ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

นำเรื่อง1

ท่านสหธรรมิกทั้งหลาย
ขอเจริญพร ประธานกลุ่มปฏิบัติการเผยแพร่พุทธธรรม ท่านผู้ทรงคุณวุฒิและท่านสาธุชนผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน

อาตมภาพขออนุโมทนาด้วย ในการที่คณะผู้จัดงานครั้งนี้ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ในทางธรรมขึ้น โดยปรารภวันครบรอบอายุ ๘๒ ปี ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ท่านพุทธทาสภิกขุ การปรารภโอกาสเช่นนี้ แล้วจัดกิจกรรมที่เป็นการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาขึ้น นับว่าเป็นการทำสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล ซึ่งคงจะทำให้ท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์พอใจหรือยอมรับได้ เพราะการเผยแผ่พุทธธรรมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนนั้นเป็นงานที่ท่านเองกระทำอยู่ และส่งเสริมอยู่แล้ว และนับว่าเป็นการปฏิบัติในสิ่งที่เรียกว่าปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการปฏิบัติ

ในวันนี้ หัวข้อปาฐกถาได้ตั้งไว้ว่า "พุทธธรรมกับชีวิตในสังคมเทคโนโลยี" แต่ผู้พูดเองมานึกว่า พูดไปก็อาจจะไม่เข้ากับชื่อหัวข้อของเรื่องนี้ ก็เลยนึกว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ โดยอาจจะเปลี่ยนเป็นว่า เทคโนโลยีกับชีวิต สังคมและพุทธธรรม คือแทนที่จะเอาพุทธธรรมไว้หน้า ก็เอาเทคโนโลยีมาไว้หน้า เอาพุทธธรรมไปไว้หลัง ทั้งนี้เรื่องที่พูดจะเข้ากับหัวข้อไหนได้ดีกว่า ก็อยู่ที่ว่าเนื้อหาสาระจะเป็นอย่างไร

ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี

ยุคสมัยนี้เราพูดได้ในแง่หนึ่งว่าเป็นยุคของเทคโนโลยี ความจริงนั้นยุคนี้มีชื่อเรียกกันหลายอย่าง จะเรียกอย่างไรก็แล้วแต่จะเน้นให้อะไรเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญที่สำคัญของยุค แต่ไม่ว่าจะเรียกเป็นยุคอุตสาหกรรมก็ดี เป็นยุคอวกาศก็ดี หรือจะเป็นยุคที่กำลังมีศัพท์ขึ้นมาใหม่ว่ายุคอินฟอร์เมชั่น คือ ยุคข่าวสารข้อมูลก็ดี สิ่งที่เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญในด้านต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมดก็คือ เทคโนโลยีนั่นเอง เพราะฉะนั้น คำว่า ยุคเทคโนโลยี จึงเป็นคำหนึ่งที่ใช้ได้และครอบคลุมความหมายที่ต้องการ

เป็นอันว่า สิ่งที่แสดงถึงความเจริญ หรือเครื่องหมายแห่งความเจริญของโลกหรือของมนุษย์ ก็คือเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีมีความสำคัญ เป็นเจ้าของบทบาทที่ทำให้โลกมีความเจริญอย่างนี้ เราก็ควรจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในฐานะเป็นสิ่งที่มีอิทธิพล ซึ่งอาจจะเรียกว่า ครอบงำสังคมมนุษย์อยู่ หรือพูดในทางสุภาพหน่อยก็ว่าเป็นเครื่องส่งเสริมชีวิตและสังคมของมนุษย์ ทีนี้ การที่จะพูดถึงเทคโนโลยีก็ทำได้หลายแง่หลายประการ แต่จะพูดทั่วไปให้ครอบคลุมทุกแง่ ก็คงไม่ได้ ตอนแรกนี้จึงคิดว่า จะยกเอาเรื่องราวเหตุการณ์ที่โด่งดังในทางเทคโนโลยีขึ้นมาพูดเสียก่อน

สัญญาณเตือนภัยจากเทคโนโลยี

เหตุการณ์ทางเทคโนโลยีที่ดังมากๆ นึกไปตอนนี้ก็ยังไม่เห็นมีอะไรที่ใหญ่กว่าเหตุการณ์เมื่อสองปีมาแล้ว ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ ตอนปลายเดือนเมษายน ได้เกิดข่าวใหญ่ขึ้นมาข่าวหนึ่ง คือเรื่องโรงงานพลังนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล (Chernobyl) ในโซเวียตรัสเซียได้เกิดระเบิดขึ้น เชอร์โนบิลนี้เป็นตำบลที่อยู่ใกล้เมืองเคียฟ (Kiev) ห่างจากกรุงมอสโคว์ประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร เมื่อเกิดระเบิดขึ้นแล้ว ก็มีกัมมันตภาพรังสีแผ่กระจายออกไปทั้งในประเทศสหภาพโซเวียตเอง และมีกระแสลมพัดพาไปทางยุโรปตะวันออก ไปยังสแกนดิเนเวีย และต่อไปจนกระทั่งถึงยุโรปตะวันตก ผู้คนก็ตื่นเต้นตกใจกันมาก โดยเฉพาะคนที่รู้เรื่องดีว่ากัมมันตภาพรังสีมีอันตรายแค่ไหนเพียงไร ก็จะมีความหวั่นวิตกมากเป็นพิเศษ และคนในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นคนที่มีการศึกษาดี เมื่อมีเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นจึงได้ตื่นเต้นตกใจกันเป็นอย่างยิ่ง เขาเรียกกันว่าเป็นอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก

ถอยหลังไปก่อนหน้านั้นปีเดียว รองผู้อำนวยการสถาบันพลังงานนิวเคลียร์ที่โซเวียต ได้เขียนลงพิมพ์ในหนังสือโซเวียตไลฟ์ (Soviet Life) ว่า ก่อนสิ้นศตวรรษหน้า พลังงานทั้งหมดที่ใช้ในโลก ๒ ใน ๓ ส่วน จะมาจากโรงงานนิวเคลียร์ และเขาก็บอกว่า ในสหภาพโซเวียตได้ดำเนินการศึกษาเรื่องพลังงานนิวเคลียร์นี้อย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว ได้พิสูจน์อย่างบริบูรณ์สิ้นเชิงว่า โรงงานพลังนิวเคลียร์ไม่มีอะไรกระทบหรือมีผลเสียต่อสุขภาพของประชากร เขาพูดอย่างนี้ก่อนหน้าเกิดอุบัติเหตุปีเดียว

ใกล้กว่านั้นเข้ามาอีก ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่เพียงเดือนเดียว คือเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๙ รัฐมนตรีพลังงานของสหราชอาณาจักรอังกฤษได้บอกว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ปลอดภัยที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก

นี่ขนาดผู้รู้ ซึ่งมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีดีได้กล่าวกันอย่างนี้ ยืนยันถึงกับว่าเป็นสิ่งที่ปลอดภัยไร้โทษ แต่เมื่อเกิดเหตุนี้ขึ้นมาแล้ว คำพูด ท่าที อาการกิริยาก็เปลี่ยนไป

หัวหน้านักวิทยาศาสตร์โซเวียตที่เกิดเหตุ ได้พูดว่า ไม่มีใครในโลก ได้เคยเผชิญกับอุบัติเหตุชนิดนี้มาก่อนเลย หนังสือพิมพ์ปราฟดา (Pravda) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของโซเวียต วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ได้ลงพิมพ์ข้อความว่า อารยธรรมสมัยใหม่ช่างเสี่ยงต่อภัยทางเทคโนโลยีเสียเหลือเกิน ถ้อยคำนี้ทำให้นึกถึงคำพูดของเซอร์ยอร์จ พอร์เตอร์ (Sir George Porter) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลโนเบลทางวิทยาศาสตร์สาขาเคมี (พ.ศ. ๒๕๑๐) ท่านผู้นี้ได้บอกว่า มนุษย์ยังไม่เติบโตเพียงพอที่จะได้รับมอบความไว้วางใจให้มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ อันนี้แสดงว่า ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องพลังนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นความเจริญทางเทคโนโลยีที่สำคัญนี้ ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ในหมู่ผู้ที่มีความรู้เรื่องนี้

ทีนี้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแล้ว ทางการโซเวียตก็ต้องรีบจัดการอพยพ ผู้คนออกจากบริเวณโดยรอบในรัศมี ๑๐ กิโลเมตร จำนวน ๔๖,๐๐๐ คน (หนังสือ Funk & Wagnalls New Encyclopedia 1986, vol. 19, p. 256 ว่า เคลื่อนย้ายคนออกจากบริเวณในรัศมี ๑,๖๐๐ กิโลเมตร จำนวนประมาณ ๑๓๕,๐๐๐ คน) กัมมันตภาพรังสีได้พุ่งขึ้นไปสูงราว ๕๐๐ เมตร ซ้ำลมก็พัดพาไป กัมมันตภาพรังสีก็ตกลงมากับฝนบ้าง แพร่ไปตามสายลมบ้าง ครอบคลุมระยะทาง ๑,๕๐๐ กิโลเมตร ชาวยุโรปในเส้นทางนั้นหวาดผวากันมาก ถึงกับต้องให้เด็กเก็บตัวอยู่ในบ้าน กลัวว่าออกไปจะถูกกัมมันตภาพรังสี ชาวบ้านไม่กล้าซื้อผักผลไม้ ไม่กล้าดื่มนม ไม่กล้าลงไปว่ายน้ำ แม้แต่เสื้อผ้าก็ต้องระวังไม่ให้ฝุ่นจับ ประเทศสมาชิกประชาคมยุโรป ได้สั่งห้ามการนำเข้าสินค้าและผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์นม เนย เนื้อ และสัตว์จากยุโรปตะวันออกซึ่งรวมทั้งโซเวียตด้วย

คนตายในที่เกิดอุบัติเหตุเพียง ๒ คนเท่านั้น แต่เข้าโรงพยาบาลตอนนั้น ๙๗ คน ต่อมาตายเพิ่มเป็น ๙ และค่อยๆ ตาย ต่อมาเป็น ๒๓ แล้วก็เลย ๓๐ และความน่ากลัวก็ยังแฝงอยู่ต่อไปว่า คนจำนวนหลายแสนคนที่ได้รับรังสีจะประสบผลร้ายระยะยาว ในทางที่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพพลานามัยต่อไป เป็นเรื่องที่ยังไม่สิ้นสุด เหตุการณ์นี้สิ้นสุดไปแล้ว แต่ภัยที่เกิดขึ้นหาได้สิ้นสุดตามไปไม่

อุบัติเหตุครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ความหวังจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์แทบจะสิ้นหายไปเลย เขาเรียกกันว่าเป็นการจบสิ้นของความใฝ่ฝันที่ฝากไว้กับนิวเคลียร์ นับแต่นั้น การต่อต้านการเปิดโรงงานนิวเคลียร์ต่างๆ ก็มีมากขึ้น และการที่จะเปิดหรือสร้างโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศทั้งหลาย ต่อมาก็รู้สึกว่าแทบจะเงียบหายไปเลย

ถอยหลังไปก่อนหน้านั้น ในประเทศอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ก็ได้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งใหญ่มาแล้ว ที่เกาะทรีไมล์ (Three Mile Island) ในรัฐเพนน์ซิลเวเนีย ซึ่งทำให้คนตื่นเต้นหวาดกลัวกันมาก ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้วงการนิวเคลียร์ยอมรับกันว่า มนุษย์มีความพลั้งพลาดเผอเรอที่ยากจะหลุดพ้นอุบัติเหตุเหล่านี้ไปได้ และเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วคนก็ตระหนกตกใจตื่นเต้นตะลึง ทำอะไรกันไม่ค่อยถูก อย่างในคราวเกิดอุบัติเหตุที่เกาะทรีไมล์ ในอเมริกานั้น ประธานกรรมาธิการควบคุมนิวเคลียร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ จัดประชุมติดต่อกัน ๕ วัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ ก็ได้แต่บอกกับพรรคพวกว่า พวกเราทำงานเหมือนคนตาบอด เพราะไม่รู้ข่าว ไม่รู้ข้อมูล ทางฝ่ายรัฐเจ้าของที่เกิดเหตุก็รู้ข้อมูลคลุมเครือ ฝ่ายคณะกรรมการหรือกรรมาธิการชุดนั้นเองก็ไม่รู้เรื่อง เป็นเหมือนคนตาบอดสองคนกำลังหาทางตัดสินใจกันไปเปะๆ ปะๆ

นี้เป็นเหตุการณ์นิวเคลียร์ที่เกิดขึ้น ซึ่งยกมาพูดเพียง ๒ ครั้ง แต่ความจริง ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ได้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งสำคัญมาแล้ว ๑๔ ครั้ง มาเกิดเหตุครั้งเชอร์โนบิลนี้นับว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุด ที่ทำให้ความหวังอันรุ่งโรจน์จากพลังนิวเคลียร์ ว่าจะเป็นแหล่งใหญ่ของพลังงานให้แก่มนุษย์นั้น แทบจะปิดรายการไปเลย และถึงแม้ว่ามนุษย์จะเลิกเล่นกับมัน แต่พิษภัยที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้หยุดเลิกไปด้วย พิษภัยเหล่านี้จะก่ออันตรายแก่มนุษย์รุ่นต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน หรือไม่ใช่หลายชั่วอายุคน แต่ตลอดอายุของประเทศชาติหลายประเทศ หรืออารยธรรมทั้งหมดของมนุษย์ก็ได้

ไม่ใช่แต่เพียงแค่อุบัติเหตุ แม้จะไม่มีอุบัติเหตุ เวลาทำงานเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์นี้ จะมีสิ่งที่เรียกว่ากากหรือขยะนิวเคลียร์ (nuclear waste) ซึ่งมีอันตรายมาก จะต้องหาที่ทิ้งโดยเก็บให้มิดชิด ปัญหาในการเก็บกากนิวเคลียร์หรือขยะนิวเคลียร์นี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เช่นในอเมริกา ก็มีปัญหาว่าจะเก็บที่ไหน จะเอาไปฝังที่ไหน แม้แต่เมื่อได้ที่ฝังที่เก็บแล้ว ก็ยังมีปัญหาว่าจะขนส่งไปอย่างไร เวลาขนส่งไปบางรัฐก็จะห้ามไม่ให้รถที่ขนขยะนิวเคลียร์นี้ผ่าน เพราะกลัวว่าอาจจะพลาดพลั้งรถเกิดอุบัติเหตุก็จะเป็นอันตราย จึงเกิดเรื่องเป็นปัญหากันยุ่งยากมาก

ขยะนิวเคลียร์นี้มีอายุยืนนาน และจะเป็นพิษภัยตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ธาตุพลูโตเนียม (Plutonium) ซึ่งเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่ใช้ในการทำพลังงานนิวเคลียร์นี้ เป็นธาตุซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีเป็นพิษร้ายแรงมาก มีอายุยืนที่สุด ถ้าเอากากนิวเคลียร์ของธาตุพลูโตเนียมนี้ไปฝังไว้ จะต้องใช้เวลาถึง ๕ แสนปีจึงจะหมดพิษ

ที่อังกฤษมีโรงงานพลังนิวเคลียร์ที่วินด์สเคล (Windscale) ซึ่งเป็นที่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ร้ายแรงครั้งแรกของโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ (ค.ศ. ๑๙๕๗) โรงงานแห่งนี้ได้ปล่อยพลูโตเนียมลงทะเลมาตามลำดับ เดี๋ยวนี้มีอยู่ใต้ท้องทะเลในไอร์แลนด์ทั้งหมดประมาณ ๑ ใน ๔ ตัน ซึ่งจะมีกัมมันตภาพรังสีอยู่ต่อไปประมาณ ๒ แสน ๕ หมื่นปี หลังจากนั้น กัมมันตภาพรังสีจึงจะลดลงไปเหลือน้อย จนกระทั่งในราว ๕ แสนปีจึงจะหมด อันนี้ก็เป็นภัยอันตรายอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงที่เชอร์โนบิลนี้แล้ว ก็ได้ทำให้คนเกิดความสนใจ มีการตื่นตัวกันมากขึ้น ตระหนักถึงภัยจากเทคโนโลยีขึ้นมาจริงจัง

ขอยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง ถอยหลังไปประมาณสักยี่สิบกว่าปี เป็นเรื่องที่เบาๆ ถึงแม้จะเป็นอันตรายแต่ก็สงบเงียบหน่อย ตอนนั้นวงการแพทย์ได้ชื่นชมกับยากล่อมประสาทใหม่ชนิดหนึ่งมีชื่อว่า ทาลิโดไมด์ (Thalidomide) ได้มีการพิสูจน์ทดลองกันเป็นอย่างมาก แล้วก็มีความแน่ใจ ประกาศออกมาว่าเป็นยาที่ปลอดภัย ถึงกับใช้คำว่าปลอดภัยเป็นพิเศษ และเพราะเหตุที่ว่าปลอดภัยเป็นพิเศษจากการพิสูจน์ทดลองกันแล้วนี้ ก็ทำให้แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปเปิดให้ประชาชนซื้อหายาทาลิโดไมด์ โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์

ตามปกติในประเทศทางยุโรปอเมริกานั้น การซื้อยาหายา มีการควบคุมเข้มงวดมาก ถ้าจะซื้อยาที่ต้องระวังอันตรายจะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ แต่ยาทาลิโดไมด์นี้แพทย์มีความมั่นใจถึงกับว่าไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ก็ได้

ยาทาลิโดไมด์นี้รักษาอาการกลุ้มหรืออาการทางประสาท เช่น ปวดศีรษะ ที่เรียกว่าไมเกรน หรือนอนไม่หลับ เป็นต้น ทำให้สงบสบาย ก็ขายกันมานานประมาณ ๕ ปี จาก พ.ศ. ๒๕๐๐ ถึง ๒๕๐๔ จึงได้พบว่า ผู้หญิงมีครรภ์กินยานี้แล้วคลอดลูกออกมา แขนด้วน ขากุด และมีลักษณะผิดประหลาดไม่สมประกอบ พิกลพิการต่างๆ เป็นอันมาก เป็นไปต่างๆ นานา ทำให้เกิดความตระหนกตกใจ จึงสอบสวนกันดูก็ปรากฏว่า ยานี้ทำให้มีปัญหาแก่หญิงมีครรภ์ และแก่เด็กที่อยู่ในครรภ์นั้น ก็เลยต้องงด ถอนยานี้ออกจากตลาด เลิกขายกัน แต่ก่อนจะยกเลิกยานี้ก็ปรากฏว่า มีเด็กแขนกุด ขาด้วนมาแล้วทั้งหมด ๘,๐๐๐ กว่าราย เป็นกรณีที่เกิดในประเทศอังกฤษประเทศเดียว ประมาณ ๔๐๐ ราย

เด็กพิกลพิการ ๘,๐๐๐ รายนี้อาจจะเป็นประเภทที่สำรวจได้ง่ายในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนในประเทศที่ยังด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา การสำรวจอาจจะไม่ทั่วถึงก็ได้ จึงเป็นไปได้ว่าความจริงอาจจะมีมากกว่านี้ หรือในอีกแง่หนึ่งก็เป็นไปได้ว่า ในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย อาจจะไม่ค่อยมีคนได้ประสบเหตุนี้มากมายนัก เพราะว่าโรคอย่างที่ว่านี้ เช่น โรคกลุ้ม กังวล นอนไม่หลับ มักจะเป็นโรคของประเทศที่เจริญหรือประเทศพัฒนา ประเทศที่ด้อยพัฒนาไม่ค่อยเป็น คนในประเทศด้อยพัฒนาก็เลยอาจจะไม่ค่อยได้ใช้ยานี้ ก็เป็นความอุ่นใจอย่างหนึ่ง

เทคโนโลยี : ผู้นำความหวังอันอัศจรรย์

ที่ว่ามานี้เป็นตัวอย่างของปัญหาที่พ่วงมากับความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ผู้ที่ได้ฟังบางท่านก็อาจจะบอกว่า อาตมานี้พูดมาเสียยืดยาว แต่รู้สึกว่าจะมองเทคโนโลยีในแง่ร้ายสักหน่อย ความจริงเทคโนโลยีก็มีส่วนดีมากมาย ทำไมไม่พูด ฉะนั้น ในเมื่อพูดในแง่ร้ายมาสองเรื่อง ก็ควรจะต้องหยุดแง่ร้ายไว้บ้าง

ก็ยอมรับว่าเทคโนโลยีนี้มีประโยชน์ มีความดีมากมายเหลือเกิน อย่างที่เรามานั่งร่วมกิจกรรมกันสะดวกสบายอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็เป็นเรื่องของการอาศัยเทคโนโลยีทั้งสิ้น ผู้พูดก็อาศัยไมโครโฟน มีเครื่องขยายเสียง ผู้ฟังก็นั่งอยู่ในห้องประชุมที่แสนสบาย มีเครื่องปรับอากาศให้มีความเย็น และมีระบบแสง ระบบเสียงที่ดี อะไรต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่แสดงถึงคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีทั้งนั้น และดังที่กล่าวแล้วว่า เทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องหมายของความเจริญของยุคปัจจุบัน

ความเจริญของยุคปัจจุบันนั้นมีมากมายเพียงไร ไม่จำเป็นจะต้องพรรณนากันยืดยาว แต่เขามักจะมองไปที่อนาคตว่า ต่อไปโลกของเรานี้จะมีเทคโนโลยีที่เจริญขึ้น แล้วก็จะมีความสะดวกสบาย มีความสมบูรณ์พูนสุขมากขึ้นอย่างไร ความฝันในทางเทคโนโลยีเหล่านี้ก็อิงอาศัยพัฒนาการด้านต่างๆ ของเทคโนโลยี โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ สาขาของเทคโนโลยีที่กำลังเจริญขึ้นใหม่นำหน้าก็มีสองสายที่สำคัญมาก คือ เทคโนโลยีทางชีววิทยา ที่เรียกว่า ไบโอเทคโนโลยี (biotechnology) และไมโครอีเลคโทรนิคส์ (micro-electronics) อย่างพวกคอมพิวเตอร์ก็จัดอยู่ในประเภทหลังนี้ สองด้านนี้กำลังเป็นความหวังใหม่ของมนุษย์ที่ว่าจะเจริญพรั่งพร้อมบริบูรณ์อย่างไร

ในด้าน ไบโอเทคโนโลยี นั้น เราจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับความเจริญที่เรียกว่า พันธุวิศวกรรม หรือ เยนเนติค เอนจิเนียร์ริ่ง (genetic engineering) ซึ่งกำลังเจริญมากขึ้น และมีความหวังกันว่าความเจริญในด้านนี้จะแก้ปัญหาให้โลกมนุษย์ได้มากมายหลายอย่าง เช่น ในเรื่องอาหาร จะไม่มีความขาดแคลนในโลกนี้อีกต่อไป เพราะว่าด้วยพันธุวิศวกรรมศาสตร์นี้ ก็จะทำให้คนเราสามารถเพาะพืชพันธุ์ธัญญาหารแบบใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นพืชพันธุ์ธัญญาหารชนิดพิเศษที่เราแน่ใจได้ว่า จะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เช่นว่า ที่ไหนแห้งแล้ง เราก็เพาะพืชชนิดที่เติบโตได้ในที่แห้งแล้งนั้นขึ้นมา ถ้าดินเค็มเราก็เพาะพืชชนิดที่เจริญเติบโตงอกงามในที่ดินเค็มนั้นขึ้นมาได้ และนอกจากจะมีความทนทานสูง สามารถงอกงามในที่แห้งแล้งหรือในดินและสภาพแวดล้อมที่ไม่เกื้อกูลได้แล้ว ก็ยังได้ผลผลิตมาก อีกทั้งเป็นพืชที่สามารถกำจัดโรคพืชได้เอง ต้านทานศัตรูพืชได้ สร้างปุ๋ยขึ้นมาได้ในตัวของมันเอง

ในด้านพลังงาน เรากำลังมีปัญหา พลังงานจะขาดแคลน แหล่งพลังงานบางอย่างเช่นน้ำมันจะหมดไปจากโลก พลังงานนิวเคลียร์ก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่ามีปัญหา พลาดพลั้งขึ้นมาก็เกิดภัยอันตรายร้ายแรง ต่อไปพันธุวิศวกรรมนี้ก็อาจจะสร้างแบคทีเรียขึ้นมาชนิดหนึ่ง เป็นแบคทีเรียที่มีความสามารถเปลี่ยนแสงแดดเป็นพลังงาน โดยไม่ต้องใช้วิธีการแบบที่กำลังทำกันอยู่ แต่เป็นการก้าวไปสู่วิธีการทางชีววิทยา ใช้แบคทีเรียที่สร้างขึ้นใหม่มาผลิตพลังงาน แล้วก็จะหมดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพลังงานกันเสียที

นอกจากนั้น ยังฝันใฝ่กันต่อไปว่าจะสร้างเมืองขึ้นในอวกาศ เมืองในอวกาศนี้จะสร้างบรรยากาศสภาพแวดล้อมได้ตามต้องการ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ถ้ามีสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่น่าพอใจ ก็กำจัดดัดแปลงแก้ไขได้ ทำการผลิตสิ่งต่างๆ ในอวกาศได้โดยสะดวกและได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะการผลิตในอวกาศนี้จะไม่ถูกขัดขวางจากแรงดึงดูดของโลก ไม่มีความจำกัดของสถานที่ และสามารถทำอุณหภูมิให้สูงต่ำได้ตามความต้องการ

ในทะเลก็จะสร้างเมืองลอยน้ำขึ้นมา มีโรงงานลอยน้ำ ผลิตอาหารและยาจากสารในทะเล ตลอดจนสร้างเชื้อเพลิงอย่างใหม่ขึ้นมา เป็นอันว่าจะไม่มีทางขาดแคลนอาหารและพลังงาน

แม้แต่จะสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ขึ้นมา ก็ทำได้ ให้เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษที่มีความเฉลียวฉลาด เรียกว่าเป็นซูเปอร์เรซ (superrace) ในการสงครามก็อาจจะสร้างพันธุ์มนุษย์ขึ้นมาชนิดหนึ่ง ให้มีคุณสมบัติพิเศษสำหรับทำหน้าที่เป็นทหารโดยเฉพาะ

ในทางการแพทย์ก็จะมีธนาคารอวัยวะต่างๆ เป็นธนาคารตับ ธนาคารไต ธนาคารปอด ฯลฯ เป็นอะไหล่ไว้สำหรับกรณีที่เกิดปัญหาจะต้องเปลี่ยน เมื่อใครมีโรคภัยไข้เจ็บ หรือประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับอวัยวะเหล่านี้ ก็ผ่าตัดเปลี่ยนใหม่ได้ ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นความเจริญที่น่าฝันใฝ่เป็นอย่างมาก

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญ ก็คือด้านคอมพิวเตอร์ ต่อไปคอมพิวเตอร์ก็จะมีใช้กันแพร่หลายมาก อย่างที่ฝรั่งบอกว่า ทุกบ้านจะต้องมีคอมพิวเตอร์เหมือนกับมีห้องส้วม หมายความว่า บ้านหนึ่งๆ มีห้องส้วมฉันใด ก็ต้องมีคอมพิวเตอร์ฉันนั้น อันนี้คงจะหมายถึงบ้านในประเทศอเมริกา สำหรับบ้านในประเทศไทยก็คงจะอีกนาน

การสื่อสารคมนาคมก็จะสะดวกมาก เราจะทำงานอยู่กับบ้านก็ได้ เพราะมีเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ก็ต่อกับสายโทรศัพท์แล้วทำงาน สั่งงานและส่งงานกันทางคอมพิวเตอร์ จะเรียนหนังสือก็เรียนที่บ้านได้ และก็จะมีคอมพิวเตอร์ชนิดที่พิเศษขึ้นไปอีก ทำงานมีประสิทธิภาพสูงอย่างยิ่ง เขาเรียกว่า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (supercomputer)

พร้อมกันนั้น อีกด้านหนึ่งก็จะมีคอมพิวเตอร์รุ่นต่อไปที่เรียกว่าเป็นคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๕ (fifth-generation computer) ซึ่งมีสมองเทียม มีสติปัญญาคล้ายมนุษย์ ที่เขาเรียกว่า artificial intelligence ซึ่งบางคนแปลว่า ปัญญาประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์ชนิดนี้ สามารถรู้กลิ่นได้ อ่านหนังสือได้ ฟังคนพูดได้ และก็พูดได้อย่างคน ตลอดจนสามารถคิดเหตุผลได้ สามารถพิจารณาตัดสินปัญหาต่างๆ ได้ด้วย

ในการสื่อสาร ระบบโทรคมนาคมจะก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง เดี๋ยวนี้ดาวเทียมก็เชื่อมแทบทุกส่วนของโลกให้ถึงกันแล้ว ติดต่อกันได้ทันที โทรทัศน์และโทรศัพท์ที่มีอยู่แล้ว ก็พัฒนาให้ประณีตลึกล้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีเครื่องโทรสาร คนอยู่กันคนละทวีปก็ติดต่อกันได้ง่าย จะทำหนังสือสัญญาตกลงกันก็ใช้โทรสารเซ็นสัญญากันได้ ณ ที่ทำงาน ที่นั่น เดี๋ยวนั้น ไม่ต้องเสียเงินค่าเครื่องบินและเสียเวลาเดินทางไป

แม้แต่สายโทรศัพท์ โทรทัศน์ และการติดต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ ที่เคยต้องใช้สายลวดทองแดง ก็จะเปลี่ยนไปใช้เส้นใยนำแสงที่เรียกว่า อ๊อฟติคัลไฟเบอร์ (optical fiber) ซึ่งราคาถูกและเบามาก แต่นำข่าวสารได้ดีกว่า มากกว่า และแม้แต่จะมีฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า ก็จะไม่เข้าไปรบกวนระบบการสื่อสารนั้น

นอกจากนั้นก็มีเครื่องเลเซอร์ (laser) ซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ แล้วก็เจริญพัฒนาขึ้นมาเรื่อย นำมาใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางขึ้น ในการสื่อสารบ้าง การแพทย์บ้าง เช่น ในการแพทย์ก็ใช้ทำการผ่าตัดได้ละเอียดลออ สามารถผ่าตัดโดยไม่ต้องเสียเลือด หรือผ่าตัดสิ่งเล็กๆ ละเอียดอ่อน เช่น นัยน์ตา ในการอุตสาหกรรมก็นำเอาเครื่องเลเซอร์มาใช้ได้มาก

ยิ่งเอาเทคโนโลยีในแขนงต่างๆ ที่เจริญมากเหล่านี้ มาประสานกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้ามากมายยิ่งขึ้น เช่น ต่อไปนี้คนเรานั่งอยู่บ้านก็สามารถผลิตสินค้าที่โรงงานได้เอง เขาเรียกว่าเป็นระบบการผลิตโดยลูกค้า (custom production) ยกตัวอย่างว่า เราต้องการจะตัดเสื้อสักตัวหนึ่ง ก็อยู่ที่บ้านนั่นแหละ ต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านเข้ากับโทรศัพท์ แล้วก็ป้อนข้อมูล คือสเปค (spec หรือ specification) แบบของเสื้อที่เราต้องการสำหรับตัวเราเข้าไป เสร็จแล้วทางปลายสายอีกด้านหนึ่งที่โรงงาน เครื่องคอมพิวเตอร์ทางด้านนั้นก็สั่งปืนเลเซอร์ที่ต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น ตัดเสื้อให้ตามสเปคหรือตามแบบที่ต้องการของลูกค้า ทั้งที่ผลิตทีละหน่วย แต่ก็ผลิตได้รวดเร็วมาก ในยุคอุตสาหกรรมปัจจุบันนี้ที่ผลิตเสื้อผ้ากันทีละเป็นจำนวนมากๆ ก็ยังช้ากว่าทำทีละหน่วยด้วยเครื่องเลเซอร์ชนิดนี้

แม้แต่รถยนต์ก็เหมือนกัน เขาคาดหมายว่า ต่อไปลูกค้าจะสามารถผลิตรถยนต์ได้เองด้วยวิธีคล้ายๆ กันนี้ คือนั่งอยู่ที่บ้านแล้วป้อนสเปคที่ต้องการของรถยนต์ที่ตัวจะใช้เข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วที่ปลายด้านโน้น เครื่องคอมพิวเตอร์ที่โรงงานก็จะดำเนินการสร้างรถยนต์ให้ตามที่เราต้องการ

นี้ก็เป็นเรื่องของความเจริญในทางเทคโนโลยีมากมายหลายประการด้วยกัน ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงการเทคโนโลยีอาจจะพูดได้มากมายกว่านี้ และที่พูดมานี้หลายอย่างก็เป็นจริงแล้ว หลายอย่างกำลังจะเป็นจริง บางอย่างก็จะเป็นจริงต่อไป แต่จะสำเร็จจริงหรือไม่ ยังไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไร สิ่งสำคัญที่จะต้องเน้นในที่นี้ซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่าตัวเทคโนโลยีเอง ก็คือ ท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยี

ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของวิทยาศาสตร์

การที่คนเราพูดถึงแต่ส่วนที่ดี ด้านดีที่เป็นคุณประโยชน์และความหวังต่างๆ ที่เทคโนโลยีจะสนองความต้องการให้นั้น พูดไปด้านเดียวอาจจะเป็นการกล่อมให้เกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหล หมกมุ่น มัวเมา และอยู่กันด้วยความฝัน เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยีให้ถูกต้อง

ท่าทีอย่างที่หนึ่งก็คือ การมองและรู้จักมันตามเป็นจริง ซึ่งก็เป็นหลักการของธรรม หรือพุทธธรรม เพราะฉะนั้น ในเรื่องเทคโนโลยีนี้ ท่าทีอย่างแรกที่เราจะต้องทำให้ถูกต้องคือ จะต้องมองดูให้รู้จักมันตามความเป็นจริง มองดูรู้จักมันตามเป็นจริง ก็เพื่อให้ครบถ้วนรอบด้าน แล้วก็จะได้ไปคุมไปคานกับความเคลิบเคลิ้ม หลงใหล ความฝันเฟื่อง ที่ได้เล่ามาแล้วนั้น

การที่จะมองดูรู้จักตามเป็นจริงได้ก็ต้องดูทั้งคุณและโทษ คือ จะศึกษาเรื่องใดก็ต้องมองให้เห็นคุณและโทษ มองเห็นขอบเขตและขีดจำกัดว่ามันทำอะไรได้แค่ไหน ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ นอกจากผลดีแล้ว ในด้านเสียจะมีผลร้าย หรือจุดอ่อน ข้อบกพร่องอะไรบ้าง ไม่ใช่มองไปเห็นแต่คุณแล้วก็ฝันว่าเทคโนโลยีนั้นทำให้ได้ทุกอย่าง ดีเลิศทุกประการ เมื่อเห็นขอบเขตของมันแล้วก็โยงว่าเทคโนโลยีนี้มีความสัมพันธ์กับด้านอื่นๆ ของชีวิตมนุษย์อย่างไร โยงให้เห็นกันตลอดทุกระบบตลอดสาย แล้วต่อจากนั้นก็มองให้เห็น ฟัง และรู้ให้ทันว่า ในวงการเทคโนโลยีเองเขามีปัญหาอะไรกันบ้าง มีความวิตกกังวลอะไร และแนวโน้มต่อไปจะเป็นอย่างไร มองกันให้รอบด้าน ทั่วตลอดทุกอย่าง ซึ่งจะเป็นการมองตามความเป็นจริง ไม่ใช่อยู่ด้วยความฝัน

ท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็จัดเข้าในเรื่องของการมองดูรู้จักตามเป็นจริงด้วย ก็คือ เราเข้าใจกันว่าเทคโนโลยีคืออะไร เกิดขึ้นมาอย่างไร เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหลายนี้ ล้วนแต่เป็นการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ประโยชน์ สนองความต้องการของมนุษย์ทั้งสิ้น

วิทยาศาสตร์คืออะไร วิทยาศาสตร์ก็คือความรู้ในธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในตัวธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแล้ว เราก็สามารถเอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ เอามาจัดสรรกระบวนการ ปรุงแต่งเหตุปัจจัย ทำการประดิษฐ์สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ นำมาใช้ประโยชน์สนองความต้องการของเราได้ การนำเอาความรู้ในวิทยาศาสตร์มาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ สนองความต้องการของเราได้นั้นเป็นเทคโนโลยี ตัวความรู้เองเป็นวิทยาศาสตร์ ส่วนการนำความรู้นั้นมาใช้สร้างสรรค์สนองความต้องการเป็นเทคโนโลยี ดังนั้น เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีก็จะต้องพูดโยงไปถึงวิทยาศาสตร์ด้วย เทคโนโลยีจะเจริญไปได้เพียงไร ก็อยู่ในขอบเขตแห่งความเจริญของวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เจริญไปได้มาก ก็สามารถผลักดันความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขึ้นไปได้มาก

ทีนี้ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นั้นมีมากเท่าใด ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันนี้ พูดได้ว่าเป็นความรู้เพียงบางด้านบางส่วนของธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติ ซึ่งยังจะต้องศึกษากันต่อไป เพราะว่ายังรู้ไม่จบสิ้น รู้เท่าไรก็นำมาใช้เท่าที่ใช้ได้ เอามาใช้ประโยชน์สร้างเทคโนโลยีกันไป ก็เจริญต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ

ความรู้ทางวิทยาศาตร์ที่เจริญขึ้นมาและรู้เพียงบางแง่บางส่วนนั้น เช่น สมัยหนึ่งว่าอย่างนี้ถูกต้อง ต่อมาอีกสมัยหนึ่งก็พบว่า อ้าว! ไม่ถูกเสียแล้ว ที่สมัยหนึ่งว่าอย่างนี้เป็นจริง ต่อมากลายเป็นเท็จ เรื่องเช่นนี้ปรากฏอยู่เสมอในวงการวิทยาศาสตร์ เช่น ในสมัยโบราณทีเดียว เมื่อวิทยาศาสตร์เริ่มเจริญ มีการค้นพบอะตอม (atom) หรือปรมาณู ตอนนั้นถือว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ แล้วก็เข้าใจว่าอะตอมนี้เป็นสิ่งที่เล็กที่สุด เป็นหน่วยย่อยสุดท้าย เป็นสิ่งที่แบ่งแยกออกไปอีกไม่ได้ จึงตั้งชื่อว่า อะตอม

คำว่าอะตอมนั้นเอง ก็แปลว่า สิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ แต่ต่อมาอีกนานก็มีผู้ค้นพบเปิดเผยออกมา ที่ว่าปรมาณูแบ่งแยกไม่ได้ เป็นต้นเดิมของสิ่งทั้งหลายในทางวัตถุนั้น มันไม่เป็นจริงเสียแล้ว อะตอมเป็นสิ่งที่แบ่งแยกได้ อะตอมหรือปรมาณูนั้นเกิดจากอนุภาคเล็กลงไป มีนิวตรอน โปรตอน อิเลคตรอนประกอบกันขึ้น อะไรทำนองนี้ ก็กลายเป็นว่า ความรู้เก่าที่ว่ากันมาผิดเสียแล้ว คำว่าอะตอมก็ใช้ไปแล้ว ทำไงได้ จะเปลี่ยนเดี๋ยวก็จะแปลกเกินไป ก็ใช้กันไปสักแต่ว่าเป็นชื่อ ที่จริงความหมายไม่ตรงแล้ว อะตอมแปลว่าแบ่งแยกไม่ได้ (indivisible) แต่ที่จริงมันแบ่งแยกได้ ก็ใช้อย่างรู้กัน ชื่อนั้นก็เป็นเพียงคำเรียกไปอย่างนั้นเอง

สมัยหนึ่ง นิวตัน (Sir Isaac Newton) ได้ค้นพบเรื่องแรงดึงดูดของโลก ที่เรียกว่า กฎความโน้มถ่วง (the law of gravitation) ก็ว่าเป็นความเจริญทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก แต่ต่อมาไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ (the theory of relativity) ขึ้นมา ก็บอกว่า ที่นิวตันว่าเป็นเรื่องแรงดึงดูดของโลกนั้นไม่ใช่ ไม่เป็นความจริง กฎไม่เป็นกฎเสียแล้ว สมัยหนึ่งบอกว่าแสงเดินทางเป็นเส้นตรง ต่อมาตอนหลังเจริญขึ้นไปอีก วิทยาศาสตร์ค้นพบบอกว่า แสงไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงหรอก แสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง ก็เป็นอันว่าค่อยๆ ค้นพบกันไป

วิทยาศาสตร์นี้เจริญมาก็อย่างที่ว่า คือรู้จักความจริงในบางแง่บางส่วน แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้เท่าที่ค้นพบมาได้นี้ ก็นำมาใช้ประโยชน์ได้ในระดับหนึ่ง อย่างเรื่องความรู้เกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลกก็ดี เรื่องแสงเดินทางเป็นเส้นตรงก็ดี ก็นำมาใช้ในทางเทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ได้เป็นประโยชน์มาก พอแก่ความต้องการทีเดียว พอใช้สำหรับมนุษย์ทั้งหลาย แม้แต่จะไม่รู้ความจริงที่เกินกว่านั้น มันก็ใช้ประโยชน์ได้อยู่แล้ว

ฉะนั้น ในแง่เทคโนโลยีนี้ บางทีแม้แต่เมื่อวิทยาศาสตร์รู้เลยไปแล้ว ก็ยังไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถึงขั้นนั้น เอาความรู้เก่าๆ มาก็ใช้ประโยชน์ได้ ทีนี้ที่ว่ามันเป็นปัญหาก็อยู่ตรงนี้ คือการที่รู้ความจริงไม่ทั่วตลอดนี้แหละ เมื่อนำความรู้นั้นมาใช้ แม้จะเป็นประโยชน์ในด้านนั้น แต่ต่อมาก็ปรากฏว่ามันเกิดเป็นปัญหาด้านอื่นขึ้นโดยไม่รู้ตัว

อีกอย่างหนึ่ง แม้เราจะรู้ความจริงหลายด้าน แต่เราก็รู้แยกไปในแต่ละด้านๆ ด้านนั้นเราก็รู้ ด้านนี้เราก็รู้ แต่ความรู้นั้นไม่เชื่อมโยงถึงกัน เมื่อไม่เชื่อมโยงถึงกัน ในเวลาที่สร้างสรรค์ใช้เทคโนโลยี การที่ไม่สามารถเชื่อมโยงประสานความรู้ต่างด้านเข้ามา ก็ทำให้เกิดปัญหาอีก กล่าวคือ บางทีมุ่งให้ได้ประโยชน์ด้านหนึ่ง หรือใช้ความรู้เพียงด้านหนึ่งทำเทคโนโลยีขึ้นมาแล้ว ต่อมามันกลับเป็นปัญหาขึ้นมาในด้านอื่น หรือแม้แต่รู้แล้วไม่ทันนึกก็มี คือ ไม่ทันนึกที่จะเอาความรู้มาเชื่อมโยงกัน ดังตัวอย่างเมื่อกี้กรณียาทาลิโดไมด์ ที่ว่าได้พิสูจน์ทดลองกันแล้วไม่มีปัญหา ไม่เป็นพิษภัย แต่ต่อมากลายเป็นพิษภัยขึ้นมา ก็เพราะเป็นความรู้ที่นึกไม่ทั่วถึง เชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ ไม่ตลอดถึงกัน ก็เกิดปัญหาขึ้นมา

ฉะนั้น ปัญหาจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีก็จะมาในสภาพนี้อยู่เรื่อยไป กรณีอื่นๆ ก็มีอยู่มากมาย ถ้าเป็นเรื่องที่ปัญหาเกิดขึ้นมาไว ก็ดีไป ถึงแม้จะร้ายแรงก็มีโอกาสแก้ปัญหากันได้แต่เนิ่นๆ แต่บางเรื่องนั้นกว่าปัญหาจะปรากฏ กินเวลากว่าศตวรรษก็มีและกว่าจะเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาให้รู้ตัวกัน คนเราก็แทบจะแย่แล้ว

ขอยกตัวอย่างเรื่องที่เรารู้ๆ และใช้ประโยชน์กันอยู่นี้ ก็คือพวกเชื้อเพลิงทั้งหลายที่เป็นแหล่งของพลังงานต่างๆ ที่สำคัญในปัจจุบันนี้ ได้แก่ พวกน้ำมัน ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ ซึ่งรวมกันเรียกว่าเป็น ฟอลซิล ฟูเอล (fossil fuel) พลังงานเหล่านี้เราได้ใช้กันมาในกิจการอุตสาหกรรมทำโรงงานต่างๆ แม้แต่รถยนต์ เครื่องบิน และเรือทั้งหลายก็อาศัยพลังงานเหล่านี้ เราได้รับคุณประโยชน์มามากมาย แต่ในระหว่างนั้นเราก็เผาผลาญมันไป ไอเสียจากรถรา และควันจากโรงงานก็ลอยขึ้นไป ออกเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (carbon dioxide) ทีนี้เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำให้เกิดขึ้นมานี้จะมีผลอย่างไร

ต่อมาหลังจากใช้กันเพลินมานาน คงจะเป็นศตวรรษแล้วจึงได้มาค้นพบกันขึ้นว่า บัดนี้ เจ้าคาร์บอนไดอ๊อกไซด์นั้นได้สะสมมากขึ้นๆ ในบรรยากาศของโลก ทำให้บรรยากาศเหนือผิวโลกร้อนยิ่งขึ้น เมื่ออุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น ก็ทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวน เช่น ระบบการไหลเวียนของลมผิดเพี้ยน การตกของฝนตลอดจนฤดูกาลก็อาจจะเปลี่ยนไป

ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือมันทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การที่น้ำทะเลสูงขึ้นก็เพราะว่าความร้อนนี้เองที่เพิ่มขึ้นบนผิวโลก ทำให้น้ำทะเลพองตัวหรือขยายตัว เมื่อน้ำขยายตัวระดับน้ำก็สูงขึ้น และอีกประการหนึ่ง เมื่อบรรยากาศเหนือผิวโลกร้อนขึ้น ก็ทำให้ภูเขาน้ำแข็งและผิวน้ำแข็งที่เปลือกขั้วโลกละลาย เมื่อละลายออกมาแล้วน้ำก็ไหลลงมา ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น ตอนนี้ก็มีความกลัวกันว่า ทุกวันนี้น้ำทะเลได้สูงขึ้นปีละ ๑ มิลลิเมตร ทีนี้ ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นถึง ๑ องศาเซลเซียส น้ำทะเลจะสูงขึ้นราว ๒ ฟุต ก็อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมโลกอีก

อีกตัวอย่างหนึ่งใกล้ๆ กันนั้น ยกเอามาดูเพื่อช่วยให้เห็นชัดขึ้น มีสารเคมีชนิดหนึ่ง เรียกว่า โคลโรฟลูโอโรคาร์บอน (chlorofluorocarbon) สารชนิดนี้เริ่มใช้กันหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เอง โดยได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นสารที่ไม่มีภัยไม่มีอันตรายเลย จึงเอามาใช้กันมากในตู้เย็น ในเครื่องปรับอากาศ และในกระป๋องสเปรย์ที่ฉีดทำให้อากาศหอมอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ใช้กันมานาน จนกระทั่งบัดนี้ สารชนิดนี้ ซึ่งเรียกชื่อย่อๆ ว่า ซีเอฟซี (CFC) นั้น ได้ขึ้นไปอยู่ในบรรยากาศของโลกเกิน ๑๐ ตันแล้ว

ทีนี้ สารที่ว่าไม่มีพิษภัยอันตรายเลยนี้ โดยที่มนุษย์ไม่รู้ตัวมันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา คือว่ามันได้ไปทำลายโอโซน (ozone) โดยไปทำปฏิกิริยากับแสงอุลตราไวโอเลต (ultraviolet) แล้วกลายเป็นคลอรีน (chlorine) ออกมา คลอรีนนี้ออกมาแล้วก็ไปทำให้โอโซนกลายเป็นออกซิเจน (oxygen) เมื่อโอโซนกลายเป็นออกซิเจนแล้ว ผิวระดับบรรยากาศที่เรียกว่า ชั้นโอโซน (ozone layer) ก็บางลงไป เกิดเป็นรูโหว่ที่เขาเรียกว่า ozone hole ขึ้นในชั้นโอโซนนั้น และตามรายงานของคณะนักวิทยาศาสตร์ ที่ไปสำรวจความเป็นไปในบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctica) ปรากฏว่ารูโหว่นั้นก็กำลังขยายกว้างออกไปๆ

โอโซนนี้ช่วยกรองไม่ให้แสงอุตราไวโอเลตลงมาที่ผิวโลกมากเกินไป เมื่อชั้นโอโซนที่เป็นตัวกันนี้มันบางลดน้อยลงไป มีช่องโหว่กว้างขึ้นแล้ว แสงอุลตราไวโอเลตผ่านลงมาได้มาก ก็จะเป็นอันตรายแก่ชีวิตในโลก เช่น ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังแก่มนุษย์ และจะลงไปทำอันตรายแก่ชีวิตเล็กๆ บนผิวโลก ในทะเล เมื่อชีวิตเหล่านั้นถูกทำลาย ตายไป ชีวิตใหญ่ๆ ที่อาศัยชีวิตเล็กๆ นั้นก็จะพลอยพินาศตามไป ตามหลักของความอิงอาศัย กันในระบบนิเวศ (ecosystems) ของโลก ระบบนิเวศก็จะเสื่อมเสียไป และอันตรายก็จะมาถึงมนุษย์ในที่สุด2

ปัจจุบันนี้ ปัญหาสภาพแวดล้อมเสียกำลังเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายพากันวิตกกังวลและเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ เป็นปัญหาร้ายแรงขั้นความเป็นความตายของมนุษย์ หรือความพินาศของมนุษยชาติ ที่กำลังโดดเด่นขึ้นมาล้ำหน้าปัญหาภัยนิวเคลียร์ ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏถี่ขึ้นอย่างมาก3 ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของการที่มนุษย์จะก่อภัยอันตรายขึ้นมาแก่ตัวเอง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่เกิดจากความเจริญทางเทคโนโลยี ที่เราจะต้องรู้ ต้องเข้าใจตามความเป็นจริง

เทคโนโลยีกลายเป็นภัย เมื่อคนไม่มีคุณภาพ

ต่อไปก็จะขอพูดถึงว่า ความเจริญทางเทคโนโลยีนี้ ในขณะที่มันเจริญไป เราก็มองดูและเสพเสวยด้วยความเพลิดเพลิน แต่พร้อมกับความเจริญนั้นเองก็มีสิ่งหนึ่งเพิ่มขึ้นมาด้วย คือภาระแก่ตัวมนุษย์เอง ได้แก่ ภาระในการที่จะใช้ และในการที่จะบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไข เพราะว่าโดยทั่วไป เทคโนโลยียิ่งก้าวหน้ามากเท่าไร ก็จะยิ่งมีความซับซ้อน มีความละเอียดอ่อนมากขึ้นเท่านั้น การปฏิบัติต่อเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ยิ่งต้องการความชำนาญ ความละเอียดถี่ถ้วนและความรอบคอบมากขึ้น ผิดพลาดเผลอนิดเดียวอาจเกิดความพินาศใหญ่โต เหมือนอย่างเรื่องที่เล่ามาแล้ว ในกรณีของโรงงานพลังนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล และเกาะทรีไมล์เป็นต้น ก็เป็นเรื่องของความผิดพลาด ซึ่งเขายอมรับแล้วว่าเกิดจากความเผอเรอของคน

ทีนี้ การที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นไปนั้น หาใช่เป็นหลักประกันได้ไม่ว่าคนจะมีความรอบคอบมากขึ้น ดีไม่ดีถ้าเอาแต่หลงมัวเมาเพลิดเพลินกันนัก ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้า คุณภาพของคนจะยิ่งเสื่อมถอย ความมีสติรอบคอบจะยิ่งลดลง ถ้าอย่างนี้ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ก็จะยิ่งมีมาก และยิ่งเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าซับซ้อน มีประสิทธิภาพมากเท่าใด อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งเลวร้ายและรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น คนที่ไม่มีเทคโนโลยีพลั้งพลาดเผลอสติ อาจจะเดินตกหลุมตกบ่อแข้งขาหัก หรือหล่นเขาล้มตายไปเฉพาะตัวคนเดียว พอมีเทคโนโลยีขึ้นบ้าง เผอเรอพลาดไป อาจขับรถตกภูเขาหรือทำให้ถังแก๊สถังน้ำมันระเบิดเป็นต้น คนตายเป็นสิบเป็นร้อย ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีสูงประณีตซับซ้อนมาก ความประมาทพลั้งเผลอนิดเดียว อาจหมายถึงความพินาศของบ้านเมือง คนตายครึ่งค่อนประเทศ หรือแม้กระทั่งครึ่งค่อนโลก

เป็นอันว่า ถ้ามนุษย์ยังหย่อนคุณภาพ การเกิดอุบัติเหตุทางเทคโนโลยีก็ย่อมจะมีได้เสมอไป โดยที่อาจเกิดจากความผิดพลาดเผอเรอนี้บ้าง เกิดจากความรู้ไม่ถ่องแท้ทั่วตลอดบ้าง อย่างที่กล่าวแล้วในข้อหนึ่งว่า เพราะมนุษย์เรารู้เรื่องธรรมชาติ รู้ความจริงของธรรมชาติ ไม่ตลอดกระบวนการแห่งความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย ทั้ง ๒ อย่างนี้อย่างหนึ่งอย่างใด จะเป็นความไม่รู้ก็ดี ความเผอเรอพลั้งพลาดก็ดี ก็จะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

อีกตัวอย่างหนึ่ง ของอุบัติเหตุเนื่องจากความเผอเรอ ซึ่งเกิดจากความไม่รู้และความสะเพร่าของมนุษย์ครั้งสำคัญ ก็เกิดขึ้นในปีเดียวกันกับอุบัติเหตุที่โรงงานพลังนิวเคลียร์ในโซเวียตนั่นเอง คือ ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน ในเดือนมกราคม ๒๕๒๙ มีข่าวใหญ่มากข่าวหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา คือการระเบิดของกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ (Space Shuttle Challenger) หลายท่านคงยังจำได้ เป็นข่าวที่โด่งดังไม่แพ้เรื่องอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลนั้นเลย

โครงการอวกาศของสหรัฐฯในตอนนั้นกำลังเฟื่องฟูมาก มีความหวัง มีความใฝ่ฝันในการสำรวจอวกาศว่าจะเจริญก้าวหน้าอย่างเหลือเกิน แต่แล้วโดยไม่คาดฝันก็เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ขึ้น เมื่อกระสวยอวกาศขึ้นไปได้เพียง ๗๓ วินาที หรือ ๑ นาที กับ ๑๓ วินาทีก็ระเบิด มนุษย์อวกาศตายหมดทั้ง ๗ คน

ยิ่งกว่านั้น ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ได้เกิดอุบัติเหตุใหญ่ในโครงการอวกาศของสหรัฐฯอีก ๓ ครั้ง คือ ยานอวกาศระเบิด ๒ ครั้ง และการยิงจรวดเกิดความผิดพลาด ๑ ครั้ง ทำให้โครงการอวกาศของสหรัฐฯชะงักงันตั้งแต่บัดนั้นมาจนบัดนี้ทีเดียว เราเรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่มืดมัวที่สุดในประวัติการสำรวจอวกาศของสหรัฐฯ

ก่อนหน้านั้นถอยหลังไปใน พ.ศ. ๒๕๒๒ มีอุบัติเหตุที่แทบจะทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ และก่อความพินาศครั้งใหญ่ คือ ที่ฐานปฏิบัติการป้องกันทางอากาศภาคอเมริกาเหนือของสหรัฐฯ ที่ภูเขาชีเอน (Cheyenne) ในรัฐโคโลราโด ซึ่งเป็นที่ทำการตอบโต้การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ถ้าโซเวียตยิงขีปนาวุธขึ้นเพื่อจะมาทำลายสหรัฐฯ ที่ฐานปฏิบัติการนี้มีระบบเครื่องตรวจสอบที่ทำให้รู้ว่า ทางโน้นยิงออกมาแล้ว และมีแผนปฏิบัติการว่าจะทำอย่างไรเพื่อตอบโต้

ทีนี้ ที่ฐานปฏิบัติการนั้นเอง อยู่ๆ ก็มีสัญญาณเตือนภัยขึ้นมา แสดงว่าทางโซเวียตได้ยิงขีปนาวุธออกมาแล้ว ทางสหรัฐฯพอมีสัญญาณเตือนภัยนี้ ก็ปฏิบัติการตามแผน ส่งเครื่องบินขึ้นไปเตรียมที่จะยิงขีปนาวุธตอบโต้ แต่เพื่อความรอบคอบก็เลยมีการตรวจสอบกันขึ้นก่อนว่าเป็นอย่างไรกันแน่ ก็ได้พบว่า คอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาด รายงานผิด เกือบไป เป็นความผิดพลาดในเรื่องที่สำคัญ เรื่องเป็นเรื่องตาย ร้ายแรงยิ่ง หมายความว่า ถ้าสหรัฐอเมริกาผลุนผลันไม่ได้ตรวจสอบดูให้แน่ รีบยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้โซเวียต โซเวียตก็ว่า อ้าว! ทำไมสหรัฐฯทำอย่างนี้ เล่นโจมตีแบบไม่รู้ตัว ฉันจะเอาบ้าง ก็เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมาแน่นอน นั่นครั้งหนึ่งแล้ว

ต่อมาอีกไม่นานเท่าไร คงอีกไม่กี่เดือน ใน พ.ศ. ๒๕๒๓ ก็เกิดสัญญาณเตือนภัยผิดแบบนี้ขึ้นมาอีกครั้ง แสดงว่าคอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาด ยุ่งมาก หลังจากนั้นก็คงแก้ไขกันเป็นการใหญ่ จึงเงียบไป หรืออาจจะมีการผิดพลาดอีก แต่ไม่โด่งดังออกมา นี้ก็เป็นอุบัติเหตุสำคัญมากที่เราไม่ควรจะมองข้าม

ข่าวสหรัฐฯและรายงานเหตุการณ์โลก ประจำวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙ พูดไว้น่าฟังว่า "The most potent technologies tolerate the fewest mistakes" ซึ่งแปลเอาความได้ว่า "เทคโนโลยีที่มีฤทธิ์เดชมากที่สุด ยอมทนให้คนทำผิดได้น้อยที่สุด" ดังนั้นเทคโนโลยียิ่งเจริญก้าวหน้า ความเสี่ยงภัยจากเทคโนโลยีก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น และภัยนั้นก็ยิ่งร้ายแรงมากขึ้นด้วย

จากการสำรวจของ USN&WR-Cable News Network ได้ความว่า ถึงแม้คนอเมริกันส่วนใหญ่จะยังพูดว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีคุณมากกว่าโทษ แต่ตัวเลขจำนวนคนที่พูดอย่างนั้นได้ลดลงจากร้อยละ ๘๓ เมื่อสามปีก่อน เหลือเพียงร้อยละ ๗๒ ในพ.ศ.๒๕๒๙ เกือบ ๑ ใน ๔ ของคนที่สำรวจความเห็น คิดว่า ต่อไปข้างหน้าอีก ๒๐ ปี เทคโนโลยีจะก่อโทษแก่มนุษย์ยิ่งกว่าให้คุณ

เทคโนโลยีที่ทำให้คนในประเทศพัฒนาแล้วหวาดผวาหวั่นใจ และกระวนกระวายมากที่สุดในปัจจุบันก็คือ พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งระยะเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมา (จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๙) มีรายงานว่าได้เกิดอุบัติเหตุที่สำคัญในโรงงานนิวเคลียร์ในประเทศต่างๆ ๑๔ ประเทศ รวม ๑๕๑ ครั้ง หลังจากเกิดอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลในโซเวียตแล้ว ประชามติที่สำรวจในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๗ และ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ปรากฏออกมาว่า คนร้อยละ ๕๒ ไม่ต้องการให้มีการสร้างโรงงานพลังนิวเคลียร์ขึ้นใหม่ และคนจำนวนร้อยละ ๒๘ ต้องการให้ปิดโรงงานพลังนิวเคลียร์ เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันลงให้หมดสิ้น (เมื่อปี ๒๕๒๒ คนที่มีความเห็นอย่างนี้มีจำนวนเพียงร้อยละ ๑๔)

นอกจากอันตรายจากอุบัติเหตุในโรงงานพลังนิวเคลียร์แล้ว ภัยนิวเคลียร์ยังมาจากขยะนิวเคลียร์ ที่ต้องทิ้งจากโรงงานเหล่านั้น ซึ่งจะแผ่กัมมันตภาพรังสีที่น่ากลัวไปอีกนานเป็นแสนเป็นล้านปี แม้ว่าจะมีมาตรการในการเก็บกันอย่างรัดกุมที่สุด แต่ก็มีความพลั้งพลาดหลุดรอดออกมาเป็นข่าวเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอุบัติเหตุในขณะขนขยะนิวเคลียร์นั้นไปสู่ที่ฝังเก็บ

อีกอย่างหนึ่งที่น่ากลัวมากซึ่งกำลังจะเพิ่มขึ้นใหม่ ก็คือ ต่อไปข้างหน้า ภัยนิวเคลียร์กับภัยอวกาศจะประสานเข้าด้วยกัน เพราะกระสวยอวกาศที่จะทำขึ้นใหม่จะใช้ธาตุพลูโตเนียมเป็นเชื้อเพลิง ถ้าเกิดอุบัติเหตุอย่างในกรณีแชลเลนเจอร์ขึ้นอีก คราวนี้อาจจะมีผลเหมือนกับว่าแชลเลนเจอร์กับเชอร์โนบิลระเบิดขึ้นพร้อมกัน

ไม่เฉพาะโรงงานพลังนิวเคลียร์เท่านั้น ที่ระเบิดแล้ว เป็นอันตรายใหญ่หลวง แม้แต่โรงงานใหญ่ๆ ที่ผลิตหรือใช้สารเคมีบางอย่าง เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็เป็นอันตรายไม่น้อย ตัวอย่างเช่น เรื่องถังเก็บสารเคมีของบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ (Union Carbide Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทสารเคมีใหญ่ที่สุดอันดับ ๓ ของอเมริกา ระเบิดที่เมืองโภปาล (Bhopal) ในประเทศอินเดีย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๗ ปล่อยแก๊สเมธีลไอโซไซยาเนต (methyl isocyanate) ออกมา ทำให้คนตายไปเกือบทันทีกว่า ๒,๐๐๐ คน และบาดเจ็บอีกหลายหมื่นคน และนี้เป็นเพียงรายที่โด่งดัง

ความจริงอุบัติเหตุแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น ๙ เดือนหลังจากเกิดเหตุที่โภปาล โรงงานของบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์นั้นเอง แต่อีกแห่งหนึ่งในรัฐเวสท์เวอร์จิเนียของสหรัฐฯเอง ก็เกิดอุบัติเหตุแก๊สชนิดเดียวกันนั้นรั่วออกมา ต้องส่งคนเข้าโรงพยาบาลเป็นร้อย

อุบัติเหตุเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต ๑ ใน ๔ ส่วนเกิดขึ้นในการขนส่ง ตามสถิติของ ข่าวสหรัฐฯและรายงานเหตุการณ์โลก นั้นว่า เรือที่ขนส่งสารที่เป็นอันตรายร้ายแรง เกิดอุบัติเหตุทั่วโลก เฉลี่ยวันละ ๑ ราย 4

เทคโนโลยีใหม่สุดซึ่งเสี่ยงภัยร้ายแรงพอๆ กับพลังงานนิวเคลียร์ ก็คือ พันธุวิศวกรรมศาสตร์ หรือ genetical engineering วิทยาการสาขานี้ กำลังโดดเด่นขึ้นมา เป็นความเจริญก้าวหน้าที่ให้ความหวังแก่มนุษย์อย่างมาก และตื่นเต้นกันอย่างยิ่ง มนุษย์จะสามารถสร้างสรรค์ชีวิตพืชพันธุ์ชนิดใหม่ๆ ตลอดจนดัดแปลงปรับปรุงพืชและสัตว์พันธุ์ต่างๆ แม้กระทั่งพันธุ์มนุษย์เอง ให้เป็นไปได้ตามใจปรารถนา เช่น สร้างจุลชีพบางชนิดขึ้นมาสำหรับสังเคราะห์แสงแดดเป็นพลังงานไฟฟ้า สร้างแบคทีเรียขึ้นมาชนิดหนึ่งสำหรับป้องกันไม่ให้เกิดน้ำค้างแข็งที่จะทำลายพืชบางชนิด แต่หลายคนที่เฝ้ามองความเจริญของเทคโนโลยีด้านชีววิทยานี้ ก็หวั่นเกรงกันว่า ชีวิตและพืชพันธุ์ใหม่ๆ เช่น แบคทีเรียเหล่านี้ มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วมนุษย์ก็มองดูเฉพาะผลที่ตนต้องการนั้นเท่านั้น แต่ชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น ยังมีคุณสมบัติ (หรือโทษวิบัติ) อย่างอื่นอีก ซึ่งบางทีมนุษย์ก็ไม่ได้ตรวจตราและคาดไม่ถึง ชีวิตเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ถูกปล่อยแพร่ขยายพันธุ์ออกไปในโลก บางทีอีกนานกว่ามนุษย์จะรู้ตัวว่า มันได้ก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหม่ขึ้นมาแก่โลกและแม้แก่ชีวิตของมนุษย์เอง มนุษย์อาจจะต้องเผชิญกับภัยอันตรายเช่นโรคร้ายใหม่ๆ และอาจจะถึงคราวหนึ่งที่ชีวิตพันธุ์ใหม่ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์นั้น มนุษย์ปราบไม่ไหว หรือคิดวิธีปราบไม่ทัน และมนุษย์นั้นแหละกลับเป็นฝ่ายที่ถูกมันทำลายเสียเอง

นายจอห์น เฮนนิงสัน (John Henningson) รองประธานบริษัทมัลคอล์ม-เพิรนี (Malcolm-Pirnie, Inc.) ในรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา พูดไว้เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีจากประสบการณ์ของเขาเองอย่างน่าฟังว่า

“ผมไม่มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่ง ว่าเรามีความสามารถที่จะจัดการกับอุปกรณ์เหล่านี้; สำหรับตัวเทคโนโลยีเอง ผมเบาใจเสมอ แต่สำหรับบุคลากรที่ทำงานกับเทคโนโลยีเหล่านั้น ผมไม่โปร่งใจเลย”

ความรู้สึกที่นายเฮนนิงสันระบายออกมานี้ บ่งบอกถึงปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของคนที่พัฒนาไม่ทันกันกับความเจริญของเทคโนโลยี หรือแม้ทัน แต่ไม่เพียงพอที่จะควบคุมเทคโนโลยี และสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีไว้ในอำนาจ ไม่เฉพาะความขาดคุณธรรม เช่น ความเอาใจใส่รับผิดชอบเท่านั้น ที่ทำให้เกิดปัญหา แต่สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหานั้นก็คือ ความรู้ไม่ทั่วถึงตลอดกระบวนการของธรรมชาติ หรือพูดง่ายๆ ว่า ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง ที่ยังครอบงำวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างปัญหาแก่มนุษย์ในยุคเทคโนโลยีต่อไป5

สภาวการณ์นี้ ถ้าจะพูดในเชิงอุปมา ก็เหมือนกับว่า มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ก้าวหน้ามากถึงขั้นมีของใช้ของเทวดา แต่ตัวมนุษย์เองก็ยังคงเป็นมนุษย์คนเดิม ที่ไม่ได้พัฒนา ยังมิได้ยกระดับคุณภาพของตนขึ้นไปให้เท่าทันเทวดา เมื่อมาใช้ของสำหรับเทวดา ก็เลยก่อปัญหาทำให้เกิดโทษมากกว่าคุณ (แต่ตามคัมภีร์ท่านบอกว่า เทวดานั้นมีสิ่งบำรุงบำเรออำนวยความสะดวกสบายมาก เลยหลงเพลิดเพลิน กลับมีสติน้อยกว่ามนุษย์ลงไปอีก มนุษย์อาจจะเดินตามรอยเทวดาในแง่นี้ก็เป็นได้)

เทคโนโลยีรุดไกล การพัฒนาคนจะทันหรือไม่

เป็นอันว่า ยิ่งสร้างเทคโนโลยีซับซ้อนสูง ก็ยิ่งต้องเพิ่มความสามารถในการใช้ และในการควบคุมดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไขเทคโนโลยีเหล่านั้น มนุษย์จะมีภารกิจในเรื่องอย่างนี้มากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้น เทคโนโลยียิ่งสูง ยิ่งซับซ้อน ยิ่งเจริญ ก็ยิ่งต้องการคนที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น เพื่อมาใช้มาควบคุมเทคโนโลยีให้เป็นไปอย่างราบรื่นได้ผลดี คุณภาพของคนที่เราต้องการนี้ หมายถึงทั้งสองด้านคือทั้งความรู้ความชำนาญในทางเทคนิค และความมีสติรอบคอบ ไม่ประมาท หรือทั้งคุณภาพด้านความชำนาญเฉพาะทางและคุณภาพด้านคุณธรรมในจิตใจ แต่ปรากฏว่า ในสภาพปัจจุบัน ความเจริญชักจะสวนทางกัน คือ ในขณะที่เทคโนโลยีเจริญมากขึ้น ซับซ้อนยิ่งขึ้น คุณภาพของคนกลับปรากฏว่าชักจะต่ำลงและต่ำลง ไม่เฉพาะในด้านของธรรม เช่น ความมีสติรอบคอบเท่านั้น แม้แต่ในเรื่องของความรู้ความชำนาญทางเทคนิคเองก็เสื่อมทรามลงไปด้วย

ตามที่ควรจะเป็นนั้น เราจะต้องยกระดับคนหมู่ใหญ่ขึ้นมา ไม่ใช่ให้คนหมู่น้อยที่สร้างเทคโนโลยีเท่านั้นมีความรู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค แต่คนจำนวนมากจะต้องมีความรู้ความชำนาญมากขึ้นด้วย เพื่อรับภาระในการใช้และดูแลรักษา แต่แล้วในอเมริกาเองก็มีปัญหานี้ขึ้น ยกตัวอย่างในด้านของความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีนั้น เวลานี้ ในทางเทคนิคก็มีปัญหา เพราะว่าปัจจุบันความชำนาญในการใช้งานและดูแลรักษามีความสำคัญมากขึ้น สำคัญไม่น้อยกว่าความชำนาญในการสร้าง ทีนี้ถ้ามีความสามารถในการผลิตหรือสร้างเทคโนโลยี แต่ความชำนาญความสามารถในการที่จะใช้และบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไขตามไม่ทัน เทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ผลิตขึ้นมาก็จะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร บางทีอาจจะต้องหยุดชะงักไปด้วยซ้ำ และอาจจะเกิดภัยอันตรายที่เกินกว่าประโยชน์จากมัน เช่น เรื่องพลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดปัญหาขึ้นมาอย่างที่ว่าเมื่อกี้

ในขณะที่ต้องการคนงานที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น แต่จำนวนคนที่มีคุณภาพหาได้เพิ่มขึ้นไม่ อันนี้เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นในอเมริกาเอง อเมริกาเขาสรุปว่าอย่างนั้น

เมื่อคนมีคุณภาพต่ำ มาตรฐานความปลอดภัยก็ต่ำลง ความสามารถในการใช้และดูแลรักษา ก็ไม่เพียงพอ และไม่ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ก็จะทำให้อันตรายเกิดมากขึ้น หรือมิฉะนั้น เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าก็จะกลายเป็นหมัน ต้องชะงักสะดุดหยุดเลิกไปเอง

ขอยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนี้ได้มีการผลิตรถยนต์ที่ออกแบบก้าวหน้ายิ่งขึ้น ใช้งานได้ผลดียิ่งขึ้น มีระบบอัตโนมัติต่างๆ มากมาย ทีนี้ รถยนต์เหล่านี้ก็ปรากฏว่าราคาแพงดูแลรักษายาก สิ้นเปลือง เสียทีหนึ่งก็ยุ่งยากมาก ถ้าเป็นรถส่วนตัวใช้งานเฉพาะรายก็ปล่อยไป แต่ถ้าใช้ในงานส่วนรวม โดยเฉพาะเป็นกิจการสาธารณูปโภค มีตัวอย่างว่าปัญหาท่วมตัว ไปไม่ตลอดหรือไม่นานด้วยซ้ำไป เหตุเกิดที่รัฐสองรัฐในอเมริกา ทางการรับรถอย่างดี มีระบบอัตโนมัติมากมายมาใช้ แล้วในที่สุดต้องหยุดใช้และเก็บเอาไว้เฉยๆ หันไปเอารถเก่าๆ ออกมาซ่อมใช้แทน เพราะสู้ความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายไม่ไหว ยอมใช้รถเก่าต่อไปดีกว่า นี่เป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ที่เมืองฮูสตันในรัฐเทกซัส (Houston in Texas) และเมืองบัลติมอร์ ในรัฐแมรีแลนด์ (Baltimore in Maryland)

เขาบอกว่า การหาคนทำงานที่ดีมีคุณภาพ กำลังเป็นปัญหาของประเทศอเมริกา ถ้าไม่สามารถสร้างหรือหานักเทคนิคที่มีความชำนาญมาสนองความต้องการได้เพียงพอ ก็จะต้องถูกบีบบังคับให้เลิกใช้เทคโนโลยีระดับสูงเหล่านั้น และกลับไปใช้วิธีการเก่าๆ ที่ง่ายกว่า

เป็นอันว่า ปัญหาการใช้ การบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไขเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงความต้องการวิศวกร นักเทคนิค ซ่างซ่อมที่มีความชำนาญมากขึ้น เพราะเมื่อมีการสร้าง และทำงานด้วยเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ก็ต้องมีการแก้ปัญหาโดยอาศัยช่างที่ชำนาญเป็นผู้ดูแลซ่อมแซม ฉะนั้น งานหนักที่ตามมาในสังคมเทคโนโลยีก็คือ งานใช้เป็น พร้อมทั้งงานบำรุงรักษาและซ่อมแซม และสิ่งหนึ่งที่พ่วงมาด้วยกับกิจกรรมทุกอย่างเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการบำรุงรักษา การซ่อมแซมแก้ไข หรือแม้แต่การจ้างวิศวกรไว้ควบคุมการใช้งาน ก็คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในทุกรายการ ในเมื่อเรื่องนี้กำลังเริ่มเป็นปัญหาขึ้นมาในประเทศอเมริกาแล้ว ประเทศที่เจริญตามอย่างเขาก็ควรจะรับรู้ปัญหาไว้ด้วย

โรงพยาบาลใหญ่มากแห่งหนึ่งของราชการ ในกรุงเทพฯ ได้ซื้อเครื่องปรับอากาศระบบกลางที่เรียกง่ายๆ ว่า Central Air ขนาดใหญ่ ราคา ๑๐ ล้านบาทมาติดตั้ง ใช้งานมาได้ ๑๐ ปี นอกจากมูลค่าของเครื่องที่ใช้งานเฉลี่ยปีละ ๑ ล้านบาทแล้ว ยังต้องเสียเงินซ่อมมาเรื่อยทุกปี จนมาถึงปีนี้ เครื่องชำรุดทรุดโทรมลง ช่างประเมินราคาค่าซ่อม ๑ ล้านบาท ไม่มีเงินจ่าย จำใจต้องทิ้งเครื่องไปเลย แล้วหันไปซื้อเครื่องปรับอากาศชนิดแยกหน่วยมาใช้เป็นแห่งๆ ไป

มนุษย์จะต้องสำนึกตระหนักว่า ความสุขความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีนั้น มิใช่สิ่งที่จะได้มาเปล่าๆ โดยไม่ต้องลงทุน แต่เป็นความสุขและสะดวกสบายที่ต้องซื้อ และมันมาพร้อมกับภารกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งมนุษย์ผู้ที่อยากใช้ก็ควรจะต้องยินดีและเต็มใจแบกรับเอา ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เครื่องปรับอากาศ หรือ air conditioner นั้น เมื่อติดตั้งไว้ที่บ้านแล้ว ในเวลาที่ไม่อยู่ไม่ใช้ ก็ควรจะต้องเปิดเครื่องให้ทำงานอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง มิฉะนั้น น้ำยาจะทำให้เครื่องเสีย นอกจากความสิ้นเปลืองเงินค่าใช้จ่าย อันเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ก็มีมูลค่าทางจิตใจ คือความห่วงกังวลที่จะต้องแบกภาระด้วยเช่นกัน

ดังนั้น คนที่ดำเนินชีวิตในสังคมเทคโนโลยี จึงต้องเป็นคนที่มีคุณภาพเท่าทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จะต้องได้รับการฝึกหัดอบรมเป็นอย่างดี ในด้านความมีสติรอบคอบ ความไม่ประมาท และความรับผิดชอบ เป็นต้น ตลอดจนความไม่เห็นแก่ตัวจนเกินไป และความเมตตากรุณา อย่างน้อยเห็นคุณค่าชีวิตของผู้อื่น พอที่จะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและคุ้มค่า โดยไม่ทำลายคุณภาพชีวิตและสังคมของตนเอง ตลอดจนธรรมชาติแวดล้อมที่ตนต้องอาศัย แต่ถ้าเป็นคนมักง่ายไร้ความรับผิดชอบ จะเอาแต่สุขสบายอย่างเดียวแล้ว ในไม่ช้า เทคโนโลยีที่ให้ความสุขสบายนั่นแหละ จะเพิ่มพูนปัญหาและความทุกข์ให้ ตลอดจนนำไปสู่หายนะในที่สุด

ทีนี้ ถอยหลังย้อนลงไป การที่จะมีแรงงานที่มีความรู้ความสามารถชำนาญในการใช้และบำรุงรักษา หรือแม้กระทั่งในการที่จะสร้างเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้นได้นั้น ก็ต้องให้การศึกษาส่งต่อกันขึ้นมา เริ่มตั้งแต่การศึกษาระดับต้นๆ แต่ปัญหาก็เกิดซ้อนขึ้นมาอีก เพราะปรากฏว่าการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกากำลังทรุดลง แม้แต่ในระดับประถมและมัธยม ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ประเทศอเมริกาวิตกกังวลกันมาประมาณ ๒๐ ปี แล้ว

มีรายงานเมื่อปี ๒๕๒๓ โดยกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ (U.S. Department of Education) และมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation) เตือนว่า ชาวอเมริกันส่วนมาก กำลังก้าวไปสู่ภาวะไร้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยแท้ ในอเมริกานั้นเขามีการตรวจคะแนนความสามารถในการเรียน เรียกว่า เอสเอที สคอร์ หรือ SAT scores (Scholastic Aptitude Test) เป็นการทดสอบความสามารถ ในการศึกษาเล่าเรียน ก่อนที่จะเข้าวิทยาลัย ซึ่งทำให้เขารู้คุณภาพของการศึกษาในระดับประถมและมัธยม และก็ปรากฏว่า ในระยะเวลา ๑๖ ปีที่ผ่านมานี้ ความสามารถในทางสติปัญญาของนักเรียนที่จบประถมและมัธยมนั้น ได้ตกต่ำลดถอยลงมาโดยลำดับ

สภาศึกษานโยบายอุดมศึกษาของคาร์เนกี้ (Carnegie Council of Policy Studies in Higher Education) รายงานว่า เพราะความบกพร่อง ในระบบการศึกษาระดับประถมและมัธยมของอเมริกา เด็กอเมริกันประมาณ ๑ ใน ๓ มีการศึกษาอ่อนมาก ไม่พร้อมที่จะดำเนินชีวิตในสังคมอเมริกัน คนไม่รู้หนังสือในสหรัฐฯตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามตัวเลขที่สำรวจกันว่าเรียนไม่จบ แต่เอาความจริงที่ว่าแม้เรียนจบแล้ว แต่อ่านหนังสือไม่ออก ใช้งานหนังสือไม่ได้นี้ มีจำนวน ๑๘-๖๔ ล้านคน เด็กมัธยม และแม้แต่มหาวิทยาลัย จบการศึกษาแล้วไม่สามารถเขียนภาษาอังกฤษที่ยอมรับได้ หรือแม้แต่ทำเลขอย่างง่ายๆ ก็มากมาย เขาบอกว่า

“เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอเมริกา ที่คนรุ่นใหม่ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่นี้ มีความรู้ความสามารถด้อยกว่าคนรุ่นบิดามารดาของตนเอง”6

เป็นอันว่า ในขณะที่สังคมกำลังต้องการคนทำงานที่มีความรู้ความชำนาญมากขึ้น แต่กลับได้กำลังคนที่มีคุณภาพลดลง อันนี้เป็นปัญหาของสังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นสังคมที่เจริญมากในด้านเทคโนโลยี เราจะต้องรู้เข้าใจเท่าทันไว้

ด้านที่สอง คุณภาพของคน นอกจากความรู้ความชำนาญทางสมอง และฝีมือในการสร้างการใช้ดูแลแก้ไขเทคโนโลยีแล้ว ก็คือคุณภาพในทางความมีสติรอบคอบ ความละเอียดลออเอาใจใส่ระมัดระวัง ซึ่งเป็นคุณธรรมในจิตใจ อุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลก็ตาม ที่เกาะทรีไมล์ก็ตาม ในกรณีกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ก็ตาม ได้พิสูจน์แล้วว่าเกิดจากความสะเพร่า ความประมาท ความขาดสติรอบคอบ ฉะนั้น คุณภาพของคนในด้านนี้ก็ต้องมีมากขึ้น แต่ความเจริญทางเทคโนโลยีที่ยั่วเย้าให้คนเสพสุขมากๆ นี้ ถ้าไม่ระมัดระวังแล้วก็จะล่อใจ และมอมเมาให้คนมีคุณภาพในทางสติรอบคอบน้อยลง กลายเป็นคนที่มักง่ายขึ้น

ว่าโดยทั่วไป ความทุกข์ความยากลำบากมักเป็นเครื่องฝึกคนให้เข้มแข็งอดทน ความบีบคั้นและภัยที่คุกคาม มักเป็นเครื่องกระตุ้นเร้าให้คนดิ้นรนขวนขวาย ลุกขึ้นทำการด้วยความจริงจัง ในทางตรงข้าม ความสุขสะดวกสบายพรั่งพร้อมบริบูรณ์มักล่อให้คนเพลิดเพลินมัวเมามักง่าย และอ่อนแอ ความเกษมสำราญมักชวนให้คนนิ่งเฉยเฉื่อยชา ตลอดจนเกียจคร้านปล่อยปละละเลยหน้าที่และตกอยู่ในความประมาท

เทคโนโลยียิ่งเจริญก้าวหน้าขึ้นเท่าไร ความสะดวกสบายพรั่งพร้อมบริบูรณ์ และโอกาสที่จะมีความสุขเกษมสำราญก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อความสะดวกสบายพรั่งพร้อมเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว คนก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะหลงใหลมัวเมามักง่ายอ่อนแอและประมาท ดังนั้น เมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น คุณภาพของคนก็จึงมีแนวโน้มที่จะเสื่อมลง ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของคนเมื่อไม่ได้ฝึกฝนพัฒนาก็ย่อมเป็นเช่นนั้น สังคมใดเมื่อเจริญมากแล้ว ก็จึงเสื่อมโทรมลง เป็นอย่างนี้กันมามากมายและเรื่อยมา

ทางเดียวที่จะแก้ปัญหา ก็คือ จะต้องพัฒนาคุณภาพคนขึ้นมาจากข้างใน ไม่ให้ความเพิ่มหรือลดแห่งคุณภาพของคนเป็นไปตามยถากรรม โดยขึ้นต่อความเจริญและความเสื่อมของสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยภายนอก แต่ต้องให้คุณภาพของคนยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ในท่ามกลางความพรั่งพร้อม สะดวกสบายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับว่าค่อนข้างจะเป็นการฝืนกระแสจิตใจของคน และจะทำสำเร็จได้ก็ด้วยการศึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาคนกันอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี หรือถ้าว่าให้ถูกแท้ก็ต้องว่า ให้การพัฒนาคนเหนือกว่าการพัฒนาเทคโนโลยี

ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นในสังคมเทคโนโลยีว่า จะต้องพัฒนาคน โดยพัฒนาทั้งด้านความรู้ สติปัญญา ความสามารถในทางเทคนิค และในด้านภูมิธรรม เช่นที่เห็นชัดๆ คือ ความมีสติรอบคอบ ความเอาใจใส่รับผิดชอบ ไม่ประมาท ขยันตรวจสอบ ในที่นี้เราจะเห็นได้ชัดถึงหน้าที่ที่แตกต่างกันระหว่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับศาสนาและจริยธรรม ไม่ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเจริญขึ้นไปมากมายเท่าใด ศาสนาและจริยธรรมที่ถูกต้องซึ่งทำหน้าที่ของมันเองแท้ๆ ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่ตรงข้าม ยิ่งเทคโนโลยีเจริญมากขึ้นไปเท่าไร ความต้องการในความมีสติรอบคอบ ความเอาใจใส่รับผิดชอบและความไม่ประมาทก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้ามากเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง จึงต้องการจิตใจที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งและรอบคอบอย่างเท่าทันกัน

เทคโนโลยี จะเอามาสร้างความก้าวหน้า
หรือเอามาซ้ำเติมความด้อยพัฒนา

เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้ต้องระลึกไว้เสมอว่า ถ้าคิดจะมีเทคโนโลยี จะมัวนั่งฝัน เอาแต่เสวยสุขอย่างเดียวโดยไม่ยอมรับผิดชอบไม่ได้ ไม่มีการได้โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยน ยิ่งในแง่เศรษฐกิจด้วยแล้ว การเสวยสุขด้วยเทคโนโลยีอาจมีความหมายกว้างไกลมาก ถ้าคนไม่ได้รับการพัฒนาคุณภาพของจิตใจ และขาดความสังวร การได้มาซึ่งเทคโนโลยี หรือความสุขสะดวกสบายจากเทคโนโลยี อาจหมายถึงการเบียดเบียนขูดรีดเอารัดเอาเปรียบที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่มนุษย์ด้วยกันอีกด้วย และใครจะปฏิเสธได้ว่า อันนี้ไม่ใช่เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งของปัญหาในสังคมปัจจุบัน

ในแง่เศรษฐกิจนั้น ชาวประเทศกำลังพัฒนาเสียเปรียบประเทศพัฒนาอยู่แล้วเป็นอันมาก ในการที่จะมีเทคโนโลยีใช้ นอกจากเป็นผู้ซื้อที่ต้องเสียเปรียบผู้ผลิตในแง่ถูกเขาตั้งราคาหากำไร และในแง่เป็นผู้ที่มีใช้ทีหลังตามไม่ทันเขาเรื่อยไปแล้ว ยังต้องบริโภคเทคโนโลยีในราคาที่แพงลิบลิ่วยิ่งกว่าประเทศพัฒนาหลายต่อหลายเท่า แพงกว่าโดยราคาซื้อขายในตลาดตามที่กำหนดกันไว้นั้นก็ชั้นหนึ่งแล้ว ยังแพงโดยมูลค่าแฝงอีกหลายชั้น คือ ทั้งรายได้ก็ต่ำ เงินก็ถูก แล้วยังต้องซื้อของแพง เพราะตัวสินค้าเองราคาก็สูงขึ้น เนื่องจากค่าขนส่งและภาษีอีกหลายส่วน

ยกตัวอย่างเช่น คนงานในประเทศไทยได้ค่าแรงอย่างต่ำวันละประมาณ ๗๐ บาท ในขณะที่คนอเมริกันได้อย่างต่ำวันละประมาณ ๗๐๐ บาท7 น้ำมันรถยนต์ชนิดเบนซินซูเปอร์ในเมืองไทยลิตรละ ๘.๔๕ บาท ในสหรัฐฯถูกกว่า เป็นลิตรละ ๕ บาท คนงานไทยที่มีค่าแรงอย่างต่ำนั้น เอารายได้ทั้งวันไปซื้อน้ำมันรถยนต์ได้ประมาณ ๘ ลิตร เพียงซื้อน้ำมันรถยนต์อย่างเดียวก็แทบหมดตัว ไม่ต้องไปใช้จ่ายอย่างอื่น แต่คนงานอเมริกันเอารายได้วันเดียวไปซื้อน้ำมันได้ตั้ง ๑๔๐ ลิตร ดังนั้น ถึงเขาจะใช้รถยนต์ ซื้อน้ำมันแล้ว ก็ยังมีเงินเหลือไปใช้จ่ายอย่างอื่นมากมาย แต่แค่นี้ก็ยังไม่กระไร ขอให้ดูตัวอย่างอื่นอีก

รถยนต์ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงมากยี่ห้อหนึ่ง ส่งไปขายในสหรัฐฯ คิดราคา เป็นเงินไทยประมาณ ๓๓๐,๐๐๐ บาท แต่ส่งเข้ามาเมืองไทยขายคันละ เกือบ ๖ แสนบาท8 ถ้าคนอเมริกันที่มีรายได้ต่ำสุดเก็บเงินทั้งหมดไว้ซื้อรถนี้ จะใช้เวลา ๘๕๗ วัน คือ ๒ ปีเศษ แต่คนไทยจะซื้อรถคันเดียวกันนั้นต้องรอเก็บเงิน ๘,๒๒๘ วัน หรือ ๒๒ ปีครึ่ง ถ้าเริ่มทำงานอายุ ๒๓ ปี กว่าจะซื้อรถยนต์นี้ได้ก็อายุ ๔๕ ปี จะแก่เฒ่าอยู่แล้ว แต่ความจริงก็คือไม่มีหวังซื้อได้เลยตลอดชาตินั่นเอง แต่นี้ก็ยังเป็นของที่ส่งเข้ามา

ทีนี้ ลองดูของที่ผลิตในอเมริกาเอง เทียบกับที่เขาส่งเข้ามาขายในเมืองไทย ตู้เย็นอย่างดีพิเศษยี่ห้อ GE ขนาด ๒๔ คิว ชนิดหนึ่ง ผลิตขายในอเมริกาตู้ละประมาณ ๓๓,๐๐๐ บาท ขายในเมืองไทยตู้ละเกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท คนอเมริกันเก็บเงิน ๑๐% ของรายได้ต่ำสุดเพียง ๑ ปี ๓ เดือนเศษ ก็ซื้อตู้เย็นชนิดพิเศษนั้นได้ แต่คนไทยใช้รายได้ต่ำสุดของตนจะซื้อตู้เย็นนั้น ถ้าสะสมรายได้ไว้ ๑๐% จะต้องใช้เวลา ๓๙ ปี

ไม่เฉพาะเทคโนโลยีประเภทอำนวยความสะดวกสบาย หรือสินค้าฟุ่มเฟือยเท่านั้นที่คนไทยและคนในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องเสียเปรียบ แม้แต่เทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพของตัวคนเอง เช่นอุปกรณ์การศึกษาและเครื่องมือทำงานต่างๆ ก็เสียเปรียบเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ชั้นดียี่ห้อหนึ่ง ผลิตขายในสหรัฐฯ ราคาเครื่องละ ๒๘,๐๐๐ บาท ส่งมาขายในเมืองไทยเครื่องละ ๘๓,๐๐๐ บาท คนอเมริกันที่มีรายได้ต่ำสุดเก็บออมเงินเพียง ๑๐% ของรายได้นั้น ใช้เวลาเพียง ๑ ปี ๑ เดือน ก็ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นได้ แต่คนไทยจะเอารายได้ต่ำสุดของตนมาซื้อ ถ้าสะสมรายได้ไว้ ๑๐% จะต้องใช้เวลาถึง ๓๒ ปี จึงจะซื้อได้

คนไทยทั้งหลายควรจะต้องรู้ตระหนักถึงภาวะเสียเปรียบนี้ แล้วพยายามเสริมสร้างศักยภาพด้านอื่นให้มีค่าเป็นบวกอย่างสูงขึ้นมาให้เกิดความสมดุลให้ได้ หรือใช้ความเสียเปรียบให้เป็นประโยชน์แก่ตน มิใช่มัวแต่ตื่นเต้นหลงเพลิดเพลินมัวเมาเอาสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องเชิดชูตัวอวดโก้ในหมู่พวกกันเอง

เมื่อด้านวัตถุภายนอก ก็เสียเปรียบและด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างนี้อยู่แล้ว ถ้าด้านภายใน คือทางจิตใจและทางปัญญาก็ยังขาดคุณภาพอีก เช่น ทางจิตใจก็ไม่เข้มแข็งและใฝ่แต่เสพไม่ใฝ่สร้างสรรค์ทางปัญญา ก็ไม่รู้ทันและขาดหลักความคิด ก็จะยิ่งเสื่อมถอยด้อยต่ำลงไป

ผลร้ายที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ เมื่ออยู่สภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ คนรู้ตัวอยู่ชัดๆว่า ถ้าอยากได้สินค้าฟุ่มเฟือยทันสมัยอย่างหนึ่งมาใช้ จะต้องทำงานตลอดทั้งชาติหรือค่อนชีวิตจึงจะได้ เขาก็จะหมดความหวังและขาดความมั่นใจในการทำงาน แล้วจิตใจก็จะดิ้นรนหันเหออกไปที่จะหาวิธีการทำอย่างอื่น เพื่อจะให้ได้มีได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัยนั้นทันอกทันใจ อาจพาชีวิตตกลงไปหมกจมอยู่ภายใต้กองหนี้สิน หรือแม้แต่ถึงกับทำอะไรที่เป็นการทุจริต พร้อมกับที่ต้องตกเป็นเหยื่อของระบบการแสวงหาผลประโยชน์ยิ่งขึ้นไป เป็นการบ่อนทำลายทั้งชีวิตของบุคคลและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ

เพื่อให้สังคมไทยที่อยู่ในระดับกำลังพัฒนา สามารถยืนหยัดตั้งตัวขึ้นมาได้ ไม่ถอยหลัง และมีพลังก้าวออกไปข้างหน้าได้ คนไทยทั้งหลายจะต้องตั้งหลักทางจิตใจและทางปัญญาขึ้นมาให้ได้ โดยเฉพาะจะต้องพัฒนาความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ศึกษาให้รู้เท่าทันความเป็นไปในโลกทั้งทางบวกและทางลบอย่างแท้จริง และมีแนวความคิดที่มองความหมายของความเจริญให้ถูกต้อง

อย่างน้อย เมื่อยังอยากเจริญอย่างฝรั่ง ก็ต้องมองความหมายของความเจริญอย่างฝรั่งนั้นแบบนักผลิต นักทำ นักสร้างสรรค์ ไม่ใช่มองได้แค่ความหมายแบบนักเสพหรือนักบริโภค

นักเสพหรือนักบริโภคมองความหมายของความเจริญอย่างฝรั่งว่า “เจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง” แต่นักผลิตและนักสร้างสรรค์มอง ความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า “เจริญอย่างฝรั่ง คือ ทำได้อย่างฝรั่ง และทำให้ดียิ่งกว่าฝรั่ง”

เพราะฉะนั้น คนในประเทศไทยนี้ เมื่อจะซื้อเทคโนโลยีมาใช้ ถ้าเป็นเทคโนโลยีประเภทหรูหราฟุ่มเฟือยหรือเพื่อคุณค่าเทียม ควรมีความยับยั้งชั่งใจให้มาก ถ้าเป็นเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างแท้จริง หรือเพื่อคุณค่าแท้ เช่น เพื่อการศึกษา และการพัฒนาศักยภาพ เมื่อเห็นชัดเจนว่าจะต้องใช้ ก็พึงซื้อหามาพร้อมด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่มั่นคง และคิดหาทางที่ว่าจะใช้ให้เป็นประโยชน์เกินคุ้ม หรือให้มีผลในทางสร้างสรรค์เกินค่ากว่าที่คนในประเทศพัฒนาเองจะใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งเพียรพยายามที่จะผลิตเองให้ได้ต่อไป อย่างนี้จึงจะมีทางพัฒนาตัวขึ้นได้ มิฉะนั้น ก็จะต้องเป็นผู้ล้าหลังเขาอยู่เรื่อยไป

เทคโนโลยีนั้น ถ้าปฏิบัติต่อมันไม่ถูกต้อง แทนที่จะช่วยสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงามก้าวหน้า ก็จะกลับกลายเป็นเครื่องซ้ำเติมความด้อยพัฒนา

เทคโนโลยี เพื่อวัฒนาหรือเพื่อหายนะ

ต่อไป ขอให้พิจารณาลึกลงไปอีกว่า มนุษย์เราสร้างสรรค์และพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่ออะไร และเราใช้เทคโนโลยีเพื่ออะไร ในการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเราจะเห็นว่า กิจกรรมสำคัญ ๒ ประการของมนุษย์นี้เองเป็นเหตุให้เราสร้างเทคโนโลยีขึ้นมา คือ การทำมาหากินและการต่อสู้ป้องกันภัย ซึ่งแต่เดิมเป็นกิจกรรมที่พ่วงไปด้วยกัน

การทำมาหากิน ได้แก่การหาอาหาร และการผลิตอาหาร ในสมัยโบราณ มนุษย์ไปเก็บอาหารตามป่า เก็บผักผลไม้ในที่ที่มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และไล่สัตว์จับมาเป็นอาหาร

ในการไล่จับสัตว์นั้นสิ่งที่จะต้องทำก็คือ จะหา หรือจับมันได้อย่างไร ตอนแรกก็อาจจะใช้ก้อนหินขว้างบ้าง ทุ่มลงไปบ้าง ต่อมาก็พัฒนาขึ้นว่าทำอย่างไรจะให้ใช้ก้อนหินนั้นได้เรื่อยๆ ไม่ใช่ขว้างไม่ถูกแล้วก็เลยพลาดโอกาสไปเลย ก็มีการทำด้ามขึ้นมา ให้ก้อนหินติดอยู่ได้ ต่อมาก็ทำหินให้คมขึ้น ปรับปรุงไปมาก็กลายเป็นขวาน อะไรทำนองนี้

ส่วนในการไปเก็บพืชผักผลไม้ก็ต้องมีการขุดคุ้ย การหักเหนี่ยวเด็ดดึง ทำให้มีการพัฒนาเครื่องมือขึ้น ต่อมาอยากจะให้พืชผักต้นไม้งอกขึ้นในที่ที่ต้องการ ไม่ต้องเดินไปหาไกล ไม่ต้องรอ ก็เอามาปลูกเอง แต่จะทำอย่างไร ก็ต้องเพาะปลูกลงไปในดิน ต้องขุดดิน จะเอามือขุดก็ลำบาก ก็เลยเอาไม้มาจิ้มๆ แซะๆ ต่อมาก็คิดว่า เอ! ไม้นี้จะทำอย่างไรให้มันใช้ได้ดียิ่งขึ้น ก็พัฒนามันขึ้นไป จนมีรูปมีร่างต่างๆ ใช้ประโยชน์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น เป็นจอบเป็นเสียมอะไรขึ้นมาตามลำดับ เทคโนโลยีจึงเจริญขึ้นมาพร้อมกับการทำมาหากินของมนุษย์ ดังที่เราเห็นชัดเจนว่า ต่อมามนุษย์ก็ได้พัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ขึ้นมาเรื่อยๆ มีด ขวาน เครื่องปั่นด้าย ทอผ้า อะไรต่างๆ ก็พัฒนาขึ้นมาในเรื่องของการทำมาหากินทั้งนั้น โดยเฉพาะก็คือเรื่องของปัจจัยสี่ นี้ด้านหนึ่ง

อีกด้านหนึ่ง ที่มาด้วยกัน ก็คือการต่อสู้ป้องกันภัย ในการไปจับสัตว์ก็ดี หรืออยู่ดีๆ ตามปกติ สัตว์ร้ายอาจจะมาทำร้ายหรือไม่ก็ไปพบกับมันเข้า หรือมนุษย์ด้วยกันไปหาอาหาร ก็มีการแย่งชิงกันรุกล้ำถิ่นที่ของกันและกัน แม้แต่อยู่ตามปกติ บางทีก็มีการรังแกข่มเหงกัน ก็เกิดการต่อสู้ป้องกันภัยขึ้น การต่อสู้ป้องกันภัยนั้น ก็ทำให้มนุษย์สร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อจะต่อสู้ให้ได้ผล

รวมความว่า เทคโนโลยีเจริญขึ้นมาในสองด้านที่ว่ามานี้เป็นสำคัญ การทำมาหากินและการต่อสู้ป้องกันภัยเป็นแหล่งใหญ่ของเทคโนโลยีต่อมา เมื่อมีเทคโนโลยีดีขึ้นแล้ว เราก็ทำงานได้ผลในเวลารวดเร็วขึ้น และก็สามารถแบ่งงานกันทำ มีเวลาเหลือมากขึ้นจากการทำมาหากิน ก็มีโอกาสที่จะคิดสร้างสรรค์พัฒนาวิทยาการต่างๆ มากขึ้น ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเพื่อใช้ในด้านอื่นๆ เพิ่มขยายกว้างออกไป ความเจริญของเทคโนโลยีนี้ถ้าพิจารณาในทางธรรม คือพิจารณาตามหลักความจริงทั่วไปจะเห็นว่า การที่มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการคิดสร้างก็ดี การใช้ก็ดี จะแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือการคิดสร้าง และการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตอย่างหนึ่ง และเพื่อสนองความต้องการในทางปรนเปรอตน และทำลายผู้อื่นอีกอย่างหนึ่ง

ในด้านที่หนึ่ง เมื่อมนุษย์เจริญมากขึ้น สามารถสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีให้ประณีตซับซ้อนมากขึ้น เราก็สร้างและใช้เทคโนโลยีนั้นในทางที่เป็นคุณประโยชน์ เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของเรา เช่นใช้ในการศึกษา ก็มีการทำกระดานชนวนขึ้นมา ทำชอล์คขึ้นมา ทำสมุด ทำดินสอ ปากกา หนังสือ หรือเมื่อเราต้องการความสะอาดก็ทำไม้กวาดขึ้นมา อะไรทำนองนี้ แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ เราคิด สร้าง พัฒนา และใช้เทคโนโลยีเพื่อสนองความต้องการในทางเห็นแก่ตัว ซึ่งแสดงออกต่อตนเองเป็นการปรนเปรอบำรุง บำเรอ และแสดงออกต่อผู้อื่นเป็นการเบียดเบียนแย่งชิงและทำลาย

ในแง่ปรนเปรอบำรุงบำเรอตนเอง เช่น ต้องการหาผลประโยชน์ก็สร้างและใช้เทคโนโลยี เพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง เรียกทางธรรมว่าใช้เทคโนโลยี หรือสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อสนองโลภะ เพื่อสนองตัณหา ในสมัยปัจจุบันนี้จะเห็นว่า เทคโนโลยีมากมายเป็นเรื่องของการที่จะสนองตัณหา สนองโลภะ ปรนเปรอตนเอง ให้มีความสมอยากในทางประสาทสัมผัส หรือในทางเนื้อหนังมากขึ้น ดังที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่าเทคโนโลยีเพื่อปรนเปรอสนองความอยากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนี้ มีมากมายเกลื่อนกลาดเหลือเกิน

ส่วนความเห็นแก่ตัวที่แสดงออกต่อคนอื่นก็คือ พัฒนาเทคโนโลยีหรือสร้างมันขึ้นมา เพื่อเบียดเบียนฆ่าฟันซึ่งกันและกัน เป็นการสนองโทสะ นอกจากเบียดเบียนข่มเหงฆ่าฟันกันแล้ว ก็ใช้เป็นเครื่องครอบงำกันและกันให้อยู่ในอำนาจ เพื่อความยิ่งใหญ่ เพื่อการครองอำนาจ อย่างน้อยก็ใช้เทคโนโลยีเพื่ออวดโก้ เพื่อแสดงฐานะ เป็นการสนองสิ่งที่เรียกว่ามานะ ซึ่งก็เป็นเรื่องของกิเลสเหมือนกัน ทั้งนี้รวมไปถึงการใช้ในทางที่จะทำให้เกิดความหมกมุ่น มัวเมา เคลิบเคลิ้ม ลุ่มหลงต่างๆ อย่างเช่นเทคโนโลยีในด้านการพนัน ซึ่งมีมากมายหลายรูปแบบ ตลอดกระทั่งการใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องปกป้องรักษาและแผ่ขยายลัทธิศาสนาอุดมการณ์ ซึ่งเรียกว่าทิฏฐิ

รวมความว่า การใช้และสร้างสรรค์เทคโนโลยี เป็นไปใน ๒ ลักษณะนี้มาก คือ ด้านหนึ่งเพื่อการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิต และอีกด้านหนึ่งเพื่อสนองความต้องการในทางเห็นแก่ตัว และทำลายกัน

ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น เทคโนโลยีที่เด่นมาก ก็คือเทคโนโลยีด้านการต่อสู้ทำศึกสงคราม จะเห็นว่า เทคโนโลยีด้านนี้มีมากมายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ได้พัฒนาเป็นอย่างมาก มีอาวุธชนิดต่างๆ ทั้งทางบกทางน้ำทางอากาศ เริ่มต้นตั้งแต่ขวาน หอก มีด ดาบ ธนู เกาทัณฑ์ มาถึงปืน จนถึงระเบิดชนิดต่างๆ แม้กระทั่งระเบิดนิวเคลียร์ การที่มนุษย์สร้างอาวุธสำหรับทำลายกัน ในการทำศึกสงครามนั้น เรียกว่าเป็นเรื่องของการสนองโทสะ แต่ไม่ใช่เรื่องของโทสะในแง่ที่จะทำลายศัตรูเพียงอย่างเดียว ข้อสำคัญก็คือมันเป็นสิ่งที่สนองความต้องการอำนาจความยิ่งใหญ่ด้วย

การที่มนุษย์พัฒนาอาวุธและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสงคราม ก็เพื่อจะได้มีอำนาจยิ่งใหญ่ แม้แต่การใช้ในทางสนองโลภะ เพื่อหาทรัพย์สมบัติ ก็เพื่อสร้างอำนาจความยิ่งใหญ่ไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกันโดยโยงไปโยงมา แต่รวมความแล้ว เทคโนโลยีจะเป็นแบบที่สนองโลภะก็ตาม สนองมานะและทิฏฐิก็ตาม จะมีลักษณะคล้ายกันคือลักษณะที่รวมเข้าสู่ศูนย์กลาง หรือรวมศูนย์เข้าหาตนเอง เพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากๆ ได้ครอบครองอำนาจความยิ่งใหญ่ ตลอดจนเพื่อเชิดชูทิฏฐิลัทธินิยมอุดมการณ์ของตน

คนกลุ่มหนึ่งมีความเชื่ออย่างแรงกล้าในเทคโนโลยี ถึงกับหวังและใฝ่ฝันว่า ในอนาคต ถึงแม้โลกนี้จะหมดสภาพเป็นที่อยู่อาศัยได้ เพราะธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรมเสียไปก็ดี เพราะสงครามนิวเคลียร์ก็ดี มนุษย์ก็จะไปสร้างดินแดนในอวกาศอยู่อย่างมีความสุข บางคนก็ว่าจะไปสร้างดินแดนในดาวพระอังคารให้เป็นดั่งถิ่นสวรรค์ที่มนุษย์จะอยู่อย่างสุขสมบรูณ์ ความคิดเช่นนี้ต้องเรียกว่าเป็นความเพ้อฝันแท้ๆ เป็นการหลีกหนีความจริง และไม่แก้ปัญหาที่สาเหตุตามหลักเหตุปัจจัย

ในเมื่อไม่พัฒนาตัวคน ไม่ได้แก้ปัญหาที่ในตัวคนคือตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่เป็นมูลเหตุ เป็นตัวบงการความคิดและการกระทำ ตัวคนที่ไปอยู่ในอวกาศก็เป็นคนคนเดิม ที่เป็นอย่างเดิม ไปจากโลกนี้ก็นำเอาตัณหา มานะ ทิฏฐินั้นไปด้วย เมื่อรบกันจนโลกนี้พังพินาศไปแล้ว ไปในอวกาศ ไปดาวพระอังคาร ก็ไปทำสงครามอวกาศ แย่งชิงดินแดนกันที่นั่นอีก ทำลายโลกนี้แล้วหนีไปโลกอื่น ก็ไปทำลายโลกนั้นอีก และสงครามอวกาศจะรุนแรงยิ่งขึ้นไปกว่าสงครามในโลกนี้เสียอีก เมื่อแก้ปัญหาในโลกนี้ไม่ได้แล้ว จะหวังไปอยู่อย่างสันติสุขในโลกอื่น โดยมนุษย์คนเดียวกันกับที่ก่อปัญหาในโลกนี้ ซึ่งยังไม่ได้แก้ไขปรับปรุงตัวเอง คงต้องบอกว่าเป็นความเพ้อฝันที่ไม่อาจเป็นไปได้

สภาพอย่างหนึ่งที่ชี้บ่งถึงสัญชาตญาณในการทำลายที่ยังเป็นไปอย่างพรั่งพร้อมในจิตใจของมนุษย์ และแสดงถึงแรงจูงใจในการมีและใช้เทคโนโลยีว่าโน้มไปในทางทำลาย ก็คือ เรื่องราวการแสดงต่างๆในภาพยนตร์และทีวี ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องการต่อสู้และศึกสงคราม เหมือนจะบอกว่า ถ้ามนุษย์จะพัฒนาเทคโนโลยี ก็จะนึกถึงการที่จะใช้เทคโนโลยีนั้นเพื่อการทำลายศัตรู เพื่อครอบงำ เพื่อแย่งชิง เพื่อมีอำนาจเหนือผู้อื่นเป็นอันดับแรก แม้แต่วีดีโอเกมส์ต่างๆ สำหรับเด็กที่แพร่หลายในปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องของความรุนแรงโดยส่วนใหญ่ ซึ่งฟ้องอยู่ในตัวถึงปมปัญหาอะไรๆ หลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น ทางด้านผู้ดูผู้ฟังผู้เล่น รวมทั้งตัวเด็กเอง ก็มีสัญชาตญาณในการต่อสู้และการทำลายเป็นตัวเด่น ทางฝ่ายผู้ผลิตสิ่งเหล่านี้ก็มุ่งแต่จะสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยหวังเอาแต่ผลประโยชน์อย่างเดียว

จิตใจที่พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ หาได้เป็นจิตใจที่พัฒนาแล้วแต่อย่างใดไม่ คือ เป็นจิตใจของมนุษย์ที่ยังไม่ได้พัฒนาตนเอง ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี จึงมิได้เป็นหลักประกันหรือเป็นเครื่องแสดงถึงความพัฒนาของจิตใจมนุษย์หรือการพัฒนาตัวของมนุษย์เอง แต่แสดงถึงการที่ความเจริญของจิตใจก้าวไม่ทัน หรือไม่ได้ก้าวไปด้วยกันกับความเจริญของเทคโนโลยี ดังนั้น ถ้ามนุษย์เคยเบียดเบียนแย่งชิงทำลายและลุ่มหลงมัวเมาอย่างไร เทคโนโลยีก็เพียงมาช่วยเสริมให้การเบียดเบียนแย่งชิงทำลายและลุ่มหลงมัวเมานั้น สามารถแสดงออกและเป็นไปได้อย่างสะดวกดาย และรุนแรงเต็มขีดมากขึ้นเท่านั้น และดูเหมือนว่ามนุษย์ยุคปัจจุบัน จะใช้เทคโนโลยีในรูปลักษณะนี้เป็นเครื่องมือให้การศึกษาแก่มวลชน และแก่เยาวชนเป็นแนวหลัก

ถ้าการศึกษาของประชาชน โดยเฉพาะของเด็กและเยาวชนเป็นไปอย่างนี้ ไม่ว่าโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นที่ยอมรับของทางการหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นการศึกษานอกระบบกระแสหลัก แล้วจะหวังความสวัสดีแก่สังคมนี้ได้อย่างไร เพราะที่แท้แล้วมันหาใช่การศึกษาไม่ แต่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการศึกษาเลยทีเดียว และข้อนี้ย่อมเป็นคำอธิบายได้อย่างหนึ่งว่า ทำไมการพัฒนาคนจึงเดินสวนทางกับการพัฒนาเทคโนโลยี คือ ในขณะที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามากขึ้น แต่คุณภาพของคน หรือคุณภาพของความเป็นมนุษย์กลับจะลดต่ำลง และถ้าสภาพนี้ดำเนินสืบเนื่องต่อไปนานๆ โดยไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ แม้แต่การพัฒนาเทคโนโลยี หรือการพัฒนาศักยภาพด้านขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ที่เจริญล้ำดิ่งมาส่วนเดียวอย่างไม่ได้สมดุลนี้ ก็จะต้องถูกถ่วงดึงให้ล้าลงและหยุดชะงักไปด้วยในที่สุด เพราะคุณภาพของคนทุกด้านย่อมส่งผลสัมพันธ์โยงถึงกันทั่วทั้งหมด

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือ เมื่อความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาประสานเข้ากับระบบเศรษฐกิจแบบถือผลประโยชน์เป็นใหญ่ ถ้าระบบผลประโยชน์นี้เหนียวแน่นแข็งแรงลงลึกมาก การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยี ก็จะถูกกำหนดโดยระบบผลประโยชน์ทั้งหมด จะเป็นไปเพื่อสนองความต้องการผลประโยชน์เท่านั้น และเมื่อความเข้มแข็งทางจริยธรรมไม่มีกำลังพอ สังคมก็จะมาถึงขั้นหนึ่งที่ว่า แม้คนจะยังมีจิตสำนึกทางคุณธรรมอยู่บ้าง และมีความเพียรพยายามแสดงออกและทำการต่างๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุง แต่กลไกต่างๆ ภายในระบบจะตรึงตัว เต็มไปด้วยจุดกระทบที่ทำให้ติดขัดไปหมด องค์ประกอบทั้งหลายของสังคมจะอ่อนแอ ไม่มีกำลังพยุงตัวเอง ได้แต่อ่อนตัวไปตามระบบ และสภาพแวดล้อมของสังคมก็จะไม่เอื้อต่อการแก้ไขปรับปรุงทางจริยธรรม เมื่อถึงจุดนั้นสังคมก็อาจจะเข้าสู่ภาวะหมดความสามารถทางศีลธรรม หรือ ภาวะไร้สมรรถภาพทางจริยธรรม เป็นเหมือนคนที่ตกลงไปในโคลนดูด หรือพลัดลงไปในทรายดูด แม้มือและแขนจะแข็งแรงก็ได้แต่ไขว่คว้าไปเปล่าๆ แม้จะมีโคลนมีทราย ก็อาศัยทานแขนพยุงตัวไม่ได้ ทรายและโคลนเหล่านั้นมีแต่จะมาช่วยกันทับถมดูดตัวให้จมดิ่งลงไป

ในสังคมที่มีสภาพเช่นนี้ เมื่อมีปัญหาที่จะต้องป้องกันแก้ไข หรือมีงานสร้างสรรค์ที่จะต้องจัดทำ ทั้งที่รู้ดีว่าจะต้องทำอะไรบ้างอย่างไร และอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ไม่ยาก แต่เมื่อขัดกับการแสวงหาและการที่จะได้ผลประโยชน์ส่วนตัว ก็ไม่อาจป้องกันแก้ไขปัญหาหรือจัดทำสิ่งที่ดีงามให้สำเร็จได้ เพราะไม่มีกำลังและที่เกาะเกี่ยวยึดเหนี่ยวทางจริยธรรมที่จะให้ก้าวขาอ้าแขนออกไปทำการ ทั้งที่มีเทคโนโลยีและทรัพยากรทุกอย่างพรั่งพร้อมบริบรูณ์ที่จะใช้จัดทำได้ ก็กลายเป็นหมันไปหมดสิ้น หรือไม่ก็เอาไปใช้แต่ในทางที่จะสนับสนุนการแสวงหาผลประโยชน์ และแม้กระทั่งกระทำในทางตรงข้าม คือ ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับขัดขวางทำลายการป้องกันแก้ไขปัญหาหรือการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามนั้น สังคมจะต้องถอยตัวออกมา ก่อนที่จะถลำตกลงไปในภาวะไร้สมรรภาพทางจริยธรรมอย่างที่กล่าวมานั้น

ในเรื่องของความคิด และแรงจูงใจในการสร้างสรรค์และใช้เทคโนโลยีนี้ ตามปกติ การสร้าง โดยเฉพาะตัวความคิดที่จะสร้างหรือแรงจูงใจในการสร้างเทคโนโลยีนี้ จะเป็นตัวจำกัดขอบเขตการใช้งานของเทคโนโลยีด้วย

ในสมัยก่อน ความคิด หรือแรงจูงใจในการสร้างเทคโนโลยีมักจะเป็นเรื่องกว้างๆ คลุมๆ รวมๆ กันไป ไม่ชัดลงไปว่าจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรจำเพาะเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีสมัยก่อนนั้น ทำขึ้นมาแล้วก็มักจะใช้งานได้หลายอย่าง คือจะใช้ในแง่สันติก็ได้ ในแง่สงครามก็ได้ เช่น มีด เราอาจจะเอามาใช้ตัดไม้ปลูกบ้าน สับอาหารปรุงกับข้าวในครัวก็ได้ อาจจะเอามาทำร้ายกัน ฆ่าฟันคนอื่นก็ได้ แต่เมื่อเจริญมากขึ้น ความคิดทำเพื่อความมุ่งหมายพิเศษเฉพาะอย่างก็มากขึ้น

โดยเฉพาะในเมื่อมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการต่างๆ แบบชำนาญพิเศษเฉพาะทาง ทำให้ความรู้ความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน เจริญพุ่งออกไปในแต่ละด้านๆ การพัฒนาเทคโนโลยีก็เลยมีลักษณะจำเพาะมากขึ้นด้วย ในสมัยนี้จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีชนิดที่ใช้ได้เฉพาะกิจ เช่น ใช้ในการสงครามอย่างเดียว เอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีมีด มีรถ ตลอดจนมีเครื่องบิน ในตอนแรกๆ อาจจะใช้งานได้กว้างๆ ทั่วไป ใช้ในทางสันติก็ได้ ใช้ทำสงครามก็ได้ แต่ต่อมาเรามีปืนเอ็ม ๑๖ ปืนอาร์ก้า ซึ่งต้องใช้ในทางฆ่ากันเท่านั้น จะเอาไปใช้ในทางสันติก็ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ สร้างรถขึ้นมาสำหรับใช้ในการสงครามโดยเฉพาะเช่นรถถัง รถเกราะ เครื่องบินก็พัฒนาให้เป็นเครื่องบินรบโดยเฉพาะ มีเครื่องบินมิก เครื่องบินเอฟ. ๑๔ เอฟ. ๑๕ เอฟ. ๑๖ นอกจากระเบิดนิวเคลียร์ เรายังมีระเบิดนิวตรอน ซึ่งมุ่งให้ทำลายเฉพาะตัวคนแท้ๆ โดยที่ตัวอาคารสถานที่ไม่เสียหาย อเมริกาคิดทำลูกระเบิดชนิดนี้ขึ้นมาแล้ว แต่ยังถูกท้วงอยู่ไม่ให้ใช้ เพราะถ้าใช้แล้วก็จะเกิดอันตรายมหาศาล คือทิ้งลงไปแล้วคนหรือสิ่งมีชีวิตเท่านั้นตาย แต่ตัวตึก โต๊ะ เก้าอี้วัสดุอุปกรณ์อะไรต่างๆ จะอยู่ในสภาพเป็นปรกติ ไม่แตกหัก ไม่พัง

รวมความว่า มนุษย์คิดวิธีการที่จะสังหารกันได้มากมาย จนกระทั่งผลิตผลทางเทคโนโลยีนั้นใช้ได้จำเพาะอย่างเดียว เป็นเรื่องของสงคราม เป็นเรื่องของการทำร้าย ฆ่าฟันกันโดยเฉพาะ ในเมื่อมนุษย์มีความคิด มีแรงจูงใจเบื้องหลังการสร้างและการใช้เทคโนโลยีแบบนี้ เทคโนโลยีก็จะมีโทษพิษภัยเป็นอันมาก ปัญหาของเราก็คือจะปฏิบัติอย่างไรในเรื่องนี้

ได้บอกเมื่อกี้แล้วว่า โดยทั่วไปเทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งที่ใช้ได้ทั้ง ๒ ทาง คือ จะใช้เพื่อสนองความต้องการในทางเห็นแก่ตัวและทำลายกันก็ได้ จะใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือพัฒนาศักยภาพของคนก็ได้ เทคโนโลยีบางอย่างใช้ได้ทั้งสองทาง แล้วแต่ว่าจะใช้อย่างไร แต่บางอย่างกำหนดมาจากการผลิตหรือสร้างขึ้นทีเดียว ว่าจะให้ใช้ประโยชน์ทางไหน ฉะนั้น ในยุคที่เทคโนโลยีเจริญพร้อมกับความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านนี้ ถ้าคนมีแรงจูงใจที่ชั่วร้ายไม่มีคุณธรรมปัญหาเรื่องนี้ก็จะมีมากขึ้น

ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรจะให้มนุษย์ พยายามสร้างเทคโนโลยีชนิดที่อำนวยประโยชน์ในทางที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ และใช้เทคโนโลยีนั้นในทางที่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างที่กล่าวมา

ปัจจุบันนี้จะเห็นว่า นอกจากเทคโนโลยีชนิดที่ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะแง่เดียว หรือใช้ได้อย่างเดียวในการทำลายแล้ว หลายอย่างก็ใช้ได้ทั้งในทางที่เป็นคุณประโยชน์ และในทางที่สนองกิเลส ดังที่เห็นๆ กันอยู่

โทรทัศน์ จะใช้ในทางดี เอามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ใช้เป็นเครื่องแสวงหาความรู้เสริมสร้างความคิดความเข้าใจจากข่าวสารข้อมูลและสารคดีต่างๆ ตลอดจนเอามาใช้ฝึกสอนวิชาความรู้กันต่างๆ ก็ได้ หรือจะใช้เป็นเครื่องสนองกิเลสต่างๆ ก็ได้ ในขั้นต้นๆ ก็อาจจะเป็นเพียงรายการบันเทิง เรื่องสนุกสนานต่างๆ หรืออาจจะใช้ในการโฆษณาสินค้า ตลอดจนใช้ในการเผยแพร่ข่าวสารที่อำพรางหรือเป็นเท็จ ชักนำให้หลงผิดก็ได้ แม้กระทั่งว่าชาวบ้านก็อาจจะใช้โทรทัศน์ในการเล่นการพนันอย่างที่เรียกว่ามวยตู้ อย่างนี้เป็นต้น

โทรศัพท์ก็เหมือนกันจะใช้ติดต่อกันในทางดีหรือทางร้ายก็ได้ วิทยุ วีดีโอ เครื่องบันทึกเสียง ก็ทำนองเดียวกัน หรืออย่างในวันนี้ ถ้าพูดเข้าข้างตัวก็ว่า เรากำลังใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต กำลังใช้ไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียงเพื่อพูดรายการเกี่ยวกับพุทธธรรม หรือสไลด์มัลติวิชั่นเรื่องชีวประวัติท่านพุทธทาสที่ฉายให้ดูเมื่อกี้ ก็เป็นการใช้เทคโนโลยีในทางที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต

เป็นอันว่า ปัญหาของมนุษย์ที่เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีในแง่ของพุทธธรรมด้านหนึ่งก็คือ ทำอย่างไรจะให้คนคิดสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีและใช้เทคโนโลยีในทางที่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งอาจทำได้ทั้งสองอย่าง คือ ผลิตหรือใช้เทคโนโลยีนั้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยตรง และอีกอย่างหนึ่งคือใช้เทคโนโลยีนั้นเพื่ออำนวยโอกาสให้เราสามารถพัฒนาตน เช่น เทคโนโลยีบางอย่างช่วยทุ่นเวลาและแรงงานของเรา เราใช้มันทำงานเสร็จโดยง่ายและเร็วไวแล้ว เรามีเวลาและแรงงานเหลืออยู่มาก ก็จะได้เอาเวลาและแรงงานนั้นไปใช้ประโยชน์ บางท่านก็เอาไปใช้ในการแสวงหาความรู้ ถ้าเป็นผู้สนใจธรรม ก็อาจเอาไปใช้ในการปฏิบัติธรรม ไปทำกรรมฐานหรือไปอ่านหนังสือธรรม หรือไปแนะนำให้ความรู้และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อะไรต่างๆ ทำนองนี้ เท่ากับว่าเทคโนโลยีอำนวยโอกาสแก่เรา ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตได้มากขึ้น แต่ถ้าเราไม่ใช้ในทางดี มันก็อำนวยโอกาสเหมือนกัน แต่อำนวยโอกาสในการที่จะทำลายคุณภาพชีวิต เช่น ใช้มอมเมา สร้างความลุ่มหลงหมกมุ่น ใช้เล่นการพนัน นี้ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับทางธรรม

เป็นธรรมดาที่เราจะต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะเกี่ยวข้องอย่างฉลาด ให้เป็นคุณประโยชน์ได้อย่างไร พูดด้วยภาษาพระก็คือ จะใช้และเกี่ยวข้องกับมันในทางที่จะให้เกิดเป็นกุศล ถ้าเป็นไปได้ก็คือ ต้องพยายามที่จะผลิตหรือสร้างสรรค์เทคโนโลยีชนิดที่ใช้ประโยชน์ ได้แต่ในทางกุศลให้มากขึ้น ปัจจุบันนี้มีปัญหาว่า โลกได้ผลิตได้สร้างเทคโนโลยีสำหรับใช้ในทางที่เป็นอกุศลมากกว่า มีบางส่วนเท่านั้นที่เอามาใช้อำนวยประโยชน์ในทางกุศลได้ด้วย

เทคโนโลยี เครื่องมือพิชิตธรรมชาติ

ต่อไป ขอพูดเลยไปถึงเรื่องท่าทีของมนุษย์ต่อธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเหมือนกัน เรื่องนี้สัมพันธ์กับข้อก่อนที่ว่ามาแล้ว ได้กล่าวแล้วว่า ประวัติการคิดสร้างสรรค์เทคโนโลยีของมนุษย์ ดำเนินมาด้วยกันกับประวัติอารยธรรมของมนุษย์ โดยเทคโนโลยีก็เป็นส่วนสำคัญของอารยธรรมของมนุษย์ด้วย มนุษย์เจริญผ่านยุคต่างๆ โดยมีลักษณะการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน จะขอแยกแยะสิ่งที่พูดไว้ในข้อก่อนให้ขัดเจนขึ้น กล่าวคือ เขาแบ่งประวัติอารยธรรมของมนุษย์เป็นระยะ หรือยุคต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตและเทคโนโลยีด้วย

ยุคแรกทีเดียวอาจจะเรียกว่า ยุคบุพกาล คือก่อนที่จะมีอารยธรรม เป็นยุคที่มนุษย์เที่ยวเก็บหาอาหารซึ่งเป็นพืชพรรณที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจับสัตว์กิน ในยุคนี้ชีวิตของมนุษย์ขึ้นกับธรรมชาติโดยสิ้นเชิง เพราะอาหารที่เป็นพืชพรรณนั้นขึ้นอยู่เองตามพื้นดิน มนุษย์ไปเก็บเอาตามที่มันเกิดอยู่แล้ว สัตว์ก็เกิดอยู่บนท้องทุ่งป่าเขาตามธรรมชาติ มนุษย์ก็ไปจับเอามันมา ยุคนี้แทบจะไม่มีเทคโนโลยีเลย นอกจากเครื่องมือขั้นต้นเพียงเล็กน้อย

ต่อมา มนุษย์มีความเป็นอยู่เจริญขึ้น ไม่อยากไปหาอาหารไกลๆ ต้องการให้อาหารอยู่ใกล้ในที่อยู่ของตัว หรือใกล้ที่อยู่ของตัว และให้ตัวเองสามารถกำหนดปริมาณของมันได้ ตลอดจนมีพร้อมที่จะบริโภคได้ในเวลาที่ต้องการ มนุษย์ก็ดำเนินชีวิตก้าวหน้าขึ้นมา มีการเพาะปลูกพืช และมีการเลี้ยงสัตว์ แทนที่จะวิ่งไล่ตามสัตว์ไป ก็เอาสัตว์มาเลี้ยงในที่ของตัวเอง ยุคนี้เรียกว่า ยุคเกษตรกรรม

ในยุคเกษตรกรรมนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นต้นขึ้นมาแล้ว เช่น ในการเพาะปลูก ก็มีการคิดทำจอบ ทำเสียมขึ้นมา ในการเลี้ยงสัตว์ก็รู้จักสร้างที่ให้มันอยู่ มนุษย์รู้จักทำอะไรที่เป็นของตนเองขึ้นมาบ้าง แต่การทำอะไรของมนุษย์ในยุคนี้ ก็เป็นการทำโดยกลมกลืนกับธรรมชาติ คือ มนุษย์จะต้องเรียนรู้วิถีของธรรมชาติว่าเป็นอย่างไร แล้วทำให้สอดคล้องกับวิถีของธรรมชาตินั้น เช่น จะเพาะปลูกพืชก็ต้องเลือกชนิดหรือพันธุ์ ที่ถูกกับสภาพดินฟ้าอากาศของท้องถิ่น และต้องทำให้เป็นไปตามฤดูกาล ต้องรู้ว่าหน้าฝนจะมาในเดือนนี้ ฝนมา น้ำมีแล้ว จะต้องไถ ต้องหว่าน ต้องเก็บเกี่ยวไปตามเวลาที่สอดคล้องเป็นไปตามธรรมชาติ แม้จะรู้จักทำสิ่งที่เป็นของตนเอง แต่ก็ต้องทำให้กลมกลืนกับธรรมชาติ แต่ก็เรียกว่ารู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมากขึ้น และมีเทคโนโลยีขึ้นแล้ว แม้กระนั้นก็ยังมีชีวิตที่ขึ้นกับธรรมชาติมาก ความเป็นไปในธรรมชาติที่ไม่เกื้อกูลมีผลกระทบกระเทือนต่อมนุษย์มาก

ชีวิตในยุคเกษตรกรรมอย่างที่กล่าวมานั้น มนุษย์ยังไม่พอใจ ก็จึงคิดหาทางที่จะมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ชีวิตที่ดียิ่งกว่านี้ก็คือ ชีวิตที่ตนเองสามารถกำหนดความเป็นอยู่ มีอำนาจจัดสรรความสุขสมบูรณ์ของตัวเองได้มากขึ้น เมื่อพยายามดิ้นรนสร้างสรรค์ต่อมา มนุษย์ก็เจริญขึ้นมาสู่ยุคใหม่อีกยุคหนึ่ง คือได้พัฒนาเทคโนโลยีระดับก้าวหน้าขึ้นมา มีเครื่องจักรเครื่องกล ถึงตอนนี้มนุษย์ก็สามารถผลิตอาหาร ผลิตปัจจัยสี่ได้ทีละมากๆ ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น เขาเรียกว่า เป็น ยุคอุตสาหกรรม

ในยุคอุตสาหกรรมนี้มนุษย์มีเวลาเหลือว่างมากขึ้น ก็จึงมีการศึกษาวิทยาการอะไรต่างๆ มีความรู้ความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านๆ มากขึ้นไปตามลำดับ เป็นยุคที่เทคโนโลยีเจริญอย่างแท้จริง และมีความก้าวหน้ามาก เมื่อความเจริญแบบนี้เริ่มต้นขึ้นใหม่ๆ มนุษย์พากันใฝ่ฝัน มีความหวังว่า ต่อไปในไม่ช้า โลกนี้จะมีความอุดมสมบูรณ์ มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมตามที่มนุษย์ต้องการ มนุษย์จะสามารถจัดสรรและจัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามปรารถนา เมื่อเริ่มยุคอุตสาหกรรม มนุษย์มีความฝันอย่างนี้ เหมือนกับที่มนุษย์ในยุคเทคโนโลยีแบบปัจจุบันนี้ฝันนั้นเอง

หลักการสำคัญในการสร้างความเจริญของมนุษย์ยุคนี้ก็คือความใฝ่ฝันว่าจะต้องเอาชนะธรรมชาติ หรือ พิชิตธรรมชาติ การที่รู้กฎธรรมชาติ แล้วนำความรู้นั้นมาใช้จัดสรรสิ่งต่างๆ เอาชนะธรรมชาติได้ นั่นแหละคือการที่มนุษย์ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความก้าวหน้าในการพิชิตธรรมชาติ ก็คือ ความก้าวหน้าของวิทยาการที่มีความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน แตกแขนงซอยถี่ออกไปมากยิ่งขึ้น และเครื่องมือพิชิตธรรมชาติที่ได้ผล ก็คือเทคโนโลยีที่ซับซ้อน มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อกล่าวโดยรวม การพยายามเอาชนะธรรมชาติ ความรู้ความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นับว่าเป็นลักษณะพิเศษของยุคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะความพยายามของมนุษย์ในการเอาชนะธรรมชาตินั้นได้แสดงออกในพฤติกรรมต่างๆ มากมาย จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า เป็นการเบียดเบียนธรรมชาติทีเดียว

มนุษย์ได้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างนี้มาเป็นเวลานาน เวลาล่วงมาๆ เทคโนโลยีก็เจริญมากขึ้นๆ จนถึงตอนหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้เอง มนุษย์ก็เริ่มรู้ตัวขึ้นมา มองเห็นว่าปัญหาใหม่ที่ไม่เคยคิดฝัน ได้เกิดขึ้นแล้วในโลกที่มนุษย์เป็นอยู่นี้ ซึ่งที่จริงเป็นปัญหาที่สะสมมานานแต่เพิ่งโผล่ให้เห็น เราไม่รู้ตัวมาก่อน พอมันปรากฏตัวขึ้นมามนุษย์เราก็ลำบากแทบแย่เลย เพราะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมากถึงขั้นที่ว่า โลกมนุษย์นี้อาจจะสูญสิ้นพังพินาศไปก็ได้

ภัยอันตรายที่มนุษย์รู้ตระหนักขึ้นมาใหม่ๆ ไม่นานนี้ คืออะไรบ้าง ที่เด่นก็คือ ปัญหาสภาพแวดล้อมเสีย ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอไป การเกิดมลภาวะต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตในธรรมชาติมาก เมื่อธรรมชาติสูญเสียหรือวิปริตผิดเพี้ยนไป ผลร้ายก็สะท้อนกลับมากระทบกระเทือนแก่มนุษย์ในรูปต่างๆ เช่น โรคภัยไข้เจ็บแปลกๆ อากาศเสีย ซึ่งทำให้สุขภาพของมนุษย์เสียไป โรคภัยไข้เจ็บที่รักษายากบางอย่างเช่น มะเร็ง ก็มีส่วนที่เกิดจากการทำลายสภาพแวดล้อมนี้ด้วย อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่มนุษย์ต้องให้ความสนใจ และต้องใช้พลังความคิดในการแก้ไขมาก

ปัญหาต่อไป แม้จะเป็นเรื่องปลีกย่อย แต่ก็คอยก่อกวนระบบอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลาก็คือ เทคโนโลยีในยุคอุตสาหกรรมที่ผลิตอะไรได้มากมายและรวดเร็วนี้ ได้ทำให้เกิดการว่างงาน เป็นปัญหาของสังคมปัจจุบันที่ต้องแก้ไขกันอยู่เรื่อยไป

ปัญหาอีกด้านหนึ่งก็คือ ความเจริญในยุคอุตสาหกรรมทำให้มีวัตถุบริโภคมาก มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายตลอดจนปรนเปรอบำรุงบำเรอมาก ในเมื่อไม่มีการพัฒนาคุณภาพของคนควบคู่ไปด้วยอย่างเพียงพอ ก็ทำให้มนุษย์ในยุคนี้มีการแข่งขัน ในลักษณะของการเอารัดเอาเปรียบแก่งแย่งเบียดเบียนกันมาก เช่น แก่งแย่งเพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากกว่าเพื่อจะได้ครองอำนาจเหนือกว่า

อีกด้านหนึ่งปัญหาสำคัญที่เด่นชัดมากขึ้นๆ ก็คือภาวะจิตใจ ซึ่งปรากฏว่า มนุษย์ในยุคนี้ โดยเฉพาะในสังคมอุตสาหกรรมที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีสูง มีความเครียดมาก มีจิตใจที่กลัดกลุ้มกังวล มีความกระวนกระวายสูง มีสภาพจิตที่เรียกว่าความรู้สึกแปลกแยกรุนแรง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เกิดจากลักษณะการทำงาน และความเป็นอยู่ในยุคอุตสาหกรรมที่เจริญด้วยเทคโนโลยีนี้เอง

ยิ่งกว่านั้นภาวะทางจิตใจที่มีความเครียดความกระวนกระวายมาก มีความรู้สึกแปลกแยกมากนั้น ก็ส่งผลสะท้อนกลับไปเป็นปัญหาต่อสุขภาพของมนุษย์ ทำให้มนุษย์ในประเทศที่เจริญด้วยอุตสาหกรรมนั้นพากันเป็นโรคหัวใจมาก เป็นโรคความดันโลหิตสูงกันมาก อย่างนี้เป็นต้น ดังเป็นที่รู้กันว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศอเมริกา โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการตายอันดับหนึ่ง จนเรียกว่าเป็นโรคของอารยธรรม

เมื่อมาเจอปัญหาเหล่านี้เข้า มนุษย์ก็เริ่มรู้สึกผิดหวังต่อความเจริญทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ผิดหวังต่อความเจริญซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการพัฒนาของมนุษย์ หรือการสร้างความเจริญโดยมุ่งเอาชนะธรรมชาติ สาเหตุสำคัญของปัญหาก็อยู่ที่ว่า การสร้างความเจริญทางเทคโนโลยีด้วยการแข่งกัน พัฒนาความรู้ความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านของตนพุ่งตรงออกไป แตกแขนงแยกกันออกไปๆ ก็ดี การมุ่งเอาชนะธรรมชาติก็ดี ล้วนนำไปสู่การสูญเสียความสมดุลและการทำลายระบบความอิงอาศัยสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดความระส่ำระสาย ในเวลาที่ทำไปอย่างนี้ มนุษย์ไม่รู้ตัวว่าได้ค่อยๆ ทำลายระบบการดำรงอยู่ร่วมกันขององค์ประกอบต่างๆ ที่จะทำให้ชีวิตมนุษย์เป็นอยู่ได้ ทำให้ระบบนั้นเสียสมดุลและแตกสลายลงไปเรื่อยๆ

จะอยู่กับใคร: กับคนและธรรมชาติ
หรือกับเทคโนโลยี

สิ่งที่เป็นองค์ประกอบร่วม ซึ่งช่วยให้มนุษย์อยู่ได้ด้วยดีนั้นมี ๓ อย่างคือ หนึ่ง ตัวมนุษย์เอง สอง สังคม สาม ธรรมชาติแวดล้อม

สำหรับตัวมนุษย์เองที่ประกอบด้วยกายกับใจนั้น กายกับใจก็ต้องประสานกลมกลืน มีความสมดุลพอดีต่อกัน ถ้ากายกับใจอยู่ร่วมกันโดยทำงานประสานเกื้อกูลกันด้วยดี ก็เป็นชีวิตที่สมบูรณ์และเป็นตัวมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่ตัวมนุษย์นี้ยังต้องสัมพันธ์อาศัยสิ่งอื่นอีก จะอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพังไม่ได้ อย่างแรก ชีวิตมนุษย์ต้องสัมพันธ์อิงอาศัยธรรมชาติ มนุษย์นั้นเกิดจากธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในธรรมชาติ และตามกฎธรรมชาติ หนีจากธรรมชาติไม่ได้ และอีกอย่างหนึ่ง มนุษย์นั้นอยู่รวมกันเป็นสังคม สามอย่างนี้เป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้เกิดภาวะการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ การที่มนุษย์จะดำรงอยู่ด้วยดี องค์ประกอบเหล่านี้จะต้องมีความประสานกลมกลืนสมดุลกัน

ทีนี้ การพัฒนาความเจริญของมนุษย์ในยุคที่ผ่านมานั้นแตกแยกออกไปเป็นด้านๆ ไม่ประสานกัน และมุ่งเอาชนะกดขี่ธรรมชาติก็จึงผิดกฎเกณฑ์นี้ เริ่มด้วยผิดหลักการประสานกลมกลืนส่วนที่หนึ่ง กล่าวคือ เมื่อเรามุ่งเอาชนะพิชิตธรรมชาติ เราก็มีลักษณะการกระทำ และมีพฤติกรรมที่เป็นการทำลายธรรมชาติไปด้วย เมื่อธรรมชาติถูกทำลาย องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดความประสานกลมกลืนพอดี มีดุลยภาพก็เสียไป เมื่อเสียดุล ขาดความพอดีและความประสานกลมกลืนไปแล้ว มนุษย์ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยดี ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เมื่อธรรมชาติเสียหายแล้ว ชีวิตมนุษย์ก็พลอยถูกกระทบกระเทือนไปด้วย

ฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏเป็นปัญหาในสภาพปัจจุบัน ก็เกิดขึ้นกับองค์ประกอบ ๓ อย่างนี้เอง คือ ที่ตัวมนุษย์เอง ร่างกายก็มีโรคภัยไข้เจ็บที่น่ากลัวเกิดแพร่หลายมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ซึ่งบางอย่างก็แทบจะหมดหวังในการรักษา สุขภาพกายก็เสื่อมเสีย จิตใจก็เป็นทุกข์ เช่น มีความเครียด ความกลุ้มกังวล กระวนกระวายมาก มีความรู้สึกแปลกแยกมาก สุขภาพจิตก็เสีย ในด้านธรรมชาติ ดินน้ำอากาศก็เสีย สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม มีมลพิษมาก ถิ่นที่อยู่ของมนุษย์บางแห่งสภาพแวดล้อมเสียมากจนอยู่ไม่ได้ มนุษย์ต้องทิ้งถิ่นฐานอพยพออกไป ส่วนในด้านสังคม ก็มีการเอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่งแข่งขันกันมากขึ้น มนุษย์หวาดระแวงกันมากขึ้น ขาดความรู้สึกมีส่วนร่วมในสังคมนั้นๆ การอยู่ด้วยกันไม่มีความอบอุ่น เต็มไปด้วยสภาพตัวใครตัวมัน ทีใครทีมัน

ปัญหาที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นผลกระทบต่อองค์ประกอบในการอยู่ร่วมกัน ๓ อย่างนี้ทั้งสิ้น ฉะนั้น ปัจจุบันนี้มนุษย์จึงเริ่มเกิดความตื่นตัว ที่จะรู้เข้าใจโทษภัยของความเจริญแบบเอาชนะธรรมชาติ เมื่อรู้สึกถึงอันตรายของความเจริญแบบนี้ ก็คือรู้สึกถึงภัยของเทคโนโลยีด้วยนั่นเอง เพราะเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเจริญแบบนี้ เมื่อตื่นตัวแล้วก็หาทางออกกันเป็นการใหญ่

ทางออกทางหนึ่งก็อยู่ที่เทคโนโลยีนั่นเอง คือ หาทางสร้างสรรค์พัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่ไม่เกิดโทษภัย ดังปรากฏว่า ปัจจุบันนี้มีกลุ่มชนไม่น้อยหันมาสนใจเทคโนโลยีตามแนวความคิดใหม่ ที่เขาเรียกว่า เทคโนโลยีระดับกลาง (intermediate technology) หรือบางทีเรียกว่า เทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) และยังมีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง บ้างก็เรียกว่า ซอฟท์เทคโนโลยี เทคโนโลยีที่นุ่มนวล (soft technology) หรือว่า เซนซิเบิลเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่สมเหตุสมผลหรือมีความสำนึกหน่อย (sensible technology) ออลเทอร์เนตีฟเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่เป็นทางเลือก (alternative technology) อะไรทำนองนี้ มีชื่อเรียกมากมาย การที่มีชื่อเรียกหลายอย่างนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นการแสดงว่าคนจำนวนมากได้หันมาสนใจใส่ใจ คิดเอาจริงเอาจังกับเทคโนโลยีแบบนี้

ลักษณะสำคัญของเทคโนโลนีแบบนี้ก็คือ พยายามไม่ให้มีมลภาวะ ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะก็ใช้ทรัพยากรที่ทดแทนใหม่ได้ หรือใช้วัสดุที่หมุนเวียนได้ ไม่ก่อความรู้สึกแปลกแยกในจิตใจ และไม่ทำให้คนแปลกแยกจากกัน เช่นให้ภายในที่ทำงานมีชีวิตชีวา ไม่ทำงานอย่างเป็นเครื่องจักรเครื่องกล แล้วก็เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตสิ่งบริโภคในบ้านหรือในท้องถิ่น แทนที่จะเป็นระดับชาติระดับเมืองอย่างที่เป็นมาแต่ก่อน อันนี้ก็เป็นความเคลื่อนไหวใหม่

ท่าทีและการปฏิบัติในเรื่องเทคโนโลยี เท่าที่ว่ามาในข้อนี้ โดยสรุปก็คือ

๑. จะต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับระบบความดำรงอยู่ร่วมกันด้วยดี โดยประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันระหว่างองค์ประกอบทั้ง ๓ คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม จะต้องสร้างความเข้าใจอย่างนี้ขึ้นมาให้มนุษย์รู้สึกตัวสำนึกว่า องค์ประกอบทั้งสาม คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม นั้นเป็นสิ่งที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ควรจะอยู่ร่วมกันด้วยดี เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เอาเปรียบกันทำลายกัน ฉะนั้น เทคโนโลยีที่ทำลายธรรมชาติ เทคโนโลยีที่ทำลายสังคม ที่ก่อปัญหาแก่ชีวิต จึงควรถูกละเลิก เลิกใช้ เลิกผลิต แต่ที่ว่านี้ก็ยังเป็นเพียงความฝัน เพราะว่ามนุษย์ได้ก้าวหน้ามาในทางสายนี้ไกลมากแล้ว การกลับตัวไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก

อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยสิ่งที่จะต้องทำประการแรกก็คือ จะต้องสร้างความตื่นตัวตระหนัก สร้างความสำนึก และความเข้าใจพื้นฐานนี้ขึ้นมา ให้เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างองค์ประกอบทั้ง ๓ คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปในทางที่จะช่วยส่งเสริมความประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันนี้ คือ ไม่ใช่สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นองค์ประกอบใหม่ที่ ๔ ไม่ใช่สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นตัวที่แปลกหน้า เป็นตัวที่เข้ามาแทรกแซง กั้นแยกมนุษย์ ธรรมชาติ สังคม ออกจากกัน ตลอดจนกลายเป็นตัวทำลายองค์ประกอบเหล่านั้น แต่จะต้องมีท่าทีปฏิบัติต่อเทคโนโลยีใหม่ คือสร้างเทคโนโลยีขึ้นให้เป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมประสานองค์ประกอบทั้ง ๓ อย่างนั้นให้เข้ามากลมกลืนเกื้อกูลและงอกงามไปด้วยกัน

๒. ตั้งเจตนาต่อธรรมชาติใหม่ ไม่มุ่งเอาชนะ ไม่มุ่งพิชิต เบียดเบียนธรรมาติ แต่มุ่งรู้ เข้าใจ เพื่อจะได้ปฏิบัติถูกต้องต่อธรรมชาติ ในการที่จะอยู่อย่างประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันกับธรรมชาติ และแม้แต่จะให้สามารถช่วยเหลือธรรมชาติได้ในเวลาที่ธรรมชาติถูกทำให้เสียสมดุล ข้อนี้แสดงว่า การที่มนุษย์มีความเจริญทางวิทยาการต่างๆ นี้ไม่ใช่ไร้ประโยชน์ แต่ควรจะมีท่าทีใหม่ต่อธรรมชาติ แล้วใช้ความรู้ในวิทยาการต่างๆ สนองท่าทีใหม่ ในทางที่สร้างสรรค์เกื้อกูลนั้น

ที่ว่ามานี้ ไม่ใช่เป็นการถอยหลังกลับไปหายุคก่อน ขอให้เทียบดูในยุคต่างๆ ที่พูดมาแล้ว ในยุคแรก คือยุคบุพกาล มนุษย์ขึ้นกับธรรมชาติโดยสิ้นเชิง ไม่เป็นตัวของตัวเองเลย ธรรมชาติเป็นอย่างไร ตัวก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น ไม่มีความเป็นอิสระ ต่อมาในยุคที่สอง คือยุคเกษตรกรรม มนุษย์รู้จักธรรมชาติมากขึ้น รู้จักทำสิ่งที่เป็นของตัวเองโดยให้ประสานกลมกลืนกับระบบของธรรมชาติ ยังขึ้นต่อธรรมชาติ แต่มีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระขึ้นบ้างในระดับหนึ่ง ต่อมาอีกถึงยุคอุตสาหกรรม มนุษย์มุ่งเอาชนะธรรมชาติ พยายามพิชิตธรรมชาติ มีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระขึ้นมากทีเดียว แต่เกิดความขัดแย้งกับธรรมชาติ ต่างฝ่ายต่างสูญเสีย เกิดความระส่ำระสาย แล้วเกิดผลเสียหายร่วมกัน ซึ่งกระทบต่อทั้งสองฝ่าย

ตอนนี้จะขึ้นยุคใหม่เป็นยุคที่ ๔ จะต้องเปลี่ยนใหม่ ไม่ใช่หวนหลังกลับไปหาเก่าทั้งหมด แต่เป็นการปรับให้พอดี คือ รู้จักจัดตนเองและธรรมชาติให้ประสานกลมกลืนและเกื้อกูลต่อกัน ซึ่งมนุษย์สมัยปัจจุบันมีความสามารถที่จะทำได้มาก เพราะว่ามนุษย์ได้มีความรู้ เข้าใจธรรมชาติมากขึ้นด้วยความเจริญทางวิทยาศาสตร์ ส่วนการปฏิบัติให้ถูกต้องก็คือการนำพุทธธรรมมาใช้นั่นเอง และนี่ก็เป็นจุดหนึ่ง ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาบรรจบกับพุทธธรรม

๓. สร้างสรรค์ พัฒนา และใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือพัฒนาศักยภาพของคน หรือเพื่อสร้างเสริมโอกาสในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือพัฒนาศักยภาพ เช่นนั้น ไม่ผลิต พัฒนา หรือใช้เทคโนโลยี เพื่อสนองความเห็นแก่ตัว และการเบียดเบียน ทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำลายมนุษย์ด้วยกัน ทำลายสังคม หรือทำลายธรรมชาติแวดล้อมก็ตาม ไม่มุ่งสนองโลภะ โทสะ โมหะ หรือตัณหา มานะ และทิฏฐิ ไม่ส่งเสริมให้เกิดความลุ่มหลงมัวเมาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นทาสของวัตถุ ตลอดจนเป็นทาสของเทคโนโลยีเอง แต่ให้เทคโนโลยีเป็นเครื่องส่งเสริมเอื้ออำนวย ในการที่มนุษย์จะเข้าถึงสันติสุขและอิสรภาพ รวมทั้งดำรงรักษาความเป็นอิสระจากเทคโนโลยีนั้นเอง ไว้ได้โดยตลอดด้วย

ที่จริงนั้น ไม่ว่ามนุษย์จะเจริญด้วยเทคโนโลยีมากเพียงไร แม้จะเอาชนะพยายามพิชิตธรรมชาติอย่างไรก็ตาม ก็หนีความต้องการธรรมชาติไปไม่พ้น เพราะองค์ประกอบทั้ง ๓ อย่าง คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคมนั้น เป็นองค์ประกอบที่มีชีวิต มีฐานที่โยงถึงกัน ซึ่งดึงดูดกันอยู่เป็นธรรมดา และมนุษย์นี้ต้องการความมีชีวิตชีวา ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถให้ได้โดยสมบูรณ์ แม้ว่าเทคโนโลยีจะเจริญพัฒนาไปมากมาย มนุษย์อาจจะตื่นเต้นไปกับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ๆ จนหลงลืมตัว ลืมเพื่อนสนิท มิตรร่วมตายสหายเก่า เพราะมัวสนุกสนานกับเทคโนโลยีนั้น ทำให้ลืมไปชั่วคราว ไม่นึกถึงธรรมชาติ ไม่นึกถึงสังคม ไม่นึกถึงมนุษย์ด้วยกัน เห็นแก่ตัว แต่ไม่เห็นแก่ชีวิตของตน

ความตื่นเต้นเตลิดไป และความมัวเมาจากการที่ได้สนองตัณหา สนองมานะ สนองความรู้สึกอวดโก้ มีความหรูหรา ฟุ้งเฟ้อ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นความรู้สึกที่ทำให้เราเพลิดเพลินไปได้ชั่วคราว เมื่อใดความรู้สึกตื่นเต้นฟู่ฟ่านี้จางหายหมดไป มนุษย์ก็จะรู้สึกว่า เทคโนโลยีนั้นเป็นของที่แห้งแล้ง จืดชืด ไม่มีชีวิตชีวา แม้คนจะเจริญด้วยเทคโนโลยี มีคอมพิวเตอร์ อะไรต่างๆ มากมาย แต่ก็หนีธรรมชาติไม่พ้น ในเวลาหนึ่งเขาจะต้องการความมีชีวิตชีวา จะต้องนึกถึงธรรมชาติ และจะต้องนึกถึงมนุษย์ด้วยกัน

แม้ว่าเทคโนโลยีจะช่วยสื่อสารให้คนพูดกันได้เห็นกันได้ทางโทรศัพท์ ติดต่อกันได้ทางคอมพิวเตอร์ สื่อสารกันได้รวดเร็ว รู้สึกตื่นเต้นสนุกไปชั่วคราว แต่ในที่สุด มนุษย์ก็ต้องอยากพบตัวจริงกันอยู่นั่นแหละ การมาพบปะกัน มาคุยกันต่อหน้าต่อตาและพร้อมหน้าพร้อมตา ย่อมให้ความรู้สึกเต็มอิ่มเต็มจิตเต็มใจ ดีกว่าจะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นเป็นเครื่องติดต่อ (ในทางตรงข้าม บางคนถ้าพบกันจะทำให้เสียความมีชีวิตชีวา ก็เลยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารเพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการพบปะตัวกัน จะได้ไม่สูญเสียความมีชีวิตชีวา) เพราะฉะนั้น ในขั้นสุดท้าย มนุษย์จะหนีธรรมชาติ หนีสังคม และหนีชีวิตที่แท้จริงของตนเองไปไม่พ้น จึงเป็นอันว่าจะต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลาถึงองค์ประกอบ ๓ ประการนี้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เลยทีเดียว

อนึ่ง ควรจะพูดย้ำไว้ว่า เทคโนโลยีไม่ว่าจะเจริญก้าวหน้ามากเท่าใด ก็เป็นเพียงส่วนเสริมหรือเป็นตัวการพิเศษในระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ โดยที่มันเป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย เป็นปัจจัยข้างฝ่ายมนุษย์ที่เกิดเพิ่มเข้ามาในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น เพื่อสนองความประสงค์ของมนุษย์เอง ข้อพิเศษอยู่ที่ว่า แม้ว่ามันจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น แต่มันก็เป็นปัจจัยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมนุษย์ใช้จัดสรรปัจจัยอื่นๆ เพื่อผันหรือผลักดันกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยให้ดำเนินไปตามที่มนุษย์ต้องการ

ถึงแม้จะพูดกันถึงขั้นที่ว่า มนุษย์สามารถใช้เทคโนโลยีชั้นสูงสร้างชีวิตพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ แต่แท้ที่จริงมนุษย์และเทคโนโลยีก็หาได้สร้างชีวิตขึ้นมาไม่ มนุษย์ทำได้เพียงแค่ใช้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยจัดสรรผลักดันองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของชีวิตที่มีอยู่ในธรรมชาติให้ปรากฏผลออกมาอย่างนั้นเท่านั้น เทคโนโลยีถ้าไม่เป็นปัจจัยแปลกปลอม ก็เป็นเพียงปัจจัยเสริมเติมเท่านั้น มันไม่ใช่ชีวิตและไม่สามารถแทนชีวิตได้ ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะใช้มันในทางที่เกื้อหนุนชีวิต หรือในทางที่จะเบียดเบียนทำลายชีวิต

เรื่องมนุษย์กับธรรมชาติและสังคมนี้ จะเห็นได้ว่า ในพระพุทธศาสนาท่านคำนึงอยู่ตลอดเวลา พระสงฆ์นั้นจะต้องไม่ห่างจากธรรมชาติ วิถีชีวิต การปฏิบัติบำเพ็ญต่างๆ ก็สนับสนุนให้ไปใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ไปอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ส่วนในด้านสังคม แม้พระพุทธศาสนาจะไม่ส่งเสริมความติดพัน ไม่สรรเสริญการคลุกคลี และแนะนำให้พระสงฆ์อยู่อย่างสงบในที่สงัด แต่แม้ในกรณีอย่างนั้น คือ แม้แต่พระสงฆ์ที่ต้องการวิเวก ท่านก็ไม่ให้ตัดขาดจากสังคม พระต้องเข้ามาหาชาวบ้านเพื่อรับอาหารและให้ธรรม

แม้ในสังคมของพระสงฆ์เองก็มีวินัยบังคับว่า พระภิกษุจะต้องมีการประชุมกัน ต้องมาพบปะกันอย่างน้อย ๑๕ วันครั้งหนึ่ง มาทำสังฆกรรม ทำอุโบสถ พระสงฆ์ตามหลักธรรมวินัย มีชีวิตแบบอยู่ร่วมกันอย่างน้อยก็เป็นชุมชนเล็กๆ ต้องเรียนรู้และฝึกฝนที่จะปฏิบัติต่อกันในทางสังคม ให้อยู่กันอย่างเรียบร้อยด้วยดี เกื้อกูลกันพร้อมเพรียงกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดำรงธรรมได้และเป็นหลักใจของประชาชน ตามหลักสาราณียธรรม ๖ และอปริหานิยธรรม ๗ พระสงฆ์จึงไม่สามารถแยกตัวตัดขาดจากสังคม

การเป็นสมาชิกของสงฆ์ก็คือการอยู่ร่วมในสังคมนั้นเอง แม้แต่เป็นอริยบุคคลแล้วก็ร่วมอยู่ในอริยสงฆ์ สงฆ์ก็คือหมู่หรือชุมชน ผู้ที่บรรลุธรรมชั้นสูงเป็นอริยบุคคลก็มีความรู้สึกว่าท่านมีส่วนร่วมอยู่ในสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ แต่ละท่านก็มีส่วนร่วมอยู่ในสงฆ์ทั้งหมด ไม่ได้หนีสังคม

เป็นอันว่า องค์ประกอบ ๓ ประการนี้ เป็นสิ่งที่ต้องประสานกลมกลืนไปด้วยกัน ถ้าจะมีและใช้เทคโนโลยี ก็ต้องให้เทคโนโลยีนั้นส่งเสริมหลักการที่กล่าวมานี้ และนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่ง

เมื่อพูดถึงความประสานกลมกลืน มีเรื่องที่ควรทำความเข้าใจกันเล็กน้อย ความประสานกลมกลืนนั้นตรงข้ามกับความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำลักลั่นแทรกแซง เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเจริญงอกงามขึ้นนั้น บางทีก็ต้องมีอาการขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำลักลั่นแทรกแซงเกิดขึ้นภายในตัวก่อน ในกรณีเช่นนี้ ถ้ามีแต่ความประสานกลมกลืนกันอยู่ ความเจริญงอกงามก็ไม่เกิดขึ้น ความขัดแย้งเหลื่อมล้ำลักลั่นแทรกแซงจึงอาจจะเป็นอาการอย่างหนึ่งของความเจริญงอกงาม

อย่างไรก็ตาม จะต้องไม่หลงเข้าใจผิด แล้วไม่เห็นความสำคัญของความประสานกลมกลืนในกระบวนการแห่งความเจริญงอกงาม จะต้องเข้าใจว่า เมื่อมีความขัดแย้งเหลื่อมล้ำลักลั่นแทรกแซงกันเกิดขึ้นนั้น ถ้าสิ่งนั้นจะเจริญงอกงามต่อไป ความขัดแย้งลักลั่นนั้นก็เป็นอาการที่แสดงว่า มีเหตุปัจจัยบางอย่างซึ่งทำให้สิ่งนั้นต้องทำการปรับตัวใหม่ ความขัดแย้งลักลั่นนั้นเป็นอาการของการปรับตัวที่กำลังดำเนินไปอยู่ เมื่อปรับตัวใหม่ได้แล้ว สิ่งนั้นก็ก้าวเข้าสู่ความเจริญขั้นต่อไป การปรับตัวได้ก็คือการที่สิ่งนั้นคืนเข้าสู่ภาวะประสานกลมกลืนใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ความขัดแย้งลักลั่นนั้น เป็นอาการของความเคลื่อนคลาดออกจากดุลยภาพ และพร้อมกันนั้นก็เป็นการดิ้นรนเพื่อเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ คือความประสานกลมกลืนอีกครั้งหนึ่ง ความประสานกลมกลืนจึงเป็นจุดหมายของความลักลั่นขัดแย้ง และทั้งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความสำเร็จในการปรับตัวใหม่ได้ ที่ทำให้ความลักลั่นขัดแย้งสิ้นสุดลง ความประสานกลมกลืนเป็นภาวะแห่งดุลยภาพเดิมก่อนที่จะเกิดความลักลั่นขัดแย้ง และเป็นภาวะแห่งดุลยภาพใหม่ที่เป็นจุดหมายของความลักลั่นขัดแย้งที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับความสงบหรือสันติ เป็นภาวะแห่งดุลยภาพเดิมก่อนที่จะเกิดความดิ้นรนปั่นป่วนหวั่นไหว และเป็นจุดหมายปลายทางของความดิ้นรนปั่นป่วนหวั่นไหว และแม้แต่ระส่ำระสายที่เกิดขึ้น เพราะการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งดิ้นรนหวั่นไหวก็เพื่อเข้าไปหาภาวะสงบนิ่งหรือสันตินั่นเอง

ฉะนั้น ความลักลั่นขัดแย้งที่ยอมรับได้ก็คือ ความลักลั่นขัดแย้งในกระบวนการปรับตัว ที่กำลังดำเนินเข้าสู่ความประสานกลมกลืนหรือดุลยภาพใหม่ โดยเฉพาะความลักลั่นขัดแย้งที่ดำเนินไปภายในการควบคุมดูแลของปัญญา ที่กำลังนำทางมันเข้าสู่ความประสานกลมกลืนได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งจะเป็นขั้นตอนของความเจริญงอกงามอย่างแท้จริง แต่ถ้าความลักลั่นขัดแย้งเหลื่อมล้ำแทรกแซงนั้น เป็นเพียงความเคลื่อนคลาดออกจากดุลยภาพ แล้วดำเนินไปอย่างเปะปะ สับสนเลื่อนลอย ไม่เข้าในทางแห่งการปรับตัวสู่ความประสานกลมกลืน ที่เป็นดุลยภาพใหม่ และไม่เป็นไปโดยการนำทางของปัญญา ความลักลั่นขัดแย้งนั้นก็จะเป็นเพียงอาการ หรือขั้นตอนของความพินาศแตกสลาย หาใช่เป็นความเจริญงอกงามอย่างใดไม่

ดังนั้น จึงตัองกล่าวถึงความประสานกลมกลืนยืนเป็นหลักของความเจริญงอกงาม แต่เป็นความประสานกลมกลืนที่เคลื่อนไหวปรับตัว ไม่ใช่ความกลมกลืนอยู่นิ่งๆ ตายๆ ความประสานกลมกลืนนี้เป็นดุลยภาพภายในกระบวนการ คู่กับสันติหรือความสงบ ซึ่งเป็นดุลยภาพที่ปรากฏภายนอก หรือเป็นดุลยภาพในที่สุดคือเมื่อจบกระบวนการ

อนึ่ง บางครั้ง แม้ว่าความลักลั่นขัดแย้งจะยังไม่เกิดขึ้น ปัญญาที่ชาญฉลาดอาจริเริ่มทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสิ่งทั้งหลายเอง โดยจัดสรรปัจจัยต่างๆ ทั้งที่มีอยู่เดิมและที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ให้ปรับตัวเข้าด้วยกัน และดำเนินต่อไปอย่างประสานกลมกลืนตั้งแต่ต้นจนตลอด โดยไม่ปรากฏความลักลั่นขัดแย้งออกมาเลย ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นความเจริญงอกงามอย่างประสานกลมกลืน หรือเป็นการพัฒนาอย่างมีบูรณาการ ซึ่งทำให้มีสมดุลสืบเนื่องอยู่ได้ตลอดเวลา

พิชิตธรรมชาติ หรือผิดธรรมชาติ

ขอก้าวสู่ข้อต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่เนื่องจากประเด็นที่พูดมาเมื่อกี้ กล่าวคือ เทคโนโลยีที่พัฒนามาในยุคอุตสาหกรรมนั้น ในเมื่อมันมุ่งจะเอาชนะธรรมชาติ พิชิตธรรมชาติ ตลอดจนกระทั่งทำลายธรรมชาติ มันก็มีลักษณะที่ทำให้คนแยกตัวจากธรรมชาติ เทคโนโลยีอย่างนี้จะมีลักษณที่ทำให้เกิดสิ่งแปลกปลอม แปลกหน้าขึ้นมา แล้วก็จะทำให้เสียดุลยภาพในระบบความเป็นอยู่ของมนุษย์และกลายเป็นโทษต่อมนุษย์เอง

อะไรเป็นสิ่งแปลกปลอม แปลกหน้า และเกินพอดีจากเทคโนโลยีเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น เราพยายามสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อช่วยให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้น แม้แต่อาหารการกิน เราก็ต้องการให้มีรสอร่อยน่ากินมากยิ่งขี้น เราจึงให้สารเคมีปรุงแต่งสีสันและรสของอาหารจนผิดธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเอาชนะธรรมชาติอย่างหนึ่ง และก็ทำให้เอร็ดอร่อยกินได้มาก แต่เสร็จแล้วเป็นอย่างไร ก็เป็นอันตราย ตอนแรกที่ใช้ก็ลุ่มหลงกันไป ตื่นเต้น นิยมกันใหญ่ แต่ต่อมา พอรู้ตัวขึ้น ปรากฏว่าสารเคมีที่เจือปนปรุงแต่งรสสีอาหารเป็นอันตราย ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ เป็นต้น ตลอดจนกระทั่งว่า ทั้งๆ ที่กินมาก แต่กลายเป็นโรคขาดอาหาร เพราะอาหารที่กินนั้นไม่มีคุณค่าทางอาหารที่แท้จริงตามธรรมชาติ คือเป็นอาหารแต่ชื่อ ไม่ใช่เป็นอาหารในความหมายที่แท้จริง จะเรียกว่าเป็นอาหารเทียมก็ได้

อีกตัวอย่างหนึ่ง เราใช้เทคโนโลยีในการปรุงแต่งแสงสีและเสียงให้ปลุกเร้าอารมณ์อย่างรุนแรง โดยคิดว่ามนุษย์จะมีความสุขมากขึ้น เช่นในดิสโก้เธค (discotheque) มีการใช้ระบบปรุงแต่งแสง สี เสียง จนเกินธรรมชาติเป็นอย่างมาก แล้วเป็นอย่างไร ก็สนุกมาก แต่ต่อมาเป็นอย่างไร ปรากฏว่าคนจำนวนมากที่ไปเที่ยวดิสโก้เธคเป็นประจำ เป็นโรคหูหนวก ตาบอด ตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ทั้งๆ ที่ว่าสมัยก่อนนี้โดยมากก็อยู่กันไปจนแก่หน่อยจึงจะหูหนวกตาบอดหรือหูหนักหูตึง ตาฝ้าตาฟาง เพราะว่าใช้งานมามาก นี่ก็เป็นการปรุงแต่งที่ว่าเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งบางทีก็มีความหมายเท่ากับผิดธรรมชาติ คือ ถ้าไม่เบียดเบียนทำลายธรรมชาติข้างนอก ตัวคนก็ผิดแปลกไปจากธรรมชาติของตนเอง หรือทำลายทั้งสองอย่างพร้อมไปด้วยกัน

ข้อสังเกตต่อไป เทคโนโลยีแบบที่ว่านี้ เขาสร้างและพัฒนา ให้ปลุกเร้าประสาทสัมผัสอย่างรุนแรง ให้เกิดความต้องการทางอารมณ์อย่างรุนแรง และสนองความต้องการที่จะเสพอารมณ์อย่างรุนแรง เพื่อให้ได้ความสุขอย่างรุนแรง ผลที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนี่งก็คือ ขีดระดับของการที่จะเกิดความพอใจของคนเลื่อนสูงขึ้นไป ทำให้กลายเป็นคนที่มีความสุขยากขึ้นตามลำดับ

ขอยกตัวอย่างเช่น สมัยหนึ่งเราเคยมีเครื่องเสียง อาจจะเป็นวิทยุที่เป็นชั้นสามัญ ฟังเพลง ฟังดนตรีก็รู้สึกว่าไพเราะ เป็นที่สบายเพลิดเพลินดี แต่ต่อมาคนคนเดียวกันนั้น ไปได้เครื่องเสียงที่มีคุณภาพสูงขึ้น เป็นเทคโนโลยีระดับสูง ฟังกระหึ่ม ละเอียดอ่อนนิ่มนวลมากขึ้น ก็รู้สึกว่ามีความสุขมากขึ้น พอคุ้นกับเครื่องเสียงที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้นอันนี้แล้ว หันกลับไปฟังเครื่องเสียงอันเก่าที่มีเทคโนโลยีระดับสามัญ กลายเป็นไม่เพราะเสียแล้ว บางทีกลายเป็นรำคาญเสียด้วยซ้ำ ต้องฟังเครื่องขนาดนี้ที่มีเทคโนโลยีสูงจึงจะมีความสุขได้

ทีนี้ต่อไป เกิดไปได้เครื่องเสียงที่มีเทคโนโลยีสูงกว่านั้นขึ้นไปอีก ความสุชที่จะสนองความต้องการได้ก็เลื่อนขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เครื่องเสียงระดับต่ำกว่านั้นลงมา สองอันเก่ากลายเป็นไม่น่าฟัง ไม่ไพเราะเสียแล้ว แทนที่ว่าเขาจะมีขอบเชตที่จะได้ความสุขมากขึ้น กลับกลายเป็นว่าแดนของความสุขจำกัดแคบลงมา และตัวเขาเองก็มีความสุขยากขึ้น กลายเป็นคนที่มีความสุขได้ยาก แล้วก็มีความรำคาญง่ายขึ้น กลายเป็นว่ามีทุกข์ง่ายขึ้นและมากขึ้น ขอบเขตของความทุกข์ขยายกว้างขวางขึ้น ความสุขเสียพื้นที่ให้แก่ความทุกข์หรือความทุกข์ขยายขอบเขตออกมา กินเนื้อที่ของความสุขไปได้มากขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ศักยภาพที่จะเป็นทุกข์ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น

เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีแบบนี้พัฒนาขึ้นไปมากเท่าไร ขอบเขตที่คนจะมีความทุกข์ก็มากขึ้น ขอบเขตที่เป็นสุขก็น้อยลง เพราะขีดที่จะมีความสุขเลื่อนสูงขึ้นไปเรื่อย คนก็ถอยลงมาไม่ได้

ฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักวางตัววางใจวางท่าทีให้ถูกต้องแล้ว คนในยุคเทคโนโลยีจะมีปัญหาอันนี้มากขึ้น คือขีดระดับที่จะมีความสุขเลื่อนสูงขึ้นไป และกลายเป็นคนที่มีความสุขยากขึ้น และพร้อมกับที่มีความสุขยากขึ้นนั้น ในทางตรงข้าม ก็กลายเป็นคนที่มีความทุกข์ได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างที่บอกเมื่อกี้ เทคโนโลยีที่เคยช่วยให้เขามีความสุขได้ คือ เครื่องเสียงที่เคยฟังไพเราะในสมัยก่อน เดี๋ยวนี้ฟังแล้วรำคาญ เขาจะมีความทุกข์มากขึ้น หรือเพิ่มศักยภาพที่จะมีความทุกข์ เพราะเมื่อต้องเจอเทคโนโลยีที่ต่ำกว่านั้น หรือไม่มีเทคโนโลยีเลย เขาก็จะเป็นสุขไม่ได้ ฉะนั้น คนในยุคนี้จะเป็นคนที่มีลักษณะ เบื่อง่าย เหงา ว้าเหว่ เศร้าซึมได้ง่าย เพราะหาความสุขได้ยากขึ้นทุกที ขีดที่จะเป็นสุขได้เลื่อนสูงขึ้นไปทุกที และขอบเขตที่จะมีความสุขก็แคบลงไปทุกที ในระดับหนึ่งสิ่งที่จะเป็นไปได้มากก็คือ จะเป็นคนที่อยู่โดยปราศจากเทคโนโลยีไม่ได้ ถ้าไม่มีเทคโนโลยีแล้วจะไม่มีความสุข อยู่ตามธรรมชาติไม่ได้ สภาพที่ว่ามานี้เป็นคำอธิบายว่า

ประการแรก ทำไมคนปัจจุบันที่มีเทคโนโลยี มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายทุกอย่าง จึงไม่จำเป็นต้องมีความสุขมากกว่าคนในสมัยโบราณ แม้แต่ในยุคเกษตรกรรมที่มีวัตถุบริโภคน้อย ถ้าคนมีเทคโนโลยีจึงจะเป็นสุข ก็แสดงว่าคนสมัยก่อนไม่มีสิทธิที่จะเป็นสุข แต่ตามความเป็นจริง คนสมัยก่อนมากมายก็มีความสุขได้ และก็อาจจะมีความสุขไม่น้อยกว่าคนในยุคนี้ โดยเฉพาะตามหลักที่ว่าเทคโนโลยีเลื่อนขีดระดับของการมีความสุขได้ขึ้นไป ทำให้คนมีความสุขยากขึ้น นี้ก็เป็นข้อไขที่อธิบายเรื่องนี้ว่า ทำไมคนสมัยนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีความสุขมากกว่าคนสมัยโบราณ หรือในสมัยเดียวกันนี้คนที่มีเทคโนโลยีมาก ก็ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าจะมีความสุขมากกว่าคนในยุคเดียวกัน ที่มีวัตถุบริโภคน้อยกว่าหรือไม่มีเทคโนโลยี บางคนอยู่ในป่าในเขา ก็อาจจะมีความสุขได้เหมือนกัน หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

ประการที่สอง เป็นเครื่องอธิบายว่า ทำไมคนในประเทศที่เจริญแล้ว พัฒนาแล้ว พอเทคโนโลยีเจริญมากขึ้น กลับมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้น ฆ่าตัวตายมากขึ้น แต่คนในประเทศด้อยพัฒนา ยากจน ขาดแคลน ไม่มีเทคโนโลยีหรือเทคโนโลยีน้อย กลับไม่มีปัญหาโรคจิต แล้วทั้งๆ ที่น่าจะเป็นทุกข์มาก แต่ไม่มีใครฆ่าตัวตาย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสังเกต

ขอยกตัวอย่าง ๒ ประเทศ อเมริกากับเม็กซิโก อยู่ติดกัน อเมริกาอยู่เหนือขึ้นไป เม็กซิโกอยู่ใต้ลงมา เขตแดนติดกัน สองประเทศนี้ต่างกันมากโดยระดับความเจริญ อเมริกามีเทคโนโลยีมากเจริญสูงกว่า เป็นประเทศมั่งคั่งร่ำรวย เม็กซิโกเป็นประเทศที่ยากจนมาก ประเทศอเมริกามีสถิติคนฆ่าตัวตายแสนละ ๑๒.๕ คน เม็กซิโกมีสถิติคนฆ่าตัวตายแสนละ ๑.๗ คน ต่างกัน ๗ เท่า หมายความว่า เม็กซิโกที่ยากจนนั้นมีคนฆ่าตัวตายน้อยกว่าอเมริกาที่ร่ำรวย ๗ เท่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ประเทศที่เจริญพัฒนาแล้วมีเทคโนโลยีสูง คนฆ่าตัวตายมาก มีความทุกข์มาก มีโรคจิตมาก

ผลใกล้ชิดของการใช้เทคโนโลยีแบบนี้ ที่มองเห็นง่ายๆ ไม่ต้องอธิบายลึกซึ้งก็คือ การที่จะต้องทะยานดิ้นรนแสวงหาเทคโนโลยีที่สูงยิ่งขึ้นไป เพื่อสนองความต้องการที่มีความสุขยากนั้น ซึ่งพร้อมกันนั้น ก็หมายถึงการใช้จ่ายเงินทองมากขึ้น เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทำความเดือดร้อนแก่ตนเอง และอาจหมายถึงการเบียดเบียนกันที่เพิ่มขึ้นในสังคมอีกด้วย

เมื่อพูดในเชิงเปรียบเทียบ คนสมัยก่อนมีเทคโนโลยีน้อย ไม่ค่อยมีเครื่องบำรุงบำเรออำนวยความสะดวกสบาย เท่ากับว่ามีโอกาสในการที่จะมีความสุขน้อยกว่าคนสมัยปัจจุบัน แต่การที่เขาขาดแคลนเครื่องอำนวยความสะดวกสบายนั้น ก็ทำให้คนสมัยก่อนต้องเพียรพยายามมากในการที่จะมีความสุข การที่ต้องเพียรพยายามต่อสู้ดิ้นรนอดทนมาก ในการสร้างความสุข ก็ทำให้เขามีภูมิต้านทานความทุกข์มากขึ้น และถ้าเขาประสบความสำเร็จ ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกสบายบ้างแม้เพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่มีความทุกข์ยากลำบากน้อยลงบ้าง เขาก็จะเกิดมีความสุขได้ทันที เรียกได้ว่า เขามีความพร้อมที่จะมีความสุขได้ง่าย

ส่วนคนสมัยปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีมาก มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายพรั่งพร้อมบริบูรณ์นั้นตรงกันข้าม ทั้งที่มีโอกาสที่จะมีความสุขมากกว่า แต่ถ้าเทคโนโลยีที่เคยมีเคยใช้ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกสบายบางอย่างลดน้อยขาดหายไป ทั้งที่เทคโนโลยีเครื่องปรนเปรอที่เหลืออยู่ก็แสนจะมากมาย เขาก็ไม่สามารถมีความสุข แต่กลับเกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างง่ายดาย แทนที่จะเป็นคนซึ่งพร้อมที่จะมีความสุข ก็กลับมีความพร้อมที่จะเป็นทุกข์ และแทบจะไม่มีภูมิต้านทานความทุกข์เลย จึงเห็นได้ว่า คนสมัยก่อนมีโอกาสที่จะเป็นสุขน้อยกว่า แต่มีความพร้อมที่จะเป็นสุขมากกว่า ส่วนคนสมัยนี้มีโอกาสที่จะเป็นสุขมากกว่า แต่มีความพร้อมที่จะเป็นสุขน้อยกว่า

แม้ถึงคนในยุคสมัยเดียวกันที่มีฐานะความเป็นอยู่ มีเทคโนโลยีมากน้อยแตกต่างกัน ก็เป็นเช่นที่ว่ามานี้เหมือนกัน โลกมนุษย์เป็นอย่างนี้ ชีวิตจิตใจของมนุษย์มีลักษณะเช่นนี้ ดังนั้น ทั้งที่ว่าโลกเจริญขึ้น เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นอย่างเหลือเกิน ความทุกข์ก็จึงยังเป็นปัญหาที่รังควาญชีวิตและสังคมของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าไม่ลดน้อยลงเลย เพียงแต่เปลี่ยนแปรรูปแบบต่างกันไปบ้างเท่านั้น

ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ความพร้อมที่จะมีความสุขไม่ลดน้อยลง ในขณะที่โอกาสที่จะมีความสุขเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่จะปิดช่องว่างนี้ได้ก็มีแต่ภูมิธรรมในตัวคนเองเท่านั้น การพัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพพร้อมทั้งสุขภาพของจิตใจ พร้อมทั้งพัฒนาปัญญาที่รู้เท่าทันโลกและชีวิตตามความเป็นจริง จะทำให้คนมีภูมิต้านทานความทุกช์และสามารถพัฒนาความพร้อมที่จะมีความสุข ขึ้นมาเป็นคุณสมบัติประจำตัว เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากขึ้น ความพร้อมที่จะมีความสุขก็คงอยู่ ควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของโอกาสที่จะมีความสุข อย่างน้อยก็จะทำให้สามารถดำรงรักษาความพร้อมที่จะมีความสุขไว้ได้ ไม่ให้ลดลงไปในขณะที่โอกาสที่จะมีความสุขเพิ่มมากยิ่งขึ้น และยิ่งกว่านั้นจะทำให้พร้อมที่จะมีความสุขได้ แม้แต่เมื่อโอกาสที่จะมีความสุขลดน้อยลงหรือหดหายไป

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ควรพูดไว้ด้วย คือ เมื่อมนุษย์ทำการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งในธรรมชาติ มนุษย์มักจะมองดูหรือมองเห็นธรรมชาติเฉพาะส่วนนั้นที่ตนเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ แล้วก็พูดว่าเอาชนะธรรมชาติได้แล้ว แต่ความจริงสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติอิงอาศัยสัมพันธ์โยงต่อๆ กันไป การเปลี่ยนแปลงของสิ่งหนึ่ง จึงมีผลกระทบส่งทอดไปยังสิ่งอื่นๆ โยงต่อๆ กันไป ทำให้สิ่งอื่นๆ ต้องปรับตัวเปลี่ยนไปตาม ดังนั้น ถ้ามนุษย์จะให้การเปลี่ยนแปลงเกิดผลดีแก่ตนอย่างแท้จริง เมื่อทำการเปลี่ยนแปลงสิ่งหนึ่งแล้วก็จะต้องปรับเปลี่ยนธรรมชาติส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น ให้ประสานกลมกลืนกันไปด้วย

ถ้ามนุษย์ทำความเปลี่ยนแปลงแก่สิ่งหนึ่งแล้ว ไม่จัดสรร ปรับเปลี่ยนสิ่งที่เนื่องกันให้ประสานกลมกลืนกัน สิ่งที่เกี่ยวเนื่องนั้นก็จะต้องเกิดการปรับเปลี่ยนตัวของมันเอง ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทิศทางลักษณะอาการ และทันเวลาที่จะเกื้อกูล หรือตรงกับความต้องการของมนุษย์ก็ดีไป แต่ถ้าสิ่งที่เกี่ยวเนื่องนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางโดยลักษณะอาการหรือไม่ทันเวลาที่จะเกื้อกูล หรือสนองความต้องการของมนุษย์ ผลร้ายก็จะเกิดขึ้นแก่มนุษย์

ปัญหาที่เกิดแก่มนุษย์จากเทคโนโลยีเป็นอันมาก เกิดจากสาเหตุนี้ คือการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเพียงจุดหนึ่งจุดเดียว โดยไม่ได้จัดสรร ปรับเปลี่ยนธรรมชาติส่วนอื่นที่อิงอาศัยสัมพันธ์กันอยู่ ให้ครบถ้วนหรือทั่วตลอด ปรับส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งไม่ได้ปรับตาม ก็เกิดความขัดแย้ง ระส่ำระสาย กลายเป็นปัญหา

ความขัดแย้ง ความระส่ำระสายวิปริตต่างๆ ในธรรมชาตินั้น ว่าที่จริงก็คือความดิ้นรนที่จะกลับเข้าสู่ดุลยภาพ เป็นธรรมดาว่า ธรรมชาติเมื่อเคลื่อนคลาดออกจากดุลยภาพแล้ว ก็ย่อมดิ้นรนคือ เคลื่อนไหวปรับตัวเพื่อเข้าสู่ความประสานกลมกลืนและความสงบที่เป็นดุลยภาพอีก ถ้ามนุษย์เปลี่ยนแปลงสิ่งหนึ่งแล้ว ไม่ปรับเปลี่ยนสิ่งที่เกี่ยวข้องให้ประสานกลมกลืนกัน ก็เท่ากับว่ามนุษย์ทำให้ธรรมชาติสูญเสียดุลยภาพ เมื่อมนุษย์ไม่จัดสรรปรับเปลี่ยนองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องให้ทั่วถึง องค์ประกอบเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัวของมันเอง ถ้าการปรับเปลี่ยนนั้นทันเวลาหรือดำเนินไปในทิศทาง และอาการที่เกื้อกูลแก่มนุษย์ ก็ดีไป ดังที่ว่ามาแล้ว แต่ถ้าไม่เป็นไปอย่างนั้น ก็อาจจะเกิดสิ่งที่มนุษย์เรียกว่า เป็นความวิปริตต่างๆ ตลอดจนความพินาศ

แท้จริงแล้ว ความวิปริตทั้งหลายหรือแม้แต่ความพินาศ ก็เป็นเพียงอาการปรับตัวที่ธรรมชาติจะกลับเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ หรือดุลยภาพในขอบเขตที่กว้างขวางออกไป สำหรับมนุษย์มันอาจจะเป็นความพินาศ แต่สำหรับธรรมชาติมันคือความคืนสู่สมดุล ถึงแม้มนุษย์จะอวดอ้างว่าตนพิชิตธรรมชาติได้แล้ว แต่เมื่อมองในวงกว้าง แท้จริงแล้ว ในขั้นสุดท้าย เท่าที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันขณะนี้ ผู้ชนะที่แท้จริง ก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติยังเป็นผู้พิชิตสูงสุดอยู่ดังเดิม

การพัฒนาคน เพื่อให้เทคโนโลยีเป็นคุณ

ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องของเทคโนโลยีด้านหนึ่งที่เราจะต้องรู้เข้าใจ ส่วนสิ่งที่เราจะต้องทำในเบื้องแรกคือ ท่าทีของการปฏิบัติมีอะไรบ้าง ด้านหนึ่งก็คือการรู้จักพึ่งตัวเอง จะต้องพร้อมที่จะเป็นอยู่ได้โดยไม่ต้องมีเทคโนโลยี และถ้ามีเทคโนโลยี ก็ให้เทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องเสริมความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น หมายความว่า ถ้าคนในสังคมที่เทคโนโลยีเจริญแล้วกลับกลายเป็นว่าชีวิตต้องขึ้นกับเทคโนโลยี ก็จะมีลักษณะเป็นทาสเทคโนโลยีใน ๒ ประการ คือขาดเทคโนโลยีแล้วไม่มีความสุข และขาดเทคโนโลยีแล้วทำงานไม่ได้ แต่ก่อนนี้อยู่ได้โดยไม่ต้องมีเทคโนโลยี แต่เมื่อมีแล้วกลับกลายเป็นคนที่หมดอิสรภาพไป นี้เป็นท่าทีที่ผิด

ฉะนั้น จะต้องวางท่าทีใหม่ ให้เทคโนโลยีไม่เกิดโทษ คือ ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีหรือไม่ก็ตาม เราก็สามารถมีความสุขได้ในระดับหนึ่งและทำงานได้ด้วย แต่เมื่อมีเทคโนโลยีแล้ว ก็มีความสุขได้มากขึ้น แล้วก็ทำงานได้มากขึ้น ถ้าอย่างนี้ก็เป็นส่วนที่เสริมให้ดีขึ้น

ปัญหาจากเทคโนโลยีที่ว่ามานี้ เกิดขึ้นตามหลักสำคัญ ๖ อย่าง คือ

๑. การสนองคุณค่าเทียม กล่าวคือ เทคโนโลยีที่ใช้ในลักษณะที่กล่าวมาว่า เป็นเครื่องปรุงแต่งปลุกเร้าความต้องการให้เกิดความสุขอย่างรุนแรงนี้ เป็นไปในด้านสนองความต้องการคุณค่าเทียม เช่น ความเอร็ดอร่อย ความตื่นเต้น ความรู้สึกโก้เก๋ ความเลื่อนไหลไปตามกระแสค่านิยมในสังคม คุณค่าเทียมนี้ไม่ว่าจะทำการสนองความต้องการมากเท่าไร ก็ไม่อาจให้เพียงพอได้ ตามหลักที่ว่า ตัณหานั้นไม่มีเต็ม ท่านบอกว่า นฺตถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี แม่น้ำยังเต็มได้ แต่ตัณหาไม่รู้จักเต็ม

๒. ปัญหาจากการเสียสมดุล หรือเกินพอดี กล่าวคือ ในเมื่อเทคโนโลยีนี้มาปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึก ทำให้เกิดความต้องการอย่างรุนแรง แล้วก็สนองความต้องการอย่างรุนแรง เพื่อให้มีรสชาติเต็มที่ เกิดความสุขอย่างสุดขีด และสุดขีดที่ประสาทสัมผัสจะรับได้ เกินขอบเขตปกติหรือความพอดีที่ระบบสรีระเตรียมไว้รับตามธรรมชาติ ก็เกิดความเสียสมดุล ในระบบชีวิตและแม้กระทั่งในระบบร่างกาย จึงเกิดปัญหาขึ้น นี้เป็นตัวอย่างความเสียสมดุลในวงแคบ ส่วนในวงกว้างออกไป จุดที่เป็นปัญหามากในปัจจุบัน คือการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความเสียสมดุลในระบบนิเวศ และกว้างออกไปอีก คือในระบบความดำรงอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม โดยเฉพาะที่เด่นมากคือปัญหาสภาพแวดล้อมเสีย

๓. มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด หรือความไม่เข้าใจตามเป็นจริง ไม่มองสิ่งทั้งหลายตามสภาพของมัน วางใจต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง รวมทั้งวางใจต่อชีวิตของตัวเองไม่ถูกต้อง และวางใจแม้ต่อเทคโนโลยีนั้นไม่ถูกต้อง ว่ามันเป็นเพียงสิ่งที่เข้ามาช่วยเสริม อย่าให้ชีวิตของเราไปเป็นทาสต้องขึ้นต่อมัน เมื่อวางท่าทีผิดเข้าใจผิดโทษก็เกิดขึ้นทันที

นอกจากนี้ ความหลงผิดที่ร้ายแรง ก็คือ ความคิดว่า ความสำเร็จความพรั่งพร้อมและความสุขของมนุษย์จะเกิดขึ้นได้ด้วยการเอาชนะพิชิตธรรมชาติ การมองธรรมชาติด้วยท่าทีของความเป็นศัตรูที่จะต้องปราบ แล้วนำไปสู่การเบียดเบียนทำลายธรรมชาติ กลายเป็นสาเหตุสำคัญของความทุกข์ยากเดือดร้อนของมนุษย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

๔. การปล่อยตัวให้อ่อนแอลงไปตามความสะดวกสบาย ที่เกิดจากเทคโนโลยี โดยมัวเพลิดเพลิน สำเริงสำราญ ขาดการฝึกตนให้เข้มแข็งอดทน มีภูมิต้านทานความทุกข์ มนุษย์ในยุคเทคโนโลยีนี้ถ้าขาดการฝึกฝนพัฒนาตนเสียแล้ว ก็มีโอกาสมากที่จะเป็นคนที่มีความสุขยาก และมีทุกข์ได้ง่ายอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ฉะนั้นพร้อมกับความเจริญแบบนี้ ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องฝึกฝนตนเองให้มีสติ มีความยับยั้งชั่งใจ มีความหนักแน่นอดทน มีภูมิต้านทานต่อความทุกข์มากยิ่งขึ้น อย่าปล่อยให้ความสะดวกสบายและอิทธิพลการปรนเปรอของเทคโนโลยีมาทำลายศักยภาพที่จะมีความสุขที่มีอยู่ในตัวเอง

๕. ความเสื่อมประสิทธิภาพแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ เพราะมัวหวังพึ่งพาประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของคนที่สัมพันธ์โดยตรงกับการใช้เทคโนโลยี นอกจากปัญหาในด้านความสุขแล้ว คนก็เสื่อมประสิทธิภาพในด้านความสามารถที่จะดำเนินชีวิตและการทำกิจการงานด้วยตนเองด้วย แล้วปัญหานี้ก็ส่งผลย้อนกลับมาสู่การใช้เทคโนโลยีนั้นเอง เช่น ทำให้เกิดความผิดพลาดก่ออุบัติเหตุร้ายแรงง่ายขึ้น เนื่องจากความขาดสติรอบคอบ ขาดความเอาใจใส่รับผิดชอบ และความประมาท ดังที่กล่าวแล้วว่า ยิ่งเทคโนโลยีที่ปรนเปรอให้ความสะดวกเจริญมากขึ้น คนก็มีแนวโน้มที่จะขาดสติ ขาดความรับผิดชอบ เผอเรอประมาทมากยิ่งขึ้น และยิ่งเทคโนโลยีซับซ้อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเกิดความพลั้งเผลอผิดพลาด อันตรายที่เกิดขึ้นก็ยิ่งเลวร้ายรุนแรงมากขึ้น ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของคนในด้านจิตใจหรือคุณธรรม จึงมีความสำคัญยิ่งขึ้นในยุคเทคโนโลยี

๖. ความละเลยการพัฒนาความเป็นมนุษย์ ข้อนี้เป็นปัญหาที่ลึกลงไปกว่าข้อที่กล่าวมาทั้งหมด ซึ่งพูดได้ว่าเป็นรากเหง้าของปัญหาในแง่อื่นๆ ทั้งหมด กล่าวคือ แม้ว่ามนุษย์จะได้ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย ในการพัฒนาศักยภาพทางด้านการขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของตนด้วยเทคโนโลยี แต่มนุษย์ที่พัฒนาเทคโนโลยีนั้น ก็มิได้พัฒนาเนื้อตัวของเขาเอง หรือความเป็นมนุษย์ของเขาขึ้นไปด้วย อย่างควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยี

ในเมื่อความเห็นแก่ตัว ความต้องการอำนาจปรารถนาความยิ่งใหญ่ครอบงำผู้อื่น ความคิดเบียดเบียนทำลายกัน และความลุ่มหลงมัวเมายังหนาแน่นอยู่ในจิตใจ ไม่ได้รับการขัดเกลา พร้อมกันนั้น ความเมตตากรุณาความเอาใจใส่ผู้อื่น ปัญญาที่แท้จริง และความมีจิตใจเป็นอิสระ ก็ไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาแทนที่ วิสัยแห่งอินทรีย์ที่ขยายออกไป ก็ยิ่งกลายเป็นช่องทางให้เขาสามารถสนองโลภะ โทสะ โมหะ และตัณหา มานะ ทิฏฐิ ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกลายเป็นเครื่องบำรุงส่งเสริมกิเลสเหล่านั้นให้เติบโตแข็งกล้ายิ่งขึ้น ปัญหาการเบียดเบียนแย่งชิง ความเดือดร้อนวุ่นวายในสังคมมนุษย์ ความเสื่อมโทรมแห่งสภาพแวดล้อม และความทุกข์ในจิตใจของมนุษย์เอง จึงมิได้ลดน้อยลงเลย แต่กลับเพิ่มพูนและรุนแรงยิ่งขึ้นจนถึงขั้นที่น่ากลัวว่า มนุษยชาติจะพินาศสูญสิ้นด้วยผลกรรมของตนเอง ดังที่กำลังหวาดหวั่นกันอยู่มาก

การแก้ปัญหาก็ตรงข้ามกับการเกิดปัญหานั้นเอง คือ

๑. เทคโนโลยีเพื่อคุณค่าแท้ที่เสริมคุณภาพชีวิต โดยรู้จักแยกระหว่างคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม คุณค่าแท้คือคุณค่าที่สนองความต้องการให้เกิดคุณภาพชีวิต เช่น กินอาการเพื่ออะไร ร่างกายของเราต้องการอาหาร เพื่อจะเอามาสร้างความเจริญเติบโตซ่อมแซมตนเอง จึงควรกินอาหารให้มีส่วนประกอบหรือธาตุอาหารต่างๆ อย่างเพียงพอ ถ้าเรากินอาหารเพื่อสนองความต้องการของชีวิตแท้ๆ ตามความหมายนี้ พอกินไปได้สักปริมาณหนึ่งมันก็จะพอ คือ พอกินให้ได้ตามความต้องการของร่างกายที่จะซ่อมแซมตัวมันเองและสร้างความเจริญเติบโตให้มีสุขภาพดีแข็งแรง พอได้คุณค่าของธาตุอาหารครบถ้วน ก็จบ แต่ถ้าเรากินอาการเพื่อสนองคุณค่าเทียม คือกินเพื่ออร่อย โก้ สนุกสนาน มัวเมา อวดฐานะกันแล้ว ก็ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะไม่มีเกณฑ์ที่จะตั้ง คุณค่าแท้มีเกณฑ์ที่จะวัดได้ และเรารู้จุดจบ รู้ขอบเขต แต่คุณค่าเทียมไม่มีจุดจบสิ้น

คุณค่าแท้เสริมคุณภาพชีวิต แต่คุณค่าเทียมทำลายคุณภาพชีวิตพร้อมทั้งเบียดเบียนสังคมและเอาเปรียบธรรมชาติ เทคโนโลยีนี้เราจะต้องเปลี่ยนจากการสร้างและใช้เพื่อเสพคุณค่าเทียม ให้มาเป็นเครื่องช่วยในการที่มนุษย์จะได้ประโยชน์จากคุณค่าแท้ ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเครื่องส่งเสริมการเสพคุณค่าเทียม

๒. เทคโนโลยีที่เกื้อหนุนระบบความประสานเกื้อกูลแห่งดุลยภาพ โดยรู้จักประมาณ คือความพอดี หรือภาวะสมดุล แล้วดำเนินชีวิตและปฏิบัติการทั้งหลายโดยคำนึงถึงดุลยภาพแห่งระบบการดำรงอยู่ของสิ่งทั้งหลาย ที่ดำเนินไปด้วยดีด้วยความเป็นองค์ประกอบและเป็นปัจจัยร่วมที่มาประสานเกื้อกูลกันอย่างพอดี เริ่มตั้งแต่ความเป็นอยู่ประจำวัน แม้แต่ในการกินอาหาร เมื่อเอาคุณค่าแท้ตั้งเป็นหลัก บางทีถึงมีคุณค่าเทียมประกอบมากบ้างน้อยบ้าง ก็จะไม่เสียสมดุล เพราะคุณค่าแท้ที่ตั้งไว้เป็นหลักจะเป็นตัวรักษาความพอดีให้คงอยู่ คุณประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นได้

ความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีจะต้องดำเนินไปพร้อมด้วยการคำนึงถึงหลักดุลยภาพนี้อยู่เสมอ ให้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นปัจจัยหรือองค์ประกอบในด้านประสานเกื้อกูล ไม่ใช่มาก่อความแปลกแยก รวมทั้งในการปฏิบัติต่อธรรมชาติแวดล้อมทั่วไป เมื่อจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือมีผลกระทบต่อธรรมชาติแวดล้อม จะต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลหรือการปรับให้เข้าสู่ภาวะประสานกลมกลืน โดยมีดุลยภาพที่น่าพอใจอยู่เสมอ ดังนี้ เป็นต้น

๓. เทคโนโลยีบนฐานของสัมมาทิฏฐิ คือ การผลิตการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีจะต้องประกอบด้วยปัญญาที่มองเห็นและเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เช่น รู้จักคิดให้เข้าใจถูกต้องในความสุข ความทุกข์ของมนุษย์ว่าคืออะไร ไม่ใช่จะคอยหาความสุขจากการปลุกเร้าความต้องการขึ้น แล้วก็ตามสนองความต้องการนั้นเรื่อยไปอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด ไม่ใช่เข้าใจว่า ความสุขมีอยู่เพียงที่การคอยสนองความต้องการที่ปลุกเร้าขึ้น รู้จักและเข้าใจคุณประโยชน์และโทษของเทคโนโลยี เพื่อใช้เทคโนโลยีในทางที่เป็นคุณ มองธรรมชาติในฐานะเป็นองค์ประกอบร่วมในการดำรงอยู่ของตนซึ่งจะต้องเกื้อกูลต่อกัน ไม่มองในฐานะเป็นศัตรูที่จะต้องพิชิตหรือทำลาย การเรียนรู้กฎเกณฑ์ปรากฏการณ์และความเป็นไปในธรรมชาติมุ่งเพื่อสามารถแก้ไขจัดสรรเหตุปัจจัยต่างๆ ในธรรมชาติให้เป็นไปในทางที่เกื้อกูลต่อกันยิ่งขึ้น ทั้งให้ธรรมชาติเกื้อกูลต่อมนุษย์ และมนุษย์เกื้อกูลต่อธรรมชาติ ไม่ใช่เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของมนุษย์ฝ่ายเดียว อย่างที่เคยผิดพลาดมา ทั้งนี้ โดยคำนึงอยู่เสมอถึงการรักษาสมดุลและการปรับให้เข้าสู่ความประสานกลมกลืน จนเกิดดุลยภาพที่น่าพอใจอย่างที่กล่าวแล้วในข้อก่อน

๔. เทคโนโลยีของคนที่เป็นไท คนผู้มีผู้ใช้เทคโนโลยีจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างเป็นผู้พัฒนาและเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี มนุษย์จะต้องเป็นนายเทคโนโลยี ให้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยส่งเสริมความดีงามความประเสริฐของมนุษย์ โดยตัวมนุษย์เองจะต้องไม่กลายเป็นผู้พึ่งพา ขึ้นต่อเทคโนโลยี หรือเป็นทาสของเทคโนโลยี เริ่มแต่จะต้องมีสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน รู้จักบังคับควบคุมตนเองเป็นคนเข้มแข็ง มีภูมิต้านทานความทุกข์ และความพร้อมที่จะมีความสุขอยู่เสมอ อย่างที่ว่า แม้ไม่มีเทคโนโลยี ฉันก็อยู่ได้ ฉันก็สามารถมีความสุขได้ รู้จักที่จะเป็นอิสระจากเทคโนโลยี วางเทคโนโลยีไว้ในฐานะที่ถูกต้อง ให้เทคโนโลยีเป็นส่วนเสริมขึ้นจากการที่ตนเองสามารถหาความสุขได้อยู่แล้ว ทำงานได้อยู่แล้ว ให้มีโอกาสที่จะมีความสุขได้มากขึ้น ทำงานได้มากขึ้น

๕. เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าคู่กันไปกับการพัฒนาคุณภาพของคน โดยฝึกคนให้มีคุณภาพทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่มีความละเอียดอ่อนซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่นฝึกปรืออินทรีย์ให้เฉียบคม มีประสิทธิภาพที่จะสามารถเป็นอยู่อย่างเป็นอิสระ หรือเป็นไทแก่ตนเองอยู่เสมออย่างที่กล่าวในข้อก่อน ไม่ใช่เทคโนโลยียิ่งละเอียดอ่อน คนกลับยิ่งหยาบ เทคโนโลยียิ่งซับซ้อน คนกลับมักง่ายมากขึ้น แต่ให้เป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะ มีความรับผิดชอบ ละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาท นอกจากเป็นนายของเทคโนโลยีแล้ว จะต้องเป็นนายที่สามารถใช้และควบคุมเทคโนโลยี ให้ทำงานสนองวัตถุประสงค์ในทางสร้างสรรค์ได้อย่างถูกต้องเรียบร้อย เป็นผลดีแท้จริง ให้เทคโนโลยีเป็นทาสที่ซื่อสัตย์ หรือเป็นมิตรที่เกื้อกูลของมนุษย์

๖. เทคโนโลยีที่สนองจุดหมายของอารยชน การพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องเป็นรองและเป็นเครื่องรับใช้การพัฒนาคนในความหมายแท้จริง ที่ถึงขั้นรากฐาน อย่างเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ คือ พัฒนาตัวมนุษย์เอง หรือ พัฒนาความเป็นมนุษย์ ทำให้เป็นสัตว์ที่พัฒนาตนแล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ที่ได้พัฒนาสิ่งอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว แต่ตัวเองกลับยังไม่ได้พัฒนา หมายความว่า พัฒนาคนให้พ้นจากภาวะของอันธพาลปุถุชน ที่เป็นอยู่เพียงด้วยการสนองความเห็นแก่ตัว การแสวงหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตน การแก่งแย่งผลประโยชน์และความเป็นใหญ่ที่นำไปสู่การเบียดเบียน ทำลายกัน และความลุ่มหลงมัวเมาด้วยความมืดบอดต่อความเป็นจริงของโลกและชีวิต พัฒนาขึ้นมาสู่ความเป็นอารยชน ผู้มีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งทำให้รู้ที่จะปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อธรรมชาติที่แวดล้อมตน และต่อสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์เองได้พัฒนาขึ้นมา เช่นต่อเทคโนโลยีนั้นเอง เป็นต้น รวมทั้งเป็นผู้พร้อมที่จะดำเนินการพัฒนาต่างๆ ทุกอย่างไปในทางที่ไร้โทษ เป็นคุณ เกื้อกูลต่อชีวิต สังคม และธรรมชาติ ทำให้แก้ปัญหาได้ ปลอดพ้นจากปัญหา ไม่ใช่ก่อปัญหาเพิ่มขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีส่งเสริมปัญญาที่จะเข้าถึงสัจธรรม เพิ่มพูนคุณธรรม และนำชีวิต สังคม และธรรมชาติ ให้ดำเนินไปในระบบความสัมพันธ์อันประสานเกื้อกูล ที่ตัวมนุษย์เองจะได้เข้าถึงสุขสันติและอิสรภาพที่แท้จริง

การศึกษาจะต้องเน้นการพัฒนาคนในระดับนี้ ให้เหนือกว่าและนำหน้าการพัฒนาความสามารถในทางเทคโนโลยี การพัฒนาขั้นนี้คงจะเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดที่จะต้องทำให้ได้ ถ้าต้องการแก้ปัญหาที่กำลังหวาดกลัวกันอยู่ให้ได้ผลอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม แท้ที่จริง สิ่งที่ว่าทำได้ยากนั้น ถ้าทำถูกช่องทางแล้ว ก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า มนุษย์ไม่รู้ตระหนักถึงรากเหง้าต้นตอของปัญหานี้ แล้วกลับไปทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับการแก้ปัญหา

การศึกษาในยุคเทคโนโลยีนี้ มีภารกิจสำคัญที่จะต้องสร้างทัศนคติและปัญญาอย่างนี้แก่เด็กให้มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะในโรงเรียน หรือในบ้านซึ่งพ่อแม่ก็จะต้องสร้างความเข้าใจนี้แก่ลูก ยิ่งเมื่อโลกเจริญมาถึงยุคข่าวสารข้อมูล และเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลมีบทบาทมากต่อชีวิตของมนุษย์ มีอิทธิพลมากต่อความเจริญและความเสื่อมของสังคม การศึกษาจะต้องช่วยให้คนเจริญเท่าทันยุคสมัยในความหมายที่ว่า อย่างน้อยจะต้องตื่นตัวรู้เท่าทันต่อความเป็นไปและปัญหาต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และความเสื่อมความเจริญของสังคม เมื่อสดับข่าวสาร ก็ไม่ติดอยู่แค่ส่วนปลีกย่อยที่จะเอามาซุบซิบตื่นเต้นกันไป แต่มองให้เห็นภาพรวมของโลกและสังคม ทั้งในด้านปัญหาที่จะต้องแก้ไขและทางเจริญที่จะดำเนินต่อไป และสามารถแยกแยะวิเคราะห์องค์ประกอบ และเหตุปัจจัยเชื่อมโยงกันขึ้นไป

จะเป็นเรื่องน่าหัวเราะสักเพียงไร ถ้าคนที่อยู่ท่ามกลางความแพร่สะพัดของข่าวสารข้อมูล และเป็นผู้ใช้ผู้บริโภคเทคโนโลยีประเภทนั้นอยู่อย่างเต็มที่ แต่ไม่รู้ทันความเป็นไปของสังคม และสภาพแวดล้อมในโลกที่อยู่รอบตัว โดยเฉพาะในส่วนที่จะส่งผลแก่ชีวิตของตนและคนข้างเคียง ไม่สำเหนียกคุณโทษ และไม่ได้พัฒนาปัญญาที่จะรู้จักใช้ข่าวสารข้อมูลให้เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ไม่สมควรจะเรียกว่าเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี แต่เป็นเพียงผู้ถูกเทคโนโลยีครอบงำเท่านั้น ถึงเทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นไปเท่าไร ตนเองก็ไม่ได้พัฒนา และก็ไม่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นด้วย เทคโนโลยีเท่านั้นที่ทันสมัย แต่คนหาได้ทันต่อยุคสมัยไม่ และเมื่อไม่สามารถใช้เทคโนโลยีในทางที่เป็นคุณ เทคโนโลยีนั้นก็ไม่ช่วยในการแก้ปัญหา มีแต่จะสร้างปัญหาให้มากขึ้น เท่ากับว่าความเจริญของเทคโนโลยีกลายเป็นโทษ ทำให้การพัฒนามีค่าเป็นหายนะ

ในยุคแห่งเทคโนโลยีที่ข่าวสารข้อมูล มีบทบาทเด่นนำหน้านี้ การศึกษาจะต้องเน้นบทบาทในการทำให้คนรู้จักปฏิบัติต่อเทคโนโลยีและข่าวสารข้อมูลอย่างถูกต้อง ด้วยการพัฒนาคน เพื่อให้เทคโนโลยีเป็นคุณ

มองเทคโนโลยีให้พอดีกับความจริง

เวลาล่วงไปมากแล้ว ขอพูดอีกเรื่องหนึ่งคือ สภาพความใฝ่ฝันเกี่ยวกับเทคโนโลยี ในสมัยปัจจุบันนี้ เราอาจแยกคนได้เป็นสุดโต่ง ๒ พวก พวกหนึ่งคือคนที่เพ้อฝันในเรื่องเทคโนโลยีอย่างที่พูดมาแล้ว คือเห็นว่าเทคโนโลยีจะตอบปัญหาของมนุษย์ได้ทุกอย่าง จะสร้างความสมบูรณ์พูนสุขทุกอย่าง และอีกพวกหนึ่งคือคนที่ต่อต้านเทคโนโลยี การต่อต้านเทคโนโลยีเป็นปฏิกิริยาที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะไม่นานนี้ ในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในอเมริกา มีคนต่อต้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาก

อย่างที่ได้บอกเมื่อกี้แล้วว่า มนุษย์เคยใฝ่ฝันว่า เทคโนโลยีที่เจริญขึ้นในยุคอุตสาหกรรมนี้จะทำให้มนุษย์มีทุกอย่างพรั่งพร้อมบริบูรณ์ และมนุษย์จะมีความสุขเต็มที่ แต่ต่อมาเมื่อไม่นานนี้ ได้ปรากฏปัญหาขึ้นมาทีละอย่าง ปํญหาผุดขึ้นมาๆ เช่น เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นพิษ เกิดปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บแปลกๆ ใหม่ๆ มีโรคหลายอย่างซึ่งเกิดจากความเป็นอยู่ที่ไม่พอดี ไม่สมดุล ฯลฯ ในช่วง ๒๐ ปีที่ปัญหาเหล่านี้ปรากฏขึ้น ได้ทำให้คนในประเทศพัฒนาตื่นเต้นหวาดกลัวกันมาก จนบางพวกหันไปเป็นปฏิปักษ์ต่อเทคโนโลยี ดังได้มีขบวนการต่างๆ ที่ต่อต้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และพร้อมกันนั้นก็มีกลุ่มที่เพ้อฝันเรื่องเทคโนโลยี กลุ่มเพ้อฝันนี้อาจเป็นพวกที่หลงเหลือมาจากสภาพความคิดเก่าๆ บ้าง เป็นปฏิกิริยาต่อพวกที่ต่อต้านเทคโนโลยีบ้าง

สำหรับคนที่มีความรู้ความเข้าใจเท่าทันในเรื่องเทคโนโลยีอยู่ในวงการที่ตามความเจริญได้ดี และมองสภาพสิ่งต่างๆ มองสังคม มองอะไรต่างๆ รอบด้านกว่านั้น ก็จะมีทัศนคติที่กว้างขวางออกไป และจะมีทัศนะที่ต่างจากทั้งพวกต่อต้านเทคโนโลยี และต่างจากพวกที่เพ้อฝันเรื่องเทคโนโลยี

ในเมื่อเทคโนโลยีเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราก็ควรมองดูว่า ในประเทศพัฒนานั้นเขามีความรู้สึก ความเข้าใจ และมองปัญหาเทคโนโลยีกันอย่างไร เพราะฉะนั้น อาตมาจึงขอนำเอาตัวอย่างความคิดเห็นของคนในสังคมที่มีเทคโนโลยีพัฒนาสูงแล้วมาพูดให้ฟังว่า เขามีความรู้สึกอย่างไร อย่างไรก็ตาม เมื่อจะยกเอาคนในประเทศเหล่านั้นมาอ้าง ก็ต้องเลือกเอาคนที่น่าเชื่อถือได้ ที่คนเขารับฟังกันมาก หรือถือได้ว่าเป็นตัวแทนความคิดใหม่ๆ ซึ่งจะยกตัวอย่างมาสัก ๒-๓ คน

คนหนึ่งชื่อนายจอห์น เนสบิทท์ (John Naisbitt) เป็นนักทำนายสังคมและเป็นผู้ให้คำปรึกษา แก่บรรษัทชั้นนำของอเมริกาหลายบรรษัท แม้แต่บรรษัทที่เจริญมากในด้านเทคโนโลยีอย่าง เอทีแอนด์ที บริษัทยูไนเต็ดเทคโนโลยี ไอบีเอ็ม ยีอีหรือเยเนอราลอีเลคตริค เป็นที่ยอมรับกันว่า เขาเป็นแหล่งความรู้ชั้นยอดของอเมริกาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้มาก นายคนนี้ได้เขียนไว้ในหนังสือ Megatrends ซึ่งเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่ง อยู่ในบัญชีหนังสือขายดีที่สุดของหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ถึง ๖๐ สัปดาห์ ตอนหนึ่งในหนังสือนั้นเขายกเอาบทความของนายจอห์น เฮสส์ (John Hess) เรื่อง "ความบ้าคอมพิวเตอร์" ("Computer madness") มาลงไว้ว่า

"ความผิดพลาดอยู่ที่เราคิดว่า เครื่องอุปกรณ์ใหม่ๆ จะแก้ปัญหาได้ อันนี้เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง"

แล้วเขาก็เขียนต่อไปว่า

"เมื่อเราตกลงไปอยู่ในกับดักของความเชื่อ หรือพูดให้ถูกแท้คือความหวังที่ว่าเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาของเราได้ทุกอย่างนั้น แท้จริงก็คือเรากำลังสลัดความรับผิดชอบของคนทิ้งไป ความฝันเพ้อในเรื่องเทคโนโลยีเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ เราเฝ้าคอยยาวิเศษขนานใหม่ ที่จะทำให้เราสามารถกินอาหารไขมันได้ทุกอย่างตามความต้องการ โดยน้ำหนักไม่เพิ่ม เราจะเผาน้ำมันเท่าไรก็ได้ตามต้องการ โดยไม่ทำให้อากาศเสีย เราจะเป็นอยู่แบบไม่รู้จักประมาณตามชอบใจอย่างไรก็ได้ โดยไม่เป็นมะเร็งหรือโรคหัวใจ"

"อย่างน้อยในใจของเราก็รู้สึกเหมือนว่า เทคโนโลยีจะปลดเปลื้องเราให้พ้นไปได้ จากความมีวินัยและความรับผิดชอบ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นดอก และจะไม่มีวันเป็นอย่างนั้นเลย"

"ยิ่งเทคโนโลยีระดับสูงมาอยู่รอบตัวเรามากเท่าไร ก็ยิ่งจำเป็นต้องให้คนเข้าไปเอาธุระมากขึ้นเท่านั้น... เรามาพัฒนาความรู้ด้านใน คือ ปัญญาที่จำเป็นจะต้องใช้เป็นเครื่องนำทาง ในการที่จะบุกเบิกเข้าไปในแดนแห่งเทคโนโลยี... เทคโนโลยีระดับสูงควบคู่กับการเข้าไปรับผิดชอบอย่างจริงจังของคน หลักการนี้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความจำเป็น ที่จะต้องมีดุลยภาพระหว่างของนอกกายกับภาวะทางจิตปัญญา"9

ทัศนะนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า คนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีดี กลับมีทัศนะที่เห็นความสำคัญของจิตใจมาก

อีกคนหนึ่งชื่อนายแอลวิน ทอฟเฟลอร์ (Alvin Toffler) เป็นผู้แต่งหนังสือ Future Shock ที่โด่งดังมาก เป็นนักวิพากษ์สังคมที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เขาได้เขียนหนังสือเล่มหลังชื่อ The Third Wave ซึ่งเป็นหนังสือ besteseller คือขายดีที่สุดเหมือนกัน เขาเขียนว่า

"ปัจจุบันนี้ มีการยอมรับที่แพร่ไปอย่างรวดเร็วทั่วโลกว่า ความเจริญก้าวหน้าจะวัดด้วยเทคโนโลยีหรือมาตรฐานการครองชีพทางวัตถุเพียงอย่างเดียว ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่เรายอมรับกันว่า สังคมที่เสื่อมทรามทางด้านศีลธรรม ทางด้านสุนทรียภาพ ด้านการเมือง หรือด้านสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่มั่งคั่ง หรือชาญฉลาดทางด้านเทคนิคเพียงใดก็ตาม ก็หาใช่เป็นสังคมที่เจริญก้าวหน้าไม่ กล่าวโดยย่อก็คือว่า เรากำลังก้าวย่างไปสู่ความเข้าใจความหมายของความเจริญก้าวหน้า โดยนัยที่กว้างขวางครอบคลุมยิ่งกว่าเก่ามากมาย"10

นี้ก็เป็นทัศนะหนึ่ง

ขอข้ามเลยไปถึงอีกคนหนึ่งชื่อ นายฟริตจ๊อฟ คาปร้า (Fritjof Capra) เป็นนักฟิสิกส์และเป็นผู้แต่งหนังสือ Tao of Physics ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดว่าเป็น international bestseller คือขายดีที่สุดระดับนานาชาติ เขาเขียนไว้ในหนังสือเล่มหลังต่อจากนั้น ชื่อ The Turning Point ตอนหนึ่งว่า

"ความหลงใหลในเทคโนโลยีระดับสูง ที่แสดงออกมาอย่างถึงที่สุด ก็คือความเพ้อฝันที่เคลิ้มกันไปอย่างกว้างขวางว่า ปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันของเราสามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างถิ่นฐานดินแดนเทียมขึ้นในอวกาศนอกโลก ข้าพเจ้ามิได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ ที่ว่าคนจะสร้างอาณาจักรในอวกาศเช่นนั้นขึ้นมาได้สักวันหนึ่ง แต่จากแผนการที่มีอยู่ และความคิดที่อยู่ภายใต้แผนการนั้น เท่าที่ข้าพเจ้ามองเห็น ข้าพเจ้าคงจะไม่ต้องการไปอยู่ที่นั่นด้วยอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดพื้นฐานของความคิดทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องเทคโนโลยี แต่ความผิดพลาดนั้นได้แก่ความเชื่ออย่างไร้เดียงสาว่า เทคโนโลยีอวกาศสามารถแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมบนโลกใบนี้ได้"11

ที่ยกมากล่าวอ้างนี้ เป็นทัศนะของคนที่รู้ความเคลื่อนไหวของโลกและสังคมรอบด้าน ที่คนยอมรับและอ่านกันมาก สาระสำคัญของความคิดของทั้งสามคนนี้ก็ตรงกัน คือว่า อย่าให้เราหลงใหลเพ้อฝันไปกับเทคโนโลยี ว่าจะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ทุกอย่าง ว่าจะทำให้มนุษย์อยู่สุขสมบูรณ์ แม้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่จะช่วยแก้ปัญหาบางอย่าง แต่เทคโนโลยีนั้น ก็จะต้องมีสติปัญญาของมนุษย์คอยควบคุม เพราะฉะนั้น การพัฒนามนุษย์จึงเป็นงานที่ต้องทำกันต่อไป แม้ว่ามนุษย์จะพัฒนาเทคโนโลยีเจริญไปมากเท่าไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องเจริญคู่กันไปก็คือ การที่จะต้องพัฒนามนุษย์ ต้องพัฒนาคน

การพัฒนาคนนั้นไม่ใช่พัฒนาเฉพาะในด้านความรู้ และความชำนาญทางด้านเทคนิคอย่างที่ว่ามาแล้ว หรือในเรื่องวิทยาการต่างๆ เท่านั้น แต่หมายถึงการพัฒนาคุณภาพในด้านชีวิตจิตใจ พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉพาะในการที่จะใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้น ก็ยิ่งต้องการความมีสติรอบคอบ ความละเอียดถี่ถ้วน ความไม่ประมาทมากขึ้น อย่างที่อาตมาได้ยกตัวอย่างมาให้ฟังแล้ว และนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคมยุคเทคโนโลยี ที่ทำให้พุทธธรรมจะต้องมีความหมายอยู่ต่อไป

เท่าที่ได้พูดมาจนเกินเวลาแล้วนี้ ก็พูดไปได้เฉพาะเรื่องเทคโนโลยีในระดับทั่วไป ส่วนที่จะต้องพูดซึ่งยังเหลืออยู่ ก็คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสังคมไทยโดยเฉพาะ แต่เพราะเวลาหมดไปนานแล้ว เรื่องเทคโนโลยีกับสังคมไทยโดยเฉพาะนี้ก็จะต้องยกตัดตอนไป

จุดบรรจบของพุทธธรรมกับวิทยาการและเทคโนโลยี

เมื่อจบเทคโนโลยีในส่วนที่เกี่ยวกับสังคมไทยโดยเฉพาะแล้ว ก็มาสรุปในแง่ที่เป็นเรื่องของเทคโนโลยีกับพุทธธรรม ขอพูดสั้นๆ ว่า ในที่สุดแล้ว เรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าอย่างที่เราเกี่ยวข้องอยู่ในยุคพัฒนาด้วยอุตสาหกรรมนี้ เราจะต้องรู้ว่ามันเกิดมาจากวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์นั้นเป็นตัวความรู้ที่เป็นพื้นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ก็คือการเรียนรู้เข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและกฎธรรมชาติ การเรียนรู้เข้าใจกฎของธรรมชาตินั้นก็คือการเรียนรู้ธรรม เพราะความจริงของธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่าธรรม ฉะนั้น ความเพียรพยายามของวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา ก็คือการเพียรพยายามที่จะเข้าถึงธรรม

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมานั้น วิทยาศาสตร์ได้รู้เข้าใจธรรมเพียงบางด้านบางส่วน โดยเฉพาะในด้านรูปธรรม และในเมื่อวิทยาศาสตร์เจริญมาได้เพียงบางแง่บางส่วน มันก็ทำให้เรายังไม่สามารถสร้างระบบความประสานกลมกลืน ที่จะให้เกิดผลตามธรรมอย่างแท้จริง เพราะว่าแท้จริงนั้น ถ้าคนเข้าถึงธรรมอย่างแท้จริงแล้ว ผลจากธรรมก็จะเกิดขึ้นในแนวทางที่ว่า เมื่อเรารู้ตัวธรรม รู้ความจริงของธรรมชาติแล้ว ความรู้ คือปัญญาที่รู้ความจริงของธรรมชาตินั้น ก็จะทำให้เราดำเนินชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ หรือถูกต้องสอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ นั้นก็คือการดำเนินชีวิตตามธรรม

เมื่อดำเนินชีวิตตามธรรมแล้ว ความพอดี ความสมดุล และประสานกลมกลืนก็เกิดขึ้น ความประสานกลมกลืนเกิดขึ้น ก็คือการไม่มีความบีบคั้น ความบีบคั้นนั้นคือความทุกข์ เมื่อไม่มีสิ่งบีบคั้นก็คือไม่มีทุกข์ เมื่อเกิดสภาพประสานกลมกลืนพอดี ก็เกิดความคล่องตัวเบาสบายเป็นความสุข ฉะนั้น การรู้ธรรมคือความจริงที่เรียกว่า สัจธรรมด้วยปัญญา ก็จึงนำมาซึ่งการดำเนินชีวิตตามธรรมที่เรียกว่า จริยธรรม และจากการดำเนินชีวิตตามธรรม สอดคล้องกับธรรมชาติถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เกิดความประสานกลมกลืนพอดี ก็เกิดภาวะไร้ทุกข์ที่เรียกว่าความสุข ขึ้น เป็นภาวะคล่อง สบาย ปราศจากความบีบคั้นขัดข้อง

ดังนั้น ในขั้นสุดท้าย ปัญญา การรู้ธรรมก็ดี จริยธรรม การดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรมก็ดี และความสุข ที่เกิดจากการดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรมแล้วเกิดความประสานกลมกลืนกันก็ดี จึงเป็นองค์ ๓ ที่เชื่อมโยงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ถูกต้อง ก็ทำให้เกิดจริยธรรม คือการดำเนินชีวิตตามธรรม แล้วก็ทำให้เกิดความสุข

องค์ทั้ง ๓ นี้ในระดับสุดท้าย ใช้เป็นเครื่องวัดความสมบูรณ์ของชีวิต ซึ่งจะต้องมาด้วยกัน แต่ในระดับต้นๆ เพราะเหตุที่มันยังไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น บางทีปัญญาก็ไม่มากับคุณธรรม บางทีปัญญาก็ไม่มากับความสุข บางทีจริยธรรมก็ไม่มากับความสุข ไม่มากับปัญญา ยุ่งไปหมด เพราะยังเจริญเป็นส่วนๆ วิทยาศาสตร์ก็เหมือนกัน ได้เข้าถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมเพียงบางแง่บางส่วน จึงยังไม่สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จนี้ได้ กล่าวคือ ความเชื่อมโยงเป็นอันเดียวกันระหว่างปัญญากับคุณธรรมและความสุข

ฉะนั้น จุดหมายของพุทธธรรมก็คือ การเข้าถึงความจริงโดยสมบูรณ์เกี่ยวกับธรรมชาตินี้ด้วยปัญญา แล้วทำให้เกิดคุณธรรมและความสุขขึ้นในขั้นสุดท้าย ผู้ที่เข้าถึงธรรมอย่างแท้จริง เรียกว่า พุทธะ จึงมีองค์คุณ ๓ คือ มีปัญญาคุณ ได้แก่ ปัญญาที่รู้เข้าใจธรรมชาติ และกฎธรรมชาติ มีกรุณาคุณ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงความเต็มบริบูรณ์ของคุณธรรม เพราะเมื่อมีคุณธรรมในตนเองพรั่งพร้อมแล้ว ก็แสดงออกต่อเพื่อนมนุษย์ในรูปที่เรียกว่ากรุณา และมีวิมุตติคุณ คือความหลุดพ้น ซึ่งจะเรียกว่าวิสุทธิก็ได้ เรียกว่าความสุขก็ได้ เรียกว่าสันติก็ได้ เรียกว่าอิสรภาพก็ได้ หมายถึงความหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นอิสระโดยสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ได้เข้าถึงธรรม และมีองค์คุณสมบัติ ๓ อย่างนี้โยงรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

วิทยาศาสตร์จะต้องเจริญต่อไป และจะต้องเจริญให้ถูกทาง เพื่อให้เข้าถึงธรรมคือตัวความจริงโดยสมบูรณ์ ถ้าเข้าถึงความจริงคือตัวธรรมแล้วก็จะทำให้ได้ผลอันนี้ ฉะนั้น วิทยาศาสตร์จะต้องเจริญในแนวทางที่จะให้ได้ปัญญา ที่ทำให้เกิดคุณธรรม และนำมาซึ่งความสุขที่เป็นอิสระ จึงจะเป็นวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง

ส่วนเทคโนโลยีนั้นก็จะต้องเป็นเครื่องช่วยสนับสนุนความปรารถนาของวิทยาศาสตร์ในการที่จะเข้าถึงจุดหมายอันนี้ ฉะนั้นเทคโนโลยีที่สร้างและใช้อย่างถูกต้อง ก็คือเทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้มนุษย์มีโอกาสในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพของตนในการที่จะเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา มีคุณธรรม และมีความสุขแห่งสันติในอิสรภาพเป็นที่บรรจบประสาน เมื่อคุณสมบัติที่เป็นองค์ประกอบทั้งสามนี้ประสานกันสมดุลและสมบูรณ์ได้ อันนี้ก็คือจุดบรรจบของพุทธธรรมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอจบการปาฐกถาครั้งนี้ไว้ เพราะหมดเวลามานานแล้วเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนา และขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน

1ปาฐกถาธรรมในงานสัปดาห์พุทธธรรมพุทธทาส ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๑ (สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดพิมพ์ครั้งแรก เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๑; ล่าสุดกำลังลงพิมพ์ต่อเนื่องมาในวารสาร MTEC ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ถึงฉบับ มกราคม-มีนาคม ๒๕๔๐)
2ภายหลังปาฐกถาครั้งนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องชั้นโอโซนยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ในระยะใกล้ๆ ก่อนหนังสือนี้ตีพิมพ์ออกมา มีข่าวการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ ในช่วงสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนมีนาคม ๒๕๓๒ นี้ มี International Conference on Ozone Depletion ที่ประเทศอังกฤษ มีประเทศต่างๆ เข้าประชุม ๑๒๓ ชาติ ต่อมาไม่ทันนาน ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมนี้ ก็มีการประชุม ๘๖ ชาติ แบบเดียวกันนี้อีก ที่กรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ (Finland) ที่ประชุมมองความสำคัญของปัญหานี้ ในขั้นเกี่ยวกับความอยู่รอดของมนุษยชาติ และต้องการให้ห้ามใช้สารซีเอฟซีโดยสิ้นเชิง
3ก่อนต้นฉบับหนังสือนี้เข้าโรงพิมพ์ ข่าวช่วงหลังแสดงถึงการที่ปัญหาสภาพแวดล้อมเสีย ได้รับความสนใจให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกก้าวหนึ่ง คือ ได้กลายเป็นข้อพิจารณา หรือเงื่อนไขอย่างหนึ่งในการอนุมัติเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ เช่น จะต้องปรากฏชัดว่าโครงการพัฒนาที่ขอรับความช่วยเหลือนั้นไม่ก่อผลเสียหายต่อธรรมชาติแวดล้อม ไม่กระทบกระเทือนต่อป่าไม้เป็นต้น ถ้าเห็นว่าโครงการนั้นจะมีผลกระทบต่อธรรมชาติแวดล้อม ก็จะไม่อนุมัติเงินช่วยเหลือ ดังกรณีธนาคารโลกกับโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อป่าฉ่ำฝน (rain forest) ของประเทศบราซิล (Brazil) เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๓๒ นี้ เป็นต้น
4เหตุการณ์ร้ายแรงมากที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ก่อนต้นฉบับหนังสือนี้เข้าโรงพิมพ์ คือกรณีเรือบรรทุกน้ำมัน Exxon Valdez ของสหรัฐอัปปางที่อลาสกา เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๒ เป็นเหตุให้น้ำมันรั่วไหลลงไปในทะเล ประมาณ ๔๕ ล้านลิตร ซึ่งสหรัฐฯเองกล่าวว่าเป็นอุบัติภัยประเภทนี้ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน ทำให้ชีวิตในมหาสมุทรสูญสิ้นไปเหลือคณนา เป็นตัวอย่างความผิดพลาดของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมเสีย ซึ่งเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เฉพาะอย่างยิ่งกรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมในด้านคุณภาพของคน และเป็นความเสื่อมโทรมของคุณภาพด้านจริยธรรม เพราะกับตันเรือผู้เป็นต้นเหตุของหายนภัยครั้งนี้ สั่งงานด้วยความประมาทเลินเล่อ เนื่องจากดื่มสุรามาก ทำให้มองเห็นว่า ถ้าไม่สามารถพัฒนาคุณภาพของคนในด้านจริยธรรมขึ้นไปให้ทันกับความเจริญทางเทคโนโลยี ยิ่งเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ความเสื่อมคุณภาพของคนในด้านจริยธรรมก็จะยิ่งก่อให้เกิดภัยพิบัติที่ร้ายแรงได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

5เรื่องราวตอนนี้ ดู Kurt Finsterbusch, Sociology 88/89 (Connecticut: The Dushkin Publishing Group, Inc., 1988) [เฉพาะคำพูดที่ยกมาอ้าง ดูที่ p.215]
6John Naisbitt, Magatrends (New York: Warner Books, Inc., 1984), p.27
7ค่าจ้างแรงงานอย่างต่ำในประเทศไทย เฉพาะกรุงเทพฯ และ ๕ จังหวัด โดยรอบ วันละ ๗๘ บาท บางจังหวัด ๗๕ บาทบ้าง ๗๐ บาทบ้าง แต่ส่วนใหญ่คือประมาณ ๖๒ จังหวัด วันละ ๖๕ บาท ส่วนในสหรัฐฯ ค่าแรงอย่างต่ำ ชม.ละ ๓.๓๕ ดอลล่าร์ และกำลังถกเถียงกันว่าจะให้ขึ้นเป็น ชม.ละ ๔.๕๐ ดอลล่าร์ (ตัวเลข พ.ศ. ๒๕๓๒)
8ราคาในเมืองไทย ๕๗๖,๐๐๐ บาท (ใน US=$ 13,000)
9 John Naisbitt, Megatrends (New York: Warner Books, Inc., 1984), p51
10Alvin Toffler, The Third Wave (New York: Bantam Book,Inc., 1981), p294
11 Fritjof Capra, The Turning Point (London: Fontana Paperbacks,1985), p.230
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง