เพื่ออนาคตของการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ตอน ๒ สร้างปัญหา

ในช่วงนี้ อยากจะพูดถึงเรื่องปัญหาบ้าง ที่พูดมาแล้วช่วงที่หนึ่งก็คือช่วยแก้ปัญหา คราวนี้ช่วงที่สองก็จะเป็นช่วงของการสร้างปัญหา แต่อยากจะเน้นอะไรบางอย่างเสียก่อน คือ

ข้อพึงเน้นในการแก้ปัญหา

อย่างที่พูดแล้วข้างต้นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการศึกษาไทยนี่ เราจะต้องไม่โทษเพียงตัวการศึกษาหรือวงการศึกษาเท่านั้น เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะมองปัญหาในวงแคบเกินไป แล้วก็ทำให้การแก้ปัญหานั้นติดตัน แต่เราจะต้องมองถึงการบริหารประเทศทั้งหมด เริ่มแต่ผู้นำนโยบายในการบริหารประเทศ ซึ่งโยงมาถึงการศึกษา และการศึกษานี้เองก็เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของสังคมที่สัมพันธ์กับกิจกรรมอย่างอื่นทุกอย่าง พูดได้ว่า สังคมไทยเราทั้งหมดนี้ได้มีส่วนร่วมกันในการสร้างปัญหาขึ้น เพราะฉะนั้น แทนที่จะบอกว่าการศึกษาสร้างปัญหา เราอาจจะพูดว่า ปัญหาทางการศึกษาที่เราจะต้องแก้ จะดีกว่า จะทำให้ไม่รู้สึกจำกัดตัวที่จะโทษเฉพาะการศึกษา แล้วก็มองปัญหาการศึกษากันแค่ ในวงการศึกษาเท่านั้น

อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะเน้น ก็คือ เรื่องที่การศึกษาในปัจจุบันไม่ค่อยจะเป็นผู้นำสังคมเสียแล้ว แต่คอยตามสนองความต้องการของสังคมมากกว่า ตามความเป็นจริงนั้น การศึกษาต้องทำทั้งสองหน้าที่ ทั้งตามสนองความต้องการของสังคมและนำสังคม แต่บทบาทที่สำคัญมากกว่าก็คือนำสังคม ทีนี้ ถ้าหากว่าการศึกษาทำหน้าที่ตามสนองความต้องการของสังคมมากไปหรืออย่างเดียว ก็จะเป็นอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ถ้าสังคมเดินผิดทาง ก็เท่ากับว่า การศึกษาไปตามช่วยเพิ่มปัญหาให้สังคม การศึกษาก็จะเสริมขยายปัญหาสังคมและสร้างปัญหาแก่สังคมไปโดยไม่รู้ตัว

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่คนเรานี้มักจะเอียงสุด อย่างที่ท่านอาจารย์รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ท่าน ดร.เอกวิทย์ พูดเมื่อกี้แล้ว คือว่า ไม่ควรจะมองแต่ด้านเสียอย่างเดียว จะเห็นว่า ในระยะนี้เราชักจะนิยมพูดกันถึงเรื่องปัญหาต่างๆ ในทางการศึกษาว่า การศึกษาไม่ดีอย่างนั้นๆ ว่ากันไปๆ เราก็จะมองเห็นแต่แง่ร้าย นั่นคือการไปสุดโต่งข้างหนึ่ง การมองแต่ดีก็ไปสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง ถ้าเรามองแต่สุดโต่งข้างเดียวแล้วก็จะทำให้เป็นการพรางตาตัวเองในการแก้ปัญหา เราอาจจะแก้ปัญหาโดยวิธีที่ไปสุดทางอีกด้านหนึ่ง แล้วต่อไปเราก็จะต้องประสบปัญหาอีกด้านหนึ่ง วนไปวนมา

การศึกษาของเราที่จัดทำกันมานี้ ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นั่นเป็นลักษณะทั่วไป แต่มันก็มีส่วนดีอยู่ในตัวเองบ้างเหมือนกัน แม้แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้นเอง มันก็ยังดำเนินอยู่และต้องทำต่อไป เพราะเงาหรืออิทธิพลของปัญหาเฉพาะหน้านั้นก็ยังไม่หมดไป ฉะนั้น ผลดีของการศึกษาที่สืบมาแต่เดิมนั้นก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งเราก็ต้องมองส่วนดีด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท เราจะต้องพยายามมองสิ่งที่เป็นปัญหาไว้ให้มากสักหน่อย เพื่อว่าเราจะได้เร่งรัดตัวเองในการที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น

อีกประการหนึ่ง ในเรื่องของการมองปัญหา ลักษณะที่ถูกต้องอย่างหนึ่งก็คือการมองปัญหาให้ครอบคลุม มองให้ทั่ว เพราะว่า ปัญหาต่างๆ นั้น โดยปกติแล้วมันสัมพันธ์โยงกันไปหมด บางทีมันแทบจะเป็นปัญหาเดียวกันนั่นเอง แต่ปรากฏออกมาเป็นด้านต่างๆ ของปัญหานั้น ถ้าเราไม่มองปัญหาให้ครอบคลุม มาจำกัดตัวอยู่กับปัญหาอันหนึ่งๆ การแก้ปัญหาก็จะมีลักษณะของการที่แก้พอให้รอดตัวไปครั้งหนึ่งๆ แล้วมันก็จะทำให้ยุ่ง วุ่นวาย สับสนมากขึ้น

สาเหตุของปัญหาก็เช่นเดียวกัน สาเหตุของปัญหานั้นมักจะอิงอาศัยกัน โยงกัน สัมพันธ์กันไปหมด ฉะนั้น เราจะต้องจับตัวปัญหาให้ชัด แล้วก็ดูว่า เหตุปัจจัยของปัญหาอยู่ที่ไหน อะไรบ้าง จับให้ได้ แล้วไล่ดูว่า มันสัมพันธ์อิงอาศัยส่งต่อกันอย่างไร เรื่องนี้ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นกระบวนการอิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท สิ่งทั้งหลายในสังคมนี้ย่อมอิงอาศัยเชื่อมโยง สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะสิ่งที่สัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกันเป็นอย่างยิ่งก็คือ กระบวนการของการก่อปัญหา ฉะนั้น ในการวิเคราะห์ปัญหาจึงจะต้องมองปัญหาให้ครอบคลุมแล้วก็โยงกันให้ได้ แล้วสืบค้นเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันให้พบ แล้วแก้ให้ตรงเหตุตรงปัจจัย มิฉะนั้นแล้ว การแก้ปัญหาจะไม่ตรงจุดแล้วก็ยาก

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.