นอกจากการที่จะมีความไม่สันโดษ และสันโดษที่ถูกต้องแล้ว เพราะฉันทะทำให้ใจมาอยู่กับงาน สิ่งที่ทำ สิ่งที่เป็นเป้าหมาย ทำให้เกิดจิตใจฝักใฝ่อย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ เมื่อใจฝักใฝ่ก็ทำงานด้วยความแน่วแน่จริงจัง สภาพที่จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กระทำนั้น เราเรียกว่าเป็น “สมาธิ”
เพราะฉะนั้น ฉันทะก็นำไปสู่สมาธิ สมาธิในการทำงานเกิดได้ด้วยการมีฉันทะ เมื่อมีสมาธิและใจก็รักงานนั้น ทำงานด้วยใจรัก ใจก็เป็นสุข เพราะฉะนั้น คนที่ทำงานด้วยฉันทะก็มีจิตใจเป็นสุข ใจเป็นสมาธิ สมาธิก็ทำให้เป็นสุขเพราะจิตใจสงบแน่วแน่ เมื่อทำจิตใจให้เป็นสมาธิแน่วแน่ ตั้งใจจริงจัง ใจรักงานนั้น ตั้งใจทำเต็มที่ มีความเพียรพยายาม ผลสำเร็จของงานก็เป็นผลสำเร็จที่ดี เรียกว่านำไปสู่ “ความเป็นเลิศ” ของงานนั้น หมายความว่า งานนั้นจะสำเร็จผลอย่างดีเลิศ อันนี้ก็เลยพันกันไปหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ฉันทะเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งในอิทธิบาท ๔ คือ ธรรมที่เป็นเครื่องให้ถึงความสำเร็จ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ทางแห่งความสำเร็จ”
เมื่อพูดมาถึงอิทธิบาทแล้ว ก็จะต้องโยงไปถึงคุณธรรมข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะอิทธิบาทมี ๔ ข้อ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ฉันทะคือ ข้อที่พูดมาแล้ว ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น รักงาน รักเป้าหมาย รักจุดหมายที่ดีงาม รักวัตถุประสงค์ของงานนั้น
ข้อต่อไปนี้คือ วิริยะ ความเพียร ความพยายาม จิตตะ ความเอาใจใส่ในสิ่งนั้น วิมังสา ความไตร่ตรองสอบสวนพิจารณา หรือถ้าจะพูดให้สั้น จำง่ายๆ ก็บอกว่า “มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน” นี่เป็นอิทธิบาท ๔
ฉันทะเป็นข้อที่ ๑ ตามปกติถ้ามีฉันทะแล้ว มันก็ช่วยให้เกิดคุณธรรมข้ออื่นในอิทธิบาท ๔ ตามมา มันสัมพันธ์กัน ช่วยเหลือเกื้อหนุนกัน พอมีฉันทะใจรักแล้ว มันก็เกิดความเพียรพยายาม เมื่อมีความเพียรพยายามใจก็ฝักใฝ่จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น มีใจจดจ่อเอาใจใส่แล้ว ก็สามารถจะใช้ปัญญาพิจารณาสอนสวนเรื่องราวนั้น ไตร่ตรองถึงข้อบกพร่อง ข้อที่ควรแก้ไข หาทางทดลองปรับปรุงอะไรต่างๆ เหล่านี้ มันก็ตามกันมา ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นชุดกันทีเดียว แต่ความจริงนั้นไม่จำเป็นจะต้องตามลำดับนี้ อิทธิบาท ๔ นั้นแต่ละข้อมันก็เป็นใหญ่ในแต่ละตัว พระพุทธเจ้าตรัสว่า อิทธิบาท ๔ แต่ละข้อเป็นตัวทำให้เกิดสมาธิได้ทั้งนั้น ในพระไตรปิฎกจึงมักจะตรัสเรื่องอิทธิบาท ๔ ในแง่ของสมาธิ แล้วจะมีสมาธิตามชื่อของอิทธิบาท ๔ แต่ละข้อ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
สมาธิที่อาศัยฉันทะเกิดขึ้น เรียกว่า “ฉันทสมาธิ”
สมาธิที่อาศัยวิริยะเกิดขึ้น เรียกว่า “วิริยสมาธิ”
สมาธิที่อาศัยจิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่เกิดขึ้น เรียกว่า “จิตตสมาธิ”
และสมาธิที่อาศัยวิมังสาเกิดขึ้น เรียกว่า “วิมังสาสมาธิ”
ตกลงมีสมาธิ ๔ แบบ อันนี้อาจจะเป็นคำที่แปลก ที่จริงพระไตรปิฎก มีคำตรัสถึงเรื่องสมาธิตามหลักอิทธิบาทนี้บ่อยๆ
การสร้างสมาธิโดยเอาหลักอิทธิบาทมาใช้นี่เราจะเห็นว่ามันช่วยให้ได้ผลดี แล้วไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่ว่า คือแต่ละข้อนี่ทำให้เกิดสมาธิได้ทั้งนั้น แล้วมันจะสัมพันธ์กับนิสัยของคน สมาธิในแบบอิทธิบาทนี่มันเกื้อกูลแก่การทำงานมาก สำหรับข้อฉันทะนั้นได้พูดมาแล้วว่า เมื่อมีใจรักแล้วเราก็เกิดความแน่วแน่ เกิดสมาธิในการทำงาน อันนี้เป็นเรื่องแน่นอน
แต่ทีนี้สำหรับคนบางคน ถ้าเราต้องการที่จะนำหรือกระตุ้นให้เกิดสมาธิ ลักษณะจิตใจของเขาเหมาะแก่การกระตุ้นวิริยะมากกว่า วิริยะนี่มาจากคำว่า วีระ ตามหลักภาษา วีระกับภาวะ รวมกันแล้วก็เป็นวิริยะ แปลว่า วีรภาวะ ภาวะของผู้แกล้วกล้า วิริยะที่แปลว่า ความเพียรพยายาม นี่แปลตามศัพท์ว่า ความเป็นผู้แกล้วกล้า แกล้วกล้า คือ ใจสู้ ไม่ยอมท้อ ถ้าเห็นอะไรเป็นอุปสรรคหรืองานที่มาอยู่ข้างหน้าแล้วจะต้องเอาชนะทำให้สำเร็จ คนที่มีลักษณะอย่างนี้ จะทำอะไรต้องให้มีลักษณะท้าทาย ถ้าอะไรเป็นเรื่องท้าทายแล้วใจสู้จะทำให้ได้ คนที่มีลักษณะอย่างนี้ ท่านว่าให้ปลูกฝังสมาธิด้วยวิริยะ คือสร้าง วิริยสมาธิ ถ้าเราใช้จิตวิทยาก็หมายความว่า คนลักษณะนี้จะต้องทำงานให้เป็นเรื่องที่ท้าทาย ถ้าทำงานหรือสิ่งที่เรียนให้เป็นเรื่องที่ท้าทายแล้ว คนแบบนี้จะสู้และจะพยายามทำให้สำเร็จ แล้วสมาธิที่เป็นตัวแกนให้งานสำเร็จจะตามมา
คนบางคนเป็นคนแบบมีจิตตะ ลักษณะเป็นคนเอาใจจดจ่อ ถ้ามีอะไรที่เข้าเกี่ยวข้องกับตัวเขา เรียกว่าเป็นเรื่องของเขาแล้ว เอาใจจดจ่อไม่ทอดทิ้ง อย่างนี้เป็นลักษณะของคนมีความรับผิดชอบ คนแบบนี้ ถ้าทำให้เรื่องนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเขา อยู่ในความรับผิดชอบ เป็นเรื่องของเขาขึ้นมาแล้วเขาจะทำ เรียกว่าสร้างสมาธิด้วยวิธีของจิตตอิทธิบาท ข้อที่ ๓
คนอีกพวกหนึ่งเป็นพวกชอบสงสัย ชอบค้นคว้า ชอบทดลอง ถ้าทำอะไรให้เขาเกิดความรู้สึกสงสัย อยากรู้ อยากเข้าใจขึ้นมาละก็พวกนี้เอา เพราะฉะนั้น ถ้ารู้จิตวิทยาดีในแบบนี้ ก็หมายความว่าทำเรื่องนั้นให้เป็นเรื่องที่น่าค้นคว้า น่าศึกษา น่าสงสัย น่าทดลอง พออยากลองคราวนี้คนนั้นเอาจริงๆ ไม่ทิ้ง ไม่ไปไหน วุ่นอยู่นั่นเอง พยายามทำให้ได้ให้สำเร็จ
อิทธิบาทแต่ละข้อนี่เป็นวิธีสร้างสมาธิทั้งนั้น เป็นทางนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่จำเป็นจะต้องเริ่มที่ข้อใดตายตัว ตามปกตินั้นเริ่มที่ฉันทะมาก ถ้าเริ่มตัวหนึ่งแล้ว ตัวอื่นจะมาหนุนทันที เพราะฉะนั้นถ้าคนมีนิสัยใจรักชอบอะไรแล้วก็ทำละก็ คนนั้นก็ต้องยุในแง่ฉันทะ คนไหนชอบสิ่งที่ท้าทายก็ต้องทำงานให้เป็นเรื่องท้าทาย จึงจะเอาจริง ใจสู้ คนไหนมีลักษณะเป็นคนมีความใฝ่ใจรับผิดชอบ เรื่องของตัวเองเกี่ยวข้องจึงทำ ก็ใช้วิธีจิตตะ ส่วนคนที่ชอบทดลองค้นคว้า ก็ทำงานให้เป็นเรื่องที่น่าอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจ น่าสงสัยสอบสวนไป มันก็จะได้งานขึ้นมา คือว่าทุกอย่างจะนำไปสู่การเกิดสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิแล้วเขาจะทำงานด้วยความพอใจ มีความสุข เมื่อทำด้วยความตั้งใจจริง ทำด้วยสมาธิ งานนั้นก็สำเร็จอย่างดี
หลักอิทธิบาท ๔ นี่ เป็นธรรมสำคัญที่เราอาจจะต้องมาขยายวิธีการ คือ จากหลักใหญ่ๆ นี่ น่าจะมีการเอาไปขยายรายละเอียดของวิธีการได้ในแต่ละข้อ เช่นว่า ในแง่ฉันทะ จะทำอย่างไร มีเทคนิคอะไรบ้างที่จะทำให้คนรักงาน หรือทำให้งานนั้นหรือเรื่องที่เป็นหน้าที่นั้นเป็นเรื่องที่คนชอบ เพราะจะมีคนพวกหนึ่งที่ว่ารักชอบละก็ทำ ทีนี้ มีคนอีกพวกหนึ่งที่ต้องใช้ธรรมข้อที่ ๒ คือจะต้องสร้างเทคนิคกันขึ้นมาว่า ทำอย่างไรจะให้งานหรือหน้าที่นั้นเป็นเรื่องท้าทาย แล้วคนพวกนี้ก็จะมาทำ อย่างที่ ๓ ก็ทำให้รู้สึกเกี่ยวข้องเป็นเรื่องของเขา อันที่ ๔ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอยากทดลอง
นี่เป็นวิธีการในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักใหญ่ๆ แต่ในแง่เทคนิคนี่เรายังไม่ค่อยได้มีการนำเอามาขยาย ถ้าขยายอาจจะเป็นวิธีการที่น่าศึกษาทีเดียว เอามาเรียนเป็นวิชาการกันได้สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่จุดแรกที่ย้ำนี่ โยงกลับไปที่เก่า คือ เรื่องฉันทะ จึงจะขอผ่านเรื่องอิทธิบาทนี่กลับมาสู่ข้อต้นในชุดของมัน คือ ฉันทะ อีกครั้งหนึ่ง