งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปรุงแต่งสิ่งอื่นได้หลากหลาย
ทำไมไม่ปรุงแต่งใจตัวเองให้เป็นสุข

ความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งก็คือ การทำใจของตนเองให้ผ่องใสเบิกบานตลอดเวลา โดยมีสติเตือนใจตัวเองว่า ทำใจให้ร่าเริงผ่องใส

เรื่องใจของเรานี่ เราปรุงแต่งได้ ปรุงแต่งให้ดีก็ได้ ให้ร้ายก็ได้ ปรุงแต่งไม่ดีก็หมายความว่า ให้เกิดความรู้สึกที่ไม่สบายใจ ขุ่นมัว เศร้าหมอง เดือดร้อนกระวนกระวาย โดยนึกถึงอะไรที่ไม่ได้หรือไม่ดีขึ้นมา เช่น นึกถึงความอยากที่จะไปโน่นไปนี่ ตอนนี้ยังไปไม่ได้ ทำไมยังไม่ถึงเวลาเสียที ฉันอยากจะเลิกงานไปเที่ยวที่โน่น ไปสนุกที่นั่น นี่ยังเหลืออีกตั้ง ๒ ชั่วโมง พอคิดอย่างนี้แล้วก็ปรุงแต่งไป ใจก็ฟุ้งซ่านกระวนกระวาย ตอนนี้ทำงานก็ไม่มีความสุข แล้วยังเกิดความเครียดด้วย

ทีนี้ในทางตรงข้ามเราปรุงแต่งจิตใจในทางที่ดี ให้ร่าเริงสนุกสนาน มองงานที่ทำอยู่ต่อหน้า ส่วนข้างหน้าไม่ต้องไปคิดห่วง เดี๋ยวถึงเวลาก็เลิกงานเองแหละ ครบ ๑๒ ชั่วโมง ก็ ๑๒ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมงก็ ๘ ชั่วโมง ครบเมื่อไรก็เมื่อนั้น เวลามันยุติธรรมกับทุกคน มันไม่เคยเอาเปรียบใคร เราไปคิดเอาเองว่าเวลามันช้าเหลือเกิน ก็เพราะเราไปรอมัน ถ้าเราไม่รอมัน มันก็ไม่ช้า เราก็ทำงานของเราไป

ก็อย่างที่บอกแล้วว่า เวลามันให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนเสมอกัน แต่ถ้าตั้งใจผิด มันก็ทำให้เวลาช้าหรือเร็วตามแต่ว่าเราจะตั้งใจอย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็ทำใจให้ถูก เรารู้อยู่แล้วว่าเวลามันเป็นอย่างนั้นของมันตามธรรมชาติ ก็ไม่ต้องไปเร่งรัดหรือขัดขวางมัน ให้เหมือนใจหรือให้ขัดใจตัวเราเอง แทนที่จะทำอย่างนั้น เราก็เอาใจมาอยู่กับงานของเรา ทำใจให้ร่าเริงกับงาน สนุกสนานกับงาน ปรุงแต่งใจให้ร่าเริงเบิกบาน

ความร่าเริงเบิกบานนั้นท่านเรียกว่า ปราโมทย์ ทำใจให้ปราโมทย์ คือ เวลาทำงานก็ทำใจให้ร่าเริงเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส นึกถึงงานก็นึกขึ้นมาด้วยความร่าเริงเบิกบาน คอยเตือนสติตัวเองอยู่เรื่อย พอรู้สึกว่าใจชักขุ่นมัว นึกขึ้นมาได้ก็หยุดและบอกตัวเองว่า เอ๊ะ เรานี่ชักจะไม่ได้การแล้วกระมัง ใจเราชักจะเดือดร้อนกระวนกระวาย ชักจะขุ่นมัวเศร้าหมองแล้ว ไม่ได้ๆ ผิดแล้ว จะต้องร่าเริงเบิกบาน พอได้สติอย่างนี้ก็เตือนตัวเอง บอกกับใจตัวเอง พอรู้ทันแล้วก็ทำใจให้ร่าเริง

การปรุงแต่งใจอย่างนี้ เราทำได้ อยู่ที่การฝึก เราปรุงแต่งใจของเรา ถ้าปรุงให้เป็นดี มันก็ดี ถ้าปรุงให้ไม่ดี มันก็ไม่ดี เหมือนกับอาหารเราก็ปรุงแต่งได้ จะปรุงให้น่ากินหรือปรุงให้ไม่น่ากินก็ได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ใจของเรา เราก็ปรุงได้ ปรุงของข้างนอกเรายังปรุงได้ ปรุงในใจตัวเองทำไมจะปรุงไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็มาปรุงใจตัวเอง ปรุงด้วยของดีๆ ด้วยความคิดที่ดี นึกแต่สิ่งที่ดี นึกถึงงานในแง่ดี นึกให้มันสบายใจ เวลาทำงานก็ร่าเริงเบิกบานไปกับงาน

การทำงานด้วยใจร่าเริงเบิกบาน ท่านเรียกว่า มีปราโมทย์ พอมีปราโมทย์แล้วทำงานไป งานเดินหน้าไปก็อิ่มใจว่างานก้าวหน้า โดยมีผลเกิดขึ้นทีละน้อยๆ ก็เกิด ปีติ อิ่มใจ พอมีปีติอิ่มใจแล้วก็สบายใจ ใจสงบเย็น เกิดมี ปัสสัทธิ คือความผ่อนคลายกายใจ ไม่มีความเครียด

พอใจสบาย ไม่เครียด มีความผ่อนคลาย สงบ เย็น มีปัสสัทธิแล้วก็มี ความสุข เกิดความโปร่ง โล่งใจ ความสุขนี้แปลว่า โปร่ง โล่งใจ เพราะไม่มีอะไรมาบีบคั้น ติดขัดคับข้อง คำว่าทุกข์นั้นแปลว่าบีบคั้น คนที่มีความทุกข์ก็คือคนที่มีอะไรมาบีบคั้นตนเอง ถ้าบีบคั้นกาย ก็เรียกว่าทุกข์กาย ถ้าบีบคั้นใจ ก็เรียกว่าทุกข์ใจ

คนจำนวนมากชอบเอาอะไรมาบีบคั้นใจตัวเอง หรือทำให้เกิดความติดขัดคับข้อง ไม่โปร่ง ไม่โล่ง เกิดความทุกข์ใจ ทีนี้พอคล่องใจ สะดวกใจ โปร่งโล่งใจ มีความสุขใจก็มั่นคง สงบ แน่วแน่ จะทำอะไรใจก็อยู่กับเรื่องนั้น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวาย อันนี้ท่านเรียกว่ามี สมาธิ

พอมีสมาธิ จิตใจสงบตั้งมั่นแน่วแน่แล้ว ไม่ว่าจะคิดอะไร ความคิดก็เดิน ปัญญาก็เดิน จะใช้พลังจิตทำงานอะไร แม้แต่จะไปทำกรรมฐาน บำเพ็ญสมาธิก็ได้ผลดีด้วย สอดคล้องกัน ดีไปหมดเลย

รวมความว่าเป็นเรื่องของการทำให้ชีวิตของเรานี้มีความสุขอย่างแท้จริงจากการทำงาน เพราะว่างานเป็นส่วนใหญ่ของชีวิตของเรา

เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามทำให้การทำงานนี้เป็นตัวนำมาซึ่งความสุข แล้วก็สุขด้วยการทำงานนั้นด้วย สุขตั้งแต่เวลาทำงานแล้ว คือขณะทำงานก็มีความสุข ครั้นเสร็จจากงานแล้วก็มีความสุขเพิ่มอีก นี่ก็เป็นเรื่องของการทำให้ชีวิตมีความสุข โดยเอางานเป็นหลัก เพราะงานนั้นเป็นส่วนใหญ่ของชีวิต

ถ้าทำงานได้อย่างนี้ ก็เข้ากับความหมายของงานที่ได้พูดกันมาตามวัฒนธรรมประเพณีไทย ที่บอกว่าไปงานวัด งานสงกรานต์ ซึ่งมองกันในแง่สนุกสนานบันเทิง เราก็มาทำงานของเราแม้แต่ในโรงงานนี้ ให้เป็นไปด้วยจิตใจที่เบิกบาน สดชื่น ผ่องใสอย่างนั้นด้วย โดยที่รู้เข้าใจคุณค่าของงาน และมีสติเตือนตัวเองให้คอยทำใจให้ร่าเริงเบิกบานอย่างนี้ แล้วงานก้าวไป ชีวิตของเราก็พัฒนาไปด้วย

ชีวิตของคนที่ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนี่แหละ เป็นชีวิตที่เจริญก้าวหน้า แม้แต่สิ่งที่เราทำอยู่ตลอดเวลา คืองานที่เป็นของประจำนี่ ถ้าเรายังปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้ว เราก็คงปฏิบัติต่อสิ่งอื่นไม่ค่อยถูกต้องเหมือนกัน การงานนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่าเป็นกรรม

คำว่า กรรม นั้น แปลว่าการกระทำ การกระทำในชีวิตส่วนใหญ่ของคนก็คืองาน ขอให้พิจารณาความหมายตามลำดับ เริ่มแรกคำว่ากรรมในความหมายที่ละเอียดที่สุด ก็คือเจตนาที่ทำการ เจตนาในใจ เป็นตัวการที่ทำให้เราทำโน่นทำนี่ ต่อจากนั้นเมื่อแสดงออกมาเป็นการกระทำภายนอก เราเรียกว่าเป็นกิจกรรม ทีนี้ถ้าเป็นกิจกรรมที่เป็นหลักของชีวิตก็เรียกว่าเป็นงาน เพราะฉะนั้น กรรมจึงมีความหมายหลายชั้น กรรมในความหมายกว้างที่สุดก็คือ งานที่แต่ละคนทำ พระพุทธเจ้าตรัสว่า กมฺมุนา วตฺตตี โลโก โลกนี้เป็นไปตามกรรม ก็คือเป็นไปตามกรรม ขั้นพื้นฐานคืองานของคน

มนุษย์ที่ทำงานกันอยู่ในสังคมนี้แหละ เป็นตัวบันดาลวิถีความเป็นไปของโลก หรือของสังคม โลกและสังคมจะเป็นไปอย่างไรก็ด้วยกิจกรรมสำคัญ คืองานของคน อาชีพการงานหรือเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในชีวิตของคนส่วนใหญ่นี้ เป็นเครื่องนำให้โลกให้สังคมเป็นไป เอาตั้งแต่สังคมประเทศไทยนี่ จะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่งานที่คนไทยทำ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะให้สังคมประเทศชาติของเราไปทางไหน คนแต่ละคนที่อยู่ในประเทศเป็นพลเมือง ก็ต้องทำงานให้ถูกเรื่อง ให้เป็นงานที่จะนำประเทศชาติสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

งานในความหมายต่อมา เมื่อเจาะลึกลงไปถึงที่สุดแล้ว กิจกรรมของมนุษย์ทุกอย่างนั้นก็มาจากเจตจำนงในใจ เจตจำนง เจตนา หรือความตั้งใจนั้น เป็นตัวการที่ปรุงแต่งสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่าง โลกมนุษย์นี้เป็นโลกของเจตจำนง หรือโลกแห่งความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ สังคมมีความเจริญก้าวหน้า มีวัฒนธรรม มีวิทยาการต่างๆ มีเทคโนโลยี มีอะไรๆ ทุกอย่างทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของเจตจำนง คือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ทั้งนั้น ต่างจากโลกของสัตว์ทั้งหลาย โลกของธรรมชาติทั้งหมดนั้น มีความเป็นไปอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกับโลกของมนุษย์ที่เป็นโลกแห่งเจตจำนง หรือโลกของเจตนาปรุงแต่งสร้างสรรค์

เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า โลกนี้หรือสังคมนี้เป็นไปเพราะกรรม หรือเป็นไปตามกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีความหมายหลายชั้น เริ่มตั้งแต่เจตจำนง หรือเจตนาปรุงแต่งสร้างสรรค์ของคนที่คิดเก่ง ซึ่งเป็นผู้คิดริเริ่มที่จะนำสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พอคนส่วนใหญ่เปลี่ยนไปตามวิถีนั้น สังคมก็เป็นไปตามนั้น แต่โดยปกติเมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว กิจกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์คือการงานนี่แหละที่ทำให้สังคมเป็นไป

เพราะฉะนั้น เราทุกคนนี้มีส่วนที่จะปรุงแต่งชีวิต ปรุงแต่งสังคม ปรุงแต่งโลกให้เป็นไปต่างๆ เราจึงควรจะมาช่วยกันปรุงแต่งในทางที่เป็นการสร้างสรรค์ ให้เป็นประโยชน์ การงานที่เป็นอาชีพสุจริตก็เป็นส่วนที่จะช่วยปรุงแต่งนำโลกไปในทางที่ดีงาม ให้โลกร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ยิ่งถ้างานนั้นไม่เพียงแต่สุจริต แต่ยังเป็นงานที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ด้วย ก็เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้โลกนี้มีความสุข เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เราจึงควรจะมีความพอใจในการงานที่เราทำอย่างถูกต้อง เมื่อเราทำงานอย่างถูกต้องก็มองเห็นคุณค่าของงาน เราก็มีความพอใจในงาน ระลึกขึ้นมาเมื่อไรก็มีความอิ่มใจว่า เราได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว

วันนี้ อาตมาได้มาพบปะกับโยมญาติมิตรชาวโรงงาน ชาวบริษัทนี้ ซึ่งเป็นผู้ทำงานที่สุจริต ทำงานที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ ก็ขอให้ทุกท่านมองเห็นคุณค่าแห่งงานของตนเอง อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว และนอกจากทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นแล้ว ก็ต้องทำจิตใจของเราให้สบายมีความสุขด้วย และจิตใจของเราที่สบายและมีความสุขนี้ ก็จะเป็นปัจจัยให้เราทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้ผลดียิ่งขึ้นด้วย เป็นสิ่งที่อิงอาศัยและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ผูกพันกันไป ทำให้ทั้งตัวเราและส่วนรวมมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

ตกลงรวมความว่า การทำงานนั้นทำให้เราได้ประโยชน์และมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนที่ได้นี้ ก็มีทั้งสองด้าน คือด้านตัวงาน ซึ่งอาจจะออกมาเป็นผลทางวัตถุด้านหนึ่ง และด้านของจิตใจที่มีความสุข มีความสบายอิ่มใจ พร้อมกันไปกับการที่มีการพัฒนาของชีวิตอยู่เรื่อยไป ดังนั้นเราจึงควรนำเอาหลักนี้มาตรวจสอบ ดูว่าการทำงานของเรา ตลอดจนการดำเนินชีวิตทั้งหมดของเราได้มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปตลอดเวลาหรือไม่

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.