สืบสานวัฒนธรรมไทย: บนฐานแห่งการศึกษาที่แท้

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เกณฑ์ตรวจสอบวัฒนธรรม

สัจธรรมกับจริยธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เราเรียกได้ว่ายืนตัวคงเดิมอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่พุทธกาล สัจธรรมและจริยธรรม เป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้ก็อย่างนั้น แต่วัฒนธรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นรูปแบบภายนอก เป็นวิธีการในการนำเอามาใช้ ซึ่งเราจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตามหลักการนี้ถ้าดูเผินๆ วัฒนธรรมเมื่อเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับสัจธรรมและจริยธรรมแล้ว ก็จะได้ผลดี

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสัจธรรมและจริยธรรมแล้วยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอีก ซึ่งจะต้องคำนึงถึงด้วย ในการพิจารณารูปแบบวัฒนธรรมที่ปรากฏนั้น เราอาจจะวางหลักในการตรวจสอบว่าวัฒนธรรมนั้นๆ เป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ได้ผลดีหรือไม่ แค่ไหนเพียงไร หลักการพิจารณาตรวจสอบนั้น อาจจะขยายจาก ๓ ข้อ คือจากสัจธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมนั้นกระจายออกไปเป็น ๖ ข้อด้วยกัน คือ

๑. ดูว่า วัฒนธรรมนั้น ตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจธรรม มีเนื้อหาสาระ และมีเหตุผลตามความจริงของธรรมชาติหรือไม่ ถ้าวัฒนธรรมนั้นไม่มีความจริงในธรรมชาติรองรับอยู่ ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล วัฒนธรรมนั้นก็ขาดฐานที่มั่นคง ไม่สำเร็จผลดี และจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ยั่งยืนนาน

๒. ดูว่า มีความดีงามอยู่ในวัฒนธรรมนั้นหรือไม่ รูปแบบที่ปรากฏที่เราดำรงรักษาและยึดถือปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตของสังคมนั้น มีความดีงาม เช่นมีการปฏิบัติที่ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ คือสอดคล้องกับจริยธรรม

๓. ดูว่า วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบหรือเป็นวิธีการนั้น ได้ผลหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ในการที่จะให้สำเร็จความต้องการตามกระบวนการของกฎธรรมชาติ เช่น กฎจราจรที่เราบัญญัติขึ้นมาเป็นระบบวิธีในการเดินรถ และข้อกำหนดข้อบังคับต่างๆ ที่จัดวางขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามตัวสัจธรรมคือความจริงของธรรมชาติที่จะทำให้คนเดินทางได้สะดวก เช่นทำให้มีช่องทางที่จะเคลื่อนที่ หรือทำให้เกิดโอกาสในการเดินทางได้ดี รูปแบบการจราจร ที่เป็นเรื่องระดับวัฒนธรรมนั้นสัมฤทธิ์ผลดีหรือไม่ นี้เป็นข้อที่จะต้องคำนึงถึงประการที่สาม คือวัฒนธรรมนั้นได้ผลแค่ไหน ในการที่จะทำให้สัจธรรมและจริยธรรมที่เราต้องการเกิดผลในทางปฏิบัติขึ้นมา

๔. ดูว่า วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบวิธีการนั้นเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมคือกาลเทศะหรือไม่ เข้ากับยุคสมัยและถิ่นฐานบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ถ้าวัฒนธรรมไม่เหมาะไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมนั้น ก็ยากที่จะให้ได้ผลตามต้องการด้วยดี

๕. ดูว่า วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบนั้น เข้ากับตัวเราไหม ตัวเราในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล แต่หมายถึงสังคมทั้งหมด คือสังคมของเรา มันเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับสังคมของเราไหม กระทบต่อผลประโยชน์ของสังคมของเราหรือเปล่า เช่นวัฒนธรรมจากภายนอกที่เข้ามา บางทีก็ทำให้เกิดความเสียหายแก่สังคมของเรา อันนี้ก็เป็นข้อคำนึงในการตรวจสอบอย่างหนึ่ง

๖. ดูว่า รูปแบบวัฒนธรรมนั้นมีลักษณะที่น่าชื่นชม ชวนนิยม มีความน่าตื่นตาตื่นใจเร้าความสนใจแค่ไหนเพียงไร อันนี้ก็เป็นข้อที่สำคัญ เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมที่คนตามอย่างกันมาก จะมีลักษณะข้อที่หกนี้ วัฒนธรรมใดขาดลักษณะข้อที่หกนี้ก็ยากที่จะได้รับความสนใจ และอาจจะถูกทอดทิ้งได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงเป็นลักษณะสำคัญที่จะต้องคำนึงด้วย

ในการตรวจสอบวัฒนธรรมก็เอาหลัก ๖ ประการนี้มาใช้พิจารณาดูว่า วัฒนธรรมนั้นจะอยู่ได้ด้วยดีไหม และจะมีประโยชน์สมจริงตามความมุ่งหมาย คือมีคุณค่าเพียงพอหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในเวลาปฏิบัติจริง การยอมรับแทนที่จะเริ่มจากข้อหนึ่ง ก็มักจะย้อนจากข้อหกก่อน เพราะการที่คนจะสนใจปฏิบัติตามวัฒนธรรมมักจะเริ่มมาจากลักษณะที่ชวนนิยม น่าสนใจ ทำให้ตื่นตาตื่นใจ เร้าความสนใจ ข้อที่หกจึงกลับมาเป็นอันดับหนึ่งในการที่จะทำให้คนยอมรับหรือถือปฏิบัติตามวัฒนธรรม ซึ่งเป็นอันตรายในแง่ที่ว่า บางทีมันเร้าความสนใจ ทำให้เกิดความนิยมจนกระทั่งกลายเป็นค่านิยมของสังคมเกิดตามมา แต่มันไม่มีลักษณะที่ประกอบด้วยคุณค่าตั้งแต่ข้อหนึ่งเป็นต้นมา เพราะฉะนั้นในการตัดสินจึงพิจารณากลับกัน โดยต้องย้อนจากข้อหนึ่งมา จะต้องถือว่าข้อที่หนึ่งสำคัญที่สุดอย่างที่กล่าวแล้ว เพราะถ้าวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบนั้น ไม่มีเนื้อหาสาระที่เป็นความจริงตามกฎธรรมชาติ หรือไม่มีเหตุผลในธรรมชาติรองรับแล้ว มันก็เป็นโมฆะ เหมือนกับแก้วน้ำที่ว่างเปล่าไม่มีน้ำนั่นเอง ซึ่งจะไม่มีประโยชน์อะไร แต่จะเป็นเพียงสักว่ารูปแบบที่ฉาบฉวย ผิวเผิน

เพราะฉะนั้นจะต้องใช้หลักตรวจสอบโดยเริ่มจากข้อที่หนึ่งเป็นต้นมา โดยถือว่ามีความสำคัญในเชิงสาระตามลำดับ แต่ข้อท้ายก็สำคัญในเชิงปฏิบัติ ซึ่งเราจะต้องเอาใจใส่เหมือนกัน ถ้ารูปแบบของวัฒนธรรมนั้นมีลักษณะที่ไม่ชวนนิยม แม้จะมีประโยชน์มากก็ตั้งอยู่ได้ยาก แต่ก็เป็นเรื่องของการศึกษาที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนเอาใจใส่ให้ถูกต้อง คือให้ถูกจุดว่าส่วนไหนเป็นลักษณะจำเป็นในวัฒนธรรมที่เราจะต้องให้ความสำคัญให้มากที่สุด

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของลักษณะสำหรับตรวจสอบที่ขยายออกไปจากธรรม ๓ ระดับ คือ สัจธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม อย่างที่กล่าวมาแล้ว

เป็นอันว่า ข้อที่ยืนเป็นหลักก็คือเนื้อหาสาระที่เป็นสัจธรรมกับจริยธรรม แล้วก็รูปแบบ เนื้อหาสาระมีความสำคัญมาก แต่วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบซึ่งเป็นที่แสดงออกของเนื้อหานั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีสำหรับมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม เพราะว่าเนื้อหาสาระนั้นจะปรากฏตัวไม่ได้ถ้าไม่มีรูปแบบ หรือไม่มีวิธีการปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม รูปแบบหรือวิธีการนั้น เป็นเรื่องที่กล่าวแล้วว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ตามกาลเทศะ ถ้าไม่เปลี่ยนเมื่อเวลาเปลี่ยนไปแล้วรูปแบบนั้นก็ไม่สามารถสื่อสาระได้ คือไม่สามารถเอาสาระหรือเนื้อหานั้นออกมาใช้กับสภาพความเป็นจริง เราก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อหาสาระที่ต้องการ ทั้งๆ ที่เนื้อหาสาระที่ต้องการมี แต่กลับเอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราเปลี่ยนรูปแบบโดยไม่รู้สาระ ไม่เข้าใจเนื้อหาและความมุ่งหมายที่แท้จริง วัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบนั้นก็กลายเป็นสิ่งวิปริตไป คือเป็นสิ่งที่เคลื่อนคลาดหรือปฏิบัติโดยเลื่อนลอยไม่มีความหมาย และที่ยิ่งร้ายก็คือว่า เมื่อปฏิบัติไปนานๆ เข้า รูปแบบมีอยู่ เนื้อหาเดิมไม่มี เนื้อหาอื่นหรือความหมายอย่างอื่นก็เข้ามาแทน กลายเป็นสิ่งที่ผิดพลาด และทำให้เกิดโทษแก่สังคมได้ ฉะนั้น เรื่องของรูปแบบกับเนื้อหานี้จึงสัมพันธ์กันตลอดเวลา

เหมือนอย่างจะกินน้ำ น้ำเป็นสิ่งที่เราต้องการ คือเป็นเนื้อหาสาระ แต่เราจะกินน้ำได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่มีวัฒนธรรม เราก็เอามือไปวักน้ำกินเอา เราก็ไม่เจริญ ยังมีความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานอย่างคนที่ยังไม่พัฒนา มนุษย์เรามีความสามารถ เมื่อเราต้องการเนื้อหาคือน้ำ เราก็พัฒนารูปแบบของวิธีการที่จะเอาน้ำมาใช้ประโยชน์ให้ได้ผลดี จึงมีการประดิษฐ์ภาชนะ เช่น แก้วน้ำ และเหยือกน้ำขึ้นมา โดยที่รูปแบบเหล่านี้ก็ใช้ได้ผลไม่เหมือนกัน อย่างเช่น คนบางพวกอาจจะเอาใบตองมาทำเป็นกรวย ทำเป็นกระทงขึ้น พอทำเป็นกระทงก็ไปเอาน้ำมาใช้ได้ แต่มันก็ง่อนๆ แง่นๆ ไม่มั่นคง แล้วก็เก็บไม่ได้มากเท่าที่ต้องการ พอจะทำเป็นภาชนะที่ใหญ่ขึ้นสักหน่อยกระทงนั้นก็ไม่อยู่ ทีนี้เมื่อเรามีความสามารถขึ้น เราก็เอาแก้วมาทำเป็นแก้วน้ำ ตลอดจนเป็นเหยือกเป็นคนโท หรืออาจจะเอาโลหะมาทำ ก็เก็บน้ำได้ดีขึ้น ตอนนี้กลายเป็นเรื่องของวัฒนธรรม

จะเห็นได้ว่า แม้แต่การจัดทำแก้วน้ำก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมแล้ว และถ้าเราจะตรวจสอบว่าแก้วน้ำที่เป็นเรื่องราวของวัฒนธรรมนั้น จะมีคุณค่าหรือจะมั่นคงยั่งยืนสำเร็จประโยชน์ได้แค่ไหน ก็ดูจากลักษณะ ๖ ประการ ที่กล่าวมาแล้ว เริ่มตั้งแต่ว่ามันมีเนื้อหาและความหมายตามเหตุผลของธรรมชาติหรือไม่ มีความดีงามในการที่จะปฏิบัติโดยไม่เบียดเบียนตนไม่เบียดเบียนผู้อื่นไหม และใช้ได้ผลตามต้องการให้สำเร็จวัตถุประสงค์ของสาระตามธรรมชาติหรือไม่เป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว

รวมความในที่นี้ก็คือจะสรุปว่า วัฒนธรรมนั้นจะอยู่ดีมีคุณค่าได้ คนจะต้องมีปัญญารู้สัจธรรมที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรม รู้เข้าใจเหตุผลแห่งการกระทำของตนว่า รูปแบบนี้มีเพื่ออะไร ถ้าไม่มีเหตุผลในวัฒนธรรมนั้น วัฒนธรรมนั้นจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ยั่งยืน หรือมิฉะนั้นก็จะไม่สามารถรักษาความหมายที่แท้จริงไว้ได้ ในที่สุดก็จะเคลื่อนคลาดแล้วความหมายอย่างอื่นที่วิปริตผิดเพี้ยนก็จะเข้ามาสิงสู่แทนในรูปแบบเดิม ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ตัวรูปแบบยังมีอยู่ แต่เนื้อหาและความหมายไม่ใช่ของเดิมเสียแล้ว ซึ่งเราจะเห็นได้มากในสังคมปัจจุบันนี้ รวมทั้งในเรื่องทางพระศาสนา

สิ่งที่ขอย้ำอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนจะต้องมีความรักในจริยธรรม อธิบายว่า วัฒนธรรมจะอยู่ดีได้ สัจธรรมเป็นฐานขั้นต้นที่สุด รองจากนั้นก็คือจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของความจริงในขั้นโยงสู่ปฏิบัติการของมนุษย์ อันเกี่ยวกับความดีงามและประโยชน์สุขที่มนุษย์จะได้รับโดยสอดคล้องกับสัจธรรมนั้น มนุษย์จะต้องมีความรักในจริยธรรม คือรักในความดีงาม และรักคือนิยมหรือเห็นชอบในเหตุผลที่รองรับการปฏิบัติของมนุษย์โดยสอดคล้องกับกฎของธรรมชาตินั้น ถ้ามนุษย์รู้เข้าใจในสัจธรรม คือมีปัญญาอันนี้ และรักในความดีงาม ก็จะเป็นฐานสำคัญ ที่จะทำให้วัฒนธรรมนั้นปรากฏรูปลักษณะที่ทำให้เกิดความดีงามและอำนวยประโยชน์สุข และคนที่จะมารักษาสืบต่อวัฒนธรรมก็มีทางที่จะสืบทอดไว้ได้ดีด้วย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.