ชีวิตจะดีงามมีความสุข ประเทศชาติจะรุ่งเรืองมั่นคง และสังคมจะร่มเย็นเกษมศานต์ ด้วยปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาคน ซึ่งจะทำให้คนเป็นคนดีมีความสุข และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ การพัฒนาคนก็คือการศึกษา
คนที่มีการศึกษา ตลอดจนจบการศึกษาแล้ว เรียกว่า “บัณฑิต” ในประเพณีไทยโบราณเรียกคนที่บวชเรียนแล้วว่าเป็น “ฑิต” (ตามปกตินิยมเขียนเป็นคำชาวบ้านว่า “ทิด”) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นคำกร่อนของ “บัณฑิต” ปัจจุบันเรียกคนที่ศึกษาจบปริญญาตรีแล้วว่า เป็น “บัณฑิต” เมื่อว่าโดยเนื้อหาสาระ บัณฑิต ก็คือคนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท พัฒนาชีวิตของตนจนลุถึงประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของชีวิต
ขอให้พิจารณาพุทธพจน์ต่อไปนี้
“บุคคลผู้ไม่ประมาท เข้าถึงจุดหมายทั้งสอง คือจุดหมายในเรื่องที่ตาเห็น และจุดหมายที่เลยตาเห็น ชื่อว่าเป็นบัณฑิต, บุคคลนั้นเรียกว่าเป็นบัณฑิต เพราะบรรลุประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย”
(สํ.ส.๑๕/๓๘๐/๑๒๖)
“ดูกรภิกษุ ในสัตวโลกนี้ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย, ย่อมคิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ย่อมคิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ย่อมคิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งสองฝ่าย ย่อมคิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว; ดูกรภิกษุ ด้วยเหตุผลอย่างนี้แล บุคคลจึงชื่อว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก”
(องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๘๖/๒๔๓)
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ ทั้งเพื่อประโยชน์ตน และเพื่อประโยชน์ผู้อื่น กล่าวคือ ภิกษุ
- ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพฤติกรรมดี (ศีล) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการทำพฤติกรรมดี (ศีล) ให้ถึงพร้อม,
- ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจิตที่ฝึกดี (สมาธิ) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการทำภาวะจิตที่ฝึกดี (สมาธิ) ให้ถึงพร้อม,
- ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นใน การทำปัญญาให้ถึงพร้อม,
- ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความมีจิตใจเป็นอิสระ (วิมุตติ) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการทำความมีจิตใจเป็นอิสระ (วิมุตติ) ให้ถึงพร้อม,
- ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความหยั่งรู้หยั่งเห็นในวิมุตติด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการทำวิมุตติให้ถึงพร้อม;
ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น”
(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๒๐/๑๕)
“ดูกรมหานาม เมื่อใดแล อุบาสกทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเชื่อถือหลักการที่ถูกต้อง (สัทธา) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความเชื่อถือหลักการที่ถูกต้อง, ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพฤติกรรมดี (ศีล) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยพฤติกรรมดี, ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเผื่อแผ่เสียสละ (จาคะ) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความเผื่อแผ่เสียสละ, ทั้งเป็นผู้ใฝ่ใจไปเยือนหาพระภิกษุด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ไปเยือนหาพระภิกษุ, ทั้งเป็นผู้ใฝ่ใจสดับ สัทธรรมด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้สดับสัทธรรม, ทั้งเป็นนักทรงจำหลักธรรมที่สดับแล้วด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ทรงจำหลักธรรมไว้, ทั้งเป็นนักพิจารณาไตร่ตรองอรรถแห่งหลักธรรมที่ได้สดับแล้วด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการพิจารณาไตร่ตรองอรรถแห่งหลักธรรมที่ได้สดับแล้ว, ทั้งเป็นผู้รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักด้วย; ดูกรมหานาม ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน และเพื่อประโยชน์ผู้อื่น”
(องฺ.สตฺตก.๒๓/๑๑๖/๒๒๕)
ประโยชน์หรือคุณค่าที่เป็นจุดหมายของชีวิต เรียกว่า อัตถะ หรือ อรรถ มี ๒ ระดับ ถ้าแยกละเอียด แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ