จะเห็นว่าศีลอย่างนี้เกี่ยวข้องกับปัจจัย ๔ คือ สิ่งของที่กินที่ใช้ แต่ศีลนั้นก็สำเร็จด้วยปัญญา เราใช้ปัญญามาช่วยฝึกศีล แล้วก็เลยกลายเป็นว่าเราใช้ศีลเป็นแดนฝึกปัญญาไปด้วย แต่ตัวเด่นในกรณีนี้เป็นเรื่องพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งภายนอก จึงเรียกว่า ศีล ไม่เรียกว่า ปัญญา
แต่ในการที่ศีลจะเป็นไปได้นั้น ก็เห็นชัดเลยว่าต้องอาศัยปัญญา ที่รู้จักคิดพิจารณาและกินใช้ด้วยความรู้ความเข้าใจ พร้อมทั้งด้านจิตใจก็มีความตั้งใจและพอใจเป็นต้นตามปัญญานั้น การที่เราเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา จึงไม่ได้แยกออกจากกันเด็ดขาด เป็นแต่เพียงว่า ในตอนนั้นๆ จะเอาตัวไหนเป็นตัวเด่น
ขั้นศีลนี้เป็นการฝึกในชีวิตประจำวัน เกี่ยวข้องกับโลกภายนอก คือเกี่ยวข้องกับวัตถุ และเกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์ เป็นด้านที่ง่ายๆ หรือหยาบหน่อย มองเห็นชัด และในการฝึกด้านนี้เราก็เอาด้านจิตใจคือเรื่องสมาธิ และการคิดพิจารณาด้านปัญญาเข้ามาช่วย จึงเป็นการบูรณาการอยู่ในตัวเลย
จะเห็นว่า ในชีวิตที่เป็นจริงเราไม่สามารถจะไม่บูรณาการ ถ้าเราไม่บูรณาการมันก็ไม่สามารถจะเกิดผลดีขึ้นมาได้ ทั้งหมดนี้ เมื่อมีการศึกษาถูกทางมันก็เป็นไปเอง แค่ฝึกศีลเท่านั้น สมาธิและปัญญาก็มาเอง แต่ต้องใช้ให้เป็น มันจึงเป็นเรื่องของไตรสิกขาที่เป็นไปตลอดเวลา
ทีนี้ มองดูในแง่มรรคก็ชัดว่า วิถีชีวิตที่ดีก็เกิดขึ้น เช่นในการที่เราจะรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานด้วยความเข้าใจถูกต้อง ว่าอ๋อ…ที่จริงคุณค่าและความมุ่งหมายที่แท้ของการกินก็เพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้ชีวิตเป็นอยู่ดี พอเรามองเห็นและเข้าใจอย่างนี้ มันก็เข้าสู่แนวที่เรียกว่าเกิดสัมมาทิฏฐิใช่ไหม นี่คือเป็นมรรคแล้ว นี่แหละมาด้วยกัน
ในเวลาที่เราพิจารณาไป ความเห็นที่ถูกต้องก็ก่อตัวขึ้นมาจากการรู้จักคิดพิจารณาถูกต้อง พอสัมมาทิฏฐิเกิด มันก็จะไปเป็นตัวตั้งต้นให้แก่วิถีชีวิตที่เรียกว่ามรรค ให้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง กระบวนการศึกษาและพัฒนาชีวิตก็ดำเนินไปอย่างนี้ เป็นเรื่องของไตรสิกขากับมรรคมีองค์ ๘ ประสานไปด้วยกัน เราจึงบอกว่าเอาไตรสิกขามาบูรณาการให้เรามีวิถีชีวิตที่เป็นมรรค ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่มีองค์ประกอบ ๘ ประการ เป็นอันว่าการศึกษามีตลอดเวลา