พระคุณแม่นั้นคุ้มครองลูก และคุ้มครองโลก เรื่องนี้ขอเน้น ที่ว่าพระคุณแม่คุ้มครองลูกนั้น หมายความว่า เมื่อเรามีความซาบซึ้งในพระคุณแม่ ซึ่งตามปกติคนไทยเราเป็นอย่างนี้ทุกคน พระคุณแม่ก็ตามไปคุ้มครอง คือ เวลาไปไหน ไปพบอะไร หรือจะทำอะไร ถ้าจะทำสิ่งที่ไม่ดี...พอนึกถึงแม่...เหมือนกับแม่บอกว่า หยุดนะลูก...ก็ยั้งเราไว้
ในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ก็เหมือนกัน เมื่ออยู่กับแม่ เรามีความรู้สึกที่ดีงามเป็นคุณธรรม ซึ่งโน้มนำจิตใจของเราทำให้มองเพื่อนมนุษย์ในแนวทางเดียวกัน คือมองเป็นพี่เป็นน้องเป็นญาติ เวลาออกไปข้างนอก...พอเจอผู้หญิง ก็จะนึกถึงแม่ แล้วก็เกิดความรู้สึกแบบญาติ แบบพี่น้อง ในทางที่ดีงาม
ทีนี้ ถ้าความสัมพันธ์เชิงคุณธรรมที่มีความซาบซึ้งใจหายไป คนก็จะมองกันในแง่ของเรื่องทางเพศอย่างเดียว แล้วความเสี่ยงอันตรายก็เกิดขึ้น
สังคมของเรามีวัฒนธรรมที่ได้ปลูกฝังเรื่องพระคุณแม่มาลึกซึ้งมาก จึงช่วยป้องกันปัญหาได้มาก แต่เวลานี้ ความสัมพันธ์และความรู้สึกที่ดีงามนี้กำลังลดน้อยลงหรือจะหมดไป จึงน่าเป็นห่วง
ความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างแม่กับลูกที่ซาบซึ้งนั้น ฝังลึกลงไปในใจ ทำให้พระคุณแม่มีความหมายอย่างยิ่ง และมีกำลังอิทธิพลมากจนกระทั่งเมื่อพูดขึ้นมาว่า “แม่” จะสามารถบันดาลจิตใจให้เกิดมีความรู้สึกนึกคิดในทางที่เป็นคุณธรรมทันที และทำลายความรู้สึกในทางไม่ดี เช่น ความโกรธให้หมดไป
เหมือนอย่างคนเข้าไปในป่า พอได้ยินใครพูดขึ้นมาว่า “เสือ” ก็กลัวมาก ไม่ต้องนึกไม่ต้องคิดว่าเสือเป็นอย่างไร น่ากลัวอย่างไร พอได้ยินเท่านั้น อาการกลัวก็เกิดขึ้นมาเองทันที อาจจะถึงกับเข่าอ่อน หมดแรง หรือไม่อย่างนั้นก็วิ่งหนีสุดชีวิตไปเลย
“พระคุณแม่” ก็เหมือนกัน ถ้าได้ปลูกฝังกันไว้ดี ลึกซึ้งมาก จะออกมาทำงานเอง ในเวลาที่ต้องการ ให้ถึงขั้นที่ว่า ถ้าเงื้อมีดขึ้นจะแทง หรือทำร้ายใคร พอมีใครพูดขึ้นมาว่า “แม่” เท่านั้นแหละ...มืออ่อนเลย มีดหลุดมือ ต้องอย่างนี้
เราต้องให้พระคุณแม่มีอิทธิพลลึกซึ้งขนาดนั้น และก็เป็นความจริงว่าถ้าเราปลูกฝังกันดี ก็จะมีอิทธิพลขนาดนี้ คือพูดถึงแล้วความหมายที่ลึกซึ้ง จะส่งผลออกมาสู่พฤติกรรมทันทีโดยไม่รู้ตัว แต่เวลานี้ที่น่าเสียดายก็คือ พลังแห่งพระคุณแม่กำลังจะหมดไป
เมื่อคำว่า “แม่” ไม่มีอิทธิพลแล้ว เครื่องยับยั้งชั่งใจในทางคุณธรรมของคนก็จะยิ่งหมดไป เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องเจอกับความเสื่อมต่างๆ อย่างมากมาย จึงได้บอกว่าอย่างไรๆ เราก็ต้องช่วยกันฟื้นเรื่องพระคุณแม่กันขึ้นมาให้ได้
พระคุณแม่นั้นฟื้นได้แน่ แต่จะต้องฟื้นชีวิตที่มีความรักอบอุ่นเป็นสุขในครอบครัว ให้พ่อแม่-ลูกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ให้เมตตากรุณาแสดงออกมาในชีวิตที่เป็นจริง ชนิดที่ฝังลึกสนิทแน่นแฟ้น ติดมาตั้งแต่เด็กแต่เล็ก ถ้าทำอันนี้สำเร็จ ก็กู้สังคมไทยได้...
พระคุณแม่นี่แหละจะเชื่อมต่อไปยังคุณพระรัตนตรัย
คุณพระรัตนตรัยนั้น ถ้าไม่มีพระคุณแม่มาช่วยเชื่อม...เด็กก็ก้าวไปถึงยาก
สังคมไทยเราก็อาศัยเริ่มจากจุดนี้ คือตั้งต้นที่พระคุณแม่ แล้วก็โยงมาหาพ่อ แล้วก็โยงไปถึงพระรัตนตรัย จากพระรัตนตรัยก็โยงไปยังสิ่งทั้งหลายที่ดีงาม แล้วทำอย่างไรเราจะเอาจริงเอาจังช่วยกันรักษาหลักเรื่องพระคุณแม่นี้ไว้ให้ได้
ที่ว่านี้ก็หมายความว่า ทางโรงเรียนต้องโน้มตัวไปหาครอบครัว แต่ถ้าคุณแม่ที่บ้านไม่ช่วย ไม่ร่วมมือ ก็ยาก ความสำเร็จก็อยู่ที่คุณแม่ คุณครูก็ทำหน้าที่คล้ายๆ กับพระ คือต้องกลับย้อนต้นไปกระตุ้นในครอบครัว ให้คุณแม่คุณพ่อทำหน้าที่ พอครอบครัวเขาดี พ่อแม่ทำหน้าที่ถูกต้อง ก็เรียกว่าเครื่องจักรเดินแล้ว เดินหน้าไปได้
เวลานี้ ที่เราทำกันอยู่ที่วัด หรือโรงเรียน ถ้าไม่สามารถไปทำให้เครื่องจักรที่บ้านเดิน ผลก็ไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ตลอดสาย ไม่ได้ผลเต็มที่ ก็เลยย้ำว่า อย่างไรๆ ก็ต้องขอให้ช่วยกันเรื่อง “แม่” เรื่อง “ครอบครัว” ให้ฟื้นสังคมไทยขึ้นมาให้ได้...
ตรงนี้เป็นพื้นฐาน เป็นจุดเริ่ม เพราะจุดเริ่มของชีวิตอยู่ที่นั่น เมื่อชีวิตเริ่มที่นั่น การศึกษาก็ต้องเริ่มที่นั่น (ที่แม่ และที่บ้าน-ครอบครัว)
การศึกษาก็ต้องมาทั้งด้านความรู้สึกและความรู้ เราต้องการให้เด็กได้ความรู้ แล้วก็ให้ความรู้นี้มากับความรู้สึกที่ดีงามด้วย ถ้าเราเดินถูกทาง สองอย่างนี้จะพึ่งพากัน ทำให้เมื่อได้ความรู้ ก็ได้ความรู้สึกที่ดีงามด้วย
ความรู้สึกที่ดีงามนี้สำคัญมาก โดยจะเป็นตัวที่
๑. ให้ใช้ความรู้เพื่อสนองความรู้สึกที่ดีงาม
๒. ความรู้สึกที่ดีงามจะไปกระตุ้นให้หาความรู้เพิ่มขึ้นมา
แต่ถ้าเป็นความรู้สึกในฝ่ายที่ไม่ดี
๑. ก็จะทำให้ใช้ความรู้เพียงเพื่อสนองกิเลส เพื่อมาสนองความต้องการที่เป็นความเห็นแก่ตัว หรือเพื่อสนองความต้องการที่จะไปทำร้ายผู้อื่น
๒. ถ้าไม่มีเรื่องที่จะสนองความต้องการของกิเลสแบบนี้ ก็เลยหยุดเฉยหรือเฉื่อย ก็จะไม่หาความรู้ จึงไปจบที่โมหะ
ความรู้สึกแบบนี้ทำให้คนหาความรู้เพียงเพื่อสนองความรู้สึก แล้วต่อจากนั้นก็ไม่หาความรู้
แต่ถ้าเป็นความรู้สึกที่ดี มันจะได้ทั้งสอง คือ
๑. ทำให้หาความรู้เพื่อมาสนองความรู้สึกที่ดี
๒. เป็นปัจจัยของการหาความรู้โดยตรงเลยทีเดียว คือเป็นตัวกระตุ้นเร้าไปสู่ความรู้ เช่น ความรู้สึกที่อยากรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย อยากเข้าใจสิ่งทั้งปวงนี้ เป็นคุณธรรมที่ทำให้เจริญปัญญา แล้วปัญญาก็มาสนองคุณธรรม ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ดีอีก ทำให้เกิดความรู้สึกที่อยากสร้างสรรค์ และตัวปัญญาเองก็เพิ่มพูนไปสู่การเข้าถึงความจริง
ต้องพยายามทำให้สังคมไทยเดินไปให้ถูกทาง เวลานี้คนใช้เทคโนโลยีในทางที่ก่อมากกว่าแก้ปัญหา แล้วเทคโนโลยีนั้นก็ใช้มากทางด้านการสื่อสาร ซึ่งเอามากระตุ้นทางด้านความรู้สึกมาก และความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นก็มักจะเป็นความรู้สึกด้านร้าย คือด้านโลภะ โทสะ โมหะ ได้แก่
๑) ด้านหาสุขหาเสพส่วนตัว ล่าผลประโยชน์
๒) ด้านที่มุ่งร้าย คิดแย่งชิง ประทุษร้ายผู้อื่น ข่มเหงรังแกกัน
๓) ด้านมัวเมา ลุ่มหลง เพลิดเพลิน
จะเห็นว่า เทคโนโลยีที่มากระตุ้นความรู้สึกสามอย่างเหล่านี้เต็มไปหมด แต่เทคโนโลยีที่ใช้เพื่อกระตุ้นความรู้สึกที่ดีงามไม่ค่อยมี เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นอย่างที่ว่า...มันก็เสี่ยงที่จะต้องเกิดกลียุค ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย
คุณพ่อคุณแม่นี่แหละ เป็นด่านใหญ่ที่จะรับมือกับเทคโนโลยี ถ้าเลี้ยงดูลูกดี ก็จะมีการศึกษาที่ทำให้ลูกปฏิบัติต่อเทคโนโลยีถูกต้อง และได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
ขอให้ครูคนที่หนึ่ง กับครูคนที่สองมาประสานกัน และร่วมมือกัน ตอนนี้ครูที่สอง (ครูที่โรงเรียน) คนไหนที่ไหนที่รู้ปัญหา และมีจิตสำนึกที่จะแก้ปัญหา ต้องกลับไปกระตุ้นครูที่หนึ่ง (ครูที่บ้าน, พ่อแม่)
ครูนี่สังคมน่าจะเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะเป็นผู้สร้างคุณภาพของคน เป็นที่หล่อหลอมลูกๆ ของทุกคนทุกครอบครัว เราจะต้องคำนึงถึงครู นี่หมายถึงทั้งหมด ทั้งประเทศ มองให้ถึงชนบท ตามบ้านนอกโน่น ไม่ใช่ว่า...ขออภัย ได้ยินบ่อยๆ ครูบ้านนอกเดี๋ยวนี้นะ เขาบอกว่า พอสอนเสร็จ หลังเลิกเรียน (บางแห่ง) มาตั้งวงเหล้า ถ้าอย่างนี้ก็น่าเป็นห่วง...
ครูต้องเกิดจิตสำนึกว่า โอ...เราเป็นครูนะ ความเป็นครูคือผู้ทำหน้าที่อย่างนี้ๆ เราจะต้องนึกถึงเด็ก คำนึงถึงความสุข ความเจริญงอกงาม และความดีงามของเด็ก แล้วพยายามทำให้เด็กเจริญงอกงามอย่างดีที่สุด อย่างนี้เรียกว่าเกิดฉันทะ
ถ้าฉันทะเกิดขึ้น ก็มีจุดเริ่มต้น อย่างที่ว่า แสงเงินแสงทอง หรือแสงอรุณมาแล้ว ก็จะเดินหน้าสว่างเจิดจ้าต่อไป อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ จะต้องสร้างฉันทะขึ้นมา
ถ้าครูทำงานด้วยฉันทะนี้ คือมีความอยากที่จะทำให้ชีวิตของเด็กเป็นชีวิตที่ดี อยากให้เด็กเจริญงอกงาม อยากให้เด็กเป็นคนดี อยากให้ประเทศชาติสังคมของเรานี้มีคนที่มีคุณภาพ แล้วก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นไป ถ้าครูมีเจ้าตัวความอยากที่พระเรียกว่า ฉันทะอันนี้แล้ว ก็แน่ใจได้เลยว่าต้องเดินหน้า ไม่กี่ปีเปลี่ยนหมดเลย สภาพสังคมอะไรต่างๆ ...มันเปลี่ยนเองเลย
แต่นี่ ฉันทะมันไม่มีน่ะสิ ในเรื่องการสอน...ขออภัย ต้องใช้คำว่า บางทีครูก็สอนแบบซังกะตาย คือสักว่าสอน แต่ก็อย่างที่บอกแล้ว ในแง่หนึ่งก็ต้องเห็นใจ เพราะมันมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ครูเป็นอย่างนั้น เช่นไม่มีกำลังใจเลย อะไรที่จะมาช่วยส่งเสริมให้มีกำลังใจ ก็ไม่มี ความเอาใจใส่ของคนทั่วไปในสังคมก็น้อย การให้เกียรติก็ไม่ค่อยมี
แต่ก่อนนั้น ครู...สังคมให้เกียรติมากใช่ไหม ครูนี่แหม...ครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ให้ความนับถือมาก แม้แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่ของเด็กนั้นจะเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องนับถือครู เดี๋ยวนี้ได้ยินมาแล้วน่าหดหู่ใจ คือครูไปไหนนี่คนไม่ค่อยให้เกียรติ แล้วนักการเมืองบางทีเอาครูมาเหมือนเป็นคนรับใช้...ใช่ไหม
นี่...อันนี้ต้องติเตียนนักการเมืองละ นักการเมืองต้องนำในเรื่องนี้ นักการเมืองต้องให้เกียรติครู ต้องแสดงออกให้รู้สึกว่านี่...เรานับถือครูนะ เวลาไปไหน...ไปในชนบท จะต้องให้เกียรติครู
เมื่อนักการเมืองนำอย่างนี้ โดยแสดงให้เห็นว่า ฉันให้เกียรติ ให้ความสำคัญแก่ครู ครูเองก็จะระวังตัวขึ้น ใช่ไหม คนที่คนอื่นให้ความเคารพนับถือ ก็จะเป็นปัจจัยภายนอกอย่างหนึ่งที่ทำให้เจ้าตัวต้องระมัดระวัง ที่จะปฏิบัติตนให้สมกับฐานะด้วย ถ้าไม่มีเกียรติ คนก็มักจะคิดว่าเราจะทำอย่างไรก็ได้ ใช่ไหม
เพราะฉะนั้น สังคมจะต้องเชิดชูครูให้เห็นๆ นักการเมืองเป็นบุคคลที่ทำงานนี้ได้ทันที จะต้องย้ำว่านักการเมืองต้องช่วยหน่อย ไปไหน ไปชนบท ต้องให้เกียรติครู แล้วสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นๆ เลย
แล้วก็ในสังคมทั่วไปและในชุมชนก็ต้องให้เกียรติครู แต่ลองเถิด ถ้านักการเมืองให้เกียรติครูนะ คนในถิ่นนั้นเดี๋ยวก็ต้องให้เกียรติครู... มันก็เป็นไปเอง เพราะฉะนั้น ถ้าจะเริ่มก็เริ่มให้ตรงจุด
เดี๋ยวนี้เราได้ยินในทางตรงข้าม กลายเป็นว่านักการเมืองไปเอาครูมารับใช้ อย่างนี้ก็หมดกันเท่านั้นแหละสังคมเรา นี่…เดี๋ยวจะเป็นการติเตียนนักการเมืองไปเสีย แต่นักการเมืองที่ดีก็มี ท่านก็ต้องรับฟังเรา ใช่ไหม
เรื่องที่ว่ามานี้ ถ้าคุณแม่เอาด้วยจริงๆ จังๆ จะพัฒนาได้เร็ว ว่าที่จริงก็ผู้ปกครอง ต้องทั้งคุณแม่คุณพ่อนั่นแหละ แต่คุณแม่นี่ใกล้ชิดที่สุด เรียกว่าเป็นแกน ถ้าคุณแม่เริ่มต้นให้ละก็ มีความหวังมาก
ความซาบซึ้งในพระคุณแม่ ตลอดจนคุณธรรมที่อิงอยู่ด้วยเหล่านี้ เราสร้างขึ้นจากชีวิตจริงที่อยู่ใกล้ชิดกัน ซึ่งมีความรักที่แท้ของแม่ ซึมซาบลงไปซึ้งอยู่ในใจของลูก สามารถชักนำบันดาลจิตใจของลูกได้ทันทีโดยไม่ต้องบรรยายหรือเรียกหา
เหมือนอย่างที่พูดว่า เสือ! ก็ไม่ต้องบรรยายว่าเสือรูปร่างเป็นอย่างไร มันมีอันตรายอย่างไร มันจะทำอะไรกับเรา ไม่ต้องไปอธิบาย พอพูดขึ้นมาคำเดียวเท่านั้น ความรู้สึกและอาการกลัวก็เกิดขึ้นทันที
พระคุณแม่ก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าได้ปลูกฝังกันมาจริงๆ พอเอ่ยถึงเท่านั้นแหละ ความซาบซึ้งเกิดขึ้นมา น้ำหูน้ำตาไหล ต้องอย่างนั้น ต้องให้มีผลออกมาจริงๆ ในชีวิตแท้ๆ ซึ่งทำได้ ถ้าเราตั้งใจทำ และที่จริงก็มีอยู่แล้ว
ที่จริง การศึกษาของสังคมไทย และตัวสังคมไทยเอง เวลานี้ทรุดมาก ก็ขอให้ถอยอย่างมีระเบียบ จะถอยไปไหน ก็ถอยกลับไปหาพระคุณแม่ ให้คุณแม่เริ่มต้นให้ใหม่ แล้วก็จะเดินหน้าได้อีก เพราะฉะนั้น คุณแม่จะต้องเป็นผู้เริ่มต้นเชิดชูการศึกษาขึ้นมาให้ได้
แม่ก็เป็นคุณครู คุณครูก็เป็นแม่ได้
ความเป็นแม่มี ๒ นัย คือ แม่โดยเป็นผู้ให้กำเนิด และแม่โดยธรรม คุณแม่นั้นตามปกติได้ครบทั้งสองนัย แต่ถึงเราจะไม่ใช่เป็นผู้ให้กำเนิด ก็เป็นแม่โดยธรรมได้ คือคุณธรรมของแม่มีในผู้ใด ผู้นั้นก็เป็นแม่ได้ ความเป็นแม่อยู่ที่จิตใจที่มีคุณธรรม มีความรักแท้จริงที่เป็นเมตตากรุณา คุณธรรมนี้เกิดขึ้นมาเมื่อไร ความเป็นแม่ก็เกิดเมื่อนั้น
คุณพ่อคุณแม่นี่ทางพระมองใน ๓ สถานะ คือ
๑. พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร มารดาบิดาเป็นพระพรหมของลูก
๒. ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร เป็นบูรพาจารย์ เป็นครูอาจารย์คนแรก
๓. อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ เป็นอาหุไนยบุคคลของลูก
อาหุไนยนี้เป็นคำเรียกพระอรหันต์ สังคมไทยเราจึงเรียกพ่อแม่ว่าเป็นพระอรหันต์ของลูก คือ เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ต่อลูก ความเป็นพระอรหันต์อยู่ที่ความบริสุทธิ์ พ่อแม่ก็บริสุทธิ์ใจต่อลูก รักลูกด้วยใจจริงและจริงใจ
คุณพ่อคุณแม่นั้นส่วนหนึ่งก็มีหน้าที่ร่วมกัน แล้วอีกส่วนหนึ่งก็มีหน้าที่ที่ชำนาญพิเศษคนละอย่าง
หน้าที่ร่วมกันนั้นแน่นอนว่า ก็คือการที่จะต้องเลี้ยงดูลูกให้เจริญเติบโตอย่างดี แต่พร้อมกันนั้นคุณพ่อจะทำหน้าที่หนักในส่วนนอกที่สัมพันธ์กับสังคม โดยเน้นในแง่ของการให้ความมั่นคงปลอดภัย คล้ายๆ ว่าแม่อยู่ใกล้ชิดคอยดูแลติดตัว แต่ก็ต้องมีผู้ที่เหมือนกับคอยปกปักรักษา ระวังภัยต่างๆ เป็นด่านรอบนอกด้วย
ในด้านการให้กำลัง สนับสนุน อุ้มชู ประคับประคอง คุ้มครอง รักษาความมั่นคงปลอดภัย แง่นี้คุณพ่อจะมาเด่น อันนี้สัมพันธ์กับสภาพสังคมของเราที่เป็นมาด้วย จะเห็นว่าพ่อเด่นด้านนี้ ถ้าพ่ออยู่ก็รู้สึกว่าปลอดภัย มีความมั่นคงมั่นใจ ส่วนแม่นี้เยือกเย็นลึกซึ้ง ให้ความรู้สึกที่หนักในด้านเมตตา มีความรักใกล้ชิดสนิทใจ
เมื่อมองในแง่ความสมดุล พ่อก็ไปช่วยในข้ออุเบกขามากหน่อย เพราะถ้าเอาแต่เมตตาแสดงความรักมากเกินไป บางทีก็เลยทำให้เด็กถูกตามใจเกินไป แล้วบางทีก็จะเอนเอียงง่ายด้วย จึงต้องมีอุเบกขาเพื่อให้รักษาความพอดีไว้ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับความเป็นจริงของธรรมชาติ และรักษากฎเกณฑ์กติกา หรือหลักการที่เรียกว่า ธรรมนั่นเอง
อุเบกขา มีไว้รักษาธรรม เมตตามีไว้รักษาคน เรารักษาคน แต่ถ้าไม่รักษาธรรมก็พลาด จะเสียความยุติธรรมระหว่างมนุษย์ ทำให้ไม่มีความเป็นธรรม และเมื่อเด็กได้รับการตามใจเกินไป พ่อแม่ทำอะไรๆ ให้หมด...ก็จะอ่อนแอ พึ่งตนเองไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น
ทีนี้พอมีตัวที่ ๔ คืออุเบกขามาช่วย ด้านความรู้สึกก็จะวางใจเป็นกลาง ที่เรียกกันมาว่า เฉย โดยไปเน้นด้าน รู้–ปัญญา คืออุเบกขานี้ด้านความรู้สึกก็วางเป็นกลาง แต่ไปเปิดทางให้ด้านรู้ คือมองว่าจะทำอย่างไรให้ถูกต้อง ให้ตรงตามความเป็นจริง เพื่อให้เกิดความถูกต้องลงตัวพอดีไว้ อุเบกขาจะได้คงอยู่ต่อไป
๓ ข้อแรก คือเมตตา กรุณา มุทิตา นั้นหนักด้านความรู้สึก ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ดี แต่คนเราจะอยู่กับความรู้สึกอย่างเดียวไม่พอ...ต้องมีความรู้ด้วย ความรู้ก็ไปรออยู่ที่ข้ออุเบกขา และอาศัยข้ออุเบกขานั้นออกมาจัดมาปรับความรู้สึกและการแสดงออกให้พอดี พูดง่ายๆ ว่าอุเบกขาเปิดโอกาสให้ปัญญาเข้ามาทำให้วางใจและทำการทั้งหลายได้พอดี
ที่พูดเน้นบ่อยๆ ได้บอกว่า ลูกมีสถานะเป็น ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน คือ
๑. เป็นบุคคลที่อยู่ในโลก หรือในสังคมมนุษย์ ในแง่นี้หรือในสถานะนี้ก็เป็นเรื่องของการมีความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ เราก็ให้สัมพันธ์กันด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา ช่วยเหลือเกื้อกูล มีความรู้สึกดีงามต่อกัน
๒. แต่พร้อมกันนั้นเด็กก็มีอีกสถานะหนึ่ง คือเป็นชีวิต ที่อยู่ในธรรมชาติและเป็นธรรมชาติ ชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจของเขา ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ร่างกายของเขารับประทานอาหารดีก็เจริญเติบโตได้ดี รับประทานอาหารไม่ดี...ก็ท้องเสีย เสียสุขภาพ อะไรต่างๆ เหล่านี้ อันนี้เป็นด้านชีวิต ซึ่งเป็นไปตามความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ
ในฐานะเป็นบุคคล เด็กจะต้องอยู่ได้กับมนุษย์ หรือกับสังคม และในฐานะเป็นชีวิต จะต้องอยู่ได้กับความเป็นจริงของธรรมชาติ
เมื่อเด็กอยู่กับธรรมชาติ คืออยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตนั้น ไม่มีใครมาทำให้เขาได้...เขาต้องรู้เข้าใจแล้วทำเองเป็น เมื่อเด็กเป็นชีวิตอยู่กับความเป็นจริงของธรรมชาตินั้น แม้แต่ร่างกายของเขาก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติหมด
สิ่งที่พ่อแม่และกัลยาณมิตรทั้งหลายจะช่วยได้ ก็คือช่วยให้เขามีความรู้ หรือพูดกว้างๆ คือ ให้มีการศึกษา แล้วเขาก็จะปฏิบัติจัดการกับด้านธรรมชาติให้เป็นผลดีได้
พ่อแม่จะต้องเอาใจใส่ด้านที่ลูกเป็นชีวิตที่อยู่กับธรรมชาตินี้ด้วย จะมัวมองในแง่เป็นบุคคลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองไว้ด้วยว่าลูกจะต้องรับผิดชอบตัวเองได้ เขาจะต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตได้ ตอนนี้เราต้องเตรียมเขาไว้
พ่อแม่จะต้องใช้ปัญญาคิดว่า เออ...ทำอย่างไรลูกของเราจะรับผิดชอบตัวเองได้ ทำอย่างไรเขาจะสนใจเรียนรู้เหตุปัจจัยต่างๆ เพื่อทำอะไรๆ ให้ถูกต้องและได้ผลดี เมื่อคิดอย่างนี้ ก็จะต้องหันมาเอาใจใส่ในการฝึกลูก
ถึงตอนนี้พ่อแม่จะไม่ใช่เพียงทำให้อย่างเดียว ถ้าพ่อแม่มีแต่เมตตา กรุณา และมุทิตา ก็จะทำให้เรื่อย เพราะอะไรๆ ก็กลัวลูกจะลำบาก แต่พอมีอุเบกขา โดยเข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ และมองลูกในฐานะเป็นชีวิตที่ต้องเป็นไปตามความเป็นจริง พ่อแม่ก็จะคิดเตรียมว่าทำอย่างไรลูกจะรับผิดชอบตัวเองได้ จะเติบโตอย่างดี ถึงแม้ว่าต่อไปเราไม่อยู่กับเขา...เขาก็จะไปได้
ตอนนี้เราก็คิดหาทางฝึกให้เขาทำเองเป็น ให้เขามีความเข้มแข็ง ให้สามารถพึ่งตนเองได้ นี่คือด้านที่อุเบกขารับหน้าที่
จึงได้บอกว่า ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา พ่อแม่ก็ทำให้ลูก แต่พออุเบกขา พ่อแม่ก็ดูให้ลูกทำ
ต้องครบทั้งสองบทบาทนี้ ความเป็นพ่อเป็นแม่จึงจะสมบูรณ์
การดูให้ลูกทำนั้น ไม่ใช่ทิ้งลูก แต่อุเบกขาเมื่อดูให้เขาทำแล้วก็เป็นที่ปรึกษาด้วย เพราะฉะนั้น อุเบกขากับเป็นที่ปรึกษาจึงมาด้วยกัน อุเบกขา แปลว่า ดูอยู่ใกล้ๆ คือคอยดูเขาทำว่า เขาทำถูกไหม ถ้าทำไม่ถูก เราก็จะได้แนะ หรือถ้าเขาทำไม่เป็น ติดขัดขึ้นมา เขาจะได้ถามเรา ปรึกษาเราได้
ถ้าพ่อแม่รู้จักใช้อุเบกขา เด็กจะเก่งมาก แต่ถ้าพ่อแม่ไม่มีข้ออุเบกขา เด็กจะอ่อนแอ เลี้ยงไม่โต และทำอะไรไม่ค่อยเป็น
พ่อแม่คนไหนรู้จักใช้อุเบกขา ลูกจะเข้มแข็ง เก่ง ทำอะไรต่ออะไรได้หมด เพราะพ่อแม่รู้จักคิดเตรียมการไว้แล้วว่า ลูกของเราจะเก่งจะต้องฝึกด้านไหนบ้าง จะต้องทำอะไรเป็นบ้าง แล้วก็หัดให้เขาทำ
แต่ถ้าอะไรๆ ก็ทำให้เขาหมด ก็เท่ากับปล่อยทิ้งไว้รอให้เขาไปฝึกเอาเองข้างหน้า ให้เขาเจอสถานการณ์บังคับที่จะต้องหาทางเอาเอง...เขาจะไม่มีที่ปรึกษา เขาอาจจะทำผิดๆ ถูกๆ พ่อแม่จะหมดโอกาสช่วยเขา และเขาก็จะฝึกล่าช้าไปหรือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
ตอนที่ลูกยังเล็กอยู่นี้ ในฐานะที่พ่อแม่เป็นผู้มีความหวังดีที่สุด เมตตาก็มาหนุนอุเบกขา ทำให้พ่อแม่มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการฝึก จึงฝึกได้ผลดีที่สุด จึงพูดว่าพ่อแม่จะเลี้ยงดูลูกได้ดีที่สุด ถ้ามีอุเบกขาไว้เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้พัฒนา
เรื่องนี้สำคัญนะ...สังคมไทยไม่ค่อยเห็นคุณค่าของ อุเบกขา ซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ทุกอย่างลงตัวพอดี
ความหมายด้านหนึ่งของอุเบกขา ก็คือ ลงตัวพอดี หมายความว่าทุกอย่างเข้าที่หมด เมื่อองค์ประกอบ หรือเหตุปัจจัยทุกอย่างประสานกลมกลืน ได้สัดส่วนพอเหมาะแล้ว...ก็ให้อุเบกขามา
เมื่อมีอุเบกขาก็คอยดูว่า ลูกเอียงไปทางโน้น หรือเอียงไปทางนี้ ขาดด้านนั้น หรือเกินด้านนู้น พอเห็นว่าเสียดุล เราก็ออกมาจัดปรับให้พอดี เรียกว่าให้ธรรมะลงตัว
ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือจะฝึกลูก ทุกอย่างต้องมีอุเบกขามาสร้างโอกาสที่จะจัดปรับให้ลงตัวพอดี ถ้าปฏิบัติธรรมได้อย่างนี้ ลูกก็จะเจริญงอกงามอย่างดี
เป็นอันว่าอุเบกขาเป็นตัวช่วยให้เด็กพัฒนา พ่อแม่อย่ามัววุ่นวายอยู่แค่ เมตตา กรุณา มุทิตา...ไม่พอ
อุเบกขาเป็นตัวเชื่อมกับปัญญา ถ้ามีแต่เมตตา กรุณา มุทิตา ก็อยู่แค่ด้านความรู้สึก แม้จะเป็นความรู้สึกที่ดี ซึ่งถ้าใช้ภาษาอังกฤษก็เรียกว่าเป็น positive emotion แต่เราจะอยู่แค่ emotion ไม่ได้ ชีวิตต้องอยู่ด้วยปัญญา ต้องมีต้องใช้ความรู้ และด้านปัญญาความรู้นี้ ก็อาศัยอุเบกขาเป็นตัวเชื่อม
เมื่อมีความรู้ มีปัญญามา อุเบกขาก็เปิดโอกาสให้เราใช้ปัญญานั้นจัดปรับทำอะไรต่างๆ อย่างถูกต้องเที่ยงตรง ให้ลงตัวพอดี ทั้งไม่ขาดไม่เกิน และไม่เอียง
เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยให้สังคมไทยของเราหย่อนในเรื่องอุเบกขา
พร้อมนั้น เมื่อคุณแม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา จนถึงอุเบกขาบริบูรณ์ พระคุณแม่ก็จะมีพลังสมบูรณ์เต็มที่ ซึ่งจะทำให้ลูกเจริญเติบโตเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ ผู้สามารถร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไปสู่ความสุขเกษมศานติ์อันสมบูรณ์
“ถ้าเชิดชูพระคุณแม่ขึ้นมาได้ สังคมไทยไม่สิ้นความหวัง” เป็นหนังสือที่เรียบเรียงจากเทปบันทึกเสียง ที่พระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) สนทนาและตอบปัญาธรรม ในโอกาสที่คณะผู้บริหาร ครู จากโรงเรียนอนุบาลหนูน้อย และโรงเรียนทอสี ถวายหนังสือ “การศึกษาฉบับง่าย” และขอคำปรึกษา เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยจัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๖
จากนั้นได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นระยะๆ เรื่อยมา แต่ภายหลังได้ขาดช่วงการพิมพ์ไป จึงมีผู้สนใจถามไถ่เป็นจำนวนมากว่าน่าจะมีการจัดพิมพ์ขึ้นมาใหม่
ดังนั้น วัดญาณเวศกวัน จึงตกลงนำทุนพิมพ์หนังสือธรรมทานที่มีอยู่มาใช้พิมพ์ในครั้งนี้ เพื่อแจกมอบในวันแม่แห่งชาติ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ ตามสมควรต่อไป
วัดญาณเวศกวัน
๑ สิงหาคม ๒๕๕๖