พระพุทธศาสนากับการบริจาคอวัยวะ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พระพุทธศาสนา
กับ
การบริจาคอวัยวะ1

บริจาคอวัยวะเป็นบุญสูงใหญ่

ผู้อำนวยการฯ : มีข้อห้ามในศาสนาพุทธหรือไม่เกี่ยวกับเรื่อง การบริจาคอวัยวะ

พระธรรมปิฎก : ตามปกติ ไม่มีข้อห้าม มีแต่จะสนับสนุน เพราะการบริจาคอวัยวะเป็นการเสียสละเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ต้องการให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ และมีความสุข การบริจาคจึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น “ทศพิศราชธรรม” ก็ดี การบำเพ็ญ “บารมี” ของพระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ก็ดี ก็มีการบริจาคเป็นคุณธรรมข้อแรก

การบริจาคนี้ เป็นการให้ เรียกว่า “ทาน” คือการให้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเรียกว่า “ทานบารมี” นั้น การบริจาคอวัยวะเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นความดีที่จำเป็นต้องทำเลยทีเดียว เพราะการก้าวไปสู่โพธิญาณ ต้องมีความเข้มแข็งของจิตใจในการเสียสละเพื่อความดี ทั้งนี้ทานที่เป็นบารมี แบ่งเป็น ๓ ขั้น เช่นเดียวกับบารมีอื่นๆ คือ

ทานบารมี ระดับสามัญ คือการบริจาคทรัพย์สินเงินทองของนอกกาย ถึงจะมากมายแค่ไหนก็อยู่ในระดับนี้

ทานอุปบารมี คือ ทานบารมีระดับรองหรือจวนสูงสุด ได้แก่ความเสียสละทำความดีถึงขั้นสามารถบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้

ทานปรมัตถบารมี คือ ทานบารมีขั้นสูงสุด ได้แก่ การบริจาคชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือเพื่อรักษาธรรม

แน่นอนว่า การบริจาคอวัยวะนั้นเป็นคุณธรรมสำคัญ และเป็นบุญมากตามหลักพระพุทธศาสนา นอกจากเป็นบารมีขั้นทานอุปบารมีแล้ว ยังโยงไปหาหลักสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “มหาบริจาค” คือการบริจาคใหญ่ ซึ่งพระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติอีก ๕ ประการ คือ บริจาคทรัพย์ บริจาคราชสมบัติ บริจาคอวัยวะและนัยน์ตา บริจาคตัวเองหรือบริจาคชีวิต และบริจาคบุตรภรรยา

บริจาคบุตรและภรรยานั้น คนสมัยใหม่อาจจะมองในทางที่ไม่ค่อยดี แต่ต้องเข้าใจว่าการบริจาคบุตรภรรยานี้ไม่ใช่ไปมองในแง่ทอดทิ้งบุตรภรรยา แต่มองในแง่ที่สามารถสละความหวงแหนยึดถือทางจิตใจ อย่างคนทั่วไปที่เมื่อมีความยึดถือผูกพันด้วยความรัก ก็มักจะมีความเอนเอียงเป็นอย่างน้อย ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ คือพระโพธิสัตว์นั้นจิตใจจะต้องตรงต่อธรรม สามารถรักษาความถูกต้องโดยไม่เห็นแก่อะไรทั้งสิ้น จึงต้องสละความยึดถือแม้แต่ลูกเมียได้ แต่การจะสละบุตรภรรยาคือยอมให้เขาไปกับใครนั้น มีข้อแม้ว่าต้องให้เขายินดีพอใจหรือเต็มใจด้วย ถ้าเขาไม่พอใจก็ไม่บริจาค ท่านมีเงื่อนไขไว้แล้ว

หันกลับมาเรื่องการบริจาคอวัยวะ เป็นอันว่าพระโพธิสัตว์จะเป็นพระพุทธเจ้าได้จำเป็นต้องบำเพ็ญมหาบริจาค ซึ่งมีการบริจาคอวัยวะ บริจาคนัยน์ตา บริจาคชีวิตรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่าไม่มีการห้าม นอกจากจะทำด้วยโมหะและโดยไม่มีเหตุผล ส่วนการทำอย่างมีเหตุผล คือมีจิตเมตตากรุณา ต้องการเสียสละให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นนี้ ท่านสนับสนุน

1พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ให้สัมภาษณ์แก่ นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ที่วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๒ เวลา ๑๔.๐๐ น.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.