รัฐกับพระพุทธศาสนา ถึงเวลาชำระล้างหรือยัง

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถาม ความเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา มักจะถูกทางรัฐยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหาชำระล้างเป็นยุคๆ เสมอ เหตุการณ์ทำนองนี้มีขึ้นในยุคไหนบ้าง สาเหตุของเรื่องนั้นๆ เกิดจากอะไร ผลที่สุดเป็นประการใด

ตอบ เรื่องอย่างนี้มีมากมายหลายครั้ง นำมาตอบในที่นี้คงจะมีรายละเอียดมากเกินไป คงจะเพียงพูดถึงก็พอ ตัวอย่างเช่น สังคายนาต่างๆ โดยมากก็มีเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นก่อน แล้วรัฐเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์ วิธีของรัฐที่เข้ามา โดยมากก็เป็นเรื่องของการเข้ามาช่วยเป็นกำลังให้กับคณะสงฆ์ หรือการช่วยสนับสนุนทางฝ่ายศาสนาเอง ในการแก้ไขชำระล้างให้บริสุทธิ์ แต่บางครั้งทางรัฐยื่นมือเข้ามาจัดการโดยตรงก็มี

การสังคายนาครั้งที่ ๑ ก็ปรารภการที่พระสุภัททะวุฑฒบรรพชิต (พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่) กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้พระเถระในสมัยนั้นเกรงว่าหลักธรรมที่แท้จริงจะเสื่อมสูญไป จึงจัดให้มีการสังคายนาขึ้น และทางรัฐ พระเจ้าอชาตศัตรูก็เข้ามาอุปถัมภ์

สังคายนาครั้งที่ ๒ ก็มีพระวัชชีบุตรก่อเรื่องขึ้นมา พระเถระทั้งหลายเกรงว่าพระศาสนาจะไม่บริสุทธิ์ จะเสื่อมลงไป ความประพฤติปฏิบัติจะเขวออกไป จากหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนา จึงจัดให้มีการสังคายนา ทางรัฐก็เข้ามาช่วย

ที่เห็นชัดเจนก็คือสังคายนาครั้งที่ ๓ ซึ่งสาเหตุของปัญหาก็พัวพันกันระหว่างรัฐกับทางพระพุทธศาสนา เพราะว่ารัฐเคยอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนามาก เมื่ออุปถัมภ์มากก็มีพลเมืองที่ไม่ดีที่ต้องการลาภสักการะเข้ามาบวชในพระศาสนา เมื่อเข้ามาบวชก็ทำให้พระธรรมวินัยยุ่งเหยิงสับสน พวกที่เรียกว่าปลอมบวชก็มี ความไม่เรียบร้อยก็เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนา เช่นว่าพระสงฆ์รังเกียจกันเป็นต้น ผลที่สุด รัฐก็ต้องเข้ามาช่วย เพื่อให้สังฆมณฑลมีความสงบเรียบร้อย ซึ่งก็หมายถึงความสงบสุขและความเจริญของรัฐเองด้วย ประชาชนจะอยู่ด้วยความสงบสุขและตั้งใจประกอบอาชีพ การงาน ดำรงอยู่ในศีลธรรม ชุมชนประสานกลมกลืนราบรื่นร่มเย็น ด้วยว่าพระสงฆ์ทำหน้าที่ของตนได้อย่างเป็นปกติ

นี่คือการที่รัฐเข้ามาโดยให้กำลังแก่คณะสงฆ์ในการทำสังคายนา

แต่บางคราวที่ต้องใช้อำนาจ รัฐต้องการเอาคนไม่ดีที่เข้ามาบวชออกไป รัฐก็ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องชำระล้างโดยจับพระสึก ในการจับพระสึกก็ให้ทางฝ่ายคณะสงฆ์เป็นผู้วินิจฉัยเสียก่อนว่า ผู้นี้ผู้นั้นหรือใคร มีลักษณะอย่างไรที่เป็นพระแท้หรือพระไม่แท้ ใครมีความเข้าใจหรือไม่เข้าใจในหลักการของพระพุทธศาสนา เมื่อทางฝ่ายศาสนาหรือฝ่ายสงฆ์วินิจฉัยให้แล้ว รัฐก็ช่วยในด้านอำนาจที่จะนำคนเหล่านั้นออกไปจากวงการพระศาสนา

ตัวอย่างในเมืองไทยนี้ก็มีเช่นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มีพงศาวดารบันทึกไว้ ตอนนั้นทางพระศาสนาเจริญ ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากประชาชนมาก ก็มีคนที่อยากจะอยู่สบายหลบหลีกหน้าที่พลเมืองเข้ามาบวช ถึงกับว่าทางฝ่ายรัฐต้องตั้งคณะกรรมการสอบความรู้พระเณร คนที่ไม่มีความรู้สมกับเป็นพระภิกษุสามเณรก็ถูกจับสึกออกไปเป็นจำนวนมาก และอย่างในสมัยกรุงศรีอยุธยาแตก ที่ว่ามีก๊กต่างๆ ตั้งตัวเป็นใหญ่กันขึ้น ในจำนวนก๊กเหล่านี้ ก็มีพระเจ้าฝางซึ่งเป็นพระภิกษุอยู่ด้วย เป็นผู้นำทัพพระภิกษุจำนวนมาก เมื่อพระเจ้าตากสินขึ้นครองราชย์แล้วก็ได้ชำระเรื่องนี้ ได้มีการเอาพระมาพิสูจน์โดยการดำน้ำ นี้ก็เป็นกรณีที่ทางฝ่ายรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับทางศาสนา

ในสมัยต่อๆ มา ทางรัฐก็เข้าเกี่ยวข้อง พยายามที่จะรักษาศาสนาให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีการทางด้านกฎหมายหรือนิติบัญญัติ เช่นอย่างรัชกาลที่ ๑ ก็ได้ทรงตรากฎพระสงฆ์ขึ้นมาถึง ๑๐ ฉบับ และในรัชกาลที่ ๕ ก็ออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับแรก คือพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็มีใหม่อีกฉบับหนึ่ง และต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็มีใหม่อีกฉบับหนึ่ง

นี้เป็นเรื่องที่จะถือว่ารัฐยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้ แต่โดยปกติแล้ว วิธีการชอบธรรมที่รัฐยื่นมือเข้ามาก็คือด้วยการร่วมกันกับทางคณะสงฆ์ เป็นฝ่ายให้กำลัง เพราะคณะสงฆ์โดยลำพังตัวเองนั้นไม่มีกำลังอำนาจในทางอาญา ต้องอาศัยทางแผ่นดิน อย่างไรก็ดี ถ้าหากไม่ยืนหลักนี้ไว้ให้ดี ทางบ้านเมืองก็อาจทำการผิดพลาดได้ หรือแม้แต่ฝ่ายสงฆ์เอง เมื่อทางรัฐให้ความอุปถัมภ์ ถ้าทางฝ่ายสงฆ์เองไม่ดำรงอยู่ในหลักการที่ดีที่ชอบ ก็อาจจะทำการผิดพลาด พลอยให้ทางฝ่ายบ้านเมืองทำผิดไปด้วยก็ได้ แต่นี่ว่าโดยหลักการ เรื่องอย่างนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ และก็เป็นเรื่องที่ถ้าปฏิบัติโดยถูกต้อง โดยชอบธรรมแล้ว ก็ช่วยให้การพระศาสนานี้บริสุทธิ์ดำรงอยู่ได้มั่นคงยั่งยืน เป็นการรักษาพระศาสนา หรือช่วยสืบต่อพระศาสนาอย่างหนึ่ง

ส่วนรายละเอียดของแต่ละเรื่อง ว่าเกิดขึ้นในยุคไหนบ้าง สาเหตุเป็นอย่างไร ผลที่สุดเป็นประการใดนั้น เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก ก็เข้าใจว่าพอจะทราบๆ กันอยู่พอสมควรแล้ว เรื่องราวเหล่านี้คงจะมีเรื่อยๆ ไป อย่างเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีกรณีพระพิมลธรรม หรือแม้ในปัจจุบันนี้ก็ตั้งเค้าคล้ายๆ จะมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เกิดความเป็นไปเช่นนั้น หรือการที่รัฐจะเข้ามายื่นมือเกี่ยวข้องขึ้นอีก

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว รวมอยู่ในตัวอย่างของหลักการที่ว่านี้ แต่จะผิดจะถูกอย่างไร ในที่นี้ไม่ขอวิจารณ์ ข้อสำคัญว่ารัฐนั้น ในเมื่อเห็นประโยชน์และคุณค่าของทางศาสนา และมีหน้าที่ในการเชิดชูดำรงธรรม มีหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ในการที่จะตอบแทนคุณพระศาสนา เนื่องด้วยการที่พระสงฆ์มาช่วยสั่งสอนประชาชนให้มีศีลธรรม ประพฤติดีปฏิบัติชอบ พัฒนาจิตปัญญา มีความสงบเรียบร้อยอะไรต่างๆ เหล่านี้ เมื่อรัฐมีความสำนึกและจะปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้ รัฐหรือผู้ปกครองในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้นๆ จะต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ดีในเรื่องเกี่ยวกับพระศาสนา จะต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่ง จะถือเป็นคนละเรื่องคนละฝ่ายไม่เกี่ยวข้อง และไม่เรียนรู้ไม่ได้

ถ้ารัฐหรือบุคคลที่ทำหน้าที่ปกครอง ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องศาสนาขึ้นเมื่อไร ก็อาจจะปฏิบัติผิดพลาดในเรื่องศาสนาขึ้นได้เมื่อนั้น แล้วก็เป็นเรื่องก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน แก่บ้านเมือง และเป็นการเสียหลักสำคัญอย่างหนึ่งในทางการปกครอง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.