จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน ตามแนวธรรมชาติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พัฒนาอย่างมีดุลยภาพให้โตเต็มคน

ต่อไปประการที่ ๓ คือ วัฒนธรรมน้ำใจ วัฒนธรรมน้ำใจซึ่งหมายถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่พร้อมที่จะช่วยเหลือกัน แต่เมื่อมองพลิกกลับอีกด้านหนึ่งก็กลายเป็นหมายถึงการที่มุ่งหวังความช่วยเหลือจากกันได้ ทีนี้คนนั้นเมื่อหวังพึ่งกันได้ หวังความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ ก็ทำให้เกิดแนวโน้มที่จะไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่ต่อสู้ ไม่ดิ้นรน แต่ชอบนึกว่า ถ้าเราขาดแคลนยากลำบาก หรือเราขัดสนขึ้นมา ก็ไปหาผู้ใหญ่คนนั้นไปหาเพื่อนคนนี้ได้ พอหวังอย่างนี้ได้ก็ทำให้ไม่ต้องกระตือรือร้นขวนขวาย จึงเป็นปัจจัยที่นำมาสู่ความอ่อนแออีกอย่างหนึ่ง ตรงข้ามกับสังคมตะวันตกที่มีวัฒนธรรมแบบตัวใครตัวมัน เต็มไปด้วยการแข่งขันดิ้นรนต่อสู้ ถ้าเธอไม่ช่วยตัวเองก็ไม่มีใครเอาด้วย เธอก็ไม่รอด เธอจะตาย การที่หวังพึ่งคนอื่นไม่ได้ก็ทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวายต่อสู้ ก็ทำให้เข้มแข็ง อันนี้เป็นผลพ่วงในด้านลบ วัฒนธรรมน้ำใจนั้นดี แต่ในด้านเสียถ้าไม่ระวัง ผลร้ายก็มี

เรื่องนี้ถ้าพูดในทางธรรมก็เป็นเพราะการที่คนไทยปฏิบัติธรรมไม่ครบถ้วน เราเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ ธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้นตามปกติจะมีเป็นชุดๆ เช่นมี ๔ ข้อ มี ๕ ข้อ มี ๗ ข้อ ธรรมเหล่านี้ ถ้าเอามาใช้ไม่ครบชุดก็จะเกิดปัญหา เพราะมันเป็นระบบดุลยภาพหรือระบบบูรณาการ ธรรมหมวดที่เกี่ยวกับระบบน้ำใจนี้เราเรียกว่าพรหมวิหารซึ่งมี ๔ ข้อ ต้องปฏิบัติทั้งชุด แต่คนไทยเอามาใช้ไม่ค่อยครบ สี่ข้อมีอะไรบ้าง

พรหมวิหาร ๔ แปลว่าธรรมประจำใจของพรหม ๔ ประการ พรหมก็คือมนุษย์ในฐานะเป็นผู้ที่ร่วมสร้างสรรค์อภิบาลบำรุงโลกหรือสังคมให้ดำรงอยู่ได้ด้วยดี หมายความว่าพระพุทธศาสนาได้เปลี่ยนความหมายของพรหมจากแนวทัศนะของพราหมณ์ที่ถือว่ามีเทพเจ้าสูงสุดคือพระพรหมเป็นผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก พระพุทธศาสนาบอกว่าอย่าไปมัวรอพระพรหมให้มาสร้างโลกแล้วมนุษย์ก็อยู่กันอย่างไม่มีความรับผิดชอบจนกระทั่งทำลายโลกเสีย แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มนุษย์ทุกคนนี้เป็นพรหมเสียเอง โดยมีคุณสมบัติประจำใจสี่ประการที่เรียกว่าพรหมวิหารนั้น เมื่อมนุษย์ทำตัวเป็นพรหม ก็จะทำหน้าที่เป็นส่วนร่วมในการสร้างโลก คือสร้างสรรค์สังคม และบำรุงเลี้ยงโลกไว้ให้อยู่ด้วยดี

มนุษย์ในฐานะที่เป็นพรหมนั้นต้องมีธรรม ๔ ข้อ คือ หนึ่ง เมตตา สอง กรุณา สาม มุทิตา สี่ อุเบกขา ซึ่งจะต้องใช้ต่อเพื่อนมนุษย์ให้ถูกต้องตามสถานการณ์ที่เขาประสบ และมีความหมายสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ต้องใช้ คือ

สถานการณ์ที่ ๑ เมื่อเพื่อนมนุษย์อยู่เป็นปกติ เราก็มี เมตตา คือมีไมตรี ปรารถนาดีต่อเขา ต้องการให้เขาเป็นสุข

สถานการณ์ที่ ๒ เมื่อเขาตกต่ำลง คือเปลี่ยนจากปกติเป็นตกต่ำลงได้แก่ ตกทุกข์เดือดร้อน เราก็มี กรุณา คือพลอยหวั่นใจในทุกข์ของเขา พยายามช่วยเหลือปลดเปลื้องให้พ้นจากทุกข์นั้น

เมตตากับกรุณาต่างกันมาก บางทีคนไทยเราก็แยกไม่ถูกว่าเมตตากับกรุณาต่างกันอย่างไร ความหมายจะชัดเมื่อมองตามสถานการณ์ คือสถานการณ์ที่หนึ่งเขาอยู่ปกติเราใช้เมตตาเป็นมิตร สถานการณ์ที่สองเขาตกต่ำเดือดร้อนเราใช้กรุณาช่วยเหลือ

สถานการณ์ที่ ๓ ข้อนี้คนไทยมักจะไม่ค่อยพูดถึง เรามักใช้กันแค่เมตตาและกรุณาเป็นหลัก และคนไทยก็มีจริงๆ เมตตากรุณานี้เรามีมากและใช้มาก สถานการณ์ที่ ๓ คือคนอื่นขึ้นสูง เช่นได้ดีมีสุข หรือทำอะไรถูกต้องดีงามแล้ว เราก็มี มุทิตา พลอยยินดีด้วย และช่วยส่งเสริมสนับสนุน ข้อที่ ๓ นี้เราชักจะขาดแล้ว

ต่อไปสถานการณ์ที่ ๔ ข้อนี้ยากหน่อย เพราะตอนนี้มันไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แล้ว

ขอทำความเข้าใจว่า มนุษย์เรานี้ไม่ได้อยู่เฉพาะระหว่างมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น ในโลกนี้เพียงมนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเท่านั้นยังไม่พอที่จะดำรงรักษาสังคมให้ดำรงอยู่ด้วยดี เพราะว่าเบื้องหลังโลกมนุษย์หรือเบื้องหลังสังคมมนุษย์นั้นมีสิ่งที่เป็นฐานรองรับอยู่คือความเป็นจริงแห่งกฎธรรมชาติ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ได้แก่สิ่งที่ท่านเรียกว่า ธรรม อันได้แก่หลักการแห่งความถูกต้อง และความเป็นจริงตามเหตุปัจจัย ตลอดจนหลักการที่มนุษย์จัดตั้งวางขึ้นไว้โดยใช้ความรู้ในความจริงของกฎธรรมชาติ มาบัญญัติเป็นหลักการที่เรียกว่าเป็นกฎหมาย เป็นระเบียบ เป็นกติกาสังคมเพื่อจะดำรงรักษาสังคมของตนไว้ หลักการเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะรองรับสังคมมนุษย์ไว้ เพียงมนุษย์สัมพันธ์กันดีใน ๓ ข้อแรกยังไม่เพียงพอ ต้องรักษาข้อที่ ๔ ด้วย

เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยการช่วยเหลือสนับสนุนกัน ในเรื่องของเมตตาก็ดี กรุณาก็ดี มุทิตาก็ดีนี้ จะต้องหยุดทันทีเมื่อการช่วยเหลือสนับสนุนกันนั้นจะไปละเมิดหรือกระทบก่อความเสียหายต่อหลักการแห่งความเป็นจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ไม่ว่าจะเป็นหลักการที่อยู่ในธรรมชาติก็ตาม หลักการที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเป็นกติกาสังคมก็ตาม ความสัมพันธ์นั้นต้องหยุด ข้อนี้เรียกว่า อุเบกขา ซึ่งเป็นการปฏิบัติเพื่อรักษาหลักการไว้

ข้อที่ ๔ คืออุเบกขานี้คนไทยไม่ค่อยรู้จัก อุเบกขาคนไทยนึกแค่ว่าเฉย ทางพระท่านว่า ถ้าเฉยโดยไม่รู้เรื่อง เรียกว่าเฉยโง่ เป็นอกุศล การเฉยต้องประกอบด้วยปัญญา อุเบกขานี้สำคัญที่สุดเพราะใช้ปัญญา สามข้อแรกใช้แค่ความรู้สึก หมายความว่า เมตตา กรุณา และมุทิตา หนักในทางความรู้สึก คือให้มนุษย์มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ยามปกติก็มีเมตตารู้สึกเป็นมิตร ในยามเขาตกทุกข์เดือดร้อนก็กรุณารู้สึกสงสาร ในยามที่เขาประสบความสำเร็จก็รู้สึกพลอยยินดีด้วย แต่ข้อที่สี่นี้ต้องใช้ความรู้คือปัญญา เช่น ต้องรู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรผิด อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นหลักการ ถ้าไม่รู้ไม่มีปัญญาแล้วรักษาความถูกต้องไม่ได้ รักษาธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้นข้อที่สี่คืออุเบกขาจึงคุมทั้งหมด เพราะเป็นตัวรักษาดุล

เป็นอันว่าการปฏิบัติในสามข้อแรกจะต้องไม่ให้ไปละเมิดตัวหลักการคือตัวธรรม โดยให้ตัวที่สี่คืออุเบกขารักษาธรรมนั้นไว้ “เฉย” หมายความว่าฉันหยุด ไม่เอากับคุณแล้วนะ กฎต้องเป็นกฎ นี่คืออุเบกขามาแล้ว ต่อจากนี้ก็ว่าไปตามกฎ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมหรือชอบธรรม

ในการเลี้ยงลูก เรื่องนี้สำคัญที่สุด พ่อแม่ไทยมักเลี้ยงลูกโดยใช้ธรรมชุดนี้ไม่ครบสี่ข้อ ทำให้เลี้ยงลูกไม่โต เพราะฉะนั้นจึงขอเน้นเรื่องนี้เพราะการพัฒนาคนในครอบครัวคือการเลี้ยงดูลูกนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง พ่อแม่ไทยนั้นมีเมตตากรุณาและมุทิตาครบดีมาก หาได้ยากในโลกนี้ แต่ข้อที่ ๔ คือ อุเบกขาก็ขาดอย่างยิ่งเหมือนกัน

พรหมวิหาร ๔ ในการเลี้ยงดูลูกเป็นอย่างไร เริ่มด้วย

๑. เมื่อลูกอยู่เป็นปกติ พ่อแม่ก็มีเมตตา คือมีความรักใคร่ให้ความอบอุ่น แสดงความปรารถนาดี เลี้ยงให้เจริญเติบโต

๒. เมื่อลูกเกิดความเดือดร้อนเป็นทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีปัญหา พ่อแม่ก็กรุณา พยายามหาทางปลดเปลื้องทุกข์ของเขา ช่วยเหลือเต็มที่โดยมองทุกข์ของลูกเหมือนเป็นทุกข์ของตัวเอง บางทีลูกทุกข์เท่านี้แม่ทุกข์ยิ่งกว่านั้นอีก ขวนขวายช่วยเหลือหาทางแก้ไข

๓. เมื่อลูกประสบความสำเร็จได้ดีมีสุข ทำดีงามถูกต้อง พ่อแม่ก็สนับสนุนส่งเสริม เช่น สอบได้หรือประสบความสำเร็จได้การได้งานทำ พ่อแม่ก็ส่งส่งเสริมสนับสนุน ข้อนี้ก็ปฏิบัติกันดี ไม่มีปัญหา

ทีนี้ต่อไปข้อ ๔. อุเบกขาปฏิบัติอย่างไร อุเบกขานี้ใช้เมื่อ

๑) ลูกจะต้องฝึกหัดรับผิดชอบทำอะไรๆ ให้เป็นด้วยตนเอง ตามหลักที่ว่าเมื่อลูกเติบโตแล้วเขาก็จะเป็นสมาชิกของสังคม เมื่อเขาอยู่ในโลกมนุษย์นั้น เขาไม่ได้อยู่กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างเดียว แต่เขาอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตด้วย โลกและชีวิตนั้นเป็นไปตามความเป็นจริงแห่งกฎธรรมชาติ คือสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน มันไม่เข้าใครออกใคร จะเอาเมตตา กรุณา มุทิตา ไปใช้กับมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมลูกให้พร้อมที่จะไปอยู่กับความเป็นจริงแห่งโลกและชีวิต เขามีอะไรจะต้องรับผิดชอบทำให้ได้ด้วยตนเอง เพื่อจะได้รับผิดชอบตนเองและรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้ก็ต้องหัดเขาไว้ ถึงตอนนี้พ่อแม่จะต้องใช้ปัญญา รู้จักดู รู้จักพิจารณา ไม่ใช่ว่ามีอะไรก็ไปทำแทนให้เขาหมด ถ้าเห็นว่าอะไรเป็นเรื่องที่เขาจะต้องฝึกรับผิดชอบทำให้เป็นแล้วต้องหัดเขาเลย เพราะนี่คือการรักลูกที่แท้จริง คือหัดให้เขาพึ่งตนเองได้และมีอิสรภาพ ไม่ใช่ไปมัวทำให้ลูกทำอะไรไม่เป็น ต้องขึ้นต่อพ่อแม่อยู่เรื่อย และต่อไปเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ด้วย ลูกก็ต้องขึ้นกับคนอื่นๆ ต่อๆ ไป

บางทีถ้าเราใช้เมตตากรุณามุทิตาก็คือการขัดขวางการพัฒนาของลูก พ่อแม่ไทยนี่ไม่รู้ตัวก็เลยใช้ความรักของตัวเป็นเครื่องขัดขวางการพัฒนาของเด็ก อุเบกขาต่างหากเป็นตัวทำให้เด็กพัฒนา แต่ต้องเป็นอุเบกขาแท้ที่ใช้ปัญญา คือต้องพิจารณาว่าในสถานการณ์นี้เป็นเวลาที่ลูกของเราจะต้องหัดทำด้วยตัวเขาเอง

อุเบกขา แปลว่าคอยดูอยู่ใกล้ๆ หมายความว่าคอยดูแลเพื่อเปิดโอกาสให้เขาหัดรับผิดชอบและรู้จักพัฒนาตนเอง คือพิจารณาว่าอะไรที่เขาควรทำให้เป็นก็ให้เขาทำแล้วคอยดูอยู่ เพื่อว่าถ้าหากเขาเพลี่ยงพล้ำเราจะได้เข้าแก้ไขสถานการณ์ช่วยได้ทันที อุเบกขาก็คอยมองดูพร้อมอยู่ เราคอยมองดูด้วยอุเบกขาเสียแต่บัดนี้ ดีกว่าทำให้เขาและไม่ให้เขาทำจนกระทั่งเมื่อเราไม่อยู่แล้วเขาต้องไปดิ้นรนต่อสู้ด้วยตัวเองกับความเป็นจริงของโลกและชีวิต แล้วเราก็เลยไม่มีโอกาสไปช่วยเขา เพราะฉะนั้นตอนนี้ที่เรามีโอกาสอยู่กับเขารีบอุเบกขาซะ คือคอยดูให้เขาทำ เขาทำถูกหรือผิด ทำได้ดีหรือไม่ เราจะได้รู้เห็นและมีโอกาสแนะนำสั่งสอน ช่วยให้เขาทำได้ดี จนมีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่รอให้พ่อแม่จากไปแล้วจึงให้เขาดิ้นรนต่อสู้กับชีวิตเอง ทำผิดทำถูก ทำไม่เป็น พ่อแม่ก็ไม่รู้ด้วยช่วยไม่ได้อีกต่อไป ถึงเวลานั้นเขาจะไปถูกอุเบกขาแห่งความเป็นจริงของโลกและชีวิตทำเอา เขาก็จะลำบาก ก็ต้องโทษพ่อแม่ที่ไม่ให้โอกาสเขาที่จะพัฒนาเพราะไปทำแทนเสียหมด จึงกลายเป็นการขัดขวางการพัฒนาของเด็ก

นี่ก็หนึ่งละ คือในกรณีที่เด็กจะต้องฝึกรับผิดชอบทำอะไรต่ออะไรให้เป็นด้วยตนเอง พ่อแม่จะต้องอุเบกขาคอยดู แล้วจะไปช่วยต่อเมื่อเพลี่ยงพล้ำ พร้อมที่จะช่วยตลอดเวลา นี่แหละคือการเปิดโอกาสให้เขาพัฒนาภายใต้การดูแลของเรา เท่ากับพ่อแม่ทำหน้าที่เลี้ยงดู โดยสมบูรณ์ คือ ทั้งเลี้ยงและดู เลี้ยง คือให้และทำให้เขา ดู คือดูให้เขาทำ แล้วลูกก็จะเจริญเติบโตอย่างเต็มตัว คือทั้งมีจิตใจอ่อนโยน มีน้ำใจ อบอุ่น ร่มเย็น นุ่มนวล พร้อมกันนั้นก็เข้มแข็ง รู้จักรับผิดชอบตนเอง และเป็นหลักให้แก่ผู้อื่นและแก่สังคมได้

๒) พ่อแม่จะอุเบกขาในกรณีที่ลูกจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา หมายความว่า ลูกของเราก็เป็นบุคคลหนึ่งที่จะอยู่ในสังคม สังคมนั้นมีหลักการมีกฎเกณฑ์มีกติกา ซึ่งทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อตนเอง และเขาจะต้องร่วมรักษาสังคมและทำสังคมให้อยู่ในกติกาและหลักการนั้นด้วย จึงต้องฝึกกันตั้งแต่ในครอบครัว ครอบครัวจึงต้องมีวินัย ต้องมีกติกา ทำผิดเป็นผิด ทำถูกเป็นถูก กฎเป็นกฎ เด็กๆ ขัดแย้งหรือทะเลาะกัน ต้องเป็นไปตามกฎแห่งความเที่ยงธรรม เขาต้องรู้จักหัดรับผิดชอบต่อการกระทำและผลการกระทำของเขา การวางตัวเป็นกลางเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักการและกติกานี้ก็เรียกว่าอุเบกขาเหมือนกัน

๓) เมื่อลูกรับผิดชอบตนเองได้แล้ว เขาจบการศึกษาแล้ว มีงานมีการทำแล้ว มีครอบครัวของตนเองแล้ว ถือว่าเขารับผิดชอบตนเองได้แล้ว ตอนนี้พ่อแม่จะต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตของเขา ได้แต่คอยดู และพร้อมที่จะช่วยเมื่อเขาพลาด ไม่ใช่ว่าอยากจะให้ลูกเป็นสุขแล้วเข้าไปจัดแจงในครอบครัวของเขา ลูกอยู่อย่างนี้ ทำอย่างนี้ ข้าวของนั้นวางที่นี่ ฯลฯ จนคู่ครองเขาอึดอัดกัน ทั้งอึดอัดระหว่างกัน และอึดอัดกับพ่อแม่ แล้วก็ไม่เป็นสุข เสียทั้งสองฝ่าย พ่อแม่เองก็จะรันทดใจว่าลูกทำไมไม่เห็นแก่ความรักของพ่อแม่ ไม่มองเห็นความปรารถนาดี แต่ที่จริงเป็นเพราะว่าพ่อแม่ไปแทรกแซงในชีวิตของเขา ไม่มีอุเบกขา

เพราะฉะนั้น โบราณจึงใช้คำว่าเลี้ยงดู ซึ่งหมายถึงต้องเลี้ยงและดู เลี้ยง หมายความว่าให้และช่วยทำให้เขา ได้แก่ข้อหนึ่งสองสามคือเมตตากรุณามุทิตา ดู คือข้อที่สี่ได้แก่อุเบกขา เอาแค่ดู อย่าไปแทรกแซง คือดูให้เขาพัฒนาและดูให้เขาทำเป็นต้น เป็นอันว่า มีทั้งทำให้เขาและดูให้เขาทำ จึงเรียกว่าเลี้ยงดู นี้คือหลักพรหมวิหารสี่

รวมแล้ว พรหมวิหาร ๔ ย่อลงเป็น ๒ ด้าน คือ สามข้อแรก เมตตากรุณามุทิตา เป็นชุดเดียวกันในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ส่วนข้อสี่คืออุเบกขาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับความเป็นจริงของโลกและชีวิตหรือตัวธรรม เพราะฉะนั้น อะไรที่คนควรจะรับผิดชอบต่อตัวเองหรือด้วยตนเองโดยเหตุโดยผลแล้ว มนุษย์ไม่ควรจะเข้าไปก้าวก่าย ต้องให้เขารู้จักทำเอง หรือให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามความเป็นเหตุเป็นผลของมันเอง

ทั้งหมดนี้จะต้องนำมาใช้ไม่ใช่เฉพาะในครอบครัว แต่ในสังคมทั้งหมดด้วย คนจะต้องรู้จักรับผิดชอบชีวิตของตนเอง เราจะช่วยเขาก็เมื่อมีเหตุผลสมควร เมตตากรุณามุทิตาจะต้องถูกควบคุมด้วยอุเบกขา มิฉะนั้นแล้วคนก็จะมัวหวังพึ่ง ถ้าหวังพึ่งแต่คนอื่น คอยรอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่คิดขวนขวายทำการ ก็อ่อนแอ แต่ถ้ามีความสมดุลในระหว่างธรรมสี่ข้อนี้ คือเมตตากรุณาและมุทิตากับอุเบกขา คนก็จะพัฒนาไปอย่างมีดุลยภาพ และอยู่ในระบบบูรณาการ ไม่เอียงข้าง

เวลานี้ในสังคมทั้งหลายมีภาวะเสียดุลและเอียงกันมาก อย่างสังคมไทยเราก็หนักไปทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คือคนไทยมีเมตตากรุณามาก มุทิตาก็อาจจะอ่อนไปด้วยซ้ำ ยิ่งอุเบกขาแล้วแทบไม่รู้จักเลย จึงทำให้คนไทยเรามีความโน้มเอียงในทางที่จะอ่อนแอหวังพึ่งกัน นอกจากนั้น ยังมีผลเสียตามมาอีกประการหนึ่งด้วย คือมักจะมีการช่วยเหลือกันจนกระทั่งมองข้ามกฎเกณฑ์กติกาและกฎหมาย กติกาสังคมถูกละเลยมองข้ามเพราะเห็นแก่กันระหว่างบุคคล รักษาหลักการไม่ได้ ความเป็นธรรมในสังคมก็เสีย ธรรมนี่แหละเป็นตัวรองรับสังคมในที่สุด เมื่อรักษาความเป็นธรรมไม่ได้ สังคมนั้นก็จะวิปลาส ปรวนแปร

เรื่องนี้ในสังคมบางสังคมอย่างสังคมฝรั่งจะเห็นว่ามีปัญหาภาวะเสียดุลในทางตรงกันข้าม คือเป็นสังคมที่อ่อนในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคน คือเมตตากรุณามุทิตาอาจจะหย่อน โดยเฉพาะเมตตากรุณาน้อยเกินไป แต่เป็นสังคมที่หนักในอุเบกขาคือเอากฎเกณฑ์กติกาเป็นใหญ่ ถือว่าตัวใครตัวมัน ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง ใครจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของตัว ทำไปเถิด ถ้าแกไม่ผิดกฎหมายฉันไม่ว่าอะไร แต่ถ้าผิดกฎหมายก็โดนจัดการทันที ในสังคมเช่นนี้กฎหมายก็ศักดิ์สิทธิ์ และรักษาหลักการและความเป็นธรรมไว้ได้ และในการที่ต้องตัวใครตัวมันรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์กติกาก็ทำให้ทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนขวนขวาย ก็เข้มแข็ง แต่ทำให้ขาดความอบอุ่น แห้งแล้ง จิตใจก็เครียด ไม่มีความสุขเท่าที่ควร ก็เสียไปอีกด้านหนึ่ง

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องการการพัฒนามนุษย์อย่างมีดุลยภาพโดยใช้พรหมวิหารให้ครบสี่ข้อ ทั้งเมตตากรุณามุทิตาและอุเบกขา ตั้งแต่ครอบครัวไปจนกระทั่งทั่วสังคมใหญ่ทั้งหมด เรื่องนี้ขอพูดแทรกเข้ามาเท่านั้น ที่จริงกำลังพูดถึงเรื่องความเป็นมาของสังคมไทยที่เด่นในด้านความมีน้ำใจ ซึ่งเมื่อมองในแง่ของสังคมวิทยาก็มีลักษณะที่เรียกว่าเป็นสังคมที่หนักในระบบอุปถัมภ์ชนิดที่เลยเถิดไปจนทำให้เกิดผลเสีย ทำให้คนอ่อนแอและไม่สามารถรักษาหลักการ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.