สถาบันสงฆ์ในสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปัญหา ฐานะ และภารกิจของพระสงฆ์ ในสังคมปัจจุบัน1

ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชน

คณะสงฆ์เป็นสถาบันที่ใหญ่ที่สุดสถาบันหนึ่งของชาติ สถิติเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ แสดงว่า มีภิกษุสามเณรทั่วประเทศจำนวน ๒๓๗,๗๗๐ รูป เทียบกับประชากรของประเทศ ๒๘,๐๗๒,๔๓๑ คน จะได้เป็นอัตราส่วน ภิกษุสามเณร ๑ รูป ต่อประชาชนประมาณ ๑๑๐ คน นอกจากจะเป็นสถาบันที่ใหญ่ พระสงฆ์ยังมีฐานะและความเป็นอยู่ที่ต่างออกไปจากประชาชนเป็นอันมาก มีวัตถุประสงค์ในการดำรงเพศโดยเฉพาะ มีระเบียบวินัยสำหรับกำหนดความเป็นอยู่ต่างออกไป และได้รับความยกย่องจากประชาชนให้อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ เรียกได้ว่าเป็นอีกสังคมหนึ่งต่างหาก

แต่การมีฐานะและความเป็นอยู่ต่างหากออกไปนี้ มิได้หมายความว่า พระสงฆ์จะต้องแยกตัวเด็ดขาดออกไปจากประชาชน และปลีกตัวอยู่โดยลำพัง เพราะจุดมุ่งหมายของชีวิตพรหมจรรย์นั้นโดยแท้จริงก็เป็นจุดหมายสำหรับทุกคนหรือทุกชีวิต การออกบวชก็คืออุบายหรือวิธีการ ที่จะให้เข้าถึงจุดหมายนั้นโดยสะดวกและรวดเร็วขึ้น เมื่อบวชแล้วก็ต้องอาศัยปัจจัยสี่ ที่เป็นเครื่องดำรงชีวิตด้านวัตถุจากประชาชน และเมื่อปฏิบัติตามวิธีการเพื่อเข้าถึงจุดหมายนั้นได้ผลสำเร็จทางสติปัญญาหรือจิตใจที่สูงขึ้นไป ก็สมควรจะต้องนำมาชี้แจงแนะนำแก่ประชาชน ที่ตนได้อาศัยปัจจัยสี่เลี้ยงชีวิตนั้นด้วย จึงเกิดเป็นข้อผูกพันต่อกันในรูปการตอบแทนหรือให้และให้ตอบ เป็นวัตถุฝ่ายหนึ่งและจิตใจฝ่ายหนึ่ง แต่ไม่ใช่การซื้อขายหรือกู้ยืม เพราะประกอบด้วยคุณค่าทางจิตใจ อย่างน้อยก็ศรัทธาในฝ่ายหนึ่ง และเมตตาในอีกฝ่ายหนึ่ง และความผูกพันนี้ ก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในแบบอาศัยกันและกันขึ้นซึ่งมองเห็นได้ชัดในประวัติการณ์ของพุทธศาสนา โดยเฉพาะตลอดประวัติศาสตร์ของชาติเราเอง และแม้ในสมัยปัจจุบัน

อันที่จริง ภารกิจในการสงเคราะห์ประชาชนในด้านสติปัญญาหรือจิตใจนั้น ว่าตามอุดมคติของพุทธศาสนาแล้ว ไม่ได้หมายเอาหน้าที่ที่เกิดจากข้อผูกพันในการตอบแทน แต่หมายถึงหน้าที่ที่เกิดจากคุณธรรม คือความกรุณา คิดจะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ ให้มีชีวิตที่ปลอดโปร่งเป็นสุข ซึ่งจะเห็นได้จากพระจริยาวัตรของพระบรมศาสดาเอง ตลอดถึงคำสอนทั่วไป เช่น ดำรัสส่งสาวกออกประกาศศาสนา ที่ให้สาวกจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขของชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก2 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้เป็นหน้าที่ ด้วยอาศัยความผูกพันในลักษณะการตอบแทน ก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในเมื่อคณะสงฆ์กลายเป็นองค์การหรือสถาบันที่ใหญ่ และต้องดำรงอยู่ตลอดระยะเวลานาน และการตอบแทนนี้มิได้มุ่งการสงเคราะห์กันเป็นส่วนบุคคลหรือจำเพาะปัจเจกชน แต่มุ่งในรูปสมัชชาคือการสงเคราะห์กันระหว่างสงฆ์กับประชาชน ไม่ใช่ระหว่างภิกษุ ก. กับ นาย ข.

หน้าที่ของพระสงฆ์ต่อประชาชนที่กล่าวแล้วนั้น มีอยู่ในหลักคำสั่งสอนที่เรียกว่าธรรมและวินัยนั่นเอง จะขอยกมาเป็นตัวอย่างส่วนหนึ่ง

มีพุทธพจน์แห่งหนึ่ง แนะนำให้บรรพชิต คือนักบวช พิจารณาอยู่เสมอ ๆ ว่า “บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า ความเป็นอยู่ของเราเนื่องด้วยผู้อื่น”3

อีกแห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนพระสงฆ์ ให้คำนึงถึงความสัมพันธ์ในแบบพึ่งพาอาศัยกัน ระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ว่า

ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เธอทั้งหลาย บำรุงเธอทั้งหลายด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

แม้เธอทั้งหลาย ก็จงเป็นผู้มีอุปการะมากแก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นเถิด

ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายต่างอาศัยกันและกัน ด้วยอำนาจอามิสทานและธรรมทาน อยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้เพื่อต้องการสลัดโอฆะ เพื่อทำความสิ้นทุกข์โดยชอบด้วยอาการอย่างนี้4

ในสิงคาลกสูตร5 ซึ่งเป็นสูตรที่มีชื่อเสียงมากสูตรหนึ่ง พระอรรถกถาจารย์เรียกว่า คิหิวินัย หรือวินัยสำหรับผู้ครองเรือน ได้กำหนดหน้าที่ที่บุคคลพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม คือระหว่างบิดามารดากับบุตร สามีกับภรรยา เพื่อนกับเพื่อน ครูอาจารย์กับศิษย์ และนายงานกับลูกจ้าง และได้กำหนดหน้าที่ระหว่างนักบวชกับประชาชนไว้ว่า

“โกรคหบดีบุตร สมณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรพึงบำรุงโดยฐานะ ๕ คือ

๑. ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ๒. ด้วยวจีกรรม ประกอบด้วยเมตตา ๓. ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ๔. ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู (คือเต็มใจต้อนรับ) ๕. ด้วยจัดหาอามิสทานถวาย”

 

“สมณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบน เมื่อได้รับการบำรุงจากกุลบุตรโดยฐานะ ๕ อย่างแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตร โดยฐาน ๖ อย่าง คือ ๑. สอนให้ละเว้นจากความชั่ว ๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม ๔. สอนสิ่งที่ยังไม่เคยได้สดับเล่าเรียน ๕. ชี้แจงให้เข้าใจชัดในสิ่งที่ได้สดับเล่าเรียนแล้ว ๖. บอกทางสวรรค์ให้ (คือแนะนำวิธีครองชีวิตให้ได้รับผลดีและความสุข)”

ในวินัย ซึ่งเป็นกฎหมายของสงฆ์ มีบทบัญญัติสำหรับรักษาความสัมพันธ์ ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนไว้ให้คงอยู่ในสภาพที่มั่นคงตลอดไป เช่น บัญญัติว่า ให้สงฆ์พิจารณาลงปฏิสาราณียกรรม แก่ภิกษุที่ทำความผิดต่อคฤหัสถ์ เช่นขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภ มิใช่ประโยชน์ เพื่ออยู่ไม่ได้แห่งคฤหัสถ์ ด่าว่าเปรียบเปรยยุยงคฤหัสถ์ให้แตกแยกกัน รับคำอันเป็นธรรมแก่คฤหัสถ์แล้วไม่ทำจริง เป็นต้น โดยลงโทษให้ไปขอขมาต่อคฤหัสถ์นั้น6 และในทำนองเดียวกัน สำหรับคฤหัสถ์ที่ทำผิดต่อสงฆ์ ในความผิดที่คล้ายคลึงกันนี้ ก็มีบทบัญญัติให้สงฆ์ลงโทษคว่ำบาตร7 ได้เช่นเดียวกัน

หลักคำสอนเช่นนี้ นับว่าเป็นรากฐานที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชน เป็นไปอย่างใกล้ชิดและมั่นคงตลอดมา โดยเฉพาะในประเทศไทย ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นได้ขยายตัวออก ถึงขนาดที่แสดงออกในชีวิตจิตใจของคนไทยทุกด้าน

ในด้านการศึกษา วัดได้กลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษา พระเป็นผู้สอนวิชาการต่างๆ ทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นวิชาการทางโลกหรือทางธรรม ในสังคมไทยสมัยที่ล่วงมาไม่นานนี้เอง ผู้ที่รับราชการมียศถาบรรดาศักดิ์ ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้ผ่านการศึกษามาจากวัด โดยเฉพาะได้บวชเรียนมาแล้วเป็นส่วนมาก

ในทางสังคม วัดกลายเป็นศูนย์กลาง เป็นที่รวมของประชาชน ชาวบ้านได้มีโอกาสชุมนุมพบปะพร้อมเพรียงกันในคราวที่วัดมีงาน งานสนุกสนานรื่นเริงก็มาจัดกันที่วัด มีเรื่องทุกข์หรือเดือดร้อนใจก็มาหาพระที่วัด วัดเป็นที่พักคนเดินทาง เป็นที่สงเคราะห์คนป่วยไข้ สิ่งของสำหรับใช้ในกิจการสำคัญๆ ก็อยู่ที่วัด เมื่อครัวเรือนใดมีกิจต้องใช้ ก็มายืมไปจากวัด ประชาชนมีความรู้สึกว่า วัดเป็นของกลาง เป็นสมบัติร่วมกันของทุกคนในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นสำนักศึกษาที่ได้ส่งลูกหลานไปรับการอบรม พระกลายเป็นผู้นำของประชาชน ทั้งในทางจิตใจและทางสังคมเมื่อมีกิจเนื่องด้วยผลประโยชน์ร่วมกันของชาวบ้าน เช่น การก่อสร้างโรงเรียน การขุดบ่อน้ำ ทำทาง สร้างสะพาน เป็นต้น พระก็เป็นผู้นำ เมื่อพระที่เป็นหัวหน้าสงฆ์ในชุมชนนั้น ออกปากว่าจะทำงานใด แม้เป็นงานใหญ่ๆ ชาวบ้านในท้องถิ่นจำนวนร้อยจำนวนพัน ก็พร้อมเพรียงกัน มาช่วยลงแรงจนสำเร็จ เป็นการทำงานด้วยศรัทธา การทำงานด้วยศรัทธาเช่นนี้ ในเมื่อประกอบด้วยความเคารพเชื่อฟัง ตามความหมายที่แท้จริงของศัพท์ ซึ่งทำให้เกิดระเบียบวินัยแล้ว นอกจากจะทุ่นการลงทุนแล้ว ยังได้ผลดีกว่า ทั้งในด้านผลสำเร็จของงาน และผลทางจิตใจของผู้ทำงานด้วย

ศิลปและวรรณคดีของชาติส่วนใหญ่ เกิดขึ้นด้วยอาศัยวัดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ และวัดก็เป็นสถานที่รักษาผลงานทางศิลปและวรรณคดีของชาติไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวความรักในความเป็นชาติไทย ที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ เป็นสิ่งที่รู้และเข้าใจกันดีทั่วไปอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องพรรณนาให้มาก ปัญหามีเพียงว่าความสัมพันธ์เช่นนี้ ได้ลดน้อยลง และกำลังจะสูญหายไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในชุมชนแบบเมืองหลวงนั้นกล่าวได้ว่าสูญหายไปเกือบหมดสิ้น ส่วนในชนบทบางแห่ง ยังพอรักษาให้อยู่ในสภาพที่น่าพอใจได้บ้าง แต่ก็มีทีท่าว่าจะเสื่อมลงได้ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวในทางปรับปรุง เพราะชุมชนแบบชนบท ก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปตามชุมชนแบบเมืองหลวงด้วย

สาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์เสื่อมลง

ในการพิจารณาถึงสาเหตุของปัญหานี้ หรือแม้ปัญหาอื่นๆ ในประเภทเดียวกันนี้ เรามักซัดหรือโทษไปยังวัฒนธรรมแบบตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมแบบตะวันตกเป็นสิ่งที่ต่างไปจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยมาก และมีลักษณะเด่นหลายอย่างที่ชวนให้เกิดความตื่นเต้น อยากจะรับ โดยเฉพาะในเมื่อประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็นวัฒนธรรมของผู้เจริญแล้ว ความเจริญแบบตะวันตกนี้ จึงนับว่าเป็นฝ่ายที่สาม ที่เข้ามามีความสัมพันธ์เพิ่มขึ้น และประชาชนก็เป็นเหมือนคนกลาง ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายเก่าและฝ่ายใหม่ การณ์ปรากฏว่าฝ่ายที่สามได้เปรียบ เพราะเป็นของใหม่เร้าความสนใจอย่างหนึ่งและมีลักษณะที่ประชาชนเห็นว่าดีเด่นหลายอย่างด้วย ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์กับคู่สัมพันธ์เดิมก็ค่อยห่างออกไป

อันที่จริงการเกี่ยวข้องกับตะวันตกนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นซึ่งห้ามมิได้ เป็นเรื่องของเวลาและเหตุการณ์ที่จะต้องเป็นไป แต่การที่ประชาชนกับวัดจะแยกขาดออกไปจากความสัมพันธ์กันนั้น ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่จำต้องพลอยเกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์นี้ไปด้วย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนในขณะนั้น ได้เป็นไปอย่างแน่นแฟ้นอยู่แล้ว และพระก็เป็นผู้นำทางสติปัญญาและจิตใจ ที่ประชาชนเคารพเชื่อถือ เมื่อมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงใหม่ หากเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ร่วมกันก็จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงร่วมกัน และพระสงฆ์ย่อมเป็นผู้นำและแนะแนวทางในการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น ถึงแม้ความกระทบกระเทือนในฐานะเดิมจะต้องเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็คงไม่มากมายนัก และปัญหาก็คงไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นตัวสาเหตุที่แท้จริง น่าจะไม่ใช่การเข้าไปเกี่ยวข้องกับความเจริญที่เข้ามาใหม่ แต่น่าจะเกิดจากการที่ประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นโดยลำพัง พยายามหมุนตัวปรับตัวเข้าหาและรับความเจริญใหม่นั้น โดยปราศจากความเหนี่ยวรั้งจากพระสงฆ์ ซึ่งเคยเป็นหลักยึดแนะนำในทางสติปัญญามาแต่เดิม ขณะเดียวกัน พระสงฆ์ไม่ค่อยจะได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และยึดถือหน้าที่ในการรักษาขนบธรรมเนียมแต่เดิมเข้าไว้ เริ่มอยู่โดดเดี่ยวยิ่งขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนก็ค่อยๆ ห่างออกไปทุกที

เมื่อสังคมของชาวบ้านมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้เรียนรู้วิชาการที่ทางตะวันตกนำเข้ามาเผยแพร่ หรือไปเรียนมาจากตะวันตกเอง ระยะเวลาผ่านไปพอสมควร หันมามองดูสังคมสงฆ์ ซึ่งอยู่ในวงล้อมของสังคมชาวบ้านนั่นเอง ก็เริ่มมองเห็นเป็นสิ่งแปลกประหลาด เริ่มเกิดความไม่เข้าใจกัน ประชาชนรุ่นใหม่เห็นว่า วิชาการที่เรียนจากตะวันตก เป็นความรู้ของผู้เจริญแล้ว ใครไม่รู้ก็เป็นผู้คร่ำครึ และชอบที่จะตีความ พิจารณาและทำความเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่าง ในขอบเขตของวิชาการเหล่านี้เป็นพื้นฐาน ฝ่ายพระสงฆ์ไม่ได้เรียนรู้วิชาการเหล่านี้มาก็พูดจากับคนรุ่นใหม่นี้ไม่รู้เรื่อง เป็นเหมือนผู้ที่เกิดอยู่คนละยุคคนละสมัย หรือใช้ภาษาพูดคนละภาษา ไม่มีสื่อกลางที่รู้ร่วมกันซึ่งจะเป็นเครื่องชักนำเข้าหาสิ่งที่ยังไม่รู้ หรือเพื่อแก้ข้อสงสัยในสิ่งที่ยังเคลือบแคลง เมื่อไม่อาจเข้าใจกันได้ก็หันหลังให้กัน ฝ่ายพระโทษว่า คนรุ่นใหม่ไม่เคารพศาสนาและประเพณี และคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมตะวันตก ฝ่ายคนรุ่นใหม่ ก็เห็นว่าพระเป็นบุคคลคร่ำครึ พูดจาไม่รู้เรื่อง ด้อยในทางสติปัญญา ถึงผู้ที่ออกไปจากสถาบันสงฆ์ และผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสถาบันสงฆ์ เช่น อุบาสก อุบาสิกา และศิษย์วัดเป็นต้น ก็พลอยถูกมองเห็นเป็นเช่นนั้นไปหมด

ฐานะของพระสงฆ์นั้น ขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำในทางจิตใจ และเรื่องจิตใจนี้ก็จะต้องรวมถึงสติปัญญาด้วย เป็นของแยกกันไม่ออก เมื่อคนเห็นว่า พระด้อยทางสติปัญญาเสียแล้ว ความคิดที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นอันไม่มี ชะงักเสียแต่เริ่มแรก ศรัทธาหรือความนิยมนับถือในการที่จะถืออย่างตาม ก็ไม่เกิดขึ้น ไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปพูดกันให้รู้เรื่อง มองเห็นไปว่าสถาบันสงฆ์เป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย

เมื่อพิจารณาถึงขั้นนี้ จึงเห็นว่าจุดสำคัญแท้จริงของปัญหาอยู่ตรงที่ว่าคนรุ่นใหม่มีความรู้สึกว่า พระสงฆ์ขาดภาวะผู้นำในทางสติปัญญา และจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดนี้เอง คือ การสร้างภาวะผู้นำในทางสติปัญญาขึ้น ส่วนการปรับตัวในด้านอื่นนั้นเป็นเพียงเรื่องประกอบ สามารถอาศัยภาวะผู้นำในทางสติปัญญานั่นเองมาปรับปรุงได้ และตามความเป็นจริง ภาวะอย่างอื่นของสถาบันสงฆ์ก็ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมทรามจากเดิมแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตรปฏิบัติของพระหรือด้านอื่นๆ เช่น ประเพณีการบวช เป็นต้น ปัญหาที่มีในสมัยปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างไร ก็ได้เคยมีมาในสมัยก่อนๆ อย่างนั้นหรือยิ่งกว่านั้น ข้อควรระวังอยู่ที่เพียงแต่ปรับปรุง และทำให้รัดกุมยิ่งขึ้นตามกาลสมัยเท่านั้น และก็ทำได้ดีด้วยอาศัยภาวะผู้นำทางสติปัญญานั่นเอง แต่ถ้าคนทั่วไปยังรู้สึกว่าพระสงฆ์ด้อยปัญญาอยู่ตราบใด ถึงจะจัดกิจกรรมเพื่อเร้าความสนใจอันใดขึ้นนั่นก็เป็นเพียงเรื่องประกอบชั่วคราวไม่ถาวร และขาดหลักประกัน

ความสำคัญของความรู้สึกในเรื่องภาวะผู้นำทางสติปัญญานี้ จะมองเห็นได้ง่ายๆ ในปัจจุบัน เช่นประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน มีความรู้สึกโน้มเอียงในทางที่เห็นว่า ชาวตะวันตกเป็นผู้นำทางปัญญา เมื่อมีข่าวหรือได้เห็นฝรั่งที่มาสนใจในพุทธศาสนาเข้าก็เริ่มรู้สึกทึ่ง และพลอยสนใจไปด้วย และการใช้ตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องเช่นนี้มาเป็นเครื่องชักจูงเยาวชน ให้สนใจในพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องที่ปรากฏเห็นกันอยู่ แต่ที่จะต้องคอยถือเอาฝรั่งเป็นเครื่องวัดคุณค่าของพุทธศาสนาเช่นนี้ ดูจะไม่เป็นการสมควรและไม่ถูกต้องด้วยเหตุผล การปลูกศรัทธาควรจะมาจากแหล่งของคำสอนนั่นเอง จึงจะถูกต้องและมั่นคงกว่า

อนึ่ง การสร้างภาวะผู้นำทางสติปัญญาของพระสงฆ์ในที่นี้ ก็มิได้หมายความว่าจะต้องให้พระไปเรียนรู้วิชาการสมัยใหม่เหล่านั้นจนอึกทึกครึกโครม หรือให้เหนือกว่าใครๆ หมด จุดสำคัญอยู่ที่การรู้และเข้าใจ ในสิ่งที่คนทั่วไปโดยเฉพาะปัญญาชนเขารู้กันอยู่แล้ว เพื่อมีสิ่งที่รู้ร่วมกัน พอพูดกันรู้เรื่อง และเป็นสิ่งที่สำหรับนำไปสู่ธรรม ที่เขายังไม่รู้หรือยังไม่แจ่มแจ้งต่อไป อีกประการหนึ่งก็เป็นหลักประกันในเบื้องต้นว่า พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้รู้วิชาการสมัยใหม่ดีอยู่แล้ว ยังคงเห็นคุณค่าของคำสอนในทางศาสนาว่า เป็นสิ่งที่สูงกว่าวิชาการเหล่านั้น หลักธรรมในศาสนาคงมีสาระที่น่าศึกษา การลงทุนของเขาคงมิใช่สิ่งที่เหนื่อยเปล่าเป็นแน่

การปรับปรุงกิจการคณะสงฆ์

เมื่อคราวที่ทางบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงกิจการต่างๆ ในทางการปกครองและการศึกษาครั้งใหญ่ เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ นั้น ก็มีเค้าว่า การคณะสงฆ์จะมีการปรับปรุงตัวครั้งใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ในทางการปกครองก็มีพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับ ร.ศ. ๑๒๑ เกิดขึ้น ทางการศึกษา มีการตั้งโรงเรียนขึ้นในวัดให้พระเป็นครูสอน และยกโรงเรียนที่มีอยู่แล้วในวัด ขึ้นเป็นโรงเรียนหลวง พระเถระที่เป็นผู้นำของคณะสงฆ์ เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นต้น ทรงเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศและวิชาการสมัยใหม่ที่มีศึกษากันในสมัยนั้น ทรงสามารถนำวิชาการเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือชี้แจง อธิบายหลักธรรมในพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

ความริเริ่มในทางศาสนศึกษาครั้งสำคัญยิ่งอันหนึ่ง ก็คือการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ขึ้น ๒ แห่ง เพื่อเป็นที่ศึกษาวิชาการชั้นสูงทางพุทธศาสนา คือ ทรงสถาปนามหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระราชบิดา (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้น8 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติของพระองค์เอง (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

สถาบันการศึกษาทั้ง ๒ แห่งนี้ ได้เริ่มดำเนินการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัยสงฆ์อย่างแท้จริง เมื่อ ๑๙-๒๕ ปีมานี้ โดยรับภิกษุสามเณรที่เป็นเปรียญธรรม คือ มีพื้นความรู้บาลีและธรรมมาแล้ว เข้าศึกษาวิชาการทางพุทธศาสนาขั้นสูงขึ้นไป พร้อมทั้งวิชาการสมัยใหม่ที่เหมาะสมด้วย

ในระยะแรกเริ่มที่มีการศาสนศึกษาในรูปนี้ มีการท้วงติงและเสียงแสดงความห่วงใยเกิดขึ้นบ้าง โดยเกรงกันว่าอาจเป็นเหตุให้พระสึกมาก หรือเป็นการเปิดโอกาสให้หาทางสึกไปประกอบอาชีพ แต่ปัญหาเรื่องนี้ก็ค่อยหมดไป เพราะการดำเนินการศึกษาเท่าที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ว่าการศาสนศึกษาแผนใหม่มีจำนวนผู้ลาสิกขาไม่มากไปกว่าการศึกษาปริยัติธรรมแบบเดิมแต่ประการใด การลาสิกขาคงเป็นไปตามปกติในปัจจุบันเช่นกับสมัยโบราณ และข้อนี้พอจะมองเห็นได้ง่ายเช่น ตามสถิติผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งแต่รุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๙๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๘ มีจำนวน ๑๔๗ รูป ในจำนวนนี้มีผู้ลาสิกขาแล้ว ๔๘ รูป หรือ ๓๒.๖๕% เทียบกับสถิตผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๘ จำนวน ๖๔ รูป มีผู้ลาสิกขาแล้ว ๒๖ รูป หรือ ๔๐.๖๒% และถึงสถิติผู้สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้แล้วลาสิกขาในสมัยปัจจุบัน ก็ไม่เพิ่มมากกว่าสถิติในสมัยก่อนๆ ขอให้เทียบสถิติข้างบนกับสถิติในสมัยก่อน ตั้งแต่เริ่มมีการสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยค โดยวิธีใช้ข้อเขียน (พ.ศ. ๒๔๖๙ ถึง ๒๔๙๘) มีผู้สอบได้ ๘๑ รูป มีผู้ลาสิกขา ๔๘ รูป หรือ ๕๙.๒๖% นี้เป็นเพียงสถิติสำหรับขั้นสุดท้าย สำหรับขั้นต่ำลงมา ก็มีจำนวนผู้ลาสิกขามาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนร้อย จำนวนพัน การลาสิกขาคงเป็นไปโดยปกติ แต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปเริ่มรู้สึกในแง่ดี มองเห็นว่าการที่พระได้เรียนวิชาการสมัยใหม่เป็นการพิเศษ เพิ่มเติมจากการศึกษาบาลีธรรมนั้น ให้ผลดีมากกว่าผลเสีย ทั้งในแง่ประโยชน์แก่สังคมและประโยชน์ส่วนตน ในแง่ส่วนตัว พระเองไม่มีความตื่นเต้นหรือขลาดกลัวต่อความเจริญในยุคใหม่ ได้เข้าใจเนื้อหาขอบเขตและข้อบกพร่องของวิชาการเหล่านั้น แล้วกลับมองเห็นคุณค่าของคำสอนในศาสนาของตนเองมากขึ้น และพูดเช่นนั้นได้ด้วยความมั่นใจ ส่วนในแง่ประโยชน์ของสังคม ปรากฏว่า พระที่ศึกษาวิชาการเหล่านี้แล้ว สามารถสอนธรรมให้คนในสมัยปัจจุบันสนใจ และเข้าใจได้ง่ายขึ้นเพราะมีความรู้ มีสิ่งที่รู้ร่วมกัน อันเป็นสื่อนำความเข้าใจในเรื่องที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป และเมื่อละเพศไป ก็ไม่เป็นผู้ชักนำเอาสถาบันสงฆ์ไปสู่การถูกเหยียบย่ำโดยไม่เจตนา เพราะเหตุแห่งฐานะหรือศักดิ์ศรีของตนในสังคม แต่อาจสามารถช่วยเป็นตัวแทนเชิดชูสถาบันสงฆ์ ได้ ไม่ทำตนเองให้เป็นผู้เพิ่มปัญหาสังคม ในฐานะเป็นพลเมืองที่ว่างงาน หรือด้อยการศึกษา ซึ่งรัฐเองก็คงไม่ต้องการ

ประเพณีการบวชและสึก

สังคมชาวพุทธไทย มีประเพณีการบวชเรียน ซึ่งเป็นของดั้งเดิมอย่างหนึ่ง วัดเป็นผู้รับกุลบุตรเข้ามาให้การศึกษาอบรมตั้งแต่อายุยังน้อย ให้บวชเรียน ผู้ใดมีอุปนิสัยทางเพศพรหมจรรย์กล้าแข็ง ก็คงบวชอยู่ต่อไป เป็นกำลังของคณะสงฆ์ ส่วนผู้มีอุปนิสัยยังอ่อน ก็ยอมรับความบกพร่องของตน ด้วยการลาสิกขาออกไป และออกไปในฐานะผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรมอย่างดีแล้ว ทั้งทางวิชาการและความประพฤติ สามารถเป็นกำลังที่ดีของรัฐได้ แม้ผู้ที่บวชเรียน ๓ เดือน หากมีศรัทธาเข้มแข็งและมีความพร้อมอย่างอื่นพอ ก็อาจจะดำรงเพศอยู่ต่อไปได้ตามกำลังศรัทธานั้น การบวชเรียนแล้วจะอยู่หรือสึกจึงเป็นไปโดยความสมัครใจ ประเพณีการบวชจึงเป็นไปควบคู่กับการสึก และประเพณีการบวชเรียนแล้วสึกได้ตามความสมัครใจนี้ ก็ได้เป็นเครื่องรักษาดุลย์แห่งปริมาณของคณะสงฆ์ และเป็นโอกาสให้คณะสงฆ์ของไทยมีการถ่ายทอด รักษาเสถียรภาพ และความบริสุทธิ์ของสถาบันสงฆ์อยู่ได้ตลอดมา เช่นไม่เข้าไปก้าวก่ายกับการเมือง เป็นต้น

บางครั้งเราอาจเกิดความรู้สึกในแบบเข้มงวด อยากให้พระสงฆ์ที่บวชพระ ได้ดำรงเพศอยู่ตลอดไป เพื่อให้คณะสงฆ์มีฐานะมั่นคงยิ่งขึ้น และสภาพเช่นนี้อาจกลายเป็นสิ่งจำเป็นหรือสมควรขึ้นมาจริงๆ ในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ แต่ในการที่จะพยายามทำให้เกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นนั้น เราคงจะต้องคิดถึงวิธีการแก้ปัญหาแบบพุทธศาสนา คือ การเรียนรู้ข้อเท็จจริง และยอมรับความจริง ทั้งนี้ไม่ว่าความจริงนั้นจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่ก็ตาม ยอมสู้หน้าเผชิญกับปัญหาที่ตรงสาเหตุ ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้พระสงฆ์บวชอยู่ตลอดไปตามปรารถนา ก็ต้องแก้ที่สาเหตุเช่นกัน คือ แทนที่จะคิดแก้ไขการสึก ควรแก้ไขการบวช โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเพณีการบวช หรือถ้าเป็นไปได้ ต้องห้ามผู้ที่คิดจะสึกหรืออาจจะสึกไม่ให้บวช หากคิดแก้ไขเพียงใช้วิธีบีบบังคับให้ผู้บวชแล้วต้องดำรงเพศอยู่ จะด้วยการกีดกันไม่ให้รับการศึกษาตามฐานะก็ดี หรือด้วยวิธีการอื่นๆ มีการกล่าวร้ายเป็นต้นก็ดี ย่อมเป็นการหลีกหนีความจริง ซึ่งน่าจะไม่ประสบผลสำเร็จที่ดีไปกว่าความเพ้อฝัน และเมื่อไม่สำเร็จ ก็กลับเป็นผลเสียอย่างร้ายแรง การที่จะปล่อยให้สามเณรน้อยๆ ซึ่งถูกสังคมสร้างขึ้นมาจากประเพณีนิยมที่สังคมนั้นยึดถืออยู่ ต้องมารับเคราะห์กรรมอันเกิดจากความบีบคั้นกลั่นแกล้งของสังคมนั้นเอง ดูเป็นการไม่ยุติธรรมนัก มองในด้านหนึ่ง คณะสงฆ์ก็ไม่พึงประสงค์ผู้ที่จำใจต้องทนครองเพศอยู่ด้วยความฝืนใจตนเอง เพราะมีทางก่อให้เกิดความเสื่อมเสียมากกว่าผลดี และในอีกด้านหนึ่ง รัฐเองก็คงไม่ต้องการมีพลเมืองที่ขาดหรือด้อยการศึกษาและไร้ความสามารถ หรือไม่มีโอกาสแสดงความสามารถของตนตามกำลัง

จำนวนพระสงฆ์แยกประเภท

ในจำนวนภิกษุสามเณร ๒๓๗,๗๗๐ รูปนั้น ถ้าแยกประเภทออกไป จะได้ตัวเลขโดยประมาณ ดังนี้

  • ภิกษุบวช ๓ เดือน ตามประเพณี อย่างน้อย ๙๑,๑๓๘ รูป
  • ภิกษุที่เป็นตัวยืนประมาณ ๖๑,๓๗๒ รูป
  • สามเณร ๘๕,๒๖๐ รูป

สำหรับจำนวนพระภิกษุประเภทแรก คือ ภิกษุบวชตามประเพณี ๓ เดือนในฤดูเข้าพรรษานั้น ในที่นี้ คิดตัวเลขเพียง ๖๐% ของจำนวนพระภิกษุทั้งหมดเท่านั้น ความจริงอาจมีมากกว่านี้ พระภิกษุประเภทนี้ ก็คือประชาชนที่เข้ามาพักผ่อนและรับการอบรมทางจิตใจไปจากวัดในระยะสั้นๆ ชั่วคราวเพียง ๓-๖ เดือน ของชีวิตอันยาวนานถึง ๖๐-๗๐ ปี ซึ่งได้ใช้เวลาไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ รวมแล้วมากกว่านี้มากมายหลายเท่านัก และพระภิกษุเหล่านี้ควรนับเข้าในจำนวนคฤหัสถ์ มากกว่าอยู่ในจำนวนพระสงฆ์ เพราะถ้าพิจารณาในแง่สังคม ภิกษุบวชสามเดือนย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่พระสงฆ์มีต่อสังคมได้ แต่ควรถือว่า เป็นประชาชนที่เข้ามาเป็นภาระและรับประโยชน์จากคณะสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ตัวเลขที่แท้จริงของจำนวนภิกษุสามเณรจึงมีประมาณ ๑๔๖,๖๒๓ รูปเท่านั้น และในจำนวนนี้ ถ้าแยกประเภทออกไปอีกคงได้ตัวเลขดังนี้

  • พระสังฆาธิการ ๕,๕๓๐ รูป
  • เจ้าอาวาส ๒๓,๓๒๒ รูป
  • ครูปริยัติธรรมฝ่ายบาลี ๑,๙๓๔ รูป
  • ครูปริยัติธรรมฝ่ายนักธรรม ๑๔,๑๘๔ รูป
  • นิสิตนักเรียนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ๑,๖๕๗ รูป
  • นักศึกษาบาลี ๑๗,๗๔๘ รูป
  • นักศึกษาธรรม ๖๗,๙๑๑ รูป

นอกจากนี้ (ในจำนวนที่เหลือ ๑๔,๓๓๗ รูป) ยังมีรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส นักเทศน์ นักเผยแพร่ พระนักปฏิบัติซึ่งบำเพ็ญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน และพระภิกษุที่ปฏิบัติศาสนกิจอื่นๆ อีก ซึ่งรวมแล้ว คงเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ในตัวเลขเหล่านี้ ก็มีอยู่ไม่น้อยที่เป็นภิกษุรูปเดียวกัน แต่ดำรงตนอยู่ในหลายฐานะ เช่น เป็นทั้งผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นนักเทศน์ และเป็นครูปริยัติธรรมด้วย ดังนี้ เป็นต้น

ตามท้องถิ่นห่างไกลในชนบท มักเกิดปัญหาเรื่องขาดแคลนพระในระยะออกพรรษา บางวัดมีพระอยู่รูปเดียว บางวัดสองสามรูป บางวัดหาเจ้าอาวาสไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงพระเถระผู้สูงพรรษา บางทีแม้แต่พระ ๔-๕ พรรษา ก็หาไม่ค่อยได้ ทำให้ชาวบ้านขาดความอบอุ่นใจ ในคราวที่ต้องการพระจำนวนมาก เช่น พิธีกรรมทางศาสนาบางอย่าง ทายกต้องไปเที่ยวหานิมนต์พระหลายตำบล จึงพอแก่การ พระที่มีอยู่จำนวนน้อยนี้ จึงเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างดีเยี่ยม สมมติว่า ท่านจะทำหน้าที่เฝ้าวัดเพียงอย่างเดียว ก็ยังได้ประโยชน์แก่รัฐคุ้มค่าอยู่แล้ว แต่ความจริง พระหัวหน้าสงฆ์ในท้องถิ่น ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนอย่างมาก เพราะมีประโยชน์แก่ประชาชน ทั้งในด้านพิธีกรรม การอบรมสั่งสอน ความเป็นผู้นำในการสร้างสาธารณประโยชน์ และเป็นที่รวมทางจิตใจโดยทั่วไป

ในสังคมไทยปัจจุบัน พระสงฆ์ยังคงมีประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับชุมชนแบบชนบท และหากรู้จักดำเนินการให้ดี พระสงฆ์นั่นเอง จะเป็นผู้สามารถนำชนบทไปสู่ความเจริญได้โดยวิถีทางที่เหมาะสมและมีหลักเกณฑ์ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชาวบ้านยังอยู่ในสภาพที่ดี และความสัมพันธ์แบบนี้ มีลักษณะพิเศษจำเพาะ คือ พระเป็นผู้เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง ชาวบ้านมีความยำเกรง และเชื่อฟังพระ แต่ความยำเกรงและเชื่อฟังนี้เกิดจากความเคารพและเลื่อมใสศรัทธา ไม่ได้เกิดจากความเกรงกลัวในอำนาจ การกระทำตามจึงเป็นไปด้วยความเต็มใจและด้วยกำลัง ได้ผลสำเร็จของงานพร้อมทั้งผลทางจิตใจของผู้ทำงานด้วย แม้ในด้านทุนทรัพย์ วัดก็ได้มาจากการเสียสละทำบุญของผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งถ้าไม่มีกลวิธีของคนหลอกลวงสมัยใหม่เข้ามาเกี่ยวก็เป็นการได้มาด้วยความเต็มใจของผู้บริจาค เท่าที่จะไม่เป็นการบีบคั้น หรือกระทบกระเทือนฐานะการครองชีพของเขา และทุนเหล่านี้สะท้อนกลับเป็นผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมโดยไม่รั่วไหล เป็นการทุ่นงบประมาณแผ่นดิน และเป็นวิธีเฉลี่ยกระจายทรัพย์ไปในสังคมโดยไม่รู้ตัวด้วย เรื่องนี้น่าจะเป็นข้อคิดที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้มีการรักษา และส่งเสริมความสัมพันธ์ในรูปนี้ไว้ และหาทางนำเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด แทนที่จะละเลยปล่อยให้เสื่อมสูญไปเปล่า แล้วให้ประชาชนก้าวอย่างเปะปะเข้าสู่ความเจริญแบบใหม่ พร้อมด้วยปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรุงรัง

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง ได้ส่งภิกษุผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาแล้ว ไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างจังหวัด จนถึงบัดนี้ มีจำนวนกว่า ๗๐ รูป ภิกษุเหล่านี้กระจายกันอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ท้องถิ่นละรูปเดียวบ้าง สองรูปบ้าง สี่หรือห้ารูปบ้าง และอยู่ประจำในระยะเวลาเฉลี่ยรูปละประมาณ ๒ ปี ภารกิจของภิกษุเหล่านี้ คือ การไปช่วยเป็นกำลังให้แก่ภิกษุที่เป็นผู้นำของชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ ในการสร้างภิกษุสามเณรที่เป็นกำลังของคณะสงฆ์ ในการเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชน พร้อมทั้งอาศัยความสัมพันธ์นั้นบำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชนนั้นๆ งานที่ภิกษุเหล่านี้ได้ปฏิบัติไปแล้ว กล่าวโดยย่อ ได้แก่ การสอนปริยัติธรรมแผนเดิม หรือบาลีและนักธรรมแก่ภิกษุสามเณร การสอนปริยัติธรรมแผนใหม่ซึ่งมีวิชาการสมัยใหม่ประกอบด้วย แก่ภิกษุสามเณรและเด็กนักเรียนในโรงเรียนของวัด การสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียนราษฎร์และโรงเรียนรัฐบาล การจัดตั้งและดำเนินการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในท้องถิ่น การจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่อื่นๆ เช่น การสอนอภิธรรม การบำเพ็ญกรรมฐาน การจัดอบรมพิเศษแก่ประชาชน การออกจาริกแสดงธรรม การร่วมงานกับองค์การเผยแผ่พุทธศาสนาท้องถิ่น เช่น พุทธสมาคม และยุวพุทธิกสมาคม เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีการให้ความร่วมมือแก่หน่วยราชการ ในงานพัฒนา โดยเฉพาะในแง่การชี้แจงแนะนำให้ประชาชนเข้าใจวัตถุประสงค์ที่ดี เพื่อให้ความร่วมมือในงานนั้น และการช่วยเป็นสื่อสัมพันธ์สร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ระหว่างประชาชนกับข้าราชการในทางที่ชอบและเหมาะสมซึ่งจะช่วยทำให้ข้าราชการเข้ากับประชาชนได้ แต่การปฏิบัติงานในรูปนี้มีปัญหาในเรื่องจำนวนผู้ปฏิบัติงาน เพราะมีจำนวนพระภิกษุเพียงประมาณ ๗๐ รูปเท่านั้น ย่อมไม่สามารถปฏิบัติงานได้กว้างขวางพอและเกือบจะไม่มีทุนดำเนินงานเลย ทั้งในฝ่ายผู้ส่งและท้องถิ่นที่ไปประจำ

ในชุมชนแบบเมืองหลวง พระภิกษุที่บวชอยู่ในระยะยาว หรือเรียกได้ว่าบวชอยู่ประจำ มีจำนวนสูงกว่าประเภทบวช ๓ เดือนเล็กน้อย และในจำนวนผู้บวชอยู่ประจำนี้ ตัวเลขส่วนมากที่สุดเป็นประเภทนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งส่วนมากเดินทางเข้ามาจากท้องถิ่นต่างๆ เพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ ส่วนตัวเลขแสดงจำนวนสามเณรที่มีอยู่ทั่วประเทศ ๘๕, ๒๖๐ รูปเศษนั้น แทบจะกล่าวได้ว่า เป็นนักเรียนทั้ง ๑๐๐๓ ทีเดียว และสำหรับสามเณรจำนวนนี้ เราสามารถตัดปัญหาเยาวชน หรือความวุ่นวายที่เกิดจากเด็กวัยรุ่นออกได้โดยสิ้นเชิงทีเดียว

พระภิกษุอีกจำนวนหนึ่ง ประมาณ ๒๓,๐๐๐ รูป เป็นผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองทางคณะสงฆ์ ได้แก่เจ้าอาวาสและเจ้าคณะต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ตามข้อเท็จจริง งานที่กินเวลาส่วนใหญ่ของพระสังฆาธิการเหล่านี้ ไม่ใช่งานปกครองพระสงฆ์ซึ่งก็เป็นงานที่หนักอยู่แล้ว แต่เป็นงานที่เกี่ยวกับการสัมพันธ์กับประชาชน ที่กล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อสังคม วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้มองเห็นภารกิจของพระสงฆ์ประเภทนี้วิธีหนึ่งคือ ขอให้นึกถึงภาพผลงานของเจ้าอาวาส (ซึ่งไม่มีนิตยภัต เว้นแต่ท่านที่ดำรงตำแหน่งอื่นด้วย หรือมีสมณศักดิ์) จำนวนไม่เกิน ๒๓,๓๒๒ รูป (ตามจำนวนวัดทั่วประเทศ) กำลังปฏิบัติหน้าที่ของท่าน ทั้งในด้านการคณะสงฆ์และในด้านความสัมพันธ์กับประชาชน ในเขตการปกครองประมาณ ๔๐,๐๐๐ หมู่บ้าน (เรามีผู้ใหญ่บ้าน ๔๑,๕๑๙ คน ได้รับเงินเดือนคนละ ๗๕ บาท ประจำอยู่ในหมู่บ้านทั่วประเทศ ๔๑,๕๑๙ หมู่บ้าน และเราก็เห็นกันว่าผู้ใหญ่บ้านเหล่านี้ทำงานเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลอยู่ไม่น้อย)

นอกจากจำนวนที่กล่าวแล้ว คงมีพระภิกษุสามเณรเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่พระภิกษุที่บวชในวัยชรา เพื่อรับความสงบ หรือฝึกฝนตนเองทางจิตใจ หลังจากที่ได้ทำงานให้แก่สังคมตามหน้าที่ของพลเมืองในวัยทำงานแล้วส่วนหนึ่ง ผู้ที่บวชแล้วอยู่ว่างๆ และผู้ที่สร้างความเสื่อมเสียให้แก่พระศาสนาบ้าง ส่วนหนึ่ง แต่ตัวเลขของจำนวนเหล่านี้มีไม่มากนัก และแม้ภิกษุที่อยู่ว่างๆ ก็มักมีศิษย์ที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาอาศัยอยู่ด้วย ขอให้นึกเทียบกับจำนวนคนชรา คนพิการ นักโทษ และโจรผู้ร้าย ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยนัก และไม่เคยขาดไปจากตัวเลขแสดงสถิติประชากร

หากจะมีบุคคลบางคนมองเห็นไปว่า พระสงฆ์ได้แต่อยู่ว่างๆ พักผ่อนและคอยทำพิธีกรรมอย่างเดียว บุคคลเช่นนั้นก็คงไม่ต่างไปจากผู้ที่มองเห็นผู้คนตามโรงหนังเป็นต้น แล้วก็ทึกทักคิดเอาว่า คนไทยทั้งประเทศมีอยู่ที่โรงภาพยนตร์ บาร์ ไนท์คลับและสถานเริงรมย์ต่างๆ เท่านั้น

มีข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับจำนวนพระภิกษุ คือ ภิกษุสามเณรมักดำรงเพศอยู่ในระยะที่ยังศึกษาเล่าเรียน เมื่อผ่านระยะนี้ไปแล้ว มักลาสิกขาไปเป็นจำนวนมากมาย ระยะที่พระภิกษุลาสิกขามาก ได้แก่อายุระหว่าง ๒๕ ถึง ๓๕ ปี จึงเป็นเหตุให้จำนวนพระสงฆ์ที่ศึกษาเล่าเรียนมีมาก แต่พระสงฆ์ทำงานมีจำนวนน้อย แต่ผู้ที่ลาสิกขาแล้วนี้ ก็ไม่ทำให้รัฐเสียกำลังคนแต่ประการใด เพราะได้ไปประกอบอาชีพการงานในฐานะคฤหัสถ์ คือ เป็นผู้ที่ศึกษาไปจากวัด แต่ไปทำงานให้แก่รัฐ หรือคณะสงฆ์เป็นผู้ลงทุน แต่รัฐเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลของการลงทุนนั้น โดยมีส่วนเกี่ยวข้องในการลงทุนน้อยที่สุด

สังคมสงฆ์มีลักษณะแตกต่างจากสังคมคฤหัสถ์หลายประการ ในสังคมคฤหัสถ์เมื่อผู้ทำงานมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผ่านวัย ๖๐ ปีไปแล้ว มักจะได้รับการพักผ่อนเลิกประกอบอาชีพการงาน และดำรงชีวิตอยู่ด้วยผลประโยชน์จากงานที่ได้สร้างไว้ในวัยทำงาน หรือด้วยการตอบแทนคุณจากบุตรหลานหรือรัฐ และพลเมืองของชาติในวัยนี้มีอยู่ประมาณ ๔.๔๖% ของจำนวนประชากรของชาติ แต่ในสังคมสงฆ์พระหัวหน้าหมู่คณะยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งต้องทำงานมากขึ้น ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนมากขึ้นเป็นประโยชน์แก่งานของชุมชน ที่เนื่องด้วยความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น

อีกประการหนึ่ง พระภิกษุที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ มักเป็นผู้ที่ต้องทำงานหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน เช่น เป็นผู้ปกครองและให้การศึกษา พร้อมทั้งทำงานสงเคราะห์ประชาชนไปด้วย หรือทั้งเป็นนักศึกษาเอง เป็นครูสอนผู้อื่นและเป็นนักเผยแผ่ไปพร้อมๆ กัน

ภิกษุที่ทำงานเหล่านี้ แทบทุกรูปมีศิษย์วัดอยู่ในปกครองซึ่งจะต้องเป็นภาระในการดูแล และอนุเคราะห์ในความเป็นอยู่ตั้งแต่ ๑ ถึง ๗-๘ คน ศิษย์วัดเหล่านั้นทั่วประเทศมีประมาณ ๙๐,๐๐๐ คน (นั่นก็คือมีมากกว่าจำนวนสามเณรทั่วประเทศ) เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาเกือบทั้งหมด เมื่อศึกษาจบแล้ว จึงออกไปประกอบอาชีพการงาน เป็นกำลังของรัฐต่อไป ศิษย์วัดเหล่านี้ช่วยให้พระได้ทำหน้าที่สังคมสงเคราะห์เพิ่มขึ้น และโดยที่ศิษย์วัดจำนวนมากไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกับพระผู้ปกครองเลย จึงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง ที่ช่วยให้พระสงฆ์มีความรู้สึกผูกพันในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวน้อย และในขณะที่สังคมต้องผจญกับปัญหาเยาวชนเป็นอันมากนั้น หากจะวิจัยปัญหานี้ดู จะสรุปได้ว่า ปัญหาเยาวชนแทบทั้งหมดหรือทั้งหมด เกิดจากเด็กบ้าน ไม่ใช่เด็กวัด

การพักผ่อนโดยปกติของพระ ได้แก่การจำวัดและการทำความสงบทางจิตใจ หรืออาจมีงานอดิเรกและการสนทนากันบ้าง ส่วนการเที่ยวเตร่ เข้าโรงภาพยนตร์ เข้าภัตตาคาร เข้าบาร์ เข้าไนท์คลับ เป็นต้น ไม่มี พระมีความเป็นอยู่แบบง่ายๆ ซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของประชาชน รายจ่ายหากจะมีก็ได้แก่อาหารราคาถูกๆ วันละ 2 มื้อ หรือบางรูปเพียงมื้อเดียว หนังสือเรียน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าและค่าพาหนะในคราวมีกิจธุระ กับสิ่งของที่ใช้ประจำวันเล็กๆ น้อยๆ รายจ่ายประเภทฟุ่มเฟือย เช่น เรื่องเครื่องแต่งกายเพื่อความสวยงามเป็นอันไม่มี

การที่ไม่ต้องคอยครุ่นคิดถึงวิธีการ ที่จะบำเรอความสุขให้แก่ตนเองอย่างหนึ่ง และการมีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของประชาชน ปราศจากความวิตกกังวลในเรื่องความบีบรัดในการแสวงหาเครื่องครองชีพ เพื่อตนเองและครอบครัวอีกอย่างหนึ่ง ทำให้พระสงฆ์มีความรู้สึกที่ผูกมัดอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตนน้อย ความคำนึงที่จะต้องพะวงถึงผลได้ผลเสียของตนเองเป็นข้อแรก ก็เบาบาง ตัดความรู้สึกในเรื่องตัวใครตัวมันออกได้ มีความพร้อม และโปร่งใจที่จะทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมได้ง่าย คณะสงฆ์ในอุดมคติ จึงได้แก่กลุ่มบุคคลผู้มีชีวิตส่วนตนที่เป็นสุขด้วยความเป็นอยู่ง่ายๆ พร้อมที่จะบำเพ็ญกรณียกิจเพื่อผลประโยชน์ของคนทั่วไปด้วยความบันเทิงใจ โดยมีอิสรภาพทางจิตเป็นพื้นฐานและเป็นที่มุ่งหมาย สังคมนี้เปิดโอกาสเสมอ ในการรับผู้มีระดับจิตใจที่พร้อมจะปฏิบัติเช่นนี้ได้ และผู้ที่รู้สึกตนว่าระดับจิตใจยังไม่เข้มแข็งพอ เห็นเป็นการฝืนจิตใจ ไม่สามารถปฏิบัติต่อไป ก็มีสิทธิที่จะออกไปได้ด้วยความสมัครใจเสมอ เป็นสังคมที่มีความเป็นอยู่อย่างปลอดโปร่ง และมีเสรีภายในกรอบแห่งวินัย มุ่งอิสรภาพทางจิตใจเป็นสำคัญ เป็นสังคมตัวอย่าง ซึ่งจะทำให้มีขึ้นไม่ได้ด้วยการบังคับเว้นแต่ด้วยวิธีการฝึกฝนอบรม เพื่อยกระดับจิตใจให้พร้อมขึ้นไปเป็นขั้นๆ

การศึกษาของพระสงฆ์

คำว่า บวชเรียน เป็นคำที่แสดงความรู้สึกขั้นพื้นฐานของพระสงฆ์อย่างหนึ่ง คือถือว่าการบวชเป็นของคู่กับการเรียน ผู้บวชแล้วมีหน้าที่ที่จะต้องศึกษาเล่าเรียน การบวชแล้วไม่เรียนถือเป็นความเสียหายอย่างแรงข้อหนึ่ง พระผู้นำหมู่คณะมีความรับผิดชอบที่จะต้องจัดให้มีการศึกษาขึ้น และวัดมักจะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการเรียนไว้ ซึ่งจะมองเห็นได้ทั่วไป สำหรับในชนบทเมื่อมีผู้บวชเป็นสามเณร พระผู้ปกครองจะจัดให้ได้เล่าเรียนปริยัติธรรมขั้นต้น แล้วหาทางส่งเข้ามาศึกษาเล่าเรียนต่อในตัวเมืองหรือในเมืองหลวง สำหรับตัวพระภิกษุสามเณรผู้เล่าเรียนเอง ก็มักเป็นผู้ใฝ่ใจดิ้นรนขวนขวายพยายามหาทางเล่าเรียนวิชาการทุกอย่าง ที่ตนมีโอกาสจะเล่าเรียนได้ ปัญหาทางการศึกษาของคณะสงฆ์ขณะนี้ คงมีแต่เพียงว่าทำอย่างไรจะมีบริการให้การศึกษาพอเพียง และทำอย่างไรจะดำเนินการศึกษาให้ได้ผลดีเท่านั้น ปัญหาเรื่องจะไม่มีผู้เรียนนั้น เป็นอันไม่มี

การจัดการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ดี หรือการศึกษาปริยัติธรรมแผนใหม่แบบอื่นๆ ที่มีวิชาการทั่วไปประกอบก็ดีไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นการนำหลักการเดิมมาดำเนินการในรูปใหม่เท่านั้น เพราะในสมัยโบราณ วัดต่างๆ ก็ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว โดยสอนให้ทั้งวิชาการทางโลกเท่าที่มีให้ศึกษากันในสมัยนั้น เช่น ภาษาไทย เลขคณิต ศิลปกรรม เป็นต้น และวิชาทางบาลีธรรมด้วย ต่างแต่ว่าในสมัยปัจจุบันได้นำมาจัดตั้งเป็นองค์การ มีระบบการดำเนินงานรัดกุมยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง วิธีการเช่นนี้เป็นการเหมาะสมสำหรับสภาพการณ์ของสังคมและของคณะสงฆ์ในสมัยปัจจุบัน เพราะการเรียนวิชาการทั่วไปประกอบ ก็คือการทำความรู้จักมนุษย์ในสมัยปัจจุบัน เรียนรู้ความเป็นอยู่ ความรู้สึกและสติปัญญาของเขา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับตนเอง ในการเข้าใจธรรม และในการเข้าไปสัมพันธ์กับชาวโลกอย่างได้ผล

ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของการดำเนินการศึกษาของคณะสงฆ์ คือใช้ทุนน้อย ข้อนี้เห็นได้จากงบประมาณในการดำเนินงานด้านปริยัติธรรม ทั้งนักธรรมและบาลี ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดินปีละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมกับเงินศาสนสมบัติกลางอีกปีละประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่ให้การศึกษาแก่ภิกษุสามเณรถึง ๑๖๙,๖๗๐ รูป แม้ว่าผลที่ได้จากการลงทุนน้อยเช่นนี้ อาจจะไม่จุใจของผู้ที่มองเฉพาะในแง่ผลได้ แต่ก็น่าจะมองเห็นว่าคุ้มค่า เพราะผลได้คงไม่น้อยกว่าการลงทุนของรัฐ ปีละประมาณ ๔๖ ล้านบาท เพื่อเป็นค่าอาหารและเครื่องนุ่งห่มของนักโทษในคุกประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน กับผู้ต้องขังจรอีกจำนวนหนึ่งเป็นแน่ มองให้แคบเข้ามาอีก ขอให้นึกถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ เช่น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีทุนดำเนินงานประจำปีซึ่งได้รับอุปถัมภ์จากงบประมาณแผ่นดิน ศาสนสมบัติกลาง และ องค์การเอกชน เช่น มูลนิธิอาเซีย เป็นต้น รวมกันประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ บาท (หกแสนบาท)9 เงินจำนวนนี้ต้องใช้ในการดำเนินกิจการทุกด้าน คือให้การศึกษาแก่ภิกษุสามเณรในแผนกต่างๆ ๕ แผนก จำนวนประมาณ ๑,๑๐๐ รูป และดำเนินงานเผยแผ่ เช่น โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งมีนักเรียนประมาณ ๑,๔๐๐ คน เป็นต้น

การดำเนินการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ด้วยทุนที่น้อยกว่าโรงเรียนมัธยมเล็กๆ แห่งหนึ่งเช่นนี้ ในความรู้สึกของคนทั่วไป น่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่ในเมื่อทำอยู่แล้วและทำได้จริงก็อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้ไม่รู้ข้อเท็จจริง จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่าทำได้อย่างไร

มหาวิทยาลัยสงฆ์ ใช้ทุนส่วนใหญ่ในการจัดหาอุปกรณ์การศึกษา เครื่องใช้สอยทั่วไป เงินเดือนและค่าสมนาคุณแก่อาจารย์ฆราวาส ซึ่งทำการสอนด้วยศรัทธาและรับค่าตอบแทนในอัตราต่ำกว่าปกติ ส่วนครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ที่เป็นพระภิกษุนั้น ไม่มีเงินเดือน แต่ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์จัดนิตยภัตถวาย ระหว่างรูปละ ๒๕๐ บาท ถึง ๔๐๐ บาทต่อเดือน เพื่อเป็นค่าภัตตาหารและค่าพาหนะในคราวจำเป็น (นิตยภัตไม่ใช่เงินเดือนเพราะไม่ได้จ่ายให้ตามปริมาณงาน ไม่มีการเพิ่มหรือขึ้นให้ตามอายุการปฏิบัติงาน ไม่มีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงและไม่มีรางวัลการปฏิบัติงานเกินเวลา) ภิกษุเจ้าหน้าที่ที่เอาใจใส่ในการปฏิบัติงาน จะทำงานเฉลี่ยวันละ ๘-๑๒ ชั่วโมง (ไม่นับกิจวัตรหรือหน้าที่ที่วัดของตนเองด้วย) หยุดงานเฉพาะวันพระ (ซึ่งอาจไม่หยุดถ้ามีงานรีบด่วน) ต้องทำงานหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน ไม่นับกิจการพิเศษที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว

จริงอยู่ การทำงานหนักและหลายด้านในเวลาเดียวกันอาจผิดหลักการทำงานไปบ้าง เพราะอาจทำให้การปฏิบัติงานด้านใดด้านหนึ่งไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร แต่เป็นสิ่งที่จำต้องทำในเมื่อมีเจ้าหน้าที่และทุนจำกัด และยังเป็นเครื่องแสดงว่าการทำงานด้วยศรัทธาเป็นสิ่งที่เป็นไปได้อยู่ และทำได้จริงด้วย สำหรับฆราวาส ถึงแม้จะไม่อาจปฏิบัติถึงเช่นนี้ได้ เพราะความเป็นอยู่ต่างจากพระ มีความผูกรัดในเรื่องการครองชีพมาก ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนและครอบครัว ต้องคิดถึงตนเองเป็นเรื่องสำคัญก่อน แต่ควรเป็นเครื่องเตือนสติให้ผู้ปฏิบัติงานรู้จักขอบเขตความสำคัญของเงินว่า ผลสำเร็จของงานเท่านั้นที่เป็นจุดหมายของการทำงาน เงินเป็นเพียงอุปกรณ์ คือ เครื่องช่วยเหลือให้ผู้ทำงานสามารถมีชีวิตส่วนตัวที่เป็นสุข มีความเป็นอยู่สะดวกสบายพอสมควร และไม่มีข้อวิตกกังวลในเรื่องการครองชีพ ซึ่งจะช่วยให้ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้โดยสมบูรณ์ จนถึงผลสำเร็จของงานได้ เงินอาจเป็นเครื่องกระตุ้นในการทำงานได้ แต่ไม่ควรให้ถึงเป็นจุดหมายของการทำงาน

หลักธรรมกับการทำงาน

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของสังคม น่าจะได้แก่ความรู้สึกของคนในการทำงาน คนจำนวนไม่น้อย แทนที่จะคิดว่าจุดมุ่งหมายของงานคือความสำเร็จของงาน กลับรู้สึกไปว่าเงินเป็นจุดมุ่งหมายของการทำงาน ผลสำเร็จของงานเป็นเพียงเครื่องประกอบเพื่อให้ได้เงินเท่านั้น ทำให้เกิดความยึดมั่นในอามิสมากเกินไป มักทำงานพอให้เสร็จ หรือให้เข้าใจว่าสำเร็จ หรือถ่วงความสำเร็จไว้ ในเมื่อการถ่วงนั้น จะเป็นเหตุให้ตนได้เงินมากขึ้น จึงก่อให้เกิดผลเสียหายแก่สังคมเป็นอย่างมาก ความรู้สึกอย่างนี้ อาจเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์บังคับ แต่ที่สำคัญนั้น เป็นเพราะการอบรมสร้างทัศนคติกันมาผิดๆ รวมถึงความเข้าใจผิดในหลักธรรมด้วย ซึ่งจะต้องแก้ไขที่สาเหตุ

มองจากแง่หลักธรรม การขาดสันโดษในความเป็นอยู่และขาดอิทธิบาทในการปฏิบัติงาน เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ทำให้การปฏิบัติงานบกพร่องย่อหย่อน และทำให้การเร่งรัดความเจริญของประเทศ ไม่เกิดผลสำเร็จในปริมาณงานและในระยะเวลารวดเร็วเท่าที่ควร

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ประชาชนบางกลุ่มในบางท้องถิ่นซึ่งยังมีฐานะทางการเงินต่ำ รายได้น้อย แต่ชอบเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย และชอบประกวดประชันความมั่งมีกัน เมื่อมีสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยจากเมืองหลวงเข้าไปใหม่ๆ จะพยายามหาซื้อมาใช้ แม้ด้วยการกู้หนี้ยืมสินเขามา เพียงเพื่อมาอวดและแข่งฐานะกัน ไม่คำนึงถึงฐานะการเงินของตนหรือประโยชน์และความจำเป็นของสิ่งของเป็นสำคัญ ไม่มีการอดกลั้นและบังคับจิตใจของตนเอง ทำให้เกิดปัญหาทางการเงินในครอบครัว และเป็นปัญหาเศรษฐกิจของสังคม ด้วยความไม่สันโดษในกรณีเช่นนี้ อย่างน้อยก็ทำให้ขาดความอดทน ในการรอคอยผลสำเร็จที่เกิดจากกำลังงานของตน ขาดความคิดที่จะฟื้นฟูฐานะด้วยความเพียรของตน มักเป็นหนี้สิน และหากอยู่ในขั้นรุนแรง ขาดความยั้งคิด อาจถึงทำความผิดที่ร้ายแรง เช่น การปล้นสะดมก็ได้

คนทำงานบางพวก มีรายได้ไม่มากนัก แต่ขาดสันโดษ ชอบใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย หรูหรา ตั้งจุดหมายชีวิตไว้เพียงแค่การหาทางบำเรอความสุขสำราญแก่ตนเอง เที่ยวเตร่ เข้าไนท์คลับ สังคมจัด เป็นอยู่เกินฐานะ ชอบเป็นหนี้สิน อย่างน้อยก็ทำให้ความคิดเหินห่างจากงาน ขาดความใส่ใจในหน้าที่ ไม่คิดปรับปรุงงานและฐานะของตนเอง เป็นเหตุให้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องย่อหย่อน หรืออย่างร้ายแรงถึงทำการทุจริตต่อหน้าที่

ส่วนการปฏิบัติงานที่ถูกต้องตามหลักธรรมก็คือ ความเป็นผู้มักน้อยสันโดษในความเป็นอยู่ตามฐานะ สามารถปรับตัวให้มีความสุขได้ในฐานะนั้นๆ มีความยั้งคิดอดกลั้นในด้านการใช้จ่าย ไม่เลื่อนฐานะความเป็นอยู่ ก่อนที่จะเลื่อนฐานะการปฏิบัติหน้าที่การงานของตน มีความรักและมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ และพิจารณาหาทางปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไป ซึ่งเรียกตามหลักธรรมว่ามีอิทธิบาท

ในสังคมประชาธิปไตย ผู้นำที่ได้รับการเคารพและยกย่องสรรเสริญจากประชาชนทุกคน เป็นผู้ที่มักน้อยสันโดษในความเป็นอยู่ และมีอิทธิบาทในการปฏิบัติงานและหน้าที่ของตนทั้งสิ้น

พระสงฆ์ในความหมายของพระพุทธเจ้า ย่อมจะต้องเป็นผู้ที่สละความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย มีชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ในความหมายของสันโดษ เป็นผู้รักและมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ในความหมายของอิทธิบาท เป็นตัวอย่างของผู้ที่ได้รับความสุขพร้อมทั้งความสำเร็จ ข้อควรระวังสำหรับผู้ปฏิบัติตามตัวอย่างอยู่ที่ต้องกำหนดให้ถูกต้องว่า ฐานะของตนควรทำได้แค่ไหน อะไรเป็นหน้าที่ อะไรเป็นผลสำเร็จที่เป็นจุดหมายแห่งหน้าที่ของตน

1หมายเหตุ:
พิมพ์ครั้งแรก สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับพุทธศาสนากับสังคมไทย ปีที่ ๖ (ฉบับพิเศษ ๔) ๒๕๐๙.
พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปรัชญาการศึกษาไทย สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ๒๕๑๘.
พิมพ์ครั้งที่ ๓ สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ๒๕๒๗.
2ดู วินัยปิฎก มหาขันธกะ พระไตรปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๓๒ หน้า ๓๙
3ดู อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต, พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๔๘ หน้า ๙๒
4พหุการสูตร ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๘๗ หน้า ๓๑๔
5บางทีเรียกว่า สิคาโลวาทสูตร, ดู ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ ข้อ ๒๐๔ หน้า ๒๐๕
6ดู วินัยปิฎก จุลวรรค กัมมขันธกะ พระไตรปิฎก เล่ม ๖ ข้อ ๑๕๙ หน้า ๖๘
7เรียกว่า ปัตตนิกกุชชนา ดู วินัยปิฎก จุลวรรค ขุททกวัตถุขันธกะ พระไตรปิฎก เล่ม ๗ ข้อ ๑๑๓ หน้า ๔๒
8ตัวอาคารเรียนเดิมเรียกว่า สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย คือ หอสมุดแห่งชาติ ตรงข้ามทุ่งพระเมรุ ปัจจุบัน
9เทียบงบประมาณประจำปีมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีนักศึกษา ๓๘๓ คน ปีละ ๗,๓๔๕,๘๐๐ บาท
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.