ขอเจริญพร ท่านอธิการบดี ท่านอาจารย์ นิสิตนักศึกษา และท่านผู้สนใจ ที่เข้าร่วมประชุมทุกท่าน
อาตมภาพต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทำให้ที่ประชุมต้องเสียเวลาไปในการรอคอย เนื่องจากอาตมภาพผู้เดียวเดินทางมาล่าช้า แล้วทำให้ที่ประชุมต้องพลอยลำบากไปด้วย
แต่ว่า ในแง่ของอาตมภาพเอง ความล่าช้าของการเดินทางนี้ กลายเป็นโอกาสสำหรับตนเอง ในการที่จะได้เตรียมเรื่องที่จะพูด
ก็ต้องขอสารภาพ ความจริงท่านรองอธิการบดีได้ให้เวลาอย่างมากมาย ประมาณครึ่งปี ซึ่งก็สมควรแก่เรื่องที่สำคัญ ที่เราควรจะได้ตระเตรียมมากๆ แต่พอเอาเข้าจริง เรื่องที่ควรจะเตรียมในครึ่งปี ก็ต้องเตรียมในครึ่งวัน และก็มาเตรียมเสร็จเอาในรถนี่เอง
ที่พูดไว้นี้ก็เป็นการออกตัว หรือแก้ตัว และก็ต้องพูดไว้ก่อน เพราะว่า บางทีพูดไปอาจจะกระท่อนกระแท่นสักหน่อย คือไม่ได้ลำดับอะไรให้ดีเท่าที่ควร
สำหรับเรื่องที่กำหนดเป็นหัวข้อไว้ว่า “มหาวิทยาลัยกับงานวิจัยทางพระพุทธศาสนา” นั้น ถ้าจะมาพูดกันในแง่ว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ จะเป็นต่างประเทศก็ตาม หรือโดยเฉพาะในประเทศไทยก็ตาม ได้ทำการวิจัยอะไรไปบ้างที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และทำในด้านไหน อย่างไร อะไรต่างๆ นี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและจะมีประโยชน์ไปแบบหนึ่ง แต่อาตมภาพคงไม่สามารถพูดในคราวนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาสำรวจหาข้อมูลกันอย่างมาก
ที่จะทำได้ในตอนนี้ ก็คงเป็นไปในด้านความคิดเห็น ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีจุดที่ควรจะให้ความสนใจในแง่ที่ว่า การวิจัยทางพระพุทธศาสนานี้ มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างไร หรือว่า ในยุคสมัยนี้ ปัจจุบันนี้ มีจุดไหนที่เราจะได้ประโยชน์อะไร ทำไมมหาวิทยาลัยจึงจะมาวิจัยเรื่องพระพุทธศาสนา อะไรทำนองนี้
ถ้าพูดในแง่นี้ ก็คงจะต้องโยงถึงเรื่องภูมิหลัง เอามาเชื่อมต่อให้สัมพันธ์กันด้วย จึงจะมองเห็นเหตุผลและเข้าใจความคิดที่จะเสนอได้ชัดเจน
ว่าโดยทั่วไป ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า งานวิจัยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ต่อการพัฒนาประเทศชาติเป็นอย่างมาก เพราะการพัฒนาประเทศชาตินั้น จะต้องอาศัยความก้าวหน้าในทางวิชาการ จะต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ และจัดเจนชำนิชำนาญ
โดยเฉพาะยุคที่ผ่านมาจนกระทั่งที่เป็นอยู่นี้ เราเรียกกันอย่างหนึ่งว่าเป็น ยุคแห่งความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้าน คือเป็นยุคที่ว่า คนที่ก้าวหน้าหรือพัฒนาสังคมจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในวิชาการต่างๆ ตรงไป ลึกดิ่งไปในด้านนั้นๆ ให้เต็มที่ ให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ และการที่จะบรรลุผลดังกล่าวนี้ได้ก็ต้องอาศัยการวิจัย
การวิจัยเป็นการแสวงหาความรู้อย่างมีระบบ และเป็นการบุกเบิกเข้าไปในแดนแห่งความรู้ ทำให้เกิดความลึกซึ้งแตกฉานในเรื่องนั้นๆ เพื่อหาความรู้จริง และทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในวิชาการพิเศษเฉพาะดังที่กล่าวมา
ลักษณะหนึ่งที่ประสงค์ในทางวิชาการ ที่จะทำให้ความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านเกิดขึ้น และดำเนินต่อไปได้ ก็คือ ความก้าวหน้าจนกระทั่งมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นจุดที่เน้นกันมาก ความเป็นเลิศทางวิชาการนี้อาศัยการวิจัยเป็นปัจจัยสำคัญ และก็แสดงออกในผลงานวิจัยด้านต่างๆ
ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เราจะเห็นว่า เขาไม่ใช่จะเจริญเฉพาะด้านวัตถุ หรือทางเศรษฐกิจ หรือในด้านอำนาจการเมืองเท่านั้น ทว่าประเทศเหล่านั้น ต้องเป็นผู้นำทางความรู้ และความคิดด้วย แม้แต่ความเจริญทางด้านวัตถุ หรือทางด้านเทคโนโลยีเหล่านั้น ก็ต้องอาศัยความเจริญก้าวหน้าในทางวิชาการ หรือความรู้ ความคิดเป็นรากฐาน จึงเกิดขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้น ประเทศที่พัฒนาเหล่านี้ จึงถืองานวิจัยเป็นงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ในเมื่องานวิจัยเป็นงานสำคัญ ต่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างนี้ ใครจะทำหน้าที่นี้ให้แก่ประเทศชาติหรือสังคม ก็ตอบได้ว่า มหาวิทยาลัยนั่นแหละเป็นผู้ทำหน้าที่นี้
เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทสำคัญมากในการที่จะทำงานวิจัย
เราจะเห็นว่า ในวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย มีการเน้นเรื่องนี้ไว้ด้วยเป็นข้อหนึ่ง ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องมีเรื่องของการส่งเสริมงานวิจัย เพราะถือว่างานวิจัยเป็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัย และดังที่ปรากฏชัดเจนในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น มหาวิทยาลัยมีบทบาทในเรื่องนี้มาก
และงานวิจัยต่างๆ ก็มักจะขยับตามความเปลี่ยนแปลง หรือความเป็นไปของสังคมและสถานการณ์ของโลก รวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศชาติ สังคมมีความสนใจเรื่องอะไร มีปัญหาเรื่องอะไร มีสถานการณ์อะไรเด่นๆ มหาวิทยาลัยก็จะให้ความสนใจ แล้วก็วิจัยในเรื่องนั้นๆ ด้วย
ฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลง และความก้าวหน้าของสังคม ตลอดจนสถานการณ์ของโลก จึงต้องอยู่ในความสนใจของมหาวิทยาลัย
ในการพิจารณาเรื่องที่จะทำวิจัย โดยเฉพาะเกี่ยวกับปัญหาใหม่ๆ ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่ควรรู้ตระหนักอย่างหนึ่ง ก็คือ เสียงพูดเสียงวิจารณ์ที่เป็นหลักเป็นฐานในวงวิชาการว่า ขณะนี้ประเทศพัฒนาทั้งหลายได้มาเผชิญกับสภาพที่เรียกกันว่า “มีความตีบตัน” แล้วก็ถึงยุคของ “การหักเลี้ยวใหม่” หรือถึงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อใหม่ เนื่องจากได้ประสบปัญหาจากการพัฒนาเป็นอย่างมาก คือปัญหาที่ว่า มนุษยชาติกำลังประสบอันตรายอย่างใหญ่หลวงจากการพัฒนานั้น ถึงขั้นที่ว่าอาจจะถึงความสูญสิ้น หรือพินาศไปก็เป็นได้
ปัญหาทั้งหลาย ที่จะทำให้มนุษยชาติหมดสิ้นนั้น มีทั้งปัญหาของชีวิตมนุษย์เอง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ (เช่น ความเครียด ความรู้สึกแปลกแยก โรคจิต การฆ่าตัวตาย โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเอดส์ และความเสื่อมสุขภาพทั่วไปจากสารเคมีในอาหารและสภาพแวดล้อม) แล้วก็ปัญหาทางสังคม (ปัญหาสิ่งเสพติด อาชญากรรม ความยากจน สงคราม) และปัญหาธรรมชาติแวดล้อม (เช่น ปัญหาอากาศเสีย ดินเสีย น้ำเสีย ฝนน้ำกรด ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ป่าหมด ทะเลตาย ระบบนิเวศพังทลาย) อย่างที่ทราบกันอยู่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องบรรยายในที่นี้
ฉะนั้น ตอนนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ ที่โลกของเรา โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งทำให้ต้องคิดหาทางออกใหม่ๆ
เมื่อหาทางออกใหม่ๆ มหาวิทยาลัยก็จะต้องเป็นผู้นำในการแสวงหาแนวความรู้ความคิด ที่จะมาเสนอว่า เราจะปรับตัว หรือจะหาทางออกอย่างไรจากปัญหาเหล่านี้ จะแก้จุดตีบตันนี้อย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน
นี่ก็เป็นสิ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยควรสนใจ เพื่อว่าเราจะได้ตามทัน หรือมีส่วนร่วมในการที่จะช่วยแก้ปัญหาของโลกด้วย เพราะในการวิจัยนั้นวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ การที่จะแก้ปัญหาของชีวิตและโลกนี้นั่นเอง
ทีนี้ หันมาดูประเทศไทยของเราโดยเฉพาะ การศึกษาสมัยใหม่แบบของไทยเรา ที่มีมหาวิทยาลัย ตลอดจนกระทั่งมีการวิจัยทั้งหลายที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เราก็ยอมรับกันอยู่ว่าเป็นแบบที่เรารับมาจากตะวันตก เรารับวิชาการสมัยใหม่มาจากประเทศตะวันตก ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราต้องการความเจริญอย่างตะวันตก
เมื่อเรารับเอาความเจริญจากตะวันตกมา เรารู้ว่าวิชาการเป็นปัจจัยสำคัญของความเจริญ ดังนั้น เราก็เลยรับเอาวิชาการของตะวันตกเข้ามา
ด้วยเหตุนี้ เท่าที่ผ่านมา เราก็เลยอยู่ในฐานะของการที่ต้องเป็นผู้รับ เมื่อเป็นผู้รับแล้ว ก็จะมีลักษณะอีกอย่างหนึ่งตามมาด้วย คือ ความเป็นผู้ตาม เพราะ “ตาม” กับ “รับ” เป็นของคู่กัน เมื่อจะรับของเขา เราก็ต้องคอยตามเขา เพราะการที่คอยรับจากเขาก็ทำให้ต้องคอยตามเขา ก็เลยได้แต่ตามและรับอยู่เรื่อยไป
เมื่อทำกันอย่างนี้นานๆ เข้า มันก็กลายเป็นลักษณะของสังคม เป็นพฤติกรรมของสังคมโดยทั่วไปโดยไม่รู้ตัว บางทีถ้าลืมไปไม่สำรวจตัว ไม่มีสติเตือนตนเอง มันก็จะกลายเป็นลักษณะจิตใจของคนในสังคมไทย ซึ่งก็เป็นไปได้ หรืออาจจะได้เป็นไปแล้วด้วย
คือว่า ในแง่ความเจริญทั่วไป เราก็เอามาจากตะวันตก เราตามเขาไปและคอยดูว่าเขามีความเจริญอะไรใหม่ มีสิ่งบริโภคอะไรใหม่ๆ เราคือคนไทยก็คอยตาม คอยดู และคอยรับเอา
วิชาการก็เหมือนกัน เราก็ต้องคอยดูว่ามีวิชาการอะไรใหม่ๆ ทำไปทำมา เราจะมีลักษณะจิตใจแบบผู้รับ และผู้ตามโดยไม่รู้ตัว อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง
ถ้าหากว่าเราเกิดมีลักษณะจิตใจ และความคิดแบบผู้รับและผู้ตาม โดยเริ่มจากการมองเห็นว่าเขาเจริญกว่าเรา แล้วคอยตามและคอยรับเอาอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้แล้ว จะทำให้มีผลเสียเกิดขึ้น คือ
หนึ่ง เราจะรู้สึกว่าตัวเองด้อย มองเห็นตัวเองด้อย บางครั้งดูถูกตนเอง ถ้ามองในแง่สังคมก็คือว่า ดูถูกสังคม ดูถูกวัฒนธรรมของตนเอง เมื่อดูถูกก็มองข้าม ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ ไม่ศึกษามรดกของตนเองที่มีสืบต่อกันมา อันนี้ก็เป็นลักษณะหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมา
สอง ผลต่อไปก็คือ ไม่นึกว่าตนเองมีอะไรดีที่จะให้แก่ผู้อื่น พอรู้สึกว่าตัวเองด้อยแล้ว ความเคารพตนเองก็ด้อยลงไป ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนมี และไม่สนใจที่จะนึกถึง หรือถึงกับหลีกเลี่ยงที่จะมอง ก็เลยไม่เห็น ไม่มอง และไม่เห็นว่าเรามีอะไรดี มีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่นได้
พูดง่ายๆ ว่ามองไม่เห็นว่าตนเองมีส่วนร่วมอะไรที่จะให้แก่อารยธรรมของโลกหรือให้แก่มนุษยชาติ เรามีของมีค่าอะไรบ้าง เราไม่ได้สำนึก และไม่ได้สำรวจตนเอง เรามองแต่ในแง่จะตามเขา คอยดูเขาว่าจะมีอะไรให้เราได้บ้างเท่านั้นเอง
สิ่งเหล่านี้ ก็จะนำไปสู่สภาพอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า คือ การทอดทิ้งภูมิปัญญา เช่นอย่างเวลานี้ เราบ่นกันมากว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ถูกทอดทิ้งหลงลืมไปมาก จนกระทั่งเลือนหายไปตั้งเยอะแยะ ไม่สามารถตามกลับเอามาได้ ฟื้นฟูขึ้นมาไม่ได้ เพราะว่า ตัวบุคคลที่ส่งทอดความรู้เหล่านั้น สถาบันที่ส่งทอดความรู้ ได้เสื่อมโทรม เลือนหาย หรือล่วงลับไป พวกเราก็ไม่ศึกษา และสูญเสียโอกาสที่จะศึกษามรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง
อีกด้านหนึ่งก็คือ แม้แต่เมื่อไปศึกษาวิชาการของตะวันตก เราก็มีท่าทีของการที่ว่า จะรับเอามาด้วยอาการของความรู้สึก ที่ไม่มีความสำนึกที่จะเอามาใช้งานของตัวเอง หรือเอามารับใช้ภูมิปัญญาของเรา
ถ้าเรามีจิตสำนึกในการศึกษา เมื่อไปเรียนวิชาการของตะวันตก เราก็มุ่งจะเอามาใช้งาน หรือเอามาพัฒนา เอามาเสริมความสามารถของเรา เราจะต้องรู้จุดดีจุดด้อยของตัวเองตามที่เป็นจริง
เมื่อมองเห็นว่าเรามีอะไรดีของตัวเอง เราก็จะมีความมั่นใจในตนเอง และมีความสำนึกตระหนักอยู่ตลอดเวลา ถึงสิ่งที่มีคุณค่าที่เรามีอยู่นั้น เวลาเราไปศึกษาวิชาการตะวันตก ก็จะมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง คือการที่จะได้เครื่องมือเครื่องใช้ หรือช่องทางใหม่ๆ มาสำหรับการที่จะแสดงตนออกไป หรือที่จะเอาของดีที่มีอยู่นั้นไปทำให้เกิดประโยชน์ สนองความต้องการ หรือวัตถุประสงค์ใหม่ๆ
ขอยกตัวอย่าง เช่น เรามีดีของเรา แต่สิ่งดีของเรานี้ เราบอกใครไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถจะพูดให้เขารู้เรื่อง หรือว่าเราไม่มีช่องทางจะถ่ายทอด เช่น ภาษาของเราตัน เป็นต้น พอเราไปเรียนภาษาต่างประเทศมา เราก็ได้ช่องทางที่จะเอาดีของเรานี้ไปบอก ไปกล่าว ไปเล่าให้คนอื่นเขาฟัง
ลักษณะเช่นว่านี้จะขาดไป ในเมื่อเรามีลักษณะเป็นผู้รับและผู้ตาม
ฉะนั้น ท่าทีของเราในการศึกษาวิชาการสมัยใหม่ของตะวันตก ก็จะไม่มีลักษณะนี้อยู่ด้วย เมื่อไม่มีลักษณะนี้อยู่ มันก็จะมีลักษณะที่เสียตามมาอีกอย่างหนึ่ง คือการที่ว่าเราจะมีความภูมิใจ ในเมื่อเราได้เรียนรู้วิชาการของตะวันตกนั้น ซึ่งเรานับถือว่าเป็นความรู้ของผู้เจริญ เวลาเราไปเรียนรู้แล้วเราจะภูมิใจ แต่เป็นความภูมิใจในแบบที่เห็นเป็นเด่นเป็นโก้
พร้อมกันนั้น เราก็มีความรู้สึกด้อยในตัวเอง ในวัฒนธรรมของตัวเอง ไม่อยากแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของตน แล้วต่อจากนั้นเราก็จะมีลักษณะที่ว่า ชอบเอาความรู้ของตะวันตกมาอวดโก้กันเอง ด้วยความรู้สึกว่า เราเก่งกว่าพวกเราเอง คือ มองว่าเราเก่งกว่าพวกของเรา เราก็เลยมาอวดโก้กับพวกเราเอง ความรู้สึกที่ภูมิใจต่อเขา และอวดโก้ต่อพวกเราเองนี้ จะยิ่งกดทับหรือบดบังความคิด ที่จะนำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ด้วยตนเอง ทำให้ความคิดอย่างนั้นไม่ค่อยผุดโผล่ขึ้นมา เราก็เลยไม่มีทางที่จะพัฒนาตนเองให้พ้นจากความเป็นผู้ตามขึ้นมาได้ อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เป็นข้อด้อย
ฉะนั้น ในการเรียนรู้วิชาการต่างๆ เช่นอย่างภาษาต่างประเทศเป็นต้น เราก็จะมีความภูมิใจที่ได้รู้วัฒนธรรมตะวันตก รู้สึกโก้ที่จะได้พูดได้ใช้ภาษานั้นๆ แต่เราไม่ได้มีความคิดเชื่อมโยงในลักษณะที่ว่า เราจะเอาภาษานั้นมารับใช้สังคม รับใช้วัฒนธรรมของตนเอง ในแง่ที่ว่าเรามีอะไรดีที่จะแสดงออกไป ที่จะถ่ายทอด ที่จะไปสื่อสารบอกกล่าวผู้อื่น
ลักษณะที่ตรงข้ามก็คือ ถ้าหากเรามีอะไรดีของเราอยู่แล้ว เมื่อเราได้เรียนรู้อะไรจากที่อื่น เราจะรู้สึกมั่นใจยิ่งขึ้น เพราะการที่ได้ไปรู้อะไรจากเมืองนอกมา ก็เท่ากับว่าเราได้ช่องทาง หรือได้สื่อในการที่จะแสดงตัวออกไป หรือที่จะเอาดีของเรานี้ไปให้แก่ข้างนอกได้มากขึ้น
พูดอย่างง่ายๆ เท่าที่เป็นอยู่ มันกลายเป็นว่า เราเอาของจากข้างนอกมาแข่งทับกันเอง อะไรทำนองนี้
ถ้ายอมรับว่า เท่าที่เป็นมา เราได้ปฏิบัติในทำนองนี้ จนกระทั่งแทบจะลืมตัว ก็ต้องรู้ตัวด้วยว่าเราจะมีลักษณะจิตใจแบบผู้รับและผู้ตาม ซึ่งจะเกิดผลเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ และแม้ต่อบุคลิกภาพของตัวบุคคล คือ ชาวไทยแต่ละคนด้วย
นอกจากนั้นก็จะมีผลลึกๆ ลงไปอีก เช่นว่า ทำให้ขาดความคิดริเริ่ม ขาดความเอาจริงเอาจัง ไม่มีความขยันหมั่นเพียร ขาดความภูมิใจในตนเอง อะไรทำนองนี้
ลักษณะดังกล่าวนี้ รวมแล้วก็คือ ความรู้สึกด้อยในตนเอง และความภูมิใจที่เห็นเขาเจริญแล้วเราได้ทำตาม หมายความว่า เรามีความภูมิใจในการที่จะตามอย่างเขา
ลักษณะอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีความภูมิใจตัวเองแบบที่ไม่ใช่ของจริงแท้ มีความภูมิใจแบบเทียมๆ คือ ถ้าเขามาว่าอะไรเรา เราก็จะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ คล้ายๆ กับว่ารักประเทศชาติของเราเอง ทนฟังใครว่าไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นไปด้วยเหตุผลและภูมิปัญญา แต่เป็นไปโดยอาการปกป้องตนเอง หรือเป็นการแสดงออกของปมด้อย
เขาเรียกว่า เป็นปฏิกิริยาปกป้องตัวเอง
คล้ายๆ กับว่า รักตัวเอง รักชาติ รักประเทศของตนมาก เขาว่าอะไรไม่ได้ เป็นฟืนเป็นไฟ โกรธขึ้นมาทันที แต่ที่จริงไม่ได้เป็นประโยชน์เลย อันนี้อย่าหลงเข้าใจผิดว่าเป็นความรักชาติรักสังคมของตัวเอง ด้วยความภูมิใจและมั่นใจในความมีอะไรดีของตนเอง อันนี้ไม่ใช่
ฉะนั้น เราจะต้องสร้างความรู้สึกที่ถูกต้อง ที่เป็นไปโดยสติปัญญา และโดยเหตุผล เป็นความภูมิใจที่แท้จริง
เป็นอันว่า ที่พูดมานี้คือลักษณะที่ได้เป็นมา
ทีนี้ ผลก็คือว่า ในแง่วิชาการต่างๆ ทั่วๆ ไป ที่เป็นเรื่องของการพัฒนาของสังคมโลกทั้งหมดนี้ หรือวิชาการต่างๆ ทั่วไปที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้านี้ บทบาทของเราก็คือการเฝ้ารอคอย รอรับจากเขาไปเรื่อยๆ รอดูว่าเขาได้คิดค้นสิ่งอะไรใหม่ๆ บ้าง เราก็คอยรอรับจากเขา ถ้าเขามีการบุกเบิกทางวิชาการใหม่ ก้าวลึกเข้าไปอย่างไร เราก็คอยตามดูเพื่อจะรับจากเขาเรื่อยไป
นี่ด้านที่หนึ่ง คือด้านทั่วๆ ไป
ในด้านที่สอง ก็คือ เรื่องของตนเอง คือสังคมและวัฒนธรรมของตนเองนี้ ไปๆ มา กลายเป็นว่าฝรั่งเป็นผู้เข้ามาศึกษา ดังที่ได้ปรากฏว่า ฝรั่งเข้ามาริเริ่มวิจัยศึกษาเรื่องเมืองไทย เรื่องสังคมไทย วัฒนธรรม แม้ตลอดจนศาสนาของไทย โดยเฉพาะในยุคที่เอเชียอาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือดินแดนแถบประเทศไทย เวียดนาม ลาว เขมร นี้ได้เป็นเวทีการเมือง และสนามรบในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ในช่วงนั้น ตะวันตกโดยเฉพาะประเทศอเมริกา ได้หันมาให้ความสนใจกับดินแดนแถบนี้เป็นอย่างมาก เมื่อฝรั่งเศสเริ่มรบกับเวียดนามใน ค.ศ. ๑๙๔๖ (พ.ศ. ๒๔๘๙) แล้วไม่นาน อเมริกาก็เริ่มเข้ามาสนับสนุน และได้เข้าพัวพันกับสงครามในเวียดนามเรื่อยมาจนกลายเป็นคู่สงครามด้วยตนเอง เขาได้มาสูญเสียทรัพยากร สูญเสียทรัพย์สินเงินทอง สูญเสียกำลังคน เอาทหารมาตายในสงครามเวียดนามอย่างมากมาย
ระยะนั้น เหตุการณ์ทางทหารและการเมืองได้ทำให้คนอเมริกัน หรือสังคมอเมริกันทั้งหมด มีความสนใจต่อดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์มาก นโยบายต่างประเทศของอเมริกันก็หันมาสนใจ ให้ความสำคัญแก่ดินแดนแถบนี้
ในเวลานั้นก็ปรากฏว่า มหาวิทยาลัยของอเมริกาก็ไหวตัวเช่นกัน เขาได้ให้ความสนใจพุ่งมาทางดินแดนแถบนี้ แล้วก็ได้ริเริ่มงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องประเทศแถบนี้ โดยเห็นว่า การที่จะไปรบ ใช้กำลังคนสู้สงครามอย่างเดียวนั้น ไม่ใช่เป็นวิธีการที่จะให้ได้ผลจริงแท้ หรือมั่นคงยั่งยืน
เขาเห็นว่าจะต้องมีการเข้าใจจิตใจของคนทางแถบนี้ รู้จักวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนภูมิหลังที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมนั้นอย่างดี จึงจะปฏิบัติต่อคนและสังคมของประเทศเหล่านี้ได้ถูกต้อง จึงจะดำเนินการทางการเมืองได้ถูกต้อง และจึงจะสามารถเอาชนะได้อย่างแท้จริง
ฉะนั้น พร้อมกับการรบและการเมือง อีกด้านหนึ่งก็มีการวิจัยทางวิชาการด้วย แล้วก็ปรากฏว่าถึงกับมีการตั้งสถาบันเพื่อศึกษาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Southeast Asian Studies ขึ้น ในมหาวิทยาลัยต่างๆ
จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยคอร์เนล ก็มี Department of Asian Studies (ตอนที่ตั้งโครงการใหม่ ยังเป็น Department of Far Eastern Studies) ซึ่งได้ตั้ง Southeast Asia Program ขึ้นมา ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ (พ.ศ. ๒๔๙๓) เพื่อศึกษาเรื่องของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันโดยเฉพาะเลย ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยนี้ก็มี Department of Anthropology ซึ่งศึกษาทางด้านนี้มากอยู่แล้ว
ทางภาควิชามานุษยวิทยา ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลได้ให้ความสนใจศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็มาประสานกับโครงการ Southeast Asia ด้วย ผลงานของภาควิชามานุษยวิทยานี้ มีเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่มากมายในระยะนั้น
เมื่อปลายปี ค.ศ. ๑๙๖๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔) สหรัฐได้ตั้งโครงการอาสาสมัครสันติภาพหรือ Peace Corps ขึ้น มหาวิทยาลัยนอร์ทเธอร์นอิลลินอยส์ ได้เป็นศูนย์แห่งหนึ่งที่ฝึกอบรมอาสาสมัครเหล่านี้ สำหรับกลุ่มที่จะส่งมาไทย และมาเลเซีย ต่อมาอีก ๒ ปี คือ ค.ศ. ๑๙๖๓ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ณ ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเธอร์นอิลลินอยส์นี้ ก็ได้มีการตั้ง Center for Southeast Asian Studies ขึ้น ซึ่งก็ยังมีอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน ศูนย์แห่งนี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องราวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในช่วงเวลาใกล้กันก่อนนั้น ที่มหาวิทยาลัย Yale ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ก็จัดให้มีการศึกษาวิชาเกี่ยวกับเรื่องราวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้จัดตั้งกิจการที่เรียกว่า Council on Southeast Asian Studies
นอกจากนั้น ก็ได้มีการตั้ง Center for Southeast Asian Studies ขึ้นที่มหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่ง คือ ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (ที่เมดิสัน) ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ (เรียกว่า Southeast Asian Center) ที่มหาวิทยาลัยอะริโซนา (เรียกเป็น Program) ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน (ที่แอนน์ อาร์เบอร์) ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (ที่เบอร์คลีย์; แต่ที่นี่และที่มิชิแกนเรียกว่า Center for South and Southeast Asian Studies)
ล่าสุดเมื่อ ๒-๓ ปีนี้เอง ก็มีการตั้ง The Northwest Regional Consortium for Southeast Asian Studies ขึ้นเป็น องค์กรร่วมงานกันระหว่างมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กับมหาวิทยาลัยโอเรกอน และมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียใน แคนาดา
รวมแล้วเวลานี้ มีศูนย์ศึกษาเรื่องอาเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกาประมาณ ๙ มหาวิทยาลัย ศูนย์แต่ละแห่งอาจจะเน้นหรือชำนาญการศึกษาแยกประเทศกันไป เช่น ที่มหาวิทยาลัยอะริโซน่าเน้นเรื่องพม่า ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอเน้นเรื่องมาเลเซีย ที่คอนซอร์เตียมที่ตั้งใหม่เน้นเรื่องเขมรและไทย ดังนี้เป็นต้น และน่าจะลองสำรวจดูว่าศูนย์เหล่านี้ ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนากันไปแค่ไหนเพียงไร
ความจริง ว่าโดยทั่วไป ฝรั่งก็มีความสนใจเรื่องของตะวันออกมาเรื่อยๆ แต่ว่ายังกว้างๆ อยู่ เพราะเขาได้เห็นว่า จะต้องมีการส่งเสริมความเข้าใจอันดีเพิ่มขึ้นระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ดังที่เราได้เห็น East-West Center ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย (ตั้งใน ค.ศ. ๑๙๖๐ คือ พ.ศ. ๒๕๐๓)
แม้ทางประเทศตะวันตกอื่น ก็มีการขยับเขยื้อนในเรื่องนี้ อย่างประเทศเดนมาร์ก ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ก็มี Scandinavian Institute of Asian Studies ที่กรุงโคเปนเฮเกน ขณะนี้ก็ทำงานเรื่องนี้อยู่ มีงานวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และเรื่องของเอเชียออกมาเรื่อย ๆ
อย่างมหาวิทยาลัยคอร์เนลนี้ ก็มีห้องสมุดภาษาไทย จนถึงขนาดที่ว่า เขาต้องการให้มีหนังสือไทยทุกเล่มเท่าที่ออกในเมืองไทย มีการหาสำนักพิมพ์ หรือร้านขายหนังสือ ให้ช่วยทำธุระด้านนี้แทนเขา จะมีหนังสืออะไรออกมาในเมืองไทย ไม่ว่าเรื่องอะไร น่าสนใจ ไม่น่าสนใจ มีสาระ ไม่มีสาระ ให้ส่งไปเถอะ หนังสืองานศพก็ให้ตามหาส่งไป
ฉะนั้น เราไม่รู้ตัวหรอกว่า มีมหาวิทยาลัยอย่างเช่น คอร์เนลนี้ตามดูเราอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราไปที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล อาจจะเห็นหนังสือไทยที่หาไม่ได้ในเมืองไทย
อย่างที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเธิร์นอิลลินอยส์ เมื่ออาตมาไปใน พ.ศ. ๒๕๑๕ (ค.ศ. ๑๙๗๒) เขานำไปดูห้องสมุดของเขา และชี้ให้ดู บอกว่า เขามีไมโครฟิล์มถ่ายหนังสือพิมพ์รายวันของไทยเก็บไว้ หนังสือพิมพ์รายวันของไทยทุกฉบับอยู่ในไมโครฟิล์มของเขา แต่ตอนนั้นมันหลายปีแล้ว เป็นระยะที่กำลังมีเรื่องสงครามในเวียดนามเต็มที่ เป็นระยะที่บอกเมื่อสักครู่ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเป็นเวทีการเมืองและสนามรบของฝรั่ง ของตะวันตก ของอเมริกัน เขาจึงได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
เรื่องของเมืองไทยที่ฝรั่งศึกษากัน ก็จึงได้มีมากมายขึ้นในตอนนั้น เราจะเห็นหนังสือเกี่ยวกับมานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องไทยในแง่มานุษยวิทยา ศึกษาในแง่ประวัติศาสตร์ และหนังสือหรือผลงานวิจัยเรื่องทั่วไปของ Southeast Asian Studies ในด้านต่างๆ มีขึ้นมากมาย
ชื่อนักวิชาการ ที่มีความโด่งดังปรากฎจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะท่านที่ศึกษาวิจัย เกี่ยวกับเรื่องเมืองไทยไว้มากบ้างน้อยบ้าง บางท่านก็ล่วงลับไปแล้ว บางท่านก็ยังมีชีวิตอยู่ เช่น Lauriston Sharp, Thomas Kirsch, William Skinner, A.B. Griswold, David K. Wyatt, Charles F. Keyes, Donald K. Swearer, S. J. Tambiah, Frank E. Reynolds, Steven Piker เป็นต้น
ท่านเหล่านี้ให้ความสนใจแก่ เรื่องของสังคมไทย และวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เด่นอยู่ในการศึกษาของท่านเหล่านี้ก็คือ เรื่องของพระพุทธศาสนา