ชวนคิด-พินิจธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ชวนคิด

เทวพราหมณ์ เทวดาพุทธ

ขอเจริญพร ท่านอาจารย์ ท่านผู้ปฏิบัติงาน และนักศึกษา ผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน

วันนี้ อาตมภาพได้รับนิมนต์มาพูด โดยตั้งหัวข้อว่า อินเดียในระหว่างและหลังพุทธกาล เรื่องนี้เกิดสืบเนื่องมาจากการที่อาตมภาพได้เดินทางไปประเทศอินเดีย เมื่อ ๒-๓ เดือนที่แล้วมา คุณหมอกาญจนาผู้ติดต่อนิมนต์ ก็เลยสนับสนุนให้พูดเกี่ยวกับประเทศอินเดีย เพราะเดินทางกลับมาใหม่ๆ อาตมภาพเองก็ได้ช่วยคิดชื่อให้เป็นว่า อินเดียระหว่างและหลังพุทธกาล

แต่เมื่อตั้งชื่อไปแล้ว ก็มานึกอีกทีว่า เรื่องนี้ที่จริงเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ ต้องรู้เรื่องอินเดียมากทีเดียว และจะต้องมาเล่าประวัติศาสตร์กันยืดยาวนาน ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดกันในระยะเวลาสั้นๆ อาตมภาพนั้นเพิ่งเคยไปอินเดียจริงๆ ครั้งเดียวเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น จะไปรู้เรื่องอินเดียเข้าถึงทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องทำใจกันไว้ก่อนว่า ที่มาพูดวันนี้นั้น เป็นการมาเล่าความคิดคำนึงแสดงความคิดเห็นบางอย่าง โดยที่ว่าไม่ต้องไปมุ่งเอาความจริงที่ลึกซึ้งทางประวัติศาสตร์อะไร มุ่งเอาแต่สิ่งที่เราจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์

การที่อาตมภาพได้รับนิมนต์ไปอินเดียนั้น ก็เนื่องจากว่าโยมผู้หวังดีนิมนต์ให้ไปพักผ่อน แต่ในการไปพักผ่อนนี้ ก็ได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน พร้อมทั้งสถานที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนาด้วย เมื่อได้ไปเช่นนี้แล้ว จะได้พักผ่อนหรือไม่ได้พักผ่อนก็ตาม ถือว่าได้ประโยชน์คุ้มค่าอยู่ในตัว

เสียงพูดถึงอินเดีย

เรื่องการไปประเทศอินเดียนี้ แม้ว่าอาตมภาพจะได้ไปเป็นครั้งแรก จะถือว่ารู้จักน้อยก็จริงในแง่ของการได้พบได้เห็น แต่ในแง่ของการสดับตรับฟังแล้วละก็ได้ยินมานาน มีท่านที่รู้จักเป็นพระบ้างเป็นคฤหัสถ์บ้าง โดยเฉพาะพระที่ท่านไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ประเทศอินเดียนานๆ กลับมาแล้ว ท่านก็เล่าให้ฟัง

เพราะฉะนั้น ก็ได้ยินเรื่องประเทศอินเดียมาไม่น้อยเหมือนกัน โดยมากจะเป็นเสียงพูดในทางที่ไม่ค่อยดี เช่น เมื่อพูดถึงดินแดนประเทศอินเดีย ก็พูดถึงความแห้งแล้ง ความยากจน ความสกปรก ความไม่สะดวกสบายต่างๆ อาหารที่รับประทานได้ยาก ไม่ถูกปากคนไทย ถ้าพูดถึงผู้คน ก็ว่าคนอินเดียนั้น นอกจากจะยากจน แล้วก็ขี้เหนียว ใจแคบ อะไรต่างๆ ก็พูดถึงว่าแห้งแล้งทั้งแผ่นดิน แห้งแล้งทั้งน้ำใจ

อันนี้ก็เป็นเสียงที่ได้ยินมาก่อน ก็เลยเป็นอันว่าได้ยินในทางไม่ค่อยดีเกี่ยวกับประเทศอินเดียไว้มากทีเดียว บางท่านที่เป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่นับถือ ได้ยินว่าอาตมภาพจะไปอินเดีย ท่านบอกว่า อินเดียไม่ใช่เป็นประเทศสำหรับไปพักผ่อน ถ้าหากจะไปดูไปศึกษาละก็ได้ เป็นประโยชน์ ตัวท่านเองเคยไปอินเดียมาแล้ว บอกว่าเป็นการเดินทางที่ลำบากยากแค้นที่สุดในชีวิต ก็ไม่มีความปรารถนาจะไปอีก นอกจากว่าเพื่อการศึกษา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ได้ยินเกี่ยวกับประเทศอินเดียมาก่อน

สังเวชไม่ใช่หดหู่ใจ

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องราวที่ตัวไปเห็น ว่าเป็นอย่างไร อยากจะขอแทรกสักนิดหนึ่ง ที่พูดเมื่อกี้ว่าเดินทางไปนี้ ก็ได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน สังเวชนียสถาน ก็เป็นที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา แปลกันว่าสถานที่ตั้งแห่งความสังเวช ถ้าเป็นชาวพุทธไป ก็ต้องมุ่งไปที่สังเวชนียสถาน ซึ่งมีอยู่ ๔ แห่ง คือ สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ สถานที่พระองค์ตรัสรู้ สถานที่พระองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา และสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน

ข้อที่อยากจะพูดแทรกในที่นี้ ก็คือความหมายของคำว่า สังเวช รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขทำความเข้าใจให้ถูกต้อง คำว่า สังเวช ในภาษาไทย มักจะมองกันในแง่ของความสลดหดหู่ใจ หรือไม่ก็ห่อเหี่ยวไปเลย ซึ่งความหมายเดิมในบาลีไม่ใช่อย่างนั้น

สังเวชนี้ แปลว่ากระตุ้นเตือนหรือเร้าใจ หมายถึง กระตุ้นเตือนใจให้ได้คิดที่จะเลิกละความชั่ว หรือเลิกละความประมาท และเร้าใจให้เร่งทำความดีงาม ด้วยความไม่ประมาท

ความหมายของคำหลายคำในภาษาบาลี อาตมภาพว่าเดี๋ยวนี้มันตรงกันข้ามกับความหมายในภาษาไทย ต้องแก้กันใหม่ เช่นอย่างพระพุทธพจน์ที่ตรัสถึงเรื่อง สังเวชนียสถาน ๔ นั้น

ในพระไตรปิฎก ในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงสังเวชนียสถาน ๔ โดยใช้คำควบว่าเป็นทัศนียสถานด้วยว่า ทสฺสนียานิ สํเวชนียานิ ฐานานิ สถานที่อันเป็นทัศนียะ เป็นสังเวชนียะ ๔ ทีนี้เราเอาเฉพาะคำหลัง ก็มีเหลืออยู่แต่สังเวชนียะ พระพุทธเจ้าตรัสโดยปรารภถึงว่า สมัยก่อนเมื่อพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ พระภิกษุทั้งหลายเดินทางมาจากที่ไกลๆ มุ่งจะมาได้พบเห็นสนทนาปราศรัยกับพระภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นที่เจริญใจ (มโนภาวนีย) เพราะว่าเมื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็มีสาวกผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ทรงคุณธรรมต่างๆ อยู่ด้วยมากมาย แต่เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ล่วงลับไปแล้ว ก็จะไม่ได้โอกาสเช่นนั้น ก็เลยให้มาดูสถานที่ทั้ง ๔ นี้

เมื่อมาดูแล้ว ก็อาจจะเกิดความรู้สึกได้หลายอย่าง ในแง่หนึ่ง ก็อาจจะรู้สึกปลง เห็นไตรลักษณ์ โดยเฉพาะความไม่เที่ยงว่า พระพุทธเจ้า พระวรกายของพระองค์ ก็ตกอยู่ในอำนาจของคติธรรมดา ต้องแตกสลายเสื่อมโทรมไป หรือจะมองในแง่ที่เกิดความรู้สึกปีติยินดีก็ให้เห็นว่า โอ... นี่สถานที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แสดงว่าพระพุทธเจ้าของเรามีอยู่จริง พระองค์ได้เคยมาประทับในสถานที่นี้ เรามาถึงสถานที่พระองค์เคยประทับ เคยทรงใช้สอย เคยทรงเสด็จมา เราก็เกิดความเอิบอิ่มใจ ปลาบปลื้มปีติยินดีขึ้นมา แล้วก็มีกำลังใจในการที่จะประพฤติปฏิบัติดีงาม

ไม่ว่าจะนึกในแง่ไหนก็ตาม ถ้าทำให้เกิดความไม่ประมาท คิดขวนขวายจะทำความดีงามแล้ว ความรู้สึกเร้าใจเตือนใจอย่างนั้นท่านเรียกว่า ความสังเวช

ถ้าหากว่าเราประสบเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นต้นแล้ว มีความรู้สึกที่จะไม่ประมาท เร่งขวนขวายทำความดีงาม นั้นเรียกว่าเกิดความสังเวช

แต่ถ้าหากว่าเกิดความสลดหดหู่ใจ จะเป็นคุณธรรมได้อย่างไร มันไม่เป็นกุศลแล้ว สลดหดหู่ใจนั้นเป็นกิเลส เรียกว่า นิวรณ์ เป็นถีนมิทธะ ไม่ดีแน่ๆ เพราะฉะนั้น อาตมภาพเลยพูดแทรกขึ้นมา เรื่องความหมายของคำว่า สังเวช ขอผ่านไป

เห็นอินเดียแล้วหวนคิดถึงเมืองไทย

เมื่อเดินทางไป สังเกตดูในหมู่ท่านที่อยู่ในคณะเดินทางเอง สิ่งที่สะดุดความรู้สึกก็เป็นเรื่องของความแห้งแล้ง ทั้งของแผ่นดิน ทั้งบนฟ้า และทั้งบนใบหน้าคน หมายความว่า บนผืนแผ่นดินนั้นก็หาน้ำได้ยาก แห้งแล้ง ต้นไม้เขียวๆ ก็ไม่ค่อยจะมี ดูหน้าตาผู้คน ที่ผ่านไป ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ก็แห้งไปหมด มีขอทานมากมายเต็มไปทั่ว นี่... เป็นสิ่งที่กระทบความรู้สึกในเบื้องแรก

ในแม่น้ำแทนที่จะมีน้ำก็มีแต่ทราย เช่นแม่น้ำเนรัญชรา ที่พระพุทธเจ้าไปประทับและได้ตรัสรู้อยู่บนริมฝั่งแม่น้ำนี้ บัดนี้ก็ไม่มีน้ำสักหยดเดียว มีแต่ทรายเต็มไปหมด บนภูเขาก็ไม่มีต้นไม้ หาต้นไม้ได้ยาก มีแต่หินแต่ทราย มีแต่ดินสีแดง อะไรพวกนี้

อาตมภาพผ่านไปในสถานที่เหล่านี้ จิตใจก็หวนนึกมาถึงเมืองไทยอยู่เสมอ มานึกถึงว่า เอ...ประเทศไทยของเรานี้กำลังเดินไปสู่ภาวะที่จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เช่น มีการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น ต่อไปเมืองไทยเราจะแห้งแล้งอย่างนั้น น้ำจะเหลือแต่ทราย ภูเขาจะเหลือแต่ดินแดงหรือเปล่า มีความรู้สึกเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา

นี่ก็เป็นความรู้สึกที่ได้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เรียกว่า ความรู้สึก เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องพูดถึงเหตุผล ห้ามไม่ได้ ยังไม่ใช่เรื่องถูกเรื่องผิด เอาแค่ว่าไปเห็นแล้วก็รู้สึกอย่างนั้น ไม่ว่าใครที่ไปในคณะก็รู้สึกคล้ายๆ กันอย่างนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องความรู้สึกอย่างเดียวนี้ไม่พอ เราจะต้องพูดกันถึงเนื้อหาสาระและเหตุผลต่อไป

อินเดียปัจจุบันกับวันเก่าในอดีต

อาตมภาพอยากพูดสรุปโดยรวบรัด เพราะเวลาเรามีน้อย ถึงภาวะของประเทศอินเดียตามหัวข้อที่ตั้งไว้ว่า “อินเดียในระหว่างและหลังพุทธกาล” ถ้าพูดโดยย่อแล้วก็มี ๒ ฝ่าย คือ สิ่งที่ไม่เหมือนเดิม กับสิ่งที่เหมือนเดิม

เอาสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมก่อน สิ่งที่ไม่เหมือนเดิม โดยสภาพธรรมชาติ ก็คล้ายกับที่ได้กล่าวมาเมื่อกี้ คือเรื่องต้นไม้ แม่น้ำ ธรรมชาติแวดล้อม ความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น

ถ้าเรามองย้อนไปในสมัยพุทธกาล โดยศึกษาจากคัมภีร์วรรณคดีพุทธศาสนาที่กล่าวถึงก็เข้าใจว่า จะต้องมีความอุดมสมบูรณ์ ถึงแม้จะไม่อุดมสมบูรณ์มากนัก แต่ก็ต้องดีกว่าสมัยนี้ เช่นอย่างกล่าวถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติก็เป็นป่า คือ ป่าลุมพินี ดงไม้สาละ บัดนี้ มันไม่เป็นป่าแล้ว มันเป็นที่โล่ง อย่างแม่น้ำเนรัญชรา ที่พระพุทธเจ้าไปประทับทำความเพียร จนตรัสรู้นั้น ก็มีคำบรรยายไว้ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงธรรมชาติที่สวยงาม ต้นไม้ที่ร่มรื่นเขียวขจี มีท่าน้ำมีแม่น้ำกระจ่างใสแจ๋ว เป็นที่รื่นรมย์ใจ พระพุทธเจ้าเสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ก็ไปลอยถาดที่แม่น้ำเนรัญชรา แต่บัดนี้ แม่น้ำเนรัญชราก็มีแต่ทราย พระพุทธเจ้าจะไปลอยถาดอย่างไร โดยเฉพาะเดือน ๖ ไม่มีน้ำจะให้ลอยถาดแน่นอน

พูดถึงสภาพผู้คนที่มองเห็นโดยทั่วไป ก็คือสภาพความยากจนและความขาดการศึกษา มีคนไม่รู้หนังสือมากมาย ถ้าเรามองกลับไปดูสภาพในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ ต่อมาก็มีภิกษุณีสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ก็มีผู้ทรงความรู้ เป็นพระเถรีที่ทรงปัญญา เป็นอัครสาวิกา เป็นนักแสดงธรรมที่เก่งกาจ แม้แต่สาวิกาฝ่ายอุบาสิกาเป็นคฤหัสถ์ก็มีที่เป็นเอตทัคคะในทางพหูสูต เป็นผู้คงแก่เรียน แสดงว่าในสมัยพุทธกาล อย่างน้อยพุทธศาสนาก็ทำให้คนทั่วไป รวมทั้งสตรีได้รับการศึกษาขึ้นมาเป็นอันมาก

ครั้นมาถึงสมัยพระเจ้าอโศก ที่เป็นกษัตริย์นับถือพระพุทธศาสนา ฝรั่งเขียนหนังสือสันนิษฐานว่า สมัยนั้นมีการรู้หนังสือเป็นเปอร์เซ็นต์สูงเหลือเกิน แต่มาในสมัยปัจจุบัน อินเดียเสื่อมลงในด้านการศึกษา มีการศึกษาน้อย โดยเฉพาะก่อนที่จะปรับปรุงประเทศ ถึงแม้ตอนนี้จะปรับปรุงประเทศแล้ว ก็ยังไม่ก้าวหน้าไปมากมายนัก เพราะฉะนั้นในแง่นี้ก็จะถือว่าเป็นความไม่เหมือนกัน

อินเดียที่เหมือนเดิม

ต่อไป ด้านที่เหมือนเดิม ที่ว่าเหมือนเดิม ก็คือ มีมาแต่ก่อนพุทธกาลอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็มีอย่างนั้น ว่าถึงในแง่เหมือนเดิมนี้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดีหรอก เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าพยายามแก้ไข แต่มันก็ไม่หมดสิ้นไป เหลืออยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เช่น การบำเพ็ญตบะ ทราบว่าที่อินเดียนั้น คนก็ยังบำเพ็ญทุกรกิริยา มีความเชื่อเหล่านี้กันมาก นักบวชในลัทธิต่างๆ ก็ยังบำเพ็ญตบะกัน ยืนขาเดียวเหนี่ยวกิ่งไม้ นอนบนหนาม อดอาหาร ถอนผมทีละเส้นจนหมดศีรษะ ยืนกลางแดด อะไรต่างๆ เพื่อบรรลุโมกษะ ยังทำกันอยู่ โยคีในประเทศอินเดียก็ยังถือกันมาเป็นพันๆ ปี ไม่ได้ต่างออกไป

ถัดไปก็เรื่อง วรรณะ วรรณะเป็นเครื่องแบ่งคนออกเป็นชนชั้น มีกษัตริย์ มีพราหมณ์ มีแพศย์ มีศูทร เกิดมาอย่างไรก็ต้องอยู่ในภาวะ ในฐานะนั้นๆ ตลอดชาติ พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา ก็พยายามแก้ไข ให้ถือว่า คนเรานี้ จะสูงจะต่ำ มิใช่เพราะชาติกำเนิด แต่เป็นเพราะการกระทำความประพฤติ มีการตั้งคณะสงฆ์ ไม่ว่าใครจะมาจากวรรณะไหน เมื่อมาบวชแล้ว ก็เป็นสมณศากยบุตรเสมอกัน พยายามแก้ไขมา แต่ศาสนาเดิมเขาก็พยายามดำรงรักษาระบบนั้นไว้

ต่อมาภายหลังเมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมแล้ว ระบบวรรณะก็กลับยิ่งเข้มงวดกว่าเก่า กลับรุนแรงยิ่งขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันนี้ แม้ว่าในทางกฎหมาย รัฐบาลอินเดียจะให้ถือว่าไม่มีชนชั้นวรรณะ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังถือชั้นวรรณะอยู่ตามเดิมนั่นเอง เวลากี่พันปีมาแล้ว อินเดียก็ยังคงอยู่อย่างเดิมในเรื่องวรรณะ

อีกอย่างหนึ่ง คือ การบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้า อินเดีย เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเทวดา มีเทพเจ้ามากมาย มีพระพรหม พระปชาบดี ต่อมามีพระศิวะ พระนารายณ์ เป็นเทพใหญ่ แตกแยกกันเป็นนิกายต่างๆ พวกหนึ่งถือพระศิวะ ก็เป็นนิกายไศวะ นับถือว่าพระศิวะยิ่งใหญ่ที่สุด อีกพวกหนึ่งนับถือพระวิษณุ ถือว่าพระนารายณ์ยิ่งใหญ่กว่าก็เป็นนิกายไวษณพหรือไวษณวะ เป็นต้น แล้วก็มีเทวดาต่างๆ เล็กน้อยลงไปมากมาย มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เยอะแยะ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีการบวงสรวงอ้อนวอนเทวดากันทั่วไป นี่ก็เหมือนเดิม

พุทธศาสนาในตู้โชว์ของอดีต

ทีนี้ สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมชัดๆ ก็คือพระพุทธศาสนาเองนั่นแหละ เคยอยู่ในประเทศอินเดียเจริญรุ่งเรือง บัดนี้ก็สูญสิ้นไปจากประเทศอินเดียเสียแล้ว นี่แสดงว่าไม่เหมือนแน่ๆ แต่มีนักปราชญ์กล่าวว่า ถึงแม้พุทธศาสนาจะสูญสิ้นไปจากอินเดียแล้วก็ตาม (เดี๋ยวนี้อาจจะเริ่มกลับไปบ้างแล้ว นิดๆ หน่อยๆ) แต่อิทธิพลของพุทธศาสนา สิ่งที่พระพุทธศาสนาสอนไว้ก็หาได้สิ้นสูญไปไม่ กลับมีอิทธิพลต่อศาสนาในท้องถิ่นเดิม อย่างศาสนาฮินดูก็ต้องปรับปรุงตัว ต้องรับเอาคำสอนในพุทธศาสนาเข้าไป ที่เห็นชัดๆ ได้แก่ หลักอหิงสา

ศาสนาพราหมณ์ที่มาเป็นศาสนาฮินดูนั้น เดิมเป็นศาสนาแห่งการบูชายัญ ฆ่าสัตว์ ตลอดจนกระทั่งฆ่าคนบูชายัญ ทีนี้พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา สั่งสอนเรื่องความเมตตา กรุณา ความช่วยเหลือกัน การงดเว้นจากการเบียดเบียน คำสอนเหล่านี้ ก็ทำให้ศาสนาพราหมณ์ต้องปรับปรุงตัวเอง กระทั่งภายหลังศาสนาฮินดูกลายเป็นศาสนาแห่งการไม่กินเนื้อสัตว์ไป คนแขกโดยทั่วๆ ไปเป็นชาวฮินดูไม่กินเนื้อสัตว์ อาจจะเป็นด้วยว่าต้องการแข่งกับพุทธศาสนาให้เห็นว่า ฉันถืออหิงสายิ่งกว่าในพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป

นี้ก็เป็นเรื่องต่างๆ ที่นำมากล่าว แต่ภาพหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาก็คือความรู้สึกที่ว่า อินเดียเป็นตู้โชว์อดีต คือใครไปประเทศอินเดีย ก็มุ่งจะไปดูภาพความเจริญซึ่งเป็นอารยธรรมในอดีต เมื่อ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปี ๑,๐๐๐ กว่าปี ๕๐๐-๖๐๐ ปีมาแล้ว คนที่ต้องการไปอินเดีย เพื่อดูภาพปัจจุบันนี้หายาก หมายความว่า ถ้าไม่มีซากของอดีตที่แสดงว่า อินเดียเคยเจริญรุ่งเรืองมีอารยธรรม คนก็ไม่รู้จะไปประเทศอินเดียทำไม เพราะฉะนั้นในแง่นี้ก็เลยเรียกว่าเป็นตู้โชว์ของอดีต

เทวดาเต็มฟ้า ปวงประชาหน้าแห้ง

อยากจะพูดถึงเรื่องที่ควรเน้นสักนิดหน่อย ในเวลาอันจำกัดต้องยกประเด็นอันน่าจะพูดขึ้นมาพูดเป็นเรื่องๆ ทีนี้ในบรรดาเรื่องที่ผ่านมาที่ว่าเหมือน และไม่เหมือนอะไรต่างๆ ในครั้งพุทธกาล กับครั้งปัจจุบันนั้น ก็มีเรื่องที่เด่นในความรู้สึกของอาตมภาพ เมื่อเดินทางไปประเทศ อินเดีย ๒ เรื่อง หรือ ๒ สิ่ง แต่ ๒ เรื่องนี้ อาจจะเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ เพราะบางที ๒ อย่างแต่เป็นเรื่องเดียวกันก็มี ในที่นี้ก็มี ๒ อย่างที่เด่นในความรู้สึก

เรื่องที่หนึ่งคือ ความแห้งแล้ง

สองก็เรื่อง เทวดา

ไปในอินเดีย ภาพสองอย่างนี้มีมาก ทำให้เด่นในความรู้สึก

เรื่องความแห้งแล้งกับเทวดานั้น เป็น ๒ อย่างก็จริง แต่อาจสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ ถ้าเอามาบรรจบกันลองพูดดู ก็อาจจะบอกว่า ในประเทศอินเดียนั้น บนแผ่นดินเต็มไปด้วยความแห้งแล้งยากจน บนผืนฟ้าก็เต็มไปด้วยเทวดาผู้ทรงฤทธิ์ เมื่อเอามาบรรจบกันอย่างนี้แล้วจะได้ความคิดว่าอย่างไร

ข้อที่หนึ่ง บางท่านก็อาจจะคิดว่า ประเทศอินเดียก็มีเทวดายิ่งใหญ่ ทรงฤทธิ์อำนาจมาก มีทั้งพระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ ทำไมจึงปล่อยประเทศอินเดียให้โทรม ทำไมไม่ช่วยแก้ไขให้เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ อุดมสมบูรณ์ เพราะเทพที่นั่นล้วนใหญ่โต เป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง คนอินเดียก็บวงสรวงบูชานับถือท่านเหลือเกินด้วย ทำไมท่านปล่อยประเทศอินเดียให้มันแห้งแล้ง ยากไร้อย่างนั้น นี่ก็เป็นแง่ที่หนึ่งที่อาจจะคิดขึ้นมา แง่นี้ขอผ่านไปก่อน

อินเดียคู่เทวดา เมืองไทยจะแถมสุราและการพนัน

ขอแทรกตรงนี้หน่อยว่า เช่นอย่างพระพรหมนั้น เวลานี้ในเมืองไทยก็นับถือเซ่นสรวงบูชาท่านมาก คนบางคนที่รู้เห็นพฤติกรรมของท่านดี อาจจะตัดพ้อท่านขึ้นมาก็ได้ว่า ท่านรับเครื่องเซ่นสังเวยในอินเดียมานาน จนเวลานี้อินเดียแห้งแล้งหมด จะไม่มีอะไรเซ่นไหว้อีกแล้ว และทั้งๆ ที่เขาก็ยังนับถือบูชาท่านอยู่ ท่านก็ละทิ้งเขาเสีย มารับเครื่องเซ่นสรวงบูชาต่อที่เมืองไทย ปล่อยให้อินเดียซูบโทรมผจญชะตากรรมไปตามลำพัง ต่อไปภายหน้า พอเครื่องเซ่นสรวงบูชาที่เมืองไทยร่อยหรอ แผ่นดินไทยแห้งแล้งยากไร้ลง ท่านก็คงละทิ้งแผ่นดินไทยไปหาเครื่องเซ่น ณ ที่ใหม่ในดินแดนอื่น เช่นที่ท่านได้ทำมาแล้วกับอินเดีย

น่าตั้งข้อสังเกตว่า การที่มีความนิยมนับถือบูชาพระพรหมกันมากขึ้นในสังคมไทย จะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึง ระบบความสัมพันธ์ระหว่างราษฎรกับผู้ปกครอง หรือผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมือง ที่มีการพึ่งพาอาศัย เซ่น (เครื่องเซ่น สังเวย) และ เส้น (เส้นสาย) เพิ่มมากหรือดาษดื่นขึ้น และแสดงถึงสภาพชีวิตจิตใจ ตลอดจนแนวโน้มแห่งพฤติกรรมของประชาชน ที่อ่อนล้าต่อการเพียรพยายามพึ่งตนเอง มีวิถีชีวิตที่เสี่ยง และหันมาเป็นอยู่ด้วยการรอคอยความหวังอย่างเลื่อนลอยมากยิ่งขึ้น สภาพปัจจุบันเป็นไปในลักษณะนี้หรือไม่

แง่ที่สอง อาจจะมีความสัมพันธ์เป็นวงจรแบบปฏิจจสมุปบาท คือว่า คนมีความหวังพึ่งเทวดามาก ก็สวดอ้อนวอน รอความช่วยเหลือ ไม่ทำการทำงาน ไม่เพียรพยายามด้วยตนเอง เมื่อไม่เพียรพยายามด้วยตนเองก็ยิ่งยากจนข้นแค้นลง ยิ่งยากจนข้นแค้นลง ไม่มีใครช่วยเหลือได้ ก็ยิ่งหวังพึ่งเทวดามากขึ้น หวังพึ่งเทวดามากขึ้น ไม่ทำอะไรมันก็ยิ่งยากจน เพราะฉะนั้น มันก็สนับสนุนซึ่งกันและกันให้ยิ่งหนักลงๆ กลายเป็นวงจรแบบปฏิจจสมุปบาทไป

ก็เลยนึกว่า คนอินเดียปลอบใจตัวด้วยเทวดา แล้วก็มานึกถึงเมืองไทยว่า เหมือนคนไทยปลอบใจตัวด้วยสุราและการพนัน นี่เป็นข้อคิดอันหนึ่ง คือเป็นลักษณะของการปลอบใจตัวอยู่ด้วยความหวัง ที่ทำให้ไม่เพียรพยายาม ขวนขวายที่จะแก้ไขปรับปรุงทำการงาน เฝ้าแต่รอคอยผลที่จะลอยมา อันนี้ก็จะเป็นทางแห่งความเสื่อม จะเป็นการปลอบใจตัวด้วยเทวดา หรือจะปลอบใจด้วยสุราและการพนัน ก็จะมีผลออกมาคล้ายๆ กัน

ทีนี้เมื่อมานึกถึงเมืองไทยเรานี่ มันจะหนักขึ้นไปอีก เดี๋ยวจะเพิ่มการปลอบใจตัวด้วยเทวดาเข้ามาอีกหนึ่ง ก็เป็นสาม คือ ปลอบใจตัว ทั้งด้วยเทวดา ทั้งด้วยสุรา และด้วยการพนัน ถ้าอย่างนี้ก็ไม่รู้ว่าจะพัฒนาประเทศกันได้อย่างไร นี่ก็เป็นข้อคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา

ท่าทีพุทธกับท่าทีพราหมณ์ ในการนับถือเทวดา

อย่างเรื่องเทวดาของอินเดีย ท่านมีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ มากมายเหลือเกิน เทพเจ้า ๒ องค์ อาจจะมารบกัน ยกกองทัพมา มีพลนิกายเป็นแสน เป็นล้าน เป็นโกฏิ ยกทัพมาแล้ว ก็แสดงฤทธิ์กัน เทพองค์ ก. อาจจะดลบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ให้เทพองค์ ข. ตกจากสวรรค์ลงไปใต้บาดาล เทพองค์ ข. นั้น ตกไปใต้บาดาล แล้วก็แสดงฤทธิ์ บันดาลให้ตัวใหญ่โตขึ้นมา สูงจากบาดาลขึ้นมาถึงสวรรค์ ตัวใหญ่มาก ก็จับเทพองค์ ก. เทพองค์ ก. ก็เอาพระขรรค์ขว้างไปถูกเทพองค์ ข. เสียงดังเปรี้ยงปร้างพระเศียรขาด อะไรทำนองนี้ ก็เป็นเรื่องสนุกสนาน อัศจรรย์ คึกคักดี คนที่นับถือฟังเรื่องเหล่านี้ ก็ทำให้ลืมความทุกข์ยากไปได้ชั่วคราว สนุกสนานตื่นเต้น ก็เลยมีความหวังกับเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ นี่ก็เป็นเรื่องของเทวดาที่มีมาในคติของฮินดู

ในพุทธศาสนาเรา ก็กล่าวถึงเรื่องเทวดาเหมือนกัน อาตมภาพว่าในสมัยปัจจุบันนี้ การเกี่ยวข้องกับเทวดาชักจะมากขึ้น เราน่าจะมาพูดถึงทัศนคติท่าทีของพุทธศาสนาต่อเทวดา ให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะว่ามันต่างจากความนับถือของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูอย่างไร มิฉะนั้นแล้วชาวพุทธจะไขว้เขว ซึ่งการแยกการปฏิบัติให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญมาก

พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักธรรมไว้ข้อหนึ่ง ให้ระลึกถึงเทวดา เรียกว่า เทวตานุสติ แต่ท่านหมายความว่าให้ระลึกถึงคุณธรรมความดีงาม ที่จะทำให้เป็นเทวดา เช่น ความมีหิริโอตตัปปะ เป็นต้น คือระลึกถึงในการที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้น่านับถือ ให้ตัวเองเป็นเทวดาได้ ไม่ใช่ระลึกถึงเพื่อเซ่นสรวงอ้อนวอนขอผลจากเทวดา

พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์

อาตมภาพอยากจะยกพุทธพจน์ข้อหนึ่งขึ้นมาอ้างไว้ก่อน เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ ท่านเล่าว่าพระองค์ได้ประกาศเปล่ง อาสภิวาจา หรือวาจาอันอาจหาญว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส. แปลว่า เราเป็นบุคคลผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ใหญ่ยิ่งในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก

บางท่านว่า พระพุทธเจ้าทำไมประกาศพระองค์ยิ่งใหญ่อย่างนี้นะ ที่จริงอาตมภาพมองว่านี่คือการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ คำต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าประกาศในอาสภิวาจานั้น แต่ก่อนโน้น เป็นคำที่ศาสนาพราหมณ์เขาใช้แสดงความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้าทั้งนั้น

หมายความว่า ก่อนพุทธกาลนั้น คนทั้งหลายยอมตนต่อเทพเจ้าไปหมด มีแต่เทพเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ดลบันดาลทุกอย่าง มนุษย์ได้แต่พากันบูชายัญ บวงสรวงอ้อนวอนด้วยประการต่างๆ ฝากชะตากรรมไว้กับการดลบันดาลของเทพเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์ประกาศอิสรภาพว่า มนุษย์นี่แหละสามารถจะฝึกตนให้ประเสริฐ เป็นพระพุทธเจ้าที่เลิศยิ่งกว่าเทพเจ้าทั้งหลายทั้งหมด เทวดา มาร พรหม ต้องบูชาพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น นี่เป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ แต่เราได้คติอันนี้หรือเปล่า นี้ก็เป็นข้อที่น่าพิจารณา

หลักการในพระพุทธศาสนานั้น ท่านเปลี่ยนจากการหวังพึ่งเทวดามาเชื่อกรรม เชื่อกรรมก็คือเชื่อการกระทำ หมายความว่า เราต้องการผลก็ต้องกระทำเหตุ เราเชื่อการกระทำไหม มั่นใจในการทำความดีไหม หรือจะเชื่อหวังการอ้อนวอน นี้เป็นเรื่องสำคัญ นี่เป็นจุดตัดสินว่าเป็นพุทธหรือเป็นพราหมณ์

พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเทวดา อันนี้เป็นข้อที่ต้องพิจารณากันอย่างหนึ่ง แล้วก็ไม่ได้ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อเทวดา แต่ท่านมีหลักการปฏิบัติชัดเจนในเรื่องเทวดา คือให้อยู่ร่วมกันกับเทวดาด้วยไมตรีจิตรมิตรภาพ ฐานเป็นเพื่อนร่วมโลกเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น จะเหมือนญาติหรือเหมือนมิตรร่วมโลกก็แล้วแต่

ท่านสอนให้แผ่เมตตาแก่เทวดา และให้เอื้อเฟื้อสงเคราะห์เทวดาโดยทำบุญอุทิศไปให้ด้วยซ้ำ ดังที่เรียกเป็นศัพท์ว่า เทวตาพลี แล้วท่านก็สอนตัวอย่างไว้มากมายให้ชาวพุทธปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องเทวดา แต่บางทีเราก็ไม่ได้สังเกตว่าท่านสอนไว้อย่างไร อาตมภาพจะเล่าเรื่องที่ท่านสอนไว้สัก ๓ เรื่อง แล้วจะสรุปเป็นข้อปฏิบัติของชาวพุทธต่อเทวดาได้

เป็นคนต้องรู้จักพึ่งตน
เพียรพยายามใช้ปัญญาแก้ปัญหา

เรื่องที่หนึ่ง คือ เรื่องมหาชนกชาดก หรือมหาชนกในทศชาติ มหาชนกแสดงวิริยบารมี คือความเพียรพยายาม ท่านเล่าว่า มหาชนกได้เดินทางไปในเรือเดินสมุทร แล้วเรือแตก เมื่อเรือแตกกลางทะเลนั้น คนจำนวนมาก บางพวกก็ได้แต่ทุกข์ใจ ระส่ำระสายร้องไห้เศร้าโศก บางพวกก็แสดงความท้อแท้หมดอาลัยตายอยากในชีวิต บางพวกก็อ้อนวอนเทพเจ้าที่ตนนับถือขอให้มาช่วย แต่มหาชนกโพธิสัตว์หากระทำเช่นนั้นไม่ ท่านใช้ปัญญาของมนุษย์พิจารณาว่า เมื่อปัญหาเกิดขึ้นเช่นนี้เราจะแก้ปัญหาอย่างไร แล้วท่านก็หาทางออก ในที่สุดท่านก็หาได้ท่อนไม้ใหญ่มาท่อนหนึ่ง

พอเรือแตกไม่นาน คนอื่นก็ตายหมด แต่มหาชนกอาศัยท่อนไม้นั้นเกาะลอยไปในทะเล เพียรพยายามว่ายไปเรื่อยไม่รู้จักสิ้นสุด จนกระทั่งนางมณีเมขลา เทพธิดาประจำมหาสมุทรได้มองเห็น และตามดูพฤติกรรมของท้าวมหาชนกนี้ว่า ทำไมจึงเพียรพยายามอยู่ได้อย่างนั้น แล้วก็เลยมาแกล้งทดสอบดู

นางเทพธิดาถามว่าใครนั่นนะ มาเพียรพยายามว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทร ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง ถ้าขืนพยายามอย่างนี้ต่อไป ไม่เห็นจุดหมายก็คงตายเสียเปล่า มหาชนกโพธิสัตว์ ก็ตอบว่า เราจะตายก็ไม่เป็นไร ถ้าเราได้เพียรพยายามทำหน้าที่ของคนแล้ว ถึงจะตายก็ตายไปอย่างไม่เป็นหนี้ใคร ถ้าได้ทำกิจหรือหน้าที่ของลูกผู้ชายแล้ว จะเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องเดือดร้อนใจ ท่านว่าอย่างนี้ แล้วก็โต้ตอบกันไปมา ในที่สุดนางมณีเมขลาก็เลยช่วยพาขึ้นฝั่งไป นี่เป็นเรื่องที่ ๑ เดี๋ยวจะสรุปว่าท่านสอนอะไรบ้าง

มนุษย์เพียรจริง เทวดาก็กีดกันไม่ได้

เรื่องที่ ๒ มีกษัตริย์ ๒ เมือง คือ กษัตริย์ฝ่าย ก. กับ ฝ่าย ข. ยกทัพมาตั้งเตรียมพร้อมที่จะรบกัน ตอนนั้นก็มีเสียงเล่าลือกันว่า มีพระฤษีท่านหนึ่ง ตั้งอาศรมอยู่ริมแม่น้ำคงคา ฤษีนี้ติดต่อกับพระอินทร์ได้ แล้วก็ถามพระอินทร์ได้ว่า เหตุการณ์ภายหน้าจะเป็นอย่างไร ในเมื่อมีชื่อเสียงเล่าลืออย่างนี้ กษัตริย์ทั้ง ๒ ฝ่าย ก็อยากจะรู้ว่าใครจะชนะ ใครจะแพ้ ก็เลยหาโอกาสลอบไปถามพระฤษีนี้ ปรากฏว่าไปถามคนละครั้ง มหากษัตริย์ฝ่าย ก. ก็ไปถาม พระฤษีก็นัดให้มาวันนั้น ฉันจะพบกับพระอินทร์ก่อน แล้วค่อยมาเอาคำตอบ พอมารับคำตอบ ท่านก็บอกว่า กษัตริย์ ก. ชนะ พระอินทร์บอกแล้วต่อมากษัตริย์ ข. ถามบ้าง ฤษีก็บอกว่า ท่านน่ะจะแพ้ พระอินทร์บอกอย่างนั้น

ทีนี้กษัตริย์ฝ่าย ก. ได้รับคำทำนายว่าจะชนะ มาบอกเสนาข้าทหาร ก็เลยสนุกสนานเพลิดเพลินเลี้ยงดูกันใหญ่ หมู่ทหารเมามายหลับใหลกันเต็มที่ ฝ่ายกษัตริย์ ข. ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้ แต่เป็นกษัตริย์ที่ไม่ยอมย่อท้อ ก็เลยยิ่งระวังตัวใหญ่ เตรียมทหารมากยิ่งขึ้น เพียรพยายามกระทำการด้วยความรอบคอบ วางแผนอย่างดี ผลที่สุดเมื่อรบกันจริงก็ปรากฏว่ากษัตริย์ฝ่าย ข. ชนะ

กษัตริย์ฝ่าย ก. ก็เสียใจโกรธเคืองพระฤษีมากว่า ฤษีหลอกต้ม เมื่อหนีทัพไป วิ่งม้าผ่านอาศรมพระฤษี ก็ร้องตะโกนว่าฤษีโกหก ฝ่ายพระฤษีก็น้อยใจว่าพระอินทร์ ทำไมมาหลอกเรานะ ทำให้เราเสียชื่อในหมู่มนุษย์ รอเวลาพระอินทร์ลงมาก็เลยต่อว่าพระอินทร์ พระอินทร์ก็ให้คติออกมา บอกว่า “ความเพียรพยายามของมนุษย์นั้นแม้แต่เทวดาก็เกียดกันไม่ได้” นี่เป็นคติทางพุทธศาสนาในเรื่องเทวดาอย่างหนึ่ง

มนุษย์กับเทวดา ชนะกันที่ธรรม

เรื่องที่ ๓ มีครอบครัวหนึ่งที่นับถือพุทธศาสนา พระภิกษุที่ตระกูลนี้บำรุงอยู่เป็นประจำนั้น ท่านไปอยู่ปฏิบัติธรรมในป่า เทวดาที่อยู่ในบริเวณนั้นก็มีความอึดอัดใจ เพราะมีผู้ทรงศีลทรงคุณธรรมมาอาศัยอยู่ ตนอยู่จะทำอะไรก็ไม่ค่อยสะดวก ก็เลยอยากจะแกล้ง หาทางไล่ให้พระภิกษุองค์นี้หนีไปเสีย แต่ต้องทำให้ท่านเสียศีลก่อนจึงจะไล่ได้ ก็ใช้วิธีไปบีบคั้นเอาทางครอบครัวที่บำรุง โดยไปสิงในร่างของลูกชายของตระกูลนั้น ทำให้คอบิด แล้วก็บอกแก่อุบาสกพ่อบ้านว่า ท่านจะต้องให้พระภิกษุรูปนั้น ทำอย่างนั้น ซึ่งเป็นการทำให้เสียศีล แล้วฉันจึงจะออก อุบาสกเป็นผู้มั่นคงในธรรมก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม ลูกฉันจะตายก็ยอมละ แต่ฉันจะไม่ยอมประพฤติละเมิดธรรมเป็นอันขาด ผลที่สุด ด้วยอานุภาพของคุณธรรม ความมั่นในธรรมของอุบาสกผู้นั้น เทวดาก็เป็นฝ่ายแพ้ไป

หรืออย่างเรื่อง อนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่เป็นเศรษฐีใหญ่ในสมัยพุทธกาล และเป็นอุบาสกใหญ่ในพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน อันนั้นเทวดาที่อยู่ในเขตบ้านของท่าน ก็มาชวนให้เลิกทำบุญทำทานอะไร เศรษฐีก็ไม่ยอมและขับไล่เทวดาออกจากบ้าน เทวดาเดือดร้อนต้องไปหาทางคืนดี เอาอกเอาใจท่านเศรษฐี สนับสนุนให้ท่านทำกุศล ท่านจึงยอมให้กลับเข้าไปอยู่ในบ้านได้

แด่เทวดา ด้วยท่าทีแบบพุทธ

อันนี้ก็เป็นคติในพุทธศาสนา จะสรุปท่าทีของพุทธศาสนาที่มีต่อเทวดา ก็มีดังนี้

ประการหนึ่ง ท่านให้เราอยู่ร่วมกับเทวดาอย่างมิตร อย่างผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขในโลก ให้แผ่เมตตามีไมตรีจิตต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน ให้เกียรติต่อกัน เคารพนับถือกันเหมือนอย่างญาติมิตรหรือผู้ใหญ่ผู้น้อย แต่ไม่ให้ไปหวังพึ่งอ้อนวอนกันอยู่ มนุษย์ต้องเพียรพยายามทำกิจของตนไป เราต้องเพียรทำกิจหน้าที่ของเราให้เต็มที่ ไม่ต้องรอการอ้อนวอนหรือหวังพึ่งเทวดา

ถ้าเทวดามีคุณธรรม เป็นเทวดาดี เขาเห็นควรช่วยเขาก็จะมาช่วยเอง นั่นก็เป็นเรื่องความดีของเขา เหมือนผู้ใหญ่หรือผู้บริหาร เห็นผู้น้อยเพียรพยายามทำความดี ถ้าผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองดี มีคุณธรรม ก็เข้ามาช่วยสนับสนุน ถ้าเทวดาไม่ดี ไม่มีคุณธรรม ไม่มีเทวดาดีมาช่วยก็ให้มันรู้ไป ก็เหมือนอย่างกรณีมหาชนก ท่านทำความเพียรของท่านไป ไม่ต้องคำนึงถึงเทวดาหรืออะไรทั้งนั้น เห็นโดยเหตุผลว่าถูกต้องควรทำแน่นอนก็ทำไป นางมณีเมขลาเป็นเทวดายังมีคุณธรรมอยู่ อดรนทนไม่ได้ก็ต้องมาช่วย อันนั้นเป็นเรื่องของเทวดาเอง เมื่อเขามีคุณธรรมเขาก็มาช่วย ไม่มีคุณธรรมก็ไม่มาช่วย ก็แล้วไป

ประการที่ ๒ ที่บอกไว้ชัดในเรื่องที่ ๒ คือเรื่องความเพียรพยายามของมนุษย์นั้น แม้แต่เทวดาก็เกียดกันไม่ได้ อาตมภาพไปมองภาพอินเดียแล้วก็นึกถึงชาวยิว เป็นเรื่องความคิดคำนึง อาจจริงหรือไม่จริงก็เล่าให้ฟังกัน คนยิวนั้นหวังพึ่งการกระทำของมนุษย์ แต่คนอินเดียหวังพึ่งการกระทำของเทวดา รอคอยการช่วยเหลือของเทวดา

หวังพึ่งการกระทำของมนุษย์อย่างไร คือหวังพึ่งตัวเอง ได้ทราบจากคนที่ไปเมืองยิวมาว่า คนเมืองยิวเขาฝึกกันมาอย่างดี ทุกคนทำได้ทุกอย่าง จะเป็นผู้หญิงก็ตาม ผู้ชายก็ตาม ถ้าลงเรือก็ขับเรือได้ ถ้าขึ้นรถก็ขับรถได้ ขึ้นเครื่องบินก็ขับเครื่องบินได้ มีกรณีต้องเป็นช่างต้องซ่อมอะไรทำได้ทุกอย่าง หมายความว่าคนเดียวทำได้เหมือนกับคนชาติอื่น ๑๐ คน เพราะฉะนั้น รบกับคนชาติอื่นมีกำลังมากกว่า ๑๐ เท่า ๒๐ เท่า เขาก็เอาชนะได้

ที่จริงยิวก็นับถือเทวดาเหมือนกัน แต่เทวดาคือ พระยโหวา ท่านให้แผ่นดินแห่งสัญญาไว้ในกาลภายหน้าอีกนาน ทีนี้จะมาช่วยในอีกกี่พันปี กี่หมื่นปีก็ไม่รู้ ตอนนี้เธอต้องช่วยตัวเองไปก่อน เพราะฉะนั้นพวกยิวก็ต้องช่วยตัวเอง ก็เลยทำกันเต็มที่ ใช้ความเพียรของมนุษย์อย่างสุดกำลัง ไม่รอความหวังจากเทวดา จุดสำคัญก็คือมนุษย์ต้องเพียรพยายามด้วยตนเอง หวังพึ่งการกระทำของตน พุทธศาสนาสอนไว้แล้วให้เชื่อการกระทำ ไม่ใช่ไปหวังพึ่งอ้อนวอนพระเจ้าอยู่

ประการที่ ๓ ในเรื่องการปฏิบัติต่อเทวดาก็คือ ในบรรดาเทวดาทั้งหลายนั้น อาจจะมีเทวดาที่ไม่มีคุณธรรม เทวดามิจฉาทิฐิ เป็นต้น พวกนี้อาจจะมาล่อหลอกมนุษย์ให้มนุษย์ประพฤติผิดธรรม หรือว่ามาช่วยเหลือมนุษย์เพียงหวังเครื่องเซ่นสังเวย เป็นต้น ถ้าหากเป็นเช่นนี้ชาวพุทธก็จะไม่ยอม ต้องถือว่าธรรมเป็นสำคัญ ยึดเอาหลักการไว้ไม่ยอมแม้แต่เทวดา ถ้าหากเขาประพฤติผิดธรรม ธรรมจะต้องเหนือเทวดา ถ้าธรรมขัดกับเทวดา ต้องถือตามธรรม และไม่ยอมแก่เทวดา นี้ก็เป็นคติของพระพุทธศาสนาในเรื่องเทวดา ซึ่งเราไม่ได้ปฏิเสธความมีอยู่ แต่ว่าสอนให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

เทวดาที่พึงปรารถนาในสังคมไทย

อาตมภาพอยากพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ความจริง บทบาทของเทวดานั้นก็คล้ายกับบทบาทของผู้ใหญ่ ในสังคมนั้นก็มีผู้ใหญ่และผู้น้อย ในแง่หนึ่งผู้ใหญ่ก็เปรียบเหมือนเทวดา แต่แบ่งออกไปก็มี ผู้ใหญ่ที่เป็นแบบเทวดาฮินดู กับผู้ใหญ่แบบเทวดาพุทธ ถ้าเป็นผู้ใหญ่แบบเทวดาฮินดู ก็เป็นผู้ใหญ่แบบที่มองหาเครื่องเซ่น อาจจะไม่ต้องเป็นเครื่องเซ่นสินบนอะไร อย่างอ่อนๆ ก็อาจจะเป็นการเอาอกเอาใจ การพะเน้าพะนอ แค่นี้ก็ถือว่าเป็นเทวดารอเครื่องเซ่น เรียกว่า เทวดาแบบฮินดู

ทีนี้เทวดาแบบพุทธเป็นอย่างไร เทวดาแบบพุทธนั้นก็คอยดูแลสอดส่องว่า มีใครทำความดีบ้าง ใครทำความดีก็เข้าไปโอบอุ้มสนับสนุน ไม่ต้องรอให้เขามาพะเน้าพะนอเอาใจ เหมือนอย่างเรื่องมหาชนกก็เป็นตัวอย่างที่ได้สอนแล้วว่า บทบาทของผู้ใหญ่ในทางพุทธเป็นอย่างไร เทวดาที่ดีต้องคอยสอดส่องมนุษย์ที่ทำความดี แล้วไปช่วยเหลือเขาเอง ไม่ใช่รอให้มนุษย์ไปอ้อนวอนหรือเซ่นสรวง สังเวยเอาอกเอาใจ

เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราถือเทวดาตามคติฮินดู ต่อไปผู้ใหญ่ของเราก็จะเป็นแบบเทวดาฮินดูคือ เป็นผู้ใหญ่ที่รอการเอาใจ แต่ถ้าเราปฏิบัติให้ถูกตามหลักพุทธศาสนา เราก็จะมีผู้ใหญ่ในสังคมประเภทที่คอยสอดส่องการกระทำความดีของผู้น้อย แล้วไปช่วยโอบอุ้มสนับสนุน

ความจริงเรื่องนี้ก็เป็นวงจร ปฏิจจสมุปบาท มันย้อนกลับไปแล้วก็ย้อนกลับมา ถ้าหากว่ามนุษย์นั้น คอยจะหวังพึ่งเทวดา เซ่นสรวงบูชา ต่อมาเราก็จะมีเทวดาชนิดที่ชอบเครื่องเซ่น หรือเทวดาที่ชอบเครื่องเซ่นก็จะมาอยู่ใกล้มนุษย์ เทวดาดีๆ ที่จะช่วยเหลือผู้มีคุณธรรม ก็อาจจะหนีหายไปหรือเข้ามาไม่ถึง มันเป็นวงจรกลับไปอย่างนี้

ทีนี้ เมื่อเทวดามาคอยรอเครื่องเซ่นแล้วจึงจะช่วย ก็ยิ่งทำให้มนุษย์ยิ่งเซ่นสรวงมากยิ่งขึ้น แล้วเทวดาก็ช่วยด้วยเห็นเครื่องเซ่น ไม่ใช่ช่วยด้วยเห็นความดี แล้วมนุษย์ก็บ่นกันหาว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี คนไม่ทำดีก็ได้ดี วิปริตไปหมด

ฉะนั้น จึงต้องหาทางที่จะแหกวงล้อมทำลายวงจร ปฎิจจสมุปบาทแบบนี้ออกไปเสีย ในสังคมเดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน เมื่อผู้ใหญ่รอการเอาอกเอาใจ ก็จะมีผู้น้อยประเภทไม่ชอบทำการทำงาน ก็อยากมาคอยเอาใจผู้ใหญ่ ผู้น้อยชอบเอาใจผู้ใหญ่ ต่อมาเราก็จะได้แต่ผู้ใหญ่ที่คอยรอการเอาอกเอาใจของผู้น้อย มันกลับไปกลับมา ทีนี้จะแก้จุดไหนมันก็แก้ได้ทั้งสิ้น มันก็ทำให้วงจรนี้ขาดไป

ปฏิบัติผิดต่อเทวดา คือไล่พุทธศาสนาจากแผ่นดินไทย

ทั้งหมดนี้ก็เป็นคติต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องเทวดา แต่โดยสรุปก็คือว่า อาตมภาพได้ไปอินเดียมา ซึ่งอินเดียนี้ก็เป็นดินแดนแห่งแสนโกฏิเทวดา ก่อนพุทธกาลนั้นเทวดายิ่งใหญ่มาก ก็เป็นเจ้านายมนุษย์ ครั้นมาถึงพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทำให้เทวดาลงมาเป็นมิตรของมนุษย์ มาอยู่ร่วมกันฉันมิตร ครั้นภายหลังพุทธกาลต่อมาอีกไม่นาน เทวดาก็เริ่มขยายจำนวนมีมากมายขึ้น แล้วก็มีความยิ่งใหญ่มาก จนกระทั่งในที่สุด แม้พระพุทธเจ้าเองก็ได้กลายเป็นนารายณ์อวตารปางหนึ่งไป

เมื่อพระพุทธเจ้ากลายเป็นเพียงอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ ผลที่สุดศาสนาพราหมณ์หรือเทวดา ก็เลยเบียดพุทธศาสนาตกจากประเทศอินเดียไป อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็ต้องมาดูว่าประเทศไทยเรานี้กำลังเดินทางไป ในวิถีเดียวกับอินเดียหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น พุทธศาสนาก็อาจถูกเทวดาเบียดตกไปจากแผ่นดินไทย เช่นเดียวกัน

ปฏิบัติถูกต่อเทวดา พระพุทธศาสนาจะอยู่คู่ชาติไทย

นี่เป็นคติที่อาตมภาพว่า เอาเรื่องเดียวก็พอในการที่ได้ไปอินเดีย ขอให้มาช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรจะให้เราปฏิบัติกันให้ถูกต้องในเรื่องเทวดานี้เป็นต้น ซึ่งมีความหมายรวมมาถึงการปฏิบัติต่อกัน ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยในสังคมด้วย เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว มนุษย์ก็จะอยู่ดี พระพุทธศาสนาก็จะคงอยู่ช่วยมนุษย์ได้ และเราก็จะช่วยให้เทวดาสามารถรักษาคุณธรรมของเทวดาไว้ได้ด้วย เมื่อได้พูดมาถึงตรงนี้ก็เป็นเวลาพอสมควร

ในที่สุดนี้ อาตมภาพขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร แด่ท่านผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่านในที่ประชุมนี้ ขอจงเป็นผู้งอกงามด้วยคุณธรรม และเจริญด้วยประโยชน์สุขจากการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ.

บทเรียนของชาวพุทธ1

จะเล่าเรื่องบางอย่าง และทบทวนความรู้บางประการ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในสมัยอดีต เพื่อเสริมความรู้ให้หนักแน่น และเพื่อเป็นบทเรียนแก่ชาวพุทธในกาลข้างหน้า

เมืองสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า

เรื่องแรกเกี่ยวกับสภาพบ้านเมือง ในสมัยพุทธกาล คัมภีร์พุทธศาสนา เช่นพระไตรปิฎก กล่าวถึงเมืองและแว่นแคว้นสำคัญๆ หลายแห่ง ในบรรดาเมืองเหล่านั้น เมืองที่เด่นมาก ซึ่งชาวพุทธควรรู้จักให้ดี จะกล่าวไว้ในที่นี้ ๒ เมือง คือ ราชคฤห์ กับ สาวัตถี

ราชคฤห์เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ สาวัตถีเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล สองแคว้นนี้เป็นแคว้นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในครั้งพุทธกาล นอกจากมีความสำคัญในทางการเมืองแล้ว ก็มีความสำคัญในทางพุทธศาสนามากที่สุดด้วย

แคว้นมคธ นั้น มีความสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาตลอดมา เป็นเวลาหลายร้อยปี เริ่มด้วยเมือง ราชคฤห์ เป็นที่ประดิษฐานพุทธศาสนาให้มั่นคง ครั้นมั่งคงแล้ว ก็เป็นแหล่งที่กระจายเผยแพร่คำสอนออกไป

ส่วน เมืองสาวัตถี เป็นเมืองที่เมื่อพระพุทธเจ้าประดิษฐานพุทธศาสนามั่นคงดีแล้ว ก็เสด็จไปประทับอยู่สบายๆ แล้วแสดงพระธรรมเทศนาเรื่อยไป

ถ้าจะพูดเปรียบเทียบกัน ก็ว่าราชคฤห์เป็นฐานที่มั่น เป็นเหมือนด่านหน้าหรือป้อมค่ายที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งกองทัพธรรม แล้วส่งกองทัพธรรมนั้นดำเนินการขยาย กระจายคำสอน ส่วนเมืองสาวัตถีที่เชตวันเป็นแหล่งป้อนข้อมูลหรือเตรียมเสบียงให้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่นั้น แล้วก็แสดงธรรมประทานเนื้อหาคำสอนต่างๆ พระแม้จะออกไปจากเมืองราชคฤห์ แต่ก็ได้คำสอนจากสาวัตถีหรือจากพระเชตวันนี้ เพราะฉะนั้น ๒ แห่งนี้ ก็มีความสำคัญด้วยกันทั้งคู่

เราจะเห็นความเป็นไปในประวัติศาสตร์ สนับสนุนเรื่องที่อาตมภาพกล่าวมานี้ว่า สาวัตถีพระพุทธเจ้าประทับและแสดงธรรมมากก็จริง แต่ในด้านเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการแพร่หลายหรือขยายเผยแผ่พระพุทธศาสนา ราชคฤห์เป็นศูนย์กลางทั้งหมด ตอนแรกพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมแก่พระเจ้าพิมพิสาร และทำให้พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมทั้งข้าราชบริพาร และประชาชนนับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาทรงได้อัครสาวกคือพระสารีบุตร และพระโมคคัลลาน์ ก็ได้ที่เมืองนี้

ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ที่เมืองราชคฤห์นี้ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจ จนประดิษฐานพระพุทธศาสนามั่นคง แต่พระองค์ประทับที่นั่นเพียง ๓ พรรษาเท่านั้น ก็ทรงทำงานเรียบร้อย ต่อจากนั้น ก็ไว้วางพระทัยพระสาวกทั้งหลายได้ให้ทำงานกันไป จนกระทั่งเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว เมืองราชคฤห์หรือแคว้นมคธ ก็เป็นสถานที่สำคัญในการทำงานทางพุทธศาสนาอีก คือเป็นที่ทำการสังคายนา พอพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือน ก็มีการจัดสังคายนาครั้งที่ ๑ จัดระเบียบคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การสังคายนานั้นก็ทำที่เมืองราชคฤห์แห่งแคว้นมคธนี้

ต่อมาอีก ๒๐๐ กว่าปี มีพระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นคือ พระเจ้าอโศกมหาราช ครองแคว้นมคธ ตอนนั้นเมืองหลวงของแคว้นมคธได้ย้ายจากราชคฤห์ไปอยู่ที่ เมืองปาตลีบุตร ปัจจุบันเรียก ปัตนะ อยู่เลยจากนาลันทาไปนิดเดียว เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในยุคหลัง คือหลังจากราชวงศ์พระเจ้าพิมพิสารแล้ว ต่อมาก็ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ปัตนะ หรือปาตลีบุตรนี้

พระเจ้าอโศกครองราชย์อยู่ที่เมืองปาตลีบุตร ก็ได้ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ส่งพระธรรมทูตออกประกาศศาสนาจากปาตลีบุตรนี้ เพราะฉะนั้นมคธจึงเป็นดินแดนที่เผยแพร่พระพุทธศาสนา และทำหน้าที่นี้ตลอดมา พระศาสนทูตที่มายังเมืองไทย มาสุวรรณภูมิ พระโสณะและพระอุตตระก็มาจากที่นี่ ในลังกา พระมหินท์ และพระสังฆมิตตาเถรีก็มาจากที่นี่ คือมาจากแคว้นมคธ

เพราะฉะนั้น มคธจึงเป็นถิ่นฐานสำคัญในทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนกระทั่งมาถึงท้ายสุด ตอนพระพุทธศาสนาจะสูญสิ้นจากอินเดีย ตอนนั้นราชวงศ์ที่ครองอินเดียคือ ราชวงศ์ปาละ ต่อจากปาละ ก็มีราชวงศ์เล็กชื่อ เสนะ เขามักรวมเรียกกันในทางศิลปะว่า ปาลเสนะ ปาละเป็นราชวงศ์ที่นับถือพุทธศาสนา ก็ครองราชย์ที่เมืองปาตลีบุตรเช่นกัน จนกระทั่งมุสลิมบุกเข้ามาทำลายหมด

โดยนัยนี้ มคธจึงมีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาตลอดมา และเพราะเหตุที่ว่าได้เป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา จึงมีวัดวาอารามมากเหลือเกิน บางวัดก็ใหญ่โตเป็นมหาวิหาร ที่เรียกเป็นมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เช่น นาลันทา ก็อยู่ในแคว้นนี้ เพราะเหตุที่มีวัดวาอารามมากนี้ แม้เมื่อพระพุทธศาสนาจะสูญสิ้นไปแล้ว ก็มีซากวัดวาอารามเหลืออยู่ทั่วไป

ต่อมาคำว่า มคธ ได้เลือนหายไปจากความทรงจำของชาวอินเดีย แต่เพราะเหตุที่มีวิหาร หรือวัดมากมาย คำว่า วิหาร หรือวัดนี้ก็กลายเป็นชื่อของแคว้นหรือรัฐนี้ แทน มคธ แต่คำว่า วิหาร ได้แปลงมาเป็น พิหาร ตัว ว แผลงเป็น พ ได้ เช่นคำว่า วงศ์ ก็แผลงเป็น พงศ์ ได้ คำว่า วรรณ เป็น พรรณ ได้ ตัว ว เป็น พ ในภาษาไทยมีใช้กันมากมาย ปัจจุบันในแผนที่นี้ก็เขียนไว้ว่า พิหาร นี่คือชื่อรัฐ หรือแคว้นนี้ในปัจจุบัน เดิมก็คือแคว้นมคธ เพราะเหตุที่มีซากวัดวาอารามมาก ก็เลยเรียกตามสภาพที่เป็นมาทางประวัติศาสตร์ว่า วิหาร หรือ พิหาร

บุคคลสำคัญที่ชาวพุทธคุ้นใจในพุทธกาล

นอกจากนี้ อาตมภาพก็อยากจะเล่าให้เห็นภาพชีวิตของคนในยุคนั้นเพื่อจะได้เห็นภาพของมคธ และโกศลเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเมืองทั้งสองนั้น อาตมภาพเคยเล่าไปบ้างแล้วว่าพระเจ้าแผ่นดิน ๒ แคว้นนี้เป็นญาติกันโดยการแต่งงาน คือ พระกนิษฐภคินีของแต่ละแคว้นไปเป็นมเหสีของพระมหากษัตริย์อีกแคว้นหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ มีมเหสีเป็นน้องสาวของ พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งแคว้นโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลที่ครองกรุงสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ก็มีมเหสีเป็นน้องสาวของ พระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ

หรืออย่าง อนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเป็นเศรษฐีประจำเมืองสาวัตถีแห่งแคว้นโกศลก็มารู้จักพระพุทธเจ้า มานับถือพระพุทธศาสนาที่กรุงราชคฤห์ เพราะแกมีเพื่อนเป็นเศรษฐีที่กรุงราชคฤห์ คราวหนึ่งมาเยี่ยมเยียนเพื่อน ตอนนั้นพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว แกก็เลยได้รู้จักพระพุทธเจ้าแล้วก็เลื่อมใส ประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นอุบาสก แล้วนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่แคว้นโกศล ไปประทับที่สาวัตถี เป็นครั้งแรกที่ทำให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปสาวัตถี แล้วแกก็ได้สร้าง เชตวัน ถวาย ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษามากที่สุด รวมถึง ๑๙ พรรษา

อีกท่านหนึ่ง ที่มีความสำคัญมากในพระพุทธศาสนา คือ มหาอุบาสิกาชื่อ วิสาขา ท่านผู้นี้ก็อยู่ที่สาวัตถีเช่นเดียวกัน มหาอุบาสิกาวิสาขานั้น พ่อชื่อว่า ธนญชัยเศรษฐี ธนญชัยเศรษฐีนั้นก็เป็นลูกของเมณฑกเศรษฐี เมณฑกเศรษฐีเป็นเศรษฐีอยู่ในแคว้นมคธ แคว้นมคธนั้นรุ่งเรืองมาก มีเศรษฐีมาก แต่ก่อนนี้แคว้นใดจะแสดงความรุ่งเรืองของตน จะต้องบอกได้ว่าตนมีเศรษฐีเยอะ ทีนี้แคว้นมคธมีเศรษฐีเยอะ แคว้นโกศลก็เลยขอเศรษฐีไปคนหนึ่ง ทำนองขอยืมเพื่อจะไปประดับเกียรติของแคว้น

พระเจ้าโกศลขอเศรษฐีคนหนึ่งจากแคว้นมคธ ทางแคว้นมคธก็ให้ธนญชัยเศรษฐี ซึ่งเป็นลูกของเมณฑกเศรษฐี เดินทางไปยังแคว้นโกศล ธนญชัยเศรษฐีได้ไปสร้างเมืองขึ้นใหม่ชื่อว่าเมืองสาเกต อยู่ใกล้ๆ เมืองสาวัตถี ธนญชัยเศรษฐีก็เป็นบิดาของนางวิสาขา วิสาขาก็เป็นมหาอุบาสิกา ได้สร้างวัดสำคัญ ชื่อว่า วัดบุพพาราม ที่พระพุทธเจ้าได้ประทับหลายพรรษา รวมทั้งหมด ๖ พรรษา สลับไปมากับเชตวันของอนาถบิณฑิกเศรษฐี

ภิกษุณีไม่มีกิเลส มีลูกเป็นพระอรหันต์

อาตมภาพอยากจะเล่าเรื่องทั่วไป เป็นตัวอย่างให้ฟังกันอีกสักเรื่อง ที่แสดงภาพชีวิตในสมัยพุทธกาลเกี่ยวข้องกับเมืองสาวัตถีและเมืองราชคฤห์นี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระภิกษุณีกับพระภิกษุ พระภิกษุณีรูปหนึ่งซึ่งเป็นพระอรหันต์เป็นมารดาของพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน โยมอาจจะสงสัยว่าเป็นได้อย่างไรกัน พระภิกษุณีมีลูกเป็นพระอรหันต์ อาตมภาพจะเล่าแทรกสักหน่อย เพื่อประดับให้มองเห็นภาพชีวิตในสมัยพุทธกาลมากขึ้น

ที่กรุงราชคฤห์ในสมัยพุทธกาล มีตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่งมีลูกสาวคนเดียว ลูกสาวคนนี้เกิดมาแล้วก็มีจิตใจโน้มไปทางพระศาสนา ตอนนั้นพระพุทธเจ้าประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ในแค้วนมคธมั่นคงแล้ว แกก็มีจิตศรัทธา คิดจะบวชอยู่เรื่อย ทีนี้เมื่อเติบโตพอสมควรก็อ้อนวอนขอร้องบิดามารดาที่เป็นเศรษฐีว่า อยากจะออกบวช ฝ่ายเศรษฐีบิดามารดาก็ไม่อนุญาต บอกว่าตระกูลของเรามีลูกคนเดียว ถ้าลูกไปบวชแล้วใครจะสืบต่อวงศ์ตระกูล ทรัพย์สมบัติจะเอาไปไหน ก็ไม่ยอมให้บวช จะขอร้องอย่างไรก็ไม่สำเร็จ แกก็เลยตั้งความหวังว่า เอาละต่อไปมีครอบครัวแล้วค่อยคิดใหม่ สามีของเราอาจจะเป็นคนที่พูดง่ายก็ได้ ต่อมาแกก็แต่งงาน แต่งงานไปได้ระยะหนึ่ง พอมีโอกาสก็พูดกับสามี สามีก็ตกลง เป็นอันว่าให้บวช สามีก็เป็นเจ้าภาพในการบวชของภรรยาที่เป็นธิดาเศรษฐีนี้ แต่เขามีความคุ้นเคยกับสำนักภิกษุณีที่เป็นฝ่ายของ พระเทวทัต ก็เลยพาไปบวชในสำนักภิกษุณีนั้น

ภิกษุณีนั้นตอนที่บวชแกไม่รู้ตัวว่า แกได้เริ่มตั้งครรภ์แล้วนิดหน่อย บวชต่อมาครรภ์ก็โตขึ้นๆ ฝ่ายภิกษุณีทั้งหลายมองเห็นเมื่อครรภ์ปรากฏชัดก็บอกว่า นี่เธอยังไงกันนี่ มาบวชเป็นภิกษุณี ทำไมมีครรภ์ล่ะ พระภิกษุณีองค์นั้นก็บอกว่าฉันก็ไม่ทราบเหมือนกัน มันยังไงกันแน่ แต่ฉันรู้ตัวว่าฉันบริสุทธิ์แน่นอน ก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา

จะชำระความแบบพระเทวทัต
หรือจะตัดสินความแบบพระพุทธเจ้า

พระภิกษุณีทั้งหลายก็บอกว่า เรื่องนี้ต้องชำระความให้เสร็จสิ้นกันไป แล้วก็สั่งว่างั้นเราไปหาพระเทวทัตให้ตัดสินเรื่อง ตกลงพระภิกษุณีทั้งหลายก็พาเอา พระภิกษุณีธิดาเศรษฐี ไปหาพระเทวทัตให้ตัดสินความ ฝ่ายพระเทวทัตได้รับเรื่องพิจารณาก็คิดห่วงแต่ชื่อเสียงของตน คิดว่าเรื่องนี้มันเกิดขึ้นในฝ่ายของเรา ถ้าหากปรากฏข่าวออกไปเราก็เสียชื่อหมด อ้อ! ภิกษุณีในฝ่ายของเทวทัตมีครรภ์! หมดแล้ว เสียหายหมด จิตใจไม่ได้เอาเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง นึกถึงแต่เรื่องกลัวตัวเองจะเสียชื่อ ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก นึกอะไรก็ไม่ออก ความรู้ก็ไม่ชัดว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไรดี ก็เลยตัดสินเอาง่ายๆ ว่า พวกเธอจัดการสึกกันไปเสียเถอะ อย่าให้มันมีเรื่องอื้อฉาวขึ้นมา ยกเรื่องปัดไปเลย

ฝ่ายภิกษุณีพวกนั้นก็พูดกับภิกษุณีลูกเศรษฐีว่า นี่พระเทวทัตท่านก็ได้สั่งให้สึกแล้วจะว่ายังไง ฝ่ายภิกษุณีธิดาเศรษฐีก็เสียใจมากบอกว่า ดิฉันนี้ก่อนจะบวชได้ก็ยากเย็นเหลือเกิน เป็นผู้บวชด้วยความตั้งใจจริง แม้บวชมาแล้วก็พยายามตั้งใจปฏิบัติธรรมเต็มที่ เพราะฉะนั้น จะให้เหตุการณ์เล็กน้อยที่ดิฉันเองก็เป็นผู้บริสุทธิ์ มาทำลายชีวิตของดิฉันทั้งหมด ทำลายความตั้งใจความเพียรพยายามของดิฉันทั้งหมด มันไม่สมควรเลย เอาอย่างนี้เถอะ ดิฉันไม่ได้บวชในศาสนาของพระเทวทัตนะ ดิฉันบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า อย่างไรก็ขอให้ได้นำคดีนี้ไปถวายพระพุทธเจ้าตัดสินเถิด ขอให้ถึงพระพุทธเจ้าก่อน

พระภิกษุณีพวกนั้นก็เห็นใจบอกว่า ตกลงเราจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ภิกษุณีสำนักพระเทวทัตอยู่ในเมืองราชคฤห์ ส่วนพระพุทธเจ้าตอนนั้นประทับอยู่ที่เชตวัน เมืองสาวัตถี คณะภิกษุณีเหล่านั้นจึงต้องพากันเดินทางจากเมืองราชคฤห์ไปเมืองสาวัตถี ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ว่าเป็นระยะทางเดินทั้งหมด ๔๕ โยชน์

อาตมภาพเอามาเทียบกับที่เราเดินทาง เราเดินทางจากพุทธคยา ไปราชคฤห์ ผ่านเมืองพาราณสีก่อน ๒๓๐ กม. จากพาราณสี สารนาถไปโครักขปุระ ๑๘๐ กม. จากโครักขปุระไปสาวัตถี ๑๗๒ กม. รวมเป็น ๕๘๒ กม. นี่เป็นระยะทางที่พระภิกษุณีเหล่านั้นเดินทางไป แต่ถ้าเทียบกับที่คัมภีร์กล่าวไว้ ๔๕ โยชน์ อาตมภาพคิดคร่าวๆ เป็นไมล์ได้ประมาณ ๔๕๐ ไมล์ ก็ได้ ๗๒๐ กม. ยาวกว่าที่เราเดินทางคราวนี้ อาจเป็นได้ว่าเส้นทางเดินสมัยโบราณเป็นเส้นทางเกวียน อาจจะอ้อมกว่า เหมือนอย่างสมัยปัจจุบันนี้ไปสุพรรณฯ เมื่อ ๗-๘ ปี ก่อนไปเส้นทางเก่าทางรถยนต์ประมาณ ๑๖๐ กม. แต่เดี๋ยวนี้เส้นทางใหม่เหลือ ๑๒๐ กม.แล้ว แต่เส้นทางเดินทางใกล้ไกลต่างกันได้ ตัวเลขนี้ก็ไม่ห่างกันมากนัก ก็เป็นอันว่าท่านต้องเดินทางกันเป็นระยะทางยาวนานเลยทีเดียว แล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

เมื่อไปถึงพระเชตวันแล้ว คณะพระภิกษุณีเหล่านั้นก็นำพระภิกษุณีธิดาเศรษฐีเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องทั้งหมดถวาย พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาแล้วก็ทรงทราบว่าเป็นเรื่องที่คงตั้งครรภ์มาก่อนบวช แต่จะตัดสินไปเฉยๆ คงไม่เป็นการดี คนอาจติฉินนินทา ยิ่งเป็นพระภิกษุณีที่เคยอยู่ในสำนักพระเทวทัตด้วย คนก็อาจบอกว่า โอ! นี่พระพุทธเจ้าเอาภิกษุณี ที่พระเทวทัตทิ้งแล้ว มาเลี้ยงดู หรือว่าเป็นการสนับสนุนพวกที่แตกมาจากฝ่ายโน้นมาเข้าฝ่ายนี้ เป็นการไม่ดี ต้องทำให้เรื่องนี้ปรากฏชัดในที่ประชุม พระองค์จึงตรัสสั่งพระอานนท์ให้ไปเตรียมการเชิญบุคคลสำคัญมา ถ้าว่าถึงชาติตระกูลภิกษุณีนี้ก็เป็นผู้ใหญ่เหมือนกัน เป็นธิดาเศรษฐี ก็ให้ไปเชิญพระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกามายังที่ประชุม ทางฝ่ายพระภิกษุก็ทรงมอบพระอุบาลี ซึ่งเป็นพระวินัยธร ให้เป็นเจ้าของเรื่อง

วันรุ่งขึ้น นัดประชุมแล้วก็พิจารณาเรื่องในที่ประชุม พระอุบาลีเป็นเจ้าของเรื่อง ได้พิจารณาไต่สวนกัน พระอุบาลีก็มอบให้นางวิสาขามหาอุบาสิกาพิจารณาความ นางวิสาขาก็ไปสืบสาวราวเรื่องกับนางภิกษุณี ดูสภาพร่างกาย สืบถามประวัติความเป็นมาแล้วก็วินิจฉัยได้ว่า จะต้องตั้งครรภ์มาก่อนอุปสมบท จากนั้นก็นำเอาเรื่องราวที่ได้ไต่สวนทั้งหมดมาเล่าให้พระอุบาลีฟัง และนำเข้าที่ประชุมวินิจฉัยโดยพร้อมหน้า ตัดสินได้ว่านางภิกษุณีธิดาเศรษฐีเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้ตั้งครรภ์มาก่อนอุปสมบท เป็นอันว่าเรื่องราวเสร็จสิ้นไปด้วยดี เป็นที่ปรากฏแจ่มชัดแก่มหาชน พระภิกษุณีนั้นก็พ้นคดีไป

เมื่อลูกโปรดแม่

เมื่อท่านพ้นคดีแล้ว ก็อยู่ปฏิบัติธรรมเรื่อยมา จนกระทั่งครรภ์แก่ก็ได้คลอดบุตร แล้วท่านก็เลี้ยงเด็กอยู่ในสำนักนางภิกษุณีนั้นเอง อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า คือพระองค์เสด็จมาบ่อยๆ มาเฝ้าพระพุทธเจ้าเรื่อย วันหนึ่งก็เสด็จมาทางสำนักภิกษุณีได้ยินเสียงเด็กทารกร้อง ก็ตรัสถามข้าราชบริพารว่า เด็กทารกที่ไหนมาร้องอยู่ในวัดในวา ข้าราชบริพารก็ทูลว่า นี่ก็คือเด็กทารกลูกของนางภิกษุณีองค์นั้น องค์ที่ได้ตัดสินคดีในวันนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ตรัสว่า เรื่องการเลี้ยงดูเด็กเป็นเรื่องยาก ท่านเป็นภิกษุณี ท่านย่อมไม่สะดวกในเรื่องปัจจัยการเป็นอยู่ การที่จะเลี้ยงเด็กย่อมไม่สะดวกเลยทุกประการ เราควรจะช่วยเหลือท่าน

พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็เลยไปขอเด็กทารกนั้นมา บอกว่าจะขอไปเลี้ยงในวัง เป็นอันว่าเด็กคนนั้นก็เลยได้ไปอยู่ในวัง เป็นอย่างราชกุมาร เด็กที่เป็นตระกูลเจ้าเขาเรียกกุมาร พอเติบโตในวังคนทั้งหลายก็เรียกว่า กุมารกัสสปะ แปลว่า กัสสปะผู้เป็นกุมาร หมายความว่า กัสสปะลูกเจ้านาย หรือกัสสปะเด็กชาววัง อะไรทำนองนั้น หรืออย่างพระพุทธเจ้าเวลาส่งของเล็กๆ น้อยๆ ไปให้เด็กคนนี้ก็ทรงเรียกว่ากุมารกัสสปะ ก็เลยเรียกกันมาว่า กุมารกัสสปะ

เวลาผ่านไป จนกระทั่งเด็กน้อยอายุ ๗ ขวบ ก็ได้มาบวชเป็นสามเณร ศึกษาปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ชื่อว่า พระกุมารกัสสปะ เป็นผู้มีชื่อเสียงมากสามารถในการแสดงธรรม จนได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้แสดงธรรมวิจิตร อันนี้เป็นฝ่ายลูก อนาคตของฝ่ายลูกได้พัฒนามาจนสมบูรณ์ ก็เป็นผู้บรรลุธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้ว

ส่วนนางภิกษุณีผู้เป็นมารดานั้น ตั้งแต่บุตรของตนไปอยู่ในวังแล้วก็เฝ้าห่วงใย ร้องไห้คิดถึงแต่บุตรของตนตลอดเวลา แม้จะได้ตั้งใจปฏิบัติธรรม แต่หากใจหนึ่งก็คิดถึงแต่ลูก จึงไม่เป็นอันปฏิบัติธรรมได้จริงจัง มีกังวล มีห่วงเกิดขึ้น ร่ำร้องหาแต่ลูกเรื่อยมา ก็เลยไม่บรรลุมรรคผลอะไรทั้งสิ้น อยู่มานานจนกระทั่งวันหนึ่ง เดินบิณฑบาต ตอนนั้นพระกุมารกัสสปะเป็นพระอรหันต์แล้ว พระภิกษุณีมารดามาเจอเข้ากับลูก พอเจอเข้าด้วยความดีใจเป็นอย่างยิ่งก็ร้องเรียกว่าลูกรัก แล้วก็โผเข้าไปหา แต่อารามร้อนรน พอโผเข้าไปหาก็ซวนเซแล้วก็พลาดล้มลงไป เขาว่ากันว่ามารดาพอนึกถึงลูกรักน้ำนมจะไหล ก็ปรากฏว่าน้ำนมไหลเปื้อนจีวร แล้วก็ไปจับลูก

ฝ่ายพระกุมารกัสสปะ ก็มีใจเมตตาการุณย์ต่อมารดา นึกถึงว่า มารดายังไม่ได้บรรลุธรรม เป็นเพราะความรัก ความห่วงใยในตัวเราผู้เป็นบุตร เราจะช่วยอย่างไรดี ถ้าหากว่า ให้แม่มีจิตใจครุ่นกังวลอยู่กับความรักความห่วงใยอยู่อย่างนี้ ก็จะไม่รู้จักได้บรรลุมรรคผลแน่นอน เราจะต้องใช้วิธีการเป็นอุบายสักอย่าง ทำให้แม่ตัดความรู้สึกผูกพันกังวลนี้ให้ได้ ท่านก็เลยพูดคำหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นคำที่ฟังแล้วไม่น่าสบายใจนัก แต่โดยเจตนาก็ทำเพื่อให้แม่ตัดความรู้สึกผูกพันลงไป จะได้ปฏิบัติธรรมได้

ท่านพระกุมารกัสสปะพูดทำนองว่า "แม่ ทำอะไรอยู่ ความรักแค่นี้ก็ตัดไม่ได้" อะไรทำนองนี้ ก็ทำให้แม่รู้สึกน้อยใจขึ้นมาว่า "ลูกเรานี่นะ เราอุตส่าห์ตามหา ร้องไห้ ห่วงมาไม่รู้กี่ปีแล้ว พอเจอกันก็มาพูดอย่างนี้ ไม่เอาแล้ว เขายังไม่รักเรา เราอย่าไปรักเขาเลย" เป็นทำนองนี้ ทำให้ตัดความรู้สึกห่วงใยผูกพันลดน้อยลงไปได้ ตั้งแต่นั้นก็ตั้งใจปฏิบัติธรรม ต่อมาก็ได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระเถรีอรหันต์รูปหนึ่ง เรื่องก็จบลงด้วยดี พระภิกษุณีมารดาก็ได้เป็นพระอรหันต์ พระภิกษุที่เป็นลูกก็ได้เป็นพระอรหันต์ เลยมีเรื่องพระภิกษุณีผู้เป็นอรหันต์ เป็นแม่ของพระภิกษุผู้เป็นอรหันต์ เป็นเรื่องเป็นไปได้ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังที่ได้เล่ามานี้

ช่วยกันให้พึ่งตนได้

เรื่องนี้ได้เป็นที่ปรารภของพระสงฆ์ในธรรมสภา จนกระทั่งทำให้พระพุทธเจ้าตรัสธรรมอื่นๆ อีก เรื่องหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสโดยปรารภเรื่องนี้ ก็คือเรื่องการเกิดขึ้นของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกวาง คงจำกันได้ที่อาตมภาพเล่าให้ฟัง แล้วก็สละชีวิตตัวเองแทนแม่เนื้อแม่กวางที่กำลังตั้งครรภ์ใหม่ๆ รายนี้แหละ ทำให้เกิดนิยายเกี่ยวกับ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขึ้น นั่นก็เรื่องหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสพุทธภาษิตที่ว่า "อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ" ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน พระพุทธเจ้าทรงแสดงไขเนื้อความอันนี้ว่า แม้แต่เป็นลูกเป็นแม่กัน แต่ในการบรรลุธรรมเบื้องสูง ในการทำจิตใจให้พ้นจากกิเลส ถึงยังไงตนก็เป็นที่พึ่งของตน คนอื่นจะมาช่วยไม่ได้ ลูกก็ช่วยแม่ไม่ได้ แม่ก็ช่วยลูกให้พ้นจากกิเลสไม่ได้ ตนจะต้องทำด้วยตนเอง พระองค์ตรัสภาษิตนี้ เพราะพระภิกษุท่านปรารภเรื่องนี้สนทนากัน เรื่องพระภิกษุณีธิดาเศรษฐีกับพระภิกษุกุมารกัสสปะ พระพุทธเจ้าทรงมาได้ฟังก็เลยทรงแสดงธรรมให้เห็นว่า ตนต้องเป็นที่พึ่งของตนเองในการปฏิบัติธรรมขั้นสุดท้าย ที่จะให้บรรลุมรรคผลหรือจะให้พ้นจากกิเลส พ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง

แต่อย่างไรก็ตาม คนเราก็เป็นกัลยาณมิตร ช่วยเหลือกันได้ คือช่วยให้พึ่งตนได้ อย่างในกรณีนี้พระกุมารกัสสปะก็ได้ช่วยมารดาของท่านแล้ว เป็นกัลยาณมิตรให้กับมารดา คือช่วยให้แม่พึ่งตนเองได้ ก็ช่วยเสริมกัน แต่ในขั้นสุดท้ายแม่ต้องพึ่งตนเอง คือ จิตใจจะหลุดพ้นต้องหลุดพ้นเอง นี้ก็เป็นที่มาของพุทธภาษิตที่เรารู้จักกันมาก พุทธศาสนิกชน มักพูดกันเสมอว่า "อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ" ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ต้องเข้าใจว่าในขั้นสุดท้ายแล้วเราต้องพึ่งตัวเอง คนอื่นอาจจะช่วยเกื้อกูลเพื่อให้เราพึ่งตนเองได้ ไม่ได้หมายความว่าจะตัดไม่ให้เกี่ยวข้อง ไม่ให้ช่วยเหลือกัน คือมีขอบเขตว่า เรามาช่วยกันและกันให้แต่ละคนพึ่งตนเองได้ แล้วแต่ละคนก็ต้องพึ่งตนเอง

เมืองพุทธ เมืองพราหมณ์

นี้เป็นเรื่องหนึ่ง ที่อาตมภาพนำมาเล่าจะให้เห็นภาพชีวิตที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล เกี่ยวข้องทั้งเมืองราชคฤห์และเมืองสาวัตถี แต่สาวัตถีก็ดี ราชคฤห์ก็ดี ในปัจจุบันจะเห็นว่ามีแต่ซาก ป่าก็เหลือน้อย เป็นที่แห้งแล้งเสียมาก สาวัตถียังเป็นที่ชุ่มชื้น มีต้นไม้มากหน่อย แต่ว่าทั้ง ๒ แห่ง ก็เป็นเมืองร้าง จะมีหมู่บ้านอะไรก็เป็นเรื่องของชาวบ้านเล็กๆ น้อยๆ ในชนบทห่างไกล แสดงให้เห็นคติความเปลี่ยนแปลงของสังขารทั้งหลาย ที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนอาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจก็ล่มสลายไป สิ้นสูญไป เมืองใหม่ๆ อาณาจักรใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น

แต่เมืองหนึ่งที่เราไปเยี่ยมที่สารนาถ ที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา เมืองนั้นคือ เมืองพาราณสี เมืองพาราณสีเดี๋ยวนี้ก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะยังเป็นดินแดนของศาสนาฮินดู ศาสนาฮินดูยังคงรุ่งเรืองอยู่ และเมืองพาราณสี นั้นตั้งอยู่ที่แม่น้ำคงคา แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของฮินดู เดี๋ยวนี้ชาวฮินดูก็ยังไปท่าน้ำที่เมืองพาราณสี ไปอาบน้ำชำระบาปกัน เอาศพไปเผาที่นั่น เพื่อจะให้คนตายไปสวรรค์ อย่างที่เราได้ไปดูมาแล้ว

พาราณสีมีความสำคัญ ในทางพระพุทธศาสนาเฉพาะในแง่ของอดีต คืออยู่ในเรื่องชาดก ถ้าหากเป็นสาวัตถีกับราชคฤห์แล้ว มีความสำคัญในครั้งพุทธกาลเอง เรื่องราวจะเกิดขึ้นที่นั่นมาก แต่ถ้าเป็นเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้ามักจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่พาราณสี ชาดกส่วนมากจะขึ้นต้นว่า "อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺเต . . " เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ อยู่ในเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติเป็นนั่นเป็นนี่ อย่างเรื่องกวางโพธิสัตว์จะสละชีวิตให้กับกวางแม่ลูกอ่อน หรือแม่กวางที่กำลังตั้งครรภ์ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่เมืองพาราณสีเช่นเดียวกัน นี่ก็เป็นเรื่องสมัยพุทธกาล

พุทธศาสน์ยิ่งรุ่ง หลังพุทธกาล

ต่อไป จะข้ามมาหลังพุทธกาล ให้เห็นภาพวิวัฒนาการของพระพุทธศาสนา จะกระทั่งสิ้นสุดไปพอคร่าวๆ

ตอนนี้เรากำลังจะผ่านออกจากพุทธภูมิ คือ ดินแดนช่วงแรกที่เราเดินทางไปนมัสการ ตั้งแต่พุทธคยาไปถึงสาวัตถีก็เป็นอันจบสิ้นไป คราวนี้ก็มาถึงหลังพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระสาวกก็ได้จัดการสังคายนาครั้งที่ ๑ ขึ้นที่เมืองราชคฤห์ ต่อจากนั้นก็ถือว่าพระสาวกทั้งหลายมีหน้าที่ ในการสืบต่อพระศาสนาทอดกันมาโดยลำดับ

หลังพุทธกาลแล้ว พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาบ้างเสื่อมบ้างเป็นระยะๆ ช่วงแรกที่เจริญสูงสุด ก็คือในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช ที่อาตมภาพกล่าวถึงครั้งหนึ่งแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชครองราชย์ที่เมืองปาตลีบุตร หรือปัตนะที่กล่าวถึงเมื่อกี้นี้ ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๘ ถึง พ.ศ. ๒๖๐ เป็นเวลาประมาณ ๔๒ ปี แต่ฝรั่งเขานับไม่เหมือนเรา ฝรั่งเขานับเทียบออกมาได้เป็น พ.ศ. ๒๗๐ ถึง พ.ศ. ๓๑๘ คือเรื่องประวัติพุทธศาสนานี่ นับแบบเรากับนับแบบฝรั่งมันจะต่างกันสัก ๖๐ ปี แทบทั้งหมด แม้แต่พระพุทธเจ้าประสูติและปรินิพพาน ของฝรั่งก็ต่างจากของเรา ๖๐ ปี เพราะของเราคิดตัวเลขปีพุทธปรินิพพาน เราบอกว่าก่อนคริสต์ ๕๔๓ ปี แต่ฝรั่งเขาเอา ๔๘๓ ปี จึงต่างกันอย่างนี้ตลอด

จากหัตถ์ที่ปกป้องเชิดชู สู่กำมือของผู้พิฆาต

พระเจ้าอโศกครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๘ ถึง พ.ศ. ๒๖๐ ได้ทำการสังคายนาครั้งที่ ๓ ส่งพระสาวก ออกประกาศพระศาสนาอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ ต่อมาราชวงศ์พระเจ้าอโศกสืบมาอีก ๗ ชั่วพระเจ้าแผ่นดิน คือ มีลูกหลานของพระเจ้าอโศกครองมาอีก ๗ องค์ ก็ถูกอำมาตย์ที่เป็นพราหมณ์จับปลงประชนม์เสีย แล้วตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อ ราชวงศ์ศุงคะ เป็นราชวงศ์ฮินดู ซึ่งเดิมก็เป็นอำมาตย์ของ พระเจ้าแผ่นดินพุทธนั่นเอง

ตอนก่อนนั้นเมื่อพระเจ้าอโศกอุปถัมภ์พุทธศาสนา ก็มีอำมาตย์เป็นพวกพราหมณ์ด้วย แต่พอฮินดูตั้งราชวงศ์ของเขาขึ้น เขาก็ปราบชาวพุทธถึงกับทำพิธีบูชายัญ ดำเนินการปราบปรามชาวพุทธ ถึงกับให้ค่าหัวแก่คนที่ไปฆ่าชาวพุทธมาได้ อะไรทำนองนี้ พุทธศาสนาก็ถูกกำจัดมาก กษัตริย์องค์นี้ชื่อ พระเจ้าปุษยมิตร แต่มีอำนาจไม่กว้างขวางมาก ตอนนั้นในดินแดนที่เคยเป็นแว่นแคว้นของพระเจ้าอโศกได้มีพวกผู้มีอำนาจอื่นๆ ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ขึ้นมา แตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย หลายแคว้นก็ดำรงพุทธศาสนาไว้ได้

มหาราชไม่แล้งชมพูทวีป

แคว้นหนึ่งที่ดำรงพุทธศาสนาไว้ด้วยดี คือแคว้นของ พระเจ้ามิลินท์ โยมคงเคยได้ยินชื่อพระเจ้ามิลินท์ ที่ถามปัญหาพระนาคเสน พระเจ้ามิลินท์เป็นกษัตริย์เชื้อชาติกรีก ในภาษากรีกเขาเรียกว่าพระเจ้าเมนันเดอร์ เมนันเดอร์นี้ครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๓๘๘ อยู่ที่เมืองสาคละ ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน พระเจ้ามิลินท์ครองแผ่นดิน ตั้งแต่แคว้นปัญจาบไปจนถึงประเทศอัฟกานิสถาน ก็ใหญ่พอสมควร เมืองสาคละที่เป็นเมืองหลวงของพระเจ้ามิลินท์ ก็อยู่ใกล้ๆ เมืองศรีนคร ที่เราไปมาแล้วในแคชเมียร์ ขอให้โยมนึกภาพเมืองศรีนครนั้นแหละ ใต้เมืองศรีนครลงไปห่างสัก ๒๓๐ กม. ก็เป็นเมืองสาคละ เมืองหลวงของพระเจ้ามิลินท์ พระเจ้ามิลินท์ก็เป็นผู้ครองดินแดนสำคัญแห่งหนึ่ง ที่ได้เชิดชูดวงประทีปแห่งพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ หลังจากสมัยพระเจ้าอโศก

ต่อจากนั้นผ่านมาอีก ๒๐๐ ปีเศษ ก็มีพระเจ้าแผ่นดินยิ่งใหญ่องค์หนึ่ง ที่ได้รวบรวมแคว้นเล็กแคว้นน้อยเข้ามาจัดตั้งเป็นมหาอาณาจักรได้ในราว พ.ศ. ๖๐๐ พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ชื่อ พระเจ้ากนิษกะมหาราช ครองราชย์ราว พ.ศ. ๖๐๐ ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่เมืองปุรุษปุระ หรือ ปุรุษบุรี หรือ เปษวาร์ อยู่ในปากีสถานปัจจุบัน อันนี้ขอให้เทียบกับเมืองศรีนครที่เราไปในแคว้นแคชเมียร์ เมืองปุรุษปุระของพระเจ้ากนิษกะอยู่เลยเมืองศรีนครไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๓๐๐ กม.

พระเจ้ากนิษกะมหาราช เป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาแบบที่เรียกว่า สรวาสติวาทิน ซึ่งไม่ใช่เถรวาท และมหายานก็เจริญในดินแดนของพระองค์ ไปกันได้กับนิกายที่ทรงอุปถัมภ์ ทำให้พุทธศาสนาแบบมหายานรุ่งเรืองขึ้นมา ในทางฝ่ายของเราหรือในทางเถรวาท จะไม่ค่อยรู้จักพระเจ้ากนิษกะมหาราชเลย เพราะเราไม่นับเข้าในประวัติศาสตร์หรือในตำนานของเรา

พระเจ้ากนิษกะอุปถัมภ์พุทธศาสนา แบบสรวาสติวาทิน พร้อมทั้งพุทธศาสนาแบบมหายานก็พลอยเจริญไปด้วย ทรงจัดสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่ฝ่ายมหายานยอมรับขึ้น เหมือนอย่างที่พระเจ้าอโศกจัดสังคายนา ครั้งที่เราเรียกว่าครั้งที่ ๓ แต่มหายานเขาไปนับเอาของพระเจ้ากนิษกะนี้เป็นครั้งที่ ๓ ทำให้พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปทางจีน ทางมองโกเลีย ธิเบต ไปทางทิศเหนือโน้นมากมาย นี่เป็นเรื่องของพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่ง ที่ชื่อว่ากนิษกะ ก็ได้สร้างถาวรวัตถุในทางพุทธศาสนาไว้มากเช่นเดียวกัน

หลังพระเจ้ากนิษกะแล้ว อาณาจักรก็ค่อยๆ แตกสลายลงไปอีก จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. ๘๖๐ ผ่านพระเจ้ากนิษกะมาศตวรรษเศษ หลังจากชิงอำนาจกันมามากมาย ก็มีราชวงศ์หนึ่งตั้งขึ้น รวบรวมแคว้นน้อยใหญ่เข้ามาเป็นมหาอาณาจักร ได้แก่ ราชวงศ์คุปตะ ราชวงศ์นี่เป็นราชวงศ์ฮินดู ที่ผ่านมาเมื่อกี้กษัตริย์ยิ่งใหญ่เป็นพุทธ ตอนนี้เป็น ฮินดู กษัตริย์คุปตะนี้ แม้จะเป็นฮินดูก็จริง แต่ต้องอาศัยชาวพุทธมาเป็นมหาอำมาตย์ เป็นผู้วางแผนในการปกครอง เป็นต้น เพราะว่าตอนนั้นชาวพุทธเป็นผู้มีการศึกษาดีมาก เพราะฉะนั้น มหาอำมาตย์ส่วนมากหรือแทบทั้งหมดของราชวงศ์คุปตะเป็นพุทธ ตอนปลายๆ นั้นกษัตริย์คุปตะหลายองค์ก็เปลี่ยนมาเป็นพุทธเลย

ราชวงศ์คุปตะครองอำนาจอยู่ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๘๖๓ ถึง พ.ศ. ๑๐๐๐ ตอนแรกก็ครองที่ปาตลีบุตรเหมือนกัน ที่เมืองหลวงเดียวกับพระเจ้าอโศก แต่ต่อมาได้ย้ายไปที่เมืองอโยธยาซึ่งอยู่ใกล้เมืองกุสินารา เฉียงไปทางตะวันตกนิดหน่อย คนไทยเราเรียกเมืองหลวงเก่าของเราว่า อยุธยา เลียนศัพท์มาจากของอินเดียนี้เอง อโยธยาเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์คุปตะ อยู่ใกล้ๆ กับเมืองกุสินาราที่เราไปมาแล้ว

ผ่านยุครุ่งเรือง สู่ระยะทำลาย

ราชวงศ์คุปตะแม้จะเป็นฮินดู แต่อาศัยชาวพุทธมาก และในเวลานั้นพุทธศาสนาตั้งมั่นคงแล้ว จนกระทั่งว่าไม่มีใครจะทำอะไรได้ เป็นอันว่าแม้ฮินดูจะมีอำนาจขึ้นพุทธศาสนาก็เจริญมาด้วยกัน และราชวงศ์คุปตะก็ให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนาไปด้วย เช่นว่า มหาวิทยาลัยนาลันทา ตอนนั้นรุ่งเรืองอยู่แล้ว พระเจ้าแผ่นดินคุปตะก็ได้เป็นผู้อุปถัมภ์มหาวิทยาลัยนาลันทาแทบทุกพระองค์ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๑๐๐๐ ราชวงศ์คุปตะก็สิ้นสุดลง เหตุที่สิ้นสุดก็เพราะมีต่างชาติรุกราน ต่างชาตินี้คือชนชาติฮั่น

ชนชาติฮั่นบุกเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของอินเดีย พอบุกเข้ามาก็ทำลายหมด ทำลายทุกอย่าง โดยเฉพาะได้ทำลายพุทธศาสนามาก ต้นทางที่เริ่มเข้ามาก็คือ ตักสิลา ตักสิลาปัจจุบันนี้อยู่ในปากีสถาน ตักสิลาเคยรุ่งเรืองมาก เราได้ยินจากในคัมภีร์พุทธศาสนาว่าเป็นดินแดน ทิศาปาโมกข์ พอหลังพุทธกาลไม่นานก็เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา มีวัดวาอารามมากมาย พอพวกฮั่นบุกเข้ามา ก็ทำลายตักสิลาราบไปเลย เผาผลาญหมด พวกฮั่นบุกเข้ามาระยะ พ.ศ. ๑๐๔๓-๑๐๙๓ ก็ทำให้อินเดียหวั่นไหวแตกเป็นอาณาจักรเล็กๆ น้อยๆ มากมาย แต่ว่าตอนนั้นอินเดียยังพอต้านศัตรูไว้ได้ เข้ามาไม่ได้ลึกมาก ผลที่สุดฮั่นก็ต้องออกไป แต่ว่าได้ทำลายพุทธศาสนาย่อยยับไปมากทีเดียว

อินเดียยังไม่สิ้นคนดี

พอต้านพวกฮั่นได้แล้ว พวกกษัตริย์ในอินเดียก็พยายามจะชิงอำนาจกันเอง จนกระทั่งมีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งรวบรวมแว่นแคว้นได้มากหน่อยชื่อ พระเจ้าหรรษวรรธนะ พระเจ้าหรรษวรรธนะเป็นกษัตริย์ชาวพุทธ แต่พุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองในยุคนั้น เป็นมหายานส่วนมากแล้ว เพราะฉะนั้น พระเจ้าหรรษวรรธนะที่ว่าเป็นชาวพุทธและได้อุปถัมภ์พุทธศาสนาอย่างยิ่งใหญ่ ก็กลายเป็นอุปถัมภ์พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๑๑๕๐-๑๑๙๐ เมืองหลวงตั้งอยู่ที่เมืองกระโนช เทียบปัจจุบันอยู่ระหว่างทางเมืองลักเนาไปเมืองอัครา

พระเจ้าหรรษวรรธนะได้ฟื้นฟูอินเดียขึ้นมา หลังจากยุคที่พวกฮั่นบุก เป็นพระเจ้าแผ่นดินพุทธก็ได้อุปถัมภ์พุทธศาสนามากและไม่เบียดเบียนศาสนาอื่นๆ แต่ตอนปลายรัชกาลก็ปรากฏว่าถูกปลงพระชนม์ อำมาตย์พวกฮินดูพวกพราหมณ์จัดการลอบปลงพระชนม์ ครั้งแรกไม่สำเร็จ พระเจ้าหรรษวรรธนะก็ใจดี เธอปลงพระชนม์ฉันไม่สำเร็จ มันเป็นยังไง ไม่พอใจอะไรก็ว่ากันดีๆ ก็ยกโทษให้ พอยกโทษให้พวกนี้ก็เลยสมคบกันใหม่ คราวที่ ๒ ปลงพระชนม์สำเร็จ พระเจ้าหรรษวรรธนะก็สิ้น พวกฮินดูจึงรุ่งเรืองขึ้นมาอีก

เหตุการณ์ผ่านมา อินเดียก็แตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยอีก แย่งชิงอำนาจกันมากมาย แต่ไม่มีใครที่มีอำนาจยิ่งใหญ่จริงๆ ในตอนนี้ก็มีราชวงศ์หนึ่งอยู่ทางตะวันออกแถวๆ แคว้นมคธที่พอจะรวบรวมแคว้นใหญ่ขึ้นมาคือ ราชวงศ์ปาละ เช่น พระเจ้าธรรมบาล ยุคนี้ตกในราว พ.ศ. ๑๓๐๐-๑๖๘๕ พูดง่ายๆ ตีเสียว่า ๑๓๐๐-๑๗๐๐ พระเจ้าแผ่นดินก็ครองราชย์ที่เมืองปาตลีบุตร และเป็นราชวงศ์พุทธ ได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา อุดหนุนมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทั้งแห่งเก่าที่นาลันทา และที่ตั้งใหม่ มีมหาวิทยาลัยโอทันตปุระ วิกรมศิลา เป็นต้น อีกหลายแห่ง พุทธศาสนาก็รุ่งเรืองมาได้อีก แม้ว่าจะเป็นพุทธศาสนาแบบกลายๆ คือ มหายานผสมฮินดู

ลืมเล่าไปนิดหนึ่ง ตอนยุคพระเจ้าหรรษวรรธนะ มีพระภิกษุที่มีชื่อเสียงมากรูปหนึ่ง เดินทางเข้าไปในประเทศอินเดีย แล้วเล่าเรื่องการเดินทางสืบพระศาสนาในอินเดียเอาไว้ด้วย คือ พระถังซำจั๋ง ในเรื่องไซอิ๋ว หลายท่านรู้จักดี พระถังซำจั๋งเดินทางเข้ามา ในสมัยพระเจ้าหรรษวรรธนะ ประมาณ พ.ศ. ๑๑๕๐-๑๑๙๐ แล้วก็เล่าเรื่องราวไว้มากมาย ขนเอาพระไตรปิฎกจากไซที หรือประเทศตะวันตกของจีนคืออินเดียนั่นเอง นำเอาพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์พระพุทธศาสนากลับไปเมืองเชียงอาน แล้วไปแปลออกเป็นภาษาจีน พระถังซำจั๋งเป็นปราชญ์แห่งราชวงศ์ถัง เป็นผู้มีชื่อเสียงมาก ทางประวัติศาสตร์เรียกหลวงจีนเหี้ยนจัง ท่านเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทาด้วย และได้เขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับนาลันทาไว้มากมาย

อาณาจักรก็อวสาน พุทธศาสนาก็อันตรธาน

เมื่อสิ้นสุดยุคพระเจ้าหรรษวรรธนะนั้น มาจนถึงราชวงศ์ปาละ เพราะเหตุที่อินเดียแตกแยกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยมากมาย ก็จึงชิงอำนาจกันเองเกิดความอ่อนแอ พอดีตอนนี้มุสลิมก็บุกเข้ามา มุสลิมบุกเข้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๐๐ เข้าทางตะวันตกเฉียงเหนือ ตีเข้ามาได้ทีละน้อยๆ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๑๗๐๐ ก็ตีได้ถึงแคว้นมคธ หรือแคว้นพิหารในปัจจุบัน ตอนที่มุสลิมเข้าตีมคธคราวนี้ ราชวงศ์ปาละสิ้นสุดไปแล้ว เพิ่งสิ้นสุดไปใหม่ๆ มีราชวงศ์ใหม่ชื่อ ราชวงศ์เสนะ ราชวงศ์เสนะก็ถูกมุสลิมทำลาย ทหารมุสลิมทำลายล้างเรียบ ไม่มีเหลือ ถ้าเป็นวัดก็เป็นอันว่าเผาหมด พระส่วนมากก็ถูกฆ่า หรือไม่ก็หนีไป

ตอนนั้นนักประวัติศาสตร์ของพวกมุสลิมเอง ก็เขียนเล่าไว้ด้วยความภูมิใจว่า เขาไปไหนเขาก็ได้ทรัพย์สมบัติมากมาย และเขาก็เอาดาบไปฆ่าผู้คน เมื่อปราบเสร็จแล้วเขาก็ให้เลือกเอาระหว่างดาบกับพระอัลเลาะห์ จะเอาอะไร ถ้าเอาอัลเลาะห์ก็อยู่ ถ้าไม่เอาอัลเลาะห์ก็ดาบ คือถูกฆ่า เพราะฉะนั้น ผลที่สุดพุทธศาสนาก็สูญสิ้นจากอินเดียตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๐๐ เป็นต้นมา นี่ก็คือประวัติศาสตร์พุทธศาสนาโดยย่อ

อินเดียแห่งความหลัง

อาตมภาพเล่าให้เห็นภาพคร่าวๆ โยมอาจจะยังเห็นไม่ชัดนัก แต่คงพอทราบว่าเป็นมาอย่างไร พุทธศาสนาในตอนหลังๆ แผ่ไปทั่วอินเดียหมดแล้ว พอถึงพระเจ้าอโศกก็แผ่ไปหมด พระเจ้าอโศกครองแผ่นดินที่กว้างขวางเป็นมหาอาณาจักร หลังพระเจ้าอโศกไม่นานก็เกิดถ้ำอย่าง อชันตา ขึ้นมา อชันตาก็เกิดระหว่าง พ.ศ. ๔๐๐-๑๒๐๐ เป็นถ้ำของพุทธศาสนาล้วนๆ เป็นถ้ำของฝ่ายเถรวาทอยู่ ๕ ถ้ำ นอกนั้นเป็นมหายาน และที่อีกภูเขาหนึ่งคือ เอลโลร่า หรือภาษาอินเดียเขาเรียกว่า เอลลูร่า ก็สร้างระหว่าง พ.ศ. ๑๑๐๐-๑๓๐๐ ยุคที่มีถ้ำพุทธศาสนาคือ ๑๑๐๐-๑๓๐๐ ยุคถ้ำฮินดูราว ๑๑๕๐-๑๔๕๐ ยุคถ้ำของเชนราว ๑๓๕๐-๑๕๕๐ หลังจากนั้นก็หมด คงถึงยุคหนีสงครามถูกมุสลิมบุก

ส่วนมหาวิทยาลัยนาลันทา ก็เป็นสถาบันการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ เริ่มขึ้นมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๘๕๐ รุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์คุปตะ จนกระทั่งพุทธศาสนาสิ้นสูญจากอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๑๗๐๐ ก็ถูกเผาราบเรียบไป รวมแล้วรุ่งเรืองอยู่นานเกือบ ๑,๐๐๐ ปี

เมื่อมุสลิมได้เข้ามาครอบครองประเทศอินเดียแล้วก็มีราชวงศ์มุสลิมหลายราชวงศ์เหมือนกัน แต่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ราชวงศ์โมกุล ซึ่งครองอำนาจกันมาตลอด พ.ศ. ๑๗๐๐-๒๒๕๐ พอถึงประมาณ พ.ศ. ๒๒๐๐ เศษ อังกฤษ พวกนักล่าอาณานิคมจากตะวันตก ก็เข้ามาแย่งชิงดินแดนในอินเดีย ผลที่สุดอังกฤษรบชนะกษัตริย์มุสลิม ครอบครองอินเดียตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๕๐ มาจนถึงอินเดียได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ตั้งแต่นั้นมาก็ถึงยุคอินเดียสมัยปัจจุบัน นี่เป็นประวัติศาสตร์อินเดียโดยย่อ

เป็นอันว่าพุทธศาสนาก็ได้สิ้นสูญไปแล้ว เหลือแต่ศาสนาอิสลามสู้กับฮินดูสืบมา แต่ทั้งหมดก็พ่ายแพ้แก่อังกฤษ แล้วท้ายที่สุดอังกฤษก็เลิกราไปอีกทีหนึ่ง เราได้เห็นความเป็นไปในประวัติศาสตร์ตลอดเวลาเป็นพันๆ ปี มีราชวงศ์เล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นมามากมาย แล้วก็แย่งชิงอำนาจกันล้มหายไป มีมหาอาณาจักรใหญ่ๆ เกิดขึ้นมา แล้วมหาอาณาจักรน้อยใหญ่เหล่านี้ ก็สิ้นสูญไปตามกาลเวลาบ้าง โดยการทำลายบ้าง มีอาณาจักรเล็กๆ เกิดขึ้นกระจายไป แล้วก็รวมกันได้อีก แล้วแตกสลายไปอีก หมุนเวียนเปลี่ยนไป เป็นคติธรรมดา ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอนิจจังนี้ ถ้าหากพิจารณาในแง่ของธรรมะคือ ไตรลักษณ์ ก็เป็นเรื่องที่ควรแก่การสังเวชใจด้วย

แดนพุทธที่ล่มร้าง

เป็นอันว่า ดินแดนทั้งหมดที่เราได้ไปดูมา ล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพุทธศาสนาทั้งนั้น เราจะเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม อย่างที่อาตมภาพได้บอกไว้ว่าส่วนนอกเหนือจากพุทธภูมิมาแล้ว คือเลยจากสาวัตถีออกมาเป็นถิ่นที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาหลังพุทธกาล อชันตา เอลโลร่าก็เกี่ยวชัด เดลีก็เกี่ยว เพราะที่นั่นเป็นเมืองอินทปัตถ์ อยู่ในแคว้นกุรุ พระพุทธเจ้าเคยแสดงมหาสติปัฏฐานสูตรที่นั้น แม้แต่ที่แคชเมียร์ หรือกัษมีระ ซึ่งเราไปที่เมืองศรีนคร ที่นั่นพุทธศาสนาก็เคยแพร่หลายอยู่ ประชาชนแถวนั้นก็เคยนับถือพุทธศาสนา แต่ปัจจุบันเป็นมุสลิมไปเกือบทั้งหมดแล้ว

พุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองที่นั่น เช่น เมืองสาคละของพระเจ้ามิลินท์ก็อยู่ห่างจากที่นั่นประมาณ ๒๐๐ กว่ากิโลเมตร หรือเมืองปุรุษปุระของพระเจ้ากนิษกะก็อยู่ห่างจากนั่น สัก ๓๐๐ กม. ดินแดนแถวๆ นั้น ล้วนเคยเป็นถิ่นของพระพุทธศาสนา จนกระทั่งถึงอัฟกานิสถาน และปากีสถานทั้งหมดก็เคยเป็นประเทศพุทธศาสนามาก่อน แต่ปัจจุบันนี้พุทธศาสนาแทบไม่มีเหลืออยู่เลย ที่กัษมีระเราได้เลยเข้าไปนิดหนึ่งในแดนหิมพานต์

หิมพานต์นั้น ก็เป็นดินแดนที่มีเรื่องราวในพุทธศาสนามาก เช่น เมื่อคราวที่พวกเจ้าศากยะ จะไปรบไปฆ่ากันระหว่างพี่น้อง ในสงครามใหญ่ระหว่าง โกลิยะ กับ ศากยะ เมื่อพระพุทธเจ้าไปห้ามทัพเสร็จ เจ้าชายที่จะไปรบก็เปลี่ยนเป็นบวช ก็ได้บวชกันจำนวนมากมาย พระพุทธเจ้าก็พาพระใหม่เหล่านั้น ไปเที่ยวแดนหิมพานต์กันพักใหญ่ เรื่องราวในชาดกก็เยอะแยะ ที่เกี่ยวกับเรื่องแดนหิมพานต์

ในคัมภีร์อรรถกถาท่านพูดถึงแดนหิมพานต์ไว้ว่า มีภูเขาเป็นเทือกใหญ่ๆ ทั้งหมด ๗ เทือก ล้อมภูเขาคันธมาทน์ มีเนื้อที่สามแสนโยชน์ มียอดทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ ยอด มีทะเลสาบใหญ่ที่ไม่เคยร้อนด้วยแสงแดดเลย ๗ ทะเลสาบ ปัจจุบันนี้ก็ขอให้ดูแผนที่เอาเองว่า หิมพานต์นั้นกว้างใหญ่ขนาดไหน อาตมภาพเองก็ยังไม่ได้ดูว่าเขาบอกไว้ว่ามีเนื้อที่กี่ล้านเอเคอร์ หรือกี่ล้านไร่ อันนี้เราไปมาแล้ว โยมก็พูดได้ว่าได้เข้าไปในดินแดนหิมพานต์แล้วนิดหน่อย

เหตุให้พุทธศาสนาสูญสิ้นจากอินเดีย

ข้อที่ควรจะกล่าวในที่นี้สักหน่อย เป็นคติในทางธรรม ก็คือ เรื่องพระพุทธศาสนาสูญสิ้นไปจากอินเดีย ควรกล่าวถึง เหตุทั้งหลายที่ให้พุทธศาสนาต้องสูญสิ้นไปจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชัดเจนเมื่อ พ.ศ. ๑๗๐๐

๑. เหตุอันแรกที่เราเห็นได้ พูดง่ายๆ ว่า ชาวพุทธเราใจกว้าง แต่ศาสนาอื่นเขาไม่ใจกว้างด้วย นี่ก็เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาสูญสิ้นไป เพราะว่าเมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นนั้น ก็สอนแต่เพียงหลักธรรมเป็นกลางๆ ให้คนประพฤติดี ทำความดี จะนับถือหรือไม่นับถือก็ไม่ได้ว่าอะไร ถ้าเป็นคนดีแล้วก็ไปสู่คติที่ดีหมด ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นชาวพุทธจึงจะไปสวรรค์ได้ หรือว่าชาวพุทธที่มานับถือแล้วทำตัวไม่ดีก็ไปนรกเหมือนกัน อะไรทำนองนี้

เมื่อชาวพุทธได้เป็นใหญ่ เช่น อย่างพระเจ้าอโศกมหาราช ครองแผ่นดินก็อุปถัมภ์ทุกศาสนาเหมือนกันหมด แต่ผู้ที่ได้รับอุปถัมภ์เขาไม่ได้ใจกว้างตามด้วย เพราะฉะนั้นพวกอำมาตย์พราหมณ์ของราชวงศ์อโศกเอง ก็เป็นผู้กำจัดราชวงศ์อโศก จะเห็นว่าอำมาตย์ที่ชื่อ ปุษยมิตร ก็ได้ปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดิน ที่เป็นหลานของพระเจ้าอโศก แล้วตั้งราชวงศ์ใหม่ที่กำจัดชาวพุทธ อย่างที่เล่าเมื่อกี้ แต่ก็กำจัดไม่เสร็จสิ้น มีมาเรื่อย จนกระทั่งถึงพระเจ้าหรรษวรรธนะครองราชย์ อำมาตย์ที่เป็นฮินดูก็กำจัดพระองค์เสียอีก ก็เป็นมาอย่างนี้ จนในที่สุดมุสลิมก็เข้ามาบุกกำจัดเรียบไปเลยเมื่อ พ.ศ. ๑๗๐๐ นี้ก็เป็นเหตุอันหนึ่งที่เห็นได้ง่าย

ยังมีเหตุอื่นอีก ชาวพุทธเองก็เป็นเหตุด้วย อย่าไปว่าแต่คนอื่นเขา

ใจกว้างจนลืมหลัก เสียหลักจนถูกกลืน

ในด้านหนึ่ง ความใจกว้างของชาวพุทธนั้น บางทีก็กว้างเลยเถิดไป จนกลายเป็นใจกว้างลืมหลักหรือใจกว้างอย่างไม่มีหลัก ไม่ยืนหลักของตัวไว้ กว้างไปกว้างมาเลยกลายเป็นกลมกลืนกับเขา จนศาสนาของตัวเองหายไปเลย ที่หายไปให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ ไปกลมกลืนกับศาสนาฮินดู ตอนที่มุสลิมยังไม่เข้ามา ศาสนาพุทธเราก็อ่อนมากแล้วเพราะไปกลมกลืนกับศาสนาฮินดูมาก ปล่อยให้ความเชื่อถือของฮินดูเข้ามาปะปน

อย่างในถ้ำอชันตานั้น เป็นที่แสดงประวัติพุทธศาสนาได้อย่างดี จะเห็นได้ตั้งแต่เจริญจนถึงเสื่อม ตอนต้นจะเห็นว่าเดิมก็บริสุทธิ์ดีเป็นพุทธศาสนาเถรวาท ต่อมาก็กลายเป็นมหายาน มีคติความเชื่อของทางฮินดูเข้ามาปะปนมากขึ้น ผลที่สุดพุทธหมด จะเห็นได้ที่เอลโลร่า ผลที่สุดเหลือแต่ถ้ำฮินดู ถ้ำพุทธถูกกลืนหมด เพราะฉะนั้นก็เป็นคติสอนใจอันหนึ่งที่ว่าใจกว้างจนลืมหลัก ไม่ยืนรักษาหลักของตัวเองไว้ กลมกลืนจนกระทั่งตัวเองสูญหายไป

ในความใจกว้างและกลมกลืนนั้น มีเรื่องหนึ่งที่น่าจะกล่าวไว้คือ ลักษณะการกลมกลืนกับศาสนาฮินดู ศาสนาฮินดูนั้นมีลักษณะสำคัญคือ การเชื่อเรื่องฤทธิ์ เรื่องปาฏิหาริย์ เรื่องการดลบันดาลของเทพเจ้า ตอนที่คณะเดินทางโยมจะได้ยิน ท่านพระครูทวีเล่าถึงนิทานของฮินดูมากมาย มีแต่เรื่องเทพเจ้าองค์นั้นมีฤทธิ์อย่างนั้น ดลบันดาลอย่างนั้น สาปกันอย่างนั้น เอาฤทธิ์มาใช้ทำลายกันต่างๆ โดยมากเป็นเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ พุทธศาสนาในยุคหลังก็ทำให้คนไปหวังพึ่งเรื่องฤทธิ์ เรื่องเทพเจ้าอะไรต่ออะไรมากขึ้น จนลืมหลักของตัวเอง

คลาดหลักกรรม ไปคลำหาฤทธิ์

๒. ในทางพุทธศาสนานั้นจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าก็มีฤทธิ์เหมือนกัน เป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งในบรรดาปาฏิหาริย์ ๓ แต่ต้องยืนหลักไว้เสมอว่า ปาฏิหาริย์ที่สำคัญที่สุด คือ อนุศาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ที่เป็นหลักคำสอน ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ที่เป็นการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ในทางพุทธศาสนาให้ถือการกระทำของเราเป็นหลัก ส่วนฤทธิ์หรือเทพเจ้านั้นจะมาเป็นตัวประกอบหรือช่วยเสริมการกระทำของเรา จะต้องเอาการกระทำของตัวเองเป็นหลักเสียก่อน ถ้าหากว่าเราไม่เอาการกระทำหรือกรรมเป็นหลัก เราก็จะไปหวังพึ่งการดลบันดาลของเทพเจ้า หวังพึ่งฤทธิ์ของผู้อื่นมาทำให้ไม่ต้องกระทำด้วยตนเอง ก็งอมืองอเท้า มันก็มีแต่ความเสื่อมไป

จุดที่เสื่อมก็คือตอนที่ ชาวพุทธลืมหลักกรรม ไม่เอาการกระทำของตัวเองเป็นหลัก ไปหวังพึ่งเทพเจ้า ไปหวังพึ่งฤทธิ์ พึ่งปาฏิหาริย์ ตราบใดที่เรายืนหลักได้ คือเอากรรม เอาการกระทำเป็นหลัก แล้วถ้าจะไปนับถือฤทธิ์ปาฏิหาริย์บ้าง ฤทธิ์ปาฏิหาริย์นั้นก็มาประกอบมาเสริมการกระทำก็ยังพอยอม แต่ถ้าใครใจแข็งพอก็ไม่ต้องพึ่งฤทธิ์ ไม่ต้องพึ่งปาฏิหาริย์อะไรทั้งสิ้น เพราะพุทธศาสนานั้นถ้าเราเอากรรมหรือการกระทำเป็นหลักแล้ว ก็จะยืนหยัดอยู่ได้เสมอ ยกตัวอย่างเรื่อง อนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเป็นชาวพุทธในสมัยพุทธกาล

อนาถบิณฑิกเศรษฐี นั้น ที่บ้านหรือที่ปราสาทของท่าน ก็มีเทวดามาอยู่ เทวดานี้มีความลำบากมาก เพราะพระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์เสด็จมาที่บ้าน ของท่านเศรษฐีบ่อยๆ ด้วยความเคารพพระสงฆ์เทวดาก็ต้องฝืนใจลงมาจากซุ้มประตูบ้าน ลงมาข้างล่าง เขาจึงมีความรู้สึกเดือดร้อนรำคาญใจ ก็เลยมายุแหย่อนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า ท่านก็จนลงทุกวัน เพราะถวายทานแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ อย่าเลย อย่าทำลายทรัพย์สมบัติเลย เลิกนับถือพระพุทธเจ้าเถอะ เลิกถวายทาน เทวดานี้มาสอนให้ทำไม่ดี เทวดาก็มีทั้งเทวดาดีและเทวดาไม่ดี

ทีนี้ อนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้นเป็นผู้มั่นในพระรัตนตรัยแล้ว มั่นในคุณธรรม ไม่เอาด้วย บอกเทวดาว่า ท่านเป็นใครกัน เรื่องอะไรมาชวนข้าพเจ้าในเรื่องไม่เข้าท่าเข้าทาง เทวดาก็บอกว่าข้าพเจ้าอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านท่านนี่แหละ มีความหวังดีต่อท่าน อยากให้ท่านร่ำรวย ไม่ยากจนเพราะการสละทรัพย์สมบัติ เศรษฐีก็บอกว่า ต่อแต่นี้ไปท่านอย่าอยู่ที่นี่เลยนะ ไปอยู่ที่อื่นดีกว่า อยู่ที่นี่คงไม่ดีเพราะความเห็นไม่ตรงกัน ท่านไม่ตั้งอยู่ในธรรม มาชักชวนในทางไม่ถูกต้อง

เทวดาแสนเก่ง ก็ต้องเกรงมนุษย์ที่มีธรรม

เทวดาก็เดือดร้อนเพราะเจ้าของบ้านไล่ เลยต้องไปหาเทวดาผู้ใหญ่ให้มาอ้อนวอนอนาถบิณฑิกเศรษฐี เที่ยวได้ไปหาเทพเจ้าใหญ่ๆ จนถึงพระอินทร์ ให้มาช่วยอ้อนวอนเศรษฐีขอให้อนุญาตให้กลับเข้าบ้านได้ตามเดิม ผลที่สุดพระอินทร์ก็บอกว่า พระอินทร์เองก็ช่วยไม่ได้ มันอยู่ที่ตัวเศรษฐีเขาจะยอมไม่ยอม แต่เอาละลองหาอุบายไปให้เขายอมดูซิ พระอินทร์ก็ได้แต่แนะนำอุบายให้ บอกว่านี่ลองไปหาดูซิที่ไหนมีขุมทรัพย์ดีๆ ไปบอกเศรษฐี

เทวดาไปเจอขุมทรัพย์แห่งหนึ่ง ก็เลยเอามาบอกเศรษฐีว่า ท่านเศรษฐีครับ ที่นั่นมีขุมทรัพย์ใหญ่อยู่ ท่านมีทางที่จะได้ทรัพย์สมบัติมาทำบุญอีกเยอะ เศรษฐีบอกว่า เทวดาแนะนำอย่างนี้ พอใช้ได้ ก็เลยอนุญาตให้อยู่บ้านได้ต่อไป หมายความว่า เทวดากับมนุษย์นั้นอยู่ในระดับใกล้กัน ใครจะต้องยอมใคร ก็อยู่ที่ว่าใครมีคุณธรรมสูงกว่า ถ้าใครมั่นในคุณธรรมมากกว่า อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องยอม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้คนเรามั่นใจในกรรม มั่นใจในการกระทำความดีของตนเอง แล้วเทวดาก็ต้องยอมเรา

มีเรื่องในชาดกว่า เทวดาทำนายแล้วมนุษย์ก็ยังฝืนได้ แม้แต่พระอินทร์ทำนาย โดยฤๅษีเป็นสื่อให้บอกพระเจ้าแผ่นดิน ๒ ฝ่ายที่จะรบกัน ฝ่ายนี้จะชนะ ฝ่ายนั้นจะแพ้ ฝ่ายที่ได้รับคำทำนายจากพระอินทร์ว่าจะชนะ ก็ประมาทมัวเมา สนุกสนาน ฝ่ายที่ได้รับคำทำนายว่าแพ้ เกิดหัวหน้าคือมหากษัตริย์เป็นคนไม่ประมาท มีจิตใจเข้มแข็งเตรียมการต่อสู้เต็มที่ เหตุการณ์ก็กลายเป็นว่าฝ่ายที่ได้รับคำทำนายว่าแพ้กลับเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายที่ว่าจะชนะกลับเป็นฝ่ายแพ้ อย่างนี้ก็มี ฝ่ายที่แพ้ก็ไปด่าพระฤๅษีบอกว่า ฤๅษีโกหก ฤๅษีก็น้อยใจไปต่อว่าพระอินทร์ว่า ทำไมท่านแกล้งข้าพเจ้า พระอินทร์บอกว่าไม่ได้แกล้ง แล้วก็กล่าวคติออกมาว่า "ความเพียรพยายามของมนุษย์นั้น เทวดาก็เกียดกันไม่ได้"

เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาถือการกระทำหรือกรรมเป็นสำคัญ เทวดาจะต้องมาเสริมมาช่วยการกระทำที่ดีของเรา ฤทธิ์จะต้องมาประกอบการกระทำ เอาการกระทำ เอาความเพียรพยายามหรือเอาการกระทำที่ดีเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าละเลยการกระทำ ปล่อยทิ้งกรรม แล้วไปมัวหวังพึ่งอำนาจพึ่งฤทธิ์ รอการดลบันดาลของเทพเจ้าต่างๆ ถ้าเสียหลักนี้เมื่อไร พุทธศาสนาก็เสื่อม นี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า เมื่อจับหลักของตัวไม่ถูก เสียหลักแล้ว ก็กลายเป็นการกลมกลืนกับฮินดู กลมกลืนไปมาผลที่สุดตัวเองก็หายไปหมดเลย กลายเป็นเชื่อเทวดาโน่นนี่มาดลบันดาลต่างๆ โดยไม่ต้องทำ ไม่ต้องเพียรพยายาม

เฉยมิใช่ไร้กิเลส แต่เป็นเหตุให้พระศาสนาสิ้น

๓. อีกอย่างหนึ่งที่ควรระวัง คือ พอมีภัยหรือเรื่องกระทบกระเทือนส่วนรวม ชาวพุทธไม่น้อยมีลักษณะที่วางเฉย ไม่เอาเรื่อง แล้วเห็นลักษณะนี้เป็นดีไป เห็นว่าใครไม่เอาเรื่องเอาราว มีอะไรเกิดขึ้นก็เฉยๆ ไม่เอาเรื่องกลายเป็นดี ไม่มีกิเลส เห็นอย่างนี้ไปก็มี ในทางตรงข้ามถ้าไปยุ่งก็แสดงว่ามีกิเลส อันนี้อาจจะพลาดจากคติพุทธศาสนาไปเสียแล้ว และจะกลายเป็นเหยื่อเขา ในทางพุทธศาสนานั้น ผู้ไม่มีกิเลส ท่านยุ่งกับเรื่องที่กระทบกระเทือนกิจการส่วนรวม แต่การยุ่งของท่านมีลักษณะที่ไม่เป็นไปด้วยกิเลส คือ ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทำเป็นคติไว้แล้ว ตั้งแต่สมัยพุทธกาล

อาตมภาพขอยกตัวอย่าง เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่เอง สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไล่พระภิกษุกลุ่มหนึ่งที่ทำเสียงอึกทึก แล้วได้ปรารภกับพระสารีบุตร และพระโมคคัลลาน์ว่า นี่แน่ะสารีบุตรและโมคคัลลาน์ เธอเห็นอย่างไร เมื่อเราไล่พระสงฆ์กลุ่มนั้น พระสารีบุตรก็กราบทูลว่า ต่อไปนี้พระองค์จะเป็นผู้ขวนขวายน้อย นี่เป็นศัพท์ทางพระ หมายความว่า จะทรงเลิกยุ่งเกี่ยวกับกิจการส่วนรวม การปกครองคณะสงฆ์จะไม่เอาแล้ววางมือเสียที ถ้าพระองค์จักเป็นผู้ขวนขวายน้อย ข้าพระองค์ทั้งสองสารีบุตรและโมคคัลลาน์ก็จักเป็นผู้ขวนขวายน้อยด้วย พระพุทธเจ้าก็ตรัสห้ามไม่ให้คิดอย่างนั้น แล้วก็ตรัสถามพระโมคคัลลาน์ต่อไปว่า เธอ . . . โมคคัลลาน์จะเห็นอย่างไร พระโมคคัลลาน์ก็ได้กราบทูลว่า ถ้าพระองค์ผู้เป็นธรรมสามี หมายความว่าเป็นเจ้าของธรรม เป็นหัวหน้าผู้ประดิษฐานธรรมะ เป็นประมุขของพระศาสนาจะมีความขวนขวายน้อย วางมือจากการปกครองคณะสงฆ์แล้ว ไม่เอาธุระแล้ว ข้าพระองค์ทั้งสองโมคคัลลาน์และสารีบุตร จะทำหน้าที่นั้นต่อไป พระพุทธเจ้าก็อนุโมทนาว่า ดีแล้ว . . . โมคคัลลาน์ ควรจะเป็นเช่นนั้น2 นี่ก็เป็นคติให้เห็น พระอรหันต์ เป็นตัวอย่างของผู้ที่จะต้องเอาใจใส่กิจการของส่วนรวม ไม่ใช่ไม่ยุ่งไม่เกี่ยว

ยิ่งกิเลสสิ้นไป ยิ่งได้งานเต็มที่
หมดกิเลสอยู่ป่า ทำงานพระศาสนาไม่หยุด

มีคติรายอื่นเป็นตัวอย่างต่อมาอีกเรื่อยๆ เช่น พระมหากัสสปะ แม้จะเป็นพระอรหันต์ฝ่ายป่า ท่านอยู่ป่าเรื่อย ออกไปธุดงค์ เป็นเอตทัคคะทางธุดงค์ ดูคล้ายๆ กับไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร แต่ที่จริงถ้าเป็นกิจการส่วนรวม ท่านต้องยุ่งต้องเอาใจใส่ เราจะเห็นว่า เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสสปะเป็นผู้นำเลยทีเดียว ในการทำสังคายนา โดยที่ท่านได้ปรารภว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว มีผู้กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย คือพระสุภัททวุฑฒบรรพชิต จึงจะต้องรีบทำสังคายนาวางหลักการไว้ให้แน่นอน ไม่ให้คนที่คิดร้ายได้ช่องที่จะประพฤติไขว้เขวออกไป

และถ้าสืบต่อไปอีก การทำสังคายนานี้ ใครเป็นผู้เคยริเริ่มไว้ก่อน ก็คือพระสารีบุตร พระสารีบุตรนั้นเคยทำสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยซ้ำ ทำไว้ตอนที่นิครนถนาฏบุตรสิ้นชีพ ตอนนั้นสาวกของนิครนถ์แตกกัน พระสารีบุตรก็ปรารภว่า เห็นไหมสาวกในบางศาสนา พอศาสดาสิ้น เขาก็แตกกันไม่มีหลักมีเกณฑ์ เพราะฉะนั้น เราควรจะทำสังคายนาพระธรรมวินัยไว้เป็นหลักเป็นฐาน เป็นแบบแผนอันเดียวกัน จะได้ยึดถือปฏิบัติต่อไป ก็จึงได้ทำสังคายนาเป็นตัวอย่างไว้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เรียกว่า สังคีติสูตร3

ส่วนพระมหากัสสปะเป็นพระป่า พอพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็เป็นหัวหน้าจัดประชุมทำสังคายนาเป็นครั้งแรก เป็นคติแก่พระอรหันต์สมัยต่อๆ มาที่จะต้องยุ่งเกี่ยวกับกิจการส่วนรวม เช่น พระอุปคุตตเถระ ท่านไปจำพรรษาบำเพ็ญฌานอยู่ในที่ไกลผู้คน ตอนนั้นพระศาสนามีงานสำคัญ มีการประชุมครั้งใหญ่ของพระเจ้าอโศก ต้องการความพร้อมเพรียงของผู้ที่จะทำกิจการส่วนรวม พระอรหันต์ทั้งหลายก็ประชุมกัน พิจารณาว่ามีพระอรหันต์อุปคุตนี้ไปทำสมาธิบำเพ็ญฌาน ปลีกตัวเงียบอยู่ ก็มีมติลงโทษเลย มติที่ประชุมให้ลงโทษเรียกว่าทำทัณฑกรรมแก่พระอรหันต์อุปคุต ให้มารับหน้าที่ในการปกป้องดูแลกิจการสมโภชมหาวิหารของพระเจ้าอโศก

หรืออย่างตอนที่ พระเจ้ามิลินท์ กำลังเบียดเบียนพุทธศาสนาและทุกศาสนา ด้วยการท้าโต้วาทีทั่วไปหมด ใครๆ ก็แพ้ไปหมดสิ้น พุทธศาสนาก็จะแย่ เพราะไม่มีปราชญ์ไปสู้พระเจ้ามิลินท์ พระผู้ใหญ่ทั้งหลายก็มาประชุมกันหาทางแก้ไขว่า จะต้องหาคนดีมีปัญญามาสู้พระเจ้ามิลินท์ เวลานั้นมีพระอรหันต์องค์หนึ่งไปอยู่ในป่า ไม่มาร่วมในที่ประชุม ที่ประชุมก็ลงโทษพระอรหันต์องค์นั้นเลย ทำทัณฑกรรม ให้พระอรหันต์องค์นี้มารับมอบหน้าที่จากที่ประชุม โดยที่ประชุมร่วมกันหา และกำหนดตัวบุคคลที่จะเอามาสู้พระยามิลินท์ แล้วให้พระอรหันต์องค์นี้คอยเป็นอาจารย์ให้การศึกษาเตรียมพร้อม เพื่อจะได้มาสู้กับพระเจ้ามิลินท์ ก็เลยได้ พระนาคเสน มา

นี่เป็นตัวอย่าง คือกิจการส่วนรวมเป็นเรื่องที่จะต้องร่วมกันพิจารณาเอาใจใส่ นี้เป็นคติทางพุทธศาสนา แต่ในบางยุคบางสมัย เราไปถือว่าไม่เอาธุระ จะมีเรื่องราวกระทบกระเทือน มีภัยเกิดกับส่วนรวมก็ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวอะไรต่างๆ แล้วเห็นเป็นว่าไม่มีกิเลสไปก็มี อย่างนี้เป็นทางหนึ่งของความเสื่อมในพระพุทธศาสนา

โจรเข้ามาปล้นศาสน์ เลยยกวัดให้แก่โจร

๔. อีกอย่างหนึ่ง คือ การฝากศาสนาไว้กับพระ ชาวพุทธจำนวนมากทีเดียว ชอบฝากศาสนาไว้กับพระอย่างเดียว แทนที่จะถือตามคติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระศาสนานั้นอยู่ด้วยบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่ใช่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่จะต้องช่วยกัน

ทีนี้ พวกเรามักจะมองว่าพระศาสนาเป็นเรื่องของพระ บางทีเมื่อมีพระประพฤติไม่ดี ชาวบ้านบางคนบอกว่าไม่อยากนับถือแล้วพุทธศาสนา อย่างนี้ก็มี แทนที่จะเห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นของเรา พระองค์นี้ประพฤติไม่ดี เราต้องช่วยกันแก้ ต้องเอาออกไป แทนที่จะคิดอย่างนั้น กลับกลายเป็นว่าเรายกศาสนาให้พระองค์นั้น เหมือนโจรผู้ร้ายเข้ามาปล้นบ้านของเรา แทนที่จะรักษาทรัพย์สมบัติของเรา กลับยกสมบัตินั้นให้โจรไปเสีย พระองค์ที่ไม่ดีก็เลยดีใจกลายเป็นเจ้าของศาสนา เรายกให้แล้ว บอกไม่เอาแล้วศาสนานี้ เป็นอย่างนี้ก็มี นี่เป็นทัศนคติที่ผิด ชาวพุทธเราทั่วไปไม่น้อยมีความคิดแบบนี้ ทำเหมือนกับว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของพระ เราก็ไม่ต้องรู้ด้วย

พุทธแต่ในนาม ไม่ต้องทำอะไรก็เป็นพุทธ

ยิ่งกว่านั้น ชาวพุทธมักไม่มีข้อปฏิบัติประจำตัว ของตัวเองอย่างในศาสนาอื่น ยกตัวอย่างชาวมุสลิม เขาต้องมีละหมาดวันละ ๕ ครั้ง เป็นข้อปฏิบัติที่แสดงว่าเป็นศาสนิกของศาสนานั้นๆ แต่ชาวพุทธคฤหัสถ์ของเราไม่ค่อยมีข้อปฏิบัติของตัวเองที่ชัดออกมาว่า ถ้าเป็นชาวพุทธจะต้องปฏิบัติตัว ต้องรักษาข้อปฏิบัติอะไรบ้าง ดังนั้น เมื่อไม่มีพระเป็นหลัก ศาสนาก็หมด ตอนนั้นมุสลิมมาฆ่าพระหมด ชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ไม่มีหลัก เลยถูกฮินดูกลืนหมด เพราะฉะนั้น ที่ว่าสูญสิ้นนั้น คือ หนึ่ง ถูกเขาปราบทำลาย สอง ถูกเขากลืนไปง่ายๆ นี่เป็นเพราะฝากศาสนาไว้กับพระอย่างเดียว นี่เป็นอีกข้อหนึ่ง

ความเป็นพุทธ กับความเป็นชาวอินเดีย
หนึ่งเดียวหรือแยกเป็นสอง

นอกจากนี้ก็มีเบ็ดเตล็ดอีกหลายอย่าง เช่นที่เขาบอกว่าทางอินเดียอาจจะถือว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนต่างชาติ เขาเลยพยายามกำจัดอยู่เรื่อย พระพุทธเจ้าก็มีนักปราชญ์สันนิษฐานว่าเป็นเชื้อชาติมงโกล คือแบบพวกเรานี้ ไม่ใช่เชื้อชาติอินเดียอย่างนั้น เพราะเกิดในถิ่นที่ปัจจุบันเรียกว่าเนปาล คนเนปาลก็รูปร่างหน้าตาเหมือนคนไทย เป็นมงโกลเหมือนกัน4 พวกอินเดียเลยไม่ชอบ

พระเจ้าอโศกเองก็เป็นเชื้อชาติมงโกล ไม่ใช่เชื้อชาติอินเดีย อินเดียเลยไม่ชอบ เพราะฉะนั้นพระเจ้าอโศก แม้จะยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ถ้าฝรั่งไม่มาขุดค้นโบราณสถานแสดงหลักฐานให้ปรากฏแล้ว อินเดียไม่รู้จักเลย เขาลืมกันหมดเรียบร้อยแล้ว จนกระทั่งฝรั่งมาขุดค้นโบราณวัตถุเจอ พระเจ้าอโศกจึงปรากฏเกียรติยศขึ้นมาว่า เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่

หรืออย่างพระเจ้ากนิษกะมหาราช ก็เป็นมงโกลอีก ไม่ใช่ชาวอินเดียแท้ มหาอำมาตย์ที่ปรึกษาของราชวงศ์คุปตะ ส่วนมากเป็นพุทธ ราชวงศ์คุปตะเลือกชาวพุทธ เพราะเป็นผู้มีความรู้ดี และมหาอำมาตย์พวกนั้นเป็นต่างชาติทั้งนั้น ไม่ใช่ชาวอินเดีย อาจจะเป็นได้ว่า กษัตริย์ฮินดู หรือชาวอินเดียพยายามที่จะตัดรอนพุทธศาสนา เพราะถือว่าไม่ใช่ของชาวอินเดียแท้จริง

กลืนกับฮินดู แต่ไกลกับมวลชน

อีกข้อหนึ่ง ที่โน้มไปในทางที่ทำให้เกิดการกลมกลืนได้ง่ายก็คือ ตอนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่แล้ว และราชวงศ์ฮินดูขึ้นครองราชย์ มีอำนาจเข้มแข็ง เป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา ชาวพุทธก็ใจอ่อนเพราะความใจกว้างอยู่แล้ว ก็เอาใจผู้ปกครอง มักจะผ่อนปรนประนีประนอมจนเสียหลักของตัว เช่นว่า อย่างนี้ก็ได้ อย่างนั้นก็ได้ ยังไงก็ได้ ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นหายไปเลย กลมกลืนกันไปหมด แต่ไปรวมอยู่ข้างในศาสนาฮินดู พระพุทธเจ้ากลายเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์

อีกข้อหนึ่งก็คือพระ พอได้รับการอุปถัมภ์มาก มีความสุขสบาย บางส่วนก็มีความประพฤติย่อหย่อน และอาจจะเหินห่างจากประชาชนทั่วๆ ไป เพราะว่าได้รับความอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ เป็นต้น อย่างที่มหาวิทยาลัยนาลันทาที่ว่ารุ่งเรืองนั้น มีความเสื่อมอยู่ด้วยในตัว พระเจ้าแผ่นดินยกหมู่บ้านที่อยู่รอบบริเวณนั้น เก็บภาษีถวายบำรุงมหาวิทยาลัยนาลันทา พระสงฆ์ก็เลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชน อาศัยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าแผ่นดินอยู่สบาย เรียนหนังสือไปเป็นนักปรัชญาอะไรต่ออะไร ถกเถียงกันไป ห่างประชาชน นานๆ เข้า พุทธศาสนาก็หมดความหมายไปจากประชาชน

ศาสนสถานโอฬารหรู
เครื่องเชิดชูหรือศัตรูของพระศาสนา

ต่อจากนั้น ก็มาถึงคติการก่อสร้างสิ่งใหญ่โต ให้สังเกตว่า เมื่อมีการสร้างสิ่งใหญ่โตมากๆ ไม่ช้าศาสนามักจะค่อยๆ เสื่อม บางทีพระอาจจะมัววุ่นวายหรือเพลิดเพลินกับงานพวกนี้ จนลืมทำหน้าที่หลักของตัวเอง ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารายละเอียดว่าเป็นเพราะอะไร แต่อย่างน้อยข้อพิจารณาสำคัญ คือจะต้องแยกว่าเป็นการก่อสร้างเพื่อใช้งานที่ยิ่งใหญ่ หรือเป็นการสร้างเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่

แต่จะอย่างไรก็ตาม ในการสร้างสิ่งใหญ่โตจะต้องคำนึงถึงเสมอว่า จะต้องมีคนไว้ใช้สิ่งก่อสร้างนั้น เอาไว้รักษาบ้าง เอาไว้ใช้ให้เป็นประโยชน์บ้าง เพราะสร้างขึ้นมาทำไม ถ้าไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ทีนี้คนที่จะใช้ก็ต้องเป็นคนที่มีธรรม เป็นผู้ปฏิบัติตามธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตก็ต้องสร้างคนไปด้วย สร้างคนดีที่จะมาใช้มารักษาสิ่งที่สร้างนั้น

การลืมสร้างคนนี้อาจเป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงไป เพราะฉะนั้นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตนั้น เมื่อเหลือหลงมาก็กลายเป็นเหยื่อของผู้อื่นต่อไป หนึ่ง ก็กลายเป็นสิ่งที่มีค่าที่เขาอยากครอบครอง สอง เขาก็เอาไปใช้ในศาสนาของเขา ถ้าไม่ใช้ เขาก็เอามาลบหลู่ให้เป็นที่กระทบกระเทือนใจแก่พวกเรา อย่างที่ได้ไปเห็นกันหลายๆ แห่ง

ปลงได้ ใจใสสงบ ไม่ต้องหลบไปไหน
ยิ่งขวนขวายแก้ปัญหา และพัฒนาสร้างสรรค์

รวมความทั้งหมดนี้ เมื่อพระพุทธศาสนาสูญสิ้นไปก็ดี ถาวรวัตถุสูญสิ้นไปก็ดี มหาอาณาจักรน้อยใหญ่สูญสิ้นทำลายไปก็ดี ก็ได้คติธรรมตามหลักอนิจจัง ที่เป็นไตรลักษณ์ หลักอนิจจังนั้นให้คติ ๒ อย่างในทางธรรม

คติที่ ๑ ก็คือว่า ทำให้เราปลงธรรมสังเวช การปลงธรรมสังเวช ก็คือเป็นเรื่องกระตุ้นเตือนภายในใจของเราให้เห็นคติธรรมดาของสังขารที่มีการเกิดขึ้น มีความตั้งอยู่ เสื่อมสลาย และสิ้นสูญไป ถ้าเรารู้เข้าใจคติธรรมดาอย่างนี้แล้ว ใจเราก็จะได้ไม่เศร้าโศกเสียใจ มีใจผ่องใสเบิกบานอยู่ได้ เราไปเห็นสถานที่ทางพุทธศาสนาที่เคยรุ่งเรืองอยู่นานถึง ๑๗๐๐ ปี ยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่ทำไมเดี๋ยวนี้สูญสิ้นไปเหลือแต่ซาก

บางแห่งซากก็ไม่มีเหลือ อย่างวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ซากก็หาไม่ได้ วัดบุพพารามที่นางวิสาขาสร้างขึ้น ก็ถูกแม่น้ำอจิรวดีพัดพาไปหมด ไม่มีเหลือเลย แม้แต่ซาก ถ้าใจของเราไม่รู้เท่าทันไตรลักษณ์ เราก็อาจจะเศร้าโศกมัวหมองก็ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ธรรมดาของสังขารอย่างนี้แล้ว ถึงจะมองเห็นความเกิดขึ้นเสื่อมสูญไป ใจเราก็ผ่องใสเบิกบานอยู่ได้เป็นอิสระ อันนี้ก็เป็นการปรับใจภายใน ทำใจได้ดี นี้เป็นประการที่หนึ่ง

ต่อไปคติที่ ๒ ก็คือเป็นเครื่องเตือนใจ เป็นบทเรียนให้ไม่ประมาท เพราะสิ่งอย่างนี้หรือความเสื่อมความสูญสิ้นนั้น ไม่ควรให้เกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก และไม่ควรให้เกิดขึ้นโดยง่าย คือไม่ควรปล่อยหรือไม่ควรยอมให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เกิดขึ้นมาในอดีตแล้วเป็นเหตุแห่งความเสื่อม สิ่งนั้นเราควรหลีกเลี่ยง สิ่งใดเป็นเหตุแห่งความเจริญ เราก็ช่วยกันสร้างสรรค์ต่อไป นี่เป็นคติของความไม่ประมาท

พระพุทธเจ้าเมื่อสอนมักสอนทั้ง ๒ อย่างนี้ คือ สอนข้อที่หนึ่งเพื่อให้ใจของเราเป็นอิสระอยู่ได้ ผ่องใสเบิกบานไม่เศร้าโศก และก็สอนข้อที่สองเพื่อให้บทเรียนที่จะทำให้เกิดความไม่ประมาท โดยแสดงออกมาเป็นการกระทำที่จะปรับปรุงภายนอกให้มันดี ให้มันเจริญงอกงามต่อไปด้วย

บางทีเราได้อันเดียว พวกหนึ่งได้แต่ปรับใจภายใน ทำใจไม่ให้เศร้าโศก แล้วก็ไม่ปรับปรุงข้างนอก เกิดความประมาทก็ปล่อยปละละเลย ก็เสื่อมอีกๆ มีแต่เสื่อมเรื่อยไปจนสูญหมด ส่วนอีกบางพวกก็เอาแต่ไม่ประมาทจะต้องแก้ไขปรับปรุง โดยที่ในใจก็อาจจะเร่าร้อนเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น ต้องให้ได้ทั้ง ๒ อย่าง

เมื่อชาวพุทธปฏิบัติธรรมไม่ครบ พุทธศาสนาเองก็จะเสื่อม ดังนั้น หนึ่ง ใจต้องเป็นอิสระ ผ่องใสเบิกบานเสมอ สอง ต้องได้ความไม่ประมาทที่จะกระทำการเพื่อหลีกเลี่ยงความเสื่อม และสร้างความดีงามความเจริญก้าวหน้าสืบต่อไป

นี้ก็เป็นคติที่ได้จากเรื่อง สังเวชนียสถาน ที่ผ่านมา ก็เข้ากับคติคำว่า สังเวช ที่อาตมภาพได้กล่าวมาแล้วว่า สังเวช นั้นแปลว่า กระตุ้นใจให้ได้ความคิด คิดอะไร คิดรู้เท่าทันความจริง ปลงใจวางใจได้อย่างหนึ่ง คิดที่จะไม่ประมาท ที่จะเร่งป้องกันและแก้ไขปรับปรุงให้มีแต่ความเจริญงอกงามมั่นคงและความดีงามอย่างหนึ่ง

นี่อินเดียก็ผ่านไปแล้ว ความเสื่อม ความพินาศสูญสิ้นก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นบทธรรมและบทสอนธรรมอันยิ่งใหญ่

ถ้าวัดเมืองถอยล่า วัดในป่าต้องยังคง

พระพุทธศาสนาก็ยังอยู่ในประเทศไทย ในโลกเขาก็ยังถือกันว่า พุทธศาสนานี้เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทย ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา ก็นับว่าเรามีโชคดีที่เป็นที่รองรับ เป็นแหล่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา แม้ว่าในบ้านเมืองของเรา พุทธศาสนาบางครั้งจะเจริญบ้างเสื่อมบ้างเป็นคติธรรมดา แต่เราก็ต้องพยายามช่วยกันรักษาไว้ สืบต่อไป

เราจะเห็นว่า บางคราวพุทธศาสนาในเมืองเสื่อมไป แต่พระในป่าก็ยังช่วยรักษาพุทธศาสนาไว้ แต่พระในป่าก็ต้องเตือนท่านเหมือนกันว่า ต้องเอาธุระกับการส่วนรวมด้วย อย่าถือคติไม่ยุ่งไม่เกี่ยว และต้องสอนต้องชักจูงชาวบ้านให้มีทัศนคติทางธรรมที่ถูกต้อง เอากิจเอาการของส่วนรวม อะไรเข้ามากระทบกระเทือนพระศาสนา ก็ต้องขวนขวายป้องกันแก้ไข พระพุทธศาสนาจึงจะรักษาอยู่ด้วยดี

บทเรียนและภูมิหลัง ช่วยให้เข้าใจพระศาสนา

เอาละ อาตมภาพจะปิดรายการละ เป็นอันว่าพุทธศาสนาในเมืองไทยนี้ก็ให้เราช่วยกันรักษาไว้ แต่การที่จะรักษาด้วยดีนั้น เราก็ต้องเรียนคติที่ได้รับจากอดีต มีบทเรียนมาช่วยด้วย ความรู้ในอดีตนั่นแหละจะมาช่วยเรา อาตมภาพกล่าวไว้อย่างหนึ่งแล้ว ก็ขอกล่าวต่อไป ไหนๆ ก็เลยเวลามาแล้ว

เคยพูดไว้ทีหนึ่งว่า การที่จะเข้าใจพุทธศาสนาให้ได้ดีนั้น ไม่ใช่เพราะเรียนหลักคำสอนเท่านั้น จะต้องรู้เหตุการณ์ความเป็นมาด้วย อันนั้นจะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้น เพราะว่า การที่จะเข้าใจคำสอนที่เป็นตัวหลักของพระพุทธศาสนานั้น องค์ประกอบอย่างหนึ่งก็คือเราจะต้องมีการตีความ คนเรานี้อ่านอะไรก็ตาม เรียนอะไรก็ตาม เราจะมีการตีความด้วย

ทีนี้ การตีความ นั้นก็มักจะอาศัยภูมิหลัง คือความรู้ในเหตุการณ์ความเป็นมาของเราเข้าไปประกอบ ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อเราไปอินเดีย เรามีภูมิหลังมีประสบการณ์ของเรา เราไปพบคนอินเดียเราก็ตีความตามภูมิหลังของเรา ชาวอินเดียโคลงหัว เรานึกว่าเขาปฏิเสธ นี่ก็คือตีความตามภูมิหลังประสบการณ์ที่เรามี แต่อินเดียเขาโคลงหัวหมายความว่า เขารับ ใช่ไหม มันตรงข้าม เพราะฉะนั้น เราต้องเรียนรู้เหตุการณ์ความเป็นไป ภูมิหลังวัฒนธรรมของอินเดียด้วย เราจึงจะเข้าใจถูกต้อง

แต่ตัวแกน คือความหมายตามหลักการ

อย่างไรก็ตาม ความหมายทางคำสอน ก็ต้องเรียนด้วย ต้องประกอบกันทั้งคู่ ไม่เช่นนั้นการตีความก็อาจจะผิด เช่นอย่างในเรื่องพระผู้ที่ตีความไปตามเหตุการณ์ หรือตามประสบการณ์ ถ้าถามว่าความหมายของ สมณะ คืออะไร สมณะในพุทธศาสนาคืออะไร อย่างที่เคยกล่าวไว้ในวันมาฆบูชา สมณะมีความหมายว่าอะไร ถ้าเราไม่มีหลักก็อาจจะยุ่ง ภาพของความเป็นสมณะอยู่ที่ไหน

พวกหนึ่งอาจจะมองว่า พระได้แก่ผู้มีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์ อย่างนี้ก็มี หมายถึงว่าถ้าเป็นพระเป็นนักบวช ก็ต้องเป็นผู้มีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์ พวกนี้ก็จะหวังฤทธิ์ หวังปาฏิหาริย์จากพระ

ทีนี้ บางคนในสมัยปัจจุบันอาจจะมองพระเป็นนักเรี่ยไรก็ได้ ถ้าเห็นพระก็ว่า นักเรี่ยไรมาแล้ว มีหวังจะเสียเงินอีกแล้ว นี่คือภาพของพระที่อยู่ในใจของคนที่ต่างกันไป

แต่ภาพของพระ ในประวัติของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง คืออะไร คือผู้สงบ ผู้ไม่มีภัยอันตรายใดๆ ตามโอวาทปาฏิโมกข์ที่เราพูดกันในวันมาฆบูชาว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่เป็นสมณะ หมายความว่า ภาพของสมณะในความหมายของเราตามหลักของพระพุทธศาสนา คือผู้ไม่มีภัยอันตราย ไปที่ไหนมีแต่ทำให้เกิดความสงบ ความปลอดโปร่งโล่งใจ

สาระแท้จริงที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้

พระเป็นเครื่องหมายของความไม่มีภัย พระไปที่ไหนคนก็รู้สึกร่มเย็น มีความปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่ต้องระแวงภัย เพราะฉะนั้น ถ้าเราช่วยกันรักษาภาพอันนี้ไว้ได้ สมณะในพระพุทธศาสนาก็อยู่ในความหมายที่แท้จริง

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องเรียนรู้ไว้ ทั้งเหตุการณ์ ความเป็นมาและหลักคำสอนที่แท้จริง เอามาใช้เพื่อจะบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงอยู่ต่อไป

การที่พระพุทธศาสนาจะเจริญมั่นคง เราต้องรักษาตัวหลักธรรมที่แท้ไว้ให้ได้ ตีความให้เข้าใจถ่องแท้ ปฏิบัติตามให้ถูกต้อง นี่ก็คือคติจากทั้งหมดที่ได้ผ่านมา ทั้งที่ดูรู้เห็นด้วยตาตนเอง และที่อาตมภาพได้กล่าวเสริม บัดนี้ก็พอสมควรแก่เวลา

พินิจธรรม

แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม

เรื่องนี้ได้รับการจัดพิมพ์แยกเป็นเล่มเดี่ยวแล้ว อ่านได้ที่ แสงเงินแสงทองของชีวิต

 

โพชฌงค์: พุทธวิธีเสริมสุขภาพ

เรื่องนี้ได้รับการจัดพิมพ์แยกเป็นเล่มเดี่ยวแล้ว อ่านได้ที่ โพชฌงค์: พุทธวิธีเสริมสุขภาพ

ภาคผนวก

พุทธศาสน์เมืองไทย
สู่ปีใหม่ ๒๕๓๔5

พุทธศาสนากำลังวิกฤตจริงหรือ?

ในส่วนของประชาชนเท่าที่ฟังดู มีบางท่านพูดในทำนองว่าเสื่อมศรัทธา อาตมาเองก็ไม่ประจักษ์ แต่ในส่วนของท่านที่เกี่ยวข้องกับอาตมา ก็เห็นมีความศรัทธามั่นคงพอสมควร อาจจะเป็นด้วยอยู่ใกล้กัน ได้ทำความเข้าใจ เมื่อพูดในแง่เหตุผลก็เข้าใจกัน ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการเสื่อมศรัทธา นี่เป็นเครื่องแสดงอย่างหนึ่ง

ในสมัยโบราณพระสงฆ์กับประชาชนใกล้ชิดกัน แม้จะมีเหตุร้ายๆ เกิดขึ้นประชาชนก็เข้าใจ เพราะมีความใกล้ชิดและประชาชนมีทุนเดิมที่จะเข้าใจอยู่แล้ว ความใกล้ชิดทำให้พระสงฆ์มีโอกาสจะพูดให้เข้าใจ นอกจากนั้น ชุมชนสมัยก่อนค่อนข้างเล็ก วัดเป็นของหมู่บ้าน พระสงฆ์ต้องอาศัยศรัทธาของชาวบ้าน ต้องประพฤติตัวให้ดี ต้องรักษาศรัทธาของประชาชน ซึ่งเป็นผู้บำรุงเลี้ยงอยู่ตามหลักของพระพุทธศาสนา ทำให้เป็นเหมือนการควบคุมความประพฤติไปด้วย

ปัจจุบันนี้ ประชาชนกับพระสงฆ์ส่วนมากห่างเหินกัน ความห่างเหินทำให้หลักการควบคุมเปลี่ยนแปลงไป ท่าทีของพุทธศาสนิกชนชักคลาดเคลื่อน ประชาชนเริ่มห่างพระ ห่างพระศาสนา บางทีก็ไม่รู้จุดของตัวเองว่านับถือพระศาสนาเพื่อประโยชน์อะไร บางทีก็เพี้ยนไปเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ เรื่องของการได้ลาภ ไปเกี่ยวข้องกับพระเพื่อโชคลาภของตัวเอง กลายเป็นความสัมพันธ์ในทางที่ไม่ใช่ธรรม แต่สัมพันธ์เพื่อผลประโยชน์ ทำให้ไม่คำนึงว่าพระจะเป็นอย่างไร มองเพียงว่าพระจะสนองความต้องการของตนได้หรือไม่ หลักการควบคุมความประพฤติของพระก็หมดไป

นอกจากนั้น ทั้งที่พระที่อยู่ในธรรมวินัยประพฤติดีก็มี แต่ไม่ค่อยปรากฏ เพราะประชาชนให้ความสนใจแต่พระที่สนองความต้องการด้านโชคลาภ พระเหล่านี้จึงปรากฏโด่งดังขึ้นมา

อีกแง่ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนคือพุทธศาสนิกชนใช่ไหม เมื่อใช่ก็ต้องถือว่าเป็นเจ้าของศาสนาด้วยกัน ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฆราวาส ชายหญิงก็ตาม เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาด้วยกัน ไม่มีใครมีสิทธิ์มากกว่ากัน หากเห็นพระไม่ดีเสื่อมศรัทธาในพระรูปนั้นก็ถูกต้อง แต่การไปเสื่อมศรัทธาต่อพุทธศาสนานั้น แสดงว่าคลาดเคลื่อนจากหลักการของพระพุทธศาสนา ตั้งตัวไม่ถูกต้องแล้ว หากเห็นว่ามีคนไม่ดีเข้ามา เขาบวชเป็นพระหรือเป็นอะไรก็ตาม ต้องมองว่าเป็นคนไม่ดีเข้ามาแอบแฝงศาสนาของเรา เรามีสิทธิ์จะปกป้องดูแลพระพุทธศาสนา และเอาคนไม่ดีออกไป วิธีที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้

ควรจะคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ไม่ดีกับพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้น?

เหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้น มีเหตุปัจจัยมานาน มาโผล่ตอนนี้ ฉะนั้นโผล่มาก็ดีแล้ว จะได้รู้ ได้สำรวจหาทาง แก้ไข พระพุทธศาสนาในเมืองไทยนี้ เรามีความรู้สึกว่าเจริญรุ่งเรืองกัน ไปๆ มาๆ ก็ไม่ค่อยระวังตัว ตกอยู่ในความประมาท ไม่เตรียมการระยะยาว อยู่ในสภาพที่เรียกว่ากินบุญเก่า และเป็นหลักธรรมดา เมื่อสังคมเจริญรุ่งเรืองขึ้น มีความสุขสมบูรณ์ คนก็มักจะหลงระเริง เกิดความประมาท แล้วอารยธรรมต่างๆ ก็เริ่มเสื่อมแล้วก็จมพินาศไป แต่ถ้าคนในสังคมนั้นมีความไม่ประมาท หมั่นตรวจสอบเหตุปัจจัยของความเสื่อมความเจริญ ก็จะป้องกันแก้ไขได้

ถึงแม้จะมัวหลงระเริง และอยู่มามีเหตุร้ายเกิดขึ้น แต่ถ้าเราเป็นคนมีปัญญาก็รีบลุกขึ้นมาแก้ไขเสียตอนนั้น ก็ยังพอป้องกันภัยพิบัติได้ เหตุร้ายเกิดขึ้นเป็นเครื่องฟ้องแล้วว่ามันเสื่อม แทนที่จะปล่อยเลยตามเลย ท้อแท้ใจ ท้อถอย มาซัดทอดกันอยู่ ก็รีบแก้ไขทำให้มันดี มันก็จะกลับเจริญได้อีก ถ้าไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ก็กลายเป็นว่าไม่มีความรับผิดชอบ มัวแต่ปัดออกนอกตัวว่าศาสนาไม่ดี พระไม่ดี เราไม่นับถือ ก็จบกันเลย

มีการวิจารณ์ผู้บริหารคณะสงฆ์ ว่าทำงานอืดอาดแก้ปัญหาไม่ได้?

อันนี้เป็นภาพที่เราเห็นเฉพาะหน้า มันมีปัจจัยลึกซึ้งกว่า ถ้าสืบลึกลงไปจะมองเห็นการแก้ปัญหาระยะยาว เรื่องการศึกษาของพระสงฆ์ต้องรีบแก้ไข ให้ได้รู้ได้เข้าใจหลักการของพระศาสนา ให้รู้หลักธรรมวินัยให้ชัดเจน ให้รู้ให้เข้าใจสภาพปัจจุบัน เพื่อนำหลักการนั้นมาปรับใช้ปฏิบัติต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

เรื่องการบริหารนั้น ระยะสั้น ต้องแก้ไขปรับปรุง ถ้าผู้บริหารอ่อนแอ เราจะต้องหาทางช่วยกัน ฝ่ายไหนทำอะไรได้ก็ต้องทำ จะมีส่วนผลักดันกระตุ้นเตือนฝ่ายบริหารให้เข้มแข็งได้อย่างไร เราต้องพยายาม แต่ในระยะยาว ก็คือตัวต้นเหตุปัจจัยที่ทำให้การบริหารอ่อนแอ ชาวพุทธทั้งหมดต้องไม่มองข้ามตัวเอง ว่ามีส่วนร่วมอย่างไร มีความรับผิดชอบอย่างไร และมีส่วนเป็นเหตุปัจจัยยังไงก็ต้องแก้ไขกันทั้งนั้น เดี๋ยวนี้เรามองกันเฉพาะหน้า ใครเป็นตัวเด่นในเหตุการณ์ ก็มุ่งอยู่นั่นแหละ

ต้องถามตัวเองก่อนว่า เราจะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง ต่อไปก็มองว่าผู้ไหนมีความรับผิดชอบโดยตรง ตอนนี้เล่นงานผู้บริหารได้ก็เอาเข้าไป แต่อย่ามองจำกัดอยู่จุดเดียวแล้วจบ มันแก้อะไรไม่ได้

มีข่าวว่าพระซื้อพัดยศกัน ทำให้เกิดความแตกแยก?

อาตมาก็ได้ยิน แต่จะจริงหรือไม่ ไม่มีเวลาไปสอบสวน เพราะมีงานต้องทำมาก แต่ว่ามันก็มากด้วยกัน ก็คล้ายๆ กับบ้านเมืองนั่นแหละ สภาพปัจจุบันพระสงฆ์มีระบบอะไรต่างๆ หลายอย่างใกล้กับฆราวาส เราก็ได้ยินในระบบของบ้านเมืองมีการซื้อมีการอะไรต่างๆ เรื่องนี้มีส่วนโยงเข้ามาในระบบของพระได้ ถ้ามองในสภาพอย่างนี้ เมื่อเกิดกรณีสมีเจี๊ยบ เรื่องพระนิกร หรือเรื่องอะไรแบบนี้ ก็เป็นสัญญาณของความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้น แต่เป็นการมองแค่ตัวแหล่งที่เกิดคือพระสงฆ์ แต่ถ้าเรามองกว้างขึ้นอีกนิด จะเห็นสิ่งที่ต้องทำในสังคมไทยมากขึ้น

พระสงฆ์นั้นปกติถือว่า มีจริยธรรมสูงสุดในหมู่ประชาชน คณะสงฆ์เป็นสถาบันตัวแทนจริยธรรมหรือเป็นสถาบันที่ถือกันว่ามีจริยธรรมสูงสุด ถ้าหากพระสงฆ์เสื่อมโทรม สถาบันสงฆ์เสื่อมโทรมจนกระทั่งปรากฏไปทั่ว ก็เป็นเครื่องฟ้องว่า นี่สถาบันสงฆ์ยังขนาดนี้ แล้วสังคมไทยทั่วไปจะโทรมขนาดไหน

ในด้านหนึ่ง มันฟ้องถึงสภาพสติปัญญาของคนไทย ว่าการที่พระสงฆ์เหล่านี้เจริญด้วยลาภ ด้วยยศ อะไรขึ้นมาขนาดนี้ ได้รับการยกย่อง จนกระทั่งความประพฤติไม่ดีโผล่ขึ้นมาตอนนี้ ก่อนหน้านั้นเขาได้รับการยกย่องมาได้อย่างไร ทำไมคนอย่างนี้จึงเจริญขึ้นมา แสดงว่าคนไทยยังไม่ได้ใช้สติปัญญาพิจารณาให้เพียงพอ

หากรู้จักพิจารณาว่า พระศาสนามีหลักการสอนอย่างไร พระอย่างไรเป็นบุคคลที่พึงเป็นแบบอย่างที่ชาวพุทธเคารพศรัทธา ถ้าใช้ปัญญาอย่างนี้เราจะต้องยกย่องเชิดชูคนที่เหมาะสมขึ้นมา จะไม่ปล่อยให้เป็นมาถึงเช่นนี้

ฉะนั้น เราต้องมองที่เหตุปัจจัย ตัวบุคคลนั้นก็พิจารณาตามคดี ตามกระบวนการยุติธรรม มีความผิดก็ลงโทษไป ก็เสร็จเป็นรายบุคคล แต่สังคมเป็นอย่างไร ควรเอาใจใส่ มันจะเป็นประโยชน์กว่า ที่จะมัวไปพูดถึงคนเลวร้ายทำอย่างนี้ อย่างนั้น ว่ากันไปแล้วก็พูดกันไป สนุกปากกันไปไม่จบและไม่ได้อะไรขึ้นมา

คิดว่าหน่วยงานของรัฐควรเข้ามามีส่วนช่วยศาสนาตอนนี้ อย่างไรบ้าง?

สมัยก่อน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระศาสนายังดี หรือพุทธจักรกับอาณาจักรมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ถือหลักรัฐต้องเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุง ให้การสนับสนุนพระที่ประพฤติตัวตามพระวินัย โดยยกย่อง เชิดชู อะไรต่างๆ

ในแง่หนึ่งที่ถือเป็นสำคัญ คือคนที่ไปบวชในคณะสงฆ์ ไปจากชาวบ้าน คือคนของรัฐเข้าไปบวช รัฐต้องระวังว่าใครเข้าไปทำร้ายพระศาสนา จะต้องรักษาพระศาสนาไว้ เพื่อประโยชน์แก่สังคมของตัวเอง เพราะเมื่อพระสงฆ์ประพฤติดี ประพฤติชอบ เอาใจใส่สั่งสอนประชาชน ประชาชนมีศีลธรรมก็อยู่ร่มเย็นเป็นสุข รัฐก็ได้ประโยชน์ ฉะนั้นรัฐต้องรักษาคณะสงฆ์ให้อยู่ในความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เจริญมั่นคง ให้พระมีการศึกษา เพื่อจะได้มีความรู้สั่งสอนประชาชน

รัฐต้องบำรุงการศึกษา ถือเป็นเรื่องสำคัญ พระมหากษัตริย์ ในหลวงรัฐกาลที่ ๕ ทรงถือเป็นพระราชกรณียกิจ เวลาพระสงฆ์สอบจะต้องเสด็จฯ ไปดูเอง ไปอำนวยการสอบ ถือว่าต้องอุปถัมภ์เป็นประเพณีสืบมา

ด้านที่หนึ่ง รัฐต้องเอาใจใส่การศึกษาของพระสงฆ์ นอกเหนือจากการบำรุงทั่วไป คือการถวายอาหาร เพื่อให้มีกำลังไปเล่าเรียน และเผยแผ่ธรรมแก่ประชาชน เป็นการบำรุงศาสนกิจ

ด้านที่สอง คือป้องกันคนของตัวเองที่ร้ายไม่ให้เข้าไปทำลายพระศาสนา ถ้าเข้าไปทำร้ายต้องไปเอาออกมา พระประพฤติไม่ดี ก็คือคนของรัฐเข้าไปแอบแฝงบวช รัฐต้องไปเอาออกมาชำระ ไม่มองว่าพระศาสนาเป็นเรื่องของพระ

เดี๋ยวนี้รัฐไม่เข้าใจเรื่องนี้ ไปมองว่าพระประพฤติไม่ดีก็เป็นเรื่องของพระ

นอกจากนั้น เมื่อพระศาสนาเสื่อมโทรม จะต้องมีการชำระสะสาง เช่น พระสงฆ์ดำริจะสังคายนา ก็เข้าไปอุปถัมภ์ เวลาคนบวชกันมากไปอาศัยวัดหาเลี้ยงชีพ ไม่ศึกษาเล่าเรียน อย่างสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดให้คณะสงฆ์ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนความรู้พระ ไม่มีความรู้จับสึกหมด

มองบทบาทของกรมการศาสนาเป็นอย่างไร ควรแยกออกจากกระทรวงศึกษาหรือไม่?

กระทรวงศึกษาธิการตั้งโดยรัชกาลที่ ๕ เดิมชื่อ กระทรวงธรรมการ ในกระทรวงนี้มีหน่วยงานหนึ่งชื่อ กรมศึกษาธิการ เพราะในประวัติของสังคมไทยโดยทางรูปธรรม วัดเป็นผู้ให้การศึกษาแก่บุตรหลานของประชาชน เป็นศูนย์กลางการศึกษา ฉะนั้น การศึกษาก็อยู่กับพระศาสนา ตัวศาสนาเป็นแหล่งใหญ่ การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของงานที่เกี่ยวกับศาสนา กระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงเกี่ยวกับพระศาสนา เป็นเรื่องของชีวิตจิตใจคน และกรมศึกษาธิการก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในกระทรวงนั้น

อันนี้เป็นรูปแบบจำลองสังคมไทยในทางรูปธรรม ชี้หลักการหรือนามธรรมที่สอดคล้องกัน คือ การให้ตัวพระศาสนาเป็นหลัก ให้การศึกษาอิงอยู่กับพระศาสนา อิงอยู่กับหลักของจริยธรรม สำหรับเรื่องความประพฤติดีงามแล้วในหลวง ร.๕ ทรงเน้นมาก การศึกษาหากจัดไม่ดีแล้วสามารถจะทำให้คนโกงได้มากขึ้น ฉะนั้นต้องถือธรรมเป็นส่วนสำคัญ ในแง่ของหลักการ หรือเนื้อหาทางนามธรรม ท่านต้องการที่จะให้ตัวศาสนา หรือเรื่องของชีวิตจิตใจที่ดีงามมาเป็นส่วนสำคัญที่ครอบคลุมการศึกษาไว้อีกทีหนึ่ง

แต่มาปัจจุบันนี้มันกลับกัน เมื่อสิ้นสมัย ร.๕ เราเปลี่ยนชื่อ กระทรวงธรรมการ เป็น กระทรวงศึกษาธิการ ให้การศึกษาเป็นกิจการใหญ่ แล้วกลับมีชื่อ กรมธรรมการ อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ กรมธรรมการคือการศาสนา ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการศาสนา นั่นเอง

เวลานี้การศาสนาเป็นส่วนหนึ่ง อยู่ในการศึกษาส่วนรวม เราไม่มองในแง่ว่าเราต้องการเรื่องของชีวิตจิตใจ เรื่องของความดีงามเป็นใหญ่ ไม่ได้มองอย่างนั้น

ปัจจุบันนี้ก็มีอีกแนวความคิดหนึ่ง ให้แยกเรื่องศาสนาเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องการศึกษาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่ว่าควรแยกจากกันไปเลย

แล้วแต่ใครจะมีความคิดอย่างไร แต่เราจะต้องมีแนวความคิดหรือหลักปรัชญาก่อน จึงมาพิจารณาว่าควรแยกหรือไม่แยก อย่ามองดูแค่การบริหาร ต้องมองดูความคิดด้วยว่าความคิดพื้นฐานเป็นอย่างไร ถ้าเรามองแบบ ร. ๕ ก็กลับกันว่ากรมการศาสนาเป็นกระทรวงใหญ่ กระทรวงศึกษาฯ เป็นกรมในกระทรวงศาสนา ทีนี้เรามีวิธีประสานอย่างไรให้เป็นประโยชน์

ถ้าเราเห็นว่าแนวคิดแบบรัชกาลที่ ๕ นี้ดี เราจะประสานอย่างไร ถ้าจะไม่ใช้ระบบของพระองค์ เราต้องมาคิดเอา ไม่ใช่มาเถียงกันแค่ระบบบริหาร แค่ความสะดวกในการดำเนินงานเท่านั้นยังไม่พอ ยังเรียกว่าเป็นการดำเนินงานโดยไม่ใช้ความคิดเท่าไร เอาเพียงมุ่งให้ทำงานสะดวกอะไรอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ดูเป็นอย่างนั้น เวลาจะพิจารณาอะไร ก็ไม่ได้มองแนวความคิดเนื้อหาหรือเบื้องหลัง และภูมิหลังของสังคม ซึ่งต้องมองให้ทั่ว ไม่ใช่เอาแต่เฉพาะหน้าเท่านั้น

บางทีก็มองกันในแง่บริหารงบประมาณ เอาแค่นี้ก็เป็นเหตุแล้วที่จะมาแบ่งส่วนราชการ จัดสรรใหม่ นี่ก็เป็นตัวอย่าง ก็มีแง่มองหลายอย่าง

มีการพูดกันว่า การพัฒนาประเทศปัจจุบันละทิ้งด้านจิตใจ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย?

อันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของสังคมไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของสังคมโลกทั้งหมด สังคมที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาปัจจุบันนี้ร่ำร้องกันมาก ในวงการศึกษาถึงกับมี คำพูดเป็นข้อความว่า “แผ่นดินนี้กำลังหิวศีลธรรม” นี่คือประเทศอเมริกา บทความทางการศึกษาบางบทมองว่า ไม่มียุคใดเลย ที่อเมริกาจะต้องการศีลธรรมมากเท่าปัจจุบัน ซึ่งโยงไปถึงเรื่องการศึกษา ว่าจะต้องแก้ไขปรับปรุงให้มีวิชาศาสนามากขึ้น อันนี้อาตมาว่าที่อเมริกาเด่นมากกว่า ประเทศไทยพูดกันว่าเราได้รับความเสื่อมโทรม กลายเป็นเรากำลังเสื่อมแบบอเมริกา เพราะเราเดินตามอย่างอเมริกา

โลกทั้งโลกก็แบบเดียวกัน ยกตัวอย่างขณะนี้องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี ๒๕๓๑-๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม ซึ่งการริเริ่มนี้มาจากข้อปรารภในสาระสำคัญคือ มองเห็นการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา มุ่งความพร้อมทางด้านวัตถุ และการเจริญเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแกนสำคัญหรือเป็นหลักเป็นตัวเจ้าบทบาท แต่ปรากฏการณ์แสดงผลออกมาว่า การพัฒนาแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาแก่โลกเป็นอันมาก จนถึงกับว่าในด้านชีวิตจิตใจ มนุษย์ไม่มีความสุข

ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา มีปัญหาจิตใจมาก ทำให้เกิดความเครียด มีการฆ่าตัวตายมาก มีโรคจิตมาก ทางร่างกายก็มีโรคหัวใจ มีความดันโลหิตสูง กระทั่งโรคเอดส์ สังคมมีความรุนแรง

ทางธรรมชาติก็สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมมาก มีเรื่อง กรีน เฮ้าส์ เอฟเฟ็กต์ มีเรื่องอุณหภูมิของบรรยากาศเพิ่มขึ้น ช่องโหว่ในโอโซนขยายกว้างออกไป มีฝนน้ำกรด ป่าหมด ทะเลไม่มีปลา อะไรเหล่านี้ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา ซึ่งมีลักษณะอย่างที่ว่ากันมาว่าพัฒนาผิดพลาด แล้วก็อาจจะทำให้ถึงการสูญสิ้นของมนุษยชาติ

ประเทศที่พัฒนาแล้วตื่นตัวเรื่องนี้มาก แต่ประเทศที่กำลังพัฒนายังไม่ค่อยรู้สึกตัว มีการพูดกันบ้างนิดหน่อย แต่ชาวบ้านไม่ค่อยได้นึก เพราะกำลังมุ่งแต่จะสร้างความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุ

องค์กรโลกมองในแง่ว่าการพัฒนาในลักษณะนี้ไปไม่รอด เพราะขาดองค์ประกอบทางด้านจิตใจ เลยหันมาให้ความสำคัญการพัฒนาทางด้านจิตใจและวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาในปัจจุบันประสบปัญหาทางด้านจิตใจ และกำลังหันกลับ จึงประกาศทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมขึ้น

ให้ถือว่าวัฒนธรรมในด้านจิตใจ เป็นแกนกลางของการพัฒนา เปลี่ยนใหม่ไม่ให้เอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหัวหน้า หรือเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ แต่ให้มาเป็นตัวประกอบ

ในระดับโลกคิดกันมาก ส่วนเมืองไทยเราก็เห็นๆ กันอยู่ โดยมากเราไปคิดมองตามเขามากกว่า

พรปีใหม่
สำหรับชาวไทยทุกคน

ในปีใหม่นี้ มีธรรมอยู่หมวดหนึ่ง เรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษา เหมือนกับปีใหม่ การเริ่มต้นขึ้นปีใหม่ ก็เหมือนกำลังเข้าอรุณของปี รุ่งอรุณของการศึกษา มี ๗ ข้อ คือ

๑. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี พูดง่าย ๆ ว่าให้มี กัลยาณมิตร สังคมต้องประพฤติตัวเป็นกัลยาณมิตรแก่กัน ในแง่ของแต่ละคนก็พยายามคบหาคนที่เป็นกัลยาณมิตรของประชาชน คือเป็นแหล่งความรู้ เป็นแบบอย่างที่ดี รัฐบาลจะต้องจัดสรรแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน โดยต้องทำให้รัฐบาลเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนด้วย สังคมเรากำลังต้องการกัลยาณมิตร

๒. มีชีวิตและอยู่ร่วมสังคมเป็นระเบียบด้วยวินัย สังคมไทยกำลังขาดแคลนวินัยมาก ตามสภาพที่เป็นอยู่ สับสนวุ่นวายไปหมด ทำอะไรไม่สะดวก การมีวินัยก็เพื่อเปิดโอกาสแก่การที่จะทำงาน ไม่ได้มีวินัยเพื่อเข้มงวดกวดขันให้ไม่ขยับเขยื้อน วินัยไม่ได้สำเร็จในตัว วินัยคือการจัดสรรชีวิตและสังคมให้อยู่ในสภาพที่เหมาะ ที่จะทำอะไรต่ออะไรได้ การพัฒนาก็จะดำเนินไป

๓. พร้อมด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ เป็นความจริงที่คนไทยเราขาดความใฝ่รู้สร้างสรรค์ มีแรงจูงใจใฝ่บริโภคมาก คนไทยใฝ่สนุกสนานบันเทิง ไม่ใฝ่รู้แต่ใฝ่เสพสังเวยความสุข ไม่ใฝ่สร้างสรรค์ ใฝ่บริโภค ไม่ใฝ่ผลิต เราจะต้องให้มีแรงจูงใจใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ จึงจะสร้างประเทศให้เจริญได้

๔. มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ ทางพุทธศาสนา ถือว่าคนมีศักยภาพ จะประเสริฐได้ด้วยการฝึก จึงให้พัฒนาศักยภาพให้เต็มที่ เน้นให้มีจิตสำนึกในการพัฒนาตน

๕. ปรับทัศนคติและค่านิยมให้สมเหตุผล คือ จะต้องมีทัศนคติมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย อย่างกรณี สมีเจี๊ยบ กรณีพระนิกร ซึ่งอื้อฉาว ทัศนคติที่ถูกต้อง ไม่ใช่มองเพียงว่าใครจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าตื่นเฮฮาไปตามกัน แต่มองหาเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยง ทางสังคม การศึกษา เป็นต้น ที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง เนื่องกันไป

๖. มีสติกระตือรือร้นทุกเวลา คือหลักที่พระเรียกว่า ความไม่ประมาท ซึ่งสำคัญมากเกี่ยวกับปีใหม่เพราะเป็นเรื่องของเวลา พระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ความไม่ประมาท จะต้องถือว่าไม่ให้เวลาผ่านไปเปล่าๆ เร่งทำกิจหน้าที่ของตน เร่งทำให้ชีวิตมีคุณค่า ให้มีประโยชน์ ไม่ว่างเปล่า

๗. แก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด หลักของการพึ่งพาตน จะทำได้ต้องอาศัยแต่ละคนรู้จักคิดหรือคิดเป็น จะทำห้รู้จักพึ่งตนเอง

ข้อ ๑ กับข้อสุดท้ายนี้จะต้องเน้น คืดรู้จักเลือกกัลยาณมิตร และรู้จักคิด คิดเป็น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร มีข้อมูลข่าวสารมากมายท่วมท้น จริงบ้างเท็จบ้าง จะต้องใช้หลักการนี้มาก เวลารับข้อมูล ต้องรู้จักเลือกสรรและรู้จักพิจารณาไตร่ตรอง นำมาปรุงเป็นความคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชีวิต พัฒนาท้องถิ่นของตน

ตกลงว่าจะต้องมี ๗ ข้อ ถ้าทำได้ ๗ ข้อนี้แล้ว จะเป็นต้นทางของการศึกษา ที่จะนำการพัฒนาไปให้ถูกต้อง การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญ ของการพัฒนาประเทศชาติ หลักนี้เราเรียกว่ารุ่งอรุณของการศึกษา เมื่อการศึกษาเริ่มอรุณ สังคมก็จะสว่างต่อไป

ประเทศก็พัฒนาได้

(ลงพิมพ์ใน "มติชน" ฉบับ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๓)

คำปรารภ

ผู้ศรัทธาท่านหนึ่ง ซึ่งได้ตั้งทุนไว้สำหรับพิมพ์หนังสือพุทธธรรมเผยแพร่ให้กว้างขวาง ได้มาเสนอแนะและแสดงความประสงค์ ขอให้ใช้ทุนนั้นพิมพ์หนังสือธรรมเล่มอื่นๆ ที่เป็นงานปลีกย่อยเล่มเล็กๆ น้อยๆ ออกเผยแพร่ด้วย เฉพาะอย่างยิ่ง บางเล่มที่ท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติแก่ชีวิต และสังคมในสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน โดยจัดเตรียมไว้ให้มีพร้อมที่จะแจกได้ตลอดเวลา อาตมภาพขออนุโมทนา

เท่าที่ได้ปฏิบัติมา หนังสือที่อาตมภาพแจกมอบแก่พุทธศาสนิกชนอยู่ตามปกตินั้น ไม่เป็นเรื่องจำเพาะแต่อย่างใด คือสุดแต่ว่าระยะนั้น มีหนังสือเล่มใดพอแจกได้ จะเป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นโดยปรารภเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหนังสือที่มีผู้ขออนุญาตจัดพิมพ์ แล้วนำบางส่วนมาถวายก็ตาม ก็แจกหนังสือเล่มนั้นๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด การที่ผู้ศรัทธาท่านนี้มาเสนอแนะครั้งนี้ ทำให้ได้ความคิดใหม่ที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้น หวังว่าจะทำให้การแจกหนังสือธรรมดำเนินไปอย่างมีเป้าหมายที่จะเกิดประโยชน์ชัดเจนยิ่งขึ้น อาตมภาพเห็นด้วย และได้จัดพิมพ์ "ทำอย่างไรจะหายโกรธ" และ "รักษาใจในยาม-ป่วยไข้" ขึ้นสนองความมุ่งหมายนี้ เป็นเรื่องเริ่มแรก

บัดนี้ ได้พิจารณาเห็นว่าหนังสือเรื่อง "ชวนคิด - พินิจธรรม" เหมาะแก่การเผยแพร่ให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้อ่านเป็นอุปกรณ์แห่งการเจริญกุศลธรรม อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุข ที่เป็นแก่นสารอย่างยั่งยืนนาน จึงได้จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน

"ชวนคิด - พินิจธรรม" นี้ ประกอบด้วยคำบรรยาย ธรรมกถา และคำให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ รวม ๕ เรื่อง จัดเป็น ๓ ภาค กล่าวคือ

ภาคที่ ๑ "ชวนคิด" ประกอบด้วยคำบรรยาย เรื่อง เทวดาพราหมณ์ เทวดาพุทธ และ บทเรียนของชาวพุทธ

ภาคที่ ๒ "พินิจธรรม" ประกอบด้วยธรรมกถา เรื่อง แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม และ โพชฌงค์ ๗: พุทธวิธีเสริมสุขภาพ

ภาคผนวก เป็นคำให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ "มติชน" ฉบับส่งปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ซึ่งได้ตั้งชื่อหัวข้อใหม่ในที่นี้ว่า พุทธศาสน์เมืองไทย สู่ปีใหม่ ๒๕๓๔ พร้อมด้วย พรปีใหม่ สำหรับชาวไทยทุกคน

สองเรื่องแรก ยกคัดตัดมาจากหนังสือ "ตามทางพุทธกิจ" ของผู้เรียบเรียง ที่พิมพ์นานแล้ว ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้ปรับปรุงแต่งเสริมเพิ่มความ พร้อมทั้งตั้งหัวข้อย่อย และจัดวรรคตอนให้อ่านง่ายขึ้น โดยเฉพาะเรื่องแรก เดิมชื่อ อินเดีย แดนเทวดา ในที่นี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

เรื่องที่ ๓ ได้พิมพ์ครั้งแรก ในเดือนตุลาคม ๒๕๓๓ ในการพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ได้ตั้งหัวข้อย่อยให้อ่านง่ายขึ้น และแทรกเพิ่มข้อความเข้าบ้างเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่ ๔ เป็นธรรมกถาที่แสดงไว้นานแล้ว (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘) มูลนิธิพุทธธรรมได้ขออนุญาตจัดพิมพ์แล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นดำเนินการ ประจวบโอกาสนี้มาถึง เห็นเหมาะจึงนำมาพิมพ์ก่อน นับเป็นการพิมพ์ครั้งแรก

การพิมพ์หนังสือนี้ นับว่าเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในเวลากระชั้นชิดมาก แต่ได้อาศัยความร่วมแรงร่วมใจจาก พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโญฺ ในการพิมพ์ต้นแบบหนังสือด้วยคอมพิวเตอร์ และอาศัยความร่วมมือของโรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ช่วยเร่งรัดการตีพิมพ์ให้ จึงขออนุโมทนาสาธุการ พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโญ และคุณนพพร โชคไพรศรี ผู้จัดการโรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างยิ่ง

ขออนุโมทนาฉันทะ และความดำริอันเป็นประโยชน์ของท่านผู้ศรัทธาที่ได้เสนอแนะวิธีการนี้ ขอกุศลกิจที่ได้บำเพ็ญตามแนวความคิดนี้ จงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้สัมมาทัศนะและธรรมานุธรรมปฏิบัติเจริญแพร่หลาย เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนสืบไป ตลอดกาลนาน

ทุนส่งเสริมพุทธธรรม

๙ มีนาคม ๒๕๓๔

 

 

 

คำปรารภ

 

มูลนิธิพุทธธรรม มีกุศลฉันทะจะพิมพ์คำบรรยายธรรมเรื่อง “ชวนคิด” ขึ้นเผยแพร่ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในทางธรรมที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และชี้แนะแนวทาง ปฏิบัติในการพัฒนาชีวิตและสังคม อาตมภาพขออนุโมทนาตามความประสงค์

เรื่อง”ชวนคิด”นี้ ประกอบด้วยคำบรรยาย ๒ เรื่อง คือเทวดาพราหมณ์ เทวดาพุทธ และ บทเรียนของชาวพุทธ ซึ่งทั้ง ๒ เรื่องนี้ ได้เคยตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ ตามทางพุทธกิจ และ ชวนคิด-พินิจธรรม ของผู้เรียบเรียง ที่พิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ และ พ.ศ. ๒๕๓๔ ตามลำดับ

การพิมพ์ครั้งใหม่นี้ เป็นการพิมพ์ซ้ำ โดยยังมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ต่างออกไป

ขออนุโมทนาทางมูลนิธิพุทธธรรมที่ได้มีความดำริอันเป็นกุศลที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม ด้วยการเผยแพร่หนังสือธรรมครั้งนี้

หวังว่า บุญกิริยาร่วมกันในการเผยแพร่ธรรมนี้ จักอำนวยประโยชน์ในการเสริมสร้างสัมมาทัศนะที่จะเป็นแนวทางแก่สัมมาปฏิบัติ อันอำนวยประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติ พระศาสนา และมวลมนุษย์สืบไป ตลอดกาลนาน

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๕

1ตัดตอนจากหนังสือ “ตามทางพุทธกิจ” ของผู้เรียบเรียงเอง
2ม.ม. ๑๓/๑๘๙/๑๙๗
3ที.ปา. ๑๑/๒๒๑–๓๖๓/๒๒๒–๒๘๗
4บางท่านว่า คนเนปาลปัจจุบันไม่ใช่เผ่าศากยะดั้งเดิม แต่เป็นชนเผ่าใหม่ในถิ่นเก่า หมายความว่า ศากยะเป็นอารยัน
5คำให้สัมภาษณ์ แก่ผู้สื่อข่าว ลงใน มติชน ฉบับส่งปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๓ ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้แก้ไขปรับปรุง เปลี่ยนแปลงคำที่พิมพ์ผิดพลาด และข้อความที่ไม่ชัดเจน ให้ตรงกับความหมายและความตั้งใจของผู้ให้สัมภาษณ์
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง