ทีนี้ ปัญญาที่เราต้องการจะสร้างขึ้นเป็นแกนกลาง หรือเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษานั้น จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขอย้อนกลับไปหาปัญหาเก่า ปัญญาของมนุษย์เรานั้นนับว่าเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นคุณธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง ปัญญาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้ประสบปัญหา หรือเรื่องราวที่พิจารณา ในเมื่อตัวเราคือนักศึกษา ได้อาศัยปัจจัยภายนอก คือครูอาจารย์มาชักนำให้ปัญญาของเราไปกระทบเข้ากับปัญหาแล้ว เมื่อเราคิดพิจารณา กระแสของความคิดก็ดำเนินไป อันนั้นคือทางของการแสวงปัญญา และการฝึกอบรมการใช้ปัญญาก็เกิดขึ้น เมื่อปล่อยให้กระแสปัญญาบริสุทธิ์ที่กระทบกับปัญหาและเรื่องที่พิจารณานี้ดำเนินไปตามกระบวนการของมันเอง ก็จะเป็นกระแสของปัญญาที่ถูกต้องตามความหมายอย่างแท้จริงที่จะทำให้เกิดการศึกษาที่แท้
อย่างไรก็ตาม เป็นการไม่แน่นอนเสมอไปที่ปัญญาจะดำเนินไปตามกระแสบริสุทธิ์ บางทีปัญญาก็มีอุปสรรค มีสิ่งที่เข้ามาขัดข้องในกระบวนการของมันเหมือนกัน อะไรเป็นสิ่งกีดขวางการสร้างเสริมปัญญา ก็คือความยึดถือติดในเรื่องตัวตนนั่นเอง การยึดถือในเรื่องตัวตนนั้น จะแสดงออกมาในรูปของกิเลส ๓ อย่าง เป็นหลักใหญ่ คือ
ข้อที่ ๑ กิเลสในรูปของตัณหา ก็คือการเห็นแก่ตน การเห็นแก่ผลได้ผลประโยชน์ส่วนตน ความโลภ เมื่อมีความโลภ ความปรารถนาส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว สิ่งใดที่ผ่านเข้ามาให้ปัญญาพิจารณา ก็จะถูกบิดเบือน เพื่อจะโน้มน้อมเข้าหาผลประโยชน์ของตน สิ่งใดขัดกับผลประโยชน์ของตน สิ่งนั้นก็จะถูกตัดทิ้งหรือปัดออกไป สิ่งใดที่จะให้ตัวได้ สิ่งนั้นก็จะถูกชักเข้ามาแม้จะไม่ถูกต้องก็ตาม โดยนัยนี้ กระแสแห่งการใช้ปัญญาจะถูกบิดเบือน และเกิดความผิดพลาดด้วยอุปสรรคข้อที่ ๑ คือ ตัณหา
ประการที่ ๒ มานะ คือการถือตัวเป็นใหญ่ ถือว่าฉันเก่ากว่า ฉันใหม่กว่า ว่าฉันใหญ่กว่า ฉันแน่กว่า ฉันรู้ดีกว่า ฉันเก่งกว่า เป็นต้น ความรู้สึกยึดมั่นตนอย่างนี้จะทำให้ไม่สามารถรับฟังผู้อื่นได้ และทำให้เกิดปฏิกิริยาง่ายต่อการที่จะเกิดความโกรธกริ้วคุกคามคนอื่น และเข้ากดขี่ผู้อื่นด้วยวาทะและอำนาจ เป็นต้น อันนี้คือตัวอุปสรรคในการสร้างเสริมปัญญาประการที่ ๒
ประการที่ ๓ ทิฏฐิ ทิฏฐิก็คือ ความยึดมั่นความเห็น ยึดมั่นในหลักการ ในทฤษฎี ในความคิดเห็น ในความเชื่อถือ หรือแม้แต่อุดมการณ์ของตนอย่างเหนียวแน่น ชนิดที่เหมือนกับว่าข้างในนั้นอัดอะไรไว้เต็ม ไม่สามารถจะฟังอะไรใหม่ หรือรับอะไรเข้าไปได้อีก อย่างนี้ก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างเสริมปัญญาเช่นเดียวกัน เพราะถ้าเราเกิดไปรับฟังทิฏฐิ ทฤษฎี หลักการอะไรเข้ามาอันแรก แล้วยึดเกาะอันนั้นเข้าไปอัดเต็มไว้ข้างใน ก็เลยกลายเป็นตัวกีดกั้นไม่ให้รับสิ่งอื่นเข้ามาได้อีก ทิฏฐินี้เป็นเรื่องของโมหะหรือความลุ่มหลง ตั้งแต่ไม่รู้อะไรเลยไปจนถึงว่าไม่ยอมรับรู้ใครๆ หรืออะไรๆ ทั้งสิ้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นความงมงายนั้นเอง
ความงมงายนั้นเป็นกิเลสสำคัญ เป็นตัวอุปสรรคกีดขวางต่อการใช้ปัญญาและการแสวงปัญญาอย่างสำคัญยิ่ง ปัจจุบันนี้เรามักจะได้ยินการพูดถึงเรื่องเก่าเรื่องใหม่กันมาก ทั้งสองฝ่ายที่ยึดมั่นกันอย่างนี้มักจะโจมตีซึ่งกันและกัน เช่น มีการโจมตีจากผู้ที่ถือตนว่าใหม่ ว่าผู้นั้นผู้นี้เป็นผู้เก่า และอาจจะใช้คำพูดรุนแรงหยาบคาย หรือคำที่ให้รู้สึกตลกขบขันไป ฝ่ายเก่าก็เช่นเดียวกัน เมื่อถูกคุกคามก็จะแสดงออกซึ่งอาการที่มีความยึดมั่นในความคิดเห็นของตนยิ่งขึ้นไปอีก และติเตียนตำหนิผู้ใหม่นั้น อย่างที่จะทำให้เป็นปฏิปักษ์ห่างกันออกไปชัดเจนและรุนแรงขึ้นทุกที ตกลงว่าทั้งใหม่ทั้งเก่านี้ต่างก็ยึดมั่นในทิฏฐิในทฤษฎีของตน การยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎีของตนนั้น ไม่ว่าเก่าว่าใหม่ ก็เป็นเรื่องของความงมงายได้ทั้งสิ้น
การวินิจฉัยความงมงายนั้น ไม่ได้ขึ้นกับความเก่าหรือความใหม่ ของเก่าผิดก็มีถูกก็มี ของใหม่ผิดก็มีถูกก็มี ข้อสำคัญจะต้องวินิจฉัยว่าอะไรจริงอะไรถูกอะไรผิด ไม่สำคัญที่ว่าเก่าหรือใหม่ ถ้าเก่าผิด เก่าก็ใช้ไม่ได้ ถ้าเก่าถูกก็ใช้ได้ ถ้าใหม่ถูกก็ใช้ได้ เช่นเดียวกัน
การที่มาพูดต่อว่าสาดกันไปมาว่าเก่าใหม่นั้น เป็นเหมือนกับว่ามนุษย์เราขัดสนจนปัญญา ไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ความจริงกันด้วยเหตุด้วยผล จึงต้องยกคำมาด่าว่ากล่าวใส่กัน ว่าเก่าว่าใหม่เป็นต้น ถ้าหากจะเข้ากันให้ถึงความจริง สามารถวิเคราะห์ความจริงกันด้วยเหตุด้วยผลแล้ว คำว่าเก่าว่าใหม่ก็ไม่มีความหมายอะไรทั้งสิ้น
ฉะนั้น เรื่องทิฏฐิหรือความงมงายนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องแก้ไขให้หมดสิ้นไป มิฉะนั้น จะตกเข้าในคติที่ว่า สิ่งที่ฉันยึดมั่นไว้อย่างเดียวเท่านั้นถูกต้อง สิ่งที่คนอื่นถือเป็นผิดหมด อย่างที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อิทเมวะ สัจจัง โมฆมัญญัง อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหลทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น จึงขอให้อยู่ในคลองปัญญา คือ ปล่อยให้กระแสของปัญญาดำเนินไปโดยบริสุทธิ์ โดยไม่เอาตัวตนเข้าไปกีดขวางกระแสนั้น ไม่ว่าจะแสดงออกในรูปของตัณหา ความเห็นแก่ผลได้ส่วนตนก็ตาม มานะความถือตัวตนว่ายิ่งใหญ่ เก่งกว่า รอบรู้กว่า เป็นต้น หรือทิฏฐิความยึดมั่นงมงายติดคาอยู่ในหลักทฤษฎีต่างๆ ก็ตาม เมื่อทำอย่างนี้แล้ว กระแสปัญญาดำเนินไปได้โดยบริสุทธิ์ จึงจะเป็นนักศึกษาที่แท้จริง เมื่อเป็นนักศึกษาที่แท้จริงแล้ว ก็จะรู้เข้าใจได้ว่าธรรมนั้นคืออะไร และวิธีการที่จะสร้างเสริมดำรงรักษาธรรมนั้นคืออะไร เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจึงจะสถาปนาธรรมได้ และวิชาการที่เล่าเรียนนั้นก็จะเป็นวิชาธรรมศาสตร์ที่แท้จริง