วันนี้ โยมญาติมิตรสาธุชน มีใจเป็นกุศล มาทำบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยพร้อมกัน ด้วยความสามัคคี ตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป
คุณพ่อ คุณแม่มากับลูก บางทีก็มากับคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือญาติพี่น้อง โรงเรียนก็มากัน ทั้งคณะผู้บริหาร ครูอาจารย์ และลูกศิษย์ ญาติมิตรทั้งหลายก็มาทำบุญร่วมกัน
การทำบุญร่วมกันนี้ ได้บุญหลายอย่าง ทำบุญเฉพาะตัวก็ได้บุญอยู่แล้ว ท่านบอกไว้ว่า ถ้าทำบุญด้วยตนเอง ได้บุญขั้นที่หนึ่ง ถ้าชวนผู้อื่นทำบุญด้วย ก็ได้บุญเพิ่มอีกเป็นสองชั้น เพราะเป็นการทำบุญของตนเองด้วย แล้วทำให้คนอื่นได้บุญด้วย คนอื่นก็เลยพลอยได้บุญ ขยายบุญให้กว้างขวางออกไป
นอกจากนั้น น้ำใจที่ร่วมกันนั้น ก็เป็นบุญเป็นกุศลอยู่ในตัวแล้ว คือ มีเมตตาไมตรี มีจิตหวังดีต่อกัน เป็นต้น ช่วยให้บรรยากาศมีความสุข สดชื่น รื่นเริง สุภาพอ่อนโยน เป็นมิตร มีไมตรีจิตมาประกอบเข้าด้วย จึงเป็นการเพิ่มกำลังบุญ
มองในแง่พระศาสนา ก็คือมีกำลังผู้ที่มาค้ำจุนอุดหนุนทำให้พระพุทธศาสนาดำรงมั่นคงยิ่งขึ้น
ฉะนั้น เมื่อถึงวันสำคัญ พุทธศาสนิกชนจึงไม่เพียงมาทำบุญเฉยๆ แต่ชวนกันมาทำบุญ และก็จึงขออนุโมทนาทั้งสองชั้น ทั้งในแง่ที่แต่ละท่านมีใจศรัทธามาทำบุญ แล้วก็มีใจปราถนาดีเมตตาไมตรีชวนญาติมิตรมาทำบุญด้วยกัน
ยิ่งกว่านั้น วันนี้ยังเป็นวันที่ทำบุญสองอย่างด้วย
เมื่อกี้นี้ว่าทำบุญสองชั้น คือ ด้วยตนเอง แล้วก็ชวนกันมา
ทีนี้ก็ทำบุญสองอย่าง คือ ทำบุญวันเข้าพรรษา กับทำบุญวันอาสาฬหบูชา ซ้อนกัน มาทีเดียว ได้ทำสองอย่างเลย
ความจริง วันสำคัญสองอย่างนี้ คนละวัน ต่างวันกัน แต่เรารวมมาทำบุญในวันเดียวกัน
วันนี้แท้ๆ คือ วันอาสาฬหบูชา เป็นวันทำการบูชาพระรัตนตรัยเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ คือการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา นี่วันหนึ่ง
ส่วนอีกวันหนึ่ง คือพรุ่งนี้ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ สำหรับปีนี้ก็เป็นเดือน ๘ หลัง เป็นวันเข้าพรรษา
ความจริง การทำบุญสองวันนี้ ต่างกันคนละอย่าง ญาติโยมที่รู้เข้าใจชัดเจนก็แยกได้ถูก แต่สำหรับบางท่านที่ยังไม่คุ้น ก็ถือโอกาสทบทวน เป็นการแยกให้เกิดความเข้าใจชัดเจนว่า
ที่เราทำพิธีถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนไปเมื้อกี้นั้นเป็นการทำบุญในโอกาสเข้าพรรษา คือสำหรับวันพรุ่งนี้ แต่ทำให้เสร็จไปเสียก่อน
ส่วนพิธีสำหรับวันอาสาฬหบูชา ก็คือที่กำลังจะทำต่อไปได้แก่ การเวียนเทียน
ทีนี้ การที่เราเอางานบุญสองอย่างมาทำในวันเดียวกัน ก็เพราะว่าสองวันนี้อยู่ใกล้กัน ติดต่อกัน แต่พิธีก็แยกเป็นสองตอนคือ ถวายเทียนพรรษาและถวายผ้าอาบน้ำฝน ก็แยกไปตอนหนึ่งแล้วพิธีเวียนเทียนก็แยกไปอีกตอนหนึ่ง ให้เห็นชัดกันไป ถึงจะเอามารวมกันก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องเข้าใจให้ชัด ก็เลยถือโอกาสพูดจาเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องของความรู้เข้าใจเล็กๆ น้อยๆ
ทีนี้จะเล่าให้ฟังทั้งสองวันนิดหน่อย ก็ต้องพูดเรื่องวันเข้าพรรษาก่อน ทั้งๆ ที่วันเข้าพรรษาที่จริงเป็นวันพรุ่งนี้
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพระวินัย เป็นเรื่องของพระสงฆ์ที่จะต้องอยู่ประจำที่ตลอดเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน ซึ่งเริ่มต้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘
เมื่อพระสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัย ญาติโยมพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ก็มาสนับสนุน ก็เลยเกิดประเพณีทำบุญขึ้นมา เป็นการอุปถัมภ์พระสงฆ์เพื่อให้ท่านมีกำลังที่จะปฏิบัติศาสนกิจ
สาระของการทำบุญในวันสำคัญทางพระวินัย พูดง่ายๆ ก็คือมาอุปถัมภ์พระสงฆ์ เช่นว่า พระสงฆ์อยู่จำพรรษาจะต้องมีผ้าอาบน้ำฝน โยมก็พากันนำผ้าอาบน้ำฝนมาถวาย พระสงฆ์จำพรรษาต้องมีการศึกษาเล่าเรียน ทำกิจวัตรต่างๆ เช่น ทำวัตรสวดมนต์ ซึ่งบางทีก็เป็นเวลาค่ำคืน ต้องอาศัยแสงสว่าง ญาติโยมก็เอาเทียนพรรษามาถวาย
อย่างนี้แหละ การทำบุญเข้าพรรษาด้วยการถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนก็เลยเกิดขึ้นมา แล้วก็ขยายเป็นประเพณีใหญ่โต มีการหล่อเทียน มีการแห่เทียน เป็นเรื่องสืบกันมาแต่โบราณ
การเข้าพรรษา การจำพรรษา ที่จริงเป็นเรื่องของพระ แต่โยมมาสนับสนุนให้พระมีกำลังปฏิบัติศาสนกิจ
การทำบุญวันเข้าพรรษานี้ เห็นชัดๆ ว่าเป็นการมาบำรุงสงฆ์ โยมมาถวายเครื่องสนับสนุนช่วยความเป็นอยู่และการทำกิจของท่านในระยะยาว จึงเป็นการถวายสังฆทาน ครั้งใหญ่ หรือครั้งพิเศษเลยทีเดียว
ในฤดูเข้าพรรษาจะมีพระมากเป็นพิเศษ เพราะเรามีประเพณีบวชเรียน ทำให้มีพระใหม่เพิ่มเข้ามา แล้วก็จะมีการศึกษาเล่าเรียนเป็นพิเศษ
แต่เดี๋ยวนี้ ประเพณีนี้ได้เสื่อมถอยลงไป ผู้บวชที่จะอยู่จำพรรษาเหลือน้อยลง หลวงพ่อจังหวัดหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า ที่จังหวัดของท่านในเขตเทศบาลทั้งจังหวัด พรรษานั้นไม่มีผู้บวชอยู่จำพรรษาเลยแม้แต่รูปเดียว
นี่ก็คือประเพณีนี้ได้เสื่อมถอยลงไป กลายเป็นว่าบวชนอกพรรษากันแค่ประมาณ ๑ เดือน บางทีก็สั้นกว่านั้น เหลือ ๑๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ประเพณีบอกว่าบวชเรียน แต่บวชแค่ ๗ วันนี่ยังไม่ทันได้เรียนอะไร
เวลานี้ โยมมีศรัทธามาก พากันมาถวายสังฆทานเป็นอันดับ ๑ เลย ที่จริงนั้น อย่างที่พูดเมื่อกี้ โยมทำบุญวันนี้แหละคือสังฆทานที่แท้จริง และเป็นครั้งใหญ่พิเศษด้วย โยมได้ทำไปแล้วสบายใจได้เลย
เรื่องถวายสังฆทานนั้น ถ้าทำอย่างวันนี้ ก็เต็มที่เลย แต่ถ้ามาถวายสังฆทานกันแบบกระจัดกระจาย อย่างที่พบบ่อยๆ นั่นสิเป็นปัญหามาก พระก็อยากจะฉลองศรัทธาโยม แต่กำลังตัวเองก็ไม่พอ โดยเฉพาะกำลังในแง่เวลา
จึงต้องทั้งขอทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือโยมว่าการทำบุญอุปถัมภ์พระนั้น ไม่ใช่เฉพาะด้วยทาน หรือบำรุงด้วยวัตถุปัจจัย ๔ เท่านั้น แต่เราสามารถอุปถัมภ์ด้วยการสนับสนุนศาสนกิจ คือ ให้พระมีเวลาไปทำงานของท่าน ไปให้การศึกษา ไปอบรม ไปสั่งสอนต่างๆ ถ้าโยมช่วยอย่างนี้ ก็เป็นการทำบุญด้วย
การที่พระศาสนาจะดำรงอยู่ได้ยั่งยืนนานนั้น ทานหรือพวกวัตถุปัจจัยนั้นเป็นเพียงเครื่องอุดหนุนนะ โยมต้องเข้าใจ คือเป็นเครื่องอุดหนุนเพื่อให้พระมีกำลังทำงานที่เรียกว่า ศาสนกิจ
พระศาสนาอยู่ได้ด้วยศาสนกิจ ที่แท้ คืองานของพระที่ไปให้การศึกษา อบรม สั่งสอน เผยแพร่ธรรมะนี่แหละ
เพราะฉะนั้น โยมจะต้องนึกไว้ว่า การที่เรามาถวายทาน ก็เพื่อให้พระสงฆ์ได้มีกำลังไปทำงานเหล่านี้
ทีนี้ ถ้าทานมีพอแล้ว วัตถุปัจจัยมีมากแล้ว โยมก็อุปถัมภ์ให้พระมีกำลังไปทำงานด้วยการให้เวลา เป็นต้น โยมก็ได้บุญได้กุศลเพิ่มขึ้นไป
แม้แต่เพียงทราบว่าพระท่านทำงานสอนในวัดก็ตาม ไปสอนนอกวัดก็ตาม แล้วโยมชื่นใจด้วย นี่โยมก็ได้บุญแล้ว เรียกว่าเป็นปัตตานุโมทนามัยกุศล
ลองไปดูซิ หลักการทำบุญมีตั้ง ๑๐ อย่าง ที่เรียกบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ไม่ใช่ติดอยู่แค่ทาน เมื่อไรก็ทานๆ ๆ ๆ แต่ศีล ภาวนา ไม่ก้าวหน้าไปเลย
แล้วที่แบ่งย่อยเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นั้น ควรจะทำกันให้ครบ แล้วบุญที่สำคัญมากในที่สุดก็มาบรรจบที่ปัญญา
รวมแล้วก็คือ เราทำบุญทางวัตถุ (ทาน) แล้วก็บุญทางพฤติกรรม กาย วาจา (ศีล) ต่อด้วยบุญทางจิตใจ (จิตตภาวนา) ไปเต็มกันที่บุญทางปัญญา (ปัญญาภาวนา)
ถ้าอยู่แค่ทาน เราก็อยู่แค่ขั้นวัตถุเท่านั้น
จริงอยู่ ถ้าเราทำทานอย่างถูกต้อง ก็ไม่ใช่อยู่แค่วัตถุอย่างเดียว เวลาถวายทานเราก็ต้องมีจิตใจ ต้องมีเจตนา มีศรัทธา ใจจึงมาด้วย ช่วยทำให้พฤติกรรมต้องดีไปเอง คือเป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือเกื้อกูล ทำนุบำรุง นี่คือศีลก็มา และจิตใจก็ดี ตั้งแต่มีเมตตาปรารถนาดี มีความเคารพ สดชื่นเบิกบานผ่องใส ทำทานพร้อมกับได้บุญทางจิตใจ
พอถวายทานแล้ว ก็ได้ฟังพระสงฆ์แนะนำสั่งสอนให้ความรู้ธรรมะ ได้ปัญญารู้เข้าใจ แล้วก็ได้พิจารณามองเห็นประโยชน์ของทานที่ตัวได้บำเพ็ญไปว่า พระท่านได้อาศัยทานที่เราถวายไปนี้แล้ว ท่านมีกำลังแล้ว ท่านก็จะไปปฏิบัติธรรม จะไปเล่าเรียนศึกษา ไปบำเพ็ญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา เพราะท่านมีกำลังจากทานที่เราถวาย แล้วท่านก็ไปสั่งสอนญาติโยมประชาชน ทำให้พระศาสนาแผ่ขยายไพศาล ช่วยให้ประชาชนหรือสังคมอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข
เมื่อมองเห็นว่า ทานที่เราทำนี่ เรามองเห็นด้วยปัญญาว่ามีประโยชน์ มีคุณค่ามหาศาล โยมก็มีปีติ ปลาบปลื้มใจ อย่างนี้จึงจะได้บุญจริง เต็มความหมาย
ไม่ใช่นึกแค่ว่าไปถวายสังฆทาน พอถวายเสร็จก็จบ แล้วก็ไปนึกวาดภาพว่าเดี๋ยวเราคงจะถูกล็อตเตอรี่ที่หนึ่ง ร่ำรวยได้เป็นเศรษฐี ไม่ใช่แค่นั้น
ต้องมองให้กว้าง อย่างน้อยใจต้องดี ต้องสดชื่นเบิกบานผ่องใส ให้ได้ความสุขตั้งแต่เวลาที่ถวายไปเลย แล้วก็สุขยั่งยืนด้วย นึกเมื่อไรก็มีปีติ ปลาบปลื้มใจ อิ่มใจ มีความสุขทุกทีไป
เพราะฉะนั้น แม้แต่ทำทาน ก็ต้องให้ได้ครบ ให้ได้ทั้งศีลพ่วงมากับทาน ด้านจิตใจก็ได้สมาธิมาพ่วงกับทาน จนกระทั่งปัญญาก็พ่วงมากับทานเสร็จ นี่คือถวายทานอย่างถูกต้อง
แต่บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องถวายวัตถุก็ได้ อย่างที่ว่า ถ้าวัตถุมีเพียงพอแล้ว เราก็ทำบุญด้วยการอุปถัมภ์ศาสนกิจของพระสงฆ์ ให้รู้เข้าใจว่า พระสงฆ์ท่านมีหน้าที่อะไร เมื่อท่านฉันอาหารแล้ว ท่านมีกำลังกายแล้วท่านก็ไปทำหน้าที่นั้น เมื่อท่านทำหน้าที่ถูกต้อง ใจของเราก็ชื่นชมเบิกบาน เราก็อนุโมทนาด้วย
เราจะส่งเสริมให้พระสงฆ์ทำหน้าที่ของท่านได้อย่างไร เราจะช่วยให้พระศาสนาเจริญขึ้น ให้ธรรมะแพร่หลายขยายไปได้อย่างไร ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้ว บุญจะเจริญเพิ่มพูนไม่รู้จักจบเลย เรียกว่าก้าวไปในบุญ แล้วบุญก็จะเจริญงอกงามจนกระทั่งไพบูลย์
เพราะฉะนั้น ชาวพุทธอย่าได้หยุดติดอยู่แค่บุญขั้นต้นอย่างเดียว ตัวเองก็ต้องก้าวหน้าต่อไปในบุญให้สูงขึ้นไป แล้วก็ชักนำคนอื่นแผ่ขยายบุญให้แผ่ไพศาล แล้วทั้งชีวิตของเราและสังคมก็จะดีงามมีความสุข
บุญต้องพัฒนา ไม่ใช่เมื่อไรๆ ก็อยู่แค่นั้น ไม่ไปไหนสักที
เอาละ กลับมาเรื่องเก่า เป็นอันว่าวันนี้ ญาติโยมมาทำบุญเข้าพรรษา ก็คือมาอุปถัมภ์ศาสนกิจ เช่น ให้พระมีผ้าอาบน้ำฝน ให้ท่านมีเทียนพรรษาคือดวงไฟแสงสว่าง ที่จะได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนอ่านตำรับตำรา ทำวัตรเช้า-ค่ำ สวดมนต์ ภาวนา ได้เรียนรู้ได้เข้าใจอะไรต่างๆ แล้ว แสงสว่างของวัตถุ ก็กลายเป็นแสงสว่างของปัญญา
เราถวายวัตถุแสงเทียนหรือแสงประทีปนี้ มีความหมายขยายไปถึงแสงแห่งปัญญาด้วย ก็ขอให้โยมทุกท่านไปกันให้ถึงปัญญา
เป็นอันว่า เราได้มาทำบุญอุดหนุนพระสงฆ์ให้ทำกิจพระศาสนา การทำบุญเข้าพรรษาเป็นการทำบุญช่วงยาว หมายความว่า วันนี้เราถวายทานในวันเริ่มต้นพรรษา แล้วท่านก็อาศัยทานที่เราถวายนี่ใช้ไปอย่างน้อย ๓ เดือน นี่คือสังฆทานครั้งใหญ่ โยมก็สบายใจปลื้มใจได้เต็มเปี่ยมเลย
เรื่องเข้าพรรษา ก็เอาแค่พอเข้าใจเท่านี้
ต่อไปเรื่องที่สอง ก็คือการทำบุญวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นตัววันจริงที่ตรงในวันนี้ อันมีพิธีสำคัญอยู่ที่การเวียนเทียน ญาติโยมจำนวนมากมุ่งมาเวียนเทียน
เวียนเทียนนั้น ไม่ใช่เรื่องของการเข้าพรรษา แต่เป็นเรื่องของอาสาฬหบูชา และเรื่องวันอาสาฬหบูชามีความหมายว่าอย่างไร ก็แทบจะไม่ต้องอธิบาย เพราะถือว่ารู้กันอยู่แล้ว อาจจะพูดพาดพิงเพียงนิดหน่อย
อย่างไรก็ตาม อาสาฬหบูชาครั้งนี้มีข้อที่ควรจะเอ่ยถึงเป็นพิเศษหน่อยหนึ่ง คือว่า วันนี้ต้องถือว่าเป็นวันฉลองครบ ๕๐ ปีของการเกิดขึ้นแห่งพิธีอาสาฬหบูชา หลายท่านลืมหมดแล้ว
วันอาสาฬหบูชาเพิ่งเกิดขึ้นมาได้ ๕๐ ปี ครบครึ่งศตวรรษวันนี้ จะถือเป็นวันฉลองก็ได้ แต่ไม่มีใครคิดฉลองเลย เรื่องเป็นอย่างไร
แต่ก่อนนี้เคยเล่าให้ฟัง ดูเหมือนจะเล่าหลายครั้งแล้วว่าประเพณีทำบุญบูชานี่ปกติแต่เดิมมาเรามีวันเดียว คือวันวิสาขบูชา คือ วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
แล้วเนื่องกันกับวันวิสาขบูชา พอปรินิพพานแล้ว ก็เลยมีอีกวันหนึ่งพ่วงมา คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ที่เรียกว่า“วันอัฏฐมีบูชา” คือวันแรม ๘ ค่ำ ต่อจากวันวิสาขบูชา
โบราณมีแค่ ๒ วันเท่านี้ แต่ปัจจุบันวันอัฏฐมีบูชาแทบไม่มีใครรู้จักแล้ว เพราะแทบไม่ได้จัดกัน ก็เหลือเพียงวันวิสาขบูชาเป็นหลักมาตลอด
วิสาขบูชานี้ ในประเทศพุทธศาสนาก็มีทุกประเทศ แม้ว่าบางประเทศจะไม่ได้ถือจันทรคติ อย่างญี่ปุ่นเขานับวันวิสาขบูชาตามแบบปฏิทินสุริยคติ คือแบบเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ฯลฯพฤษภาคม เขาไม่ได้นับเดือนหกอย่างเรา
ทีนี้ของเราก็มีวิสาขบูชามาตลอด ในสมัยอยุธยาจัดเป็นงานใหญ่ แต่พอมารัตนโกสินทร์หลังกรุงแตกแล้ว ชาวพุทธไทยแตกกระสานซ่านเซ็น ประเพณีก็เลยเสื่อมหาย จนกระทั่งสมเด็จพระสังฆราชมี ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงเสนอฟื้นฟูขึ้นมา ให้ทำกันเป็นการใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เข้มแข็งมั่นคงจนกระทั่งเดี๋ยวนี้
เราต้องยอมรับว่า วิสาขบูชาของเราไม่เข้มแข็งมั่นคงเหมือนในศรีลังกา ที่เขาสืบทอดมาแต่โบราณจนปัจจุบัน เขามี ๗ วัน ๗ คืน ทำกันเป็นการใหญ่มาก
เอาละ เป็นอันว่า ของไทยเราก็มีวิสาขบูชาเป็นแกนมาจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔ ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงเป็นผู้นำจัดให้มีพิธีบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓ ขึ้น ที่เรียกว่า “มาฆบูชา”
เวลาผ่านมาๆ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลไทยได้จัดงานบุญใหญ่เรียกว่า “ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ” ที่ชาวบ้านชอบเรียกว่า ฉลองกึ่งพุทธกาล
พอทำบุญฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษเสร็จ ทางคณะสงฆ์ตอนนั้นมีการปกครองแบบเก่า ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งมีคณะสังฆมนตรี
ตอนนั้นสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา ชื่อว่าท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ อยู่วัดมหาธาตุ ในกรุงเทพฯ แต่เป็นเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี ท่านก็เสนอขึ้นมาว่า วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนานี้ น่าจะถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ควรฉลองหรือทำบุญบูชาด้วย
คณะสังฆมนตรีก็เสนอไปยังรัฐบาล ซึ่งตอนนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลก็เห็นด้วย และได้ประกาศให้มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง คือ “วันอาสาฬหบูชา” เป็นวันบูชาเนื่องในการแสดงปฐมเทศนาประกาศธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
นั่นคือ ปีถัดจาก พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ก็เป็น พ.ศ. ๒๕๐๑ เมื่อนับมาถึงวันนี้ก็จึงครบ ๕๐ ปี
เพราะฉะนั้น วันนี้จึงเป็นวันครบ ๕๐ ปีของการมีพิธีอาสาฬหบูชา นี่ก็เลยเล่าเป็นความรู้ให้ญาติโยมฟัง
ทีนี้พอมีเป็นหลัก ๓ วันแล้ว คือ วันวิสาขบูชา มาฆบูชาอาสาฬหบูชา ก็เลยมาคิดกันว่า เอ้อ ๓ วันนี้ เรามาเรียกเป็นวันพระรัตนตรัย แยกเป็นแต่ละวันๆ ก็ดีนะ
วันวิสาขบูชานี้ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ปรินิพพาน เป็นวันเกี่ยวกับองค์พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นน่าจะเรียกว่าเป็นวันพระพุทธเจ้า ก็ดูสมเหตุสมผลดี
ทีนี้ก็มาดูว่า เออ... วันมาฆบูชาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ก็เป็นการแสดงหลักใหญ่แห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า คือหลักใหญ่แห่งธรรมะ หรือหลักการของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ฉะนั้น น่าจะถือว่าวันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม ก็เลยบอกว่าให้วันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม
ส่วนวันอาสาฬหบูชานี่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เบญจวัคคีย์ แล้วหัวหน้าเบญจวัคคีย์ ชื่อว่าโกณฑัญญะ ได้ฟังแล้วบรรลุธรรม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อัญญาสิ วต โภโกณฑัญโญ” ที่แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ก็เลยเติมชื่อให้ท่าน เหมือนกับเป็นสมญาว่า อัญญาโกณฑัญญะ (แต่ประเทศอื่นเขาเรียก อัญญาตโกณฑัญญะ เพี้ยนกันนิดหน่อย)
ทีนี้ ท่านขอบวช ก็เลยเป็นพระภิกษุองค์แรก เราก็ถือว่าเออ... ในวันอาสาฬหบูชานี่เกิดพระภิกษุองค์แรก ซึ่งเป็นพระสาวกองค์แรกในอริยสงฆ์นะ ถ้าอย่างนั้นเราก็เรียกวันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระสงฆ์ ดูเข้าเหตุผลดี
ก็เลยคล้ายๆ ตกลงกันมา แต่ที่จริงก็ไม่ได้มีการตกลงเป็นทางการหรอก แต่คล้ายๆ ถือกันมาว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า วันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม วันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระสงฆ์
แต่ว่ากันไปแล้ว ที่จริง ตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติเองนั้น วันของอาสาฬหบูชาเกิดก่อนวันของมาฆบูชา เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ก็คือเทศน์ครั้งแรก จนกระทั่งมีสาวกองค์แรกขึ้นมา ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิ-โมกข์ในวันมาฆบูชานั้น มีพระสงฆ์ตั้ง ๑๒๕๐ รูปแล้ว
ทีนี้บางท่านก็มาคิดว่า เอ... วันอาสาฬหบูชานี่ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ครั้งแรก เป็นวันประกาศธรรมะนี่ น่าจะเป็นวันพระธรรม ก็เลยบอกว่าน่าจะเอาวันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระธรรม ดูมีเหตุผลอยู่ ก็ว่าไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องไปเถียงกันหรอก อันนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงว่ามาหรอก เรามาว่ากันเอง ตกลงกันอย่างไรก็ได้ ให้มันได้ความหมายดีก็แล้วกัน เมื่อได้ความหมายเป็นประโยชน์ มีคุณค่า และให้เกิดผลในการปฏิบัติ เอามาใช้ได้ละ ก็เป็นดีที่สุด
ทีนี้ เราก็มาถึงวันอาสาฬหบูชาละ จะเรียกเป็นวันพระสงฆ์ก็สุดแต่เห็นเหมาะ เพราะสอดคล้องเข้าในชุดอย่างที่ว่ามาแล้วจะถืออย่างนั้นก็ถือไป
แต่ถ้าพูดตามเหตุการณ์ ก็เรียกว่าเป็นวันประกาศพระธรรมจักร และแสดงมัชฌิมาปฏิปทา หรือประกาศพระธรรมจักรแสดงทางสายกลาง อันนี้คือตัวเหตุการณ์ที่แท้
เมื่อกี้บอกว่า วันอาสาฬหบูชานั้น มาถึงวันนี้ครบ ๕๐ ปี แต่เหตุการณ์ของอาสาฬบูชานั้น ๒๕๙๕ ปีแล้วนะ ไม่ใช่ ๕๐ ปี ที่ว่า ๕๐ ปี คือพูดตามที่เราได้จัดได้มีพิธีบูชากันมา
ทีนี้ ก็มาพูดกันถึงวันอาสาฬหบูชาว่า ในวันนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือเทศน์ครั้งแรก เป็นการเริ่มประกาศพระพุทธศาสนา
พระธรรมที่เทศน์นั้นเป็นพระสูตร เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อแห่งธรรม
เรียกกันง่ายๆ ว่าเป็นวันประกาศพระธรรมจักร คือ ไม่จำเป็นต้องเรียกเต็มว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
คำว่า “ธรรมจักร” นี้ เป็นทั้งเนื้อหาสาระของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และบางครั้งก็ใช้เป็นคำเรียกแทนพระสูตรนี้ทั้งสูตรด้วย
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น มีสาระสำคัญที่ขึ้นต้นด้วยมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง และทางสายกลางนี่โยงต่อไปถึงอริยสัจ
เมื่อพูดถึงทางสายกลางแล้ว ทางสายกลางนั้นก็นำไปสู่อริยสัจแน่นอนอยู่ในตัว ก็เลยไม่ต้องเอ่ยชื่ออริยสัจออกมา พูดแค่ว่าทางสายกลางก็พอ
เพราะฉะนั้น เมื่อจะพูดให้กะทัดรัด ก็บอกว่า วันอาสาฬหบูชา คือ วันประกาศพระธรรมจักรและแสดงมัชฌิมาปฏิปทาหรือวันประกาศพระธรรมจักรและชี้ทางสายกลาง
เรื่องธรรมจักรกับทางสายกลางนี้ เป็นเรื่องที่เนื่องกัน วันนี้ก็จะคุยกับโยมเป็นความรู้เกร็ดๆ ไม่ต้องลงลึกอะไรนัก
แต่จะรู้จักธรรมจักร ก็ต้องรู้จักจักรก่อน เพราะธรรมจักรก็มาจากจักร
“จักร” แปลว่าอะไร พอพูดว่าจักร เราก็นึกถึงวงกลมๆ อะไรเป็นจักร มันก็ต้องเป็นวงกลมๆ และ จักรที่รู้จักกันมาแต่ไหนแต่ไร ก็คือ ล้อ จำพวกล้อเกวียน ล้อรถ อะไรพวกนี้ นี่แหละจักรของแท้แต่ดั้งแต่เดิม
ทีนี้จักร หรือล้อนี่ เมื่อเกิดขึ้นมาสมัยก่อนนั้น คนตื่นเต้นมาก เพราะนำความสะดวกสบายและความเจริญมาให้ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ ของความก้าวหน้างอกงามแห่งอารยธรรมของมนุษย์
เมื่อมนุษย์สามารถเดินทางด้วยยานพาหนะ โดยมีล้อขึ้นมา ความเจริญก็เกิดขึ้นมากมายและรวดเร็ว ใช้ภาษาจีนแดงว่า แบบก้าวกระโดดเลย
เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องธุรกิจการค้า มีกองเกวียนคาราวานไปในแว่นแคว้นประเทศต่างๆ สื่อสารกันไปได้ทั่วถึง หนึ่งละนะ ด้านการค้าพาณิชย์
แล้วความเจริญก็ตามมากับพาณิชยกรรมนั้น เพราะนอกจากการค้าขายแล้ว วัฒนธรรมและอะไรต่ออะไรก็ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การถ่ายทอดความรู้ การเล่าเรียนวิทยาการต่างๆ ในสมัยโบราณก็พ่วงไปกับการค้านี่แหละมาก
เพราะฉะนั้น ล้อรถจึงเป็นเครื่องหมายของความเจริญ หรือเป็นสัญลักษณ์แห่งการพัฒนาอย่างสูงของอารยธรรม
แต่ไม่ใช่เท่านั้น เมื่อล้อเกิดขึ้นแล้ว พอรถไปได้ มันไม่แค่การค้าพาณิชย์หรือธุรกิจเท่านั้น แต่มันหมายถึงอำนาจของพระราชาด้วย เพราะว่า ตอนนี้พระราชาก็มีรถศึกแล้วละ
แต่ก่อนโน้น ต้องรบกันด้วยช้าง ด้วยม้า ด้วยทหารราบตอนนี้มีรถม้าด้วย มีรถศึกแล้ว อย่างน้อยก็มีรถขนเสบียงและบรรทุกยุทโธปกรณ์ การศึกสงคราม การแผ่ขยายอำนาจ ก็ยิ่งเกริกก้องเกรียงไกร
เพราะฉะนั้น ก็กลายเป็นว่า การมีล้อนี่เอง ได้ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าเหล่านี้ ล้อก็คือเครื่องหมายของรถนั่นเองเพราะมันหมุนพารถไปให้คนสามารถแผ่ขยายอำนาจได้
ต่อมา “จักร” หรือล้อ ก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ หมายถึงการแผ่ขยายไปแห่งอำนาจ ล้อรถศึกหมุนไปถึงไหน อาณาคืออำนาจปกครองบังคับ ก็แผ่ขยายไปถึงนั่น ก็เลยเกิดคำว่าอาณาจักรขึ้นมา
“อาณาจักร” ก็คือ ดินแดนที่วงล้อแห่งอำนาจหมุนไปถึงเดี๋ยวนี้เราก็ยังใช้อยู่ เราใช้กันโดยไม่รู้เลยใช่ไหมว่า อาณาจักรก็คือ วงล้อแห่งอำนาจ
แต่ก่อนนี้ ล้อรถศึกพาอาณาคืออำนาจไป ล้อรถไปถึงไหนอำนาจของพระราชาก็ไปถึงนั่น อาณาจักร ก็คือ ดินแดนที่อยู่ในอำนาจของพระราชาพระองค์นั้น
แล้วอันนี้ก็จะโยงมาหาธรรมจักร
พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า ล้อรถที่พาอำนาจไปนั้นบางทีมันพาไปแต่ความเดือดร้อน พาสงครามไป พาการเบียดเบียนไป พาเอาความเดือดร้อนไปให้เขา เพราะฉะนั้นควรคิดกันให้ดี ควรจะให้วงล้อนี้เป็นเครื่องนำเอาสิ่งที่สูงส่งกว่านั้นไปด้วย อะไรที่ดีที่งามที่สูงที่ประเสริฐ นั่นก็คือธรรม เพราะฉะนั้น วงล้อนี้ควรจะนำธรรมะไป นี่แหละจึงได้เกิดคำว่า “ธรรมจักร” ขึ้น
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือพระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรมนี้ จึงเป็นพระสูตรที่ปฏิวัติความคิดมนุษย์ ที่ประกาศขึ้นมาใหม่ว่า ท่านผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย อย่ามัวคิดแต่จะแผ่ขยายอาณาที่ก่ออาชญากันเลย แต่จงหันมาแผ่ขยายธรรม คือความดีงามของมนุษย์และปัญญาที่รู้ซึ้งเข้าถึงธรรมชาติกันเถิด
เพราะฉะนั้น แทนที่จะมีเพียงอาณาจักร ก็ให้มีธรรมจักรด้วย พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก ก็เหมือนทรงหมุนวงล้อแห่งธรรม ให้วงล้อธรรมะหมุนพาธรรมนั้นแผ่ขยายไป
เมื่อวงล้อแห่งธรรมนี้หมุนไปถึงไหน ดินแดนแห่งความร่มเย็นเป็นสุขด้วยธรรมะ ก็จะแผ่ขยายไปถึงนั่น
ดังนั้น “ธรรมจักร” จึงมีความหมาย ๒ อย่าง เช่นเดียวกับอาณาจักร
หนึ่ง หมายถึงวงล้อแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงหมุน คือธรรมะที่ทรงประกาศ
แล้วสืบเนื่องจากหนึ่ง วงล้อนี้หมุนไปเพื่ออะไร ก็เพื่อพาเอาธรรม คือความดีงาม ความร่มเย็นเป็นสุข แผ่ขยายออกไป ให้เกิดมี
สอง ดินแดนที่วงล้อแห่งธรรมนั้นหมุนไปถึง ซึ่งกลายเป็นดินแดนแห่งธรรม
เป็นอันว่า “ธรรมจักร” ก็เลยแปลได้ว่า
๑. วงล้อแห่งธรรม หรือธรรมดุจวงล้อ ที่ถูกหมุน คือถูกประกาศ ถูกเผยแผ่สั่งสอน และ
๒. ดินแดนที่วงล้อแห่งธรรมหมุนไปถึง หรือแผ่ไปถึงธรรมจักร จึงเป็นทั้งธรรมที่ทรงแสดง และเป็นทั้งดินแดนแห่งธรรม
พระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรม ยังธรรมจักรให้หมุนออกไปและทรงสถาปนาธรรมจักร ด้วยธรรมจักรที่หมุนออกไปนั้น
รวมความว่า วันอาสาฬหบูชานี้ เป็นวันที่สำคัญมากเพราะเป็นวันแห่งธรรมจักร คือวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมจักร ซึ่งเตือนใจเราว่า พวกเราชาวพุทธในบัดนี้ ควรพยายามสร้างธรรมจักร คือ ดินแดนแห่งธรรมให้เกิดขึ้น ให้เรามีครบ ทั้งอาณาจักร และธรรมจักร
เมื่อมีล้อ จึงมีรถ หรือมียานพาหนะ และเมื่อมีรถ มียานพาหนะ ก็ต้องมีทางไป และทางนั้นก็จะต้องเป็นทางที่ถูกต้อง ที่จะพาไปดี ไปให้ถึงที่หมาย
ทางไปที่ถูกต้อง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงชี้บอก คือทางสายกลาง และธรรมจักรคือล้อแห่งธรรม ก็หมุนพารถไปตามทางสายกลางนี้
ที่ว่ามานั้นคือความหมายสำคัญ ที่เราจะต้องเข้าใจ เรื่อง “จักร” ทั้งหลาย จนถึงธรรมจักรนี้ เป็นเรื่องใหญ่มาก ทั้งสัมพันธ์กับและสำคัญต่ออารยธรรมของโลก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงได้บอกว่าวันนี้จะเล่าเป็นเรื่องเกร็ดๆ ให้โยมฟัง
มาดูความหมายของศัพท์ก่อน เมื่อกี้พูดไปทีหนึ่งแล้ว “จักร” นี้ ไทยเราใช้ตามรูปสันสกฤต (จกฺร) แต่ในภาษาบาลี ท่านเขียนสอง ก เป็น จกฺก
“จักร” คือวัตถุที่มีรูปทรงเป็นมณฑล คือเป็นรูปวงกลม แต่ถ้าแค่เป็นมณฑล ก็อาจจะเป็นรูปทรงกลมที่อยู่นิ่งๆ
ทีนี้ จักร นั้น นอกจากเป็นมณฑล มีรูปทรงกลมๆ แล้ว ยังมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง คือมันเคลื่อนไหวด้วย และการเคลื่อนไหวของมันนั้น มีอาการที่เป็นวัฏฏะ คือหมุน หรือวน
เพราะฉะนั้น จักร จึงเป็นวงที่วน หรือเป็นวงกลมที่หมุนได้ เป็นอันว่า จักรมีลักษณะ ๒ อย่างที่สำคัญ คือ หนึ่ง รูปทรงมันกลม และ สอง มันมีอาการหมุนได้
รวมแล้วก็เป็นวงกลมที่หมุน ดังตัวอย่างที่รู้จักกันดีก็คือ วงล้อ หรือล้อนี่เอง
วงกลมที่หมุนได้นี้แหละสำคัญอย่างยิ่ง มันเป็นเครื่องหมายของอารยธรรมมนุษย์ตลอดมา เรียกได้ว่าทุกยุคสมัยจนกระทั่งปัจจุบันนี้
เดิมทีนั้น จักรก็เป็นวงกลมธรรมดา อย่างลูกตาดำเรานี้ก็เป็นวงกลม เป็นอักขิมณฑล แต่คงจะเป็นเพราะมันเคลื่อนไหว (กลอกไปกลอกมา มองกวาดและกราดไปได้ทั่วๆ รอบๆ) ก็เรียกว่าจักรอย่างหนึ่ง (เป็นอักขิจักร) นี่จักรเล็ก
แล้วก็มีจักรอื่นที่ใหญ่ขึ้นไปๆ จนถึง “จักรราศี” แล้วก็ “จักรวาล” ก็เป็นจักร
จนกระทั่งเข้ามาในพุทธศาสนาแบบวัชรยาน เกิดเป็นวงล้อมหึมาแห่งกาละ เรียกว่า “กาลจักร” ที่โยงเข้าด้วยกันทั้งด้านกาละ ด้านเทศะ และด้านจิต ที่นับถือเป็นตันตระอันยิ่งใหญ่สืบมาในทิเบต
เอาละ นี่เป็นด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ แต่ไปๆ มาๆ ชักจะเลยไปทางลึกลับ พอแค่นี้ก่อน
ทีนี้ เรามาดูจักรที่เข้ามาสู่การใช้ประโยชน์ของมนุษย์
ในสมัยพุทธกาล จักรได้ถูกนำมาใช้ในความเป็นอยู่ของมนุษย์หลายอย่าง อย่างหนึ่งที่เด่นมากก็คือ แป้นหมุนของช่างหม้อในการปั้นหม้อ
ช่างหม้อ สมัยนั้นเรียกว่ากุมภการ เวลาปั้นหม้อนั้นเขามีแป้นหมุน และเขาก็ปั้นหม้อบนแป้นหมุนนั้น ซึ่งเรียกว่าจักร หรือเรียกเต็มคำว่า “กุมภการจักร” แปลว่าจักรของช่างหม้อ ก็คือแป้นหมุนของช่างหม้อนั่นแหละ เมื่อก้อนดินอยู่บนแป้นหมุนแล้วจะทำหม้อโดยปั้นแต่งแปลงรูปอย่างไรก็ง่าย เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานสมัยนั้น
เทคโนโลยีประเภทจักรคงจะมีอีกหลายอย่าง ดังที่บางทีก็พบในพระไตรปิฎก อย่างเรื่องในพระวินัยว่า สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้เถาวัลย์บ้าง ประคดเอวบ้าง ผูกภาชนะตักน้ำ ต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตอุปกรณ์ต่างๆ จนถึงคันโพง ระหัด และจักรผันน้ำ ที่ท่านเรียกว่า “จักรวัฏฺก์” (วินย.๗/๙๕/๓๖, คำบาลีว่าจกฺกวฏฺฏก, กลับกันกับที่ไทยเราบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใช้ว่า วัฏจักร ซึ่งมีความหมายอย่างอื่น และไม่มีในภาษาบาลี)
เรื่องเก่าๆ แบบนี้ พอละ คนสมัยนี้ไม่รู้จักช่างปั้นหม้อแล้ว จักรวัฏฺก์ ก็ไม่ทันเห็น
เอาจักรที่มีมาถึงปัจจุบันนี้ ก็คือล้อรถ ล้อเกวียน เป็นเทคโนโลยีที่มีอายุยืนยาวที่สุด แม้จะแปลงรูปมาเรื่อยๆ
อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เมื่อมีล้อเกิดขึ้น ล้อก็หมุนพาเกวียนไป พารถไป ทำให้การเกษตรเจริญขยายกว้างถึงกัน ทำให้การค้าพาณิชย์รุ่งเรือง ทำให้การเมืองการทหารแผ่อำนาจรุกไปฉับไวเร็วไกล เข้าสู่ยุคที่คนสื่อสารคมนาคมกันได้กว้างไกลไพศาล เรียกว่าเป็นความเจริญของอารยธรรม
เพราะฉะนั้น จักรจึงเป็นเครื่องหมายของความเจริญแห่งอารยธรรมมนุษย์ อย่างที่บอกไปแล้ว ที่เด่นก็คือ ทางด้านอำนาจและความเจริญทั้งด้านการเมืองและในเรื่องบ้านเมือง จักรก็เข้ามาอยู่ในคำสำคัญ ที่เรียกว่า “อาณาจักร”
คำว่า “จักร” นี้ ตามศัพท์ ท่านแปลว่า “สิ่งที่บดแผ่นดินไป”คือเวลามันหมุนไป มันก็บดผืนแผ่นดินไป เป็นความหมายในเชิงแสดงอำนาจ ใช้กำลัง กด ข่ม หรือทำลาย
จากล้อรถ จักรก็มาเป็นอาวุธของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ คือพระนารายณ์ เรียกว่า จักราวุธ
พระนารายณ์มีจักรเป็นอาวุธ จักราวุธของพระนารายณ์นั้นเป็นวงกลมที่มีขอบเป็นจักๆ นี่คือ วงจักรบาลีสันสกฤต มามีจักไทยเป็นขอบ รวมกันนะ อย่าเพิ่งงง
พูดอีกทีว่า จักรที่มีขอบเป็นจักๆ นี้ มาเป็นอาวุธของพระนารายณ์ พระนารายณ์พิโรธ ไม่พอพระทัยใคร ก็ขว้างเปรี้ยงไปตัดคอเลย นี่เป็นเครื่องหมายของอำนาจชัดเลย
แล้วก็มีการลงโทษชนิดหนึ่งในแดนของเปรต ซึ่งใช้จักรหมุนบดบนศีรษะ
รวมแล้วก็เป็นทั้งการมองและการใช้จักร ในฐานะเป็นเครื่องมือของอำนาจและความรุนแรง เป็นเรื่องของอาณา แล้วก็อาชญา
พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นว่า จักรนั้นคนเอามาใช้กันมุ่งไปแต่ในเรื่องของอำนาจ เรื่องความรุนแรง มีการเบียดเบียนกันมาก ไม่เป็นการสร้างสรรค์ที่แท้จริง ควรจะนำมาใช้ในทางของความดีงาม การแสวงปัญญา และการพัฒนามนุษย์ หรือพูดสั้นๆ ว่า ใช้ในเรื่องของ “ธรรม”
คำศัพท์ใหม่ และความคิดใหม่ว่า “ธรรมจักร” จึงเกิดขึ้นมา อย่างที่ว่าเมื่อกี้
เพราะฉะนั้น เราจะต้องเข้าใจถึงความสำคัญของธรรมจักรโดยเฉพาะต้องจับแนวคิดใหม่นี้ให้ได้ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงหันเหแนวทางของอารยธรรมมนุษย์ เอาละ ขอผ่านไป
เป็นอันว่า ในอดีตตอนนี้ จักรได้นำมนุษย์เข้าสู่ขั้นตอนแรกที่สำคัญของอารยธรรม ทำให้มีรถ มียานพาหนะ ที่จะเดินทางไปได้ไกลๆ ทั้งในการค้าพาณิชย์ เรื่องธุรกิจ วัฒนธรรม และการแผ่อำนาจ แต่ก็ยังเรียกกันว่าเป็น ยุคเกษตรกรรม
ต่อมา มนุษย์ก็ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ถัดต่อมา ที่เรียกว่า “ยุคอุตสาหกรรม” และก้าวที่ว่านั้นก็ต้องอาศัยจักรนี่แหละเป็นตัวขับเคลื่อน
คราวนี้ นอกจากจักรที่พารถไปบนถนนในที่แจ้งแล้ว ก็เกิดจักรในรูปแบบหลากหลายขึ้นมา เป็นส่วนประกอบที่ซับซ้อนในโรงงาน และในเครื่องยนต์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกงจักร ลูกโม่ รอก มอเตอร์ กังหัน ฯลฯ
คราวนี้จักรแบบพระนารายณ์ คือจักรที่มีขอบรอบตัวเป็นจักๆ หรือหยักๆ ก็ได้เข้ามามีบทบาทในเครื่องจักรเครื่องยนต์อย่างมาก เรียกกันว่า เฟือง หรือฟันเฟือง ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอุตสาหกรรม บางทีก็เป็นสัญลักษณ์ของวิชาวิศวกรรม จำพวกที่เรียกได้ว่าจักรยนตรศาสตร์
เป็นอันว่า เรื่องวงกลมนี้สำคัญมาก วงกลมที่หมุนนี่แหละ เป็นตัวแกนเลย ถ้าไม่มีวงจักรวงกลมอันนี้ อุตสาหกรรมก็คงไม่ไปไหน
พูดได้ว่า ยุคอุตสาหกรรมก้าวมาได้ด้วยมีวงกลมที่หมุนคือจักรนี้เป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งจักรขอบเรียบ และจักรมีหยักที่ขอบหรือที่ขอบเป็นจักๆ
วงกลมที่หมุนอันนี้ ซึ่งตอนนี้อาจจะมีรูปแปลกๆ ใหม่ๆ ก็ขับเคลื่อนความเจริญมาจนกระทั่งให้มนุษย์เดินทางไปได้แม้แต่ในอวกาศ
เครื่องบินที่เป็นผลผลิตแห่งความเจริญอย่างสูงของยุคอุตสาหกรรม ก็มาผลักดันความเจริญทางด้านการสื่อสารคมนาคม ไต่มาตั้งแต่เครื่องยนต์ใบพัด จนมาเป็น turbojet
เทอร์โบเจ๊ตนี้ก็จักรอีกนั่นแหล่ะ คือ แว่นวงกลมแหวะเป็นใบพัดที่จะหมุนอัดแก๊สไอน้ำมันเพิ่มแรงพุ่งขับเคลื่อนเครื่องยนต์ไป เป็นเครื่องบินไอพ่น ไปจนถึงยานอวกาศ
อุตสาหกรรมเจริญเรื่อยมาจนกระทั่งเวลานี้ ที่บอกกันว่าเราก้าวผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมแล้ว มนุษย์เจริญเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “ไอที” เป็นยุคของเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสาร บางทีเรียกให้โก้ขึ้นอีกหน่อยว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ
ตัวเอกของยุคไอที ก็คือคอมพิวเตอร์ จนบางที แทนที่จะเรียกว่ายุคไอที ก็เรียกง่ายๆ ว่า ยุคคอมพิวเตอร์
ในคอมพิวเตอร์นั้น ก็รู้กันว่าตัวทำงานคือ CPU (central processing unit)
แต่คอมพิวเตอร์ ถ้ามี CPU อย่างเดียว ก็อยู่ที่นั่นแหละ ไม่ไปไหน เหมือนคนมีแต่สมอง พาไปไหนไม่ได้ คงจะคล้ายกับรถยนต์ ที่มีตัวทำงานคือเครื่องยนต์ ซึ่งมักอยู่ในส่วนหน้าของรถแต่ถึงจะมีเครื่องยนต์ดีพร้อมอย่างไร ถ้าไม่มีล้อ มันก็ทำหน้าที่เป็นรถไปไม่ได้ หรือเหมือนเครื่องบินที่มีเครื่องยนต์ แต่ไม่มีใบพัดไม่มีไอพ่น ก็ไม่ไปไหน
เรามักจะลืมว่า กงล้อที่พาเราก้าวไปสู่ความเจริญในยุคนี้ก็คือจักรเหมือนกัน จักรตัวนี้เขาเรียกกันว่า disc หรือ disk
ถึงตัว CPU เอง ก็ทำงานเป็นจักรเหมือนกัน แต่เป็นจักรทางอิเล็กทรอนิกส์ คือนับจำนวน cycles เป็น “จักร” ที่ตามองไม่เห็น
หันมาดู Disk ดิสก์นี้ ก็คือวงกลม หรือจานกลมๆ ที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ตอนแรกมีแต่ diskette หรือ floppy disk และ hard disk ที่พวกโปรแกรมสำคัญทั้งหลาย ตั้งแต่ วินโดวส์ออฟฟิซ จนถึงพวก Web browsers มาเข้าประจำที่ในการทำงานขับเคลื่อน แล้วต่อมาก็มี CD ที่ย่อจาก Compact Disc และ DVD คือ Digital Video Disc มาเสริมช่วย ก็ disk ทั้งนั้น
ขอแทรกหน่อย ได้ลองไปดูในภาษามลายูว่า ชาวมลายูเรียก disk เหล่านี้ว่าอย่างไร ปรากฏว่า เขาเรียก disk ทุกอย่างเป็น “จักร” ทั้งนั้น
เริ่มด้วย floppy disk เขาเรียกว่า จักระ-Felopi, hard disk เรียกว่า จักระ-Keras, CD และ DVD เรียกว่า จักระ-Padat
นี่แสดงว่า วัฒนธรรมศรีวิชัยฝังลึกมากในดินแดนมลายู พระพุทธศาสนาเจริญอยู่ในอาณาจักรศรีวิชัยที่ยิ่งใหญ่ค่อนพันปี (ตอนเจริญมาก แผ่คลุมอินโดนีเซีย ตลอดมาเลเซีย ขึ้นมาถึงภาคใต้ของประเทศไทย อย่างน้อยถึงสุราษฎร์ธานี) ภาษาสันสกฤตจึงเข้าไปอยู่ในภาษามลายูมากมาย
เคยบอกญาติโยมและเด็กๆ ว่า ลองไปสืบค้นซิว่า ในภาษาไทย กับในภาษามลายู รวมทั้งภาษายาวีที่พูดกันในภาคใต้ของเรา อันไหนจะมีภาษาบาลีสันสกฤตปะปนอยู่มากกว่ากัน (ในภาษายาวีนี้ ก็ตั้งแต่คำบอกชื่อกันว่า “นามา สะยะ ...”)
การที่ชาวมลายูรับเอาภาษาสันสกฤตเข้าไปในภาษาของตนนั้น ก็เนื่องมาจากการนับถือพระพุทธศาสนา เป็นการตั้งใจรับเอาไปใช้จนถึงขั้นเป็นค่านิยม โดยวิถีของศาสนาและการศึกษา ตลอดจนแม้แต่วิถีชีวิตในครอบครัว เช่น ชอบตั้งชื่อลูกเป็นภาษาสันสกฤต
การที่ภาษาหนึ่งจะรับเอาอีกภาษาหนึ่งเข้ามาใช้เป็นภาษาของตนด้วย ถ้าไม่ใช่มาจากความนิยมนับถือในทางพระศาสนาและการศึกษาอย่างที่ว่านั้นแล้ว จะติดต่อค้าขายกัน จะคบหากัน ถึงสัมผัสกันแสนนานก็เข้าได้น้อย
ดูอย่างภาษาจีนสิ คนไทย-คนจีนคบกันถึงไหน นานเท่าไร แต่ภาษาไทยมีคำจีนที่รับเข้ามาใช้ไม่กี่คำ และก็มีแค่คำชาวบ้านอย่างเรือ “สำปั้น” (คนไทยบางคนก็อาจจะไม่ยอม แล้วก็บอกว่าเรียกตรงกันเอง)
ยิ่งภาษาสันสกฤตด้วยแล้ว (ภาษาบาลีก็เช่นกัน) ไม่ใช่ภาษาที่พ่อค้าและชาวบ้านจะใช้พูดจาสื่อสารกันเลย แม้แต่ในอินเดียหรือชมพูทวีปเอง สันสกฤตก็เป็นภาษาชั้นสูง ใช้แต่ในศาสนาและวรรณคดีเท่านั้น คนอินเดียมาค้าขายที่สุมาตรา ชวา และมะละกา ไม่ได้พูดสันสกฤต แต่สันสกฤต มากับพระพุทธศาสนา
กลายเป็นว่า คนมลายูและคนไทยใช้ภาษาชั้นสูงของชมพูทวีป ซึ่งไม่ใช่ภาษาของสามัญชนคนอินเดียทั่วไป
คำสำคัญๆ ชาวมลายูยังนิยมหาคำสันสกฤตมาใช้ เช่น “ภูมิปุตระ” ใช้กันเป็นคำทางการ โดยชาวมลายูทั้งในอินโดนีเซียและในมาเลเซีย (“ภูมิปุตระ” หรือ “ภูมิปุตรา” เป็นคำแสดงสถานะที่ชื่นใจอยู่ในกฎหมายของมาเลเซีย เวลาเขียนด้วยตัวอักษรฝรั่งเขาสะกดเพี้ยนนิดหน่อยเป็น bumiputra บ้าง bumiputera บ้าง)
ในอินโดนีเซีย ชาวมลายูที่นั่น ถึงแม้ปัจจุบันตัวเองจะเป็นมุสลิม แต่จะเป็นเพราะยังภูมิใจในอารยธรรมศรีวิชัยของบรรพบุรุษที่เป็นชาวพุทธ หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ดูเหมือนว่าจะนิยมใช้คำที่มาจากสันสกฤตมากเป็นพิเศษ ดังที่พระสงฆ์ไทยผู้ไปอยู่ที่นั่นเล่าว่า ถึงจะเป็นมุสลิม พอมีบุตร ก็มีผู้มาขอชื่อบาลีสันสกฤตจากพระ
รถยนต์เกาหลีใต้ ยี่ห้อ Hyundai รุ่น Elantra เข้าไปขายในอินโดนีเซีย ตั้งชื่อให้เข้ากับค่านิยมทางภาษาที่นั่นว่า “พิมันตระจักระ” (Bimantara Cakra)
เอาละ กลับมาว่าเรื่องคอมพิวเตอร์จักรกันต่อ
เจ้าจักรประเภท disk พวกนี้แหละที่เป็นพาหะของความเจริญยุคไอที เราก็อาศัยเจ้าจักรใหม่หรือคอมพิวเตอร์จักรนั้นหมุนพาเราท่องเที่ยวไปใน space ใหม่ ที่เรียกว่า cyberspace
Cyberspace นี่เป็นอวกาศทางความคิด หรือเป็นอวกาศแห่งจินตนาการ ไม่ใช่อวกาศที่แท้จริง และเราก็อาศัยเจ้า disk พวกนี้พาเราไป เราก็ท่องเที่ยวไปกับมัน โดยที่บางทีเราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ไม่เห็นคุณค่าของมันเท่าไรนัก
เรามี Internet เป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อถึงกันทั่วทั้งโลกแล้วก็อย่างที่ว่า เราก็ใช้คอมพิวเตอร์จักรท่องเที่ยวไปใน cyberspace จะดูจะหาจะค้นคว้าอะไร จะติดต่อพูดจาสื่อหากันก็ง่ายและสะดวกไปหมด แถมมีอะไรแปลกๆ ให้ได้รู้ได้เห็นเยอะแยะ แล้วเราก็สนุกสนานกันใหญ่ บางทีก็เลยมัวแต่เพลิดเพลิน
ที่หนักนัก ก็ถึงขั้นลุ่มหลง ติดอยู่นั่น เรื่องอื่นๆ แม้จะสำคัญก็ปล่อยเรื่อยเปื่อย เวลาผ่านไปๆ ไม่คิดทำอะไร แม้แต่หน้าที่การงานการเล่าเรียนศึกษาของตัว ก็ละเลยจนเสื่อมเสีย ที่ถึงกับชักพากันออกนอกลู่นอกทาง เสียหายเสียคนไปเลย ก็มีไม่น้อย
คิดกันให้ดี หันหน้าย้อนไปมอง ก็จะพบว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว เรื่องจักรนี่ มันเป็นวงล้อที่หมุนพาเราไป
แต่ที่จริงก็ตัวเรานี่แหละ ที่จะให้มันหมุนไปทางไหน ถ้าไม่ใช้ให้ดี ไม่ดูทิศดูทาง เราอาจจะไปทางผิด
เมื่อกี้นี้ ได้บอกแล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงเตือนไว้ให้เราเดินไปในทางที่ถูกต้อง เพราะพระองค์ทรงเห็นแล้วว่าคนเดินทางผิดกันมาก ทางที่ถูกต้อง คือทางสายกลาง
ทางผิดนั้น เรียกว่าทางสุดโต่ง มี ๒ ทาง ทางสุดโต่งซ้ายกับทางสุดโต่งขวา ทางหนึ่งไปแล้วตกหลุม ตกเหวตาย อีกทางหนึ่งไปแล้วก็วนเวียนอยู่นั่น ไม่ไปไหน เพราะวนเวียนแล้ว ไม่ออกไป หาทางออกไม่ได้ ก็จน ก็จม ก็จบอยู่ในนั้น
สองทางผิดที่พระพุทธเจ้าทรงบอกให้หลีกเสีย ไม่ให้ไปนั้นไม่ว่ามนุษย์ในยุคสมัยไหนก็สามารถพลาดไปได้ทั้งนั้น
ที่เป็นกันมาแล้วก็ตาม ที่เป็นกันอยู่ก็ตาม วิถีชีวิตของมนุษย์และการทำกิจกรรมดำเนินกิจการทั้งหลาย แม้แต่อารยธรรมของมนุษย์ก็อย่างนี้ทั้งนั้น เมื่อไม่เข้าสู่วิถีที่ถูกต้องเป็นทางสายกลางก็แล่นไปในทางสุดโต่ง เป็นทางซ้ายบ้าง ทางขวาบ้าง ไม่หมกอยู่ในกามสุขัลลิกานุโยค ก็ไถลเลยเถิดไปอัตตกิลมถานุโยค
ดังเช่น ในรัฐอย่างหนึ่ง หรือสังคมแบบหนึ่ง ก็มุ่งไปในทางของการเสพบริโภคเสรี ปล่อยตามใจอยากกันเต็มที่ ใครจะเป็นทาสกาม เป็นทาสกินอย่างไร ก็เป็นทาสของตัณหาได้อย่างเสรี
ขณะที่ในรัฐอีกอย่างหนึ่ง หรือสังคมอีกแบบหนึ่ง ก็จะบังคับจะกำหนดให้ต้องทำ ต้องเป็นอยู่อย่างนั้นๆ ห้ามคิด ห้ามพูดขัดแย้งหรือแตกต่างออกมา ให้เป็นทาสแห่งวิหิงสากันอย่างเต็มที่
วิถีชีวิต และวิถีสังคม ที่สุดโต่ง พวกเชิดตัณหา กับพวกชูวิหิงสา ต่างผงาด เผชิญหน้า และผจญกัน ปิดกั้นวิถีมัชฌิมา ทำท่าจะพาทั้งอารยธรรมของมนุษย์และโลกแห่งธรรมชาติไปสู่อวสาน
เวลานี้เราได้จักรคือ disks ทั้งหลาย มาพาเราท่องเที่ยวไปใน cyberspace โดยอาศัยเครือข่าย Internet ที่เชื่อมต่อทุกส่วนทุกถิ่นแดนของโลกให้ถึงกันได้หมดนี้ ถ้าเราไปถูกทาง ก็จะพาชีวิต สังคม ทั้งโลก และอารยธรรม ให้เจริญ รุ่งเรือง งดงาม เป็นสุข สดใส แต่ถ้าไปผิดทาง อารยธรรมแทนที่จะวิวัฒน์ ก็คงจะเปลี่ยนเป็นวิบัติ หรืออาจจะยิ่งกว่านั้น คือวินาศ
เราได้ฉุกคิด หรือยั้งใจพิจารณากันบ้างไหมว่า ที่เราเป็นกันอยู่ ทำอะไรกันอยู่นี้ ชีวิตของเรา สังคมของเรา เดินทางถูกต้องหรือเปล่า ทางที่เรากำลังเดินไปนี้ เป็นทางที่จะไปตกหลุมตกเหวอย่างที่ว่า หรือเป็นทางที่จะไปวนเวียนติดตัน หรือเปล่า
บอกแล้วว่า cyberspace เป็นอวกาศในความคิด ไม่ใช่ของจริง จึงเข้าทางของจินตนาการ แล้วจินตนาการนี่ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นจินตนาการแห่งความเพ้อฝัน นำไปสู่ความลุ่มหลง เพลิดเพลิน มัวเมา ไม่พัฒนาชีวิตของตน ใช้เวลาของชีวิตให้เสียไปเปล่า บางทีก็ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่มาหาผลประโยชน์โดยไม่รู้ตัว อาจจะถึงกับทำลายชีวิต ทำลายความเจริญก้าวหน้า ทำลายอนาคตของตนเอง
ไม่เพียงเบียดเบียนและทำลายตัวเองเท่านั้น ยังเอาความประมาทและความลุ่มหลงมัวเมาของตนเองนั้น ไปบั่นทอนทำลายคนอื่นและทำสังคมให้เสื่อมโทรมด้วย
แทนที่จะเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคม ก็กลับเอามันมาทำการร้าย ฉุดกระชากชีวิตของตัวลงไปให้ตกต่ำ และดึงสังคมลงสู่อบาย
เวลานี้เรากำลังประสบปัญหาหนัก คือการที่ได้กงล้อวงจักรตัวใหม่มา แต่คนมากมายเอามันมาหมุนพาตัวไปผิดทางเข้าทางสุดโต่งไป
เพราะฉะนั้น เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชา ก็คือถึงเวลาที่เราจะต้องมาคิดเรื่องนี้กันให้จริงจังและชัดเจน เพราะว่า วันอาสาฬหบูชา อันเป็นวันประกาศพระธรรมจักรและแสดงทางสายกลางนั้น ก็คือวันที่เตือนใจเราให้มาพิจารณาว่า การดำเนินชีวิต การประกอบกิจกรรม และกระบวนการพัฒนาทั้งหลาย แม้แต่อารยธรรมของเรานี้ กำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่
เราจะต้องมีจิตสำนึกตระหนักรู้ตัว เริ่มตั้งแต่มีสติที่จะเตือนตนเอง และใช้วิจารณปัญญา สำรวจตรวจตราให้รู้ว่า อะไรผิด อะไรถูก อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นคุณประโยชน์ที่แท้จริง มิให้เครื่องมือสร้างสรรค์ความดีงามและความเจริญ กลายเป็นสื่อที่ชักนำเอามาซึ่งความชั่วร้ายและความเสื่อมเสียหาย
มิฉะนั้น ระบบ Internet ที่เป็น “เครือข่าย” ซึ่งเชื่อมต่อให้หมู่มนุษย์ติดต่อถึงกัน ก็อาจจะกลายเป็น “ตาข่าย” ที่ดักคนให้ตรึงติดนุงนังอยู่กับมัน
แล้วการณ์ก็ปรากฏว่า เวลานี้ เครือข่ายชักจะกลายเป็นตาข่ายไปจริงๆ เสียด้วย คนจำนวนมากเอาจักรหมุนพาตัวไปติดในตาข่ายนี้ แล้วก็ดิ้นไม่หลุด บ้างก็พาตัวไปเจอภัย แล้วก็จบลงด้วยความทุกข์เป็นรายการสุดท้าย
ระหว่างนี้ ก่อนจะดับ ก็ดิ้นสนุกกันไปอย่างไร้สติ ดิ้นไปดิ้นมาไม่รู้ว่าตัวเองนั้น ที่จริงกำลังเอาตาข่ายพันตัว
เหมือนร่างแหดักปลาให้เข้าไปติด ตอนแรกปลานึกว่าจะได้กินเหยื่ออร่อย พอเจอตาข่ายดัก ก็ดิ้นรน ดิ้นไปดิ้นมา ก็ถูกแหพันแล้วก็รัด แล้วก็ติดแน่น เลยโดนเขาจับเอามาใส่หม้อแกง ก็จบกัน
เพราะฉะนั้น จึงควรคิดกันให้ดี ในที่สุด ที่ว่าเจริญกันนักหนานั้น ก็ไปไม่ถึงไหน ถึงจะมีจักรตัวใหม่ แต่ตัวเราคือคนที่ใช้จักรนั้น ก็เป็นคนอย่างเก่าที่ไม่ค่อยได้พัฒนา พอได้จักร ก็เอามาหมุนพาตัวไปได้แค่เข้าในทางสุดโต่ง ไม่ขวาก็ซ้าย ไม่ซ้ายก็ขวา เวียนอยู่เท่าเดิม
พระพุทธเจ้าทรงมาเตือนว่า จักรนี้ ที่ยังก้ำกึ่งอยู่ ไม่รู้ว่าจะเอาไปหมุนเข้าทางดีหรือทางร้ายนั้น ให้เราจัดการให้มีเครื่องกำกับที่แน่ชัดลงไปเสียว่าจะหมุนเข้าในทางที่ถูกต้อง คือให้เป็นธรรมจักร หรือมิฉะนั้นก็ให้มีธรรมจักรไปร่วมเป็นล้อนำจักรอื่น
ถ้าได้ธรรมจักรมาใส่แล้ว รถหรือยานพาหนะนั้น ก็จะกลายเป็นธรรมยาน หรือธรรมรถ ซึ่งแน่นอนว่าจะพาเราเดินไปในทางสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา”
ทางสายกลาง หมายถึงทางที่ถูก ซึ่งจะนำไปให้ถึงจุดหมายมนุษย์จะทำอะไรก็ย่อมมีจุดหมาย ถ้าพูดรวมๆ ในระดับโลก ก็คือจุดหมายของอารยธรรม ซึ่งแน่ละ ก็ต้องเป็นจุดหมายที่ดี ที่เยี่ยมยอด เช่น มุ่งให้เกิดสันติสุขแก่มวลมนุษย์ และเมื่อมีจุดหมายแล้ว ก็ต้องมีวิถีทางที่จะไปให้ลุถึงจุดหมายนั้น แล้วทางที่จะไปถึงจุดหมายนั้นแหละ เรียกว่า “ทางสายกลาง”
ทำไมทางที่จะนำไปให้ถึงจุดหมายนั้น จึงมีชื่อว่าเป็นทางสายกลาง
เพื่อรวบรัด ขอพูดแบบเข้าใจกันง่ายๆ ว่า เหมือนอย่างคนมากมายมายิงลูกศรไปที่เป้า ลูกศรที่ไม่ถูกเป้า จะพลาดออกไปข้างๆ ทั้งหมด จะเป็นข้างซ้าย ข้างขวา หรือข้างไหนก็ตาม ก็คือไม่ถูก ส่วนลูกศรที่ถูกเป้า ก็คือลูกที่วิ่งไปตรงกลาง อยู่ตรงกลาง
ทางก็เหมือนกัน ทางที่ผิดก็เฉออกข้าง แต่ทางที่ถูกจะแล่นตรงไปเข้าจุดกลาง
ทีนี้ ข้อที่สำคัญมากก็คือ จะเข้าทางที่ถูกต้อง จับจุดกลางให้พุ่งตรงไปสู่จุดหมายได้ ก็ต้องมีปัญญา ตั้งแต่รู้จุดหมายนั้น จับทิศทางได้ชัด รู้เข้าใจกระบวนการ รู้สภาพแวดล้อมและอะไรๆที่เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องหลีกหลบพบผ่าน รู้ที่จะนำรถหรือยานไปให้ถึงจุดหมาย
เพราะฉะนั้น ท่านจึงพูดสั้นๆ ว่า ทางสายกลางมีปัญญาเป็นตัวนำ เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ แปลกันว่าปัญญาเห็นชอบ หรือเข้าใจถูกต้อง
แล้วก็แน่ละ เหมือนคนขับรถที่อาศัยล้อทั้งหลาย ต้องมีสติทั้งนั้น สติต้องอยู่กับตัวตลอดเวลา ตั้งต้นแต่ไม่เผลอลืมจุดหมาย
เพราะฉะนั้น เมื่อเอาคอมพิวเตอร์จักรหมุนพาเราเข้าสู่เครือข่าย Internet จะท่องเที่ยวไปใน cyberspace ก็เอาธรรมจักรมาหมุนนำเลย
ตอนนี้ ทั้งปัญญาก็ชัดในวัตถุประสงค์ มองเห็นโล่งประดาเรื่องราวข้อมูลที่สนองจุดหมาย ทั้งสติก็อยู่กำกับคอยกันขยะหรือเรื่องเหลวไหลออกไป ไม่ทิ้งไม่พลาดข้อมูลที่เข้าเรื่อง ไม่เผลอ ไม่เขวหรือไถลออกนอกทาง
ที่จริงนั้น ประดิษฐกรรมทั้งหลายเกิดมีขึ้น ก็เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม แล้วเราจะใช้มันเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตอย่างไร ใช้เพื่อประโยชน์แก่สังคมอย่างไร
เอาเลย สืบค้นเสาะหาสื่อสารกันเพื่อข้อมูลข่าวสารที่ให้เกิดการศึกษา ที่ส่งเสริมการทำหน้าที่การงาน ที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ ที่นำไปสู่การพัฒนาชีวิต พัฒนาสังคม ทั้งใช้จักรนั้นด้วยปัญญา และใช้มันเพื่อพัฒนาปัญญา อย่างนี้ละก็ก้าวไปได้ในทางสายกลาง จะมีแต่ความเจริญพัฒนา
แต่ถ้าใช้มันเพียงเพื่อสนองความอยากเสพ ความใฝ่บริโภค หาช่องทางบำเรอปรนเปรอ เอาแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน นั่นก็คือการที่เราอยู่ในเส้นทางสายที่วนเวียนติดจมอย่างน้อยก็ใช้เวลาให้หมดไปเปล่า ความเจริญพัฒนาก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้
ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ พวกที่ใช้จักรหมุนหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวในแดน cyberspace นั้น บางคนก็ใช้ทุกวิธีที่จะเอาคนอื่นเป็นเหยื่อ มีการหลอกลวงสารพัตร บ้างก็หมุนจักรไปเพียงเพื่อหาช่องทางทำร้ายผู้อื่นพวกอื่นและทำการร้ายต่างๆ รวมทั้งประดาอาชญากรรม นี่คือทางสุดโต่งที่พากันไปตกหลุม ตกเหว พาชีวิตและสังคมให้เดือดร้อน ถ้าหนักนักก็อาจถึงกับพินาศแหลกลาญ
เป็นอันว่า มาถึงยุคนี้ที่เจริญนักหนา เราก็ก้าวกันไปด้วยวงกลมที่เรียกว่าจักรนี่แหละ เพียงแต่ว่าในยุคนี้เราเดินทางไปในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น เป็นโลกาภิวัตน์ ทั่วโลก ทั่วจักรวาล และเข้าสู่แดนที่เป็นนามธรรมมากขึ้น อย่างที่ว่าเรามีโลก มีจักรวาลแห่งจินตนาการ
ที่จริง เมื่ออยู่ในแดนแห่งความคิด หรือแดนแห่งจินตนาการ คนจะต้องเป็นมนุษย์ที่พัฒนาอย่างมาก จึงจะทันกันหรือเหมาะกัน เฉพาะอย่างยิ่งควรมีการพัฒนาทางธรรมทางปัญญาอย่างสูง
ถ้าได้แค่สนุกสนานเสพบริโภคหลงไหลเพลิดเพลิน และแย่งชิงหาผลประโยชน์กัน ก็ไม่รู้จะเจริญไปทำไม
ก็รู้กันอยู่แล้ว ความลุ่มหลงเพลิดเพลินนี้คือโมหะ เป็นอวิชชา แล้วก็ตามมาด้วยโลภะ และโทสะ ที่จะนำไปสู่การเบียดเบียนกัน สู่ความทุกข์และความพินาศ หมุนกลิ้งกันไปในสังสารจักร จมดิ่งลงไปในภวจักร ไม่เห็นจะเป็นอารยธรรมที่ไหน มนุษย์ก็ย่ำเท้าเวียนวนอยู่กับสภาพเก่า ไม่ก้าวไปในอะไรที่ดีจริงเลย
ถ้ามัวประมาทกันอยู่ คนเอาแต่เสพผลของการพัฒนาในอารยธรรมที่ผ่านมา โดยไม่พัฒนาตัวคนเอง อารยธรรมก็จะกินตัวกร่อนลงไปๆ ความเสื่อมสลายก็มาถึงเอง
มาเข้าทางสายกลางกัน แล้วจะได้พาอารยธรรมก้าวไปด้วย พูดมาเสียยาว ที่จริง วันนี้ควรจะพูดกันนิดเดียว
ขอทวนนิดหนึ่งว่า องค์ประกอบอย่างแรกอันสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้ในทางสายกลาง ก็คือ ให้มีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ มีความรู้เท่าทัน มีความรู้เข้าใจใช้ปัญญาและแสวงปัญญา
แม้แต่จะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง ก็ต้องวางแผนก่อน เริ่มต้นก็มีสติถามตัวเองว่า เราจะมีจะใช้มันเพื่ออะไรบ้าง ถ้าจะคำนึงถึงความสนุกสนานเพลิดเพลิน ก็ต้องรู้ว่านั่นเป็นเพียงส่วนข้างเคียง ส่วนเสริม ส่วนพ่วงหรือแถม แต่จุดหมายที่แท้ก็คือ เราจะเอามันมาทำประโยชน์แก่ชีวิต แก่ครอบครัว แก่สังคมได้อย่างไร พัฒนาชีวิตของเราได้อย่างไร ใช้แล้วเราได้ปัญญาไหม ได้ความรู้ไหม อย่างน้อยจะใช้อย่างไรให้คุ้มค่าคุ้มราคา นี่วางแผนการใช้ ใช้ปัญญา ใช้ด้วยปัญญา และใช้เพื่อปัญญา
แม้แต่ใช้แล้วได้รู้ข่าวสารข้อมูล ก็ไม่พอ ต้องเข้าใจเข้าถึงข่าวสารข้อมูลเหล่านั้น และเอาไปใช้ประโยชน์ได้ สนองความต้องการในทางที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ได้
ถ้าใช้แล้วลุ่มหลง ชีวิตไม่ดีงาม ปัญญาไม่เจริญพัฒนา ก็ต้องสงสัยว่าผิด ใช้แล้วไม่เกื้อกูลแก่ครอบครัว แก่เพื่อนมนุษย์ แก่สังคม ต้องบอกว่าผิดแน่ เดินทางผิด ไม่ใช่ทางสายกลางแล้ว
ถ้าเดินอยู่ในทางที่ถูกต้อง ไปด้วยธรรมจักร มีล้อรถแห่งธรรม เป็นธรรมยาน เป็นธรรมรถ และแล่นไปในทางสายกลางแล้ว จะเข้า Internet ท่องเที่ยวไปใน cyberspace ไปถึงไหน ก็ไม่ผิดพลาด ไม่เป็นปัญหา จะได้แต่คุณประโยชน์
เพราะฉะนั้น มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางของพระพุทธเจ้านี้ จึงใช้ได้อย่างดี ในยุค cyberspace นี้ด้วย เพียงแต่ขอให้เรานึกถึง และยกขึ้นมาสู่ปัญญา
คิดว่าวันนี้พูดแค่นี้ก็แล้วกัน ไม่ต้องขยายความมาก เป็นเรื่องที่ว่าเราจะต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง
หลักมัชฌิมาปฏิปทานี้มีความหมายกว้างไกล เพราะเป็นเรื่องของปัญญา ทางสายกลางคืออะไร คือ อริโย อัฏฐังคิโก มัคโค เสยยถีทัง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ฯลฯ หมายถึง มรรคามีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ ได้แก่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ...
เริ่มด้วยมีปัญญาอันเห็นชอบ แล้วมีสติกำกับคอยเตือนพอเจออะไร สติก็มาเตือนทันที ให้ตรวจสอบก่อนว่า เออ วัตถุประสงค์ของเรื่องนี้ที่แท้มันเพื่ออะไร แล้วเรากำลังจะใช้มันถูกทางหรือไม่ ที่ใช้ไปแล้ว ใช้ถูกไหม จะใช้ต่อไป ใช้อย่างไรจึงจะถูก
พอเราใช้ถูกต้อง เราก็เดินไปในทางสายกลาง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา วงจักรล้อรถแห่งธรรมก็หมุนขับเคลื่อนธรรมรถพาเราไป
ถ้าไปกับธรรมรถด้วยธรรมจักร ก็ปลอดภัย ลุจุดหมาย ถึงนิพพาน อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอัจฉราสูตร (สํ.ส.๑๕/๑๔๓/๔๕) ว่า
ทางนั้น ชื่อว่าทางสายตรง ทิศนั้น ชื่อว่าทิศปลอดภัย รถชื่อว่ารถไร้เสียง ประกอบด้วยล้อธรรมจักร มีหิริเป็นฝา มีสติเป็นเกราะกั้น สารถีนั่นฤา เราบอกให้ คือธรรม มีสัมมาทิฏฐินำมุ่งหน้าไป บุคคลใดมียานเช่นนี้ จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม เขาย่อมใช้ยานนั้น (ขับไป) ถึงในสำนักแห่งนิพพาน
เมื่อไปถึงจุดหมายของทางสายกลางแล้ว ก็เป็นคนที่สมบูรณ์ มีชีวิตดีงาม เต็มอิ่ม เป็นอิสระ
บุคคลนั้น ท่านเรียกว่าเป็นผู้ที่ไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป จึงเป็นผู้พร้อมที่จะทำการทุกอย่าง เพื่อความดีงามความร่มเย็นเป็นสุขที่แท้จริงของมนุษยชาติ
ชีวิตของเขา นับแต่นั้น ก็จะดำเนินตามพุทธคติที่ว่า “พะหุชะนะหิตายะ พะหุชะนะสุขายะ โลกานุกัมปายะ” คือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก
นี่ก็คือ จักรได้นำอารยธรรมไปสู่จุดหมายที่แท้จริง คือสันติสุขของมนุษยชาติ
ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้มาร่วมทำบุญ ในวันอาสาฬหบูชานี้ ซึ่งเป็นวันสำคัญที่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นวันประกาศพระธรรมจักรและแสดงทางสายกลาง
แล้วก็ขอชวนให้เราทั้งหลาย นำเอาวงล้อธรรมจักรมาเป็นเครื่องขับเคลื่อนชีวิต สังคม และอารยธรรม ให้เดินไปในทางสายกลาง สู่ความดีงามความสุขความเจริญ ดังได้กล่าวมา