ตอนนี้ก็เกิดปัญหาเรื่องอิสรภาพขึ้นมา คือท่านอาจารย์ผู้ดำเนินการอภิปรายได้จำกัดเวลาที่จะพูดเสียแล้ว จึงทำให้รู้สึกว่าหมดอิสรภาพที่จะพูดให้ได้เนื้อความตามที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ต้องพยายามสร้างอิสรภาพขึ้นมาในความไม่มีอิสรภาพ ไม่ได้มากก็ได้น้อย คือ การพูดถึงหลักธรรมสำคัญ เช่น เรื่องการเข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนานี้ ถ้าว่ากันให้ชัดเจนจะต้องมีการพูดอย่างเป็นระบบ มีการวิเคราะห์กันอย่างละเอียดชัดเจนมาก เช่น ทำอย่างไรจึงจะให้หัวใจส่วนที่ฝ่ายพระพูดว่าวิมุตติหรืออิสรภาพนั้นมาเชื่อมโยงกันได้ กับหัวใจที่ท่านรัฐมนตรี (ชวน หลีกภัย) ได้พูดไปแล้วว่า ได้แก่การเว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ถ้าเราพูดชี้แจงไปๆ ในที่สุดหัวใจทั้งสองอย่างมันก็คืออันเดียวกัน แต่ทีนี้ในเมื่ออาตมภาพชี้หัวใจของพระพุทธศาสนาลงไปว่า ได้แก่วิมุตติหรืออิสรภาพแล้ว ก็จะต้องตอบเรื่องนี้ โดยตอบคำถามของท่านอาจารย์ผู้ดำเนินการอภิปราย ที่ว่าอะไรเป็นอุปสรรค ไม่ให้คนเข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นคำถามที่ ๒
ถ้าเราจะเอาหลักธรรมมาพูด ตามหลักฐานในพระไตรปิฎก เราก็จะพบได้ทั่วไป และท่านจะอ้างเป็นบาลีว่า “อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสุ” อย่างนี้มีทั่วไปในพระบาลี ซึ่งแปลความว่า “จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน” อันนี้ก็คือคำตอบที่บอกว่า ที่มันไม่หลุดพ้น ไม่มีอิสรภาพนั้น ตัวขัดขวางก็คืออุปาทานหรือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งอันนี้ มีไวพจน์หรือศัพท์ที่ใช้แทนกันได้หลายคำ คำที่เราได้ยินบ่อยก็คือคำว่า “อภินิเวส” หรือคำว่า “ปรามาส” อภินิเวสนั้นก็แปลว่าความยึดมั่น ดังจะเห็นได้ในคำที่หลวงพ่อสวนโมกข์ชอบอ้างพุทธพจน์บ่อยๆ ว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่อาจจะถือมั่นได้ ไม่ควรแก่การยึดมั่นถือมั่น หรือปรามาส ดังเช่นในคำว่า “สีลัพพตปรามาส” ยึดถือในศีลวัตรว่า ประพฤติศีลวัตรอย่างเดียวก็สามารถทำให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นเข้าสู่ความเป็นอิสรภาพได้
ทีนี้ปัญหาเกี่ยวกับความหมายของอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นก็เกิดขึ้นมาอีก เช่น บางท่านก็ว่า ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น เช่น ไม่ยึดถือในศีลธรรมคุณธรรมแล้ว เราก็ไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องอะไร อันนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจในความหมาย พูดกันง่ายๆ ในเวลาสั้นๆ ก็ชี้แจงได้เพียงว่า อุปาทานนั้นเป็นเรื่องของการยึดมั่นถือมั่น ถือค้างถือคาอยู่ จนกระทั่งไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะมือไม่ว่าง เหมือนอย่างคนที่ไปยึดฉวยอะไรไว้มั่น กำไว้ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง มันก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมือไม่ว่าง ทีนี้มันมีปัญหาในทางภาษาอย่างหนึ่ง เช่น ในทางพระ เวลาท่านใช้ว่ายึดมั่นในศีลธรรมนั้น ศัพท์เดิมท่านไม่ใช้ว่ายึดมั่น แต่ใช้ว่าตั้งมั่น ภิกษุตั้งมั่นแล้วในศีล ทำไมท่านใช้คำว่าตั้งมั่นหรือดำรงมั่น ก็เพราะว่าท่านถือว่าศีลเปรียบเหมือนผืนแผ่นดิน ความประพฤติที่ดีงามเหมือนอย่างแผ่นดิน คนเราจะทำการทำงานอะไรจะต้องยืนบนพื้นที่แน่น ถ้าพื้นมันแน่นดีแล้วเราก็สามารถทำอะไรได้ถนัด ถ้าท่านยืนอยู่บนพื้นที่ไม่แน่นหนา ยวบยาบโอนเอนโคลงเคลงไปมา ท่านจะทำอะไรได้ไม่ถนัด ทำอะไรก็ไม่สะดวกทุกอย่าง ท่านจะต้องยืนอยู่บนพื้น คือศีลที่แน่นหนานั้น อย่างนี้ท่านก็ใช้คำว่า “ตั้งมั่นในศีล”
ทีนี้ถ้าเราตั้งมั่นในศีล มีความประพฤติดีงามแล้ว เราก็ยืนได้มั่นคง เราก็ทำงานของเราได้เต็มที่ แต่นั่นมือของเราจะต้องว่างด้วย มือของเราจึงจะจับงานขึ้นมาทำได้เต็มที่ คำว่ามั่นนี่มีข้อที่จะต้องทำความเข้าใจหลายอย่าง คือมั่นในแง่ว่า ตั้งมั่น อยู่บนศีลที่เป็นเหมือนพื้นแผ่นดินหรือฐานที่มั่นคง จึงทำอะไรได้สะดวก และก็ทรงตัวมั่นอยู่ในสมาธิ หมายความว่าตั้งจิตมั่น ตัวเราจะได้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง นอกจากยืนอยู่บนฐานที่มั่นคงโดยศีล และทรงตัวอย่างมั่นคง ทำงานได้อย่างดีแล้ว ต่อมาก็จับไว้มั่นในความหมายว่าจับไว้ด้วยดี เรียกว่าสมาทาน ต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างอุปาทานกับสมาทาน สมาทานคือว่า จับไว้ด้วยดี จับได้มั่นคง คือจับไว้มั่นอย่างดี เพื่อทำการงานได้สะดวกเต็มที่ ไม่ใช่จับยึดถือค้างถือคาอยู่จนทำอะไรไม่ได้เลย นี่จะเห็นว่าแม้แต่ปัญหาในเรื่องถ้อยคำก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันอยู่แล้ว ทีนี้ตัวธรรมเองก็ต้องทำความเข้าใจลึกเข้าไปอีก ในเวลาสั้นๆ ก็ต้องพูดว่าอุปาทานนี้คือ ความยึดมั่นยึดติดถือค้างอยู่ ทำให้ไม่เป็นอันทำอะไร ทำอะไรก็ไม่ถนัด เพราะมันเกาะมันติดมันผูกรัดถือค้างถือคาไว้ ทีนี้ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ก็ต้องสืบต่อไปตามหลักธรรม
ท่านบอกว่าอุปาทานมาจากตัณหา เพราะมันอยากจะให้เป็นตามที่เราต้องการ จะให้มันเป็นอย่างที่ตัวอยากให้เป็น โดยไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายนั้นมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามความอยากของเรา ก็ตกลงว่าในที่สุดมันไปจนมุมที่อวิชชา คือ ความไม่รู้ สามตัวนี้มันเกาะกันอยู่ คือ ยึดมั่นถือมั่นเกาะติดค้างอยู่เพราะอยากจะให้สิ่งทั้งหลายมันเป็นไปอย่างที่ตัวต้องการให้เป็น โดยไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมันไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย
เมื่อมารู้ว่าตัวการที่เป็นอุปสรรคของความหลุดพ้น ไม่มีอิสรภาพ ก็คืออุปาทาน ซึ่งสืบไปถึงตัณหาและอวิชชาแล้ว เราก็มาถึงปัญหาว่าแล้วอะไรจะทำให้คนหลุดพ้นเป็นอิสระได้ พอเราสืบไปถึงอวิชชา ตัวแก้ก็คือ วิชชาหรือปัญญาความรู้นั่นเอง เป็นตัวที่จะทำให้แก้ปัญหาได้
ก่อนที่เราจะว่าถึงวิธีการ ระบบปฏิบัติในการแก้ เราจะต้องรู้เสียก่อนว่าตัวการในการแก้นั้นคืออะไร แล้วจึงจะวางระบบวิธีการในการแก้ไข พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเรื่องตัวการที่จะทำให้เราแก้ปัญหาได้ ทำลายอุปสรรคได้ แล้วก็ถึงวิมุตติความหลุดพ้นเป็นอิสระได้ นั่นคือ ปัญญา ความรู้ความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง เราจะเห็นว่าพุทธพจน์มีมากมาย แม้แต่ที่บอกมาเมื่อกี้ว่า จิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ทำไมมันจึงหลุดพ้น ก็เพราะมันรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ถ้าเอาตามความหมายที่เราพูดกันง่ายๆ ในที่นี้ก็คือว่า เรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายนี้มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น เมื่อเรารู้ว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย เราก็รู้ว่าจะต้องทำตามเหตุปัจจัย จะต้องศึกษาเหตุปัจจัยและก็ทำการตามนั้น นี่มันก็จะแก้ปัญหาได้
ทีนี้ปัญญาที่เป็นตัวการในการแก้นี้ เป็นสิ่งที่เราจะต้องสร้างขึ้นให้ได้ เพื่อบรรลุอิสรภาพ แต่ว่าปัญญาเพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ทันที เราจะต้องมีระบบวิธีในการที่จะทำให้เกิดปัญญานี้ คือให้ตัวการในการแก้ปัญหาหรือสร้างอิสรภาพนี้เกิดขึ้นมาให้ได้ ท่านก็วางระบบขึ้นมาเป็นวิธีการ วิธีการนี้ก็คือ มีสิ่งที่จะมาช่วยสนับสนุนเป็นขบวนการที่จะให้เกิดปัญญาขึ้น หรือทำให้ปัญญาพัฒนาจนถึงที่สุด ตอนนี้เราก็มาถึงวิธีการที่มีตัวสนับสนุนเข้ามาร่วมในขบวนการ พระพุทธเจ้าท่านวางเป็นระบบที่เรียกว่า สิกขาหรือการศึกษา จัดเป็นไตรสิกขา คือปัญญานี้ก็จะต้องมาจากสมาธิด้วย มาจากศีลด้วย ก็ครบขบวนการ มี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นไตรสิกขา แต่เราจะเห็นว่า ศีล สมาธิ ปัญญา และก็วิมุตติ วิมุตติตัวความหลุดพ้นนั้นจะต้องมาในลำดับต่อจากปัญญาเสมอไป ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสเรียกความหลุดพ้นนี้หรือความเป็นอิสรภาพนี้ว่าชื่ออะไรก็ตาม ก็จะมีความหมายเกี่ยวกับปัญญาเสมอ เช่น อย่างบอกว่า “ปฺาย ปริสุชฺฌติ” คนจะบริสุทธิ์ก็ด้วยปัญญา นี้คือหลุดพ้นเป็นอิสระในความหมายว่า สะอาด พ้นจากสิ่งสกปรกโดยประการทั้งปวง
ทีนี้ แม้ว่าปัญญาจะเป็นตัวสำคัญ แต่ก็ต้องอาศัยกระบวนการโดยมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาช่วยสนับสนุน มีศีล มีสมาธิ นี้คือการศึกษาที่ช่วยให้แก้ปัญหาได้ แต่พระพุทธเจ้านั้น เมื่อจัดวางระบบการศึกษาไว้ พระองค์ไม่ได้วางตายตัวเสมอไป บางทีจัดให้เหมาะกับคนในสภาพชีวิตอย่างหนึ่ง จะให้ใช้ปฏิบัติได้คล่องในสภาพชีวิตอย่างนั้น พระองค์ก็อาจจะจัดและตรัสเน้นเสียใหม่ เช่น คฤหัสถ์ แทนที่จะจัดเป็นไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พระองค์ก็จัดเป็น บุญสิกขา เป็น ทาน ศีล ภาวนา หรือในบางคราวพระองค์ก็ตรัสในรูปอื่นอีก และรูปหนึ่งที่อาตมภาพชอบมากก็คือที่ตรัสเป็นภาวนา ๔ คือ แยกสิกขา ๓ ในรูปภาวนา ๔
ภาวนานั้นก็เป็นคำที่แปลความหมายอย่างเดียวกันกับสิกขา คือแปลว่าฝึกฝนหรือฝึกอบรม คนที่บรรลุจุดหมายในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านเรียกว่า ภาวิตะหรือ ภาวิตัตตะ คนที่ได้ภาวนาแล้ว หรือเรียกว่าเป็น ทันตะ ผู้ที่ได้ฝึกฝนแล้ว คือมีการศึกษาที่แท้จริง ขบวนการในรูปของภาวนานี้ ท่านแบ่งเป็น ๔ คือ ไตรสิกขานั้นแยกไปโดยจัดกระบวนการไปในอีกรูปหนึ่งเป็น
กายภาวนา คือ ฝึกอบรมกาย
ศีลภาวนา คือ ฝึกอบรมศีล ได้แก่ความไม่เบียดเบียนกัน ความสัมพันธ์ในทางสังคมที่ดีงาม
จิตตภาวนา คือฝึกอบรมจิต
ปัญญาภาวนา คือฝึกอบรมปัญญา
ภาวนา ๔ นี้ก็นำไปสู่อิสรภาพ อิสรภาพนี้เราก็จะต้องแยกออกไปเป็น ๔ ด้าน ให้สอดคล้องกับภาวนา ๔ นี้ อิสรภาพ ๔ ด้านนี้ก็เป็นอิสรภาพทางกาย อิสรภาพทางศีล ได้แก่ อิสรภาพทางสังคม อิสรภาพทางจิต อิสรภาพทางปัญญา ๔ ด้านนี้ก็คือจุดหมายที่เราจะได้จัดให้สอดคล้องกับระบบหรือขบวนการไตรสิกขานั้น แล้วก็จะแก้ปัญหาได้
จุดมุ่งหมายคืออิสรภาพของเราในทางกายเป็นอย่างไร เราต้องมีปัจจัย ๔ อย่างเพียงพอที่จะเป็นอยู่ และก็จะต้องมีสุขภาพร่างกายที่ดี จะต้องปฏิบัติต่อวัตถุหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกายของเรา จะเป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติก็ตาม สภาพแวดล้อมทางวัสดุที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ ที่ปัจจุบันเรียกว่าเทคโนโลยีก็ตาม จะต้องให้เป็นการปฏิบัติในลักษณะที่จะเกิดคุณประโยชน์ ไม่เกิดโทษ เช่นไม่มัวเมาหมกมุ่นในเทคโนโลยี ปัจจุบันนี้ เรายังมีปัญหา เราไม่สามารถเข้าถึงแม้แต่อิสรภาพทางกายนี้ คนเรายังมีปัจจัย ๔ ไม่เพียงพอทั่วถึงกันบ้าง มีความยากไร้ขาดแคลนก็ยังแก้ไม่ตก คนที่มีก็มีความหมกมุ่นมัวเมาในเรื่องวัตถุเหล่านี้ มีการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่ถูกต้อง เป็นทาสของเทคโนโลยีอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ ถ้าเราเอาหลักพระพุทธศาสนาเข้ามา ก็เอากายภาวนานี้มาแก้ ก็เดินตามหลัก เช่นว่า การมีอินทรียสังวร คือ การรู้จักควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ควบคุมการรับรู้ของเรา ในทางที่ว่าจะทำให้ไม่เกิดโทษ ทำให้เราใช้สิ่งที่อยู่รอบตัวในทางที่เป็นประโยชน์ หรือโภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในโภชนะ กินอยู่ด้วยการพิจารณาถึงคุณค่าอันแท้จริงในสิ่งเหล่านั้น คือ การรู้จักบริโภคอย่างถูกต้อง ไม่ใช่บริโภคอย่างเป็นทาส
ต่อจากนั้นก็มาถึงความเป็นอิสระทางสังคม ได้แก่ การที่สังคมไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นต้น ซึ่งอันนี้ก็จะต้องสำเร็จด้วย ศีลภาวนา คือการสร้างความสุจริตขึ้นมา และมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จัดสรรแบ่งปัน ปัจจัย ๔ สิ่งบริโภคโดยทั่วถึง เป็นต้น
ในด้านอิสรภาพทางจิต ปัจจุบันนี้เรามองดูสังคมว่า มีอิสรภาพทางจิตไหม จิตใจของเราดีงาม ได้เครื่องบำรุงที่ทำให้ชุ่มฉ่ำเยือกเย็นอะไรบ้าง สังคมปัจจุบันนี้ จะเห็นว่ามีวิธีการที่จะทำให้คนมีอิสรภาพทางจิตใจ หรือมีความพัฒนาทางจิตใจในลักษณะต่างๆ เช่นว่า มีศิลปะ มีวรรณคดี มีเครื่องให้ความสนุกสนาน บันเทิง การพักผ่อนหย่อนใจต่างๆ มากมาย แต่สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่เอาธรรมะเข้ามาใช้ หรือปฏิบัติในทางจิตตภาวนาไม่ถูกต้อง ก็เอาศิลปะ เอาวรรณคดี เอาการพักผ่อนหย่อนใจ การบันเทิงต่างๆ ไปใช้ในทางที่ผิด แทนที่จะบำรุงจิตใจ ก็ทำให้เกิดความหมกมุ่นมัวเมายิ่งขึ้น จนกระทั่งก่อให้เกิดอาชญากรรม ซึ่งอันนี้เราก็จะต้องแก้ปัญหาที่ว่า ทำอย่างไรจะให้คนเรามีจิตใจพัฒนาหลุดพ้น มีอิสรภาพทางจิตอย่างแท้จริง ซึ่งอันนี้อาตมภาพเห็นว่าในการสร้างจิตตภาวนาในทางพระพุทธศาสนานั้น เราอาจจะแยกเป็น
ถ้าเราทำตามนี้ได้ ก็จะบรรลุอิสรภาพทางจิตใจ ซึ่งหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ก็จะต้องใช้เพื่อจุดมุ่งหมายนี้ด้วย
ในขั้นสุดท้ายก็ปัญญาภาวนาที่นำไปสู่อิสรภาพทางปัญญา อิสรภาพทางปัญญาเป็นอย่างไร สมัยนี้เรามีการเล่าเรียนวิชาการกันเจริญก้าวหน้ามาก เช่นว่า วิทยาศาสตร์ก็เจริญก้าวหน้ามาก แต่มันทำให้คนมีความหลุดพ้นและเป็นอิสระทางปัญญาจริงหรือเปล่า เช่นว่ามีการใช้ปัญญาอย่างปราศจากอคติไหม ปัญญานั้นกลายไปเป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง เอามาใช้เพื่อสนองความเห็นแก่ตัวของตนเองอะไรต่างๆ หรือเปล่า เหล่านี้ก็เรียกว่าปัญญานั้นไม่บริสุทธิ์ ไม่เป็นอิสระ คนไม่มีอิสรภาพทางปัญญา แต่ปัญญาตกอยู่ในอำนาจของอคติ ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส แล้วก็เลยใช้ปัญญาอย่างเป็นทาส ไม่ทำให้เกิดความหลุดพ้น เหมือนอย่างที่ว่า เรียนกันมาแค่ไหนๆ ก็ตาม ในที่สุดก็ตกไปเป็นทาสมัวเมาในวัตถุ ในเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีไม่เป็น ทำให้เกิดปัญหาแก่สังคม จนกระทั่งในที่สุดก็คือ ไม่สามารถจะสร้างปัญญาชนิดที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ เพราะไม่รู้เท่าทันอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้เท่าทันความเป็นไปตามเหตุปัจจัย จะเอาให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามที่ตัวอยากจะให้เป็น ไม่แก้ปัญหาโดยศึกษาเหตุปัจจัยนั้นให้ถูกต้อง ด้วยจิตใจมีความสุข ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความทุกข์ นี่ก็ถือว่าเป็นปัญญาในขั้นสุดท้ายที่จะทำให้คนพ้นจากความทุกข์ได้ เป็นอิสรภาพที่แท้จริง
ระบบการศึกษาในพระพุทธศาสนานั้น ก็มุ่งไปสู่อิสรภาพ ๔ ประการดังกล่าวนี้ ซึ่งสัมพันธ์กับระบบวิธีในการที่จะสร้างอิสรภาพ ซึ่งเรียกว่า ภาวนา ๔ ประการ คือ กายภาวนา การพัฒนา หรือว่าฝึกอบรมกาย ศีลภาวนา การพัฒนาศีล หรือว่า การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีงามทางสังคม จิตตภาวนา การฝึกอบรมพัฒนาจิตใจให้มีสุขภาพจิต สมรรถภาพจิต คุณภาพจิต และ ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมปัญญาให้ถึงความหลุดพ้นจากกิเลสที่ครอบงำจิตใจ ไม่ให้เป็นทาส จนกระทั่งพ้นจากความทุกข์โดยสมบูรณ์ และแก้ปัญหาโดยวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งไม่เป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น และทำให้เกิดความพ้นทุกข์อย่างแท้จริงด้วย
อาตมภาพว่า เราจะต้องเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้ามาให้หมด แล้วจะเห็นว่า หลักธรรมคือ วิมุตติ ความหลุดพ้นในพระพุทธศาสนานั้น มันมีโยงใยมาถึงชีวิตของชาวบ้านทั้งหมด ไม่ใช่ว่าวิมุตติแล้วก็เป็นเรื่องของคนที่จะปลีกจากโลกนี้ไป ไม่เกี่ยวข้องกับสังคม ถ้าหากอย่างนี้แล้ว ชาวบ้านจะแก้ปัญหาความยากจนขาดแคลน ผู้ปกครองไม่สุจริตไม่ได้ จะไม่เข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนา เราแก้ปัญหาไม่ได้ในทำนองนี้ คือว่าที่จริงนั้น การปฏิบัติธรรมให้ถึงวิมุตติ ไม่ใช่เรื่องของผู้ปลีกตัวออกจากสังคมเท่านั้น มันมีความสัมพันธ์ถึงกันหมด แต่เราจะต้องพูดให้เป็นระบบกันอย่างยืดยาวกว่านี้