เจอวิกฤต จะเลือกวิวัฒน์ หรือจะเอาวิบัติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถ้าเป็นนักบริโภคที่ขาดความเป็นนักผลิต
ถึงแม้เจริญก็เป็นเพียงภาพลวงตา

สิ่งที่สังคมไทยเราขาดอย่างสำคัญคือความเป็นนักผลิต ภูมิหลังในความเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่จะทำให้เป็นนักผลิต เราก็ไม่มี ในภูมิหลังแห่งความเป็นสังคมเกษตรเราก็อยู่กับธรรมชาติที่สบาย เราไม่มีเหตุปัจจัยด้านทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามที่จะทำให้ดิ้นรนขวนขวาย พื้นเพภูมิหลังนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะต้องพิจารณาตัวเอง

แม้แต่ในการมองความเจริญของตะวันตก ที่เราพูดกันว่าเราชอบตามอย่างความเจริญของตะวันตกนั้น ความเป็นผู้ตามก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่ยิ่งกว่านั้น เรายังมองความหมายของความเจริญอย่างตะวันตกที่เราตามนั้นโดยมองแบบนักบริโภคอีกด้วย

เราคิดว่าเราอยากจะเจริญอย่างฝรั่ง การมองความเจริญอย่างฝรั่งนั้นมี ๒ แบบ คือ มองความเจริญแบบนักผลิต กับมองความเจริญแบบนักบริโภค

คนที่มองความเจริญแบบนักบริโภค จะมีภาพอยู่ในใจว่า เจริญอย่างฝรั่งคือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง แต่คนที่มองความเจริญอย่างฝรั่งแบบนักผลิต จะพูดว่า เจริญอย่างฝรั่งคือทำได้อย่างฝรั่ง

สังคมไทยเรามองความหมายของความเจริญอย่างฝรั่งนี้ แบบนักบริโภค หรือแบบนักผลิต ขอให้มองดูความหมายในหัวใจของคนไทยทั่วไป ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในความเป็นผู้ตาม ที่อยากเจริญอย่างฝรั่งนั้น ถ้ามองแบบนักบริโภคก็บอกว่าเจริญอย่างฝรั่งคือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ถ้ามองอย่างนักผลิตก็บอกว่าเจริญอย่างฝรั่งคือทำได้อย่างฝรั่ง แล้วเรามองแบบไหน

จะเห็นว่า คนไทยทั่วไปมองความหมายของการเจริญอย่างฝรั่งแบบมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง คือมองแบบนักบริโภค แต่ถ้าเมื่อไรเรามองแบบนักผลิตละก็ไม่ต้องกลัวหรอก แม้ว่าเวลานี้เราจะเป็นผู้ตาม แต่ไม่ช้าเราจะขึ้นไปเสมอทัดเทียมและแม้แต่นำเขาได้ จึงขอให้มองความเจริญอย่างฝรั่งแบบนักผลิต คือทำให้ได้อย่างฝรั่ง

ปัจจุบันปัญหาเรื่องนี้หนักมาก คือความเป็นนักบริโภคโดยไม่มีความเป็นนักผลิต พื้นฐานเดิมในความเป็นนักผลิตเราก็ไม่มี และก็ไม่สร้างมันขึ้นมาด้วย ถ้าเราอยากจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่ไม่เป็นนักผลิตแล้วเราจะสร้างอุตสาหกรรมได้อย่างไร เราก็จะได้แค่เป็นที่รองรับอุตสาหกรรมแบบ throw-away industry คืออุตสาหกรรมที่เขาเขวี้ยงทิ้ง เช่น อุตสาหกรรมประเภทระบายมลภาวะ เป็นต้น ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วเขาไม่ต้องการเพราะทำให้เกิดปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม เขาจึงระบายอุตสาหกรรมประเภทนี้ไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา และเก็บเอาไว้เฉพาะอุตสาหกรรมพวกไฮเทค อย่างนี้เป็นต้น

คนไทยเราบางทีก็ไปยินดีพอใจอุตสาหกรรมที่เขานำเข้ามา โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นผู้จัดการ ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชา ไม่ได้เป็นผู้นำ ไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งที่อุตสาหกรรมนั้นมาดำเนินการอยู่ในประเทศของเราเอง แต่อำนาจตัดสินใจอยู่ในประเทศอื่นโน่น เขาเพียงแต่มาเอาแรงงานราคาถูกที่ประเทศนี้ พอแรงงานราคาถูกเปลี่ยนไป ชักจะแพงขึ้น เขาก็ย้ายประเทศ ความเป็นนักผลิตที่จะเป็นตัวของตัวเองไม่มี เราก็หลงระเริง ไม่รู้ตัวว่าเราอยู่ในภาวะที่ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองแท้จริงเลย ได้แต่โลดแล่นอยู่กับของยืมของกู้ ความเจริญที่ผ่านมานั้น จึงเป็นของลวงตาทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น การที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ จึงเป็นภาวะที่ดีที่ควรจะทำให้เรารู้ตัวและฟื้นตัวขึ้นมา อย่างน้อยทำให้วิเคราะห์พิจารณาตนเอง แต่จะเป็นที่น่าเสียดายมากถ้าเราไม่รู้จักใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสอย่างที่พูดกันมากๆ เราพูดกันมานานแล้วว่าวิกฤตเป็นโอกาส แต่ในทางปฏิบัติ เราได้ใช้โอกาสนั้น หรือทำวิกฤตให้เป็นโอกาสขึ้นมาได้จริงหรือเปล่า เรื่องที่ว่านี้ยังเป็นที่น่าสงสัย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.