพระพุทธศาสนา รู้การคณะสงฆ์ รู้สภาพชนบททุกภาคทุกท้องถิ่น ว่าเป็นอย่างไร เช่นว่า ถอยหลังไปสัก ๒๐ ปี ในภาคกลาง มีพระมากกว่าเณร ในภาคเหนือเณรมากกว่าพระ ภาคอีสานพระกับเณรเกือบเท่ากัน แต่เดี๋ยวนี้ทุกภาคเณรจะหมดแล้ว แต่ละภาคแต่ละถิ่น มีภาวะทางการศึกษาเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ของวัดกับชุมชนเป็นอย่างไร วัฒนธรรมประเพณีเป็นอย่างไร มีแนวโน้มอย่างไร มีความเสื่อมความเจริญในที่ไหน ตอนไหน ปัญหาเป็นอย่างไร ความเป็นไปอย่างนี้ คนที่จะวางนโยบายต้องรู้ ต้องเข้าใจ จึงจะส่งเสริมสนับสนุนได้ถูกเรื่องถูกที่ถูกทาง
ฉะนั้น ผู้แทนคนเดียวหรือแม้แต่พระสามองค์ ไม่พอที่จะวางนโยบายและแผนได้ พระนั้น ในบางเรื่องก็ขยับเขยื้อนยาก ท่านอาจจะช่วยได้ในด้านการคณะสงฆ์ แต่สภาพการณ์พระ ศาสนาในฝ่ายชาวบ้านเป็นอย่างไร ชาวพุทธจะมีวิถีทางอะไรที่เอื้อแก่สังคมประเทศชาติ อะไรอย่างนี้ ต้องมีคฤหัสถ์เข้าไปช่วยอยู่ดี
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ มีส่วนหนึ่งที่คณะกรรมการมีผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ก็อยู่ที่จะเลือกเข้าไปอย่างไร นี่จุดหนึ่งที่เป็นปัญหา
พระธรรมปิฎก ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกลางๆ ไม่ได้บอกว่าด้านไหนใช่ไหม เพื่อความมั่นใจจะต้องบอกไปตั้งแต่ในตัวกฎระเบียบ โดยกำหนดให้มีจำนวนกรรมการด้านไหนๆ ที่แน่นอน และจะมีสัดส่วนเท่าไร หรือไม่ต้องเรียกเป็นสัดส่วน แต่มีจำนวนเท่าไรก็ตามที่จะให้งานเป็นไปด้วยดี ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ในนี้เขียนรวมไว้ว่า ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม จำนวน ๒๐ คน ซึ่งคงจะต้องมีรายละเอียดประกอบ จริงๆ แล้วรายละเอียดจะออกเป็นกฎกระทรวงอีกทีหนึ่ง อันนี้เป็นข้อสังเกต ที่คณะกรรมการจะไปดูแลในเรื่องกฎกระทรวง ให้มีความชัดเจน
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าองค์กรทางพุทธศาสนาเป็นองค์กรอิสระขึ้นมา กระผมคิดว่าองค์กรนี้เมื่อเป็นองค์กรอิสระอยู่ในกำกับของรัฐมนตรี ก็สามารถที่จะเสนอ เขามีมหาเถรสมาคมอยู่ มีคณะกรรมการอยู่ สามารถประสานเข้ามาได้
พระธรรมปิฎก ก็ประสานกันได้ แต่คนดูแลกฎกระทรวงจะต้องมีความรู้เรื่องที่จะทำด้วย ดังนั้นการมีองค์กรอิสระก็จึงช่วยได้
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ สามารถที่จะประสานเข้ามาได้ ก็จะเป็นการทำให้ข้อวิตกของพระเดชพระคุณ อาจจะลดลงได้
พระธรรมปิฎก ไม่ใช่เรื่องของการวิตก แต่เป็นเรื่องของการที่จะทำให้ได้ผลจริง งานอย่างนี้ต้องจัดวางกำหนดไว้ตั้งแต่ในระบบ ให้แน่ใจที่สุด คือ บางอย่างบางทีต้องให้มั่นใจที่ตัวระบบเลย จะไปหวังจากตัวคนไม่ได้ เพราะถ้าระบบบังคับอยู่ ก็จะช่วยไปขั้นหนึ่ง และถ้าได้คุณภาพคนเข้ามาอีก เช่น รู้และใจรักเป็นต้น ก็ได้อีกขั้นหนึ่ง จึงจะสมบูรณ์ขึ้นมา ต้องเอาทั้งสองด้าน
พระธรรมปิฎก ถ้าไม่มีอะไร ขอพูดต่อไปเรื่องการสอนศาสนา ในเรื่องนี้เริ่มแรกเราต้องอยู่กับความเป็นจริง เช่นอยู่กับสังคมไทย ไม่ใช่อยู่กับสังคมอเมริกันเป็นต้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะทิ้งเรื่องอเมริกันเป็นต้นนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ตามความเป็นจริง เช่น ต้องรู้เขารู้เรา ต้องรู้ว่าสังคมอเมริกัน ที่เราเห็นว่าเป็นผู้นำอยู่นี่ เป็นอย่างไร อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เราควรมีหลักการ เช่น
ในการสอนศาสนานี้ เรื่องแรกก็คือเสรีภาพทางศาสนา พอดีอาตมาได้อ่านหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เรื่องเสรีภาพทางศาสนา และเรื่องการสอนเกี่ยวกับศาสนาในโรงเรียนของรัฐในอเมริกา เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองเล่มหนึ่ง เป็นคู่มือครูเล่มหนึ่ง แล้วก็เรื่องเกี่ยวกับนโยบายที่จะสอนเรื่องทางศาสนาที่ควิเบก ประเทศแคนาดา อีกเล่มหนึ่ง ได้อ่านเมื่อคืนนี้รวดเดียว ๓ เล่ม
เบื้องแรกอยากจะขอโอกาสถามท่านที่อยู่ในกลุ่มศาสนานิดหนึ่งว่า หนังสือเกี่ยวกับศาสนาที่ออกมาแล้ว มีอีกหลายเล่มไหม ที่อาตมายังไม่ทราบ นอกเหนือจากสามเล่มนี้
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ทางพวกผมไม่ทราบ เพราะกลุ่มศาสนาไม่ได้มา
พระธรรมปิฎก กลุ่มศาสนาไม่ได้มา
ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ ทางกลุ่มศาสนาของสภาการศึกษา เป็นคนศึกษาเรื่องนี้ อันนั้นอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา
พระธรรมปิฎก ได้ทราบวันนี้ว่า อาจารย์รุ่ง แก้วแดง จะส่งใครมา
ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ คุณพิณสุดาทำงานอยู่ที่ปฏิรูปการศึกษาด้วย เป็นกลุ่มศาสนาอยู่ที่ปฏิรูปการศึกษาด้วย แต่บังเอิญวันนี้ท่านมาไม่ได้
พระธรรมปิฎก คืออยากจะรู้ว่าท่านออกหนังสืออะไรมาบ้าง เมื่อเห็นหนังสือที่ออกมาแล้วก็จะได้เห็นภาพ อีกอย่างหนึ่งก็อยากจะทราบความมุ่งหมายว่า การที่ทางสภาการศึกษาออกหนังสือเหล่านี้มานั้นมีความมุ่งหมายอะไร เช่น อยากจะสร้างความรู้ความเข้าใจหรืออย่างไร ถ้าหนังสือที่ทำออกมามีแค่นี้ หรือจะทำหลายเล่ม แต่เริ่มต้นด้วยหนังสืออย่าง ๓ เล่มนี้ เราจะไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ เพราะไม่ได้ภาพความเป็นจริงของสังคมอเมริกัน
การที่จะให้ภาพชัด เราต้องรู้เข้าใจทั้งสังคมอเมริกัน และสังคมไทยของเราเอง ในเรื่องเสรีภาพทางศาสนานี้ เราจะต้องรู้ภูมิหลังความเป็นมาของสังคมอเมริกัน รู้เหตุผลว่าทำไมเขาจึงมี First Amendment คือ อนุบัญญัติข้อที่ ๑ ในรัฐธรรมนูญอเมริกัน ที่ว่า Congress shall make no law respecting an establishment of religion or prohibiting the free excerise thereof. (รัฐสภาจะไม่ตรากฎหมายขึ้นมายกย่องสถาบันศาสนาหนึ่งใด หรือห้ามการ ดำเนินงานโดยเสรีของศาสนานั้น) ซึ่งเป็น Amendment คืออนุบัญญัติสำคัญ ที่เจฟเฟอร์สัน บอกว่าเป็นเรื่องของการแยกรัฐกับศาสนาตามคำของเขาว่า separation of church and state เจฟเฟอร์สันบอกว่าต้องสร้างกำแพงกั้นระหว่างศาสนากับรัฐไว้ให้สูงทีเดียว
เรื่องนี้เกิดจากภูมิหลังอันขมขื่นและน่าเศร้าของสังคมอเมริกัน เราจะเอาเฉพาะตัวบทกฎหมายที่เขาออกหรือระเบียบอะไรต่างๆ มาดูไม่ได้ เราต้องรู้ภูมิหลังว่าสังคมอเมริกันเป็นอย่างไร จึงต้องออกกฎหมายอย่างนี้ขึ้นมา
อีกอย่างหนึ่ง สังคมไทยเราได้มีการปฏิบัติในเรื่องของศาสนาอย่างไร เรามีเสรีภาพทางศาสนาอย่างไร เช่น บันทึกของฝรั่งในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การที่ศาสนาคริสต์และ ศาสนาอื่นเข้ามาแล้วคนไทยปฏิบัติอย่างไร เป็นต้น อาจจะต้องย้อนไปจนถึงศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนา จึงจะทำให้คนไทยมองเห็นภาพชัด ไม่เช่นนั้นอาจจะมองอะไรต่ออะไรไขว้เขวไป
เรื่องนี้จะต้องพยายามสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง หนึ่ง จะต้องรู้ภูมิหลังของตะวันตก สอง รู้ลักษณะของศาสนาต่างๆ ตามความเป็นจริงที่ไม่เหมือนกัน อย่านึกว่าศาสนากับศาสนาจะเหมือนกัน มันไม่เหมือนกันหรอก
ถ้าจะรู้จักอเมริกัน เราต้องรู้จักทั้งด้านสำเร็จและด้านล้มเหลว ที่พูดกันว่าอเมริกันมีความสำเร็จนั้น ก็คือสำเร็จในด้านการบุกฝ่าไปหาความก้าวหน้าพรั่งพร้อมทางวัตถุ แต่อีกด้านหนึ่งเขาล้มเหลว คือด้านการบริหารชีวิตจิตใจ รวมทั้งด้านจริยธรรมและเรื่องศาสนา ต้องถือว่าล้มเหลว
ไม่ต้องพูดถึงภูมิหลังของเขาที่มีเรื่องราวในยุโรปที่เต็มไปด้วย persecution คือการห้ำหั่นบีฑากันระหว่างคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ แม้กระทั่งเป็นสงครามศาสนาระหว่างกลุ่มประเทศ เช่น สงคราม ๓๐ ปี (Thirty Years' War) และในแต่ละประเทศก็ฆ่ากันกำจัดกันมากมาย จนกระทั่งคนจำนวนมากอพยพมาอเมริกาเพราะหนีภัยแห่งการห้ำหั่นบีฑา หรือ persecution นั้น พอหนีมาอเมริกาแล้วก็มาบีบคั้นกำจัดกันต่ออีก
ตอนแรกที่ตั้งประเทศอเมริกา ก็พิจารณาเหมือนกันว่าจะ สถาปนานิกายไหนของเขาขึ้น ไม่ใช่ศาสนาไหนนะ แต่เป็นนิกายไหน คือแค่เรื่องนิกายก็ตีกันตาย แต่ละนิกายก็ลงกันไม่ได้ นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องมี separation of church and state คือการแยกระหว่างศาสนากับรัฐ
แม้จะสร้างกำแพงแยกกันแล้ว ไม่ให้รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้รัฐวางตัวเป็นกลางแล้ว อเมริกาก็ยังมีปัญหาเรื่อยมา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คนรู้จักคนหนึ่ง ซึ่งแต่งงานกับคนอเมริกัน อยู่ที่ตำบลชื่อฮอลแลนด์ (ชื่อเหมือนประเทศเนเธอร์แลนด์) ในรัฐแมสซาจูเซตส์ เล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งในโรงเรียนที่ลูกไปเรียนใกล้จะถึงวันสำคัญของศาสนาคริสต์ ดูเหมือนจะเป็นอีสเตอร์ (Easter) ตามปกติเขาจะไม่พูดอธิบาย แต่ครูเกิดครึ้มใจอะไรไม่รู้ ก็อธิบายเรื่องอีสเตอร์ เป็นธรรมดาว่าเวลาแกพูด ครูก็คงอธิบายไปตามที่แกรู้ ซึ่งกลายเป็นการสอนเรื่องศาสนาไปตามหลักของนิกายของครู เท่านั้นแหละ อีกวันสองวัน ผู้ปกครองก็มาเล่นงาน เอาเรื่องกับบอร์ดของโรงเรียน ว่าทำไมมาสอนอย่างนี้ ทำให้ลูกฉันไขว้เขวไป เกิดเรื่องอีกแล้ว
ประเทศของเขามีปัญหาเรื่องนี้อยู่ แผลเก่าก็ยังไม่หาย ในขณะที่ของเราไม่ได้มีปัญหา เรามีภูมิหลังที่ดี มีเอกภาพทางศาสนาอยู่แล้ว จะไปเอาเขาเป็นแบบอย่าง หรือแม้แต่ไปเปรียบตัวกับเขาได้อย่างไร
เมื่อเรื่องศาสนาของอเมริกามีปัญหาอย่างนี้ การศึกษาด้านจริยธรรมของเขาก็หาหลักยาก เพราะจะหันไปใช้หลักศีลธรรมของศาสนาคริสต์ ก็เป็นแบบของนิกายนั้นของนิกายนี้ พูดขึ้นมาก็ทะเลาะกันหรือตีกันเสียแล้ว เลยติดอยู่แค่นั้น ไม่ต้องได้หลักศีลธรรมจริยธรรมที่จะเอามาใช้ ไปๆ มาๆ เลยต้องสร้างจริยธรรมแบบสากลขึ้นมา เหมือนสร้างศาสนาฉบับใหม่ของราชการ
ไม่เฉพาะภูมิหลังทางศาสนาเท่านั้น แม้แต่ภูมิหลังของสังคมทั้งหมดโดยรวมของอเมริกาก็ต่างกันไกล คนละทิศคนละทางกับสังคมของเรา เราจะต้องรู้ว่าสังคมอเมริกันเจริญมาจากการดิ้นรนต่อสู้แสวงหาตามคติบุกฝ่าพรมแดนที่เรียกว่า “frontier”
สำหรับคนอเมริกันนั้น frontier เป็นคำสำคัญมาก เพราะคนอเมริกันหนีภัยการห้ำหั่นบีฑาทางศาสนาจากยุโรป มาขึ้นฝั่งอเมริกาที่บอสตัน นิวยอร์ก ฟิลาเดลเฟีย บัลติมอร์ แล้วแกก็ติดพรมแดนกั้น มี frontier อยู่แค่นั้น ข้างหน้าคือป่าเขาดงพงพี เต็มไปด้วยภัยอันตราย และจะต้องฝ่าฟันต่อสู้กับอินเดียนแดง จากนั้น ยุคแห่งการแผ่ขยายพรมแดน คือ frontier expansion ก็เริ่มต้น ความหวังอยู่ข้างหน้าว่า เมื่อบุกฝ่าพรมแดน คือ frontier ออกไป จะได้พบ opportunity คือโอกาสที่จะสร้างบ้านสร้างเมืองมีกินมีใช้ อยู่สุขสบายต่อไป
เพราะฉะนั้นคำพูดของอเมริกันจึงมี ๒ คำที่ยิ่งใหญ่ คือ
๑. freedom คือหนีจากภัยการบีบคั้นกำจัด (persecution) จากยุโรปมาหา freedom ซึ่งเป็นการมาหาความหวังข้างหน้า และพอขึ้นฝั่งแล้ว
๒. opportunity คือโอกาส ก็จะเกิดขึ้นจากการบุกฝ่าพรมแดน คือ frontier ที่ขวางกั้นต่อไปข้างหน้า ในทิศตะวันตก ต่อจากนี้ก็เป็นยุค frontier ที่จะต้องบุกฝ่าพรมแดนไปหา opportunity ข้างหน้า
Compton's Encyclopedia บอกว่า “... opportunity is what frontiers are all about.” เรื่องของ frontier ก็อยู่ที่โอกาส คือ การหวังที่จะไปแสวงหาโอกาสข้างหน้า คำว่า opportunity จึงเป็นคำใหญ่ของอเมริกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ แม้แต่คติ American dream ก็ทำนองนี้
frontier นี้ จบไปในเวลา ๓๐๐ ปี คือ คนอเมริกันบุกฝ่าพรมแดนไปได้ปีหนึ่งเฉลี่ย ๑๐ ไมล์ ครบ ๓๐๐ ปีได้ ๓,๐๐๐ ไมล์ ก็ไปลงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ตอนนี้ frontier ก็ closed ไปแล้ว เมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๐ (พ.ศ. ๒๔๓๓) ต่อมาประเทศอเมริกาก็มีความมั่งคั่งพรั่งพร้อมขึ้น นิสัยเดิมที่บุกฝ่าสร้างสรรค์ ขยันหมั่นเพียร ก็ลดลง คนอเมริกันก็ชักจะตัน ผู้นำอเมริกันที่หาเสียงเป็นประธานาธิบดี ๔ คนได้สร้างคติ New Frontier ขึ้นมา ปลุกใจคนอเมริกัน แล้วมีคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ คือจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ผู้เชิดชูแนวคิด New Frontier ขึ้นมาเป็นนโยบาย
คติ frontier นี้เป็นแนวคิดคนละแบบกับของเรา คติของอเมริกันคือไปหาความหวัง ไปหาความสุขความเจริญข้างหน้า ที่นี่คือความขาดแคลน ที่นี่คือความเดือดร้อน ที่นี่คือความลำบากยากเข็ญ
แต่สังคมไทยนี้ตรงกันข้าม คนไทยมี คติ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” หมายความว่า ดีมันอยู่ที่นี่ ต้องไม่ไปไหน คติของชาติเป็นคนละแบบ ฉะนั้นเราจะต้องจัดการศึกษาให้เหมาะกับสภาพชีวิตจิตใจพื้นเพภูมิหลังและวัฒนธรรมของตัว เช่นว่า สำหรับคนไทยที่พอใจถิ่นนี้ และไม่มีนิสัยบุกฝ่าหาที่หวังข้างหน้า เราจะพัฒนาคติและคุณสมบัติอะไร เพื่อมายึดโยงสังคมและปลุกเร้าคนไทยให้สร้างสรรค์
เมื่อ frontier จบ ดินแดนก็ได้หมด ไม่รู้จะบุกไปไหน อุตสาหกรรมก็เจริญเต็มที่แล้ว พลังมุ่งไปหาความเจริญทางวัตถุก็อ่อนลง พอวัตถุพรั่งพร้อม คนอเมริกันก็เริ่มฟุ้งเฟ้อระเริงมัวเมา เวลานี้ ปัญหาสังคมอเมริกันก็อย่างที่ทราบกันอยู่ สังคมแย่ลง ยาเสพติดก็หนัก ปัญหาความรุนแรงก็มาก ครอบครัวก็แตกสลาย
ลองดูใน Britannica 1999 เขาพูดถึงปัญหาเด็กนักเรียนอเมริกัน เอาปืนไปยิงเพื่อนยิงครูที่โรงเรียน เกิดขึ้นเรื่อยมาในระยะเวลาหลายปี ไม่รู้กี่คดีแล้ว เป็นที่วิตกกันมาก และปัญหาความรุนแรงนี้ก็โยงไปถึงปัญหาจิตใจ เช่น เรื่องความเครียด เรื่องนิสัยก้าวร้าวเหี้ยมเกรียม จากการหล่อหลอมของสื่อที่แสดงออกมาเป็นความรุนแรง
เขาบอกว่า ทั้งที่อเมริกามีความเข้มงวดเป็นพิเศษต่อผู้เยาว์ที่ทำความผิด เช่น เด็กวัยรุ่นอเมริกันมีความเป็นไปได้ที่จะถูกส่งไปขึ้นศาลผู้ใหญ่ ๑๑ เท่าของเด็กวัยรุ่นในแคนาดา หมายความว่า อเมริกันเขาเอาโทษกับเด็กรุนแรงมาก และทั้งๆ ที่อเมริกาเป็นสังคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าสังคมเดียว ที่กำหนดโทษประหารแก่เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีที่ได้กระทำการฆาตกรรม หรือฆ่ากันตาย แต่ถึงจะเอาโทษรุนแรงอย่างนี้ ก็ยังปรากฏว่า สหรัฐฯ มีสถิติการฆ่ากันตายของเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาว เป็นระดับสูงสุดของโลกอุตสาหกรรม
สถิตินานาชาติสำหรับปี ๑๙๙๕ และบางกรณีในปี ๑๙๙๔ บอกว่า ผู้ชายอเมริกันอายุ ๑๕-๒๔ ปี มีทางเป็นไปได้ที่จะตายด้วยการฆ่ากันเป็น ๒๒ เท่าของเด็กฝรั่งเศสหรือเยอรมัน เป็น ๓๔ เท่าของเด็กอังกฤษ เป็น ๙๔ เท่าของเด็กออสเตรีย นี่คือความเจริญของอเมริกัน ที่เป็นความล้มเหลว
เขาบอกด้วยว่าในระดับอายุ ๕-๑๔ ขวบ เด็กหญิงอเมริกันมีทางเป็นไปได้ที่จะถูกฆ่าตายเป็น ๒ เท่าของเด็กฝรั่งเศส และเป็น ๔ เท่าของเด็กอังกฤษ นี่คือปัญหาความรุนแรงที่ยังแก้ไม่ตก
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญและน่าสังเกต คือ ปัญหาเรื่องเพศที่โยงไปหาเรื่องครอบครัว เวลานี้ในอเมริกามี nonfamily households เพิ่มมาก จะแปลว่าอะไรดี คือ เป็นเหย้าเรือนที่ไม่เป็นครอบครัว เพราะว่าบ้านที่อยู่กันเป็นครอบครัวมีครบทั้งพ่อแม่ลูกนั้น เดี๋ยวนี้จะเป็นครอบครัวในอุดมคติ ซึ่งหาได้ยาก กลายเป็นของแปลก ซึ่งสังคมของเรา ถ้าไม่ระวังให้ดี ก็จะเดินหน้าไปเป็นอย่างนั้นด้วย
เรื่องแบบนี้ไม่เห็นว่าสังคมอเมริกันจะน่าเอาอย่างอะไร การศึกษาของเขาไม่ได้ประสบความสำเร็จในเรื่องจริยธรรมอะไรเลย เขามีแต่จริยธรรมสำหรับสังคมยุคบุกฝ่า พอสังคมถึงที่หมาย อยู่สบาย ก็ไม่มีจริยธรรมที่จะรับช่วงต่อไป เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ให้ทันและจัดทำให้ถูก
การที่จะดูสังคมอเมริกันนั้น ไม่ใช่ดูแค่ว่าจะเอาแนวทางของเขามาใช้ แต่ต้องดูด้านร้ายที่จะต้องป้องกันด้วยว่า ในขณะที่สังคมของเรากำลังเป็นอย่างเขา ตามเขาไปเรื่อยๆ นั้น เรามีดีอะไรของตัวเอง ที่จะเอามาพัฒนาเพื่อกั้นหรือป้องกันสภาพนี้ได้บ้าง
ในกรณีอย่างนี้ ถ้าเราไปตามแบบเขา ก็จะเป็นการนำเอาปัญหาของเขาที่เราไม่มี มาใส่ให้กับตัวเรา แล้วสิ่งที่เรามี ที่ดีเป็นประโยชน์ เราก็จะทำลายให้สูญไปเสียเปล่า เช่นเอกภาพทาง ศาสนา เพราะปัญหาของอเมริกันนั้น ปมสำคัญเกิดจากสาเหตุที่ว่า ในขณะที่ศาสนาของเขายึดหลักศรัทธาแบบหมายมั่นรุนแรงอยู่แล้ว ประเทศของเขาก็ขาดเอกภาพทางศาสนา มีนิกายต่างๆ มากมายอีกด้วย ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงข้ามกับเราทั้งสองประการ
อยากจะอ่านให้ฟังเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนาในอเมริกา ที่ว่าให้แยกศาสนากับรัฐ (separation of church and state) ให้รู้รายละเอียดของความเป็นมา เพราะเราต้องรู้ภูมิหลังว่า การที่เขาทำอย่างนั้น จัดวางรูปแบบออกมาอย่างนั้น เป็นเพราะอะไร แม้แต่เรื่องที่จะสวดมนต์ในโรงเรียน แค่นี้ก็เป็นปัญหาในสังคมอเมริกันไม่รู้จักจบ มีเรื่องขึ้นศาลกันเรื่อยจนกระทั่งปี ๑๙๖๒ (= พ.ศ. ๒๕๐๕) ศาลสูงสุดจึงตัดสินว่า การสวดมนต์ใน public School ที่โรงเรียนจัด หรือรัฐจัด เป็นการละเมิดต่อ First Amendment คือ อนุบัญญัติข้อ ๑ ของรัฐธรรมนูญอเมริกัน แต่ทั้งที่ศาลสูงสุดตัดสินไปแล้ว กรณีเรื่องสวดมนต์ก็ยังไม่จบ เวลานี้ยังมีขบวนการที่พยายามเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นพวก New Right ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังเคลื่อนไหวอยู่
สำหรับคดีอื่นๆ ก็ยังมีเรื่อยๆ อย่างคดีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ย้อนหลังไปเมื่อปี ๑๙๔๗ (= พ.ศ. ๒๔๙๐) ที่รัฐนิวเจอร์ซี มีการจัดบริการจ่ายเงินช่วยค่าโดยสารแก่นักเรียนที่ไปโรงเรียนชุมชนคริสต์ (parochial school) ซึ่งเป็นโรงเรียนศาสนา เกิดเป็นคดีฟ้องกันจนกระทั่งถึงศาลสูงสุด ศาลสูงสุดนั้นตัดสินว่าการจัดเงินช่วยค่ารถนั้น เป็นการจัดให้แก่เด็ก ไม่ผิด เพราะไม่ได้จัดให้แก่ศาสนา ไม่ได้จัดให้แก่โรงเรียน แต่เป็นการช่วยเหลือเด็กที่ไปโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษานี้ไม่ใช่จุดสนใจ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในการตัดสินครั้งนี้ ศาลได้แถลงมติซึ่งยืนยันความรู้ที่น่าสนใจ มติอันนี้ศาลสูงสุดบอกว่า ต้องการเตือนใจคนอเมริกันในปัจจุบัน ที่ไม่รู้เรื่องเก่า ว่าทำไมจึงเกิด First Amendment นี้ขึ้นในรัฐธรรมนูญอเมริกัน
เขาบอกว่า คนอเมริกันปัจจุบันไม่รู้ความเลวร้าย ความน่าหวาดกลัว และปัญหาทางการเมือง ที่เป็นเหตุให้ต้องเขียนข้อความอันนี้ไว้ (ปี ๑๙๔๗ ก็ตั้ง ๕๔ ปีแล้ว แม้แต่ครั้งนั้นฝรั่งไม่น้อย ก็ยังลืมความหลังของตัวเอง) อันนี้คือจุดสนใจ ถ้าจะพูดถึงเสรีภาพทางศาสนาของอเมริกา ต้องเล่าเรื่องอย่างนี้ด้วย โดยเฉพาะกรณีนี้ศาลสูงสุดเองเป็นผู้ออกมติไว้ จึงเป็นเรื่องที่อ้างอิงได้อย่างดี ให้รู้ว่าประเทศของเขาเป็นมาอย่างไร
ขอเล่าความเป็นมาของเรื่องว่า นานมาแล้ว รัฐนิวเจอร์ซี ได้ตรากฎหมายฉบับหนึ่ง ให้อำนาจแก่โรงเรียนในท้องถิ่นที่จะวางระเบียบให้ทุนอุดหนุนค่ารถแก่เด็กที่ไปโรงเรียน คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาแห่งหนึ่ง ได้อาศัยกฎหมายนี้ กำหนดให้ผู้ปกครองเบิกเงินค่ารถประจำทาง ที่บุตรของตนได้จ่ายในการเดินทางไปโรงเรียน รวมทั้งโรงเรียนชุมชนคริสต์ด้วย
นาย อีเวอร์สัน ในฐานะที่เป็นผู้เสียภาษีคนหนึ่ง (ตามระบบพิทักษ์สิทธิ์ของสังคมอเมริกัน) ได้ฟ้องศาลว่า กฎหมายของรัฐนิวเจอร์ซีที่ยอมให้เบิกค่าโดยสารรถไปโรงเรียนชุมชนคริสต์นั้น เป็นการละเมิดอนุบัญญัติข้อ ๑ ในรัฐธรรมนูญอเมริกัน ที่ให้แยกรัฐกับศาสนา ศาลสูงสุด (the Supreme Court) ของสหรัฐฯ ได้วินิจฉัยใน ค.ศ. ๑๙๔๗ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ว่ากฎหมายของรัฐนิวเจอร์ซีฉบับนั้น ไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการจ่ายเงินช่วยเด็ก ไม่ใช่จ่ายเงิน ช่วยโรงเรียน ในการพิพากษาครั้งนั้นมีข้อความแถลงมติของศาลสูงสุดตอนหนึ่งซึ่งขอคัดมาอ่านให้ฟังดังนี้
The First Amendment, as made applicable to the states by the Fourteenth...commands that a state "shall make no law respecting an establishment of religion, or prohibiting the free exercise thereof..." These words of the First Amendment reflected in the minds of early Americans a vivid mental picture of conditions and practices which they fervently wished to stamp out in order to preserve liberty for themselves and for their posterity. Doubtless their goal has not been entirely reached; but so far has the Nation moved toward it that the expression "law respecting an establishment of religion" probably does not so vividly remind present-day Americans of the evils, fears, and political problems that caused that expression to be written into our Bill of Rights. Whether this New Jersey law is one respecting an "establishment of religion" requires an understanding of the meaning of that language, particularly with respect to the imposition of taxes. Once again, therefore, it is not inappropriate briefly to review the background and environment of the period in which that constitutional language was fashioned and adopted.
A large proportion of the early settlers of this country came here from Europe to escape the bondage of laws which compelled them to support and attend government-favored churches. The centuries immediately before and contemporaneous with the colonization of America had been filled with turmoil, civil strife and persecutions, generated in large part by established sects determined to maintain their absolute political and religious supremacy. With the power of government supporting them, at various times and places, Catholics had persecuted Protestants, Protestants had persecuted Catholics, Protestant sects had persecuted other Protestant sects, Catholics of one shade of belief had persecuted Catholics of another shade of belief, and all of these had from time to time persecuted Jews. In efforts to force loyalty to whatever religious group happened to be on top and in league with the government of a particular time and place, men and women had been fined, cast in jail, cruelly tortured, and killed. Among the offenses for which these punishments had been inflicted were such things as speaking disrespectfully of the views of ministers of government-established churches, non-attendance at those churches, expressions of nonbelief in their doctrines, and failure to pay taxes and tithes to support them.
These practices of the old world were transplanted to, and began to thrive in, the soil of the new America. The very charters granted by the English Crown to the individuals and companies designated to make the laws which would control the destinies of the colonials authorized these individuals and companies to erect religious establishments which all, whether believers or nonbelievers, would be required to support and attend. An exercise of this authority was accompanied by a repetition of many of the old-world practices and persecutions. Catholics found themselves hounded and proscribed because of their faith; Quakers who followed their conscience went to jail; Baptists were peculiarly obnoxious to certain dominant Protestant sects; men and women of varied faiths who happened to be in a minority in a particular locality were persecuted because they steadfastly persisted in worshipping God only as their own consciences dictated. And all of these dissenters were compelled to pay tithes and taxes to support governmentsponsored churches whose ministers preached inflammatory sermons designed to strengthen and consolidate the established faith by generating a burning hatred against dissenters.
These practices became so commonplace as to shock the freedom-loving colonials into a feeling of abhorrence. The imposition of taxes to pay ministers' salaries and to build and maintain churches and church property aroused their indignation. It was these feelings which found expression in the First Amendment.
(Excerpt from the opinion of the US Supreme Court, Everson v. Board of Education, 1947. Microsoft Encarta Encyclopedia 2001)
ขอแปลเป็นไทยแบบให้พอรู้กัน ดังนี้
อนุบัญญัติข้อ ๑ (the First Amendment ในรัฐธรรมนูญอเมริกัน) ซึ่งอาศัยอนุบัญญัติข้อ ๑๔ ให้บังคับใช้แก่บรรดารัฐทั้งหลาย...กำหนดว่า รัฐ “จะไม่ตรากฎหมายขึ้นเชิดชูสถาบันศาสนาหนึ่งใด หรือห้ามการดำเนินการโดยเสรีของศาสนานั้น..."
ถ้อยคำในอนุบัญญัติข้อ ๑ เหล่านี้ สะท้อนขึ้นมาในใจของชาวอเมริกันยุคแรก ให้เห็นมโนภาพอันเด่นชัด ที่แสดงถึงสภาพและปฏิบัติการต่างๆ ที่พวกเขามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะขจัดให้หมดสิ้นไป เพื่อจะรักษาเสรีภาพไว้ให้แก่ตนและคนรุ่นหลัง
แน่นอนว่า จุดหมายของเขายังไม่ลุล่วงโดยสมบูรณ์ แต่กระนั้น ทั้งที่ชนชาติอเมริกันได้มุ่งหน้าสู่จุดหมายนั้นมาถึงเพียงนี้แล้ว ข้อความว่า “กฎหมายขึ้น เชิดชูสถาบันศาสนาหนึ่งใด” ก็ดูจะมิได้ช่วยให้คนอเมริกันสมัยปัจจุบันระลึกนึกเห็นได้ชัดเจนนัก ถึงความเลวร้าย ความน่าหวาดกลัว และปัญหาต่างๆ ทาง การเมือง ที่เป็นเหตุให้ต้องเขียนข้อความนั้นไว้ในสิทธิบรรณของเรา (Bill of Rights=อนุบัญญัติ ๑๐ ข้อแรกในรัฐธรรมนูญอเมริกัน) กฎหมายของรัฐนิวเจอร์ซีนี้จะเป็นกฎหมายที่เชิดชูสถาบันศาสนาหรือไม่ จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในความหมายของข้อความที่บัญญัติไว้นั้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษี
เพราะฉะนั้น จึงมิเป็นการไม่เหมาะสมที่จะมาทบทวนกันดูอีกวาระหนึ่งโดยสังเขป ให้เห็นภูมิหลังและสภาพแวดล้อมของยุคสมัย ที่ข้อความในรัฐ ธรรมนูญส่วนนั้นได้ถูกสรรแต่งขึ้นและยอมรับให้ปฏิบัติกันมา
เหล่าชนผู้มาตั้งถิ่นฐานในประเทศนี้ยุคแรกๆ นั้น จำนวนมากทีเดียว มาประเทศนี้จากยุโรป เพื่อหลบหนีจากข้อกำหนดของกฎหมาย ที่บังคับเขาให้ อุปถัมภ์บำรุงและเข้าร่วมกิจกรรมของนิกายศาสนาที่รัฐบาลอุปถัมภ์บำรุง
หลายศตวรรษก่อนหน้านั้น รวมทั้งในยุคสมัยเดียวกับที่อเมริกาเป็นอาณานิคม เต็มไปด้วยความปั่นป่วน การวิวาทขัดแย้งวุ่นวายของประชาชน และการห้ำหั่นบีฑากัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากนิกายที่รัฐยกขึ้นสถาปนา ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาความยิ่งใหญ่ทางศาสนาและการเมืองของตนไว้ให้เด็ดขาด
ด้วยอำนาจของรัฐบาลที่ส่งเสริมสนับสนุนนิกายศาสนานั้นๆ ในต่างกาละ ต่างเทศะ พวกคาทอลิกก็ห้ำหั่นบีฑาพวกโปรเตสแตนต์ พวกโปรเตสแตนต์ก็ห้ำหั่นบีฑาพวกคาทอลิก พวกโปรเตสแตนต์นิกายโน้นก็ห้ำหั่นโปรเตสแตนต์ที่ต่างนิกายอื่นๆ พวกคาทอลิกสายความเชื่อหนึ่ง ก็ห้ำหั่นบีฑาพวกคาทอลิกอีกสายความเชื่อหนึ่ง แล้วทุกนิกายเหล่านี้ (ทั้งโปรเตสแตนต์ ทั้งคาทอลิก) ก็ได้ห้ำหั่นบีฑาพวกยิวเป็นคราวๆ
ด้วยความพยายามที่จะบังคับให้จงรักภักดีต่อนิกายศาสนาที่ได้ขึ้นมาเป็นนิกายที่สูงสุดและเข้าพวกกับรัฐบาลในยุคสมัยนั้นๆ ชายหญิงทั้งหลายได้ถูกปรับสินไหม ได้ถูกจับขังคุก ได้ถูกทรมานอย่างโหดร้าย และถูกสังหาร ในบรรดาความผิดทั้งหลายที่คนเหล่านี้ถูกลงโทษ ก็เช่นการพูดโดยไม่เคารพต่อความ คิดเห็นของอาจารย์สอนศาสนาในนิกายที่รัฐบาลอุ้มชู การไม่ไปร่วมกิจกรรมของนิกายเหล่านั้น การแสดงความไม่เชื่อในคำสอนของอาจารย์สอนศาสนาเหล่า นั้น และการที่มิได้ยอมเสียภาษีรัฐและภาษีศาสนาเพื่ออุปถัมภ์บำรุงนิกายศาสนานั้น
ปฏิบัติการเหล่านี้ที่มีในโลกเก่า คือยุโรป ได้ถูกนำมาปลูกฝังลงและเริ่มจะแพร่ขยายไปในผืนแผ่นดินอเมริกาใหม่ กฎบัตรกฎหมายทั้งหลายที่มหากษัตริย์ของอังกฤษได้พระราชทานบรมราชานุญาตแก่บุคคลและบริษัททั้งหลาย ซึ่งได้กำหนดให้เอกชนและบริษัทเหล่านั้น ตรากฎหมายขึ้นมาบังคับควบคุมชะตากรรมของชาวอาณานิคม ก็ได้ให้อำนาจแก่เอกชนและบริษัทเหล่านี้ที่จะสร้างศาสนสถาน ซึ่งทุกคน ไม่ว่าจะเชื่อถือหรือไม่ จะต้องอุปถัมภ์บำรุงและร่วมกิจกรรม
การดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจนี้ พ่วงมาด้วยการนำเอาวิธีปฏิบัติต่างๆ และการห้ำหั่นบีฑาของโลกเก่า (ยุโรป) มากมายหลายอย่างมาใช้ซ้ำอีก พวกคาทอลิกพบว่าตัวเองถูกตามล่าและถูกประณามหยามเหยียดเพราะเหตุแห่งความเชื่อของตน พวกเควกเกอรส์ผู้ดำเนินตามจิตสำนึกของตน ก็ต้องเข้าคุกไป พวกแบบติสต์ก็เสี่ยงอันตรายเป็นพิเศษจากพวกโปรเตสแตนต์บางนิกายที่เป็นใหญ่ ชายหญิงที่นับถือศาสนาต่างๆ ซึ่งบังเอิญเป็นชนส่วนน้อยในบางถิ่นบางที่ก็ถูกห้ำหั่นบีฑา เพราะเหตุที่ยืนหยัดในการบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามแนวทางที่จิตสำนึกของตนกำหนดนำ
ผู้ที่มีความคิดเห็นผิดแผกแตกแยกออกไปเหล่านี้ ถูกบังคับให้ต้องเสียภาษีศาสนาและภาษีบ้านเมือง เพื่อเอามาอุปถัมภ์บำรุงนิกายศาสนาที่รัฐอุ้มชู ซึ่งมีศาสนาจารย์ไปเที่ยวเทศนาคำสอนอันแสบร้อน ที่มุ่งจะเสริมสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้แก่นิกายของตน ด้วยการก่อให้เกิดความชิงชังอย่างร้อนแรงแก่ผู้ที่คิดผิดแผกออกไป
ปฏิบัติการเหล่านี้ได้กลายเป็นสิ่งสามัญดาษดื่น ถึงขั้นที่สร้างความหวาดผวาแก่ชาวอาณานิคมผู้รักเสรีภาพ จนเกิดเป็นความรู้สึกขยาดแขยง การเรียกเก็บภาษีเพื่อเอามาจ่ายเป็นเงินเดือนของอาจารย์สอนศาสนาและมาก่อสร้างดูแลรักษาโบสถ์ พร้อมทั้งทรัพย์สินของโบสถ์เหล่านี้ ก่อให้เกิดความขุ่นข้อง หมองใจแก่ชาวอาณานิคมเหล่านั้น ความรู้สึกเหล่านี้แหละ ที่แสดงออกมาเป็นข้อความในอนุบัญญัติข้อ ๑ (First Amendment)
[ข้อความตอนหนึ่งจากมติของศาลสูงสุด คดีอีเวอร์สันเป็นโจทก์ฟ้องคณะกรรมการการศึกษา ค.ศ. ๑๙๔๗, Microsoft Encarta Encyclopedia 2001]
นี่คือประวัติศาสตร์ความเป็นไปของสังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเลยกับของเรา ฉะนั้นถ้าเราจะไปเอาแนวคิดนี้มาใช้ มันก็ไปกันไม่ได้ คือเท่ากับไปเอาปัญหาของเขามาใส่ตัว แล้วทิ้งของดีของตนหรือประโยชน์ที่ตัวควรจะได้
ว่ากันว่าอเมริกามีเสรีภาพทางศาสนา จริงอยู่ ถ้าเทียบกับประเทศทั้งหลายทั่วไป เขามีเสรีภาพทางศาสนามาก แต่ถ้าเทียบกับไทย เราพูดได้เลยว่าอเมริกาเป็นประเทศที่ค่อนข้างขาดเสรีภาพทางศาสนา
ในเมืองไทยเรานั้น ใครจะแจกเงินเพื่อล่อให้นับถือศาสนาของเขาก็แจกไป รอบพุทธมณฑลปีที่แล้วทางคริสต์ไม่รู้นึกอย่างไร เอาป้ายเผยแพร่ศาสนาไปติดตามต้นไม้ ตามเสาไฟฟ้า บนถนนรอบพุทธมณฑล แล้วข้างวัดก็ไปติดที่ต้นไม้ เราก็ไม่ว่าอะไร ป้ายเผยแพร่ศาสนาคริสต์นี้ ติดตามริมถนนกระทั่งบนเขาสูงในเชียงราย ก็ตามสบาย ใช่ไหม ของไทยเราพื้นฐานมีเสรีภาพทางศาสนามากอยู่แล้ว จึงไม่ว่าอะไรใคร ปล่อยกันตามสบายจนถึงขนาดที่ว่า คนศาสนาอื่นเขาอดรนทนไม่ได้
ขอเล่าให้ฟังว่า เมื่อหลายปีก่อน มีชาวยิวคนหนึ่งไปหาอาตมาที่วัดตั้งแต่อยู่ในเมือง คนยิวคนนี้มาบอกว่า เขาไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลคริสต์แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ไม่ต้องระบุชื่อ เพราะตามภรรยาของเขาที่มาทำวิจัยที่นั่น เขาได้เห็นอยู่ตลอดเรื่อยเลย ศาสนาจารย์คริสต์ชักจูงคนไทยให้นับถือศาสนาด้วยการให้สิ่งล่อ ให้เงิน ให้ของอะไรต่างๆ เขาบอกว่าในประเทศของเขาจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ทำไมในประเทศไทยจึงปล่อยให้ทำกันอย่างนี้ เราก็รู้ว่าคนศาสนาอื่นเขาไม่ยอมหรอกแบบนี้ คือคนไทยเราเปิดกว้างมาก จนกระทั่งว่าไม่มีขอบเขตก็ว่าได้ เลยกลายเป็นปล่อยปละละเลย เพราะฉะนั้น ถ้าพูดในแง่เสรีภาพทางศาสนานี่ ของเราไม่ได้มีปัญหาเลย
จากอดีตสืบมา ทางใต้ของประเทศไทยเรา ชาวพุทธกับชาวมุสลิมอยู่กันได้ดี มีคนใต้เล่าให้ฟังถึงขนาดที่ว่า เวลาชาวมุสลิมสร้างมัสยิด คนพุทธไปช่วยสร้าง แล้วเวลาชาวพุทธสร้างโบสถ์ ชาวมุสลิมก็มาช่วยสร้าง มีน้ำใจต่อกัน อยู่กันอย่างสงบสบาย แต่ตอนหลังนี้ชักมีเสียงไม่น่าสบายใจเข้ามา
เมื่อ ๓-๔ ปีก่อน มีพระที่นราธิวาสเข้ามา ท่านวิตกกังวลเป็นห่วงมาก ท่านบอกว่า สมัยท่านเรียนหนังสือ เด็กพุทธเด็กมุสลิม เรียนด้วยกันหมด เป็นเพื่อน รู้จักกันสนิทสนม แต่มายุคนี้แยกกันเรียน ตั้งแต่ในชั้นประถม เพราะฉะนั้นก็เลยกลายเป็นคนละพวกไป ท่านห่วงใยว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น สภาพที่ดีของเรานี้ทำไมเราไม่ดูแล แล้วมันหายไปได้อย่างไร เราต้องสืบสาวเหตุ แล้วคิดหาทางว่าจะฟื้นฟูได้อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญกว่าที่จะไปดูปัญหาของอเมริกันแล้วจะเอามาใช้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเลย เป็นอันว่า ปัญหาของเรานี้ เป็นคนละอย่างกับเขา
ย้อนอดีตไปไกลอีกหน่อย ในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นายพลฟอร์บัง ชาวฝรั่งเศส มารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาตั้งหลายปี เมื่อกลับไปแล้ว ไปกราบทูลพระเจ้าหลุยส์บ้าง เล่าให้บาทหลวงฟังบ้าง บอกว่าเมืองไทยนี้ บาทหลวงจะไปสอนอย่างไรก็สอนไปเถิด เขาเล่าว่าบาทหลวงไปติเตียนพระพุทธศาสนากับพระด้วย พระท่านว่าอย่างไรรู้ไหม ท่านบอกว่า อาตมาว่าศาสนาของท่านก็ดี แต่ทำไมท่านไม่ว่าศาสนาของฉันดีบ้างนะ ถ้าเป็นเมืองฝรั่งสมัยนั้น ใครไปว่าอย่างนั้น รบกันตายฆ่ากันตาย นายพลฟอร์บังยังเล่าด้วยว่า บาทหลวงไปเทศนาสอนชาวบ้าน ชาวพุทธก็มานั่งฟัง บอกว่า เขานั่งฟังเหมือนกับฟังนิทาน ไม่ถือสาอะไร นั่นคือชาวพุทธไม่ได้รังเกียจใคร
ควรพูดให้ชัดขึ้นอีกหน่อยว่า เสรีภาพทางศาสนาของอเมริกันเป็นเสรีภาพเชิงลบ เป็นเรื่องของการที่จะไม่รุกล้ำกัน ไม่ละเมิดกัน ไม่ให้มาขัดแย้งกัน ต้องมีการบัญญัติห้ามกัน ตั้งข้อ กำหนดต่างๆ แล้วก็ยังระแวงกัน หวาดกัน อึดอัดกัน เอาแค่ให้มี tolerance อดใจไว้และทนกันได้ แต่ของเราว่ากันตามสบาย ชาวพุทธจะไปงานอะไร ไปโบสถ์คริสต์ ไปมัสยิดก็ไป ให้อยู่ร่วมกันด้วยดี ร่วมมือกันได้ มีไมตรี และช่วยเหลือกัน คือไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เราจะเอาปัญหาเข้ามาทำไม
เรื่องที่เราควรคิดนั้นอยู่ที่ว่า เราทำอย่างไรจะเอาสิ่งดีที่เรามี หรือของดีของเราออกมาใช้ประโยชน์ ให้ได้ผลดีแก่ประเทศชาติ สังคม และเป็นแบบอย่างแก่ชาวโลกเขาบ้าง
การสอนศาสนานั้นมีสามแบบ คือ
๑. สอนเป็นข้อมูลวิชาการ โรงเรียนอเมริกันสอนเรื่องศาสนาได้ตามหลักข้อนี้ และคงเป็นแบบนี้กระมังที่สงสัยกันว่า กำลังมีการคิดที่จะจัดให้มีให้เป็นขึ้นในเมืองไทย คือสอนเป็นข้อ มูลให้รู้ไว้ว่า ศาสนานั้นเกิดที่ไหน มีศาสดาชื่ออะไร มีคัมภีร์ชื่ออะไร
๒. สอนเพื่อให้นับถือ คือ convert ตามประเพณีแต่เดิมมา หรือตามหลักศาสนาของฝรั่งนี่ เขาคิดได้อย่างเดียวว่า ถ้าสอนศาสนา ก็หมายถึงว่าจะต้องเป็นการ convert คือเอาคนไปเข้ารีต เวลาไปฟังพวกฝรั่ง ถ้าเราไม่รู้ทันก็อาจจะคิดว่าเขาพูดแบบที่สาม แต่ที่จริงเป็นความคิดพื้นฐานคนละแบบ ซึ่งของเราไม่เป็นอย่างที่เขาคิด
๓. สอนเพื่อฝึกอบรมให้เป็นคนดี ข้อที่สามนี้ไม่ค่อยมีในความคิดของฝรั่ง เพราะเขานึกว่าสอนศาสนาก็มุ่งในข้อ ๒ ส่วนข้อ ๓ นี้เป็นการสอนจริยธรรม (ระบบความคิดแยกส่วน)
ต่างจากของเราซึ่งมุ่งที่ข้อสาม การสอนศาสนากับจริยธรรม ไม่ใช่เรื่องคนละอย่าง (แต่เดิมมาคำว่าจริยธรรมเราก็ไม่มีใช้ เพิ่งบัญญัติตามฝรั่งเมื่อราว ๓๐ ปีนี่เอง)
สภาพของเราก็ไม่เหมือนเขา มีปัญหาหลายอย่างที่เป็นเรื่องเฉพาะของเขา แต่ในแง่การสอนนี่ก็เป็นอันว่า แนวการสอนและความมุ่งหมายคนละอย่าง ฝรั่งนั้นในเมื่อแกมุ่งไปในทางที่จะ convert ก็ทำให้มีปัญหากัน ศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกายก็ระแวงกันขัดแย้งกัน เมื่อแกไม่มีทางออก แกก็หันไปทางจริยธรรมสากล จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า universal ethics ขึ้นมา ซึ่งเป็นการพยายามประนีประนอม แล้วก็ไม่ได้ผลอะไร คิดว่าเท่าที่ผ่านมา universal ethics ไม่มีอะไรที่จะยึดโยงลึกซึ้งลงไปในจิตใจของคนได้ อันนี้เป็นข้อที่จะต้องรู้ว่าเราสอนศาสนากันเพื่ออะไร ตอนนี้ถ้าเมืองไทยจะมาคิดสอนศาสนาให้เป็นข้อมูลวิชาการ หรือจะสอนจริยธรรมสากลแทน ก็จบเท่านั้นเอง
ปัญหาไทยกับสหรัฐฯ ที่ว่าเป็นคนละอย่างนี่ ที่เป็นเรื่องหลัก ก็คือ ในสหรัฐฯ ศาสนิกแตกแยกกัน ทั้งที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาเดียวกัน คือศาสนาคริสต์ (อเมริกันนับถือคริสต์ประมาณ ๘๕%) ส่วนใหญ่เป็นนิกายโปรเตสแตนต์ มีคาทอลิกเป็นส่วนน้อยราว ๒๐% แต่ชาวคริสต์ส่วนใหญ่ที่ว่าเป็นโปรเตสแตนต์นั้น พอดูลึกเข้าไป ปรากฏว่าแยกเป็นนิกายเล็กนิกายน้อยมากมาย นับเฉพาะที่มีผู้นับถือเกิน ๕,๐๐๐ คน และมีโบสถ์หรือศาสนสถานตั้งแต่ ๕๐ แห่งขึ้นไป มีรวมแล้วราว ๑๔๔ นิกายย่อย และในจำนวน ๑๔๔ นิกายย่อยนั้น ที่มีสมาชิกเกิน ๓ ล้านคนมีเพียง ๗ นิกายเท่านั้นเอง และนิกายย่อยที่มีสมาชิกมากที่สุดก็ไม่ถึง ๙ ล้านคน
ข้อสำคัญก็คือความแตกแยกแย่งชิงกัน ไม่เฉพาะระหว่างโปรเตสแตนต์กับคาทอลิกเท่านั้น แค่โปรเตสแตนต์นิกายย่อยที่มากมายนั้นก็สอนไม่เหมือนกัน ตีความหลักไม่เหมือนกัน ยอมกันไม่ได้ และกลัวจะแย่งจะข่มเหงกัน หวาดระแวงกัน กลัวอีกนิกายหนึ่งจะมา convert คนของตัวไป แต่ของเรานี้ไม่มีปัญหาอย่างนั้น เพราะคนส่วนใหญ่ ทั้งจังหวัด ทั้งภาคนับถือศาสนาเดียวกัน สอนหลักการเดียวกัน มีข้อแตกต่างก็ว่ากันได้ เถียงกันได้ เป็นเรื่องปลีกย่อย แต่ปัญหาของเราอยู่ที่ว่า คนที่ว่านับถือพระพุทธศาสนานั้น ไม่รู้จักศาสนาที่ตนนับถือ ฉะนั้นการสอนพุทธศาสนาในเมืองไทย จึงมีวัตถุประสงค์อีกแบบหนึ่งที่ต่างจากฝรั่ง คือ
๑. สอนเพื่ออบรมคนให้เป็นคนดี
๒. สอนในฐานะที่เขาเป็นพุทธศาสนิกชน ให้รู้จักพระพุทธศาสนาที่เขานับถืออยู่แล้ว
เราสอนให้ชาวพุทธรู้จักศาสนาของเขา ไม่ใช่ปล่อยให้นับถือแล้วไม่รู้เรื่องรู้ราว ซึ่งจะทำให้สูญเสียประโยชน์ที่พึงได้ ทั้งแก่ตัวของเขาเอง และของสังคมประเทศชาติ เราไม่ได้สอนเพื่อจะไป convert แนวคิดของฝรั่งกับของเราต่างกันคนละเรื่องละราว สภาพแวดล้อมก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น นอกจากต้องรู้จักฝรั่งให้เพียงพอแล้ว ก็ต้องทำความเข้าใจในเรื่องสังคมของตัวเองให้ดี
พร้อมกันนั้นต้องชัดว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องระหว่างศาสนา แต่เป็นเรื่องของการช่วยให้ประชาชนและสังคมประเทศชาติได้รับประโยชน์จากศาสนาโดยถูกต้อง และเป็นการส่งเสริมศาสนาให้ถูกทาง โดยสอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างที่พูดแล้วว่าเราไม่ได้มีปัญหาอย่างอเมริกาเลย
คนไทยเป็นพุทธศาสนิก ๙๔-๙๕% ก็แทบจะทั้งประเทศอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่แค่นั้น ที่ว่า ๙๔-๙๕% นั้นเป็นตัวเลขรวมเฉลี่ย ไม่ใช่ว่าจังหวัดนั้นก็ ๙๕% จังหวัดนี้ก็๙๕% แต่ที่จริงในจังหวัดทั้งหลายค่อนประเทศ คนนับถือพุทธหมดหรือแทบหมดทั้ง ๑๐๐% ปัญหาของเราคือทำอย่างไรจะให้พุทธศาสนิกชนรู้จักศาสนาที่ตนนับถือ และปฏิบัติได้ถูกต้อง นี่คือเหตุผลสำคัญที่เราต้องสอนพุทธศาสนา ในภาวะอย่างนี้ ถ้าโรงเรียนไม่สอนพระพุทธศาสนานั่นสิ จึงจะเป็น เรื่องแปลกประหลาด
อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ได้ยินว่าจะมีการหลอมรวมหลักศาสนาต่างๆ มาใช้แบบบูรณาการ หนังสือพิมพ์ลงเมื่อวานนี้ มีบางท่านส่งมาให้อ่าน ถ่ายจากหนังสือพิมพ์ (แต่ไม่บอกว่าฉบับใด)หัวข่าวว่า “หลอมหลักทุกศาสนาเข้ากับหลักสูตรสามัญ...” ดูข้อความยังกำกวมอยู่ น่าจะให้ชัดว่ามุ่งความหมายว่าอย่างไร
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ไม่ทราบ
พระธรรมปิฎก เรื่องนี้ถ้าจริงอย่างที่มีการวิจารณ์กัน จะมีผลต่อไประยะยาว เพราะฉะนั้นจึงขอถือโอกาสพูดนิดหน่อย ถ้าหลอมรวมหลักศาสนา หนึ่ง ศาสนาแห่งศรัทธาเขาไม่ยอม เพราะเขาถือของเขาตายตัว แต่ สอง กลายเป็นว่าเราจะตั้งศาสนาใหม่ เพราะว่าเมื่อเอาคำสอนจริยธรรมมารวมกัน เราก็เหมือนเป็นศาสดาที่ตั้งศาสนาขึ้นมาใหม่ เป็นการลบหลู่ศาสดาของศาสนานั้นๆ เพราะว่าศาสดาของแต่ละศาสนาท่านก็มีเหตุผลของท่าน ว่าทำไมท่านจึงต้องตั้งศาสนานี้ขึ้น เช่น ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าคนอินเดียมัวบูชายัญ ถือวรรณะกันอยู่ มัวแต่ถือพระเวท ทำให้ผูกขาดการศึกษาเฉพาะบางวรรณะ คนไม่รู้จักพึ่งตนเอง ไม่ฝึกตน เป็นต้น พระองค์จึงทรงสอนหลักธรรมขึ้นใหม่ ศาสนาต่างๆ จึงมีเอกลักษณ์ของตนเอง ถ้าเราจะหลอมรวมหลักศาสนา ก็คือเรามีแนวคิดอย่างหนึ่ง ได้แก่แนวคิดหลอมรวม เมื่อทำไปตามแนวคิดนั้น ก็เลยกลายเป็นศาสนาใหม่ที่ไม่เกิดจากประสบการณ์จริง
ทีนี้เราหลอมรวมหลักศาสนา คิดว่าจะให้เป็นบูรณาการ คือ integration แต่กลายเป็นการทำลาย integrity คือทำลายบูรณภาพของศาสนา ซึ่งเป็นการแน่นอนว่า ศาสนาจะสูญเสีย integrity คือเสียบูรณภาพไปเลย
พร้อมนั้นที่บอกว่าเราทำให้เป็นจริยธรรมสากล มันก็เป็น doctrine หรือหลักลัทธิที่คลุกเคล้าขึ้นใหม่ พอเอาไปสอนเด็กก็กลายเป็น indoctrinate คือปลูกฝังลัทธิบอกว่าจะหนี indoctrination ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าตัวทำ indoctrination เสียเอง
อีกอย่างที่สำคัญมากคือ จะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางปัญญา เพราะเราไปจัดจริยธรรมสำเร็จรูปให้แก เด็กแทนที่จะใช้ปัญญาเป็นอิสระ สืบค้นหาเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีคุณธรรมข้อนี้ๆ การใช้ปัญญาก็ไม่มี
ตามปกตินั้น ในศาสนาต่างๆ แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน เอาง่ายๆ อย่างการมองโลกมองธรรมชาติของคริสต์ เขามองว่าพระเจ้าสร้างพืชพันธุ์ธัญญาหาร สิงสาราสัตว์ มาให้เป็นอาหารของมนุษย์ และให้มนุษย์มี dominion คือมีอำนาจบังคับสิ่ง เหล่านี้ ฝรั่งจึงถือว่ามนุษย์มีสิทธิจัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ
แต่ต่อมาตอนนี้เกิดปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย ฝรั่งก็ติเตียนกันว่า เป็นเพราะศาสนาและปรัชญาของพวกตนสอนให้เชื่อมาผิดๆ ทีนี้จะหาทางออก ทำอย่างไรดี แกก็เก่งเหมือนกัน คนรุ่นใหม่ อย่างนายอัล กอร์ ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีคนที่แล้ว คนสายนี้ได้ตีความใหม่ว่า อันที่จริงไม่ใช่อย่างที่เชื่อกันมาหรอก ฝรั่งปฏิบัติกันมาผิดเอง พระเจ้าไม่ได้ต้องการอย่างนั้น
เขาตีความกันใหม่ว่า ที่พระเจ้าได้สร้างสิงสาราสัตว์ และพืชพันธุ์ธัญญาหารมา และให้มนุษย์มี dominion เหนือสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่หมายความว่าให้มนุษย์จัดการตามความชอบใจของตน แต่หมายความว่าพระเป็นเจ้าทรงมอบให้มนุษย์มีอำนาจที่จะได้ช่วยดูแลสิ่งเหล่านั้นแทนหูแทนตาของพระเจ้า คือสิ่งที่สร้างมานั้นเป็นสมบัติของพระเจ้า แล้วพระองค์ให้มนุษย์มี dominion แปลว่ามีอำนาจควบคุม จะได้ช่วยดูแล แต่เป็นการดูแลไว้ให้พระเจ้านะ เพราะฉะนั้นจะต้องรักษาให้ดี แนวคิดนี้เขาเรียกว่า stewardship of nature (การเป็นผู้ดูแลธรรมชาติต่างหูต่างตาของพระผู้เป็นเจ้า) นี่แหละฝรั่งก็หาทางออกไป
หันมาดูแนวคิดของเราไปคนละทางกับของฝรั่ง คือเรามองว่าสิ่งทั้งหลายเป็นรูปธรรมและนามธรรม มีอยู่ตามธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เป็นสัตว์ก็อยู่ในระบบของธรรมชาติ จะเรียกว่าโลก หรือจักรภพก็ตาม ล้วนอยู่ในระบบความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน เพราะฉะนั้นจึงมีผลกระทบต่อกัน แต่มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่ฝึกฝนพัฒนาได้ เพราะฉะนั้นเราจึงถือโอกาสพัฒนามนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้นี้ ให้มีคุณภาพดี เพื่อให้มนุษย์นั้นสามารถช่วยทำให้ระบบความสัมพันธ์นั้นดีขึ้น เกื้อกูลกัน และอยู่กันได้ดีขึ้น
นี่เป็นตัวอย่างของแนวคิดที่ต่างกันไปคนละอย่าง ซึ่งมีเรื่องที่ต้องศึกษามาก ในการศึกษานั้นถ้าไปทำแบบเอาหลักอะไรๆ มาหลอมรวมกัน ก็กลายเป็นหลอมไปตามความคิดของคนที่ทำการหลอมนั่นแหละ ก็กลายเป็นการปิดกั้นปัญญาไป แทนที่จะรู้เหตุรู้ผล รู้อะไร ก็เลยได้แค่ถูก indoctrinate (ยัดเยียดหลักลัทธิ)
อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น เมตตา ความรัก ก็คนละแบบ ของฝรั่ง ความรักเป็น emotion ของเราบอกว่า เมตตาต้องมากับปัญญา ต้องรู้ว่าทำไมจึงต้องมีเมตตา เพราะเขาเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกับเรา เป็นเพื่อนร่วมโลก มนุษย์สัตว์ทุกชีวิตรักสุขเกลียดทุกข์ทั้งนั้น ฉะนั้นการฆ่ากันเบียดเบียนกันจึงไม่ควรทำ แต่ควรรักกัน ช่วยเหลือกัน เด็กจะต้องเรียนศาสนาแบบมีปัญญา รู้จักใช้ความคิดสืบค้น การจัดการศึกษาศาสนาจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ศรัทธาอย่างเดียว
ทำไมเราไม่ปฏิบัติการเชิงรุกบ้าง ฝรั่งมีดีจุดนี้ แต่ด้อยจุดนั้น เรามีดีอันนี้ทำไมไม่เอาขึ้นมาจัดทำส่งเสริมให้เห็นเป็นตัวอย่าง ให้โลกมองเห็นทางออกจากปัญหาที่ติดตันกันอยู่ แม้แต่อเมริกาก็ควรต้องเอาอย่างเราในเรื่องเสรีภาพทางศาสนา เพราะเสรีภาพทางศาสนาของเราเป็นเชิงบวก ไม่ใช่เชิงลบแบบของอเมริกัน เรื่องนี้เราไม่ได้สนใจศึกษาตัวเอง ต้องตื่นตัวกันขึ้นมาศึกษา
นอกจากนั้น เรื่องของเราบางอย่างที่ปัจจุบันปล่อยให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา อย่างเด็กมุสลิมกับพุทธในภาคใต้ ทำไมต้องแยกกันเรียน ทำไมเรียนด้วยกันแบบเก่าไม่ได้ เกิดอะไรขึ้น เราเดินหน้าเขวมาผิดทางใช่ไหม แล้วเรามีการขยับเขยื้อนในทิศทางที่จะแก้ปัญหาสังคมแบบนี้ไหม หรือเอาแต่รูปแบบ จะเอากฎหมายเข้าว่าตามหลัก the rule of law แต่แค่นั้นไม่พอหรอก
จะเห็นว่าอเมริกันแก้ปัญหาแค่ผิวดำผิวขาวแตกแยกกัน ก็แก้ไม่ตก เพราะจะเอาแต่ด้านกฎหมาย ถ้าคนไม่รักกัน ก็ไม่มีทางสำเร็จ ช่องว่างก็จะกว้างออกไปเรื่อยๆ ต้องเอาจิตใจด้วย เรื่องนี้ เราจะต้องมาช่วยกันให้ความรู้สร้างความเข้าใจกันให้มากๆ เพราะเป็นเรื่องที่เราปล่อยปละละเลยมานาน ไม่ได้มองตัวเองเลย
น่าจะเอาจุดหมายที่ชอบธรรมขึ้นตั้ง แล้ววางระบบแบบแผน หรือรูปแบบให้สนองจุดหมายนั้นให้ดีที่สุด จุดหมายนี้คือประโยชน์สุขของชีวิตและสังคม แต่ให้เป็นจุดหมายที่ชอบธรรม ไม่มีการรังแกใคร เรื่องคนส่วนใหญ่ส่วนน้อยก็ทำให้ได้ด้วยกัน หรือต่างคนต่างได้ เช่น วิธียกเว้น อะไรอย่างนี้ คือไม่ให้สูญเสียประโยชน์ที่ควรจะได้ คนส่วนใหญ่ก็ไม่ให้เสีย คนส่วนน้อยก็ต้องไม่เสีย ไม่ใช่ว่าขัดกันติดตัน แล้วทำไม่ได้ แต่เราต้องมีทางออก ไม่ใช่ว่าเห็นแก่คนส่วนน้อยสิบคนแล้วคนห้าพันคนสูญเสียประโยชน์ อย่างนี้ไม่ถูก ต้องให้คนห้าพันได้ประโยชน์เป็นหลักขึ้นมาแล้ว ก็จัดให้คนสิบคนได้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับเขา ไม่ได้ทอดทิ้งใคร
อีกปัญหาหนึ่งคือ บางทีติดรูปแบบ อย่างเรื่องประชาธิปไตย ในเรื่องเสรีภาพทางศาสนา ก็มาติดเรื่องกฎเกณฑ์กติกา ซึ่งกลายเป็นเรื่องไม่มีชีวิตชีวา แล้วก็เป็น negative คือเป็นด้านลบไปหมด มองข้ามความเป็นจริงของภาวะแวดล้อมและภูมิหลังของกรณีนั้นๆ ตลอดจนลืมความมุ่งหมายที่แท้ของเรื่องที่จะทำ เราต้องมาช่วยกันคิดให้จริงจังและให้ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้
ขอพูดจุดสุดท้ายว่า ในเมื่อการทำงานครั้งนี้ได้เกิดปัญหาขึ้นกับการพระศาสนาและคณะสงฆ์แล้ว เราก็ไม่ใช่แค่ว่ามาแก้ปัญหานั้นให้หมดไป ไม่ใช่เท่านั้น แต่จะต้องมองไปในระยะยาว และมุ่งให้บรรลุจุดหมายที่จะให้สถาบันพระศาสนามีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องมุ่งไปให้ถึงนั่น
เราจะเห็นว่า จากการที่ไม่รู้ไม่เข้าใจกัน ไม่ประสานกัน และการปล่อยองค์กรให้อ่อนแอ ก็จึงได้มีปัญหาต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดผลเสียแก่คณะสงฆ์เองและสังคมส่วนรวมอย่างไร เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ครั้งนี้ ในแง่หนึ่งก็เหมือนเป็นภัยอันตรายที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทางด้านพระศาสนาและคณะสงฆ์จะต้องตื่นขึ้นมา และมาฟื้นฟูตัวเองให้จริงจัง เพื่อป้องกันภัยข้างหน้าไม่ให้เกิดขึ้นอีก
การเกิดปัญหาที่ว่านี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นความมุ่งร้ายอะไร อย่างที่พูดแล้วว่าบางทีเราทำไปด้วยหวังดี แต่เพราะเราแยกกัน ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรต่อกัน ทำให้ห่างเหินและเกิดความผิดพลาด โดยไม่ได้ตั้งใจขึ้นมา
นี่แหละเท่ากับเป็นสัญญาณเตือนภัยว่า ต้องรีบตื่นตัวขึ้นมาปรับปรุงแก้ไข มิฉะนั้นก็จะทิ้งให้มีช่องว่างไว้อีก แล้วปัญหาหรือภัยที่เกิดจากความไม่รู้โดยไม่ได้ตั้งใจ ก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และคงจะร้ายแรงขึ้นด้วย
ฉะนั้นจุดสำคัญก็คือต้องถือโอกาสนี้เป็นจุดเริ่ม เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจว่า แย่มานานแล้วนะ เอาจริงเอาจังเสียที เร่งฟื้นฟูทำให้เข้มแข็ง ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมประเทศชาติได้จริงๆ เสียที อาตมาขอโอกาสฝากไว้เท่านี้ ขออนุโมทนา
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ขอนมัสการพระเดชพระคุณนะครับ สิ่งที่พระเดชพระคุณพูดมานี้ มันก็ตรงใจ อย่างน้อยกระผม เพราะว่าความอึดอัดประการหนึ่งเวลาทำโครงสร้างนี้ ต้องทำภายในกรอบที่กฎหมายมีอยู่
แต่ประเด็นที่พระเดชพระคุณพูดถึงเรื่องทำอย่างไรจึงจะให้ศาสนาพุทธนั้น กลับคืนไปสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติของคนพุทธ และวัฒนธรรมพุทธ เพราะว่าแต่ไหนแต่ไรมานี้ ศาสนาพุทธก็อยู่ในกระแสชีวิต เป็นเรื่องประจำวันของคนพุทธ การศึกษาเล่าเรียน ก็ศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนา
พอมาระยะหลังเป็นอย่างที่พระเดชพระคุณได้พูดไว้แล้ว เป็นการเอาแบบตะวันตก คือไปเอาวัฒนธรรมของเขา คิดว่าเป็นของเรา แล้วออกกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ ที่เหมาะกับวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่า ไม่ได้แก้ปัญหา เอามาใช้ในเมืองไทย
พระเดชพระคุณพูดชัดเจนแล้วว่า ศาสนาพุทธนั้นและวัฒนธรรมคนพุทธไทยนี้ เป็นวัฒนธรรมที่มีเสรีภาพกว้างขวาง อาจจะกว้างขวางเกินไปก็ได้ ที่กระผมรับไม่ได้คือ เอาเกณฑ์ตะวันตกมา แล้วก็ปิดกั้นศาสนาพุทธ ไม่ให้เข้าไปสอนในโรงเรียน คิดว่าศาสนาพุทธนั้นจำเป็นสำหรับการอยู่อย่างมีความสุข ไม่ใช่เฉพาะคนพุทธ แต่คนชาติอื่นด้วย ถ้าเราจะเผยแพร่ความคิดอันนี้ออกไป
ผมอยากกราบเรียนว่า สิ่งที่พระเดชพระคุณพูดมานี้ จะออกมาเป็นเอกสารเผยแพร่ได้ไหมครับ แต่คงจะต้องเพิ่มเติมบางประเด็นให้มันครอบคลุมตอบปัญหาได้ชัด ตรงนี้คือประการที่หนึ่ง กราบรบกวนพระเดชพระคุณไว้ ถ้าหากว่าพระเดชพระคุณจะออกมาเป็นเอกสารที่สมบูรณ์แล้ว ท่านเลขาสำนักงานปฏิรูปจะพิมพ์ ใช่ไหมครับ เราก็ยินดีที่จะพิมพ์
พระธรรมปิฎก อาตมายินดี ไม่ขัดข้อง ก็ขออนุโมทนาด้วย
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ที่จริงพระเดชพระคุณพูดยังไม่ครบ บทวินิจฉัยของพระเดชพระคุณเรื่องธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของบุคคลเผ่าไทย ที่มีความเกี่ยวพันกันกับศาสนาพุทธนั้น ยังมีอีกหลายแง่หลายมุม ถ้าพระเดชพระคุณรวบรวมมาแล้วคิดออกมา แล้วเสนอออกมาครบถ้วน จะเป็นประโยชน์กับสังคมไทย อันนั้น คือประการที่หนึ่ง
ประการที่สอง ตรงนี้เกินความสามารถของพวกเราแต่ละคน ที่พระเดชพระคุณพูดถึงว่า ขณะนี้มันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะ ใช้โอกาสนี้เสีย ที่จะฟื้นให้ศาสนาพุทธของเรากลายเป็นศาสนาของสันติภาพ
การนำศาสนาคริสต์เอามาหลอมรวมกับศาสนาพุทธ ผมไม่ทราบว่าใครมีความคิดวิตถารอุตริวิปลาสอย่างนั้น ศาสนาพุทธหลอมรวมไม่ได้ ผมมีความเข้าใจศาสนาพุทธอาจจะเล็กน้อย แต่ว่าพุทธธรรมนั้นเป็นธรรมชาติที่เป็นแก่นแท้ เวลาเขียนบทความ อันนี้กระผมถึงไม่ใช้คำว่าปฏิรูปพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาปฏิรูปไม่ได้ อันนี้กระผมคิดว่าถ้าจะเอามาหลอมรวม คือจะไปสร้างศาสนาใหม่ ที่ท้ายสุดไม่มีใครยอมรับได้สักคน ถึงบอกว่า เป็นความคิดที่วิปลาส ไม่ทราบว่าใครส่งเสริมแนวคิดนี้ขึ้นมา
พระธรรมปิฎก ว่าไปตาม นสพ. เมื่อกำกวม สกศ. ก็ควรชี้แจงให้ชัด
ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ขออนุญาตชี้แจงเรื่องข้อมูลนิดหนึ่ง เข้าใจว่าการลงข้อความคงจะคลาดเคลื่อน เท่าที่เมื่อก่อนเคยอยู่สภาการศึกษา ตอนนี้ย้ายมาทำงานอยู่สำนักงานปฏิรูป เคยเห็นเอกสาร คิดว่า ดร.รุ่ง แก้วแดง ต้องการที่จะเห็นว่าเมื่อมีสภาการศึกษาศาสนาวัฒนธรรม อยากจะเห็นว่าศาสนานี้สามารถเข้าไปบูรณาการในการเรียนการสอนได้ แต่ว่าศาสนาใครก็ศาสนานั้น แต่ไม่ใช่ไปหลอมรวมศาสนาเข้าด้วยกัน ศาสนาพุทธก็ไปบูรณาการเข้าไปในการเรียนการสอนให้มากขึ้น เพราะว่าตอนนี้เราเห็นอยู่ว่าการสอน เอาศาสนาพุทธไปสอนในโรงเรียนนี้ ก็สอนแค่รูปแบบ และไม่ได้สอนเข้าไปถึงแก่นของศาสนาพุทธเท่าที่ควร คิดว่าเป็นเจตนารมณ์ตรงนี้มากกว่า เวลาอ่านอาจจะเข้าใจผิด
พระธรรมปิฎก เมื่อลงเป็นข่าว ก็ต้องว่าไปตามสื่อนั้นก่อน และต้องระวังไว้
ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ประเด็นที่สอง บางทีคอยวิจารณ์อยู่เหมือนกัน เพราะว่าบางทีท่านไปให้ใครเขียน บางคนอาจจะเขียนไม่ได้รู้เรื่องลึกซึ้ง เคยวิจารณ์สิ่งที่เขียนออกมาว่า เขียนอย่างนี้ผิด ไม่ถูก มองศาสนาพุทธแบบผิวเผิน บางทีบางคนเหมือนกับเป็นนักวิจัย ไปรับเขียนอะไรให้ อาจจะเข้าใจผิดได้
พระธรรมปิฎก เรื่องการรู้จักตัวเรา การเข้าใจสังคมของเรา เป็นเรื่องที่น่าออกหนังสือ ดังตัวอย่างเรื่องนายพลฟอร์บังในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่เล่าให้ฟังข้างต้น และจดหมายเหตุของพวกบาทหลวงในสมัยนั้น ที่พูดถึงท่าทีของคนไทยต่อศาสนาของเขา
เรื่องอย่างนี้เราต้องเข้าใจตัวเอง และน่าจะมีสิทธิภูมิใจด้วย ใช่ไหม คือควรจะเอาเรื่องเหล่านี้มาเขียนให้เด็กได้รู้ ว่าเรามีอะไรดีของตัวเอง ที่ควรจะภูมิใจ แล้วเอาศักยภาพที่ดีที่ตัวมีออกมาใช้ ซึ่งในแง่นี้ พูดได้ว่าศักยภาพของเราสูงเหนือกว่าอเมริกันมาก
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ตะวันตกเองหมดที่พึ่งทางใจ ต้องหันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา เราจะปิดกั้นเด็กไทยไม่ให้เรียนพระพุทธศาสนา คิดว่าอันนี้เป็นปัญหา กระผมคิดว่าประเด็นที่ท่านอาจารย์พูดไว้เมื่อสักครู่ ณ วันนี้ เรารู้ถึงสภาพความเสื่อมที่เกิดจากผู้ปฏิบัติ ทั้งที่เป็นคนพุทธและคนที่บอกว่าเป็นพุทธ แต่อาจจะไม่ใช่พุทธ ถ้าเราจะทำอะไรก็ตาม คงจะต้องทำให้เป็นระบบพอสมควร คือให้มันครอบคลุม กระผมก็ทำได้แต่เพียงตัวโครงสร้าง แต่การแก้โครงสร้างมันไม่ได้แก้อะไร จะต้องแก้กระบวนการอื่นให้มันครบวงจร
ถ้าหากว่าชาวพุทธหรือกลุ่มชาวพุทธต่างๆ แทนที่จะมาพูดกันเชิงตำหนิ หรือบ่นต่อว่า ก็เอาแนวที่พระเดชพระคุณตั้งไว้เป็นโจทย์ เอามาแล้วก็มาคิดหาทางออกที่มันสอดรับสวมกันได้เป็นระบบ จะเป็นอานิสงส์อย่างยิ่ง คืออย่างที่พระเดชพระคุณว่านั่นแหละครับ นักการเมืองเอง คนที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษาเอง ก็ไม่เข้าใจ หรือแม้แต่คนพุทธเองก็ไม่ค่อยเข้าใจธรรมชาติ พระเดชพระคุณพูดมานี้กระผมได้อานิสงส์ เพราะว่าแต่ก่อนนี้ไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ทะลุปรุโปร่งอย่างที่พระเดชพระคุณได้บรรยายเอาไว้
ถ้าหากว่าเอามาพูดกันทั้งระบบ แล้วเสนอแนวทางที่จะช่วยทำให้ศาสนาพุทธนั้น สามารถทำให้คนเป็นคนดีได้อย่างแท้จริง และลงไปถึงโรงเรียน วางระบบที่จะปกป้องการรุกล้ำทำลายศาสนาพุทธให้มั่นใจ รัฐบาลคิดว่าคงจะได้ประโยชน์ เพราะเขาก็มีคนช่วยคิดแทน เพราะพระเดชพระคุณกับใครต่อใครที่มีความรักศาสนาพุทธ ยังเป็นที่พึ่งได้อีก กระผมคิดว่าก็จะเป็นประโยชน์
ทีนี้ สองประเด็นสั้นๆ นะครับ สิ่งที่พระเดชพระคุณพูด วันนี้พรุ่งนี้กระผมจะพบกับรัฐมนตรีช่วยการศึกษาและผู้บริหารของกระทรวงศึกษา จะขออนุญาตพระเดชพระคุณเอาไปสืบต่อและจะอ้างพระเดชพระคุณด้วย ว่ามีความเป็นห่วง
ส่วนเรื่องที่สอง ถ้าหากว่าจะมีอะไรที่จะทำให้งานของพระศาสนานั้นเกิดประโยชน์โสตถิผลตามที่ควรจะเป็น อาจจะต้องกระทบกับงานที่กระผมทำ จะขออนุญาตรับเป็นข้อเสนอไป แล้วจะเอาไปปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ครับ
แล้วแนวต่อไป ถ้าหากว่ากลุ่มชาวพุทธต่างๆ จะรับต่อจากนี้ ผมว่าทำให้เป็นระบบ แล้วสำนักงานปฏิรูปการศึกษาจะได้เอาเรื่องนี้ไปคุยกับทางผู้บริหารของกระทรวงศึกษาทั้งสองเรื่อง จะได้เป็นประโยชน์ร่วมกัน ผมขออนุญาตกล่าวเพียงเท่านี้
พระธรรมปิฎก ขออนุโมทนาท่านประธานอาจารย์ปรัชญา เวสารัชช์ อย่างมาก ที่คิดว่าท่านก็มีความเข้าใจ แล้วก็มีความหวังดีต่อประเทศชาติมากอยู่แล้ว ก็มาช่วยกันสาน ช่วยกันคนละไม้ละมือ เพื่อจะให้ส่วนที่เรารู้คนละด้านๆ มาเสริมกัน ขออนุโมทนา อาจารย์สุวัฒน์ เงินฉ่ำ อาจารย์เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ และทุกท่าน
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ทีนี้ถ้าถอดเทปแล้วจะต้องฝากพระเดชพระคุณช่วยดูต่อ เพราะว่ามีจุดนี้ พระเดชพระคุณจะเล่าต่อไหม อีกประเด็นหรือบางประเด็นหลังจากถอดเทปมาแล้ว
พระธรรมปิฎก ถ้าเขียนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยไหว โดยมากต้องพูดไปเลยให้เสร็จไป แล้วก็เอาบทลอกเทปมาตรวจ ได้แค่นั้น
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ คือ ถ้าพระเดชพระคุณอนุญาตนะครับ หลังจากถอดเทปมา กระผมก็จะขออนุญาตโดยส่วนตัว จะดูว่ามีเรื่องอะไรที่อาจจะให้พระเดชพระคุณเล่าต่อ ก็จะขอนิมนต์รบกวน
พระธรรมปิฎก ก็ขออนุโมทนาด้วย เพราะว่าท่านก็หวังดีต่อส่วนรวม ฉะนั้น เราก็ต้องช่วยกัน
ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ มีประเด็นหนึ่งที่ยังไม่ได้เรียนท่านประธานฯ ตอนที่เราทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ท่านก็เคยได้ช่วยมาก คือในหลักการนั้น สภาพัฒน์ฯ ยังไม่ได้พูดเลยว่า ต้องเอาคนเป็นสำคัญ แต่ในแผนการศึกษาท่านได้กรุณาช่วยให้คำแนะนำ และก็เขียนออกมา ว่าจะต้องสอนให้คนกับศาสนา วิถีชีวิตคนกับคนกับธรรมชาติ อะไรต่างๆ เหล่านี้ก็เขียนได้ดี แต่บังเอิญว่า เอาไปเป็นแผนนำไปสู่การปฏิบัตินี่มันไม่เกิดผลเท่าที่ควร
พระธรรมปิฎก ต้องยอมรับว่ายาก
ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ยากค่ะ แล้วก็สภาการศึกษากับกระทรวงการศึกษาฯ ก็อยู่คนละหน่วยงาน ก็ต้องเชื่อมประสานที่นำไปสู่ปฏิบัติจริงๆ ที่ท่านประธานฯ พูดคิดว่ายังมีประเด็นที่สำคัญอีกนะที่เราน่าจะโฟกัสลงมานิดหนึ่ง เพราะว่าถ้าจะพูดถึงการส่งเสริมพระพุทธศาสนาในวงกว้าง ก็คิดว่ามันเกินกำลังพวกเรา แต่ถ้าโยงมาถึงการสอนในโรงเรียน
พระธรรมปิฎก ก็ต้องช่วยกัน อาตมาก็ไม่ได้ชำนาญอะไรมาก
(พูดแทรก) เมื่อกี้ กระซิบกับท่านอดีตอธิบดีว่าเรารณรงค์เรื่องยาเสพติดในโรงเรียน รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน แต่ไม่ได้รณรงค์ในเรื่องของศาสนาพุทธเลย เหมือนว่ามันขาดตอนไปเลย
พระธรรมปิฎก เราเอาศาสนามาช่วยแก้ปัญหายาเสพติด ปัญหาความรุนแรงเป็นต้นด้วย เวลานี้ความรุนแรงก็จะเข้ามาสังคมไทย
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ เริ่มเป็นแล้วครับ พวกเราไปรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ก็มีพระภิกษุหลายรูปทีเดียว ทำไมละครับพระก็อยู่ ทำไมไม่ให้พระไปช่วยสอนศาสนา ท่านก็ปวารณาว่าจะสอนอาทิตย์ละครั้ง จะมีชั่วโมงสอนให้ท่าน ท่านก็ยินดี
พระธรรมปิฎก ในแง่นี้ก็ต้องเห็นใจทางบ้านเมืองเหมือนกัน เมื่อห่างเหินกันไประยะหนึ่งนี้ ก็ต้องยอมรับฝ่ายพระก็เสื่อมคุณภาพลง ฉะนั้นเวลาจะกลับฟื้นต้องยอมรับความยาก พอจะเอาจริง สมมติจะหาพระมาสอนนี่จะหาได้ไม่พอหรอก พอดีท่านประธานฯ ไปเจอองค์ที่ท่านพร้อมดีอยู่ แต่อีกเยอะแยะนี่ไม่พร้อมเลย
(พูดแทรก) แต่อย่างน้อยดี หนึ่งสองก็ยังดีกว่าไม่มีเลย
พระธรรมปิฎก ใช่ ต้องเริ่ม คือเริ่มแล้วก็ค่อยๆ สู้ความยากลำบาก แต่อย่าไปหวังผลเลิศรวบรัด คือถ้าไปนึกว่า เออเราเอาแล้ว ไม่เห็นได้เรื่อง อย่างนี้ไม่ได้ ต้องรู้ความเป็นจริง ขณะนี้ถ้าเราจะเริ่มใหม่ ต้องมีอุปสรรคมากมาย เราสู้ไม่ท้อ ถ้าเตรียมใจไว้อย่างนี้ก็ไปได้
(พูดแทรก) ผมขออนุญาตใส่ประเด็นหนึ่งนะครับ เรื่องวัดในบทบาทของสถานศึกษาซึ่งควรปฏิรูปกลับคืนมา รู้สึกเราไม่มีการพูดกันถึงเรื่องนี้ คือในแง่ของการเป็นสถานศึกษาของเยาวชนซึ่งเดี๋ยวนี้ ได้หายไปหมดแล้ว ดูเหมือนว่าในสภาปฏิรูปฯ ก็ไม่คิดที่จะทำอะไร
พระธรรมปิฎก อ้อ แม้แต่ในเชิงการศึกษาแบบนอกระบบนอกโรงเรียน คือความจริงนะ วัดนี้อย่างน้อยต้องเป็นแหล่งการศึกษานอกโรงเรียนหรือนอกระบบ คือทำหน้าที่ตลอดเวลา เพราะการศึกษาคือชีวิต มันต้องอยู่ในชีวิตเลย เด็กไปวัดได้บรรยากาศ แต่เราก็ต้องสร้างสภาพบรรยากาศในวัดด้วย ให้มันโน้มนำจิตใจไปในคุณงามความดี เวลานี้เรากำลังร่อยหรอและเสื่อมลงไปหมด แม้แต่วัดก็มีอะไรที่ไม่เหมาะ เข้าไปแล้ว จิตใจก็ชักจะไม่โน้มไปในกุศล
(พูดแทรก) ขอประเด็นหนึ่งนะครับ ตอนนี้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาเขาจะจัดให้มีสถานศึกษาอันหนึ่ง เป็นสถานศึกษาที่สอนนอกระบบ ถ้าหากว่าจะสามารถเชื่อมการสอนของพุทธเอาไว้ตรงนี้ได้นะครับ ซึ่งก็แน่นอน คงไม่กีดกัน แต่ว่าอย่างน้อยในเมื่อคนพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ เราก็เอาตรงนี้ เผยแพร่ผ่านรายการวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ ทำเป็นระบบได้ ก็จะเป็นประโยชน์
พระธรรมปิฎก เจริญพร
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๑ บัญญัติให้มีกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยให้มีการจัดระบบการบริหารและการจัดการศึกษาให้แล้วเสร็จ ไม่เกินวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๕ และกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานปฏิรูปการศึกษาขึ้นทำหน้าที่ดังกล่าว ส่งผลให้มีการปรับหน่วยงานที่มีอยู่เดิมเข้าสู่โครงสร้างกระทรวงใหม่ดังกล่าว โดยยึดหลักเอกภาพด้านนโยบาย และหลากหลายการปฏิบัติ การกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่การศึกษา และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งสถาบันศาสนา โดยให้ครอบคลุมถึงภารกิจที่มีอยู่ และจัดให้เหมาะสมกับหน่วยงานตามหลักการดังกล่าว
การจัดระบบโครงสร้าง องค์กรการดำเนินงานด้านศาสนาได้ดำเนินการภายใต้หลักการที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นส่วนราชการของรัฐมิได้ครอบคลุมและขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่ประการใด ทั้งนี้ เพื่อให้ภารกิจเดิมทั้งหลายยังคงอยู่ การใดที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะสงฆ์การนั้นยังคงดำเนินการโดยคณะสงฆ์ดังเดิม อย่างไรก็ตามยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการจัดองค์กรคณะกรรมการและสำนักงานคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่กำหนดขึ้นรับผิดชอบงานแทนกรมการศาสนา
นับเป็นโอกาสดีที่คณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษาได้รับความกรุณาจากพระเดชพระคุณท่านพระธรรมปิฎกให้เข้ากราบนมัสการเพื่อสนทนาธรรมจากพระคุณท่าน เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างองค์กรการดำเนินงานของส่วนราชการด้านพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๔ ณ วัดญาณเวศกวัน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และพระเดชพระคุณท่านได้กรุณาให้ข้อความเห็นอันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการดำเนินงานของสำนักงานปฏิรูปการศึกษา จึงได้ขออนุญาตพระเดชพระคุณท่านพระธรรมปิฎกเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่แก่พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
สำนักงานปฏิรูปการศึกษาจึงขอกราบขอบพระคุณพระเดชพระคุณท่านพระธรรมปิฎก ณ โอกาสนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านข้อสนทนานี้จะได้รับทราบและเข้าใจถึงข้อเท็จจริงของการปฏิรูปการศึกษาที่เกี่ยวกับการพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนขึ้น
(นางสาวเจือจันทร์ จงสถิตอยู่)
เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปการศึกษา