ทางสายกลางของการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษา: เครื่องมือพัฒนาที่ยังต้องพัฒนา

เนื้อหาตอนนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นเรื่องเดี่ยวแล้วในชื่อเดียวกัน (อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำเนื้อหา)

ความคิด: แหล่งสำคัญของการศึกษา

เป็นบทความที่เคยตีพิมพ์มาแล้วหลายครั้ง และได้รับการตีพิมพ์แยกเป็นเรื่องเดี่ยวแล้ว (อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำเนื้อหา)

ปัญหาที่ต้องเร่งคิดแก้ไข ยิ่งกว่าการขยายการศึกษา1

ท่านผู้ริเริ่มในการที่จะให้มีร่างพระราชบัญญัติการขยายการศึกษาภาคบังคับขึ้นมา ท่านก็มีความปรารถนาดีต่อประชาชนและต่อประเทศชาติ และแม้ท่านผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินงานต่อไป ที่มองเห็นคล้อยตาม ก็มีความปรารถนาดีเช่นเดียวกัน เมื่อเรื่องนี้ขยายออกไปในภายนอก มีผู้รู้ได้ทราบเรื่องมากขึ้นและมีความเห็นในทางขัดแย้งหรือมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ท่านเหล่านั้นก็ทำด้วยความปรารถนาดี เพราะผู้ที่คิดริเริ่มขึ้นมานั้น แม้จะมีความหวังดีก็อาจจะมองปัญหาไม่ทั่วถึง หรือบางเรื่องอาจจะมองข้ามไป ฉะนั้นการที่มาช่วยกันให้ความคิดเห็น มารับฟังซึ่งกันและกัน ก็นับว่าเป็นประโยชน์มาก

และในข้อนี้อาตมภาพก็ต้องขอถือโอกาสแสดงความรู้สึกซาบซึ้งในกุศลเจตนาของท่านผู้เกี่ยวข้องไว้ด้วย อย่างทางกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อท่านจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีหน้าที่รับผิดชอบต่อไป ท่านก็ให้โอกาสแก่คนภายนอกที่จะแสดงความคิดเห็น ดังเช่นที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดการประชุมครั้งที่แล้ว ที่บางกอกแพเลสโฮเตล ซึ่งอาตมภาพก็ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมให้ความคิดเห็นต่อที่ประชุมด้วย

ขยายการศึกษา/ขยายโอกาสในการศึกษา

อย่างที่กล่าวแล้วว่า ความหวังดีนั้น บางทีมันก็ไม่เกิดผลดีเสมอไป อย่างสมัยที่ผ่านมานี้ พ่อแม่ทุกคนก็มีความหวังดีต่อลูก แต่ความจริงพ่อแม่ที่หวังดีนั้น ให้อะไรต่ออะไรแก่ลูก บางทีเป็นผลร้ายแก่ลูกก็มี แม้แต่สิ่งธรรมดาๆ อย่างเช่นว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมโค เป็นต้น เราก็ใช้กันมาตั้งนานเน จนกระทั่งปัจจุบันนี้วงการแพทย์เขาบอกว่า ไม่ดีสู้นมมารดาไม่ได้ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ว่าความปรารถนาดีนั้น บางทีก็ทำให้เกิดผลไม่ค่อยดีนัก เพราะฉะนั้นก็ต้องระวังกันอยู่ การรับฟังความคิดเห็นก็จะทำให้เกิดความรอบคอบขึ้น การขยายการศึกษานั้น คงจะต้องเน้นที่การขยายโอกาสในการศึกษาเป็นข้อสำคัญก่อนอื่น เพราะความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสในการได้รับการศึกษาเป็นปัญหาสำคัญที่มีมาในสังคมของเราเป็นเวลานานแล้ว ตลอดเวลากว่าศตวรรษ ที่ได้เริ่มจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่เป็นต้นมา ส่วนการขยายการศึกษานั้น ถ้าเป็นการศึกษาที่ถูกต้อง ก็ต้องขยาย เพราะการศึกษาทำให้เกิดปัญญา ซึ่งเป็นแกนนำของการพัฒนามนุษย์ เป็นองค์ธรรมที่จะนำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพและสันติสุข เป็นอันว่าการขยายการศึกษาและการขยายโอกาสในการศึกษานั้น ว่าโดยหลักการก็ยอมรับกันว่าเป็นสิ่งที่ดี รู้สึกว่าพูดกันมามากแล้วว่ายอมรับเรื่องการขยายการศึกษา โดยเฉพาะการขยายโอกาสทางการศึกษา แต่มีปัญหาว่าขยายอย่างไรจึงจะดี

คำปรับทุกข์ของชาวนา

อาตมภาพจะขอเล่าประสบการณ์นิดหน่อย เมื่อสักครึ่งเดือนมานี้ ได้เดินไปบนถนนในทุ่งนาในท้องที่ใกล้กรุงเทพมหานคร อาตมภาพเดินไปกลางทาง พบชาวนากลางถนนสองคน พอพบพระ ชาวนาสองคนก็ลงนั่งยองๆ ยกมือไหว้ ซึ่งเป็นธรรมดาธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของชาวบ้าน แล้วโดยที่ว่าพระก็ไม่ได้สัมภาษณ์อะไรเลย แกก็ระบายความทุกข์ของแกออกมาเอง แกเล่าให้ฟังว่า แกจะต้องขายนาของแกทั้งหมด ชาวนาทั้งสองคนนั้นกำลังคิดจะขายนา คนหนึ่งนั้นจะขายสิบไร่ แกบอกว่าสมัยก่อนนั้น ทำนาก็จะซื้อนาได้ แต่สมัยนี้ทำนาแล้ว จะต้องขายนา เหตุที่จะต้องขายนาก็เพราะว่ามันเป็นหนี้สินมากยิ่งขึ้น ยิ่งทำก็ยิ่งเป็นหนี้จนกระทั่งในที่สุดก็ไม่มีทางออก ต้องขายนาไปเลยทั้งหมด แล้วก็จะไม่มีที่อยู่ จะต้องย้ายอพยพไปในที่อื่น

แกพูดปรับทุกข์ต่อไปถึงเรื่องลูก ว่าแต่ก่อนในสมัยของแกนั้น เมื่อเลิกเรียนมาแล้วก็มาช่วยพ่อแม่เลี้ยงควาย แต่ว่าเด็กสมัยปัจจุบันนี้กลับจากโรงเรียนแล้ว พ่อแม่ขอให้ช่วยทำนาบ้างก็ไม่ช่วย เด็กจะอ้างว่าทางโรงเรียนมีการบ้าน จะต้องทำการบ้าน การที่จะไปทำนานั้น ไม่ใช่หน้าที่ของเขา หน้าที่ของเขาคือการเรียนหนังสือ อันนี้พ่อแม่ก็อาศัยลูกไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจแก่ชาวนาที่เป็นพ่อแม่ ทีนี้ขอแทรกนิดหนึ่งว่า ที่จริงทางโรงเรียนถ้าให้การบ้าน ให้เด็กไปทำนามาเป็นการบ้านคงจะดีเหมือนกัน จะได้รู้สึกว่าเราก็ได้สนใจเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวนา หรือว่าผู้ใหญ่ พวกชาวบ้านกับลูกๆ หลานๆ ของเขา

ทีนี้เขาก็เล่าต่อไปว่า เดี๋ยวนี้ก็มีหมู่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น มีโรงงานเกิดขึ้น ขยายออกไปชานกรุงแล้วก็ระบายน้ำเสียลงในคลอง ชีวิตของเขานั้นต้องอาศัยน้ำในคลองอยู่เป็นประจำ เขาก็ได้รับความเดือดร้อนมาก เขาก็เลยส่งผู้ใหญ่บ้านให้ไปช่วยเจรจาว่าขอให้หยุดเลิก อย่าได้ระบายน้ำเสียลงในคลองนั้น ผู้ใหญ่บ้านก็ไปเจรจา แล้วก็กลับมา แล้วก็บอกชาวบ้านว่า “ไม่เป็นไร รออีกสักสองชั่วโมงเขาก็จะเลิกแล้วล่ะ ทนเอาหน่อย” แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ปรากฏว่าผู้ใหญ่นั้นไปรับเงินจากพวกโรงงานอุตสาหกรรมหรือหมู่บ้านจัดสรรนั้นมาแล้ว เขาก็ระบายน้ำเหล่านั้นต่อไปจนกระทั่งหมด ก็หาได้เกิดผลที่ชาวบ้านต้องการอย่างใดไม่ ถ้าหากมีถ้อยมีความขึ้นโรงขึ้นศาล ชาวบ้านเขาก็บอกว่า “เราเงินน้อยสู้เขาไม่ได้ก็ต้องแพ้ความ และถ้าจะร้องทุกข์กับทางราชการ ทางการเขาบอกว่าต้องให้ดำเนินการตามขั้นตอน เขาบอกจะดำเนินการตามขั้นตอน มันจะไปถึงไหนล่ะ เพราะเรื่องของเราส่งขึ้นไปประเดี๋ยวเดียว มันก็ลงกระป๋อง” แกบอกว่าอย่างนั้น “เอ้อเขาก็เอาลงกระป๋อง แล้วเรื่องของผมมันจะไปถึงไหนล่ะ ก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร” ตลอดเวลาที่ชาวนาเล่าเรื่องให้ฟังนี้ ถ้อยคำที่แกพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เสมอ พูดไปสองสามสี่ประโยค แกก็จะพูดซ้ำว่า “พวกผมก็ตายอย่างเขียด พวกผมก็ตายอย่างเขียด” บอกอย่างงั้นหรือว่า “พวกผมก็ตายลูกเดียว พวกผมก็เสร็จ” อะไรทำนองนี้ คือพูดวนเวียนอยู่แค่นี้ ทำให้ดูว่า เอ้ ทำไม ชาวนาของเราสมัยนี้ ชาวบ้านกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายไปแล้วหรือ มีแต่เรื่องที่น่าหวาดกลัว ไม่เป็นที่สบายใจทั้งนั้น แต่ในเวลาเดียวกันสังเกตดูหน้าตาของแกที่พูดนั้น แกยิ้มได้ ตลอดเวลาที่แกพูด ระบายความทุกข์นั้น หน้าตาแกยิ้มแย้มอยู่เสมอ อาตมภาพก็มองว่า ในท่ามกลางความรู้สึกเดือดร้อนของแกนั้น มันก็มีความสุขบางอย่างยังแฝงอยู่ หรือการมองโลกในแง่ดีนี้ยังซ้อนอยู่เบื้องหลัง แกพูดยิ้มได้ ทั้งๆ ที่ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องร้าย แล้วแกก็มีความรู้สึกว่า คนในสังคมนี้มีความโหดร้ายกับแก แต่แกก็ไม่ได้แสดงอาการฮึดฮัดขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน ไม่ได้แสดงอาการโกรธขึ้งเคียดที่จะลุกฮือขึ้นมาต่อต้านอะไรทำนองนี้เลย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์

ทีนี้อีกด้านหนึ่ง ที่อาตมภาพมองก็คือ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ชาวนาหรือชาวบ้านเหล่านี้ ไม่มีความมั่นใจในกลไกหรือในระบบงานของรัฐเลย คือไม่ว่าด้านไหน ไม่เห็นมีความมั่นใจสักด้าน ทีนี้ถ้าหากว่าชาวบ้าน ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ไม่มีความมั่นใจในระบบงานของรัฐในกลไกของรัฐแล้ว ในระยะยาวจะเป็นอันตรายมาก คือเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติเป็นอย่างยิ่ง และนี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไข

อีกอย่างหนึ่ง เราจะมองเห็นว่า มีช่องว่างระหว่างพ่อแม่กับลูกหลานกว้างขึ้นๆ ในเรื่องที่ว่า พอกลับจากโรงเรียนมาแล้ว จะช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ทำไร่ทำนาก็ไม่มี มีแต่ตั้งความรู้สึกไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งไปกันคนละทางกับพ่อแม่ การที่ช่องว่างระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับลูกหลานหรือเด็กขยายกว้างออกไปนี้ เป็นผลมาจากการจัดการศึกษาของเราด้วยหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องวิเคราะห์ออกไป และถ้าหากว่าการจัดการศึกษาของเรามีผลทำให้เกิดการขยายช่องว่างระหว่างคนสองวัย ระหว่างพ่อแม่กับลูกซึ่งเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน อย่างนี้มันก็เป็นอันตรายเช่นเดียวกัน

ทีนี้มองไปอีกด้านหนึ่ง อาตมภาพก็เห็นไปว่า ชาวบ้านเหล่านี้ เขาก็ได้รับการศึกษาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเราเรียกได้ว่าเป็นการศึกษานอกโรงเรียน เป็นการศึกษานอกแบบ เป็น Informal Education คือ การที่สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมประเพณีนั้นทำให้จิตใจของเขายังมีความเยือกเย็น มีความยิ้มแย้มแจ่มใส สามารถที่จะทนรับสิ่งที่เข้ามาบีบคั้น การดำรงชีวิตเหล่านี้โดยไม่มีการฮึดฮัด ไม่ได้คิดขึ้งเคียด โกรธแค้น ไม่แสดงอาการที่ว่าฉันจะต้องลุกฮือขึ้นมาต่อต้านล้มล้างรัฐบาล อะไรทำนองนี้เขาไม่ได้พูดเลย นี้ก็เป็นการศึกษาด้านหนึ่งที่เราควรจะเอาใจใส่เหมือนกัน เป็น Informal Education อีกอันหนึ่งที่มีอยู่ในสังคมไทย ที่เราอาจจะมองข้ามไป

อีกอันหนึ่งก็คือว่า ชาวบ้านเหล่านี้ยังมองเห็นพระเป็นที่พึ่ง เป็นที่อบอุ่นใจที่เขามาปรับทุกข์ได้ ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ซึ่งทำให้มองเห็นว่า พระนี้ก็ยังมีคุณค่าอยู่ในสังคมนี้พอสมควร และก็มีศักยภาพมากด้วย (แต่อาจจะไม่ค่อยได้ใช้) นี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ว่า อาจไปเกี่ยวพันกับการศึกษาต่อไป เป็นเรื่องที่อาตมภาพขอนำมาเล่าให้ท่านฟัง

ท่านอาจจะบอกว่า นี่เป็นกรณีของชาวนาเพียงสองคนเท่านั้น เราจะไปพูดแทนคนแทนชาวนาหรือชาวบ้านส่วนใหญ่ทั้งประเทศไม่ได้ แต่นี่ไม่ใช่เป็นกรณีของการสำรวจ ไม่ใช่การสำรวจที่จะเอาสถิติ แต่เป็นเพียงตัวอย่างแสดงให้เห็นสภาพที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้ว ว่ามันเป็นอยู่ เพราะฉะนั้น จะมาถือเป็นว่าเป็นเรื่องของคนสองคนอะไรไม่ได้ เป็นแต่เพียงการแสดงภาพให้เห็นว่าในสังคมไทยของเราปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร

บทเรียนที่ยังไม่ได้เรียน

ทีนี้ก็เข้ามาสู่ข้อพิจารณาเรื่องการขยายการศึกษา เบื้องต้นก็คือการขยายการศึกษาภาคบังคับ แล้วต่อจากนั้นก็อาจจะมีทางเลือกว่าไม่บังคับ แต่จะบังคับหรือไม่บังคับก็ตามที เราก็มีข้อที่จะต้องช่วยกันคิดหลายอย่างทีเดียว ประการที่หนึ่ง ข้อที่ควรพิจารณาก็คือ เราควรจะได้รับทราบบทเรียนจากอดีต บทเรียนจากอดีตก็คือ การขยายการศึกษาภาคบังคับขึ้นมาถึง ชั้น ป. 6 ว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร เรื่องนี้ เราได้วิเคราะห์ได้ศึกษากัน วิจัยกันละเอียดรอบคอบดีหรือยัง อันนี้อาตมภาพว่ายังเป็นปัญหาอยู่ ขณะนี้เรากำลังจะขยายการศึกษาภาคบังคับ ให้ยืดออกไปจาก 6 ปี เป็น 9 ปี แต่เราจะต้องไม่ลืมว่าเมื่อหลายปีมาแล้วนั้น เราได้เคยขยายการศึกษาภาคบังคับ จากชั้นประถมปีที่ 4 ไปเป็นชั้นประถมปีที่ 7 แล้ว ต่อมาเราเปลี่ยนระบบการศึกษาใหม่ เป็นระบบ 6/3/3 แล้วเราก็ให้การศึกษาภาคบังคับนั้น มีแค่ถึงชั้นประถมปีที่ 6 ทีนี้การขยายการศึกษาภาคบังคับครั้งนั้น มาจนกระทั่งบัดนี้ มันก็ได้มีผลเกิดขึ้นแล้ว เราได้วิจัยตรวจสอบผลกันดีหรือยัง ให้เป็นบทเรียนมาประกอบการพิจารณาในการที่จะจัดการขยายการศึกษาภาคบังคับครั้งนี้

มีบางท่านเสนอว่า อย่าได้พิจารณาเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ให้พิจารณาบทเรียนในประเทศอื่นๆ ด้วย ประเทศใกล้เคียงบ้านเรา อาจจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซียหรืออะไรอีกบ้าง อาตมภาพก็ไม่แน่ใจ เขาได้มีการขยายการศึกษาภาคบังคับไปถึงชั้นมัธยมหรือไฮสกูลก่อนเราแล้ว แล้วเราได้ศึกษาผลที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้นหรือยังว่า เขาจัดไปแล้วได้ผลดีแค่ไหน เราจะมองแต่เพียงว่า ประเทศอื่นๆ นั้น เขาได้ขยายไปแล้ว เราก็ควรจะขยายเพื่อแสดงถึงความเจริญเท่านั้นไม่พอ แต่จะต้องดูว่า ที่เขาจัด ที่เขาขยายไปนั้น มันได้ผลมีผลดีผลเสียอย่างไรบ้างด้วย และก็ไม่ใช่ศึกษาแต่เฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาเท่านั้น แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศอเมริกา เราก็ควรจะศึกษาดูว่า การศึกษาของเขา ที่มีเรียนกันไปถึงชั้นสูงๆ นั้นน่ะ มีผลดีผลเสียอย่างไร เอามาประกอบการพิจารณา

ทีนี้แม้ว่าเราจะไม่ได้มีการศึกษาเรื่องนี้จริงจัง (หรือจะมีแล้วอาตมภาพยังไม่ทราบก็อาจเป็นได้) แต่อย่างน้อยในแง่ของอาตมภาพ ก็มีเรื่องมาเสนอเป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ตัวอย่างผลที่เกิดขึ้นแล้วอาจจะเรียกว่า ผลกระทบจากการขยายการศึกษาภาคบังคับออกไปจาก 4 ปีเป็น 6 ปี 7 ปีนั้น ขอพูดในแง่ของอาตมภาพที่เป็นพระสงฆ์ ว่าผลที่เกิดขึ้นต่อคณะสงฆ์ก็มีขึ้นแล้วคือ เรารู้กันอยู่ (หรืออาจจะไม่ค่อยรู้กันเท่าไรก็ได้) ว่า คณะสงฆ์เป็นช่องทางผ่านสำหรับการศึกษาของชาวบ้านชนบท ผู้ยากไร้ หมายความว่า ในสังคมไทยที่ผ่านมาในระยะที่เราได้จัดการศึกษาแบบสมัยใหม่นี้ และเรายังไม่สามารถขยายการศึกษาให้ทั่วถึงนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ว่าอยู่ในท้องถิ่นไหนก็อยากจะให้ลูกหลานของตนได้เล่าเรียน ได้มีความเจริญก้าวหน้าเลื่อนสถานะในสังคม ทีนี้คนที่ยากจน เช่น ชาวไร่ ชาวนา และคนที่อยู่ในชนบทห่างไกล ไม่สามารถส่งลูกเข้าเรียนต่อในชั้นสูงได้ เมื่อจบ ป. 4 แล้วก็ต้องหยุดการศึกษา เมื่อลูกของตัวจบประถมสี่ ไม่สามารถศึกษาต่อในระบบของรัฐ แต่ตัวเด็กเองมีสมองดี อยากจะเรียนต่อและพ่อแม่ก็อยากจะให้เล่าเรียน พ่อแม่จะทำอย่างไรในเมื่อพวกชาวนายากจนก็ไม่มีทางไป แต่หลายคนหรือจำนวนมากทีเดียวมีทางไปทางหนึ่งคือประเพณีโบราณ ได้แก่ ส่งลูกเข้าวัด ซึ่งประเพณีนี้ได้ทำให้วัดในกรุงเทพมหานครนี้ทั้งหมด กลายเป็นชุมชนของชาวชนบทไป ถ้าไม่นับเอาพระที่บวชในตอนจะเข้าพรรษาแล้ว พระในวัดทุกวัดในกรุงเทพมหานครเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เป็นชาวชนบททั้งสิ้น คือเป็นผู้ที่มาในระบบการศึกษาแบบโบราณ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาของรัฐ เป็นอันว่าวัดและคณะสงฆ์ก็ได้กลายเป็นช่องทางผ่านสำหรับการศึกษาของเด็ก ลูกชาวชนบท ชาวนา ชาวไร่เหล่านี้มาเป็นเวลานาน

ทีนี้เมื่อรัฐขยายการศึกษาภาคบังคับขึ้นไป จากประถมสี่เป็นประถมหกประถมเจ็ดนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยมีผลกระทบสำคัญต่อวงการคณะสงฆ์ และสังคมไทย คือเด็กเหล่านี้จบการศึกษาเมื่อโตขึ้นแล้ว ความรู้สึกนึกคิดจิตใจก็เปลี่ยนไป คือเกิดมีแรงจูงใจในด้านที่จะทำงานอาชีพ พอได้ยินข่าวว่าในกรุงเทพมหานคร หรือในเมืองใหญ่ๆ มีช่องทางที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพ มีโรงงานอุตสาหกรรมเปิดรับเด็กที่อยู่ในวัยซึ่งพอจะทำงานได้ พวกนี้แทนที่ว่าจบประถมสี่แล้วจะเรียนต่อ เคยบวชเณร เรียนในวัด หรือช่วยพ่อแม่ทำงานอาชีพในท้องถิ่น ก็เลยเปลี่ยนมาเข้าโรงงานอุตสาหกรรม มาทำงานในเมืองหรือในกรุงไป แล้วผลกระทบเป็นอย่างไร ก็เสียทั้งสองทาง ทางที่หนึ่งนั้นก็คือว่า ชาวไร่ ชาวนาที่ถือตามค่านิยมของสังคมปัจจุบัน คืออยากจะให้ลูกของตนได้เล่าเรียนศึกษา เลื่อนสถานะในสังคม ก็เลยพลาดโอกาสนี้ไป อาชีพของพ่อแม่ก็ขาดแรงงานที่จะมาช่วยสืบต่อ ท้องถิ่นก็สูญเสียกำลังคนไป เพราะว่าลูกนั้นไปทำงานเข้าโรงงานอุตสาหกรรมในกรุง และเมื่อเข้ามาอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเป็นอย่างไร ก็เกิดปัญหาเรื่องแรงงานเด็กขึ้นมา แล้วมีผลกระทบต่อสังคมในทางที่เป็นปัญหามากขึ้น พร้อมกันนั้นทางคณะสงฆ์เองก็ขาดกำลังของพระภิกษุสามเณรที่จะมาเล่าเรียนสืบต่อพระพุทธศาสนาอีก นี่เป็นตัวอย่างผลกระทบอันหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะขยายการศึกษาภาคบังคับออกไป ก็ควรจะได้นำเรื่องเหล่านี้มาพิจารณาด้วย

แก้ปัญหาหรือกดปัญหา

อาตมภาพได้ยินท่านอาจารย์ผู้หนึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ด้วย พูดในที่ประชุมครั้งที่แล้ว พอดีไม่มีโอกาสที่จะได้ตอบท่าน ก็เลยขอโอกาสมาตอบ ณ ที่นี้ ไม่ใช่ตอบหรอกนะ ขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม คืออาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่งท่านบอกว่า การขยายการศึกษาภาคบังคับนี้จะช่วยเหลือเก็บเอาเด็กที่จบแค่ประถมหก ซึ่งจบไปแล้วเป็นปัญหาแก่สังคม ไปประพฤติตัวเกเรทำให้เกิดผลร้ายแก่สังคมนั้น จะได้เอามาอยู่ในโรงเรียนต่อไป จะได้หมดปัญหาไปเสีย อาตมภาพฟังแล้ว คิดว่ามันไม่หมดปัญหาไปหรอก มันกลับแสดงถึงผลร้ายสองประการเลยทีเดียว ประการหนึ่งมันเป็นเครื่องฟ้องว่า การจัดการศึกษาของเรานั้นประสบความไม่สำเร็จ ถ้าจะไม่ใช้คำว่าประสบความล้มเหลว เพราะว่าเด็กจบประถมหกไปแล้ว ทำไมกลับเป็นเด็กที่ประพฤติตัวเสเพล ไม่เกื้อกูลแก่สังคม แล้วเราจะต้องเอามาให้การศึกษาต่อไปอีก มันน่าจะเป็นว่า เมื่อแกได้เรียนมากขึ้น จบประถมหกแล้วแกก็กลายเป็นเด็กที่ดีเป็นคนดีของสังคม มีคุณภาพมากขึ้น พร้อมที่จะเป็นแรงงานหรือเป็นส่วนประกอบที่เป็นประโยชน์แก่สังคม แต่กลายเป็นว่าแกจบประถม 6 แล้ว ประพฤติไม่ดี แล้วเราก็เลยจะต้องขยายการศึกษาเพื่อเอาแกเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาให้นานขึ้น ทีนี้ปัญหาต่อไปก็คือว่า เมื่อเราแก้ปัญหาการศึกษาไม่สำเร็จ เราให้การศึกษาให้แกเป็นคนดีไม่ได้ แล้วเราขยายการศึกษานี้ต่อไป ก็เท่ากับชลอเวลาหรือเก็บแกไว้ในระบบ รอไว้ว่าต่อไปอีกสักสี่ห้าปี แกค่อยออกมาแผลงฤทธิ์ใหม่ กลายเป็นอย่างนั้นไป ทีนี้ถ้าหากการศึกษาของเราไม่ดี มันจะยิ่งร้ายกว่านั้น คือว่าเราก็จะสะสมทำให้แกมีความเข้มข้นในความร้ายนี้ยิ่งขึ้น พอออกมาอีกที คราวนี้จะร้ายยิ่งกว่าเก่า ฉะนั้นอาตมภาพว่านี้ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาแน่นอน เราจะต้องคิดหาวิธีแก้ปัญหาอย่างอื่น อันนี้ก็ขอพูดไว้เป็นตัวอย่าง เพราะว่าผลดีผลเสียนี้น่าจะมีการวิเคราะห์กันให้ชัดเจนยิ่งกว่านี้ นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง

ความต้องการแท้-ความต้องการเทียม

ทีนี้ข้อที่สอง ก็เป็นเรื่องที่พูดซ้ำไปแล้ว (ในที่ประชุมอื่น) เพราะฉะนั้นก็ขอสรุปสั้นๆ ว่า ถ้าจะมีการขยายการศึกษาแล้ว ก็ควรจะมีการขยายการศึกษา ที่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน หรือตรงกับความต้องการของชุมชน ทีนี้อาตมภาพก็ขอพูดว่า ความต้องการนั้นมีสองอย่าง ขอเรียกอย่างที่หนึ่งว่า ความต้องการแท้ อย่างที่สองเรียกว่า ความต้องการเทียม ความต้องการแท้เป็นอย่างไร ความต้องการที่แท้จริงของชีวิตและของชุมชนของชาวบ้านนั้นก็คือว่า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลแต่ละคนและของชุมชนให้เกิดความอยู่ดีมีสุข ความดีงามน่าอยู่ของท้องถิ่น พัฒนาความสามารถของเด็กในการที่เขาจะไปเป็นผู้นำในท้องถิ่น นำให้ชุมชนของเขาไปสู่สันติสุขและความดีงาม อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการ นี้เป็นคุณค่าที่แท้จริง ซึ่งการศึกษาก็ต้องการอันนี้ด้วย แต่ยังมีอีกอย่างหนึ่ง คือ ความต้องการเทียม ความต้องการเทียมคืออย่างไร ความต้องการเทียมก็คือความต้องการตามใจอยาก ตามค่านิยมที่ผิดของสังคม ได้แก่ ความต้องการที่ชาวบ้านถูกบีบบังคับให้จำเป็นต้องต้องการ เพราะระบบค่านิยมในสังคมอย่างที่กล่าวแล้ว ซึ่งเป็นระบบของการแข่งขันชิงดีชิงเด่น ซึ่งทำให้ชาวบ้านเขาชิงดีชิงเด่นกันเอง แข่งขันกันว่าลูกฉันจะต้องเรียนนำหน้า เรียนสูงกว่าลูกคนอื่นอะไรทำนองนี้ ทีนี้การสนองความต้องการในทำนองนี้ของชาวบ้านนั้น มีผลในการทำลายตัวเขาเองและชุมชนของเขา อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณา ขณะนี้การศึกษาของเราสนองความต้องการด้านไหน สนองความต้องการแท้หรือสนองความต้องการเทียม นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่ง หากว่าเราจะขยายการศึกษาออกไป จะต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน เท่าที่สังเกตดูขณะนี้ เราเห็นว่าชาวบ้านมีความต้องการเทียมมากเหลือเกิน ความต้องการเทียมนี้ก็คือ เรื่องของการเลื่อนฐานะในสังคมเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าการศึกษาที่ได้รับมา จะมาช่วยพัฒนาชุมชนหรือชีวิตของเขาอย่างแท้จริงได้หรือไม่ คิดถึงแต่เพียงว่าให้ลูกของฉันนี่ได้เป็นใหญ่เป็นโตกว่าลูกของคนอื่นอะไรทำนองนี้ ทีนี้การศึกษาที่เราจะจัดต่อไปจะต้องพยายายามจัดให้ถูกต้อง คือว่าจัดไปก็แก้ปัญหานี้ไปด้วย

ชนบทก็หมดตัว ลูกชนบทก็หมดทางไป

ประการที่สาม ผลจากการศึกษาที่ผ่านมาแล้วอย่างหนึ่งก็คือ การทำให้เด็กแปลกแยกจากชุมชนของตน แปลกแยกจากท้องถิ่นของตนเอง ยิ่งเรียนไปยิ่งกลายเป็นคนนอกชุมชน กลายเป็นคนละพวกกับพ่อแม่ ไม่สามารถเข้าอยู่กับวิถีชีวิตของชุมชนได้ อยากจะไปอยู่นอกชุมชนของตัวเอง ปลีกตัวออกไป อยากจะไปหาความเจริญก้าวหน้าในสังคมภายนอก อันนี้เรามีภาพให้เห็นชัด ถ้าหากว่าเด็กเป็นอย่างนี้ ซึ่งพวกแกเป็นมาก ความจริงเป็นถึงขนาดที่ว่า ดูถูกวิถีชีวิตของชุมชนของแกเอง เมื่อแกดูถูกแล้วแกก็ย่อมไม่อยากจะเข้าไปอยู่ในชุมชนของแกเอง แกแสวงหาโอกาสที่จะไปอยู่ข้างนอก ฉะนั้นเราจะไม่สามารถสร้างเด็กเหล่านั้นให้เป็นผู้นำของชุมชนของแกได้ ไม่เป็นผู้นำที่จะนำชุมชนของตนไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ไม่สามารถจะพัฒนาชุมชนของตนเองได้ แล้วเราก็จะมีสภาพอีกอย่างหนึ่งคือ การขุดทรัพยากรคนออกจากท้องถิ่นให้ค่อยๆ หมดไป ซึ่งสภาพปัจจุบันนี้ก็เป็นอย่างนั้นแล้ว ในระบบปัจจุบันนี้ ชุมชนชนบททรุดโทรมเหี่ยวแห้งลงไปตามลำดับ ไม่มีกำลังที่จะพัฒนาตนเอง

ปัญหาต่อมาในขณะนี้ก็คือว่า ตอนนี้มันมาถึงจุดอุดตัน สมัยก่อนนี้แม้ว่าเราจะมีค่านิยมแบบนี้ แม้ว่าเด็กของเราจะแปลกแยกจากชุมชน อยากจะออกจากท้องถิ่นไปแสวงหาความก้าวหน้าในเมือง แกก็ยังไปได้ แล้วแกก็ไปด้วยดี ไปประสบความสำเร็จ ก้าวหน้าไปในตำแหน่งในหน้าที่การงานในยศในศักดิ์ แต่มาถึงปัจจุบันนี้เรามีปัญหาว่าแกจบไปแล้ว เรียนจบการศึกษาไป แกไม่มีทางไป กลับว่างงาน หาทางไปไม่ได้ พอมาถึงจุดนี้ ก็กลายเป็นจุดอุดตัน อันเกิดผลเสียประดังขึ้นมาสองด้าน ด้านที่หนึ่งก็คือชุมชนของแกเองนั้น แกก็แปลกแยกออกไปแล้ว แกเข้าไม่ได้ ทีนี้ทางไปของแกก็เกิดปิดเสียอีก อุดตัน แกก็ไปไม่ได้ ไปข้างนอกก็ไปไม่ได้ อยู่ข้างในก็อยู่ได้ไม่ดี ในที่สุดก็กลายเป็นคนที่เป็นปัญหาทั้งแก่ตนเองแก่ครอบครัว ท้องถิ่น และเป็นปัญหาแก่เมือง กลายเป็นคนว่างงาน และก็อาจจะไปทำอะไรที่มันไม่ดีไม่งามขึ้นในเมืองนั้น ครั้นจะกลับเข้าไปอยู่ในชุมชนของตัวเอง ตัวก็เข้าไม่ได้เสียแล้ว ไม่อยากจะอยู่ เลยกลายเป็นคนที่ไร้ประโยชน์ไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ปัญหากันอีก การศึกษาของเราจะต้องพยายามแก้สิ่งเหล่านี้ให้ได้ ไม่ว่าจะขยายหรือไม่ขยายก็ตาม แม้จะไม่ขยายก็จะต้องแก้ปัญหานี้แล้ว

การศึกษาที่เพี้ยนความหมาย

ทีนี้อีกอันหนึ่งก็คือว่า เรื่องเหล่านี้มันมีสาเหตุพื้นฐานอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือในการจัดการศึกษาของประเทศไทยเรา เท่าที่ผ่านมาในยุคสมัยใหม่นี้ การที่เราได้ริเริ่มการศึกษากันขึ้นด้วยเจตนาอันดีว่าเราจะพัฒนาประเทศชาติให้ทันสมัย ให้ทันกับประเทศอารยะตะวันตก ให้สามารถดำรงอิสรภาพ ไม่เป็นเมืองขึ้นของเขา แต่พร้อมกันนั้นในเวลาเดียวกัน เมื่อเราจัดไปๆ ก็กลายเป็นการทำให้ประชาชนเข้าใจความหมายของการศึกษาผิดพลาดไป ประชาชนชาวไทยปัจจุบันหรือชาวบ้านนี้เข้าใจความหมายของการศึกษาอย่างไร การศึกษาในความหมายของชาวบ้านส่วนใหญ่ก็คือ เป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะทางสังคม เขาไม่ค่อยได้มองว่าการศึกษานั้นจะเป็นเครื่องมือที่จะมาพัฒนาชีวิตพัฒนาความสามารถในการที่จะพัฒนาชุมชนของตนเองให้เกิดสันติสุขความดีความงามอะไรเลย ทีนี้ความหมายของการศึกษาที่เข้าใจผิดอย่างนี้ มันก็มีผลเสีย เมื่อประชาชนส่งลูกไปเล่าเรียน เขาก็ให้เรียนด้วยความหวังว่า ลูกของเขาจะได้ไปเป็นใหญ่เป็นโต มีช่องทางที่จะมีสถานะในสังคมอย่างที่กล่าวแล้ว ทีนี้ต่อมาเมื่อการศึกษาไม่สามารถสนองความต้องการอันนี้ ลูกของเขาสำเร็จปริญญาไปแล้วว่างงานทำอะไรไม่ได้ ประชาชนก็เริ่มรู้สึกหมดศรัทธาในการศึกษา มองไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา ตอนนี้จะเป็นจุดอับอันหนึ่งที่สำคัญมาก คือคนเขารู้สึกว่า นี่แหละคือการศึกษาไม่สนองความต้องการของเขา แต่เขาหารู้ตัวไม่ว่าเขาเอง เขามีความต้องการที่ผิด เขาต้องการเอาการศึกษามาสนองความต้องการที่ผิด ความต้องการที่แท้นั้น เขาไม่รู้เรื่องเลย ไม่ได้มองด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าความต้องการที่แท้จริงของตนคืออะไร แล้วก็ไม่เข้าใจความหมายของการศึกษานั่นเอง เป็นอันว่าเราจะต้องแก้ไขแม้แต่เรื่องความเข้าใจในการศึกษา และสร้างจิตสำนึกในการศึกษาที่แท้จริงขึ้นมาให้ได้ ปัจจุบันนี้พูดได้ว่าในเมื่อประชาชนไม่เข้าใจความหมายของการศึกษาได้อย่างถูกต้อง เขาก็ขาดจิตสำนึกในทางการศึกษาไปด้วย อันนี้ขอพูดผ่านไปก่อน

ถ้าไม่ยกครู ก็ไม่ต้องคิดพัฒนา

ต่อไปก็คือว่า ทั้งหมดที่ว่ามานี้มันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องคุณภาพของการศึกษา เป็นปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของการศึกษา เราจะขยายการศึกษา หรือไม่ขยายก็ตาม เราจะต้องเน้นเรื่องใหญ่มากเรื่องหนึ่งในปัจจุบัน ก็คือเรื่องคุณภาพของการศึกษา และเรื่องคุณภาพของการศึกษานั้น ด้านหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ คุณภาพของครู โดยเฉพาะการผลิตครูที่มีคุณภาพ ปัจจุบันนี้ก็มีผู้เห็นปัญหานี้กันมากแล้ว แต่เราก็มีอุปสรรคมากมายหลายอย่าง ที่จะทำให้การผลิตครูที่มีคุณภาพนี้เป็นไปได้ยาก ฉะนั้นถ้าหากจะผลิตครูที่มีคุณภาพ มหาวิทยาลัยต่างๆ หรือสถาบันการศึกษาที่ผลิตครู อาจจะต้องลดจำนวนการรับนักศึกษาหรือนิสิต แต่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาเหล่านั้นก็ลดจำนวนรับได้ยาก เพราะมันเกี่ยวกับปัญหาเรื่องงบประมาณ อาตมภาพว่าน่าจะตั้งข้อสงสัย ถ้าจะไม่กล่าวว่า สำนักงบประมาณเป็นตัวสาเหตุอันหนึ่งของการขัดขวางการพัฒนา ก็จะขอเรียกว่า วิธีการงบประมาณอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ขัดขวางการพัฒนาในทางการศึกษา เราน่าจะมีวิธีการใหม่ในทางงบประมาณที่ดีขึ้น ที่จะมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ มิฉะนั้นแล้ว การแก้ปัญหาการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาจะไม่สำเร็จ ปัจจุบันนี้วิธีการงบประมาณเป็นไปในทางที่ทำให้สถาบันการศึกษาต้องแข่งขันกัน ในทางที่จะรับจำนวนผู้เข้ามารับการศึกษาเป็นครูให้มากอยู่อย่างเดิม หรือมากขึ้น และถ้าหากเป็นไปในทำนองนี้แล้วเราจะแก้ปัญหาไม่ตก เราจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ด้วยการส่งเสริมกันจริงๆ และลงทุนกันให้ถูกจุด ไม่ต้องไปมัวคำนึงกันถึงเรื่องของผลประโยชน์เท่าไรนัก แล้วก็มีการจัดวิธีงบประมาณกันให้ถูกต้อง

เราจะต้องมีการยกฐานะของครูทั้งในด้านคุณธรรม ความรู้ วิชาการ และยกฐานะในทางเศรษฐกิจและสังคมไปด้วย ปัจจุบันนี้ฐานะของครูนั้นทรุดหมดเลย ทั้งด้านคุณธรรมและวิชาการ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะปล่อยไว้ไม่ได้ และรัฐบาลนี้ ควรจะมีเป้าหมายที่เด่นชัด ควรจะมองเห็นความสำคัญของการศึกษา เมื่อมองเห็นความสำคัญของการศึกษา ก็ต้องมองเห็นความสำคัญของครู แล้วก็มีเป้าหมายชัดเจนที่จะส่งเสริมครูอย่างจริงจัง การทำอะไรทุกอย่างจะให้สำเร็จ จะต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วก็คิดให้ชัด และตั้งใจให้แน่วแน่เด็ดเดี่ยวที่จะทำให้สำเร็จให้จงได้ แล้วก็จัดสรรวิธีการทุกอย่างที่จะทำให้มันสำเร็จ ให้เป็นไปตามนั้น การส่งเสริมคุณภาพครูนี้จึงถือเป็นเป้าหมายอันสำคัญของรัฐ หัวหน้ารัฐบาลควรจะเอาใจใส่เรื่องนี้ให้เต็มที่ ครูควรได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลชั้นนำของสังคม ปัจจุบันนี้คนมองเห็นอาชีพครูเป็นอาชีพสุดท้าย เป็นทางเลือกสุดท้ายเสียแล้ว เราจะต้องหันกลับมาทำให้ครูเป็นอาชีพอันดับหนึ่ง เพราะเป็นคนที่สอนคนในอาชีพอื่นทุกอาชีพ เป็นครูเขาแต่กลับมาอยู่ในสภาพที่ด้อย เมื่อปล่อยปละละเลยกัน แม้แต่ในเรื่องที่รู้กันอยู่อย่างเต็มอกเต็มที่ แล้วสังคมนี้มันจะก้าวหน้าไปได้อย่างไร

คำอนุโมทนา

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แจ้งความประสงค์ขออนุญาตพิมพ์งานนิพนธ์ทางการศึกษาบางเรื่องของอาตมภาพ เพื่อจัดทำเป็นวารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ฉบับพิเศษ ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์ - การสอน) แก่อาตมภาพ ซึ่งนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา จะสามารถใช้เป็นหนังสือประกอบการศึกษาค้นคว้าได้ต่อไป อาตมภาพยินดีอนุญาตด้วยความเต็มใจ เพราะเป็นการช่วยกันเผยแพร่วิชาการ พร้อมไปด้วยกันกับการส่งเสริมการเจริญกุศลธรรม

งานนิพนธ์หลักในหนังสือเล่มนี้ คือ เรื่อง การศึกษา: เครื่องมือพัฒนาที่ยังต้องพัฒนา เป็นบทความจากปาฐกถาที่แสดงในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 25 สาขาศึกษาศาสตร์ ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ได้เคยตีพิมพ์ในวารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 3/2530 แต่ในการพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ได้จัดลำดับเนื้อเรื่องแบ่งแยกบทตอนใหม่ให้เป็นระบบยิ่งขึ้น และเขียนเนื้อหาเพิ่มเติมอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่เพื่อให้ครอบคลุมความคิดทางการศึกษากว้างขวางยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องที่สอง คือ ความคิด: แหล่งสำคัญของการศึกษา เป็นบทความที่เคยตีพิมพ์มาแล้วหลายครั้ง แต่ในการพิมพ์ครั้งใหม่นี้ได้เขียนวิธีคิดแบบวิภัชชวาทแทรกเพิ่มเข้ามาอีก 1 วิธีย่อย คือ การจำแนกโดยทางเลือกหรือความเป็นไปได้อย่างอื่น เรื่องต่อไปคือ ปัญหาที่ต้องเร่งคิดแก้ไข ยิ่งกว่าการขยายการศึกษา เป็นคำอภิปราย ซึ่งแม้จะเคยตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์บางฉบับ แต่ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้เรียบเรียงให้มีเนื้อความเรียบร้อยสมบูรณ์ ส่วนบรรณนิทัศน์งานนิพนธ์ ของพระราชวรมุนี เป็นข้อเขียนสรุปโดยความเอื้อเฟื้อของนักวิชาการหลายท่าน นับได้ว่าเป็นงานที่จัดทำขึ้นใหม่สำหรับการพิมพ์ครั้งนี้โดยเฉพาะ เว้นแต่บางเล่มที่เร่งด่วน ซึ่งได้อาศัยบรรณานุกรมที่สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดทำไว้ก่อนเป็นแนว

อาตมภาพขออนุโมทนากุศลเจตนาของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ริเริ่มจัดพิมพ์หนังสือ ทางสายกลางของการศึกษาไทย เล่มนี้ขึ้น โดยเฉพาะขออนุโมทนา ผศ.ดร.ยุพา วีระไวทยะ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ผศ.ดร.อาภา จันทรสกุล อาจารย์เบญจมาศ กาญจนวิโรจน์ พร้อมด้วย ผศ.อัญชัน เกียรติบุตร และ อาจารย์ชวนี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ตลอดจนนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ม.ก. บางท่าน ที่ได้เอื้ออำนวยความสะดวกหลายประการตลอดระยะเวลายาวนานก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะเกิดขึ้นได้ เช่น จัดให้มีการคัดลอกความจากแถบบันทึกเสียงสำหรับบทความที่ 1 และที่ 3 และจัดทำบรรณนิทัศน์งานนิพนธ์ส่วนใหญ่

ขออนุโมทนาขอบใจ พระมหาอินศร จินฺตาปฺโ ผู้ได้สละเวลาและแรงงานเป็นอันมากในการช่วยงานนี้ นอกจากร่วมในการจัดทำบรรณนิทัศน์แล้ว ยังช่วยพิมพ์ดีดต้นฉบับและพิสูจน์อักษรเป็นต้นด้วย ขออนุโมทนา คุณประกาสิต แย้มบุญชู ที่ได้เอื้อเฟื้อช่วยออกแบบปกหนังสือนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากคุณอาทร อนุนาท ฝ่ายศิลป์ของโรงพิมพ์อมรินทร์เป็นอย่างดี และขออนุโมทนาคุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ เจ้าของและผู้จัดการอมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ ที่ได้เอาใจใส่ต่องานพิมพ์ของอาตมภาพด้วยความมีน้ำใจยิ่ง

การดำเนินการในการจัดพิมพ์ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนเสร็จเป็นรูปเล่ม ได้รับความอุปถัมภ์จาก คุณพนิตา อังจันทรเพ็ญ ช่วยจัดสรรควบคุมดูแลโดยตลอด จึงขออนุโมทนาคุณพนิตา อังจันทรเพ็ญ ไว้ ณ ที่นี้ เป็นอย่างยิ่ง

พระราชวรมุนี
24 มิ.ย. 2530

1คำอภิปรายนำ ในการประชุมอภิปรายระดมความคิดเรื่อง “การขยายการศึกษา บังคับหรือไม่บังคับ” ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 12 พฤษภาคม 2530
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง