ว่าถึงเรื่องการเกิดนี้ เราได้ยินบ่อยๆ ในพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวถึงในที่หลายแห่ง แต่เรามักจะได้ยินในคำสวดมนต์ที่ว่า ชาติปิ ทุกฺขา แปลว่า แม้ชาติคือการเกิด ก็เป็นทุกข์ ถ้ามองดูตามพระบาลีนี้ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่า พระพุทธศาสนามองการเกิดเป็นเรื่องทุกข์ เป็นเรื่องไม่สบาย จนกระทั่งบางคนบอกว่า พระพุทธศาสนามองโลกในแง่ร้าย
ความจริง ที่ว่าการเกิดเป็นทุกข์นี้ เป็นการพูดไปตามเรื่องของสภาวธรรม หมายถึงการเกิดหรือปรากฏขึ้นของสังขาร หรือพูดให้ชัดก็คือการปรากฏของขันธ์ ๕
เมื่อขันธ์ ๕ ปรากฏพร้อมบริบูรณ์ก็เป็นชีวิต ขันธ์ ๕ นั้นเป็นสิ่งปรุงแต่ง อย่างที่กล่าวแล้วว่าเป็นสังขาร เมื่อเป็นสังขารก็ตกอยู่ในอำนาจของพระไตรลักษณ์ คือ มีความไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่แล้วดับไป เป็นอนิจจัง เมื่อไม่เที่ยง ไม่คงที่ ก็อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่สามารถคงทนอยู่ เรียกว่าเป็นสภาวะของความทุกข์ แล้วก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร ไม่เป็นตัวเป็นตนให้ใครได้ จึงเรียกว่าเป็นอนัตตา
ในที่นี้ จุดสำคัญที่ท่านยกขึ้นมาพูดเกี่ยวกับการเกิดก็คือว่า เป็นทุกข์ ได้แก่เป็นสภาวะที่คงทนอยู่ไม่ได้ อันนี้เป็นสภาวะที่เป็นธรรมดาของสังขาร เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างนั้น ก็คือตรัสไปตามความจริง ถ้าไม่ตรัสว่าเป็นทุกข์ จะตรัสว่าอย่างไร เมื่อมันเป็นความจริงอย่างนั้น ก็ต้องตรัสไปอย่างนั้น อันนี้เป็นการตรัสในแง่สภาวะ
แต่การตรัสถึงความเกิดนั้น ไม่ได้ตรัสว่าเป็นทุกข์เสมอไป การเกิดที่เป็นสุขก็มี การเกิดเป็นสุขในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร อาตมภาพจะขอยกตัวอย่าง เช่น พุทธภาษิตบทหนึ่งว่า “สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท” แปลว่า การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นความสุข หรือนำมาซึ่งความสุข พระดำรัสนี้แสดงว่า การเกิดก็สามารถทำให้เกิดความสุขได้ เพราะว่าเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติแล้วก็ทรงนำแสงสว่างมา ทำให้คนเกิดปัญญามองเห็นสัจจธรรม รู้เข้าใจว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ควรประพฤติปฏิบัติต่อชีวิตของตนเองและต่อโลกหรือต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหลายอย่างไร ทำให้แก้ปัญหาชีวิตได้ ดำเนินชีวิตให้ผ่านพ้นความทุกข์ และประสบความสุข เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า การอุบัติของพระพุทธเจ้านำความสุขมาให้
อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องพูดถึงบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุด แม้แต่ผู้ที่ยังมิใช่เป็นบุคคลในอุดมคติ ยังมิใช่พระพุทธเจ้า เพียงแค่เป็นบุคคลดีงามที่เรียกว่า สัปบุรุษ โดยทั่วไป คนที่เรียกว่าสัปบุรุษนั้น เกิดขึ้นที่ไหนก็นำความสุขมาให้ที่นั่นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ในบางแห่งว่า สัปบุรุษ หรือสัตบุรุษ เกิดขึ้นมาก็เพื่อความสุขของพหูชน หรือของชนจำนวนมาก ทั้งคนในบ้าน คนในครอบครัว คนในปกครอง คนที่ร่วมงานการ ตลอดจนบ้านเมือง กระทั่งถึงสังคมทั้งหมด ทำให้เกิดมีความสุขทั่วไป อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่า การเกิดนำความสุขมาให้ได้ แต่ก็ยังเป็นการมองอย่างกว้างๆ
ทีนี้ชิดเข้าไปอีก มองละเอียดลึกซึ้งเข้าไปถึงภายในชีวิตของแต่ละคน ภายในชีวิตของแต่ละคนนี้ส่วนที่ลึกที่สุด ละเอียดที่สุดก็คือ จิตใจ ในจิตใจนั้นก็มีการเกิดอยู่ตลอดเวลา และการเกิดนั้นก็มีทั้งการเกิดที่ดีและไม่ดี แล้วแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจนั้น ตามปกติทั่วไปการเกิดจึงมีสองอย่างคือ การเกิดของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นบาปอย่างหนึ่ง และการเกิดของกุศลธรรม กล่าวคือสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล เป็นความดีงาม เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าอกุศลธรรมเกิดขึ้นในจิตใจ ก็ทำให้จิตใจขุ่นมัว เศร้าหมอง ไม่สบาย คับแคบ อึดอัด ไม่มีความสุข แต่ในทางตรงข้าม ถ้ากุศลธรรมเกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดความสบาย ปลอดโปร่ง ผ่องใส มีความสว่าง มีความสงบ และเป็นความสุข การเกิดภายในจิตใจที่จะดีก็คือ การเกิดของกุศลธรรม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเน้นสิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรจะให้ชีวิตของเราแต่ละคน โดยเฉพาะในจิตใจของเรานี้เกิดกุศลธรรมขึ้นอยู่เสมอ ถ้ามีกุศลธรรมเกิดขึ้นอยู่เสมอ ก็เป็นการเกิดที่ดี เป็นการเกิดที่ประเสริฐ
เพราะฉะนั้น แม้ว่าชาติคือความเกิด ซึ่งหมายถึงการเกิดของขันธ์ ๕ หรือการเกิดของสังขารที่ปรุงแต่งจะเป็นทุกข์ มันก็เป็นเรื่องของทุกข์ตามสภาวะ แต่ในทางปฏิบัติ เราสามารถทำให้มีความสุขได้ คือ โดยสภาวะเป็นทุกข์ แต่ในทางปฏิบัติทำให้เกิดความสุข อันนี้คือวิธีการของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ถ้าคนมองพระพุทธศาสนาไม่ทั่วตลอด ก็อาจเข้าใจผิดว่าพระพุทธศาสนานี้สอนเรื่องความทุกข์ มองโลกในแง่ร้าย แต่อันที่จริงพระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องทุกข์ ก็เพื่อให้เรารู้ความจริงแล้วเราจะได้ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องแล้วก็เกิดความสุข พระพุทธศาสนาก็เลยเป็นศาสนาแห่งความสุข เพราะการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น เป็นการปฏิบัติด้วยความสุข
เคยมีผู้มาโต้ตอบ หรือมาสนทนากับพระพุทธเจ้า เขามีความเข้าใจว่า ความสุขจะต้องเข้าถึงหรือเข้าถึงได้ด้วยความทุกข์ แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น ความสุขสามารถเข้าถึงได้ด้วยความสุข ลัทธิที่ถือว่าความสุขจะต้องเข้าถึงได้ด้วยความทุกข์ มีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ลัทธินิครนถ์
ลัทธินิครนถ์ถือว่า เราจะเข้าถึงความสุขได้ ต้องปฏิบัติด้วยความทุกข์ เพราะฉะนั้นพวกนิครนถ์จึงบำเพ็ญตบะ มีการทรมานตนด้วยประการต่างๆ เช่น ลงไปอาบแช่น้ำในฤดูหนาว และไปยืนนั่งนอนอยู่กลางแดดในฤดูร้อน ถ้าเป็นนักบวชจะโกนศีรษะก็ถอนผมทีละเส้น ทำทรมานทรกรรมตัวเองด้วยประการต่างๆ เรียกว่าบำเพ็ญตบะ เพราะเขาถือว่า จะต้องเอาความทุกข์มาแลกเพื่อจะให้ได้ความสุข แต่พระพุทธศาสนาสอนว่า ความสุขเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ดังนั้น โดยทั่วไป ความสุขเราจึงสามารถเข้าถึงได้ด้วยความสุข เพราะฉะนั้น เราจึงมีข้อปฏิบัติที่เมื่อปฏิบัติก็มีความสุขเลยทีเดียว ญาติโยมปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เวลาปฏิบัติก็มีความสุข เมื่อปฏิบัติไปแล้ว เจริญก้าวหน้าไปก็จะบรรลุจุดมุ่งหมายที่มีความสุขด้วย นี้เป็นลักษณะของพระพุทธศาสนา
เราจึงได้พบเห็นว่า เมื่อคนจากต่างประเทศหรือต่างชาติหรือต่างวัฒนธรรมเข้ามาเห็นคนไทย จะประทับใจว่าคนไทยมีชีวิตจิตใจร่าเริงเบิกบาน มีหน้าตายิ้มแย้มผ่องใส มีความสุข แต่ในเวลาเดียวกัน จะสังเกตเห็นว่า ถ้าฝรั่งมองไปที่คำสอนเขาจะหาว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความทุกข์ มองโลกในแง่ร้าย ทีนี้พอเห็นชาวพุทธเขาก็เห็นว่ามีความสุข เขาก็เลยไม่สามารถเข้าใจว่าอะไรกัน แต่ที่จริงนั้นก็คือ พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักความจริง ที่มีทุกข์อยู่ตามสภาวะ แต่แล้วเมื่อปฏิบัติท่านให้ปฏิบัติด้วยความสุข นี่คือหลักการของพระพุทธศาสนา การปฏิบัติด้วยความสุขที่สำคัญก็คือการที่เราทำให้กุศลธรรมเกิดมีขึ้นในใจตลอดเวลา ถ้าใครทำให้กุศลธรรมเกิดขึ้นในใจได้เสมอ คนนั้นก็จะมี การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง แล้วก็จะมีความสุขอยู่เรื่อยๆ อันนี้เป็นหลักสำคัญมาก เพราะว่าการเกิดของกุศลธรรมนั้น เป็นการเกิดในจิตใจของเราแต่ละขณะนี่เอง
หลักของพระพุทธศาสนาได้สอนไว้ว่า จิตของเราเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ทีนี้ ในการที่จิตเกิดดับนั้นมันก็เกิดและดับไปพร้อมด้วยกุศลธรรม และอกุศลธรรม ถ้าเกิดกุศลธรรมจิตนี้ก็เกิดดับพร้อมด้วยกุศลธรรม ถ้ากุศลธรรมเกิดดับอยู่เสมอ จิตนั้นก็เจริญงอกงามขึ้นด้วยกุศลธรรม คำว่า เกิด นั้นใกล้กันกับคำว่า เจริญงอกงาม เมื่อเราเกิดมามีชีวิตขึ้นนี้ หลังจากเกิดแล้วเราก็หวังว่าจะมีความเจริญงอกงาม ถ้าเกิดแล้วไม่เจริญต่อไปก็คือชีวิตดับสิ้น เกิดแล้วจึงต้องเจริญต่อไปด้วย แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ละเอียดแล้ว ความเจริญคืออะไร
ความเจริญ นั้นว่าที่จริงแล้ว ก็คือการเกิดที่ต่อเนื่องกันไปนั่นเอง ดังเช่นชีวิตของเราที่เกิดมาจากครรภ์มารดานี้ ในส่วนของร่างกายประกอบด้วยสิ่งที่เรียกว่า เซลล์ หรือทางพระเรียกว่าเป็นองค์ย่อยๆ ของรูปขันธ์ เป็นรูปธรรม ซึ่งมีทั้งมหาภูตรูป และอุปาทายรูปต่างๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้เกิดดับอยู่ตลอดเวลา หลังจากที่เราเกิดมาแล้ว ก็มีการเกิดย่อยๆ อย่างนี้ในแต่ละขณะเรื่อยมา ร่างกายของเราจึงเจริญเติบโตต่อมาได้ ความเจริญเติบโต ก็คือ สภาพที่มีการเกิดเพิ่มอัตราขึ้นในแนวทางนั้นๆ นั่นเอง
ในทางจิตใจก็เหมือนกัน จิตใจก็มีการเกิดอยู่เสมอ ถ้ามีการเกิดของกุศลธรรมอยู่เสมอตลอดเวลา ชีวิตของเราก็เจริญงอกงาม จิตใจก็เจริญงอกงาม คือมีความดีงามเพิ่มมากขึ้นๆ นั่นเอง ซึ่งก็หมายความว่า เมื่อเราพูดว่ากุศลธรรมเจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้น ก็เท่ากับบอกว่า กุศลธรรมเกิดขึ้นบ่อยๆ เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น หลักการปฏิบัติธรรมสำคัญก็คือ ทำอย่างไรจึงจะให้กุศลธรรมนี้เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ต่อเนื่องกันไป แล้วอันนั้นก็จะกลายเป็นความเจริญงอกงามของจิตใจ ความเจริญงอกงามนี้แหละที่เราเรียกว่า ภาวนา ความมุ่งหมายของภาวนาก็คือ การทำให้กุศลธรรมเกิดขึ้นในใจต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ แล้วกุศลธรรมก็จะเจริญเพิ่มพูนไป จนกระทั่งเต็มบริบูรณ์
กุศลธรรมที่เกิดขึ้นในใจนั้นมีมากมายเหลือเกิน ควรจะยกมากล่าวเฉพาะที่เป็นข้อสำคัญๆ โดยเฉพาะที่เรามักใช้ในการวัดว่าเราได้เจริญงอกงาม หรือพัฒนาไปได้แค่ไหนเพียงใด พระพุทธเจ้าได้ตรัสหลักธรรมบางอย่างไว้ ซึ่งเราสามารถใช้ตรวจดูตัวเอง ถ้าธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในใจของเราอยู่ต่อเนื่อง ก็เป็นเครื่องวัดไปในตัวว่า เรากำลังมีความเจริญงอกงามในธรรมเป็นอย่างดี หลักธรรมหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ สำหรับใช้วัดความเจริญของจิตใจของแต่ละคน ก็คือ หลักธรรมที่เรียกว่า อริยวัฒิ หรืออริยวัฑฒิ หรือจะเรียกว่า อารยวัฒิก็ได้ แปลว่า ความเจริญอย่างอริยชน หรือความเจริญของอริยชน หลักความเจริญของอริยชนนี้ เป็นเครื่องวัดความเจริญก้าวหน้าของพุทธศาสนิกชนได้ทั่วไป หลักนี้มี ๕ ประการ ด้วยกัน
ประการที่หนึ่งคือ ศรัทธา ท่านให้ดูว่า ศรัทธานี้งอกงามขึ้นในใจของตนหรือไม่ ศรัทธา ก็คือความเชื่อ ความเชื่อนั้นมี ๒ อย่าง อย่างแรกคือ ความเชื่อที่เรียกว่า อมูลิกาศรัทธา แปลว่า ความเชื่อที่ไม่มีมูล คือไม่มีเหตุผล โดยเฉพาะความเชื่อที่งมงาย หมายความว่า เห็นอะไรไม่ได้คิด ไม่ได้พิจารณาก็โน้มใจเชื่อตามไป ถ้าโน้มใจเชื่อตามไปเฉยๆ ก็ไม่มีหลัก ต่อไปก็กลายเป็นความเชื่อแบบหลงใหล แล้วก็กลายเป็นความงมงาย ในทางพระพุทธศาสนาท่านให้มีความเชื่ออย่างที่สอง คือ อาการวตีศรัทธา แปลว่า ศรัทธาที่มีเหตุผล คือ มีปัญญาประกอบ รู้เข้าใจเหตุผล รู้เข้าใจเหตุปัจจัย มองเห็นธรรม โดยเฉพาะความเป็นไปตามเหตุปัจจัย มองเห็นความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ก็ดูว่า เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความเป็นไปตามเหตุปัจจัยหรือไม่ ดำเนินสืบเนื่องกันตามหลักเหตุและผลหรือไม่
ศรัทธาหรือความเชื่อที่มีเหตุมีผลนี้แหละ ถ้าหยั่งลงในใจของเราแล้วก็เรียกว่า ได้เกิดมีกุศลธรรมที่ต้องการ แต่กุศลธรรมที่ต้องการนั้นยังต้องเจริญต่อไปอีก ความเชื่อในความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้แหละ เป็นส่วนสำคัญของความเชื่อในธรรม ซึ่งรวมไปถึงความเชื่อในความดีงาม ในกฎเกณฑ์แห่งความดีความชั่ว เป็นความเชื่อในหลักความจริง เป็นความเชื่อที่มีเหตุผล เป็นเหตุเป็นผล เมื่อเชื่อในธรรม ก็เชื่อในพระธรรมคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่แสดงหลักความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นต้นนั้น แล้วก็เชื่อในพระพุทธเจ้าผู้สอนหลักความจริงนั้น เชื่อในพระสงฆ์ ซึ่งประกอบขึ้นด้วยหมู่ชนผู้ปฏิบัติตามหลักการนั้น เรียกง่ายๆ เชื่อในพระรัตนตรัย หรือศรัทธาในพระรัตนตรัย ความเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือพูดรวมๆ ว่า ความเชื่อในพระรัตนตรัยนี้ จะต้องเจริญงอกงามยิ่งขึ้น พร้อมกันกับความรู้ความเข้าใจในธรรม เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนหลักธรรมมีความเข้าใจมากขึ้น หรือว่าได้ปฏิบัติด้วยตนเอง ประจักษ์ผล ได้รับความสงบสุขของชีวิตจิตใจ ได้เห็นจริงเห็นจัง ศรัทธาก็เพิ่มพูนขึ้น ความเชื่อความมั่นใจก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ศรัทธานี้จะมากขึ้นจนถึงระดับสูงสุด เรียกว่าเป็น อจลศรัทธา คือ ศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว
ท่านบอกว่า พระโสดาบันเป็นบุคคลที่มีอจลศรัทธา คือศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว นี่เป็นขั้นสูงสุดของความมีศรัทธา เมื่อศรัทธาถึงขั้นสูงสุดแล้ว ก็เป็นการเข้าถึงความเป็นอริยบุคคลชั้นต้น ต่อจากนั้นก็เจริญก้าวหน้าต่อไปอีกโดยศรัทธานั้นนำไปสู่ปัญญา จนกระทั่งในที่สุดก็ไม่ต้องอาศัยศรัทธาอีกต่อไป เรียกว่าอยู่เหนือศรัทธา ตอนนั้นก็จะเป็นขั้นของพระอรหันต์ แต่เบื้องต้นนี้ ในระดับแห่งการปฏิบัติของอริยชนทั่วไป กิจที่ถือเป็นสำคัญก็คือการทำศรัทธาให้เจริญเพิ่มพูนขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้ดูว่า ศรัทธาความเชื่อความมั่นใจในคุณธรรม ในความดีงาม ในคุณพระรัตนตรัยนี้ เจริญเพิ่มพูนขึ้นหรือไม่ ถ้าหากได้พิจารณาดูตัวเองแล้ว มองเห็นว่ามีศรัทธาเกิดขึ้นในใจบ่อยๆ จิตใจผ่องใส จิตใจเอิบอิ่มด้วยศรัทธา และมีศรัทธาที่มั่นคงเพิ่มขึ้น ก็แสดงว่ามีความเจริญอย่างอริยชนขั้นที่หนึ่ง
ต่อไปข้อที่สอง คือ ศีล ศีลนั้นก็คือปกติของกายวาจา หมายถึงการสำรวมกายวาจาให้อยู่ในสุจริต คือความประพฤติที่ดีงาม ความประพฤติที่ดีงาม หรือการสำรวมกายวาจาอยู่ในสุจริตคืออะไร ก็คือกายวาจาที่ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ใครๆ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น การที่กายวาจาของเราอยู่ในความสงบเรียบร้อย ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นนี้เป็นศีล จะเห็นง่ายๆ ว่า หลักศีลเบื้องต้น ก็คือการที่ว่า บุคคลแต่ละคนอยู่เป็นปกติร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้กายวาจาของตนนี้ ไปทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
เริ่มตั้งแต่ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ชีวิตร่างกายของเขา ไม่เบียดเบียนทำร้ายชีวิตร่างกายของเขา ก็คือศีลข้อเว้นปาณาติบาต
ลำดับต่อไป ไม่เบียดเบียนทำร้ายเขาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ ก็เป็นศีลที่เรียกว่าเว้นจากอทินนาทาน
ลำดับที่ ๓ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนเขาในเรื่องของรักของหวง โดยไม่ละเมิดต่อคู่ครองของเขา ก็เป็นศีลข้อเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
ลำดับที่ ๔ ไม่ใช้วาจาเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น เช่น ไม่ตัดรอนผลประโยชน์ของเขาด้วยคำเท็จ หรือไปหลอกลวงให้เขาเสียผลประโยชน์ หรือทำให้เกิดโทษเกิดภัยต่อชีวิตของเขา ก็เป็นศีลข้อเว้นจากมุสาวาท
ลำดับที่ ๕ คนที่ขาดสติเนื่องจากมึนเมา คุมสติไม่ได้ อาจทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งอุบัติเหตุ เช่นรถชนกัน ก่อความเดือดร้อนแก่สังคมได้มาก ท่านจึงให้งดเว้นจากการดื่มสุราและของมึนเมาต่างๆ แล้วจัดเป็นศีลข้อที่เรียกว่าเว้นจากสุราเมรัย
การประพฤติตนอย่างที่กล่าวมาทั้งห้าข้อนี้ คือการสำรวมกายวาจาให้เป็นปกติขั้นเบื้องต้นหรือทั่วไป ถ้าหากเว้นจากการเบียดเบียนทั่วไปได้แล้ว ก็เป็นพื้นฐานสำหรับชีวิตและสังคมที่ดีงาม ต่อจากนั้นท่านก็ให้ประพฤติศีลที่ยิ่งขึ้นไปอีก ศีลที่ยิ่งขึ้นไปก็คือ การฝึกกายวาจานั้นให้ประณีตยิ่งขึ้น กายวาจาที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น ก็มีความประณีตชั้นหนึ่งแล้ว แต่ท่านยังต้องการให้ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก ให้กายวาจามีความประณีตขึ้นไป เพื่อจะได้เป็นเครื่องฝึกจิตไปด้วย จะเห็นว่าคนที่สำรวมกายวาจาให้ประณีต ให้สงบเรียบร้อยนั้น จะต้องใช้กำลังใจด้วย ทำให้ต้องมีการฝึกฝนจิตใจของตนเอง เราจึงอาศัยการฝึกทางกายวาจานี้มาเป็นเครื่องอุปกรณ์ ในการฝึกจิตใจของเราในเบื้องต้น เพราะฉะนั้น เราจึงมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เช่น การสำรวมกายวาจาในพิธีกรรมต่างๆ การปฏิบัติตามระเบียบในพิธี และการฝึกมารยาทเป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของศีลทั้งสิ้น ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ อย่างเรื่องของพระที่เรียกว่า เสขิยวัตร ซึ่งเป็นการฝึกในเรื่องขนบธรรมเนียม เช่นว่าจะฉันอาหารควรจะฉันอย่างไรให้เรียบร้อย ให้น่าดู ให้งดงาม ให้สะอาดอะไรต่างๆ มารยาทในการเดิน ในการนั่ง ในการกระทำการเคลื่อนไหวต่างๆ นี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องของการฝึกกายวาจาให้ประณีตยิ่งขึ้นทั้งนั้น ข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้เมื่อแพร่กระจายออกมาในหมู่ญาติโยม ก็กลายเป็นขนบธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งรวมแล้วก็เป็นเรื่องของศีลนั่นเอง
ศีล ๘ ก็เหมือนกัน ก็เป็นการฝึกกายวาจาให้ประณีตยิ่งขึ้น ให้เป็นพื้นฐานของการฝึกจิต เมื่อเรามีศีลห้า เราก็ไม่เบียดเบียนใครอยู่แล้ว พอมาถึงศีลแปดจะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องของการเบียดเบียนใครเลย แต่เป็นเรื่องของการฝึกกายวาจาของตัวเอง เช่น การงดเว้นจากการรับประทานอาหารในยามวิกาล หรือการเว้นจากการทัดทรงของหอม เครื่องลูบไล้ ดอกไม้ และของที่ทำให้เกิดความสวยงามทั้งหลาย เว้นจากการตบแต่งร่างกาย และการฟ้อนรำขับร้องเล่นดนตรี ตลอดจนการนอนการนั่งบนที่นอนที่นั่งสูงใหญ่ อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องของการฝึกในทางกายวาจาให้ประณีตยิ่งขึ้นหรือขัดเกลามากขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานของการฝึกจิตใจนั่นเอง เพราะฉะนั้น ศีลจึงนำไปสู่สมาธิ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรามีความเจริญในศีล ศีลก็เลยมาเป็นหลักอริยวัฒิ หรือหลักวัดความเจริญของอริยชนประการที่สอง
รวมความว่า ข้อปฏิบัติต่างๆ จำพวกที่ได้กล่าวมานั้น เป็นเรื่องศีลทั้งในแง่ที่ว่า สำรวมกายวาจาให้เป็นปกติไม่เบียดเบียนใคร และในแง่ฝึกกายวาจาให้ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อเราประพฤติกายวาจาได้ดีแล้ว คราวใดระลึกถึงความบริสุทธิ์สะอาดในการบำเพ็ญศีล ก็จะเกิดความไม่เดือดร้อนใจ จะเกิดความปีติความอิ่มใจ และความอิ่มใจนั้นก็นำไปสู่ความสุข และนำไปสู่สมาธิ เป็นพื้นฐานของการฝึกจิตยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นผลของการฝึกในเรื่องศีลก็ตาม หรือตัวการฝึกในศีลนั้นเองก็ตาม ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของการทำจิตใจให้งอกงาม ทำให้เกิดสมาธิได้ทั้งสิ้น นี้เป็นข้อที่สอง เรียกว่า ศีล
ต่อไปข้อที่สาม ท่านให้ดูที่ สุตะ สุตะคือความรู้หรือสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนี้ อาจจะเป็นความรู้ทั่วไปอย่างชาวโลก เช่น ความรู้ข่าวสารข้อมูลต่างๆ และการร่ำเรียนวิชาการทั้งหลาย คนเราจะดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้จะต้องเล่าเรียน อย่างน้อยก็มีความรู้ที่รับฟังจากพ่อแม่ จากท่านผู้ใหญ่หรือคนรุ่นก่อน เพื่อให้รู้จักว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร จะทำอะไรอย่างไร ถ้าไม่มีสุตะก็ทำอะไรไม่เป็น หรือมาเริ่มต้นเป็นคนป่ากันใหม่ แต่นั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง
สำหรับพุทธศาสนิกชน สุตะมีความหมายรวมไปถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วย ควรตรวจสอบตัวเองว่า เรามีความรู้หลักการและข้อธรรมต่างๆ ในคำสอนของพระพุทธเจ้าแค่ไหนเพียงใด เมื่อเราเริ่มเข้ามาสู่การปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ควรจะรู้จักเนื้อหาสาระในพระธรรมคำสอนมากยิ่งขึ้น เช่น รู้ว่าหลักธรรมที่จะนำมาใช้ปฏิบัติคืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร สัมพันธ์กับข้อธรรมอื่นๆ อะไรบ้าง ในแง่ไหนอย่างไร จะนำไปสู่ผลอะไร มีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างไร ทางเขว ทางพลาด และโทษของการปฏิบัติผิดเป็นอย่างไร เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเราจะก้าวหน้าไปสู่การปฏิบัติมากขึ้น เราก็ต้องมีสุตะมากขึ้น เพราะถ้าไม่มีสุตะคือไม่รู้ ก็ไม่สามารถปฏิบัติต่อไปได้ สุตะนี้อาจจะอาศัยครูอาจารย์มาช่วยกล่าวสอนให้ มาบอกเล่าถ่ายทอดความรู้ให้ แต่ว่าโดยหลักการก็คือ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้เรียกว่าสุตะ จัดเป็นเครื่องวัดอย่างหนึ่ง ให้ดูว่า เมื่อเรามาปฏิบัติธรรมนั้น เราได้มีความรู้ละเอียดลึกลงไปในหลักธรรมมากขึ้นแค่ไหน เพียงใด มีสุตะมากขึ้นไหม นี้เป็นประการที่สาม
ต่อไปประการที่สี่ คือ จาคะ จาคะ แปลว่า ความสละ หมายความว่าสละความยึดติด จิตใจนี้ไปยึดติดถือมั่นผูกพันกับสิ่งต่างๆ ความยึดติดของคนเรานั้นที่มองเห็นง่ายๆ ก็คือความยึดติดผูกพันในวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต ตามความมุ่งหมายเดิมนั้น สิ่งเหล่านี้เราสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยให้ชีวิตดำรงอยู่ด้วยดี แต่พอสร้างขึ้นมาแล้ว ก็เกิดความมีขึ้น พอมีการมีขึ้น ก็มีการเป็นเจ้าของ พอมีการเป็นเจ้าของ ก็เกิดมีความยึดมีความสำคัญมั่นหมายผูกพันติดตัว พอมีความยึดติด ก็มีความหวง มีความห่วง มีความกังวล แล้วสิ่งเหล่านั้น นอกจากจะทำให้เกิดความสะดวกในการดำเนินชีวิต ก็จะนำความทุกข์มาให้ด้วย เพราะทำให้เกิดความรู้สึกห่วงกังวลเป็นอย่างน้อย แล้วก็ทำให้เกิดความเศร้าเสียใจเมื่อมีการแตกสลายเป็นต้น อันนี้จึงเป็นข้อที่ต้องแก้ไข คือจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เกิดมีขึ้นมาช่วยตัวเรานั้น อำนวยแต่ผลดี ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต แต่ไม่เกิดโทษแก่ชีวิตจิตใจของเรา
การที่สิ่งที่เราสร้างสรรค์ ทำให้เกิดมีขึ้นมาแล้ว จะไม่เกิดโทษ ก็ต้องอาศัยการรู้จักทำใจ ไม่ให้มีความยึดติดผูกพันมากเกินไป โดยรู้เท่าทันความจริงที่สิ่งเหล่านั้นมันจะต้องเป็นของมันตามธรรมดา ระลึกถึงความมุ่งหมายเดิมในการที่เราสร้างหรือมีสิ่งเหล่านั้นๆ และฝึกตนในทางที่จะไม่ยึดติด ด้วยเหตุนี้ในทางพระพุทธศาสนา ท่านจึงสอนหลายแง่หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ให้รู้จักสละสิ่งของ มีการให้ มีการเผื่อแผ่ แบ่งปันด้วยทาน
การสละสิ่งของให้แก่ผู้อื่นเรียกว่า ทาน ซึ่งมีทั้งการถวายทานแก่พระสงฆ์ การให้ทานแก่บุคคลผู้ยากไร้ที่ต้องการความช่วยเหลือ การบริจาคเพื่อส่งเสริมสนับสนุนบุคคลหรือกิจการที่ทำความดีงามบำเพ็ญประโยชน์ และการสละให้ปันกันในหมู่ญาติมิตรหรือคนที่เสมอกัน เพียงเพื่อผูกน้ำใจตั้งไมตรี ส่วนในด้านจิตใจของตนเอง เมื่อเผื่อแผ่ไปแล้วก็มีความสุขจากการให้
คนเรานั้น ตามปกติเมื่อเริ่มแรกก็จะมีความสุขจากการได้ก่อน เราได้ของ สร้างสิ่งของขึ้นมาได้ หรือใครให้ ได้มาเป็นของตัว เราก็มีความสุข ต่อมาจิตใจเจริญขึ้น เราจะรู้จักความสุขจากการให้ แต่การให้จะทำให้เกิดความสุขได้ ก็ต้องมีความพร้อมใจที่จะให้ จิตใจที่พร้อมจะให้คือจิตใจอย่างไร ก็คือจิตใจที่มีความรัก มีความปรารถนาดี หรือมีเมตตา พ่อแม่รักลูก มีเมตตาต่อลูก จึงมีจิตใจที่พร้อมที่จะให้แก่ลูก เมื่อให้แก่ลูก พ่อแม่ก็มีความสุขในการให้ ทั้งๆ ที่ของนั้นถูกสละออกไป แต่แทนที่จะเสียดายก็ไม่เสียดาย แทนที่จะทุกข์ก็ไม่ทุกข์ กลับมีความสุขขึ้นมาแทน แต่ถ้าไม่มีคุณธรรมในใจ ไม่มีเมตตา ก็มีความเสียดายของ เวลาให้ก็ฝืนใจแล้วก็มีความทุกข์ เพราะฉะนั้น จะทุกข์หรือจะสุขก็อยู่ที่ใจของเราเอง
คนที่ฝึกฝนพัฒนาจิตใจขึ้นมาแล้ว ก็สามารถให้ได้โดยมีความสุข เพราะเมื่อแผ่เมตตากรุณาให้กว้างขวางออกไป ทำใจของตนให้ประกอบด้วยเมตตากรุณาต่อคนอื่นเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้การให้กลายเป็นความสุขมากขึ้นบ่อยขึ้น ยิ่งมีเมตตากรุณากว้างขวางออกไปเท่าใด ก็ยิ่งมีความสุขจากการให้ได้มากเท่านั้น ยิ่งรักเพื่อนมนุษย์ ยิ่งรักคนอื่นได้มากเท่าใด ก็ยิ่งได้ความสุขจากการให้และการไม่ต้องเอามากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งเข้าถึงพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ให้ความสุข ก็ได้ความสุข” ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่ทำใจเป็น ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติอย่างหนึ่ง ที่ทำให้สำเร็จหน้าที่ของจาคะอย่างในกรณีนี้ เมตตากรุณาก็เป็นธรรมสำคัญที่ช่วยหนุนจาคะให้เกิดขึ้น ดังนั้น จึงจะต้องฝึกตนว่า ทำอย่างไรเราจะมีความพร้อมที่จะให้ ที่จะสละ มีความไม่ยึดติดในสิ่งทั้งหลาย การมีจาคะจึงเป็นเครื่องสำรวจจิตใจของตนเองอย่างหนึ่งว่า เจริญในธรรมแค่ไหน ดูว่าเวลานี้เรามีจาคะ มีความสละ มีความไม่ยึดติดในสิ่งทั้งหลายเพิ่มขึ้นไหม สามารถอยู่ได้โดยมีความสุขด้วยใจของตนเอง โดยไม่ต้องได้ไม่ต้องเอาแค่ไหน มีความสุขจากการให้หรือการสละได้แค่ไหน ตลอดกระทั่งว่า สามารถอยู่เป็นสุขได้หรือไม่แค่ไหน เมื่อไม่ได้หรือแม้แต่เมื่อต้องสูญเสียอะไรไป
บางคนมีความพึ่งพาสิ่งภายนอกมาก ถ้าไม่มีสิ่งภายนอกแล้วก็หาความสุขไม่ได้ พอพัฒนาจิตใจขึ้นไปแล้ว ก็มีความสุขแม้ด้วยใจของตนเอง ลำพังใจของตัวเรา เราอยู่กับใจของตัวเองได้ มีความสุขได้ อันนี้ก็จะเป็นการพึ่งตนเองได้ ถ้าเราไม่สามารถมีความสุขด้วยใจของตนเอง เราก็ต้องพึ่งสิ่งภายนอก ความสุขของเราก็ฝากไว้กับสิ่งภายนอก สิ่งข้างนอกเป็นอย่างไรเราก็เป็นไปตามนั้น จิตใจของเราก็แปรปรวนไปตาม ท่านเรียกว่า มีความสุขความทุกข์ขึ้นกับปัจจัยภายนอก แต่เมื่อมีจาคะมากขึ้น จิตใจคลายความยึดติดผูกพัน มีความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงแล้ว ก็อยู่กับใจของตัวเองได้ มีความสุขด้วยใจของตัวเอง เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เป็นไทแก่ตัว ท่านเรียกว่า พึ่งตนเองได้ อย่างแท้จริง อันนี้ก็เป็นความเจริญในธรรมอีกประการหนึ่ง ที่เรียกว่า จาคะ ท่านจึงให้สำรวจว่าเรามีจาคะ คือความสละได้ ความไม่ยึดติดผูกพันในสิ่งทั้งหลายเจริญขึ้นในใจแค่ไหนเพียงใด
ต่อไปประการสุดท้ายก็คือ ปัญญา ปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจ ในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่า ตอนนี้เรามีเรื่องความรู้ขึ้นมาแล้วสองข้อ คือ ข้อสาม สุตะก็เป็นความรู้ ข้อห้า ปัญญาก็เป็นความรู้ ความรู้สองอย่างนี้ต่างกันอย่างไร สุตะก็เป็นความรู้ แต่เป็นความรู้ที่เราสดับตรับฟังมาจากผู้อื่น เป็นถ้อยคำของท่านผู้อื่นพูดให้เราฟัง อาจารย์ถ่ายทอดวิชาให้ หรือแม้แต่ไปอ่านหนังสือ ก็ได้ข้อมูลความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากคนอื่น อันนี้เป็นความรู้ของผู้อื่นที่เรารับเอาเข้ามา ยังไม่เป็นของเรา ทีนี้ถ้าเรารู้เข้าใจในสิ่งที่รับมา หรือได้สดับตรับฟังมา ความรู้ที่เป็นความเข้าใจของตัวเองก็เกิดขึ้นใหม่ ความรู้นั้นแหละเป็นปัญญา
บางคนมีสุตะมาก เล่าเรียนทรงจำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย แต่มีปัญญาน้อย คือ ไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งที่ได้สดับเล่าเรียนมานั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์แท้จริง เหมือนได้อุปกรณ์บางอย่างมา แต่ไม่รู้ว่าอุปกรณ์นั้นเป็นอย่างไร มีคุณค่าอย่างไร จะใช้อย่างไร ก็ได้ประโยชน์น้อย บางทีก็เกิดโทษด้วย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนเน้นว่า นอกจากจะมีสุตะแล้ว ต้องมีปัญญาด้วย ท่านว่า ปฺญา สุตวินิจฺฉินี แปลว่า ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยสุตะ คือ ความรู้ที่เข้ามานั้นเป็นข้อมูลดิบ เป็นของดิบ ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร มีคุณค่าอย่างไร จะเอาไปใช้อย่างไร ถ้าคนไม่มีปัญญา ความรู้นั้นก็เอามากองไว้เฉยๆ ไม่รู้ว่า จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร แต่คนที่มีปัญญาจะสามารถวินิจฉัยได้ เลือกเฟ้นได้ว่า อันนี้เป็นข้อมูลเป็นความรู้ที่ใช้ประโยชน์เพื่อการนั้น เอาไปใช้ทำอย่างนั้นๆ ได้ ถ้าเราจะทำอะไรให้สำเร็จสักอย่างหนึ่ง จะต้องเอาความรู้นี้ไปใช้ไปทำอย่างไร ไปดัดแปลงอย่างไร เอาความรู้นั้นไปยักเยื้องใช้งานทำการแก้ไขปัญหา จัดทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จผลตามต้องการได้ ความรู้ที่เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ความรู้ที่สามารถสืบสาวหาเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ ความรู้ที่สามารถคิดพิจารณาวินิจฉัยได้ เลือกเฟ้นกลั่นกรองได้ เชื่อมโยงประสานได้ ทำให้เอาสุตะหรือข้อมูลข่าวสารวิชาการต่างๆ ไปใช้งาน สามารถจัดสรรจัดการดำเนินการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จได้ ความรู้อย่างนี้ เรียกว่า ปัญญา
ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ เป็นตัวควบคุมทั้งหมด ควบคุมตั้งแต่ศรัทธามาจนถึงจาคะ จะรู้ว่าอะไรควรเชื่อไม่ควรเชื่อ ก็ต้องอาศัยปัญญา จะประพฤติศีลได้ถูกต้อง ก็ต้องมีปัญญากำกับว่า ที่เราประพฤติปฏิบัติอยู่นี้เพื่ออะไร ตอนนี้เราควรจะฝึกฝนตนอย่างไรด้วยศีลนั้น สำหรับสุตะก็มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัย และนำไปใช้ให้ถูกต้องให้เป็นประโยชน์ จาคะก็เช่นเดียวกัน เพราะมีปัญญาจึงทำให้เราสามารถมีจาคะ ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย กล่าวคือ ในขั้นสูงสุดเมื่อรู้เข้าใจเท่าทันสังขาร รู้เท่าทันโลกและชีวิตตามความเป็นจริง จึงจะทำให้จิตใจหลุดพ้นเป็นอิสระ ไม่ยึดติดผูกพันในสิ่งทั้งหลาย มีจาคะที่แท้จริง ปัญญาท่านจึงจัดไว้เป็นข้อสุดท้าย เพราะเป็นตัวคุมทั้งหมด
ปัญญานี้ ก็เป็นข้อธรรมสำหรับวัดความเจริญของชาวพุทธอีกอย่างหนึ่ง คือให้ตรวจดูตั้งแต่ขั้นต้นๆ ว่า เรามีปัญญา ความรู้ความเข้าใจในธรรมที่ได้เล่าเรียนมา แค่ไหนเพียงใด สุตะคือความรู้จดจำหลักธรรมที่ได้เล่าเรียนมา ปัญญาคือความเข้าใจแทงตลอดในหลักธรรมที่เล่าเรียนมานั้น ทั้งสองอย่างนี้ประกอบกัน ถ้าสุตะมากขึ้น แล้วปัญญาเจริญไปด้วย สุตะนั้นก็เกิดเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเล่าเรียนสุตะ เรียนหลักธรรมมา แต่ไม่มีปัญญา หลักธรรมที่เล่าเรียนมาเป็นสุตะนั้นก็ไม่เกิดผล ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ตลอดจนตรวจดูปัญญาที่รู้เข้าใจสังขาร รู้เข้าใจเท่าทันโลกและชีวิตตามความเป็นจริง โดยมองเห็นธรรมดาของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และรู้จักที่จะทำตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ทำตามใจอยาก เป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้มีปัญญาเป็นหลักประการสำคัญ ที่จะนำชาวพุทธให้ก้าวหน้าไปในการปฏิบัติ
เมื่อรวมแล้ว ก็มีหลักธรรม ๕ ข้อที่จะต้องตรวจดูว่า เป็นสิ่งที่ได้เกิดมีขึ้นในจิตใจของเราอยู่เรื่อยๆ หรือไม่ ขอให้ธรรมเหล่านี้เกิดมีขึ้นในใจอยู่เสมอ และให้เกิดมากขึ้นบ่อยขึ้น ยิ่งเกิดบ่อยเท่าไรก็ยิ่งเจริญงอกงามเท่านั้น นั่นแหละคือความเจริญงอกงามในการปฏิบัติธรรม
ที่กล่าวมานั้น เป็นธรรมหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ สำหรับใช้วัดความเจริญของชาวพุทธ นอกจากนี้แล้วท่านยังมีหลักอื่นๆ สำหรับวัดอีก อาตมภาพจะพูดถึงไว้อีกสักหมวดหนึ่ง กล่าวคือธรรมทั้งหลายเท่าที่เราจะรู้ได้ เมื่อจัดประเภทแล้ว จะมีอยู่สี่พวกด้วยกัน
ธรรมพวกที่หนึ่งคือ ธรรมประเภทที่จะต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ท่านเรียกว่า ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ซึ่งเราต้องรู้จัก เช่นโลกและชีวิตนี้ หรือสังขารทั้งหลาย หรือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราจะต้องรู้จักตามสภาพของมัน รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ธรรมในหมวดนี้ท่านเรียกว่า ปริญไญยธรรม ธรรมที่ควรกำหนดรู้ คือรู้ตามที่มันเป็นของมัน เรียกเป็นศัพท์แท้ๆ เฉพาะตัวหลักว่า ปริญญา ปริญญาก็คือ การกำหนดรู้เท่าทันตามที่มันเป็นจริง
ต่อไป ธรรมพวกที่สอง คือธรรมที่ต้องจะต้องกำจัด ต้องแก้ไข เช่น กิเลสต่างๆ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือว่า โลภะ โทสะ โมหะ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อะไรพวกนี้ จัดเป็นธรรมเหมือนกัน แต่เป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมประเภทที่ต้องละ ต้องแก้ไข ต้องกำจัด พวกนี้ท่านจัดเป็นประเภทที่สอง เรียกว่า ปหาตัพพธรรม เฉพาะตัวหลักแท้ๆ คือ ปหานะ แปลว่า การละหรือกำจัด
ต่อไปอีก ธรรมพวกที่สามคือ ธรรมที่เราควรประจักษ์แจ้ง ควรจะเข้าถึง หรือควรจะบรรลุ เช่น ความสงบของจิตใจที่เรียกว่าสันติ ความสะอาด ความสว่าง ความผ่องใส ความบริสุทธิ์ ความปราศจากธุลีมลทินของจิตใจ ความไร้เศร้าไร้โศกอะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นธรรมที่ควรบรรลุหรือควรเข้าถึง เรียกว่าเป็น สัจฉิกาตัพพธรรม เป็นประเภทที่สาม ตัวหลักแท้ๆ คือ สัจฉิกิริยา แปลว่า การทำให้ประจักษ์แจ้ง
สุดท้าย ธรรมพวกที่สี่ คือธรรมที่ควรปฏิบัติ ควรเอามาใช้ เอามาลงมือทำ เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ธรรมประเภทนี้เป็นธรรมที่เราควรเอามาใช้ เอามาปฏิบัติ เอามาลงมือทำ เป็นภาคปฏิบัติ และเป็นวิธีการ เรียกว่า ภาเวตัพพธรรม แปลว่า ธรรมที่ควรเจริญ คือ ควรพัฒนา หรือทำให้มีทำให้เป็นเพิ่มขึ้นๆ ตัวหลักแท้ๆ คือ ภาวนา แปลว่า การเจริญ การพัฒนา หรือการลงมือปฏิบัติ
ตกลงว่า ธรรมนั้นมีสี่หมวดด้วยกัน ในเวลาที่พุทธศาสนิกชนพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติธรรมนั้น ท่านให้ดูให้ครบว่า ธรรมที่ควรรู้จักตามความเป็นจริง เรารู้จักหรือยัง เรารู้จักแค่ไหน ธรรมที่ควรแก้ไขควรกำจัด เราได้กำจัดหรือได้ละไปแล้วแค่ไหนเพียงใด ธรรมที่ควรเข้าถึงหรือควรบรรลุ เราได้บรรลุหรือเข้าถึงแล้วแค่ไหนเพียงใด ธรรมที่ควรใช้ปฏิบัติเอามาลงมือทำ เราได้ลงมือทำไปแค่ไหน ถ้าจัดธรรมเป็นหมวดๆ อย่างนี้ถูก เราจะวัดผลได้ดีทีเดียว จะไม่เกิดความสับสน พอจัดธรรมเข้าเป็นหมวดเป็นชุดอย่างนี้แล้วสบาย คือมีหลักในการพิจารณาตัวเองว่า ได้เจริญก้าวหน้าในธรรมสักแค่ไหน
เป็นอันว่า หลักการอย่างหนึ่งในการตรวจสอบตนเอง คือให้สำรวจตรวจดู หรือวัดผลตนเองว่า
๑. ปริญไญยธรรม ธรรมที่ควรรู้จักตามเป็นจริง โดยเฉพาะกายและใจของเรา ที่เรียกว่าขันธ์ ๕ รวมถึงโลกและชีวิตทั้งหมดนี้ เรารู้จักมองและเข้าใจด้วยความรู้เท่าทันตามเป็นจริงหรือไม่
๒. ปหาตัพพธรรม ธรรมที่ควรละ ควรกำจัด เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง เราได้กำจัด ได้ลดละ ได้แก้ไขไปแล้วแค่ไหนเพียงใด
๓. สัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมที่ควรเข้าถึง ควรบรรลุ ควรทำให้ประจักษ์แจ้งขึ้นมา เช่น ความสงบ ความเบิกบานผ่องใส ความเป็นอิสระ ความเป็นสุขไร้ทุกข์ ความปลอดโปร่งโล่งเบา เราได้เข้าถึงประจักษ์แจ้งไปแล้วแค่ไหนเพียงใด
๔. ภาเวตัพพธรรม ธรรมที่เป็นตัวการปฏิบัติ คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือแยกเป็นเรื่องๆ เช่น จิตตภาวนา วิปัสสนาภาวนา หรือแยกเป็นอย่างๆ เช่น เมตตา กรุณา ความมีสติ ความเพียร ความอดทน เป็นต้น เราได้เอามาใช้ได้ปฏิบัติไปแล้วแค่ไหนเพียงใด
นี้เป็นหลักสำหรับพุทธศาสนิกชน ซึ่งขอกล่าวไว้อย่างกว้างๆ ที่สุด เมื่อทำได้อย่างนี้ เราจะมีหลักมีเกณฑ์ในการปฏิบัติธรรมให้ได้ผลมากขึ้น
ในวันนี้ เท่าที่อาตมภาพได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น ก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับการเกิด กล่าวคือ ในการเกิดของชีวิตนั้น เราต้องการให้มีความเจริญก้าวหน้าสืบต่อไป ความเจริญก้าวหน้านั้นมีสองด้าน เพราะว่าชีวิตของเราประกอบไปด้วยองค์ร่วมสองส่วน คือ กายกับใจ ความเจริญด้านที่หนึ่ง ก็คือด้านกาย ซึ่งอาศัยปัจจัยสี่ โดยเฉพาะอาหารเป็นเครื่องบำรุงเลี้ยงทำให้เจริญเติบโตต่อมา แต่อีกด้านหนึ่งคือด้านจิตใจ ก็จะต้องมีความเจริญงอกงามเหมือนกัน จิตใจก็มีการเกิดอยู่ตลอดเวลา เมื่อเข้าสู่การปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา การเกิดของจิตใจนั้นจะต้องให้มีความหมายเป็นการทำให้กุศลธรรมเกิดมีขึ้นในใจ ทำให้จิตใจแต่ละขณะที่เกิดขึ้นคือในขณะจิตหนึ่งๆ นี้มีกุศลธรรมเกิดขึ้น ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นความเจริญงอกงามของจิตใจ เมื่อได้ความเจริญงอกงามของร่างกายและของจิตใจครบทั้งสองประการ ก็จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์
โดยเฉพาะ ในระยะซึ่งชีวิตเจริญงอกงามมากขึ้นนั้น เราจะเห็นได้ว่า ในส่วนของร่างกายจะมีการเสื่อมโทรมได้ ยิ่งในระยะปลายแล้วยิ่งมีความเสื่อมมองเห็นชัดมากขึ้น แต่สิ่งที่ทุกท่านจะทำได้ก็คือด้านจิต ด้านจิตนี้เราสามารถทำให้เจริญงอกงามมากขึ้นๆ โดยไม่เสื่อม เพราะฉะนั้น เมื่อชีวิตเจริญขึ้น ก็ควรจะเน้นให้ความสำคัญแก่การที่จะบำรุงจิตใจให้เจริญงอกงามมากยิ่งขึ้น เพราะความเจริญงอกงามของจิตใจจะทำให้ชีวิตนี้เป็นชีวิตที่มีค่า มีความหมายที่แท้จริง แม้ว่าร่างกายจะเปลี่ยนแปรเสื่อมโทรมไปตามธรรมดาของธรรมชาติ เป็นไปตามหลักของพระไตรลักษณ์ แต่จิตใจที่เป็นไปตามพระไตรลักษณ์เหมือนกันนั่นแหละ กลับเจริญงอกงาม เป็นความเปลี่ยนแปรไปในทางที่ดีงาม คือ ในขณะที่ร่างกายเปลี่ยนแปรไปในทางเสื่อมโทรม แต่จิตใจกลับแปรเปลี่ยนไปในทางที่เจริญงอกงามยิ่งขึ้น เป็นความเป็นไปตามพระไตรลักษณ์ แต่เป็นพระไตรลักษณ์ในทางที่ว่า เจริญงอกงามด้วยกุศลธรรม ยิ่งมีกุศลธรรมเกิดบ่อยขึ้น ก็งอกงามมากยิ่งขึ้น แล้วก็จะมีความสุขที่แท้จริง เพราะเป็นความสุขที่อิสระ ไม่ขึ้นต่อสิ่งปรุงแต่งภายนอก และก็จะเป็นชีวิตที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็น อโมฆชีวิต คือชีวิตที่ไม่ว่างเปล่า เพราะมีสิ่งดีงามล้ำค่า คือ กุศลธรรมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
วันนี้อาตมภาพขออนุโมทนา คุณโยมเกสรี ซึ่งได้ปรารภวันอันเป็นมงคล คือวันอายุครบ ๖๐ ปี ที่ในโลกเรานิยมถือกันว่า เป็นระยะกาลเหมาะสมที่จะเฉลิมฉลองทำบุญทำกุศลครั้งสำคัญ แล้วจัดพิธีทำบุญครั้งนี้ขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วการทำบุญทำกุศลที่จัดเป็นพิธีนี้ ก็เป็นอุบายเพื่อทำให้กุศลธรรมเกิดมีขึ้นนั่นเอง เมื่อกุศลธรรมเกิดมีขึ้นแล้ว ก็เป็นความงอกงามและเป็นความสุขของชีวิต อาตมภาพจึงขอตั้งจิตตั้งใจเป็นกัลยาณฉันทะ ร่วมอนุโมทนา เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คุณโยมเจริญงอกงาม ด้วยกุศลธรรมเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป และในโอกาสอันเป็นสิริมงคลนี้ ก็ขออ้างอิงคุณพระศรีรัตนตรัย อวยชัยให้พร รตนตฺตยานุภาเวน รตฺนตฺตยเตชสา ด้วยอานุภาพคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ พร้อมด้วยบุญกุศลที่คุณโยมได้บำเพ็ญแล้ว จงเป็นเครื่องอภิบาลรักษาให้คุณโยม พร้อมทั้งญาติมิตร เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย เจริญงอกงาม และร่มเย็นเป็นสุขในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลนาน