คนไทยกับเทคโนโลยี

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คนไทยยังศึกษาไม่ถึงสาระของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในสังคมไทยของเรา การพัฒนาประเทศขณะนี้มีปัญหา เพราะว่า คนไทยเพลินอยู่แค่วิชาการที่เป็นระดับเทคโนโลยีในระบบความคิดแบบแยกส่วน วิชาการจำพวกวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ คนไทยไม่สนใจ จึงเกิดเป็นปัญหาของประเทศชาติในปัจจุบันว่า วิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หาคนศึกษายาก รัฐบาลวางแผนพัฒนาประเทศขณะนี้ต้องไปเน้นย้ำว่าทำอย่างไรจะส่งเสริมให้มีคนศึกษาวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น เพราะที่แท้วิทยาศาสตร์ต่างหากที่จะเป็นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี ถ้าอยู่แค่เทคโนโลยีก็ไปไม่ไกล

ขอให้ไปดูในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะรู้ว่าสังคมไทยขาดแคลนนักศึกษาผู้เรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ปัญหาของสังคมไทยเราจึงมีมากมายหลายอย่างและหลายชั้น ทั้งปัญหาเฉพาะของเราเอง และปัญหาร่วมกันกับโลกปัจจุบันทั้งหมด เมื่อขาดการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ก็ขาดศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี แม้แต่การพัฒนาความรู้ศาสตร์ ที่จะมาโยงกับศิลป์ ก็ยังโหว่เชื่อมกันไม่ไหว จึงไม่ต้องพูดว่าจะพัฒนาให้ถึงกุศลได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี ในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์นี้ ถ้ามองให้ดี ปัญหาความขาดแคลนผู้เรียนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่แท้จริง ความขาดแคลนผู้เรียนวิทยาศาสตร์ที่ว่านี้ เป็นปัญหาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งโยงไปถึงเรื่องกำลังคนในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เป็นปัญหาขั้นพื้นผิวที่โผล่ให้เห็น เป็นปลายเรื่องเท่านั้น

ปัญหาที่แท้ก็คือ การศึกษาวิทยาศาสตร์โดยรวมในสังคมไทยที่ผ่านมาทั้งหมด ตั้งแต่ชั้นเริ่มต้นไปจนตลอด ไม่ว่าจะเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรืออุดมศึกษาก็ตาม ถ้าไม่ถือว่าล้มเหลวทั้งหมด ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างผลที่เป็นสาระของการศึกษาวิทยาศาสตร์

การศึกษาวิทยาศาสตร์ มิใช่เป็นเพียงการเรียนรู้ข้อมูลวิชาวิทยาศาสตร์ และไม่ใช่เพียงความสามารถใช้วิธีการวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่หมายถึงการพัฒนาจิตปัญญาวิทยาศาสตร์ขึ้นมาในตัวคนผู้เรียน คือ การที่คนมีจิตใจวิทยาศาสตร์ ตลอดจนถึงการที่สังคมมีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ อันได้แก่ความใฝ่รู้ ความเป็นผู้มีเหตุผล ความนิยมปัญญา ความไม่เชื่อง่ายเหลวไหลงมงาย ความชอบพิสูจน์ทดลอง ชอบค้นคว้าสืบค้นหาความจริง แต่ภาพที่ปรากฏในสังคมไทยปัจจุบันนี้ ดูเหมือนจะตรงข้ามกับความมีจิตใจวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ จึงทำให้มองได้ว่า การศึกษาวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยที่ผ่านมาเป็นเวลายาวนาน ไม่ได้ผลที่พึงต้องการ คือผลที่เป็นสาระของการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่ว่ามานั้น (เรื่องนี้สถาบันพุทธศาสนาก็ไม่พ้นที่จะถูกติเตียนแบบเดียวกัน)

การศึกษาวิทยาศาสตร์ฉันใด การศึกษาด้านเทคโนโลยีก็ฉันนั้น สาระของการศึกษาเทคโนโลยี มิใช่แค่การรู้จักทำและรู้จักใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ แต่อยู่ที่การพัฒนาความใฝ่สร้างสรรค์ พร้อมทั้งความคิดสร้างสรรค์และฝีมือสร้างสรรค์ กล่าวคือความใฝ่ปรารถนาที่จะแก้ปัญหาและทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมอย่างแรงกล้า ที่ทำให้หาทางและเพียรพยายามนำเอาความรู้ที่ดีที่สุดมาจัดสรรประดิษฐ์นวัตกรรมที่จะบันดาลผลให้สำเร็จประโยชน์สุขนั้น ซึ่งการศึกษาด้านกุศลจะมาช่วยปิดกั้นความผิดพลาด โดยทำให้มองเห็นถูกต้องชัดเจนว่า ประโยชน์สุขที่ปรารถนานั้นเป็นประโยชน์สุขแท้จริง ที่เกื้อกูลแก่ชีวิต สังคม และระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งหมด มิใช่เป็นเพียงสิ่งบำรุงบำเรอชอบใจที่หลงตื่นชื่นชมวูบวาบไปด้วยกำลังโมหะ

การลงทุนสนับสนุนเพียงด้วยงบประมาณและการให้ทุน ตลอดจนเพิ่มค่าตอบแทน อาจช่วยให้มีจำนวนผู้ศึกษาเล่าเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น และสังคมไทยได้กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์มาบรรจุในวงงานต่างๆ เช่นประจำโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น หนุนเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ สนองความต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรมได้ผลมาก จนกระทั่งถ้าเสียหลัก ก็อาจจะมีสภาพอย่างที่เรียกว่าเป็นเพียงวิทยาศาสตร์ที่รับใช้อุตสาหกรรม (เวลานี้ดูเหมือนจะมีความโน้มเอียงที่จะเกิดมีวิทยาศาสตร์เชิงพาณิชย์ หรือวิทยาศาสตร์แบบธุรกิจ เหมือนอย่างกิจการด้านอื่นๆ ของยุคสมัย) แต่คงไม่ช่วยให้ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม ที่เป็นนักค้นพบผู้สร้างยุคสมัย หรือเป็นผู้นำโลกสู่ก้าวใหม่แห่งการบุกฝ่าพรมแดนความรู้วิทยาศาสตร์

ความสำเร็จที่ว่านั้นอยู่ที่การศึกษาวิทยาศาสตร์ที่เข้าถึงสาระ ซึ่งสามารถสร้างจิตใจวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ดังที่กล่าวข้างต้น คือความใฝ่รู้ รักความจริง ชอบเหตุผล นิยมปัญญา ชอบค้นคว้าแสวงหาสืบสาว ตรวจสอบ ทดลอง ชนิดที่ว่าถ้ายังไม่ถึงความจริงถ่องแท้จะไม่ยอมหยุด เช่นเดียวกับจิตใจของนักเทคโนโลยี ที่ใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งจะต้องหาทางจัดดำเนินการให้ประโยชน์สุขนั้นเป็นผลสำเร็จให้ได้

ถ้าการศึกษาวิทยาศาสตร์สร้างจิตใจวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ (และการศึกษาเทคโนโลยีสร้างจิตใจของนักสร้างสรรค์) อย่างที่ว่ามานี้ได้ จึงจะเป็นการศึกษาวิทยาศาสตร์ (และการศึกษาเทคโนโลยี) ที่แท้จริง ซึ่งเข้าถึงสาระ และมั่นใจได้ว่า การศึกษาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์จะคึกคักขึ้นมาเองโดยธรรมชาติอย่างไม่ขึ้นต่อกระแสเศรษฐกิจมากนัก และสังคมไทยจะมีนักค้นพบทางวิทยาศาสตร์ และนักประดิษฐ์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยไม่ต้องรอตื่นเต้นดีใจกับคนดีคนเด่นที่โผล่ดังขึ้นมาเป็นปรากฏการณ์บังเอิญของสังคม ชนิดนานแสนนานจะมีสักคน

เพียงแค่ว่าสังคมไทยขาดแคลนผู้ศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ก็มีคำถามที่หนักหนาว่ารัฐบาลจะหาทางแก้ปัญหานี้อย่างไร แต่เราไม่จำเป็นต้องรอรัฐบาล เพราะปัญหาที่แท้จริงใหญ่กว่านั้น ซึ่งจะต้องถามคนไทยทั้งชาติเลยทีเดียวว่า คนไทยจะพัฒนาตัวเองและช่วยกันพัฒนาสังคมไทยอย่างไร?

นี้เป็นข้อใหญ่ของปัญหาการพัฒนาประเทศไทย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.