สถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

โดยความรับผิดชอบ เมื่อติเตียนพระเณร
ก็อย่าลืมติเตียนตนเองด้วย

มีข้อคิดบางอย่างที่ควรแทรกไว้ที่นี่

อย่างที่หนึ่งคือ การตำหนิติเตียนว่าพระเณรสมัยปัจจุบันไม่เอาใจใส่เล่าเรียนธรรมวินัย ซึ่งเป็นเสียงที่หนาหูขึ้นขณะนี้ และก็ตรงกับข้อเท็จจริงด้วย ข้อคิดก็คือการตำหนิติเตียนนั้นควรทำบ้าง เพื่อให้พระเณรในฐานะบุคคลได้ตระหนักในความรับผิดชอบส่วนตัว

แต่ในเวลาเดียวกัน อย่าลืมให้ความเป็นธรรมแก่พระเณรเหล่านั้นด้วย แม้จะติเตียน ก็ควรทำด้วยความเข้าใจ พึงกำหนดเหตุปัจจัยอย่างที่กล่าวมาแล้วไว้ในใจ เผื่อแผ่ความรับผิดชอบไปให้ทั่วถึง และถ้าผู้ติเตียนเป็นคนไทย โดยเฉพาะเป็นพุทธศาสนิก ก็อย่าลืมสำรวจและติเตียนตนเองด้วย

เรื่องพระสึก จะกันจะแก้หรือไม่ อย่างไร?

อีกอย่างหนึ่ง คือทัศนคติของรัฐ ของคณะสงฆ์ ของสังคมส่วนที่คลาดเคลื่อน และของปัญญาชนบางส่วน เกี่ยวกับการสึกของพระ และวิธีที่จะไม่ให้พระสึก สถาบันและกลุ่มชนเหล่านี้ มักมีความรู้สึกกันอยู่ทั่วๆ ไปในแง่ที่กลัวว่าพระเณรได้เล่าเรียนวิชาความรู้อื่นเพิ่มนอกเหนือจากธรรมวินัยแล้ว จะพากันสึกเสียหมด และรู้สึกต่อไปอีกว่า ไม่ควรให้พระเณรเรียนวิชาการต่างๆ นอกจากธรรมวินัย (“ธรรมวินัย” ในความเข้าใจของท่านเหล่านี้ น่าจะเรียกว่าตำราวัด หรืออะไรทำนองนั้น) ตลอดถึงว่าไม่ควรรับรองระดับความรู้ให้ เพื่อจะได้เป็นการป้องกันไม่ให้พระสึก

ทัศนคติเช่นนี้ ถ้าตั้งใจเป็นอุเบกขา แล้วใช้โยนิโสมนสิการพิจารณาจากพื้นฐานความเข้าใจในสภาพความเป็นจริง จะเห็นว่าเป็นทัศนคติที่ผิวเผินเลื่อนลอย ขาดฐานแห่งความคิดที่มั่นคง จนถึงกับเป็นทัศนคติที่แปลกประหลาดเหลือเชื่อ

ฐานแห่งความคิดที่ควรใช้พิจารณาทัศนคติเหล่านั้น มีตัวอย่าง ดังนี้

๑. ทัศนคติเหล่านี้ ขาดฐานคือความเข้าใจสภาพความจริง หรือเกิดจากการไม่รับรู้สภาพความจริงโดยตรง ทั้งสภาพการบวชและสภาพการสึก คือไม่ตระหนักถึงความจริงที่ว่า พระเณรส่วนใหญ่ คือลูกชาวบ้านซึ่งเข้ามาบวชด้วยความมุ่งหมายทางการศึกษา โดยถือว่าสถาบันสงฆ์เป็นสถาบันการศึกษา ไม่ได้ตั้งจุดหมายสูงสุดในพระศาสนามาแต่ต้น และเมื่อบวชแล้ว ส่วนใหญ่ก็ได้สึกอยู่แล้ว และจะต้องสึกอย่างนี้ต่อไปอีก อย่างแน่นอน

ในเมื่อสภาพการบวชยังเป็นอยู่เช่นนี้ เจ้าของทัศนคติเหล่านี้ เพ่งมองแค่ผู้ที่เรียนวิชาการอย่างระบบปัจจุบันอย่างเดียว จึงเห็นการสึกของผู้เรียนในระบบนี้ ไม่ได้มองผู้เรียนในระบบเดิม ซึ่งก็สึกเช่นเดียวกัน และถ้ามองก็มักมองในชั้นเรียนที่สูงขึ้นไป ลืมมองในชั้นที่ต่ำลงมา และที่ไม่ได้เรียน ซึ่งสึกกันอยู่อย่างมากมายไม่เว้นเวลาในหน้าแล้ง

๒. ความคิดที่จะป้องกันการสึกและหาวิธีป้องกันสึกนั้น เกิดจากความปรารถนาดีว่าจะช่วยดำรงและสืบต่อพระศาสนา แต่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าความคิดนั้นสมด้วยเหตุผลหรือไม่ และจะให้เกิดผลสำเร็จตามต้องการได้หรือไม่

- การจะไม่ให้สึก เป็นไปไม่ได้ และไม่มีทางสำเร็จ ในเมื่อสภาพการบวชยังเป็นอยู่เช่นนี้ ถ้าต้องการไม่ให้สึกอย่างจริงจัง ต้องแก้ที่ประเพณีการบวช

- การกันไม่ให้สึก เป็นผลร้ายมากกว่าดี เพราะผู้ที่อยากจะสึก หรือควรจะสึก แล้วไม่ได้สึก ใจไม่อยู่ในเพศและภาวะของตน จะดิ้นรนทำความเสื่อมเสียแก่ตน แก่สถาบัน และแก่สังคมอย่างมากมาย

- การกันสึกด้วยวิธีบีบคั้นไม่ให้การศึกษา หรือศึกษาแล้วปิดทางให้เอาไปใช้ไม่ได้ เป็นวิธีการที่เลวร้ายที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะเป็นการทำลายทั้งบุคคล ทั้งพระศาสนา และสังคม ทำให้พระศาสนามากด้วยคนขาดคุณสมบัติ ไม่มีความสามารถ ทำให้คนจำนวนมากอยู่ในพระศาสนาด้วยความจำใจ เพราะไม่มีทางไป ประพฤติผิดเพศภาวะเพราะอยู่แต่ตัว ใจไม่อยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่กำลังเริ่มแสดงผล และจะนำความเสื่อมโทรมมาสู่พระศาสนาอย่างร้ายแรง

นอกจากนั้น ยังทำให้ขาดประโยชน์แก่รัฐและสังคม เพราะคนที่เข้ามา เสียเวลาศึกษาอยู่ยาวนาน กลับออกไปแล้ว ไม่สามารถทำงานเป็นประโยชน์ได้เท่าที่ควร

- การกันสึกหรือป้องกันสึก ไม่ควรให้มีความหมายเป็นการกีดกั้นบีบคั้นหรือปิดหนทางอย่างที่ชอบคิดกัน แต่ควรให้หมายถึงการช่วยกันหาวิธีชักจูงกล่อมเกลาให้พระเณรมีจิตศรัทธาแนบแน่นในพระศาสนา ปรารถนาจะดำรงเพศต่อไปด้วยความพอใจ

ถ้าหันมาคิดมาทำกันอย่างนี้ จะดีกว่ามัวมากลัวและกันกันอยู่ เช่น ในด้านการศึกษา ก็จะได้หาทางทำหลักสูตรและเนื้อหาวิชาที่ฝึกอบรมจิตใจให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เป็นต้น

- ปัญหาปัจจุบัน น่าจะไม่ใช่เป็นเรื่องพระสึก แต่เป็นเรื่องพระไม่สึกมากกว่า ควรหันมาสนใจในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ผู้ที่ควรสึก ได้สึกไปเสีย อย่างนี้จะดีกว่า ระบบคัด(เลือก)คนเข้า เราก็ไม่มีอยู่แล้ว ระบบคัดคนไว้ ก็กำลังจะสูญเสียไป แล้วยังจะไม่มีระบบคัด(ไล่)คนออกอีก จะยิ่งเกิดความเสียหายซ้ำหนัก

ควรหันมาใส่ใจเรื่องวิธีระบายคนออก หรือจะให้ดียิ่งกว่านั้น ก็ให้ถึงขั้นวิธีคัดคนไว้และระบายคนออก อย่างนี้จะได้ผลดีเป็นชิ้นเป็นอัน ดีกว่าจะมัวกลัวสึกและกันสึกกันอยู่

วิชาการอะไร ที่พระควรเรียนหรือไม่

๓. ความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาการที่พระควรเรียน ไม่ควรเรียน วิชาการสมัยใหม่ วิชาการทางพระศาสนา วิชาปริยัติธรรม ตลอดจนดิรัจฉานวิชา โดยทั่วไปยังเป็นความเข้าใจที่พร่ามัว ว่าตามๆ กันไปอย่างนั้นเอง พอจะคั้นหาความแน่นอน ก็มักไม่มีหลักเกณฑ์

เท่าที่พิจารณาดูโดยทั่วไป ความเข้าใจที่นำมาพูดกันส่วนมาก เป็นเรื่องของความติดในรูปแบบ มากกว่าจะเข้าถึง สาระที่แท้จริง

รู้จักดิรัจฉานวิชา รู้ความเจริญของศาสนศึกษา

ตัวอย่างสำหรับคนที่มีความเข้าใจอย่างนี้ เช่น ประวัติศาสตร์ที่มาในคัมภีร์ ทีปวงส์ จามเทวีวงส์ ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น ก็จัดเข้าในปริยัติธรรมได้ แต่ประวัติศาสตร์ประเทศลังกา ประวัติศาสตร์ประเทศพม่า ที่เป็นตำราฝรั่ง แม้จะบันทึกความเป็นมาของพระพุทธศาสนาไว้มากมาย ก็ต้องเป็นดิรัจฉานวิชา

การคำนวณที่มาในคัมภีร์สังขยาปกาสกฎีกา และวชิรสารัตถสังคหะ เป็นปริยัติธรรมได้ แต่ตำราคณิตศาสตร์ปัจจุบัน ก็จำใจเข้าพวกดิรัจฉานวิชา

ประพันธศาสตร์ในคัมภีร์สุโพธาลังการ เป็นปริยัติธรรมได้ แต่ตำราฉันทลักษณ์ภาษาต่างประเทศปัจจุบัน ต้องเป็นดิรัจฉานวิชา

พจนานุกรมภาษาบาลี ซึ่งประมวลศัพท์ทุกประเภทแม้ในโลกวิสัย เป็นปริยัติธรรมได้ แต่พจนานุกรมภาษาต่างประเทศปัจจุบัน ซึ่งมีศัพท์เกี่ยวกับหลักศาสนธรรมและสถาบันศาสนามากมาย ก็เป็นเพียงติรัจฉานวิชา

ลิลิตตะเลงพ่ายที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนิพนธ์ไว้ พอจะเข้าพวกผลงานในพระศาสนาได้ แต่วรรณคดีสุภาษิตของชาติอื่น ก็คงเป็นแค่ดิรัจฉานวิชา

ถ้าเอาทีปวงส์และสุโพธาลังการเป็นต้นไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศ โดยไม่ให้รู้ตัว คัมภีร์ทั้งสองนั้นก็คงกลายเป็นดิรัจฉานวิชาไป

การทำลายความติดในรูปแบบ เป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่ง แต่ถ้าจะทำอะไรให้จริงจัง ก็ควรพยายามคิดกันให้จริงจัง จะได้เข้าถึงสาระกันบ้าง

การติดในรูปแบบเกี่ยวกับวิชาการนี้ เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการรับแบบอย่างตะวันตกนั่นเอง เพราะการปรับตัวไม่พร้อม จึงทำให้เกิดการถือแบ่งแยกขึ้น

ตามความเข้าใจแบบนี้ วิชาการอะไรที่นำมาแสดงออกมีรูปลักษณ์เข้าแนวของตะวันตก หรือตามแบบอย่างที่มีภายหลังติดต่อรับอารยธรรมตะวันตกแล้ว ก็เป็นอันถูกจัดเข้าเป็นวิชาการสมัยใหม่ และเป็นดิรัจฉานวิชาไปหมด

ในที่นี้จะยังไม่วิจารณ์เรื่องนี้ยืดยาว แต่ควรสังเกตความหมายคำว่า “ดิรัจฉานวิชา” ที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์บ้าง

ตามที่ท่านแสดงไว้ ดิรัจฉานวิชา หมายถึง วิชาภายนอกที่ไร้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง มีอธิบายว่า หมายถึงวิชาสำหรับทำการเบียดเบียนเข่นฆ่าผู้อื่น เช่น ศิลปการช้าง ม้า รถ ธนู อาวุธด้าม วิชาอาถรรพณ์ วิชาสะกด การทำยาสั่ง และตัวอย่างในทีฆนิกาย (รวมวิชาหากิน) ได้แก่ วิชาหมอ และหมอดู การทำนายทายทัก ทำพิธีไสยศาสตร์ต่างๆ1

- ความจริง วิชาการที่พระเณรควรเรียนก็มี ไม่ควรเรียนก็มี ทั้งนี้เหมือนกัน ทั้งวิชาที่เรียกว่าเก่า และวิชาที่เรียกว่าใหม่ (วิชาใหม่ก็อันเดียวกันและเจริญสืบต่อจากวิชาเก่านั้นเอง และมักจะอยู่ในรูปที่บริสุทธิ์กว่าด้วยซ้ำ)

วิชาใหม่ที่ไม่ควรเรียนก็หลายอย่าง แต่การวินิจฉัยว่าควรเรียนหรือไม่ ไม่ควรตั้งอยู่บนฐานความคิดว่าเพราะจะเป็นเหตุให้พระสึก แต่ควรเป็นไปโดยเหตุผลที่เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ การประพฤติปฏิบัติและประโยชน์ทางพระศาสนาโดยตรง เช่นว่า วิชาการนั้น เรียนแล้วจะช่วยเสริมความเข้าใจธรรมให้ง่ายและเร็วขึ้นหรือไม่ เรื่องนั้นเรียนรู้แล้ว ทำให้ซาบซึ้งในศาสนคุณมากขึ้นหรือไม่ วิชานี้พระเรียนแล้ว ช่วยในการบำเพ็ญศาสนกิจให้ได้ผลดีขึ้นหรือไม่ วิชานี้มีประโยชน์ แต่เมื่อเรียนจะเหมาะสมกับสมณภาวะหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น

ศาสนศึกษาในประเทศไทยได้เสื่อมโทรมลงมาตลอดเวลา ๕๐๐ ปี แม้จะมีการพยายามฟื้นฟูขึ้นเป็นคราวๆ เท่าที่มีหลักฐาน ก็ไม่ปรากฏว่าได้เจริญขึ้นสู่ระดับที่มีแต่ก่อนนั้นอีกเลย

คราวสุดท้ายที่มีการพยายามฟื้นฟู คือเมื่อประมาณ ๗๐ ปีมาแล้ว แต่หลังจากนั้นก็กลับเสื่อมทรุดลงไปอีก

คัมภีร์พุทธศาสนาที่พระเถระรุ่นเก่ารจนาไว้เมื่อก่อน ๕๐๐ ปีโน้น มีทั้งที่เป็นคำสอนในพระศาสนาโดยตรง และที่แสดงวิชาการอันเสริมสุตะไม่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อย่างเช่น คัมภีร์โลกทีปสารของพระเมธังกร จักรวาฬทีปนี ของพระสิริมังคลาจารย์ ปัญจคตินิทาน ตลอดถึง เตภูมิกถา ก็คือ ตำราดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และสังคมวิทยานั่นเอง

บางท่าน อย่างพระอัตถทัสสีเถระไปไกลถึงกับรวบรวมตำรายา เรียกว่าเภสัชชมัญชุสา พระเถระในอาณาจักรศรีเกษตร ได้รับอาราธนาจากพระมหากษัตริย์ให้รจนาธรรมศาสตร์ คือตำรากฎหมายให้หลวงด้วยซ้ำ

เมื่อพระสงฆ์ใฝ่ใจในศาสนศึกษากันมากจนล้นไปถึงวิชาอื่นๆ ที่เป็นบริวารด้วยเช่นนี้ พระสงฆ์ก็เป็นผู้ทรงภูมิปัญญา อยู่ภายในกรอบความประพฤติที่ดีงามด้วย วิทยาการต่างๆ ก็เจริญด้วย และสามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคง เป็นรากฐานให้ผู้เกิดมารุ่นหลังเสวยผลบุญเก่าอยู่ได้ในปัจจุบัน

ครั้นมาถึงสมัยของพระสงฆ์รุ่นหลังอย่างในปัจจุบันนี้ ไม่เคยรู้จักความเจริญของศาสนศึกษาในปางก่อน ไม่เคยเห็นคัมภีร์ที่รจนาในครั้งก่อนนั้น ที่สุดแม้ชื่อคัมภีร์ก็ไม่เคยได้ยิน จึงคิดเอาแคบๆ ตามที่ตนรู้สึกว่า วิชาการอย่างที่ตนไม่รู้ไม่เห็น เป็นดิรัจฉานวิชา เท่ากับว่าได้จ้วงจาบกล่าวหาพระคัมภีร์ที่พระโบราณาจารย์เหล่านั้นรจนาไว้ว่าเป็นดิรัจฉานวิชาไปด้วย แล้วปิดทางเจริญแห่งวิชาการเสียทั้งหมด

ครั้นพวกที่เกิดตามภายหลังต่อมาอีก เกิดความสงสัยขัดแย้งขึ้น จึงแบ่งแยกกันเป็นรุ่นเก่ารุ่นใหม่ โดยที่แท้ สองพวกนี้ ก็ร่วมสมัยเดียวกันอันแสนสั้น มิใช่มีผู้เก่าอะไรจริงเลย

อนึ่ง ว่าถึงความเจริญแห่งวิทยาการทั้งหลาย ระหว่างไทยกับประเทศตะวันตก เมื่อ ๕oo ปีมาแล้ว หาได้ห่างกันไม่ และฝ่ายไทยมีช่องทางน่าจะไปดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะคติศาสนาไม่ขัดขวางความคิดเห็นที่แปลกออกไป แต่เพราะมาเสื่อมทรุดเสียในระหว่าง ด้วยมัวเพลิดเพลินกับกิจกรรมสนุกสนาน และไม่ถูกบีบคั้นให้ขวนขวายเร่งรัดตัว ทั้งถูกปิดทางด้วยความติดรูปแบบในทางวิชาการซ้ำเข้าอีก จึงสิ้นทางไป

ว่าที่จริง การวินิจฉัยวิชาใดว่าพระเณรควรเรียนหรือไม่นั้น ควรพิจารณาเนื้อหา ท่วงทีการแสดง ประโยชน์ที่นำมาใช้ และวิธีการแสดงเป็นสำคัญ เมื่อมิใช่เป็นดิรัจฉานวิชาตามความหมายที่กล่าวข้างต้นแล้ว อยู่ในวิสัยและเป็นไปตามแนวทางของสมณะ ย่อมเกื้อกูลแก่พระศาสนาได้

พระโบราณาจารย์ท่านน่าจะได้คำนึงโดยเหตุผลว่า วิชาการใดก็ตาม ที่เป็นแต่หลักความรู้บริสุทธิ์ล้วนๆ อันจะช่วยให้เจริญปัญญาในการเข้าใจสภาวะของโลกและชีวิต เป็นอุปกรณ์สำหรับพระสงฆ์ที่จะอธิบายหรือใช้เป็นสื่อถ่ายทอดคำสอนแก่ประชาชน เพื่อให้หมู่มนุษย์มีศีลธรรมดีขึ้น ประสบประโยชน์สุขมากขึ้น โดยวิถีทางแห่งคุณธรรมและโดยอาการถ่ายทอดที่มีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน วิชาการนั้น ท่านพึงเล่าเรียนสั่งสอน และไม่เว้นที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์

แต่เพราะภายหลังมาปิดทางการศึกษาวิชาการเหล่านี้กัน มิใช่หรือ วงการศึกษาและสั่งสอนพระพุทธศาสนาจึงพลอยจำกัดตัวแคบลงไปด้วย เพราะระแวงระวังวิชาที่เข้าใจเอาเองว่าเป็นดิรัจฉานวิชาเหล่านี้ มิใช่หรือ ดิรัจฉานวิชาตัวจริงจึงงอกงามสะพรั่งขึ้นมาแทนที่

และยิ่งกว่านั้น เพราะปิดกั้นการศึกษาสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นดิรัจฉานวิชาเหล่านี้ มิใช่หรือ พระเณรจำนวนมากจึงถูกผลักดันและชักล่อให้เบี่ยงเบนหันเหไปหมกมุ่นในสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าดิรัจฉานวิชาด้วยซ้ำ

จริงอยู่ เมื่อพระเณรเรียนวิชาความรู้ต่างๆ เหล่านี้ จะมีปัญหาบางอย่างเกิดตามมาได้ ซึ่งชวนให้เข้าใจว่าเป็นความเสียหายเกิดจากการเล่าเรียนอย่างนั้น แต่ที่เข้าใจเช่นนั้น ก็เพราะเป็นการมองอย่างผิวเผินเคลือบคลุม ขาดการแยกแยะวิเคราะห์ปัญหา

ความจริงแล้ว ปัญหานั้นย่อมเกิดจากเหตุปัจจัยอื่นที่พ่วงอยู่ ซึ่งจะต้องกำหนดรู้ แยกออก และแก้ให้ตรงเรื่องกัน

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนานั้น

บางสมัย พระสงฆ์ก็ขลุกขลุ่ยอยู่กับตำราและคัมภีร์ จนลืมหน้าที่สามัญและความสัมพันธ์กับประชาชน กลายเป็นนักทฤษฎีตีวาทะอย่างพวกเจ้าลัทธิปรัชญาไป

บางสมัย ก็ใกล้ชิดกับประชาชนเกินขอบเขต จนกลายเป็นคลุกคลี เหินห่างหน้าที่ในการศึกษาปฏิบัติ ชักพาประชาชนบ้าง ถูกประชาชนชักจูงบ้าง ให้ไขว้เขวหย่อนยานกันไป จนเลยออกนอกลู่ทาง ทำให้จุดอ่อนและช่องโหว่แห่งความเสื่อมโทรมเกิดขึ้นแก่พระศาสนา

แต่สมัยใด พระสงฆ์ทำหน้าที่ในทางการศึกษาปฏิบัติ และหน้าที่ในด้านความสัมพันธ์กับประชาชน ได้สัดส่วนพอดี พระศาสนาก็เจริญมั่นคง ทั้งในแง่ของตัวพระศาสนาเอง และในแง่ของประโยชน์สุขของประชาชน

พระพุทธศาสนายุคหลังในประเทศไทยนี้ ดูจะเข้าสู่สภาพที่ขาดสมดุลมาเป็นเวลานานพอสมควร ถ้าเห็นกันว่าถึงเวลาที่ควรดึงเข้าที่แล้ว ก็น่าจะยังไม่ถึงกับไปไกลเกินดึง

ทัศนคติกลัวพระเรียนแล้วสึกนี้ มีในหมู่ท่านผู้มีความหวังดีต่อพระศาสนาและสถาบันสงฆ์เป็นอย่างมากด้วย จึงควรจะเตือนกันว่า ความหวังดีเป็นสิ่งที่ดี แต่การแสดงความหวังดี ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดผลดีเสมอไป

การแสดงความหวังดีที่ผิวเผิน ทำโดยคิดเอาเองง่ายๆ แสดงออกมาง่ายๆ ตามที่สักว่า “รู้สึก” ไม่ได้ศึกษาให้ “รู้” เข้าใจความจริงโดยรอบคอบ และไม่สืบสาวหาข้อเท็จจริงและเหตุปัจจัยต่างๆ ให้ชัดเจน จนมองเห็นลู่ทางประสานรูปสำเร็จที่พร้อมจะเอามาปฏิบัติให้เกิดผลจริงจังขึ้นมาได้ อาจมีค่าเป็นการทำลายไม่น้อยกว่าการกระทำของผู้มุ่งร้าย หรืออาจยิ่งกว่าด้วยซ้ำ เพราะเมื่อคนเขาเห็นว่าหวังดีแล้ว ก็ไม่สะดุดใจ พลอยตกหลุมเห็นคล้อยตามไปได้ง่าย

ความจริง ท่านที่ร่ำร้องแสดงความปรารถนาดี ไม่อยากให้พระเณรเรียนหนังสือ และไม่อยากให้มีขั้นความรู้ เพราะกลัวจะสึกนั้น ถ้าท่านเหล่านี้จะเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามชาวบ้านนอกและชาวนาเอาลูกมาบวชเณร แม้จะเป็นการกระทำที่ข่มเหงกันและดูน่าขำ ก็ยังสมเหตุสมผลกว่าการแสดงความปรารถนาดีอย่างผิวเผินเช่นนี้

1 ดูวินย.๓/๓๒๓/๑๗๗; วินย.อ.๒/๕๕๓; ที.ส.๙/๑๙-๒๕/๑๑-๑๕
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.