ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม1

 

ทำงานเพื่ออะไร?

งานเป็นกิจกรรมส่วนสำคัญของชีวิต เพราะฉะนั้น ถ้าจะดูให้ละเอียดว่าเราใช้ชีวิตกันอย่างไร ก็ต้องมาดูเรื่องการทำงานว่า ทำกันอย่างไรด้วย

คนเรานั้นมองการทำงานต่างกันไปหลายอย่าง และจากความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการทำงาน ก็ทำให้เขามีพฤติกรรมการทำงาน เป็นแบบของตนๆ ไปตามความเข้าใจนั้น

อย่างแรกซึ่งเห็นชัดที่สุด คนโดยมากมองงานว่าเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ ทำให้มีเงินมีทอง สำหรับเอามาซื้อหารับประทาน มาจับจ่ายใช้สอย หาความสุขอะไรต่างๆ คนจำนวนมากมายมองความหมายของงานแบบนี้

ถ้าถือตามคตินี้ ก็จะเข้ากับคำขวัญที่ว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข ต้องทำงานจึงจะมีเงิน และต้องมีเงินจึงจะได้คนมาทำงาน

นี้คือความหมายขั้นแรก แต่ยังมีความหมายต่อไปอีก

สำหรับคนอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากมองความหมายที่หนึ่งแล้ว ยังมีความหมายที่สองพ่วงมาด้วย คือมองขยายกว้างไกลออกไปว่า งานนี้จะนำชีวิตของเราไปสู่การมีตำแหน่ง มีฐานะ เจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง หรือรุ่งโรจน์ และได้รับความนิยมนับถือ ที่ทางพระเรียกว่า โลกธรรม อันนี้ก็เป็นความหมายที่สำคัญเหมือนกัน คนไม่น้อยมองงานในความหมายแง่นี้

ต่อไป งานยังมีความหมายอย่างอื่นอีก และความหมายบางอย่างก็ช่วยให้เรามองกว้างออกไปนอกตัวเอง

ในความหมายที่ว่ามาแล้ว เรามองจำกัดเฉพาะตัวเอง ที่บอกว่างานเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ก็เป็นเรื่องของตัวฉัน งานเป็นบันไดไต่เต้าไปสู่ความรุ่งเรือง หรือความสำเร็จ ก็เพื่อตัวฉัน

แต่ที่จริงงานไม่ใช่แค่ตัวฉัน งานเป็นเรื่องกว้างกว่านั้น งานเป็นเรื่องที่เป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์ เป็นไปเพื่อการพัฒนา เป็นกิจกรรมของสังคม เป็นของประเทศ เป็นของโลก

โลกจะเป็นไปได้ สังคมจะดำเนินไปได้ ประเทศชาติจะพัฒนาได้ จะต้องอาศัยคนทำงาน เพราะฉะนั้น คนที่ทำงานจึงเท่ากับได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประเทศชาติ

ตามความหมายของงานในแง่นี้ พอเราทำงาน เราก็นึกทีเดียวว่า ตอนนี้เรากำลังทำการอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมประเทศชาติ หรือมองว่าเรากำลังทำอะไรอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์สุขของสังคมหรือของประชาชน

ต่อไป งานยังมีความหมายอีก ในแง่ว่าเป็นสิ่งที่แปรสภาพชีวิตของคน ทำให้คนมีชีวิตที่แตกต่างกันไป ดำเนินชีวิตต่างกันไป มีสภาพความเป็นอยู่แตกต่างกัน

คนเป็นกรรมกร ก็มีความเป็นอยู่แบบหนึ่ง คนเป็นนักวิชาการ ก็มีสภาพชีวิตอีกแบบหนึ่ง ผู้ที่เป็นแพทย์ ก็มีสภาพชีวิตไปอีกแบบหนึ่ง เป็นพระภิกษุ ก็มีสภาพความเป็นอยู่อีกแบบหนึ่ง สภาพความสัมพันธ์ในสังคมก็แปลกกันไป

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของงานที่แบ่งสภาพชีวิตของคนให้แตกต่างกัน จึงจัดว่าเป็นความหมายอีกอย่างหนึ่งของงาน

สำหรับบางคนอาจมองว่า งานเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า ถึงกับบอกว่า ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน คนที่กล่าวคติอย่างนี้มองไปในแง่ว่า งานเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตมีค่า ถ้าไม่ทำงานที่ดีมีประโยชน์ ชีวิตนี้ก็ไม่มีค่า

ต่อไป ความหมายของงานอีกอย่างหนึ่ง ก็คืองานเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตน หรือว่า การทำงาน คือการพัฒนาตน

ความหมายของงานในแง่ที่เป็นการพัฒนาตนนี้ ไปสัมพันธ์กับความหมายของการใช้ชีวิตอย่างที่ว่ามาเมื่อกี้นี้ ที่พูดว่าดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาตน หรือเพื่อพัฒนาศักยภาพนั้น ที่จริงสาระของมันก็อยู่ที่งานนี่เอง ที่เป็นตัวพัฒนา

งานนี้แหละเป็นสิ่งที่พัฒนาชีวิตของเรา พัฒนาให้เรามีความสามารถ ทำให้เรามีความเชี่ยวชาญ มีความเก่งกาจในทางใดทางหนึ่ง แม้ในด้านการฝึกฝนทางจิตใจหรือในทางคุณธรรม งานก็เป็นเครื่องมือฝึกฝนคน ทำให้เรามีความขยัน มีความอดทน ทำให้มีระเบียบวินัย มีจิตใจเข้มแข็ง ทำให้รู้จักสัมพันธ์กับเพื่อนพ้อง ผู้ร่วมงานและคนทั่วไป สิ่งเหล่านี้ล้วนอาศัยงานเป็นเครื่องฝึก

ถ้าคนรู้จักทำงาน คือทำงานเป็น จะสามารถใช้งานเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนพัฒนาตนเองได้มากมาย

เพราะฉะนั้น ในแง่หนึ่ง นักทำงานจะมองว่า งานเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกฝนพัฒนาตัวของเขา อย่างที่ว่าทำให้ศักยภาพของเขาถึงความสมบูรณ์

ทั้งหมดนี้ก็เป็นความหมายของงานในแง่ต่างๆ ซึ่งกล่าวได้มากมายหลายนัย นอกจากนี้ ก็อาจมีผู้ที่มองความหมายของงานในแง่อื่นอีก แต่ในแง่หลักๆ แล้วก็จะเป็นอย่างนี้

1ธรรมกถา แสดงในวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ณ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๒ (หลังจากพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๓๒ แล้ว หนังสือนี้มีการพิมพ์ต่อมาจนกระทั่งผ่านครั้งที่ ๑๔, พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งมี ๔๙ หน้า จึงได้จัดปรับใหม่เพื่อการพิมพ์ครั้งที่ ๑๕ จากนั้นมีการปรับปรุงต่อมาบ้าง จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งได้พิมพ์ครั้งแรก รวมกับเรื่องอื่นในหนังสือชื่อ เล่าเรียน-ทำงานกันไป ชีวิตได้อะไร, มิ.ย. ๒๕๔๘ และครั้งล่าสุด ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้จัดปรับรูปแบบให้ลงตัวเข้าชุดกับหนังสือเล่มอื่นๆ ที่พิมพ์ในรุ่นเดียวกัน)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.