ชีวิต และการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น แยกได้เป็น ๓ ด้าน คือ
๑. ด้านสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิตต้องติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กับโลก หรือสิ่งแวดล้อมนอกตัว โดยใช้
ก) ทวาร/ช่องทางรับรู้และเสพความรู้สึก1ที่เรียกว่า อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย (รวม ใจ ด้วยเป็น ๖)
ข) ทวาร/ช่องทางทำกรรม2 คือ กาย วาจา โดย ทำ และพูด (รวมใจ-คิด ด้วยเป็น ๓)
สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ติดต่อสื่อสารสัมพันธ์นั้น แยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑) สิ่งแวดล้อมทางสังคม คือเพื่อนมนุษย์ ตลอดจนสรรพสัตว์
๒) สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ หรือทางกายภาพ
มนุษย์ควรจะอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์และเพื่อนร่วมโลกด้วยดี อย่างเกื้อกูลกัน เป็นส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ของสังคม และปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ตั้งต้นแต่การใช้ตา หู ดู ฟัง ทั้งด้านการเรียนรู้ และการเสพอารมณ์ ให้ได้ผลดี รู้จักกินอยู่ แสวงหา เสพบริโภคปัจจัย ๔ เป็นต้น อย่างฉลาด ให้เป็นคุณแก่ตน แก่สังคม และแก่โลก อย่างน้อยไม่ให้เป็นการเบียดเบียน
๒. ด้านจิตใจ ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือแสดงออกทุกครั้ง จะมีการทำงานของจิตใจ และมีองค์ประกอบด้านจิตเกี่ยวข้อง เริ่มแต่ต้องมีเจตนา ความจงใจ ตั้งใจ หรือเจตจำนง และมีแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง พร้อมทั้งมีความรู้สึกสุข หรือทุกข์ สบาย หรือไม่สบาย และปฏิกิริยาต่อจากสุข-ทุกข์นั้น เช่น ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ อยากจะได้ อยากจะเอา หรืออยากจะหนี หรืออยากจะทำลาย ซึ่งจะมีผลชักนำพฤติกรรมทั้งหลาย ตั้งแต่จะให้ดูอะไร หรือไม่ดูอะไร จะพูดอะไร จะพูดกับใครว่าอย่างไร ฯลฯ
๓. ด้านปัญญา ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือแสดงออกทุกครั้ง ก็ตาม เมื่อมีภาวะอาการทางจิตใจอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ตาม องค์ประกอบอีกด้านหนึ่งของชีวิต คือ ความรู้ความเข้าใจ ความคิด ความเชื่อถือ เป็นต้น ที่เรียกรวมๆ ว่าด้านปัญญา ก็เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือมีบทบาทด้วย
เริ่มตั้งแต่ว่า ถ้ามีปัญญา ก็แสดงออกและมีภาวะอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ถ้าขาดปัญญา ก็แสดงออกและมีภาวะอาการทางจิตอีกอย่างหนึ่ง เรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้นแค่ไหน มีความเชื่อ มีทัศนคติ มีความยึดถืออย่างไร เราก็แสดงออกหรือมองสิ่งนั้น ไปตามแนวคิด ความเข้าใจ หรือแม้กระทั่งค่านิยมอย่างนั้น ทำให้ชอบใจ ไม่ชอบใจ มีสุขมีทุกข์ไปตามนั้น และเมื่อเรามองเห็น เรารู้ เข้าใจอย่างไร แค่ไหน เราก็แสดงออกหรือมีพฤติกรรมของเราไปตามความรู้ความเข้าใจ และภายในขอบเขตของความรู้ของเรานั้น
ถ้าปัญญา ความรู้ ความเข้าใจเกิดมากขึ้น หรือเราคิดเป็น ก็ทำให้เราปรับแก้พฤติกรรมและจิตใจของเราใหม่ เช่น เจอประสบการณ์ที่ไม่ดี เรารู้สึกไม่ชอบใจ พอไม่ชอบใจ ก็ทุกข์ แต่ถ้าเกิดปัญญาคิดได้ขึ้นมาว่า สิ่งที่ไม่ดีหรือไม่ชอบนั้น ถ้าเราเรียนรู้ เราก็ได้ความรู้ พอมองในแง่เรียนรู้ ก็กลายเป็นได้ ความไม่ชอบใจหายไป กลายเป็นชอบสิ่งที่เคยไม่ชอบ พอได้ความรู้ก็เกิดความสุข จากทุกข์ก็เปลี่ยนเป็นสุข ปฏิกิริยาที่แสดงออกมาทางพฤติกรรมก็เปลี่ยนไป
ในชีวิตประจำวัน หรือในการประกอบอาชีพการงาน เมื่อเจอคนหน้าบึง พูดไม่ดี ถ้าเรามองตามความชอบใจ-ไม่ชอบใจ ไม่ใช้ปัญญา เราก็โกรธ แต่พอใช้โยนิโสมนสิการ มองตามเหตุปัจจัย คิดถึงความเป็นไปได้แง่ต่างๆ เช่นว่าเขาอาจจะมีเรื่องทุกข์ ไม่สบายใจอยู่ เพียงคิดแค่นี้ ภาวะจิตก็อาจจะพลิกเปลี่ยนไปเลย จากโกรธก็กลายเป็นสงสาร อยากจะช่วยเขาแก้ปัญหา
ปัญญาเป็นตัวชี้นำ บอกทาง ให้แสงสว่าง ขยายขอบเขต ปรับแก้จิตใจและพฤติกรรม และปลดปล่อยให้หลุดพ้น
หน้าที่สำคัญของปัญญา คือ ปลดปล่อย ทำให้เป็นอิสระ ตัวอย่างง่ายๆ เพียงแค่ไปที่ไหน เจออะไร ถ้าไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่รู้จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร หรือพบปัญหา ไม่รู้วิธีแก้ไข จิตใจก็เกิดความอึดอัด รู้สึกบีบคั้น ไม่สบายใจ นี่คือทุกข์ แต่พอปัญญามา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะทำอย่างไร ก็โล่งทันที พฤติกรรมติดตันอยู่ พอปัญญามา ก็ไปได้ จิตใจอัดอั้นอยู่ พอปัญญามา ก็โล่งไป
องค์ประกอบของชีวิต ๓ ด้านนี้ ทำงานไปด้วยกัน ประสานกันไป และเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน ไม่แยกต่างหากจากกัน
การสัมพันธ์กับโลกด้วยอินทรีย์และพฤติกรรมทางกายวาจา (ด้านที่ ๑) จะเป็นไปอย่างไร ก็ขึ้นต่อเจตนา ภาวะและคุณสมบัติของจิตใจ (ด้านที่ ๒) และทำได้ภายในขอบเขตของปัญญา (ด้านที่ ๓)
ความตั้งใจและความต้องการเป็นต้น ของจิตใจ (ด้านที่ ๒) ต้องอาศัยการสื่อทางอินทรีย์และพฤติกรรมกายวาจาเป็นเครื่องสนอง (ด้านที่ ๑) ต้องถูกกำหนดและจำกัดขอบเขตตลอดจนปรับเปลี่ยนโดยความเชื่อถือ ความคิดเห็น และความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่และที่เพิ่มหรือเปลี่ยนไป (ด้านที่ ๓)
ปัญญาจะทำงานและจะพัฒนาได้ดีหรือไม่ (ด้านที่ ๓) ต้องอาศัยอินทรีย์ เช่น ดู ฟัง อาศัยกายเคลื่อนไหว เช่น เดินไป จับ จัด ค้น ฯลฯ ใช้วาจาสื่อสาร ไถ่ถาม ได้ดีโดยมีทักษะแค่ไหน (ด้านที่ ๑) ต้องอาศัยภาวะและคุณสมบัติของจิตใจ เช่น ความสนใจ ใฝ่ใจ ความมีใจเข้มแข็งสู้ปัญหา ความขยันอดทน ความรอบคอบ มีสติ ความมีใจสงบแน่วแน่ มีสมาธิ หรือไม่เพียงใด เป็นต้น (ด้านที่ ๒)
นี้คือการดำเนินไปของชีวิต ที่องค์ประกอบ ๓ ด้านทำงานไปด้วยกัน อาศัยกัน ประสานกัน เป็นปัจจัยแก่กัน ซึ่งเป็นความจริงของชีวิตนั้นตามธรรมดาของมัน เป็นเรื่องของธรรมชาติ และจึงเป็นเหตุผลที่บอกอยู่ในตัวว่าทำไมจะต้องแยกชีวิตหรือการดำเนินชีวิตเป็น ๓ ด้าน จะแบ่งมากหรือน้อยกว่านี้ไม่ได้
เมื่อชีวิตที่ดำเนินไปมี ๓ ด้านอย่างนี้ การศึกษาที่ฝึกคนให้ดำเนินชีวิตได้ดี ก็ต้องฝึกฝนพัฒนาที่ ๓ ด้านของชีวิตนั้น
ดังนั้น การฝึกหรือศึกษา คือ สิกขา จึงแยกเป็น ๓ ส่วน ดังที่เรียกว่า ไตรสิกขา เพื่อฝึกฝนพัฒนา ๓ ด้านของชีวิตนั้น ให้ตรงกัน แต่เป็นการพัฒนาพร้อมไปด้วยกันอย่างประสานเป็นระบบสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียว