สุขระดับกามบำเรอประสาททั้งห้า หรือระดับอามิส ที่ว่าไม่เต็มอิ่ม หรือไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอนั้น จะเห็นได้จากการที่ผู้หาและเสพสุขแบบนี้ เมื่อได้สิ่งที่ปรารถนาแล้วสมใจอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง ก็ชินชาและไม่เต็มอิ่ม แล้วมองหาสิ่งเพิ่มหรือสิ่งใหม่ต่อไป โดยหวังว่าเมื่อได้อันนั้นอันนี้ เท่านั้นเท่านี้แล้ว เขาก็จะสุขสมบูรณ์เต็มที่ แต่เมื่อได้เมื่อถึงที่ปรารถนาแล้ว ก็ไม่เต็มอิ่มตามเดิม จึงปรารถนายิ่งๆ ขึ้นเรื่อยไป ที่เป็นอย่างนี้ เพราะแท้ที่จริงนั้น สาเหตุที่ทำให้ไม่เต็มอิ่ม มิใช่ของข้างนอกที่ยังได้น้อยไป แต่เป็นเพราะตัวการที่ทำให้รู้สึกไม่เต็มอิ่มที่อยู่ข้างใน คือ ความทุกข์ หรือเชื้อความทุกข์ภายในตัวของเขาเอง ที่เขาไม่ได้จัดการ ความทุกข์นี้เป็นตัวกวนอยู่ข้างในตลอดเวลาโดยที่เขาไม่รู้ตัว ทำให้ความสุขที่ได้มาทุกครั้งต้องพร่องทุกที ไม่อาจเต็มอิ่มได้
จึงเป็นธรรมดาว่า ถ้าเขาไม่จัดการกับทุกข์แท้ที่เป็นตัวกวนอยู่ข้างในนี้ให้เสร็จสิ้นไปแล้ว ไม่ว่าเขาจะหาความสุขมาได้มากเท่าใด แม้จนครองโลกครองสวรรค์ทั้งหมด ก็ไม่สามารถสุขเต็มอิ่มได้ แต่ถ้าจัดการกวาดล้างเชื้อทุกข์ข้างในนี้ออกไปได้แล้ว ไม่ว่าเขาจะได้อะไรมามากน้อยแค่ไหน ก็สุขเต็มอิ่มได้ทุกทีไป การจัดการกับเชื้อทุกข์ข้างในให้หมดไปนี้ ก็คือ การเข้าถึงความสุขระดับอิสระ ด้วยปัญญาหยั่งรู้ที่ทำให้เกิดภาวะไร้ทุกข์เป็นฐานขึ้นข้างใน
พูดในทางกลับกันว่า เพราะขาดอิสรภาพ จิตใจไม่เป็นอิสระ ไม่สามารถมีความสุขได้ลำพังตนเอง จึงต้องเอาความหวังในความสุขไปฝากไว้กับประสาททั้งห้าที่จะได้รับการปรนเปรอด้วยอามิส คือ วัตถุจากภายนอก
ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ความสุข ๒ ระดับแรก คือ กามและจิต หรือกาม กับรูปาวจรและอรูปาวจรนั้น จะดีงาม เป็นสุขจริงที่ไร้พิษภัย ต่อเมื่อมีเครื่องควบคุมให้อยู่ในขอบเขต ตัวควบคุมที่สำคัญ ก็คือ ความสังวรระวังและการบังคับควบคุมตนที่เรียกว่าสัญญมะ พร้อมทั้งความไม่ประมาท และความรู้จักประมาณ แต่สุขระดับสุดท้ายในภาวะแห่งความเป็นอิสระนั้น ไม่ต้องเรียกหาเครื่องควบคุมเหล่านี้ เพราะตัวคุมเหล่านั้นมีอยู่เป็นอยู่ในตัวของมันเอง สำเร็จพร้อมอยู่ในความสุขนั้นอยู่แล้ว และแท้ที่จริง มันเองนั่นแหละเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดตัวคุมเหล่านั้นที่จะมาช่วยดูแลความสุขสองระดับข้างต้นให้เป็นไปด้วยดีอย่างพอดี