พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ขอเจริญพร ท่านผู้สนใจใฝ่ธรรมทั้งหลาย
ในสมัยปัจจุบันนี้เราได้เห็นกันว่า ประชาชนหันมาสนใจในทางพระศาสนากันมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะแต่คนแก่คนเฒ่าหรือผู้ใหญ่เท่านั้น แม้แต่เด็กๆ คนหนุ่มคนสาวก็ปรากฏว่าได้มาสนใจศึกษาปฏิบัติทางธรรมกัน และเป็นที่น่าสังเกตว่า คนจำนวนมากเหล่านี้ได้สนใจในด้านการปฏิบัติ หรือมักจะเรียกกันว่าการปฏิบัติธรรม ก็เลยทำให้นึกว่า เราควรจะมาพูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมกันบ้างว่ามีความหมายแค่ ไหนเพียงไร
ว่าตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว การปฏิบัตินั้นก็เป็นหลักหนึ่งในหลักใหญ่ ๓ ประการของพระพุทธศาสนา ท่านเรียกว่าสัทธรรม ๓ อย่าง สัทธรรมก็คือธรรมที่แท้ หรือธรรมที่เป็นตัวหลักสำคัญ ๓ ประการคือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัตินั้น ได้แก่การเล่าเรียนศึกษา โดยเฉพาะ การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและหนังสืออธิบายต่างๆ อย่างที่ ๒ ปฏิบัติก็คือ การลงมือทำ เอาความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนนั้นมาใช้การ และประการที่ ๓ ปฏิเวธ ก็คือ การได้รับผลจากการปฏิบัตินั้น
ใน ๓ ประการนี้จะเห็นว่า ปฏิบัติเป็นตัวกลาง อยู่ในระหว่างปริยัติกับปฏิเวธ เป็นตัวที่ทำให้ปริยัติหรือการศึกษาเล่าเรียนมีความหมายเป็นจริงเป็นจังขึ้น แล้วก็ส่งผลไปถึงปฏิเวธ หรือการได้รับผล จึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ปฏิบัตินี้นอกจากเป็นส่วนที่อยู่กลาง เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลจริงจัง แล้วก็ปรากฏว่า เป็นคำที่ใช้ในภาษาไทยมาก ไม่เหมือนอย่าง ๒ คำต้นกับคำสุดท้าย กล่าวคือ คำว่าปริยัติกับปฏิเวธนั้น หลายคนไม่สู้คุ้นหูและไม่ค่อยเข้าใจความหมาย แต่คำว่าปฏิบัติ เรานำมาใช้ในภาษาไทยเป็นคำสามัญธรรมดา ใช้จนกระทั่งในชีวิตประจำวัน เรียกว่า ปฏิบัติทั้งนั้น ไม่ว่าในเรื่องอะไร แต่ในวันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องการปฏิบัติธรรม ว่าปฏิบัติธรรมมีความหมายแค่ไหนเพียงไร ขอย้อนกล่าวอีกนิดหนึ่งว่า การปฏิบัติที่ว่าเป็นตัวสำคัญ ทำให้ปริยัติมีความหมายเป็นจริงเป็นจังและส่งผลไปยังปฏิเวธให้เกิดผลขึ้นนั้น ว่าที่จริงแล้วการปฏิบัติจะให้เกิดผลจริงจังได้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องด้วย และที่จะปฏิบัติได้ถูกต้องก็เพราะว่ามีความรู้ถูกต้อง คือได้เล่าเรียนมา เหมือนอย่างเรามานั่งฟังกันในวันนี้ ก็อยู่ในปริยัติเหมือนกัน การที่ท่านมาฟังนี้ก็เพื่อจะได้รู้แนวทางที่จะนำไปใช้ นำไปทำหรือลงมือปฏิบัติ ความรู้ที่ได้เล่าเรียน หรือได้รับฟังเช่นนี้ก็จัดเข้าในปริยัติ ถ้าท่านเห็นว่าท่านมาฟังในวันนี้มีความสำคัญ ท่านก็จะเข้าใจความหมายของปริยัติว่า มีความสำคัญแค่ไหนเพียงไร
ปริยัตินั้นเปรียบอย่างหนึ่งก็เหมือนกับว่า เราจะเดินทาง เราจะต้องรู้ที่ทางที่เราจะไปเสียก่อนว่าเราจะไปไหน ที่นั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นสถานที่ที่มีการเดินทางซับซ้อน เราอาจจะต้องเรียนรู้ให้ละเอียดลงไปถึงรายการในระหว่างทางว่า เดินทางไปถึงไหน จะพบอะไรบ้างให้เป็นที่หมายที่สังเกต อาจจะต้องมีแผนที่ที่บอกทางจะต้องมีเข็มทิศ ปริยัตินั้นก็เปรียบเหมือนแผนที่ เปรียบเหมือนเข็มทิศ ตลอดจนกระทั่งความรู้ในภูมิศาสตร์ที่จะทำให้เราเดินทางไปด้วยความถูกต้อง ถ้าเรามีแผนที่ มีเข็มทิศ มีความรู้ในภูมิศาสตร์เกี่ยวกับท้องถิ่นที่จะไปอย่างถูกต้องแล้ว เราก็สามารถเดินทางด้วยความมั่นใจ และเราก็จะเดินทางไปถึงจุดหมาย การเดินทางนั้นแหละคือตัวการปฏิบัติ และการถึงจุดหมาย ก็คือผลที่ได้รับเรียกว่าปฏิเวธ
ทีนี้ เรามาพิจารณาถึงความหมายของการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมนั้น ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ คำว่าปฏิบัติ กับคำว่าธรรม ธรรมนั้นมีความหมายกว้างขวางมาก ในที่นี้จะแสดงความหมายเพียงสั้นๆ เอากันแค่ ๒ ความหมาย ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะพูดต่อไป ธรรมแปลอย่างหนึ่งว่าความจริง และอีกอย่างหนึ่งแปลว่าความถูกต้องดีงามหรือความดีความงาม รวมพูดพร้อมๆ กันไปว่า ความจริง ความถูกต้องดีงาม หรือ ความดีความงาม นี้เรียกว่าธรรม ส่วนอีกคำหนึ่งก็คือปฏิบัติ ปฏิบัตินั้นมาจากภาษาบาลี แปลกันง่ายๆ ว่า เดินทาง หรือ ดำเนิน ในภาษาบาลี คำว่าทางท่านเรียกมรรค และเดินทางเรียกว่าปฏิบัติ ทำตามหลักไวยากรณ์รูปกิริยาเป็น ปฏิปชฺชติ เช่นในประโยคว่า มคฺคํ ปฏิปชฺชติ แปลว่าเดินทาง เพราะฉะนั้น คำว่าปฏิบัติที่เราแปลกันว่าลงมือทำนั้นนะ ถ้าแปลกันตามศัพท์แท้ๆ แล้วก็เป็นเรื่องการเดินทาง เดินทางนั้นโดยทั่วไปก็หมายถึง ทางในภายนอก ทางที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นวัตถุ เช่น ถนนชนิดต่างๆ ทางเกวียน ทางรถยนต์ อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องนำไปสู่จุดมุ่งหมาย เราอาศัยรถยนต์ อาศัยแม้แต่การเดินเท้า หรือทางบนอากาศ คือ ทางเครื่องบิน เหล่านี้เรียกว่า ทางทั้งนั้น แต่เป็นทางภายนอก ทีนี้ทางอีกอย่างหนึ่งก็คือทางชีวิตของเรา ชีวิตของเราก็มีทางเหมือนกัน คือทางดำเนินชีวิต เรามักจะเรียกกันว่าวิถีชีวิต การดำรงอยู่ของเรานั้น บางที่เราเรียกว่าการดำเนินชีวิต
การดำเนินชีวิตก็เหมือนกับการเดินทางภายนอกที่ว่าจะต้องเดินให้ถูกต้อง ถ้าเดินไม่ถูกต้องก็คือเดินทางผิดพลาด ก็ไปไม่ถึงจุดหมาย และอาจจะประสบอันตรายด้วยก็ได้ การเดินทางที่ถูกต้องนี้ ก็มาประสานกับคำว่าธรรม เพราะเมื่อกี้เราแปลคำว่าธรรมว่า ความจริงความถูกต้องดีงาม เดินทางถูกต้องก็คือเดินทางตามธรรม คำว่าปฏิบัติก็มาบรรจบกับคำว่าธรรม เป็นปฏิบัติธรรม ได้แก่เดินตามธรรมนั้น การเดินตามธรรมหรือดำเนินวิถีชีวิตตามธรรมก็คือ การนำเอาธรรมหรือสิ่งที่ถูกต้องดีงามมาใช้ในการดำเนินชีวิตของเรา หรือว่าเอาชีวิตของเราเข้าไปเดินในธรรม ถ้าเราเอาชีวิตของเราไปดำเนินในธรรม ในความถูกต้องดีงามแล้ว อันนั้นก็คือการปฏิบัติธรรม ตัวอย่างมีมากมายในการที่เราจะปฏิบัติธรรม โดยที่ว่าเอาชีวิตของเราเข้าไปดำเนินอยู่ในธรรมหรือความถูกต้องดีงามนั้น เช่น เราจะทำการงานอะไรสักอย่างหนึ่งเราก็ทำให้ถูกต้อง ทำงานด้วยความขยัน ซื่อสัตย์สุจริต อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม
เป็นพ่อแม่ เลี้ยงลูกด้วยเมตตา มีความรัก เอาใจใส่ ดูแลแนะนำสอนให้เป็นคนดี มีความใกล้ชิด ให้ความอบอุ่น เป็นต้น นี้ก็เป็นการทำหน้าที่ของพ่อแม่ เมื่อทำหน้าที่ถูกต้อง เราก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะเราเอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือว่าเอาชีวิตเข้าไปเดินอยู่ในธรรม เป็นลูกก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ ประพฤติตัวดี ช่วยเหลือการงานของพ่อแม่ เช่น ช่วยดูแลความสะอาดในบ้าน รักพี่รักน้องสามัคคีกัน อันนั้นก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมในฐานะที่เป็นลูก
เป็นครูบาอาจารย์ก็ทำหน้าที่ของครูที่ดี ตั้งใจแนะนำสั่งสอนนักเรียน ตั้งใจศึกษาค้นคว้าความรู้เอามาสอนให้นักเรียนรู้จริง ทำได้จริง แล้วก็เอาใจใส่ในการอบรมให้เขาเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไป การปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องของครูนี้ก็คือ การปฏิบัติธรรม เป็นนักเรียนก็เช่นเดียวกัน ถ้าขยันหมั่นเพียรตั้งใจศึกษาเล่าเรียนตามที่ครูสั่งสอน ตลอดจนรู้จักใช้ความคิดที่มีเหตุมีผลเป็นต้น นี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม
แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เด็กๆ เล่นกัน ถ้าเล่นด้วยความมีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ไม่รังแกกัน ไม่เอาเปรียบกัน ก็เป็นการปฏิบัติธรรม หรือว่าผู้ใหญ่มาเล่นกีฬา เล่นด้วยมุ่งส่งเสริมให้เกิดน้ำใจกว้างขวาง มีความสามัคคีกัน มีความยุติธรรม ไม่โกงกัน เป็นต้น อย่างนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม หรือว่าขับรถไปบนท้องถนน ขับด้วยความไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะ รักษากฎจราจรและขับด้วยความสุภาพ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม
ที่สุดแม้กระทั่งการรับประทานอาหารอย่างในทางธรรม ท่านสอนผู้บวชเป็นพระว่า ก่อนที่จะฉันอาหารให้พิจารณาว่า ที่เราฉันอาหารนี้ฉันเพื่ออะไร เราฉันไม่ใช่เพื่อจะมุ่งที่ความเอร็ดอร่อยเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อจะโก้เก๋ ไม่ใช่เพื่อจะอวดใครว่าเรามีอาหารดีๆ รับประทานหรือแข่งฐานะกับใคร แต่ฉันอาหารเพื่อจะบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดี ร่างกายเป็นอยู่อย่างผาสุก จะได้มีกำลังในการปฏิบัติบำเพ็ญกิจหน้าที่ของตนเอง ถ้าเป็นพระก็จะได้บำเพ็ญสมณธรรม ทำหน้าที่ของพระได้ จะรักษาศีลปฏิบัติตามหลักพระวินัย หรือจะไปบำเพ็ญกัมมัฏฐานอะไรต่างๆ ก็มีกำลังที่จะปฏิบัติได้ การฉันอาหารก็เกื้อกูลแก่การทำหน้าที่ของตนเองและการดำรงชีวิตอยู่อย่างผาสุก การปฏิบัติถูกต้องต่ออาหาร การกินอาหารตามหลักที่เป็นความมุ่งหมายที่แท้จริงอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม
แม้ในทางจิตใจ เราปลูกฝังเมตตาความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เมื่อเจอใครก็ตั้งความปรารถนาดีต่อผู้นั้น มีไมตรีตั้งใจจะให้เขาเป็นสุข คบกับเขาด้วยจิตใจที่เป็นเพื่อนเป็นมิตร อย่างนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมก็มีความหมายกว้างขวางมาก กล่าวคือ กิจกรรมทุกอย่างในชีวิตของเรานี้เอง ถ้าทำถูกต้องดีงามแล้วก็เป็นการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น แต่ขอให้สังเกตว่า ปัจจุบันนี้ มีการนำเอาคำว่า ปฏิบัติธรรมมาใช้ในความหมายที่ค่อนข้างจะแคบ เวลาพูดกันว่าจะไปปฏิบัติธรรมนี้ หลายท่านจะนึกไปถึงการปลีกตัวออกจากบ้านจากเรือน เข้าป่า ไปอยู่ในวัดที่สงบไปบำเพ็ญเพียรทางจิตใจที่เรียกว่าไปทำกัมมัฏฐาน เป็นต้น ต้องปลีกตัวออกจากสังคมไปอยู่ในที่ไกลๆ เงียบๆ สงบ สงัด ไม่เกี่ยวข้องกับใคร อย่างนี้จึงจะเรียกกันว่า การปฏิบัติธรรม เราน่าจะต้องมาทำความเข้าใจกันว่า ความหมายอย่างที่อาตมาพูดมาข้างต้นที่ว่า ทำอะไรต่ออะไรให้ถูกต้องในชีวิตประจำวันนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่แล้วกับความหมายที่ว่าต้องเข้าป่า ปลีกตัวออกจากสังคมไปอยู่ในที่สงบสงัดจึงจะเป็นการปฏิบัติธรรมนี้ ความหมายอันไหนมันผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร หรือว่ามันมาสัมพันธ์กันอย่างไร
ขอให้ความหมายอย่างรวบรัดว่า การที่ปลีกตัวออกไป เช่นไปอยู่ในป่า หรือในวัดที่สงบ แล้วก็ไปบำเพ็ญกัมมัฏฐาน ทำจิตตภาวนา เป็นต้น อะไรอย่างนั้นที่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ก็ถูกต้อง แต่เป็นการพูดอย่างสั้นๆ โดยที่ว่าพูดอย่างรู้กัน คือถ้าจะพูดให้เต็มก็ควรจะพูดว่า จะไปปฏิบัติธรรมเฉพาะด้าน เฉพาะระดับอย่างเข้มข้น ทีนี้เราจะพูดอย่างนั้นมันก็จะยาวไป ก็เลยพูดสั้นๆ ว่าปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเข้าใจกันให้ถูกต้องแล้วจะต้องเข้าใจว่าคำพูดเต็มจะคล้ายๆ กับที่ว่ามาเมื่อกี้นี้ คือ ไปรับการอบรมหรือเข้าฝึกปฏิบัติธรรมเฉพาะด้าน เฉพาะระดับแบบเข้มข้น ที่ว่าเฉพาะด้านเฉพาะระดับก็คือว่า อาจจะเป็นการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน หรืออาจจะไปปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วก็ทำอย่างเข้มข้น หมายความว่า จะเอาจริงเอาจังในเรื่องนั้นเป็นกรณีพิเศษ การปฏิบัติอย่างนี้เราก็เรียกสั้นๆ อย่างรู้กันว่าเป็นการปฏิบัติธรรม แต่หมายถึง การปฏิบัติธรรมเป็นกรณีพิเศษ
การปฏิบัติธรรมแบบกรณีพิเศษอย่างนี้ ก็มีประโยชน์มากเหมือนกัน
อย่างที่ ๑ โดยเฉพาะชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่ในสังคม มีภารกิจกังวลอะไรต่างๆ มากมาย มีความสับสนวุ่นวาย มีความยุ่งเหยิงในหน้าที่ธุรกิจการงาน จิตใจก็อาจจะไม่ปลอดโปร่ง ถ้าหากว่าได้ปลีกตัวออกจากสังคมที่วุ่นวายนั้น ไปอยู่ในที่ที่สงบสงัดเช่นในป่าหรือในวัดที่มีบรรยากาศอันเหมาะสม บรรยากาศที่สงบร่มรื่นนั้นก็ช่วยได้ เพราะเพียงเข้าไปถึงจิตใจก็จะสบาย สงบ ถ้าหากว่าไปบำเพ็ญกัมมัฏฐาน หรือบำเพ็ญจิตตภาวนา จิตใจที่ได้รับบรรยากาศเช่นนั้นก็จะมีความพร้อมมากขึ้นที่จะปฏิบัติให้ได้พอดี เพราะฉะนั้นท่านจึงสนับสนุนให้มีการปฏิบัติธรรมในแบบนี้ อย่างน้อยก็เป็นการพักผ่อนจิตใจ ท่านผู้ที่อยู่ในสังคมยุ่งกับภารกิจการงานต่างๆ ถ้าหากว่าได้ปลีกตัวออกไปในเวลาชั่วคราวอย่างนี้สักระยะหนึ่ง สัก ๑๐ วัน ๑๕ วัน หรือแม้กระทั่ง ๗ วัน ๓ วัน จิตใจได้พักผ่อนคลายความเครียด คลายความวิตกกังวล ก็สบายขึ้น จะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติขึ้นด้วย แล้วก็มีพลังเข้มแข็งพร้อมที่จะเข้ามาทำกิจหน้าที่การงานในชีวิตประจำวันต่อไป นี้ก็เป็นประโยชน์อย่างที่ ๒ ซึ่งหมายความว่า ในแง่นี้การปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้นในกรณีพิเศษ ก็มาเป็นเครื่องสนับสนุนการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
เราจะมองเห็นว่าการปฏิบัติธรรม ๒ ด้านนี้ สนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่จะต้องระลึกไว้เสมอว่า การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันเราก็ต้องทำอยู่แล้ว แต่เรามีการปฏิบัติธรรมที่เข้มข้นเป็นกรณีพิเศษนี้ขึ้นมาสนับสนุนอีกชั้นหนึ่ง ก็เลยกลายเป็นประโยชน์ในด้านที่ ๒ ของการปฏิบัติธรรม แบบระดับเข้มข้นอย่างที่ได้กล่าวมานั้นก็คือ เป็นตัวสนับสนุนการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
ความสัมพันธ์ที่น่าสังเกตระหว่างการปฏิบัติธรรมทั้งสองแบบนี้ก็คือ ท่านที่ไปปฏิบัติธรรมแบบกรณีพิเศษเข้มข้นนั้น ควรจะได้รับผลปฏิบัตินั้นมาสนับสนุนการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอย่างที่กล่าวมาเมื่อกี้ เพราะฉะนั้น ผลการปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เราจะพิสูจน์ได้ก็คือ เมื่อไปปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้น ไปอยู่ในป่าในวัดที่สงบมาแล้ว ออกมาอยู่ในชีวิตประจำวัน การดำเนินชีวิตประจำวันดีขึ้นหรือไม่ ถ้าหากว่าหลังจากปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้นมาแล้ว ออกมาจากป่า จากวัดแล้ว กลับมาทำหน้าที่การงานตามปรกติ กลับมาประกอบอาชีพ กลับมาอยู่บ้านเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือไปอยู่ในโรงเรียนเป็นครู อาจารย์ หรือไปเป็นนักเรียนอีก สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีขึ้น ด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่ง ผ่องใสยิ่งขึ้น แล้วก็เรียนได้ดียิ่งขึ้น ทำงานก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความขยันอดทนมากขึ้น มีความสัมพันธ์กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งผู้ที่บังคับบัญชา หรือผู้ที่แวดล้อมเกี่ยวข้องทุกด้านทุกฝ่ายได้ดีขึ้น ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่าการปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้นนั้นได้ผล แต่ถ้าหากว่าท่านผู้นั้นไปปฏิบัติธรรม อุตส่าห์ปลีกตัวไปอยู่ในป่า ไปอยู่ในวัดแล้ว พอกลับมาแล้วกลับมาดำเนินชีวิตไม่ได้ดี ทำงานไม่ได้ผลดี ก็แสดงว่าคงจะมีความบกพร่องในการปฏิบัติที่ทำให้การปฏิบัติธรรม ๒ ด้านนี้ ไม่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น นี้เป็นข้อคิดอย่างหนึ่งว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเราจะต้องทำในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ทุกเวลาทุกนาที ในกิจกรรมทุกอย่าง ในเมื่อเราจะไปปฏิบัติธรรมเป็นกรณีพิเศษแบบเข้มข้น โดยปลีกเวลาออกไปแล้ว ก็ควรจะเป็นเครื่องสนับสนุนให้การปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี้ดีขึ้น มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า เราได้สละเวลาเป็นพิเศษ อุตส่าห์ตั้งใจไปฝึกปฏิบัติเอาจริงเอาจังแล้ว ทำไมผลการปฏิบัติไม่ออกมาสู่ชีวิตที่แท้จริง นี้ก็เป็นข้อที่จะต้องพิจารณา
ทีนี้ก็ควรจะพูดถึงคำว่าธรรมบ้าง เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงการปฏิบัติ ทีนี้ก็จะพูดถึงธรรมที่จะปฏิบัติ ธรรมที่นำมาปฏิบัตินี้ ถ้าว่าตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้วก็คือ คำว่ามรรคนั่นเอง และมรรคก็เป็นธรรมในภาคปฏิบัติทั้งหมด มรรคนั้นมีตั้ง ๘ ข้อ เราเรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ประการ แต่ถ้าจะสรุปให้สั้นๆ ท่านบอกว่าย่อได้เป็น ๓ หมวด เรียกว่า ศีล สมาธิ และปัญญา ผู้ที่ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ก็ปฏิบัติธรรมกันอยู่ในหลัก ๓ ประการนี้แหละ คือเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา แต่ก็ควรจะเข้าใจขอบเขตความหมายของคำเหล่านี้
ศีล คืออะไร ศีลก็คือ หลักความประพฤติในทางกาย วาจา อย่างที่เราพูดกันรู้จักกันมาก ก็เช่นศีล ๕ เป็นต้น ศีล ๕ มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการประพฤติผิดในทางเพศ งดเว้นจากการพูดปด และงดเว้นจากการดื่มสุราเมรัยของเมา นี้เป็นหลักศีลเบื้องต้นสำหรับประชาชนทั่วๆ ไป ซึ่งถ้าว่าโดยสาระสำคัญแล้ว ก็คือเรื่องของการไม่เบียดเบียนกัน อยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม สี่ข้อแรกนั้นก็เห็นชัดว่าเป็นการเบียดเบียน เป็นการล่วงละเมิดต่อผู้อื่น แต่ข้อสุดท้ายข้อสุรา เป็นเรื่องของการเบียดเบียนตัวเอง คือการทำลายสติสัมปชัญญะของตัวเอง สติสัมปชัญญะนั้น เป็นสิ่งที่คุ้มครองตัวเรา ให้เราสามารถที่จะดำรงรักษาศีลข้ออื่นๆ อยู่ได้ ในเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ เราก็สามารถรักษาศีลข้ออื่นได้ เท่ากับว่า ศีลข้อที่ ๕ นี้เป็นตัวช่วยคุ้มครองศีลข้ออื่นไปด้วย นี้เป็นหลักเบื้องต้น
หลักของศีลก็คือการไม่เบียดเบียนกันดังที่กล่าวมา รวมทั้งการประกอบสัมมาชีพ แต่บางครั้งศีลนั้นมีความหมายถึงการฝึกหัดกาย วาจา ที่เป็นพื้นฐานของการฝึกอบรมทางจิตใจที่สูงขึ้นไปด้วย อย่างเช่นเรามารักษาอุโบสถกันในวัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ หรือในวันกลางเดือนสิ้นเดือน ตลอดกระทั่งวันกึ่งของระหว่างกลางเดือนสิ้นเดือนนั้น อุโบสถก็คือ ศีล ๘ ที่รักษาจำเพาะในวันเหล่านั้น ศีล ๘ นั้นมีข้อปฏิบัติเพิ่มเติมจากศีล ๕ ก็ทำให้เคร่งครัดเข้มงวดยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย การปฏิบัติในเรื่องศีล ๘ หรืออุโบสถศีลนั้น ก็มุ่งเพื่อจะใช้ความเพียรพยายามความเข้มแข็งของจิตใจมาควบคุมตนเองในด้านกาย วาจา การควบคุมกาย วาจา นี้ ต้องอาศัยความเข้มแข็งก็เป็นการฝึกอบรมจิตใจของตัวเองด้วย เรียกว่าเป็นพื้นฐานในการที่จะปฏิบัติในด้านสมาธิต่อไป อันนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างศีลกับสมาธิ นอกจากความสัมพันธ์ในแง่ที่ต้องใช้ความเข้มแข็งของจิต ในการควบคุมกาย วาจาแล้ว ความสัมพันธ์อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ที่รักษาศีลประพฤติดีทางกาย วาจาแล้ว จิตใจจะสงบ และเพราะอาศัยการที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ได้มีเรื่องมีราวทำความเดือดร้อนแก่ผู้ใดนั้น ก็ทำให้ไม่ต้องระแวงภัยจากภายนอก การที่ไม่ต้องระแวงภัยจากภายนอก การที่มีความรู้สึกว่า ได้ประพฤติสิ่งที่ดีงามถูกต้องก็ดี ก็ทำให้เกิดความปีติ มีความเอิบอิ่มใจ การมีปีติเอิบอิ่มใจก็ทำให้เกิดความสุข ความสุขนี้ก็นำมาซึ่งความสงบ และนำไปสู่ความเป็นสมาธิของจิตได้ง่าย ฉะนั้น ศีลจึงมีความสัมพันธ์กับสมาธิ
เมื่อปฏิบัติรักษาศีลแล้ว ก็จะต้องก้าวหน้าต่อไปสู่ขั้นสมาธิด้วย หรือว่าบำเพ็ญไปพร้อมๆ กัน โดยอาศัยศีลนั้นเป็นพื้นฐานที่มั่นคง สมาธินั้นหมายถึงความตั้งมั่นของจิต แต่ในความหมายที่กว้าง ท่านจัดเอาธรรมเข้าเป็นหมวดๆ ธรรมในหมวดสมาธินั้น ไม่เฉพาะตัวสมาธิเองเท่านั้น แต่หมายถึงเรื่องของการฝึกอบรมจิตทั้งหมดทีเดียว เริ่มตั้งแต่ต้องมีความเพียรพยายาม มีกำลังใจเข้มแข็ง ความมุ่งมั่นเข้มแข็งของจิตใจนั้นคือตัวการฝึกอบรมจิตในเบื้องต้น นอกจากนั้นแล้วก็จะต้องฝึกในเรื่องสติ ความระลึกได้ ความมีสำนึกในการกระทำต่างๆ ทำการโดยความไม่ประมาทมีความรอบคอบ สตินั้นต้องใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และยังนำมาใช้ในการปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้น ที่เรียกว่าทำกัมมัฏฐานต่างๆ โดยใช้กำกับหรือกำหนดตั้งต้นแต่ความคิดความรู้สึกของตัวเองและการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เราเรียกว่า ใช้ในสติปัฏฐาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของการบำเพ็ญในด้านสมาธิทั้งสิ้น เฉพาะตัวสมาธิเองแท้ๆ ก็คือภาวะจิตที่ตั้งมั่นสงบแน่วแน่ แน่วดิ่งลงไปในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าจะใช้ถ้อยคำอย่างสมัยใหม่แล้ว เราอาจจะพูดว่า การฝึกอบรมจิตที่กล่าวมาหรือเรื่องของสมาธิทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่สภาวะที่เป็นประโยชน์ ๓ ด้านด้วยกัน
ประการที่ ๑ คือสิ่งที่เรียกว่า สมรรถภาพของจิต ความเข้มแข็งของจิต ความอดทน ความแน่วแน่ ความเพียรพยายาม เป็นต้น รวมทั้งภาวะจิตซึ่งพร้อมที่จะใช้ความคิดอย่างได้ผลดี
ประการที่ ๒ คือ คุณภาพของจิต ได้แก่ ความดีงามที่มีในใจ คุณธรรมต่างๆ มีความเมตตา ความกรุณา ความกตัญญูรู้คุณ ความอ่อนโยนอะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นคุณธรรมซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้มีคุณภาพของจิตใจ
ประการสุดท้ายก็คือ ในการฝึกอบรมจิตนั้น เราก็ได้ความสงบของจิต และในความสงบก็มีความสุข ความเบิกบาน ความผ่องใส ความสดชื่นต่างๆ เหล่านี้รวมอยู่ในคำว่า สุขภาพจิต
ถ้าพูดด้วยภาษาสมัยใหม่ การฝึกอบรมทางด้านสมาธิ หรือทางด้านฝึกอบรมจิตใจนั้นก็มีคุณค่า ๓ ประการนี้ คือ ทำให้เกิดสมรรถภาพจิต คุณภาพจิต และสุขภาพจิต นี้ก็คือการอธิบายความหมายของสมาธิ อย่างที่จะเข้าใจกันได้ง่ายๆ การทำให้จิตมีสมรรถภาพก็ดี มีคุณภาพก็ดี และมีสุขภาพก็ดี นับว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในชีวิตประจำวันของเราซึ่งจะส่งผลออกมาภายนอกในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้การปฏิบัติกิจหน้าที่ต่างๆ ได้ผลดียิ่งขึ้นด้วย และก็เป็นผลดีแก่ชีวิตของตัวเอง ที่ว่ามีความสุขเป็นต้น ดังที่ได้กล่าวมา
ในประการสุดท้าย หมวดที่ ๓ ก็คือเรื่องปัญญา ปัญญาก็คือความรู้ ความเข้าใจ เมื่อพูดถึงความรู้ความเข้าใจนั้น คนทั่วไปก็นึกถึงความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เป็นนักเรียน นักศึกษา ก็ได้แก่ความรู้ในเรื่องวิชาการ ในเรื่องหนังสือที่ไปเรียนมาจากครู ตลอดจนความรู้ในการประกอบอาชีพการงาน หรือเรียกว่าศิลปวิทยาต่างๆ แต่ความรู้เหล่านี้เป็นปัญญาในระดับหนึ่งเท่านั้น ความรู้นี้จะต้องพัฒนาต่อไปอีก นอกจากรู้แล้วก็ต้องคิดให้เป็นด้วย คนที่รู้อย่างเดียวแต่คิดไม่เป็นนั้น บางทีความรู้ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ จึงไม่เรียกว่าเป็นคนมีปัญญาที่แท้จริง ความรู้ที่เราได้เล่าเรียนฟังมาจากผู้อื่นนั้น ยังไม่ใช่เป็นของตัวเรา ทางพระนั้น ถ้าจะใช้ศัพท์ให้ถูกต้อง ท่านยังไม่เรียกว่าปัญญา แต่เรียกว่า สุตะ สุตะแปลว่าสิ่งที่ได้สดับมา สิ่งที่ได้ฟังมาจากผู้อื่น เราฟังมาจากผู้อื่นก็เป็นความรู้ของเขา เราก็ว่าตามเขาไปเท่านั้นเอง มันจะเป็นความรู้ของเรา ก็ต่อเมื่อเราได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างแท้จริงแล้ว สามารถเอามาคิด เอามาประยุกต์ เอามาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน หรือในการที่จะทำชีวิตของเราให้ก้าวหน้าให้เจริญยิ่งขึ้นไป
ความรู้ที่จะทำให้เจริญก้าวหน้าในชีวิตนั้น ก็ได้แก่ความรู้ที่เข้าใจและใช้เป็นคิดเป็น เอามาใช้ภายนอกในการประกอบอาชีพการงานนั้นก็อย่างหนึ่ง แต่ความรู้ที่จะเอามาใช้ในการพัฒนาชีวิตของเรานั้น ไม่ใช่เฉพาะภายนอกที่จะให้เจริญก้าวหน้าในลาภยศสุขสรรเสริญเท่านั้น แต่เรายังมีการพัฒนาอีกด้านหนึ่งคือชีวิตด้านใน ชีวิตด้านในของเราก็คือ ความมีจิตใจที่ดีงาม เป็นอิสระ มีความสุข เป็นต้น ซึ่งก็ต้องอาศัยการพัฒนาด้วยเช่นกัน ความรู้ที่จะเอามาพัฒนาชีวิตด้านนี้ก็คือ ความรู้ที่เรามักจะเรียกกันว่าเป็นความรู้ทางธรรม แต่อันที่จริงความรู้ทางธรรมก็คือ ความรู้สิ่งธรรมดาธรรมชาตินี้แหละ ความเข้าใจในสิ่งรอบตัวเราอย่างถูกต้องตามเป็นจริง รู้เหตุ รู้ผล รู้ความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่า อะไรเกิดขึ้นได้อย่างไร มีเหตุ มีผล เป็นมาอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร อย่างที่ทางพระท่านเรียกว่า รู้ทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ว่า ทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร รู้จักความดับทุกข์ แล้วก็รู้ว่าจักหาทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ หรือใช้ภาษาปัจจุบันว่า รู้จักปัญหา รู้สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานั้น รู้จักการแก้ไขปัญหา และรู้จักกลวิธีเทคนิคการปฏิบัติที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาสำเร็จได้ ซึ่งเมื่อรู้เข้าใจบริบูรณ์แล้ว ก็รู้เท่ากันต่อสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ที่ท่านเรียกว่า รู้ไตรลักษณ์ เข้าใจความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งหลาย รู้จักทุกข์ รู้ความที่สิ่งทั้งหลายคงทนอยู่อย่างเดิมตลอดไปไม่ได้ จนกระทั่งเข้าใจถึงอนัตตา รู้สภาวะที่สิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถอนความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างมีจิตใจเป็นอิสระ อันนี้ก็เป็นความรู้ในระดับต่างๆ ปัญญาที่เข้าใจโลกและชีวิตอย่างรู้เท่าทัน ถึงขั้นนี้ สามารถนำแก้ปัญหาชีวิตได้โดยตลอด ถึงขั้นที่ว่าพ้นจากทุกข์ได้โดยประการทั้งปวง มีจิตใจเป็นอิสระอย่างสูงสุด มีความสุขอย่างแท้จริง อันนี้ก็คือ ธรรมปฏิบัติในขั้นปัญญาที่กล่าวโดยสังเขป
รวมความว่า การปฏิบัติในเรื่องธรรมนั้น ก็ปฏิบัติในขอบเขตของศีลสมาธิและปัญญา ใครจะปฏิบัติอยู่ในระดับไหนก็ตามก็เรียกว่า เป็นการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น จะต้องเข้าใจความหมายของการปฏิบัติธรรมให้ครบถ้วนรอบด้าน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้.