ร่ำรวย ยิ่งใหญ่ เลื่อนลอย หรือเพื่ออะไร

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทรัพย์ภายนอกมีคุณค่าและความหมาย
เมื่อมีทรัพย์ภายในเป็นฐาน

การใช้ทรัพย์และอำนาจให้เป็นอุปกรณ์ของธรรมนี้ เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่แสดงถึงวิธีปฏิบัติต่อทรัพย์ให้ถูกต้อง

แต่การที่พระเจ้าอโศกมหาราช และคนที่ดีงามทั้งหลายจะปฏิบัติต่อทรัพย์ที่เป็นวัตถุได้ถูกต้องนั้น ข้อสำคัญก็คือการมีคุณธรรมภายใน

คุณธรรมภายในที่จะทำให้เราประพฤติปฏิบัติต่อวัตถุทั้งหลายภายนอกถูกต้องนั้น ก็เป็นทรัพย์เหมือนกัน ทางพระท่านถือว่าเป็น ทรัพย์ภายใน คู่กับ ทรัพย์ภายนอก

ทรัพย์ภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทองต่างๆ ตลอดจนลาภสักการะนั้น ประการหนึ่ง

แต่ภายในใจของเรา ยังมีทรัพย์อีกประการหนึ่ง คือทรัพย์ภายใน ที่ทางพระเรียกว่า อริยทรัพย์ ทรัพย์ภายในนี้มีมากมายหลายประการ

ทรัพย์นั้นเป็นเครื่องทำให้คนเรามีความสมบูรณ์ในตัวเอง จิตใจจะสมบูรณ์ได้ มีความมั่นใจ ก็เพราะมีทรัพย์ภายใน

เรามีทรัพย์ภายนอก เราก็มีความมั่นใจภายนอก แต่ถ้าเรามีทรัพย์ภายในเรา ก็มีความมั่นใจภายใน

อะไรคือ ทรัพย์ภายใน ที่ว่ามีหลายอย่างหลายประการ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ คือ

หนึ่ง ศรัทธา คือ ความเชื่อ ความมั่นใจ การมีความมั่นใจในหลักการอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะคือหลักการแห่งความดีงาม ความเชื่อในการกระทำความดี ความเชื่อในกรรมดี ข้อนี้เป็นทรัพย์ที่สำคัญอย่างยิ่งประการที่หนึ่ง

ถ้าคนใดมีศรัทธาในกรรมดี ในการกระทำความดี คนนั้นก็มีความมั่นใจในตัวเอง จึงนับว่ามีทรัพย์ประการที่หนึ่ง ซึ่งจะเป็นทุนรอนในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

พุทธศาสนิกชนมีศรัทธาในพระศาสนา มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย ก็มีทรัพย์ประจำใจ

คนที่มีทรัพย์คือศรัทธานี้ มีใจอบอุ่น มีสิ่งที่หล่อเลี้ยงใจ และทำให้ใจมีกำลังเข้มแข็ง ไม่ว้าเหว่ แม้อยู่คนเดียวก็ไม่เหงา เพราะว่ามีศรัทธาประจำใจ แต่คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ ไม่มีหลักการอะไรในจิตใจ ไม่มีเครื่องหล่อเลี้ยงใจ เวลาอยู่คนเดียวก็จะเหงา จะว้าเหว่ใจมาก เพราะฉะนั้น ศรัทธานี้จึงเป็นหลักสำคัญสำหรับเป็นทรัพย์ประจำใจไว้

นอกจากศรัทธา คือความเชื่อแล้ว ก็คือความประพฤติดีงาม ความเป็นคนสุจริต การที่ได้ดำรงตนอยู่ในทางที่ถูกต้อง ไม่ได้ประพฤติตนเสียหาย ความบริสุทธิ์สุจริตนี้ ก็ทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง เป็นทรัพย์ประการที่สอง ทางพระเรียกว่า ศีล

ต่อไปก็มี หิริโอตตัปปะ คือความละอายบาป และความเกรงกลัวต่อบาป ซึ่งจะเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันใจเรา เป็นหลักประกันให้เราไม่ทำความชั่ว ไม่ทำความเสียหาย ทำให้เรามีความประพฤติอยู่ในครรลองด้วยดี

ต่อจากนี้ก็ สุตะ คือ ความรู้ที่ได้เล่าเรียนค้นคว้าและฝึกฝนอบรมมา ได้แก่ ความรู้ในวิชาการต่างๆ ความรู้ในวิชาหาเลี้ยงชีพ ตลอดจนความรู้ในศิลปวิทยา และความเชี่ยวชาญในกิจการงานต่างๆ ซึ่งเป็นทรัพย์สำคัญที่จะช่วยให้เราหาทรัพย์ภายนอกได้ด้วย

อย่างน้อย คนที่มีวิชาความรู้ก็มีความมั่นใจในตัวเอง และมีความพร้อมในการที่จะดำเนินชีวิตให้เป็นอยู่ด้วยดี

ประการต่อไป จาคะ คือ การรู้จักเสียสละ ความมีน้ำใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์

คนที่ดำเนินชีวิตโดยทำชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์ ไม่อยู่ว่างเปล่า ก็เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง และมั่นใจอิ่มใจในความมีคุณค่าแห่งชีวิตของตน มีความสบายใจ อิ่มใจในตัวเองอยู่เสมอว่า ชีวิตของเรานี้มีค่า เป็นคุณประโยชน์แล้ว นับว่าเป็นทรัพย์ที่ทำให้เกิดความอุ่นใจอย่างสำคัญ

ประการต่อไป และข้อสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ ก็คือ ปัญญา ได้แก่ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ความสามารถที่จะจัดทำดำเนินการสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง ความรู้ที่จะแก้ปัญหา ความรู้เข้าใจเหตุผล เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง อันนี้เป็นทรัพย์ประจำตัวที่สำคัญที่สุด

ทรัพย์ทั้งหมดเหล่านี้ รวมแล้วก็มีสองอย่างด้วยกัน คือความรู้ อย่างหนึ่ง และ ความดี อย่างหนึ่ง ความรู้และความดีนั้นแหละเป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ภายในที่สำคัญ

คนเรามีทรัพย์ภายในแล้ว ก็จะทำให้ทรัพย์ภายนอกมีความหมาย ถ้าไม่มีทรัพย์ภายใน ไม่มีอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายนอกก็จะมีคุณค่าและความหมายอย่างแท้จริงไม่ได้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.