เรื่องฤทธิ์ หรืออิทธิปาฏิหาริย์นั้น มีหลักพุทธศาสนาชัดเจนอยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ ไม่ว่าฤทธิ์นั้นจะทำได้จริงหรือไม่ ก็ไม่สรรเสริญทั้งนั้น เรื่องนี้ชาวพุทธควรจะชัดเจนที่สุด ไม่น่าจะมัวมาวุ่นกันอยู่อีก
การที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระมหาโมคคัลลานะว่าเป็นยอดของผู้มีฤทธิ์นั้น ไม่ได้ทรงยกย่องตัวอิทธิปาฏิหาริย์ แต่ทรงยกย่องตัวท่านผู้ใช้ฤทธิ์ด้วยเหตุผลอย่างอื่น โดยเฉพาะในการที่ท่านใช้ฤทธิ์ปราบความเมาฤทธิ์ เพราะยุคนั้นผู้คนเมาฤทธิ์กันเหลือเกิน
แต่ในทางตรงข้าม แทนที่จะใช้ฤทธิ์ปราบความเมาฤทธิ์ ถ้ามีการใช้ฤทธิ์เพื่อทำให้เกิดความเมาฤทธิ์ยิ่งขึ้น ก็จะกลายเป็นการก่อบาปอกุศลแก่ประชาชน ผิดหลักการของพระพุทธศาสนาไปไกล พระพุทธเจ้าและพระสาวกไม่ใช้ฤทธิ์บันดาลผลสนองความอยากให้แก่บุคคลผู้ใด แต่ท่านสอนให้ทุกคนเพียรพยายามทำเหตุที่จะให้ได้ผลนั้นด้วยสติปัญญาความสามารถ
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงยกย่องพระเทวทัตซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มาก แต่เอาฤทธิ์ไปใช้ชักจูงผู้อื่นอย่างเช่นเจ้าชายอชาตศัตรู ให้มาเลื่อมใสหลงติดเป็นศิษย์บริวาร แทนที่จะเอาธรรมมาพูดจาให้เห็นความจริงกันด้วยปัญญา (ที่ท่านเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์)
ที่ว่า “เมาฤทธิ์” ถ้าหมายถึงเจ้าตัวคนที่มีฤทธิ์ ก็คือ ภูมิใจ กระหยิ่มใจ ลำพองตัวว่ามีความวิเศษยิ่งใหญ่ บางทีก็ถึงกับสำคัญผิดว่าที่ตนมีฤทธิ์นั้นคือเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระอริยะแล้ว
ถ้าเป็นคนอื่น เช่น บริวาร ก็อาจจะหลงไปว่า อาจารย์หรือท่านที่ตนนับถือเป็นพระอรหันต์เป็นพระอริยะ หรือเป็นผู้วิเศษ แล้วก็มาหมกมุ่นวุ่นวาย ตื่นเต้น ชื่นชมอยู่กับเรื่องฤทธิ์นั้น เพลิดเพลิน กระหยิ่มใจ หรือกล่อมใจ ด้วยความหวังว่าท่านผู้มีฤทธิ์จะมาช่วยเหลือดลบันดาล ขจัดปัดเป่าทุกข์ภัย หรือนำผลที่ปรารถนามาให้ เลยมัวรอความช่วยเหลือ หรือไม่ก็ย่อหย่อนเฉื่อยชาลงไปในการที่จะเร่งขวนขวายใช้กำลังความเพียรและสติปัญญาแก้ปัญหาและสร้างผลที่ต้องการให้สำเร็จ เรียกสั้นๆ ว่า ตกอยู่ในความประมาท
พระพุทธศาสนาสอนให้คน“หวังผลจากการกระทำ” และให้กระทำการที่ดีด้วยความเพียรพยายามโดยใช้สติปัญญา ไม่ใช่มัวกล่อมใจกันด้วยความหวังว่าจะมีอำนาจวิเศษมาดลบันดาลหรือหยิบยื่นให้ ยิ่งเวลานี้ถึงคราวจำเป็นจะต้องพัฒนาคนไทยให้เข้มแข็งมีคุณภาพ เพื่อจะมาสร้างประเทศชาติสังคมในระยะยาว จะต้องย้ำกันหนักให้หวังผลจากการกระทำ อย่าหวังผลจากการดลบันดาลโดยเด็ดขาด