ชีวิตคู่ที่มีคุณค่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ชีวิตจะก้าวไปในโลกได้ดี
ต้องมีความสามารถปรับตัว และทำแบบฝึกหัดเป็น

ข้อที่ ๒ คนที่มาอยู่ร่วมกัน จะต้องมีการปรับตัว เพราะว่า คนเรา เมื่อมาอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ เริ่มตั้งแต่อยู่กับผู้อื่น ย่อมพบความผิดแผกแตกต่างเป็นธรรมดา

แม้แต่สถานที่ เราขึ้นบ้านใหม่ หรือมาอยู่ในบ้านใหม่ ก็ต้องมีความแปลกที่ และจะต้องปรับตัวเข้ากับสถานที่นั้น ถ้าพบบุคคลคนใหม่ ก็ต้องมีการปรับตัวเข้ากับบุคคลนั้น

แม้แต่คนที่เรียกว่าเก่า อยู่มานานนักหนา บางทีก็ยังมีอะไรที่ยังแปลกตาเราอยู่ อย่าว่าแต่คนอื่นเลย ตัวเราเองบางทีก็ยังแปลกตัวเลย เพราะตัวเราเองก็มีความเปลี่ยนแปลง

เพราะฉะนั้น เราจะต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลง หรือความแปลกใหม่ที่เราจะต้องปรับตัว

ความสามารถของคนอย่างหนึ่ง พิสูจน์ได้ด้วยการรู้จักปรับตัว การปรับตัวเข้ากับผู้อื่นนี้ไม่ใช่เพียงเพื่ออยู่กันด้วยดีเท่านั้น แต่เป็นการทดสอบตัวเองด้วยว่า เรามีความสามารถแค่ไหนในการที่จะอยู่ด้วยดีในโลกนี้

การศึกษา คือการพัฒนาตนเอง และการพัฒนาตนเองนั้น ก็เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง เมื่อปรับตัวแล้ว ก็ปรับปรุงต่อไป คนไหนปรับตัวไม่ได้ ก็ยากที่จะอยู่ไปด้วยดีในโลกนี้ เมื่อพัฒนาตนเองได้ ก็มาปรับตัวให้ดี

ในการมาอยู่กับคนอื่น ก็ต้องปรับตัวแล้วก็ปรับใจเข้าหากัน และการปรับตัวปรับใจนั้น ต้องใช้ความเข้าใจ ไม่ใช้แค่อารมณ์ ไม่ใช้เพียงความรู้สึก คือต้องพยายามเข้าใจเขาบวกกับความเห็นใจ ถ้าเข้าใจก็ดีแล้ว ถ้ายังไม่เข้าใจก็พยายามเข้าใจโดยใช้วิธีการแห่งปัญญา เช่น พูดจากัน โดยไม่ใช้อารมณ์ ไม่วู่วาม

ธรรมข้อที่ ๒ นี้ คือหลักที่เรียกว่า “ทมะ”

ทมะ นั้น ปรับตัวแล้วก็ปรับปรุงตนด้วย หมายความว่า อะไรที่อาจจะบกพร่อง ขาดไป เกินไป ก็ปรับจัดทำให้เกิดความพอดี โดยใช้ปัญญา หรือว่าอะไรถูกต้อง อะไรเหมาะสม อะไรพอดี ก็ปรับตัวให้ได้อย่างนั้น ก็จะทำให้อยู่กันได้ด้วยดี

อันนี้เป็นเรื่องของการปรับตัว ทั้งปรับตัวเข้ากับสถานที่สิ่งแวดล้อม ปรับตัวเข้ากับญาติพี่น้อง ตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ของทั้งสองฝ่าย ปรับตัวเข้ากับการงานอะไรต่างๆ

พอปรับตัวได้ดี ก็เดินหน้าไปในการปรับปรุงตนเอง พัฒนายิ่งขึ้นไป ตอนนี้ ชีวิตก็จะก้าวหน้าเจริญงอกงาม หลักทมะข้อที่สองนี้แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ “ฝึก” นั่นเอง

คนเรานี้จะมีชีวิตเจริญงอกงามได้ ต้องมีการฝึกตน คนไหนไม่ฝึก ก็เจริญยาก

เพราะฉะนั้น คนที่เจริญ ก็จะเอาอะไรต่ออะไรมาเป็นเครื่องฝึกตนหมด เจอสถานการณ์ใหม่ พบอะไรใหม่ๆ ก็มองว่าจะได้โอกาสฝึกตน เจอทุกข์ เจอปัญหา ก็คือแบบฝึกหัดในการฝึกตัวนั่นเอง

จะเห็นว่า คนเราที่จะเก่ง ก็ต้องมีแบบฝึกหัด นักเรียนที่มีความสามารถ คือคนที่ขยันทำแบบฝึกหัด ชีวิตคนที่เจริญงอกงาม ก็เพราะเป็นคนที่รู้จักทำแบบฝึกหัด

คนเก่งนั้น มีลักษณะที่ว่า เจอปัญหาไม่ย่อท้อ เจอเรื่องที่ต้องทำไม่ถอย มองเป็นแบบฝึกหัด เอามาฝึกตัวเองให้หมด ซึ่งจะทำให้มีจิตใจที่ดีด้วย คือมีสุขภาพจิตดี

ถ้าใครไม่ได้เตรียมใจไว้ในการฝึกอย่างนี้ พอเจออะไรยาก เจออะไรต้องทำ เจอปัญหา ใจก็ท้อ ก็ถอย เลยเป็นทุกข์ไปหมด ใจไม่ดี เสียสุขภาพจิต แล้วก็ทำไม่ได้ผลด้วย เพราะมัวแต่ทุกข์ ใจย่อท้อ ก็ต้องฝืนใจทำ ไม่เต็มใจ ใจก็ไม่ดี งานก็ไม่เดิน

แต่ถ้ามองสถานการณ์ที่ประสบเป็นแบบฝึกหัด และเป็นโอกาสในการฝึกตน พอเจออะไรยาก ก็ดีใจว่า เออ ได้แบบฝึกหัดอีกแล้ว เจอปัญหา เจออะไรต่ออะไร ใจก็พร้อม ก็เลยมีสุขภาพจิตดี แล้วก็ทำให้ได้ผลดีแก่ชีวิต คือมีความเจริญงอกงาม ได้ฝึกตนยิ่งขึ้นไป ก็พัฒนาไปเรื่อย

เพราะฉะนั้น ข้อที่สองนี้จึงเป็นหลักสำคัญ ทั้งสำหรับชีวิตระหว่างคู่ครอง และชีวิตที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นกว้างขวางออกไป นี่คือข้อที่สอง “ทมะ - การฝึกตน"

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.