นิติศาสตร์แนวพุทธ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บทนำ
นิติศาสตร์ กับ ธรรมศาสตร์

ก่อนอื่น จะพูดถึงคำศัพท์ คำว่า “นิติศาสตร์” แปลกันว่า วิชากฎหมาย แต่ที่จริงนั้นเรานำคำนี้มาจากภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาของประเทศอินเดียที่มีอารยธรรมเก่าแก่แต่โบราณ นิติศาสตร์เป็นถ้อยคำทางวิชาการของประเทศอินเดีย ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า ชมพูทวีป

ถ้าดูตามศัพท์ นิติศาสตร์ตามความหมายที่ใช้ในประเทศอินเดีย จะเป็นวิชาทางด้าน politics คือวิชาด้านรัฐศาสตร์ หรือวิชาการเมือง ดังเช่นที่กล่าวถึงในคัมภีร์พุทธศาสนาว่า “ขตฺติยธมฺมสงฺขาเต นีติสตฺเถ” (ชา.อ.๘/๔๕๒) ซึ่งแปลว่า ในนีติศาสตร์ กล่าวคือ ขัตติยธรรม (ธรรมของกษัตริย์ คือ คุณสมบัติของผู้ปกครอง และหลักการปกครอง)

“นิติ” แปลว่า การนำ มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า “นายก” ซึ่งแปลว่า ผู้นำ คำเดิมในภาษาบาลีหรือสันสกฤตว่า นีติ ซึ่งมาจากธาตุเดียวกันกับนายก คือ นี แปลว่านำ “นีติ” จึงแปลว่า การนำ นิติศาสตร์ที่แท้เรียกว่า “นีติศาสตร์” ภาษาไทยเรียกนิติศาสตร์เพื่อทำให้สั้น

นิติศาสตร์ แปลว่า ศาสตร์แห่งการนำ หรือจัดดำเนินการ ซึ่งอาจขยายความหมายว่าเป็นศาสตร์แห่งการนำคน หรือการนำกิจการของรัฐ หรือการทำหน้าที่ของผู้นำ

อย่างไรก็ตาม การที่จะดำเนินการปกครองหรือเป็นผู้นำประเทศชาติได้นั้น แน่นอนว่าจะต้องมีระเบียบแบบแผน คือเราต้องมีเครื่องมือที่จะใช้เป็นกติกาสังคม การปกครองจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์กติกา อย่างน้อยต้องรู้ว่าจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ ในขอบเขตแค่ไหน การปกครองจึงเรียกร้องให้มีกฎเกณฑ์กติกาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เรื่องของกฎหมายกับเรื่องของการปกครองจึงแยกกันแทบไม่ได้ จนกลายเป็นว่า เมื่อมีการปกครองก็ต้องมีกฎหมาย คือมีกฎเกณฑ์กติกาของสังคมหรือของประเทศชาติ ที่พลเมืองจะต้องประพฤติปฏิบัติตาม

สมัยก่อน กฎเกณฑ์กติกาเหล่านี้มาจากผู้ปกครอง และผู้ปกครองจะต้องเข้าใจ รู้จักจัดตั้งวางใช้กฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้น เพราะฉะนั้นวิชาการปกครองก็จึงเรียกร้องให้ต้องเรียนรู้ในเรื่องกฎเกณฑ์กติกา ที่เรียกว่ากฎหมาย พอมาถึงเมืองไทยปรากฏว่าเราใช้คำว่า “นิติศาสตร์” ในความหมายว่า “วิชากฎหมาย” ก็เลยพูดได้ว่าวิชากฎหมายแยกไม่ออกจากวิชาปกครองรัฐ

ที่ว่ามานี้หมายถึงความเป็นมาในอดีต กฎหมายมาจากรัฐ และกฎหมายเป็นเครื่องมือของการปกครอง

การปกครองที่ดีมุ่งเพื่อประโยชน์ของประชาชน การตั้งกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้นขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ของประชาชน คือ ให้ประชาชนอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสงบสุข

แต่บางครั้งก็เป็นไปได้ที่ผู้ปกครองนั้นออกกฎหมายมาเพื่อประโยชน์ของตนเอง จึงอาจจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรือแม้ไม่ได้มุ่งจะเบียดเบียนประชาชน แต่บางครั้งกฎหมายนั้นอาจจะรุนแรงเกินไปก็ได้ หรือบางครั้งอาจจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนแม้ด้วยความตั้งใจดีแต่รู้ไม่เท่าถึงการณ์

ต่อมา กฎหมายก็อาจจะมีวิวัฒนาการ คือ เกิดมีกติการะหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองว่า ผู้ใต้ปกครองก็มีสิทธิเหมือนกัน ผู้ปกครองควรมีขอบเขตในการปฏิบัติต่อผู้ใต้ปกครองอย่างไร จึงมีกติกาที่ตั้งไว้เป็นขอบเขต แม้แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ปกครองมาละเมิดหรือเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงผู้อยู่ใต้อำนาจปกครอง ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องของวิวัฒนาการซึ่งอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน

จากวิวัฒนาการของสังคม ซึ่งมีความสัมพันธ์กันระหว่างการปกครองกับกฎหมาย เมื่อสังคมเจริญมากขึ้น กฎหมายก็ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือของการปกครอง แต่การปกครองก็ถูกกำหนดโดยกฎหมาย คือ กฎหมายทั้งรับใช้การปกครอง และเป็นตัวกำหนดการปกครอง ที่บอกให้รู้ว่าจะให้การปกครองมีรูปแบบ กลไก และดำเนินไปอย่างไร

ภาวะที่น่าจะเป็น(ซึ่งอาจจะไม่เป็น) ก็คือ สังคมจะพัฒนาต่อไปจนถึงขั้นที่ว่า กฎหมายเป็นเพียงข้อตกลงของมนุษย์ผู้พัฒนาตนดีแล้ว สำหรับหมายรู้ในการอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์โอกาสในการพัฒนาชีวิตให้ดีงามยิ่งขึ้น

ถ้ามนุษย์เจริญถึงขั้นนั้นได้จริง ก็จะมีกฎหมายโดยไม่ต้องมีการปกครอง เพราะประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมาย โดยแต่ละคนปกครองตนเองได้ตามข้อตกลงนั้น

มีอีกศัพท์หนึ่งที่เป็นเรื่องของกฎหมาย ซึ่งเราได้ยินกันและใช้กันจนกระทั่งนำมาตั้งเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย คือคำว่า “ธรรมศาสตร์” แปลว่า “วิชากฎหมาย” เหมือนกัน และเดิมนั้นเป็นคำที่ตรงกว่า เพราะคำว่านิติศาสตร์นั้นเขาใช้ในความหมายของการปกครองโดยรัฐ ตรงกับที่เราใช้ว่ารัฐศาสตร์ ส่วนวิชากฎหมายแท้ๆ แต่เดิมคือ ธรรมศาสตร์ ซึ่งถ้าแปลตามศัพท์ก็เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักการ เพราะ “ธรรม” แปลว่า “หลักการ”

หลักการมี ๒ อย่าง คือ หลักการแห่งความเป็นจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ และหลักการที่มนุษย์ผู้มีปัญญานำเอาความรู้ในความจริงนั้นมาจัดตั้งวางเป็นแบบแผนในสังคมมนุษย์ จนกระทั่งเป็นกติกาสังคม ซึ่งมนุษย์ที่อยู่ในสังคมนั้นจะต้องยึดถือ อย่างหลังนี้ก็เป็นหลักการเช่นเดียวกัน เราจึงเรียกทั้ง ๒ อย่างนี้ว่า “ธรรม”

หลักการในระดับที่นำมาวางเป็นระเบียบแบบแผนกติกาสังคมที่ให้ประชาชนยึดถือ ก็มาจัดขึ้นเป็นวิชาเรียกว่า “ธรรมศาสตร์” คือเป็นวิชาการเกี่ยวกับกฎหมาย

ในเมืองไทยสมัยใหม่ เมื่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คือ ตั้งมหาวิทยาลัยที่เรียนวิชากฎหมาย และพึงสังเกตว่า เดิมทีเดียวเรียกว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คือเรียนวิชากฎหมายกับวิชาการปกครอง ตรงกับที่พูดไปข้างต้นแล้วว่า กฎหมายมาด้วยกันกับการปกครอง หรือในการปกครองก็ต้องมีกฎหมาย

นิติศาสตร์ กับ ธรรมศาสตร์ มีความหมายโยงถึงกัน แต่ถ้ามองในทัศนะของศาสนาพราหมณ์ที่เป็นเจ้าของอารยธรรมชมพูทวีปสมัยนั้น ก็ถือว่า กฎเกณฑ์กติกาทั้งหมดนั้นมาจากพระพรหมทั้งสิ้น คือเทพเจ้าสูงสุดเป็นผู้กำหนด กฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้นจึงได้รับการรักษาสืบทอดกันมาในคัมภีร์ศาสนา ซึ่งมีข้อกำหนดให้ประพฤติปฏิบัติแม้แต่ในครอบครัวและในชีวิตประจำวันว่า ควรจะเป็นอยู่กันอย่างไร ดำเนินชีวิตอย่างไรผิด ดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะถูกต้อง

พราหมณ์ถือว่าทุกอย่างที่กล่าวมานั้นเป็นข้อกำหนดมาจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปกครองสูงสุดของโลก รวมทั้งข้อกำหนดในสังคม โดยเฉพาะการแบ่งแยกชนชั้น ที่เรียกว่า “วรรณะ” ได้แก่ วรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ดังที่อินเดียนับถือกันอยู่ และการกำหนดให้คนวรรณะต่างๆเหล่านี้มีหลักปฏิบัติประจำวรรณะของตนเองว่า ตนมีสิทธิแค่ไหน จะต้องทำและจะต้องไม่ทำอะไรอย่างไร หลักปฏิบัติเหล่านี้เรียกว่า “ธรรม” คือธรรมประจำวรรณะ ได้แก่ หลักการ ข้อกำหนด และหน้าที่ของคนที่อยู่ในวรรณะนั้นๆ ตำราและการศึกษาในเรื่องที่ว่ามานี้ทั้งหมด เรียกว่าเป็น ธรรมศาสตร์

ความจริงยังมีลึกลงไปอีกว่า สิ่งที่มาจากพระพรหมแท้ๆ เรียกว่า ศรุติ แปลว่า สิ่งที่ได้สดับมา คือเป็นเรื่องที่พราหมณ์ถือว่า ได้ฟังมาจากพระพรหมหรือเทพเจ้าสูงสุดโดยตรง ได้แก่เนื้อหาในคัมภีร์พระเวท ส่วน ศาสตร์ นี้เป็นคำสอนและคำอธิบายภายหลัง และศาสตร์นี้ก็ยังพัฒนามาจากสูตรอีกต่อหนึ่ง ทั้งสูตรและศาสตร์นี้รวมกันเรียกว่า สมฤติ แปลว่าสิ่งที่จำกันมา คือเล่าเรียนถ่ายทอดต่อกันมา

เพราะฉะนั้น ธรรมศาสตร์ จึงสืบเนื่องจาก ธรรมสูตร อีกต่อหนึ่ง (ธรรมสูตรเป็นความร้อยแก้ว ส่วนธรรมศาสตร์เรียบเรียงขึ้นเป็นความร้อยกรอง) และทั้งธรรมสูตรและธรรมศาสตร์นั้น ก็ถือว่ามีต้นกำเนิดมาจากศรุติ คือพระเวท และจึงมาจากพระพรหมผู้สร้างโลก

รวมความว่า ธรรมศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักการและข้อปฏิบัติต่างๆ เริ่มตั้งแต่การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน แนวทางความประพฤติ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และกฎเกณฑ์ต่างๆ ในทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่แนบสนิทอยู่กับศาสนา หรือพูดง่ายๆ ว่ามาจากข้อกำหนดในศาสนาพราหมณ์

ส่วน นิติศาสตร์ ตามความหมายทางวิชาการของชมพูทวีป หมายถึงวิชาการเมือง การปกครอง หรือการจัดกิจการบ้านเมือง เริ่มแต่เรื่องอำนาจหน้าที่และคุณสมบัติของราชา คือ ผู้ปกครอง การแต่งตั้งอำมาตย์ ข้าราชการ การจัดการบ้านเมืองให้อุดมสมบูรณ์ การทูต การสงคราม ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ต่างๆ การสงบศึกและสันติภาพ ฯลฯ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์กฎกติกา และคำแนะนำสั่งสอนแก่ผู้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง ตรงกับที่ไทยเราเรียกว่า รัฐศาสตร์

นิติศาสตร์ตามความหมายนี้ คัมภีร์ของพราหมณ์ เช่น มหาภารตะ ก็บอกว่าเป็นศาสตร์ที่พระพรหมเป็นเจ้าตำรับ และดังนั้นจึงมีต้นกำเนิดมาจากคัมภีร์พระเวท

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดในแง่ประวัติศาสตร์ ตำราทางด้านการปกครองหรือนิติศาสตร์ของอินเดีย ที่เป็นหลักเป็นฐานจริงๆ เรื่องแรก ก็คือ อรรถศาสตร์ ของเกาฏิลยะ (เรียกว่า จาณักยะ บ้าง วิษณุคุปต์ บ้าง) ผู้เป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าจันทรคุปต์ (พระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช) ซึ่งได้แต่งคัมภีร์นี้ขึ้นอย่างเร็วก็ประมาณ พ.ศ. ๑๖๐ (ฝรั่งว่า ประมาณ ๒๙๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช) แสดงให้เห็นว่าตำรานิติศาสตร์ ที่เป็นของนักปราชญ์ฝ่ายบ้านเมืองแต่งขึ้นก็มี ไม่จำเป็นต้องมาจากสายคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ ที่ว่ามาจากพระพรหมผู้สร้างโลก

ตำนานของพราหมณ์โยงเรื่องการปกครองกับกฎหมายเข้าด้วยกัน ดังที่เขาถือว่าพระพรหมได้ทรงแต่งตั้ง “มนู” ให้เป็นกษัตริย์หรือราชาพระองค์แรกของมวลมนุษย์ และพระมนูนี้ได้นิพนธ์คัมภีร์ธรรมศาสตร์ คือกฎหมายฉบับแรกขึ้นมา กล่าวคือ มานวธรรมศาสตร์ (เรียกว่า มนูสมฤติ บ้าง มนูสังหิตา บ้าง แต่บางทีเราเรียกกันง่ายๆ ว่า มนูธรรมศาสตร์)

ว่าโดยประวัติศาสตร์ คัมภีร์ธรรมศาสตร์หรือตำรากฎหมายเล่มแรก คือ มานวธรรมศาสตร์ นี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๗๕๐-๘๐๐

ในทางพุทธศาสนา ก็มีคำว่า “นิติศาสตร์” เหมือนกัน แต่ภาษาบาลีใช้คำว่า นีติสัตถะ แปลว่า คัมภีร์ว่าด้วยนีติ ได้แก่ขัตติยธรรม ดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่นีติในทางพุทธศาสนาใช้น้อยอย่างยิ่ง และความหมายไม่ได้โยงกับพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ในทางพุทธศาสนา “นีติ” อาจใช้ในความหมายกว้างๆ หมายถึง แนวทางหรือแบบแผนความประพฤติทั่วๆ ไป หรือระบอบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมือง ยกตัวอย่างเช่น คติที่ถือกันตั้งแต่ก่อนพุทธกาลว่า

“บุคคลนั่งนอนใต้ร่มไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งก้านของต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนทราม”                                                                    (ขุ.ชา. ๒๗/๑๔๖๙/๒๙๗)

อย่างนี้ก็ถือเป็นนีติเหมือนกัน คือเป็นแบบแผนความประพฤติ หลักการในเรื่องนี้ถือว่าต้นไม้ก็เป็นมิตรของเรา ถ้าเราไปอาศัยนั่งนอนใต้ร่มของเขาแล้วไปฟาดฟันทำลาย ก็เป็นผู้ประทุษร้ายมิตร

ว่าที่จริง ในฝ่ายสันสกฤต นีติ ก็มีการใช้ในความหมายพื้นๆ ว่า แนวทางความประพฤติ หรือหลักนำทางการดำเนินชีวิตด้วยเหมือนกัน ดังที่มีวรรณกรรมอันมีชื่อเสียงเกี่ยวกับหลักความประพฤติหรือหลักการดำเนินชีวิตและกิจการ เช่น โลกนีติ ธรรมนีติ และ ราชนีติ

เพราะฉะนั้น คำว่านีติศาสตร์ในฝ่ายสันสกฤตของอินเดีย จึงมีความหมายไม่จำกัดตายตัวทีเดียว คืออาจจะหมายถึงวิชาการเมืองการปกครองก็ได้ วิชาหลักหรือแบบแผนความประพฤติ อย่างที่เรียกปัจจุบันว่าจริยธรรมก็ได้ หรือวิชาจริยธรรมทางการเมืองก็ได้ ถ้าจะให้แน่ชัดเด็ดขาดลงไปว่าเป็นวิชาการปกครองบ้านเมือง หรือวิชารัฐศาสตร์ในความหมายอย่างที่ใช้กันในเมืองไทย ก็เติมคำ “ราช” เข้าไปข้างหน้า เป็น “ราชนีติศาสตร์”1

เมื่อตัดความคิดของพราหมณ์ที่เกี่ยวกับพระพรหม หรือเทพเจ้าผู้สร้างโลกออกไปเสีย และถือตามความหมายอย่างที่ใช้ในภาษาบาลีในคัมภีร์พระพุทธศาสนา รวมทั้งความหมายสามัญในภาษาสันสกฤต เราก็สามารถนำคำว่า “นิติศาสตร์” มาใช้กับวิชากฎหมาย โดยบัญญัติความหมายว่า เป็นวิชาว่าด้วยระเบียบแบบแผนความประพฤติของประชาชนพลเมือง หรือจะประสานกับความหมายของนีติที่เป็นเรื่องของการปกครอง พร้อมทั้งแนวคิดของพราหมณ์ แล้วให้ความหมายใหม่ก็ได้ว่า

นีติศาสตร์ หรือ นิติศาสตร์ เป็นวิชาว่าด้วยกฎหมายที่มาจากฝ่ายปกครอง คือกฎหมายที่ผู้ปกครองประเทศบัญญัติขึ้นสำหรับใช้ในการบริหารกิจการของประเทศชาติบ้านเมือง

ส่วน ธรรมศาสตร์ เป็นกฎหมายหรือกติกาของสังคมที่สืบกันมาแต่เดิมตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์ อันครอบคลุมถึงขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีทั่วไปด้วย

อนึ่ง ในอินเดียเองนั่นแหละ เขาก็ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินมีเทวอำนาจ เพราะเป็นผู้ที่เทพเจ้าสูงสุดทรงแต่งตั้งขึ้นอย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า พระพรหมได้ทรงแต่งตั้งพระมนู ให้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของมวลมนุษย์ และต่อมากษัตริย์ก็ได้กลายเป็นเทพเจ้าเองเลยทีเดียว ฉะนั้น ราชาจึงสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมาย โดยตีความใหม่บ้าง ตรากฎหมายใหม่ขึ้นมาเองบ้าง ซึ่งอาจจะทำโดยการปรึกษาหรือมอบหมายแก่ปุโรหิต ซึ่งเป็นพราหมณ์ ที่ถือว่าเป็นผู้รู้หลักของศาสนาพราหมณ์ และรู้ความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

นอกจากนั้น พึงสังเกตด้วยว่า คัมภีร์กฎหมายสำคัญของพราหมณ์ โดยเฉพาะ มานวธรรมศาสตร์ นั้น มุ่งเน้นหลักการเรื่องวรรณะ ๔ เป็นอย่างมาก โดยมุ่งจะยืนยันสถานะอันสูงส่งของวรรณะพราหมณ์ จุดเด่นจึงอยู่ที่ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องชาติชั้นวรรณะ จนนักวิชาการชาวตะวันตกที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ เช่น Sir Henry Maine เชื่อว่า คัมภีร์ธรรมศาสตร์ เป็นผลงานจากฝีมือของพราหมณ์ที่มีเจตนาจะกดกันคนวรรณะต่ำสุด คือพวกศูทรและจัณฑาลไว้ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของวรรณะชั้นสูง (Encycl. Britannica, 1988, vol.4, p.57)

ตรงกับที่ Benjamin Walker เขียนไว้ใน Hindu World ว่า เจตจำนงอันสำคัญของมานวธรรมศาสตร์ ก็คือมุ่งจะเอาเทวอำนาจมารับรองสถาบันวรรณะ และทำให้พราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด (Walker, vol.2, p.28)

คัมภีร์ธรรมศาสตร์ใช้หลักการของศาสนาพราหมณ์มาตอกย้ำยืนยันระบบวรรณะ พร้อมกับที่ในขณะเดียวกันนั้นก็นำเอาหลักธรรมจากพระพุทธศาสนาเป็นอันมากไปใช้ประโยชน์ในด้านคำสอนเกี่ยวกับหลักความประพฤติและความดีงามทั่วๆ ไป (ดู joshi, p.353)

เรื่องศัพท์ที่ยกมาพูดนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องถือตายตัว แต่เป็นเรื่องของการบัญญัติ ในยุคสมัยหนึ่งเราบัญญัติคำจำกัดความอย่างหนึ่ง เมื่อถึงอีกยุคสมัยหนึ่งก็อาจจะบัญญัติอีกอย่างหนึ่งได้ การที่นำมาพูดเชื่อมโยงนี้ก็เพื่อให้เห็นฐานเดิม จะได้เห็นแนวทางของความคิดว่า สิ่งเหล่านี้มาจากรากฐานของอารยธรรมอย่างไร

จากภูมิหลังทางวิชาการที่ได้กล่าวมา เราอาจให้ความหมายของเราเองอย่างเป็นอิสระจากวงวิชาการของชมพูทวีปก็ได้ว่า คำทั้งสองที่กล่าวมานั้น มีความหมายแยกได้เป็น ๒ อย่าง คือ ความหมายอย่างกว้าง กับความหมายเฉพาะ

ในความหมายอย่างกว้าง ธรรมศาสตร์ คือ วิชาว่าด้วยหลักการ ทั้งหลักความจริง และหลักการประพฤติปฏิบัติทั่วไป ซึ่งครอบคลุมหมดทุกอย่าง

ส่วนในความหมายเฉพาะ ธรรมศาสตร์ เป็นชื่อของคัมภีร์หรือตำราเกี่ยวกับกฎหมาย ที่ว่าด้วยข้อกำหนดความประพฤติปฏิบัติและขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี อันสืบกันมาในสังคมชมพูทวีปตามหลักคำสอนหรืออิทธิพลของศาสนาพราหมณ์

ส่วน นิติศาสตร์ ในความหมายอย่างกว้าง หมายถึงตำราและวิชาการที่ว่าด้วยระเบียบแบบแผนและข้อกำหนดความประพฤติปฏิบัติโดยทั่วไป ที่ไม่จำกัดเฉพาะอย่างธรรมศาสตร์ในความหมายอย่างหลัง

ส่วนในความหมายเฉพาะ นิติศาสตร์ คือวิชากฎหมาย โดยเฉพาะในฐานะที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการของรัฐ หรือบทบัญญัติที่เนื่องด้วยการปกครอง ซึ่งรัฐตราขึ้น หรือตราขึ้นในนามของรัฐ เพื่อจัดการและบริหารบ้านเมืองให้ประชาชนพลเมืองเป็นอยู่กันด้วยดี

อย่างไรก็ตาม ความหมายที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ยังเป็นเรื่องที่อาจจะต้องพัฒนาต่อไปอีก

1ดูคำ “นีติศาสฺตฺร” ใน Sir Monier Monier-Williams, A Sanskrit-English Dictionary (London; Oxford University Press, 1899), p.565. และใน Prof. R.C. Pathak, Bhargava’s Standard Illustrated Dictionary of the Hindi Language (Hindi-English Edition) (Varanasi : Bhargava Book Depot, 1989), p. 427.
ดูคำ “politics” ใน Sir M. Monier-Williams, A Dictionary: English and Sanskrit (Delhi: Motilal Banarsidass), p.605 และดูคำ “political science” ใน Prof. R.C. Pathak, Bhargava’s Standard Illustrated Dictionary of the English Language (Anglo-Hindi Edition) (Varanasi: Bharagava Book Depot, 1988) p.635. และดูคำอธิบายใน Hindu World (vol.2, pp.223-228)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.