ลักษณะสังคมพุทธ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คุณประโยชน์แห่งธรรม1

 

ขอถวายพระพรแด่สมเด็จบพิตรฯ ขออำนวยพรแด่ท่านผู้มีเกียรติ และสาธุชนทั้งหลาย

อาตมภาพขอร่วมอนุโมทนาต่อการประกอบกุศล ในมงคลสมัยแห่งการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารธรรมสถานครั้งนี้ ธรรมสถานนั้น อาตมภาพขอแปลว่า สถานที่แสวงหาและศึกษาธรรมอย่างหนึ่ง และว่าสถานที่เผยแพร่และแจกจ่ายธรรมอย่างหนึ่ง ในเมื่อธรรมสถานนี้เป็นกิจการส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริการของธรรมสถานทั้งสองอย่างที่กล่าวมานั้น จึงคงจะมุ่งอำนวยให้แก่ชาวมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ

ธรรมะนั้นเป็นสาระสำคัญของความเป็นมนุษย์ ธรรมะทำให้ชีวิตดีงามมีคุณค่า ธรรมะทำให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ได้ด้วยดี ธรรมะจึงจำเป็นสำหรับคนทุกพวกทุกหมู่ มองดูอย่างง่ายๆ แม้แต่มนุษย์ในป่าดงหรือถิ่นห่างไกล ที่เราเรียกว่าคนเถื่อนไร้การศึกษา ถ้าเขามีธรรม เช่น เป็นคนอ่อนโยน ไม่ดุร้าย ใฝ่สงบ มีจิตเอื้อเฟื้อ ชอบช่วยเหลือ ใจซื่อ รู้เหตุผล เป็นต้น ชุมชนของเขา ก็สามารถอยู่ร่วมกันด้วยดี เป็นหมู่ที่งาม มีความสุขได้ ถ้าคนมีการศึกษาในถิ่นเจริญจะเดินทางเข้าไปในถิ่นของคนล้าหลังเหล่านั้น ก็คงประสบการต้อนรับ มีความปลอดภัย ได้รับความสุขสบายใจ คนไร้การศึกษามีธรรม ยังได้รับประโยชน์แก่พวกตน และมีประโยชน์แก่คนพวกอื่นถึงเพียงนี้ ถ้าคนเจริญผู้ได้รับการศึกษาแล้วมีธรรมด้วย ก็จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขได้ยิ่งกว่านั้นอีกมากมาย ในทางตรงข้าม ถึงแม้เป็นคนในถิ่นที่เรียกว่าเจริญมีการศึกษาดีแต่ถ้าขาดธรรม ก็หามีความสงบสุขได้ไม่ แม้แต่คนเถื่อนไร้การศึกษา เข้ามาในถิ่นของคนเจริญที่ขาดธรรม ก็ประสบแต่ความทุกข์ยากเดือดร้อน และกลับออกไปด้วยความชอกช้ำ

คนมีการศึกษาและมีธรรมด้วย จึงจะเป็นประโยชน์แท้จริง ดังนั้น การศึกษาที่ดีจึงต้องมีธรรม แต่ถ้าจะพูดให้ถูกต้องแท้จริงแล้ว ความมีธรรมนั่นแหละคือความมีการศึกษาที่ดี ทั้งนี้เพราะว่า คุณค่าพื้นฐานของการศึกษาอยู่ที่แก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ปัญหาทั้งปวงของมนุษย์รวมอยู่ในคำว่าทุกข์ เมื่อมีทุกข์เร้ารุมใจ แม้จะได้เล่าเรียนวิชาการต่างๆ ไว้เป็นอันมาก แต่ถ้าไม่นึกถึงธรรม ก็แก้ปัญหาในใจของตนเองไม่ได้ สังคมที่ว่าเจริญแล้ว แต่เมื่อขาดธรรม ก็ปรากฏว่ามีความเดือดร้อนวุ่นวายเต็มไปด้วยการเบียดเบียนและความทุกข์ ผู้ได้เล่าเรียนศึกษาแล้วแต่ไร้ธรรม แทนที่จะนำเอาศิลปวิทยาและความชำนิชำนาญจัดเจน ไปใช้ในทางก่อประโยชน์สุข กลับใช้ศิลปวิทยาและความจัดเจนนั้นก่อความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่คนอื่นๆ มากขึ้น เมื่อการศึกษาเป็นเหตุก่อปัญหาเสียเองแล้ว จะถือว่าเป็นการศึกษาที่แท้จริงหาได้ไม่

ส่วนคนที่มีธรรม ย่อมแก้ปัญหากำจัดความทุกข์ภายในของตน ทำจิตใจให้สงบผ่องใส มีความสุขได้ สังคมของคนมีธรรมอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข เมื่อชาวมหาวิทยาลัยดำรงอยู่ในธรรม บรรยากาศภายในสถาบันย่อมเรียบรื่นเกื้อกูลแก่การศึกษาเล่าเรียน และการปฏิบัติกิจหน้าที่ทุกอย่าง ความสัมพันธ์ระหว่างครูอาจารย์กับครูอาจารย์ ระหว่างครูอาจารย์กับนิสิต และระหว่างนิสิตกับนิสิตเป็นต้น ย่อมเป็นไปด้วยเมตตาและไมตรี ทำให้ทุกคนมีความสุขสดชื่น และช่วยให้กิจการทั้งหมดดำเนินไปด้วยดี

ผู้ที่ได้เล่าเรียนสำเร็จมีการศึกษาแล้ว เมื่อเป็นผู้มีธรรม ก็ย่อมนำเอาศิลปวิทยาและความจัดเจนของตนไปปฏิบัติโดยชื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ทำงานสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้สำเร็จสมความมุ่งหมายของวิชาการที่ได้ศึกษา แก้ปัญหาของตนและบำบัดทุกข์ของสังคมได้ การศึกษาที่มีธรรมกำกับจึงนับได้ว่าเป็นการศึกษาที่แท้ คนที่มีทั้งการศึกษา และมีทั้งธรรมะ จึงเรียกได้ว่าผู้มีการศึกษาที่แท้จริง ดังที่พุทธศาสนาเรียกว่า บัณฑิต แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา มีพุทธภาษิตกำกับว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ คือผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และมวลเทพ และบาลีอีกแห่งหนึ่งแปลได้ความว่า เล่าเรียนสำเร็จวิทยา ก็ย่อมหาเกียรติได้ แต่ฝึกอบรมด้วยจริยธรรมแล้วต่างหาก จึงจะสบสันติ

มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์มีวัฒนธรรม มีอารยธรรมซึ่งได้สร้างสรรค์สั่งสมและสืบทอดกันมา ถือว่าเป็นเครื่องหมายของความเจริญ การสร้างสรรค์วัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นนั้น ว่าโดยสาระสำคัญ ก็ย่อมมุ่งเพื่อให้มนุษย์เกิดปัญญาหรือปรีชาญาณที่จะเข้าถึงความจริง และเพื่อจะยังความดีงามให้เป็นไปในสังคมมนุษย์ ความจริงและความดีงามนั้นเรียกสั้นๆ ด้วยคำเดียวว่า "ธรรม" ธรรมจึงเป็นแก่นสารหรือเป็นสาระสำคัญของวัฒนธรรมและอารยธรรม ถ้าไม่มีธรรมเป็นแกนร้อยตรึงไว้ และไม่มีธรรมเป็นเป้าหมาย วัฒนธรรมและอารยธรรม ก็คงไร้ความหมายหมดสิ้น หรืออาจกลับก่อโทษภัยแก่มนุษย์ กลายเป็นหายนธรรมไปก็ได้

ตลอดประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มนุษย์ต่างถิ่นต่างสมัย ได้ตั้งสถาบันที่มีชื่อและมีรูปแบบต่างๆ ขึ้นมา ทำหน้าที่ธำรงรักษาถ่ายทอดวัฒนธรรมและอารยธรรมสืบต่อกันมา มนุษย์ในสมัยปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันหลักอย่างหนึ่ง สำหรับทำหน้าที่บำรุงรักษา พัฒนา สืบทอดวัฒนธรรมของชาติ และอารยธรรมของมนุษยชาติ มนุษย์ในยุคที่มีมหาวิทยาลัยนี้ เป็นผู้เสวยผลรวมแห่งงานสั่งสมถ่ายทอดทางวัฒนธรรมและอารยธรรมของมนุษย์ในอดีตทั้งหมด จึงนับว่าเป็นผู้มีเครื่องมือพรั่งพร้อมบริบูรณ์ที่สุด สำหรับจะนำมนุษย์ให้เข้าถึงธรรม ที่จะยังธรรมให้เป็นไปในสังคม แต่การจะสำเร็จเช่นนี้ได้ ก็ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยตระหนักรู้ถึงหน้าที่ของตนที่สัมพันธ์กับธรรม มองเห็นธรรมเป็นแกนนำและเป็นเป้าหมายรวมแห่งภารกิจทั้งหมดของตน หากเป็นเช่นนี้ การทำหน้าที่ด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมและบริการทางวิชาการก็ดี การฝึกปรือทางศิลป์ก็ดี การดำเนินงานวิจัยต่างๆ ก็ดี การทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมก็ดี ก็จะดำเนินไปอย่างมีพลังมีชีวิตชีวา สมบูรณ์ด้วยความหมาย ไม่กลายเป็นชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายเรี่ยรายไร้สัมพันธ์ และไม่เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับรับใช้ความมุ่งหมายชั่วครู่ชั่วยามในทางการเมืองเป็นต้น ยิ่งกว่านั้น วัฒนธรรมและอารยธรรมที่บรรพบุรุษมนุษยชาติได้สั่งสมสืบทอดมา ก็จะบังเกิดผลงอกเงย ไม่ว่างเปล่าเป็นหมันเสีย อาจกล่าวได้โดยไม่ผิดว่า ธรรมะซึ่งหมายถึงการนำมนุษย์เข้าถึงความจริง และการยังความดีงามให้เป็นไปในสังคมนี้ เป็นเครื่องวัดหรือเป็นตัวกำหนดความสำเร็จผลที่แท้จริง แห่งวัตถุประสงค์ทั้งหมดของมหาวิทยาลัย และการมีมหาวิทยาลัย

เท่าที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า ธรรมะมีคุณค่าแม้ต่อชาวมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในทางปฏิบัติ คุณค่าของธรรมย่อมขึ้นกับความต้องการ กล่าวคือ ความต้องการธรรม เป็นเครื่องบ่งชี้คุณค่าของธรรม แต่บางคราวความต้องการอาจมีอยู่ โดยที่ผู้มีความต้องการ ไม่รู้ตัวว่าตนมีความต้องการก็ได้ เหมือนอย่างคนจำนวนมากไม่รู้ตระหนักถึงคุณค่าของอากาศที่ตนหายใจหล่อเลี้ยงชีวิต ความต้องการธรรมนั้นมักแสดงออกมาให้เห็นในบางโอกาส และบางส่วนบางแง่ที่ขาดแคลน เช่น บางคราวมีคนร่ำร้องหาความชอบธรรม ความเป็นธรรม ความยุติธรรม บางแห่งเราเห็นคนต้องการเมตตาธรรม ไมตรีธรรม มนุษยธรรม บางทีเรารู้สึกกันว่าสังคมต้องการศีลธรรม สุจริตธรรม สันติธรรม บางคนว่าเขาต้องการขันติธรรม และคารวธรรม รวมทั้งธรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้ลงท้ายด้วยคำว่าธรรม เช่น เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเผื่อแผ่แบ่งปัน สติสัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญา เป็นต้น ตลอดจนต้องการสัจจธรรม

เมื่อใดคนตระหนักว่าตนต้องการธรรม เมื่อนั้นก็ย่อมมองเห็นคุณค่าของธรรม อย่างไรก็ตาม บางทีคนรู้ตัวแล้วว่าตนต้องการธรรม แต่ก็ไม่รู้ว่าธรรมนั้นๆ คืออะไร และไม่รู้ว่าจะทำให้ธรรมนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น รู้ว่าตนต้องการความยุติธรรม ความเสมอภาค เสรีภาพ สันติภาพ และสัจจธรรม รู้ว่าตนต้องการความเพียร ศรัทธา สมาธิ เป็นต้น แต่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง ความมุ่งหมาย และวิธีปฏิบัติที่จะให้ธรรมเหล่านั้นเกิดมีขึ้น ดังนั้นการปลุกเตือนให้สำนึกถึงความต้องการธรรมก็ดี การช่วยแนะนำให้รู้จักความหมาย ความมุ่งหมายและวิธีที่จะทำให้ธรรมทั้งหลายเกิดมีขึ้นก็ดี จึงเป็นหน้าที่ของบุคคลและสถาบันทั้งปวงที่รับผิดชอบ ในการที่จะยังธรรมให้เป็นไปในสังคม

สำหรับชาวมหาวิทยาลัยนั้น ในเมื่อธรรมะมีคุณค่าดังได้กล่าวแล้ว คือ ช่วยให้ชีวิตส่วนตัวของแต่ละบุคคลมีจิตใจผ่องใส สงบสุข แก้ปัญหาภายในของตนได้ ช่วยให้ชีวิตที่สัมพันธ์กันของส่วนรวมมีบรรยากาศอันเกื้อกูลแก่การเล่าเรียนศึกษา แสดงวิชาการและการปฏิบัติหน้าที่การงานทั่วไป ช่วยให้ผู้ที่ได้รับการศึกษาแล้วนำศิลปวิทยาและความจัดเจนไปใช้โดยสุจริต บังเกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง และที่สำคัญยิ่งคือ ช่วยให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันซึ่งทำหน้าที่รับใช้ธรรม ช่วยยังธรรมให้เป็นไปในสังคม สมตามความรับผิดชอบของตนต่อสังคม และต่อมนุษยชาติ น่าจะย้ำไว้ด้วยว่า การรับใช้ธรรมนี้แหละ คือหน้าที่โดยชอบธรรมของมหาวิทยาลัยและของชาวมหาวิทยาลัยทุกคน เพราะเมื่อรับใช้ธรรม ก็จะได้รับใช้สังคมด้วย และการรับใช้สังคมนั้น ก็จะเป็นไปอย่างถูกต้องไม่ผิดพลาดด้วย

ถ้าถือว่า ธรรมสถานเป็นที่ซึ่งมหาวิทยาลัยมอบหมายให้เป็นตัวแทน สำหรับทำหน้าที่เกี่ยวกับธรรมแก่ชาวมหาวิทยาลัยแล้ว ก็น่าจะเห็นว่า หน้าที่ปลุกสำนึกให้ตระหนักถึงความต้องการธรรม และการช่วยชี้แนะให้รู้ว่าธรรมนั้นๆ คืออะไร ธรรมนั้นๆ จะเกิดมีขึ้นได้อย่างไร นี้แหละคือภารกิจอันชอบธรรมและเหมาะสมยิ่งของธรรมสถาน ซึ่งหากทำได้สำเร็จเช่นนั้น ธรรมสถานก็จะมีคุณค่าเสมือนเป็นตราชูของมหาวิทยาลัย

ในมงคลสมัยนี้ อาตมภาพขอร่วมอนุโมทนา อ้างคุณพระรัตนตรัย อำนวยพรให้ธรรมสถานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจริญงอกงามในการบำเพ็ญกิจทางธรรม สำเร็จผลสมความมุ่งหมาย ดำรงภาวะเหมือนเป็นส่วนจิตใจที่สงบสุขเยือกเย็นผ่องใส ภายในกายอันแข็งแรงคือกิจการส่วนรูปธรรมของมหาวิทยาลัย แผ่ธรรมานุภาพ ช่วยให้ชีวิตคือชาวมหาวิทยาลัยทั้งมวล มีความสดชื่นร่มเย็น ประสบประโยชน์สุข เพิ่มพูนด้วยความดีงาม พร้อมทั้งแพร่กระจายความดีงามและประโยชน์สุขนั้น ให้ขยายกว้างออกไปในหมู่ชนและสังคมส่วนรวม ตลอดกาลนาน

 

ขอถวายพระพร

1สัมโมทนียกถาในมงคลสมัยที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ตีพิมพ์ครั้งแรก ในรายงานประจำปี ๒๕๒๓ ของธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.