ทีนี้ก็เกิดปัญหาต่อไปอีกว่า ถ้าหากว่าขบวนการของสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างแน่นอนแล้ว มนุษย์จะมีอิสรภาพหรือไม่ เป็นปัญหาสำคัญมากเกี่ยวกับอิสรภาพของมนุษย์ เพราะถ้ามนุษย์ถูกจำกัดด้วยกระบวนการของเหตุปัจจัยที่แน่นอนแล้ว มนุษย์ก็จะกำหนดความเป็นไปของตนเองไม่ได้ และจะทำให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามที่ตนต้องการไม่ได้ ข้อสรุปเป็นอย่างนี้หรือเปล่า คือ มนุษย์มีอิสรภาพหรือไม่?
ก่อนตอบคำถามนี้ ก็ขอพูดแทรกเป็นเกร็ดนิดหน่อยเกี่ยวกับคำว่าอิสรภาพนั่นเอง คำว่า “อิสรภาพ” นี้ เป็นคำภาษาไทยคำหนึ่งที่เราได้ใช้คลาดเคลื่อนจากความหมายเดิมกันมานาน คือ เราใช้คำว่า อิสรภาพ ในความหมายว่า ความปลอดพ้นจากเครื่องบีบคั้นบังคับกีดกั้นจำกัด ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งอื่นหรือใครอื่น พร้อมที่จะทำอะไรตามต้องการหรือตามที่เห็นสมควร อันนี้คือความหมายที่เราเข้าใจกัน และเราก็อาจจะนำไปเทียบกับภาษาอังกฤษ โดยแปลอิสรภาพว่า freedom
แต่ความจริงนั้น คำว่า “อิสรภาพ” เป็นคำภาษาบาลี มาจาก อิสฺสร+ภาว อิสฺสร ตรงกับสันสกฤตว่า อีศฺวร หรือ อิศวร ซึ่งแปลว่า เป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าใหญ่ เราได้ใช้คำว่าอิสรภาพนี้คลาดเคลื่อนกันมาโดยตลอด
ทีนี้ ก็จะต้องถามว่า แล้วในภาษาเดิม คือบาลีสันสกฤต เขาใช้คำอะไรกันในความหมายว่า ความปลอดพ้นจากเครื่องบีบคั้นบังคับจำกัดขัดขวาง ไม่ต้องขึ้นกับสิ่งอื่น พร้อมที่จะทำอะไรๆ ตามต้องการ หรือตามที่เห็นสมควร
คำที่ใช้ในภาษาบาลีสันสกฤตแต่เดิม ก็คือคำว่า “วิมุตติ” หรือ วิมุกติ หรือวิโมกข์ หรือ โมกษะ ซึ่งคำเหล่านี้เป็นคำที่ใช้ในทางศาสนาเป็นประจำมานานแสนนาน เป็นคำที่คุ้นตาคุ้นหูกันมาก การที่อาตมภาพยกคำนี้ขึ้นมาพูด ก็เพราะต้องการให้เห็นว่า ความจริงนั้น “อิสรภาพ” หรือความหมายที่เราใช้ด้วยคำว่าอิสรภาพนั้น เป็นสิ่งที่ทางพระศาสนาได้พูดถึงกันอยู่เสมอ เป็นคำที่สนใจใส่ใจกันในวงการของนักศาสนาปรัชญามานานตั้งหลายพันปีแล้ว เราจะได้โยงเรื่องนี้เข้าหากันได้
คำว่า “วิมุตติ” หรือ วิมุกติ นั้น ถ้าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษก็ตรงกับคำว่า freedom
ถ้าท่านไปเปิดพจนานุกรมบาลี-สันสกฤตดู จะพบว่า อิสรภาพ ไม่ได้แปลว่า freedom แต่ “อิสรภาพ” แปลว่า mastership หรือ overlordship หรือ supremacy หรือ sovereignty ซึ่งไม่ใช่อิสรภาพอย่างที่เราเข้าใจเลย เป็นเรื่องของความเป็นใหญ่ทั้งนั้น มีแต่พจนานุกรมไทย-อังกฤษเท่านั้น ที่แปลอิสรภาพว่า freedom
แต่ถ้าใช้ “วิมุตติ” ก็จะมีความหมายเป็น freedom หรือ liberation ที่บางคนแปลว่า การปลดปล่อย หรือ release หรือ emancipation หรือที่ในศาสนาตะวันตกเขาใช้สำหรับคติทางศาสนาของเขาว่า salvation
เป็นอันว่าคำที่เราต้องการแท้ๆ ก็คือคำว่า “วิมุตติ วิโมกข์ หรือโมกษะ” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เราได้ใช้คำว่าอิสรภาพมาจนติดเสียแล้ว เพราะฉะนั้น แม้ในการบรรยายครั้งนี้ อาตมภาพก็จำเป็นต้องใช้คำว่าอิสรภาพในความหมายของความปลอดพ้นนั้นตลอดไป แต่ขอเพียงว่า
๑. เมื่อพูดถึงคำว่าอิสรภาพ ก็ให้เข้าใจตามเรื่องราวและความหมายที่อาตมภาพได้กล่าวมาแล้ว
๒. เมื่อได้ยินคำว่าอิสรภาพคราวใด ก็ขอให้นึกถึงคำว่า วิมุตติ วิโมกข์ โมกษะ ไว้ในใจด้วย จะได้โยงกับความหมายในทางพระศาสนา
อย่างไรก็ตาม คำว่า “อิสรภาพ” นั้นก็มีแง่อยู่บ้างเหมือนกัน ที่จะใช้ได้กับความหมายในเชิงว่า เป็นการทำอะไรได้ตามต้องการ เพราะคำว่าอิสรภาพนั้นแปลว่าความเป็นใหญ่ เมื่อเราจำกัดความหมายของความเป็นใหญ่ในที่นี้ว่า ความเป็นใหญ่ในตัวเอง ความเป็นไทแก่ตัว มันก็มีลักษณะที่ว่า สามารถทำอะไรได้ตามต้องการโดยไม่ขึ้นกับสิ่งอื่นเหมือนกัน
แต่คำว่าอิสรภาพมีข้อเสียในแง่ที่ว่า มันมักมีความหมายเลยไปถึงว่า จะเข้าไปกดขี่บังคับครอบงำคนอื่นมีอิทธิพลเหนือเขาได้ด้วย เพราะฉะนั้น จึงเป็นคำที่มีความหมายไม่พอดี ไม่ตรงกับที่ต้องการทีเดียว ความหมายของคำว่าอิสรภาพก็ขอพูดเพียงเท่านี้
ทีนี้ก็กลับมาถึงปัญหาที่ว่า ในเมื่อกระบวนการของสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยแน่นอนแล้ว มนุษย์เราจะมีอิสรภาพหรือไม่ ก็ตอบได้ว่า มนุษย์นั้นมีอิสรภาพ
การมีอิสรภาพของมนุษย์ก็คือการที่มนุษย์สามารถเข้าไปเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง และมนุษย์นี้ก็เป็นปัจจัยตัวสำคัญด้วยในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น
มนุษย์เข้าไปเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอย่างไร คำตอบก็คือ มนุษย์เอาการกระทำของตัวนั้นเอง เข้าไปเป็นปัจจัยผลักดัน หรือกีดกั้น หรือจัดสรรปัจจัยอื่นๆ ให้เป็นไปตามต้องการ อันนี้คือการที่มนุษย์มีอิสระ ที่ว่ามีอิสระก็มีอิสระอย่างนี้แหละ แต่จะให้มีอิสระแบบที่ว่านึกเอาจะให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไรตามชอบใจนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าคำว่าอิสระมีความหมายถึงอย่างนั้น ก็เรียกว่ามนุษย์ไม่มีอิสรภาพ คือว่าจะเอาตามชอบใจตัวเองโดยไม่เข้าไปเป็นเหตุปัจจัยด้วยนั้น ทำไม่ได้
การเป็นอิสระของมนุษย์ ก็คือ การที่ตัวจะต้องเข้าไปร่วมเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย
อีกประการหนึ่ง การที่มนุษย์จะมีอิสรภาพนั้น นอกจากจะหมายถึงว่า มนุษย์สามารถทำอะไรๆ ได้แล้ว ยังจะต้องมี ความหมายต่อไปอีกด้วยว่า การกระทำของมนุษย์นั้นจะต้องมีผล ถ้าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไม่แน่นอน ไม่เป็นไปอย่างแน่นอนตามเหตุปัจจัย เป็นไปอย่างเลื่อนลอย ไม่มีกฎเกณฑ์ การกระทำของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีผล มนุษย์จะทำอะไรไปก็ไม่มีความหมาย การกระทำของมนุษย์ก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดอะไรขึ้นมา มนุษย์ก็คาดหมาย หวังหรือล่วงรู้ผลแห่งเหตุปัจจัยจากการกระทำของตนไม่ได้เลย ถ้าเป็นอย่างนี้มนุษย์ก็ไม่มีอิสรภาพ
มนุษย์มีอิสรภาพ ก็เพราะสามารถทำการเป็นปัจจัยให้เกิดผล โดยอาศัยความเป็นไปอย่างแน่นอนตามเหตุปัจจัยนั่นเอง
ที่ว่ามนุษย์เป็นอิสระ โดยเข้าไปร่วมเป็นปัจจัยในกระบวนแห่งเหตุปัจจัยนั้น ปัจจัยในฝ่ายของมนุษย์มีอะไรบ้าง
อย่างที่หนึ่งซึ่งเห็นชัดก็คือ “การกระทำ” ของมนุษย์นั้นแหละเป็นตัวปัจจัยอันหนึ่ง ทีนี้มองต่อไป ที่บอกว่าเราทำอะไรๆ เพื่อให้เป็นไปตามต้องการ ก็มีปัจจัยอีกตัวหนึ่งในฝ่ายมนุษย์คือ “ความต้องการ”
เป็นอันเห็นแล้วว่า ปัจจัยฝ่ายมนุษย์ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้นมี ๒ อย่าง ได้แก่ การกระทำ และ ความต้องการ และเราก็เข้าไปร่วมกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น โดยเอาการกระทำของตนเป็นปัจจัยทำให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามต้องการ
แต่แค่นี้ยังไม่พอ ถ้าได้เพียงสองอย่างนี้ เราก็มองข้ามปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งอีกตัวหนึ่งไป ปัจจัยอีกตัวหนึ่งในฝ่ายของมนุษย์นั้นคือ ความรู้ เราอาจไม่พูดถึงมันเลย คือเราพูดเพียงแค่ว่าเราทำการให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามต้องการ ไม่มีคำว่า “ความรู้” แต่เราจะทำสิ่งทั้งหลายให้เป็นไปตามต้องการได้อย่างไร เราต้องรู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ต้องรู้ปัจจัยอื่นๆ ที่เราจะเข้าไปผลักดัน เข้าไปปิดกั้น เข้าไปจัดสรร เราจึงจะทำการให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้
เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือ ความรู้ หรือ ปัญญา ปัญญานี่แหละเป็นปัจจัยตัวเอกที่ทำให้มนุษย์เป็นอิสระ หากไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ เราจะทำอะไรได้ เราทำอะไรมันก็ไม่เป็นไปตามต้องการ หรือทำลงไปแล้วอาจได้ผลตรงข้ามกับความต้องการก็ได้ เพราะฉะนั้น ตัวการสำคัญที่เป็นปัจจัยทางฝ่ายมนุษย์ ที่ทำให้มนุษย์เป็นอิสระหรือมีอิสรภาพ ก็คือ “ปัญญา”
ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า ปัญญาเป็นปัจจัยตัวเอก เป็นแกนหลักที่จะทำให้เกิดวิมุตติ ดังจะเห็นได้ว่า ท่านกล่าว ถึงลำดับหลักธรรมในกระบวนการของการศึกษาไว้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ต่อจากปัญญาจึงเป็นวิมุตติ ขาดปัญญาแล้วหลุดพ้นไม่ได้ ปลอดพ้นเป็นอิสระไม่ได้
ไม่ต้องพูดถึงวิมุตติที่กล่าวถึงในหลักธรรมขั้นสูงสุด แม้แต่การที่เราจะปลอดพ้นเป็นอิสระจากภัยธรรมชาติ จากโรคภัยไข้เจ็บ จากการเบียดเบียนในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เราก็ต้องอาศัยปัญญาความรู้
เมื่อมีปัญญารู้เข้าใจในสิ่งทั้งหลายที่อยู่แวดล้อมตัว ที่จะมาเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องทำให้เกิดภัยธรรมชาติเป็นต้นนั้นแล้ว เราก็เข้าไปผลักดัน ปิดกั้น จัดสรรปัจจัยเหล่านั้น เพื่อทำให้เป็นไปตามปรารถนา ถ้าเรามีความสามารถที่จะเป็นปัจจัยได้อย่างถูกต้อง ก็ทำได้สำเร็จ
แม้แต่การที่เรามีวิชาการต่างๆ เช่น วิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ลัทธิอะไรต่างๆ ขึ้นมา เราร่ำเรียนกันไปก็เพื่อจะได้เอาความรู้มาใช้ในการจัดสรรปัจจัยต่างๆ ให้เป็นไปในทางที่จะช่วยให้มนุษย์เข้าถึงอิสรภาพ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่จะทำให้เกิดปัญญาซึ่งเป็นตัวการสำคัญเป็นปัจจัยเอกในการที่จะนำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ คือในเวลาใช้จริง เราเรียนรู้ศาสตร์หรือวิชาการต่างๆ เหล่านั้น เรานึกว่าเราเก่งกล้าสามารถ เราเป็นอิสระที่จะทำอะไรๆ ให้เป็นไปตามที่เราต้องการ แต่บางทีเราก็ไม่ได้ใช้ศาสตร์วิทยาเพื่อผลในการที่จะให้เกิดอิสรภาพ เรากลับใช้มันในทางที่จะทำมนุษย์ให้ตกเป็นทาสยิ่งขึ้นไปอีกก็มี
อันนี้เหตุผลเป็นเช่นไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวพันถึงอิสรภาพในตัวของมนุษย์เอง ซึ่งจะต้องพิจารณากันต่อไป