ถ้าอยากพ้นวิกฤต ต้องเลิกติดไสยศาสตร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

 ถ้าอยากพ้นวิกฤต ต้องเลิกติดไสยศาสตร์1

หลังฉันอาหารเพล ก่อนพระสงฆ์จะอนุโมทนา ตอนนี้มาคิดว่าจะพูดธรรมให้ฟังวันละเล็กละน้อย แต่เป็นรายการเบ็ดเตล็ด เรียกว่า “ทบทวนข้อธรรมเบ็ดเตล็ด” นึกอะไรขึ้นได้ก็พูดไป

สำหรับเพลวันนี้มานึกถึงเรื่องที่พูดเมื่อวาน วานนี้ได้พูดให้ญาติโยมฟังเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ที่บางคนเรียกว่าเป็น วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ผู้คนมีความเดือดร้อนเพราะปัญหาเรื่องเงินเรื่องทอง

ในสภาพเช่นนี้จะต้องมีการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเพื่อจะอยู่ด้วยดี และเพื่อจะแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นไป อาตมาก็เลยได้พูดถึงคติอย่างหนึ่ง ในการปฏิบัติต่อปัญหาหรือสถานการณ์อย่างนี้ว่า

“คนฉลาดทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส
แต่คนประมาททำโอกาสให้เป็นเคราะห์”

นี่เป็นคติตามหลักพระพุทธศาสนาที่สอนไว้ว่า เมื่อเราประสบสถานการณ์ ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม ต้องหาประโยชน์จากมันให้ได้ แม้แต่เป็นเคราะห์ก็ต้องทำให้เป็นโอกาส หรือหาประโยชน์จากเคราะห์นั้นให้ได้ คตินี้ถ้าเป็นคนไม่ประมาทและเป็นคนฉลาดก็สามารถทำได้ อย่างน้อยก็ถือเป็นโอกาสที่จะกระตุ้นเตือนให้คนของเราได้สติ แล้วก็มีความเข้มแข็ง แต่ถ้ามัวคร่ำครวญโอดโอยตีโพยตีพายกันอยู่ก็เสียเวลาเปล่าๆ และเป็นการซ้ำเติมตัวเองด้วย

เมื่อพูดถึงคตินี้ไปแล้วก็มีอาจารย์ที่เป็นผู้ฟังท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตขึ้นว่า เมืองไทยเวลานี้คนไม่ค่อยทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส แต่เวลามีเคราะห์ก็ไปสะเดาะเคราะห์ อันนี้ก็เป็นสภาพของสังคมไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อที่น่าพิจารณา วันนี้ก็เลยจะพูดเรื่องการสะเดาะเคราะห์

ไสยศาสตร์ดีอย่างไร?

การสะเดาะเคราะห์นี้เป็นวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความเชื่อถือในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องไสยศาสตร์ หรือเรื่องอำนาจดลบันดาล ซึ่งเวลานี้แพร่หลายมากในสังคมไทย เราควรจะวิเคราะห์ดูข้อดีข้อเสีย

คนที่สะเดาะเคราะห์นั้น สิ่งที่ได้อย่างหนึ่งก็คือความสบายใจ ทำให้เกิดความอุ่นใจขึ้น หรืออาจจะมีความหวัง และคนก็มองว่าการสะเดาะเคราะห์และเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจดลบันดาลทั้งหลายนี้เป็นเรื่องศาสนา ก็เลยมีผู้พูดกันว่า ศาสนานั้นมีความหมายว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ช่วยปลอบประโลมจิตใจ บำรุงขวัญ มองในแง่นี้ก็เป็นประโยชน์อยู่ แต่ต้องพิจารณาหลายชั้น

เรื่องของไสยศาสตร์ และความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์นี้ ทางพระพุทธศาสนาให้มองในแง่ของการปฏิบัติ คือไม่สนใจในเรื่องที่ว่าจริงหรือไม่จริง คนทั่วไปมักจะเถียงกันในแง่ว่าจริงหรือไม่จริง แต่พระพุทธศาสนาสอนในแง่ว่าความเชื่อและการปฏิบัติในเรื่องจำพวกนี้มีคุณมีโทษอย่างไรมากกว่า เพราะถ้าเถียงกันว่าจริงหรือไม่จริงนี่ไม่รู้จักจบ และไม่มีใครแพ้ชนะเด็ดขาด นอกจากนั้นถึงแม้ถ้าเป็นจริง แต่ถ้ามีโทษมากกว่าคุณ ก็ไม่ควรเอาด้วย

ข้อพิจารณาที่สำคัญก็คือมองในแง่คุณและโทษ ในแง่นี้ทางพระพุทธศาสนาให้มองทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเป็นกลางๆ คือมองทั้งแง่ดีและแง่เสีย ทั้งแง่คุณและแง่โทษ

เมื่อเช้าก็ได้พูดถึงเรื่องการอ้อนวอนเทพเจ้าไปนิดหน่อย โดยยกตัวอย่างเรื่องมหาชนกมาให้ฟังว่า เมื่อเรือแตกกลางทะเล คนทั้งหลายมัวแต่ร้องไห้คร่ำครวญบ้าง อ้อนวอนขอให้เทพเจ้าช่วยบ้าง ก็ตายกันหมด แต่มหาชนกเอาเวลาระหว่างนั้น มาใช้สติปัญญาพิจารณาแก้ไขสถานการณ์โดยเตรียมตัวให้พร้อมที่จะว่ายน้ำทะเล จึงรอดมาได้

เรื่องไสยศาสตร์ เรื่องความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเรื่องการอ้อนวอนเทวดานี้ มีประโยชน์อะไรบ้าง

๑. อย่างที่บอกเมื่อกี้ คือช่วยปลอบประโลมใจ บำรุงขวัญ ขณะที่จิตใจกำลังเร่าร้อนกระวนกระวายก็ทำให้สงบลงได้ ในขณะที่ตื่นกลัวหวาดผวาก็อาจจะทำให้นอนหลับลงไปได้แล้วก็อยู่ด้วยความหวัง

๒. ต่อจากปลอบประโลมขวัญก็เกิดกำลังใจ ขณะที่ท้อแท้หดหู่พอทำพิธีแล้วก็อาจจะเกิดกำลังใจขึ้นมาบ้าง

๓. แล้วต่อไปก็คือถ้ามีความเชื่อมากก็อาจจะทำให้เกิดความมั่นใจ เมื่อมั่นใจก็ทำให้เกิดความเข้มแข็ง เช่นมีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อบูชาแล้วเกิดความมั่นใจก็เข้มแข็งขึ้นมา

ที่ว่ามานี้ก็เป็นประโยชน์ ส่วนที่จะได้ผลสำเร็จจริงหรือไม่ก็เถียงกันไปอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ไม่เด็ดขาด ไม่จะแจ้งลงไป

ที่พูดในแง่ปลอบประโลมใจ บำรุงขวัญ เกิดกำลังใจ ตลอดจนให้เกิดความมั่นใจนั้น เรามองดูก็เป็นคุณประโยชน์ แต่จะต้องมองอีกด้านหนึ่ง คือด้านเป็นโทษบ้าง

ด้านเป็นโทษ มีอะไรบ้าง คนเราเวลามีทุกข์มีภัยก็แสวงหาหนทางที่จะหลุดพ้นไป มีปัญหาก็หาทางแก้ไข แต่พอเกิดความรู้สึกอุ่นใจสบายใจขึ้นมาก็ชักจะนอนใจ หรืออาจจะรอคอยด้วยความหวัง ก็เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ทำให้เกิดความประมาท นี้เป็นข้อแรกที่ต้องระวัง

ทีนี้การเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจดลบันดาล และไสยศาสตร์ มีลักษณะที่ร่วมกันคือ

๑. ใช้ศรัทธา เอาความเชื่อเป็นหลัก คือ ไม่เกิดจากการรู้ความจริง ตัวเราเองไม่รู้ความจริงของเรื่องนั้นสิ่งนั้น

๒. เมื่อเป็นความเชื่อ ก็ต้องพึ่งอาศัยสิ่งที่อยู่นอกตัว คือขึ้นต่ออำนาจดลบันดาล รออำนาจนอกตัว ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาช่วย

๓. สิ่งอื่นหรืออำนาจดลบันดาลภายนอกนั้นมาทำให้เรา โดยเราไม่ต้องทำเอง และเราทำเองไม่ได้

นี้เป็นจุดที่สำคัญ เรามองไม่เห็นกระบวนการของความเป็นเหตุเป็นผลว่ามันสำเร็จได้อย่างไร เมื่อเราเชื่ออย่างนี้แล้ว เราอาจจะเกิดกำลังใจ เกิดความอุ่นใจ ปลอบประโลมใจ เสร็จแล้วเราก็เลยเบาใจ สบายใจแล้วก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย

ทีนี้โทษก็เกิดขึ้น ตอนที่ว่าอุ่นใจสบายใจนั้น ความอุ่นใจสบายใจไม่ได้เกิดจากการรู้เห็นชัดๆ ว่ามันจะสำเร็จได้อย่างไร เพียงแต่เชื่อว่าจะสำเร็จ ตัวเองก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ได้แต่รอ ก็เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย เมื่อไม่ได้แก้ไขปัญหา ต่อไปปัญหานั้นก็อาจจะร้ายแรงขึ้นมา อย่างน้อยก็ง่อนแง่นเพราะตัวเองไม่รู้ และมันไม่ได้อยู่ในอำนาจของตัวเอง

พุทธศาสน์ว่าอย่างไร?

ตอนนี้ก็มาพิจารณาหลักการในทางพุทธศาสนาโดยมองเทียบจากข้อเสียของไสยศาสตร์

หนึ่ง เราควรจะทำการให้สำเร็จผลที่ต้องการด้วยความเพียรพยายามของตนเอง คือ ให้สำเร็จด้วยการกระทำ เมื่อสิ่งนั้นสำเร็จด้วยการกระทำของเรา เราจะเห็นเหตุเห็นผลจะแจ้ง คือมองเห็นความเป็นเหตุเป็นผลในการกระทำกับผลที่สำเร็จตามมา ไม่เหมือนกับผลที่เกิดจากผู้อื่นทำให้ และผู้อื่นที่ว่านั้นเป็นอำนาจเร้นลับที่เราไม่เห็นเลย ไม่สามารถรู้จะแจ้งลงไปว่าผลจะเกิดหรือไม่เกิด ได้แต่เชื่อได้แต่รอไป ฉะนั้น การเชื่อในการกระทำนี่เด็ดขาดกว่า นี่หนึ่งแล้ว

สอง คนที่ไปหวังพึ่งสิ่งภายนอกดลบันดาลหรือทำให้นั้นไม่พัฒนาตนเอง เพราะไปฝากให้ท่านทำให้แล้ว ก็รอซิ ปัญหานั้นตัวเองไม่ได้คิดแก้ไข รอผลดลบันดาลให้ ตัวเองไม่ได้คิดไม่ได้ทำก็ไม่ได้พัฒนาตนเอง

คนเรานี้จะพัฒนามีความเก่งกล้าสามารถขึ้นได้ ก็ด้วยการที่ว่า ได้ฝึกได้หัดได้ทดลองได้ทำได้คิด เมื่อปล่อยปัญหาให้อำนาจภายนอกช่วยไปแล้ว ไม่ได้คิดไม่ได้แก้ไข มัวไปหวังพึ่งท่านอยู่ ตัวเองก็ไม่พัฒนา สติปัญญาความสามารถในการกระทำก็ไม่ได้ฝึกปรือ ก็เลยไม่มีอะไรดีขึ้นในตนเอง เสียสองแล้วคือไม่มีการพัฒนาตนเอง

สาม การที่จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นต่ออำนาจภายนอกที่เรามองไม่เห็นนั้น เราไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นอิสระ ขาดอิสรภาพ หมดอิสรภาพ พึ่งตนเองไม่ได้ นี่ประการที่สาม

การพัฒนาตนเองจะมาสัมพันธ์กับการพึ่งตนเองได้ เมื่อเราพัฒนาตนเองฝึกปรือตนเอง ต่อไปเราก็สามารถพึ่งตัวเองได้ เป็นอิสระแก่ตัวเอง พระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง คือ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ลูกศิษย์สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ยอมให้มามัวรอพึ่งแม้แต่พระองค์เอง พระองค์ต้องการให้ทุกคนเป็นอิสระ ให้เขาพึ่งตนเองได้ ไม่ต้องมาขึ้นต่อพระองค์ พระพุทธเจ้าช่วยคนให้เขาพึ่งตัวเองได้ ทรงช่วยให้เขาเข้มแข็ง ไม่ใช่ช่วยให้เขาอ่อนแอแล้วได้แต่คอยรอให้พระองค์ช่วย และ

สี่ ที่พูดไปแล้วก็คือทำให้เกิดความประมาท เพราะไปรอหวังพึ่ง รอให้ท่านช่วย เราก็ปล่อยเวลาไปไม่ได้ทำอะไร มัวแต่อุ่นใจเลยไม่ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายแก้ไขปัญหา

สำหรับข้อเสียนี้ เมื่อ

- มองในแง่แต่ละคน เฉพาะหน้าก็ปล่อยปละละเลยทำให้ปัญหาหมักหมมไม่ได้แก้ ในระยะยาว ถ้าเคยตัวอย่างนี้ก็เลยมีนิสัยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ชอบรอหวังพึ่ง อยู่ด้วยความหวัง เรียกว่ามีนิสัยประมาท

- มองในแง่สังคม เมื่อคนทั่วไปเชื่อกันอย่างนี้ ก็ไม่มีการดิ้นรนขวนขวายแก้ไขปัญหาและทำการสร้างสรรค์ สู้สังคมที่เขามีความเดือดร้อนไม่มีใครช่วยเหลือเลยก็ไม่ได้ สังคมแบบนั้น เมื่อถูกภัยบีบคั้นคุกคาม แล้วหาทางแก้ไขตัวเอง ดิ้นรนไปมาก็ทำให้เจริญเข้มแข็งขึ้นมาได้ ในแง่นี้นับว่าเป็นโทษมาก

ทีนี้เราก็ดูว่าโทษกับคุณนี่คุ้มกันไหม เมื่อมองในระยะยาวและในแง่สังคมส่วนรวม แม้แต่ถ้ามันจะได้ผลจริงบ้าง ก็ไม่คุ้ม เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนาท่านจึงวางหลักการไว้ว่า

หนึ่ง ให้ทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตัวเองตามเหตุตามผล

สอง ให้ใช้เรื่องนั้น ปัญหานั้น สิ่งที่ต้องทำ หรือสิ่งที่ต้องเผชิญนั้นเป็นเครื่องมือหรือเป็นเวทีในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง คนเราจะต้องศึกษา ต้องเรียนรู้พัฒนาตนเอง จะได้มีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น ถ้ามองในแง่ชีวิตคน ชีวิตก็จะดีขึ้น มองในแง่สังคม สังคมก็เจริญก้าวหน้าพัฒนาขึ้น

สาม อย่างที่ว่าแล้ว ให้รู้จักพึ่งตนเอง จะได้มีอิสรภาพ และพึ่งตนเองได้

สี่ ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ต้องรอให้มีอะไรมากระตุ้น หรือมีภัยมาบีบคั้นคุกคาม เราก็ลุกขึ้นกระตือรือร้นขวนขวาย ไม่ประมาทอยู่เสมอ
ความไม่ประมาทนี่สำคัญมาก ในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงเน้นเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่จะปรินิพพานก็ตรัสว่า

“เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท”

พูดง่ายๆ ว่า จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ เรื่องของการพึ่งอำนาจดลบันดาลภายนอก หรือลัทธิรอผลดลบันดาลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไสยศาสตร์ หรือการพึ่งอำนาจเทพเจ้าอะไรก็ตาม พระพุทธศาสนาจึงไม่สนับสนุน ไม่ใช่ว่าท่านว่าไม่จริง แต่โทษมันมากกว่าคุณ มันทำให้เสียหลักสี่ประการที่ว่านี้ ถ้าใครจะถามเรา ก็บอกได้เลยว่ามันขัดหลักพุทธศาสนา ๔ ประการ

๑. ขัดหลักการกระทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายาม ตามเหตุตามผล

๒. ขัดหลักการฝึกฝนพัฒนาตนเอง

๓. ขัดหลักการพึ่งตนเองและมีอิสรภาพ

๔. ขัดหลักความไม่ประมาท

การเชื่อถือวุ่นวายกับสิ่งเหล่านี้ทำให้คนหลงเพลิน คอยรอ และก็อาจจะงอมืองอเท้าไม่ทำอะไร ทำให้ปล่อยปละละเลยกิจที่ควรทำ แล้วก็ทำให้ตกอยู่ในความเสื่อม ชีวิตและสังคมแบบนี้จะเสี่ยงต่อความเสื่อมและภัยอันตราย เพราะฉะนั้น เราจะต้องปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ โดยทำตามหลัก ๔ ประการที่กล่าวมา

ชาวพุทธจะปฏิบัติตัวอย่างไร?

ทีนี้สำหรับคนทั่วไป ก่อนจะเข้าถึงหลักการของพระพุทธศาสนานั้น เราต้องยอมรับความจริงว่า คนก็ยังมีความอ่อนแอ คนจำนวนมากยังอ่อนแอมาก บางคนแม้ที่ว่ามีปัญญา นึกว่าตัวเองเป็นคนมีปัญญาแต่ไม่ใช่มีปัญญาจริง คือยังไม่ได้มีความรู้ความเห็นความเข้าใจจริง และจิตใจก็ไม่หนักแน่น ไม่มีสมาธิ เวลาเกิดเหตุร้ายภยันตรายชนิดเฉพาะหน้าปัจจุบันทันด่วน บางทีตั้งจิตตั้งใจไม่ทัน เป็นนักคิด ชอบคิดชอบใช้ปัญญา แต่บางทีไปแพ้คนที่เชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ เชื่อไหม ทำไมจึงแพ้ ก็เพราะว่าจิตใจฟุ้งซ่านและยังมีความอ่อนแออยู่ในตัว พอประสบเหตุร้ายตั้งจิตตั้งใจไม่ทัน ตั้งสติไม่ทัน สมาธิไม่มา ถูกความหวาดกลัวครอบงำลงไปถึงจิตไร้สำนึก มันเลยขั้นที่จะนึกจะคิดแล้ว จิตใจเตลิดเปิดเปิง ขวัญหาย ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว คิดอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก กลับไปแพ้คนที่เขามีสติปัญญาน้อยกว่า ที่เชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์

อันนี้แหละส่วนที่เป็นประโยชน์ของความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่บอกเมื่อกี้คือมันเกิดเป็นความมั่นใจ มั่นใจแล้วก็ทำให้จิตรวมตัว คนที่มีความเชื่อยึดในอะไรสักอย่างหนึ่ง แม้แต่ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พอเกิดเหตุร้ายปัจจุบันทันด่วน ชนิดตั้งสติไม่ทันนี่ เพราะความที่เชื่อมั่นในสิ่งนั้นจิตก็รวมได้ จิตตั้งมั่นอยู่กับสิ่งนั้นมันก็เลยไม่เตลิดเปิดเปิง ไม่ขวัญหนี พอตั้งสติได้ ใจอยู่กับตัว จิตใจมันอยู่ ก็คิดอะไรได้ ก็เข้มแข็ง ก็ไม่เสียหลัก ทำให้ทำการต่าง ๆ ตั้งตัวอยู่ได้

แต่ส่วนคนที่ว่าไม่เชื่ออะไรเลย ทำเป็นว่าเป็นคนมีปัญญา แต่ใจก็ไม่มั่นคงแข็งแรง พอเจอเหตุร้ายอย่างนี้ตั้งสติไม่ทัน ใจไม่รวม ไม่มีสมาธิอย่างที่ว่าไปแล้ว เตลิดเปิดเปิง ใจไม่รู้ไปไหนเลย ทำอะไรไม่ถูกสักอย่าง เสียหลักเลย เลยกลับแย่ เพราะฉะนั้นจึงต้องไม่ประมาทในเรื่องนี้ด้วย

เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่ยังอ่อนแออยู่นี้ ท่านก็เลยยอมให้ในขั้นเบื้องต้น แต่ต้องไม่ให้เสียหลัก คือเมื่ออาศัยความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นพอให้ใจอยู่กับตัวแล้ว จะต้องต่อด้วยความไม่ประมาท ต้องต่อด้วยการกระทำความเพียรพยายาม ไม่ใช่เชื่อแล้วก็ไปฝากความหวังไว้มัวรอพึ่งสิ่งเหล่านั้น ถ้าอย่างนั้นก็เสียหลัก เป็นการผิดหลักความไม่ประมาท แล้วก็ผิดหลักการเพียรพยายามกระทำการให้สำเร็จ นี้เป็นจุดสำคัญ

ตอนที่คนยังอ่อนแอ ยังมีจิตใจไม่มั่นคง มีปัญญาชนิดที่ไม่แท้ไม่จริง คือยังไม่รู้จริง ท่านก็ยอมให้อาศัยความศักดิ์สิทธิ์ได้บ้าง แต่ท่านให้เอาความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาไว้ที่พระรัตนตรัยเสีย จะได้เป็นทางเชื่อมให้เดินหน้าเข้าสู่ทางต่อไปได้ พอเชื่อพระรัตนตรัย มั่นใจแล้ว พระรัตนตรัยจะจูงเราขึ้นต่อไป

ศาสนานั้นมีความหมายอย่างหนึ่งที่ว่าไปแล้ว คือ คนทั่วไปจะมองว่าศาสนาเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นเครื่องช่วยปลอบประโลมจิตใจ บำรุงขวัญ ทำให้สบายใจ แต่จุดนี้ เป็นจุดที่อันตรายด้วย ถ้าเราไปมองว่าศาสนาเป็นแค่นี้ล่ะก็ ใช้ไม่ได้ ผิด ศาสนาถ้าเป็นแค่นี้ละก็ จะมีคุณเพียงส่วนหนึ่ง แต่อาจจะมีโทษมากมาย

เพราะฉะนั้น ที่ว่าศาสนาเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจนั้น ต้องแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ

แบบหนึ่ง เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ชนิดที่เหนี่ยวแล้วดึงลง หมายความว่าดึงให้หมกให้จมอยู่กับการหวังพึ่งสิ่งเหล่านั้นเรื่อยไป เลยเกาะเพลินอยู่นั่นเอง ไม่ต้องคิดเพียรพยายามทำอะไร ก็วนเวียนอยู่แค่นั้น พฤติกรรม จิตใจ และปัญญาก็ไม่เจริญ ไม่ได้ฝึกปรือพัฒนาตนเอง

อีกแบบหนึ่ง เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่เหนี่ยวแล้วดึงขึ้น คือเหนี่ยวพอให้เป็นที่เกาะผ่านเท่านั้น ในเมื่อคนเขายังไม่เข้มแข็ง ไม่แข็งแรง เหมือนยังว่ายน้ำไม่เป็น พอได้ที่เกาะไว้ก่อน แต่ตัวศาสนาเองอยู่เลยจากนั้นไป ต่อจากนั้นจะต้องช่วยให้เขาเข้มแข็งขึ้นแล้วให้เขาเดินหน้าต่อไปสู่ตัวศาสนาที่แท้จริง ไม่ใช่จมวนอยู่แค่นั้น

พระพุทธศาสนายอมให้ในแง่ที่สอง ถ้าเราบอกว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาคือเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ พูดแค่นี้ไม่ได้ ไม่ถูก เพราะตัวพระพุทธศาสนาอยู่ที่การพัฒนาชีวิตของเราให้ดีขึ้น ฉะนั้นการที่มายึดเหนี่ยวก็เป็นเพียงได้อาศัยเพื่อจะเหนี่ยวแล้วดึงขึ้นไป เพื่อจะเดินหน้าต่อไปในการที่จะพัฒนาชีวิตของเราให้ดีขึ้น ทั้งด้านพฤติกรรมกายวาจา ทั้งด้านจิตใจ และในด้านปัญญา

ยึดถือแล้ว → ปลอบใจ → สบายใจอุ่นใจ → นอนใจ → รอให้ท่านบันดาลให้ = ทางตัน มีโทษมาก

ยึดถือแล้ว → รวมใจได้ → เกิดกำลังใจ → มั่นใจ → ทำการอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นไป = มีทางเดินต่อ พอรับได้

อย่างไรก็ตาม แม้แต่การเชื่อหรือนับถือแบบหลังที่พอยังรับได้ ก็ยังไม่ปลอดภัย นอกจากง่อนแง่นแล้ว เพราะกำลังใจกำลังศรัทธาเกิดจากความเชื่อ ไม่ใช่เกิดจากปัญญารู้ความจริง จึงอาจจะถูกความเชื่อจูงให้มีกำลังเข้มแข็งในทางที่จะทำสิ่งที่ผิดให้รุนแรง กลับมีโทษมากยิ่งขึ้นไปอีก

สำหรับคนที่ยังอ่อนแอ เมื่อยังหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือยังต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่านเอาความศักดิ์สิทธิ์มาไว้ที่พระรัตนตรัย

ก) เพื่อจะได้กั้นกรองจำกัดไว้ไม่ให้ผู้คนถูกจูงเขวออกนอกลู่นอกทางไปกันใหญ่ เพราะลัทธิศาสนาแบบไสยศาสตร์มากมายเป็นเรื่องสนองกิเลส ทั้งโลภะและโทสะของคน พาคนให้ยุ่งวุ่นวายอยู่กับกิเลสเหล่านั้น อย่างน้อยก็รั้งไว้ไม่ให้ถูกดึงลงไปหลงจมวนเวียนแช่อยู่ในโมหะ

ข) เพื่อทำความศักดิ์สิทธิ์นั้นเองให้ประณีต ให้สูง ให้ดีงามขึ้นไป ไม่ให้ความศักดิ์สิทธิ์อยู่กับอำนาจศักดานุภาพหรืออิทธิพลความยิ่งใหญ่ที่จะดลบันดาลแบบวูบวาบไม่ยั่งยืน แต่ให้ความศักดิ์สิทธิ์เกิดจากคุณานุภาพ คืออำนาจความบริสุทธิ์และคุณธรรม ประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ที่เป็นของยั่งยืน

ค) เพื่อจะได้เป็นการสะดวกที่จะดึงคนทั้งหลายที่มาพึ่งนั้น ให้ก้าวต่อสูงขึ้นไปสู่การพัฒนาชีวิตด้วยศีล สมาธิ และปัญญา จนลุถึงวิมุตติ ในที่สุด

เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าใจว่า การยึดเหนี่ยวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ไม่ใช่ยึดเหนี่ยวแล้วก็เลยจมเพลินวนเวียนอยู่แค่นั้น จุดสำคัญอยู่ที่เหนี่ยวแล้วดึงขึ้น แล้วให้เดินหน้าต่อไปด้วย ตรงนี้แหละที่เป็นลักษณะสำคัญ พระพุทธศาสนาเน้นตรงนั้น

ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นโบราณเขามีอยู่แล้วก่อนพุทธศาสนา ถ้าศาสนาเป็นได้แค่ที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดพุทธศาสนา เพราะคนอินเดียเขามีที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีเทวดาให้นับถือเยอะแยะ มีแม้แต่พระพรหมที่ว่าดลบันดาลทุกอย่างได้ จนคนพากันเชื่อในพรหมลิขิต

การที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ก็เพราะศาสนาก่อนนั้นมัวเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ชนิดเหนี่ยวแล้วดึงลง ให้หลง ให้จมให้หมกอยู่ในการพึ่งพาอำนาจภายนอก รอผลดลบันดาล พระพุทธศาสนาก็เลยเกิดขึ้นมาแก้ไข โดยมาเหนี่ยวแล้วดึงขึ้น เพื่อจะให้ประชาชนได้พัฒนาในเรื่องความประพฤติ ทั้งกาย วาจา แล้วก็พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา ให้พึ่งตนเองได้ดีขึ้นจนเป็นอิสระต่อไป อันนี้จึงจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา

ชาวพุทธเรานับถือพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เอาแค่ว่ายึดเหนี่ยวจิตใจ ให้สบายแล้วก็จบ แต่ต้องเอามาใช้ปฏิบัติ เอามาใช้พัฒนาชีวิตของเราให้ดีงาม ทั้งกายวาจาและจิตใจพร้อมทั้งปัญญา ให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะในที่สุดเราต้องเป็นอิสระพึ่งตนเองได้

เราควรนับถือศาสนาอย่างไร?

การที่ศาสนาเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างเดียวนั้นไม่ปลอดภัย อย่างที่ว่ามีคุณนิดหน่อยแต่มีโทษมากมาย แม้แต่ความมั่นใจที่เกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นความมั่นใจที่ไม่เด็ดขาด ยังง่อนแง่นและมีภัย

ความมั่นใจนั้นมี ๒ แบบ คือ
๑. ความมั่นใจด้วยศรัทธาคือความเชื่อต่อสิ่งภายนอก
๒. ความมั่นใจด้วยปัญญาของตนเองที่รู้ความจริง

ความมั่นใจที่เกิดจากศรัทธานั้นก็แข็งแรงมาก บางทีแข็งไม่ลืมหูลืมตา จนถูกเขาจูงเอาไปรบราฆ่าฟันกัน แต่เป็นการเชื่อต่อสิ่งภายนอกมาช่วยทำให้ ไม่ใช่ตัวเราทำเอง ต่างกับมั่นใจด้วยปัญญาที่เรามองเห็นความจริง เราทำเองได้ อันนี้เทียบได้กับความมั่นใจของคนตาบอดหรืออย่างน้อยความมั่นใจของคนที่หลับตา กับความมั่นใจของคนที่ลืมตาหรือตาดี

ความมั่นใจของคนที่ศรัทธา ก็เหมือนความมั่นใจของคนตาบอดหรือหลับตา มีราวมีที่เกาะ ก็เกิดความมั่นใจว่า โอ้เราได้ที่เกาะแล้ว เราจะไปได้ มั่นใจอันนี้ แต่มองไม่เห็นว่ารอบนอกข้างๆ ตัว และข้างๆ ราวนั้นมีอะไร มองไม่รู้เรื่อง แต่ได้ความมั่นใจขึ้นมาว่าเราอาศัยราวนี้จะเดินไปถึงที่หมายได้ หรือมั่นใจว่ามีท่านผู้มีกำลังมาช่วยอยู่ ท่านจะช่วยพาเราไป แต่ไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ถ้าเป็นความมั่นใจด้วยปัญญา จะเป็นความมั่นใจของคนตาดีหรือลืมตา ซึ่งมองเห็นหมด อะไรเป็นอะไร จะสำเร็จได้อย่างไร ตัวเองจะต้องทำอะไร ตรงไหนที่ใด เห็นโล่งไปตลอด

เพราะฉะนั้นในพระพุทธศาสนานี้เบื้องแรกท่านก็ยอมให้มั่นใจด้วยศรัทธาแต่ต้องมีปัญญาประกอบให้เห็นเหตุเห็นผล แล้วสุดท้ายต้องพัฒนาให้เป็นความมั่นใจด้วยปัญญา คือด้วยการที่ตัวเองรู้เข้าใจความจริง มองเห็นเหตุผลในสิ่งนั้นแล้วทำด้วยตนเองได้

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงสอนหลักการไว้หลายขั้นหลายตอน ชาวพุทธจะต้องพยายามศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง ความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องไสยศาสตร์ผีสางเทวดาอะไรต่ออะไรนี่ ถ้ายังถืออยู่ ก็เอาเพียงว่าช่วยให้มั่นใจ จิตใจรวมได้ ในขณะที่เรายังอ่อนแออยู่ เอามาเป็นขั้นต้นในการเกาะให้ทรงตัวตั้งตัวอยู่ได้ก่อน แต่จะหยุดอยู่แค่นั้นเท่านั้นไม่ได้ ต้องก้าวต่อไป ถึงแม้ถ้าเชื่อสิ่งเหล่านั้นก็อย่าให้เสียหลัก ๔ ประการที่ว่าไปแล้ว

อย่าให้เสียหลักที่ หนึ่ง คือการกระทำการด้วยความเพียรพยายามของตน คือเชื่อแล้วจะต้องให้เข้มแข็งในการกระทำยิ่งขึ้น อย่าไปเชื่อแล้วก็เลยสบายใจนอนใจว่าท่านจะทำให้ บันดาลให้ แล้วก็นอนรอ อย่างนี้ผิดหลัก ท่านเรียกว่าผิดหลักกรรม หลุดจากพระพุทธศาสนาเลย

อย่าให้เสียหลักที่ สอง คือจะต้องไม่ให้ผิดหลักฝึกฝนพัฒนาตนเอง จะต้องคิดต้องพิจารณาต้องหาทางแก้ปัญหาฝึกปรือตัวเองให้เข้มแข็ง ทำอะไรต่ออะไรให้เก่งให้ดียิ่งขึ้น

อย่าให้เสียหลักที่ สาม คือต้องให้เป็นอิสระพึ่งตนเองได้ ไม่ใช่ไปฝากความหวังให้ท่านช่วยแล้วแต่ท่าน หมดอิสรภาพของตัวเอง

แล้วก็อย่าให้เสียหลักที่ สี่ คือต้องไม่ให้ผิดหลักความไม่ประมาท ถ้าไปประมาทเสีย ปล่อยปละละเลย ให้เวลาผ่านไปเปล่าๆ ผิดแน่ๆ

เป็นอันว่า ถ้าเชื่อก็อย่าให้ผิดหลัก ๔ ประการนี้ แล้วก็อาศัยพอให้เกิดกำลังใจมั่นใจ แล้วก้าวต่อไป ถ้าตัวเองพัฒนาต่อไปแล้วก็จะพ้นจากสิ่งเหล่านี้เอง เมื่อเราเข้มแข็งยิ่งขึ้น ต่อไปเราก็ไม่ต้องอาศัย แล้วเราจะพ้นจากความมั่นใจแบบคนตาบอดหรือคนหลับตา ไปสู่ความมั่นใจของคนที่ลืมตาหรือตาดี คือมั่นใจด้วยปัญญา ไม่ใช่เพียงด้วยศรัทธา

พระพุทธเจ้าที่ทรงสำเร็จบรรลุโพธิญาณนั้น ทรงผ่านมาแล้วอย่างหนักหนา ทั้งโชคและเคราะห์ ถึงคราวโชคพระองค์ก็ใช้มันเป็นปัจจัยในการทำประโยชน์ทำความดียิ่งขึ้นไป ถึงคราวเคราะห์ พระองค์ก็ไม่หนี ทรงเผชิญเคราะห์และจัดการกับเคราะห์ แก้ไขผันแปรมัน พระองค์จึงมีพระบารมีแก่กล้าขึ้นมา พระองค์บำเพ็ญบารมีมากมายจากการจัดการกับเคราะห์นี่แหละ แล้วทำไมชาวพุทธ ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าจะคอยรอเอาแต่โชค พอเจอเคราะห์ก็จะหนีอย่างเดียว ไม่รู้จักจัดการเอาประโยชน์จากเคราะห์ และใช้เคราะห์เป็นที่พัฒนาบารมีของตนบ้าง

คนนับถือศาสนาแบบไสยศาสตร์เพื่อขอให้ช่วยบันดาล ให้มีโชคดีหนีเคราะห์ร้าย เวลามานับถือพระพุทธศาสนาก็เลยจะนับถือแบบนั้น เอาแค่นั้น เรียกว่าไม่พัฒนาการนับถือศาสนา หรือเลยพลอยทำให้พระพุทธศาสนามีความหมายแค่นั้น

คนจำนวนมากนับถือศาสนาเพียงเพื่อหวังจะหนีเคราะห์และขอโชค แต่ชาวพุทธแท้นับถือศาสนาเพื่อช่วยให้เราพัฒนาความสามารถที่จะเปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโชค

พระพุทธศาสนามิใช่มีไว้เพื่อให้เราขอโชคและขอให้ช่วยหนีเคราะห์ แต่ประโยชน์ที่เราควรจะได้จากพระพุทธศาสนา ก็คือความสามารถที่จะชนะเคราะห์และสร้างโชค ท่านสอนให้เรารู้จักเผชิญ และจัดการกับเคราะห์ เพื่อให้ตัวเราเองพัฒนาดีขึ้น และรู้จักใช้โชคให้นำโชคยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย ไม่ใช่เอาแต่จะหนีเคราะห์ กลายเป็นคนอ่อนแอ จะถอยอยู่เรื่อย แล้วเวลามีโชคก็หลงระเริงเพลิดเพลินจนโชคหมดหายกลายเป็นเคราะห์ ไม่รู้จักพัฒนาโชคต่อไป

ทำอย่างไรจะพ้นเคราะห์ได้จริง?

คนไทยเรานี้ เวลาเกิดสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นเหตุร้าย ก็จะมีคนหลายระดับ เราจะต้องเห็นใจกัน คนที่ยังมีจิตใจอ่อนแอเราก็ให้โอกาสเขาบ้าง การโอดโอยโวยวายคร่ำครวญจะมีบ้าง เราก็เห็นใจและรู้ทัน อย่าไปนึกอะไรมาก ฟังเขาไป เขาจะด่าจะว่า ก็ฟังได้ ยิ่งถ้าเป็นผู้นำเป็นผู้บริหาร ก็ยิ่งต้องอดทน ต้องให้เขาระบาย ไม่ไปต่อล้อต่อเถียง แล้วก็ปลอบโยนให้สติเขาดีๆ ตามเหตุตามผล แม้แต่เทวดา ก็ยังต้องยอมให้โอกาสคน อย่างที่ว่าฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า

ขอแต่ว่า เมื่อโอดครวญกันแล้วก็อย่าไปจบไปหยุดอยู่แค่นั้น ต้องผ่านขั้นนี้ไป พอระบายอารมณ์แล้ว ก็ตั้งสติ สงบ แล้วรีบหันมาทำการแก้ไขด้วยปัญญา แล้วเอาเหตุการณ์ร้ายหรือปัญหามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ปัญหาจะต้องใช้เป็นเวทีพัฒนาปัญญา คือปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราใช้ความคิดพิจารณาค้นหาเหตุปัจจัยและหาทางแก้ไข เราจะพลิกปัญหาให้เป็นปัญญา เปลี่ยนอักษรตัวเดียวจากปัญหาก็เป็นปัญญาไป

คนที่เก่งนั้นเขาเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา และใช้ปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา แล้วก็เปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโอกาส เวลาทุกข์ยากนี่เป็นประโยชน์มาก เวลาสุขสำราญต่างหากที่มักทำให้มัวเมาประมาท พระพุทธศาสนาสอนว่า ถ้าความรุ่งเรืองความสำเร็จเกิดขึ้น อย่ามัวเมา ต้องใช้มันให้เป็นประโยชน์ เอามันเป็นปัจจัยในการสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไป

คราวเคราะห์มัวครวญ ยามโชคก็เหลิง เอาแต่หนีเคราะห์และคอยโชค คนอย่างนี้เคราะห์เรียกหา แต่คนเป็นมหาบุรุษได้ ด้วยการผันเคราะห์ให้เป็นโชค และผันโชคให้แผ่ประโยชน์สุข

ในด้านนี้ สังคมไทยเราอาจจะพลาดไปแล้ว เมื่อตอนเราฟุ้งเฟื่อง สบาย มีพรั่งพร้อม แทนที่เราจะเอามันเป็นปัจจัยในการสร้างสรรค์ เรากลับไปหลงระเริง มัวเมา ประมาท นี่ท่านเรียกว่า ทำโอกาสให้เป็นเคราะห์ แทนที่จะใช้โอกาสนั้นในการสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไป

ทีนี้ถึงเวลานี้เราแย่ลงไปเป็นเคราะห์แล้ว ถ้ามัวไปตีอกชกหัว เศร้าโศก โอดครวญ ก็กลายเป็นซ้ำเติมตัวเอง เคราะห์หนักเข้าไปอีก ถ้ามีสติปัญญา ตอนนี้ได้สติ แล้วใช้ปัญญา ก็ทำเคราะห์ให้เป็นโอกาสเสีย เพราะคราวทุกข์ยากเดือดร้อนนี่แหละ มักเป็นเวลาที่ดีที่สุด คนที่จะเจริญก้าวหน้าได้โดยมากต้องเจอปัญหา จะได้ฝึกตัวเองให้เข้มแข้ง แล้วเคราะห์นี่ก็ช่วยให้ทั้งสังคมทั้งชีวิตคนประสบความสำเร็จมามากมาย

จากการเจอเคราะห์เจอปัญหาแล้ว ถ้าเราตั้งตัวดี มีท่าทีถูกต้อง เราก็จะมีความเข้มแข็ง พยายามต่อสู้ดิ้นรนขวนขวายแล้วเราจะได้พัฒนาความสามารถ เราจะได้การฝึกฝนตน ฝึกปรือตัวเอง แล้วได้ปัญญาความสามารถมากขึ้นๆ แล้วชีวิตและสังคมก็จะเจริญก้าวหน้าต่อไป

ขอย้ำคติที่ว่าไว้ข้างต้นอีกครั้งหนึ่งว่า

“คนฉลาดทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส
แต่คนประมาททำโอกาสให้เป็นเคราะห์”

เป็นอันว่า ตอนนี้มีเคราะห์แล้ว ยอมให้มีความเศร้าโศกเสียใจโอดครวญกันชั่วระยะสั้นๆ พอระบายเสร็จแล้วก็ให้รีบตั้งสติ ต่อไปนี้ก็รีบมาดีใจว่าเจอเคราะห์แล้ว ทำมันให้เป็นโอกาส ผันเคราะห์ให้เป็นโอกาส แล้วเราก็จะเจริญก้าวหน้าต่อไป ไม่ต้องกลัว

ฉะนั้น อย่าไปหมดกำลังใจ พระพุทธศาสนาไม่สอนให้เราท้อแท้ ไม่สอนให้เราท้อถอยอ่อนแอ เมื่อเจอปัญหา เจอเคราะห์กรรม เจอภัยอันตรายแล้ว ให้เข้มแข็ง แล้วใช้มันให้เป็นประโยชน์ในการฝึกปรือตัวเองให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป แล้วเราจะมีความชำนิชำนาญยิ่งขึ้นในการที่จะแก้ปัญหา ในการที่จะผจญเคราะห์กรรมภัยอันตรายให้ผ่านก้าวไปสู่ความสำเร็จในการสร้างสรรค์พัฒนาได้ต่อไป

วันนี้ขอให้คติแก่โยมในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อสถานการณ์ โดยโยงไปหาเรื่องไสยศาสตร์ แล้วให้นำมาสู่พระพุทธศาสนาอย่างที่ว่ามา หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์บ้างแก่ญาติโยมในแง่เป็นคติความคิดจากการได้เรียนรู้หลักการของพระพุทธศาสนา

ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง ขอตั้งจิตตั้งใจอาราธนาคุณพระรัตนตรัย โดยเฉพาะคุณธรรมความดีที่โยมทุกท่านได้บำเพ็ญนี้แหละ ให้มาเป็นเครื่องบำรุงจิตใจให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นไป เราทำความดีเรามีจิตใจที่มีสติดำรงมั่น มีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อนใจ ไม่เสียขวัญไปในโอกาสสำคัญที่เป็นบททดสอบนี้ เรามีกำลังใจเข้มแข็ง เราจะผ่านพ้นภัยอันตรายไปได้ แล้วจะมีความเจริญรุ่งเรือง ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จชนะอุปสรรคอันตรายแล้วทำความร่มเย็นเป็นสุขให้เกิดขึ้นทั้งแก่ชีวิตของตนและสังคมส่วนรวมสืบต่อไป ตลอดกาลทุกเมื่อ

1รายการทบทวนข้อธรรมเบ็ดเตล็ด ภาคเพล วันอาทิตย์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๐ ณ วัดญาณเวศกวัน
ถอดบันทึกโดย คณะคุณบุบผา คณิตกุล วันจันทร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๐
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง