การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต หรือ การศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทีนี้ แนวความคิดในเรื่องเหล่านี้ก็มาจากภูมิหลังที่มีความสับสนพร่ามัวพอสมควร เราต้องรับรู้ว่า แนวความคิดในการจัดวิชาต่างๆ โดยแบ่งหมวดวิชาอย่างในปัจจุบันเป็น ๓ คือ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นี้ เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นในตะวันตก และจัดกันเข้ารูปปัจจุบันในมหาวิทยาลัยของอเมริกา เมื่อไม่นานมานี้เอง คือในศตวรรษนี้แหละ ไม่ใช่เรื่องยาวไกลอะไร และการจัดแม้แต่ ๓ หมวดนี้ ก็ยังหาลงตัวเด็ดขาดไม่

เรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่มีการจัดวิชาการเป็น liberal arts ที่ไทยเราเรียกว่า ศิลปศาสตร์ ซึ่งมีประวัติสืบมาตั้งแต่ยุคสมัยกรีก หมายความว่า เมื่อ ๒๕๐๐ ปีก็มีมาแล้ว

แม้กระทั่งแนวความคิดในการจัดวิชาการศึกษาทั่วไปที่ทบวงมหาวิทยาลัยตั้งความมุ่งหมายไว้ว่า ให้พัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล มีความเข้าใจธรรมชาติของตัวเอง ของผู้อื่น และสังคม เป็นผู้ใฝ่รู้ สามารถคิดอย่างมีเหตุผล สามารถใช้ภาษาในการติดต่อและสื่อความหมายได้ดี เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ มีคุณธรรม ตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงตนอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี แนวความคิดนี้ ถ้าเราไปดูวัตถุประสงค์ของวิชา liberal arts ในสมัยกรีก ก็จะเห็นว่าคล้ายคลึงกัน

ที่พูดมานี้ก็เพื่อให้เห็นว่า ความคิดในเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ยังมีความพร่ามัวขัดแย้งตลอดมา และต้องคอยเปลี่ยนแปลงกันอยู่เรื่อยๆ

เดิมความคิดของกรีกที่จัดเป็นวิชา liberal arts นั้น เขาหมายถึงวิชาของเสรีชน คือ คนที่ไม่ใช่ข้าทาส

ทั้งนี้เพราะกรีกแบ่งคนเป็น ๒ พวก คือ พวกเสรีชน กับคนที่เป็นทาส วิชา liberal arts เป็นวิชาสำหรับเสรีชน เป็นของคนชั้นสูง เป็นผู้ดี เป็นผู้นำสังคม คู่กับวิชาของข้าทาส คือ servile arts ซึ่งได้แก่วิชาใช้แรงงานหรือฝีมือ สมัยก่อนเขาแบ่งอย่างนั้น

เรื่องนี้ถ้าเรานำมาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ก็เป็นแง่คิดที่น่าพิจารณา

วิชาชีพ เมื่อเทียบสมัยกรีก ก็มีความหมายใกล้กับวิชาข้าทาส หรือวิชาประเภทแรงงาน ส่วนวิชาสำหรับเสรีชน คือ liberal arts นั้น สำหรับฝึกฝนพัฒนาคนให้เกิดความดีงามล้ำเลิศทางปัญญาและศีลธรรม เป็นวิชาการที่ยกระดับจิตใจและปัญญา และแคบเข้ามาก็มุ่งสร้างความชำนาญในการใช้ภาษาสื่อสาร รู้จักพูด รู้จักคิดหาเหตุผลได้ดี

นี่ก็เกือบเหมือนกับความมุ่งหมายที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้ระบุสำหรับวิชาศึกษาทั่วไป

วิชา servile arts หรือวิชาข้าทาสนั้น ใช้แรงงานและฝีมือ มุ่งผลตอบแทน หรือมุ่งผลประโยชน์ทางวัตถุ ส่วน liberal arts วิชาของเสรีชน มุ่งพัฒนาสติปัญญาให้เป็นคนที่ดีงาม รู้จักคิด รู้จักรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น วิชาที่เข้ากับ liberal arts ก็คือวิชาศึกษาทั่วไป

เป็นอันว่า liberal arts เป็นศัพท์ที่ยังคงอยู่โดยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยกรีก ในความหมายว่าเป็นวิชาของเสรีชน คู่กับวิชาข้าทาส เมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปี มาแล้ว จนกระทั่งประมาณ ๔๐๐ ปีต่อมา จึงมีความชัดเจนขึ้นในเรื่องวิชา liberal arts หรือวิชาเสรีชน ที่เราเรียกเป็นภาษาไทยว่าวิชาศิลปศาสตร์ คือมีการระบุแยกเป็น ๗ วิชา

ครั้นถึงสมัยกลางในยุโรป เกือบ ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ก็มีการจัดเป็น ๒ กลุ่มวิชา คือกลุ่ม ๓ (trivium) กับ กลุ่ม ๔ (quadrivium) ถ้าจบกลุ่ม ๓ ก็ได้ปริญญาตรี ถ้าจบกลุ่ม ๔ ก็ได้ปริญญาโท

เรื่องนี้เป็นมาจนถึงสมัยฟื้นฟูวิชาการ คือ Renaissance จึงขยายแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่อง liberal arts หรือศิลปศาสตร์ออกไปให้กว้างเป็นวิชาทั่วๆ ไป ที่จะเสริมให้คนมีสติปัญญาความรู้ความสามารถดี ใกล้คำว่า general education

ครั้นมาถึงปัจจุบัน ก็มีความนิยมแบ่งวิชาเป็น ๓ หมวด คือ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และสังคมศาสตร์

การแบ่งวิชาการเป็น ๓ หมวดนี้ เกิดขึ้นในยุคที่วิทยาศาสตร์มีอิทธิพล พูดได้เลยว่า การแบ่งวิชาเป็น ๓ หมวดอย่างนี้ เกิดจากอิทธิพลของวิทยาศาสตร์ เพราะเมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาและเจริญรุ่งเรือง ก็ได้ทำให้เกิดกระแสใหม่ กลายเป็นว่าคนมีความเชื่อถือชื่นชมนิยมวิทยาศาสตร์เป็นอย่างสูง จนกระทั่งถือว่าศตวรรษที่ ๑๙ เป็นยุคที่คนนิยมวิทยาศาสตร์ หรือถึงกับคลั่งวิทยาศาสตร์ (ยุค scientism)

นิยมหรือคลั่งวิทยาศาสตร์อย่างไร ตอบว่านิยมหรือคลั่งไคล้ในลักษณะ ๒ ประการ คือ

๑. เอาวิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานวัดความจริง อะไรที่ไม่เป็นไปตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ ก็ถือว่าไม่เป็นความจริง คือผิดหมด ตอนนั้นถือกันขนาดนี้

๒. วิทยาศาสตร์เป็นเป้าหมายแห่งความใฝ่ฝันของมนุษย์ หมายความว่า มนุษย์คิดว่า ด้วยวิทยาศาสตร์นี้แหละ จะทำให้มนุษย์บรรลุความสุขสมบูรณ์ สามารถพิชิตธรรมชาติได้สำเร็จ แล้วมนุษย์จะมีความพรั่งพร้อมทุกอย่าง

นี้เป็นความคิดหมายและความใฝ่ฝันของมนุษย์ ในยุคศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งก็ได้เป็นมาเรื่อย จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้จึงเริ่มเปลี่ยน เวลานี้ คนเชื่อถือและฝากความหวังไว้ในวิทยาศาสตร์น้อยลง โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก

แต่ก่อนที่วิทยาศาสตร์จะมาถึงยุคเสื่อมได้เกิดอะไรขึ้น ในยุคนิยมวิทยาศาสตร์นั้น บรรดาวิชาการทั้งหลายต่างก็อยากให้วิชาของตนมีความเป็นวิทยาศาสตร์กับเขาด้วย เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์ และวิชาการเมืองการปกครองหรือรัฐศาสตร์ ก็พยายามเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ จนเกิดมีวิชาสาขาใหม่ขึ้นมา คือวิชาสังคมศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นมาได้ ๒๐๐ ปีนี่เองหลังจากมีวิทยาศาสตร์แล้ว หมายความว่าวิชาการต่างๆ พากันอยากจะเป็นวิทยาศาสตร์บ้าง เพราะวิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานวัดความจริง ก็เลยเกิดมีสังคมศาสตร์ขึ้นมา

สังคมศาสตร์ก็มาจากสายมนุษยศาสตร์ ซึ่งเดิมก็อยู่ในพวกศิลปศาสตร์ทั้งหลายนั่นเอง เช่น วิชาการเมืองการปกครอง สมัยเพลโต และอริสโตเติล เมื่อเกือบ ๒๕๐๐ ปีมาแล้วก็มี แต่ไม่เป็นสังคมศาสตร์ จนกระทั่งเมื่อมาใช้วิธีวิทยาศาสตร์เข้าสัก ๒๐๐ ปีมานี้ ก็จึงมาเข้าหมวดใหม่ที่เรียกว่าสังคมศาสตร์

นี่เป็นแนวโน้มที่ทำให้เกิดมีการแบ่งวิชาเป็น ๓ หมวด เนื่องจากวิชาต่างๆ พยายามไปเป็นวิทยาศาสตร์กันโดยเป็นสังคมศาสตร์ แต่วิชาหลายอย่างใช้วิธีวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็ถูกจัดเป็นมนุษยศาสตร์ วิชามนุษยศาสตร์ซึ่งมาจากวิชาของเดิม เมื่อไม่เข้ามาตรฐานของวิทยาศาสตร์ ก็เลยลดสถานะตกต่ำลงไปมาก คนไม่ค่อยเห็นความสำคัญ นี่เป็นสภาพฟูยุบในวงวิชาการอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแบ่งวิชาการเป็น ๓ หมวดอย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่ยุติลงไป อย่างวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาจิตวิทยาก็ยังหาที่ลงชัดเจนไม่ได้ บางท่านก็จัดเข้าในหมวดสังคมศาสตร์ บางท่านก็จัดเข้าในหมวดมนุษยศาสตร์

แม้แต่ในมหาวิทยาลัยเมืองไทย เดี๋ยวนี้ก็หาความลงตัวไม่ได้ เช่น จิตวิทยานี้ บางพวกพยายามจัดให้ไปเข้าอยู่ในวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ บางแห่งก็จัดเป็นสังคมศาสตร์ บางแห่งก็จัดอยู่ในมนุษยศาสตร์

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.