โครงสร้างพระไตรปิฎก และความหมายในภาษาอังกฤษ และแนวอภิธรรม ๗ คัมภีร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

โครงสร้างพระไตรปิฎก และความหมายในภาษาอังกฤษ1

บรรยายเมื่อ ๒๘ มกราคม ๒๕๑๕

พระภิกษุผู้สืบต่อพระพุทธศาสนา ควรมีความรู้พอจะอธิบายพระไตรปิฎก ให้บุคคลภายนอกเข้าใจได้ถูกต้อง สามารถพูดให้เห็นภาพได้ทั่ว ยิ่งเป็นพระธรรมทูตมีหน้าที่เผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วย ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น สามารถใช้ศัพท์และคำเรียกต่างๆ ในภาษาที่จะเผยแพร่ให้ถูกต้อง

ในชั่วโมงนี้ แม้จะเป็นการศึกษาพระอภิธรรม แต่หลักธรรมในอภิธรรม ๗ คัมภีร์นั้น ก็เกี่ยวโยงกับธรรมในพระสูตรด้วย จึงควรมองเห็นเค้าโครงกว้างๆ ของพระไตรปิฎกทั้งหมด วันนี้ เราลองมาสำรวจตู้หนังสือพระไตรปิฎกดู ถือเป็นการทบทวนความรู้กันก่อน

พระไตรปิฎก คือ ตำรา ๓ หมวด แปลตามตัวอักษรว่า ตระกร้าหรือกระจาด ๓ ใบ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า The Three Baskets หรือนิยมเรียกกันว่า The Pali Canon ถ้าเรียกทับศัพท์ตามบาลีก็เป็น Tipitaka สํสกฤตเรียกว่า Tripitaka วรรณคดีสายพระไตรปิฎกนี้ แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. คัมภีร์พระบาลี หรือ มูลปกรณ์ หมายถึงตัวพระไตรปิฎกเอง อันเป็นที่บรรจุพุทธพจน์

๒. คัมภีร์อรรถวรรณนา ได้แก่ คัมภีร์อธิบายขยายความที่สืบเนื่องออกไป แต่พระไตรปิฎกนั้นมีหลายขั้น แบ่งคร่าวๆ เป็น ๓ ขั้น คือ อรรถกถา ฎีกา ตัพพินิมุต (นอกเหนือจากนั้น)

พระไตรปิฎก แยกออกดังนี้ คือ

  • วินัยปิฎก (Basket of the Discipline)
    ย่อหัวข้อว่า: อา ปา ม จุ ป
    เล่มที่ ๑-๘รวม ๘ เล่ม
  • สุตตันตปิฎก (Basket of the Discourses)
    ย่อหัวข้อว่า: ที ม สํ อํ ขุ
    เล่มที่ ๙-๓๓รวม ๒๕ เล่ม
  • อภิธรรมปิฎก (Basket of the Ultimate Doctrine)
    ย่อหัวข้อว่า: สํ วิ ธา ปุ ก ย ป
    เล่มที่ ๓๔-๔๕รวม ๑๒ เล่ม

รวมทั้งหมด ๔๕ เล่ม

วินัยปิฎก (Basket of the Discipline)

แบ่งออกเป็น ๕ คัมภีร์ คือ

  • เล่ม ๑ อาทิกัมม์ (Major Offences) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับ อาบัติหนัก (ปาราชิก ถึง อนิยต)
  • เล่ม ๒-๓ ปาจิตตีย์ (Minor Offences) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับ อาบัติเบา (นิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์ เป็นต้นไป)
  • เล่ม ๔-๕ มหาวรรค (Greater Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ ที่มาใน ๑๐ ขันธกะแรก
  • เล่ม ๖-๗ จุลวรรค (Smaller Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ ที่มาใน ๑๒ ขันธกะปลาย
  • เล่ม ๘ ปริวาร (Epitome of the Vinaya) คัมภีร์ คู่มือคำถาม-ตอบ ประกอบการศึกษาพระวินัยปิฎก

วิธีแบ่งอีกอย่างหนึ่ง จัดเป็น ๕ เหมือนกัน คือ

  • เล่ม ๑-๓ รวมเรียกว่าวิภังค์ (Analysis of Classification) ว่าด้วยสิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์
    คัมภีร์นี้ แบ่งย่อยออกไปเป็น ๒ ตอน คือ

    • เล่ม ๑-๒ ภิกขุวิภังค์ (มหาวิภังค์) (Rules for Monks) ว่าด้วยสิกขาบทในปาติโมกข์
    • เล่ม ๓ ภิกขุนีวิภังค์ (Rules for Nuns) ว่าด้วยสิกขาบทในปาติโมกข์ ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์
  • เล่ม ๔-๗ รวมเรียกว่า ขันธกะ (chapters) มี ทั้งหมด ๒๒ ขันธกะ จัดเป็น ๒ วรรค คือ
    • มหาวรรค (Greater Section) มี ๑๐ ขันธกะ
    • จุลวรรค (Smaller Section) มี ๑๒ ขันธกะ
  • เล่ม ๘ ปริวาร (Epitome of the Vinaya)

สุตตันตปิฎก (Basket of Discourses)

คือประมวลพระพุทธพจน์ที่ปรากฏในรูปพระธรรมเทศนา ซึ่งทรงแสดงในโอกาสต่างๆ แบ่งออกเป็น ๕ นิกาย คือ

  1. ทีฆนิกาย (Collection of Long Discourses)
  2. มัชฌิมนิกาย (Collection of Medium - Length Discourses)
  3. สังยุตตนิกาย (Collection of Connected Discourses)
  4. อังคุตตรนิกาย (Collection of Gradual Sayings)
  5. ขุททกนิกาย (Collection of Minor Works)

๑. ทีฆนิกาย (Collection of Long Discourses) เป็นชุมนุมหรือที่รวมอยู่แห่งสูตรทั้งหลาย อันมีขนาดยาว มี ๓๔ สูตร จัดเป็น ๓ วรรค ดังนี้

  • ๑.) สีลขันธวรรค (Section Concerned with Morality) เล่ม ๙ มี ๑๓ สูตร
  • ๒.) มหาวรรค (Great Section) เล่ม ๑๐ มี ๑๐ สูตร มีคำขึ้นต้นว่า มหา แทบทั้งนั้น เช่น มหาปรินิพพานสูตร (Discourse on the Great Decease) เป็นสูตรที่มีเนื้อความยาวที่สุด
  • ๓.) ปาฏิกวรรค (Section Beginning with the Patika Sutta) เล่ม ๑๑ มี ๑๑ สูตร

๒. มัชฌิมนิกาย (Collection of Medium-Length Discourses) เป็นที่ชุมนุมหรือรวมอยู่แห่งสูตรทั้งหลาย อันมีขนาดกลาง จัดเป็น ๑๕ วรรค มี ๑๕๒ สูตร

แบ่งเป็น ๓ ปัณณาสก์ Groups of Fifty Discourses

  • ๑.) มูลปัณณาสก์ The First Fifty บั้นต้น ๕๐ สูตร
  • ๒.) มัชฌิมปัณณาสก์ The Middle Fifty บั้นกลาง ๕๐ สูตร
  • ๓.) อุปริปัณณาสก์ The Final Fifty บั้นปลาย ๕๒ สูตร

๓. สังยุตตนิกาย (Collection of Connected Discourses) เป็นชุมนุมหรือที่รวมอยู่แห่งพระสูตรที่จัดเข้าเป็นกลุ่มๆ ตามบุคคลหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง (สังยุต แปลว่า เกี่ยวข้อง)

สูตรใดเป็นเรื่องที่แสดงความเกี่ยวข้องกับผู้ใด หรือธรรมข้อใด ก็รวมมาไว้เป็นกลุ่มเดียวกันแล้วตั้งชื่อตามชื่อของผู้นั้นหรือธรรมข้อนั้นมี ๗,๗๖๒ สูตร (นับแล้วไม่น่าถึง) แบ่งเป็น ๕ วรรค คือ

  • ๑.) สคาถวรรค (Section with Verses เป็นเรื่องโต้ตอบด้วยคาถา เช่น ถามว่าอะไรเป็นแสงสว่างในโลก? ตอบว่า “ปัญญา” เราได้พุทธศาสนสุภาษิตเป็นจำนวนมากจากนี้ (เล่มที่ ๑๕)
  • ๒.) นิทานวรรค (Section on Causation) ว่าด้วยเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท นิทานแปลว่า “เหตุ” (เล่มที่ ๑๖)
  • ๓.) ขันธวารวรรค (Section on the Aggregates) ว่าด้วยขันธ์ ๕ เช่น อนัตตลักขณสูตร (เล่มที่ ๑๗)
  • ๔.) สฬายตนวรรค (Section on the Six Sense-Bases) ว่าด้วยอายตนะ ๖ มี อาทิตตปริยายสูตรเป็นต้น (เล่มที่ ๑๘) ขอให้สังเกตว่า อัพยากตปัญหา (เรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ) ก็อยู่ในคัมภีร์นี้เป็นส่วนมาก
  • ๕) มหาวารวรรค (Section on Great Item) แสดงธรรมหมวดใหญ่ คือเรื่องโพธิปักขิยธรรม ๓๗ (เล่มที่ ๑๙) พระสูตรในสังยุตตนิกายเหล่านี้ ปรากฏซ้ำอีกมากในอภิธรรม

๔. อังคุตตรนิกาย (Collection of Gradual Sayings) เป็นชุมนุมหรือที่รวมอยู่แห่งพระสูตรที่จัดไว้ตามธรรมที่เกินขึ้นไปแต่ละองค์ๆ คือ จัดลำดับเป็นหมวดๆ ตามจำนวนหัวข้อธรรม นับได้ ๙,๕๕๗ สูตร (บางสูตรสั้นๆ มีข้อความหนึ่ง หรือสองบรรทัด ก็จบเนื้อความ) แบ่งเป็นนิบาต คือ ชุมนุม หรือ หมวด มีทั้งหมด ๑๑ หมวด จัดเป็น ๕ เล่ม (เล่ม ๒๐ - ๒๔) ดังนี้

  1. เอกนิปาต (Groups of Ones)
  2. ทุกนิปาต (Groups of Twos)
  3. ติกนิปาต (Groups of Threes)
  4. จตุกฺกนิปาต (Groups of Fours)
  5. ปญฺจกนิปาต (Groups of Fives)
  6. ฉกฺกนิปาติ (Groups of Sixes)
  7. สตฺตกนิปาต (Groups of Sevens)
  8. อฏฺฐกนิปาต (Groups of Eights)
  9. นวกนิปาต (Groups of Nines)
  10. ทสกนิปาต (Groups of Tens)
  11. เอกาทสกนิปาต (Groups of Elevens)

๕. ขุททกนิกาย เป็นชุมนุมหรือที่รวมเรื่องเบ็ดเตล็ด ที่นับเป็นสูตรได้บ้างมิได้บ้าง มี ๑๕ คัมภีร์ (ชื่อเล็กแต่มีขนาดใหญ่ที่สุด) ดังนี้

  1. ขุททกปาฐะ (Minor Readings) บทสวดเล็กๆ น้อยๆ เป็นที่มาสำคัญของ เจ็ดตำนาน
  2. ธรรมบท (Works of the Doctrine) ๔๒๓ คาถา ตั้งแต่คาถา มโนปุพฺพํ เป็นต้นไป (อรรถกถามี ๘ เล่ม)
  3. อุทาน (Paeans of Joy) เป็นพระดำรัสเปล่งอุทานของพระพุทธเจ้า มีเรื่องนำรวม ๘๐ อุทาน
  4. อิติวุตตกะ (Thus-Said Discourses) เป็นพระสูตรที่ไม่ขึ้นด้วย คำว่า เอวมฺเม สุตํ แต่ขึ้นด้วย วุตฺตญฺเหตํ และจบลง ด้วยคำว่า อิติ วุตฺตํ มีทั้งหมด ๑๑๒ สูตร
  5. สุตตนิบาต (Collection of Suttas) เป็นพระสูตรที่มีลักษณะพิเศษ คือเป็นคาถาล้วนๆ แทบทั้งหมด มีร้อยแก้วเพียง ๒ - ๓ สูตรเท่านั้น
    ปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่า เป็นพระสูตรรุ่นแรกที่มีทั้งหมด ๗๑ สูตร หัวคัมภีร์แรกนี้ จัดเป็นเล่มที่ ๒๕ ในพระไตรปิฎก
  6. วิมานวัตถุ (Stories of Celestial Mansions) เป็นเรื่องแสดงถึงบุพกรรมของเทวดามี ๘๕ เรื่อง
  7. เปตวัตถุ (Stories of Suffering Demons) เป็นเรื่องแสดงถึงบุพกรรมของเปรต มี ๕๑ เรื่อง
  8. เถรคาถา (Verses of the Elders) มี ๒๖๔ องค์ อยู่ในเล่มที่ ๒๖
  9. เถรีคาถา (Verses of the Women Elders) มี ๗๖ องค์ อยู่ในเล่มที่ ๒๖
  10. ชาดก (Birth Stories) ประมวลเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้ามีทั้งหมด ๕๔๗ เรื่องอยู่ในเล่มที่ ๒๗ - ๒๘
  11. นิทเทส (Expositions) เป็นคำอธิบายของพระสารีบุตรเถระ ขยายความสูตรต่างๆ ในสุตตนิบาตจัดได้ว่า เป็นต้นแบบของอรรถกถาทั้งหลาย แบ่งเป็น ๒ ตอน คือ
    - ตอนที่ ๑ มหานิทเทส (Greater Expositions) และ
    - ตอนที่ ๒ จูฬนิทเทส (Lesser Expositions)
    อยู่ในเล่มที่ ๒๙-๓๐
  12. ปฏิสัมภิทามรรค (Way of Analytical Knowledge) แปลว่าทางแห่งความแตกฉานแห่งปัญญา มีเรื่อง ฌาน อัปปมัญญา ญาณ อานาปานสติ เป็นต้น ท่านกล่าวว่าเป็นผลงานของพระสารีบุตรเถระอยู่ในเล่มที่ ๓๑
  13. อุปทาน (Lives of Arahants) เป็นประวัติในชาติก่อนๆ ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเถระพระเถรีทั้งหลาย อยู่ในเล่มที่ ๓๒-๓๓
  14. พุทธวงศ์ (History of the Buddhas) แสดงประวัติพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ เริ่มตั้งแต่พระพุทธทีปังกร เป็นต้นมา อยู่ท้ายเล่ม ๓๓
  15. จริยาปิฎก (Modes of Conduct) มีนิดเดียว อยู่ในเล่ม ๓๓ เหมือนกัน ว่าด้วยพุทธจริยาในบางเรื่องของชาดก นำมาเล่าใหม่ แต่งไว้ ๓๕ เรื่องแสดงตัวอย่างการทรงบำเพ็ญบารมีต่างๆ เช่น ทานบารมี เป็นต้น

* * * * * * * * * *
ปิดตู้พระไตรปิฎก
เพียงเท่านี้

1เนื้อหาเรื่องนี้เป็นการถอดบทบรรยายโดยญาติโยมผู้ฟัง อาจมีความผิดพลาดในการฟัง, จับความ, สะกดคำศัพท์ จำนวนไม่น้อย จึงควรใช้เพียงเพื่อเรียนรู้เบื้องต้น ได้เห็นภาพรวมอย่างรวดเร็ว เพื่อศึกษาต่อในรายละเอียด ไม่ควรใช้เนื้อหานี้เป็นข้อมูลอ้างอิง
อนึ่ง เนื้อหาในเว็บไซต์แห่งนี้ ได้รับจัดรูปแบบอักษรและย่อหน้าต่างจากต้นฉบับเดิม ตามความจำเป็นของสื่อเว็บไซต์ และเพื่อความสะดวกในการอ่าน
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.