คนไทยกับสัตว์ป่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สัตว์เมืองอยู่ร่วมโลกกับสัตว์ป่า
ควรศึกษาคติธรรม และมีน้ำใจไมตรี

นอกจากนั้น ชาดกเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เป็นส่วนมาก ชาดกมีตั้ง ๕๕๐ เรื่อง นับถ้วนๆ จริงๆ แล้วมี ๕๔๗ เรื่อง ชาดกทั้งหมด นี้มีสัตว์เป็นพระเอกเสียเกินครึ่ง สัตว์เป็นพระเอก เพราะฉะนั้นสัตว์ต้องมีความดี

เรื่องในชาดกเล่าถึงความดีของสัตว์ต่างๆ พอเด็กได้คุ้นเคยกับการทำความดีของสัตว์ ก็รักสัตว์ ชื่นชมต่อสัตว์ ได้ทั้งคติในการทำความดี และความรู้สึกที่ดีงามต่อสัตว์ไปด้วยพร้อมๆ กัน

แต่เวลานี้เหมือนว่าเราไม่ได้สนับสนุน ทำอย่างไรเราจะให้เด็กคุ้นกับเรื่องของสัตว์เหล่านี้

ในชาดกหลายเรื่อง มีสัตว์เป็นวีรชน ที่จริงต้องเป็นวีรสัตว์ ซึ่งจำนวนมากมายเป็นพระโพธิสัตว์ ในหลายเรื่อง พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกวาง พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลิง หรือวานร สัตว์ต่างๆ ที่เป็นตัวสำคัญๆ มีความเสียสละ มีคุณธรรมความดี เป็นตัวอย่าง ซึ่งถ้าเด็กได้อ่านได้ฟัง ก็จะทำให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีงาม

จะขอเล่าชาดกเรื่องหนึ่ง ที่ว่าฝรั่งนิยมการล่าสัตว์นั้น ไม่ใช่เฉพาะฝรั่ง ทางตะวันออกก็นิยม มีมาแต่โบราณแล้ว ในอินเดียก็นิยมล่าสัตว์ สมัยก่อนพุทธกาลก็มีคนที่มีอำนาจ อยู่ท่ามกลางแวดล้อมของบริวารและทรัพย์สมบัติ ชอบออกป่าล่าสัตว์เป็นเรื่องสนุกกันเป็นประจำ โดยเฉพาะพระราชาก็ชอบล่าสัตว์

อย่างในชาดกที่กำลังพูดถึงนี้ว่า พระราชาองค์หนึ่งชอบล่ากวาง ล่าเสือคงจะยากกว่า ล่ากวางง่ายดี ได้แล้วก็ทำอาหารอร่อยไปเลย พอถึงวันหยุดก็ทรงสำราญพระราชหฤทัย เสด็จออกไปล่ากวางเป็นประจำ ทำให้กวางทั้งหลายที่อยู่ในป่านั้นมีความเดือดร้อนมาก

ต่อมากวางฝูงนั้นก็เลยมาทำความตกลงกันว่า ต่อไปนี้เรามาจัดเวรกัน พอถึงวาระเป็นลำดับของกวางตัวไหน ก็เสนอกวางตัวนั้นไปให้พระราชา จะได้ไม่ต้องให้พระองค์ลำบาก ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย แล้วกวางเองก็จะได้อยู่กันเป็นสุขด้วย เพราะว่า เมื่อพระราชาเสด็จออกล่านั้น กวางทั้งหลายอยู่ไม่เป็นสุขเลย ต้องวิ่งหนีหวาดเสียวสะดุ้งตกอกตกใจและบาดเจ็บกันอยู่เรื่อย เมื่อจัดเวรแล้ว กวางทั้งหลายก็ไม่ต้องตื่นตกใจวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น พอจะอยู่กันเป็นสุขได้ ให้ทยอยลำบากทีละตัวเดียวๆ

ตกลงกวางก็จัดเวรกัน ส่งเข้าโรงครัวของพระราชาประจำวัน พระราชาก็เสวยเนื้อกวางนั้น

ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายมีจ่าฝูงเป็นหัวหน้า ปรากฏว่ากวางในป่านั้นมี ๒ หัวหน้า เป็น ๒ ฝูงใหญ่ ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผู้ร้าย ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายพระเอก

วันหนึ่งลำดับเวรมาถึงกวางแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่ง จะต้องเสนอตัวไปให้พระราชาล่า แล้วก็ไปเป็นอาหารในโรงครัวของพระองค์

ทีนี้ฝ่ายเนื้อโพธิสัตว์ซึ่งเป็นหัวหน้าฝูงหนึ่ง ก็เสียสละตัวเองไปเสนอตัวแทน ขอให้เอาตัวเองไปฆ่าก่อน เพื่อจะได้เว้นชีวิตของแม่กวางไว้ เพราะว่าแม่กวางนั้นยังลูกอ่อน จะได้มีเวลาเลี้ยงลูกให้โตก่อน

นี้แสดงถึงคุณธรรมของกวาง ซึ่งเป็นคติแก่มนุษย์ด้วย ถือเป็นตัวอย่างในการเสียสละ กวางตัวนี้มีชื่อว่า นิโครธะ แปลว่า ต้นไทร หมายความว่า กวางตัวนี้ชื่อไทร

เมื่อกวางตัวนี้สละตัวเองเข้าลำดับ ก็เลยได้ไปเจอกับพระราชา แล้วก็มีบทสนทนากัน สนทนากันไปสนทนากันมา เลยกลายเป็นว่า กวางตัวนี้สั่งสอนธรรมแก่พระราชา ในเรื่องการไม่เบียดเบียนกัน การมีเมตตากรุณา จนพระราชาพระทัยอ่อน

พระราชาทรงสำนึกในคุณธรรม ทั้งความมีเมตตากรุณาและความเสียสละ ก็เลยกลับพระทัยให้อภัยแก่ฝูงกวางทั้งหมด ป่านั้นก็เลยเป็นที่ให้อภัยแก่กวาง งดล่างดกินเนื้อกวางทั้งหมด

ชาดกเรื่องนี้ เขาบอกว่าเป็นตำนานของป่าในพุทธประวัติ ท่านที่ไปอินเดีย ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ ต้องเจอป่านี้ด้วย คือ อิสิปตนมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งจะมาถึงในวันที่ ๑๑ อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธรรมจักกัปปวัตตนสูตรที่ป่านี้ แล้วก็เป็นเหตุให้เบญจวัคคีย์ได้บรรลุธรรม

ต่อมา รูปกวางหมอบก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และการทรงแสดงปฐมเทศนา ดังจะเห็นว่า พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาที่เป็นของเก่าแก่ในอินเดีย มีรูปกวางหมอบอยู่ที่ฐานหรือที่เบื้องล่าง

ถอยหลังไปในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งยังไม่นิยมสร้างพระพุทธรูป เหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนทรงแสดงปฐมเทศนา ก็แสดงด้วยสัญลักษณ์ คือรูปกวางหมอบนี้

เรื่องนี้เป็นตัวอย่าง แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าและสัตว์ป่า จากร้ายกลายเป็นดี ป่าที่ล่าสัตว์ก็กลายเป็นที่พระราชทานเหยื่อให้แก่ฝูงเนื้อ เป็นที่พระราชทานอภัยแก่ฝูงกวาง ทำให้ฝูงสัตว์ในป่านั้นไม่มีภัยอันตราย อยู่กันเป็นสุข เรื่องนี้ก็เป็นตำนานเล่ามา ซึ่งแสดงถึงคุณความดีของสัตว์ เล่าไว้เป็นตัวอย่างเท่านั้น เพราะชาดกอย่างนี้มีเยอะแยะ

อีกเรื่องหนึ่ง ขอเอามาเล่าไว้ด้วย หวังว่าคงไม่เสียเวลามากนัก คือเรื่องมหาวานรชาดก พระโพธิสัตว์เกิดเป็นหัวหน้าฝูงลิง

มีเรื่องเล่าว่า ที่ริมฝั่งแม่น้ำใหญ่สายหนึ่ง ซึ่งกว้างพอสมควร มีต้นมะม่วงพันธุ์ดีมีผลอร่อยมากต้นหนึ่ง พระราชาทรงโปรด พอถึงฤดู ที่เรียกว่าหน้ามะม่วง ก็จะเสด็จพร้อมด้วยหมู่ข้าราชบริพารไปล่าสัตว์ แล้วก็ไปเสวยผลมะม่วงอร่อยที่นั่น

ต่อมาปีหนึ่ง จำเพาะว่า พระราชากำลังจะเสด็จพร้อมด้วยหมู่ข้าราชบริพารไปที่ต้นมะม่วงนี้ ก็ปรากฏว่า พอเสด็จไปถึง ได้มีพวกลิงไปถึงก่อน ลิงฝูงหนึ่งมีพญาวานรเป็นผู้นำ พากันไปกินผลมะม่วงบนต้นไม้นั้น พระราชาก็เลยพิโรธมาก เป็นเหตุให้พระองค์คิดจะกำจัดฝูงลิงเสีย

พระราชาทรงให้ทหารทั้งหลายล้อมต้นไม้ไว้ ไม่ให้มีทางที่ลิงจะลงหนีไปได้ ลิงฝูงนี้ก็เดือดร้อนมาก จะทำอย่างไร คงต้องตายกันหมด เพราะหนีไม่ได้ ไม่มีทางไป ทหารเยอะแยะล้อมไว้หมด

หัวหน้าลิงนั้น สติปัญญาไว ก็คิดได้ และมีกำลังแข็งแรงกว่าวานรตัวอื่น ก็มองไปที่ริมแม่น้ำฝั่งโน้น ที่อยู่ตรงข้าม เห็นมีต้นไม้ใหญ่ และมีเถาวัลย์ยาว

พญาวานรนั้นก็คิดว่า กำลังแรงของเราพอไหว เราจะต้องกระโจนข้ามฝั่งแม่น้ำนี้ พอไปถึงฝั่งโน้นแล้ว ก็ไปเกาะเอาเถาวัลย์สายที่ยาวที่สุด แล้วก็โยนตัวกลับมา เอาปลายเถาวัลย์ผูกเข้าที่กิ่งไม้ต้นนี้ เถาวัลย์เส้นนั้นก็จะเป็นเหมือนสะพานให้ฝูงลิงพากันข้ามไปสู่ต้นไม้ฝั่งโน้นได้อย่างปลอดภัย นี้คือปัญญาของพญาวานร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์

คิดอย่างนั้นแล้ว พญาวานรก็กระโจนสุดแรงข้ามไปที่ต้นไม้ฝั่งตรงข้าม เหวี่ยงตัวไปจับเอาเถาวัลย์บนต้นไม้นั้นได้ แล้วก็โยนตัวอีกครั้งกลับมาที่ต้นไม้บนฝั่งนี้ ที่ทหารของพระราชาล้อมอยู่ จับเข้าที่กิ่งใหญ่ของต้นมะม่วง

แต่เคราะห์ร้าย ปรากฏว่า เถาวัลย์เส้นนั้น ไม่ยาวพอที่จะเอามาผูกกับกิ่งต้นมะม่วง ขาดไปนิดเดียว พอดีกับมือพญาวานรจับถึง จะทำอย่างไร ตัวพญาวานรเองก็จะต้องจับกิ่งมะม่วงไว้อย่างนั้น คือต้องเอาตัวและมือของพญาวานรเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของเถาวัลย์ด้วย แทนเถาวัลย์ส่วนที่จะผูก

เหตุการณ์จวนแจ พญาวานรก็เลยเอามือจับกิ่งต้นมะม่วงกิ่งใหญ่นี้ไว้ แล้วก็ให้ลิงทั้งหลายไต่วิ่งข้าม อาศัยตัวของพญาวานรและเถาวัลย์ข้ามไปฝั่งโน้นโดยปลอดภัย

มีเรื่องแทรกเป็นเกร็ดนิดหน่อยว่า ลิงตัวหนึ่งที่เป็นระดับรองใกล้ๆ จะเป็นหัวหน้า แข็งแรงมาก ไม่พอใจพญาวานรมานานแล้วผูกใจเจ็บไว้ แต่ทำอะไรไม่ได้ คราวนี้ได้โอกาสก็กระโดดไปเป็นตัวสุดท้าย ก่อนไปก็กระทืบตัวพญาวานร ซึ่งอ่อนแรงจะหมดกำลังอยู่แล้วจนบอบช้ำไปหมด แล้วจึงข้ามไปฝั่งโน้น พญาวานรนี้แทบขาดใจเลย

ลิงซึ่งเป็นศัตรูตัวที่กระทืบทำให้พญาวานรบอบช้ำตัวนี้คือใคร รู้ไหม ก็คือพระเทวทัต อันนี้เป็นเรื่องแทรกเข้ามา

ฝ่ายพญาลิงนี้ พอลูกน้องข้ามไปฝั่งโน้นปลอดภัยแล้ว ตัวเองก็หมดแรง ไม่สามารถหนีไปได้ ก็เลยถูกจับ พอถูกจับ พระราชาก็ทรงซักถาม สมัยก่อนถือว่าสัตว์พูดภาษาคนได้ ก็จึงมีบทเจรจาขึ้นมา

พระราชาตรัสถามว่า ท่านมีกำลังแข็งแรงกว่าใคร สามารถหนีได้ ทำไมท่านไม่หนีเสียก่อนพวกลิงทั้งหลาย

พญาวานรก็ตอบว่า ธรรมดาของหัวหน้า จะต้องคิดถึงประโยชน์สุขของผู้ที่อยู่ใต้ความคุ้มครองก่อน ถ้าหากจะทำให้เขามีความสุขหรือปลอดภัยได้ แม้ด้วยชีวิตของตน ก็จะต้องทำ นี้คือวิสัยของผู้เป็นหัวหน้าหมู่ชน

นี้เป็นคติของหัวหน้า นี้แหละ ชาดกท่านสอนคติธรรมด้วยวิธีดังนี้

เพราะฉะนั้น ใครเป็นหัวหน้าหมู่ชน ก็จะต้องมีความรับผิดชอบ ต้องเห็นแก่ความสุขของหมู่ชนที่ตนคุ้มครอง และสละได้แม้กระทั่งชีวิตของตน จึงสมควรเป็นหัวหน้าที่แท้จริง

นี้เป็นคติของพระโพธิสัตว์ที่มาในเรื่องชาดก เอามาเล่าให้ฟัง ให้เห็นคุณความดีของสัตว์ป่า เด็กควรจะได้ยินได้ฟังเรื่องทำนองนี้ ชาดกอย่างนี้มีมาก เมื่อเด็กได้ยินแล้ว ก็จะสร้างทัศนคติที่ดีและความรู้สึกที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่า พร้อมทั้งได้คติธรรมไปด้วย ได้ประโยชน์มากมาย ได้เล่าให้ฟังสองสามเรื่องแล้ว

ในสมัยพุทธกาลเอง ก็มีเรื่องพระพุทธเจ้ากับสัตว์ป่า สัตว์ป่าอะไรที่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าที่สุด ขอถามเป็นความรู้รอบตัว ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าไปประทับอยู่ในป่า แล้วมีสัตว์ ๒ ตัว มาคอยบำรุงรับใช้ สัตว์นั้นคืออะไร คือ ๑ ช้าง ๒ ลิง โยมตอบได้แล้ว นั้นคือที่ป่าเลไลยก์ใช่ไหม

ที่จริง ป่าเลไลยก์นี้ เป็นคำเลือนมาจากภาษาบาลี คือคำว่า “ปาริเลยยกะ” เราเจอคำว่า “ปา” ของบาลี นึกว่าเป็น ป่า “ริ” ก็เป็น เร หรือ เล ไป แล้ว “เลยยกะ” ก็เป็นไลยก์ ก็เลยกลายเป็นชื่อวัดว่าป่าเรไลยก์ หรือป่าเลไลยก์ ที่อยู่ในถิ่นต่างๆ

ปาริไลยก์ ที่จริงเป็นชื่อตำบล และที่ตำบลนั้นมีป่าชื่อรักขิตวัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับในป่ารักขิตวัน ที่ตำบลปาริไลยกะนั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในป่านั้น มีสัตว์ ๒ ตัว คือช้างและลิงมาคอยอุปฐาก เป็นเรื่องที่มีมา อันแสดงถึงความดีงามของสัตว์ และความใกล้ชิดกันด้วยเมตตากรุณา

เรื่องนี้ ทำให้ชาวพุทธมีความรู้สึกว่า แม้แต่องค์พระพุทธเจ้าก็ทรงใกล้ชิดกับสัตว์ทั้งหลายเป็นอย่างมาก เมื่อคนไทยเราได้ยินเรื่องอย่างนี้อยู่เรื่อย เราก็จะได้ปลูกฝังความรู้สึกที่ดีงาม และความสัมพันธ์อย่างมิตรกับสัตว์ป่าไว้

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.