ความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไป

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไป1

ขอเจริญพร ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และท่านผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

ในการพูดเรื่อง "ความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไป" วันนี้ อาตมภาพรู้สึกว่าเวลารัดตัวมากหน่อย เพราะฉะนั้นก็ขอพุ่งเข้าสู่เนื้อหาทันที การที่เราพูดกันถึงความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไปนี้ ก็เริ่มต้นจากการที่เรามีการแบ่งประเภท หรือจัดหมวดหมู่วิชาเป็นพวกๆ ซึ่งถ้าจะพูดอย่างคร่าวๆ ก็คงแบ่งได้เป็นสองพวก คือ วิชาพื้นฐานทั่วไป ที่ตั้งเป็นหัวข้อปาฐกถานี้อย่างหนึ่ง และวิชาชีพหรือวิชาเฉพาะด้าน หรือวิชาประเภทชำนาญพิเศษอีกพวกหนึ่ง

จุดหมายปลายทาง

การที่จะพูดถึงความมุ่งหมายของวิชาประเภทใดหรือหมวดใดก็ตาม ก็ควรจะได้มีภาพรวมไว้ก่อน คือ มองโดยความสัมพันธ์กันทั้งหมด ทีนี้ ภาพรวมของความมุ่งหมายทั้งหมดของการศึกษาเป็นอย่างไร จะมองเห็นได้ ก็โดยมาพิจารณากระบวนการของการศึกษาทั้งหมด ในเรื่องนี้ ถ้าจะพูดกันง่าย ๆ เราก็มีรูปสำเร็จอยู่แล้ว ความมุ่งหมายของการศึกษาทั้งหมดไม่ว่าวิชาอะไรก็ตาม ไปรวมกันอยู่ที่ว่าเราจะสร้างอะไร หรือจะผลิตอะไร ปัจจุบันนี้เราเรียกผู้สำเร็จการศึกษาของเราว่า เป็น "บัณฑิต" ก็เลยมีคำตอบอยู่ในตัวว่าความมุ่งหมายของการศึกษาของเรา หรือการให้เรียนวิชาการต่างๆ นั้น ก็เพื่อทำคนให้เป็นบัณฑิต หรือผลิตบัณฑิต การศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษานี้ ทุกสาขาจะมีความมุ่งหมายร่วมกันเสมอเป็นอันเดียวคือ การสร้างบัณฑิต แต่นอกเหนือจากความเป็นบัณฑิตแล้ว การศึกษาของเราก็ยังแบ่งออกเป็นสาขาต่างๆ มากมาย เป็นสาขาการแพทย์บ้าง เศรษฐศาสตร์บ้าง รัฐศาสตร์บ้าง อะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งเราเรียกกันว่าเป็นวิชาชีพ หรือวิชาเฉพาะ เพราะเราต้องการให้ผู้ที่เป็นบัณฑิตนั้นมีความสามารถเป็นพิเศษเฉพาะแต่ละด้านๆ ซึ่งจะทำให้สามารถไปดำเนินชีวิตที่ดีงาม สามารถทำประโยชน์ สร้างสรรค์พัฒนาสังคม หรือบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมได้ ความมุ่งหมายอันนี้ถ้าจะพูดให้เป็นรูปธรรมก็เหมือนว่าเป็น การสร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือให้แก่บัณฑิต ที่จะไปใช้ทำงาน

เป็นอันว่ามีสองความมุ่งหมาย ความมุ่งหมายแรกคือ ทำคนให้เป็นบัณฑิตขึ้นมาเป็นหลัก แล้วนอกเหนือจากนั้นก็ให้บัณฑิตมีอุปกรณ์ มีเครื่องมือที่จะไปทำประโยชน์ทำงานได้ผล ทีนี้ความเป็นบัณฑิตก็ดี อุปกรณ์และเครื่องมือของบัณฑิตก็ดี ทั้งสองอย่างนี้ต้องอาศัยกันและเสริมกัน เราสร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือได้ แต่ถ้าเราไม่ได้ทำคนให้เป็นบัณฑิต ก็อาจจะเกิดโทษอย่างร้ายแรงเหมือนกับที่มีคำเก่าๆ พูดไว้ว่า "ยื่นดาบให้แก่โจร" ฉะนั้น จึงต้องสร้างบัณฑิตเป็นพื้นฐานไว้ อย่างไรก็ตาม ถ้าสร้างแต่บัณฑิต ไม่ให้อุปกรณ์ ไม่ให้เครื่องมือ บัณฑิตนั้นก็ไม่สามารถทำประโยชน์ได้เท่าที่สมควร เพราะไปจำกัดตัวเองอยู่ในขอบเขตที่คับแคบ เพราะฉะนั้น จึงต้องสร้างทั้งบัณฑิต แล้วก็สร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือให้บัณฑิตด้วย

เมื่อมองโดยสัมพันธ์กับวิชาการที่แบ่งเป็น ๒ หมวด ดังที่กล่าวมานี้ ก็จะมองเห็นชัดว่า เรามีวิชาพื้นฐานทั่วไปไว้สำหรับสร้างบัณฑิต แล้วก็มีวิชาชีพหรือวิชาเฉพาะต่างๆ ที่เป็นความชำนาญพิเศษไว้สำหรับสร้างอุปกรณ์ หรือเครื่องมือให้บัณฑิตไปใช้ทำประโยชน์หรือทำงานได้ผล ก็แปลว่า ๒ อย่างนี้ต้องมาเสริมกันให้สมบูรณ์ นี้เป็นภาพรวมที่กว้าง อย่างนี้ก็เรียกว่าได้จุดหมายแล้ว ความมุ่งหมายระดับนี้จัดว่าเป็นความมุ่งหมายช่วงยาว หรือเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด หรือเป็นจุดหมายปลายทางของการศึกษา

1 ปาฐกถา ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๑
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.