หันมาเรื่องสติปัฏฐาน ก็หลักการเดียวกัน พอได้สมาธิที่ถูกต้อง ก็มาเป็นตัวเอื้อแก่ปัญญา
จุดหมายของธรรมะในพุทธศาสนานั้น อยู่ในกระบวนการของไตรสิกขา สมาธิเพื่อเป็นปัจจัยแก่การใช้ปัญญา เราก็ก้าวจากสมถะหรือสมาธิ ไปสู่วิปัสสนา
วิปัสสนามีวิธีปฏิบัติสำคัญที่เรียกว่า สติปัฏฐาน คือการเอาสติมาใช้ในการจับตาประดาปรากฏการณ์ที่ภาษาพระเรียกว่า อารมณ์ต่างๆ หรือตามดูรู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตจิตใจของเรา เอาสติไปจับให้ทันหมด แล้วส่งให้ปัญญารู้เห็นเข้าใจ
สติ กับ ปัญญา ทำงานคู่กัน (ปัญญาในที่นี้เรียกว่า “สัมปชัญญะ") ขอเปรียบเทียบให้ฟัง เหมือนกับตาเรานี้เป็นปัญญา เราจะมองอะไร สิ่งนั้นต้องอยู่ต่อหน้า ถ้าสิ่งนั้นหลุดลอยไป เราก็มองไม่ได้ ปัญญาก็ต้องมองสิ่งที่อยู่ต่อหน้าจิต สิ่งนั้นจะอยู่ต่อหน้าจิตได้อย่างไร ก็ต้องจับหรือกำกับไว้ สิ่งที่จับไว้ก็คือสติ สติจับสิ่งนั้นไว้ต่อหน้าแล้ว ปัญญาก็เหมือนตาที่มองดูสิ่งนั้น
ในวิธีปฏิบัติวิปัสสนา จะมีสติเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวจับสิ่งนั้นไว้ให้ปัญญาดู สติกับปัญญาจึงทำงานคู่กัน สติเป็นองค์ธรรมฝ่ายจิต คืออยู่ในหมวดสมาธิ ก็มาทำงานประสานกับปัญญา เหมือนกับรับใช้ปัญญา
สติตามทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ให้พลาดไป สติจับ ปัญญาก็ดู ปัญญาดูรู้ตามเป็นจริง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในด้านร่างกาย ความเคลื่อนไหว การยืน การนั่ง การนอน การกิน การดื่ม การรับประทานอาหาร สติจับทันหมด ปัญญาก็ดูรู้ตามเป็นจริง
อาการที่เกิดขึ้นเป็นไปในจิตใจ เช่น ความรู้สึกสุขทุกข์ และความคิดอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจิตใจของเราทุกอย่าง สติจับให้ปัญญาดูหมดทันกับปัจจุบัน
เมื่อดูไปๆ ปัญญาก็เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะสิ่งทั้งหลาย เมื่อเรามองตามที่มันเป็น ตามดูต่อเนื่องไปและไม่ขาดตอน ก็จะเห็นการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับไป ซึ่งเป็นอาการของอนิจจังตลอดเวลา
พอเราดูโดยไม่มีอะไรมาบังตา ก็เห็นตามเป็นจริง เห็นสภาพที่เป็นอย่างนั้น คือเห็นความเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ตามที่มันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนี้คือเรื่องของสติปัฏฐาน