ตามคำถามข้างต้น มีการสอนว่า การที่บุคคลตั้งใจทำกิจวัตรให้ตรงต่อเวลาอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอนั้น จัดอยู่ในจำพวกสีลัพพตปรามาส อันเป็นกิเลส จึงไม่ควรกระทำ ที่ถูกคือ บุคคลควรจะทำกิจต่างๆ นั้นตามความพอใจ ไม่ใช่เพราะถูกกะเกณฑ์ หรือต้องทำเพราะเป็นระเบียบกติกาที่ตกลงร่วมกัน
อันนี้ต้องระวังจะกลายเป็นการสอนให้เข้าใจผิดพลาด เป็นการสอนโดยไม่รู้จักแยกแยะ แทนที่จะเป็นธรรม ก็จะพาออกไปนอกธรรม
ตามที่พูดให้ฟังแล้ว คงรู้เข้าใจแล้วว่า สีลัพพตปรามาส คือการยึดถือหลักการและข้อปฏิบัติต่างๆ เลยเถิดไป ไม่ตรงตามความหมายและความมุ่งหมายของมัน เพราะขาดปัญญา ไม่รู้ไม่เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของการปฏิบัตินั้น โดยเป็นการปฏิบัติเพราะโง่หลงงมงายบ้าง เพราะโลภะบ้าง เพราะโทสะบ้าง
แต่ถ้ารู้เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของการปฏิบัตินั้นชัดเจนดีแล้ว มองเห็นเหตุผลที่ตนจะปฏิบัติว่าถูกต้องมั่นใจแล้ว จะต้องปฏิบัติจริงจังเต็มที่ จึงจะถูกต้อง เป็นการปฏิบัติด้วยฉันทะ ด้วยวิริยะ เป็นต้น โดยคนที่เข้มแข็งและมีปัญญา การไม่ปฏิบัติจริงจัง ตามใจตัวเพราะเกียจคร้านเป็นต้น จึงจะเป็นกิเลส และถึงขั้นเป็นความประมาท
ที่ว่า บุคคลควรจะทำกิจต่างๆ ตามความพอใจนั้น ก็ถูกนิดหนึ่ง แต่คำว่าตามความพอใจนั้น มีแง่พิจารณาหลายอย่าง “ตามความพอใจ” แบบที่ว่าเอาแต่ใจของตัว ตามที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้น ก็คือทำตามกิเลส และไม่รู้จักฝึกตน ความเสื่อมจะรออยู่ข้างหน้า
คนควรทำการต่างๆ ด้วยความพอใจ ที่มากับความเข้าใจ หรือเกิดจากความเข้าใจ คือมีปัญญา รู้ว่า การนี้ทำแล้วดีงามเป็นประโยชน์อย่างไร เป็นความพอใจที่เป็นฉันทะ
เรื่องนี้เราไม่อยากทำ ไม่มีความพอใจ แต่พอพิจารณาด้วยปัญญา หรือมีผู้ปรารถนาดีอธิบายให้ฟังว่าทำแล้วจะดีงามเป็นประโยชน์อย่างไร เดิมไม่อยากทำเลย แต่พอรู้เข้าใจเห็นเหตุผล ก็เกิดความพอใจ เกิดฉันทะขึ้นมา นี่คือความพอใจทำให้เกิดขึ้นได้ ควรทำด้วยความพอใจอย่างนี้ ไม่ใช่ทำตามพอใจ ที่เพียงว่ามีความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจ ต้องแยกแยะ
ที่ไม่ให้ทำเพราะถูกกะเกณฑ์นั้น ก็ต้องแยกแยะเหมือนกัน การบังคับให้ทำนั้นตามปกติก็ไม่ถูกต้อง แต่ในบางกรณี ก็ไม่ใช่การบีบบังคับด้วยจิตโทสะเป็นต้น ต้องใช้ปัญญาพิจารณา ถ้ารู้ว่าเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ และเขาหวังดี ก็รู้จักปฏิบัติให้เหมาะ ไม่ใช่ตัดสินพรวดไปทีเดียว
โดยเฉพาะการที่ต้องทำเพราะเป็นระเบียบกติกาที่ตกลงร่วมกันนั้น นอกจากเป็นเรื่องของเหตุผลทางสังคมแล้ว ถ้าเราพิจารณาแล้วมองเห็นด้วยปัญญา ว่าเรื่องนี้ควรทำเพราะดีงามเป็นประโยชน์ แต่ยากสำหรับเรา เราอ่อนแอ ไม่อยากทำ ใจป้อแป้ ไม่สู้ ในกรณีอย่างนี้ ระเบียบกฎกติกาวินัยก็เป็นเครื่องช่วยให้เราได้ฝึกตน ทำให้มีความเข้มแข็ง แล้วเราก็จะก้าวหน้าไปได้ สิ่งที่ไม่เคยทำได้ ก็จะทำได้ ที่ทำได้ไม่ดี ก็จะทำได้ดี ชำนาญแคล่วคล่องง่ายดายขึ้น ทีนี้ พอฝึกดีแล้ว ถึงไม่มีระเบียบกฎกติกา ก็อยากทำ และนำคนอื่นๆ ให้ทำได้ด้วย
จุดสำคัญอยู่ที่เป็นการฝึกตน มีความเข้มแข็ง และตั้งอยู่บนฐานของปัญญา เมื่อทำด้วยมีปัญญารู้เข้าใจ เกิดฉันทะขึ้นมา หรือด้วยวิริยะ ก็เข้มแข็งก้าวไป การฝึกตนก็เกิดขึ้น และก็จะเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
ไม่ใช่ว่า เมื่อไรๆ ก็อยู่แค่ความชอบใจและไม่ชอบใจ มีจิตใจอ่อนแอ งอก่องอขิง จมอยู่ในความประมาท
ควรรู้จักใช้ปัญญา ปลุกฉันทะขึ้นมา ทำการด้วยความเข้มแข็ง ฝึกตนยิ่งๆ ขึ้นไป