นิติศาสตร์แนวพุทธ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

นิติศาสตร์แนวพุทธ1

ขอเจริญพร ท่านอัยการสูงสุด ท่านผู้ทรงคุณวุฒิในวงการนิติศาสตร์ ท่านผู้สนใจใฝ่รู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน

วันนี้ อาตมภาพได้รับนิมนต์ให้มาแสดงปาฐกถา ซึ่งในที่นี้เรียกว่าปาฐกถาพิเศษ และก็เป็นพิเศษจริงๆ เพราะ พิเศษ แผลงมาจากคำว่า “วิเศษ” แปลว่า แปลกพวก หมายความว่า ในที่ประชุมนี้ อาตมภาพไม่เหมือนคนอื่น ในแง่ที่ ๑ เพราะเป็นพระภิกษุ และในแง่ที่ ๒ เพราะอยู่นอกวงการนิติศาสตร์

วันนี้ ท่านอัยการสูงสุดนิมนต์ให้มาแสดงปาฐกถาในวงการของท่านผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์ และให้พูดในเรื่อง “นิติศาสตร์แนวพุทธ” อาตมภาพคงไม่ตอบโดยตรงว่านิติศาสตร์แนวพุทธเป็นอย่างไร? แต่จะพูดถึงหลักการของพระพุทธศาสนา และจะขอให้ท่านที่อยู่ในที่ประชุมนี้ตอบเองว่า นิติศาสตร์แนวพุทธเป็นอย่างไร

บางทีเราอาจจะยังไม่ได้คำตอบก็เป็นได้ เพราะว่าเวลาในวันนี้ก็ไม่มากนักที่จะพูดในเรื่องนี้ จึงคงจะพูดกันในหลักกว้างๆ

บทนำ
นิติศาสตร์ กับ ธรรมศาสตร์

ก่อนอื่น จะพูดถึงคำศัพท์ คำว่า “นิติศาสตร์” แปลกันว่า วิชากฎหมาย แต่ที่จริงนั้นเรานำคำนี้มาจากภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาของประเทศอินเดียที่มีอารยธรรมเก่าแก่แต่โบราณ นิติศาสตร์เป็นถ้อยคำทางวิชาการของประเทศอินเดีย ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า ชมพูทวีป

ถ้าดูตามศัพท์ นิติศาสตร์ตามความหมายที่ใช้ในประเทศอินเดีย จะเป็นวิชาทางด้าน politics คือวิชาด้านรัฐศาสตร์ หรือวิชาการเมือง ดังเช่นที่กล่าวถึงในคัมภีร์พุทธศาสนาว่า “ขตฺติยธมฺมสงฺขาเต นีติสตฺเถ” (ชา.อ.๘/๔๕๒) ซึ่งแปลว่า ในนีติศาสตร์ กล่าวคือ ขัตติยธรรม (ธรรมของกษัตริย์ คือ คุณสมบัติของผู้ปกครอง และหลักการปกครอง)

“นิติ” แปลว่า การนำ มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า “นายก” ซึ่งแปลว่า ผู้นำ คำเดิมในภาษาบาลีหรือสันสกฤตว่า นีติ ซึ่งมาจากธาตุเดียวกันกับนายก คือ นี แปลว่านำ “นีติ” จึงแปลว่า การนำ นิติศาสตร์ที่แท้เรียกว่า “นีติศาสตร์” ภาษาไทยเรียกนิติศาสตร์เพื่อทำให้สั้น

นิติศาสตร์ แปลว่า ศาสตร์แห่งการนำ หรือจัดดำเนินการ ซึ่งอาจขยายความหมายว่าเป็นศาสตร์แห่งการนำคน หรือการนำกิจการของรัฐ หรือการทำหน้าที่ของผู้นำ

อย่างไรก็ตาม การที่จะดำเนินการปกครองหรือเป็นผู้นำประเทศชาติได้นั้น แน่นอนว่าจะต้องมีระเบียบแบบแผน คือเราต้องมีเครื่องมือที่จะใช้เป็นกติกาสังคม การปกครองจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์กติกา อย่างน้อยต้องรู้ว่าจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ ในขอบเขตแค่ไหน การปกครองจึงเรียกร้องให้มีกฎเกณฑ์กติกาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เรื่องของกฎหมายกับเรื่องของการปกครองจึงแยกกันแทบไม่ได้ จนกลายเป็นว่า เมื่อมีการปกครองก็ต้องมีกฎหมาย คือมีกฎเกณฑ์กติกาของสังคมหรือของประเทศชาติ ที่พลเมืองจะต้องประพฤติปฏิบัติตาม

สมัยก่อน กฎเกณฑ์กติกาเหล่านี้มาจากผู้ปกครอง และผู้ปกครองจะต้องเข้าใจ รู้จักจัดตั้งวางใช้กฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้น เพราะฉะนั้นวิชาการปกครองก็จึงเรียกร้องให้ต้องเรียนรู้ในเรื่องกฎเกณฑ์กติกา ที่เรียกว่ากฎหมาย พอมาถึงเมืองไทยปรากฏว่าเราใช้คำว่า “นิติศาสตร์” ในความหมายว่า “วิชากฎหมาย” ก็เลยพูดได้ว่าวิชากฎหมายแยกไม่ออกจากวิชาปกครองรัฐ

ที่ว่ามานี้หมายถึงความเป็นมาในอดีต กฎหมายมาจากรัฐ และกฎหมายเป็นเครื่องมือของการปกครอง

การปกครองที่ดีมุ่งเพื่อประโยชน์ของประชาชน การตั้งกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้นขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ของประชาชน คือ ให้ประชาชนอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสงบสุข

แต่บางครั้งก็เป็นไปได้ที่ผู้ปกครองนั้นออกกฎหมายมาเพื่อประโยชน์ของตนเอง จึงอาจจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรือแม้ไม่ได้มุ่งจะเบียดเบียนประชาชน แต่บางครั้งกฎหมายนั้นอาจจะรุนแรงเกินไปก็ได้ หรือบางครั้งอาจจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนแม้ด้วยความตั้งใจดีแต่รู้ไม่เท่าถึงการณ์

ต่อมา กฎหมายก็อาจจะมีวิวัฒนาการ คือ เกิดมีกติการะหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองว่า ผู้ใต้ปกครองก็มีสิทธิเหมือนกัน ผู้ปกครองควรมีขอบเขตในการปฏิบัติต่อผู้ใต้ปกครองอย่างไร จึงมีกติกาที่ตั้งไว้เป็นขอบเขต แม้แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ปกครองมาละเมิดหรือเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงผู้อยู่ใต้อำนาจปกครอง ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องของวิวัฒนาการซึ่งอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน

จากวิวัฒนาการของสังคม ซึ่งมีความสัมพันธ์กันระหว่างการปกครองกับกฎหมาย เมื่อสังคมเจริญมากขึ้น กฎหมายก็ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือของการปกครอง แต่การปกครองก็ถูกกำหนดโดยกฎหมาย คือ กฎหมายทั้งรับใช้การปกครอง และเป็นตัวกำหนดการปกครอง ที่บอกให้รู้ว่าจะให้การปกครองมีรูปแบบ กลไก และดำเนินไปอย่างไร

ภาวะที่น่าจะเป็น(ซึ่งอาจจะไม่เป็น) ก็คือ สังคมจะพัฒนาต่อไปจนถึงขั้นที่ว่า กฎหมายเป็นเพียงข้อตกลงของมนุษย์ผู้พัฒนาตนดีแล้ว สำหรับหมายรู้ในการอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์โอกาสในการพัฒนาชีวิตให้ดีงามยิ่งขึ้น

ถ้ามนุษย์เจริญถึงขั้นนั้นได้จริง ก็จะมีกฎหมายโดยไม่ต้องมีการปกครอง เพราะประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมาย โดยแต่ละคนปกครองตนเองได้ตามข้อตกลงนั้น

มีอีกศัพท์หนึ่งที่เป็นเรื่องของกฎหมาย ซึ่งเราได้ยินกันและใช้กันจนกระทั่งนำมาตั้งเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย คือคำว่า “ธรรมศาสตร์” แปลว่า “วิชากฎหมาย” เหมือนกัน และเดิมนั้นเป็นคำที่ตรงกว่า เพราะคำว่านิติศาสตร์นั้นเขาใช้ในความหมายของการปกครองโดยรัฐ ตรงกับที่เราใช้ว่ารัฐศาสตร์ ส่วนวิชากฎหมายแท้ๆ แต่เดิมคือ ธรรมศาสตร์ ซึ่งถ้าแปลตามศัพท์ก็เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักการ เพราะ “ธรรม” แปลว่า “หลักการ”

หลักการมี ๒ อย่าง คือ หลักการแห่งความเป็นจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ และหลักการที่มนุษย์ผู้มีปัญญานำเอาความรู้ในความจริงนั้นมาจัดตั้งวางเป็นแบบแผนในสังคมมนุษย์ จนกระทั่งเป็นกติกาสังคม ซึ่งมนุษย์ที่อยู่ในสังคมนั้นจะต้องยึดถือ อย่างหลังนี้ก็เป็นหลักการเช่นเดียวกัน เราจึงเรียกทั้ง ๒ อย่างนี้ว่า “ธรรม”

หลักการในระดับที่นำมาวางเป็นระเบียบแบบแผนกติกาสังคมที่ให้ประชาชนยึดถือ ก็มาจัดขึ้นเป็นวิชาเรียกว่า “ธรรมศาสตร์” คือเป็นวิชาการเกี่ยวกับกฎหมาย

ในเมืองไทยสมัยใหม่ เมื่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คือ ตั้งมหาวิทยาลัยที่เรียนวิชากฎหมาย และพึงสังเกตว่า เดิมทีเดียวเรียกว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คือเรียนวิชากฎหมายกับวิชาการปกครอง ตรงกับที่พูดไปข้างต้นแล้วว่า กฎหมายมาด้วยกันกับการปกครอง หรือในการปกครองก็ต้องมีกฎหมาย

นิติศาสตร์ กับ ธรรมศาสตร์ มีความหมายโยงถึงกัน แต่ถ้ามองในทัศนะของศาสนาพราหมณ์ที่เป็นเจ้าของอารยธรรมชมพูทวีปสมัยนั้น ก็ถือว่า กฎเกณฑ์กติกาทั้งหมดนั้นมาจากพระพรหมทั้งสิ้น คือเทพเจ้าสูงสุดเป็นผู้กำหนด กฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้นจึงได้รับการรักษาสืบทอดกันมาในคัมภีร์ศาสนา ซึ่งมีข้อกำหนดให้ประพฤติปฏิบัติแม้แต่ในครอบครัวและในชีวิตประจำวันว่า ควรจะเป็นอยู่กันอย่างไร ดำเนินชีวิตอย่างไรผิด ดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะถูกต้อง

พราหมณ์ถือว่าทุกอย่างที่กล่าวมานั้นเป็นข้อกำหนดมาจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปกครองสูงสุดของโลก รวมทั้งข้อกำหนดในสังคม โดยเฉพาะการแบ่งแยกชนชั้น ที่เรียกว่า “วรรณะ” ได้แก่ วรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ดังที่อินเดียนับถือกันอยู่ และการกำหนดให้คนวรรณะต่างๆเหล่านี้มีหลักปฏิบัติประจำวรรณะของตนเองว่า ตนมีสิทธิแค่ไหน จะต้องทำและจะต้องไม่ทำอะไรอย่างไร หลักปฏิบัติเหล่านี้เรียกว่า “ธรรม” คือธรรมประจำวรรณะ ได้แก่ หลักการ ข้อกำหนด และหน้าที่ของคนที่อยู่ในวรรณะนั้นๆ ตำราและการศึกษาในเรื่องที่ว่ามานี้ทั้งหมด เรียกว่าเป็น ธรรมศาสตร์

ความจริงยังมีลึกลงไปอีกว่า สิ่งที่มาจากพระพรหมแท้ๆ เรียกว่า ศรุติ แปลว่า สิ่งที่ได้สดับมา คือเป็นเรื่องที่พราหมณ์ถือว่า ได้ฟังมาจากพระพรหมหรือเทพเจ้าสูงสุดโดยตรง ได้แก่เนื้อหาในคัมภีร์พระเวท ส่วน ศาสตร์ นี้เป็นคำสอนและคำอธิบายภายหลัง และศาสตร์นี้ก็ยังพัฒนามาจากสูตรอีกต่อหนึ่ง ทั้งสูตรและศาสตร์นี้รวมกันเรียกว่า สมฤติ แปลว่าสิ่งที่จำกันมา คือเล่าเรียนถ่ายทอดต่อกันมา

เพราะฉะนั้น ธรรมศาสตร์ จึงสืบเนื่องจาก ธรรมสูตร อีกต่อหนึ่ง (ธรรมสูตรเป็นความร้อยแก้ว ส่วนธรรมศาสตร์เรียบเรียงขึ้นเป็นความร้อยกรอง) และทั้งธรรมสูตรและธรรมศาสตร์นั้น ก็ถือว่ามีต้นกำเนิดมาจากศรุติ คือพระเวท และจึงมาจากพระพรหมผู้สร้างโลก

รวมความว่า ธรรมศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักการและข้อปฏิบัติต่างๆ เริ่มตั้งแต่การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน แนวทางความประพฤติ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และกฎเกณฑ์ต่างๆ ในทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่แนบสนิทอยู่กับศาสนา หรือพูดง่ายๆ ว่ามาจากข้อกำหนดในศาสนาพราหมณ์

ส่วน นิติศาสตร์ ตามความหมายทางวิชาการของชมพูทวีป หมายถึงวิชาการเมือง การปกครอง หรือการจัดกิจการบ้านเมือง เริ่มแต่เรื่องอำนาจหน้าที่และคุณสมบัติของราชา คือ ผู้ปกครอง การแต่งตั้งอำมาตย์ ข้าราชการ การจัดการบ้านเมืองให้อุดมสมบูรณ์ การทูต การสงคราม ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ต่างๆ การสงบศึกและสันติภาพ ฯลฯ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์กฎกติกา และคำแนะนำสั่งสอนแก่ผู้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง ตรงกับที่ไทยเราเรียกว่า รัฐศาสตร์

นิติศาสตร์ตามความหมายนี้ คัมภีร์ของพราหมณ์ เช่น มหาภารตะ ก็บอกว่าเป็นศาสตร์ที่พระพรหมเป็นเจ้าตำรับ และดังนั้นจึงมีต้นกำเนิดมาจากคัมภีร์พระเวท

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดในแง่ประวัติศาสตร์ ตำราทางด้านการปกครองหรือนิติศาสตร์ของอินเดีย ที่เป็นหลักเป็นฐานจริงๆ เรื่องแรก ก็คือ อรรถศาสตร์ ของเกาฏิลยะ (เรียกว่า จาณักยะ บ้าง วิษณุคุปต์ บ้าง) ผู้เป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าจันทรคุปต์ (พระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช) ซึ่งได้แต่งคัมภีร์นี้ขึ้นอย่างเร็วก็ประมาณ พ.ศ. ๑๖๐ (ฝรั่งว่า ประมาณ ๒๙๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช) แสดงให้เห็นว่าตำรานิติศาสตร์ ที่เป็นของนักปราชญ์ฝ่ายบ้านเมืองแต่งขึ้นก็มี ไม่จำเป็นต้องมาจากสายคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ ที่ว่ามาจากพระพรหมผู้สร้างโลก

ตำนานของพราหมณ์โยงเรื่องการปกครองกับกฎหมายเข้าด้วยกัน ดังที่เขาถือว่าพระพรหมได้ทรงแต่งตั้ง “มนู” ให้เป็นกษัตริย์หรือราชาพระองค์แรกของมวลมนุษย์ และพระมนูนี้ได้นิพนธ์คัมภีร์ธรรมศาสตร์ คือกฎหมายฉบับแรกขึ้นมา กล่าวคือ มานวธรรมศาสตร์ (เรียกว่า มนูสมฤติ บ้าง มนูสังหิตา บ้าง แต่บางทีเราเรียกกันง่ายๆ ว่า มนูธรรมศาสตร์)

ว่าโดยประวัติศาสตร์ คัมภีร์ธรรมศาสตร์หรือตำรากฎหมายเล่มแรก คือ มานวธรรมศาสตร์ นี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๗๕๐-๘๐๐

ในทางพุทธศาสนา ก็มีคำว่า “นิติศาสตร์” เหมือนกัน แต่ภาษาบาลีใช้คำว่า นีติสัตถะ แปลว่า คัมภีร์ว่าด้วยนีติ ได้แก่ขัตติยธรรม ดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่นีติในทางพุทธศาสนาใช้น้อยอย่างยิ่ง และความหมายไม่ได้โยงกับพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ในทางพุทธศาสนา “นีติ” อาจใช้ในความหมายกว้างๆ หมายถึง แนวทางหรือแบบแผนความประพฤติทั่วๆ ไป หรือระบอบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมือง ยกตัวอย่างเช่น คติที่ถือกันตั้งแต่ก่อนพุทธกาลว่า

“บุคคลนั่งนอนใต้ร่มไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งก้านของต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนทราม”                                                                    (ขุ.ชา. ๒๗/๑๔๖๙/๒๙๗)

อย่างนี้ก็ถือเป็นนีติเหมือนกัน คือเป็นแบบแผนความประพฤติ หลักการในเรื่องนี้ถือว่าต้นไม้ก็เป็นมิตรของเรา ถ้าเราไปอาศัยนั่งนอนใต้ร่มของเขาแล้วไปฟาดฟันทำลาย ก็เป็นผู้ประทุษร้ายมิตร

ว่าที่จริง ในฝ่ายสันสกฤต นีติ ก็มีการใช้ในความหมายพื้นๆ ว่า แนวทางความประพฤติ หรือหลักนำทางการดำเนินชีวิตด้วยเหมือนกัน ดังที่มีวรรณกรรมอันมีชื่อเสียงเกี่ยวกับหลักความประพฤติหรือหลักการดำเนินชีวิตและกิจการ เช่น โลกนีติ ธรรมนีติ และ ราชนีติ

เพราะฉะนั้น คำว่านีติศาสตร์ในฝ่ายสันสกฤตของอินเดีย จึงมีความหมายไม่จำกัดตายตัวทีเดียว คืออาจจะหมายถึงวิชาการเมืองการปกครองก็ได้ วิชาหลักหรือแบบแผนความประพฤติ อย่างที่เรียกปัจจุบันว่าจริยธรรมก็ได้ หรือวิชาจริยธรรมทางการเมืองก็ได้ ถ้าจะให้แน่ชัดเด็ดขาดลงไปว่าเป็นวิชาการปกครองบ้านเมือง หรือวิชารัฐศาสตร์ในความหมายอย่างที่ใช้กันในเมืองไทย ก็เติมคำ “ราช” เข้าไปข้างหน้า เป็น “ราชนีติศาสตร์”2

เมื่อตัดความคิดของพราหมณ์ที่เกี่ยวกับพระพรหม หรือเทพเจ้าผู้สร้างโลกออกไปเสีย และถือตามความหมายอย่างที่ใช้ในภาษาบาลีในคัมภีร์พระพุทธศาสนา รวมทั้งความหมายสามัญในภาษาสันสกฤต เราก็สามารถนำคำว่า “นิติศาสตร์” มาใช้กับวิชากฎหมาย โดยบัญญัติความหมายว่า เป็นวิชาว่าด้วยระเบียบแบบแผนความประพฤติของประชาชนพลเมือง หรือจะประสานกับความหมายของนีติที่เป็นเรื่องของการปกครอง พร้อมทั้งแนวคิดของพราหมณ์ แล้วให้ความหมายใหม่ก็ได้ว่า

นีติศาสตร์ หรือ นิติศาสตร์ เป็นวิชาว่าด้วยกฎหมายที่มาจากฝ่ายปกครอง คือกฎหมายที่ผู้ปกครองประเทศบัญญัติขึ้นสำหรับใช้ในการบริหารกิจการของประเทศชาติบ้านเมือง

ส่วน ธรรมศาสตร์ เป็นกฎหมายหรือกติกาของสังคมที่สืบกันมาแต่เดิมตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์ อันครอบคลุมถึงขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีทั่วไปด้วย

อนึ่ง ในอินเดียเองนั่นแหละ เขาก็ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินมีเทวอำนาจ เพราะเป็นผู้ที่เทพเจ้าสูงสุดทรงแต่งตั้งขึ้นอย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า พระพรหมได้ทรงแต่งตั้งพระมนู ให้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของมวลมนุษย์ และต่อมากษัตริย์ก็ได้กลายเป็นเทพเจ้าเองเลยทีเดียว ฉะนั้น ราชาจึงสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมาย โดยตีความใหม่บ้าง ตรากฎหมายใหม่ขึ้นมาเองบ้าง ซึ่งอาจจะทำโดยการปรึกษาหรือมอบหมายแก่ปุโรหิต ซึ่งเป็นพราหมณ์ ที่ถือว่าเป็นผู้รู้หลักของศาสนาพราหมณ์ และรู้ความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

นอกจากนั้น พึงสังเกตด้วยว่า คัมภีร์กฎหมายสำคัญของพราหมณ์ โดยเฉพาะ มานวธรรมศาสตร์ นั้น มุ่งเน้นหลักการเรื่องวรรณะ ๔ เป็นอย่างมาก โดยมุ่งจะยืนยันสถานะอันสูงส่งของวรรณะพราหมณ์ จุดเด่นจึงอยู่ที่ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องชาติชั้นวรรณะ จนนักวิชาการชาวตะวันตกที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ เช่น Sir Henry Maine เชื่อว่า คัมภีร์ธรรมศาสตร์ เป็นผลงานจากฝีมือของพราหมณ์ที่มีเจตนาจะกดกันคนวรรณะต่ำสุด คือพวกศูทรและจัณฑาลไว้ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของวรรณะชั้นสูง (Encycl. Britannica, 1988, vol.4, p.57)

ตรงกับที่ Benjamin Walker เขียนไว้ใน Hindu World ว่า เจตจำนงอันสำคัญของมานวธรรมศาสตร์ ก็คือมุ่งจะเอาเทวอำนาจมารับรองสถาบันวรรณะ และทำให้พราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด (Walker, vol.2, p.28)

คัมภีร์ธรรมศาสตร์ใช้หลักการของศาสนาพราหมณ์มาตอกย้ำยืนยันระบบวรรณะ พร้อมกับที่ในขณะเดียวกันนั้นก็นำเอาหลักธรรมจากพระพุทธศาสนาเป็นอันมากไปใช้ประโยชน์ในด้านคำสอนเกี่ยวกับหลักความประพฤติและความดีงามทั่วๆ ไป (ดู joshi, p.353)

เรื่องศัพท์ที่ยกมาพูดนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องถือตายตัว แต่เป็นเรื่องของการบัญญัติ ในยุคสมัยหนึ่งเราบัญญัติคำจำกัดความอย่างหนึ่ง เมื่อถึงอีกยุคสมัยหนึ่งก็อาจจะบัญญัติอีกอย่างหนึ่งได้ การที่นำมาพูดเชื่อมโยงนี้ก็เพื่อให้เห็นฐานเดิม จะได้เห็นแนวทางของความคิดว่า สิ่งเหล่านี้มาจากรากฐานของอารยธรรมอย่างไร

จากภูมิหลังทางวิชาการที่ได้กล่าวมา เราอาจให้ความหมายของเราเองอย่างเป็นอิสระจากวงวิชาการของชมพูทวีปก็ได้ว่า คำทั้งสองที่กล่าวมานั้น มีความหมายแยกได้เป็น ๒ อย่าง คือ ความหมายอย่างกว้าง กับความหมายเฉพาะ

ในความหมายอย่างกว้าง ธรรมศาสตร์ คือ วิชาว่าด้วยหลักการ ทั้งหลักความจริง และหลักการประพฤติปฏิบัติทั่วไป ซึ่งครอบคลุมหมดทุกอย่าง

ส่วนในความหมายเฉพาะ ธรรมศาสตร์ เป็นชื่อของคัมภีร์หรือตำราเกี่ยวกับกฎหมาย ที่ว่าด้วยข้อกำหนดความประพฤติปฏิบัติและขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี อันสืบกันมาในสังคมชมพูทวีปตามหลักคำสอนหรืออิทธิพลของศาสนาพราหมณ์

ส่วน นิติศาสตร์ ในความหมายอย่างกว้าง หมายถึงตำราและวิชาการที่ว่าด้วยระเบียบแบบแผนและข้อกำหนดความประพฤติปฏิบัติโดยทั่วไป ที่ไม่จำกัดเฉพาะอย่างธรรมศาสตร์ในความหมายอย่างหลัง

ส่วนในความหมายเฉพาะ นิติศาสตร์ คือวิชากฎหมาย โดยเฉพาะในฐานะที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการของรัฐ หรือบทบัญญัติที่เนื่องด้วยการปกครอง ซึ่งรัฐตราขึ้น หรือตราขึ้นในนามของรัฐ เพื่อจัดการและบริหารบ้านเมืองให้ประชาชนพลเมืองเป็นอยู่กันด้วยดี

อย่างไรก็ตาม ความหมายที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ยังเป็นเรื่องที่อาจจะต้องพัฒนาต่อไปอีก

- ๑ -
หลักการพื้นฐาน

กฎหมาย ต้องมาจากธรรม ต้องชอบธรรม และต้องเพื่อธรรม

เรามาดูกันว่า ในพระพุทธศาสนา กฎหมายคืออะไร คำที่ใกล้ที่สุด ตรงที่สุด ก็คือคำว่า “วินัย” แต่จะเห็นได้ชัดว่า คำว่าวินัยไม่ใช่จำกัดเฉพาะแต่กิจการของรัฐเท่านั้น ถ้าจะมองเห็นนิติศาสตร์แนวพุทธจะต้องเข้าใจเรื่องวินัยให้ชัดเจน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องวินัยก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นนิติศาสตร์แนวพุทธได้

วินัย คืออะไร แน่นอนว่าวินัยไม่ได้มีความหมายแคบๆ อย่างในภาษาไทย “วินัย” ในภาษาไทยมีความหมายแคบ เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับในการปฏิบัติกิจหน้าที่ และการเป็นอยู่

แต่วินัยในความหมายของพระพุทธศาสนา ในชั้นแรกนี้จะให้ความหมายไว้เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการทำความเข้าใจว่า “วินัย” แปลง่ายๆ ว่า “การจัดตั้งวางระบบแบบแผน”

วินัยเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้จะต้องมองดูวินัยในฐานะเป็นองค์ประกอบใหญ่อย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาทั้งหมดมีองค์ประกอบใหญ่อยู่เพียง ๒ อย่างเท่านั้น และ ๒ อย่างนี้รวมกันเป็นชื่อของพระพุทธศาสนา

คำว่า “พระพุทธศาสนา” ที่เราเรียกกันปัจจุบันนี้ เป็นคำใหม่ ในสมัยพุทธกาลก็มี แต่ใช้ในความหมายว่า “คำสอนของพระพุทธเจ้า” เวลานี้คำว่าพระพุทธศาสนาขยายความหมายออกไปจนกลายเป็นสถาบัน และเป็นกิจการทุกอย่าง แล้วเราก็ลืมศัพท์เดิมที่มีความหมายสำคัญกว่า ซึ่งใช้ในสมัยพุทธกาล คือ คำว่า “ธรรมวินัย” ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็เรียกว่า ธรรมวินัยนี้ หรือธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว

ธรรมวินัย มาจากคำคู่ คือ ธรรม กับ วินัย แล้วรวมกันเป็นเอกพจน์ คือสองอย่างแต่รวมเป็นอันเดียว นี้คือเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา เราจะต้องมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองคำนี้ คือคำว่า ธรรม กับ วินัย แล้วจะเห็นหลักการของพระพุทธศาสนาทั้งหมด

เพราะฉะนั้น เรื่องของกฎหมาย หรือเรื่องนิติศาสตร์ในพระพุทธศาสนา ก็มาดูที่ความหมายของวินัย และความสำคัญของวินัย ที่อยู่ในหลักการที่เรียกว่าธรรมวินัย นั้น

ทีนี้ก็ย้อนไปดูว่าธรรมวินัยนั้นเป็นมาอย่างไร เริ่มต้นก็มีธรรมอยู่ก่อน (คือมีอยู่เป็นประจำตลอดเวลาตามธรรมดาของมัน หรือมีอยู่แล้วแต่เดิม) ธรรม คือความจริงในธรรมชาตินั่นเอง หลักการของพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า

“ตถาคต(คือพระพุทธเจ้า)จะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม หลักความจริงก็คงอยู่อย่างนั้นเป็นธรรมดา . . . ตถาคตทั้งหลายค้นพบหลักความจริงคือตัวธรรมนี้แล้ว จึงนำมาเปิดเผย แสดง ชี้แจง ทำให้เข้าใจง่าย”     (ดู องฺ.ติก. ๒๐/๕๗๖)

นั่นคือจุดตั้งต้นของพระพุทธศาสนาที่ว่า ธรรมมีอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ขึ้นต่อพระพุทธเจ้าเลย

ธรรม คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน เราอาจจะแปลได้หลายอย่าง เช่นแปลว่า ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ ความเป็นจริง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมชาติและธรรมดานี่เอง ธรรมชาติ คือสิ่งต่างๆ ธรรมดา คือความเป็นไปของธรรมชาติ หรือความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย ธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงนี้แล้ว ก็ทรงนำมาเปิดเผยแสดงสั่งสอน

ความจริงนี้เป็นกฎธรรมชาติ เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลเกิดจากเหตุ เหตุก่อให้เกิดผล เหตุอย่างใดก็ก่อให้เกิดผลอย่างนั้น หรือเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดผลขึ้นมา

มนุษย์จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ธรรมคือความเป็นจริงแห่งเหตุปัจจัยนี้ก็ทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามนุษย์ไม่รู้ ก็ไม่สามารถเอาประโยชน์จากมันได้ และถ้ามนุษย์ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงนี้ ก็เกิดผลเสียแก่ตนเอง แต่ถ้ามนุษย์ปฏิบัติถูกต้อง และดำเนินชีวิตด้วยความรู้เข้าใจกฎแห่งธรรมชาติ คือความเป็นจริงอันนี้ ผลดีก็ได้แก่ตัวมนุษย์เอง

ทำอย่างไรมนุษย์จะประพฤติปฏิบัติ หรือดำเนินชีวิตได้ดี ก็ต้องรู้ความจริง ถ้ามนุษย์รู้ธรรมคือรู้ตัวความจริง รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในธรรมชาตินี้เมื่อใด เขาก็จะสามารถเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้

ตัวอย่างเช่น เขาต้องการจะกินผลมะม่วง เขาเห็นต้นมะม่วง จะกินผลก็เก็บเอา แต่ต่อมาถ้าเขารู้ว่ามะม่วงที่จะเกิดมาเป็นผลสุกให้เรารับประทานได้นั้นเกิดจากต้นไม้นี้ ซึ่งก่อนนั้นต้องโตมาจากเมล็ด และชอบที่ดินอย่างนั้น ต้องอาศัยปุ๋ย อาศัยน้ำ อุณหภูมิ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ถ้ามนุษย์รู้อย่างนี้แล้ว ต่อไปก็ไม่ต้องคอยไปหาต้นมะม่วงที่อยู่ไกล เขาจะสามารถปลูกต้นมะม่วงในสวนของตนเองได้ ถึงตอนนี้มนุษย์ก็ได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาติหรือธรรม การรู้ธรรมจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

แม้แต่ชีวิตของเรานี้ก็เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เช่นมีธาตุต่างๆ มารวมกัน มีทั้งรูปธรรม และนามธรรม ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักมันก็ปฏิบัติต่อชีวิตไม่ถูก แม้แต่กินอาหาร ก็กินไม่เป็น ไม่ได้ประโยชน์จากอาหารเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น ธรรมจึงสำคัญอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ทรงค้นพบธรรมนี้ พระองค์ทรงเข้าถึงธรรมและได้ประโยชน์จากธรรมนี้เต็มที่ โดยทรงนำเอาธรรมมาประพฤติปฏิบัติตาม จึงทรงพัฒนาพระองค์เองขึ้นมาจนเป็นพุทธ และทรงเห็นคุณประโยชน์ของการรู้ธรรมนี้จึงทรงนำไปสั่งสอนผู้อื่น

อย่างไรก็ดี การที่จะสั่งสอนให้ได้ผลดีจะทำอย่างไร หมู่มนุษย์จำนวนมากๆ ถ้าไปสอนทีละคนก็ได้ทีละนิดละหน่อย กว่าจะสำเร็จสักคนหนึ่งพระองค์ก็เหนื่อยแน่ เดินทางไปเป็นวันๆ และได้ทีละเล็กทีละน้อย ตลอดพระชนมชีพคงไม่ได้กี่คน ทำอย่างไรจึงจะให้ได้ประโยชน์แก่คนจำนวนมาก ก็ต้องมีวิธีการ

วิธีการก็คือการจัดตั้ง โดยทำให้มีระบบการที่มนุษย์จะมารวมตัวกันเป็นชุมชน และมีระเบียบแบบแผนในการเป็นอยู่ตลอดจนการดำเนินกิจการ เพื่อให้มนุษย์เหล่านั้นได้ประโยชน์จากธรรม หรือจากการสอนของพระองค์อย่างเต็มที่ พระองค์จึงทำการจัดตั้ง และวางระบบแบบแผนในทางสังคมขึ้นมา การจัดตั้งนี้ก็คือตั้งเป็นชุมชนที่เรียกว่า “สังฆะ”

สังฆะ นั้นไม่ใช่บุคคล ในภาษาไทยเรามองคำว่าสงฆ์นี้เป็นตัวพระภิกษุไป ความจริงคำว่า “สงฆ์” หมายถึง หมู่ หรือ ชุมชน หมายความว่า ต้องมีคนจำนวนหนึ่งมารวมกัน ไม่ใช่คนเดียว ภาษาไทยนี้สับสน เราเรียกพระองค์เดียวว่าพระสงฆ์ไปแล้ว ก็เลยใช้กันจนติดแล้วก็ทำให้เกิดปัญหาในบางครั้ง แต่ตัวสงฆ์ที่แท้จริงก็คือชุมชนที่จัดตั้งขึ้นมา

เมื่อตั้งเป็นชุมชนขึ้นมาแล้ว และเมื่อคนที่มารวมกันเข้ามีระเบียบแบบแผนในความเป็นอยู่และการสัมพันธ์กัน คือมีวินัย ธรรมก็จะเข้าถึงประชาชนหรือหมู่ชนได้จำนวนมาก ไม่ใช่เป็นประโยชน์ทีละน้อย

เป็นอันว่า เดิมนั้นก็มีธรรม แต่เพื่อให้คนหมู่ใหญ่ได้ประโยชน์จากธรรม จึงมีวินัย ขึ้นมาจัดสรรความเป็นอยู่ของหมู่มนุษย์ให้เกิดมีโอกาสอันดีที่สุด ที่จะใช้ธรรมให้เป็นประโยชน์หรือได้ประโยชน์จากธรรมนั้น

รวมความว่า วินัย ก็คือการจัดโครงสร้างวางระบบแบบแผนของชุมชนหรือสังคม เพื่อให้หมู่มนุษย์มาอยู่ร่วมกัน โดยมีความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ที่ดีงาม ที่จะให้ได้รับประโยชน์จากธรรมนั่นเอง จุดหมายที่แท้ก็คือ ให้หมู่มนุษย์จำนวนมากได้ประโยชน์จากธรรม

การที่พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่เราเรียกเต็มๆ ว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ก็เพราะพระองค์ทรงมีความสามารถ ๒ ชั้น

ชั้นที่ ๑ สามารถเข้าถึงตัวความจริง ที่เรียกว่า ธรรม

ชั้นที่ ๒ นอกจากรู้ความจริงแล้ว ยังสามารถนำเอาความจริงนั้นมาทำให้เกิดประโยชน์แก่หมู่ชนจำนวนมากได้ ด้วย วินัย

ความสามารถขั้นที่สองนี้ ก็คือการที่สามารถจัดตั้งวางระบบชุมชนที่เรียกว่าสงฆ์ขึ้นมาด้วยวินัย เพราะฉะนั้นจึงเป็นสัมมาสัมพุทธะ

ส่วนท่านผู้ใดสามารถรู้เข้าใจถึงความจริงคือธรรมด้วยปัญญาของตนเอง แต่ไม่มีความสามารถที่จะทำการจัดตั้งวางระบบแบบแผนที่เรียกว่า วินัย ให้มีสงฆ์เป็นชุมชนคนหมู่ใหญ่ขึ้นมาที่จะได้ประโยชน์จากธรรมนี้ ท่านผู้นั้นก็เป็นพระพุทธเจ้าอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า คือผู้รู้เฉพาะตน

เพราะฉะนั้น การจัดตั้งวางระบบที่เรียกว่า วินัย นี้ได้ จึงถือว่าเป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่ว่า ไม่เฉพาะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังสามารถนำเอาความจริงของธรรมชาตินั้นมาทำให้เกิดประโยชน์แก่หมู่ชนจำนวนมากได้ด้วย อันนี้เป็นความสามารถขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เรื่องที่ว่ามานี้ทำให้มีเหตุผลโยงกันด้วยในแง่ที่ว่า ถ้าจัดตั้งวางระบบแบบแผนโดยไม่มีธรรมคือความจริงที่แท้เป็นฐานแล้ว การจัดตั้งนั้นก็ไร้ความหมาย ดังนั้น วินัย คือการจัดตั้งของมนุษย์จึงต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือตัวความจริงที่แท้ และต้องอาศัยปัญญาที่รู้ความจริงนั้นมาจัดตั้ง

เพราะฉะนั้น เบื้องหลังวินัย ก็คือหลักการแห่งธรรม ที่เป็นความจริงแน่แท้อยู่ในธรรมดาของธรรมชาติ เป็นหลักการอันสูงสุด ทั้งโดยตัวมันเอง และโดยเป็นสาระและเป็นจุดหมายของวินัย ไม่มีใครสูงเหนือธรรม พระพุทธศาสนาถือเป็นหลักการว่า ธรรมสูงสุดในโลก ธรรมสูงสุดในสังคมมนุษย์ (ที.ปา.๑๑/๗๑/๑๐๗)

สำหรับผู้นับถือเทพเจ้า ธรรมก็เป็นมาตรฐานตัดสินบรรดาเทพเจ้า ตลอดจนพระพรหม หมายความว่าธรรมย่อมเหนือเทพ แม้แต่จะนับถือกรรมโดยเชิดชูกรรมที่เป็นบุญ ธรรมก็เป็นมาตรฐานตัดสินกรรมและความเป็นบุญนั้น

พระพุทธเจ้าทรงเคารพธรรม (องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๑/๒๕) และทรงจัดตั้งวางระบบแห่งวินัยขึ้นบนฐานแห่งธรรมนั้น และเมื่อสงฆ์ที่ตั้งขึ้นด้วยวินัยนั้นขยายใหญ่โตขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพสงฆ์ และทรงมอบอำนาจให้แก่สงฆ์ โดยที่สงฆ์นั้นก็เกิดมีขึ้นจากธรรม เป็นสงฆ์เพราะธรรม และมีอยู่เพื่อความปรากฏแห่งธรรมในโลก

นักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า “จักรพรรดิ” ผู้เป็นธรรมราชา ก็ต้องเคารพธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ จัดดำเนินการปกครองโดยธรรม (ที.ปา.๑๑/๓๕/๖๔) เช่นเดียวกัน

โดยนัยนี้ ธรรม จึงเป็นทั้งฐานของวินัย และเป็นทั้งจุดหมายของวินัย

๑. ที่ว่าเป็นฐาน หมายความว่า ต้องรู้ความจริงของกฎธรรมชาติ จึงจะสามารถมาจัดตั้งวางระบบแบบแผนในหมู่มนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากธรรมนั้นได้ ถ้าไม่รู้ การจัดตั้งก็ผิดพลาดหรือไร้ความหมาย

๒. ที่ว่าเป็นจุดหมายคือ การที่ให้มนุษย์มาอยู่ร่วมกัน และมีการจัดตั้งระเบียบแบบแผนทั้งหมดนั้น ก็เพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าถึงและได้รับประโยชน์จากธรรมนั่นเอง

ดังนั้น ธรรมจึงเป็นทั้งเบื้องต้นและที่สุดแห่งวินัย ถ้าปราศจากธรรม วินัยก็ไม่มีความหมาย ไร้ประโยชน์ แต่ถ้ามีแต่ธรรมเป็นของจริงตามธรรมชาติ แม้จะมีคนที่รู้ธรรมแต่ไม่สามารถมาจัดสรรให้เกิดประโยชน์แก่คนหมู่ใหญ่ได้ ธรรมนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าใดนัก ทั้งๆ ที่มีอยู่เป็นความจริง ดังนั้นสองอย่างนี้จึงต้องอิงอาศัยกัน เมื่อครบทั้งสองอย่างจึงเป็นพระพุทธศาสนา

ในเรื่องนี้มีข้อที่น่าสังเกตว่า ในพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึง ธรรม เราจะใช้คำว่า “แสดง” เพราะธรรมเป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา เราเพียงแต่ไปรู้และแสดงมัน แต่ถ้าพูดถึง วินัย จะใช้คำว่า “บัญญัติ” เพราะเป็นเรื่องที่มนุษย์จัดตั้งหรือทำขึ้นมา

ขอย้ำว่า ธรรมไม่ใช่ของมนุษย์ทำขึ้น แต่เป็นของมีอยู่ตามธรรมดา ส่วนวินัยเป็นของที่มนุษย์จัดตั้งขึ้น เพราะฉะนั้น เราจึงพูดว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม และพูดว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัย

อย่างไรก็ดี คำว่าบัญญัติที่ใช้กับ “ธรรม” ก็มีบ้าง แต่ใช้เป็นคำประกอบ โดยมีความหมายว่า จัดวางหรือนำเสนอในรูปลักษณะที่จะเอื้อต่อการรู้เข้าใจ แต่สำหรับ “วินัย” จะใช้คำว่า บัญญัติ เป็นคำหลักเลยทีเดียว

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายหรือวินัย กับธรรมที่เป็นความจริงในกฎธรรมชาตินี้ จะนำไปสับสนกับคติของฝรั่งในเรื่อง natural law และ natural rights ไม่ได้ เพราะเป็นคนละแบบกันเลย

พวกฝรั่งมีคติเกี่ยวกับกฎหมายตามสายหรือสำนักต่างๆ ซึ่งมีแนวความคิดหลายแบบ เช่น พวกหนึ่งถือว่ามี natural law คือ กฎหมายตามธรรมชาติ และมี natural rights คือมีสิทธิตามธรรมชาติด้วย แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ตรงกับเรื่องธรรมกับวินัยที่ได้พูดไปแล้วแต่ประการใด

กฎมนุษย์ต้องไม่แปลกแยกจากกฎธรรมชาติ

ตอนนี้เรากลับมาพูดเรื่องธรรมกับวินัยอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันว่า เรามีความจริงตามธรรมชาติที่เรียกว่า ธรรม กับการจัดตั้งของมนุษย์ที่เรียกว่า วินัย ซึ่งเป็นเรื่องสมมติ

ข้อสังเกตสำคัญในที่นี้คือ เรื่องวินัยและเรื่องกฎหมายนี้เป็นเรื่อง “สมมติ” แต่สมมติไม่ใช่เรื่องเหลวไหล สมมติเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในภาษาไทยเราใช้คำนี้ในความหมายที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ในภาษาพระ สมมติเป็นเรื่องใหญ่ ถึงกับจัดเป็นสัจจะประเภทหนึ่ง

ในทางพุทธศาสนามีหลักว่า สัจจะ มี ๒ อย่าง คือ

๑. สัจจะที่เป็นความจริงแท้แน่นอนมีอยู่ในธรรมชาติ เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ (สัจจะโดยเนื้อแท้) และ

๒.สัจจะที่เป็นความจริงตามความตกลงยอมรับร่วมกันของหมู่มนุษย์ เรียกว่า สมมติสัจจะ (สัจจะโดยสมมติ)

ตามหลักสัจจะสองอย่างนี้ เราก็มีกฎธรรมดาของธรรมชาติ กับกฎสมมติของมนุษย์ ธรรมเป็นกฎธรรมชาติ เพราะมันเป็นความจริงแห่งความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามธรรมดาของมัน ส่วนกฎหมายนี้เป็นกฎมนุษย์

ควรทราบว่า กฎธรรมชาติ กับกฎมนุษย์นี้ สัมพันธ์กันอย่างไร

มนุษย์เราตามปกติจะทำกิจกรรมใดก็ตาม ย่อมมีความมุ่งหมาย คือต้องการผลของมัน เราต้องการผลสักอย่างหนึ่ง เราก็ทำกิจกรรมที่เป็นเหตุให้ได้ผลนั้น อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ เมื่อยังไม่มีการจัดตั้งวางระบบสังคมขึ้นมาก็ดำเนินชีวิตอย่างนั้น ทำไปตามธรรมชาติ ผลที่เกิดตามเหตุในธรรมชาตินั้น ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ

ตัวอย่างเช่น เมื่อคนต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ถ้าเขาไม่รอให้ต้นไม้มันงอกเอง เขาจะทำอย่างไร เขาก็ปลูกต้นไม้ เช่นเอาเม็ดมะม่วงมา แล้วเขาก็ขุดดิน เอาเม็ดมะม่วงลง กลบดินแล้วก็รดน้ำเป็นต้น เมื่อปลูกต้นไม้มากๆ ก็เรียกว่าทำสวน

การทำสวนนี้เป็นเหตุ และจะทำให้เกิดผลคือต้นไม้เจริญงอกงาม อันนี้คือเหตุและผลตามกฎธรรมชาติ พูดย้ำว่า การทำสวนเป็นเหตุ ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผล นี้เป็นความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ เป็นเรื่องของธรรม

เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคม เราก็จัดตั้งระบบแบบแผนขึ้นในสังคมแล้วมีวัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นมา เราบอกว่าเราต้องการให้มีสวนดอกไม้สวยงามที่นี่ เราก็ใช้ระบบระเบียบในสังคมมาช่วยให้มีสวนตามที่ต้องการ โดยให้คนๆ หนึ่ง หรือจำนวนหนึ่ง มาทำหน้าที่ในเรื่องนี้โดยเฉพาะให้เต็มที่โดยไม่ต้องห่วงใยเรื่องอื่น เราก็จ้างคนมาทำสวน และเราก็ให้เงินเดือนเขา

ในสังคมที่มีอารยธรรมแล้วก็จะมีการปฏิบัติเช่นนี้ แทนที่ว่าทุกคนจะต้องไปทำสวนเอง เราก็มีการจัดตั้งวางระบบแบบแผนขึ้น มีการตั้งเงินเดือนและบอกว่าคุณมาทำสวน ฉันจะให้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็เกิดมีกฎของมนุษย์ขึ้นว่า การทำสวนเป็นเหตุและการได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผล เป็นกฎขึ้นมาให้เห็นเหตุเห็นผลจริงๆ คือ การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผล ไม่มีใครเถียง เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ

แต่ถามอีกชั้นหนึ่งว่า จริงแน่หรือไม่? การทำสวนเป็นเหตุ เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผลนี้จริงแท้หรือไม่ ตอบว่าจริงในระดับหนึ่งเท่านั้น ที่แท้แล้วไม่จริง การทำสวนเป็นเหตุ เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเกิดขึ้นมีที่ไหนในโลก ไปขุดดินทำสวนแล้วเงินเกิดขึ้นมา ๕,๐๐๐ บาทเป็นไปได้ที่ไหน ที่แท้นั้นกฎนี้เป็นกฎที่มนุษย์ตั้งขึ้นมาโดยการ “สมมติ”

สมมติ แปลว่า มติร่วมกัน มาจากคำว่า สํ (ร่วมกัน) + มติ (การยอมรับหรือตกลง) เพราะฉะนั้น สมมติจึงแปลว่า ข้อตกลงร่วมกัน หรือการยอมรับร่วมกัน

กฎของมนุษย์ที่ว่า ทำสวน ๑ เดือนเป็นเหตุ ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผลนี้ เป็นกฎที่ตั้งอยู่บนสมมติ คือการยอมรับร่วมกัน ถ้าสมมติคือการยอมรับร่วมกันหายไปเมื่อใด กฎนี้จะหายไปทันที เช่น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ยอมรับเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ การทำสวนก็ไม่เป็นเหตุ เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทก็ไม่เป็นผล

เพราะฉะนั้น กฎที่ว่านี้จึงไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลที่แท้จริงในธรรมชาติ แต่เป็นกฎที่จัดวางกันขึ้นด้วยการตกลงยอมรับร่วมกันคือการสมมติของมนุษย์เอง จึงเรียกว่าเป็น กฎของมนุษย์ หรือ กฎมนุษย์

อารยธรรมของมนุษย์ได้สร้างกฎทำนองนี้ขึ้นมามากมาย เพื่อให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ได้ด้วยดี แต่ทั้งนี้เราจะต้องถามให้เกิดความชัดเจนทางปัญญาว่า ในการจัดตั้งวางกฎสมมติของมนุษย์ขึ้นนี้ ที่แท้จริงนั้นมนุษย์ต้องการอะไร

การที่เราวาง กฎมนุษย์ ขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า ทำสวน ๑ เดือนเป็นเหตุให้ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทนั้น ผลแท้จริงที่เราต้องการ คือผลตามกฎธรรมชาติ ได้แก่ ความเจริญงอกงามของต้นไม้ อันนี้แน่นอน เราจึงเห็นความจริง ๒ ชั้น คือมีกฎ ๒ ชั้น ซ้อนกันอยู่

การทำสวนอันเดียว มีความเป็นเหตุเป็นผลตามกฎซ้อนกันทีเดียว ๒ กฎ คือ

๑. กฎธรรมชาติ ที่เป็นธรรม เป็นไปตามธรรมดาของเหตุปัจจัย คือการทำสวนเป็นเหตุ ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผล

๒. กฎมนุษย์ ที่เป็นกฎสมมติ เกิดจากมติร่วมกัน คือ การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เป็นผล

สองกฎนี้มีความสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะ ถ้าไม่มีความจริงตามกฎธรรมชาติ คือ ธรรม ที่ว่าการทำสวนเป็นเหตุและต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผลแล้ว การวางกฎมนุษย์ที่เรียกว่า วินัย คือทำสวน ๑ เดือนได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็ไม่มีความหมายอะไร

แท้จริงนั้น การที่เราวางกฎสมมติของมนุษย์ ก็เพราะเราต้องการผลตามกฎธรรมชาติ ถ้าเราไม่ต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงามแล้วเราจะวางกฎมนุษย์ให้คนทำสวนได้เงินเดือนไปทำไม ทั้งนี้หมายความว่า เราวางกฎสมมติของมนุษย์ขึ้น ก็เพื่อสนับสนุนการทำเหตุที่จะให้เกิดผลแท้จริงตามกฎธรรมชาตินั้นเอง

ขอย้ำว่า วินัย คือการจัดตั้งวางระบบจัดระเบียบและวางกฎสมมติขึ้นมานี้ เป็นความสามารถพิเศษอันเลิศของมนุษย์ ที่จะทำให้ชีวิตและสังคมของพวกตนได้ประโยชน์มากที่สุดจากธรรม คือความจริงของธรรมชาติ และการวางกฎสมมติของมนุษย์ขึ้นมา ก็เพื่อช่วยหนุนให้เกิดความมั่นใจที่จะได้ผลที่ต้องการตามกฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้น มนุษย์จะต้องตระหนักรู้อยู่เสมอว่า สิ่งต้องการที่แท้คือความเป็นจริงตามธรรม

เรื่องที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า แท้จริงนั้นเราต้องการผลจริงๆ ตามกฎธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ยังเข้าใจความมุ่งหมายที่แท้จริงนี้ และยังโยงสัมพันธ์กฎสมมติของมนุษย์เข้ากับกฎธรรมชาติที่ซ้อนรองรับอยู่ได้ คือไม่ลืม ไม่มองข้ามผลที่ต้องการที่แท้จริง ชีวิตและสังคมมนุษย์ก็จะดำรงอยู่ด้วยดี แต่เมื่อมนุษย์ได้พัฒนาอารยธรรมออกไปๆ มนุษย์จำนวนมากก็ได้แปลกแยกจากธรรมชาติไปเสีย และพากันหลงสมมติ

หลงสมมติ คือติดอยู่ในกฎสมมติของมนุษย์ ไม่เข้าถึง หรือไม่สามารถเชื่อมโยงให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

ถ้าความแปลกแยกจากธรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อใด ความวิปลาสทั้งของชีวิตและสังคมก็จะเกิดขึ้นเมื่อนั้นทันที เช่น คนทำสวนทำงานเพื่อต้องการเงินเดือนอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงการที่จะทำให้เกิดผลตามกฎธรรมชาติ คือ การทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม

เพราะฉะนั้นจะต้องถือว่า การเข้าถึงความจริงแห่งกฎธรรมชาติหรือธรรมนี้ จะต้องเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา ถ้ามนุษย์แปลกแยกจากความจริงหรือธรรมนี้เมื่อใด การดำเนินชีวิตของเขาจะวิปริตทันที และสังคมก็จะไม่ได้รับผลที่ต้องการ ลองคิดดูว่า ถ้าคนสวนมาทำสวนด้วยต้องการเงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท และไม่ต้องการผลที่แท้จริงตามกฎธรรมชาติ อะไรจะเกิดขึ้น และเรื่องนี้จะมีผลโยงไปถึงเรื่องอื่นทั้งหมด ซึ่งจะยังไม่พูดถึงในที่นี้ เพียงแต่ขอยกขึ้นมาพูดไว้เป็นตัวอย่าง

อนึ่ง การหลงสมมติเป็นโทษภัยแก่มนุษย์ฉันใด การไม่ยอมรับสมมติที่บัญญัติจัดวางขึ้นโดยชอบธรรม ก็เป็นภัยอันตรายต่อชีวิตและสังคมของมนุษย์เองด้วยฉันนั้น เรื่องนี้จะได้พูดกันต่อไปข้างหน้า

พัฒนาคนให้รู้จักเคารพสิทธิกันและกัน
แต่ต้องรู้ทันว่าที่แท้มนุษย์ไม่มีสิทธิ

มนุษย์เรามีความสามารถในเรื่องวินัยนี้ เราจึงจัดโครงสร้างวางระบบตั้งกฎระเบียบในการจัดแจงจัดสรรสังคมขึ้นมามากมาย และพัฒนาอารยธรรมขึ้นได้ จนกระทั่งมนุษย์ถึงกับตกลงกันให้พวกตนมีสิทธิ แม้แต่จะเป็นเจ้าของและจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา เช่น แผ่นดิน ก็นำมาแบ่งกันโดยกำหนดให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเกิดขึ้น เอาแผ่นดินมาจัดสรร บัญญัติว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของคุณ ที่ดินแปลงนี้เป็นของฉัน จะละเมิดกันไม่ได้ โดยมีกฎหมายเข้ามารองรับ ถ้าละเมิดกันก็มีการลงโทษตามกระบวนการของกฎหมายนั้น

กฎหมายจึงเป็นเครื่องแสดงการยอมรับสิทธิหรือเป็นเครื่องกำหนดให้เกิดมีสิทธินั้นขึ้น และกฎหมายก็เป็นเครื่องมือคุ้มครองสิทธิของบุคคล ตลอดจนคุ้มครองกิจการต่างๆ ของคน แต่ไปๆ มาๆ มนุษย์ก็อาจจะลืมความจริงที่แท้ของธรรมชาติไปเลย จนบางที เมื่อมนุษย์ต่างอารยธรรม ต่างวัฒนธรรมมาพบกัน ก็มีเรื่องแปลกๆ

ตัวอย่างเช่น เรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ ๑๔๑ ปีล่วงมาแล้ว (พ.ศ. ๒๓๙๘) ประธานาธิบดีอเมริกา ชื่อว่าแฟรงคลิน เพียซ ได้ติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากพวกอินเดียนแดงเผ่าหนึ่ง ซึ่งมีหัวหน้าชื่อว่า ซีแอตเติล (Seattle) ซึ่งได้เป็นที่มาของชื่อเมืองใหญ่ ในรัฐวอชิงตัน ทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดของประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

ตอนนั้นดินแดนนี้เป็นของอินเดียนแดงเผ่าของซีแอตเติล เมื่อประธานาธิบดี เพียซ ติดต่อขอซื้อไป ก็ได้รับคำตอบจากอินเดียนแดงว่า

“ท่านจะเอาแผ่นดินและผืนฟ้ามาซื้อขายกันหรือนี่ ความคิดนี้แปลกประหลาดสำหรับพวกเรา” (Gore, 359)

เวลานี้เรายึดถือกันเหลือเกินใช่ไหม ที่ดินนี้เป็นของฉัน ฉันมีกรรมสิทธิ์ และก็รู้สึกกันว่าเป็นความจริงอย่างนั้นจริงๆ แต่เมื่อมนุษย์ที่เราเห็นว่ายังไม่มีอารยธรรมมาได้ยินได้ฟังเรื่องอย่างนี้เข้า เขารู้สึกแปลกประหลาด อินเดียนแดงเหล่านี้นึกไม่ออกว่ามนุษย์มีการนำแผ่นดินผืนฟ้ามาขายกันได้อย่างไร

ต่อไป นอกจากเอาแผ่นดินมาแบ่งกันแล้ว มนุษย์ก็จะขายผืนฟ้ากันจริงๆ ด้วย เช่น อาจจะมีการเช่าที่ตั้งสถานีอวกาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์สมมติขึ้นทั้งสิ้น สมัยก่อน ตอนที่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียซ ขอซื้อที่ดินจากพวกอินเดียนแดงนั้น คนอเมริกันย่อมรู้สึกดูถูกคนอินเดียนแดงมาก ว่าคนพวกนี้ไม่มีสติปัญญา โง่เขลาเหลือเกิน ไม่มีอารยธรรม ไม่รู้จักเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

แต่มาบัดนี้ ความคิดของอินเดียนแดงกลับได้รับการยกย่องสรรเสริญ เพราะว่ามนุษย์ยุคนี้มาประสบปัญหาจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม แล้วเห็นกันว่าการกระทำของมนุษย์ที่เบียดเบียนธรรมชาติ ที่จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจนั้น ได้เป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ ทำให้เกิดมลภาวะเป็นต้น ปรากฏว่าคนอเมริกันยุคนี้กลับไปยกวาทะของอินเดียนแดงผู้นี้มายกย่องสรรเสริญกัน

ตัวอย่างเช่น รองประธานาธิบดี Al Gore คนปัจจุบันนี้ เมื่อเขียนหนังสือเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติเรื่อง Earth in the Balance ก็ยกถ้อยคำหรือวาทะของอินเดียนแดงคนนี้มาอ้างอิง (Gore, 359) เหมือนดังจะเยาะเย้ยความคิดของชาวอเมริกันผู้เจริญแล้ว ที่หลงไปตามสมมติ และยอมรับว่าความคิดความเข้าใจของพวกอินเดียนแดงนั้นสอดคล้องตรงตามความจริงของธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น เรื่องสิทธิเป็นต้น ตามที่บัญญัติในกฎหมาย จึงเป็นเรื่องของการที่มนุษย์มาตั้งกฎเกณฑ์กันขึ้น เพื่อประโยชน์ในหมู่มนุษย์ของเรา จนหลงเพลินไปว่าเรามีความชอบธรรมที่จะไปจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา แต่ตามความจริงสิทธิอย่างนี้มีหรือไม่ เช่น ที่ฝรั่งพวกหนึ่งบอกว่ามนุษย์มีสิทธิตามธรรมชาตินั้น ในทัศนะของพระพุทธศาสนาว่าเป็นความสับสน

จะต้องเข้าใจว่า ความจริงตามธรรมชาติก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้น เช่น การที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่มนุษย์นั้นมีสติปัญญา เมื่อรู้ความจริงนั้นแล้ว และต้องการจะให้ชีวิตและกิจการงานของตนอยู่ได้ด้วยดีภายใต้กฎธรรมชาตินั้น ก็นำความรู้ในกฎธรรมชาติมาจัดสรรวางระบบแบบแผนขึ้นในสังคมของตน เพื่อให้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาตินั้นเกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตน ด้วยการตกลงกันวางข้อกำหนดขึ้น เช่นการกำหนดให้มีสิทธิต่างๆ ขึ้นมา แต่ทั้งนี้จะต้องมีความรู้ตระหนักในความจริงว่า มันเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ตกลงกัน ไม่ใช่ความเป็นจริงในธรรมชาติ

สมมติว่า เราตกลงกันว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของฉัน หรือของคนนั้นคนนี้ ก็เกิดเป็นสิทธิขึ้นมา แต่สิทธิที่ว่านั้นเป็นเรื่องที่จะใช้อ้างกันได้ในหมู่มนุษย์เท่านั้น จะเอาไปอ้างกับธรรมชาติไม่ได้ เราจะบอกว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของฉันแล้ว ทุกอย่างในที่นี้จะต้องเชื่อฟังฉัน ฉันปลูกอะไรแกจะต้องงอก อันนี้จะเอาไปอ้างกับธรรมชาติโดยไม่ทำเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ก็เป็นไปไม่ได้ การอ้างสิทธินั้นจะไม่สำเร็จผลเลย ธรรมชาติจะไม่ฟัง

เรื่องของธรรมชาติก็คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน คุณต้องการอะไรคุณก็ต้องทำให้ถูกตามเหตุปัจจัย ถ้าคุณทำไม่ถูกตามเหตุปัจจัยก็ไม่เกิดผลที่คุณต้องการ

เราจะบอกว่าต้นมะม่วงต้นนี้เป็นต้นไม้ของฉัน เกิดในที่ดินของฉัน ฉันมีสิทธิจัดการได้ แกต้องฟังฉัน แกต้องงอกงาม แกต้องออกผลมากให้ได้เท่านี้ในฤดูนี้ปีนี้ ให้ฉันมีรายได้เท่านี้ ฯลฯ การอ้างสิทธิกับธรรมชาติอย่างนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ มนุษย์จะต้องทำตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติทั้งสิ้น

ดังนั้น มนุษย์จึงจะต้องรู้จักแยกระหว่างความจริงตามกฎธรรมชาติ กับความจริงที่มนุษย์มาตกลงกันวางขึ้น เพราะว่าแม้แต่ชีวิตของมนุษย์เอง ในแง่ของกฎธรรมชาติมนุษย์ก็ไม่มีสิทธิอะไร เราจะบอกว่าฉันมีสิทธิในชีวิตของฉัน ก็ไม่มีผลอะไร ถ้าไฟไหม้จะมาถึงตัว ไม่ยอมหนี จะอ้างสิทธิกับไฟว่า “ฉันมีสิทธิในชีวิตของฉัน แกไม่มีสิทธิจะทำอะไรฉัน” ไฟก็ไหม้เอาเท่านั้น หรือลองเข้าป่าไปพบเสือแล้วไปยืนอ้างสิทธิบอกกับเสือว่า “ข้าเป็นเจ้าของชีวิตของข้า ข้ามีสิทธิในชีวิตของข้า” บอกกับเสือ เสือก็ไม่ฟัง มันก็งับกินเท่านั้นเอง

แม้แต่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เราจะอ้างสิทธิในชีวิตของเรากับธรรมชาติ ก็ไม่มีผลอะไร แต่เราจะต้องปฏิบัติ หรือดำเนินชีวิตของเราให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติ เราต้องรักษาสุขภาพของเรา เราต้องกินอยู่หลับนอน ต้องทำกิจกรรมทั้งหลายให้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ตรงตามเหตุปัจจัยของมัน ถ้าเราไม่ทำตามนั้น จะอ้างสิทธิต่อธรรมชาติ ก็ไม่อาจได้รับผลที่ต้องการ

ในโลกยุคต่อไป ปัญหาเรื่องสิทธิจะซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังเช่นปัญหาที่เกิดจากความเจริญทางเทคโนโลยี ทางด้านการแพทย์ และทางด้านข่าวสารข้อมูล เป็นต้น อย่างที่เป็นปัญหามากขึ้นๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องสิทธิในการเกิด สิทธิในการให้กำเนิด สิทธิในการตาย สิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสิทธิในการมีชีวิตของทารกในครรภ์ กับสิทธิที่จะมีชีวิตที่มีสุขภาพดีของมารดาผู้ถือว่าตนเป็นเจ้าของครรภ์ เพราะฉะนั้น การเข้าใจความจริงที่ทำให้แยกได้ระหว่างความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ กับความจริงตามที่ตกลงกัน(โดยสมมติ)ด้วยปัญญาของมนุษย์ จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้โลกได้ประสบปัญหาจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศเป็นอย่างมาก และตระหนักเห็นภัยจากการทำลายธรรมชาติ เนื่องจากปัญหาและความตื่นตัวในเรื่องนี้ ก็ได้มีบุคคลและกลุ่มชนที่เริ่มตั้งข้อพิจารณาขึ้นมาว่า สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายมีสิทธิในชีวิตของมันหรือไม่ และบางคนก็ลงความเห็นว่า “มี”

เมื่อตกลงว่าสัตว์ดิรัจฉานมีสิทธิในชีวิตของมัน ก็มีเรื่องที่มนุษย์จะต้องแก้ปัญหาในหมู่พวกตนตามมาอีกมาก เช่น นาย ก. เป็นเจ้าของเล้าหมู เลี้ยงหมูไว้ฆ่าขายเนื้อจำนวนมาก นาย ข. เห็นว่าหมูมีสิทธิในชีวิตของมัน จึงลอบไปปล่อยหมูออกจากเล้า ตำรวจจับนาย ข. ฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการละเมิดกรรมสิทธิ์ของนาย ก. แต่นาย ข. อ้างว่าเขาไม่ได้ลักทรัพย์ เขาเพียงแต่ปล่อยหมูไปตามสิทธิของมัน (เหมือนช่วยคนที่ถูกคนอื่นกักขังไว้; แต่ก็พึงสังเกตด้วยว่า สมัยก่อนโน้น เมื่อยังมีระบบทาส เจ้าของทาสก็มีสิทธิตามสมมติที่จะจัดการกับทาส คล้ายกับที่เจ้าของเล้าหมูจะจัดการกับหมู แต่มาบัดนี้ เมื่อสังคมยกเลิกระบบทาสแล้ว การปฏิบัติต่อคนอย่างนั้นกลายเป็นความผิด กรรมสิทธิ์ต่อทาสกลายเป็นไม่มี)

เรื่องทำนองนี้คงเป็นปัญหาสำหรับนักกฎหมายในอนาคตจะวินิจฉัยกันต่อไป แต่ก็มีตัวอย่างแล้วที่รัฐฮาไว สหรัฐอเมริกา นักศึกษาชั้นบัณฑิตศึกษาผู้หนึ่งเห็นว่าปลาโลมามีสิทธิในชีวิตของมัน มันควรจะมีอิสรภาพ จึงปล่อยปลาโลมา ๒ ตัว ออกจากสถานีทดลอง ปรากฏว่าเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักทรัพย์ (ดูความคิดของชาวตะวันตกต่อเรื่องอย่างนี้ เช่น Rolston, 47 และ Howard, 132 เป็นต้น)

ขอให้สังเกตว่า แม้ใครก็ตามจะบอกว่าสัตว์มีสิทธิในชีวิตของมัน สัตว์นั้นก็คงไม่สามารถเอาสิทธินั้นไปอ้างกับใครๆ หรือกับสัตว์อื่นใด แต่สิทธิของสัตว์นั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์นั่นเองจะนำไปอ้างต่อมนุษย์ด้วยกัน ในการที่จะปฏิบัติต่อสัตว์นั้นๆ ตามที่พวกตนตกลงกัน

เป็นอันว่า สิทธิต่อชีวิต เป็นต้น อ้างไม่ได้กับธรรมชาติ แต่อ้างได้กับมนุษย์ด้วยกันตามที่ตกลงยอมรับ นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธรรม กับกฎเกณฑ์ในหมู่มนุษย์ ที่เรียกว่า วินัย ซึ่งซ้อนกันอยู่และโยงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่แยกออกเป็น ๒ ระดับ

ถึงจะพัฒนาระบบขึ้นมาหลากหลาย
ทุกระบบต้องลงกันได้บนฐานหนึ่งเดียวแห่งธรรม

ดังได้กล่าวแล้วว่า กฎของมนุษย์คือวินัย ต้องอิงอยู่บนความจริงของธรรมชาติคือธรรม และมีไว้ก็เพื่อเข้าถึงและได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาตินั่นเอง ความหมายของวินัย ซึ่งรวมทั้งกฎหมายก็อยู่ที่นี่

แต่ตามที่กล่าวแล้วว่า วินัยคือการจัดตั้งวางระบบแบบแผนที่เป็นสมมตินี้ เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่ไม่มีในหมู่สัตว์อื่น มนุษย์มีความสามารถพิเศษเช่นนี้ จึงสร้างสรรค์วัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นมาได้ โลกของมนุษย์จึงเป็นแดนของสมมติ

แต่มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ในเมื่อเราบอกว่า ธรรม (คือความจริง เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นต้นนี้) เป็นฐานของวินัย (คือการจัดตั้งวางระบบแบบแผนกฎเกณฑ์กติกาในสังคมมนุษย์ทุกอย่าง) เพราะฉะนั้น การที่จะให้กฎของมนุษย์ได้ผลจริง ระบบต่างๆ จึงต้องประสานโยงถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว

เวลานี้ เมื่อมนุษย์เรามีอารยธรรมเจริญมากขึ้น เราก็มีการจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคมมากขึ้น โดยแยกเป็นระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครอง และระบบสังคมด้านต่างๆ มากมาย

การที่เรามีระบบเหล่านี้จัดแยกออกไปเป็นหลายด้าน ก็เพื่อให้มีประสิทธิภาพในเชิงปฏิบัติ และในการที่จะศึกษาได้ลึกละเอียด แต่ที่จริงนั้นกฎธรรมชาติคือความจริงที่รองรับระบบเหล่านั้นทั้งหมดก็เป็นความจริงอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้กฎมนุษย์ ซึ่งหมายถึงระบบแบบแผนต่างๆ ในสังคมมนุษย์ ได้ผลอย่างแท้จริง ระบบเหล่านั้นจะต้องประสานเป็นอันเดียวกันได้ บนฐานแห่งความเข้าใจในความจริงตามกฎธรรมชาติที่เป็นหนึ่งเดียวนั้น

ปัญหาของโลกมนุษย์ในปัจจุบันนี้ก็คือ มนุษย์ต่างคนต่างคิดและวางระบบตามความคิดที่แยกส่วนแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้านๆ ของตน ทำให้มีระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการเมืองการปกครองเป็นต้น หลายรูปหลายแบบ โดยที่ระบบเหล่านี้ตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎีคนละอย่าง และมนุษย์ยิ่งเจริญขึ้น ก็ดูเหมือนว่าระบบและทฤษฎีต่างๆ จะยิ่งแยกเป็นเฉพาะส่วนเฉพาะด้านออกไปๆ และก็ยิ่งไม่ชัด หรือถึงกับไม่คำนึงว่าทฤษฎีเหล่านั้นได้เข้าถึงธรรมคือความจริงในกฎธรรมชาติหรือไม่

ทฤษฎี ก็คือการพยายามที่จะเข้าถึงความจริงที่เรียกสั้นๆ ว่า ธรรม นั้น และจากทฤษฎีก็ไปจัดโครงสร้างวางระบบตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นในสังคม แต่ถ้าทฤษฎีไม่เข้าถึงธรรมคือความจริง ระบบที่เขาจัดตั้งขึ้นบนฐานของทฤษฎีนั้น ก็ไม่สามารถให้ประโยชน์ที่แท้จริงยั่งยืน คือไม่สามารถสร้างผลสำเร็จตามที่ต้องการได้ และจะเป็นระบบที่ไม่ยั่งยืน

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อระบบต่างๆ ในสังคมเดียวกันตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎีคนละอย่าง ต่อมาระบบเหล่านี้ก็จะขัดแย้งกัน เช่น ระบบเศรษฐกิจไปทางหนึ่ง ระบบการเมืองไปทางหนึ่ง ระบบทางสังคมอย่างอื่นๆ เช่นระบบการจัดการศึกษาไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งคิดว่าสภาพในปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ด้วย และเมื่อเป็นอย่างนั้น ระบบต่างๆ ก็จะขัดแย้งกันบ้าง ชักพาไขว้เขวไปคนละทิศละทางบ้าง ตัวมนุษย์เองมีความขัดแย้งกันในระบบบ้าง แล้วการดำเนินชีวิตและกิจการของมนุษย์ก็จะต้องมีปัญหาเกิดขึ้น

ตัวอย่างง่ายๆ ในปัจจุบันนี้ก็คือ แม้แต่ระบบเศรษฐกิจกับระบบการเมืองการปกครองก็เป็นปัญหากันอยู่ ระบบเศรษฐกิจหนึ่งก็จัดตั้งขึ้นตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หนึ่ง ซึ่งเป็นความเพียรพยายามที่จะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติในด้านหนึ่ง แต่ก็ไม่รู้ว่าได้เข้าถึงความจริงหรือไม่ ซึ่งก็รอไม่ได้จึงต้องปฏิบัติกันไป เมื่อตกลงว่าเอาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบนี้ ก็จัดระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ต่อมาทางด้านการปกครองก็มีทฤษฏีการปกครอง เช่น แนวคิดประชาธิปไตย เป็นต้น ซึ่งนำมาใช้เป็นฐานในการจัดระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ในเมื่อระบบเศรษฐกิจกับระบบการปกครองมาจากฐานแห่งทฤษฎีคนละฐาน แล้วจับมาประสานกัน ปรากฏว่าฝ่ายสังคมนิยมก็อ้างว่า พวกตนก็ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย และอ้างว่าระบอบประชาธิปไตยแบบของตนเป็นประชาธิปไตยที่แท้ เช่น เป็นประชาธิปไตยของประชาชน ส่วนอีกสังคมหนึ่งใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ก็อ้างว่าพวกตนใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม แล้วสองฝ่ายนี้ก็เถียงกันว่าของใครเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ของใครจะนำสังคมไปสู่สันติสุขได้จริง

เวลานี้ฝ่ายทุนนิยมเสรีชนะ ก็นำระบบสองด้านนี้มาผนวกกันว่าในด้านเศรษฐกิจใช้ระบบทุนนิยมแบบตลาดเสรี (free-market economy) ส่วนในด้านการปกครองใช้ระบบประชาธิปไตย (democracy) และบอกว่าต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมจึงจะดีที่สุด จึงผนวกสองคำนี้เป็น free-market democracy แปลว่า ประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี ซึ่งทำให้บางคนอาจจะหลงเพลินไปว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วต้องเป็นตลาดเสรี คือต้องเป็นทุนนิยม

ท่ามกลางสภาพเช่นนี้ ความขัดแย้งในตัวระบบเองก็อาจจะมีอยู่ และที่สำคัญคือ ฝ่ายหนึ่งจะครอบงำอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น แนวคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เข้ามาครอบงำแนวคิดของประชาธิปไตย ทำให้มองความหมายของหลักการของประชาธิปไตย ไปตามอิทธิพลของแนวความคิดทางเศรษฐกิจ ดังที่เห็นได้ชัดในเวลานี้ว่า การตีความหมายของความเสมอภาคและเสรีภาพ เป็นการตีความหมายแบบทุนนิยม คือ ใต้อำนาจของระบบเศรษฐกิจแบบสนองความต้องการผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งพูดสั้นๆ ว่าเป็นการมองความหมายแบบแบ่งแยกและแก่งแย่ง

เพื่อความชัดเจน ขอยกตัวอย่างนิดหน่อย เสรีภาพที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย เน้นความหมายในแง่ของการที่บุคคลมีโอกาสที่จะนำเอาศักยภาพ เช่น สติปัญญา ความสามารถของตนออกไปเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม ซึ่งเป็นความหมายเชิงร่วมมือและเอื้อต่อกัน แต่ภายใต้อิทธิพลของทุนนิยม เสรีภาพเน้นความหมายในแง่ของการที่จะได้ผลประโยชน์ตามที่ตนปรารถนา ซึ่งเป็นไปในทางแบ่งแยกและแก่งแย่ง

ความเสมอภาค (สมภาพ หรือสมานภาพ) ที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย เน้นความหมายในแง่ของการมีส่วนร่วมอย่างเสมอหน้ากัน เช่น เสมอในสุขและทุกข์ คือร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมแก้ไขปัญหา แต่ภายใต้อิทธิพลของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ความเสมอภาคเน้นความหมายในแง่ของการเพ่งจ้องผลประโยชน์ว่า ถ้าเขาได้ ๕๐๐ ฉันก็ต้องได้ ๕๐๐ เป็นต้น ซึ่งเป็นความหมายเชิงแบ่งแยกและแก่งแย่ง

ว่าโดยสรุป สภาพเช่นนี้ก็คือการที่มนุษย์ยังไม่มีความสามารถ ที่จะประสานระบบการต่างๆ ของมนุษย์ให้เข้าถึงและสอดคล้องกับหลักความจริงของธรรมชาติได้ ถ้ามนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนี้ หลักการและระบบต่างๆ ที่มนุษย์จัดตั้ง จะต้องประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอยู่บนฐานของความจริงนี้ ความสำเร็จอยู่ที่นี่ ถ้ามิฉะนั้นจะไม่มีทางสำเร็จผลดีได้จริง และไม่ยั่งยืน

เพราะฉะนั้น การที่ระบบเศรษฐกิจการเมืองการปกครองเป็นต้นของมนุษย์จะแก้ปัญหาได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ว่ามนุษย์จะเข้าถึงตัวธรรมคือความจริงได้เพียงใด แต่ขณะนี้เป็นการพูดถึงหลักการให้เห็นว่า มนุษย์จะจัดตั้งวางระบบแบบแผนอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นจะต้องมาจากฐาน คือ การรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย แล้วจึงจัดตั้งวางระบบทางสังคมขึ้น ซึ่งจะนำมาจัดแยกเป็นระบบย่อยๆ อย่างไรก็ได้ และถ้าทำได้สำเร็จ ก็คือความสามารถพิเศษสองชั้นของมนุษย์ ที่ว่านอกจากมีปัญญาเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ คือธรรม ซึ่งนับว่าเลิศประเสริฐขั้นที่หนึ่งแล้ว ยังก้าวสู่ขั้นของวินัย ต่อไปด้วย คือสามารถเอาความรู้ในความจริงหรือธรรมนั้น มาจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคมขึ้นอย่างประสานสอดคล้องได้สำเร็จ

จะเห็นว่า กฎหมาย นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของมนุษย์หรือความประพฤติเท่านั้น แต่เป็นเครื่องกำหนดการจัดวางระบบ และกำหนดกิจการต่างๆ ของสังคมว่าจะทำอย่างไรกันด้วย เพราะฉะนั้น วินัย จึงไม่ได้มีความหมายแคบๆ อย่างในภาษาไทย คือ วินัยไม่ใช่เป็นเพียงระเบียบความประพฤติของคนเท่านั้น แต่วินัย หมายถึงระบบการจัดสรรสังคมทั้งหมด การจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ การจัดระเบียบกิจการของสังคม ซึ่งจะให้เป็นอย่างไรก็ต้องมีกติกา มีข้อกำหนดที่ให้หมายรู้ว่าจะดำเนินไปอย่างไร

เพราะฉะนั้น กฎหมาย จึงครอบคลุมความเป็นอยู่และการดำเนินกิจการทั้งหมดของสังคมมนุษย์ (ในขอบเขตของประเทศหนึ่งๆ เป็นต้น) กิจการด้านเศรษฐกิจจะดำเนินไปอย่างไร กฎหมายก็เป็นตัวบ่งบอก การปกครองจะดำเนินไปอย่างไร กฎหมายก็เป็นตัวกำหนด การดำเนินชีวิตของบุคคลจะมีขอบเขตแค่ไหน คนจะสัมพันธ์กันภายในขอบเขตอย่างไร กิจการใดจะดำเนินไปอย่างไร กฎหมายก็จะก้าวเข้าไปคุมทั้งหมด

ดังนั้น วิชากฎหมาย จึงครอบคลุมกิจกรรมทุกอย่างในการดำเนินชีวิต และกิจการทุกอย่างของสังคม และจึงมีทั้งกฎหมายที่คุมคน คุมความประพฤติของคน และกฎหมายที่วางระบบกิจการที่ดำเนินการโดยคน คือเรื่องของคนที่อยู่ในสังคมนี้กฎหมายคุมหรือครอบคลุมหมด

อย่างไรก็ตาม เท่าที่เป็นมาถึงบัดนี้ คำที่ว่า กฎหมายครอบคลุมกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์(ในสังคม)นั้น เพียงแต่ดูคล้ายจะเป็นจริงเท่านั้น แต่หาได้เป็นจริงแท้ไม่

ที่ว่าดูคล้ายจะเป็นจริง หมายความว่า เราอาจจะมีกฎหมายสำหรับกิจกรรมและกิจการทุกอย่างในสังคมมนุษย์ ครบทุกอย่าง แต่ที่ว่าไม่จริงแท้ก็คือ กฎหมายเหล่านั้นก็คุมกิจกรรมและกิจการด้านนั้นๆ แต่ละอย่างแต่ละด้านเท่านั้น เป็นเอกเทศจากกัน ยังหาได้มีกฎหมายที่เชื่อมโยงประสานกิจกรรมและกิจการทุกด้านเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในระบบอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างครอบคลุมทั่วทั้งหมดไม่

ในสังคมที่สมบูรณ์ จะต้องมีกฎหมายหรือวินัยใหญ่อันหนึ่งที่จะทำหน้าที่นี้ คือ เป็นที่ประมวลประสานระบบย่อยทุกอย่างของสังคม ให้เข้ามาอยู่ในระบบสัมพันธ์ใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งหมดอันเดียวกัน อย่างกลมกลืนและเกื้อหนุนกัน โดยโยงเข้ากับความจริงพื้นฐานอันเป็นหนึ่งเดียวของระบบแห่งธรรมดาของธรรมชาติ

รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นตัวอย่างของระบบสมมติที่ก้าวเข้ามาขั้นหนึ่งสู่การที่จะเป็นกฎหมายใหญ่ที่ครอบคลุมนี้ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมจริง

โลกยุคที่ผ่านมา เป็นโลกที่มีอารยธรรมบนฐานความคิดแบบแบ่งซอยแยกส่วน ที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการแบบชำนาญพิเศษเฉพาะทาง และการพัฒนาทั่วโลกก็อยู่ในขั้นของการเน้นความเจริญเติบโตขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การปกครองและกฎหมายต่างๆ ก็หันไปใส่ใจกับด้านเศรษฐกิจนี้มาก กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องราวและกิจกรรมด้านเศรษฐกิจจึงมีมากมายเป็นพิเศษ

แต่บัดนี้โลกได้สำนึกแล้วว่า การพัฒนาที่มุ่งวัตถุเน้นเศรษฐกิจเป็นตัวเด่นนี้เสียดุล เป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ยั่งยืน จะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่

นับว่าเป็นการถึงเวลาที่ นิติศาสตร์ จะต้องก้าวใหญ่อีกขั้นหนึ่ง สู่ขั้นของการกำหนดจัดวางระบบชีวิตและสังคมที่กว้างขวางครอบคลุม โยงประสานเกื้อหนุนกันเป็นระบบอันหนึ่งอันเดียว บนฐานแห่งปัญญาที่รู้ความจริงอย่างทั่วตลอดรอบด้าน ซึ่งจะทำให้ระบบแห่งกฎสมมติของมนุษย์ ประสานสอดคล้องถูกต้องและได้ผลจริงตามระบบแห่งกฎธรรมชาติอันจริงแท้ที่เป็นฐานอยู่อย่างแท้จริง

ในสังคมหลายยุคหลายสมัย ผู้มีอำนาจปกครองประเทศหรือสังคมนั้นๆ เป็นผู้ตรากฎหมายออกมาควบคุมให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตาม แต่การปฏิบัติเช่นนั้นบางทีก็จัดได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว พอให้ได้ผลที่จะให้สังคมมีความสงบเรียบร้อยไว้ก่อน

กฎหมายที่สมบูรณ์ตามความมุ่งหมาย ต้องการปัญญาพิเศษ ที่หยั่งรู้ความจริงแห่งเหตุปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง โยงมาสู่การจัดตั้งวางระเบียบระบบสำหรับชีวิตและสังคมอย่างประสานสอดคล้องดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่มีผู้ปกครองผู้มีปัญญาพิเศษเช่นนั้น ก็อาจต้องมีแหล่งปัญญาพิเศษดังกล่าวที่จะมาตรากฎหมายให้ผู้ปกครองบริหารกิจการไปตามนั้นอีกชั้นหนึ่ง

การมีฝ่ายนิติบัญญัติแยกจากฝ่ายบริหาร ในระบอบประชาธิปไตยอย่างปัจจุบัน อาจถือได้ว่าเป็นพัฒนาการขั้นหนึ่งในวิถีทางที่กล่าวนี้ แต่ก็จะต้องถามว่า บุคคลหรือคณะบุคคลผู้มาร่วมกันทำหน้าที่เช่นนั้น มีการพัฒนาที่จะทำให้เป็นผู้มีปัญญาพิเศษดังกล่าวนั้นแล้วหรือไม่ ถ้ายัง สังคมจะต้องมุ่งที่จะก้าวต่อไปสู่จุดหมายนั้นให้ได้

กล่าวโดยสรุป กิจทางปัญญาอันยิ่งใหญ่ที่นักนิติศาสตร์จะต้องทำให้ได้มี ๒ อย่างคือ

๑) รู้เข้าใจหยั่งทราบถึงจุดหมายที่แท้จริงตามกฎธรรมชาติ ที่อยู่เบื้องหลังระบบแห่งสมมติทั้งหมดของมนุษย์

๒) จัดตั้งวินัยหรือกฎหมายที่มีขอบข่ายครอบคลุม ที่จะประสานระบบสมมติของมนุษย์ทุกอย่างเข้าเป็นระบบใหญ่อันหนึ่งอันเดียว ที่โยงถึงกันทั่วทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับระบบความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวของธรรมชาติ

กฎหมายเพื่อสังคมมนุษย์ จะไม่สมจริง
ถ้าหยั่งไม่ถึงความจริง แห่งธรรมชาติมนุษย์

ขอย้ำว่า “วินัย” มีความหมาย ๓ ชั้น
ชั้นที่ ๑ คือ การจัดตั้งวางระเบียบชีวิต และวางระบบกิจการ
ชั้นที่ ๒ คือ ข้อกำหนดที่บอกให้รู้ว่าจะจัดตั้งวางระเบียบระบบให้เป็นอย่างไร
ชั้นที่ ๓ คือ  ก) การใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น เป็นเครื่องมือสร้างเสริมโอกาสให้คนพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น หรือการชักนำดูแลให้คนใช้ระเบียบและระบบนั้นเป็นเครื่องมือ(ที่จะช่วยกันทำให้สังคมเป็นแหล่งอำนวยโอกาสในการ)พัฒนาชีวิตของตน หรือ
ข) การใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น เป็นเครื่องมือบังคับควบคุมคนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือการบังคับควบคุมคนให้เป็นอยู่และประพฤติปฏิบัติดำเนินกิจการตามระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น

ความหมายของ “วินัย” ที่เราเข้าใจกันมาก คือความหมายที่ ๒ ได้แก่ระเบียบแบบแผนที่บอกว่าจะให้จัดตั้งวางระบบอย่างไร หรือข้อกำหนดที่เป็นแม่บทในการจัดตั้ง

ตัวอย่างเช่น พระมาอยู่ร่วมกัน ต้องมีวิธีแสวงหาและการจัดสรรแบ่งปันปัจจัยสี่ คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

ในเรื่องนี้วินัยก็จะบอกว่า พระภิกษุมีวิธีที่จะได้มาและจัดสรรแบ่งปันปัจจัยสี่กันอย่างไร เมื่อมีใครมานิมนต์พระ จะให้ใครเป็นผู้ทำหน้าที่ในการบอกให้พระรูปไหนไป และจะจัดอย่างไร เช่น จะให้ใครไปก่อนไปหลัง ปัจจัยสี่ อย่างไหนพระภิกษุจะเก็บสะสมได้หรือไม่ได้ เก็บได้มากเท่าใดและนานเท่าไร จะเก็บอย่างไร ใครจะเป็นผู้เก็บ เมื่อมีการขัดแย้งกันขึ้น หรือมีพระทำความผิด จะดำเนินคดีอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น นี่คือเรื่องของวินัยในความหมายที่สอง ซึ่งตรงกับ กฎหมาย

ความหมายของวินัยอย่างที่ ๓ ก็คือ การปกครอง วินัยในความหมายนี้เป็นเรื่องของการปกครอง เพราะการดูแลให้บุคคลเป็นอยู่ประพฤติปฏิบัติตามกฎกติกาและให้กิจการต่างๆ ดำเนินไปตามครรลอง ก็คือการปกครองในความหมายที่ครอบคลุมทั้งหมด ต่อจากนั้นจึงแยกออกเป็นรายละเอียดในการบริหาร ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องมีการจัดดำเนินการที่เป็นงานรวม เพื่อให้หมู่ชนหรือสังคมดำเนินไปอย่างใดอย่างหนึ่ง อันได้แก่ การปกครอง

โดยนัยนี้ คำว่า วินัย จึงมีความหมายกว้าง และไปโยงกับที่ได้กล่าวถึงในตอนแรกว่า กฎหมายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปกครองมาก เพราะวินัยเอง จะแปลว่า การปกครองก็ได้

วินัย นั้น โดยรากศัพท์ แปลว่า การนำไปให้วิเศษ มาจาก วิ แปลว่า ให้วิเศษ และ นี ตัวเดียวกับใน “นีติ” แปลว่า นำ รวมกันเป็น “วินัย” แปลว่าการนำไปให้วิเศษ หมายความว่า ทำให้คนมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น และทำให้กิจการต่างๆ ดำเนินไปด้วยดี เป็นความหมายทั้งในระดับบุคคลและสังคม เป็นได้ทั้งกฎหมายและการปกครอง ที่จะจัดสรรให้เกิดความเรียบร้อยดีงามขึ้นในสังคมมนุษย์

(ถ้าเป็นกฎหมาย ก็แปลว่าเครื่องนำไปให้วิเศษ ถ้าเป็นการปกครอง ก็แปลว่าการนำไปให้วิเศษ)

จึงพูดได้ว่า ในที่สุดแล้ว เรื่องของกฎหมายและการปกครอง หรือเรื่องของวินัย ก็คือ การจัดการให้เกิดความเรียบร้อยหรือมีสันติสุขขึ้นในสังคม นี้เป็นความหมายของวินัยในระดับหนึ่ง

แต่แท้จริง สิ่งนี้คือจุดหมายของวินัย หรือกฎหมายและการปกครอง จริงหรือไม่ จุดหมายของนิติศาสตร์ คืออะไรแน่?

ถ้ามองในแง่ของวินัย ตามความหมายของพระพุทธศาสนา ความสงบเรียบร้อยอยู่กันด้วยดีในสังคม ยังมิใช่เป็นจุดหมาย ทำไมจึงยังไม่ใช่ ถ้ามองเผินๆ ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการปกครองโดยมีกฎหมาย วางระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมา ก็เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี โดยสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้น การมีความสงบก็น่าจะเป็นการบรรลุจุดหมาย แต่แท้จริงความสงบเรียบร้อยในสังคมนั้นเราถือว่าเป็นปัจจัย ไม่ใช่เป็นจุดหมาย

ความสงบเรียบร้อยของสังคมไม่ใช่เป็นจุดหมาย ถ้าจะให้ได้คำตอบต้องถามต่อไปว่า ทำไมจึงต้องมีวินัย?

ได้พูดแล้วว่า การมีวินัยสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของสงฆ์ คือ สังฆะหรือชุมชนของพระภิกษุ หรือพระสงฆ์ทั้งหลายที่มาอยู่ร่วมกัน

ทำไมจึงเกิดสงฆ์? ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตั้งสังฆะขึ้นมา เรื่องนี้โยงไปถึงธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เห็นว่าจุดมุ่งหมายของการมีการปกครอง มีกฎหมาย มีระเบียบกฎเกณฑ์กติกาของสังคมนั้น เพื่ออะไร

ในการจัดตั้งหรือจัดสรรสังคม เรามองธรรมชาติของมนุษย์อย่างไร? ถ้าเรามองโยงลงไปไม่ถึงธรรมชาติของมนุษย์ ศาสตร์ทั้งหลายจะไม่เกิดประโยชน์แก่มนุษย์ได้จริง

ศาสตร์ทุกศาสตร์จะต้องหยั่งลงไปถึงธรรมชาติของมนุษย์ และจะต้องตั้งอยู่บนฐานของปัญญาที่เข้าใจความจริงตั้งแต่ธรรมชาติของมนุษย์ เพราะว่าในที่สุดนั้น การจัดตั้งวางระบบทุกอย่างเราทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ ถ้าไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เราก็ไม่รู้ว่ามนุษย์จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม เขาต้องการอะไร และเราควรจะทำอะไรให้เขา

ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติหรือความจริงแห่งชีวิตของมนุษย์ สิ่งที่เราทำให้เขานั้น แทนที่จะเป็นประโยชน์ อาจจะกลายเป็นโทษเป็นพิษภัยแก่เขาก็ได้ ทั้งที่เราอาจจะมีเจตนาดีก็ตาม

จุดหมายของสังคม คือจุดหมายของกฎหมาย
แต่สุดท้าย จุดหมายของกฎหมายต้องสนองจุดหมายของชีวิตคน

ทีนี้ กลับไปสู่คำถามขั้นรากฐานว่า พระพุทธศาสนามองธรรมชาติของมนุษย์อย่างไร? พระพุทธศาสนามองมนุษย์ว่า เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คือทั้งต้องฝึกและฝึกได้ ถ้าใช้ศัพท์ภาษาสมัยใหม่ก็ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา และศึกษาได้

นี้คือธรรมชาติของมนุษย์ที่แปลกจากสัตว์อื่น สัตว์ชนิดอื่นนั้น ไม่ต้องฝึกแต่ก็ฝึกไม่ได้ ไม่ต้องฝึก หมายความว่า เมื่อเกิดมาก็มีชีวิตอยู่รอดได้ง่าย โดยแทบไม่ต้องฝึก ไม่ต้องเรียนรู้ ไม่ต้องศึกษาอะไร เพราะอาศัยสัญชาตญาณช่วย ออกจากท้องแม่ ๒ นาทีอาจจะเดินได้เลย ถ้าเป็นห่านก็ออกจากไข่ตอนเช้า บ่ายก็ตามแม่ไปลงสระน้ำ ว่ายน้ำได้ หากินได้โดยไม่ต้องฝึก สัตว์เหล่านั้นอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษในแง่ที่ว่า ถ้าไม่มีการฝึกฝน ไม่มีการเรียนรู้แล้ว อยู่ไม่ได้ อยู่ไม่รอด

มนุษย์เกิดขึ้นมาแล้วไม่สามารถอยู่รอดด้วยตนเอง เมื่อเกิดมาแล้วต้องมีผู้อุ้มชูเลี้ยงดู โดยเฉพาะพ่อแม่ เลี้ยงดูไปเป็นปีๆ ก็ยังอยู่ไม่รอด ต้องเลี้ยงดูไปหลายปีจนเขาสามารถดำเนินชีวิตได้ ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยงดูเขานั้น เขาทำอะไร นี่คือสิ่งสำคัญ สิ่งที่เขาทำคือการเรียนรู้ และฝึกศึกษาพัฒนาตัวเอง

ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยง เด็กก็เรียน เขาต้องเรียนทุกอย่างเพื่อให้ดำเนินชีวิตได้ ไม่ว่าจะนั่ง จะกิน จะนอน จะขับถ่าย ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกต้องหัดทั้งสิ้น คือต้องศึกษานั่นเอง ถ้าไม่เรียนรู้ไม่ฝึกฝนเขาจะทำไม่ได้สักอย่างและอยู่ไม่รอด กว่าจะเรียนรู้ในการเดิน การพูด เด็กบางคนใช้เวลาเกือบ ๒ ปี จึงเดินได้ พูดได้

โดยนัยนี้ การดำเนินชีวิตของมนุษย์จึงไม่ใช่ได้มาเปล่าๆ มนุษย์ต้องลงทุนด้วยการศึกษา เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา จึงพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก แต่การที่ต้องฝึกนี้มองอีกด้านหนึ่งก็เป็นข้อดีของมนุษย์ คือ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ส่วนสัตว์ชนิดอื่นนั้นไม่ต้องฝึกก็จริง แต่มันฝึกไม่ได้ ที่จริงไม่ถึงกับฝึกไม่ได้เลย แต่ฝึกได้น้อยอย่างยิ่ง เรียนรู้ได้จำกัด เรียนรู้ได้นิดหน่อย และส่วนใหญ่ถ้าจะฝึกต้องให้มนุษย์ฝึกให้ ส่วนมนุษย์นี้มีความสามารถพิเศษที่ฝึกตนเองได้ เรียนรู้ด้วยตนเองได้ ถ้ามนุษย์ฝึกตนแล้วก็พัฒนาได้แทบไม่มีที่สิ้นสุด ฝึกอย่างไรก็ได้อย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างไรก็ฝึกเอา

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงพัฒนาตนจนกระทั่งทิ้งสัตว์ชนิดอื่นทั้งหมด มนุษย์สามารถสร้างโลกของมนุษย์ขึ้นมาต่างหากจากโลกของธรรมชาติ ไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นที่ต้องอยู่ในธรรมชาติตลอดชีวิต เกิดมาด้วยสัญชาตญาณใดก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณนั้น มนุษย์นี้เกิดมาแล้ว ก็ฝึกศึกษาพัฒนา เรียนรู้ก้าวหน้าไปไม่มีที่สิ้นสุด สร้างสรรค์อารยธรรมสืบต่อกันได้ จากมนุษย์รุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน ต่อไปเรื่อยๆ

ธรรมชาติของมนุษย์มีความพิเศษอยู่ตรงนี้ คือการที่มนุษย์สามารถมีชีวิตที่ดีงามเป็นเลิศได้ ด้วยการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนา แต่พูดย้อนกลับว่า มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามเป็นเลิศได้ จะต้องเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนา เพราะฉะนั้น มนุษย์เรานี้จึงถือว่า เป็น “สัตว์ที่ต้องศึกษา” และจึงวางเป็นหลักได้ว่า ชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ คือชีวิตแห่งการศึกษา พระพุทธศาสนาถือคตินี้ สอดคล้องกับการที่มนุษย์มีธรรมชาติอย่างนี้

เราต้องการให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม แต่มนุษย์จะต้องเรียนรู้ ฝึกศึกษา พัฒนาตัวเอง ดังนั้น จึงเข้ามาสู่ระบบของพระพุทธศาสนาในเรื่องของการโยง ธรรม กับ วินัย

มนุษย์เรียนรู้เพื่อเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ คือ ธรรม ถ้ามนุษย์รู้เหตุปัจจัยที่เป็นความจริงในระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย มนุษย์ก็จะกระทำการต่างๆ ได้ผลตามที่ตนต้องการแทบทุกอย่าง เช่น จะกินผลไม้ ก็ไม่ต้องรอเดินไปกินที่ต้นในป่า แต่สามารถเอาเม็ดมาปลูกให้มีต้นไม้ที่บ้านได้

ความสามารถสร้างสรรค์ทำสิ่งต่างๆ ขึ้นมามากมายนั้น เกิดจากการเรียนรู้ ฝึก ศึกษา พัฒนาของมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาให้เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ และเอาประโยชน์จากความรู้นั้นให้ได้ แล้วด้วยการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาโดยใช้ความรู้นี้ มนุษย์ก็จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงามขึ้นมาได้

ชีวิตและสังคมดีงาม ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ด้วยการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนของมนุษย์นี้ จึงเป็นจุดหมายแห่งกิจกรรมและกิจการทั้งหลายของมนุษย์

แต่การที่คนทั้งหลายผู้มาอยู่รวมกันจะเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนให้สามารถสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงามขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องมีชีวิตที่ปลอดภัยและสังคมที่อยู่กันสงบเรียบร้อยเป็นสภาพเอื้อหรือเกื้อหนุน และนี่แหละคือจุดที่การปกครองและกฎหมายเข้ามา คือ สังคมต้องมีวินัย ทั้งในแง่ของการปกครอง และกฎหมาย เพื่อสร้างสรรค์ความสงบเรียบร้อย อันเป็นสภาพเอื้อที่จะช่วยให้คนทั้งหลายพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปให้สามารถบรรลุจุดหมายแห่งการมีชีวิตที่ดีงาม มีสันติสุขและเป็นอิสระได้ จนเข้าถึงประโยชน์สุขที่สูงสุด

วินัย / กฎหมาย เป็นเครื่องจัดสรรให้เกิดโอกาส
ที่จะเป็นฐานของการพัฒนาสู่การสร้างสรรค์ที่สูงขึ้นไป

ได้เคยพูดไว้ที่อื่นแล้วว่า วินัยเป็นเครื่องจัดสรรให้เกิดโอกาส จึงขอยกมาอ้าง ณ ที่นี้ด้วย ดังนี้

“. . .วินัยเป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระบบระเบียบ และมีโอกาสเกิดขึ้น ทำให้ทำอะไรๆ ได้คล่อง ดำเนินชีวิตได้สะดวก ดำเนินกิจการได้สะดวก ถ้าชีวิตและสังคมไม่มีระเบียบ ไม่เป็นระบบ ก็จะสูญเสียโอกาสในการที่จะดำเนินชีวิตและทำกิจการของสังคมให้เป็นไปด้วยดี ตลอดจนทำให้การพัฒนาได้ผลดี

ทำไมจึงต้องจัดระเบียบ ทำไมจึงต้องมีวินัย?

ถ้าชีวิตวุ่นวาย การเป็นอยู่ของมนุษย์สับสนหาระเบียบไม่ได้ โอกาสในการดำเนินชีวิตก็จะหายไป เช่นในที่ประชุมนี้ ถ้าเราไม่มีระเบียบเลย โต๊ะเก้าอี้ก็วางเกะกะทั่วไป คนก็เดินกันไปเดินกันมา อาตมภาพพูดนี่ก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง สับสน แม้แต่เมื่ออยู่ในบ้านของเรา ถ้าสิ่งของตั้งวางไม่เป็นระเบียบ กระจัดกระจายอยู่ตรงโน้นตรงนี้ แม้แต่จะเดินก็ยาก เดินไปก็เตะโน่น ชนนี่ กว่าจะถึงประตูก็เสียเวลาตั้งหลายนาที แต่พอเราจัดของให้เป็นระเบียบ ตกลงกันว่า ตรงนี้เป็นทางเดินก็เว้นไว้ เป็นช่องว่าง เราเดินพรวดเดียวก็ถึงประตู ทำให้สะดวกรวดเร็ว

กิจการต่างๆ ต้องมีระเบียบ หรือต้องอาศัยวินัยมาจัดสรรโอกาสทั้งนั้น ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น เมื่อแพทย์จะผ่าตัด ศัลยแพทย์จะต้องการวินัยมาก จะต้องจัดระเบียบเครื่องมือที่ใช้ตามลำดับการทำงานอย่างเคร่งครัดทีเดียว ต้องตกลงกันไว้ก่อนว่า ขั้นตอนใดจะใช้เครื่องมือไหน และส่งเครื่องมือให้ถูกต้อง คนนี้ยืนตรงนี้ จังหวะนี้ ถึงเวลาไหนส่งเครื่องมืออันไหน เพราะอยู่ในช่วงของความเป็นความตาย พยาบาลที่จัดเตรียมเครื่องมือ ต้องพร้อมและต้องจัดให้ถูกลำดับทุกอย่าง ผิดนิดไม่ได้ เพราะงานนั้นต้องเป็นไปตามเวลาที่จำกัด ฉะนั้นในกิจการที่ยิ่งมีความสำคัญ มีความซับซ้อน มีความเป็นความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง วินัยจะยิ่งต้องมีความเคร่งครัดแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ในสังคมวงกว้างออกไป ถ้าชีวิตคนไม่ปลอดภัย สังคมไม่มีความเป็นระเบียบ มีโจร มีขโมย มีการทำร้ายกัน เราจะไปไหนเวลาไหน ก็ไม่สะดวก เพราะกลัวว่าถ้าไปเวลานี้ หรือผ่านสถานที่จุดนั้นแล้ว อาจจะถูกทำร้ายได้ เมื่อคนไม่กล้าเดินทาง มีความหวาดระแวง กิจการงานของสังคมและการดำเนินชีวิตของบุคคลก็หมดความคล่องตัว ทำให้ขัดข้องไปหมด

โดยนัยนี้ วินัยจึงช่วยจัดทำให้เกิดระบบระเบียบในชีวิตและสังคมขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัว จะทำอะไรต่ออะไรก็ได้ผล ฉะนั้น การจัดวางวินัยจะต้องคำนึงถึงความมุ่งหมายนี้อยู่เสมอ เช่นต้องตรวจสอบว่า การจัดวางวินัยของเรามีความมุ่งหมายชัดเจนหรือไม่ ที่จะช่วยให้ชีวิตและกิจการงานเป็นไปได้ด้วยดี เกิดมีโอกาส และทำให้มั่นใจว่า เมื่อเราจัดระบบระเบียบเรียบร้อยดีแล้ว โอกาสในการพัฒนาชีวิตจะเกิดขึ้น ความเป็นอยู่และกิจการต่างๆ จะเป็นไปด้วยความคล่องตัว นำไปสู่จุดหมายดีงามที่ต้องการ

ในการพัฒนามนุษย์ระยะยาว ถ้าไม่มีวินัยเป็นฐาน ก็จะทำให้เกิดความขัดข้องวุ่นวายสับสน ฉะนั้นเราจึงจัดวางวินัยเพื่อความมุ่งหมายระยะยาวในการพัฒนามนุษย์ด้วย และด้วยเหตุนี้วินัยจึงเป็นเรื่องสำคัญในสังคมประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องการโอกาสเหล่านี้ ในการที่จะให้มนุษย์มาสื่อมาแสดงออก เพื่อนำเอาศักยภาพของตัวเองออกมาร่วมในการสร้างสรรค์สังคมอย่างได้ผล

สรุปว่า วินัยมีความหมายเชิงบวก คือ เป็นการจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผล มีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย” (วินัย: เรื่องที่ใหญ่กว่าที่คิด, น. ๑๕-๑๗)

เมื่อประชาชนเป็นอยู่โดยมีชีวิตร่างกายปลอดภัย ครอบครัวมั่นคง ทรัพย์สินไร้อันตราย ไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องหวาดระแวง จะดำเนินกิจการใดก็มั่นใจ ไม่ต้องกลัวถูกฉกฉวยผลหรือข่มเหงเอาเปรียบ ก็นับว่าสังคมมีความสงบเรียบร้อยแล้ว

กระนั้นก็ตาม สังคมที่ดีจะไม่หยุดเพียงเท่านั้น แต่จะต้องมีมาตรการทางการปกครองและกฎหมายมาเอื้อโอกาสส่งเสริมสนับสนุน ช่วยให้ประชาชนผู้ทำการอาชีพ หรือประกอบกิจกรรมและดำเนินกิจการต่างๆ ที่ดีงามสุจริต มีกำลังใจและตั้งใจทำงานสร้างสรรค์ ฝึกปรือฝีมือและความจัดเจนชำนิชำนาญในการงานวิชาชีพของตนๆ พัฒนาความสามารถที่จะสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมและกิจกรรมที่เป็นคุณประโยชน์ให้เจริญแพร่หลาย ทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมทางวัตถุและทางสังคมที่ผาสุกสบาย เอื้อต่อการเข้าถึงความดีงามและความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป

ท่ามกลางความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมที่มีความพรั่งพร้อมเอื้ออำนวยทางเศรษฐกิจและทางสังคมเช่นนี้ วินัย ทั้งด้านการปกครองและกฎหมาย หรือทั้งด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จะต้องเน้นมาตรการที่จะส่งเสริมกิจกรรมและกิจการทางด้านศิลปวัฒนธรรม ทางศีลธรรม ทางศาสนา และคุณค่าทางจิตใจต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาด้านคุณธรรม ใฝ่ในอุดมคติทางนามธรรม และเข้าถึงความดีงามและความสุขทางจิตใจที่สูงหรือประณีตยิ่งขึ้นไป ทั้งเพื่อประโยชน์สุขแห่งชีวิตของประชาชน และเพื่อความมั่นคงยั่งยืนแห่งพัฒนาการทางเศรษฐกิจและทางสังคมนั้นด้วย

พร้อมกันนั้นก็ให้มีมาตรการทางวินัย ทั้งด้านการปกครอง และกฎหมาย ที่จะส่งเสริมการค้นคว้าแสวงปัญญา และกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาของประชาชน เพื่อให้ชีวิตเข้าถึงความดีงามความเป็นเลิศความสุขและอิสรภาพที่แท้จริง และนำทางอารยธรรมสู่ความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

ถ้าพูดสั้นๆ ด้วยภาษาแห่งไตรสิกขา ก็คือการใช้มาตรการทางวินัย (ทั้งการปกครองและกฎหมาย) มาช่วยสร้างสภาพเอื้อและส่งเสริมประชาชนให้พัฒนา ทั้งในด้านพฤติกรรม (โดยเฉพาะสัมมาอาชีวะ และอนวัชชกรรม คือกิจกรรมสร้างสรรค์) ในด้านจิตใจ และในทางปัญญา

วินัย / กฎหมายช่วยจัดสรรสังคมดี ที่เอื้อให้คนงอกงามมีชีวิตที่ดี
คนยิ่งงอกงามมีชีวิตที่ดี ก็ยิ่งหนุนสังคมดีที่คนจะมีชีวิตงอกงาม

ชีวิตมนุษย์มี ๓ ด้าน คือ ด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา ซึ่งดำเนินไปด้วยกัน และสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน แยกขาดจากกันไม่ได้

พฤติกรรม ที่แสดงออกทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี เป็นส่วนที่ปรากฏออกมาในการติดต่อกับสภาพแวดล้อมทั้งทางวัตถุและทางสังคม แต่เบื้องหลังพฤติกรรมนั้นก็คือ เจตนา ความตั้งใจและแรงจูงใจ ภายในจิตใจ ซึ่งเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่จะแสดงออกมาเพื่อสนองความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งในจิตใจนั้น และพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นจะมีลักษณะอาการอย่างไร ก็เป็นไปตามสภาพจิตใจ เช่นความรู้สึกสบายใจไม่สบายใจเป็นต้นของเขา

นอกจากนั้น พฤติกรรมของเขาจะตื้นเขินคับแคบ หรือดำเนินไปอย่างลึกซึ้งซับซ้อนในขอบเขตกว้างขวาง มีประสิทธิภาพที่จะสนองความต้องการของตนเองอย่างได้ผลหรือไม่เพียงใด ก็ย่อมขึ้นต่อความรอบรู้ ความเข้าใจและความเฉลียวฉลาดคือปัญญาของเขา พฤติกรรมจึงแยกออกไม่ได้จากจิตใจและปัญญา

จิตใจ ก็อาศัยพฤติกรรม เช่น จิตใจจะมีความสุขเมื่อมีพฤติกรรมที่ดำเนินไปได้ตามความต้องการ หรือได้ทำพฤติกรรมที่ถูกใจ แต่ถ้าต้องทำพฤติกรรมที่ไม่ปรารถนา ก็จะฝืนใจ มีความทุกข์ ถ้าได้ทำพฤติกรรมที่ชอบหรือเคยชิน ก็ชอบใจสบายใจ แต่ถ้าพฤติกรรมนั้นถูกขัดขวางปิดกั้น ก็ไม่ชอบใจ โกรธหรือเกิดความทุกข์

พร้อมกันนั้น จิตใจก็เป็นไปตามปัญญา ถ้าคิดนึกหรือประสบสถานการณ์ใดแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร จะเอาอย่างไรกับมัน จิตใจก็จะอึดอัดขัดข้อง เกิดความรู้สึกบีบคั้นกดดันเป็นทุกข์ แต่ไม่ว่าในสถานการณ์ใด หรือต่อประสบการณ์ใด ถ้ารู้เข้าใจว่ามันคืออะไร เป็นอย่างไร มองเห็นชัดโล่งไปว่าจะปฏิบัติหรือจัดการกับมันได้อย่างไรแล้ว จิตใจก็โปร่งโล่งสุขสบาย ถ้ามีทุกข์อยู่ก็พ้นหายหมดทุกข์ไป เมื่อเห็นคนอื่นหน้าตาบึ้ง พูดจาหรือมีกิริยาอาการไม่สุภาพ จิตใจก็รู้สึกโกรธขัดเคือง แต่พอรู้ว่า คนนั้นเขามีปัญหา มีความกดดันในใจจากแรงบีบคั้น เช่นขาดเงินหรือกำลังกลุ้มใจเรื่องครอบครัวเป็นต้น พอรู้ขึ้นมาเกิดปัญญาแล้ว จิตใจก็หายโกรธเคือง กลายเป็นสงสารเห็นใจอยากเข้าไปช่วยเหลือ จิตใจจึงแยกกันไม่ได้กับพฤติกรรมและปัญญา

ปัญญาก็เช่นกัน จะพัฒนาหรือทำงานได้ผลดี ก็ต้องอาศัยจิตใจและพฤติกรรม ถ้าจิตใจอ่อนแอเหนื่อยหน่ายเฉื่อยชา เจอปัญหาก็ไม่สู้ ไม่พยายามคิดหาทางแก้ไข ปัญญาก็ไม่พัฒนา หรือจะพิจารณาศึกษาอะไร จิตใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ก็คิดไม่ออกหรือมองไม่ชัด แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็ง มีความเพียรแรงกล้า เจอปัญหาก็สู้ พยายามคิดหาทางแก้ไข ปัญญาก็พัฒนาได้ดี ยิ่งจิตใจนั้นเป็นสมาธิ สงบมั่นคงแน่วแน่ ไม่มีอะไรกวนได้ ก็ยิ่งคิดได้ชัดเจนมองเห็นสว่างโล่ง

พร้อมกันนั้น ในการแสวงปัญญา ก็ต้องใช้พฤติกรรมเกื้อหนุน และเป็นเครื่องมือ เช่นต้องเดินไปยังแหล่งข้อมูล ต้องดำเนินการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล ต้องรู้จักดู รู้จักฟัง รู้จักสัมผัส ต้องรู้จักเข้าหาผู้คน รู้จักพูดจา ถ้าพูดจาสุภาพ รู้จักตั้งคำถาม รู้จักพูดให้กระชับตรงประเด็น และโต้ตอบเป็น เป็นต้น การแสวงปัญญาก็ได้ผลดี ฯลฯ โดยนัยนี้ ปัญญาก็สัมพันธ์กับจิตใจและพฤติกรรม

การจัดการหรือจัดดำเนินการให้ระบบความเป็นไปของชีวิตทั้ง ๓ ด้าน คือพฤติกรรม จิตใจ และปัญญานี้ สัมพันธ์กันในลักษณาการที่ทำให้ชีวิตดีงาม เป็นอยู่อย่างได้ผลยิ่งขึ้น นี่แหละ คือการเรียนรู้ การฝึก หรือการพัฒนาชีวิต ที่เรียกว่า สิกขา หรือการศึกษา และเพราะเป็นการพัฒนาหรือศึกษาอย่างเป็นระบบครบ ๓ ด้านไปด้วยกัน จึงเรียกว่า ไตรสิกขา

จิตใจ และปัญญา เป็นเรื่องภายใน เป็นส่วนเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล แต่พฤติกรรมเป็นชีวิตด้านที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับโลกภายนอก ทั้งกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในสังคม และกับวัตถุทั้งหลาย เราสามารถใช้พฤติกรรมเป็นสื่อในการเข้าถึงจิตใจและปัญญา การพัฒนาพฤติกรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาจิตใจและปัญญา

ในทางกลับกัน พฤติกรรมก็เป็นสื่อหรือเป็นแดนที่แสดงออกของจิตใจและปัญญา ถ้าจิตใจและปัญญาได้มีการพัฒนาอย่างดี ก็จะทำให้คนมีพฤติกรรมที่ดีงามเกื้อกูล ดังนั้น พฤติกรรมของคนจะเป็นไปในทางเบียดเบียนบั่นทอนสังคม หรือเป็นไปในทางที่ส่งเสริมเกื้อหนุนต่อความเป็นอยู่และกิจการที่ร่วมกัน ก็อยู่ที่ว่าจิตใจและปัญญาได้รับการพัฒนาหรือไม่เพียงใด

วินัย เอาพฤติกรรมเป็นจุดเชื่อมโยงเข้าสู่ไตรสิกขาในตัวคน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า วินัยเชื่อมโยงกับระบบไตรสิกขาที่พฤติกรรมคือด้านศีลของคน

อาจพูดด้วยอีกสำนวนหนึ่งว่า วินัย คือการจัดระบบพฤติกรรม หรือการจัดระบบชีวิตและสังคมที่จะส่งเสริมพฤติกรรมของคน เพื่อช่วยให้เขาพัฒนาในไตรสิกขา

จากจุดเริ่มที่พฤติกรรม เมื่อประชาชนได้อาศัยสภาพแวดล้อมแห่งระบบชีวิตและสังคมที่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาชีวิตของตน และได้พัฒนาทางด้านจิตใจและปัญญามากขึ้น ตัวเขาเองก็จะมีชีวิตที่ดีงามมีความสุขมากยิ่งขึ้น พร้อมกับที่ภาวะที่พัฒนาแล้วทางด้านจิตใจและปัญญานั้น ก็จะส่งผลออกมาทางด้านพฤติกรรม ทำให้เขามีพฤติกรรมที่พึงปรารถนา ซึ่งประณีตเกื้อกูลหนุนเสริมสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อโอกาสต่อการพัฒนาชีวิตของเพื่อนมนุษย์ โดยที่ตัวเขาเองจะเป็นผู้ปกครองตนเองได้ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเป็นข้อหมายรู้ร่วมกัน ทำให้วินัย ไม่ว่าจะในความหมายของระเบียบระบบที่จัดตั้งก็ตาม ข้อกำหนดในการจัดตั้งคือกฎหมายก็ตาม หรือการจัดการให้เป็นไปตามระเบียบระบบนั้นคือการปกครองก็ตาม ได้ผลตามความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง อย่างมั่นคงยั่งยืน

นิติศาสตร์ เกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมของมนุษย์ หมายความว่า พฤติกรรมหรือชีวิตด้านศีล เป็นแดนสัมพันธ์ของนิติศาสตร์ แต่การจัดสรรด้านพฤติกรรมหรือศีลอย่างเดียว ไม่เพียงพอแก่การสร้างสรรค์และดำรงรักษาอารยธรรมของมนุษยชาติ

การที่นิติศาสตร์ใช้ศีลหรือพฤติกรรมเป็นแดนเชื่อมโยงส่งผลเข้าสู่แดนแห่งจิตใจและปัญญา ทำให้เกิดการพัฒนาคนอย่างเต็มทั้งระบบ โดยสื่อสมมติสู่ตัวธรรมอันเป็นความจริงแท้ในธรรมชาติให้สำเร็จได้ นี่ต่างหากที่เป็นคุณค่าที่แท้จริงของนิติศาสตร์

ถ้าการปกครองและกฎหมายขาดจุดหมายในการพัฒนามนุษย์ คือการปกครองและกฎหมายนั้นไม่เป็นเครื่องมือสื่อสิกขา พอสังคมสงบเรียบร้อยและมีความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ความลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมา ความเฉื่อยชาประมาท และความขัดแย้งในหมู่ชนก็จะแพร่หลายขยายตัว ต่อจากนั้น สังคมก็จะเลื่อนไหลลงไปในกระแสแห่งความเสื่อม หรือวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความเจริญแล้วก็เสื่อม เช่นเดียวกับอารยธรรมเก่าๆ เช่น กรีก และโรมัน เป็นต้น ที่ล่มสลายไปแล้วในอดีต

เรื่องนี้จะต้องสำนึกตระหนักกันให้มาก เพราะสังคมที่เจริญขึ้นในทางเศรษฐกิจที่พรั่งพร้อมและความเป็นอยู่ที่สงบเรียบร้อยมั่นคงถึงระดับหนึ่งแล้ว ความโน้มเอียงที่จะประมาทมัวเมาจะแรงเข้มมาก จนแม้แต่จะมีมาตรการในการพัฒนาทางจิตปัญญาอยู่ ก็ยังยากที่จะชูสังคมนั้นขึ้นไว้ได้

ย้อนมาดูการจัดตั้งสังฆะ ในฐานะเป็นสังคมที่เกิดจากวินัยเป็นตัวอย่าง ดังที่กล่าวแล้วว่า มนุษย์จะได้ผลดีจากกฎธรรมชาติได้ก็โดยที่มีการจัดตั้ง เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเข้าถึงความจริงในกฎธรรมชาติ รู้ความจริงนั้นแล้ว ทรงเห็นว่ามนุษย์จะได้ประโยชน์ เขาจะมีชีวิตที่ดีงามถ้าเขาเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาตัวเองให้เข้าถึงธรรม และเอาความรู้ในธรรม หรือในกฎธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นไป

แต่ทำอย่างไรจึงจะให้ประโยชน์นี้เกิดเป็นผลแก่หมู่มนุษย์จำนวนมาก ก็จึงต้องจัดตั้งขึ้นมาเป็นสังฆะ เพื่อคนที่ต้องการจะฝึกศึกษาพัฒนาตัวเองนั้น จะได้มีสภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม ระบบการอยู่ร่วมกัน บรรยากาศและโอกาส ที่เอื้อเกื้อหนุนต่อการเรียนรู้ ฝึก ศึกษา พัฒนาของเขา เช่นการที่จะได้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดและเรียนรู้จากพระพุทธเจ้า หรือจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูงกว่าตน หรือหมู่บุคคลที่มีความต้องการและระดับการเรียนรู้อย่างเดียวกัน ใฝ่ในการฝึกฝนพัฒนา จะได้มาเกื้อกูลต่อกันด้วยการปรึกษาสังสรรค์ เป็นต้น

โดยนัยนี้จึงเกิดมี สังฆะ ขึ้นมาเป็นชุมชนแห่งการศึกษา เพื่อให้คนที่ต้องการเข้าถึงธรรมและได้ประโยชน์จากธรรม จะได้มีโอกาสเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาดังกล่าวแล้ว และเป็นศูนย์กลางที่บุคคลภายนอกที่ต้องการเรียนรู้จะเข้ามาหาในฐานะเป็นแหล่งของการศึกษา และพร้อมกันนั้น พระที่มีความรู้ ได้เล่าเรียนสูงขึ้นไปหรือเข้าถึงธรรมแล้ว ก็จะออกจากศูนย์กลางนี้ ไปให้ความรู้เพื่อการศึกษาของประชาชน

นี้คืองานของวินัย ที่ทำให้มีการจัดตั้งขึ้นเป็นสังฆะ โดยมีหลักแหล่งที่เรียกว่า วัด ซึ่งก็คือชุมชนที่เป็นแหล่งแห่งการศึกษานั่นเอง

รวมความว่า การใช้วินัยจัดตั้งสังฆะคือสงฆ์ขึ้นมานั้น มีจุดมุ่งหมายนี้ คือเป็นการจัดระบบความเป็นอยู่ สร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศตลอดจนระบบความสัมพันธ์ในการทำกิจการร่วมกันทุกอย่าง ให้เป็นสภาพเอื้อต่อการที่แต่ละบุคคลผู้เข้ามาสู่ชุมชนนี้ จะได้มีโอกาสที่จะศึกษา เรียนรู้ พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น เพื่อเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น นี้คือวัตถุประสงค์ของวินัย

เพราะฉะนั้น การปกครองที่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือจัดสรรสังคม เพื่อให้มนุษย์อยู่กันโดยสงบเรียบร้อยนี้ จึงมีความมุ่งหมายเพื่อให้ความเป็นอยู่ที่สงบเรียบร้อยนั้นเป็นสภาพที่เอื้อต่อการที่แต่ละบุคคลในสังคมนั้นจะได้มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกหัด ศึกษา พัฒนาตนให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป

หมายความว่า เราต้องการให้หมู่มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป ก็จึงจัดให้มีการปกครองโดยวางข้อกำหนดเป็นกฎหมายขึ้นมา เช่น ที่พระพุทธเจ้าทรงปกครองสงฆ์ด้วยวินัย ซึ่งมาจัดสรรให้ความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต สภาพแวดล้อม การทำกิจการร่วมกัน ประสานกันเป็นระบบที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตของหมู่มนุษย์ไปสู่ความดีงามสูงสุดที่เป็นจุดหมาย

ถ้าไม่มีจุดหมายนี้ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็ไม่มีความหมายที่ชัดเจนเพียงพอ ไม่มั่นคงยั่งยืน และไม่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่หมู่มนุษย์

การปกครองที่แท้ และกฎหมายที่ถูก
ต้องมีจุดหมายสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์

เมื่อสังฆะ คือสงฆ์ขยายใหญ่ขึ้น มีพระภิกษุจำนวนมากขึ้น ในการปกครองต่อมา พระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติให้พระภิกษุผู้บวชใหม่แต่ละรูปมีอุปัชฌาย์ คือเมื่อจะบวชต้องมีอุปัชฌาย์

อุปัชฌาย์ แปลว่า ผู้ดูแล ซึ่งเรามักจะมองในแง่ว่าเป็นผู้ปกครอง แต่เมื่อมองให้ตรงแท้ตามความหมายของพระพุทธศาสนา จะเห็นว่า อุปัชฌาย์มีขึ้นเพราะว่า บุคคลใดก็ตามเมื่อสมัครเข้าบวชมีชีวิตเป็นภิกษุอยู่ในชุมชนนี้ ก็ถือเป็นการตกลงว่า จะเข้ามารับการฝึกฝน มาเรียนรู้ มาสิกขาคือศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่บวชเข้ามาใหม่ ยังไม่รู้หลักการ แนวทาง และวิธีการในการศึกษาปฏิบัติ จำเป็นจะต้องได้ผู้ดูแลแนะนำให้ความรู้พื้นฐานเบื้องต้น ยิ่งเมื่อมาอยู่ร่วมกันมากๆ ขึ้น ก็มีปัญหาว่า ผู้เข้ามาใหม่นั้น บางบุคคลเข้ามาแล้วอาจจะเคว้งคว้างเลื่อนลอย ไม่ได้รับการแนะนำให้ฝึกฝน ศึกษา เรียนรู้ แล้วก็จะไม่ได้ประโยชน์จากสังฆะที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้มีอุปัชฌาย์ขึ้นมา

อุปัชฌาย์ เป็นเหมือนผู้ค้ำประกันตัวผู้บวชต่อที่ประชุมสงฆ์ในการบวช กล่าวคือ แม้ว่าที่ประชุมสงฆ์จะพิจารณาเห็นว่าบุคคลที่สมัครเข้ามา มีคุณสมบัติ ควรรับเข้าบวชได้ แต่ที่ประชุมสงฆ์ก็ต้องการให้มีคนที่จะรับผิดชอบช่วยดูแลผู้ที่บวชใหม่นั้น ก็จึงมีอุปัชฌาย์มาเป็นผู้ประกันต่อสงฆ์ ที่จะให้ความมั่นใจแก่สงฆ์หรือที่ประชุมว่า บุคคลผู้นี้เมื่อบวชเข้าไปแล้วจะไม่เคว้งคว้าง ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะได้รับการศึกษา

โดยนัยนี้ จึงเหมือนว่าได้เกิดการปกครองขึ้นเป็นระดับขั้น ตั้งแต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงปกครองสงฆ์ให้ชุมชนทั้งหมดดำเนินไปในระบบแห่งไตรสิกขา จนถึงพระอุปัชฌาย์ผู้ดูแลให้พระภิกษุที่บวชเข้ามาใหม่ในปกครองของตนแต่ละรูปได้รับการศึกษา

เพราะฉะนั้น การปกครองตามความหมายในพระพุทธศาสนาจึงเป็น การปกครองเพื่อการศึกษา หมายความว่า การปกครองและความสงบเรียบร้อยที่เกิดจากการปกครองนั้นมิใช่เป็นจุดหมายในตัว แต่เป็นเพียงปัจจัยคือสภาพเอื้อ เพื่อช่วยให้แต่ละบุคคลบรรลุจุดหมายแห่งการศึกษา หรือเพื่อเป็นหลักประกันของการศึกษา จึงถือเป็นคติได้ว่า การปกครองที่มีขึ้นเป็นเรื่องของการศึกษา และเพื่อการศึกษาทั้งสิ้น

ในสังคมไทยยุคก่อนๆ จะเห็นได้ชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองจะเป็นแบบอาจารย์กับศิษย์ เช่น เจ้าอาวาส เราเรียกว่า “อาจารย์” คือผู้ที่สอน แนะนำ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และฝึกฝนต่างๆ ดังที่เรายังเรียกเจ้าอาวาส ติดมาถึงปัจจุบันนี้ว่าเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้ท่านไม่ค่อยได้ทำหน้าที่นั้นแล้ว เพราะสังคมวิปลาสคลาดเคลื่อนไป

ความจริงนั้น การศึกษานั่นแหละครอบคลุมการปกครองอยู่ในตัว กล่าวคือ ในความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์นั้น เมื่ออาจารย์สอน และศิษย์เป็นผู้ได้รับความรู้ อาจารย์ก็กลายเป็นผู้ปกครองโดยมีลูกศิษย์เป็นผู้ใต้ปกครอง การปกครองของอาจารย์ ก็คือการคอยดูแลให้ศิษย์อยู่ในความดีงาม และฝึกฝนเพื่อความดีงามยิ่งขึ้นไป เข้ากับหลักการที่ว่าการปกครองในความหมายของพระพุทธศาสนาเป็นการปกครองเพื่อการศึกษา และในที่สุด การปกครองก็เป็นเรื่องของการศึกษา ด้วยการศึกษา และเพื่อการศึกษา ดังที่เห็นกันอยู่ว่า อาจารย์ปกครองศิษย์ด้วยการศึกษา ซึ่งเป็นการปกครองในตัว ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ที่มีความเคารพเป็นหลักประกัน ทำให้มีความเชื่อถือและเชื่อฟังด้วยดี

ถ้าไม่ปกครองด้วยการศึกษาอย่างนี้ ก็ต้องปกครองด้วยอำนาจ เมื่อปกครองด้วยอำนาจก็เกิดความรู้สึกในเชิงปฏิปักษ์ ที่เอียงไปในทางที่จะขัดแย้งกัน เช่น ในการปกครองสงฆ์ปัจจุบันนี้ เมื่อการศึกษาเสื่อมโทรมลง ก็ต้องหันไปเน้นการปกครองด้วยอำนาจ เจ้าอาวาสมีอำนาจเป็นผู้ปกครอง มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับเป็นเครื่องมือ พระลูกวัดอยู่ใต้ปกครองต้องทำตาม

ผู้ใต้ปกครองเหล่านั้นไม่มองว่าผู้ปกครองคือผู้เอื้อโอกาสเพื่อการพัฒนาชีวิตของตน แต่มองว่า ผู้ปกครองคือผู้มาคอยบังคับ คอยกีดกั้นเขาจากสิ่งที่ต้องการจะทำ จึงมีความรู้สึกแบบเป็นปฏิปักษ์กัน ด้วยเหตุนี้ การปกครองแบบใช้อำนาจจึงก่อให้เกิดปัญหา เริ่มตั้งแต่เกิดความขัดแย้งในจิตใจเป็นต้นไป ทำให้ยิ่งต้องเพิ่มการใช้อำนาจ ใช้อาญา และจะเน้นการลงโทษมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ไม่ใช่เป็นการปกครองแบบพยายามสร้างคนดี แต่เป็นการปกครองแบบพยายามกำจัดคนเลว

การปกครองในทางบ้านเมืองที่เป็นแบบนี้ ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อหลักการเพื่อจุดหมายที่แท้เลือนหายไปแล้ว ทุกอย่างก็จะวิปลาสไปหมด

ดังนั้น การปกครองในสมัยนี้ของพระสงฆ์ เราจึงเห็นว่าไม่ค่อยได้ผล เพราะได้กลายมาเป็นการปกครองเพื่อการปกครอง คือปกครองแบบใช้อำนาจ พระลูกวัดจะมีความรู้สึกต่อเจ้าอาวาสแบบเป็นปฏิปักษ์ อย่างน้อยก็รู้สึกว่าเป็นผู้ขัดขวางผลประโยชน์ที่ต้องการ แล้วใจก็ไม่รับ ความสัมพันธ์ที่ดีก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ก็จะมีความรู้สึกในทางที่อยากจะหรือหาทางที่จะละเมิดอยู่เสมอ

ถ้าจะเอาระบบที่ถูกต้อง จะต้องรู้ตระหนักในหลักการว่า การศึกษาคือเนื้อหาสาระของชีวิตแห่งความเป็นพระภิกษุ การปกครองเป็นเครื่องมือรับใช้การศึกษา คือเป็นการจัดระบบความเป็นอยู่ความสัมพันธ์และสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตให้เข้าถึงความดีงามและประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไป เมื่อครูอาจารย์ปกครองลูกศิษย์ ก็เป็นการปกครองด้วยการศึกษา และเพื่อการศึกษา

เราอาจจะเลียนศัพท์ของประชาธิปไตยที่บอกว่า ระบอบประชาธิปไตย คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แล้วเราก็พูดว่า ในพระพุทธศาสนา การปกครอง คือการปกครองที่เป็นเรื่องของการศึกษา ด้วยการศึกษา และเพื่อการศึกษา หลักการนี้ชัดเจนมาก การที่เราจัดระบบการปกครองด้วยวินัย หรือด้วยกฎหมาย ก็เพื่อเอื้อต่อชีวิตบุคคลที่เขาจะได้พัฒนา เรียนรู้ มีการศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

รวมความว่า วินัย มีความหมาย

ทั้งในแง่บุคคล ว่าเป็นเครื่องฝึกตัวของบุคคลนั้นเอง คือเมื่อบุคคลนั้นนำหลักการนี้มาประพฤติปฏิบัติ วินัยก็เป็นเครื่องมือของเขาในการที่จะได้เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตนเอง และ

ในทางสังคม ว่าเป็นการสร้างสภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิต ที่ทั้งตัวเขาเองและคนอื่นมีส่วนร่วมได้ประโยชน์ด้วยกัน

เป็นอันว่าได้ความหมาย ๒ อย่าง ดังนั้น วินัย ในทางพระพุทธศาสนา จึงแปลว่า การฝึก หรือการนำไปให้วิเศษ และโดยนัยนี้ ตามความหมายในพระพุทธศาสนา กฎหมายจึงเป็นเครื่องฝึกมนุษย์หรือเป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิต

ถ้าเราไม่มองวินัยและกฎหมายเป็นเครื่องฝึก แล้วคนจะมองกฎหมายและวินัยในความหมายอย่างไร อย่างแรกที่จะมองคือ มองเป็นเครื่องบังคับหรือบังคับควบคุม

ถ้าพลเมืองมองกฎหมายเป็นเครื่องบังคับเมื่อไร ก็เรียกว่าฐานเสียเมื่อนั้น เพราะคนจะมีความรู้สึกขัดแย้ง (เช่นขัดแย้งต่อความสะดวกสบาย ขัดแย้งต่อความพอใจชอบใจส่วนตัว ตลอดจนขัดขวางผลประโยชน์ของตัว) ฝืนใจ และจึงมีความคิดโน้มไปสู่การที่จะละเมิดอยู่เสมอ

มีกฎหมายไว้จัดการปกครอง
เพื่อทำให้เกิดสังคมดี ที่คนมีโอกาสพัฒนาชีวิตที่ดีงาม

ในทางพุทธศาสนานั้น ฐานเบื้องแรกคือการเริ่มจากจุดที่มองว่า วินัยเป็นเครื่องฝึกมนุษย์ หรือเป็นเครื่องพัฒนาชีวิต เพราะการที่เข้ามาอยู่ร่วมชุมชนนี้ ก็คือการที่จะได้สภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม บรรยากาศ และโอกาสจากระเบียบและระบบการทุกอย่าง ที่จะช่วยเกื้อหนุนการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตัวเราทุกคนให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น วินัยจึงเป็นเครื่องฝึกตน พร้อมทั้งเป็นเครื่องช่วยให้ได้สภาพแวดล้อมและระบบการอยู่ร่วมกันที่เอื้อต่อการฝึกตัวนั้น นี่เป็นการมองมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์ผู้ต้องศึกษาดังที่กล่าวมาแล้ว

ถึงตอนนี้ ขอให้ย้อนกลับไปมองความหมายข้อที่ ๓ ของวินัย ที่หมายถึงการปกครอง ที่ได้กล่าวไว้ว่า

“ชั้นที่ ๓ คือ ก) การใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้นเป็นเครื่องมือสร้างโอกาสให้คนพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น หรือการชักนำดูแลให้คนใช้ระเบียบและระบบนั้นเป็นเครื่องมือ(ที่จะช่วยกันทำให้สังคมเป็นแหล่งอำนวยโอกาสในการ)พัฒนาชีวิตของตน หรือ

ข) การใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้นเป็นเครื่องมือบังคับควบคุมคนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือการบังคับควบคุมคนให้เป็นอยู่และประพฤติปฏิบัติดำเนินกิจการตามระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น”

ตามที่กล่าวมาจะเห็นว่า การปกครองที่แท้ถูกต้องตามหลัก คือข้อ ก) ที่ว่าเป็นการใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น เป็นเครื่องมือเสริมสร้างโอกาสให้คนพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการปกครองที่เป็นเครื่องมือของการศึกษา หรือเป็นการปกครองที่เอื้อหรือนำคนให้พัฒนาชีวิตสู่ความดีงาม

แต่คนจำนวนมากมักมองการปกครองตามความหมายในข้อ ๓. ข) ที่ว่า เป็นการบังคับควบคุมคนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรืออย่างน้อยก็ควบคุมคนให้ปฏิบัติตามระเบียบระบบนั้นๆ ซึ่งเป็นการปกครองแบบเน้นอำนาจ และเป็นการปกครองที่เป็นจุดหมายในตัวของมันเอง ซึ่งมิใช่เป็นการปกครองที่ถูกต้อง จัดเป็นการปกครองแบบกิจการชำนาญพิเศษเฉพาะทาง ไม่ช่วยเชื่อมโยงไปสู่จุดหมายที่ดีงามสูงขึ้นไป

ถ้าการปกครองเป็นการบังคับควบคุมคนให้อยู่ในระเบียบ กฎหมายก็เป็นเครื่องมือบังคับควบคุมคน

ถ้าการปกครองเป็นการชักนำดูแลช่วยเสริมสร้างโอกาสให้คนฝึกศึกษาพัฒนาตน หรือสร้างสภาพเอื้อต่อการฝึกศึกษาพัฒนาตนของคน กฎหมายก็เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของคน รวมทั้งเป็นเครื่องมือฝึกศึกษาพัฒนาตนของแต่ละคน

เมื่อเราแยกวินัยออกมาเป็นข้อๆ จะยิ่งเห็นความหมายนี้ชัดเจน วินัยเป็นชื่อรวม ซึ่งอาจจะเทียบได้กับคำว่าประมวลกฎหมาย วินัยไม่ใช้กับข้อบัญญัติแต่ละข้อ บทบัญญัติแต่ละข้อไม่เรียกว่าวินัย บางครั้งเราอาจสับสน วินัยเป็นศัพท์เอกพจน์ ไม่มีการใช้เป็นพหูพจน์ นอกจากแยกเป็นระบบหรือแบบแผนใหญ่ๆ คนละอย่าง เช่น วินัยของภิกษุ และวินัยของภิกษุณี

วินัย คือระบบทั้งหมด ซึ่งต้องประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บนฐานแห่งธรรมคือความจริงของกฎธรรมชาติ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ระบบนี้แยกย่อยออกไปเป็นข้อๆ คล้ายกับมาตราในกฎหมาย แต่ละข้อเรียกว่า “สิกขาบท

คำว่า “สิกขาบท” นั้นบอกทัศนะของพระพุทธศาสนาในเรื่องนิติศาสตร์ชัดเจน

สิกขาบท คือ สิกขา + บท บท คือข้อ และ สิกขา คือศึกษา สิกขาบท จึงแปลว่า ข้อศึกษา หรือ ข้อฝึก กฎแต่ละข้อที่บัญญัติขึ้นมาในวินัยเป็นข้อศึกษาทั้งสิ้น

ถ้าพระภิกษุเรียนรู้พระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง จะต้องมองกฎหรือพุทธบัญญัติต่างๆ ไม่ใช่เป็นข้อบังคับ แต่ต้องมองในความหมายว่าเป็นข้อฝึกตน หรือเป็นข้อศึกษา คือเป็นสิกขาบท คล้ายๆ กับเป็นแบบฝึกหัด (ในภาษาปัจจุบัน) ข้อกำหนดทุกอย่างในวินัยเป็น สิกขาบท คือข้อฝึกตนทั้งสิ้น

แม้แต่หลักความประพฤติที่ให้คฤหัสถ์ปฏิบัติ ที่เรียกว่า “ศีล” ก็เป็นคำที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้าน ไม่เป็นทางการ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า เวลาที่โยมขอศีล จะกล่าวว่า “ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ” แต่เวลาที่พระให้ พระจะสรุปว่า อิมานิ ปัญจะ สิกขาปทานิ, สีเลนะ สุคะติง ยันติ เป็นต้น ซึ่งฟ้องชัดว่า ศีล เป็นคำที่ชาวบ้านเรียก แต่พระเรียกว่า สิกขาบท โยมขอศีล พระให้สิกขาบท (โยมขอศีล พระบอกให้ตั้งใจถือปฎิบัติเอาแล้วจะเกิดเป็นศีลขึ้นในตัวเอง)

ขอให้สังเกตสิกขาบทแต่ละข้อ เช่นว่า ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอรับถือปฏิบัติข้อฝึกข้อศึกษาที่จะเว้นจากการทำลายชีวิต อะทินนาทานา เวระมะณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอรับถือปฏิบัติข้อฝึกข้อศึกษาที่จะงดเว้นจากการถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ดังนี้เป็นต้น ทุกข้อเป็น สิกขาบท หมายความว่า พระพุทธศาสนามองมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา เพราะฉะนั้น มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามได้ก็ต้องฝึก ต้องศึกษา สิกขาบททั้ง ๕ ที่เรียกกันว่าศีล ๕ ข้อนี้ เป็นข้อปฏิบัติสำหรับฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อให้ชีวิตดีงามยิ่งขึ้น ไม่ใช่ข้อบังคับ

เป็นอันว่า วินัยแยกย่อยออกเป็นข้อๆ เรียกว่า “สิกขาบท” นี้คือข้อบ่งชัดว่า เรามองวินัย ตัวบทกฎหมาย บทบัญญัติต่างๆ เป็นเรื่องของการศึกษาหรือการพัฒนาชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น

เมื่อใดเราปฏิบัติตามสิกขาบทได้แล้ว ตั้งอยู่ในวินัย จึงจะเป็นผู้มีศีล ศีลคือคุณสมบัติของคนที่ปฏิบัติตามวินัย หมายความว่า ศีลเกิดขึ้นที่ตัวคนเมื่อเขาปฏิบัติตามหรือตั้งอยู่ในวินัย

ในภาษาไทยเวลานี้สับสนมาก วินัยกับศีลก็แยกกันไม่ออก ศีลกับสิกขาบทก็ใช้กันสับสน

วินัย คือการจัดตั้งวางระบบและระเบียบแบบแผน กับทั้งตัวบทกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์กติกา ที่เป็นข้อกำหนดในการจัดตั้ง รวมทั้งการจัดการให้คนประพฤติปฏิบัติ หรือให้กิจการดำเนินไปตามตัวบทกฎหมายเป็นต้นนั้น

เมื่อคนตั้งอยู่ในวินัย โดยปฏิบัติตามสิกขาบท ก็เป็นผู้มีศีล ศีลจึงเป็นคุณสมบัติของคน เป็นสภาพการฝึกฝนพัฒนาที่อยู่ในตัวคน

สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า วินัย เป็นระเบียบชีวิตและระบบกิจการของสังคมมนุษย์ ที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยปรีชาญาณที่เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากธรรมคือความจริงของกฎธรรมชาตินั้น และจะได้มีชีวิตที่ดีงาม วินัยจึงต้องตั้งอยู่บนฐานของความเข้าใจในความจริงนั้น และการที่มนุษย์จะเข้าถึงความดีงามนี้ได้ มนุษย์จะต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดพัฒนาตน วินัยเป็นเครื่องมือพัฒนา ที่จะนำพามนุษย์ให้เข้าถึงธรรม และได้ประโยชน์จากธรรมนั้น

ถ้ามองเช่นนี้ ก็จะเห็นความหมายของวินัยดีขึ้น

กระบวนวิธีในการบัญญัติข้อกฎหมาย
กฎหมายโดยหลักการ กับกฎหมายโดยบัญญัติ

เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ ที่มารวมกันเป็นวินัยนี้ พระองค์ตรัสแสดงวัตถุประสงค์ทุกครั้งว่า ที่ทรงบัญญัติสิกขาบท คือ ข้อฝึก หรือกฎแต่ละข้อนี้ เพื่ออะไร ซึ่งได้แก่วัตถุประสงค์ ๑๐ ประการ (วินย.๑/๒๗; องฺ.ทสก.๒๔/๓๑) จัดได้เป็น ๕ หมวด คือ

๑. เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวม

๒. เพื่อประโยชน์แก่ตัวบุคคล

๓. เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของมนุษย์

๔. เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปในสังคมใหญ่ที่แวดล้อม

๕. เพื่อประโยชน์แก่ตัวพระศาสนา

ทั้ง ๕ หมวดนี้แยกย่อยเป็นหมวดละ ๒ ข้อ ดังนี้

๑. เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวม

๑.๑ “สังฆสุฏฐุตายะ” เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์ คือ เพื่อความดีงามของสถาบันสงฆ์ทั้งหมดโดยส่วนรวม ที่จะมีความเรียบร้อย อยู่กันด้วยดี ด้วยการตั้งวินัยขึ้นมาบนฐานแห่งการยอมรับร่วมกัน ที่ว่า “ยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์” หมายความว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช้วิธีบังคับขืนใจ แต่ทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อผลดีร่วมกัน และโดยความยอมรับร่วมกัน

๑.๒ “สังฆผาสุตายะ” เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ ไม่ใช่เฉพาะแต่อยู่เรียบร้อยดี ต้องอยู่สบายด้วย และเป็นความสบายของส่วนรวม

๒. เพื่อประโยชน์แก่ตัวบุคคล

๒.๑ เพื่อกำราบคนหน้าด้าน (ทุมมังกุ = ผู้เก้อยาก)

๒.๒ เพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก

พูดสั้นๆ ว่า เพื่อส่งเสริมคนที่ประพฤติดี และกำราบคนที่ประพฤติชั่ว หรือเพื่อปิดช่องคนร้าย-ให้โอกาสคนดี

๓. เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของมนุษย์เอง คือคำนึงถึงผลดีและผลร้ายที่จะเกิดกับชีวิตของมนุษย์ เช่น เรื่องความดี ความชั่ว เป็นต้น โดยมุ่งที่จะสร้างสภาพเอื้อต่อชีวิตที่ดีงาม

๓.๑ เพื่อปิดกั้นผลเสียหายที่จะเกิดในปัจจุบัน

๓.๒ เพื่อป้องกันผลเสียหายที่จะเกิดในอนาคต

๔. เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป คือ เพื่อผลดีแก่จิตใจของประชาชน ทำให้คนมีจิตใจผ่องใสด้วยอาศัยความดีงามของพระสงฆ์เป็นสื่อ

๔.๑ เพื่อความเลื่อมใสของประชาชนที่ยังไม่มีความเลื่อมใส

๔.๒ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไปของประชาชนที่มีความเลื่อมใสอยู่แล้ว
สองข้อนี้มุ่งเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนเอง เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนากับประชาชนมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ทำให้เขามีจิตใจที่สงบ แช่มชื่น สบาย ผ่องใส เกิดศรัทธา มีปีติและความสุข เป็นกุศลพื้นฐานที่จะนำไปสู่คุณความดีที่สูงยิ่งขึ้นไป

๕. เพื่อประโยชน์แก่ตัวพระศาสนา
๕.๑ เพื่อให้สัทธรรม คือธรรมที่แท้ หรือหลักการที่แท้ของพระศาสนา ดำรงอยู่ได้มั่นคงยั่งยืน
๕.๒ เพื่ออนุเคราะห์วินัย คือ เพื่อช่วยค้ำจุนให้ระเบียบแบบแผนและระบบการต่างๆ เกิดมีผลในการปฏิบัติตามหลักการอย่างหนักแน่นมั่นคง เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างยั่งยืน (เพื่อให้วินัยเกิดผลสมวัตถุประสงค์)

แต่ละครั้งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบท พระองค์จะทรงแถลงวัตถุประสงค์เหล่านี้ทุกครั้ง เพราะฉะนั้น จะขอเล่าวิธีบัญญัติสิกขาบทในพระวินัยของพระพุทธเจ้า (วินัยคือรวมสิกขาบททั้งหมด)

กล่าวตามวิวัฒนาการในสังฆะ เมื่อสงฆ์คือชุมชนของพระภิกษุยังเล็กอยู่ (เมื่อพระพุทธเจ้าตั้งสงฆ์ใหม่ๆ) บุคคลที่เข้ามาในตอนแรกรู้ชัดในวัตถุประสงค์ของชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ว่า เราเข้ามาเพื่อจะพัฒนาชีวิต ด้วยการเรียนรู้ และฝึกตนในไตรสิกขา เพื่อเข้าถึงชีวิตที่ดีงามที่ประเสริฐ ตามหลักการของพระพุทธศาสนาที่ถือว่า มนุษย์จะประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่ ผู้ที่ฝึกแล้วหรือศึกษาแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด แม้ยิ่งกว่าเทพเจ้า

หลักการของพระพุทธศาสนามีอย่างไร ผู้เข้ามารู้ตระหนักชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น สังฆะในระยะแรกจึงดำรงอยู่โดยไม่มีกฎหรือข้อบังคับ วินัยมีอยู่โดยหลักการอย่างเป็นไปเอง วินัยมีอยู่แล้วทั้งๆ ที่ไม่มีสิกขาบท มีแต่เพียงหลักการ และข้อนัดหมาย หรือข้อหมายรู้ร่วมกันตามหลักการนั้น

ให้ตั้งข้อสังเกตว่า วินัย ไม่จำเป็นต้องมีสิกขาบท คือมีระบบแบบแผนโดยไม่ต้องมีข้อบัญญัติ หรือมีการปฏิบัติตามหลักการโดยไม่ต้องมีข้อกำหนด

ตอนแรกมีวินัยโดยไม่ต้องมีสิกขาบท พระก็อยู่กันได้ด้วยดี โดยถือหลักการ ปฏิบัติไปตามหลักการ มีหลักการเป็นเครื่องรักษาควบคุม ดังปรากฏว่า ในวันอุโบสถ เมื่อภิกษุทั้งหลายประชุมกัน พระพุทธเจ้าก็ทรงแถลงหลักการของพระพุทธศาสนา เป็นการทบทวนว่าพระพุทธศาสนามีอุดมการณ์อย่างนี้ มีหลักการอย่างนี้ (พูดสั้นๆ ว่า มีแต่โอวาทปาติโมกข์ คือหลักการแม่บท ไม่มีอาณาปาติโมกข์ คือกฎหมายแม่บท) ทรงปฏิบัติเช่นนี้ตลอดมาเป็นเวลาประมาณ ๒๐ ปี จนกระทั่งเมื่อมีการบัญญัติสิกขาบทแล้ว จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกันทบทวนตรวจสอบความประพฤติด้วยสิกขาบทเหล่านั้น (พูดสั้นๆ ว่า ต่อจากนั้นจึงมีอาณาปาติโมกข์) (องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๑๑๐/๒๐๗; วินย.อ.๑/๒๑๒, ๒๑๔, ๒๔๘; อุ.อ.๓๑๙)

ขอยกตัวอย่างหลักการใหญ่ๆ เช่นที่เรานำมาสวดกันว่า “ไม่ทำชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส” หรือ “นิพพานเป็นบรมธรรม” หรือ “บรรพชิตในพระพุทธศาสนา มีลักษณะสำคัญคือเป็นผู้ไม่ทำร้ายใคร ไม่เบียดเบียนใคร” หลักการเหล่านี้พระพุทธเจ้าทรงแถลงทบทวนกับที่ประชุมของพระสงฆ์ โดยไม่มีข้อบัญญัติย่อยละเอียดลงไปเป็นกฎข้อบังคับที่จะลงโทษแก่ผู้ทำผิด พระสงฆ์ในระยะแรกอยู่กันด้วยหลักการ

ความเป็นมาของการที่จะบัญญัติสิกขาบทมีเรื่องราวที่น่าสนใจว่า (วินย.๑/๗-๘) ครั้งหนึ่งพระสารีบุตรซึ่งเป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับศาสนาของพระพุทธเจ้าในอดีตที่พูดถึงในขณะนั้น ซึ่งมีพระพุทธเจ้าที่ออกพระนาม ๕ พระองค์

พระสารีบุตรทูลถามว่า ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ไหนที่มั่นคงยั่งยืน ของพระองค์ไหนไม่มั่นคงยั่งยืน พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ศาสนาของพระวิปัสสี พระสิขี และพระเวสสภู ตั้งอยู่ไม่นาน ไม่มั่นคงยั่งยืน แต่ศาสนาของพระกกุสันธะ และพระโกนาคมนะ ตั้งอยู่มั่นคงยั่งยืนยาวนาน

พระสารีบุตรทูลถามต่อไปว่า เพราะเหตุใดศาสนาของ ๓ พระองค์แรกจึงไม่มั่นคงยั่งยืน และเพราะเหตุใดของ ๒ พระองค์หลังจึงมั่นคงยั่งยืน พระพุทธเจ้าตรัสเฉลยว่า เพราะว่า พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ที่ออกพระนามมาข้างต้นนั้น ไม่ค่อยจะได้ทรงสั่งสอน และมีคำสอนที่เป็นหลักการต่างๆ น้อย อีกทั้งไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ และไม่ได้มีการประชุมทบทวนประมวลบทบัญญัติที่เรียกว่า “ปาติโมกข์” ต่างจากศาสนาของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์หลัง ซึ่งมีคำสั่งสอนมาก มีการบัญญัติสิกขาบท คือตราข้อกฎหมายไว้เป็นแบบแผน เรียบร้อย

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบว่า พระภิกษุทั้งหลายมาจากชาติตระกูลต่างๆ กัน ภูมิหลังต่างๆ กัน เหมือนกับดอกไม้นานาพันธุ์ที่เขานำมาวางบนพื้นกระดาน ถ้าไม่ได้ร้อยไว้ด้วยเส้นด้าย ลมมาก็พัดกระจุยกระจาย แต่ถ้าเอาด้ายร้อยไว้ก็จะคุมกันอยู่ แม้ลมพัดมาก็จะไม่กระจุยกระจาย

สำหรับพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ เวลานั้นมีหลักคำสอนมากแล้ว แต่ยังไม่ได้บัญญัติสิกขาบท พูดง่ายๆ ว่ากฎหมายยังไม่มี พระสารีบุตรจึงทูลอาราธนาว่า ถ้าเช่นนั้น เพื่อจะให้พระศาสนาของพระองค์ในบัดนี้ มั่นคงยั่งยืนต่อไป ขอให้พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ยังไม่ถึงเวลา”

พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าเมื่อใดจะถึงเวลา คือเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น มีข้อเสียหายเกิดขึ้น จึงจะทรงบัญญัติสิกขาบท และข้อเสียหายต่างๆ นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อ สังฆะนี้

๑. ตั้งมาได้เป็นเวลายาวนานพอสมควร

๒. ขยายตัวใหญ่โตขึ้น

๓. มีผลประโยชน์เกิดมากขึ้น

เมื่อนั้นแหละจะเกิดปัญหามีข้อเสียหายขึ้นมา และจะทรงบัญญัติสิกขาบท นี้เป็นแนวทัศนะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับนิติศาสตร์

ผลประโยชน์เป็นเรื่องใหญ่ที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นความสำคัญ นี่คือเรื่องของมนุษย์ แม้แต่ในพระสูตรที่ตรัสถึงการปกครองของมนุษย์ ก็ตรัสว่า แต่เดิม มนุษย์ยังไม่มีการปกครอง ต่อมามีผู้คนจำนวนมากขึ้น และมีผลประโยชน์เกิดขึ้น ซึ่งในยุคแรกเป็นเรื่องของพืชผลในที่ดิน จึงมีการจัดแบ่งสรรปันเขตที่ดิน และต่อมาก็เกิดมีการขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์ในที่ดินนั้น จึงมีการตั้งผู้ปกครองขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ ในพระพุทธศาสนาจึงเล่าประวัติการเกิดขึ้นของผู้ปกครอง โดยถือเป็นเรื่องของวิวัฒนาการในสังคมมนุษย์ (ที.ปา.๑๑/๖๑-๖๓/๙๙–๑๐๑) ต่างจากในศาสนาพราหมณ์ที่ถือว่า พระพรหมเทพเจ้าจัดตั้งกำหนดผู้ปกครองมาให้ และเมื่อมีการปกครอง ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ อย่างน้อยก็คือข้อตกลงกัน จึงมีสิ่งที่เรียกว่า กฎหมาย (กฎหมายนี้ศาสนาพราหมณ์ก็ว่าเป็นบัญญัติของพระพรหมเช่นกัน)

ข้อกำหนดของกฎหมาย หรือสิกขาบทในวินัย ท่านบัญญัติไว้ก็เพื่อให้ได้ผลตามหลักการ ดังวัตถุประสงค์ทั้ง ๑๐ ประการ ที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งพูดได้ว่า ข้อสุดท้าย คือ ข้อ ๑๐ เป็นข้อที่คุมและคลุมทั้งหมด

วัตถุประสงค์ข้อที่ ๑๐ ตามคำบาลีว่า “วินยานุคฺคหาย” แปลว่า เพื่ออุดหนุนหรือค้ำจุนวินัย หมายความว่า บัญญัติสิกขาบท คือตรากฎหมายขึ้น ก็เพื่อค้ำจุนระบบที่จัดตั้งไว้ หรือพูดอีกความหมายหนึ่งว่า เพื่อเกื้อหนุนการปกครอง

เมื่อผลเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทั้ง ๑๐ ประการนั้น ก็จะเกิดสภาพเอื้อโอกาสและเกื้อหนุนให้สมาชิกทุกคนของสังคม/สังฆะ สามารถพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามและประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นไป ดังกล่าวข้างต้น

หันกลับมาพูดเรื่องการบัญญัติสิกขาบทว่า ต่อมามีเหตุไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นซึ่งพระสงฆ์และประชาชนติเตียน พระพุทธเจ้าจึงทรงเริ่มบัญญัติสิกขาบท ในการบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ หรือแต่ละมาตรานี้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติตามลำดับทำนองนี้ คือ

๑. มีพระภิกษุทำเรื่องเสียหายเกิดขึ้น

๒. ประชาชนหรือพระสงฆ์กล่าวติเตียนว่าเป็นสิ่งเสียหาย ไม่ดีไม่งาม แล้วเรื่องมาถึงพระพุทธเจ้า

พระสงฆ์เองถือเป็นหน้าที่ พอได้ยินประชาชนโจษขานว่าพระองค์นั้นองค์นี้ประพฤติไม่เหมาะ ก็จะมีพระนำความมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ให้พระภิกษุทั้งหลายมาประชุมกัน และเรียกตัวบุคคลที่ทำความผิดเสียหายนั้นมาซักถามในที่ประชุม เมื่อยอมรับว่าเป็นความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าจะทรงชี้แจงโทษความเสียหายว่าการกระทำนั้นไม่ดีไม่ถูกต้องอย่างไร ขัดกับหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างไร เมื่อชี้แจงเสร็จแล้วจึงตรัสว่าจะทรงบัญญัติสิกขาบท โดยทรงแถลงวัตถุประสงค์ ๑๐ ประการในการบัญญัติสิกขาบท แล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงยกสิกขาบทขึ้นแสดง (เป็นหลักอ้างอิง) ดังนี้ว่า . . .”

โดยนัยนี้จึงเกิดเป็นข้อบัญญัติที่เรียกว่าสิกขาบท ขึ้นมาทีละข้อ สิกขาบทแต่ละข้อนั้นมีบัญญัติต้นเดิมก่อน หากต่อมาปรากฏว่ายังไม่เหมาะ เช่นควรมีข้อยกเว้น และจะทรงปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติม ก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์อีก แล้วตรัสชี้แจงเหตุที่เกิดขึ้น และปรับแก้สิกขาบทนั้นใหม่

การบัญญัติครั้งแรก เรียกว่า มูลบัญญัติ หรือบัญญัติเดิม ส่วนข้อแก้ไขเพิ่มเติม เรียกว่า อนุบัญญัติ สิกขาบทบางสิกขาบทจึงมีทั้งมูลบัญญัติและอนุบัญญัติ และอนุบัญญัตินั้นอาจจะมีหลายครั้งด้วย

ขอยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งพระภิกษุเดินทางไปกับภิกษุณี ประชาชนติเตียนว่า พระเดินทางไปกับภิกษุณี สงสัยว่าจะเป็นสามีภรรยากัน ชาวบ้านโจษขานกันไป ติเตียนให้เสียหาย พระพุทธเจ้าทรงเรียกประชุมสงฆ์และดำเนินขั้นตอนตามแบบแผน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ไม่ให้พระภิกษุเดินทางไกลไปไหนกับภิกษุณี นี้เป็น มูลบัญญัติ

ต่อมาปรากฏว่า เมื่อมีการเดินทาง ภิกษุไม่ยอมเดินทางร่วมกับภิกษุณี และเมื่อแยกกันเดินทาง ภิกษุณีถูกประทุษร้าย เกิดปัญหาเป็นเรื่องมาถึงพระพุทธเจ้า ก็ทรงประชุมสงฆ์ และทรงบัญญัติสิกขาบทแก้ไขเพิ่มเติมจากมูลบัญญัติว่า ไม่ให้เดินทางร่วมกัน เว้นแต่สมัย คือ เมื่อมีเหตุอันสมควร ได้แก่ หนึ่ง เดินทางไปกับกองคาราวาน สอง มีภัยอันตราย (วินย.๒/๔๕๒/๒๙๐) ข้อที่บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้เรียกว่า อนุบัญญัติ

กฎหมายที่แท้ประสานประโยชน์ของบุคคลกับสังคม
และประสานสมมติของมนุษย์ เข้ากับความจริงแท้ของธรรมชาติ

ขอย้ำว่า วินัยที่เราเรียกว่ากฎหมายนั้น ไม่ถือความเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือความสงบเรียบร้อยเป็นจุดหมาย แต่เป็นการสร้างสภาพเอื้อ คือ เพื่อให้มีความสงบเรียบร้อย ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้บุคคลแต่ละคนมีโอกาสพัฒนาชีวิตสู่จุดหมายที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป คือ เป็นการสร้างสภาพเอื้อต่อการศึกษานั้นเอง

เพราะฉะนั้น เราจึงพูดว่า การที่มีกฎหมายหรือมีวินัยนี้ ก็เพื่อเป็นเครื่องสร้างสภาพเอื้อต่อการที่คนจะพัฒนาตน คือพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี เพราะเราถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องเรียนต้องศึกษา ไม่ใช่ว่ามนุษย์จะมีชีวิตที่ดีได้เลยทันที และยิ่งกว่านั้น ยังมีคุณค่าดีงามสูงส่งขึ้นไปที่ชีวิตมนุษย์ควรจะได้จะถึงยิ่งขึ้นไปๆ อีก

เป็นอันว่า การตั้งกฎเกณฑ์ หรือกติกาสังคมนี้

๑. เพื่อสร้างสภาพที่มนุษย์จะอยู่กันด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นอันดี

๒. เพื่อให้สภาพที่สงบเรียบร้อยนั้น เป็นเครื่องเกื้อหนุนต่อการที่มนุษย์เหล่านั้นทุกๆ คนจะเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป คือเป็นการสร้างสภาพเอื้อต่อการที่บุคคลจะได้พัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี

กฎหมายไม่ได้มีขึ้นเพียงเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีเท่านั้น แต่สร้างสภาพเอื้อต่อการที่เขาจะพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไปด้วย

มองในแง่ของพระพุทธศาสนา ข้อหลังนี้สำคัญกว่า คือการจัดสรรสภาพที่เอื้อต่อการที่บุคคลจะได้พัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี เพราะเราถือตามความจริงของธรรมชาติว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้ ต้องฝึก ต้องศึกษา จึงจะสามารถมีชีวิตที่ดีงามต่อไป

ถ้ามองง่ายๆ เราอาจจะคิดว่า ขอให้กฎหมายสอดคล้องกับหลักศีลธรรมก็แล้วกัน เมื่อคนมีศีลธรรมได้ก็ดีแล้ว คือเรายอมรับว่าศีลธรรมเป็นหลักที่ดีอยู่แล้ว เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ศีลธรรมมีผลปฏิบัติในสังคม เพราะว่าหลักเกณฑ์ของศีลธรรมนั้นไม่มีเครื่องบังคับ อาจจะไม่ได้ผล จึงต้องเอากฎหมายมาช่วย

ยกตัวอย่างเช่น เราถือว่าศีล ๕ ดีแล้ว ถ้าคนประพฤติตามศีล ๕ หมด สังคมก็เรียบร้อย แต่ทำอย่างไรจะให้คนประพฤติตามศีล ๕ นั้น ก็ต้องตรากฎหมาย รัฐก็เอาใจใส่วางกฎเกณฑ์กติกาข้อบัญญัติขึ้นมา เพื่อจะให้ศีลธรรมได้ผล กฎหมายจึงสอดคล้องกับระบบศีลธรรม

แต่ที่จริง ลึกลงไปไม่ใช่เพียงแค่นั้น ศีล ๕ ก็เป็นข้อฝึกคน คือแต่ละข้อเป็นเพียงสิกขาบทเท่านั้น เราจะเอากฎหมายมาบังคับให้คนมีศีล ๕ ยังไม่ถูก แต่ทำอย่างไรจะเอากฎหมายมาช่วยให้คนพัฒนาตนให้มีศีล ๕ หรือสร้างสภาพเอื้อต่อการที่คนจะ(พัฒนาตนให้)มีศีล ๕ เพื่อจะได้สามารถเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป เพราะฉะนั้น เราจะต้องมุ่งในแง่ว่า จะทำอย่างไรให้คนมีโอกาสพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีต่างหาก เราต้องการอันนี้

เมื่อมองในแง่นี้จึงถือว่า การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษา เพื่อให้คนพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง การจัดระบบกิจการอะไรต่างๆ ของสังคมจะมีจุดหมายรวมอยู่ที่นี่

ในเรื่องนี้ สังคมจะต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่งในการที่จะต้องมีจุดหมายที่ดีงามชัดเจน ถ้าไม่มีการสร้างความรู้ความเข้าใจและกำหนดจุดหมายที่ชัดเจนไว้ ก็จะมีจุดหมายที่ไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่ออันตราย เพราะอาจจะเป็นจุดหมายที่ไม่เคยนึกถึงและไม่เคยยกขึ้นมาตรวจสอบ และกลายเป็นจุดหมายที่ผิดพลาดก็ได้

ทุกคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อยู่ในใจของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ไม่ได้พูดออกมาและไม่ชัดแก่ตนเอง แต่เวลาตัดสินใจทุกครั้ง จะต้องมีความเข้าใจนี้แฝงกำกับอยู่เบื้องหลัง ถ้าความเข้าใจและความมุ่งหมายนี้ไม่ได้รับการพัฒนาและไม่เคยจับยกขึ้นมาตรวจสอบ ก็อาจก่อความผิดพลาดได้ และก็จะกลายเป็นการสร้างผลร้ายแก่สังคมโดยไม่รู้ตัว

เป็นอันว่า เมื่อเราจะสร้างสภาพเอื้ออย่างที่ว่านี้ เราก็จึงจัดตั้งชุมชนขึ้นมา ชุมชนที่มีสภาพเอื้อต่อการศึกษาของคนคืออย่างไร ถ้าใช้ศัพท์พระก็คือ “ชุมชนแห่งกัลยาณมิตร”

หมายความว่า บุคคลที่มาอยู่ด้วยกัน เริ่มตั้งแต่องค์พระศาสดาหรือผู้นำ เป็นกัลยาณมิตรคือผู้ที่จะช่วยเกื้อหนุนผู้อื่นในการที่จะพัฒนาชีวิตได้ดี ให้เป็นชีวิตที่เจริญงอกงามมีความสุขยิ่งขึ้น พระภิกษุทั้งหลายที่มาอยู่ด้วยกัน ก็คือมาช่วยกัน มาเอื้อต่อกัน มาอุดหนุนกัน ให้แต่ละบุคคลพัฒนาตนให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงสร้างชุมชนแห่งกัลยาณมิตรขึ้น

ด้วยการกำหนดวางหรือบัญญัติสิกขาบทเหล่านี้ สิกขาบททั้งหลายจึงเป็นทั้งข้อฝึกคน และเป็นเครื่องมือสร้างชุมชนแห่งกัลยาณมิตร ให้บุคคลที่เข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน ในการเข้าถึงชีวิตที่ดีงาม ก็คือ เพื่อการศึกษานั่นเอง

เพราะฉะนั้น สังฆะ คือชุมชนนี้ จึงมีประโยชน์ที่จะให้ชีวิตของแต่ละบุคคลได้รับประโยชน์จากสังฆะ เมื่อแต่ละคนได้ประโยชน์จากสังฆะ แต่ละคนนั้นก็ต้องเป็นส่วนประกอบหรือส่วนร่วม ที่จะต้องช่วยเอื้อเฟื้อเกื้อต่อสังฆะด้วยเช่นกัน เป็นการเอื้อต่อกันระหว่างสังคมกับบุคคล ไม่ใช่ข้างเดียว คือ ไม่ใช่บุคคลเพื่อสังคม หรือสังคมเพื่อบุคคล

เราสร้างสังคม/สังฆะขึ้นมา เพื่อให้มีสภาพเอื้อต่อการที่บุคคลนั้นจะพัฒนาตัวได้ด้วยดีสู่การเข้าถึงชีวิตที่ดีงาม และสังฆะนั้นจะดำรงอยู่ด้วยดี ก็ด้วยการที่บุคคลแต่ละคนนั้นเป็นส่วนร่วมที่ดี เพราะฉะนั้น จึงมีหลักการและบทบัญญัติว่า แต่ละบุคคลจะต้องมีความสัมพันธ์กับสังคม/สังฆะที่เป็นส่วนรวมนั้นอย่างไร และก็จะมีหลักการขึ้นมาอย่างหนึ่งในแง่ที่เกี่ยวกับวินัยว่า พระภิกษุจะต้องถือสังฆะเป็นใหญ่ คือถือส่วนรวมเป็นใหญ่

มีพระดำรัสของพระพุทธเจ้าเองว่า

“เราเคารพธรรม (คือถือหลักการแห่งความจริงความถูกต้องดีงาม ตัวกฎธรรมชาติ) แต่เมื่อสงฆ์เติบใหญ่ขึ้น เราก็เคารพสงฆ์ด้วย” (องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๑๒๕)

เพราะฉะนั้น เมื่อสังฆะคือชุมชนสงฆ์ขยายใหญ่ขึ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงมอบอำนาจให้สงฆ์ ตอนแรกพระพุทธเจ้าทรงตั้งสังฆะขึ้น พระองค์ทรงบวชให้แก่ผู้ขอเข้ามาในสังฆะ ด้วยพระองค์เอง ใครต้องการจะเข้ามาในสังฆะ พระองค์ก็ทรงรับเอง ทรงพิจารณาคุณสมบัติเอง แต่เมื่อสังฆะใหญ่ขึ้น พระพุทธเจ้าทรงมอบอำนาจให้สังฆะบวช จึงต้องตั้งกฎเกณฑ์และระเบียบการดำเนินการในการบวชขึ้นมา เช่นว่า

๑. ต้องมีที่ประชุม องค์ประชุมต้องมีภิกษุ ๑๐ รูปขึ้นไป คือกำหนดองค์ประชุม

๒. ตัวผู้ที่ขอบวช ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ๆ

๓. มีวิธีดำเนินการบวช เช่น เมื่อเริ่มการประชุม จะต้องมีภิกษุรูปหนึ่งที่มีสติปัญญาความสามารถ ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการประชุม เป็นผู้ซักถามคุณสมบัติของผู้ขอเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ทั้งซ้อมข้างนอกที่ประชุม แล้วซักถามเอาจริงในที่ประชุม ให้ที่ประชุมพิจารณาตรวจสอบว่าผู้นี้มีคุณสมบัติที่จะบวชได้หรือไม่ จะยอมรับเข้าสู่สงฆ์ได้หรือไม่

พร้อมนั้นก็ให้มีอุปัชฌาย์เป็นตัวประกันที่จะให้ความมั่นใจแก่สงฆ์ว่า ผู้ที่เข้ามาบวชนั้นจะได้รับการศึกษาอย่างแน่นอน ไม่เคว้งคว้างเลื่อนลอย

นี้คือการบวช ซึ่งเป็นเรื่องของสังฆกรรม แต่มาปัจจุบันนี้มักเหลือเพียงเป็นพิธี จนกระทั่งผู้ที่เข้าไปร่วมกิจกรรมนั้นไม่รู้ว่าทำอะไรกัน แต่ที่จริงคือการรับสมาชิกใหม่ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ

เนื่องจากพระพุทธเจ้าเองทรงให้ถือสังฆะเป็นใหญ่ พระองค์ก็เคารพสงฆ์ จึงทรงมอบอำนาจให้สงฆ์ดำเนินการ เริ่มแต่กำหนดให้มีองค์ประชุมว่า การที่จะทำกิจการระดับนี้ต้องใช้องค์ประชุมเท่านี้ เช่น ถ้าสวดปาติโมกข์ ต้องใช้ ๔ รูปขึ้นไป ถ้ารับกฐินต้อง ๕ รูปขึ้นไป ถ้าจะบวชภิกษุต้อง ๑๐ รูปขึ้นไป ต่อมาก็มีอนุบัญญัติว่าในถิ่นไกลชายแดน ที่เรียกว่าปัจจันตประเทศ หาพระยาก และพระที่จะไปก็เป็นผู้ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาดีพอสมควรแล้ว จึงยอมลดหย่อนให้ว่า ให้องค์ประชุมมีพระเพียง ๕ รูปได้ เป็นต้น

ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องชีวิตของสงฆ์ แต่ข้อสำคัญก็คือ ให้ภิกษุถือสงฆ์เป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพสงฆ์ เพราะฉะนั้นพระภิกษุจะต้องถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่

พระภิกษุ แม้แต่เป็นพระอรหันต์ เมื่อมีกิจการของส่วนรวมเกิดขึ้น ถ้าไม่มาเข้าที่ประชุม ก็อาจถูกลงโทษ มีพระอรหันต์ถูกที่ประชุมลงโทษในประวัติของพระพุทธศาสนาหลายองค์ อย่าได้นึกว่าพระอรหันต์พ้นโทษ ในแง่ของธรรมท่านพ้นโทษคือไม่มีกิเลส แต่ในแง่ของวินัยไม่พ้น

วินัยตั้งอยู่บนฐานของธรรม และเพื่อธรรม แต่แยกออกเป็นคนละเรื่องกัน ธรรมเป็นเรื่องของความจริงแท้ในธรรมชาติ ส่วนวินัยเป็นเรื่องของสมมติเพื่อหนุนธรรม แต่สมมติไม่จำเป็นต้องรอธรรม

คนทำกรรมชั่ว ฝ่ายธรรมว่ามีกฎธรรมชาติเป็นกฎแห่งกรรม เขาจะได้รับผลตามกรรมของเขา แต่วินัยไม่รอ วินัยจึงตั้งกรรมสมมติขึ้นมา และนำผู้กระทำความผิดเข้ามาในกลางที่ประชุมและลงโทษ วินัยไม่รอธรรม จึงไม่รอกรรมตามธรรมชาติ วินัยจึงจัดการทันที

ในเรื่องนี้ยังมีชาวพุทธที่เข้าใจไม่ค่อยถูกต้องว่า ใครทำกรรมชั่ว เราไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวเขาก็ต้องรับผลกรรมของเขาเอง การมองอย่างนี้แสดงว่าพลาดแล้ว

ในพระพุทธศาสนามีหลักการ ๒ อย่าง คือ ธรรม กับ วินัย ในเรื่องของสังคม ถ้าผิด วินัยก็จัดการทันที หมายความว่า วินัยมีวิธีดำเนินการเพื่อให้ธรรมสำเร็จเป็นผลในสังคม มิฉะนั้น ในที่สุด ถ้าเราไม่เอาใจใส่ การปฏิบัติตามธรรมก็จะคลาดเคลื่อนไป และสังคมก็จะคลาดจากธรรม

อย่างไรก็ตาม จะต้องทำความเข้าใจลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง กล่าวคือ แท้จริงนั้น ที่พูดว่า “วินัยไม่รอธรรม” เช่น เมื่อมีภิกษุทำความผิด วินัยและสงฆ์จะไม่รอให้กรรมแท้ตามกฎธรรมชาติแสดงผล แต่สงฆ์จะนำเอากรรมสมมติตามวินัยมาใช้จัดการกับภิกษุนั้นทันที การที่พูดอย่างนี้นับว่าเป็นสำนวนพูดในระดับหนึ่ง

จะต้องไม่เข้าใจผิดไปว่ามนุษย์แยกตัวเองพ้นเหนือกฎธรรมชาติได้ เพราะว่าการจัดตั้งต่างๆ โดยสมมติ และปฏิบัติการต่างๆ ในทางวินัยทุกอย่างนั้น แท้ที่จริงก็คือความสามารถพิเศษของมนุษย์ ที่นำเอาปัจจัยในฝ่ายของตนเองเข้าไปเป็นส่วนร่วมในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพื่อให้บังเกิดผลดีแก่มนุษย์ในทางที่ดีงามพึงปรารถนา

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า วินัย หรือระบบสมมติทั้งหมด ก็คือการที่มนุษย์นำเอาปัญญาและเจตจำนง ซึ่งเป็นคุณสมบัติธรรมชาติอันวิเศษที่ตนมีอยู่ มาเพิ่มเข้าไปเป็นปัจจัยพิเศษในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพื่อให้กระบวนการของเหตุปัจจัยนั้น ดำเนินไปในทางที่จะก่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตน โดยสอดคล้องกับปัญญาและเจตจำนงของมนุษย์นั้นเอง

ปัญญา และ เจตนาหรือเจตจำนงที่ประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆ นั้นก็เป็นธรรมชาตินั่นเอง แต่เป็นธรรมชาติด้านนามธรรม และเป็นธรรมชาติส่วนพิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยการฝึกศึกษาพัฒนาที่เป็นศักยภาพของมนุษย์

พูดสั้นๆ ว่า วินัย คือการนำเอาปัญญาและเจตนาที่เป็นธรรมชาติพิเศษของมนุษย์ เข้าไปร่วมเป็นปัจจัยที่จะผันแปรกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ให้เป็นไปในทางที่จะเกิดผลดีแก่ตนในเชิงสังคม

ความพิเศษและความประเสริฐของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นมา อยู่ที่นี่ ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักใช้คุณสมบัติเหล่านี้ให้เป็นปัจจัย ความเป็นมนุษย์จะมีประโยชน์อะไร

การที่กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากปัญญาและเจตจำนง/เจตนาของมนุษย์ จะเป็นปัจจัยที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งจะชักนำให้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลายดำเนินไปในทางที่จะก่อให้เกิดผลดีแก่มนุษย์ตามความต้องการของปัญญาและเจตจำนงได้จริงนั้น ย่อมเป็นข้อเรียกร้องหรือบังคับอยู่ในตัวว่า มนุษย์จะต้องพัฒนาปัญญาและเจตจำนงในจิตใจของตนอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาปัจจัยต่างๆ ให้นำไปสู่ผลที่ต้องการได้จริง

ขอย้อนกลับไปย้ำว่า บุคคลต้องเกื้อหนุนต่อสังฆะ โดยเคารพสงฆ์ คือถือสงฆ์เป็นใหญ่ การที่อยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องส่งเสริมความเข้มแข็งมั่นคงของสังคมหรือสังฆะนั้น แล้วสังฆะจะได้มารองรับหนุนบุคคลนั้นให้เจริญเติบโตขึ้นไปได้ ถ้าสังฆะไม่เจริญมั่นคง ก็จะไม่เอื้อให้บุคคลเจริญเติบโต เพราะฉะนั้น จึงให้ถือหลักการเรื่องถือสงฆ์เป็นใหญ่และหลักการเรื่องความสามัคคีเป็นสำคัญ ตามหลักที่เรียกว่า “สังฆสามัคคี” แปลว่า ความพร้อมเพรียงของสงฆ์ ถ้าสงฆ์ไม่มีความสามัคคีแล้ว สภาพชีวิตและระบบความเป็นอยู่ก็จะไม่เอื้อต่อการพัฒนาของบุคคล เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความสามัคคี

ขอย้ำเรื่องความสามัคคีอีกหน่อยว่า สามัคคีมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตหมู่ หรือการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม (เช่น ขุ.อิติ.๒๕/๑๙๗/๒๓๘) โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตย สามัคคีก็คือความพร้อมเพรียงกัน ความร่วมแรงร่วมใจกัน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่เรียกว่า เอกีภาพ (แต่ไทยเรานิยมใช้ว่า เอกภาพ)

โดยทั่วไป เราจะมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของความสามัคคีในแง่ของความมีพลัง คือเป็นการรวมกำลังกัน ตรงข้ามกับความแตกแยกขัดแย้งที่ทำให้สูญสิ้นกำลัง เมื่อสามัคคีกัน คน ๒ คน มารวมกับคนอีก ๒ คน ก็เท่ากับ ๒+๒ เป็น ๔ แต่ถ้าขัดแย้งแตกแยกกัน คน ๒ คน มาพบกับคนอีก ๒ คน ก็เท่ากับ ๒-๒ เป็น ๐

คุณค่าแท้ของสามัคคีที่สำคัญมาก ซึ่งเป็นพื้นฐานของวินัยและประชาธิปไตย ก็อย่างที่กล่าวข้างต้น คือ ทำให้สังคมเกิดมีคุณประโยชน์ตามความหมายของมัน โดยเป็นสภาพเอื้ออำนวยโอกาสแก่ทุกคนที่จะดำรงชีวิตของตนอยู่ด้วยดี สามารถพัฒนาชีวิตของตนให้เข้าถึงประโยชน์สุขยิ่งขึ้นไป

แต่ลึกลงไปอีก คุณค่าและความหมายของสามัคคีที่มักไม่ได้นึกถึงกัน ก็คือ สามัคคีเป็นฐานรองรับสมมติไว้ ถ้าไม่มีสามัคคี สมมติก็อยู่ไม่ได้ อารยธรรมก็สั่นคลอน เพราะสังคมมนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยสมมติ และสามัคคีก็รองรับสมมติไว้ โดยทำให้คนยอมรับตามสมมตินั้น

ถ้าคนไม่สามัคคีกัน ก็จะเกิดการไม่ยอมรับตามสมมติ เช่น ไม่ยอมรับกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นหรือของคู่กรณีที่ขัดแย้งกัน ไม่ยอมรับสิทธิต่างๆ ของคนพวกอื่นฝ่ายอื่น ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนกฎหมาย จึงทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายระส่ำระสาย จนถึงอาจจะทำให้สังคมดำรงอยู่ไม่ได้

ในทางกลับกัน ถ้าสมมติไม่ตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม หรือไม่เป็นไปตามธรรม ก็จะทำให้คนทะเลาะวิวาทกัน ไม่สามารถร่วมจิตร่วมใจกัน และยอมรับสมมตินั้นไม่ได้ แล้วความขัดแย้งแตกสามัคคีก็จะเกิดขึ้น ถ้าเป็นไปอย่างรุนแรงหรือแพร่หลาย ก็จะนำไปสู่ความเสื่อมสลายของสังคม

จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ที่จะให้สมมติที่เป็นหลักของสังคมตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม และเป็นไปโดยชอบธรรม เพื่อให้เกิดความสามัคคี แม้หากว่าสมมตินั้นขัดต่อผลประโยชน์ของบุคคลบางคน แต่ถ้าสมมตินั้นชอบธรรม มีธรรมเป็นฐานรองรับ เขาก็ไม่อาจปฏิเสธสมมตินั้นได้ พร้อมกันนั้น ก็ต้องมีการพัฒนาคนอยู่เสมอเพื่อให้ร่วมสามัคคีในการที่จะยอมรับและปฏิบัติตามสมมติที่ชอบธรรมนั้นๆ

ถ้าคนไม่ยอมรับความจริงในธรรมดาของธรรมชาติ เขาก็จะได้รับผลร้ายตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ แต้ถ้าเขาไม่ยอมรับสมมติ เขาก็จะแตกสามัคคีกันในสังคมมนุษย์เอง และผลร้ายก็เกิดแก่เขาเนื่องจากความแตกสลายของสังคมของเขานั้น

พระพุทธเจ้าตรัสย้ำเรื่องสามัคคี ในทางสังคมนั้น นอกจากบัญญัติสิกขาบทแล้ว ก็มีหลักการในด้านธรรมที่จะอุดหนุนวินัยด้วย พร้อมทั้งในทางวินัยก็ทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นมาเพื่อสร้างความสามัคคี

ดังนั้น ถ้าพระเกิดทะเลาะกันขึ้นจึงต้องมีวิธีระงับอธิกรณ์ คือ ดำเนินคดี เพื่อตัดสินความผิด และลงโทษกัน ให้เสร็จสิ้นไป ไม่ให้ต้องรออยู่อย่างนั้น และถ้ามีคดีเกิดขึ้นแต่ไม่ดำเนินการ ก็ต้องเอาผิดกับพระที่ไม่ดำเนินการอีก จะไปอ้างว่ารอให้กรรมจัดการ ไม่มีทาง วินัยไม่รอด้วย วินัยก็มีกรรมที่จะนำมาใช้จัดการได้ทันที (ดูเรื่องสังฆกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงนิคคหกรรมจำนวนมาก ในพระวินัยปิฏก)

เป็นอันว่า กรรม มี แบบ คือ

๑. กรรมในธรรม ที่เป็นกฎธรรมชาติ

๒. กรรมในวินัย ที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยสมมติ

ในทางวินัย ถ้าพระทำผิด ชุมชนคือสงฆ์ ก็มีกรรมสมมติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นสิกขาบท ที่จะนำมาใช้จัดการได้ทันที และต้องจัดการโดยไม่รอกรรมในกฎธรรมชาติ

ทั้งนี้เพราะว่า ถึงตอนนี้ เราได้นำเอากรรมสมมติ ที่เกิดจากปัญญาและเจตนาของมนุษย์ มาเป็นปัจจัยร่วมที่เพิ่มเข้าไปเป็นกรรมในกฎธรรมชาติด้วยแล้ว

 

– ๒ –
หลักแห่งปฏิบัติการ

ถ้าคนอยู่ในหลักการ ก็ไม่ต้องมีกฎหมาย
ถ้ากฎหมายไม่ใช่เพื่อหลักการ ก็ไม่ควรให้เป็นกฎหมาย

กฎหมายแม้จะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่เพียงพอและไม่เป็นหลักประกันว่าจะทำให้ชีวิตดีงามและสังคมมีสันติสุขได้ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย ที่มีและยอมรับความแตกต่างหลากหลายของประชาชน คนจะต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหลักการพื้นฐานและจิตใจที่เข้ากันได้ เช่น ไม่แบ่งแยกรังเกียจเดียดฉันท์กันด้วยเรื่องชนชั้น ผิวพรรณ เชื้อชาติ และลัทธิศาสนา มีความเสมอภาค ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นต้น สังคมจึงจะมีความมั่นคงยั่งยืนอยู่ได้

ฉะนั้น สามัคคีหรือเอกีภาพจึงเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำรงรักษาสังคม และจะต้องมีหลักความประพฤติปฏิบัติต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความสามัคคีเช่นนั้น

การที่สังคมบัญญัติวินัยคือกฎหมายต่างๆ ขึ้น ก็เพื่อมาหนุนให้คนดำรงอยู่ในหลักการต่างๆ เหล่านั้น อันจะทำให้สังคมหรือสังฆะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วจะได้มีความมั่นคงยั่งยืนและมีสันติสุขตามวัตถุประสงค์

หลักการต่างๆ เพื่อดำรงรักษาสังคมนั้น เท่ากับเป็นสาระหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ถ้าคนยึดถือและปฏิบัติตามหลักการเหล่านั้น ก็แทบจะพูดได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย นอกจากในความหมายว่าเป็นข้อหมายรู้อย่างที่กล่าวข้างต้น หลักการต่างๆ เหล่านี้ นอกจากนำมาเป็นหลักในการบัญญัติข้อกฎหมายแล้ว บางทีก็มีอยู่ในรูปที่เป็นคติธรรมหรือหลักคำสอน

ธรรมที่เป็นหลักการทั่วไปซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้เป็นสิกขาบทในทางวินัยมีหลายอย่าง ที่เป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในชุมชนแห่งกัลยาณมิตร เช่น หลักสาราณียธรรม เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักการของประชาธิปไตย ขอยกมาเป็นตัวอย่าง หลัก สาราณียธรรม ๖ ประการ (สารณียธรรม ก็เรียก) คือ

๑. เมตตากายกรรม จะทำอะไรก็ทำต่อกันด้วยเมตตา ทำด้วยใจรักหวังดี เช่น เมื่อมีเรื่องที่ต้องจัดทำ หรือมีงานส่วนรวม ก็มาช่วยเหลือร่วมมือกัน พร้อมเพรียงกันทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ด้วยหวังดีที่จะให้เกิดประโยชน์สุขต่อกัน

๒. เมตตาวจีกรรม จะพูดอะไรก็พูดต่อกันด้วยเมตตา พูดด้วยใจรักหวังดี มีปิยวาจา ช่วยแก้ปัญหา มุ่งให้เกิดความสามัคคีและประโยชน์สุขร่วมกัน

๓. เมตตามโนกรรม จะคิดอะไรก็คิดต่อกันด้วยเมตตา คิดด้วยใจรัก หวังดี คิดในทางที่จะแก้ไขปัญหา ในทางสมัครสมานประสานส่งเสริม หรือเอื้อเฟื้อช่วยเหลือสนับสนุนกันเพื่อจุดหมายที่ดีงาม ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน

๔. สาธารณโภคิตา ได้มาแบ่งกันกินใช้ หลายคนเข้าใจผิดว่า พระพุทธศาสนาไม่เอาใจใส่เรื่องวัตถุ แต่แท้จริงพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องลาภหรือผลประโยชน์หรือเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง ถือว่าต้องจัดสรรให้เรียบร้อยชอบธรรม แต่ให้อยู่ในขอบเขตที่เรียกว่าเป็น ปัจจัย เพราะฉะนั้น เรื่องการแบ่งปันลาภและเอื้อเฟื้อกัน รวมถึงเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ จึงเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่งในหลักการอยู่ร่วมกัน

๕. สีลสามัญญตา เสมอสมานกันโดยศีล ตั้งอยู่ในหลักความประพฤติเสมอกัน คล้ายกับที่พูดกันว่ามีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายทุกคนต่อหน้าวินัยแล้วเสมอกันทั้งหมด แม้แต่เป็นพระอรหันต์ก็ไม่ยกเว้น นอกจากมีกฎยกเว้นให้เป็นสิกขาบทโดยเฉพาะ จึงจะพ้นโทษทางวินัย ในเรื่องของวินัยจะอ้างธรรมไม่ได้ วินัยกำหนดไว้ให้เสมอภาคกันและจึงต้องพยายามประพฤติตัวให้เสมอกันโดยศีล ไม่ให้เป็นที่รังเกียจแก่ชุมชน

๖. ทิฎฐิสามัญญตา เสมอสมานกันโดยทิฏฐิ หมายความว่า ยึดถือหลักการพื้นฐานและอุดมการณ์ของสังคมร่วมกัน ในสังคมใดไม่มีหลักการร่วมกัน ก็จะดำรงเอกภาพไว้ไม่ได้ เช่น ในสังคมประชาธิปไตย ถ้าประชาชนไม่ยึดถือหลักการแห่งประชาธิปไตยร่วมกัน ก็ถึงอวสาน เพราะฉะนั้นสมาชิกจึงต้องมีอุดมการณ์ และมีหลักการที่เป็นทิฏฐิพื้นฐานร่วมกัน

ธรรม ๖ ข้อนี้เป็นหลักแห่งความสามัคคี ในระหว่างบุคคลก็เป็นปิยกรณ์ แปลว่าสร้างความรักกัน ครุกรณ์ สร้างความเคารพกัน สารณียะ ทำให้ระลึกถึงกัน หรือยึดเหนี่ยวใจกันไว้ และในแง่ส่วนรวมก็เป็นไปเพื่อสังคหะ คือทำให้รวมคนเข้าเป็นหมู่อยู่ได้ เพื่ออวิวาทะ ทำให้ไม่วิวาทกัน เพื่อสามัคคี คือพร้อมเพรียงกัน และเพื่อเอกีภาพ ที่เรียกว่า เอกภาพ คือทำให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีหลักการอื่นอีก เช่น อปริหานิยธรรม คือธรรมที่จะทำให้ไม่เสื่อม ซึ่งมี ข้อ คือ

๑. ประชุมกันเนืองนิตย์

๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็อยู่จนเลิกโดยพร้อมเพรียงกัน และเมื่อมีกิจส่วนรวม คือสังฆกรณีย์ เกิดขึ้น ก็ต้องพร้อมใจกันทำ

๓. ไม่ถืออำเภอใจแล้วบัญญัติอะไรตามใจตัว หรือล้มเลิกถอนบทบัญญัติอะไรตามใจชอบ

๔. เคารพนับถือยกย่องบุคคลที่เป็นหลัก ที่เรียกว่า สังฆบิดร มองเห็นความสำคัญของถ้อยคำของท่าน ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าต้องเชื่อ แต่ภิกษุใดเป็นเถระ เป็นรัตตัญญู หมายความว่า ได้มีประสบการณ์ยาวนาน มีความรู้เป็นหลัก ต้องมองเห็นความสำคัญของถ้อยคำของท่าน และให้สำคัญว่าเป็นสิ่งอันพึงฟัง ไม่ลบหลู่ละเลยหรือมองข้ามไป

๕. ให้เกียรติและคุ้มครองสตรี ไม่ให้มีการข่มเหงรังแกกุลกุมารี (น่าสังเกตว่า สังคมไทยเวลานี้ได้ทรุดลงไปไกลในเรื่องนี้ ถึงขั้นที่มีโสเภณีเด็กแพร่หลาย อย่างที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็น; สำหรับหมู่สงฆ์ ข้อนี้ท่านใช้ว่า ไม่ลุแก่อำนาจตัณหา คือไม่เห็นแก่การบำรุงบำเรอปรนเปรอเสพบริโภคและผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งสังคมคฤหัสถ์ก็ควรจะปฏิบัติด้วย)

๖ ให้ความสำคัญแก่ เจดีย์ หรืออนุสาวรีย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคารพ เป็นที่รวมใจของสังคม และเป็นเครื่องเตือนใจให้เกิดจิตสำนึกต่อส่วนรวม (สำหรับหมู่สงฆ์ ข้อนี้ท่านใช้ว่า มีใจผูกพันใฝ่ชอบเสนาสนะป่า)

๗. จัดอารักขาคุ้มครองป้องกันแก่พระอรหันต์ หมายความว่า พระสงฆ์ หรือนักบวชที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ไม่ประมาทมัวเมา เป็นหลักใจของประชาชน เป็นตัวแทนของคุณธรรม เป็นหลักของศีลธรรม เป็นผู้รักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม ให้ถือเป็นหน้าที่ของบ้านเมืองจะต้องจัดการอารักขา คุ้มครองป้องกัน และยินดีต้อนรับท่าน (ข้อนี้สำหรับหมู่สงฆ์ ท่านเปลี่ยนเป็นว่า ยินดีต้อนรับเพื่อนสพรหมจารีที่ยังไม่มา และตั้งใจต่อท่านที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข)

สำหรับคฤหัสถ์ คือคนทั่วไปที่อยู่ในสังคมใหญ่ ยังมีหลักธรรมอีกชุดหนึ่งเรียกว่า สังคหวัตถุ แปลว่า หลักการสงเคราะห์ คือหลักการยึดเหนี่ยวประสานหมู่ชนให้อยู่ในความสามัคคี ซึ่งมี ๔ ประการ (สังคหะ แปลว่า สังเคราะห์ หรือสงเคราะห์ ที่เราใช้ในความหมายว่าช่วยเหลือกัน แต่คำศัพท์เดิมแปลว่ารวมเข้าด้วยกัน) หมายความว่า ในการที่จะผนึกให้สังคมมีความมั่นคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ คนจะต้องมีธรรม ๔ ข้อนี้ คือ

๑. ทาน การให้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน มีลาภหรือผลประโยชน์ก็กระจายเฉลี่ยกันไป

๒. ปิยวาจา การพูดด้วยใจรักหวังดี กล่าวถ้อยคำสุภาพไพเราะ รู้จักใช้วาจาแสดงน้ำใจ ที่จะแก้ปัญหาและช่วยเหลือกัน

๓. อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์ เอาเรี่ยวแรงกำลังความสามารถเข้าช่วยเหลือร่วมมือกัน

๔. สมานัตตตา การเอาตัวเข้าสมาน มีความเสมอภาค ทำตัวให้เข้ากันได้ โดยร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ร่วมกันเผชิญและแก้ปัญหา ไม่ทอดทิ้งกัน ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง สม่ำเสมอสมานกันโดยธรรม

สังคหวัตถุ ๔ นี้ แปลเป็นภาษาง่ายๆ ในแง่ของการช่วยเหลือกันเพื่อให้เกิดการประสานสังคม คือ

๑) ช่วยด้วยสิ่งของเงินทอง

๒) ช่วยด้วยถ้อยคำ เช่น แนะนำคนให้รู้วิธีแก้ปัญหาของเขา ให้ความรู้ สั่งสอนวิชาการ เพื่อให้สามารถแก้ไขบำบัดความทุกข์ยาก

๓) ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลังความสามารถ

๔) ทำตัวเสมอสมาน คือ ทำตัวให้เข้ากันได้ โดยมีความเสมอภาคกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอหน้าตามธรรม

ที่ว่ามานี้เป็นหลักที่จะรวมหมู่ชนให้อยู่ด้วยกัน และทำให้สังคมมีความเจริญมั่นคง แต่เป็นหลักที่ไม่ได้บัญญัติเป็นสิกขาบทในวินัย จึงไม่มีการกำหนดความผิดและไม่มีการลงโทษ แต่ให้เป็นหลักที่รู้กันว่าควรประพฤติปฏิบัติ

มีหลักปฏิบัติอีกชุดหนึ่ง ซึ่งพูดถึงกันมากว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการดำรงรักษาสังคมให้มีความสงบเรียบร้อย คือ ศีล ๕ และจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติในกฎหมายทั้งแพ่งและอาญาแทบทั้งหมด มีเจตนารมณ์ตามหลักศีล ๕ นี้

อย่างไรก็ดี พึงสังเกตว่า ศีล ๕ นี้ที่จริงเป็นสิกขาบท แต่เป็นสิกขาบทสำหรับคฤหัสถ์ (ในวินัยสำหรับพระภิกษุ ศีล ๕ หรือสิกขาบท ๕ นี้ กระจายแยกออกไปเป็นสิกขาบทย่อยๆ มากหลายข้อ และรวมอยู่ในสิกขาบท ๒๒๗ ที่เราเรียกกันว่าศีล ๒๒๗ ซึ่งมีบัญญัติความผิดแก่ผู้ละเมิด)

ในสังคมของชาวพุทธนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงกำหนดความผิดและการลงโทษไว้แก่ผู้ละเมิดศีล ๕ เราพูดได้ว่าทางพระศาสนายกศีล ๕ นี้ให้เป็นเรื่องของสังคมคฤหัสถ์ โดยเฉพาะทางฝ่ายรัฐจะนำมาจัดแยกซอยเป็นข้อกำหนดย่อยๆ ลงไป ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละถิ่นฐานและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงต่างกันไป แล้วกำหนดความผิดและการลงโทษตามที่เหมาะสมตามธรรม และเท่าที่เป็นมาจะเห็นได้ว่า กฎหมายโดยทั่วไปในขั้นพื้นฐานมีสาระสำคัญเพื่อจะดำรงรักษาศีล ๕ หรือเพื่อดูแลไม่ให้คนละเมิดสิกขาบท ๕ ข้อนี้

โดยนัยนี้ ศีล ๕ (สิกขาบท ๕) จึงเป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานเพื่อช่วยให้สังคมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่การที่สังคมจะก้าวไปสู่จุดหมายแห่งการพัฒนาที่ถูกต้องดีงามแท้จริง จะต้องให้คนพัฒนาขึ้นไปเหนือกว่าศีล ๕ ที่เป็นเพียงระดับแก้ไขป้องกันความชั่วร้ายและการเบียดเบียนกัน สู่หลักการเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมาแสดงข้างต้น อันควรจะเป็นสาระและเจตนารมณ์ที่แท้จริงทั้งของกฎหมายและการปกครอง

เมื่อได้พูดถึง ศีล ๕ แล้ว ก็ควรจะนำข้อย่อยมาแสดงไว้ด้วย ซึ่งมีดังนี้

๑. การเว้นจากปาณาติบาต (การไม่ละเมิดต่อชีวิตร่างกาย)

๒. การเว้นจากอทินนาทาน (การไม่ละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน)

๓. การเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร (การไม่ละเมิดต่อคู่ครองของหวง)

๔. การเว้นจากมุสาวาท (การไม่ละเมิดต่อกันทางวาจา)

๕. การเว้นจากสุรายาเมา (การไม่ดื่มสุราหรือเสพสิ่งเสพติด)

ศีล ๕ (สิกขาบท ๕) นี้ มีสาระสำคัญที่มุ่งเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันด้วยดีโดยไม่เบียดเบียนกัน จะได้มีความสงบเรียบร้อย ที่เป็นโอกาสพื้นฐานแห่งการพัฒนาชีวิตสู่ประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นไป

สำหรับ ๔ ข้อแรก จะเห็นความหมายนี้ได้ชัดเจน แต่ข้อ ๕ ที่ว่า เว้นจากสุรายาเสพติดที่จะทำให้เกิดความประมาทขาดสตินั้น มักมองเห็นชัดแต่ในแง่ของโทษต่อชีวิตของตัวผู้เสพเอง แต่ที่จริงในการจัดเข้าชุดแห่งศีล ๕ นี้ ท่านมุ่งความหมายเชิงสังคม

ในแง่สังคมนั้น การละเมิดศีลข้อ ๕ คือ เสพสุรายาเมาสิ่งเสพติด ก่อความเสียหายหรือโทษภัยที่สำคัญ คือ

๑. คนเมาสุรายาเสพติด ขาดสติแล้ว จะทำการร้ายละเมิดศีลได้หมดทุกข้อ ไม่ว่าจะฆ่าคน ทำร้ายกัน ลักหรือทำลายทรัพย์สิน ทำความผิดทางเพศ พูดเท็จ ก็ได้ทั้งนั้น

๒. ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจจะก่อความพินาศหรือความเสียหายอย่างมาก

๓. แม้ยังไม่ได้ลงมือทำการร้ายใดๆ ก็เป็นผู้คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม เช่น คนที่ขับรถไปในถนนหลวง พอมองเห็นรถที่กำลังแล่นสวนมามีคนขับที่เมาเหล้า หรือระแวงว่าคนขับรถสิบล้อที่กำลังแล่นสวนมาเสพยาม้ายาบ้า ก็จะเกิดความรู้สึกหวาดหวั่น พรั่นใจ

รวมความว่า สังคม โดยเฉพาะรัฐ จะต้องจัดตั้งวางมาตรการทางสังคม โดยเฉพาะการออกกฎหมาย ที่จะมาเป็นประกันให้คนดำรงอยู่ในศีล ๕ หรือสิกขาบท ๕ นี้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนยึดถือหลักการต่างๆ ที่กล่าวแล้วข้างต้น เช่น สาราณียธรรม ๖ และสังคหวัตถุ ๔ เป็นต้น

กล่าวได้ว่า หลักการต่างๆ เหล่านี้และทำนองนี้ เป็นสาระของวินัย หรือเป็นเจตนารมณ์ที่แท้ของกฎหมาย ถ้าคนมีการศึกษาที่พัฒนาตนอย่างถูกต้อง ให้มีศรัทธา เห็นคุณค่า พร้อมและเต็มใจ สมัครใจที่จะปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการบัญญัติข้อกำหนดของกฎหมายหรือสิกขาบทในวินัย

ในทางตรงข้าม การที่มีสิกขาบทหรือกฎหมาย ก็เพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นใจว่า จะมีการปฏิบัติให้เกิดผลตามหลักการเหล่านี้ ดังนั้น ถ้าคนไม่ปฏิบัติตาม หรือเคลื่อนคลาดจากหลักการมากขึ้น ก็ยิ่งต้องมีการบัญญัติสิกขาบทหรือข้อกฎหมายมากขึ้นๆ และมักจะต้องมีการบัญญัติความผิดและการลงโทษมากขึ้น หรืออาจจะหนักขึ้นด้วย

เมื่อคนเป็นวิญญูรู้สาระของกฎหมาย สังคมสงบสุขด้วยกติกาง่ายๆ
ครั้นคนเสื่อมลงไป กฎหมายยิ่งบังคับซับซ้อน สังคมยิ่งเสื่อมทรุด

เป็นความจำเป็นว่า เมื่อคนมาอยู่ร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ก็ต้องมีข้อตกลงที่กำหนดกันขึ้นไว้ว่า จะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร เป็นต้น เพื่อให้ชีวิตแห่งการอยู่ร่วมกันดำเนินไปด้วยดี เอื้อประโยชน์ต่อทุกคนด้วยกัน เพราะฉะนั้น ในสังคมที่คนมีการศึกษาพัฒนาดีแล้ว ที่เขาเข้าใจความหมายของข้อตกลงสำหรับการเป็นอยู่และทำกิจการร่วมกันเช่นนี้ และมีจิตใจที่พร้อมจะปฏิบัติ การมีกฎหมายเพียงในความหมายว่าเป็นข้อหมายรู้ หรือข้อกำหนดที่หมายรู้ในการอยู่ร่วมกัน ก็เป็นการเพียงพอ (เรื่องนี้จะพูดถึงอีกข้างหน้า)

ในภาวะเช่นนี้ กฎหมายหรือข้อหมายรู้ จะเป็นเพียงข้อตกลง หรือกติกาทางปัญญา ซึ่งมีจำนวนจำกัดตามความจำเป็นแห่งกิจที่จะทำ และเมื่อคนยังปฏิบัติกันดี ก็ไม่ต้องมีสิกขาบทหรือข้อกฎหมายมาก

อย่างไรก็ดี เมื่อคนขาดการศึกษาที่ถูกต้อง ไม่ได้พัฒนาตน เขาไม่เข้าใจความหมาย ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่พร้อมที่จะปฏิบัติ

เมื่อคนไม่ปฏิบัติตามข้อหมายรู้นั้น ก็ต้องมีการบัญญัติข้อกฎหมายในลักษณะที่เป็นข้อบังคับ ที่มีการกำหนดความผิดและการลงโทษเพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดจะกลายเป็นว่า ยิ่งมีการบัญญัติข้อกฎหมายมาก ชีวิตและสังคมกลับยิ่งเสื่อมโทรม และในกรณีเช่นนี้ การมีกฎหมายในความหมายว่าเป็นข้อบังคับมาก กลับกลายเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเสื่อมโทรมของชีวิตและสังคม

เพราะฉะนั้น ในสังคมที่คนมีการศึกษาถูกต้อง พัฒนาตนดีแล้ว ก็จะมีกฎหมายแต่เพียงที่เป็นข้อหมายรู้ ไม่ต้องเลยไปเป็นข้อบังคับ

แต่ตรงข้าม ในสังคมที่ไม่พัฒนา คนขาดการศึกษา หรือเมื่อการศึกษาเสื่อมลง กฎหมายที่มีความหมายเป็นข้อบังคับ ก็จะเพิ่มมากขึ้นๆ โดยที่แม้จะจำเป็นเพื่อกันไม่ให้เสื่อมโทรมลงไปอีกๆ แต่ก็ไม่ช่วยให้ชีวิตและสังคมดีงามขึ้นได้เลย อย่างน้อย ยิ่งมีข้อบัญญัติมาก หลักการที่เป็นสาระกลับยิ่งเลือนลางจางหาย

เคยมีผู้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า (ม.ม.๑๓/๑๗๑-๒/๑๗๔; และดู สํ.นิ.๑๖/๕๓๑-๕/๒๖๓)

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เมื่อก่อนโน้น สิกขาบทมีน้อยกว่า แต่ภิกษุผู้ดำรงในอรหัตตผลกลับมีมากกว่า ครั้นมาบัดนี้ สิกขาบทมีมากกว่า แต่ภิกษุที่ดำรงในอรหัตตผลกลับมีน้อยกว่า”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“เป็นเช่นนั้น ภัททาลิ เมื่อหมู่ชนกำลังเสื่อมลง เมื่อสัทธรรมกำลังเลือนหาย สิกขาบทก็มีมากขึ้น แต่ภิกษุที่ดำรงในอรหัตตผลกลับน้อยลง

ภัททาลิ พระศาสดาจะยังไม่บัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ตราบเท่าที่อาสวัฏฐานิยธรรม (เรื่องเสียหายวุ่นวาย) ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ แต่เมื่อใดมีอาสวัฏฐานิยธรรมปรากฏในสงฆ์ เมื่อนั้นพระศาสดาก็จะบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อขจัดแก้ไขอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น

ภัททาลิ อาสวัฏฐานิยธรรมทั้งหลาย จะยังไม่ปรากฏในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ . . . ยังไม่ถึงความพรั่งพร้อมด้วยลาภ . . . ยังไม่ถึงความพรั่งพร้อมด้วยยศ . . . ยังไม่ถึงความเป็นพหูสูต . . . ยังไม่ถึงความเป็นรัตตัญญู แต่เมื่อใดสงฆ์ถึง(ภาวะดังที่กล่าวมานั้น) เมื่อนั้นก็จะมีอาสวัฏฐานิยธรรมปรากฏในสงฆ์ และเมื่อนั้นพระศาสดาก็จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อขจัดแก้ไขอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น”

โดยนัยดังกล่าวมา การศึกษาที่แท้ ในความหมายของการพัฒนาคนอย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และสัมพันธ์กับวินัย ไม่ว่าจะในความหมายที่เป็นกฎหมาย เป็นระบบที่จัดตั้ง หรือเป็นการปกครองก็ตาม ทั้งในแง่ที่ว่าจะต้องมีการพัฒนาคนอย่างถูกต้องเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง และในแง่ที่ว่าวินัยเช่นกฎหมายเป็นเครื่องมือจัดสรรสภาพเอื้อโอกาสในการพัฒนาชีวิตของมนุษย์

เมื่อมีการศึกษาที่แท้ที่ทำให้คนพัฒนาอย่างถูกต้อง คนก็จะพร้อมที่จะปฏิบัติตามวินัยโดยเฉพาะที่เรียกว่ากฎหมาย(ที่ชอบธรรม) และคนที่มีการศึกษาที่พัฒนาตนแล้วอย่างถูกต้องนั้น ก็จะมองวินัย โดยเฉพาะกฎหมายนั้นเป็นข้อหมายรู้ ที่จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ในการช่วยกันสร้างสรรค์สภาพชีวิตและสังคม ที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามและประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นต่อไป

สงฆ์เป็นชุมชนแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งขึ้นตามหลักการที่กล่าวนี้ และพระพุทธเจ้าก็ทรงได้รับถวายคำสรรเสริญว่า ทรงฝึกคนและปกครองคนโดยไม่ต้องใช้ทัณฑอาชญา (เช่น วินย.๗/๓๘๑/๑๙๐; ม.ม.๑๓/๕๒๙/๔๘๓; ๕๖๕/๕๑๑)

นักปกครองในอุดมคติ ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าเป็นจักรพรรดิ ซึ่งเป็นธรรมราชา ก็เป็นผู้ที่ปกครองแผ่นดินโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้ทัณฑะ หรือศัสตราวุธ (เช่น ที.สี.๙/๑๔๓/๑๑๕; ที.ม.๑๐/๒๘/๑๘; ที.ปา.๑๑/๓๔/๖๒)

ตามความหมายที่กล่าวมานี้ การปกครองที่ดี คือการปกครองโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ และกฎหมายที่ดี คือบัญญัติที่เป็นข้อหมายรู้ในการที่จะเป็นอยู่และทำกิจในการมีชีวิตร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นขึ้นต่อความสำเร็จในการปฏิบัติตามหลักการแห่งการพัฒนาคน

จะรักษาธรรมให้แก่สังคมได้ ต้องรักษาดุลยภาพให้แก่ใจของตน

มีอีกหลักหนึ่งที่เป็นพื้นฐานลึกลงไปในจิตใจ คนเรานี้ถ้าไม่มีพื้นฐานในใจ กฎหมายหรือวินัยจะกำหนดอย่างไรก็ไม่ได้ผลจริงจังยั่งยืน เพราะคนจะหาทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย ตลอดจนสมคบกันหาประโยชน์จากกฎหมาย อย่างน้อยก็ไม่มีความยินดีเต็มใจพร้อมใจที่จะปฏิบัติตาม และในที่สุดกฎหมายก็จะอยู่ไม่ได้ วินัยรวมทั้งกฎหมายจึงต้องมีคุณสมบัติในใจคนเป็นฐานรองรับ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจและเป็นเครื่องผูกใจให้คนประพฤติตามกฎหมายได้

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมีการพัฒนาคน ถ้าไม่พัฒนาคน การดำรงสังคมก็ไปไม่ตลอด

สังคมที่จะบัญญัติกฎหมายต่างๆ ต้องถือกฎหมายเป็นตัวเกื้อหนุน คือจะต้องถือเป็น means ไม่ใช่เป็น end ถ้าเราถือกฎหมายเป็น end ก็จบ แม้แต่ถือความสงบเรียบร้อยเป็นจุดหมายก็ยังไปไม่รอด เพราะขาดสาระหรือตัวแกน คือการพัฒนาคน

จะพัฒนาคนอย่างไร ก็ต้องทำให้คนประพฤติปฏิบัติทำการทั้งหลายด้วยปัญญา จากเจตนาที่ดี บนฐานแห่งจิตใจที่มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ และมีจิตสำนึกต่อสังคม

พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมไว้ชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นท่าทีพื้นฐานในจิตใจของคนที่จะสร้างสรรค์และรักษาสังคมมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่รักษากฎหมาย แต่เป็นคุณสมบัติสำหรับบุคคลที่จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และอนุรักษ์สังคมนี้ไว้

สังคมมนุษย์นั้น มนุษย์ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และอนุรักษ์ มิฉะนั้นก็จะพินาศ แม้แต่การที่จะรักษากฎหมายได้ ก็ต้องมีท่าทีพื้นฐานในจิตใจมาเป็นแกนให้ก่อน ท่าทีพื้นฐานนี้ไม่ใช่หลักธรรมยากอะไร ก็คือหลักพรหมวิหาร ๔ นี่เอง

พรหมวิหาร ๔ ข้อนี้เป็นท่าทีที่สำคัญของจิตใจ แต่ในสังคมไทยเข้าใจธรรมชุดนี้กันผิดพลาดมาก และปฏิบัติกันไม่ครบถ้วน หรือปฏิบัติคลาดเคลื่อนจนทำให้เกิดผลร้ายบางอย่าง

“พรหมวิหาร” แปลว่า ธรรมประจำใจของพรหม พรหม คือ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ที่สร้างโลกและอภิบาลโลก ในทัศนะของพราหมณ์ เขาถือว่ามนุษย์อยู่กันไป พอถึงกัปป์หนึ่งโลกจะพินาศ และพระพรหมจะสร้างโลกขึ้นมาใหม่ แล้วพระพรหมก็ลิขิตชีวิตและจัดสรรสังคมมนุษย์ว่าจะให้เป็นอยู่กันอย่างไร

แต่พระพุทธศาสนาไม่รอพระพรหม เราถือว่าทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในการสร้างสรรค์และอภิบาลสังคม เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องทำตัวให้เป็นพรหม โดยประพฤติตามหลัก ที่เรียกว่า พรหมวิหาร ๔ ข้อนี้ คือ

๑. เมตตา มีใจไมตรี ปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข

๒. กรุณา พลอยสะเทือนใจ ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ที่จะเห็นทุกข์ของเขา

๓. มุทิตา พลอยยินดีในความดีงามความสุขความสำเร็จของเขา

๔. อุเบกขา วางใจเป็นกลางต่อทุกคนเพื่อรักษาธรรม

ท่าทีพื้นฐาน ๔ ประการนี้เข้าใจง่าย เพราะเป็นท่าทีที่แสดงออกต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้น วิธีที่จะดูความหมายก็ดูที่คนอื่น คือดูตามสถานการณ์ที่คนอื่นเขาประสบ จึงจะรู้ว่าเราจะใช้พรหมวิหารข้อไหน แล้วความหมายก็จะชัดออกมาเอง

สถานการณ์ที่ ๑ เมื่อคนอื่นเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา คือ มีความหวังดี มีความรัก มีความเป็นมิตร (เมตตา มาจากรากศัพท์เดียวกับคำว่า มิตร คือคุณสมบัติของมิตรนั่นเอง ได้แก่น้ำใจที่หวังดีอยากให้เขาเป็นสุข)

สถานการณ์ที่ ๒ เมื่อบุคคลอื่นนั้นตกต่ำ คือ เขาเดือดร้อนเป็นทุกข์ประสบปัญหา เราก็มีกรุณา คือพลอยหวั่นไหวสะเทือนใจไปกับความทุกข์ของเขา อยากจะช่วยบำบัดทุกข์นั้น หรือยกเขาขึ้นมาจากความทุกข์นั้น (จะเห็นว่า เมตตากับกรุณาต่างกันมาก)

สถานการณ์ที่ ๓ เมื่อบุคคลอื่นนั้นเปลี่ยนจากปกติและตกต่ำเป็นขึ้นสูง คือเขาประสบความสำเร็จ มีความสุข ทำอะไรๆ ได้ดี หรือก้าวไปในความดีงาม เราก็มีมุทิตา คือพลอยยินดีด้วยในความดีงามและความสุขความสำเร็จของเขา พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน

สถานการณ์ที่ ๔ ซึ่งสำคัญที่สุดที่จะรักษาสังคมไว้ได้ คือ เมื่อบุคคลอื่นนั้นละเมิดธรรม หรือสมควรรับผิดชอบต่อธรรม เราก็มีอุเบกขา คือวางใจเป็นกลาง ไม่ขวนขวายช่วยเหลือที่จะทำให้เสียธรรม โดยวางเฉยต่อบุคคลนั้น ให้เขารับผิดชอบต่อธรรมและตามธรรม ดำรงอยู่ในความสมเหตุสมผล

ในข้ออุเบกขานี้ จะต้องเข้าใจหลักความจริงพื้นฐานก่อนว่า เบื้องหลังสังคมมีธรรมรองรับอยู่ คือหลักการแห่งความเป็นจริงตามธรรมชาติ ความเป็นเหตุเป็นผลในสิ่งทั้งหลาย หรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย การที่มนุษย์มีความสัมพันธ์กันดี ไม่พอที่จะทำให้สังคมอยู่ได้ แม้มนุษย์จะมีความสัมพันธ์กันดีใน ๓ สถานการณ์แรก แต่ถ้าเขาไม่รักษาธรรมไว้ สังคมก็อยู่ไม่ได้ แต่จะวิปลาสคลาดเคลื่อนจนถึงความวิบัติ

เพราะฉะนั้น จึงมีสถานการณ์ที่ ๔ คือ ไม่ว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์จะเป็นอย่างไรก็ตามในสถานการณ์ ๑, ๒ หรือ ๓ แต่ถ้าความสัมพันธ์นั้นไปละเมิดก่อความเสียหายต่อธรรมแล้ว ก็มาถึงสถานการณ์ที่ ๔ ซึ่งจะต้องหยุดความสัมพันธ์นั้น คือวางเฉย ไม่ช่วย ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต้องหยุด เพื่อรักษาธรรม นี้คืออุเบกขาซึ่งเป็นตัวรักษาหลักการของสังคม

ได้กล่าวแล้วว่า เบื้องหลังความเป็นไปในสังคมมนุษย์ที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกัน ยังมีธรรม ที่เป็นความจริงแห่งความถูกต้องดีงาม ความที่ควรจะเป็นตามเหตุผล ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือความเป็นไปตามกฎธรรมชาติอีกชั้นหนึ่ง

บนฐานแห่งหลักความจริงแท้ตามกฎธรรมชาตินั้น เมื่อมนุษย์เอาความรู้ในความจริงมาตั้งเป็นหลักการ เป็นกฎเกณฑ์กติกาในสังคม เราก็พลอยเรียกหลักชั้นสองที่มนุษย์บัญญัตินี้เป็น “ธรรม” ไปด้วย เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งขึ้นเพื่อเรียนธรรมศาสตร์ ก็คือเรียนวิชากฎหมาย นี่คือการที่กฎของมนุษย์ก็ถูกเรียกเป็นธรรมไปด้วย

หลักการที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าระดับไหน จะเป็นระดับความจริงในธรรมชาติ หรือหลักการในสังคมมนุษย์ก็ตาม ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปละเมิดหรือจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลักการนั้น มนุษย์จะต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้วเอาธรรมเป็นใหญ่ และปฏิบัติไปตามธรรม คือ เฉยต่อคนและปฏิบัติไปตามธรรม

ฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นข้อธรรมใหญ่ที่คุมท้าย เพราะเป็นตัวรักษาหลักการไว้ ถ้าไม่รักษาหลักการนี้ สังคมมนุษย์แม้จะมีการช่วยเหลือกันดีก็ไปไม่รอด เพราะสังคมนั้นสูญเสียดุลยภาพ กล่าวคือ

๑. เมื่อคนมีน้ำใจต่อกัน มีเมตตา กรุณา และแม้แต่มุทิตากันดี ก็มีความอบอุ่นมีความสุขในการอยู่ร่วมกันดี แต่ข้อเสียจะเกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์จำนวนหนึ่งจะชอบหวังพึ่งผู้อื่น โดยคิดว่าถ้าเราเดือดร้อนก็ไปหาผู้ใหญ่คนนั้นได้ ไปหาญาติคนนี้ได้ เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย สังคมที่เป็นเช่นนี้ก็จะทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในความประมาท อ่อนแอ เฉื่อยชา หรือถึงกับเกียจคร้าน

๒. เมื่อเอาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นหลัก ชอบช่วยเหลือกันเป็นส่วนตัว ก็อาจจะช่วยกันจนเกินขอบเขต โดยไม่คำนึงถึงหลักการหรือความถูกต้องชอบธรรม แม้จะมีกฎเกณฑ์กติกาหลักการก็ไม่เอา แต่จะเลี่ยงหลีกหลบไป หรือมองข้าม ตลอดจนทำลายกฎกติกานั้นเสีย เมื่อเป็นอย่างนี้สังคมก็เสียหลัก

ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีอุเบกขาไว้เป็นประกัน เมื่ออุเบกขาเข้ามาคุม ก็รักษาดุลของสังคมไว้ได้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน กับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมนี้สมดุลกัน

ในทางตรงข้าม ถ้ามีแต่ข้อสุดท้ายคืออุเบกขา ก็กลายเป็นตัวใครตัวมัน เช่น ในสังคมตะวันตก ฝรั่งมีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน เมตตากรุณาน้อย ไม่ค่อยมีน้ำใจ แต่ยึดถือหลักการกฎเกณฑ์กติกาและกฎหมายเป็นบรรทัดฐาน คุณจะทำอะไรก็ทำของคุณไป ฉันไม่ช่วย ถ้าไม่ผิดกฎหมายฉันไม่ว่าอะไร แต่ถ้าคุณทำผิดกฎหมายเมื่อไรฉันจัดการทันที ระหว่างนั้นฉันไม่ช่วย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่ดิ้นรนขวนขวายคุณก็ตาย

ในสังคมที่เน้นอุเบกขาแบบนี้ ชีวิตจะขาดความอบอุ่น จะเครียด แห้งแล้ง มีทุกข์ในจิตใจ เป็นโรคประสาทและโรคจิตกันมาก แต่เป็นการบีบคั้นคนให้ต้องดิ้น ก็เข้มแข็งดี ทำให้เกิดความเร่งรัดในการสร้างความเจริญก้าวหน้า พร้อมกับสามารถรักษาหลักการและกฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนมีการปฏิบัติตามกฎหมายได้ดี

ในครอบครัวที่พ่อแม่มีอุเบกขามาก เด็กถ้าไม่ร้ายเสียคนไปเลย ก็จะเป็นคนแข็งแกร่ง ช่วยตัวเองได้ดี บุกฝ่าไปได้ แต่อาจจะเหี้ยมเกรียม

ในครอบครัวนั้น ถ้าพ่อแม่มีแต่เมตตา กรุณา มุทิตา มาก ขาดอุเบกขา เด็กจะอ่อนแอ เลี้ยงไม่โต ไม่มีความเข้มแข็ง ทำอะไรไม่เป็น รับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ชอบพึ่งพา ถ้าอย่างแรงก็เป็นนักเรียกร้อง เอาแต่ใจและไม่รู้จักกฎกติกา

ทุกคนมีชีวิตแห่งความสัมพันธ์ ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง เราสัมพันธ์อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเราควรจะมีน้ำใจไมตรีช่วยเหลือกันและกัน และเราก็ช่วยกันได้ แต่อีกด้านหนึ่ง เราอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันตามกฎธรรมชาติ ที่ไม่เข้าใครออกใคร ทุกคนจะต้องปฏิบัติต่อความเป็นจริงนี้ด้วยปัญญา โดยพัฒนาความรู้ความสามารถของตนขึ้นมาเพื่อให้สามารถรับผิดชอบตนเองได้ ในด้านนี้ ถึงแม้มนุษย์จะช่วยกัน ก็ช่วยกันไม่ได้จริง และทำให้กันไม่ได้ จะช่วยกันได้ก็ด้วยการช่วยให้เขาฝึกฝนพัฒนาตัวเขาเองขึ้นมาจนพึ่งตัวของเขาเองได้

ฉะนั้น จะต้องระลึกไว้เสมอว่า มนุษย์ไม่ได้อยู่กับมนุษย์เท่านั้น แต่มนุษย์นั้นต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตด้วย ทุกคนมีชีวิตที่รับผิดชอบต่อความจริงของกฎธรรมชาติ ถึงแม้ในด้านมนุษย์เราจะช่วยเหลือกันดี พ่อแม่จะรักและทำให้ลูกทุกอย่าง แต่ชีวิตและโลกนี้มันไม่ได้มาตามใจด้วย มันมีกฎมีเกณฑ์มีกติกาแห่งธรรมตามความเป็นจริงของมัน ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้องตามเหตุผลด้วยสติปัญญาความสามารถที่จะต้องพัฒนาขึ้นมาในตนเอง

ด้วยเหตุฉะนี้ ทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อธรรม คือความเป็นจริงของชีวิตและสังคม และเราจะต้องฝึกต้องหัดกันให้มีความสามารถนี้ ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องมีท่าทีข้อที่ ๔ คือ อุเบกขาไว้คุมท้าย ชีวิตจึงจะดี และสังคมจึงจะอยู่ได้

สรุปว่า อุเบกขาที่เกิดจากปัญญา เป็นดุลยภาพในจิตใจ ที่ช่วยให้เกิดผลภายนอก ๓ ด้าน (ของเรื่องเดียวกัน) คือ

๑. ช่วยรักษาบุคคล ด้วยการสร้างโอกาสให้เขารู้จักรับผิดชอบต่อเหตุผลและความเป็นจริงของโลกและชีวิต เช่น คอยดูแลให้เด็กทำการต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อช่วยให้เขาพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง คิดเป็น ทำเป็น เป็นต้น

๒. ช่วยรักษาสังคม ด้วยการสนองเจตนารมณ์ของข้อตกลง(สมมติ)ที่วางไว้ โดยปฏิบัติตาม เป็นต้น ทำให้เกิดความเสมอภาค เช่น การที่ทุกคนจะมีความเสมอกันต่อหน้าหลักการกฎเกณฑ์กติกาและกฎหมาย เป็นต้น

๓. ช่วยรักษาธรรม ด้วยการทำให้มีการปฏิบัติตาม ไม่ถูกคนล่วงละเมิด ดำรงรักษาไว้ได้ซึ่งความถูกต้อง ความชอบธรรม ความดีงาม หรืออย่างน้อยความสมเหตุสมผล (ซึ่งมักถือเอาตามความลงตัวโดยเหตุผล หรือการลงความเห็นตามเหตุผลและหลักฐาน ที่เรียกว่าความยุติธรรม อันได้แก่ ธรรมคือยุตติ หรือธรรมโดยยุตติ)

อุเบกขาทำให้เกิดดุลยภาพภายในจิตใจแล้ว ก็คุมพรหมวิหารทั้ง ๔ ให้อยู่ในดุลยภาพด้วย และจึงทำให้เกิดดุลยภาพในสังคมมนุษย์ ด้วยการเอาความรักความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้แก่คน พร้อมกับในขณะเดียวกันก็เอาความถูกต้องดีงามและความพอดีไว้ให้แก่ธรรมชาติและสังคม

เมื่ออุเบกขารักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม หรือระหว่างคนต่อคนกับธรรมไว้ได้แล้ว ก็ต้องไม่ลืมเหลียวแลที่จะปฏิบัติต่อคนนั้นๆ ด้วยเมตตากรุณามุทิตา เท่าที่ไม่เสียหรือกระทบต่อธรรมด้วย

ไทยเราเรียกผู้ทำหน้าที่ตัดสินอรรถคดีว่า “ตุลาการ” ซึ่งจะแปลว่า ผู้มีอาการดุจตราชู ก็ได้ ผู้สร้างตุลาคือสร้างตราชูหรือสร้างมาตรฐาน ก็ได้ หมายความว่า ดำรงตนคงที่ เที่ยงธรรม เป็นมาตรฐานของสังคม เป็นกลางต่อทุกคน ทั้งดีและร้าย สม่ำเสมอในทุกกรณี ไม่เลือกที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ไม่ว่าในสุขหรือทุกข์ ว่าไปตามที่เป็นจริงต่อทุกคนในทุกกรณี (ในภาษาบาลีท่านใช้คำว่า “ตุลาภูตะ” แปลว่า ผู้เป็นดุจตราชู มีคำอธิบายหลายแห่ง เช่น วินย.อ.๓/๒๓๒; องฺ.อ.๒/๕๔; พุทฺธ.อ.๑๖๖-๗; จริยา.อ.๓๑๕ เป็นต้น) นี้คือภาวะที่จิตมีอุเบกขา

เมื่อตั้งอยู่ในอุเบกขา ตัวของผู้ปฏิบัติก็พร้อมที่จะรักษาตนเองไว้ไม่ให้ล่วง อคติ คือ การออกนอกทางที่ควรจะไป หรือความประพฤตินอกทางแห่งธรรม ที่แปลง่ายๆ ว่า ความลำเอียง ประการ คือ (ที.ปา.๑๑/๑๗๖-๑๗๗/๑๙๕)

๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะ รัก หรือเพราะชอบกัน

๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะ ชัง หรือเพราะขัดเคือง

๓. ภยาคติ ลำเอียงเพราะ ขลาด หรือเพราะกลัว

๔. โมหาคติ ลำเอียงเพราะ เขลา หรือเพราะหลงผิดรู้ไม่เท่าถึงการณ์3

นี้คือภาวะแห่งดุลยภาพในจิตใจของบุคคล ที่ส่งผลออกมาทำให้รักษาดุลยภาพในสังคมไว้ได้

จะเห็นชัดว่า พรหมวิหารสามข้อแรกนั้นหนักในด้านความรู้สึก ส่วนข้อที่สี่หนักด้านความรู้

สามข้อแรกหนักด้านความรู้สึกอย่างไร เบื้องแรกเราพัฒนาคนให้พ้นจากความรู้สึกที่ไม่ดีมาสู่ความรู้สึกที่ดีต่อกัน ทำให้มีเมตตา เป็นต้น คือ ยามเขาเป็นปกติ เราก็รู้สึกเป็นมิตร เขาเดือดร้อน เราก็รู้สึกสงสารเห็นใจ เขาได้ดีมีสุข เราก็รู้สึกพลอยชื่นชมยินดีด้วย ทั้งหมดนี้เป็นด้านความรู้สึก ซึ่งเมื่อสถานการณ์นั้นๆ มาถึง ก็พร้อมทันที

แต่ข้อที่ ๔ คืออุเบกขา อาศัยความรู้สึกไม่ได้ ต้องอาศัยความรู้ คือปัญญาด้วย เพราะฉะนั้นอุเบกขาจึงต้องมากับปัญญา เพราะต้องรู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความดีงาม อะไรคือหลักการ แล้วจึงจะปฏิบัติคือมีอุเบกขาได้ ฉะนั้น อุเบกขาจึงต้องตั้งอยู่บนปัญญา

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนาจึงแยกว่า อุเบกขามี ๒ ชนิด คือ อุเบกขาที่เป็นกุศลนี้ กับอุเบกขาที่เป็นอกุศล ซึ่งเรียกว่า “อัญญาณุเบกขา” แปลว่า เฉยโง่ คือเฉยไม่รู้เรื่อง ไม่เอาเรื่อง แล้วก็ไม่ได้เรื่อง

เฉยในภาษาไทย เรามักจะมองแบบเฉยโง่ ซึ่งผิด เป็นอกุศลธรรม ฉะนั้น เฉยในที่นี้ต้องหมายความว่า เฉยเพราะรู้ว่าถ้าช่วยเขาจะกลายเป็นการทำลายธรรม จึงเฉยไม่เอากับบุคคลนั้น เพื่อจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามธรรม

โดยเฉพาะผู้พิพากษา จะต้องมีท่าทีอุเบกขานี้มากหน่อย แม้ว่าจะสงสารหรืออย่างไรก็โอนเอนไม่ได้ ต้องว่าไปตามกฎกติกา และตามหลักการ เพราะฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวรักษาธรรม เช่นความเที่ยงธรรมในสังคมไว้ ในหมู่มนุษย์จะต้องมีธรรมข้อที่ ๔ นี้ไว้เพื่อรักษาธรรมวินัย ตลอดจนกฎเกณฑ์กติกา อย่างที่ว่ากฎต้องเป็นกฎ อะไรทำนองนี้

พฤติกรรมจะถึงภาวะแห่งดุลยภาพ
เมื่อจิตใจและปัญญามาประสานอย่างสมดุล

อย่างไรก็ตาม ที่ว่ากฎต้องเป็นกฎ ก็ต้องระวังเหมือนกัน เพราะกฎมี ๒ ชั้น อย่างที่ว่ามาแล้ว คือกฎธรรมชาติ กับกฎมนุษย์

กฎธรรมชาติซึ่งเป็นความจริงแท้ที่มีอยู่เป็นอยู่ของมันตามธรรมดานั้น เราต้องรู้และรู้ให้ชัดให้ทั่วตลอด เพราะถ้าไม่รู้เราก็พลาด กฎไม่ผิด แต่เราเองพลาด

ส่วนกฎมนุษย์นี้มนุษย์สร้างขึ้นมา เมื่อมนุษย์สร้างเองก็มีทางพลาด กลายเป็นกฎที่ผิด เพราะฉะนั้น การที่จะเอากฎหมายเป็นเกณฑ์ก็จะต้องคอยตรวจสอบกฎหมายตลอดเวลาด้วย โดยเฉพาะต้องดูว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติคือตัวธรรมหรือเปล่า

ฉะนั้น สำหรับกฎหมายคือกฎที่มนุษย์ตั้ง หรือวินัย จึงต้องคอยตรวจสอบความถูกต้องสอดคล้องและความได้ผลตามกฎธรรมชาติหรือความจริงตามธรรมอยู่เสมอ เพื่อให้บรรลุจุดหมายที่เป็นธรรมนั้น ซึ่งต้องอาศัยการที่รู้ทั้งหมด คือรู้ทั้งด้านกฎธรรมชาติ และรู้ด้านมนุษย์ทั้งแง่บุคคลและสังคม

การจะวางกฎหมายได้ดี ต้องรู้เข้าใจธรรมชาติ ทั้งธรรมชาติทั่วไป คือความจริงแห่งธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย และธรรมชาติของมนุษย์ เข้าใจจุดหมายของชีวิต เข้าใจจุดหมายของสังคม ตลอดจนเข้าใจจุดหมายของกฎหมายเอง ซึ่งต้องไปสอดคล้องกับจุดหมายที่ว่ามาทั้งหมดนั้น ถ้าไม่เช่นนั้น จุดหมายของกฎหมายก็พลาดได้

รวมความว่า กฎหมายซึ่งเป็นกฎมนุษย์นี้จะต้องมีการตรวจสอบอยู่เสมอ มิฉะนั้น แม้แต่อุเบกขาก็อาจจะพลาดเหมือนกัน ในกรณีที่เอากฎหมายซึ่งเป็นกฎชั้นรองมาใช้

เรื่องของกฎหมายมีทางพลาดได้ทั้ง ๒ ขั้นตอน คือ ทั้งการบัญญัติกฎหมาย และการใช้กฎหมาย (ทั้งสองขั้นนี้เป็นด้านพฤติกรรม) และผิดพลาดด้วยเหตุสำคัญ ๒ ประการ คือ

๑. ด้านปัญญา ไม่รู้ความจริง คือไม่รู้เท่าทันทั่วถึงธรรม คำว่า “ธรรม” นี้มีหลายชั้น ว่ากันถึงที่สุดก็คือตัวธรรมที่เป็นความจริงในธรรมชาติ ถ้าไม่รู้ความจริงนี้ เช่น ไม่รู้ไม่เข้าใจชีวิตมนุษย์ และไม่เข้าใจเหตุปัจจัยในสังคม ว่าเวลานี้สังคมเป็นอย่างไร มีปัญหาอย่างไร กลไกของปัญหาสังคมเป็นอย่างไร การทำเหตุปัจจัยอย่างนี้ๆ จะก่อให้เกิดผลในสังคมสะท้อนกันไปอย่างไร ถ้าปัญญาไม่รู้ความจริงนี้เพียงพอ การบัญญัติกฎหมายจะพลาดทันที เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้เข้าใจความจริงของตัวธรรมทุกระดับ

ต่อจากปัญญาที่รู้ความจริงคือธรรม เช่นเหตุปัจจัยทั้งหลายแล้ว ก็ยังต้องมีปัญญาในขั้นจัดตั้งวางวินัย คือ รู้จักจัดระเบียบระบบขึ้นมาอย่างประสานสอดคล้องและให้ได้ผลจริงตามธรรมนั้นด้วย

๒. ด้านเจตนา (คือด้านจิตใจ) ถ้ามีเจตนาแอบแฝง เช่น คิดจะหาจะเอาผลประโยชน์แก่ตัวหรือพวกของตัว หรือจะกลั่นแกล้งทำร้ายคนอื่นพวกอื่น ก็จะทำให้พลาดอีกเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น การบัญญัติวินัยที่เป็นกฎในระดับสังคมมนุษย์จึงมีทางผิดพลาด ที่ทำให้ต้องมีการตรวจสอบอยู่เสมอ ๒ ชั้นด้วยกัน คือ

๑. ปัญญาเพียงพอหรือไม่ มีความรู้ความเข้าใจทั่วตลอดและวางแผนจัดตั้งได้สอดสมทั่วถ้วนไหม

๒. เจตนาเป็นอย่างไร

ในการใช้กฎหมาย ถ้าปัญญาไม่พอ ไม่รู้ความจริง หาความจริงไม่ทั่วถึง ก็เกิดความผิดพลาด ถ้าเจตนาไม่ดี ก็อาจจะเลี่ยงหลบหรือเอากฎหมายเป็นเครื่องมือสนองเจตนาร้ายนั้น

ขอเพิ่มเติมในเรื่องนี้อีกหน่อย คือ ในการใช้กฎหมาย หรือใช้หลักการกฎเกณฑ์กติกา ดังได้กล่าวแล้วว่า ในทางวินัยหรือกฎหมายมีกรรมชนิดที่เป็นสมมติ ซึ่งทำให้ไม่ต้องรอกรรมตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อมีพระภิกษุทำผิดวินัย สงฆ์ก็ต้องดำเนินการ ถ้าใครละเว้นก็มีความผิด แม้แต่ภิกษุรู้ว่าภิกษุรูปหนึ่งทำความผิดร้ายแรง แล้วช่วยปกปิดความผิดนั้น ก็เป็นอาบัติ

นอกจากในกรณีที่มีความผิดเกิดขึ้นแล้ว แม้แต่ในยามปกติ ทุก ๑๕ วัน ก็ต้องมีการประชุมครั้งหนึ่ง เพื่อให้ภิกษุทุกรูปตรวจสอบความประพฤติของตนตามปาติโมกข์ คือประมวลกฎหมาย ที่เป็นวินัยขั้นพื้นฐาน (ยังมีวินัยอีกระดับหนึ่งซึ่งว่าด้วยการจัดกิจการของส่วนรวม อันนั้นไม่ต้องเอามาตรวจสอบกันในที่ประชุมนี้) คือเอาวินัยที่เป็นข้อประพฤติส่วนบุคคลมาสาธยายในที่ประชุมทุก ๑๕ วัน ถ้ามีใครทำผิดก็จะต้องจัดการทันที เช่นมีการลงโทษ

วิธีการลงโทษก็เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องมีหลัก ขอเล่าเรื่องในพระสูตรเป็นตัวอย่าง (ม.อุ.๑๔/๑๐๕-๑๑๓/๘๙–๙๖)

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ พระอานนท์ยังอยู่ พระอานนท์นี้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก วันหนึ่งวัสสการพราหมณ์ มหาเสนาบดีของแคว้นมคธ เดินทางมาตรวจราชการงานเมือง ดูแลงานซ่อมแซมพระนคร มาถึงที่พระอานนท์กำลังสนทนากับพราหมณ์คนหนึ่งค้างอยู่

สนทนากันมาถึงตอนที่พราหมณ์ถามว่า มีพระภิกษุรูปใดบ้างไหมที่มีคุณสมบัติพร้อมทุกอย่างเท่ากับพระพุทธเจ้า พระอานนท์ตอบว่าไม่มี เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบและเป็นผู้ชี้แสดงมรรคา ส่วนสาวกทั้งหลายเป็นผู้รู้ตาม ดำเนินตาม

วัสสการพราหมณ์จึงถามต่อว่า พระพุทธเจ้าก็ทรงปรินิพพานไปแล้ว พระองค์ได้ตั้งใครเป็นหัวหน้าปกครองสงฆ์ต่อไป พระอานนท์ตอบว่า ไม่ได้ตั้ง

วัสสการพราหมณ์นี้เป็นนักปกครองบริหารกิจการบ้านเมืองอยู่ จึงว่า พวกท่านไม่มีหัวหน้า ไม่มีผู้ปกครอง จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ความพร้อมเพรียงสามัคคีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

พระอานนท์ก็ตอบว่า พวกเราไม่ใช่จะไม่มีหัวหน้า พวกเรายึดถือธรรมคือหลักการ พวกเราอยู่กันด้วยหลักการ คือยึดถือธรรม

วัสสการพราหมณ์ก็ถามต่อไปว่า ที่ท่านว่าอยู่กันด้วยหลักการ คือยึดถือธรรมนั้น หมายความว่าอย่างไร

พระอานนท์ก็ตอบว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท วางวินัยแม่บทเป็นหลักอ้างอิงไว้แล้ว เมื่อถึงวันอุโบสถ ๑๕ วันครั้งหนึ่ง พระภิกษุที่อยู่ในท้องถิ่นหนึ่งๆ ก็มาประชุมพร้อมกัน ขอให้พระภิกษุรูปหนึ่งสวดสาธยายสิกขาบทที่วางไว้เป็นแม่บทนั้น เมื่อมีพระทำความผิด สงฆ์คือที่ประชุม ก็ให้ภิกษุรูปนั้นปฏิบัติตามกติกา การที่ปฏิบัติเช่นนี้ไม่ถือว่าใครลงโทษภิกษุนั้น แต่ถือว่าธรรมลงโทษเขา

อันนี้เป็นหลักการที่สำคัญ คือกฎเกณฑ์กติกามีอยู่แล้ว สิกขาบทมีอยู่ว่าดังนี้ ใครทำความผิด ที่ประชุมเพียงแต่เป็นสื่อ มาเป็นตัวแทนของหลักการ มาเป็นปากเสียงให้แก่หลักการ เพื่อจะให้หลักการที่วางไว้มีผลในเชิงปฏิบัติ ที่ประชุมและภิกษุทั้งหลายมาเป็นกระบอกเสียงให้แก่ตัวหลักการนั้น แต่เวลาที่ลงโทษถือว่าหลักการลงโทษ ไม่มีภิกษุรูปใดลงโทษ

ส่วนที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตั้งภิกษุใดไว้เป็นหัวหน้าปกครองสงฆ์แทนพระองค์ แต่ภิกษุทั้งหลายก็มีภิกษุที่เคารพนับถือเป็นหัวหน้านั้น ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมคือหลักการที่เป็นคุณสมบัติไว้ ภิกษุใดมีคุณสมบัติอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายก็พร้อมใจกันยกภิกษุรูปนั้นขึ้นเป็นที่เคารพนับถือเชื่อฟัง นี่คือ การที่ไม่ตั้งบุคคล แต่ยึดถือหลักการ

อันนี้ก็เป็นแง่ของนิติศาสตร์แนวพุทธอีกเรื่องหนึ่ง คือผู้พิพากษาจะต้องทำใจและวางท่าทีแบบนี้ คืออย่าไปนึกว่าเราเป็นผู้ลงโทษ ถ้าคิดอย่างนั้นก็ผิดแน่นอน ผู้พิพากษาต้องทำใจให้บริสุทธิ์ ปราศจากความรู้สึกที่เป็นตัวเขาตัวเรา มีแต่เจตนาที่รักษาธรรม และใช้ปัญญาที่รู้ความจริงถ่องแท้ ทำหน้าที่เป็นเพียงกระบอกเสียงให้แก่ตัวธรรมคือหลักการและตัวบทกฎหมายเท่านั้น

เมื่อทำได้อย่างนี้ ถ้ามีการลงโทษ ก็คือกฎหมายลงโทษเขา กติกาลงโทษเขา ตัวธรรมลงโทษเขา

ถ้ามีใจบริสุทธิ์และปัญญาถ่องแท้ถึงที่สุดแล้วก็เป็นตัวธรรมลงโทษเขา นี่คือให้ธรรมในระดับหลักการของมนุษย์มาทำหน้าที่ เพราะถ้ารอให้ธรรมในกฎธรรมชาติมาแสดงผล สังคมอาจจะวิปริตไปเสียก่อนก็ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อมนุษย์มีความสามารถในการจัดตั้ง เราก็ใช้ความสามารถนั้นจัดสรรระบบของสังคมเพื่อจะดำเนินการให้เป็นไปตามธรรม โดยมุ่งให้มีประสิทธิผลในการที่สังคมจะอยู่ร่วมกันด้วยดี คนที่ดำเนินการตามหลักการและกฎกติกาอย่างนี้ ถือว่าดำเนินการตามธรรม เป็นสื่อให้แก่ธรรม เป็นทางผ่านของธรรม หรือเป็นกระบอกเสียงแก่ตัวธรรม ไม่ใช่เป็นผู้ไปทำอะไรของตนเอง และไม่ใช่ไปลงโทษเขา

นอกจากนั้น เมื่อเราปฏิบัติตามกฎหมาย หรือตามวินัย โดยมีความรู้สึกต่อกฎหมาย ด้วยท่าทีแห่งการปฏิบัติต่อกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ ที่มุ่งเพื่อจะรักษาธรรม ก็จะเป็นการปฏิบัติด้วยสภาพจิตของพรหมผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก คือพรหมวิหาร ๔ ข้อที่กล่าวแล้วนั้น

มนุษย์จะมีท่าทีต่อกฎหมายต่างกันเป็น ๓ ระดับ ซึ่งต้องขึ้นต่อการที่กฎหมายนั้นเป็นธรรมหรือไม่ด้วย

ท่าทีที่ ๑ คือความรู้สึกแบบเป็นเครื่องบังคับ ถือว่าเป็นความรู้สึกที่ต่ำสุด และจะไม่ยั่งยืน เดี๋ยวนี้เราชอบใช้คำว่ายั่งยืน โดยเฉพาะในคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน กฎหมายก็จะไม่ยั่งยืน และสังคมนี้ก็จะไม่ยั่งยืน ถ้ามนุษย์เต็มไปด้วยความรู้สึกว่ากฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายเป็นข้อบังคับ ท่าทีที่ ๑ คือท่าทีความรู้สึกว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับ

ท่าทีที่ ๒ เป็นท่าทีแบบพระพุทธศาสนาที่มองว่า กฎเกณฑ์กติกานี้ เราบัญญัติจัดวางขึ้นมาเพื่อสร้างสภาพเอื้อในสังคม ที่จะเป็นโอกาสให้คนพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้น คนจะมองกฎเกณฑ์กติกา ว่าเป็นเครื่องฝึกตน ดังที่เรียกว่า สิกขาบท คือเป็นข้อฝึก หรือข้อเรียนรู้ ที่จะเอามาปฏิบัติด้วยจิตใจที่รู้สึกว่าจะฝึกตัวเอง หรือจะเรียนรู้เพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องให้เกิดผลดีตามวัตถุประสงค์ เพราะว่าการที่เราจะเข้าถึงชีวิตที่ดีงามได้ เราจะต้องมีระบบความเป็นอยู่ที่เอื้อ

เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ เขาก็จะมีความสำนึกตระหนักว่า ระบบชีวิตแบบนี้เราต้องทำให้ได้ เมื่อเราทำได้แล้วเราจะสามารถมีชีวิตที่ดี จากนี้เขาก็เต็มใจและพร้อมใจ ที่จะปฏิบัติอย่างเป็นการฝึกตน

ถ้ามองกว้างออกไปก็คือ ในสังคมนี้ การที่เราจะอยู่ร่วมกันด้วยดี เหตุผลก็มีอยู่แล้ว ว่าเราจะต้องมีความประพฤติกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องพยายามปฏิบัติ มาฝึกตัวกัน อย่าถือเป็นข้อบังคับ เราจะต้องฝึกตัว พัฒนาตัวกันจนกระทั่งอยู่ตัว จนกระทั่งเรามีความประพฤติอย่างนั้นเป็นธรรมดา

มนุษย์นี้ฝึกได้ เรียนรู้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเห็นว่ากฎนี้เขาสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดสภาพเอื้อต่อชีวิตที่ดีงามของเราต่อไป ถ้าเราอยากจะมีชีวิตที่ดีงาม เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎนี้ เราต้องมาฝึกกัน เมื่อฝึกแล้วต่อไปเราจะทำได้เป็นธรรมดาไปเลย มันก็จะเป็นสภาพชีวิตที่ดีงามเกิดขึ้นมา สังคมก็บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะเป็นสภาพเกื้อกูลต่อชีวิตของแต่ละคนด้วย และสังคมเองก็อยู่ดีด้วย

ดังนั้น มนุษย์จะต้องมองกฎกติกาเหล่านี้เป็นข้อฝึก คือเป็นสิกขาบทอย่างที่ว่า ถ้าถึงขั้นนี้แล้วมนุษย์จะเริ่มพัฒนา

ท่าทีที่ ๓ มนุษย์ที่พัฒนายิ่งขึ้นกว่านี้ จะไปถึงอีกระดับหนึ่งที่จะมีปัญญารู้เข้าใจว่า กฎเกณฑ์กติกาของสังคมนี้ มนุษย์วางขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อจะให้อยู่ร่วมกันด้วยดี และจะได้มีสภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตที่ดีงาม ดังที่เห็นได้ชัดๆ แล้ว เพราะฉะนั้น กติกาเหล่านี้จึงเป็นเพียงเครื่องหมายรู้ว่าเราจะอยู่กันอย่างไรเท่านั้นเอง เพื่อให้มีชีวิตที่ดีงาม และให้สังคมมีสภาพที่เอื้ออย่างที่เราต้องการและอย่างที่มันควรจะเป็น เพราะฉะนั้น เราจึงต้องปฏิบัติตามกติกาในการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างนี้

เพราะฉะนั้น กฎหมายและกฎเกณฑ์กติกาจึงเป็นเพียงข้อหมายรู้ร่วมกันว่าจะเอาอย่างไร มนุษย์ที่มีท่าทีความรู้สึกขั้นนี้เรียกว่าเป็นคนที่พัฒนาไปมากแล้ว พระอรหันต์จะอยู่ด้วยท่าทีความรู้สึกแบบนี้

แม้แต่พระอรหันต์ก็ต้องมีกติกา คือต้องมีวินัย ทำไมพระอรหันต์ต้องมีวินัย เพราะการอยู่ร่วมกันต้องมีระเบียบระบบ เช่น จะมาฉันพร้อมกันเวลาเช้า ก็ต้องวางกติกาว่าฉันเวลาไหน จะเอาสิ่งใดเป็นเครื่องนัดหมาย ถ้าใช้ระฆัง จะตีกี่ที ก็ตกลงบัญญัติกติกาว่า ถ้าตีระฆัง ๒ ครั้งหมายถึงมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ๓ ครั้งนัดประชุม ๕ ครั้งบอกเวลาฉัน ตลอดกระทั่งว่าเมื่อมาแล้วจะนั่งกันอย่างไร จะทำอะไรกันอย่างไร พูดสั้นๆ ว่าต้องมีวินัย

เพราะฉะนั้น แม้แต่พระอรหันต์ผู้พัฒนาสูงสุดแล้วก็ต้องมีกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ไม่เช่นนั้นก็อยู่ด้วยกันโดยเรียบร้อยด้วยดีไม่ได้ เพราะแทนที่จะเกิดมีโอกาส ก็กลายเป็นเกิดความขัดข้อง

เป็นอันว่า เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกัน ก็ต้องมี social contract แต่ความหมายอาจจะไม่เหมือนของฝรั่ง4 พระอรหันต์คือมนุษย์ที่พัฒนาสมบูรณ์แล้ว มองกติกาเหล่านี้ด้วยความเข้าใจด้วยปัญญาว่า เป็นเพียงเครื่องหมายรู้ร่วมกัน เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันด้วยดีเท่านั้นเอง

ถ้ามนุษย์พัฒนาถึงขั้นนี้ โดยมีความรู้สึกต่อกฎหมายอย่างนี้ได้ ก็เป็นมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว เรียกว่าเป็นผู้มีการศึกษา

แต่ถ้ามนุษย์ยังมองกฎหมายเป็นเครื่องบังคับอยู่ ก็แสดงว่ามนุษย์ยังไม่มีการศึกษา หรือไม่เช่นนั้นก็มีกฎหมายที่เป็นเครื่องบังคับเขาจริง คือกฎหมายไม่เป็นธรรม แต่ถ้ากฎหมายเป็นธรรม ก็แสดงว่ามนุษย์ไม่มีการศึกษา จึงมองว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับ

ถ้าคนมีการศึกษา อย่างน้อยก็จะมองว่ากฎหมายเป็นเครื่องฝึกตน เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อต่อการที่จะมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป และ

ถ้าเขาพัฒนายิ่งขึ้นไปอีกจนสมบูรณ์แล้ว ก็จะมองกฎหมายว่าเป็น เครื่องหมายรู้ร่วมกัน ซึ่งตรงตามความหมายของสมมติที่แท้จริง คือเป็นเรื่องของมติร่วมกัน การตกลงหรือรับรู้ร่วมกัน หรือยอมรับร่วมกัน ด้วยเหตุผลเพื่อความดีงามร่วมกัน ทั้งของชีวิตแห่งบุคคลและของสังคม

พูดมาถึงตรงนี้ คงจะช่วยให้มองเห็นความหมายที่แท้และความสำคัญของ “สมมติ” พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสมมตินั้น ที่ว่าไม่ละเลยแต่ถือสำคัญ อย่างรู้เท่าทัน ใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง โดยไม่หลงติดนั้น คืออย่างไร (พึงศึกษาจากพุทธพจน์ในที่ต่างๆ เช่น ที.สี.๙/๓๔๒/๒๔๘; สํ.ส.๑๕/๖๕/๒๑)

ถ้าประชาชนประพฤติตามกฎหมายด้วยจิตสำนึกอย่างหลังนี้ ก็พูดได้ว่า สังคมบรรลุความสมบูรณ์แล้วในแง่ของนิติศาสตร์ เพราะย่อมหมายถึงการที่คนพัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ จนทั้ง ๓ ด้านของชีวิต คือ ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา มาบูรณาการประสานกันลงตัว

ทางด้านปัญญาก็รู้เข้าใจเหตุผลและความมุ่งหมายของวินัย ทางด้านจิตใจก็มีความเต็มใจและร่วมใจ พร้อมทั้งทางด้านพฤติกรรมก็ปฏิบัติตามด้วยดีอย่างมีเหตุผล

แต่ในความเป็นจริง สังคมจะไม่บรรลุภาวะนี้ เพราะเป็นธรรมดาว่า ในขณะหนึ่งขณะเดียวกัน มนุษย์ทั้งหลายย่อมอยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่างกันหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม มนุษย์จะปล่อยตัวประมาทไม่ได้ จะต้องเพียรพยายาม อย่างน้อยให้มีคนจำนวนหนึ่งมีท่าทีปฏิบัติในระดับที่ ๓ โดยให้คนจำนวนมากที่สุดมีท่าทีปฏิบัติในระดับที่ ๒ และให้คนที่มีท่าทีปฏิบัติในระดับที่ ๑ มีจำนวนน้อยที่สุด สังคมก็จะยังพออยู่กันได้ และนับได้ว่าเป็นสังคมที่ดี

ความเคร่งครัดในวินัย ประสานกับจิตใจที่ไม่ยึดมั่น
คำนึงแต่จะรักษาธรรมเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน

กิจกรรมหรือข้อยึดถือปฏิบัติที่ตกลงกันในสังคมมนุษย์ พระท่านใช้คำว่า “สมมติ” ทั้งนั้น

ตัวอย่างเช่น มีจีวรเกิดขึ้นในวัด พระภิกษุแต่ละรูปในวัดนั้นมีสิทธิ สิทธิก็เป็นของสมมติเหมือนกัน ญาติโยมอาจได้สิทธิมีของครอบครองมากมาย แต่พระมีสิทธิเพียงเครื่องใช้ที่เรียกว่า บริขารนิดเดียว เช่น มีไตรจีวรที่ถือได้จริงๆ ชุดเดียว นอกจากนั้นแล้วมีสิทธิครอบครองได้แค่ ๑๐ วันเป็นอย่างมาก เกินกว่านั้นเก็บไม่ได้ แล้วทีนี้จะทำอย่างไร

ถ้าจีวรเกิดขึ้นมากมาย ก็ให้มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำหรับเก็บ เรียกว่า จีวรนิทหกะ แปลว่าภิกษุเจ้าหน้าที่เก็บจีวร

ภิกษุองค์หนึ่งจีวรขาด อยากจะได้จีวรใหม่ จะไปหาภิกษุองค์ที่เก็บก็ไม่ได้ เพราะองค์เก็บไม่มีหน้าที่แจก ต้องไปหาพระภิกษุอีกองค์หนึ่งผู้มีตำแหน่งเรียกว่า จีวรภาชกะ แปลว่า ภิกษุเจ้าหน้าที่แจกจีวร

ภิกษุทั้ง ๒ รูปนี้ คือทั้งพระจีวรนิทหกะ (ผู้เก็บจีวร) และพระจีวรภาชกะ (ผู้แจกจีวร) ต้องได้รับแต่งตั้งจากสงฆ์ โดยมีกฎเกณฑ์บัญญัติว่า ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างนี้ๆ คือ ไม่มีอคติ ทั้ง ๔ และรู้งานในหน้าที่ โดยเข้าที่ประชุมพิจารณาแล้ว ที่ประชุมตกลงมีมติร่วมกัน แต่งตั้งภิกษุรูปนี้เป็นผู้เก็บจีวรหรือเป็นผู้แจกจีวร

การเลือกตั้งภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่อันใดอันหนึ่ง ให้มีตำแหน่งหน้าที่อย่างนี้ท่านเรียกว่า สมมติ

คำว่า “สมมติ” ของพระ ไม่ใช่เป็นเรื่องเหลวไหลอย่างที่ญาติโยมเข้าใจกัน แต่เป็นเรื่องที่จริงตามสมมติ คือตามที่ตกลงกันนั้น เมื่อภิกษุรูปนั้นได้รับการสมมติแล้ว ก็มีอำนาจหน้าที่จริงๆ (ตามที่ตกลงกัน) ในการที่จะเก็บจีวร หรือในการที่จะแจกจีวร เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง การสร้างโบสถ์จะต้องมีนิมิต คือเครื่องหมายเขต เวลาผูกสีมาคือตกลงกำหนดเขตนั้น ก็เรียกว่า “สมมติสีมา” สมมติ ก็คือมติร่วมกันดังที่กล่าวแล้ว

เรื่องของสังคมมนุษย์นั้น เป็นเรื่องของมติที่มนุษย์จะตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า “สมมติ” ทั้งสิ้น แต่กล่าวแล้วว่าสมมติเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อารยธรรมของมนุษย์ตั้งอยู่บนฐานของสมมติ เพราะมนุษย์มีความสามารถในการสมมติ จึงสามารถทำการสร้างสรรค์อารยธรรมให้เจริญงอกงามขึ้นมาได้ เพราะเหตุที่สมมติเป็นเรื่องจริงในระดับหนึ่ง และเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ในพระพุทธศาสนา ท่านจึงแสดงไว้ทั้งปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ

การเข้าถึงสมมติ คือการรู้เข้าใจตามเป็นจริงว่า กฎเกณฑ์เป็นต้นนี้ เป็นสิ่งที่เราตกลงกันกำหนดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์บางอย่าง เมื่อเรามีเหตุผลในการตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อประโยชน์อันนี้ เราก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสมมตินั้น เพราะฉะนั้น พระจึงมีลักษณะที่ว่ายิ่งพัฒนาไปก็จะยิ่งปฏิบัติตามวินัยได้เคร่งครัด

อาจมีผู้สงสัยว่า ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เรียกว่าการรักษาสิกขาบทนั้นก็เป็นข้อฝึกเท่านั้น พระอรหันต์เป็นผู้ฝึกเสร็จแล้ว ไม่ต้องฝึกอีกต่อไปแล้ว ทำไมจะต้องปฏิบัติด้วย ก็กลายเป็นว่าพระอรหันต์ยึดถือสมมติมากใช่ไหม

ตอบว่า ตามปกติคนเรานั้น แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ ผู้ที่ยังฝึกกับผู้ที่ฝึกแล้ว หรือผู้ที่กำลังศึกษากับผู้จบการศึกษา หรือผู้ที่กำลังพัฒนากับผู้ที่จบการพัฒนาแล้ว พระอรหันต์นั้นจบการพัฒนาแล้ว แต่ปรากฏว่าเป็นผู้ที่ถือวินัยจริงจังมาก เพราะอะไร มีเหตุผลในเรื่องนี้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑. เป็นผู้นำ พระอรหันต์ในฐานะที่เป็นผู้สมบูรณ์แล้ว จึงต้องปฏิบัติตนเป็นผู้นำเขาในความเคร่งครัดในสิกขาบท ขอยกตัวอย่างว่า (วินย.๔/๑๕๓/๒๐๘) เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระภิกษุลงอุโบสถสวดปาติโมกข์ทุก ๑๕ วัน มีพระอรหันต์องค์หนึ่งดำริว่า หลักการนี้บัญญัติขึ้นเพื่อจะตรวจสอบความบริสุทธิ์ เราเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ควรจะต้องไปหรือไม่ พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงตัวเลยตรัสว่า ถ้าเธอผู้บริสุทธิ์แล้วไม่เคารพกฎ แล้วใครจะเคารพกฎ ถ้าเธอผู้บริสุทธิ์แล้วไม่ถือสำคัญ ใครจะเห็นสำคัญ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงต้องเป็นผู้นำในการรักษาสิกขาบท

๒. เป็นแบบอย่าง ซึ่งก็อยู่ในฐานะผู้นำด้วยเหมือนกัน ท่านเรียกว่าปฏิบัติเพื่อให้ชนรุ่นหลังถือเป็นแบบอย่าง ข้อนี้สำคัญมาก หมายความว่า ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อตัวเอง เพราะตัวเองพัฒนาสมบูรณ์แล้ว สำหรับตัวเองทำให้พอแล้ว เต็มแล้ว เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็คิดแต่จะทำเพื่อผู้อื่น อะไรจะเป็นการดีแก่คนรุ่นหลัง ก็ทำให้เป็นตัวอย่างไว้

ดังเช่น พระมหากัสสปะ ท่านแก่มากอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่ท่านก็ยังถือธุดงค์ เช่น อยู่ป่าเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นต้น พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพระมหากัสสปะว่า เธอถือธุดงค์เคร่งครัดมาเป็นเวลายาวนาน บัดนี้เธอก็ชราแล้ว เรี่ยวแรงกำลังก็ไม่ค่อยมี ผ้าบังสุกุลนี้เนื้อไม่ดีและหนักมาก เธอรับจีวรที่ญาติโยมถวายมาใช้เถิด แต่พระมหากัสสปะได้ทูลขอปฏิบัติถือธุดงค์เช่นนั้นต่อไป พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่ามีเหตุผลอะไร เพราะหากยอมใช้จีวรเนื้อดีก็จะเบาสบาย พระมหากัสสปะชี้แจงเหตุผลว่า เพื่อเป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลัง เรียกว่า ปจฺฉิมา ชนตา ทิฏฺฐานุคตึ อาปชฺเชยฺย แปลว่า ประชุมชนภายหลังจักได้ถือเป็นแบบอย่าง (สํ.นิ.๑๖/๔๘๑/๒๓๙) จะได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่คนเหล่านั้นเอง

๓. เป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน หรือเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน เพราะวินัย กฎหมาย และกฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยเฉพาะเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการสร้างสรรค์พัฒนาชีวิตและสังคมที่ดีงามดังกล่าวแล้ว พระอรหันต์นั้นเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีก ท่านจึงปฏิบัติเพื่อผู้อื่นและเพื่อส่วนรวมได้เต็มที่ ตามคติที่ว่า พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ คือ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของโลก

อย่างในเรื่องพระมหากัสสปะ เมื่อท่านทูลชี้แจงเหตุผลแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานสาธุการว่าท่านปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน (สํ.นิ.๑๖/๔๘๒/๒๓๙; ฯลฯ) ด้วยเหตุนี้พระอรหันต์จึงปฏิบัติเคร่งครัดในพระวินัย

นี้คือหลักการในการรักษาวินัย กฎหมาย และระเบียบแบบแผนต่างๆ ซึ่งคนที่อยู่ในระดับต่างๆ ของสังคมควรจะมีท่าทีที่ถูกต้อง แต่ปรากฏว่าในสังคมไทยมีการยึดถือเข้าใจผิดกันบ่อยๆ เช่น บางทีมีการอ้างว่า พระภิกษุท่านนั้นท่านนี้เป็นพระอริยะ ท่านหมดกิเลสแล้ว ไม่มีกิเลสแล้ว ท่านจะทำอะไรก็ได้เพราะท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น เอาหลักความไม่ยึดมั่นถือมั่นมาอ้าง (รายหนึ่งถึงกับว่าให้หญิงสาวนวดให้) ญาติโยมหลายท่านฟังแล้วว่าน่าจะจริงนะ เพราะพระอรหันต์ท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น จะไปเอาอะไรกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งไม่จริงแท้แน่นอน เป็นสิ่งสมมติ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่แหละ ระวังจะตกหลุม

ที่ว่าต้องระวังก็คือ ความไม่ยึดมั่นที่แท้ กับความไม่ยึดมั่นเทียมหรือความไม่ยึดมั่นอย่างปลอม เป็นคนละอย่างกัน การที่พระอรหันต์ท่านไม่ยึดมั่นนั้น ท่านไม่ยึดมั่นแท้ด้วยปัญญาที่รู้ความจริง แต่ในการดำเนินชีวิตท่านยอมรับความจริงตามเหตุตามผล

ได้กล่าวแล้วว่า สมมติ นั้น คือสิ่งที่มนุษย์ตกลงกัน มีมติร่วมกัน โดยกำหนดวางไว้ตามเหตุผล เพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาลอยๆ พระอรหันต์อยู่ด้วยปัญญาที่เข้าใจเหตุผลนั้น และท่านไม่มีอะไรที่เป็นการเห็นแก่ประโยชน์ของตัวท่านเองด้วย เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้ที่พร้อมที่สุดที่จะปฏิบัติตามสมมตินี้ จึงกลายเป็นว่า พระอรหันต์เป็นผู้พร้อมที่สุด ที่จะปฏิบัติตามวินัยหรือกฎกติกาที่เป็นสมมติ เพราะไม่มีกิเลสที่ทำให้เห็นแก่ตัวหรือทำเพื่อตัว

ถ้าคนยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว กฎเกณฑ์กติกาจะขัดขวางผลประโยชน์ของเขา อย่างน้อยก็ตามใจตัวที่ขี้เกียจทำ หรือเป็นการไม่สบายที่ต้องไปทำตามกฎ กิเลสเช่นความขี้เกียจ และความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวต่างๆ เหล่านี้ จะมาขัดขวาง ทำให้คนไม่ปฏิบัติตามกติกาสังคม เพราะฉะนั้น คนที่ยังมีกิเลสจึงปฏิบัติตามกฎได้ยาก ส่วนพระอรหันต์ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านไม่มีเรื่องส่วนตัวที่จะเข้ามากีดกั้น มาทำให้จิตใจต้องฝืนหรือหลบซ่อน ท่านไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองแล้ว ท่านพร้อมที่จะทำตามสิ่งที่มีเหตุผลทุกอย่าง เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามสมมติที่ชอบธรรม

บางคนบอกว่า อะไรมันก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันเลย แล้วก็ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร กลับไปบ้านก็ว่าเงินทองไม่ใช่ของเรา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลูกก็ไม่ใช่ของเรา ภรรยาก็ไม่ใช่ของเรา บอกว่าไม่ยึดมั่น นี่แหละ เจอความยึดมั่นอย่างหนักเข้าไปแล้ว ความยึดมั่นเกิดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว นี่ก็คือ “ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น” เพราะว่าความไม่ยึดมั่นที่เขาอ้างนั้น เป็นเพียงความไม่ยึดมั่นที่เป็น concept หรือเป็นสัญญาที่รับเอามาถือไว้ แล้วก็ยึดมั่นว่าฉันจะไม่ยึดมั่น เท่านั้นเอง

ส่วนความไม่ยึดมั่นที่แท้จริง เกิดจากปัญญาที่รู้ความจริงแล้วใจไม่ติด ใจเป็นอิสระอยู่ แล้วก็ปฏิบัติไปตามเหตุผลอย่างจริงจังตามหน้าที่หรือตามเหตุผลที่ได้ตกลงเห็นชอบร่วมกัน เพื่อความดีงามบางอย่าง มีอะไรเป็นไป ใจก็ไม่ตกเป็นทาส ไม่ถูกครอบงำ อันนี้สิที่สำคัญ ส่วนการปฏิบัติในทางรูปธรรมดำเนินตามแบบแผนกติกาที่ตกลงไว้ ถ้ามันชอบธรรมสมเหตุสมผล ดังนั้น พระอรหันต์จึงเป็นผู้ปฏิบัติจริงจังตามสมมติ และเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด

วินัยนี้ ในแง่หนึ่งเป็นการสร้างแบบแผนชีวิตตัวอย่างสำหรับผู้ที่จะมีชีวิตที่ดีงามอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า ทั้งที่พระพุทธเจ้าสอนหลักความไม่ยึดมั่น แต่วินัยของพระทำไมกลับให้เอาจริงเอาจังกับสิ่งต่างๆ มากนัก นี่แหละวินัยเป็นตัวแสดงให้เห็นชัดว่า ในระบบการฝึกมนุษย์ที่แท้จริงนั้น ความไม่ยึดมั่นที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้

จะขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับความไม่ยึดมั่น ซึ่งอาจจะซ้อนกันอยู่เป็น ๒ ชั้น คือ

ในชั้นที่ ๑ ท่านสอนให้ไม่ยึดติด เช่น ไม่เห็นแก่ลาภ ไม่โลภ ไม่หมายมั่นในการที่จะต้องได้จีวรอย่างนี้อย่างนั้น ที่จะเอาแต่ใจ หรือจะมีของในครอบครองให้มาก เพราะฉะนั้นจึงมีสิกขาบทในวินัยที่บัญญัติว่าให้ภิกษุมีสิ่งของเครื่องใช้ได้จำกัดเท่านั้นเท่านี้ เพียงเท่าที่พอแก่การใช้ประโยชน์ที่แท้จริง

ในเวลาเดียวกัน มองอีกขั้นหนึ่ง ก็จะเห็นความไม่ยึดมั่นในชั้นที่ ๒ คือสิ่งของอย่างไหนที่ตกลง (สมมติ) ว่าเป็นของท่านแล้ว ท่านต้องมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่

ตัวอย่างเช่น วินัยกำหนดว่า พระภิกษุรูปหนึ่ง(มีสิทธิ)มีจีวรได้ชุดเดียว ดูจะเป็นการไม่ให้ความสำคัญแก่เรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ จึงไม่ให้มีมาก แต่พระจะบอกว่า เรื่องจีวรนี้ไม่สำคัญ ฉันไม่ยึดมั่นถือมั่น มันไม่ใช่ของของเราจริง เราเกิดมามันก็ไม่ได้มีติดมาด้วย ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ แล้วก็ไม่เอาใจใส่ ปล่อยสกปรก ไม่ซัก หรือว่าปล่อยให้ขาดเป็นรู ไม่ปะชุน

พระภิกษุจะปล่อยปละละเลยอย่างนั้นไม่ได้ วินัยกำหนดไว้ว่า ภิกษุปล่อยให้จีวรขาด ไม่ปะชุน แม้จะเป็นรูเท่าหลังเล็บนิ้วก้อย ก็มีความผิด เป็นอาบัติ (วินย.อ. ๒/๑๖๘) เอาล่ะซิ จีวรผืนเดียว ต้องรักษาอย่างดีขนาดนี้ ปล่อยให้ขาด ไม่ปะ ก็โดนปรับความผิดแล้ว

ในทำนองเดียวกัน ภิกษุมีจีวรชุดเดียวต้องรักษาไว้ให้ดี ถ้าอยู่ปราศจากมันแม้แต่ราตรีเดียว ก็เป็นอาบัติ (วินย. ๒/๑๐/๗) ท่านเรียกว่าขาดครอง ญาติโยมไม่เข้าใจหลักการนี้ก็จะพูดว่า พระทำไมมายึดมั่นถือมั่นกะเรื่องจีวรแค่นี้ สำคัญอะไรนักหนา

เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจหลักการนี้ให้ถูก วินัยเป็นระบบแห่งวิถีชีวิตของการฝึกตน ถ้าเรามองเห็นธรรม คือความจริงแท้แห่งความถูกต้องดีงาม ที่เข้ามาสู่วินัย คือระบบการจัดตั้งของมนุษย์ ในรูปของระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิตแล้ว ก็ผ่านตอนนี้ไปได้ จึงจะขอเลยต่อไปสู่เรื่องในระดับการบัญญัติและการใช้กฎหมาย และเรื่องอื่นๆ อีกสัก ๓-๔ อย่าง

ความยึดมั่นกฎหมาย หลงติดในสมมติ จะกลายเป็นภัย
แต่ถ้าเข้าถึงธรรมที่เป็นฐานของกฎหมาย ก็จะกลายเป็นนักนิติศาสตร์ที่แท้

การบัญญัติกฎหมายซึ่งเป็นกฎมนุษย์ มีข้อที่ต้องระวังหลายอย่าง ข้อระวังที่ ๑ ก็คือ การที่มนุษย์จะแปลกแยกจากธรรมชาติ ซึ่งจะไม่อธิบายมาก แต่จะเห็นได้จากตัวอย่างที่ยกมาพูดตอนต้นแล้วในเรื่องกฎมนุษย์ กับ กฎธรรมชาติ ที่ซ้อนกันอยู่

ดังได้บอกแล้วว่า ที่จริงนั้น การที่เราบัญญัติกฎมนุษย์ขึ้นมา ก็เพราะความต้องการแท้จริงของเราอยู่ที่กฎธรรมชาติ เราจึงบัญญัติกฎมนุษย์ขึ้นมาหนุนการกระทำที่จะให้ได้ผลตามกฎธรรมชาตินั้น

ทำไมเราจึงบัญญัติกฎมนุษย์ว่าให้คนมาทำสวน ๑ เดือนแล้วเราให้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท การที่กฎมนุษย์เกิดขึ้นมานี้ เพราะแท้จริงแล้วมีกฎธรรมชาติอยู่เบื้องหลัง คือเราต้องการผลตามกฎธรรมชาติว่า จะให้ต้นไม้เจริญงอกงาม จึงจัดระบบให้มีคนมาทำสวน กฎมนุษย์ว่า ทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็มาหนุนกฎธรรมชาติที่ว่า ทำสวน ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม

ถ้ามนุษย์แปลกแยกจากกฎธรรมชาติ และหลงสมมติ คือติดอยู่แค่กฎสมมติเมื่อไร ชีวิตและสังคมจะเริ่มวิปลาสทันที เริ่มจากคนทำสวน ซึ่งมาทำสวนเพียงเพราะต้องการผลตามกฎมนุษย์ คือ ต้องการเงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เขาไม่ต้องการผลตามกฎของธรรมชาติ ไม่ได้ต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม อะไรจะเกิดขึ้น ผลเสียหรือความวิปลาสที่เกิดขึ้น คือ

๑. ในด้านชีวิตของตัวบุคคลนั้นเอง คนทำสวนก็ไม่มีความสุขในการทำสวน เพราะเขาทำสวนด้วยความฝืนใจเนื่องจากเขาไม่ได้ต้องการผลที่แท้จริงของการทำสวน แต่สิ่งที่เขาต้องการคือเงิน การทำสวนจึงทำให้เขาต้องมาทรมาน ต้องรอเวลาเดือนหนึ่งกว่าจะได้เงินเดือน ซึ่งเป็นภาวะที่แย่จริงๆ เพราะฉะนั้นเขาจึงทำสวนด้วยใจทุกข์ทรมานเต็มทีตลอดเวลา

๒. ในด้านกิจการของสังคม ประโยชน์ส่วนรวมก็เสีย เพราะว่าเมื่อคนทำสวนไม่เต็มใจทำสวน นอกจากตัวเขาเองจะไม่มีความสุขแล้ว ก็ยังไม่ตั้งใจทำงานอีก เมื่อไม่ตั้งใจทำ สังคมก็ไม่ได้ประโยชน์ที่ควรจะได้จากเขา กิจการของสังคมก็เสีย เพราะการทำสวนไม่มีคุณภาพ และไม่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น เมื่อคนทำสวนนี้แปลกแยกจากกฎธรรมชาติ ต้องการผลแต่ตามกฎมนุษย์ และไม่ตั้งใจทำสวน สังคมมนุษย์ก็ต้องตั้งกฎมนุษย์ซ้อนเพิ่มเข้ามาอีก เช่นจะต้องดำเนินการตั้งคนคุมขึ้นมาเพื่อคุมคนทำสวนคนนี้ แต่นายคนคุมก็แปลกแยกจากธรรมชาติ ต้องการแต่ผลตามกฎมนุษย์อย่างเดียว ก็เลยไม่ได้เรื่องอีก แล้วก็ตั้งกฎซ้อนเข้ามาเป็นชั้นๆ จนซับซ้อนอย่างยิ่ง แต่ผลที่สุดก็ล้มเหลวหมด

การที่สังคมนี้ยังดำรงอยู่ได้ ก็เพราะคนเราบางส่วนยังไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ทั้งสังคมนี้แปลกแยกจากกฎธรรมชาติมาติดอยู่กับกฎมนุษย์อย่างเดียวโดยหลงสมมติเมื่อไร สังคมนี้ก็จะปั่นป่วนวิปริต และชีวิตก็จะไม่มีความสุข จะเสียคุณภาพชีวิต ดังเช่นคนทำสวนที่ทำงานด้วยความทุกข์ทรมานดังกล่าวมาแล้ว

เวลานี้ มนุษย์เริ่มเข้าสู่ระบบที่ติดสมมติมากขึ้น ระบบแข่งขัน หรือระบบผลประโยชน์ที่กำลังเข้ามา ส่งผลกระทบต่อระบบทุกอย่างของสังคม ไม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ แม้แต่กฎหมายก็จะถูกกระทบด้วย เพราะฉะนั้น นักกฎหมายจะต้องทันต่อแนวโน้มนี้ด้วย ระบบการแข่งขันหาผลประโยชน์นี้เป็นระบบที่เต็มไปด้วยสมมติ และจะผลักดันให้มนุษย์ทำการต่างๆ เพื่อผลตามกฎสมมติอย่างเดียว จนกระทั่งในไม่ช้าคนก็จะแปลกแยกจากธรรมชาติแทบจะสิ้นเชิง

ดังตัวอย่างที่ยกมาพูดบ่อยๆ คือ เมื่อคนตั้งโรงพยาบาลเอกชนขึ้นมาโรงหนึ่ง ในขณะที่สังคมเข้าสู่ระบบแข่งขันหาผลประโยชน์นั้น ถามว่าอะไรเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของโรงพยาบาล คำตอบตามระบบผลประโยชน์ก็คือ กำไรสูงสุด เพราะเขาตั้งโรงพยาบาลขึ้นเพื่อผลประโยชน์ เมื่อได้กำไรสูงสุดก็คือความสำเร็จ ถ้าไม่ได้กำไรสูงสุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ

การตั้งโรงพยาบาลแล้วทำให้ได้กำไรสูงสุดนี้เป็นเรื่องของกฎมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการที่การแพทย์ได้กลายเป็นธุรกิจแล้ว จึงมุ่งไปที่การได้ผลประโยชน์ตอบแทน แต่ตามกฎธรรมชาติ การแพทย์คืออะไร ผลของการแพทย์คืออะไร การแพทย์เป็นเหตุ อะไรเป็นผลตามกฎธรรมชาติ ตอบว่าการที่คนหายโรค มีสุขภาพดี เป็นผลตามกฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ความสำเร็จของโรงพยาบาลตามกฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่แท้จริง ก็คือ การที่ได้ช่วยให้ผู้คนในสังคมนี้ ห่างเบาบรรเทาจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพดีขึ้น นี้คือความสำเร็จตามกฎธรรมชาติ

พูดสั้นๆ ว่า ความสำเร็จของมนุษย์ตามความหมายแห่งกฎสมมติ คือ การได้กำไรสูงสุด แต่ความสำเร็จของมนุษย์ตามความหมายแห่งกฎแท้ของธรรมชาติ คือ การทำให้ชีวิตดีงามมีความสุข สังคมสันติ และโลกเป็นแดนเกษม

ตอนนี้ ระหว่าง ความสำเร็จตามกฎมนุษย์ กับความสำเร็จตามกฎธรรมชาติ เราจะเลือกเอาความสำเร็จอย่างไหน ในสังคมปัจจุบันนี้กิจการทุกอย่างกำลังกลายเป็นธุรกิจ แม้แต่การศึกษา เรากำลังจะมองกันอยู่แค่กฎมนุษย์ และหลงอยู่กับกฎสมมตินั้น ไม่ว่าจะทำอะไร ก็มุ่งผลสำเร็จที่กำไรสูงสุด ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ แม้แต่แพทย์ ก็จะคำนึงแต่รายได้ ไม่คำนึงถึงชีวิตของคน คนจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ให้ฉันได้กำไรก็แล้วกัน นี่ดีแต่ว่าแพทย์ของเรายังมีคุณธรรมอยู่หลายท่าน

เวลานี้กิจการทุกอย่างกำลังจะเป็นอย่างนี้ นี้คือการที่มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติ ติดในสมมติ เขาจึงไม่สามารถเชื่อมกฎธรรมชาติกับกฎของมนุษย์เข้าหากัน เขาไม่รู้ตระหนักว่า การที่เราจัดตั้งวินัย คือวางระบบสังคมในหมู่มนุษย์ขึ้นมานี้ แท้จริงแล้วก็เพื่อให้ความเป็นจริงในกฎธรรมชาติปรากฏผลที่ดีงามขึ้นมาแก่ชีวิตและสังคมของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ยังตระหนักรู้และทำให้เป็นไปอย่างนี้ได้ ก็คือ การเชื่อมระหว่างกฎมนุษย์กับกฎธรรมชาติ หรือวินัยกับธรรมได้

พระพุทธเจ้าตรัสธรรมกับวินัยไว้ด้วยกันเป็นคู่กัน เพราะที่แท้นั้น ฐานของชีวิตและสังคมมนุษย์ของเราคือธรรม และประโยชน์ที่แท้ของเราก็คือธรรม นิติศาสตร์จะต้องจับจุดนี้ให้ได้ โดยเฉพาะในเมื่อสังคมต่อไปนี้จะประสบปัญหาเรื่องนี้มากขึ้นทุกที ซึ่งเราจะต้องคิดว่าจะเอาอย่างไรกับมัน

กฎหมายนั้น ว่าที่จริง สาระที่แท้ต้องอยู่ที่เจตนารมณ์ซึ่งสอดคล้องกับธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าคนไม่เข้าถึงธรรม ก็จะมีปัญหาจากกฎหมายได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะ

๑. ปัญญาไม่เข้าถึงธรรม ก็ตาม

๒.เจตนาไม่เป็นธรรม เช่น ไม่บริสุทธิ์ หรือไม่ประกอบด้วยเมตตาคือความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ เนื่องจากเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวหรือคิดจะกลั่นแกล้งผู้อื่น ก็ตาม

เพราะฉะนั้น บางครั้งกฎหมายก็จึงกลายเป็นเครื่องมือกดขี่ข่มเหงกันในสังคมได้ และเราจึงต้องคอยตรวจสอบเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายกับข้อกำหนดตามตัวอักษร ด้วยความสำนึกตระหนักว่า ข้อกำหนดตามตัวอักษรนั้น ที่จริงจัดวางไว้เพื่อสนองเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่เมื่อออกมาแล้วบางทีมันกลับเป็นเครื่องมือในการที่จะไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คนจึงใช้บัญญัติตามตัวอักษรเพื่อทำร้ายคนอื่นก็ได้ หรือเพื่อสนองการหาผลประโยชน์ของตนเองก็ได้ ดังที่มีคนใช้กฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองกันมากมาย

เพราะฉะนั้น การที่จะต้องตรวจสอบกฎมนุษย์คือกฎหมายนี้ให้สอดคล้องกับธรรมและให้ช่วยนำมนุษย์เข้าถึงตัวธรรมให้ได้ จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องทำอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่นักกฎหมายโดยเฉพาะผู้บัญญัติกฎหมายจะต้องมี ก็คือการเข้าถึงธรรมทั้งในแง่

๑. การเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา คือความรู้ในความจริงอย่างที่ว่ามีหลายระดับ ตั้งแต่

๑) ความรู้ในกฎแห่งความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลาย ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หลักการแห่งความถูกต้องดีงาม อย่างน้อยรู้ตัวกฎเกณฑ์กติกาในความหมายที่แท้จริงของมัน และตามที่มนุษย์บัญญัติ และรู้ไปถึงสังคม สภาพปัญหาของสังคม เหตุปัจจัยแห่งความเป็นไปในสังคม กลไกของความเป็นไปนั้น ตลอดจนการหยั่งรู้หยั่งเห็นว่าการที่วางกฎข้อนี้แล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นมาในสังคม เป็นต้น และ

๒) ความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ ว่ามนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกฝนพัฒนา เขามีความประสงค์อะไร ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร ซึ่งอย่างที่กล่าวแล้วว่า คนเราทุกคนมีความเข้าใจและความต้องการนั้นอยู่แม้โดยไม่รู้ตัว ถึงแม้เห็นไม่ชัดมันก็มีอยู่ในใจ และถ้าไม่ชัดนี่แหละ มันจะมีอิทธิพล ซึ่งทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด

๒. การเข้าถึงธรรมด้วยจิตใจ คือมีเจตนาบริสุทธิ์ รักความเป็นธรรม มีความมุ่งมาดใฝ่ปรารถนาต่อจุดหมายที่จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงาม ด้วยการดำรงธรรมไว้ในสังคม อันนี้จะต้องมีอยู่ในใจ คือความใฝ่ปรารถนาที่จะดำรงธรรมและสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

การเข้าถึงธรรมที่ว่ามานี้จะต้องมีอยู่ในนักกฎหมาย โดยเฉพาะผู้บัญญัติกฎหมาย

เมื่อผู้บัญญัติกฎหมายเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา และด้วยจิตใจแล้ว พฤติกรรมของเขาในการบัญญัติกฎหมายก็จะเป็นพฤติกรรมที่เข้าถึงธรรมด้วย

เมื่อผู้ใช้กฎหมายเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา และด้วยจิตใจแล้ว ก็จะมีพฤติกรรมในการใช้กฎหมายอย่างผู้เข้าถึงธรรมด้วยพฤติกรรมด้วย

ขอย้ำอีกทีว่า เมื่อมีการบัญญัติกฎหมายใดก็ตาม ในใจของผู้บัญญัติย่อมมีความคิดความเห็นความเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่พระเรียกว่า ทิฏฐิ เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อยู่ในใจ

ตัวอย่างเช่น คนหนึ่งอาจจะเชื่อว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ คนที่มีความเข้าใจอย่างนี้อยู่ในใจ แม้จะไม่ได้ทำความเห็นหรือความเชื่อนั้นให้ประจักษ์ออกมาแก่ตนเอง มันก็ฝังลึกอยู่ เวลาเขามาบัญญัติกฎหมาย เขาก็จะบัญญัติอย่างหนึ่ง

แต่อีกคนหนึ่งมีความเชื่อว่า ตามธรรมชาติของมนุษย์นั้น ความสุขไม่ได้อยู่เพียงแค่การเสพวัตถุ แต่อยู่ที่คุณค่าทางนามธรรมที่ลึกซึ้งกว่านั้น เวลาเขามาบัญญัติกฎหมายเขาก็จะบัญญัติอีกอย่างหนึ่ง

เป็นอันว่า ทิฏฐิ หรือแนวความคิดความเชื่อนี้จะเป็นอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะมากำหนดวิถีทางในการคิดวินิจฉัยและให้เหตุผลแก่เขาผู้นั้นในการทำกิจกรรมทางปัญญาทั้งหมด เรื่องนี้ใหญ่มาก เพราะฉะนั้น นักกฎหมายจะอยู่แค่เหตุผลพื้นๆ ในทางสังคมเท่านั้นไม่ได้ แต่เขาจะต้องเข้าถึงความจริงซึ่งรวมทั้งเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ด้วย เพราะว่ามนุษย์ที่ตรากฎหมายในสภานิติบัญญัติเป็นต้นนั้น

๑. จะวางกฎหมายจากฐานแห่งปัจจัยปรุงแต่งในตัวเขา ซึ่งมีหลายอย่าง เช่น เขามีปัญญารู้แค่ไหน ก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งในตัวเขาให้ทำได้อย่างนั้นเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็ภูมิธรรมภูมิปัญญานั่นเอง ตลอดจนสภาพหล่อหลอมของค่านิยมทางสังคม และวัฒนธรรมเป็นต้น ซึ่งเข้ามาเป็นปัจจัยปรุงแต่งในใจ แล้วแสดงอิทธิพลออกมาเป็นการวินิจฉัย การให้ความเห็น ตลอดจนการยกมือว่าจะเอาข้างไหน พูดง่ายๆ ว่า ภูมิธรรมภูมิปัญญาในตัวคนนั้นสำคัญอย่างยิ่ง เริ่มแต่ทิฏฐิของเขา ซึ่งเป็นปัจจัยหล่อหลอมทั้งในตัวบุคคลและในทางสังคม

๒. เมื่อบัญญัติกฎหมายแล้ว กฎหมายนั้นก็จะไปเป็นปัจจัยปรุงแต่งผลักดันสังคมอีก ทำให้สังคมก้าวไปทางไหนอย่างใดต่อไป

เป็นอันว่า ทิฏฐิในตัวคนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจะทำให้มีผลขึ้นมา ๒ อย่างนี้ โดยเฉพาะนักกฎหมายจะตรากฎหมายที่ดีไม่ได้ถ้าไม่รู้ธรรมชาติของมนุษย์ว่า มีศักยภาพอย่างใด ควรมีชีวิตอย่างไร

ตัวอย่างเช่น เวลานี้จะออกกฎหมายเกี่ยวกับสนุกเกอร์ จะเห็นว่าความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์จะอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของผู้ออกกฎหมาย เช่น บางคนเข้าใจว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ ซึ่งเจ้าของความคิดอาจไม่รู้ตัวเลย แต่เขาจะวินิจฉัยและตัดสินใจลงมติต่างๆ ตามภูมิธรรมภูมิปัญญาที่เขามีอยู่เบื้องหลังตัวเขานั้น เพราะฉะนั้น การตัดสินใจของเขาจึงเป็นตัวฟ้องภูมิธรรมภูมิปัญญาของตัวเขาเอง

โดยนัยนี้เราจึงพูดได้ว่า กฎหมายที่ออกมา เป็นตัวฟ้องภูมิธรรมภูมิปัญญาของนักกฎหมาย หรือของผู้ทำงานนิติบัญญัติ

แม้ว่าจะต้องคำนึงถึงหรือไม่ลืมมองปัจจัยทางสังคม เช่น ค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย แต่ก็อย่าลืมว่า การที่มนุษย์มีปัญญาพัฒนามาได้เพียงแค่ในระดับที่อยู่ใต้ค่านิยมของสังคมยังไม่เพียงพอ มนุษย์ที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์จะต้องไม่จมอยู่ใต้ปัญหานั้นเสียเอง มิฉะนั้น สังคมมีค่านิยมอย่างไร แม้แต่ค่านิยมที่เป็นปัญหา ค่านิยมนั้นก็จะชักพานักกฎหมายไปได้มนุษย์จะเพียงเป็นไปตามสังคมเท่านั้นไม่ได้ มนุษย์ต้องแก้ไขสังคมได้ด้วย

ถึงตอนนี้ ขอแทรกเรื่องความจริงที่เป็นหลักใหญ่ไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องสำคัญมาก (ควรอยู่ใน ภาค ๑) แต่จะพูดไว้เพียงเป็นแนว คือ หลักที่ว่า มนุษย์นี้มีภาวะ หรือสถานะ ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน คือ

๑) เป็นชีวิต ซึ่งเป็นธรรมชาติ อยู่ในธรรมชาติ และเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ต้องขึ้นต่อกฎธรรมชาติ ทั้งนี้ แยกเป็น ๒ ด้าน คือ กาย และใจ อันจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยปัญญา

๒) เป็นบุคคล ซึ่งเป็นสมาชิกอยู่ร่วมในสังคม มีความสัมพันธ์ต่อกันโดยขึ้นต่อเจตจำนง

เมื่อมองคนต้องมองทั้งสองด้าน และให้ประสานโยงถึงกัน ทั้งด้านที่เป็นบุคคลในสังคม และด้านที่เป็นชีวิตในธรรมชาติ โดยเฉพาะมองคนต้องให้ถึงชีวิต แต่เรามักจะมองคนแค่บุคคล ซึ่งเป็นด้านสังคม

ตามแนวคิดตะวันตก สังคมศาสตร์มองมนุษย์ในแง่เป็นบุคคล แทบไม่พูดถึงในแง่เป็นชีวิต โดยปล่อยให้ชีวิตเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ศึกษาชีวิตนั้นแต่ด้านวัตถุร่างกายอย่างเดียว นิติศาสตร์อยู่ในหมวดสังคมศาสตร์ ก็จึงมองมนุษย์ในแง่เป็นบุคคล

แต่จุดหมายของศาสตร์ทั้งหลายที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์จะไม่มีทางสัมฤทธิ์จริงได้ ถ้ามองคนเพียงแค่ด้านบุคคล โดยไม่คำนึงถึงความเป็นชีวิต เพราะมนุษย์โดยพื้นฐานเป็นธรรมชาติ คือเป็นชีวิต และต้องมองชีวิตให้ครบทั้งด้านกายหรือด้านวัตถุ และด้านจิตใจ

มนุษย์ ทั้งที่เป็นชีวิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ และเป็นบุคคลในสังคม เกี่ยวเนื่องโยงเป็นอันเดียวกัน ถ้าเราไม่เข้าใจชีวิตและไม่ปรับปรุงชีวิตให้ดี ความเป็นบุคคลที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมก็เป็นไปได้ยาก ชีวิตที่พัฒนาอย่างดีจึงจะทำให้ความเป็นบุคคลเจริญงอกงามได้อย่างถูกต้อง หากเราจะให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม อยู่ในโลกที่ดี มีสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข เราจะต้องประสานความคิดเรื่องชีวิตกับความเป็นบุคคลให้กลมกลืนและเกื้อหนุนกันให้ได้

เพียงแค่รับประทานอาหาร คนก็กินอาหารทั้งในฐานะที่เป็นบุคคลและกินในฐานะที่เป็นชีวิต มีทั้งการกินเพื่อสนองความต้องการของบุคคล และการกินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต

แน่นอนว่า คุณค่าที่แท้จริงของอาหารคือเพื่อสนองความต้องการของชีวิต การกินเพื่อสนองความต้องการที่ถือว่าดีที่สุดของบุคคล (เช่น อร่อย โก้ แสดงฐานะ ซึ่งรวมทั้งสิ้นเปลืองที่สุด) อาจะบั่นทอนหรือทำลายชีวิตของเขาเอง ถ้าเมื่อใดเข้าใจถึงความจริงที่โยงมาประสานกัน ก็เท่ากับจับจุดของการแก้ปัญหาได้ ถ้ามองไม่เห็นจุดประสาน แม้แต่คนแต่ละคน ก็จะไม่สามารถเข้าใจตัวเองและปฏิบัติต่อตัวเองให้ถูกต้องได้

การพัฒนาที่ผิดพลาด ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสังคมมนุษย์กับธรรมชาติตั้งแต่ระหว่างบุคคลกับชีวิตในตัวคนเอง

การตัดสินใจทางสังคม รวมทั้งนิติบัญญัติ มีกรณีมากมาย ที่คำนึงถึงแต่บุคคล(และสังคม) โดยไม่มองไปให้ถึงคุณหรือโทษต่อชีวิต(และธรรมชาติ) คือ มองคนไม่ถึงชีวิต เพราะติดอยู่แค่บุคคล ทำให้ไม่อาจสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่แท้จริง และก่อปัญหาแก่อารยธรรมในระยะยาว

ต้องยอมรับว่า กฎหมายมากมายในระบบสังคมที่เป็นมา ได้เป็นเครื่องบั่นทอนอารยธรรม เช่น ทำให้เกิด “การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน” ดังเช่นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่ยั่งยืนที่ผ่านมาแล้วในสังคมตะวันตก ซึ่งก็ต้องเป็นเพราะนักกฎหมายเองก็มีส่วนในความเข้าใจเช่นนั้น คือมีมิจฉาทิฏฐิด้วย จึงช่วยกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

งานของนักกฎหมายมีผลกว้างไกลอย่างนั้น โดยที่นักกฎหมายเองอาจอยู่ใต้อิทธิพลของนักปกครองและนักเศรษฐศาสตร์เป็นต้น และมองความเป็นมนุษย์ไม่ทั่วตลอดถึงความจริงทั้งด้านชีวิตและด้านบุคคลอย่างที่กล่าวแล้วนั้น

ดังนั้น นักบัญญัติกฎหมายก็ตาม ผู้ใช้กฎหมายก็ตาม จึงต้องไม่ประมาท จะต้องศึกษาพัฒนาตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีปัญญายิ่งขึ้น และมีเจตนาดียิ่งขึ้น

การศึกษาที่ผลิตนักกฎหมายผู้สามารถมาสร้างกฎหมายที่เกื้อหนุนต่อชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอารยธรรมของมนุษย์

เพราะฉะนั้น การที่จะบัญญัติกฎหมายที่ถูกต้องให้เป็นปัจจัยปรุงแต่งสร้างสรรค์สังคมที่ดีได้นั้น จะต้องทำด้วยความไม่ประมาท โดยมีความรับผิดชอบอย่างสูง ทั้งด้านปัญญาและด้านเจตนา ถ้ากฎหมายผิด ก็จะทำลายชีวิตมนุษย์ ทำลายสังคม ตลอดจนทำลายตัวธรรมทั้งหมดเลยทีเดียว

นี้เป็นการเตือนให้ต้องระวังว่า ธรรมที่เป็นฐานของกฎหมายหรือเป็นฐานของวินัย อาจถูกทำลายโดยกฎหมายที่ผิด ด้วยปัญญาที่รู้ไม่เท่าถึงการณ์ หรือด้วยเจตนาที่ร้าย ซึ่งมีผลเป็นการทำลายอารยธรรมของมนุษย์

รวมความว่า กฎหมายแท้มีหลักอยู่ในใจที่ต้องรักตัวธรรม (เช่น รักความเป็นธรรม) และรักประโยชน์สุขของสังคม พูดง่ายๆ ก็คือ กลับไปหลักเก่าที่ว่าต้องมีทั้งตัวเจตนา คือเจตจำนง ที่มีเมตตา มีความใฝ่ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อสังคม ตลอดจนมนุษยชาติ และมีความรู้แจ้ง คือมี ปัญญา ที่เข้าถึงความจริง จนกระทั่งถือธรรมเป็นใหญ่

เมื่อไรนักกฎหมายถือธรรมเป็นใหญ่ ก็เรียกว่า เป็นธรรมาธิปไตย คือถือเอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม หลักการเป็นใหญ่ แต่จะถือธรรมเป็นใหญ่ได้ก็ต้องมีปัญญารู้ธรรม รู้หลักการ รู้ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้องดีงาม มันพันกันอยู่ในตัว เพราะฉะนั้นอย่างน้อยต้องมี ๒ อย่างนี้ คือรักธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ โดยรู้ด้วยปัญญาและมีเจตนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งจะทำให้มีพื้นฐานที่จะบัญญัติกฎหมายที่ดี

กฎหมายและนิติบัญญัติมีความสำคัญต่อชีวิตและสังคมตลอดจนอารยธรรมของมนุษยชาติเป็นอย่างมากเช่นนี้ และนักกฎหมายหรือผู้ทำหน้าที่นิติบัญญัติจะต้องมีคุณสมบัติที่เข้าถึงธรรม ทั้งด้วยปัญญา ด้วยจิตใจ และด้วยพฤติกรรม อีกทั้งต้องมีความสามารถในการจัดตั้งวางระเบียบระบบที่เป็นสมมติเพื่อสื่อธรรมออกมาสู่วินัยอย่างได้ผลดี ดังที่กล่าวแล้ว

ดังนั้น การศึกษาด้านนิติศาสตร์ จึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่มีขอบข่ายกว้างขวางลึกซึ้งมาก ไม่ใช่เป็นเพียงการเรียนวิชากฎหมายในความหมายตามตัวอักษรเท่านั้น แต่เป็นการศึกษา เพื่อสื่อสัจธรรมในธรรมชาติสู่อารยธรรมของมนุษยชาติทั้งหมด และเพื่อรักษาอารยธรรมของมนุษยชาติให้ดำรงอยู่ในดุลยภาพแห่งสัจธรรมของธรรมชาติ ที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างดีที่สุด ซึ่งต้องการปัญญาที่กว้างขวางยิ่งใหญ่

อารยธรรมของมนุษย์จะยั่งยืนเพียงใด
อยู่ที่ภูมิธรรมภูมิปัญญาในการจัดการกับสมมติ

เวลานี้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย เช่นเรื่อง “สิทธิ” ที่มีการนำเข้ามาเผยแพร่หรือใช้กัน เรามักแยกไม่ถูก เพราะฉะนั้นจึงขอตั้งข้อสังเกตอีกนิด

อย่างที่ในวงการนิติศาสตร์ตะวันตกมีสายความคิดแบบ natural law, natural rights ซึ่งดูคล้ายๆ กับเรื่องธรรม แต่ที่จริงไม่ใช่เลย แนวคิดแบบนี้คล้ายๆ จะถือว่ามีกฎหมายที่เป็นกฎสากล ที่ใช้ได้ทุกกาลเทศะ อยู่ในหัวสมองหรือในปัญญาของมนุษย์ แต่ที่จริงปัญญาของมนุษย์ที่เข้าถึงตัวความจริงในธรรมชาติที่จะทำให้มีกฎสากลอะไรแบบนั้นได้ ในทางพุทธศาสนาแยกเป็น ๒ ชั้น คือ

๑. ความจริงของธรรมชาติ ที่ไม่เข้าใครออกใคร เช่นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งมนุษย์จะต้องรู้เข้าใจแล้วใช้ความสามารถของเรามาจัดตั้งระบบสังคมของเราเอง

๒. ถ้ามนุษย์เราเข้าถึงความจริงนั้นจริง และมีความสามารถจริง เราก็จัดระบบสังคม โดยเฉพาะการปกครองและกฎหมาย ซึ่งเป็นวินัยได้ดีที่สุด โดยสอดคล้องกับความเป็นจริงในธรรมชาติ แล้วมนุษย์ก็จะได้รับประโยชน์เอง ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงมาตั้งข้อกำหนดต่างๆ ขึ้น

อย่างไรก็ดี การกำหนดในเรื่องสิทธิเป็นต้นนี้ เป็นสมมติ ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าเป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ ซึ่งทำให้เราสร้างอารยธรรมขึ้นมาได้ ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักสมมติ มนุษย์ก็จะอยู่กันได้แค่ตามธรรมชาติพื้นฐานเหมือนอย่างหมู แมว ช้าง ม้า เท่านั้น หรืออาจจะแย่กว่าสัตว์เหล่านั้น เพราะโดยสัญชาตญาณมนุษย์สู้สัตว์เหล่านั้นไม่ได้ ดังได้ยกตัวอย่างว่า เราสร้างกฎให้คนทำสวนมาทำสวนแล้วได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท อันนี้เป็นความสามารถของมนุษย์ ซึ่งในสัตว์อื่นไม่มี แต่ก็ได้บอกแล้วว่า ถ้ามนุษย์หลงสมมติเมื่อไร เมื่อนั้นคือความพินาศ

การที่จะไม่หลงสมมติก็คือ จะต้องโยงจากสมมตินั้นเข้าถึงตัวธรรมคือความจริงอยู่ตลอดเวลา เช่น คนทำสวนยังไม่แปลกแยกจากธรรมคือกฎธรรมชาติ เขาทำสวนได้เงินเดือนตามกฎมนุษย์ ๕,๐๐๐ บาท พร้อมกับที่ลึกลงไปในใจที่แท้ เขาก็ทำสวนเพื่อได้ผลตามกฎของธรรมชาติ คือ เพื่อให้ต้นไม้เจริญงอกงาม

ถ้าเขามองทะลุสมมติเข้าถึงความจริงคือตัวธรรมอย่างนี้ ประโยชน์ของสังคมที่เป็นจุดหมายแท้ก็ไม่เสีย แต่กลับทำให้กลายเป็นว่าสมมติมาหนุนความจริงแท้ บัญญัติมาหนุนหลักการ คือวินัยมาหนุนธรรม ทำให้ความต้องการผลตามธรรมชาติบรรลุจุดหมายเป็นจริงสมประสงค์ยิ่งขึ้น

มนุษย์เรามีความฉลาด เราจึงบัญญัติสิทธิต่างๆ ขึ้นมา แต่อย่างที่บอกแล้วว่า สิทธิ นี้เป็นความสามารถของมนุษย์ที่ตกลงกำหนดกันขึ้น ซึ่งจะได้ผลดีจริงหรือไม่เพียงไรก็อยู่ที่เราจะต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์ มีเจตนาที่ดีงาม มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ หวังประโยชน์สุขแก่สังคม และทำการด้วยความรู้ความเข้าใจระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยอย่างกว้างขวางทั่วถึงที่สุด

น่าสังเกตว่า ในช่วงเวลาแห่งความเจริญของอารยธรรมมนุษย์ ยุคปัจจุบัน มีการเน้นเรื่องสิทธิมากขึ้น และปัญหาเรื่องสิทธิต่างๆ ก็ซับซ้อนขึ้น กับทั้งมีการกำหนดสิทธิใหม่ๆ แปลกๆ ขึ้นด้วย

ขอยกตัวอย่างเช่น เวลานี้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีการกำหนดสิทธิอย่างหนึ่งขึ้นเรียกว่า pollution rights แปลว่า “สิทธิในการก่อมลภาวะ” ซึ่งไม่มีในธรรมชาติ และก็ไม่ได้ถือว่าเป็นสิทธิตามธรรมชาติ แต่ก็ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว คือ เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเพื่อความดีงามของสังคม เท่าที่มนุษย์ที่กำหนดเรื่องนี้ขึ้นมา จะมีสติปัญญามองเห็นว่าจะเป็นเครื่องช่วยแก้ปัญหาในหมู่มนุษย์

สำหรับในกรณีนี้เหตุผลก็คือว่า เวลานี้ธรรมชาติเสื่อมโทรมเสียหายมาก เนื่องจากการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะกิจการด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัญหาจึงมีว่าจะทำอย่างไรให้มนุษย์ไม่ทำลายธรรมชาติ ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องทำ (ที่จริงอาจเป็นว่า ทั้งๆ ที่การพัฒนาเศรษฐกิจผิดทางจนกลายเป็นโทษแล้ว หรือเป็นการพัฒนาในทางที่ก่อผลร้ายเช่นเพื่อสนองความโลภไปแล้ว เราก็ยังจำเป็นต้องทำการพัฒนาอย่างนั้น) การผลิตสิ่งของเครื่องใช้ก็ต้องทำ ก็มีทางประนีประนอม คือทำให้เขาผลิต โดยสร้างมลภาวะให้น้อยที่สุด

ในบรรดาวิธีการทั้งหลายที่จะแก้ปัญหา รวมทั้งจริยธรรมในการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม ก็มีการบัญญัติสิทธิขึ้นมาอย่างหนึ่งคือ สิทธิในการก่อมลภาวะ

วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้คือ รัฐเอาสิทธิในการก่อมลภาวะให้บริษัท หรือโรงงานอุตสาหกรรมแห่งใดแห่งหนึ่งไป โดยกำหนดให้มีสิทธิก่อมลภาวะได้เท่านี้ เมื่อได้รับสิทธิไปแล้ว บริษัทหรือโรงงานนั้นก็ต้องไปจัดการระบบธุรกิจอุตสาหกรรมของตนเอง ให้ก่อมลภาวะภายในขอบเขตแห่งสิทธิที่ได้มา ถ้าธุรกิจของตนไม่มีประสิทธิภาพ ก็ก่อมลภาวะมากแต่ผลิตสินค้าได้น้อย ถ้าจะดำเนินธุรกิจอยู่ต่อไป ก็ไม่คุ้ม เพราะหมดสิทธิก่อมลภาวะแล้ว จะผลิตสินค้ามากกว่านั้นไม่ได้ ก็ขาดทุน อาจจะต้องล้มเลิกกิจการไปเอง เท่ากับว่ารัฐไปบีบให้ธุรกิจรักษาธรรมชาติแวดล้อม

ทีนี้เมื่อโรงงานหรือกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ผลิตของได้น้อย แต่ก่อมลภาวะสูง หมดสิทธิที่จะผลิตเกินกว่านั้นแล้ว ธุรกิจขาดทุนยับเยินจะอยู่ไม่ได้ ก็สามารถขายสิทธินี้แก่บริษัทอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า คือสามารถผลิตของมาก โดยก่อมลภาวะน้อย บริษัทหรือโรงงานที่มีประสิทธิภาพนั้นก็มาซื้อเอาสิทธินี้ไป

ตัวอย่างนี้เป็นอุบายวิธีที่ทำให้การทำลายสภาพแวดล้อมเบาลง ด้วยการผลิตของมากแต่ก่อมลภาวะน้อย นี่ก็คือภาวะที่เศรษฐกิจก็ไปได้ และสิ่งแวดล้อมก็มีทางที่จะอยู่ดีได้พอสมควร นับว่าเป็นวิธีการประนีประนอมอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาที่มีปัญหาว่าจะไม่ยั่งยืน

ในเรื่องสมมติและบัญญัตินี้ มนุษย์มีความสามารถก็คิดกันเอา ถ้าปัญญาดีและเจตนาดี ความพยายามก็จะได้ผลดีด้วย และเมื่อเราพิจารณาต่อไป เห็นว่าวิธีนี้ยังไม่ได้ผลดีนัก ก็เปลี่ยนไปอีก

เรื่องสิทธิกฎข้อบังคับต่างๆ นี้ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ แต่อย่างที่ว่าแล้ว จะต้องไม่ลืมความจริงของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะอายอินเดียนแดงอย่างที่ประธานาธิบดี แฟรงคลิน เพียซ ได้เจอมาแล้ว เมื่อครั้งซื้อแผ่นดินเมืองซีแอตเติ้ลจากอินเดียนแดง ถูกอินเดียนแดงตอบมาว่า “อะไรกัน ท่านจะเอาแผ่นดินและผืนฟ้ามาซื้อขายกันหรือนี่ ความคิดนี้แปลกประหลาด” เพราะว่ามีที่ไหน มนุษย์เอาแผ่นดินมาแบ่งกัน มันเป็นเรื่องที่สังคมมนุษย์ตกลงกัน แล้วเราก็บอกว่าเป็นสิทธิในทรัพย์สิน และในอะไรต่างๆ แต่เวลาอ้างกับธรรมชาติ มันไม่ฟังเรา

ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องรู้ตระหนักในหลักการ ๒ ชั้นที่โยงเชื่อมกัน คือ ตัวธรรมความจริงในกฎธรรมชาติที่เราจะต้องรู้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นฐานของการสร้างวินัยที่เป็นระบบกฎเกณฑ์กติกาในสังคม พร้อมทั้งเป็นจุดหมายของวินัยนั้นไปด้วยในตัว ทั้งนี้มนุษย์จะต้องไม่ประมาท โดยมีการศึกษาพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลา

โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสภานิติบัญญัติ จะต้องคำนึงถึงหลักความจริงนี้ให้มาก เพราะดังได้กล่าวแล้วว่า กฎหมายที่บัญญัติกันนั้นออกมาจากปัจจัยปรุงแต่งภายใน คือภูมิธรรมภูมิปัญญา พร้อมทั้งปัจจัยหล่อหลอมจากสังคมภายนอก ซึ่งตนเองเป็นผู้ตัดสินใจ กฎหมายที่ออกมาจึงเป็นตัวฟ้องว่าผู้บัญญัติมีภูมิธรรมภูมิปัญญาแค่ไหน

ต่อจากนั้น กฎหมายที่ออกมาก็จะเป็นปัจจัยปรุงแต่งสังคมและอารยธรรม หรือเป็นตัวทำลายต่อไป ถ้าร้ายก็ทำลายทั้งชีวิตสังคมและทำลายอารยธรรมตลอดจนทำลายตัวธรรมด้วย ถ้าดีก็ส่งเสริมให้อารยธรรมมนุษย์เจริญก้าวหน้าเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

มีข้อที่ขอย้ำอีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งสร้างระบบสังคมที่เรียกว่า สังฆะ ขึ้นมาเพื่อเป็นชุมชนแห่งการศึกษา แล้วมีการปกครองขึ้นมาเพื่อให้การศึกษาคือการฝึกฝนพัฒนาชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นไปได้ด้วยดี การฝึกคนหรือให้การศึกษาแก่เขานั้น แท้ที่จริงเป็นการสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการที่เขาจะพัฒนาตัวเอง แต่เมื่อทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงได้ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกเขาด้วย และในการฝึกนั้นพระองค์มีลักษณะอย่างหนึ่ง เรียกว่าเป็นผู้ฝึกโดยไม่ต้องใช้อำนาจ หรือที่ศัพท์ทางพระเรียกว่า ผู้ฝึกโดยไม่ต้องใช้อาชญา คือไม่ต้องใช้การลงโทษ

ลักษณะนี้อาจจะเป็นอุดมคติว่า กฎหมายที่ดีที่สุด และการปกครองที่ดีที่สุด ต้องบรรลุจุดหมายโดยใช้อาชญาให้น้อยที่สุด ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องใช้เลย พระองค์จึงมีคุณสมบัติพิเศษที่ฝึกคนโดยไม่ต้องใช้อาชญา และที่จริงนั้นกฎหมายเองก็เป็นเครื่องฝึกคนอยู่แล้ว แต่การที่เป็นอย่างนี้ได้ ก็อยู่ที่ว่าจะต้องทำให้คนมีจิตสำนึก และมีท่าทีต่อกฎหมายแบบเป็นสิกขาบท คือเป็นข้อฝึกตน ไม่ใช่ข้อบังคับ และทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีกจนกระทั่งว่า กฎหมายเป็นเพียงเครื่องหมายรู้ร่วมกันในข้อสมมติของสังคมอย่างที่ว่ามาแล้ว

โดยนัยนี้ แนวทางในการทำกฎหมาย จึงมี ๒ ทางคือ ในระบบสังคมที่การปกครองเป็นจุดหมายในตัว คือการปกครองเพื่อให้สังคมสงบเรียบร้อย ก็จะเป็นการปกครองด้วยอำนาจ หรือเน้นการใช้อำนาจ กฎหมายก็จะมุ่งบังคับและควบคุม โดยเน้นการกำจัดคนชั่ว ด้วยการลงโทษคนทำความผิด

แต่ในระบบที่ถือคติว่าการปกครองเป็นการสร้างสังคมที่ดีขึ้นมา เพื่อเป็นสภาพเอื้อให้มนุษย์ได้พัฒนาตนเข้าสู่ชีวิตที่ดีงาม การบัญญัติกฎหมายก็จะเน้นการสร้างคนดี เพราะเป็นเครื่องฝึกมนุษย์ให้ขึ้นไปสู่ชีวิตที่ดีงาม เมื่อกฎหมายเป็นสิกขาบทคือเป็นเครื่องฝึกตน กฎหมายก็จะเป็นเครื่องมือในการสร้างคนดี เพราะฉะนั้น จึงควรเน้นกฎหมายในการสร้างคนดีมากกว่าการกำจัดคนชั่ว

เป็นอันว่า กฎหมายมี ๒ แบบ ถ้าเน้นอำนาจก็จะเป็นกฎหมายที่เด่นในด้านกำจัดคนชั่วโดยมีการห้ามและบังคับมาก แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่เน้นการศึกษา ซึ่งมุ่งสร้างคนดี ก็จะมีลักษณะในทางจัดสรรโอกาสและมีการส่งเสริมมาก แต่ในความเป็นจริงซึ่งสังคมในขณะหนึ่งๆ มีคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันหลากหลาย การปกครองและกฎหมายจะต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้าน คือ ทั้งส่งเสริมคนดี และกำราบคนร้าย ทั้งนี้โดยมีจุดเน้นที่การสร้างและส่งเสริมคนดี

รวมความว่า ถ้าแยกโดยจุดเน้น กฎหมายก็มี ๒ แบบ คือ แบบสร้างคนดี กับแบบกำจัดคนชั่ว

ถ้าใช้ระบบอำนาจก็แน่นอนว่าจะเอียงไปในแบบกำจัด แต่ถ้าใช้ระบบที่มองสังคมมนุษย์เป็นสังคมที่คืบหน้าไปสู่ความดีงาม เราก็ออกกฎหมายมาสร้างสภาพเอื้อให้ชีวิตพัฒนา ก็เป็นกฎหมายที่พยายามสร้างคนให้เป็นคนดี และสร้างคนให้เป็นคนดีให้มากจนกระทั่งเราแทบไม่ต้องลงโทษคน หรือลงโทษคนให้น้อยที่สุด เพราะไม่มีคนชั่วที่จะต้องลงโทษ ถ้าทำได้อย่างนั้นก็เป็นกฎหมายที่ดี

แต่ทั้งนี้กฎหมายย่อมสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับการปกครอง การปกครองจึงต้องมีนโยบายในการที่จะสร้างสรรค์สังคมในแบบที่ว่า ใช้การปกครองเพื่อสร้างคน โดยสร้างคนดีเพื่อให้มีคนชั่วที่จะต้องลงโทษให้น้อยที่สุด ซึ่งก็คือ เป็นการถือ แนวคิดแบบสิกขา

บทส่งท้าย
มองอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต
*
ดุลยภาพโดยรวมของสังคมสัมฤทธิ์ได้ ด้วยการจัดการทางสังคม
สู่เป้าหมายแห่งการพัฒนาคน

ฝ่ายนิติบัญญัติของไทยจะทำอย่างไร
ถ้าจะคิดเกื้อกูลให้พุทธศาสนาอยู่ดีเพื่อประโยชน์แก่สังคมไทย

เท่าที่เป็นมา เมื่อการพัฒนาคนอ่อนลง และมีการทำความชั่วเช่นอาชญากรรมมากขึ้น แนวโน้มของสังคมก็หันไปสู่การปกครองแบบเน้นอำนาจมากยิ่งขึ้น และด้านกฎหมายก็ออกข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในการบังคับและลงโทษมากยิ่งขึ้น

แนวคิดแบบนี้ก็ได้เข้าไปสู่ระบบการปกครองคณะสงฆ์ด้วย หรืออาจจะเป็นว่าคณะสงฆ์ถูกหล่อหลอมจากอิทธิพลของกระแสสังคม ให้มีแนวคิดการปกครองแบบที่เน้นอำนาจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการหลงลืมละทิ้งหลักการแห่งวินัยที่แท้ ซึ่งเป็นการปกครองเพื่อการศึกษา ที่มุ่งเกื้อหนุนการพัฒนาชีวิตของมนุษย์

ตลอดกาลที่ล่วงไป พระราชบัญญัติคณะสงฆ์แทบทุกฉบับที่ออกมาเป็นกฎหมายประเภทที่เน้นอำนาจ คือการปกครองแบบบังคับควบคุม แล้วลืมหลักการของพระพุทธศาสนาที่ว่า ตั้งสังฆะขึ้นมาเพื่ออะไร

ถ้าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์จะต้องวางบทบัญญัติ เพื่อเอื้อต่อการสร้างชุมชนแห่งการศึกษาขึ้นมาให้ได้ จึงจะสอดคล้องกับจุดหมายที่แท้จริงแห่งการปกครองในพระธรรมวินัย

เวลานี้เน้นแต่การใช้อำนาจและการบังคับบัญชา เจ้าอาวาสเลิกเป็นอาจารย์ไปนานแล้ว ยังเหลือแต่การเรียกชื่อเท่านั้นว่าเป็น "อาจารย์" ชาวบ้านไปเจอเจ้าอาวาสก็ยังเรียกอาจารย์ แต่ตัวเจ้าอาวาสจำนวนมากไม่เคยทำหน้าที่ของอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่าวิปลาสไปแล้ว เจ้าอาวาสทำหน้าที่เป็นผู้ปกครอง ก็มุ่งใช้อำนาจบังคับบัญชา ถ้าอย่างนี้ก็ไปไม่ไหว อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องยกขึ้นมาพิจารณา

อาตมภาพได้พูดมาใช้เวลามากมายแล้ว ทีนี้ท่านอัยการสูงสุด ได้ฝากคำถามไว้ ๔ ข้อ สำหรับ ๓ ข้อต้นนั้น อาตมภาพคิดว่าจะไม่ตอบละ ขอถือว่าเนื้อความที่พูดมาเป็นเสมือนว่าครอบคลุมคำตอบไว้แล้ว

ส่วนข้อที่ ๔ คำถามดูเหมือนจะเป็นว่า “ฝ่ายนิติศาสตร์จะเกื้อกูลพุทธศาสนาได้หรือไม่ อย่างไร” อาตมภาพจะไม่พูดในแง่ตัวนิติศาสตร์โดยตรง แต่จะพูดในแง่นิติบัญญัติ

ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ในสังคมไทยเรามีความสัมพันธ์ระหว่างนิติบัญญัติของรัฐบาลไทย กับการปกครองของคณะสงฆ์ โดยรัฐเป็นผู้ตรากฎหมายคณะสงฆ์ ได้แก่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

ในเรื่องนี้ ถ้าทางนิติบัญญัติจะเกื้อกูล ก็คือ ช่วยให้กฎหมายคณะสงฆ์เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา หมายความว่า ทำอย่างไรจะให้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และข้อบัญญัติต่างๆ เป็นสิกขาบทตามหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งจะเป็นตัวเสริมสร้างสภาพแวดล้อม ระบบความสัมพันธ์ และระบบสถาบันที่เกื้อหนุนให้บุคคลที่เข้ามาบวชแล้วได้รับการศึกษา ที่เรียกว่าไตรสิกขา

ถ้ากฎหมายทำอย่างนี้ไม่ได้ ก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะมันไม่เอื้อให้เกิดการปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา

เวลานี้ก็เป็นอย่างที่ย้ำแล้วว่า กฎหมายของเราได้ชักนำความโน้มเอียงเข้ามาสู่วงการสงฆ์ ในแบบที่ทำให้สถาบันสงฆ์กลายเป็นสถาบันที่ปกครองด้วยอำนาจไปด้วย ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง ถ้าจะให้เป็นไปโดยชอบ จะต้องให้เป็นการปกครองด้วยการศึกษาและเพื่อการศึกษา

อย่างที่บอกแล้วว่า ในพระพุทธศาสนา การปกครองและกฎหมายคือวินัย เป็นเรื่องของการศึกษา โดยการศึกษา และเพื่อการศึกษา ที่จะเกื้อหนุนให้มนุษย์พัฒนาตนขึ้นไปสู่ความมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น

ต่อไปขั้นที่ ๒ ก็คือ ให้ขยายหลักการนี้ออกไปสู่สังคมให้กว้างขวาง ถ้าเห็นด้วยกับหลักการของพระพุทธศาสนาตามนิติศาสตร์แนวพุทธ กฎหมายจะต้องมีแนวโน้มในการที่จะสร้างระบบสังคม จัดสรรสภาพแวดล้อม และวางรูประบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ในทางที่จะเกื้อหนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมายของชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

พร้อมกันนี้ ยังมีความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่งที่จะมาเกื้อหนุนพระพุทธศาสนา ที่พูดมาเมื่อกี้นั้นเป็นการเกื้อหนุนในแง่ของหลักการของพระพุทธศาสนา แต่ทีนี้การเกื้อหนุนอีกอย่างหนึ่งที่แคบเข้ามาเป็นด้านปฏิบัติการ ก็คือในหลักธรรมชุดหนึ่งที่พูดไปแล้ว ได้แก่ อปริหานิยธรรม ๗ ประการ

หลักนี้ข้อสุดท้ายที่บอกว่า หน้าที่ของรัฐอย่างหนึ่งคือจะต้องจัดอารักขาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ ซึ่งในที่นี้หมายถึงท่านผู้มีศีล มีความบริสุทธิ์ เป็นผู้ดำรงธรรม สั่งสอนธรรม เป็นหลักใจของประชาชน และเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมของสังคม กฎหมายและการปกครองจะต้องช่วยคุ้มครองและเกื้อหนุน ไม่ใช่ละเลย แล้วกลับไปหนุนในทางที่ผิด

เวลานี้คงต้องถามว่า สังคมของเราได้ใช้กฎหมายเกื้อหนุนในแนวทางนี้บ้างหรือไม่ คือเกื้อหนุนผู้ที่อยู่ในแนวทางของพระพุทธศาสนา อยู่ในธรรมในวินัย หรือเกื้อหนุนผู้ที่ออกไปนอกธรรมนอกวินัย

เรื่องนี้เป็นงานหนึ่งที่จะประสานกับธรรม เพราะว่าเมื่อมองในแง่ประโยชน์ส่วนรวม ในที่สุด สภาพของสถาบันสงฆ์ก็จะฟ้องถึงสภาพของสังคมไทยด้วย เนื่องจากสถาบันสงฆ์นั้นเป็นสถาบันสังคม โดยเฉพาะเป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของจริยธรรม เพราะฉะนั้นจึงเป็นเครื่องชี้วัดจริยธรรมของสังคมไปด้วย

ในแง่หนึ่งเรามองว่า เวลานี้สถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนทางจริยธรรมของสังคมไทยตกต่ำเสื่อมโทรมมาก ถ้าตกต่ำจริงก็เป็นดัชนีชี้วัดว่า เวลานี้สังคมไทยได้มีความตกต่ำทางจริยธรรมอย่างยิ่ง จนแม้กระทั่งสถาบันที่เป็นตัวแทนหรือเป็นแกนกลางของจริยธรรมก็ยังตกต่ำถึงเพียงนี้

สภาวะเช่นนี้เป็นเครื่องเตือนใจผู้รับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะนักปกครองและผู้บริหารทุกท่านว่า จะต้องตื่นขึ้นมารีบปรับปรุงพัฒนาสังคมของเรา รวมทั้งการพัฒนาสถาบันสงฆ์ด้วย เพราะว่าการที่สถาบันสงฆ์ตกต่ำนั้นไม่ได้หมายความว่าเฉพาะสถาบันสงฆ์เท่านั้นที่ตกต่ำ ดังที่เรามักมองกันอย่างคับแคบเหลือเกิน เช่นมองว่าพระไม่ดีๆ เวลานี้พระตกต่ำอะไรต่างๆ แล้วก็จบ

แต่ที่จริงนั้น สังคมนี้เป็นส่วนรวมขององค์ร่วมต่างๆ มากมาย แต่ละส่วนนั้นเป็นองค์ประกอบที่ทั้งเป็นปัจจัยส่งผลและทั้งเป็นตัวรับผลด้วย สถาบันสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน

เมื่อสถาบันสงฆ์ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะไม่สามารถเป็นปัจจัยปรุงแต่งสร้างสรรค์สังคมในทางที่ดี แต่จะเป็นเพียงตัวรับผลจากปัจจัยทางสังคม และเป็นตัวสะท้อนปัญหาของสังคม

เพราะฉะนั้นจึงขอย้ำว่า เมื่อสถาบันสงฆ์ตกต่ำเสื่อมโทรม ในแง่หนึ่งจึงเป็นเครื่องวัดว่าเวลานี้สังคมไทยได้ตกต่ำทางจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดที่แม้แต่ส่วนแกนกลางทางจริยธรรมก็ยังแย่ขนาดนี้ ฉะนั้นอย่าได้ไปคิดมองแคบๆ ว่าสถาบันสงฆ์แย่ เพราะว่าที่แท้ก็คือสังคมไทยทั้งสังคมแย่ที่สุดแล้ว ถ้าเรามองเช่นนี้ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้เราตื่นขึ้นมาและรีบแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุงสังคมไทยให้ขึ้นสู่สถานะที่ดีงามถูกต้อง ด้วยการพัฒนาสถาบันสงฆ์เองด้วย ให้เข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง

อนึ่ง มองในแง่ปัจจัยอย่างหนึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่า นิติบัญญัติของสังคมไทยได้มีส่วนเอื้อที่ทำให้สถาบันสงฆ์ตกต่ำลง

การปกครองด้วยอำนาจนั้น แน่นอนว่าผิดหลักการของพระพุทธศาสนา เพราะการปกครองในพระพุทธศาสนาเป็นเพียงปัจจัยที่มาช่วยเสริม ซึ่งมีขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น คือเพื่อช่วยสนับสนุนให้มนุษย์พัฒนาตนขึ้นสู่ชีวิตที่ดีงาม ถ้าเราไม่ยอมรับหลักการนี้มาใช้ในสังคมส่วนใหญ่ ก็ต้องยอมรับในแง่ของสถาบันสงฆ์

ถ้ายอมรับทั้งหมด ก็หมายความว่าขยายหลักการนี้มาใช้ในสังคมไทยส่วนรวมด้วย ตลอดจนสังคมโลกทั้งหมด เพื่อให้นิติศาสตร์เกื้อหนุนระบบการจัดการสังคม ที่เอื้อต่อการพัฒนามนุษย์ ให้มีชีวิตที่ดีงาม มีสังคมที่สันติสุข และ ช่วยทำโลกให้รื่นรมย์น่าอยู่อาศัยยิ่งขึ้น

ได้กล่าวแล้วว่า การพัฒนาคนเป็นทั้งจุดหมายและเป็นทั้งปัจจัยของวินัยอันรวมทั้งกฎหมาย กล่าวคือกฎหมายมีไว้เพื่อสร้างสภาพเอื้อโอกาสแก่การที่คนจะพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามและประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นไป และคนที่พัฒนาดีแล้วนั่นแหละจะปฏิบัติตามกฎหมายได้ดีที่สุด พร้อมทั้งช่วยให้กฎหมายบรรลุจุดหมายของมันอย่างดีที่สุด

โดยเฉพาะถ้าคนมีการพัฒนาตนอย่างดี จนเข้าถึงธรรมด้วยปัญญาและด้วยจิตใจแล้ว เขาก็จะมีพฤติกรรมที่เข้าถึงธรรม ซึ่งจะทำให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์แบบ กล่าวคือกฎหมายจะไม่ใช่เป็นข้อบังคับ แต่เป็นเพียงข้อหมายรู้ หรืออาจจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ต้องมีกฎหมายแบบข้อบังคับ มีแต่เพียงกฎหมายแบบข้อหมายรู้ หรือมีวินัยโดยไม่ต้องมีสิกขาบท

ถ้าไม่มีพื้นฐานการพัฒนาทางจิตใจและปัญญา ไม่ว่ากฎหมายหรือวินัยจะกำหนดไว้อย่างไร ในที่สุดก็จะไปไม่รอด เพราะคนจะหาทางเลี่ยงกฎหมาย หรืออย่างน้อยก็ไม่มีความยินดีเต็มใจพร้อมใจที่จะปฏิบัติตาม และแม้จะมีการบังคับและการลงโทษกันอย่างไร ก็จะล้มเหลวในที่สุด เพราะตัวระบบเองจะกร่อนโทรมจนหมดประสิทธิภาพ เช่น มีการสมคบกันหลบเลี่ยงกฎหมายในทุกระดับ ต้องตั้งระบบบังคับควบคุมซับซ้อนขึ้นๆ และลงโทษรุนแรงขึ้นๆ จนไร้ผล ตลอดจนมีการนำเอากฎหมายไปใช้ในทางที่ผิดเจตนารมณ์ เพื่อสนองความต้องการผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น

ฉะนั้น การพัฒนาคนในด้านพฤติกรรมต่อกฎหมาย พร้อมไปด้วยกันกับการพัฒนาด้านจิตใจและด้านปัญญา จึงเป็นภารกิจสำคัญที่นิติศาสตร์จะต้องให้ความสนใจ

เป็น rule of law นั้นหรือจะพอ อย่างเพิ่งภูมิใจ
ถ้าพัฒนาสาระแท้ขึ้นมาไม่ได้ อารยธรรมก็จะสลายด้วยกินตัวมันเอง

การพัฒนาคนอาจเกิดจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในประวัติศาสตร์ผลักดัน โดยไม่ได้เกิดจากการตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของคนและสังคมเป็นต้น เช่น การรักความเป็นธรรมอย่างแรงกล้า ที่พัฒนาขึ้นมาในหมู่ชนบางสังคม เนื่องจากประสบการณ์ในการถูกกดขี่ข่มเหงเบียดเบียนกันมาอย่างแพร่หลายและรุนแรง

จากประสบการณ์เช่นนั้น และด้วยความรักความเป็นธรรมที่พัฒนาขึ้นมาอย่างนั้นเป็นฐาน สังคมดังกล่าวก็จะจัดตั้งวางกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ขึ้นมา เพื่อรักษาความเป็นธรรมนั้นอย่างค่อนข้างได้ผล และคนที่รักความเป็นธรรมทั้งหลายก็จะเคารพและรักษากฎหมายหรือกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้นได้อย่างหนักแน่นและจริงจังมั่นคง

อย่างไรก็ดี เมื่อกาลเวลาผ่านไป และปัจจัยแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ความรักความเป็นธรรมเป็นต้นที่เป็นฐานอยู่ภายในจิตใจก็เลือนลางจางลงไป แม้ว่ากฎหมายและบทบัญญัติต่างๆ ที่วางไว้ยังคงอยู่ และความนิยมและความสามารถในการจัดตั้งวางกฎเกณฑ์กติกาและตรากฎหมายก็ยังสืบเนื่องต่อมา แต่ปรากฏว่าบางทีกฎหมายและกฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายได้กลายเป็นเพียงรูปแบบที่ไม่สนองเจตนารมณ์ที่เป็นตัวหลักการ จึงไม่ได้ผลสมความมุ่งหมายบ้าง ก่อผลข้างเคียงหรือผลพ่วงในทางลบที่บางครั้งร้ายแรงบ้าง ตลอดจนกลายเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของบุคคล และกลุ่มคน หรือกลายเป็นเครื่องทำร้ายสังคมนั้นเอง

สภาพการณ์เช่นนี้ เป็นสิ่งที่นักนิติศาสตร์และผู้รับผิดชอบต่อสังคมโดยทั่วไปจะต้องรู้เท่าทันและระมัดระวังโดยไม่ประมาท เพราะการเป็นสังคมที่พัฒนาแล้ว (ตามความหมายสมัยใหม่ที่เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือด้านวัตถุ) ไม่เป็นหลักประกันว่าจะปลอดภัย และอาจเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมต้องหมุนไปในวงจรของความเจริญแล้วก็เสื่อม

สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของสังคมยุคปัจจุบัน ที่ภูมิใจตนว่าเป็นสังคมที่ถือหลัก rule of law แปลกันว่าหลักนิติธรรม คือปกครองกันด้วยกฎหมาย ถือกฎหมายเป็นใหญ่ (คือเป็นธรรมาธิปไตย ในระดับธรรมโดยบัญญัติ) ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ทุกคน ทั้งผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองต้องอยู่ใต้บังคับของกฎหมายและได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเสมอกัน

จะยกตัวอย่างปัญหากฎหมายกับสภาพการพัฒนาคนในสังคมอเมริกัน ซึ่งถือกันว่าเป็นสังคมที่พัฒนาก้าวไกลที่สุด มาเป็นข้อพิจารณาสัก ๓ กรณี

๑) ปัญหาการแบ่งแยกผิว เป็นตัวอย่างของการพยายามแก้ปัญหาด้วยกฎหมาย ในขณะที่ทางด้านจิตใจไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่จะพัฒนาให้สอดคล้องกัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการพยายามเอากฎหมายที่เป็นรูปธรรมมารวมคนเข้าด้วยกันโดยรูปแบบ แต่ไม่มีเครื่องมือทางนามธรรมที่จะมารวมใจคน ผลก็คือสภาพสังคมอเมริกันที่ปัญหาการแบ่งแยกผิวยิ่งรุนแรง และความหวังในการแก้ปัญหายิ่งเลือนลางลงไปทุกที ขอให้ดูตัวอย่างคำกล่าวในหนังสือใหม่ๆ บางเล่มของชาวอเมริกัน เช่น

“ในที่สุด เราก็เลิกคติเบ้าหลอม (melting pot) ไปแล้ว” (Naisbitt, 273)

“คนอเมริกันผิวดำ เป็นชาวอเมริกัน แต่กระนั้น เขาก็ยังมีชีวิตอยู่อย่างคนต่างด้าวในผืนแผ่นดินเดียวที่เขารู้จักนั้น . . . ดังนั้น อเมริกาจึงมองได้ว่าเป็นชน ๒ ชาติต่างหากจากกัน . . . การแบ่งแยกนั้นแผ่คลุมไปทั่วและชำแรกลึก” (Hacker, 4)

“สามสิบปีผ่านไปแล้ว หลังจากออกรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิพลเมือง (Civil Rights Act) เราควรจะได้เห็นยุคใหม่แห่งความร่วมมือและความเข้าใจกัน . . . แต่การขจัดความแบ่งแยกด้วยกฎหมาย ได้นำไปสู่การรวมจิตใจเข้าด้วยกันอย่างที่ ดร.คิง มุ่งหวังหรือเปล่า ความสมานสามัคคีมีมาให้เห็นเงาบ้างไหม . . . หรือว่าพวกเรายิ่งจมลึกลงไปในหลุมแห่งความโดดเดี่ยวและความไม่ไว้ใจกัน . . . ความรังเกียจผิวเป็นบาดแผลแห่งสังคมของเรา แต่แทนที่เราจะคอยดูแลให้แผลนั้นค่อยๆ หายไปอย่างช้าๆ เราก็เหมือนกับสัตว์อื่นๆ ซึ่งอดไม่ได้ที่จะคอยกัดแผลนั้น แผลก็เลยยิ่งเปิดกว้างมากขึ้น” (Howard, 133-143)

๒) ปัญหาการทารุณเด็ก การทารุณเด็กเป็นปัญหาใหญ่ที่แพร่หลายมานานในสังคมอเมริกัน และสังคมยิ่งเจริญ ปัญหาก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น หนังสือ The Day America Told the Truth กล่าวว่า

“คนที่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ทั่วอเมริกาทุก ๑ ใน ๖ คน เคยถูกทำการทารุณทางร่างกายในวัยเด็ก และเกือบเท่ากันนั้น คือ ทุก ๑ ใน ๗ คน สารภาพว่า เมื่อเป็นเด็กตนเคยถูกทำการทารุณทางเพศ” (Patterson, 125)

แม้ว่าตามสถิติที่เป็นทางการ จำนวนเด็กที่มีในรายงานจะน้อยกว่าที่กล่าวนี้ เช่น ในปี ๒๕๓๖/๑๙๙๓ มีรายงานเด็กถูกทำทารุณ ๒,๘๒๕,๕๙๔ คน (The American Almanac 1995-1996, Table No. 347) คนที่ทำการทารุณส่วนมากก็คือคนใกล้ชิด เริ่มแต่พ่อแม่ของเด็กเอง

เมื่อปัญหาการทารุณเด็กแพร่หลายมากอย่างที่ว่านี้ จึงเกิดความจำเป็นที่ทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายมาป้องกันแก้ไขปัญหาและคุ้มครองเด็ก เช่น มีมาตรการในการลงโทษคนที่ทารุณเด็ก แต่กฎหมายที่ออกมาเป็นเหมือนดาบสองคม ในด้านดี ช่วยได้เพียงลงโทษคนที่ทำผิด และยับยั้งบางคนที่จะทำร้าย ช่วยบรรเทาปัญหาด้วยการกั้นกระแสร้ายไม่ให้สังคมเสื่อมโทรมลงไปกว่านั้นอีก (ซึ่งก็ไม่ได้ผลจริง)

แต่ในด้านผลเสีย กลายเป็นการทำลายบรรยากาศทางจิตใจ และความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมทั้งเป็นการแทรกแซงกั้นขวางในกระบวนการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เช่น เมื่อพ่อหรือแม่ตีหรือดุว่าเด็ก ซึ่งอาจยังไม่แน่ว่าเป็นการรุนแรงหรือไม่ เด็กอาจมองว่ารุนแรงหรือโกรธแล้วโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ หรือเพื่อนบ้านได้ยินได้เห็นแล้วอาจโทรศัพท์ไปแจ้ง หรือเด็กไปโรงเรียนฟ้องครูแล้วครูโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ เมื่อตำรวจมาจับพ่อแม่ไป พ่อแม่ถูกขัง หรือดำเนินคดีอยู่ แม้จะยังไม่ได้ตัดสินว่ามีความผิดจริงหรือไม่ ผลเสียก็เกิดขึ้นแล้ว (เช่น เคยมีกรณีที่พ่อตรอมใจผูกคอตายในห้องขังบ้าง พ่อแม่หลบหนีคดีทำให้กิจการงานต้องล้มเลิกไปบ้าง)

แม้แต่เมื่อยังไม่มีกรณีเกิดขึ้น แต่บรรยากาศในบ้านที่ควรเป็นสภาพแห่งความรักความอบอุ่น ก็อาจจะกลายเป็นบรรยากาศแห่งความหวาดระแวงกัน พ่อแม่จะสั่งสอนลูกก็ต้องหวาดว่าอาจถูกจับถูกฟ้อง ลูกก็อาจมีท่าทีแบบเพ่งจ้องหาความผิดของพ่อแม่ หรือมองพ่อแม่เป็นคนละฝ่ายกับตน และไม่เกรงพ่อแม่ เพราะนึกว่ามีกฎหมายและเจ้าหน้าที่เป็นพวกของตน ดังนี้เป็นต้น

๓) ปัญหาการฟ้องเรียกค่าเสียหาย วัฒนธรรมอเมริกันเน้นการพิทักษ์สิทธิส่วนบุคคล จึงพัฒนามาตรการที่จะป้องกันการละเมิดสิทธิของกันและกัน มาตรการสำคัญคือทางด้านกฎหมาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิกัน ก็จะมีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย (v.= to sue; n. = suit)

เมื่อคนรักความเป็นธรรม เขาจึงพัฒนามาตรการทางกฎหมาย คือการฟ้องเรียกค่าเสียหายนี้ขึ้นมาเพื่อรักษาความเป็นธรรมนั้นให้มีผลเป็นจริงและดำรงอยู่อย่างมั่นคง แต่เมื่อการรักความเป็นธรรมซึ่งเป็นสาระที่แท้เลือนลางจางลงไป มาตรการทางกฎหมายที่เป็นรูปแบบภายนอกก็ค่อยๆ แปรความหมายไป คือแทนที่จะเป็นเครื่องมือของการคุ้มครองสิทธิเพื่อรักษาความเป็นธรรม ก็กลายเป็นว่าการฟ้องเรียกค่าเสียหายได้กลายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่น

เวลานี้ การใช้มาตรการทางกฎหมายในการฟ้องเรียกค่าเสียหายมาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ ได้แพร่หลายมากขึ้นในสังคมอเมริกัน เช่น ทนายความบางคนโฆษณาว่ารับปรึกษาและให้บริการทางกฎหมายฟรี แต่มีความหมายว่า ใครมีเรื่องราวกระทบกระทั่งกับคนอื่น เช่น เพื่อนบ้าน พอจะเห็นทางฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ก็นำเรื่องมาปรึกษาทนายความๆ จะไม่คิดค่าบริการ ถ้าเห็นทางตั้งเป็นคดีได้ ก็ตั้งเป็นคดีฟ้องศาล และรับว่าความให้เปล่า แต่ถ้าชนะได้เงินชดใช้ค่าเสียหาย ก็แบ่งกับลูกความคนละครึ่ง ถ้าแพ้ก็แล้วไป

โดยวิธีนี้ ชาวบ้านที่เป็นลูกความก็เห็นว่าตนมีแต่ได้ไม่มีเสีย และเห็นเป็นวิธีหาเงินที่ได้ผลดี ก็ชอบใจ เลยจ้องหาเรื่องฟ้องเพื่อนบ้าน ทำให้คนอยู่กันด้วยความไม่จริงใจและหวาดระแวงกันมากขึ้น

เรื่องแบบนี้ที่เด่นมากอย่างหนึ่ง คือ คนไข้และญาติคนไข้คอยจ้องจับผิดแพทย์ที่รักษา เพื่อหาแง่ที่จะได้เงินด้วยการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากแพทย์ ทำให้แพทย์เดือดร้อนมากขึ้น กระแสของค่านิยมนี้กำลังก้าวไปไกลมากขึ้นในสังคมอเมริกัน

ในสังคมไทยที่ไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ แต่มีวัฒนธรรมน้ำใจ ที่ประชาชนและคนไข้มองแพทย์เป็นผู้มีพระคุณ กรณีแบบนี้ก็ไม่มี แต่เมื่อสังคมหลงสมมติมากขึ้น การแพทย์กลายเป็นธุรกิจอย่างตะวันตกมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็จะตามมา กรณีเช่นนี้ก็จะเริ่มมีขึ้น ตอนแรกก็จะเป็นเพียงการฟ้องเพื่อพิทักษ์สิทธิ แต่ต่อไปเมื่อคุมกระแสไม่ได้ การฟ้องเพื่อหาเงินหารายได้ก็จะเกิดขึ้นและจะเฟื่องฟูได้ด้วยเช่นกัน และก็จะไม่เฉพาะในวงการธุรกิจการแพทย์เท่านั้น แต่อาจจะแผ่ไปครอบงำกิจการทุกอย่างของสังคมเลยทีเดียว

จึงเป็นเรื่องที่เรียกร้องการพัฒนาคนอย่างยิ่ง และหมายถึงการที่ต้องพัฒนาคนนั้นให้ทันการณ์กับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ด้วย

กฎหมายหรือกฎสมมติของมนุษย์เป็นคุณ เมื่อมันเป็นเครื่องมือสนองความต้องการธรรม

แต่เมื่อความต้องการธรรมเลือนลางจางหาย กฎหมายก็อาจกลายเป็นเครื่องมือสนองความปรารถนาส่วนตัวของบุคคล ที่อาจจะตรงข้ามกับธรรม เช่น เป็นเครื่องมือของการแสวงหาผลประโยชน์ของตน หรือการกลั่นแกล้งทำร้ายผู้อื่น

กฎหมายหรือกฎสมมติของมนุษย์มีกำเนิดขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนธรรม หรือกฎแท้ของธรรมชาติ ให้ปรากฏผลเป็นจริงหนักแน่นในสังคมมนุษย์ แต่เมื่อคนแปลกแยกจากความจริงแท้แห่งธรรม หรือหลงลืมมองข้ามไปเข้าไม่ถึงธรรมแล้ว กฎหมายหรือกฎสมมติของมนุษย์นั้นก็เลื่อนลอยคลาดเคลื่อนจากคุณค่าที่แท้จริง และกลับกลายเป็นเครื่องทำลายสังคมมนุษย์เสียเอง

เมื่อมีการพัฒนาด้านจิตใจและปัญญาภายในตัวคน ทำให้คนมีความสามารถภายในที่จะควบคุมและนำพฤติกรรมของตนไปในทางที่ถูกต้องดีงาม สังคมจะต้องการกฎหมายเพียงเพื่อมาช่วยจัดสรรสภาพแวดล้อม โอกาสและบรรยากาศ ที่จะอุดหนุนความมั่นคงแห่งพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงามนั้น

แต่ถ้าจิตใจและปัญญาไม่ได้รับการพัฒนา คนไม่มีความสามารถภายในที่จะควบคุมและนำทางพฤติกรรมของตนให้ถูกต้อง ก็จะต้องเพิ่มมาตรการควบคุมจากภายนอกด้วยการบัญญัติกฎหมายมาบังคับควบคุมคนมากขึ้นๆ พร้อมทั้งลงโทษหนักหนารุนแรงขึ้นๆ จนในที่สุดกฎหมายก็จะหมดความหมาย สังคมก็จะเสื่อมสลาย และชีวิตก็จะไม่อาจบรรลุจุดหมายแห่งประโยชน์สุขและอิสรภาพที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญญาที่เชื่อมโยงกฎสมมติของมนุษย์เข้ากับกฎแท้ของธรรมชาติได้ และจัดวางกฎหมายที่เป็นกฎสมมติของมนุษย์ให้เป็นเครื่องเกื้อหนุนผลที่มุ่งหมายแท้จริงตามกฎธรรมชาติ ให้กฎหมายและการปกครองเป็นเครื่องรองรับและเชิดชูธรรม ตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรมและมีจุดหมายเพื่อธรรม พร้อมทั้งจัดตั้งวางระบบแบบแผน ที่เอื้อโอกาสให้คนพัฒนาตนให้สามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากความจริงแท้คือธรรมนั้น ด้วยปรีชาญาณและปฏิบัติการเช่นนี้ นิติศาสตร์ก็จะช่วยชีวิตมนุษย์ ช่วยสังคม และช่วยโลกได้

อาตมภาพได้พูดมาในเรื่อง “นิติศาสตร์แนวพุทธ” แม้ว่าจะไม่ได้ตอบคำถามโดยตรง แต่ก็ได้กล่าวแล้วว่าขอฝากไว้ให้พิจารณาในหลักต่างๆ ที่พูดไปแล้ว และก็อาจจะให้ท่านผู้ฟังได้ตอบเองด้วย

ขออนุโมทนาท่านอัยการสูงสุด ที่ได้มีกุศลเจตนาดำรินิมนต์อาตมภาพมาพูด พร้อมทั้งท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และท่านผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่านที่มาร่วมฟัง ขอกุศลเจตนาของท่านจงเป็นปัจจัยแห่งความสุขและความเจริญงอกงาม ขอทุกท่านจงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ที่จะช่วยกันปฏิบัติกิจหน้าที่ในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงามนี้ยิ่งขึ้นไป โดยทั่วกันทุกท่าน

บรรณานุกรม

 

ก. คัมภีร์พระพุทธศาสนา ที่อ้างอิงในคำบรรยายนี้ คือ
๑. พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ มหามกุฏราชวิทยาลัย จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๓ ชุด ๔๕ เล่ม
- ระบบอ้างอิง คือ เล่ม/ข้อ
๒. อรรถกถา และ ฎีกา ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย และฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หลาย พ.ศ.
- ระบบอ้างอิง คือ เล่ม/หน้า

ข. หนังสืออื่นๆ
ปยุตฺโต, พระธรรมปิฎก ป. อ. วินัย: เรื่องที่ใหญ่กว่าที่คิด. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๓๙.
Gore, Senator Albert A. Earth in the Balance. Boston: Houghton Miffin Co., 1992.
Hacker, Andrew. Two Nations. New York: Charles Scribner's Sons, 1992.
Howard, Philip K. The Death of Common Sense. New York: Random House, Inc., 1994.
Joshi, Lalmani. Studies in the Buddhistic Culture of India. Delhi: Motilal Banarsidass, 1987.
Naisbitt, John. Megatrends. New York: Warner Books, Inc., 1984.
Patterson, James, and Kim, Peter. The Day America Told the Truth. New York: Penguin Books USA Inc., 1992.
Rolston, Holmes. Environmental Ethics. Philadelphia: Temple University Press, 1988.
Walker, Benjamin. Hindu World. 2 vols. London: George Allen & Unwin Ltd., 1968.

1ปาฐกถาพิเศษ โดย พระธรรมปิฏก (ป. อ. ปยุตฺโต) ตามคำอาราธนา ของ ศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร อัยการสูงสุด ณ ห้องประชุมเล็ก จุณณานนท์ สำนักงานอัยการสูงสุด ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๙ ๑๓.๓๐–๑๖.๓๐ น.
2ดูคำ “นีติศาสฺตฺร” ใน Sir Monier Monier-Williams, A Sanskrit-English Dictionary (London; Oxford University Press, 1899), p.565. และใน Prof. R.C. Pathak, Bhargava’s Standard Illustrated Dictionary of the Hindi Language (Hindi-English Edition) (Varanasi : Bhargava Book Depot, 1989), p. 427.
ดูคำ “politics” ใน Sir M. Monier-Williams, A Dictionary: English and Sanskrit (Delhi: Motilal Banarsidass), p.605 และดูคำ “political science” ใน Prof. R.C. Pathak, Bhargava’s Standard Illustrated Dictionary of the English Language (Anglo-Hindi Edition) (Varanasi: Bharagava Book Depot, 1988) p.635. และดูคำอธิบายใน Hindu World (vol.2, pp.223-228)
3ลำดับเดิม คือ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ แต่ในที่นี้เรียงตามลำดับที่ตรัสสรุปไว้ในคาถา ซึ่งจำง่ายกว่า
4ในฝ่ายตะวันตก บุคคลหลักที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ social contract ๓ ท่าน คือ Thomas Hobbes, John Locke และ Jean Jacques Rousseau แม้จะมีทัศนะในเรื่องนี้ต่างกันบ้าง  แต่ก็รวมลงเป็นอย่างเดียวกันในแนวคิดใหญ่ของตะวันตก ที่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และเห็นว่าการจัดการทางสังคมอย่างนี้ เป็นเรื่องตรงข้ามกับภาวะของธรรมชาติ (ที่ป่าเถื่อนไร้ขื่อแป) ซึ่งบุคคลต้องยอมสละสิทธิเสรีภาพของตนบ้าง เพื่อได้รับการคุ้มครองจากสังคมหรือจากผู้ปกครอง ส่วนทางพระพุทธศาสนามองมนุษย์เป็นธรรมชาติส่วนพิเศษที่ฝึกศึกษาได้ การจัดการทางสังคมอย่างนี้ก็เป็นการประสานประโยชน์จากความจริงของธรรมชาตินั่นเอง มนุษย์ที่พัฒนาแล้วจึงมีชีวิตจิตใจที่กลมกลืนกับกติกาทางสังคมที่ตกลงจัดวางกันขึ้นนั้น
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง